คลังเก็บป้ายกำกับ: Korea

ยานยนต์สหรัฐฯ ระส่ำ! แบรนด์จีนเตรียมยึดหัวหาด ต่อเนื่องจากที่โดนแบรนด์ญี่ปุ่น และเกาหลีแย่งตลาด

ตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกากำลังจะเจอศึกใหญ่อีกครั้ง หลังแบรนด์จีนเตรียมส่งรถยนต์ไฟฟ้าหลากรุ่นลงแข่งกับ GM, Ford และแบรนด์อื่น ๆ

คล้ายกับช่วงทศวรรษ 70s ที่แบรนด์ท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกาถูกแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Honda ตีตลาด ส่วนปัจจุบันเจอแบรนด์เกาหลีทั้ง Hyundai และ Kia แย่งส่วนแบ่งในตลาดไป

ภาพรวมตลาดรถยนต์สหรัฐอเมริกาจะกระทบมากแค่ไหน และจีนจะครองตลาดได้เบ็ดเสร็จหรือไม่ Brand Inside ขอสรุปไว้ให้ดังนี้

NIO

เตรียมตัวหลายปีถึงเวลาบุกไปท้าทาย

ปัจจุบันแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนทั้งฝั่งผู้ผลิตดั้งเดิม และสตาร์ตอัพต่างมีบทบาทในระดับโลกมาขึ้น เช่น BYD ผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมที่หันมารุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า สามารถแซงหน้า Tesla ขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 1 ของโลก ส่วน Nio ในฐานะสตาร์ตอัพ มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา และเริ่มขยายตลาดไปยุโรป

เมื่อทุกอย่างพร้อม แบรนด์จีนที่ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจึงวางแผนบุกสหรัฐอเมริกา หนึ่งในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยบางแบรนด์เริ่มปูพรมด้วยการสื่อสารการรับรู้ของของแบรนด์ และเปิดโชว์รูมบ้างแล้ว ซึ่งคาดการณ์ว่าการไปบุกตลาดที่นั่น แบรนด์จีนจะอาศัยจุดแข็งที่มีมาตลอดนั่นคือ ราคา

ยิ่งถ้าดูในงาน Shanghai Auto Show จะพบว่า ทุกแบรนด์จีนที่ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าต่างมีความพร้อมทั้งเรื่องการออกแบบ และการวางกลยุทธ์ราคา เหลือแค่ดูว่าผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาจะตัดสินใจซื้อหรือไม่ เพราะปัญหาเรื่องการเมืองระหว่าง 2 ประเทศยังคุกรุ่น และผู้บริโภคเองเริ่มลดการใช้สินค้าจากจีนทั้งตัดสินใจเอง และถูกบังคับ

จาก Toyota สู่ Hyundai และล่าสุดคือ BYD

ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่แบรนด์รถยนต์ต่างชาติจะเข้าไปบุกสหรัฐอเมริกา แต่หากนับแค่ฝั่งเอเชียที่บุกเข้าไปนั้นล้วนแต่สร้างผลกระทบอย่างหนักหน่วงให้กับ Ford และ GM รวมถึงแบรนด์ท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ทศวรรษที่ 70s แบรนด์ญี่ปุ่นทั้ง Toyota และ Honda ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกาอย่างมากผ่านการทำราคาที่ถูก และมีรถที่ประหยัดน้ำมัน

หากย้อนไป 10 ปี แบรนด์เกาหลีทั้ง Hyundai และ Kia เริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดสหรัฐอเมริกามากขึ้นผ่านกลยุทธ์คล้าย ๆ กับญี่ปุ่น แต่งานนี้เข้าไปชิงแชร์ในตลาดรถหรู และ SUV ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นทีของ BYD และพรรคพวกแบรนด์จีนอื่น ๆ ที่จะเข้าไปชิงแชร์ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อดูที่ภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนจะพบว่า ปี 2022 มีการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศกว่า 5 ล้านคัน ส่วนในสหรัฐอเมริกาแม้จะทำสถิติใหม่ที่ 8 แสนคัน ในปีเดียวกัน แต่ก็เรียกว่าห่างกับตลาดจีนหลายเท่าตัว ซึ่งที่จีนนั้น แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกาก็ไม่มีที่ยืนเช่นกัน

ใครล่ะจะไม่อยากได้รถยนต์ไฟฟ้าราคาถูก

Bill Russo ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Automobility ที่ปรึกษาด้านรถยนต์จากจีน มองว่า แบรนด์จีนใช้กลยุทธ์ให้คุณสมบัติสูง ในราคาที่คุ้มค่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสินค้าจากจีนที่เห็นทั่วไป และคงไม่มีใครที่ไม่อยากได้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ในราคาที่เอื้อมถึงไม่ยาก

ยิ่ง Tesla และแบรนด์รถยนต์ในสหรัฐอเมริกา เคยให้คำมั่นว่าจะทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งได้ไกลในราคาต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่สุดท้ายก็ไม่มีออกมาเสียที แถม Bolt EV ของ GM รถยนต์ไฟฟ้าท้องถิ่นที่ราคาถูกที่สุดยังประกาศยุติการทำตลาดในสิ้นปี 2023 ทำให้โอกาสที่แบรนด์จีนจะใช้ราคาเข้าสู้มีมากขึ้นไปอีก

ในทางกลับกัน แบรนด์จีนที่ทำราคาออกมาได้น่าสนใจมีทั้ง Wuling Hong Guang Mini รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และหนึ่งในรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมที่สุดในจีน ขายในาราคาเพียง 5,000 ดอลลาร์ รวมถึง Seagull ของ BYD ที่วิ่งได้ไกลกว่า 300 กม. ในราคาที่ต่ำกว่า 11,000 ดอลลาร์

การเข้ามายึดหัวหาดคงไม่เกิดขึ้นทันที

อย่างไรก็ตามการเข้ามายึดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาโดยแบรนด์จีนคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะหลายแบรนด์อาจต้องทดลองตลาดเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ก่อนจะเตรียมตัวบุกตลาดด้วยรถยนต์ไฟฟ้าที่ตรงกับความต้องการของคนที่นั่นมากที่สุด

เบื้องต้นมี Polestar แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของ Geely เจ้าของ Volvo เข้าไปทำตลาดที่สหรัฐอเมริกาแล้ว และ Nio เตรียมเข้าไปทำตลาดในสหรัฐอเมริกาในปี 2025 ส่วน BYD ปัจจุบันมีโรงงานผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ที่สหรัฐอเมริกา และคงต้องดูท่าทีในการขยับตัวว่าจะเริ่มบุกรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อไร

ดังนั้นการบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาโดยแบรนด์จีนถ้าจะเต็มรูปแบบจริง ๆ ต้องรอทุกแบรนด์ตั้งโรงงานผลิต คล้ายกับที่แบรนด์ญี่ปุ่น และเกาหลีทำ ที่สำคัญคือต้องลุ้นว่าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนจะสามารถก้าวข้ามปัญหาการเมือง และการไม่ใช้สินค้าจากจีนของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่

อ้างอิง // Business Insider, NIO

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ยานยนต์สหรัฐฯ ระส่ำ! แบรนด์จีนเตรียมยึดหัวหาด ต่อเนื่องจากที่โดนแบรนด์ญี่ปุ่น และเกาหลีแย่งตลาด first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/china-ev-go-us/

คลื่นวัฒนธรรมเกาหลียังไปต่อ ปี 2022 มีแฟนติดตามกว่า 178 ล้านคน เท่าประเทศประชากรอันดับ 8 ของโลก

Korea Foundation หน่วยงานเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลี เปิดเผยผลสำรวจผู้ชื่นชอบคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี หรือ Hallyu ในปี 2022 ว่า มีแฟน ๆ ติดตามทั่วโลกกว่า 178 ล้านคน เท่าประเทศที่มีประชากรอันดับ 8 ของโลก

Squid Game

คลื่นวัฒนธรรมเกาหลียังเติบโตต่อเนื่อง

จำนวนผู้ชื่นชอบคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีทั่วโลกในปี 2022 อยู่ที่ 178 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 156 ล้านคน ในปี 2021 และเพิ่มขึ้นจาก 9.26 ล้านคน เมื่อปี 2012 ที่ Korea Foundation เริ่มทำการสำรวจ ซึ่งตัวเลข 178 ล้านคน ใกล้เคียงกับประเทศที่มีประชากรเป็นอันดับ 8 ของโลก โดยเหนือกว่าบังกลาเทศ และยังน้อยกว่าบราซิล

จำนวนผู้ชื่นชอบวัฒนธรรมเกาหลีจะอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชีย และโอเชียเนียมากที่สุด นำมาโดยประเทศจีนที่มีผู้ชื่นชอบอยู่กว่า 85.3 ล้านราย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีไทยที่มีผู้ชื่นชอบ 16.8 ล้านราย และตามด้วยเวียดนามที่ 13.3 ล้านราย

ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศยุโรปเริ่มมีผู้ชื่นชอบคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2022 มีอยู่ทั้งหมด 13.2 ล้านราย เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับปี 2021 โดยปัจจัยหลักมาจากสื่อภาพยนตร์ และซีรีส์ที่เกาหลีที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มยอดนิยมของโลก และถูกรับชมเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้เพลง K-Pop ที่ยังคงจุดเด่นเรื่องทำนองที่ติดหู, ท่าเต้นที่ออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในเนื้อเพลงที่น่าสนใจ ยังเป็นอีกแรงขับให้คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีเติบโตเช่นกัน ทั้งยังมีเรื่องเกมกีฬา, เศรษฐกิจ รวมถึงการแต่งตัวที่มีรูปแบบเฉพาะ

รายงานดังกล่าวมีชื่อว่า 2022 Global Hallyu Status สำรวจเป็นปีที่ 11 ใน 118 ประเทศ ร่วมมือกับคณะทูตเกาหลีใต้ และหน่วยงานต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ ใช้เกณฑ์การสำรวจเรื่องการติดตามข่าวสาร, ภาพยนตร์, K-Pop, อาหาร และภาษา พร้อมพิสูจน์การเป็นแฟนคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีด้วยการดูการติดตามในโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

อ้างอิง // Korea Herald

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post คลื่นวัฒนธรรมเกาหลียังไปต่อ ปี 2022 มีแฟนติดตามกว่า 178 ล้านคน เท่าประเทศประชากรอันดับ 8 ของโลก first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/hallyu-fans-number-2022/

เปิดกลยุทธ์ บอนชอน บุกต่างจังหวัด ทำเมนูประหยัด สร้างภาพร้านอาหารเกาหลี หวังโตขั้นต่ำ 20%

บอนชอน คือร้านอาหารกลุ่มแรก ๆ ที่จำหน่ายเมนู ไก่ทอดเกาหลี และตอนนี้ยังเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ในใจผู้บริโภคเมื่อนึกถึงเมนูดังกล่าว

ยิ่ง 4 ปีก่อน กลุ่มไมเนอร์ เข้ามาซื้อกิจการ บอนชอน ประเทศไทย ช่วยติดสปีดให้ธุรกิจโตก้าวกระโดด และเป็นหนึ่งในร้านอาหารส่วนน้อยที่มีรายได้เติบโตในช่วงวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด

แล้วปี 2023 ที่ยังมีปัจจัยลบเรื่องเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนต่าง ๆ อยู่ บอนชอน ประเทศไทย จะรับมือกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร Brand Inside ชวนมาศึกษาแผนธุรกิจของ บอนชอน ในปีนี้กัน

บอนชอน

บอนชอน กับการก้าวโดดตลอด 4 ปี

ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ. เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป เล่าให้ฟังว่า บอนชอน ในประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตที่สูง ทำให้บริษัทตัดสินใจซื้อกิจการดังกล่าวเมื่อ 4 ปีก่อน และถึงตอนนี้ บอนชอน กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจร้านอาหารระดับเรือธงของบริษัท

“บอนชอน เติบโตในไทยอย่างรวดเร็วตลอด 4 ปีที่กลุ่มไมเนอร์เข้ามาซื้อกิจการ ทั้งสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านการทำสาขานอกห้าง และเปิดเดลิเวอรีเต็มตัว แต่หลังจากนี้ บอนชอน จะกลับมาเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ร้านรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า พร้อมกับการวางตัวเป็นร้านอาหารเกาหลีมากขึ้น”

อ้างอิงข้อมูลไตรมาส 3 ปี 2022 แบรนด์ บอนชอน ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 มีรายได้เติบโตราว 20% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021 และคาดว่ารายได้ทั้งปี 2022 จะเติบโตในอัตราดังกล่าวเช่นกัน โดย บอนชอน คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 4% จากรายได้รวมธุรกิจร้านอาหารราว 20,000 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022

บอนชอน

ยกระดับภาพลักษณ์สู่ร้านอาหารเกาหลี

บอนชอน ประเทศไทย มีแผนยกระดับภาพลักษณ์ให้ไปสู่ร้านอาหารเกาหลีมากขึ้น จากเดิมที่มีเมนูไก่ทอดเกาหลีเป็นตัวดึงดูด โดยตัวร้านมีการปรับเปลี่ยนการตกแต่งใหม่เป็นรูปแบบ Street Food และเพิ่มเมนูอาหารเกาหลี เช่น หม้อไฟ และยำแบบเกาหลี เป็นต้น

“ตอนนี้เราต้องการกระตุ้นลูกค้าให้เข้ามารับประทานที่ร้าน เพราะ บอนชอน คือ Full Services Restaurant แม้สินค้าหลักของเราคือไก่ทอด แต่เราก็เพิ่มอาหารท้องถิ่นเกาหลีเข้ามาเพื่อเพิ่มความเป็นร้านอาหารเกาหลี และเติบโตในปี 2023 ได้ราว 20% เช่นเดียวกับที่จะทำได้ในปี 2022”

สำหรับในปี 2023 บอนชอน มีแผนเปิดสาขาเพิ่ม 10-15 สาขา เน้นในศูนย์การค้า จากปัจจุบันมีอยู่ 106 สาขา เพื่อทำให้ได้ 150-200 สาขา ตามเป้าหมายที่ซื้อกิจการเมื่อ 4 ปีก่อน และสาขาของ บอนชอน จะมี 2 การออกแบบคือ Minimal ที่ใช้มาตั้งแต่เปิดธุรกิจเมื่อ 10 ปีก่อน และ Street Food ที่เพิ่งเปิดใหม่

บอนชอน

ทำเมนูราคาประหยัดรุกต่างจังหวัดเพิ่ม

ขณะเดียวกัน บอนชอน ยังเปิดตัวเมนูกลุ่มราคาประหยัด เช่น ไก่ทอดขนาด 4 ชิ้น 129 บาท จากเดิมที่จำนวนน้อยที่สุด 6 ชิ้น ทำให้ลูกค้าสามารถเปิดใจทดลองไก่ทอดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัด ที่ 10 สาขาที่จะเปิดใหม่จากนี้จะเป็นกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างละครึ่ง

“บอนชอน มีเปิดใน จันทบุรี เชียงราย พิษณุโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ลูกค้าก็ตอบรับดี แต่เราต้องการทำให้ดีกว่านี้ด้วยเมนูที่เข้าถึงง่ายขึ้น แต่จริง ๆ เรามีเมนูที่ราคาต่ำกว่านี้ เพียงแค่ไม่ใช่ไก่ทอดที่เป็นเมนูเรือธงของเรา ยิ่งกระแส Kpop และ Kseries ช่วยดันตลาดอาหารเกาหลีเติบโต เราก็คงพลาดกระแสนี้ไม่ได้”

ปัจจุบันบอนชอนมีลูกค้าเข้าร้านเฉลี่ย 1 ครั้ง/เดือน ยอดใช้จ่ายในร้านเฉลี่ย 800 บาท/บิล ส่วนเดลิเวอรีอยู่ที่ 400 บาท/บิล นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมสมาชิกที่ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 3 แสนราย หลังจากเริ่มทำเมื่อปลายปี 2022 และหากแบ่งเป็นสัดส่วนยอดขายจะมาจากในร้าน 50% เดลิเวอรี 40% และซื้อกลับบ้าน 10%

บอนชอน

จ้างพรีเซนเตอร์ จับลูกค้ากลุ่ม Young Gen

ล่าสุด บอนชอน มีการจ้าง ไบร์ท วชิรวิชญ์ ชีวอารี เป็นพรีเซนเตอร์คนแรกของแบรนด์ โดยการเดินหน้าแผนนี้เพื่อคงภาพลักษณ์แบรนด์สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ Young Generation ที่เป็นลูกค้ากลุ่มหลักของ บอนชอน มาตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจในประเทศไทย

“พรีเซนเตอร์จะมาช่วยสื่อสารแบรนด์กับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ยิ่งเราพยายามออกไปต่างจังหวัดมันก็ยิ่งจำเป็น และการสื่อสารครั้งนี้จะมาในรูปแบบแบรนด์ร้านอาหารเกาหลีที่มีเมนูไก่ทอดเป็นตัวดึงดูด ผ่านราคา และการบริหารที่คุ้มค่า ทั้งส่งผลให้ธุรกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย”

ทั้งนี้ บอนชอน จำหน่ายเมนูไก่ทอดเป็น 60% ของเมนูทั้งหมด โดยที่รองลงมาจะเป็นกลุ่มเมนูอาหารเกาหลีที่หลากหลาย แต่เมนูเหล่านั้นจะถูกปรับให้มีความร่วมสมัย หรือเป็น Fusion Korea Food เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ส่วนภาพรวมตลาดไก่ทอดในประเทศไทยมีมูลค่าราว 20,000 ล้านบาท

สรุป

บอนชอน คือแบรนด์ร้านอาหารที่บุกเบิกเมนูไก่ทอดเกาหลี และสร้างพื้นที่ใหม่ให้กับตลาดไก่ทอดในประเทศไทย ดังนั้นการจะรักษาตำแหน่งผู้นำต่อไป แบรนด์มีความจำเป็นต้องสร้างอะไรใหม่ ๆ ยิ่งตอนนี้เริ่มมีแบรนด์ไก่ทอดเกาหลีทำสินค้ามาแข่งมากขึ้น แม้จะยังมีสาขาไม่มาก แต่หากปล่อยไว้นานอาจสร้างผลเสียให้กับธุรกิจได้ถ้าไม่ทำอะไรเลย

อ้างอิง // Minor 1, 2

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เปิดกลยุทธ์ บอนชอน บุกต่างจังหวัด ทำเมนูประหยัด สร้างภาพร้านอาหารเกาหลี หวังโตขั้นต่ำ 20% first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/bonchon-thailand-2023-strategy/

ทำไม Hyundai และ Kia ผู้ผลิตแบรนด์รถยนต์อันดับ 3 ของโลก ถึงมีส่วนแบ่งในตลาดไทยน้อยนิด

ตอนนี้ Hyundai Motor Group ขึ้นเป็นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์อันดับที่ 3 ของโลกในแง่ยอดขาย ตามหลัง Toyota กับ Volkswagen ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น และยุโรปตามลำดับ

แต่ใหญ่ขนาดนี้ทำไม Hyundai Motor Group ที่มีแบรนด์รถยนต์ Hyundai กับ Kia รวมถึงแบรนด์หรู Genesis และแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าล้วน Ioniq ถึงมีส่วนแบ่งยอดขายค่อนข้างน้อยในประเทศไทย

Brand Inside ชวนมาศึกษาข้อมูลการทำตลาดของ Hyundai Motor Group ยักษ์ใหญ่รถยนต์จากเกาหลีรายนี้ว่ามีรุ่นใดทำตลาดในไทยบ้าง และมียอดขายมาน้อยขนาดไหน

Hyundai Kia

Hyundai Motor Group กับตลาดไทย

การเริ่มต้นทำตลาดรถยนต์ในประเทศไทยของ Hyundai Motor Group ต้องย้อนไปถึงไป 2535 หรือ 30 ปี ก่อน ที่เวลานั้น Hyundai นำเข้ารุ่น Excel, Elantra และ Sonata มาจำหน่ายในประเทศไทย สร้างความแปลกใหม่ให้ตลาดด้วยความแตกต่างเรื่องแบรนด์ และการออกแบบที่ไม่เหมือนรถยนต์จากญี่ปุ่นในเวลานั้น

Hyundai ไม่ได้ทำตลาดไทยต่อเนื่อง เพราะช่วงปี 2540 เป็นต้นไป ตัวแทนจำหน่ายมีการยุติการทำตลาด สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ซื้อในเวลานั้น จนบริษัทแม่ต้องเข้ามาทำตลาดเองในปี 2550 แต่ช่วงแรกยังสร้างความเชื่อมั่นให้ไทยไม่ได้ จนกระทั่งเปิดตัวรถตู้รุ่น H-1 และซื้อใจคนไทยได้สำเร็จจนทำยอดขายได้เติบโตต่อเนื่อง

ส่วนแบรนด์ Kia มี ยนตรกิจ บริษัทตัวแทนนำเข้ารถยนต์อายุ 70 ปี เป็นผู้ทำตลาดมาตั้งแต่ปี 2542 สร้างความน่าสนใจให้กับตลาดไทยด้วย MPV รุ่น Carnival ซึ่งรุ่นนี้คือรุ่นสำคัญของ Kia เพราะขายในไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้นำตลาดในรถยนต์กลุ่มดังกล่าว ส่วนรุ่นอื่น ๆ ที่นำเข้ามายังไม่สามารถแย่งชิงตลาดจากคู่แข่งญี่ปุ่น

Hyundai Motor จำหน่ายรุ่นอะไรบ้าง

ปัจจุบัน Hyundai ทำตลาดในไทยโดย บริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เกิดจากการร่วมทุนของ โซจิทซ์ คอร์ปอเรชัน บริษัทเทรดดิ้งของประเทศญี่ปุ่น กับ บมจ. อาปิโก้ไฮเทค ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ส่งให้โรงงานประกอบรถยนต์

บริษัทดังกล่าวก่อตั้งเมื่อปี 2549 เริ่มต้นทำตลาดด้วยรุ่น Sonata และ Santa Fe ก่อนที่ปี 2551 จะเปิดตัวรุ่น H-1 ซึ่งหลังจากนั้น Hyundai เริ่มจับทางได้ และเน้นทำตลาดรุ่น H-1 อย่างต่อเนื่อง เพราะเวลานั้นยังไม่มีคู่แข่งในเรื่องราคา และคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน จนปี 2559 บริษัทมียอดขายสะสม 30,000 คัน

นอกจากนี้ Hyundai ยังเป็นแบรนด์แรก ๆ ในไทยที่เริ่มจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าล้วน เพราะปี 2561 บริษัทเปิดตัวรุ่น Ioniq รวมถึง SUV ไฟฟ้าล้วนรุ่น Kona นอกจากนี้ปี 2564 บริษัทยังตอกย้ำผู้นำตลาดรถตู้อเนกประสงค์ด้วยการเปิดตัว Staria และเตรียมชิมลางตลาด Subcompact SUV ด้วยรุ่น Creta ด้วย

ปัจจุบัน Hyundai มีศูนย์บริการมากกว่า 30 แห่ง ทั่วประเทศ ทำตลาดรถยนต์ทั้งหมด 3 รุ่น ประกอบด้วย

  • Hyundai H-1 รถตู้อเนกประสงค์ ราคาเริ่มต้น 1.329 ล้านบาท
  • Hyunda Staria รถตู้อเนกประสงค์สำหรับครอบครัว ราคาเริ่มต้น 1.799 ล้านบาท
  • Hyundai Creta รถยนต์ Subcompact SUV ราคาเริ่มต้น 9.49 แสนบาท

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าทางแบรนด์ไม่มีความเคลื่อนไหวในขณะนี้หากอ้างอิงตามหน้าเว็บไซต์ทางการในประเทศไทย

Kia ทำตลาดรุ่นอะไรบ้างในประเทศไทย

ต่อด้วยแบรนด์ Kia ปัจจุบันทำตลาดโดย บริษัท ยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวทำตลาด Kia มาตั้งแต่เริ่มบุกไทยเมื่อปี 2542 โดยเวลานั้น Kia ทำตลาดรุ่น Carnival รถยนต์ MPV ประตูเลื่อน และ Sportage รถ SUV ขนาดเล็ก ซึ่ง Carnival เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในทันทีที่เปิดขาย

จากนั้น Kia หวังต่อยอดความสำเร็จด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นต่าง ๆ เพิ่ม เช่น Pregio รถตู้อเนกประสงค์ 11 ที่นั่ง, Picanto รถยนต์ขนาดเล็กเครื่อง 1,100 ซีซี รวมถึง Soul รถยนต์ SUV ขนาดเล็ก แต่ยังไม่สามารถประสบความสำเร็จเทียบเท่ากับ Carnival ได้ และรถยนต์รุ่นดังกล่าวยังไม่มีคู่แข่งตรง ๆ เท่าไรนัก

จึงไม่แปลกที่ Kia จะทำตลาด Carnival อย่างต่อเนื่อง และมีการชิมลางรุ่นอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น รถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่น Soul EV รวมถึง K2500 รถบรรทุกเล็ก ถือเป็นแบรนด์ที่น่าสนใจ เพราะเน้นขายแค่รุ่นเดียวก็สามารถยืนหยัดในตลาดไทยมาได้นานกว่า 20 ปี

ปัจจุบัน Kia มีศูนย์บริการ 20 แห่งทั่วประเทศไทย และทำตลาดรถยนต์ 2 รุ่น ประกอบด้วย

  • Kia Carnival รถยนต์ MPV ประตูเลื่อน ราคาเริ่มต้น 2.234 ล้านบาท
  • Kia K2500 รถบรรทุกเล็ก ราคาเริ่มต้น 7.49 แสนบาท

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ทางแบรนด์ยังไม่มีการประกาศรุ่นที่ทำตลาดบนเว็บไซต์ทางการ

Hyundai และ Kia มียอดขายในไทยเยอะแค่ไหน

อย่างที่แจ้งไปข้างต้นว่า Hyundai Motor Group ที่มีแบรนด์ Hyundai, Kia, รถยนต์ไฟฟ้าล้วน Ioniq และแบรนด์รถหรู Genesis มียอดขายเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่ในประเทศไทยที่ทางกลุ่มทำตลาดแค่แบรนด์ Hyundai และ Kia กลับมีบทบาทในตลาดประเทศไทยค่อนข้างน้อย

อ้างอิงข้อมูลยอดขายจาก Toyota พบว่า ในปี 2565 หากนับถึงสิ้นเดือน พ.ย. 2565 ยอดขายรถยนต์สะสมในไทยอยู่ที่ 766,589 คัน โดยแบรนด์ Hyundai มียอดขายรวม 3,880 คัน เพิ่มขึ้น 59.7% จากปี 2564 คิดเป็น 0.5% ของตลาด ส่วน Kia มียอดขายรวม 1,199 คัน ลดลง 10.1% จากปี 2564 คิดเป็น 0.2% ของตลาด

อาจเพราะทั้งสองแบรนด์ทำตลาดรถยนต์น้อยรุ่น และรถยนต์ทั้งหมดต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น Hyundai H-1 ต้องนำเข้าจากเวียดนาม หรือเกาหลีใต้ แต่หลังจากนี้ทางกลุ่มอาจเพิ่มดีกรีในการทำตลาดไทย เพราะเพิ่งสร้างโรงงานในอินโดนีเซียเสร็จ เพื่อใช้ผลิตรถยนต์รุ่น Creta และรถยนต์ไฟฟ้า Ioniq เพื่อบุกตลาดอาเซียนโดยเฉพาะ

สรุป

Hyundai และ Kia ทำตลาดในประเทศไทยมามากกว่า 20 ปี แต่ด้วยความไม่ต่อเนื่อง และมีรุ่นให้เลือกน้อย ทำให้มีผู้ซื้อบางกลุ่มเท่านั้นที่จะมาซื้อรถยนต์ของทั้งสองแบรนด์ ยิ่งตอนนี้มีแบรนด์จีนบุกตลาดอย่างเข้มข้น ก็น่าสนใจว่า Hyundai และ Kia ที่เหมือนเป็นแบรนด์ทางเลือกในตอนนี้จะดิ้นรนในตลาดไทยอย่างไร

อ้างอิง // Hyundai, Kia, Toyota

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ทำไม Hyundai และ Kia ผู้ผลิตแบรนด์รถยนต์อันดับ 3 ของโลก ถึงมีส่วนแบ่งในตลาดไทยน้อยนิด first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/hyundai-kia-thai-market/

การแข่งขันแอพพิไทเซอร์ แฮกกาธอน ประจำปี 2565 ปิดฉากความสำเร็จอย่างงดงาม [Guest Post]

  • การแข่งขันแอพพิไทเซอร์ แฮกกาธอน ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สอง ปิดฉากลงอย่างสวยงามด้วยพิธีมอบรางวัล
  • มีการพัฒนาแบบจำลองธุรกิจที่โดดเด่นหลายรายการ โดยใช้ API ชั้นเยี่ยมของเกาหลีใต้

การแข่งขันแฮกกาธอนออนไลน์ระดับโลก แอพพิไทเซอร์ แฮกกาธอน ประจำปี 2565 (APPETIZER HACKATHON 2022) ซึ่งกระทรวงเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ (Ministry of SMEs and Startups) และมูลนิธิเพื่อความร่วมมือของธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดย่อมและกิจการชนบทแห่งเกาหลี (Korea Foundation for Cooperation of Large & Small Businesses, Rural Affairs) เป็นเจ้าภาพ จัดโดยเนเวอร์ คลาวด์ (NAVER Cloud) และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกาหลี (Korea Software Industry Association) ได้ปิดฉากลงหลังการแข่งขันต่อเนื่องราวหกสัปดาห์ โดยมีพิธีมอบรางวัลในรอบชิงชนะเลิศเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ปีนี้เป็นปีที่สองของการแข่งขันแอพพิไทเซอร์ แฮกกาธอน และมีทีมเข้าร่วมประมาณ 30 ทีม ประกอบด้วย นักพัฒนาในเกาหลีใต้ บริษัทสตาร์ทอัพ และนักศึกษามหาวิทยาลัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแต่ละทีมได้เลือกใช้ API ชั้นเยี่ยมจากบริษัท API สิบแห่งในเกาหลีใต้เพื่อพัฒนาแบบจำลองธุรกิจต่าง ๆ

คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้าน API ได้ทำการจัดอันดับ 8 ทีมที่เข้ารอบสุดท้าย โดยตัดสินจากการนำเสนอในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งผลปรากฏว่าทีมบรูสเคตตา (Bruschetta) ของนักศึกษาจากอินโดนีเซียเป็นผู้ชนะการแข่งขันแฮกกาธอนระดับโลกในครั้งนี้ และได้รับรางวัลใหญ่มูลค่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ทีมบรูสเคตตา ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันประจำปีนี้ เลือกใช้ API บริหารจัดการสมาชิกจากสเต็ปเพย์ (STEPPAY) เป็น API หลัก และใช้แลงโค้ด ซีเอ็กซ์พี (Langcode CXP) ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างคำถามและคำตอบอย่างเฉพาะเจาะจงเป็น API รอง เพื่อพัฒนาบริการชื่อว่า “สมีมส์” (SMEEMS) ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถจัดการสมาชิกในส่วนของค่าบริการได้ภายในคลิกเดียว โดยคาดว่าจะมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้าด้วยฟังก์ชันแชตบ็อตและโซลูชันคลิกเดียว พร้อมทั้งช่วยเพิ่มยอดขายและเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ทีมคุกกี้ (COOKIE) ผู้คว้าอันดับสองในปีนี้ เลือกใช้ API ยูไซน์ (USIGN) ซึ่งเป็นโซลูชันลายมือชื่อดิจิทัลมาตรฐานระหว่างประเทศจากโคเรีย คอร์ปอเรชัน ซีเคียวริตี้ (Korea Corporation Security หรือ KCS) เพื่อพัฒนาแอปที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “สไวป์” (SWIPE) ซึ่งช่วยให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและผู้ใช้สามารถรายงานปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่ต้องใช้เอกสารอื่น โดยได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกอย่างท่วมท้น ขณะที่ทีมโค้ดเดอร์ (CODER) ผู้คว้าอันดับสองร่วม เลือกใช้ API พีแคนพาย (Pcanpi) จากดาต้า บี (Data B) ผู้ให้บริการตรวจแก้ภาษาอังกฤษอัตโนมัติ เพื่อพัฒนา “คิดส์ลิงโก” (KIDSLINGO) ของเล่นสำหรับเด็กที่สามารถตรวจแก้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก

ทีมดีทูเอชดี (D2HD) ผู้คว้าอันดับสามร่วม เลือกใช้ API ดึงข้อมูลจากทวิตเตอร์แบบเรียลไทม์ของแฮช สเครเปอร์ (Hash Scraper) เพื่อพัฒนา “เก็ตโกอิง” (Getgoing) บริการสืบค้นข้อมูลสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ขณะที่ทีมซันซัน เทค (SanSan Tech) ได้พัฒนาผู้ช่วยดิจิทัล “อีฟ” (EVE) โดยใช้ API ดึงข้อมูลตลาดระดับโลกของลามี โซลูชัน (Lamy Solution) และแลงโค้ด ซีเอ็กซ์พี ซึ่งได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน ส่วนทางด้าน “เวจวอลต์” (VegVault) บริการสั่งอาหารที่ช่วยให้พนักงานบริษัทสามารถบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพไปพร้อมกับรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งพัฒนาโดยใช้ API อีโคลูป (EcoLoop) จากฮานา ลูป (Hana Loop) และ API บริหารจัดการสมาชิกจากสเต็ปเพย์ ก็ดึงดูดความสนใจเช่นกัน

ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันแฮกกาธอนครั้งนี้ได้รับรางวัล 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนทีมที่คว้าอันดับสองจำนวนสองทีมได้รับรางวัลทีมละ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ และทีมที่คว้าอันดับสามจำนวนห้าทีมได้รับรางวัลทีมละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันแฮกกาธอนตั้งแต่ต้นจนจบยังได้รับเงินรางวัล 500 ดอลลาร์สหรัฐ

การแข่งขันแอพพิไทเซอร์ แฮกกาธอน ประจำปี 2565 จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและดึงดูดผู้ใช้ในตลาด API ทั่วโลก และเป็นเวทีนำเสนอ API ชั้นเยี่ยมของเกาหลีใต้สู่ตลาดโลก ผู้ที่สนใจสามารถสัมผัส API ชั้นเยี่ยมจากเกาหลีใต้ได้ที่ https://www.appetizer.kr

ที่มา : โซล, เกาหลีใต้–27 ธันวาคม 2565–พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

 

from:https://www.techtalkthai.com/appetizer-hackathon-2022-guest-post/

กระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ ปรับหลักสูตรการเน้นทักษะเทคโนโลยี รองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล

กระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ ในประเทศเกาหลีใต้ เตรียมจัดฝึกอบรมเเละผลิตบุคคลากรที่มีความสามารถด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านคนภายในปี 2026

ซึ่งจะปรับหลักสูตรการศึกษา โดยเพิ่มชั่วโมง หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศเป็น 2 เท่าสำหรับโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาและกำหนดให้โรงเรียนดำเนินการศึกษาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 

โดยชั่วโมงเรียนจากปัจจุบัน 17 ชั่วโมงเป็น 34 ชั่วโมงในโรงเรียนประถมศึกษา และ 34 ชั่วโมงเป็น 68 ชั่วโมงในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นภายในปี 2568

“ในโรงเรียนประถมศึกษา นักเรียนจะได้เรียนรู้การทำความคุ้นเคยกับภาษาคอมพิวเตอร์โดยรวมผ่านกิจกรรมที่เน้นการเล่นเป็นหลัก นักเรียนมัธยมต้นจะได้เรียนรู้วิธีจัดการกับปัญหาในชีวิตจริงด้วยการเขียนโค้ด ในขณะที่นักเรียนมัธยมปลายจะได้รับการฝึกอบรมเพื่อสร้างอัลกอริธึม” โอ ซอก-ฮวาน ผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนและประสานงานของกระทรวงกล่าว

กระทรวงศึกษาธิการระบุว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลในท้องถิ่น ซึ่งรวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน ซอฟต์แวร์ทั่วไป บิ๊กดาต้า เมตาเวิร์ส คลาวด์  ความปลอดภัยทางไซเบอร์ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ 5G และ 6G รวมถึงอื่นๆ จะต้องใช้แรงงานที่มีทักษะ 738,000 คน 

ภายใน 5 ปีถัดไปความต้องการนี้อาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมอื่นๆจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแพลตฟอร์มดิจิทัลเช่นกัน

จากจำนวน 1 ล้านคนนั้น 160,000 คน จะเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือผู้สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัย 710,000 คนในระดับปริญญาตรี และ 130,000 คนในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก

เพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษาดิจิทัล กระทรวงจะยกเลิกการจำกัดโควต้านักเรียนในแผนกต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดหรือขยายแผนกได้เพิ่มขึ้น

เนื่องจากอุตสาหกรรมดิจิทัลต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูง กระทรวงยังวางแผนที่จะขยายบัณฑิตวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ ความเป็นจริงเสมือน ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และบิ๊กดาต้า

นอกจากนี้ กระทรวงยังจะแนะนำหลักสูตรติวเข้มในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในปีหน้า เพื่อบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับสาขาวิชาอื่นๆ เช่น มนุษยศาสตร์และสังคมศึกษาเพื่อการศึกษาแบบคอนเวอร์เจนซ์

อ้างอิง koreaherald 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post กระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ ปรับหลักสูตรการเน้นทักษะเทคโนโลยี รองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/south-korean-ministry-of-education-adjust-focusing-on-technology-skills-support-for-the-digital-industry/

เกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่น? ทำไมอาจโดน เกาหลีใต้-ไต้หวัน แซงในอีกแค่ 5 ปี

ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจในญี่ปุ่นชี้ ญี่ปุ่น อาจถูกเกาหลีใต้และไต้หวันแซงในอีก 5 ปี ประเด็นคือไม่ใช่เพราะเรื่องสังคมสูงวัย แต่เป็นปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน

ถ้าพูดถึงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เรียกได้ว่าญี่ปุ่นยืนหนึ่งมาอย่างยาวนาน 

เพราะญี่ปุ่นเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีบริษัทชั้นนำมากมาย และเป็นชาติเดียวจากเอเชียในกลุ่ม G7 เหล่านี้เป็นเครื่องตอกย้ำสถานะของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

แต่สถานะนี้กำลังจะถูกสั่นคลอน เพราะล่าสุด Japan Center for Economic Research (JCER) ชี้ว่า ญี่ปุ่นอาจถูกเกาหลีใต้และไต้หวันแซงในแง่ของ GDP per capita หรือรายได้ต่อหัว ภายในปี 2027 ถึง 2028 หรือก็คืออีก 5 ถึง 6 ปี เท่านั้น

หรือ ญี่ปุ่น จะหมดไฟ?

ปัจจุบัน รายได้ต่อหัวของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน (ปี 2020) อยู่ที่ 39,890 เหรียญ 31,954 เหรียญ และ 28,054 เหรียญ ตามลำดับ แต่ภายในอีก 5 ปี ช่องว่างระหว่างทั้งสามจะถูกบีบแคบลงเรื่อยๆ

ศูนย์วิจัยคาดว่า ในปี 2027 รายได้ต่อหัวของเกาหลีใต้จะแซงญี่ปุ่น โดยเกาหลีใต้จะมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 46,519 เหรียญ มากกว่าญี่ปุ่นที่ 45,607 เหรียญ

จากนั้นอีกแค่ปีเดียวรายได้ต่อหัวในไต้หวันก็แซงญี่ปุ่น โดยไต้หวันจะมีรายได้ต่อให้ในปี 2028 ที่ 47,305 เหรียญ มากกว่าญี่ปุ่นที่ 46,443 เหรียญ

Taipei Taiwan ไทเป ไต้หวัน
ภาพจาก Shutterstock

ทำไมญี่ปุ่นจะโดนแซง อะไรคือปัจจัยสำคัญ?

Atsushi Tomiyama นักวิจัยด้านจาก JCER ตั้งข้อสังเกตุไว้ได้น่าสนใจว่า “แม้อุปสรรคใหญ่ที่สุดของการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น คือ อัตราการเกิดต่ำ และสังคมสูงวัย แต่เกาหลีใต้และไต้หวันก็เจอปัญหาเดียวกัน ดังนั้น จุดแตกต่าง (ของทั้งสาม) มาจากผลิตภาพและ Digitalization หรือ การปรับตัวสู่ดิจิทัล”

JCER คาดการณ์ว่าจากปี 2021 ถึง 2035 ญี่ปุ่นจะเติบโตได้ปีละ 2% เติบโตช้าหว่าเกาหลีและไต้หวันอย่างมาก โดยเกาหลีจะโตปีละ 4.1% และไต้หวันโตปีละ 4.2%

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังถือว่าเป็นที่พูดถึงน้อยกว่าอีก 2 ประเทศในด้าน Digitalization อย่างกรณีที่ญี่ปุ่น เพิ่งจะเริ่มหารือเลิกใช้ เครื่องแฟกซ์ ในงานราชการ ในช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2021 แสดงให้เห็นปัญหาการปรับตัวสู่ระบบดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

Seoul South Korea เกาหลีใต้ กรุงโซล
ภาพจาก Shutterstock

Tomiyama ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าเกาหลีใต้และไต้หวันมีบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Samsung, Foxconn, และ TSMC ที่เป็นปัจจัยผลักดันของประเทศ 

โดยทั้ง Samsung และ TSMC ต่างเป็นบริษัทที่โดดเด่นในเรื่องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบตั้งต้นของนวัตกรรมจำนวนมาก 

ที่มา – Japan Today, World Bank Data

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่น? ทำไมอาจโดน เกาหลีใต้-ไต้หวัน แซงในอีกแค่ 5 ปี first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/why-south-korea-taiwan-would-surpass-japan-within-5-years/

ฟิตเนสต้องเปิดเพลงช้าต้านโควิด เกาหลีใต้เผย ดีกว่าปิดเศรษฐกิจ-ผลักภาระให้ประชาชน

เกาหลีประกาศ ฟิตเนสเปิดทำการได้แม้ระบาดระลอกใหม่หนักสุดเป็นประวัติการณ์ ติดเชื้อเกินพันคน 1 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเปิดเพลงช้าระหว่างออกกำลังกาย

south korea gym

ฟิตเนสในเกาหลียังเปิดได้ ถ้าไม่เปิดเพลงเร็ว

เกาหลีใต้ประกาศให้ผู้ให้บริการฟิตเนสเปิดเพลงที่จังหวะไม่เร็วเกิน 120 bpm เมื่อมีการออกกำลังกายกลุ่ม เช่น การเต้นแอโรบิค หลังจากพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มียอดผู้ติดมากกว่า 1 พันคน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ติดต่อกันจนรัฐบาลต้องยกระดับการควบคุมสู่ระดับสูงที่สุด

เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ระบุว่า มาตรการดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันผู้เข้าใช้บริการฟิตเนสหายใจเร็วและแพร่กระจายเหงื่อมากจนเกินไป นอกจากนี้ ยังมีข้อบังคับอื่นๆ เช่น ห้ามใช้เครื่องเล่น Treadmill ที่ความเร็วเกิน 6 กม./ชม. งดการใช้ห้องน้ำในยิม งดการใช้โต๊ะปิงปอง เป็นต้น

แม้จะฟังดูยุ่งยาก แต่มาตรการเกิดขึ้นเพื่อให้ธุรกิจจะได้ไม่ต้องปิดทำการอย่างที่เคยทำในช่วงการระบาดระลอกก่อน

มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ระบุว่าเขารู้สึกหนักใจเมื่อต้องนึกถึงเจ้าของกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมไปถึงคนอื่นๆ ที่ต้องเข้ามาแบกรับภาระจากการบังคับใช้กฎหมาย เขารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่ต้องขอให้ประชาชนอดทนอีกสักหน่อย หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการควบคุมสูงสุดอีกครั้งในกรุงโซลและภูมิภาคข้างเคียง

หลายฝ่ายมอง มาตรการนี้ไม่ช่วยลดความเสี่ยง

เจ้าของฟิตเนสในโซลให้ความเห็นว่า ไม่ว่าการเปิดเพลงคลาสสิคหรือเพลงของวง BTS จะถูกพิสูจน์ว่ามีผลต่อการลดการแพร่กระจายไวรัสหรือไม่ คนจำนวนมากก็ยังใส่หูฟังของตัวเองอยู่ดี แล้วรัฐบาลจะควบคุมรายการเพลงได้อย่างไร

สมาชิกพรรคฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ก็ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ เขากล่าวแกมเสียดสีว่า หรือเราจะไม่ติดโควิด-19 ถ้าเดินช้ากว่า 6 กม./ชม. แถมยังระบุว่าคงไม่มีใครคอยเช็คจังหวะของเพลงว่าเร็วแค่ไหนระหว่างการออกกำลังกาย 

ที่มา – The Straits Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ฟิตเนสต้องเปิดเพลงช้าต้านโควิด เกาหลีใต้เผย ดีกว่าปิดเศรษฐกิจ-ผลักภาระให้ประชาชน first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/korea-gym-need-slow-bpm-song/

บริษัทยักษ์ใหญ่เกาหลี ช่วยบริจาคกองทุนวัคซีนเวียดนาม เป็นแหล่งผลิตสำคัญ-ลงทุนไว้มหาศาล

บริษัทจากเกาหลีใต้หลายบริษัทสมทบทุนเงินเข้ากองทุนจัดซื้อวัคซีนของเวียดนาม เพราะเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนมหาศาล มีโรงงานรับผลิตสินค้ามากมาย

korean firms covid-19 vaccine vietnam

บริษัทเกาหลีใต้หลายเจ้าสมทบทุนกองทุนจัดซื้อวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ของเวียดนาม คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 1 หมื่นล้านวอน หรือประมาณ 282 ล้านบาท 

แค่ Samsung Electronics เจ้าเดียว ก็มอบเงินสมทบให้กับรัฐบาลกลางเวียดนามกว่า 2 พันล้านวอน (56.5 ล้านบาท) และยังมอบเงินให้รัฐบาลท้องถิ่นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ Samsung เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนอีกกว่า 770 ล้านวอน (21.75 ล้านบาท)

Samsung คือบริษัทแรกจากเกาหลีใต้และผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดในกองทุนจัดซื้อวัคซีนของเวียดนาม แต่ก็ยังมีอีกหลายบริษัทที่สนับสนุนในกองทุนนี้ เช่น 

  • SK สนับสนุน 1.13 พันล้านวอน (32 ล้านบาท)
  • LG Electronics สนับสนุน 1.55 พันล้านวอน (43.7 ล้านบาท)
  • CJ Group สนับสนุน 320 ล้านวอน (9 ล้านบาท)
  • Shinhan Bank สนับสนุน 290 ล้านวอน (8.2 ล้านบาท)

บริษัทจากเกาหลีใต้สนับสนุนเวียดนามเพราะแหล่งผลิตสำคัญ

สาเหตุที่บริษัทจากเกาหลีใต้ต้องเร่งให้ความสนับสนุนในเวียดนามเพราะเวียดนามคือฐานการผลิตสำคัญและแหล่งที่บริษัทเกาหลีเข้าไปลงทุน ช่วงแรกเวียดนามเหมือนจะจัดการโควิดได้ดี แต่ในระยะหลังกลับควบคุมการระบาดไม่อยู่ จึงเกรงว่าการแพร่ระบาดรอบใหม่จะกระทบผลิตภาพทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

อย่างกรณีของ Samsung มีการลงทุนในโรงงานผลิตในเวียดนาม 2 แห่ง ซึ่งผลิตสมาร์ทโฟนมากกว่าครึ่งของที่จำหน่ายในระดับโลกทั้งหมด

รัฐบาลเวียดนามฉลาดพอที่จะใช้การพึ่งพิงการผลิตเป็นอำนาจต่อรอง

[Opinion] ถ้าจะบอกว่าการที่บริษัทจากเกาหลีใต้สนับสนุนกองทุนจัดซื้อวัคซีนเป็นความใจดีหรือเป็นความพยายามเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดของบริษัทคงไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด

ส่วนหนึ่งเราอาจต้องยกเครดิตให้รัฐบาลเวียดนาม เพราะการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้บริษัทต่างชาติช่วยสนับสนุนการจัดซื้อวัคซีนเป็นโครงการที่รัฐผลักดันเอง แถมรัฐบาลก็เป็นฝ่ายรุกเข้าไปเจรจาขอให้บริษัทข้ามชาติจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่พึ่งพิงฐานการผลิตในเวียดนาม ช่วยสมทบทุนกองทุนวัคซีน เพราะทราบดีว่าการที่ประเทศอื่นเข้ามาพึ่งพิงทางเศรษฐกิจทำให้ตนเองมีอำนาจต่อรอง

นอกจากบริษัทเกาหลีแล้ว บริษัทญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ บริษัทไต้หวันอย่าง Foxconn ก็บริจาคเงินสมทบทุนกองทุนวัคซีนให้บริษัทละ 14 ล้านบาท

ที่มา – Korea Herald

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post บริษัทยักษ์ใหญ่เกาหลี ช่วยบริจาคกองทุนวัคซีนเวียดนาม เป็นแหล่งผลิตสำคัญ-ลงทุนไว้มหาศาล first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/korean-firms-donate-vietnamese-vaccine-fund/

เพลงเกาหลีกลับมาแล้ว! Spotify และ Kakao Entertainment บรรลุข้อตกลงทางลิขสิทธิ์

วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้ใช้งาน Spotify พบว่าเพลงเกาหลีจำนวนมากหายไปจากแพลตฟอร์ม จนภายหลังมีการเปิดเผยว่าเป็นเพราะลิขสิทธิ์เพลงจากบริษัทเครือ Kakao M หมดอายุ

ล่าสุดทั้งสองบริษัทออกมาแถลงการณ์ว่าได้บรรลุข้อตกลงแล้ว และเพลงจะกลับมาในไม่ช้า ตัวอย่างเพลงจากศิลปินที่หายไปเช่น IU, Zico, Mamamoo เป็นต้น โดย Spotify เพิ่งเปิดตัวในเกาหลีไม่นานโดยไม่มีเพลงของ Kakao M ตั้งแต่แรก ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานนอกเกาหลีด้วย ซึ่งล่าสุดทั้งสองบริษัทบรรลุข้อตกลงแล้ว

No Description

ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์

Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/121635