คลังเก็บป้ายกำกับ: IBM_BLOCKCHAIN

[Guest Post] THRE ผนึก IBM เปิดตัวแพลตฟอร์มสมาร์ทคอนแทรคท์ สำหรับประกันภัยต่อรายแรกในอาเซียน

“บมจ.ไทยรี” พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยไทย ผนึกความร่วมมือ “ไอบีเอ็ม” เปิดตัวแพลตฟอร์มสมาร์ทคอนแทรคท์สำหรับการประกันภัยต่อ บนเทคโนโลยีบล็อกเชนและคลาวด์ของไอบีเอ็มรายแรกในอาเซียน ยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการรับประกันภัยต่อ

 

ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) เปิดเผยว่า บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE บริษัทรับประกันภัยต่อที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินงาน เปิดตัว “อินชัวเรอร์เน็ตเวิร์ค” (Insurer Network) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสมาร์ทคอนแทรคท์ (smart contract) ในการจัดการด้านการรับประกันภัยต่อบนบล็อกเชนแพลตฟอร์มแรกในอาเซียน พัฒนาโดยบริษัท ไทยรี อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่รับผิดชอบงานด้านไอที โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยให้ลูกค้าของไทยรีสามารถทำธุรกรรมได้อย่างโปร่งใสและรวดเร็วยิ่งขึ้น

วันนี้อุตสาหกรรมประกันภัยกำลังถูกดิสรัปท์ (disrupt) มากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างข้อจำกัดนานาประการให้กับธุรกิจ ทำให้บริษัทประกันภัยจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อทลายอุปสรรคทางธุรกิจเหล่านี้ลง การเปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘อินชัวเรอร์เน็ตเวิร์ค’ บน IBM Cloud จะช่วยให้ไทยรีปรับปรุงประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำสัญญารับประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัย ที่มีมากกว่า 10,000 ฉบับต่อปี

การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนบนระบบ IBM Cloud ที่มีความปลอดภัยสูงมาใช้ จะทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยของไทยได้รับประโยชน์จากกระบวนการด้านสัญญารับประกันภัยต่อที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และลดความเสี่ยงจากการปลอมแปลงเอกสาร เพราะระบบมีความปลอดภัยสูงและสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดความผิดพลาดจากการจัดการข้อมูลแบบเดิม

การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความจำเป็นในการปรับตัวสู่รูปแบบดิจิทัลได้กระตุ้นให้องค์กรต่างๆ ไม่เพียงแต่เฉพาะอุตสาหกรรมประกันภัย แต่รวมถึงอุตสาหกรรมทั้งหมด ต้องพยายามปรับวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดการดำเนินธุรกิจในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ไทยรีมุ่งเน้นที่การจัดการพอร์ตการรับประกันภัยอย่างรอบคอบและเป็นมืออาชีพ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ และวันนี้แพลตฟอร์ม ‘อินชัวเรอร์เน็ตเวิร์ค’ ของเรา ที่ได้เปิดใช้งานจริงแล้ว จะสานต่อการสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใสให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของอุตสาหกรรมประกันในเมืองไทย ทั้งการแพร่ระบาดและดิสรัปชันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่างแสดงให้เห็นว่าการสร้างธุรกิจให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงมีความสำคัญเพียงใด

ด้าน นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าแพลตฟอร์ม ‘อินชัวเรอร์เน็ตเวิร์ค’ สำหรับการรับประกันภัยต่อของไทยรี ช่วยเพิ่มความสามารถในการสเกลและสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินงานให้กับธุรกิจ อีกทั้งยังมอบความเร็วและความโปร่งใส ให้กับอีโคซิสเต็มของบริษัทประกันในประเทศไทย วันนี้ ไอบีเอ็มมีความภูมิใจที่ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนของเราที่อยู่บนสภาพแวดล้อม IBM Cloud ที่มีความปลอดภัยสูง เข้าช่วยสนับสนุนไทยรีและเครือข่ายของแพลตฟอร์มที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นี้

โดยเป้าหมายของไอบีเอ็มคือการทำให้แพลตฟอร์มนี้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันภัยของไทย ขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งวางแผนที่จะเชิญบริษัทประกันภัยและโบรคเกอร์เกือบทั้ง 100% ในไทยให้มาใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มสมาร์ทคอนแทรคท์ ‘อินชัวเรอร์เน็ตเวิร์ค’ ที่อยู่บนบล็อกเชนนี้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

ขณะที่ นางสาวพจมาน เฟื่องอารมย์ รองผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท ไทยประกันภัยต่อ (มหาชน) จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยรี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า เราต้องการจะเป็นคู่ค้าเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยให้ลูกค้าของเราก้าวนำเกม และในอนาคตจะมีการเพิ่มความสามารถของแพลตฟอร์มให้ครอบคลุมถึงการเสนอราคา การพิจารณาสินไหมทดแทน และการตรวจสอบยอดเงินรับจ่าย (reconciliation) โดยผ่านแพลตฟอร์ม ‘อินชัวเรอร์เน็ตเวิร์ค’ นี้ เพื่อมอบนวัตกรรมการบริการในการรับประกันภัยต่อที่ดีที่สุดให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

เกี่ยวกับไทยรี

บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) (“ไทยรี”) เป็นบริษัทประกันภัยต่อที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง (A-, Fitch Rating) ไทยรี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2521 และได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมประกันภัย ในการให้บริการประกันภัยต่อ ซึ่งความต้องการของลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจของเรา เราจึงมองหาวิธีที่จะช่วยให้ลูกค้าของเราเติบโตได้ในกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากบริการประกันภัยต่อแล้วไทยรียังเสนอบริการที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยผ่านบริษัทในเครือ ได้แก่ ThaiRe Services (บริการจัดการสินไหมทดแทนสุขภาพ และการฝึกอบรม), ThaiRe Actuarial (ที่ปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย), EMCS (บริการด้านจัดการสินไหมทดแทนรถยนต์) และ ThaiRe Innovation (บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ – InsurTech)

บริษัท ไทยรีอินโนเวชั่น จำกัด ก่อตั้งขึ้นด้วยแนวคิดที่จะช่วยลูกค้าในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเพิ่มความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า จากประสบการณ์ 40 ปีในธุรกิจประกันภัยและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยทำให้เรามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับลูกค้าของเรา และนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า

 

เกี่ยวกับ IBM Blockchain

ไอบีเอ็มได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำบริการบล็อกเชนสำหรับองค์กร โดยผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิจัย เทคโนโลยี และธุรกิจของบริษัท ได้ร่วมกันทลายอุปสรรคที่ขัดขวางความรวดเร็วในการทำธุรกรรมต่างๆ และพัฒนาการเข้ารหัส (Cryptography) ที่ก้าวล้ำมากที่สุดเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับการทำธุรกรรม นอกจากนี้ไอบีเอ็มยังเป็นผู้นำในการสนับสนุนโซลูชันบล็อกเชนโอเพนซอร์สสำหรับธุรกิจ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ไอบีเอ็มได้ทำงานร่วมกับลูกค้าหลายร้อยรายในธุรกิจบริการทางการเงิน ซัพพลายเชน ภาครัฐ ค้าปลีก การจัดการสิทธิ์ดิจิทัล และการดูแลสุขภาพ ในการนำแอพพลิเคชันบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ และสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายจำนวนมากที่เปิดใช้งานรวมถึงอยู่ในขั้นตอนโปรดัคชันในปัจจุบัน แพลตฟอร์ม IBM Blockchain บนคลาวด์ มอบความสามารถแบบ end-to-end ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการเพื่อให้สามารถพัฒนา ดำเนินการ ควบคุม และรักษาความปลอดภัยเครือข่ายธุรกิจของลูกค้าได้ ไอบีเอ็มคือสมาชิกรายแรกๆ ของไฮเปอร์เล็ดเจอร์ ซึ่งเป็นความพยายามร่วมกันด้านโอเพนซอร์ส ที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ IBM Blockchain สามารถดูได้ที่ https://www.ibm.com/blockchain หรือติดตาม Twitter ที่ @ibmblockchain

from:https://www.techtalkthai.com/guest-post-ibm-thre-insurer-network/

เปิดตัว IBM Storage Solutions for IBM Blockchain เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้การจัดเก็บข้อมูล

IBM ได้ออกมาประกาศเปิดตัวโซลูชันทางด้านระบบ Storage เพื่อรองรับงาน Blockchain โดยเฉพาะภายใต้ชื่อ IBM Storage Solutions for IBM Blockchain ด้วยการเสริมทั้งประสิทธิภาพและความมั่นคงปลอดภัยให้กับข้อมูลของ Blockchain ที่ถูกจัดเก็บ โดยมีจุดเด่นดังนี้

Credit: IBM
  • ประสิทธิภาพสูง รองรับได้ทั้ง On-Chain และ Off-Chain ด้วยการใช้ IBM FlashSystem 9100 แบบ NVMe หรือ IBM LinuxONE Rockhopper II
  • เข้ารหัสด้วย FIPS 140-2
  • มีความจุสูงสุดถึง 2PB ในพื้นที่ติดตั้งเพียงแค่ 2U
  • ผ่านการทดสอบเรื่องการติดตั้งใช้งานและความเข้ากันได้ของระบบ Blockchain มาแล้ว
  • รองรับการสำรองข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพและความจุด้วย IBM Spectrum Virtualize, IBM Spectrum Copy Data Management และ IBM Spectrum Protect Plus

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ibm.com/it-infrastructure/storage/blockchain ครับ และ IBM ยังมี Whitepaper อธิบายถึงความสำคัญของการมีระบบ Off-Chain Storage สำหรับ Blockchain โดยเฉพาะให้อ่านกันที่ https://www-01.ibm.com/common/ssi/cgi-bin/ssialias?htmlfid=46020246USEN& ด้วยครับ

ที่มา: https://www.storagereview.com/ibm_updates_its_storage_portfolio

from:https://www.techtalkthai.com/ibm-storage-solutions-for-ibm-blockchain-is-announced/

IBM Blockchain Platform ประกาศรองรับ Multi-Cloud ทำงานบน AWS และ On-Premises ได้แล้ว

นับเป็นก้าวที่น่าประหลาดใจไม่น้อยแต่ก็สมเหตุสมผลเมื่อ IBM ออกมาอธิบายว่า ด้วยความต้องการของลูกค้าที่ใช้งาน IBM Blockchain Services อยู่กว่า 500 รายนั้นต้องการใช้งาน Blockchain ได้บน Platform อื่นด้วย ทาง IBM จึงเปิดให้ IBM Blockchain Platform ทำงานได้บน Multi-Cloud พร้อมรองรับการทำงานบน AWS ได้ก่อนเป็นอันดับแรกภายใต้ชื่อ IBM Blockchain Platform for AWS และรองรับการทำงานบน On-Premises ได้ด้วย IBM Blockchain Platform for IBM Cloud Private

 

Credit: ShutterStock.com

 

การเปิดให้สามารถติดตั้งใช้งาน IBM Blockchain Platform ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจาก Hyperledger Fabric ได้บนระบบที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นบน IBM Cloud, Cloud ของผู้ให้บริการรายอื่นๆ ซึ่งเริ่มต้นจาก AWS ไปจนถึงการติดตั้งใช้งานได้บน On-Premises Data Center นี้ ก็จะทำให้การใช้งาน Blockchain เป็นไปได้อย่า่งแพร่หลายมากยิ่งขึ้นและตอบโจทย์ภาคธุรกิจมากขึ้น ดังเช่น

  • สามารถเลือกเก็บข้อมูลเอาไว้ภายใน Data Center ของตนเอง หรือเอาไว้ภายในประเทศของตนเองเพื่อทำตามข้อกำหนดทางกฎหมายและ Compliance ได้
  • ลดปัญหาการเกิด Vendor Lock-in สามารถเลือกใช้งานได้บนระบบต่างๆ อย่างอิสระมากขึ้น
  • สามารถสร้าง Network หรือ Consortium ให้เติบโตได้ง่ายขึ้นโดยไม่ติดข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีและการ Deploy ระบบ

IBM Blockchain Platform for AWS นี้ถูกออกแบบมาให้สามารถติดตั้งใช้งาน Distributed Peer บน AWS ได้ อีกทั้งยังมีการพัฒนา Quick Start Template เพื่อให้ติดตั้งใช้งานบน AWS ได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ IBM ก็ยังเปิดตัว IBM Blockchain Platform for IBM Cloud Private เพื่อให้สามารถติดตั้งใช้งานภายใน On-Premises Data Center ของธุรกิจองค์กรต่างๆ ได้อีกด้วย

สำหรับในแง่ของการบริหารจัดการ IBM เองก็มีโซลูชัน IBM Multicloud Manager ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการระบบต่างๆ ที่กระจายอยู่บน Cloud หลากหลาย ทั้ง IBM, AWS, Red Hat และ Microsoft

ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ http://www.ibm.com/blockchain/platform

 

 

ที่มา: https://www.ibm.com/blogs/think/2018/11/the-network-effect-ibm-blockchain-now-runs-in-multiple-environments/

from:https://www.techtalkthai.com/ibm-blockchain-platform-for-aws-and-ibm-cloud-private-are-announced/

INET กับทิศทางใหม่สู่การเป็นผู้ให้บริการ ID Platform ในไทย พร้อมเปิดให้บริการ AI และ Blockchain บน Cloud

เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2018 ที่ผ่านมา ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้ไปร่วมงานสัมมนา Transforming and Innovating with Disruptive Technology ซึ่งจัดโดย INET, Computer Union และ IBM เพื่ออัปเดตเกี่ยวกับทิศทางของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AI, Blockchain และอื่นๆ มาใช้ในธุรกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต ทางทีมงานของ TechTalkThai เห็นว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ จึงขอนำเนื้อหามาสรุปดังนี้ครับ

 

ทิศทางใหม่ของ INET: จากผู้บริการ Infrastructure-as-a-Service สู่การเป็นผู้สร้าง Platform เพื่อให้ธุรกิจไทยต่อยอดได้ในอนาคต

 

 

คุณวัลล์ชัย เวชชีวะดำรงค์ ผู้ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการINET ได้มาให้สัมภาษณ์กับทีมงาน TechTalkThai ในงานครั้งนี้ ถึงทิศทางในอนาคตของ INET ที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตค่อนข้างมากทีเดียว

ในช่วง 2-3 ปีทีผ่านมานี้ เราอาจได้เห็นภาพของ INET ที่รุกหนักด้านบริการ Cloud ในเมืองไทยเป็นอย่างมาก ด้วยกลยุทธ์ของการนำทรัพยากรต่างๆ ที่ INET มี ไม่ว่าจะเป็น Data Center หรือบริการ Internet สำหรับธุรกิจองค์กรมาต่อยอดเสริมให้บริการ Cloud สามารถเติมเต็มความต้องการของธุรกิจได้อย่างครบวงจร

อย่างไรก็ดี ในระหว่าง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ INET เองก็ได้วางกลยุทธ์เผื่อสำหรับอนาคตด้วย โดยการตั้งเป้าว่าจะเป็นผู้ให้บริการด้าน Platform สำหรับภาครัฐ, ธุรกิจ และประชาชนในประเทศไทย เพื่อให้สุดท้ายแล้วการทำธุรกรรมหรือสิ่งต่างๆ ระหว่าง 3 ภาคส่วนนี้สามารถเกิดขึ้นจริงได้ และสร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่ายในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งกับภาครัฐและภาคธุรกิจ, การที่ภาครัฐสามารถเปิดให้บริการใหม่ๆ และประสานไปยังภาคเอกชนหรือประชาชนได้ง่าย, การที่ภาคธุรกิจสามารถขยายฐานธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและผสานบริการต่างๆ เข้ากับภาครัฐ ไปจนถึงการที่ประชาชานเองมีสิทธิ์ในการควบคุมและจัดการการเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้อย่างเบ็ดเสร็จ เรียกได้ว่าทุกคนจะสามารถสร้างและเข้าถึง Digital Solution อันหลากหลายได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ทิศทางใหม่นี้ถือเป็นแผนการที่ใหญ่ไม่น้อยแต่ก็น่าจับตามองดีทีเดียวสำหรับ INET ที่เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบ IT มาโดยตลอด และ Platform เองนี้ก็จะกลายเป็นอีกโครงสร้างพื้นฐานที่เหล่า Application แห่งอนาคตจะขาดไปไม่ได้เช่นกัน

 

INET One Platform: บริการ Trusted ID ที่มี Application เป็นส่วนเสริมต่อยอด

โครงการ ID Platform ของ INET นี้ถูกตั้งชื่อว่า INET One Platform ซึ่งเป็นระบบที่เกิดขึ้นจากการนำ Open Source Software มาปรับแต่งการทำงานให้ตรงตามการออกแบบของระบบต่างๆ โดยปัจจุบันนี้ภายใต้ INET One Platform ก็ได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ระบบหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่

 

 

  • Trusted ID บริการข้อมูลตัวตนของผู้ใช้งาน
  • Trusted Collaboration บริการ Chat และ Email ที่ผูกเข้ากับ Trusted ID
  • Trusted E-Document บริการเอกสารข้อมูลต่างๆ ที่ผูกเข้ากับ Trusted ID เช่น เอกสาร E-Tax Invoice สำหรับการออกใบกำกับภาษี, เอกสาร E-Transcript สำหรับรับรองการศึกษาจบจากมหาวิทยาลัย, เอกสาร E-Certificate สำหรับยืนยันทักษะการเข้าอบรมทดสอบด้านต่างๆ และอื่นๆ ที่จะเปิดตัวเพิ่มเติมในอนาคต
  • Trusted Authentication บริการระบบยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน

สิ่งที่ INET ต้องการนั้นคือการทำให้ประชาชนคนไทยเข้ามาเริ่มต้นมีตัวตนบนระบบ INET One Platform ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จำนวนผู้ใช้งานระบบ Trusted ID จะได้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยการพัฒนา Application รายรอบต่างๆ อย่าง Trusted Collaboration หรือ Trusted E-Document เข้ามาดึงดูดให้เกิดการใช้งานในระบบดังกล่าว ด้วยการร่วมมือกับภาครัฐเพื่อเปิดบริการต่างๆ เหล่านี้ให้เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มต้นใช้งานได้ฟรี และนำไปเปิดให้บริการต่อสู่ภาคประชาชนหรือภาคธุรกิจผ่านทางหน่วยงานรัฐ ทำให้เกิดการใช้งานจริงของระบบ และทำให้ระบบเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการชักชวนกันมาใช้บริการฟรีเพื่อให้สามารถทำงานต่างๆ ร่วมกันได้ง่ายขึ้น

Platform ลักษณะนี้เองก็มีความคล้ายคลึงกับบริการชั้นนำอย่าง Google หรือ Facebook ที่ต้องมี Application หรือข้อมูลเป็นตัวดึงดูดให้ผู้ใช้งานอยากเข้ามาใช้งาน และเมื่อมีผู้ใช้งานจำนวนมากขึ้นแล้ว ก็จะสามารถพัฒนาระบบต่างๆ ต่อยอดขึ้นมาให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างได้ง่าย ซึ่งนี่ก็คือภาพปลายทางที่ INET ต้องการให้เกิดขึ้นนั่นเอง

จุดแตกต่างที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ INET One Platform เหนือกว่าบริการด้าน ID อื่นๆ ที่มีอยู่แล้วก็คือ การที่ข้อมูล ID ทั้งหมดนั้นถูกเก็บอยู่ในประเทศไทย ทำให้ประชาชนคนไทยเป็นเจ้าของข้อมูลและจัดการควบคุมข้อมูลของตนเองได้ และมีโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อยอดขึ้นมาในไทยเองได้ด้วยอีกทางหนึ่ง และการที่เป็นระบบ ID ซึ่งได้รับการยอมรับจากภาครัฐของเมืองไทย ทำให้สามารถนำไปใช้ในการทำธุรกรรมหรือเชื่อมต่อกับบริการต่างๆ ของภาครัฐได้โดยตรง และประโยชน์ตรงนี้เองก็จะดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมใช้งาน และสร้างธุรกรรมหรือบริการระหว่างกันได้ง่ายขึ้นด้วยในอนาคต

 

“Open” กลยุทธ์ระยะยาวของ INET ในการผลักดันเทคโนโลยีสัญชาติไทย

อีกหนึ่งประเด็นที่ INET ให้ความสำคัญมากขึ้นในระยะหลังนี้ก็คือเรื่องของการเปิดกว้างของเทคโนโลยีที่จะทำให้บริการต่างๆ ของ INET สามารถนำไปต่อยอดได้ โดยนอกจากการที่ INET เองนั้นเลือกใช้เทคโนโลยี Open Source Software มาให้บริการเพื่อให้สามารถปรับแต่งและเชื่อมต่อระบบต่างๆ ได้อย่างยืดหยุ่นแล้ว เทคโนโลยี INET One Platform เองก็จะถูกเปิดให้มีภาครัฐและเอกชนเข้ามาพัฒนาระบบ Application ต่างๆ ต่อยอดได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ INET เองก็ได้เริ่มเปิดและทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนแล้วมากมาย

 

 

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา INET ได้มีการขยายบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบริษัทลูกเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะทาง, และการจับมือกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ เปิดบริษัทด้วยกัน ไปจนถึงการลงทุนในบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันเพื่อขยายตลาดให้ INET มีผลิตภัณฑ์และบริการมากขึ้น และนำเทคโนโลยี INET One Platform ไปใช้ต่อยอดมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน INET มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญในบริษัทเหล่านี้หลากหลายแขนง ครอบคลุมทั้ง AI, Machine Learning. Big Data, Blockchain, IoT, Drone และอื่นๆ อีกมากมาย เสริมจากจุดแข็งเดิมของ INET ที่เป็นผู้ให้บริการ Cloud, Data Center และ Internet

 

นำเทคโนโลยีจาก IBM Cloud สู่เมืองไทย พร้อมให้บริการ AI และ Blockchain อย่างครบวงจรในไทยแล้ว

ในงานครั้งนี้ทาง INET ได้ประกาศถึงอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ ก็คือความร่วมมือระหว่าง INET และ IBM ที่จะนำเทคโนโลยีต่างๆ บน IBM Cloud มาเปิดให้บริการใน INET Cloud เป็นอีกทางเลือกของเหล่าภาครัฐและเอกชนไทยให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีจากบริการ Cloud ชั้นนำระดับโลกได้ โดยที่ข้อมูลและการประมวลผลทั้งหมดยังคงเกิดขึ้นในไทย

 

 

INET เลือกที่จะร่วมมือกับ IBM ในครั้งนี้ ก็เป็นเพราะทีมงานของ IBM Thailand ที่ต้องการเข้ามาช่วยผลักดันให้ธุรกิจไทยสามารถเติบโตได้ด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต ด้วยการผลักดันประเทศไทยเองมีธุรกิจที่ให้บริการด้าน Infrastructure พื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีเหล่านั้น ไม่ต้องพึ่งพาบริการ Cloud ในต่างประเทศเพียงอย่างเดียว อีกทั้งเทคโนโลยีของ IBM เองก็ถือว่าน่าเชื่อถือ และใช้งานได้ในทุกระดับตั้งแต่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ลงมาจนถึงธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้การร่วมมือกับ IBM ในครั้งนี้จะสามารถตอบโจทย์ของกลุ่มธุรกิจได้อย่างหลากหลาย

ในความร่วมมือครั้งนี้ INET ได้ลงทุนเทคโนโลยี IT Infrastructure จาก IBM เพื่อเปิดบริการหลักๆ ด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่

  • AI โดยใช้ IBM PowerAI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลัง IBM Watson มาเปิดให้บริการในไทยโดยตรง ทำให้การทำ Machine Learning และ Deep Learning เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจต่างๆ สามารถทำได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น ไม่ต้องกังวลกับประเด็นด้านการโยกย้ายข้อมูลข้ามประเทศเหมือนกับแต่ก่อน
  • Blockchain โดยใช้ IBM Blockchain ซึ่งต่อยอดมาจาก Hyperledger มาเปิดให้บริการในไทยบน IBM LinuxONE ระบบ Hardware มาตรฐานสูงสำหรับงานระดับการเงิน ทำให้ธุรกิจไทยสามารถสร้าง Blockchain Network และเปิด Node เพิ่มเพื่อใช้งานร่วมกันใน Supply Chain หรือ Community ได้

แน่นอนว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะไม่ได้มาแต่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ IBM ยังพร้อมที่จะร่วมมือกับ INET เพื่อให้ความรู้แก่ทุกภาคอุตสาหกรรมและช่วยพัฒนาระบบทดลองเพื่อให้เหล่าธุรกิจไทยได้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี AI และ Blockchain ก่อนจะนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตนเองได้อย่างมั่นใจ

สำหรับในอนาคต INET เองก็มีแผนที่จะขยายความร่วมมือลักษณะนี้กับ IBM เพิ่มเติมเพื่อเปิดบริการในกลุ่มอื่นๆ อีกต่อไป

 

ผลักดันอุตสาหกรรมไทย สร้างชุมชนแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีในแต่ละวงการ

ประเด็นสุดท้ายที่ถือว่าน่าสนใจมากจากการพูดคุยกับทีมงานของ INET ในครั้งนี้ INET จะกลายเป็นผู้นำที่จะทำให้เหล่าธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ นั้นเกิดความร่วมมือในการแบ่งปันความรู้ด้านเทคโนโลยีระหว่างกันในลักษณะชุมชน เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถเติบโตร่วมกันได้อย่างเข้มแข็งและแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติได้อย่างยั่งยืน

ชุมชนแลกเปลี่ยนความรู้นี้ครอบคลุมทุกเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น AI, Big Data, Blockchain, IoT และอื่นๆ แต่จะแบ่งเป็นรายอุตสาหกรรม เพราะแต่ละอุตสาหกรรมนั้นก็จะมีกรณีการใช้งานที่แตกต่างกันไป เช่น การทำ AI และ IoT สำหรับเหล่าภาคการเกษตรที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถลดต้นทุนและมีกำไรเพิ่มขึ้นได้, โรงพยาบาลที่นำ IoT มาช่วยให้การรักษาผู้ป่วยมีข้อมูลมากยิ่งขึ้น, ธุรกิจภาคการผลิตที่นำ Big Data และ IoT มาใช้ร่วมกันในสายการผลิต หรือการสร้าง Blockchain Network สำหรับ Supply Chain ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหลายธุรกิจและหลายอุตสาหกรรม เป็นต้น

INET เชื่อว่าการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นี้ไปด้วยกันจะทำให้ธุรกิจไทยเริ่มก้าวสู่การทำ Digital Transformation ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และทำให้ธุรกิจไทยกล้าที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอให้ต่างประเทศต้องเป็นผู้นำเทคโนโลยีมาขายเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา

 

สำหรับผู้ที่สนใจในบริการ INET Cloud, INET Data Center หรือบริการ One Platform, AI, Blockchain, IoT จาก INET และอยากติดต่อเพื่อให้มานำเสนอเทคโนโลยี, เสนอราคา หรือทดลองใช้งานจริง สามารถติดต่อทีมงาน INET ได้ทันทีที่โทร 022577000เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ หรืออีเมล์ info@inet.co.th

from:https://www.techtalkthai.com/inet-to-provide-id-ai-and-blockchain-on-cloud-for-thai-businesses-and-thai-people/

IBM เผยโซลูชัน Blockchain สำหรับทำสัญญาและโอนเงินข้ามประเทศ ตอบโจทย์ธุรกิจ B2B และ B2C มีกสิกรไทยเข้าร่วม

IBM ได้ออกมาประกาศเปิดตัวโซลูชันใหญ่อันใหม่ทางด้าน Blockchain เพื่อให้เหล่าธุรกิจทั่วโลกสามารถทำสัญญาและโอนเงินระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยใช้เทคโนโลยี IBM Blockchain เป็นพื้นฐาน

Credit: IBM

ในการเปิดตัวครั้งนี้ IBM ได้จับมือกับ Stellar.org และ KlickEx Group เพื่อพัฒนาโซลูชันร่วมกัน เพื่อให้การทำสัญญาและการทำธุรกรรมนั้นเกิดขึ้นได้ภายใน Blockchain บน Cloud แบบเกือบ Real-time โดยปัจจุบันโซลูชันนี้รองรับสกุลเงิน 12 สกุลแล้ว รวมถึงยังได้มีการร่วมมือกับธนาคารและสถาบันการเงินหลากหลาย ได้แก่ Banco Bilbao Vizcaya Argentaria, Bank Danamon Indonesia, Bank Mandiri, Bank Negara Indonesia, Bank Permata, Bank Rakyat Indonesia, Kasikornbank Thailand, Mizuho Financial Group, National Australia Bank, Rizal Commercial Banking Corp. (RCBC) Philippines, Sumitomo Mitsui Financial Group, TD Bank, Wizdraw (HK) of WorldCom Finance และอื่นๆ

World Bank ได้ออกมาวิเคราะห์ว่าเทคโนโลยีที่จะมาปรับปรุงธุรกรรมการจ่ายเงินให้ดีขึ้นในลักษณะนี้จะมีผู้ใช้งานจำนวนมากถึง 1,000 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2020 ก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่า IBM จะเข้าไปมีบทบาทในตลาดนี้ได้มากน้อยแค่ไหนในอนาคต

 

ที่มา: https://www-03.ibm.com/press/us/en/pressrelease/53290.wss

from:https://www.techtalkthai.com/ibm-announces-global-payment-blockchain-solutions/

[PR] PTTPM KBANK และ PTT DIGITAL ผนึกกำลัง พัฒนา Blockchain E-Bank Guarantee โครงการแรกของโลก พร้อมสัมภาษณ์พิเศษ คุณณรงค์ชัย พิสุทธิ์ปัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTPM

HIGHLIGHTS

  • ด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่น ที่จะเป็นผู้นำในตลาดการค้าโพลีเมอร์ คุณณรงค์ชัย พิสุทธิ์ปัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เกตติ้ง จำกัด (PTTPM) จึงนำพา PTTPM มุ่งสู่การเป็นบริษัทแรกของกลุ่มปตท. และเป็นบริษัทแรกของโลกที่นำ Blockchain มาใช้กับระบบหนังสือค้ำประกันเชิงพาณิชย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bank guarantee) ที่ออกโดยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพิ่มความปลอดภัยในการจัดเก็บเอกสารเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพิ่มความโปร่งใสในการยืนยันเอกสารต้นฉบับ เพิ่มความเร็วการจัดทำเอกสาร และลดต้นทุนด้านการจัดเก็บ โดยมี PTT DIGITAL เป็นทีมพัฒนาระบบ E-Bank guarantee ให้เชื่อมต่อกับ Blockchain ของ KBANK และ IBM Blockchain เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถือว่า เป็นจุดเปลี่ยนการทำธุรกรรมของโลก ด้วยแพลตฟอร์มที่โปร่งใสมาก ปลอดภัยสูง ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความเร็วในการจัดการข้อมูลทางการเงิน

 

สัมภาษณ์พิเศษ คุณณรงค์ชัย พิสุทธิ์ปัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTPM

 

PTT DIGITAL: PTTPM มีทิศทางการดำเนินงานอย่างไรในยุคดิจิตอล ?  

“ PTTPM มีวิสัยทัศน์ To be a Global Polymer Solution Provider and Trading Company ดังนั้น ภายใต้ตลาดที่มีการแข่งขันสูง เราต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงรับสิ่งใหม่ตลอดเวลาเพื่อให้องค์กรสามารถแข่งขันได้ ความรวดเร็วในการปรับเปลี่ยนจะต้องรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุค DIGITAL จากเมื่อก่อนที่การเปลี่ยนเทคโนโลยีต่างๆ จะใช้เวลาการปรับเปลี่ยนหลายปีซึ่งจะทำให้องค์กรยังมีเวลาปรับตัวได้ทัน แต่ในยุคดิจิตอลนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาพากันปิดตัวเป็นร้อย ๆ แห่ง เนื่องจากผู้บริโภคซื้อขายและชำระเงินแบบออนไลน์มีมากขึ้น เราพบว่าจริง ๆ  แล้ว DIGITAL เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ choice (เลือกว่าจะทำหรือไม่ก็ได้) แต่เป็น To be survived (ต้องทำเพื่อความอยู่รอด)”

“ผมเชื่อว่าทุกองค์กร รวมถึงกลุ่มปตท. เราทำธุรกิจด้วยความมุ่งหมายให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ซึ่งการจะเป็นเช่นนั้น เราต้องแข่งขันได้ DIGITALization จะต้องถูกนำมาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานขนานใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร ไม่เพียงเท่านั้น หากเราจะอยู่รอดในยุคดิจิตอล สิ่งที่เราทำ ต้องตอบโจทย์ลูกค้าและสังคมที่เปลี่ยนไป ฉะนั้นดิจิตอล คือ สิ่งที่ต้องทำ”

“ธุรกิจของ PTTPM อยู่ในขั้นปลายของ Supply Chain ของกลุ่มปตท. เราเป็นบริษัทดำเนินกิจกรรมทางการตลาด จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นับตั้งแต่จัดตั้งบริษัทเมื่อ 12 ปีที่แล้ว PTTPM มีแนวทางในการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์กับระบบงานภายในจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาดจากปริมาณ Business Transaction ที่มีปริมาณมาก การลงทุนด้าน IT ต่อระบบการทำงานของ PTTPM จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

 

PTT DIGITAL: PTTPM มีเกณฑ์การคัดเลือกเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ในองค์กรอย่างไร ?  

“ หลักเกณฑ์แรก คือ เทคโนโลยีต้องตอบโจทย์ เนื่องจากเรามี pain point ในหลายเรื่อง ถ้าตอบโจทย์ลูกค้า แก้ปัญหาที่มีอยู่ ก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าสนใจ เกณฑ์ที่สอง คือ ระบบนี้ proven  เคยมีคนใช้และประสบความสำเร็จแล้วหรือไม่ และเกณฑ์ที่สาม คือ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ถ้าระบบใช้ได้ดี แต่ไม่คุ้มค่าการลงทุนและความคุ้มค่าทางธุรกิจ เราก็แข่งขันไม่ได้ ฉะนั้น จะต้องมีความคุ้มค่าเชิงธุรกิจด้วย”

 

PTT DIGITAL: PTTPM มีเกณฑ์การคัดเลือก ผู้ให้บริการ หรือ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีอย่างไร ?  

“PTTPM พิจารณาผู้ให้บริการเทคโนโลยี จากความสามารถบุคลากร ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการระบบ เนื่องจากครึ่งหนึ่งของระบบ คือ การบำรุงรักษาระบบให้ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลาในการพัฒนาระบบเป็นเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น PTTPM มีการลงทุนด้าน IT จำนวนมาก ในวงการ IT เองก็มีการควบรวมบริษัทกันบ่อยครั้ง การพิจารณาคัดเลือกผู้ให้บริการ จำเป็นต้องพิจารณาความเสี่ยงในด้านความต่อเนื่องในการดูแลระบบ นอกจากนี้ ความเข้าใจธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ระบบที่พัฒนามาสามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจได้

ในมุมมอง PTTPM  เรามอง PTT DIGITAL เป็น Business Partner ตั้งแต่สมัยที่เป็นหน่วยงาน IT ของ ปตท. จนมาเป็น PTT ICT และวันนี้ในฐานะ PTT DIGITAL ผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนให้เราเป็นเช่นวันนี้ ทั้งสององค์กรมีการดำเนินงานร่วมกันมายาวนานและแปรเปลี่ยนเป็น Trust (ความเชื่อใจเชื่อมั่น) โดย Trust จะเกิดจากการที่เรา ร่วมกันทำงาน แล้วเรารู้ว่า Partner ของเราไม่ทิ้งงาน และมั่นใจว่าจะดูแลกันไปตลอด”

 

PTT DIGITAL: ที่มาของโครงการ E-Bank guarantee with blockchain เป็นอย่างไร ?   

“Blockchain ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนามานานแล้วแต่เพิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในด้านการเงินเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยปกติเรามักจะคุ้นชินกับคำว่า Bitcoin มากกว่า ทางผู้บริหารของปตท.(PTT) และ พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ได้ให้แนวความคิดกับ PTTPM  ถ้าจะยกระดับองค์กรด้วยเทคโนโลยี เราจะใช้อะไร ก็มีคำว่า Blockchain เข้ามาตอบโจทย์ แต่การใช้ Blockchain นั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานโดยมีรูปแบบที่หลากหลาย ทำอย่างไรคนในองค์กรจะเข้าใจการใช้งาน Blockchain ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นถ้าเราจะเริ่ม ต้องเริ่มให้เร็ว เริ่มให้ง่าย และต้องยอมรับความเสี่ยงที่ประเมินแล้ว PTTPM จึงพิจารณาเลือกทำกับระบบงานที่หากเกิดปัญหาจะไม่ส่งผลทำให้ธุรกิจหยุดชะงักเพื่อเป็นโครงการทดสอบ เราจึงเลือกระบบ Bank guarantee ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มาหลายปีแล้วนำมาต่อยอดโดยการนำ Blockchain เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการติดต่อสื่อสาร ลดความซ้ำซ้อน และลดความผิดพลาดจากการทำงานของคน

PTTPM มี  Bank guarantee กว่า 200 ฉบับ การขายกับลูกค้าจำนวนมาก ทำให้ต้องบริหารจัดการเอกสาร  โดยเฉพาะกำหนดการหมดอายุของเอกสาร ที่มีกำหนดหมดอายุไม่พร้อมกันเพราะธุรกิจมันเกิดไม่พร้อมกัน อีกทั้ง Credit Limit ก็ยังไม่เท่ากัน ลูกค้ามีความแตกต่างกัน  PTTPM จึงได้กำหนดแผนงานการพัฒนา Blockchain ซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานด้านเอกสาร E-Bank guarantee ระหว่าง PTTPM และธนาคารได้อย่างปลอดภัยเพราะเป็นระบบ Single source of truth, ลดความผิดพลาดในการทำงาน ลดระยะเวลาการดำเนินการ ที่สำคัญสามารถอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นด้วยการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน 2-3 เดือนก่อน และจะต่อยอดตามแผนงานไปยังระบบงานอื่น ๆ เพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้า เช่น ระบบงาน Electronics payment ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจแก่ลูกค้ามากยิ่งขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันความรุนแรงของ Cyber attack เพิ่มสูงขึ้นและมีความถี่มากยิ่งขึ้น เห็นได้จากกรณีเหตุการณ์ Wannacry (หมายถึง มัลแวร์เรียกค่าไถ่ที่แฮกเกอร์ใช้เข้ารหัสล็อคไฟล์ในเครื่องคอมพิวเตอร์จากเหยื่อ) และ Petya บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทถูกโจมตี จนทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานไม่ได้เป็นอาทิตย์ ถึงตอนนี้ยังกู้คืนได้ไม่เต็มที่ ถ้ามันเกิดขึ้นกับเรา จะทำอย่างไร เราต้องหาแนวทางป้องกันเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูล ซึ่งเราเชื่อว่า Blockchain เป็น Distributed ledger จะทำให้ PTTPM มีความมั่นคงทางระบบ ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง วันนี้นับเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่เราเริ่มต้นแต่เราจะต่อยอดต่อไป”

 

PTT DIGITAL: ปัจจัยความสำเร็จของการนำ blockchain มาใช้ใน PTTPM มีอะไรบ้าง ?

“อย่างแรกคือ การส่งเสริมคน ให้กล้าคิด กล้าทำ สร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า เพื่อนำไปสู่การพัฒนา   อย่างที่สองคือ การสนับสนุนการทำงานเป็นทีมและการทำงานเชิงรุกสนองตอบความต้องการของลูกค้า โครงการ Blockchain ถือเป็นการทำงานแบบ Cross-Functional และ Cross-Company เนื่องจากต้องประสานงานกับธนาคาร และ PTT DIGITAL ซึ่ง PTTPM เราปลูกฝังให้ทำงานเป็นทีมเชิงรุก มุ่งตอบสนองลูกค้า โครงการพัฒนา Blockchain มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองลูกค้า ตอบโจทย์การทำงานเชิงรุก เราทำเรื่อง Blockchain นี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการประยุกต์ใช้ Blockchain กับหนังสือค้ำประกันธนาคาร อย่างที่สามคือ การมุ่งปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เราไม่ได้คิดว่าเราต้องชนะทุกครั้ง เราร่วมงานกับ PTT DIGITAL ด้วยความเข้าใจ รวมถึงการร่วมงานกับคู่ค้าเช่น KBANK เราให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับ Business Partner ระยะยาว PTTPM มี Core Value (PM SPIRIT) ซึ่ง M หมายถึง Moving together ดังนั้นเราให้ความสำคัญกับ Business Partner เพื่อการเติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งเราเชื่อว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน”

 

PTT DIGITAL: ระหว่างก่อนใช้กับหลังใช้ระบบ ผลลัพธ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

“ PTTPM มีระบบ Bank guarantee ที่มีความปลอดภัย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น หากเปรียบเทียบกับกระบวนการยื่นขอ Bank guarantee ปกติด้วยกระดาษ จะใช้เวลา 5-7 วัน พอเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ระยะเวลาลดลงเหลือ 1 – 2 วัน แต่ตอนนี้คือ immediate (ทันที) เมื่อธนาคารอนุมัติเพิ่มวงเงินให้ลูกค้า ธนาคารจะส่งผลมายัง E-Bank guarantee ของ PTTPM เลย ไม่ต้องโทรไปตรวจสอบว่าฉบับนี้เป็นของปลอมหรือไม่ Bank guarantee บน Blockchain ช่วยให้กระบวนการสั้นลง และเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้า ซึ่งความรวดเร็วและความมั่นคงทางระบบที่เพิ่มขึ้นถือเป็นศักยภาพในการแข่งขัน”

 

PTT DIGITAL: มีความประทับใจอย่างไรกับทีมงานในโครงการทั้ง PTTPM, PTT DIGITAL และ KBANK  

“ผมได้ยินคำว่า Blockchain Vs. Fintech ครั้งแรกเดือนกันยายน 2559 จากการบรรยายโดย ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เกี่ยวกับ Innovation ให้กับผู้บริหาร PTTGC ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Blockchain technology ที่กำลังเป็น Disruptive technology ในวงการการเงิน ในมุมมองผู้บริหารขณะนั้นเห็นว่า PTTPM เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในการสร้าง Innovation มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เราจึงพยายามหาพันธมิตรจนได้พบกับ KBANK ที่กำลังหากรณีศึกษาเพื่อพัฒนา Blockchain พอเริ่มคุยก็ได้เรียนรู้จาก KBANK เพิ่มเติมถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีที่จะได้รับ จากนั้นจึงหาแนวทาง Pilot Study กับ PTTPM และเนื่องด้วย PTTPM เป็นองค์กรที่มียอดขายจำนวนมาก แต่เป็นองค์กรขนาดเล็ก ความเล็กทำให้มีความคล่องตัว ตัดสินใจเร็ว พัฒนาเร็ว PTTPM ใช้เวลา 3 – 4 เดือนในการพัฒนาโครงการนี้ ความประทับใจ คือ ความพร้อมของทีมงานทั้งภายใน PTTPM ในส่วนงาน e-Business Support Division และ ฝ่าย Finance & Accounting ที่เข้าใจเป้าหมายองค์กร รวมทั้งทีมงานจาก Partner ได้แก่ KBANK ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และ PTT DIGITAL ที่ช่วยดำเนินการด้านเทคนิค ซึ่งมีความเข้าใจความต้องการทางธุรกิจ และความเข้าใจเชิงระบบของเราทั้งหมด ฉะนั้นเมื่อองค์ประกอบพร้อม ก็ทำให้ PTTPM พัฒนาระบบสำเร็จได้อย่างรวดเร็วภายใน 3 เดือน นับเป็นระบบที่ดำเนินการรวดเร็วที่สุดระบบหนึ่ง ความมุ่งมั่นทุ่มเทของทีมงาน ผนวกกับแรงบันดาลใจสู่เป้าหมายร่วมกันเพื่อการเป็นที่หนึ่งในการนำ Blockchain มาใช้กับระบบงานภายใน เพื่อให้ปตท.เป็นองค์กรผู้นำด้าน DIGITAL ถือเป็นสิ่งสำคัญ ผมเห็นจากโครงการนี้ ถ้าเรามี drive ทำด้วย Passion ทำอะไรก็จะสำเร็จ”

 

PTT DIGITAL: PTTPM คาดหวังให้ PTT DIGITAL สนับสนุนธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายอย่างไร ?

“PTT ICT Solutions เป็นผู้ให้การสนับสนุน PTTPM ด้วยดีตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เราสบายใจและมั่นใจในการที่ได้ทำงานร่วมกัน กับ PTT ICT Solutions เราเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนจาก PTT ICT Solutions มาเป็น PTT DIGITAL Solutions จะไม่ได้เป็นแค่การเปลี่ยนชื่อ แต่จะเป็นการเปลี่ยนบริบทที่จะเป็นผู้นำด้าน DIGITAL ของภูมิภาคนี้ ผมมั่นใจผู้บริหารและพนักงานของ PTT DIGITAL จะให้การสนับสนุนธุรกิจของกลุ่มปตท. และจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ มานำเสนอและเหนือสิ่งอื่นใด ผมหวังว่า PTT DIGITAL จะประสบความสำเร็จและเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จของกลุ่ม ปตท. และตอบแทนคืนสู่สังคมและประเทศชาติของเราได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตลอดไป”

 

Company Profile

บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด (PTT Digital) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 (เดิมคือ บริษัท พีทีที ไอซีที โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ PTT ICT) เพื่อให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแบบครบวงจรกับบริษัทในกลุ่มปตท. เป็นหลัก มีบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์พร้อมให้คำปรึกษา ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอที (IT Infrastructure) และแอพพลิเคชั่น (Application) จนถึงการบำรุงรักษา บริษัท PTT Digital มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านงานไอทีเพื่อธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดยมีวิสัยทัศน์คือ To be trusted digital solutions partner มีพันธกิจคือ Provide innovative technology to accelerate higher business performance for PTT Group และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็น Digital Flagship ของกลุ่มปตท.

ทั้งนี้ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสร้างความร่วมมือและมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับบริษัทกลุ่มปตท. ผู้ถือหุ้นทั้ง 4 บริษัท อันได้แก่

  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการถือหุ้น 20%
  • บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการถือหุ้น 20%
  • บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการถือหุ้น 40%
  • บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการถือหุ้น 20%

from:https://www.techtalkthai.com/pr-pttpm-kbank-and-ptt-digital-develop-blockchain-e-bank-guarantee/

IBM จับมือมหาวิทยาลัยนับพันแห่งทั่วโลก เสริม Blockchain ในหลักสูตรการศึกษา

ในวงการ Blockchain ทั่วโลกนั้นเริ่มประสบปัญหาเดียวกัน และปัญหานี้จะร้ายแรงยิ่งขึ้นอีกในอนาคตหากไม่ทำอะไร ก็คือการขาดแคลนบุคลากร ทาง IBM ที่หันมาจับ Blockchain เป็นเทคโนโลยีหลักสำหรับรุกตลาดองค์กรจึงได้ทำการร่วมมือกับเหล่ามหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกนับพันแห่ง เสริม Blockchain เข้าไปในหลักสูตรการศึกษา หวังเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain ให้มากขึ้นในอนาคต

Credit: IBM

 

แรกเริ่มทาง IBM จะทำการจับมือกับ Baruch College, Fordham University, University of Arkansas, University at Buffalo และ University of British Columbia เพื่อสร้างหลักสูตรทางด้าน Blockchain ขึ้นมาก่อน พร้อมทั้งเปิด Blockchain Resource สำหรับให้มหาวิทยาลัยต่างๆ นำไปใช้ในการเรียนการสอนได้ฟรีๆ ที่ IBM Academic Initiative โดยที่ผ่านมานอกจากทาง IBM จะเปิดให้เหล่าภาคการศึกษาสามารถใช้บริการ IBM Cloud ได้ฟรีๆ กันแล้ว ทาง IBM ยังมีหลักสูตรสอน Blockchain แบบฟรีๆ พร้อมเรียนจบมี Badge รับรองให้ด้วยที่ https://www.techtalkthai.com/free-ibm-blockchain-online-course-for-developers/

สิ่งที่ IBM คาดหวังนั้นคือการที่เหล่านักศึกษาทั่วโลกจะได้เรียนรู้พื้นฐานของเทคโนโลยี Blockchain และได้สัมผัสกับเทคโนโลยีของจริงบน IBM Cloud ไปด้วย เพื่อสร้างทักษะความรู้พื้นฐานไปพร้อมๆ กับความคุ้นเคยในการใช้งานเทคโนโลยีจาก IBM

 

ที่มา: https://www.coindesk.com/1000-universities-ibms-ambitious-plan-to-fill-vacant-blockchain-jobs/

from:https://www.techtalkthai.com/ibm-will-help-more-than-1000-universities-to-teach-blockchain/

พูดคุยเรื่อง Blockchain ในการใช้งานจริงทั่วโลก กับคุณ Sriram Raghavan ผู้นำการพัฒนา Blockchain แห่ง IBM Research Lab

ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณ Sriram Raghavan ผู้ดำรงตำแหน่ง IBM Research Director แห่ง IBM India/South Asia, CTO แห่ง IBM India และยังดำรงตำแหน่ง Worldwide Blockchain Leader ควบคู่กันไปด้วย เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่ในศูนย์กลางของการนำ Blockchain มาใช้งานในภาคธุรกิจทั่วโลกตั้งแต่แรกเริ่มเลยก็คงไม่ผิดนัก ทางทีมงาน TechTalkThai จึงขอนำการสัมภาษณ์มาสรุปให้กับผู้อ่านที่กำลังสนใจหรือพิจารณาการนำ Blockchain มาใช้ในองค์กรได้อ่านกันดังนี้ครับ

คุณ Sriram Raghavan

 

Blockchain: เทคโนโลยีหลักที่ IBM ใช้ตอบโจทย์ตลาดการเงิน, องค์กร, ภาครัฐทั่วโลกในเวลานี้

อย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยหากพูดถึงเรื่องราวของการนำ Blockchain มาใช้ในการทำงานระดับองค์กร เราก็มักจะนึกถึงชื่อของ IBM ที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการผลักดันเทคโนโลยี Blockchain นี้ในหลากหลายแง่มุมทั่วโลก หนึ่งในนั้นก็คือโครงการ Hyperledger ที่ IBM ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นอย่างมากใน Hyperledger Fabric สำหรับนำไปใช้ต่อยอดในการสร้าง Blockchain Application หรือ Blockchain Solution โดยเฉพาะ และ IBM ก็ได้เข้าไปทำโครงการ Blockchain มาแล้วทั่วโลกมากมาย ตอบโจทย์ทั้งเหล่าธุรกิจการเงิน, องค์กร และภาครัฐที่ต้องการนำ Blockchain มาใช้ประยุกต์ในระบบต่างๆ ขนาดเล็กจนถึงใหญ่

IBM นั้นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี Blockchain เป็นอย่างมาก และมีแล็บวิจัยเรื่อง Blockchain โดยเฉพาะ ซึ่งคุณ Sriram Raghavan ที่ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ก็คือผู้ที่เป็น Director ของแล็บวิจัย IBM ทั้งหมด 13 แห่งทั่วโลก รวมถึงแล็บด้าน Blockchain โดยเฉพาะนี้ด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain และการร่วมพัฒนาโครงการ Hyperledger Fabric แล้ว IBM เองก็ยังทำการสร้างบริการ Blockchain บน Cloud ของ IBM เองด้วยเทคโนโลยี, Hardware และบริการสำหรับการตอบโจทย์ระดับองค์กรเป็นหลัก เพื่อให้เหล่าธุรกิจต่างๆ ได้นำ Blockchain ไปทดสอบและใช้งานได้อย่างง่ายดายที่สุดด้วย

 

Supply Chain Financing: เปิดโอกาสธุรกิจขนาดเล็กและกลางให้เติบโตได้ด้วย Visibility ของ Blockchain

คุณ Sriram ได้เล่าถึงหนึ่งในกรณีตัวอย่างที่ Blockchain เข้ามาพลิกโฉมการทำธุรกิจที่อินเดียไป โดยอินเดียนี้ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากการนำ Blockchain มาใช้งาน จากการที่อินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่ และมีประชากรเยอะ การนำ Blockchain เข้าไปช่วยเสริมในส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนของอินเดียให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นนี้จึงสร้างผลกระทบต่อสังคมได้เป็นวงกว้าง

โครงการที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นโครงการแรกคือการทำ Supply Chain Financing ที่เหล่าธุรกิจการผลิตได้นำ Blockchain เข้าไปใช้ติดตามธุรกรรมทั้ง Supply Chain อย่างครบถ้วน ทำให้การติดตามการผลิตและสัญญาว่าจ้างต่างๆ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ซึ่งตรงนี้เองทำให้เหล่าสถาบันการเงินที่เข้ามาร่วมอยู่ใน Blockchain นี้สามารถทำการตรวจสอบและนำเสนอบริการทางการเงินให้กับเหล่าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางภายใน Supply Chain นี้ที่ธนาคารเองก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน จนสามารถปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจเหล่านี้ได้ด้วยการนำข้อมูลจาก Blockchain ไปร่วมวิเคราะห์เป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขของการปล่อยเงินกู้ เพราะข้อมูลสัญญาใน Blockchain นี้ถือว่าเชื่อถือได้ว่าจะเกิดธุรกรรมขึ้นจริง

ไม่เพียงแต่ข้อมูลของการทำสัญญาและการเงินเท่านั้น แต่ข้อมูลของสถานะการส่งสินค้า, ประวัติการทำธุรกรรมในอดีต และข้อมูลอื่นๆ เองเหล่านี้ก็สามารถนำมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาของสถาบันการเงินได้เช่นกัน

การนำความโปร่งใสเหล่านี้เข้ามาเสริมกระบวนการทางด้านการเงินให้กับเหล่าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางนี้เอง ทำให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น และธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางลักษณะนี้ก็มีอยู่จำนวนมากในประเทศอินเดีย การที่ธนาคารสามารถเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมและสัญญาเหล่านี้ได้นอกจากจะเป็นการทำให้ธุรกิจเหล่านั้นเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้นแล้ว ทางธนาคารเองก็สามารถนำข้อมูลไปใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจกลุ่มนี้ซึ่งไม่เคยมีใครเข้าถึงมาก่อนในอดีตได้ เป็นการได้ประโยชน์กันทั้งระบบเลยก็ว่าได้

 

Know Your Customer (KYC): หนึ่งในโครงการที่ Blockchain ถูกนำไปใช้ตอบโจทย์อย่างกว้างขวางทั่วโลก

โครงการ KYC นี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกนำมาใช้ร่วมกับ Blockchain มากที่สุดโครงการหนึ่ง โดยแนวคิดหลักๆ ของโครงการ KYC นี้คือการที่เหล่าองค์กรที่ต้องมีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานในลักษณะเดียวกัน มาทำการแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้งานร่วมกันเพื่อให้ข้อมูลเหล่านั้นมีการอัปเดตที่สุด, ถูกต้องตรงกันที่สุด ส่งผลให้ในระยะยาวแล้ว หากลูกค้าคนหนึ่งๆ จะใช้บริการของธุรกิจใดๆ ที่มีการแบ่งปัน KYC ระหว่างกัน ก็สามารถทำการใช้งานได้เลยโดยแทบไม่ต้องลงทะเบียนอะไร เพราะธุรกิจเหล่านั้นมีข้อมูลของลูกค้า พร้อมให้ดึงมาใช้งานได้ทันทีหากลูกค้าแสดงความยินยอม ซึ่ง Blockchain ก็สามารถเข้ามาช่วยตอบโจทย์ได้ทั้งในแง่ของ Security และ Privacy พร้อมๆ กัน

ตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพได้ชัด เช่น การที่เหล่าธุรกิจการเงิน หรือหน่วยงานภาครัฐ ทำการแบ่งปันข้อมูลของลูกค้า/ประชาชนร่วมกันบน Blockchain โดยใช้นโยบายว่าถึงแม้ข้อมูลของลูกค้าทุกคนจะถูกแบ่งปันร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงานบน Blockchain แต่หน่วยงานเหล่านั้นจะไม่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลกลางนั้นได้หากลูกค้ารายนั้นไม่ยินยอม หรือมาเปิดใช้บริการ ทำให้ธนาคารที่ไม่ได้มีลูกค้ารายใดมาทำธุรกรรมด้วยก็จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้ารายนั้นได้ เป็นทั้งการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่สามารถใช้บริการธนาคารต่างๆ ได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนหรือกรอกข้อมูลใหม่ทุกครั้ง

Aadhaar เป็นโครงการหนึ่งของหน่วยงานรัฐในประเทศอินเดียที่นำแนวคิดนี้ไปใช้ โดยประชาชนชาวอินเดียทุกคนจะสามารถสมัครเพื่อรับเลขสุ่มจำนวน 12 หลักที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐติดตัวเอาไว้ สำหรับใช้ในการระบุตัวตนและมอบข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองให้กับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ชื่อ, นามสกุล, วันเกิด, อายุ, เพศ, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์มือถือ (Optional), Email (Optional), ลายนิ้วมือสิบนิ้ว, ข้อมูลม่านตา และภาพถ่าย ซึ่งเก็บอยู่บน Blockchain และเปิดให้ภาคธุรกิจและการเงินสามารถมาร่วมใน Blockchain นี้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้และต่อยอดได้ง่ายยิ่งขึ้น สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Aadhaar สามารถศึกษาได้ที่ https://uidai.gov.in/your-aadhaar/about-aadhaar.html ครับ

โครงการลักษณะนี้ถือว่าสามารถสร้าง Impact ให้กับภาคธุรกิจในระยะยาวได้ โดยคุณ Sriram ก็ได้เล่าถึงกรณีที่ธุรกิจ Startup สามารถมีลูกค้ารายใหม่ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการไปจนถึง 100 ล้านคนได้ภายในเวลาเพียงแค่ 4 เดือน โดยมีส่วนหนึ่งจากระบบ KYC นี้ที่ทำให้สามารถลดขั้นตอนยุ่งยากในการลงทะเบียนของลูกค้าแต่ละรายลงไปได้ และทำให้การมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าเป็นตัวจริงได้นั่นเอง

 

กฎหมายเป็นประเด็นสำคัญของภาครัฐทุกประเทศที่ต้องปรับตามเทคโนโลยีให้ทัน

Blockchain กับประเด็นทางด้านกฎหมายถือเป็นโจทย์ที่ภาครัฐของทุกประเทศต้องเตรียมรับมือให้ดี เพื่อให้สามารถนำ Blockchain ไปใช้งานในวงกว้างและสร้างประโยชน์ต่อสังคมให้ได้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุด รวมถึงนำไปสร้างเป็นโครงสร้างข้อมูลและการสื่อสารพื้นฐานของประเทศ อันจะเป็นรากฐานสำคัญต่อการที่ภาคธุรกิจจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดได้ดียิ่งขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ที่แต่ละประเทศยังไม่มีกฎหมายมารองรับ Blockchain กันในตอนนี้ ทางคุณ Sriram ก็แนะนำว่าให้เหล่าภาคธุรกิจและภาครัฐเริ่มนำ Blockchain ไปใช้ในแง่มุมที่ไม่กระทบกับกฎหมาย แต่ยังได้นำจุดเด่นของ Blockchain มาสร้างให้เกิดประโยชน์ไปก่อน เป็นทั้งการเริ่มต้นเรียนรู้การใช้ Blockchain และการได้ลองเริ่มสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย Blockchain ไปในเวลาเดียวกัน

 

Database จะยังคงไม่หายไปไหนท่ามกลางการมาของ Blockchain

หนึ่งในข้อเข้าใจผิดของหลายๆ คนคือ Blockchain นั้นจะมาแทน Database ทั้งหมดไป ซึ่งคุณ Sriram ก็ได้ออกมาชี้แจงว่าอันที่จริงแล้ว Blockchain เองก็มีโจทย์เฉพาะของตนเองที่สามารถตอบได้ดี ในขณะที่เทคโนโลยี Database แบบเดิมๆ ทั้ง RDBMS และ NoSQL นั้นต่างก็มีโจทย์ที่ตนเองแก้ได้ดีเช่นกัน สิ่งที่เหล่าผู้พัฒนาเทคโนโลยีควรทำนั้นคือการทำความเข้าใจความแตกต่าง จุดดี และจุดเสียของแต่ละเทคโนโลยีให้ดี ก่อนที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีนั้นๆ ให้เหมาะสมกับงานมากกว่า

 

Blockchain นี้ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ มีแง่มุมอื่นๆ ให้ต้องพิจารณาอีกมากมาย

แน่นอนว่าถึงแม้จะเป็นกระแสที่โด่งดัง แต่ก็ต้องยอมรับว่า Blockchain นี้ยังถือเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก และยังมีโจทย์ที่ต้องขบคิดกันอีกเยอะก่อนนำไปใช้งานจริงในหลากหลายรูปแบบ ทำให้ถัดจากนี้ไปเราจะเห็นการประยุกต์นำ Blockchain ไปใช้แก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และการพัฒนาเทคโนโลยีเสริมหรือ Blockchain สำหรับแก้ไขปัญหาบางอย่างแบบเฉพาะทางมากขึ้นเรื่อยๆ

โจทย์หนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ความขัดแย้งระหว่าง Blockchain กับ General Data Protection Regulation (GDPR) ที่ฝั่ง Blockchain เองนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ไม่สามารถลบข้อมูลในอดีตออกไปได้ ในขณะที่ GDPR นั้นระบุว่าผู้คนจะต้องสามารถร้องขอให้ผู้ให้บริการที่จัดเก็บข้อมูลของตนเอาไว้ ทำการลบข้อมูลออกไปได้ ซึ่งโจทย์นี้เองก็มีแง่มุมวิธีการแก้ไขหรือถกเถียงกันที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและกฎหมาย เป็นต้น

 

สุดท้ายนี้ทางทีมงาน TechTalkthai ก็ต้องขอขอบคุณทาง IBM Thailand สำหรับโอกาสการพูดคุยที่น่าสนใจในครั้งนี้ด้วยครับ

from:https://www.techtalkthai.com/interview-with-sriram-raghavan-ibm-worldwide-blockchain-leader/

IBM จับมือ 7 ธนาคารยุโรป พัฒนาโซลูชัน Blockchain สำหรับ SME

Digital Trade Chain Consortium ได้เลือก IBM ให้เป็นผู้พัฒนาระบบ Blockchain สำหรับการค้าขายระหว่างองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางข้ามชาติในภูมิภาคยุโรป

 

Digital Trade Chain Consortium นี้ประกอบไปด้วยธนาคาร 7 แห่ง ได้แก่ Deutsche Bank, HSBC, KBC, Natixis, Rabobank, Societe Generale และ Unicredit โดยที่เทคโนโลยีที่ IBM จะใช้ในโครงการนี้ก็คือ IBM Blockchain ที่มีเบื้องหลังคือ Hyperledger Fabric นั่นเอง

โครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มต้นใช้งานได้จริงภายในปี 2017 นี้ เพื่อให้เหล่าธุรกิจ SME ภายในยุโรปสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และมีต้นทุนที่ต่ำลง รวมถึงยังเป็นการสนับสนุนให้เหล่าธุรกิจ SME สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นจากการเปิดช่องทางในการสร้างรายรับใหม่ๆ และการพบเจอกับคู่ค้ารายใหม่ๆ ได้มากขึ้นไปพร้อมๆ กัน โดยธุึรกรรมเหล่านี้สามารถทำได้ทั้งผ่านทางเว็บและผ่านทางอุปกรณ์พกพา

Blockchain ได้เริ่มเข้ามามีบทบาททางด้านการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ และใช้เวลาในการพัฒนาระบบน้อยลงเรื่อยๆ แล้วในปัจจุบัน ทั้งด้วยปัจจัยด้านเทคโนโลยีในฝั่งบริการ Cloud ที่มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น และประสบการณ์ของเหล่าผู้ออกแบบและพัฒนาระบบที่เริ่มเห็น Blockchain กลายเป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญ ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จักอีกต่อไป

 

ที่มา: https://which-50.com/ibm-building-sme-blockchain-solution-seven-major-banks/

from:https://www.techtalkthai.com/ibm-with-7-european-banks-to-provide-blockchain-for-sme/

IBM เปิดคอร์สออนไลน์ฟรีสอน Blockchain พร้อมแล็บให้ทำ 10 ชั่วโมง เรียนจบมี Badge ให้

ในปี 2017 นี้คงไม่มีเทคโนโลยีในตลาดองค์กรใดร้อนแรงไปกว่า Blockchain แล้ว และ IBM ก็เปิดคอร์สออนไลน์สอน Blockchain ให้เราเรียนกันฟรีๆ แถมเรียนจบแล้วยังมี Badge เอาไปอ้างอิงตอนสมัครงานกันได้อีกด้วย

Credit: IBM

 

ในคอร์สนี้จะอ้างอิงจาก Hyperledger และ Hyperledger Fabric ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ IBM ใช้ในการพัฒนาบริการ Cloud Blockchain เป็นหลัก โดยเนื้อหาจะครอบคลุมดังต่อไปนี้

  • แนะนำการนำ Blockchain ไปใช้งานในเชิงธุรกิจ
  • รู้จักกับ Blockchain Fabrics
  • รู้จักกับโครงการ Hyperledger Project และส่วนประกอบต่างๆ ของ Blockchain
  • เริ่มต้นใช้งานบริการ IBM Blockchain บน IBM Bluemix แบบฟรีๆ
  • ทดลองสร้างโปรแกรมเชื่อมต่อกับ Blockchain ด้วยตัวเอง ด้วย API ที่เกี่ยวข้อง และสร้าง Chaincode ขึ้นมาเอง

คอร์สนี้ใช้เวลาเรียนประมาณ 10 ชั่วโมงแบบออนไลน์ โดยเนื้อหาทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ เรียนได้ฟรีๆ และสิ่งที่ต้องเตรียมมาเรียนก็มีเพียงแค่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อ Internet ได้เพื่อให้สามารถทำแล็บบน IBM Bluemix ได้ครับ

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปลองเรียนกันฟรีๆ ได้เลยที่ https://developer.ibm.com/courses/all-courses/blockchain-for-developers/ นะครับ

from:https://www.techtalkthai.com/free-ibm-blockchain-online-course-for-developers/