คลังเก็บป้ายกำกับ: SMART

คิดต่าง! Toyota ขายรถไฟฟ้าคันเล็ก 2 ที่นั่ง บริษัทแม่ Benz เลิกขาย Smart EQ รุ่น 4 ที่นั่ง

วงการรถยนต์ไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุด Toyota เตรียมขายรถยนต์ไฟฟ้าคันเล็ก 2 ที่นั่ง รุ่น C+pod ส่วนบริษัทแม่ Mercedes-Benz มองต่าง เพราะพึ่งเลิกขาย Smart EQ ForFour รถยนต์ไฟฟ้าคันเล็ก 4 ที่นั่ง

toyota

Toyota กับการเดินเกมรถยนต์ไฟฟ้าเต็มที่

รายงานข่าวแจ้งว่า Toyota ประกาศจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าล้วนขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง รุ่น C+pod เป็นการทั่วไป เพราะเมื่อปีก่อนรถยนต์รุ่นนี้จำหน่ายให้กับองค์กรต่าง ๆ และลูกค้าบางรายเท่านั้น โดยการจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปยังเป็นการขายแบบเช่าใช้เช่นเดิม

เบื้องต้นราคาขายปลีกแนะนำของ C+pod อยู่ที่ 1.65 ล้านเยน ในรุ่น X และ 1.71 ล้านเยน ในรุ่น G (ราว 4.7 แสนบาท) ทั้งสองรุ่นใช้มอเตอร์ไฟฟ้า และความจุแบตเตอรี่เท่ากัน ต่างกันที่การตกแต่ง โดย C+pod จะทำความเร็วสูงสุดที่ 60 กม./ชม. และวิ่งได้ไกล 150 กม. หลังชาร์จเต็ม

C+pod ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานทั่วไป โดยเฉพาะการเดินทางในระยะสั้น เช่นไปทำงาน, ไปซื้อของ หรือเป็นยานพาหนะสำหรับผู้สูงอายุ โดยรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้มีขนาดเพียง 2,490×1,290×1,550 มม. หรือเมื่อเทียบกับรถตู้ Alphard จะยาวเพียงครึ่งคัน ทำให้สะดวกในการขับขี่ และจอดในที่แคบ

Daimler เลิกขาย Smart EQ ForFour

ในทางกลับกัน Diamler บริษัทแม่ของ Mercedes-Benz และเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ขนาดเล็ก Smart พึ่งประกาศเลิกผลิต และจำหน่าย Smart EQ ForFour รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก 4 ที่นั่ง หลังประกาศความร่วมมือกับ Geely แบรนด์รถยนต์จากจีน และเจ้าของ Volvo เพื่อทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ดีกว่าเดิม

Smart ทำตลาดภายใต้กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ในชื่อ Smart Automobile มีสำนักงานประเทศจีน ทุนจดทะเบียน 5,400 ล้านหยวน (ราว 23,000 ล้านบาท) ถือหุ้นโดย Geely และ Daimler เบื้องต้นมีโครงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า Smart ที่มีรูปทรง และขนาดเป็น SUV ขัดกับจุดเด่นเรื่องรถยนต์ขนาดเล็กของ Smart

ส่วน Smart EQ ForFour รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก 4 ที่นั่ง ทำตลาดมาตั้งแต่ปี 2017 แต่ด้วยขนาดที่เล็ก และราคาสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้ไม่เป็นที่นิยม และแข่งขันได้ลำบาก ซึ่งการยกเลิกการผลิต และจำหน่าย ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าของ Smart เหลือเพียงรุ่น Smart EQ ForTwo และรุ่นเปิดประทุนเท่านั้น

smart
Smart EQ ForFour

แต่ Toyota และ Benz ยังเดินเกม EV เหมือนกัน

แม้จะคิดต่างในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก แต่ Toyota และ Mercedes-Benz ยังมีแผนเดินหน้าทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มที่ โดย Toyota พึ่งเปิดเผยรายละเอียดการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต้นแบบนับสิบรุ่น ถือเป็นการตื่นตัวในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหลังจากถูกมองเป็นผู้ตามมาตลอด

ขณะเดียวกัน Mercedes-Benz ยักษ์ใหญ่ในตลาดรถหรู มีการเดินเกมนำรถยนต์รุ่นที่ทำตลาดมาปรับเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ EQA ที่พัฒนามาจาก GLA รถยนต์ SUV ขนาดเล็ก, EQC ที่พัฒนามาจาก GLC รถยนต์ SUV ขนาดกลาง และ EQS ที่พัฒนามาจาก S-Class รถยนต์นั่งขนาดใหญ่

เมื่อทั้งสองยักษ์ใหญ่ในตลาดรถยนต์พยายามบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มที่ แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมรถยนต์หลังจากนี้จะพุ่งไปที่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว และเน้นที่ BEV (Battery Electric Vehicle) หรือรถยนต์ไฟฟ้าล้วนเท่านั้น หาใช่ Fuel-Cell หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบอื่นที่เคยถูกพูดถึงกันในอดีต

สรุป

รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กอาจเหมาะสมแค่การใช้งานบางประเภทเท่านั้น เช่น ในประเทศไทยมีการจำหน่าย Fomm One นั่งได้ 4 ที่ ขนาด 2,585×1,295×1,560 มม. ใกล้เคียงกับ C+pod ของ Toyota ราคาราว 4.99 แสนบาท ดังนั้นใครจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กต้องคิดให้ดี เพราะไม่ใช่ถูก ๆ และขับไปไกล ๆ ได้ลำบาก

อ้างอิง // Motor 1, Toyota

อ่านข่าวเกี่ยวกับ Toyota และ Mercedes-Benz เพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post คิดต่าง! Toyota ขายรถไฟฟ้าคันเล็ก 2 ที่นั่ง บริษัทแม่ Benz เลิกขาย Smart EQ รุ่น 4 ที่นั่ง first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/toyota-smart-ev-plan/

โมเดล Synergy ของ KBank ร่วมวางโครงสร้าง Digital Healthcare Platform กับ 5 โรงพยาบาลรัฐ สู่เป้าหมาย Smart Hospital

จับตา Digital Healthcare Platform ที่ KBank ได้เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันร่วมกับ  5 โรงพยาบาลรัฐ เพื่อผลักดันสู่การเป็น Smart Hospital ให้ทุกคนเข้าบริการด้านสุขภาพได้ง่าย สะดวก และลดเสี่ยงโควิด

หลังจากที่โลกได้เผชิญกับโรคระบาดยาวนานเกือบ 2 ปีหลายองค์กรต่างหันมามุ่งมั่นพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อตอบรับกับการใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล อุตสาหกรรมการแพทย์ก็เช่นกันที่ได้เร่งสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อทำให้สามารถดูแลประชาชนด้านสาธารณสุขได้ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยธนาคารกสิกรไทยเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดันยุทธศาสตร์ Smart Hospital สำหรับภาคสาธารณสุข จากความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมไทยด้วยการต่อยอดความเชี่ยวชาญในการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มของทางธนาคารฯ 

KBank

ธนาคารกสิกรไทยร่วมมือโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ 5 แห่ง ทั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันประสาทวิทยา เดินหน้ายุทธศาสตร์ Smart Hospital และวางโครงสร้างด้านดิจิทัล-เทคโนโลยี และให้การสนับสนุนในการพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับแต่ละโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่าย ทั่วถึงและสะดวกมากขึ้น 

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อมุ่งสู่การเป็น Smart Hospital

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แวดวงอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข กำลังขับเคลื่อนด้วยเทรนด์และยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านสู่การให้บริการแบบ Smart Hospital ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารจัดการและให้บริการผู้ป่วยได้เข้ามาบทบาทอย่างมากหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงพยาบาลรัฐที่เป็นที่พึ่งหลักทางการแพทย์ของประชาชน เพราะนับว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยปลดล็อคปัญหาในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มาก ทั้งช่วยลดขั้นตอนในการจัดการเพื่อการบริการภายในโรงพยาบาล ให้คนไข้ได้รับบริการด้วยวิถีใหม่ที่สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย และลดเสี่ยงจากโควิด-19

ขณะที่การพัฒนาแอปพลิเคชันซึ่งถือเป็น Smart Tools ที่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนมากขึ้น ยังช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ สามารถบริหารจัดการคิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อระบบหลังบ้านให้ทำงานแบบอัตโนมัติ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถลดการสัมผัสกับผู้รับบริการในขั้นตอนต่าง ๆ ได้อีกด้วย จึงช่วยเพิ่มความสะดวกขึ้น เพิ่มความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นความพร้อมของโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ 5 แห่งที่ได้นำแอปพลิเคชันมาเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อการให้บริการคนไข้อย่างเป็นระบบ โดยความน่าสนใจคือแอปพลิเคชันของทั้ง 5 โรงพยาบาลนั้น ได้องค์กรที่อยู่นอกแวดวงการแพทย์ อย่างธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank มาเป็นพันธมิตรสำคัญในการนำความเชี่ยวชาญมาช่วยสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ช่วยตอบโจทย์ทั้งคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์ กว่า 4 ล้านราย 

KBank

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ธนาคารกสิกรไทย มุ่งมั่นมีบทบาทต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของสังคมไทย ด้วยการนำดิจิทัลเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาดิจิทัลแพลทฟอร์ม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถอำนวยประโยชน์สูงสุดให้กับสังคมไทย โรงพยาบาลเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทต่อการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยทุกคน ความร่วมมือกับโรงพยาบาลในการพัฒนา Digital Healthcare Platform จึงมุ่งเน้นการช่วยลดภาระของโรงพยาบาล และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการกับคนไข้และผู้ที่มาใช้บริการต่างๆ เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งล้วนมีผู้ใช้บริการในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก  โดยธนาคารฯ ได้นำความเชี่ยวชาญมาช่วยสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับคนไข้ด้วยระบบบริการสุขภาพดิจิทัลที่เชื่อมโยงระบบนิเวศน์การใช้บริการและการบริหารจัดการของโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับวิถีนิวนอร์มอลที่เป็นผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19  

  1. วางโครงสร้างการเชื่อมข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางของโรงพยาบาล มาแสดงที่แอปพลิเคชัน ซึ่งจะแสดงผลได้ถูกต้อง รวดเร็ว ลดขั้นตอนและลดเวลาทำงาน สนับสนุนการทำงานของบุคลากร
  2. การสร้างประสบการณ์การเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล ผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย รวดเร็ว สามารถทำได้ด้วยตนเอง ทั้งในและนอกสถานที่ของโรงพยาบาล
  3. เชื่อมโยงระบบชำระเงินและบริการทางการเงินต่างๆ อนาคตจะมีการพัฒนาฟีเจอร์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเป็น Smart Hospital และตอบโจทย์คนไข้ OPD กว่า 4 ล้านราย ได้ลดเสี่ยงโควิด-19

KBank

แอปพลิเคชั่นที่ KBank ได้เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลรัฐ 5 แห่งประกอบด้วย แอป Chula Care (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย)  แอป CBH PLUS (โรงพยาบาลชลบุรี) แอป TUH for All (โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ)  แอป RJ Connect (โรงพยาบาลราชวิถี) และ แอป NIT PLUS (สถาบันประสาทวิทยา) ปัจจุบันมีฟีเจอร์สำคัญที่ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายในการเข้าถึงการรักษาจากโรงพยาบาลมากขึ้น ทั้งฟีเจอร์ที่สามารถตรวจสอบสิทธิ์รักษาพยาบาลได้ สามารถตรวจสอบรายการนัดหมาย ตรวจสอบคิวในการพบแพทย์ได้ ทำให้ลดภาระทั้งเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องแบกรับภาระจากการจัดสรรคิวมากไป ขณะเดียวกันคนไข้ก็สามารถมารับบริการได้แบบที่ไม่ต้องรอต่อคิวเนืองแน่น ลดความแออัดที่โรงพยาบาล ซึ่งฟีเจอร์นี้ก็เป็นหนึ่งในการต่อยอดเทคโนโลยีที่ทางธนาคารฯ ใช้จัดสรรคิวการให้บริการที่สาขาอยู่แล้วมาสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในวงกว้างนั่นเอง

นอกจากนี้ KBank ยังได้เอาความแข็งแกร่งจาก Business Ecosystem ด้านการเงิน มาพัฒนาฟีเจอร์ที่ให้บริการรองรับการชำระเงินผ่านแอป K PLUS, สแกน Thai QR Code หรือบัตรเดบิตและบัตรเครดิตได้ สามารถชำระค่ารักษา ค่ายา รวมทั้งยังสามารถบริจาคเงินสมทบให้แก่โรงพยาบาลได้ด้วย 

ทิศทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่าง KBank และโรงพยาบาลในอนาคต

ในระยะถัดไป ธนาคารกสิกรไทยพร้อมที่จะนำความเชี่ยวชาญมาช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงการ SMART Hospital Application ให้แก่ 11 โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ในรูปแบบแอปเดียวใช้ได้ทั้ง 11 แห่ง ส่วน 5 แอปที่เปิดใช้งานแล้ว ทาง KBank ก็เตรียมฟีเจอร์ที่ตอบรับการใช้ชีวิตแบบ New Normal ทั้งฟีเจอร์นัดพบแพทย์ผ่านแอปพลิเคชันโดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลได้ 

สำหรับคนไข้ของโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง สามารถกดดาวน์โหลดแอปโรงพยาบาลได้ทั้งใน App Store หรือ Play Store เพื่อรับประสบการณ์การเข้ารับบริการทางการแพทย์ด้วยความสะดวก สบาย และง่ายขึ้น 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post โมเดล Synergy ของ KBank ร่วมวางโครงสร้าง Digital Healthcare Platform กับ 5 โรงพยาบาลรัฐ สู่เป้าหมาย Smart Hospital first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/kbank-synergy-model-with-5-hospitals-by-digital-healthcare-platform/

Smart ยอมเสียภาพลักษณ์รถยนต์ขนาดเล็กด้วยการเตรียมเปิดตัวรถ Crossover SUV

Smart คือแบรนด์รถยนต์ที่มีจุดเด่นเรื่องขนาดเล็กกระทัดรัด แต่จุดเด่นนั้นกำลังจะหายไปเพราะบริษัทเตรียมผลิตรถยนต์ Crossover SUV ที่ขนาดไม่ใหญ่มาก เพื่อตอบรับกระแส SUV เติบโตทั่วโลก

รถ smart
smart

Smart กับการทิ้งภาพลักษณ์

รายงานข่าวแจ้งว่า Smart เตรียมตัวผลิตรถยนต์แบบ Crossover SUV ขนาดเล็ก ผ่านการร่วมมือกับ Geely และรถยนต์รุ่นใหม่นี้จะอยู่ภายใต้โครงสร้าง Sustainable Experience Architecture ของ Geely ถือเป็นอีกความร่วมมือครั้งใหม่ระหว่าง Mercedes-Benz บริษัทแม่ของ Smart กับ Geely ยักษ์ใหญ่ในตลาดรถยนต์จีน

“ปัจจุบัน SUV เป็นรถยนต์นั่งที่นิยมอย่างมากในจีน และกลุ่มประเทศยุโรป รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก SUV ยังเป็นรถยนต์ที่มีอัตราเติบโตต่อเนื่อง Smart จึงต้องการบุกตลาดนี้ ผ่านการพัฒนา Crossover SUV ขนาดเล็กที่คงเอกลักษณ์ Smart เอาไว้ และจะเริ่มผลิตปี 2565” Daniel Lescow ผู้อำนวยการด้านการขาย Smart กล่าว

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจครั้งนี้ทำให้ Smart สูญเสียความเป็นแบรนด์ที่ทำตลาดรถยนต์ขนาดเล็กเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะ Crossover SUV ย่อมตามมาด้วยความเอนกประสงค์ และเรื่องนี้ส่งผลต่อขนาดของรถยนต์ที่ต้องใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้กลุ่ม Daimler ได้ขายโรงงานผลิตในฝรั่งเศสให้กับ Ineos ซึ่งที่นั่นใช้เป็นฐานผลิตรุ่น Grenadier หรือ G-Class เป็นหลัก แต่ที่โรงงานนั้นยังรับผลิต Smart ให้ Mercedes-Benz อยู่ นอกจากนี้ผู้บริหารของ Smart ยังยืนยันว่า Crossover SUV รุ่นใหม่จะไม่ไปกินส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์ขนาดเล็กของ Mercedes-Benz แน่นอน

สรุป

Smart คือแบรนด์รถยนต์ขนาดเล็กที่มีการออกแบบที่คุ้นตา แต่เมื่อรถยนต์มีขนาดใหญ่ขึ้น Smart ต้องสูญเสียเอกลักษณ์ตัวเอง ไหนจะต้องไปชนกับตลาด SUV ที่แข่งขันอย่างดุเดือด ดังนั้นต้องติดตามว่าการเดินหมากของ Smart ครั้งนี้จะช่วยให้แบรนด์เติบโตได้หรือไม่

อ้างอิง // Motor1

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Smart ยอมเสียภาพลักษณ์รถยนต์ขนาดเล็กด้วยการเตรียมเปิดตัวรถ Crossover SUV first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/smart-crossover-suv/

Mercedes-Benz จับมือ Geely ปั้นแบรนด์ smart ให้กลับมายิ่งใหญ่ด้วยการขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วน

หลายสิบปีก่อน smart แบรนด์รถยนต์ขนาดเล็กของกลุ่ม Daimler โด่งดังสุดๆ แต่ตอนนี้แทบไม่มีที่ยืน จึงเกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นคือการพัฒนา smart เป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วนร่วมกับ Geely ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์จากจีน

รถ smart
smart

smart จะต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

แบรนด์ smart นั้นทำตลาดมาเป็น 20 กว่าปี และมียอดขายสูงสุดในช่วงปี 2551 ตรงกับช่วงเวลาที่น้ำมันแพงสุดๆ เพราะ smart ถูกออกแบบมาเป็นรถยนต์ขนาดเล็กถึงเล็กมาก กินน้ำมันน้อย และเหมาะกับการใช้งานในเมือง แต่พอราคาน้ำมันเริ่มกลับมาปกติ และ SUV กลายเป็นที่นิยมในตลาดโลก smart ก็ค่อยๆ หายไปจากตลาด

อย่างไรก็ตาม Geely ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์จากจีน และเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ทั่วโลกรู้จักทั้ง Volvo และ Lotus เห็นว่ารถยนต์แบบ smart ยังมีโอกาสในตลาดอยู่ จึงตัดสินใจซื้อหุ้น 50% จากกลุ่ม Daimler เจ้าของ Mercedes-Benz ทั้งหมด 50% เพื่อมีสิทธิ์ในการเข้าถึงรถยนต์แบรนด์นี้

รถ Smart
ภายในของ smart

ล่าสุดเกิดการเปลี่ยนแปลงกับ smart อีกครั้ง เพราะกลุ่ม Daimler และ Geely ตัดสินใจตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ในชื่อ smart Automobile ที่ประเทศจีน ทุนจดทะเบียน 5,400 ล้านหยวน (ราว 23,000 ล้านบาท) เพื่อผลิต และจำหน่าย smart ในจีน และตลาดโลก ที่สำคัญการพัฒนา smart จากนี้จะเน้นที่รถยนต์ไฟฟ้าล้วน

เปิดตัว 2565 เป็นกลุ่ม Subcompact ก่อน

สำหรับความร่วมมือนี้ smart จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นใหม่ที่คาดว่าจะมากับขนาด Subcompact หรือ B-Segment จากเดิมที่อยู่ในกลุ่ม A-Segment ที่มีขนาดเล็กมากๆ แต่ก็ยังมาพร้อมกับความหรูหราเหมือนกับตัว Smart ในรุ่นเดิมๆ ส่วนราคานั้นยังไม่มีการเปิดเผยออกมา

รถ smart
smart EQ รถยนต์ไฟฟ้าล้วน

Ola Källenius ประธานคณะกรรมของกลุ่ม Daimler เล่าให้ฟังว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้การทำตลาดรถยนต์ยุคใหม่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะในอนาคตบริษัทก็มีแผนร่วมมือกับ Geely อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น smart จึงเป็นอีกหมุดหมายที่ดีสำหรับทั้งสององค์กร

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ smart ขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วน

ทั้งนี้ smart ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วนมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากการประหยัดน้ำมันด้วยรถยนต์ขนาดเล็กเริ่มไม่เป็นที่นิยมในตลาด โดยตัวรถยนต์ไฟฟ้าล้วนนั้น smart ใช้แบตเตอรี่ที่ Tesla ผลิตให้ และจำหน่ายไปกว่า 18 ประเทศทั่วโลก

สรุป

เมื่อพูดถึง smart หลายคนจะนึกถึงรถยนต์ขนาดเล็ก นั่งได้ไม่กี่คน แต่หลังจากนี้ความเป็น Subcompact ก็อาจทำให้ smart มีขนาดที่ใหญ่กว่าเดิมเล็กน้อย ส่วนจะลดความเป็นตัวตนของ smart ไปแค่ไหนนั้น อันนี้ต้องคอยติดตามกันอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

อ้างอิง // Futurecar

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/mercedes-benz-geely-smart/

เดินหน้ารถไฟฟ้าล้วนเต็มกำลัง! Smart เลิกขายรุ่นใช้น้ำมัน เหลือให้เลือกแค่ไฟฟ้าล้วน

Smart ถือเป็นแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์รายแรกๆ ที่พลิกธุรกิจจากจำหน่ายรถยนต์ใช้น้ำมันเป็นขายแต่รถยนต์ไฟฟ้าล้วน และจุดนี้เองทำให้ Smart กลายเป็นที่จับตามองของตลาด แม้มันจะเป็นแค่รถยนต์ทางเลือกก็ตาม

รถ smart
Smart EQ รถยนต์ไฟฟ้าล้วน

Daimler ที่รุกรถยนต์ไฟฟ้าไปอีกขั้น

Smart คือแบรนด์รถยนต์ที่อยู่ภายใต้กลุ่ม Daimler เจ้าของแบรนด์ Mercedes-Benz และทางตัว Daimler เองก็มีความพยายามในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น สังเกตจากการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าล้วนในแบรนด์ Mercedes-Benz อย่างต่อเนื่อง

แต่เพื่อกระตุ้นตลาดให้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า Daimler จึงตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการพลิกโฉมแบรนด์ Smart เสียใหม่ด้วยการหยุดจำหน่ายรุ่นที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง และจำหน่ายแค่รุ่นไฟฟ้าล้วนเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ Smart ก็มีจำหน่ายรุ่นไฟฟ้าล้วนแล้ว แต่รุ่นใช้น้ำมันเบนซิน และดีเซลเป็นเชื้อเพลิงนั้นดูโดดเด่นกว่า

รถ smart

เพื่อเดินหน้ากลยุทธ์นี้ Smart จึงเปิดตัวรถยนต์สองรุ่นใหม่คือ EQ Fortwo รถยนต์ไฟฟ้าล้วนที่คง DNA ของ Smart ไว้เต็มขั้น มีสองรุ่นย่อยคือรุ่นปกติ และรุ่นหลังคาเปิดประทุนได้ ส่วนอีกรุ่นคือ EQ Forfour รถยนต์ไฟฟ้าล้วนขนาดเล็กสี่ประตูสำหรับผู้ซื้อที่ต้องการบรรทุกผู้โดยสารเพิ่ม

จุดเด่นของทั้งสองรุ่นใหม่คือมอเตอร์ที่ให้กำลัง 41 กิโลวัตต์ ทำความเร็วสูงสุด 130 กม.ชม. เร่ง 0-100 กม./ชม. ได้ภายใน 12.7 วินาที โดยระยะทางนั้นวิ่งได้เฉลี่ย 150 กม. หลังจากชาร์จเต็ม และสามารถชาร์จจาก 10% ไปถึง 80% ได้ภายใน 40 นาที เรียกว่าค่อนข้างตอบโจทย์ในการใช้งานในเมือง

รถ Smart
ภายในของ Smart

ด้านราคายังไม่มีการเปิดเผยออกมา แต่การทำตลาดนั้นจะเน้นไปที่กลุ่มประเทศยุโรปก่อน เพราะด้วยถนน และที่จอดค่อนข้างเล็ก ทำให้สะดวกในการขับขี่รถขนาดเล็ก ส่วนในประเทศไทยนั้น Smart ไม่มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และหากมีการจำหน่ายจริงๆ น่าจะเป็นผู้นำเข้าอิสระนำเข้ามาจำหน่ายมากกว่า

สรุป

Smart เป็นรถยนต์แบรนด์ทางเลือกจริงๆ เพราะมันควรจะถูกใช้แค่ภายในเมืองเพียงอย่างเดียว ผ่านขนาด และความสะดวกของตัวรถยนต์ ดังนั้นการเดินหน้าขายแต่รุ่นไฟฟ้านั้นก็ต้องดูว่า Daimler จะทำอะไรมากว่าแค่ขายให้ผู้บริโภคทั่วไปหรือไม่ เพราะมันคงจะดีกว่าถ้าถูกเอาไปให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย

อ้างอิง // Engadget

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/smart-all-ev-model/

ผลวิจัยจากอเมริกา: คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ไม่ใช่ “คนฉลาด” แต่คือคนที่ “บ้านรวย”

ผลวิจัยเผย คนไม่ฉลาด-แต่บ้านรวย ประสบความสำเร็จได้ง่ายกกว่า คนฉลาด-แต่บ้านจน 😱

Photo: Shutterstock

ไม่ฉลาด-แต่บ้านรวย ประสบความสำเร็จง่ายกว่า ฉลาด-แต่บ้านจน

ผลวิจัยเรื่อง “Born to Win, Schooled to Lose” ของ Georgetown Center on Education and the Workforce (CEW) ที่ทำการศึกษาปัจจัยชี้วัดในการประสบความสำเร็จของคนในวัยผู้ใหญ่ พบว่า การจะประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกาได้ คนที่บ้านรวยได้เปรียบกว่าเป็นคนฉลาด (หมายความว่า เรียนเก่งในห้องเรียน ทำคะแนนสอบได้สูง)

ทีมวิจัยอธิบายการเก็บข้อมูล โดยย้อนลงไปดูประวัติการศึกษา รายได้ สถานะทางสังคม-เศรษฐกิจของครอบครัวตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงวัยผู้ใหญ่ เพื่อดูว่ามีใครที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน ส่วนคะแนนที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อวิจัยในครั้งนี้คือวิชาคณิตศาสตร์

  • ผลการวิจัยพบว่า คนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะต่ำที่สุด 25% (บ้านจน) แต่มีผลการสอบสูงที่สุด 25% บน (ฉลาด) มีเพียงแค่ 31% เท่านั้น ที่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และเมื่อจบออกมาอายุประมาณ 25 ปี มีงานทำที่ดีโดยมีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 35,000 ดอลลาร์ต่อปี (1.1 ล้านบาทต่อปี ตกเดือนละประมาณ 92,000 บาท) ส่วนเมื่ออายุ 35 ปี มีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 45,000 ดอลลาร์ต่อปี (1.4 ล้านต่อปี ตกเดือนละประมาณ 117,000 บาท)
  • ส่วนคนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะสูงที่สุด 25% (บ้านรวย) แต่มีผลการสอบต่ำที่สุด 25% (ไม่ฉลาด) มีจำนวนมากถึง 71% ที่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และเมื่อจบออกมาทำงานก็ได้เงินในอัตราเดียวกันกับคนบ้านจน-แต่ไม่รวยจำนวน 31% ด้านบน
Photo: Shutterstock

นอกจากนั้น งานวิจัยนี้ยังพบอีกว่า คนฉลาด-แต่บ้านจน เมื่ออายุ 25 ปี สามารถเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ-สังคมได้ประมาณ 76% ส่วนคนไม่ฉลาด-แต่บ้านรวย เมื่ออายุ 25 ปี สามารถรักษาสถานะทางเศรษฐกิจ-สังคมไว้ได้มากถึง 91%

ผลวิจัยชิ้นนี้พบด้วยว่า ในปี 2016 ครอบครัวที่มีความมั่งคั่งใช้จ่ายเงินกับกิจกรรมของเด็กไปกว่า 8,600 ดอลลาร์ (ประมาณ 272,000 บาท) ในขณะที่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำใช้จ่ายเงินกับกิจกรรมของเด็กเพียง 1,700 ดอลลาร์ (ประมาณ 54,00 บาท) เท่านั้น

ที่มา – สรุปงานวิจัย Born to Win, Schooled to Lose, CNBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/born-to-win-schooled-to-lose-research/

Acer ประกาศทิศทาง นำทัพ IoT, VR, AR ลุยสร้างสมาร์ทซิตี้

ปีนี้เป็นปีที่หลาย ๆ บริษัทออกมาเผยทิศทางว่าบริษัทจะมุ่งไปในด้าน IoT  กันมากขึ้น เช่นเดียวกับ Acer ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพของผู้จำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ล่าสุดออกมาประกาศทิศทางผ่านงาน Next@Acer ว่าบริษัทจะก้าวสู่การเป็น Solution Provider พร้อมชูจุดขายด้าน Smart Solutions ผ่านอุปกรณ์ IoT, AR, VR ต่าง ๆ โดยมองว่าจะสามารถตอบโจทย์และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในยุคต่อไป

โดยในส่วนของ Acer Smart Solutions ที่ Acer ตั้งเป้าจะทำตลาดในปีนี้ – อีกสามปีข้างหน้าเป็นโซลูชันในหลากหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น สื่อ Digital Signage อัจฉริยะสำหรับแวดวงโฆษณาที่มาพร้อม AI – กล้อง – คลาวด์ ให้สามารถแสดงผลโฆษณาได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงสามารถวิเคราะห์และจัดเก็บข้อมูลผู้ชมในเรื่องต่าง ๆ เช่น เพศ อายุ ฯลฯ ได้, ระบบการจองที่จอดรถแบบเรียลไทม์ ที่สามารถจองที่จอดรถได้ล่วงหน้าก่อนออกจากบ้าน ทำให้ลดเวลาที่ต้องวนหาที่จอด, โซลูชันด้านรถบัสอัจฉริยะ, หุ่นยนต์ Brewbot สำหรับธุรกิจร้านกาแฟ ที่นอกจากจะใช้สร้างความสนใจให้แขกแล้ว ยังสามารถทำ CRM ได้อีกด้วย (หุ่นยนต์จะบันทึกใบหน้าลูกค้าไว้ ก่อนส่งมอบกาแฟจะตรวจสอบใบหน้าว่าตรงกับออเดอร์ที่สั่งหรือไม่ รวมถึงว่าถ้าลูกค้ามาซื้ออีกคราวหน้า ระบบจะจดจำได้และสามารถทำเมนูเดิมให้ได้เลยโดยไม่ต้องสั่งใหม่)

นอกจากนั้นยังมีโซลูชันด้านป้ายสินค้าดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ธุรกิจค้าปลีกในการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าได้โดยอัตโนมัติ หรือ Smart People โซลูชันด้านการสร้างคน 4.0 ที่ออกแบบการเรียนรู้ให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถพัฒนาโซลูชันต่าง ๆ เพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ โดยจะอยู่ในรูปชุด Kit เช่น ชุดออกแบบเครื่องกั้นจราจร หรือระบบจัดการคลังสินค้า ฯลฯ เป็นต้น

สุดท้ายเป็น Smart Government ที่ Acer บอกว่าสามารถเชื่อมโยงระบบสาธารณูปโภค ผ่านมิเตอร์อัจฉริยะที่ช่วยในการจดหน่วยการใช้งานของระบบน้ำประปา ไฟฟ้า สามารถแจ้งเตือนได้อัตโนมัติ ฯลฯ เป็นต้น

คุณนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ

คุณนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ  ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด มองว่า เรื่องของ Smart Solution จะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับชีวิต และเมืองในอนาคตได้อย่างตรงจุด ซึ่ง Solution เหล่านี้จะเป็นแบบ Tailor-made นั่นคือขึ้นอยู่กับปัญหาและความต้องการของแต่ละเมืองเป็นหลักว่าแต่ละเมืองอยากให้แก้ไขในเรื่องอะไร เช่น กรุงเทพฯ อาจมีปัญหาด้านการขาดความเชื่อมโยงในการจราจร การคมนาคมขนส่ง แต่ในจังหวัดอื่น ๆ ก็อาจมีปัญหาแบบอื่น พร้อมเผยว่าจากที่ได้เปิดตัวไปนั้น ขณะนี้ก็มีหลาย ๆ จังหวัดเสนอให้เข้าไปให้คำปรึกษาในการพัฒนาเมืองแล้วเช่นกัน

 

 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2018/02/next-acer-iot-ar-vr-solutions/

Smart Speaker หลบไป CES 2018 ชี้ “Smart Display” กำลังมา?

จริงอยู่ที่นักการตลาดทั่วโลกกำลังสนใจเทคโนโลยีการสั่งการด้วยเสียง ว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานมากขึ้น แต่งาน CES 2018 ที่เพิ่งจบลงไปได้กำหนดมาตรฐานใหม่ในการสั่งการด้วยเสียงแล้วว่า เราควรจะมี “หน้าจอ” ในการสั่งการด้วย โดยภายในงานปีนี้ เราจึงได้เห็น Google ประกาศจับมือกับบริษัทผู้ผลิตอย่าง Lenovo, JBL และ LG เปิดตัวอุปกรณ์ในกลุ่ม “Smart Display” เพื่อมาเป็นคู่แข่งของ Amazon Echo Show รวมถึง Samsung ที่นำจอทีวีขนาดยักษ์มาพ่วงเข้ากับ Bixby เพื่อรับคำสั่งเสียงได้เช่นกัน

ทั้งนี้ การมาถึงของ Smart Display ช่วยให้การสั่งการด้วยเสียงเป็นรูปเป็นร่าง และสื่อสารกันได้ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราสั่งให้ลำโพงเปิดเพลงให้ฟัง แล้วเกิดอยากทราบว่าเพลงนั้นเป็นของศิลปินคนใด ก็ต้องขัดจังหวะการเล่นเพลงเพื่อถามกับลำโพงหรือไม่ก็ต้องรอจนจบเพลงก่อนจึงค่อยถาม แต่ถ้ามีหน้าจอด้วย เราก็สามารถดูชื่อของศิลปินได้เลยทันที

แต่ถ้าจอเล็ก ๆ ดูไม่ถนัด อยากได้จอใหญ่ ๆ แถมมีผู้ช่วยอัจฉริยะมาด้วยก็ต้องเป็น Samsung ที่เปิดตัว The Wall ในฐานะ Self-emitting Modular MicroLED กับหน้าจอขนาด 146 นิ้ว โดยแนวคิดของ Samsung ค่อนข้างพร้อมแล้วในการจะเชื่อมต่อทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ภายในบ้าน และสมาร์ทโฟนเข้าด้วยกัน ส่วนผู้ช่วยอัจฉริยะ Samsung ก็มี Bixby มาช่วยไม่ต่างจาก Google และ Amazon เช่นกัน ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม SmartThings ซึ่งเป็น IoT Hub นอกจากนี้ ในปี 2018 ยังจะมีการเปิดตัว Universal Guide ซึ่งเป็นโปรแกรมไกด์ที่จะช่วยแนะนำรายการทีวีและคอนเท้นต์ต่างๆ ตามความชื่นชอบของผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติด้วย  

ซึ่งหากเทรนด์เป็นเช่นนี้ นักการตลาดอาจยิ้มได้เลย เพราะเราจะได้เห็นการกระจายตัวของผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Alexa, Google Assistant หรือ Bixby ไปอยู่ตามเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่มีหน้าจอมากขึ้น เช่น ตู้เย็น กระจกในห้องน้ำ จอในห้องครัว ฯลฯ และช่องทางที่มาจากอุปกรณ์ที่ระบุประเภทชัดเจนนี้อาจทำให้การทำตลาดทำได้อย่างเจาะจงมากขึ้นด้วย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Engadget

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2018/01/ces-2018-smart-display/

Huawei รุกธุรกิจการศึกษา เปิดตัว Smart Education ดัน สจล.เป็นต้นแบบ

(ซ้ายไปขวา) คุณโรบิน หลู , ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และคุณเดวี่ ชิว  

Huawei เปิดแผนธุรกิจ ลุยตลาดการศึกษาด้วยโซลูชัน Smart Education หวังตอบโจทย์การทำ Transformation ในส่วนของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่าง ๆ รวมถึงโรงเรียนระดับมัธยม ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศล่าสุดอย่าง SDN Network, Cloud Data, Smart Classroom พร้อมเปิดตัวเลข การลงทุนเทคโนโลยีสารสนเทศในธุรกิจการศึกษามีการเติบโตอย่างน่าสนใจในสหภาพยุโรปและเอเชียแปซิฟิก โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้ของ Huawei ถึง 20% 

โดยการผลักดันครั้งนี้ นอกจากจะยกเคสของความร่วมมือกับ สจล. มาเป็นกรณีตัวอย่างแล้ว Huawei ยังได้จัดการประชุมด้านการศึกษาระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในชื่อ Huawei Asia Pacific Education Summit 2017 ภายใต้แนวคิด Leading New ICT, The Road to Smart Education ขึ้นด้วย โดยมีการจัดแสดงระบบเครือข่ายไอซีทีของ สจล. ให้กับผู้เข้าชมงานได้ศึกษาเป็นกรณีตัวอย่างด้วย

คุณเดวี่ ชิว รองประธานฝ่ายการตลาดและการขาย กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ สำนักงานใหญ่ เผยว่า การสร้างระบบการศึกษาอัจฉริยะ หรือ Smart Education นั้นจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และทำให้ผู้เรียนได้เข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัด

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเผยว่า SDN & Cloud Computing Center ของ สจล. เป็นก้าวแรกของการยกเครื่องระบบโครงสร้างด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้รองรับรูปแบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในอนาคตได้ โดยประกอบด้วย

  • 100G Based Campus Core Network ซึ่งเป็นระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์ที่สามารถส่งถ่ายข้อมูลที่ความเร็ว 100 กิกะบิตต่อวินาที
  • SDN (Software-defined network) for Campus and Data Center Convergence เป็นระบบเครือข่ายที่รวมความเป็น Data Center เข้ากับ Campus Network เพื่อผู้ดูแลเครือข่ายสามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น
  • Educational Cloud Data Center in Container ศูนย์ข้อมูลจัดเก็บแบบบูรณาการในตู้คอนเทนเนอร์ที่เคลื่อนที่ได้ การทำงานมีเสถียรภาพและปลอดภัยสูง เริ่มใช้งานได้รวดเร็ว ย้ายตำแหน่งได้ง่าย ประหยัดพลังงานและมีค่าใช้จ่ายต่ำ
  • WiFi coverage with whole campus Free Mobility เครือข่าย WiFi ที่เชื่อมต่อได้ถึงระดับกิกะบิตต่อวินาทีครอบคลุมทั่วมหาวิทยาลัย 3,000 จุด

โดยทาง สจล. เผยว่า จากความพร้อมนี้ทำให้ทาง สจล. สามารถจับมือกับมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงคอร์สต่าง ๆ ที่สอนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับโลกได้ รวมถึงอาจารย์ในสถาบันก็สามารถทำวิจัยในด้านต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบทิศทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยีให้เข้าสู่ธุรกิจการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกับจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว ในมุมมองของคุณเดวี่ ชิว ผู้บริหาร Huawei มองว่า เอเชียแปซิฟิกอาจเริ่มช้ากว่าจีนอยู่พอสมควร โดยจีนนั้นมีการจับมือกันของสถาบันการศึกษาเพื่อลงทุนด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งทำให้สถาบันการศึกษาของจีนสามารถเข้าถึงเน็ตเวิร์กความเร็วระดับ 100 Gbps ขึ้นไปได้นานแล้วนั่นเอง

นอกจากการผลักดัน Smart Education Solution ดังกล่าวแล้ว การเปิดตัวศูนย์ OpenLab ของ Huawei ก่อนหน้านี้ในกรุงเทพฯ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดเช่นกัน โดย  OpenLab ที่กรุงเทพสามารถฝึกอบรมคนได้กว่า 800 คนต่อครั้ง และมอบประกาศนียบัตรวิชาชีพให้แก่บุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาแล้วกว่า 500 คนเลยทีเดียว และในปี 2018 Huawei มีแผนจะสร้าง OpenLab อีกแห่งในประเทศอินเดียด้วย

เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาด Smart Education อย่างต่อเนื่อง ทาง Huawei ระบุว่า จะจัดงาน “Huawei Asia Pacific Education Summit 2017” ขึ้นเป็นประจำทุกปี และจะเชิญผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการศึกษาระดับโลกมาร่วมกันอัปเดทเทรนด์เทคโนโลยีด้านการศึกษา และแลกเปลี่ยนกันถึงอนาคตของ Digital Transformation ในอุตสาหกรรมการศึกษาของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย 

อย่างไรก็ดีในส่วนของงบประมาณการลงทุนระบบทั้งหมดใน สจล. ครั้งนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่ามีมูลค่าเท่าไร

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/11/huawei-kmitl-partnered-smart-education/

3 สิ่งที่ (อาจ) เปลี่ยนไป เมื่อผู้บริโภคสั่งแบรนด์ได้ด้วย “เสียง”

อาจกล่าวได้ว่า ขณะนี้ เรามีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยให้แบรนด์เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้ลึกมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีเกี่ยวกับคำสั่งเสียง โดยในประเทศไทยเองก็มีข่าวแว่วมาเช่นกันว่า จะมีอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่เปิดตัวผู้ช่วยดิจิทัลที่มาพร้อมลำโพงอัจฉริยะเพื่อให้บริการภายในที่พักอาศัย แต่ก่อนที่เราจะไปถึงจุดนั้น ไปดูกันว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากการมาถึงของบรรดาผู้ช่วยดิจิทัลที่จะกระทบต่อตัวเรานั้นมีเรื่องใดบ้าง

อุปกรณ์รับคำสั่งเสียงจะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

แม้ผู้บริโภคบางเจเนอเรชั่นอาจมีลักษณะเด่นคือความถนัดสื่อสารด้วยการแชท แต่ในภาพรวมแล้ว การที่แบรนด์สามารถเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้ด้วยเสียงนั้นจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งได้มากกว่า เนื่องจากมีความเป็นธรรมชาติมากกว่านั่นเอง

อย่างไรก็ดี ในจุดนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะผู้บริโภคจะมีความคาดหวังว่า สิ่งที่พวกเขาสื่อสารด้วยนั้นจะสามารถตอบรับ หรือให้ความรู้สึกเหมือนสื่อสารกับคนจริง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น หากระบบอัตโนมัติเกิดทำงานผิดพลาด หรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ดีเพียงพอ ก็จะส่งผลต่อแบรนด์ได้ด้วยเช่นกัน

อุปกรณ์รับคำสั่งเสียงจะเป็นแหล่งรวมข้อมูลชั้นดีสำหรับนักการตลาด

หากลำโพงอัจฉริยะสามารถทำหน้าที่ของพวกมันได้ดี มันจะกลายเป็นแหล่งเก็บข้อมูลที่มีค่ามากของบริษัทในการจะเข้าใจความต้องการหรือพฤติกรรมของผู้บริโภคแบบที่ข้อความ (Text) ไม่สามารถให้ได้ เพราะในการสื่อสารด้วยเสียงนั้น บริษัทจะได้รับข้อมูลของน้ำหนัก โทนเสียง การใช้คำพูด ความเร็วในการพูด ฯลฯ กลับมาวิเคราะห์เพื่อให้รู้จักกับผู้บริโภคแบบรายบุคคลได้อีกมาก ซึ่งการมีข้อมูลเหล่านี้มาก ๆ ก็ทำให้แบรนด์สามารถเข้าใจความต้องการและทัศนคติของผู้บริโภคได้มากขึ้นไปด้วย

ในแง่ดีคือมันจะทำให้การเสนอสินค้าหรือบริการได้รับการปรับปรุงให้เหมาะกับผู้บริโภคแต่ละคนได้มากขึ้น

การสั่งการด้วยเสียงคือตัวเพิ่มความคาดหวังที่จะได้รับบริการ

สิ่งที่การสั่งการด้วยเสียงจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอีกสิ่งหนึ่งคือ มันจะนำไปสู่การ Engagement รูปแบบใหม่ที่ทำให้ผู้บริโภคถูกผูกติดกับแบรนด์ต่าง ๆ มากขึ้น เพราะมันสามารถตอบรับกับความคาดหวังว่าจะได้รับบริการแบบทันทีทันใด ไม่ว่าเวลานั้นจะเป็นช่วงเวลาทำงานหรือเลิกงานไปแล้วก็ตาม

เทคโนโลยีเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ส่วนจะมีผลทำให้นิสัยของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปกลายเป็นคนใจร้อน อดทนไม่ได้ รอไม่เป็น ฯลฯ หรือเปล่านั้น เทคโนโลยีไม่ได้บอกไว้จ้า

ที่มา: VentureBeat

 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/09/voice-technology-relationship-with-customers/