การแข่งขันในตลาดบริการเรียกรถโดยสาร ซึ่งมี 2 ผู้เล่นรายใหญ่ คือ Grab และ Uber เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในตลาด และกำลังชิงส่วนแบ่งตลาดจากรถแท็กซี่สาธารณะ ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ต้องยอมรับว่าการแข่งขันดุเดือดมาก หลายประเทศยังมีปัญหาเรื่องกฎหมาย แต่บริการเรียกรถโดยสาร ก็ยังคงมีอยู่
มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดรวมทั้งภูมิภาคนี้อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Grab เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากให้บริการกว่า 4 ปีและ Grab ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก Softbank ในการพัฒนาธุรกิจเป็นมูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอยากมากในตลาด
สำหรับคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Uber ที่ออกจากธุรกิจในประเทศจีนโดยการขายบริษัทให้กับ Didi ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Uber หันมาโฟกัสในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น มีการเพิ่มกำลังในการพัฒนาระบบทั้งทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีให้พร้อมสำหรับการลุยตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม Ride-Hailing ในแถบนี้
การศึกษาครั้งนี้เป็นการเปรียบเทียบ “ราคาการเดินทางที่ราคาถูกที่สุด” ระหว่าง Grab, Uber และแท็กซี่ตามท้องตลาดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่าแต่ละประเภทของรถโดยสารมีราคาและวิธีการคำนวนราคาที่ต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศ
จาก Infographic ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเนื่องจากมีรถติดปานกลางในช่วงเวลาปกติ ผู้โดยสารจะใช้เวลาเฉลี่ย 25 นาที สำหรับการเดินทาง 5 กิโลเมตรในใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งราคาของ Uber คือ 74 บาท, Grab ราคา 77 บาท และแท็กซี่ราคา 103 บาท
ดังนั้นถ้าหากรถไม่ติดมาก Uber จะถือว่ามีราคาถูกที่สุด แต่อย่างไรก็ตามด้วยประสบการณ์ของผู้จัดทำ Grab จะมีความคุ้มค่ากว่าเนื่องจาก Grab คิดราคาตามระยะทางเท่านั้น ในส่วนของแท็กซี่มีค่าบริการสูงที่สุด
สำหรับเส้นทางระยะยาว 20 กิโลเมตรจากใจกลางเมือง ผู้โดยสารจะใช้เวลาเฉลี่ย 40 นาที ซึ่ง Uber จะมีราคา 159 บาท, แท็กซี่ราคา 210 บาท และ Grab ราคา 216 บาท
ขณะนี้ Application อย่าง Uber และ Grab ยังไม่ถูกกฏหมายในประเทศไทย ซึ่งคล้ายกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้ที่ให้บริการเหล่านี้ถือว่าผิดกฏหมายตาม พรบ รถยนต์ปี พ.ศ. 2522 แต่อย่างไรก็ตาม Uber และ Grab ได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจาก รถให้บริการเหล่านี้ไม่เรื่องมาก ผู้โดยสารสามารถเลี่ยงปัญหารถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารได้
ที่มา: iPrice
สรุป
ความเห็นจาก Brand Inside มองว่า รัฐบาล ควรเร่งหาทางออกเรื่องนี้ โดยให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับธุรกิจเรียกบริการรถโดยสาร เพื่อคุ้มครองการใช้บริการของประชาชน แทนที่การสั่งห้ามอย่างที่เป็นอยู่ เนื่องจากผลที่ปรากฎพิสูจน์แล้วว่า Grab และ Uber สามารถช่วยแก้ไข pain point ที่เกิดจากบริการแท็กซี่สาธารณะได้ ซึ่งการทำเช่นนี้ จะเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาบริการที่ดีขึ้นในอนาคต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา