คลังเก็บป้ายกำกับ: PWC

Protected: PwC ออสเตรเลีย สร้างประสบการณ์การสื่อสารผ่านวิดีโอให้พนักงานและลูกค้าทั่วโลก อย่างไร้รอยต่อและปลอดภัยได้อย่างไร

This content is password protected. To view it please enter your password below:

Password:

from:https://www.techtalkthai.com/how-pwc-australia-securely-sustainably-connects-global-clients-via-vdoconference/

PwC เผยซีอีโอทั่วโลก 73% เชื่อเศรษฐกิจหดตัวใน 12 เดือนข้างหน้า สะท้อนมุมมองลบที่สุดในรอบ 10 ปี

PwC เผยผลการสำรวจซีอีโอทั่วโลก พบว่า ซีอีโอ 73% เชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ถือเป็นมุมมองในแง่ลบมากที่สุดของซีอีโอเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในรอบ 10 ปี

CEO

ซีอีโอเกือบ 40% คิดว่า องค์กรขอไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ

PwC เผยผลการสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 26 ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอ 4,410 คน ใน 105 ประเทศและดินแดน ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 พบว่า ซีอีโอเกือบสามในสี่ (73%) เชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

มุมมองดังกล่าวถือเป็นมุมมองในแง่ลบมากที่สุดของซีอีโอเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก นับตั้งแต่เราเริ่มถามคำถามนี้เมื่อ 12 ปีก่อน และเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากมุมมองที่สดใสในปี 2564 และ 2565 ซึ่งในเวลานั้น ซีอีโอมากกว่าสามในสี่ (76% และ 77% ตามลำดับ) เชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น

นอกจากสภาพแวดล้อมที่ท้าทายแล้ว ซีอีโอเกือบ 40% ไม่คิดว่าองค์กรของตนจะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจได้ในช่วงสิบปีนี้ หากยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปในเส้นทางปัจจุบัน ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในหลายภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ โทรคมนาคม (46%) การผลิต (43%) การดูแลสุขภาพ (42%) และเทคโนโลยี (41%) นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของซีอีโอเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของบริษัทของตนเองยังลดลงอย่างมากตั้งแต่ปีที่แล้ว (-26%) ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2551-2552 ซึ่งในขณะนั้น ความเชื่อมั่นซีอีโอลดลงไป 58%

เมื่อพิจารณาในระดับโลก พบว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง โดยประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจ จี7 อย่างฝรั่งเศส (70% เทียบกับ 63%) เยอรมนี (94% เทียบกับ 82%) และสหราชอาณาจักร (84% เทียบกับ 71%) ซึ่งล้วนถูกกดดันจากวิกฤตพลังงานที่กำลังดำเนินอยู่ มีทัศนคติในเชิงลบเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตในประเทศมากกว่าการเติบโตทั่วโลก

นอกจากนี้ ซีอีโอยังระบุถึงความท้าทายหลายประการที่ส่งผลโดยต่อความสามารถในการทำกำไรภายในอุตสาหกรรมของตนเองในช่วง 10 ปีข้างหน้า มากกว่าครึ่ง (56%) เชื่อว่าความต้องการ/ความชอบที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ (53%) การขาดแคลนแรงงาน/ทักษะ (52%) และเทคโนโลยีดิสรัปชัน (49%)

เงินเฟ้อ ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นที่ซีอีโอกังวลมากที่สุด

ในขณะที่ความเสี่ยงทางไซเบอร์และสุขภาพเป็นปัญหาอันดับหนึ่งในปีที่แล้ว ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นสิ่งที่ซีอีโอกังวลใจมากที่สุดในปีนี้ โดยอัตราเงินเฟ้อ (40%) และความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค (31%) เป็นความเสี่ยงที่ซีอีโอกังวลมากที่สุดในระยะสั้น 12 เดือนข้างหน้า และในอีก 5 ปีข้างหน้า รองลงมาคือ 25% ของซีอีโอรู้สึกถึงความเสี่ยงทางการเงินอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่ความเสี่ยงทางไซเบอร์ (20%) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (14%) ลดลงเมื่อเทียบกัน

สงครามในยูเครนและความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในส่วนอื่น ๆ ของโลก ทำให้ซีอีโอต้องคิดทบทวนใหม่เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจในด้านต่าง ๆ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่เผชิญกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ได้รวมการหยุดชะงักในวงกว้างเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนสถานการณ์และรูปแบบการดำเนินงานขององค์กร ไม่ว่าจะด้วยการเพิ่มการลงทุนด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์หรือความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (48%) การปรับห่วงโซ่อุปทาน (46%) การประเมินสถานะตลาดใหม่ หรือขยายตลาดใหม่ ๆ (46%) หรือการกระจายการนำเสนอสินค้า/บริการให้หลากหลาย (41%)

ซีอีโอกำลังลดต้นทุน แต่ไม่ลดจำนวนพนักงานหรือค่าตอบแทน

เพื่อตอบสนองต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซีอีโอกำลังมองหาวิธีลดต้นทุนและกระตุ้นการเติบโตของรายได้ 52% ของซีอีโอเลือกที่จะลดต้นทุนการดำเนินงาน ในขณะที่ 51% ใช้วิธีขึ้นราคา และ 48% นำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มากกว่าครึ่ง หรือ 60% กล่าวว่า พวกเขาไม่มีแผนที่จะลดขนาดพนักงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ซีอีโอส่วนใหญ่ หรือ 80% ไม่ได้วางแผนที่จะลดค่าตอบแทนพนักงาน เพื่อรักษาบุคลากรที่มีความสามารถและลดอัตราการออกจากงานของพนักงาน

บ็อบ มอริตซ์ ประธาน PwC โกลบอล กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ผันผวน อัตราเงินเฟ้อที่สูงมาหลายสิบปี และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยที่ทำให้ซีอีโอมีมุมมองเชิงลบมากที่สุดในรอบสิบปี ด้วยเหตุนี้ ซีอีโอทั่วโลกจึงต้องประเมินใหม่เกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินงานและการลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแรงกดดันเหล่านี้ แต่พวกเขาก็ยังคงให้ความสำคัญกับพนักงานมากที่สุด ด้วยความพยายามที่จะรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้หลังจากที่เกิดกระแส ‘การลาออกครั้งใหญ่’ (Great Resignation) ในช่วงที่ผ่านมา โลกยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง และความเสี่ยงที่องค์กร ผู้คน และโลกใบนี้ กำลังเผชิญอยู่มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ องค์กรต่าง ๆ ต้องสร้างสมดุลอย่างระมัดระวังระหว่างความจำเป็นสองประการ คือการลดความเสี่ยงในระยะสั้น กับสิ่งที่ต้องดำเนินงานเพื่อวัตถุประสงค์ระยะยาว หากพวกเขาไม่เพียงต้องเติบโต แต่ยังต้องอยู่รอดในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย ธุรกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถอยู่รอดได้

การจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญเพิ่มขึ้นสำหรับธุรกิจ

แม้ว่าความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศจะไม่ได้เด่นชัดเท่ากับความเสี่ยงระยะสั้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เมื่อเทียบกับความเสี่ยงอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ซีอีโอยังคงมองว่าความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุน (50%) ห่วงโซ่อุปทาน (42%) และสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ( 24%) ตั้งแต่ระดับปานกลางถึงมาก ซีอีโอในจีนรู้สึกเสี่ยงมากเป็นพิเศษ โดย 65% มองเห็นความเป็นไปได้ที่ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนของพวกเขา ขณะที่ 71% คิดว่าจะกระทบต่อซัพพลายเชน และ 56% มองว่าจะส่งผลต่อสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะมีต่อธุรกิจและสังคมในระยะยาว ซีอีโอส่วนใหญ่จึงได้ดำเนินการแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินแผนงานริเริ่มเพื่อลดการปล่อยมลพิษของบริษัท (65%) นอกเหนือไปจากคิดค้นผลิตภัณฑ์และกระบวนการใหม่ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ (61%) หรือพัฒนากลยุทธ์ระดับองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อลดการปล่อยมลพิษและลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (58%)

แม้ว่าปัจจุบันจะมีประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นที่มีการกำหนดราคาคาร์บอนในบางรูปแบบ แต่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (54%) ยังไม่มีแผนที่จะนำราคาคาร์บอนภายในองค์กรมาใช้ในการตัดสินใจ และมากกว่าหนึ่งในสาม (36%) ไม่ได้วางแผนที่จะดำเนินแผนงานริเริ่มเพื่อปกป้องสินทรัพย์ที่จับต้องได้ของบริษัทและ/หรือพนักงานจากผลกระทบของความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ

ความไว้วางใจและการเปลี่ยนแปลงในการสร้างคุณค่าระยะยาวยังคงมีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง

ซีอีโอระบุถึงความจำเป็นในการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายเพื่อสร้างความไว้วางใจและส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืน หากองค์กรต้องการสร้างคุณค่าทางสังคมในระยะยาว การสำรวจพบว่า องค์กรเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานที่ไม่ใช่ธุรกิจ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (54%) เพื่อความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่แบ่งแยก (49%) และเพื่อการศึกษา (49%)

นอกจากนี้ หากต้องการที่จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้ในระยะใกล้และระยะยาว องค์กรจะต้องลงทุนในบุคลากรและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเพื่อเสริมศักยภาพให้กับพนักงาน ในส่วนของเทคโนโลยี องค์กรเกือบสามในสี่ (76%) ระบุว่ากำลังลงทุนในกระบวนการและระบบอัตโนมัติ การใช้ระบบเพื่ออัปสกิลให้กับพนักงานในด้านที่สำคัญ (72%) การใช้เทคโนโลยี เช่น คลาวด์ AI และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ (69% )

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอหลายคนตั้งคำถามว่า องค์กรของตนมีเงื่อนไขเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการเสริมอำนาจองค์กรและการเป็นผู้ประกอบการหรือไม่ เช่น การปรับให้สอดคล้องกับค่านิยมทางธุรกิจ และการส่งเสริมให้เกิดการคัดค้านและการถกเถียงของผู้บริหาร เพื่อจัดการกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้นที่องค์กรต้องเผชิญ ตัวอย่างเช่น มีเพียง 23% ของซีอีโอที่กล่าวว่า ผู้บริหารในบริษัทตัดสินใจเกี่ยวกับส่วนงานของตนโดยไม่ปรึกษาซีอีโออยู่บ่อยครั้งหรือเป็นปกติ นอกจากนี้ มีซีอีโอเพียง 46% เท่านั้นที่กล่าวว่าผู้บริหารในบริษัททนต่อความล้มเหลวในระดับเล็กน้อยได้บ่อยครั้ง/เป็นปกติ อย่างไรก็ดี ในส่วนของมุมมองบวกพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 9 ใน 10 (85%) กล่าวว่าพฤติกรรมของพนักงานมีความสอดคล้องกับค่านิยมและทิศทางของบริษัทโดยส่วนมาก/เป็นปกติ

เมื่อเลือกระหว่างความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นหรือระยะยาว ซีอีโอกล่าวว่าพวกเขากังวลกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานในปัจจุบัน (53%) มากกว่าการปรับเปลี่ยนธุรกิจและกลยุทธ์ของบริษัทเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต (47%) อย่างไรก็ดี หากพวกเขาสามารถออกแบบตารางเวลาใหม่ได้ ซีอีโอกล่าวว่าพวกเขาจะใช้เวลามากขึ้นกับการพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์เพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต (57%)

ทั้งนี้ PwC สำรวจซีอีโอ 4,410 คนในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2565 ตัวเลขระดับโลกและระดับภูมิภาคในรายงานฉบับนี้มีการถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนต่อจีดีพีของประเทศหรือภูมิภาค เพื่อให้มั่นใจว่ามุมมองของซีอีโอเป็นตัวแทนของภูมิภาคหลักทั้งหมด ขณะที่ตัวเลขระดับอุตสาหกรรมและระดับประเทศอ้างอิงจากข้อมูลที่ไม่ถ่วงน้ำหนักจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดของซีอีโอ 4,410 คน โดยดำเนินการสัมภาษณ์ซีอีโอจากสามภูมิภาคทั่วโลก (อเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และเอเชียแปซิฟิก)

อ้างอิง // PwC

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post PwC เผยซีอีโอทั่วโลก 73% เชื่อเศรษฐกิจหดตัวใน 12 เดือนข้างหน้า สะท้อนมุมมองลบที่สุดในรอบ 10 ปี first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/pwc-ceo-economics-research/

6 เทรนด์โลจิสติกส์ที่น่าจับตามองในปี 2023

โควิด-19 ทั่วโลก ทิ้งความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ณ ปัจจุบันที่ยังส่งผลต่อเนื่องในปีถัดไป 6 เทรนด์ที่จะถูกกล่าวถึงคือสิ่งที่ถูกคาดว่าจะได้เห็นในปี 2023
 

Image Credit : cargologik.com
  • เทรนด์ที่ 1 : การควบรวมและการซื้อกิจการจะดำเนินในปี 2023

 
ตามรายงานเมื่อกลางปี 2022 ของ PwC การควบรวมกิจการในธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ในระดับสูงคาดว่าจะดำเนินธุรกรรมเช่นนี้ต่อในปี 2023 อย่างแน่นอน เนื่องจากบริษัทต่างๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง อาทิเช่น ความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ สงครามในยูเครน การขาดแคลนวัสดุและอุปกรณ์ และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน โดยรวมที่กล่าวมาทำให้หลายบริษัทกำลังพิจารณาโอกาสและความพยายามที่จะควบคุมห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจรของตนเองได้มากขึ้น โดยบริษัทขนาดใหญ่จะมีกำลังเข้าซื้อบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าเพื่อโอกาสสร้างลูกค้าหรือข้อเสนอบริการใหม่ได้
 
  • เทรนด์ที่ 2 : บริษัทด้านโลจิสติกส์กำลังขยายข้อเสนอและลงทุนในการปรับใช้งานอย่างชาญฉลาด

 
จากผลสำรวจวิจัยของผู้บริหารด้านโลจิสติกส์ของ Accenture ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ณ ปัจจุบัน คือ การพัฒนาความคาดหวังของลูกค้า รายงานระบุว่าบริษัทด้านโลจิสติกส์เชื่อว่าลูกค้าของพวกเขาต้องการให้นำเสนอชุดบริการด้านโลจิสติกส์ที่ควบคุมได้ทุกมิติมากขึ้น เพื่อรวมโซลูชันตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ หรือขยายบริการที่มีอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค อุตสาหกรรม หรือรูปแบบการขนส่งมากยิ่งขึ้น
 
บริษัทจำนวนมากที่ต้องการขยายบริการเพื่อสนับสนุนลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นและเป็นช่องทางใหม่ในการเติบโต ซึ่งอาจรวมถึงการจ้างแรงงานจากภายนอกเพื่อลดการลงทุนสำหรับบริการใหม่ๆ การลดต้นทุนและลดความเสี่ยงด้านเงินทุน องค์กรต่างๆ มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมากขึ้น ผนวกกับการใช้บริการที่ปรึกษาเฉพาะทางเพื่อให้แน่ใจว่าแนวทางการนำไปปฏิบัตินั้นมีประสิทธิภาพสูงสุดจริง
 
  • เทรนด์ที่ 3 : การปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการกลับสู่รูปแบบปกติ

 
“การหาผู้จำหน่ายและลูกค้าเพื่อให้ธุรกิจมีความสอดคล้องกัน คือ กุญแจสำคัญ”
 
ในช่วงที่เกิดโรคระบาด บ่อยครั้งที่มีการแย่งชิงอย่างบ้าคลั่งเพื่อจัดหาผู้ให้บริการขนส่ง ในระบบการให้บริการขนส่งสินค้าจะมีรูปแบบการดำเนินการตามระบบและกำหนดการที่ถูกกำหนดเอาไว้ การเผชิญกับการจัดการตารางขนส่งที่ยากเกินจะคาดเดาจากการแพร่ระบาดหนักที่กำลังจะกลับสู่ภาวะปกติในไม่ช้าและคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจที่ตกต่ำในปัจจุบันจะกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ในไม่ช้าเช่นกัน
 
การขาดแคลนผู้ให้บริการขนส่งนั้นทำให้มีผู้เล่นรายใหม่และรายเล็กไหลเข้ามาในระบบการให้บริการขนส่งจำนวนมาก การควบคุมคุณภาพในภาคการขนส่งสินค้าจึงยากที่จะคาดการณ์ได้ เนื่องจากความไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งในธุรกิจนี้ การจัดหาผู้ให้บริการขนส่งให้เหมาะสมกับความต้องการของสินค้าจึงเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ในการพิจารณาใช้บริการ
 
  • เทรนด์ที่ 4 : บริษัทต่างๆ จะยังคงยอมรับตัวเลือกการทำงานในรูปแบบ Hybrid Working

 
“โรคระบาดเปลี่ยนวิธีการทำงานของผู้คน”
 
ความต้องการบุคลากรด้านโลจิสติกส์และการขนส่งอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นปัญหาก่อนที่จะเกิดโรคระบาดหรือการลาออกครั้งใหญ่ และมีแต่จะแย่ลงไปอีก บริษัทต่างๆ กำลังปรับใช้กลยุทธ์หลายอย่าง รวมถึงการปรับปรุงผลประโยชน์และวัฒนธรรมในที่ทำงาน เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้ การทำงานจากระยะไกลเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สำคัญที่สุดในช่วงที่เกิดโรคระบาด และยังเป็นการดึงดูดพนักงานที่คาดหวังเช่นเดียวกันนี้เช่นกัน
 
  • เทรนด์ที่ 5 : ที่ปรึกษาจากภายนอกและบุคลากรด้านไอทีจะเติบโตขึ้นเพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้

 
อุตสาหกรรมภาคขนส่ง กำลังเล็งเห็นประโยชน์จากการจ้างบริษัทที่ปรึกษามากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในกลยุทธ์การนำไปปรับใช้งาน และการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สืบเนื่องมาจากการขาดแคลนผู้มีความสามารถด้านการพัฒนาด้านไอทีระดับวิกฤติในสหรัฐฯ การมีส่วนร่วมดังกล่าวจึงมักรวมถึงการดึงเอาผู้มีความสามารถด้านไอทีจากภายนอกเข้ามาใช้งานร่วมกับระบบอัตโนมัติ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำบริษัทในปัจจุบัน แต่ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องดึงดูดแรงงานที่มีทักษะจำนวนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ความเชี่ยวชาญเหล่านี้ในการดึงศักยภาพจากเทคโนโลยีเข้ามาใช้ใหม่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด เพราะท้ายที่สุดแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถสนทนาอย่างมีนัยสำคัญกับลูกค้าได้อย่างครบถ้วน
 
  • เทรนด์ที่ 6 : บริษัทต่างๆ จะนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาปรับใช้เพื่อการฝึกอบรมพนักงานมากขึ้น

 
บริษัทจำนวนมากกำลังมองหาเทคโนโลยีไมโครเทรนนิ่ง ซึ่งสร้างประสิทธิภาพที่สำคัญและลดเวลาการเตรียมความพร้อม ยกระดับทักษะให้กับพนักงานสามารถเริ่มงานได้เร็วขึ้น ระบบปัญญาประดิษฐ์เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่เติบโตเร็วที่สุดซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องตามรายงานของ NewVantage ธุรกิจ 9 ใน 10 แห่งมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในระบบ AI
 
ธุรกิจหนึ่งที่เห็นการปรับกระบวนการให้เหมาะสมคือการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน ระบบ AI มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการจ้างงาน การเริ่มงาน และการพัฒนาทักษะวิชาชีพขององค์กร ตามรายงานของ Gartner กว่า 20% ของเนื้อหาทางธุรกิจ รวมถึงเนื้อหาการฝึกอบรม จะถูกเขียนโดยระบบ AI มากขึ้นภายในปี 2025
 

บทสรุป

 
อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการขนส่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2023 ก็จะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ถึงแม้จะต้องเผชิญต่อภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและภัยคุกคามจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยก็ตาม “ความยืดหยุ่น ประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ ความเร็ว และคุณภาพ” ที่กล่าวมานี้เป็นเป้าหมายที่สำคัญต่อวงจรการขนส่งที่ถูกทดสอบความท้าทายจากโควิด-19 ซึ่งถูกบังคับให้ใช้เทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ในการปรับปรุงระบบการดำเนินการ เหนือสิ่งใดก็ตาม ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะขับเคลื่อนศักยภาพสูงสุดออกมาไม่ได้ถ้าปราศจากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจระบบเป็นอย่างดี ซึ่งนำไปสู่การสร้างทีมงานที่เหมาะสมที่จะเป็นภารกิจสำคัญที่สุดในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของธุรกิจในปี 2023
 

from:https://www.techtalkthai.com/6-logistics-trends-to-watch-in-2023/

PwC ในสหราชอาณาจักร ประกาศขึ้นเงินเดือน 9% ช่วยพนักงานสู้วิกฤติเงินเฟ้อ

PwC บริษัทให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก ประกาศปรับขึ้นเงินเดือน 9% ให้พนักงานในสหราชอาณาจักรหลายพันคน เพื่อช่วยพนักงานสู้วิกฤติเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 40 ปี และดึงดูดพนักงานหัวกะทิให้อยู่กับองค์กร

PwC

PwC ขึ้นเงินเดือนให้พนักงานในสหราชอาณาจักร

Kevin Ellis ประธาน PwC ในสหราชอาณาจักร แจ้งว่า จากจำนวนพนักงานทั้งหมดกว่า 20,000 คน จะมีครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ได้รับเงินเดือนขึ้นอย่างน้อย 9% และอีก 70% ของพนักงานทั้งหมดจะได้รับเงินเดือนขึ้น 7% หรือมากกว่านั้น โดยการปรับเงินเดือนนี้มีผลกับพนักงานในระดับเริ่มต้น หรือ Entry-Level ด้วย

เหตุผลที่ PwC ขึ้นเงินเดือนให้พนักงานมาจากวิกฤติเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรเดือน พ.ค. 2022 พุ่งสูงถึง 9.1% มากที่สุดในรอบ 40 ปี ซึ่งการขึ้นเงินเดือนจะช่วยให้พวกเขาดำรงชีวิตได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยการันตีให้บริษัทดึงตัวพนักงานระดับหัวกะทิให้อยู่ในองค์กรได้นานขึ้น เพราะปัจจุบันมีหลายองค์กรจูงใจด้วยค่าตอบแทนที่มากกว่า

“เราไม่สามารถเพิกเฉยต่อวิกฤติ และอยากสร้างความมั่นใจว่าเงินเดือนของพนักงานระดับเริ่มต้นจะแข่งขันกับตลาดได้” Kevin Ellis กล่าว และเสริมว่าการขึ้นเงินเดือนนี้บริษัทต้องลงทุน 120 ล้านปอนด์ หรือราว 5,200 ล้านบาท และใช้อีก 138 ล้านปอนด์ หรือราว 6,000 ล้านบาท เพื่อให้โบนัสพนักงานในปีนี้ มากกว่าปีก่อน 10 ล้านปอนด์

ไม่ใช่แค่ PwC ที่ปรับฐานเงินเดือนให้พนักงาน เพราะในสหราชอาณาจักรมีสถาบันการเงิน Lloyds Bank ให้เงินพิเศษกับพนักงานเพื่อสู้กับวิกฤติเงินเฟ้อ แต่ถึงอย่างไรองค์กรส่วนใหญ่ที่นั่นยังประสบปัญหาเศรษฐกิจ และพนักงานต่างไม่ได้ปรับฐานเงินเดือนขึ้นแต่อย่างใด

สรุป

การปรับเงินเดือนขึ้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการใช้ชีวิตในวิกฤติเงินเฟ้อสูง แต่ช่วยดึงคนเก่ง ๆ ไว้ในองค์กรได้จริง เพราะถึงงานในองค์กร PwC จะขึ้นชื่อว่าหนัก แต่หากให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า พนักงานคนเก่งก็พร้อมที่จะอยู่ในองค์กร แถมพนักงานระดับเริ่มต้นก็อยากเข้ามาอยู่ในองค์กรนี้เช่นกัน

อ้างอิง // BBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post PwC ในสหราชอาณาจักร ประกาศขึ้นเงินเดือน 9% ช่วยพนักงานสู้วิกฤติเงินเฟ้อ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/pwc-uk-salaries-rise/

PwC ผู้ตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ ให้พนักงาน WFH ถาวรได้ แต่ได้เงินเดือนน้อยกว่าคนเข้าออฟฟิศ

จับตาการทำงานแบบใหม่ เมื่อ PwC ผู้ตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ ให้พนักงานเลือก Work From Home ถาวรได้ แต่ต้องแลกกับการลดเงินเดือนลงตามเขตที่พนักงานอยู่อาศัย

pwc new work from home policy

PwC บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับ Big4 ของโลกประกาศว่าจะเปิดโอกาสให้พนักงานกว่า 40,000 ตำแหน่ง ได้เลือกว่าจะทำงานจากบ้านแบบตลอดไปหรือไม่ ตามความต้องการของตนเอง นี่คือหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำงานที่ใหญ่ที่สุด

Yolanda Seals-Coffield รองหัวหน้าฝ่ายบุคคล PwC กล่าวว่า PwC คือบริษัทแรกในอุตสาหกรรมที่เปิดโอกาสให้มีการทำงานทางไกลแบบเต็มเวลาสำหรับพนักงานฝ่ายบริการลูกค้า นอกจากนี้ PwC ยังได้สนับสนุนให้พนักงานในฝ่ายอื่นๆ เช่น ทรัพยากรบุคคล และฝ่ายกฎหมายที่ไม่จำเป็นต้องเข้าพบลูกค้ามีทางเลือกในการทำงานทางไกลแบบเต็มเวลาเช่นเดียวกัน

PwC ยังระบุในจดหมายถึงพนักงานถึงสาเหตุที่นำแนวทางการทำงานแบบใหม่มาใช้ว่าเป็นเพราะต้องการดึงดูดผู้มีสวรรค์และสร้างความหลากหลายให้มากขึ้น

“Work From Home ถาวร” ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มาพร้อมเงื่อนไข

พนักงานของ PwC ที่เลือกที่จะทำงานจากบ้านตลอดไปจะได้รับอนุญาตให้เข้าออฟฟิศได้สูงสุด 3 ครั้ง/เดือน สำหรับการเข้าประชุมทีมที่สำคัญๆ การเข้าพบลูกค้า หรือการเข้าอบรม Seals-Coffield ระบุ

ภาพจาก Unsplash โดย Mimi Thian

และที่สำคัญ พนักงานที่เลือกที่จะทำงานทางไกลแบบ 100% จะต้องแลกด้วย 1 อย่าง นั่นก็คือ เงินเดือนที่ลดลง ตามเขตที่พนักงานอาศัยอยู่

แม้จะเปิดให้พนักงานทำงานทางไกลมากขึ้น แต่ PwC จะไม่ขายหรือลดขนาดออฟฟิศลง ในทางกลับกัน PwC จะเปลี่ยนแปลงการใช้ออฟฟิศใหม่โดยเน้นการใช้ออฟฟิศเพื่อการทำงานร่วมกันมากขึ้น

สรุป

เป็นที่น่าจับตาว่าการทำงานในอนาคตจะเราจะเห็นการทำงานทางไกลแบบเต็มเวลาเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ณ ปัจจุบันเราเริ่มเห็นกระแสการทำงานแบบนี้มาแรง เพราะก่อนหน้านี้ก็มี Google อีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ทางงานทางไกลแบบ 100% ด้วยเช่นกัน

หากการทำงานแบบนี้สามารถสร้างความแตกต่างได้ ช่วยให้พนักงานมีอิสระมากขึ้นโดยไม่กระทบกับผลิตภาพของการทำงาน ไม่แน่ว่าหลังจากนี้บริษัทอีกมากจะนำโมเดลนี้ไปใช้

ที่มา – Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post PwC ผู้ตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ ให้พนักงาน WFH ถาวรได้ แต่ได้เงินเดือนน้อยกว่าคนเข้าออฟฟิศ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/pwc-push-full-time-wfh-policy/

บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก PwC ประกาศแผนรับพนักงานเพิ่ม 100,000 ตำแหน่งภายใน 5 ปีนับจากนี้

PwC
London. June 2018. A view of the sign outside the PWC office by London Bridge in London.

เปิดรับแสนตำแหน่งใน 5 ปีนี้

PwC บริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ของโลกประกาศแผนเพิ่มพนักงานในองค์กร 100,000 ตำแหน่ง โดยเป็นแผนระยะ 5 ปีขององค์กร

สายงานที่จะรับในแผนนี้คืองานด้านสิ่งแวดล้อม สายสังคม และการจัดการองค์กรด้านธรรมาภิบาล

แผนรับพนักงานเพิ่มในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3.7 แสนล้านบาทที่ PwC จะลงทุนด้านการสรรหาบุคลากร อบรม และลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ปัจจุบัน PwC มีพนักงานทั่วโลกทั้งหมดกว่า 284,000 ตำแหน่ง แผนนี้จะเพิ่มพนักงานใหม่เข้ามาอีกเกือบ 1 ใน 3 จากเดิมที่มีอยู่

Bob Moritz ประธานฝ่าย Global ของ PwC บอกว่า “เราลงทุนอย่างหนักในการสร้างตัวตน-รีแบรนด์ขององค์กร เพื่อทำให้เห็นว่าเรามีในสิ่งที่ลูกค้าและโลกต้องการ”

อย่างไรก็ตาม รายได้ต่อปีของ PwC บริษัทที่ปรึษาระดับโลกในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท (1 ใน 3 ของงบประมาณแผ่นดินไทย)

ส่วนประเด็นในวงการที่ปรึกษาระดับโลก รู้หรือไม่ว่าในยุคโควิด ทำงานหนักมาก จนหลายคนหมดไฟ อ่านได้ที่ งานหนัก หมดไฟ ทำไม่ไหว ลาออก: ปัญหาใหญ่ของวงการคอนซัลต์ พนักงาน burnout หนักมาก

ที่มา – FT

อ่านแผนแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social, Governance) ของ PwC ได้ที่ ความรู้จักกับ ESG แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเขียนโดย PwC ประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก PwC ประกาศแผนรับพนักงานเพิ่ม 100,000 ตำแหน่งภายใน 5 ปีนับจากนี้ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/pwc-100k-hiring-plan/

PwC คือ Big Four รายแรกที่บอกพนักงานว่า จะเริ่มงาน-เลิกงานตอนไหนก็ได้ ส่วนวันศุกร์ทำงานแค่ครึ่งวันพอ

ทำงานตอนไหนก็ได้ เพราะวัดกันที่ผลงาน

PwC บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกประกาศแผนการทำงานใหม่ โดยจะใช้รูปแบบการทำงานแบบไฮบริด หมายความว่า มีทั้งวันที่ทำงานจากบ้านและวันที่เข้าออฟฟิศมาทำงาน ซึ่งผู้เลือกคือพนักงานหรือทีมนั้นๆ ตกลงกันเอง นอกจากนั้นที่ถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการการทำงานคือนับจากนี้ต่อไปจะอนุญาตให้พนักงานเลือกเวลาในการเริ่มงานและเลิกงานเองในแต่ละวันได้

Kevin Ellis ประธานของ PwC บอกว่า เราต้องสร้างรูปแบบการทำงานใหม่ขึ้นมา และรูปแบบการทำงานใหม่ที่ว่านี้จะต้องทำให้พนักงานมีอิสระมากขึ้น นี่คือบรรทัดฐานใหม่ที่ทำร่วมกัน ไม่ใช่ความคาดหวังอีกต่อไป เพราะถึงที่สุดแล้ว เราต้องการสร้างความเชื่อมั่นและทำให้คนในองค์กรมีพลังในการทำงาน

“โลกการทำงานในอนาคตเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ดังนั้นในฐานะองค์กร เราก็ต้องปรับตัวให้ทันเพื่อตอบโจทย์ทั้งพนักงานและกลุ่มลูกค้าของเรา”

PwC ถือเป็น Big Four รายแรกที่ออกมาบอกให้พนักงานสามารถเริ่มและเลิกงานในแต่ละวันได้อย่างอิสระ ขอแค่ให้มีผลงานสำเร็จเป็นรูปธรรม ทางบริษัทต้องการทำลายวิถีการทำงานแบบเดิมที่เป็น 9 to 5 ซึ่งหมายถึงการทำงานแบบ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น

นอกจากนั้น PwC ประกาศว่าในช่วงซัมเมอร์ปีนี้ (กรกฎาคม – สิงหาคม 2021) จะให้พนักงานทำงานแค่ครึ่งวันเท่านั้นในทุกวันศุกร์ จะได้มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นในชีวิต

work form home
An aerial view of a mother working on a laptop in her office at home with her young daughter string on her lap. Photo: Getty Images

ท่าทีของบริษัทคอนซัลต์ยักษ์ใหญ่ถือเป็นเรื่องที่ดีในวงการการทำงาน เพราะก่อนหน้านี้ ประเด็นเรื่องการทำงานหนักในวงการคอนซัลต์เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก บางคนต้องทำงานถึง 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คิดแล้วตกประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 14 ชั่วโมง

อ้างอิง – BBC, FT, Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post PwC คือ Big Four รายแรกที่บอกพนักงานว่า จะเริ่มงาน-เลิกงานตอนไหนก็ได้ ส่วนวันศุกร์ทำงานแค่ครึ่งวันพอ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/pwc-new-woking-style/

PwC เผย ช่วงครึ่งหลังปี 63 ธุรกิจปรับตัว ดีล M&A เพิ่มขึ้น 18% ทั่วโลก กลุ่มเทคฯ-โทรคมสูงสุด

PwC เผย ช่วงครึ่งหลังปี 63 จำนวนการควบรวมกิจการ หรือ M&A เพิ่มขึ้น 18% ทั่วโลกจากการพยายามปรับตัวของธุรกิจ ซึ่งข้อตกลงส่วนมากมีมูลค่าค่อนข้างสูงโดยเฉพาะข้อตกลงในกลุ่มเทคโนโลยีและโทรคมนาคมที่มูลค่าข้อตกลงช่วงครึ่งหลังปี 63 เพิ่มขึ้นเป็น 118% และ 300% ตามลำดับ

PwC M&A

PwC บริษัทที่ปรึกษาด้านบัญชีเผยตัวเลขการทำ Mergers and Acquisitions (M&A) หรือการควบรวมกิจการของบริษัทต่างๆ เพิ่มขึ้นสูงขึ้นทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังปี 63 โดยมีการทำข้อตกลงเพิ่มขึ้น 18% และมีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าข้อตกลงมากถึง 94% จากการทำข้อตกลงขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

PwC มองว่าการเพิ่มขึ้นของมูลค่าและจำนวนข้อตกลง M&A มีสาเหตุมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้หลายธุรกิจต้องกลับมาประเมินทางรอดของตัวเองและเร่งเดินหน้าปรับตัวเพื่อยกระดับธุรกิจให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้โดยเฉพาะในด้านการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งการควบรวมกิจการเป็นวิธีการปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ที่รวดเร็วที่สุด

ข้อมูลจากรายงานวิเคราะห์ Global M&A Industry Trends ของ PwC ระบุว่า เฉพาะในช่วงครึ่งหลังปี 63 บริษัทต่างๆ ได้ทำข้อตกลง M&A ขนาดใหญ่ไปทั้งหมด 56 ครั้งเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 63 ที่มีการทำ M&A ขนาดใหญ่ 27 ครั้ง โดยอเมริกาเป็นทวีปที่มีมูลค่าการควบรวมเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ 200% และมีการเพิ่มขึ้นของ M&A 20% ขณะที่โซนยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียแปรซิฟิกมีจำนวนการควบรวมเพิ่มขึ้น 17%

PwC รายงาน
ภาพจาก Zoom

อุตสาหกรรมที่มีการทำ M&A มากที่สุดในช่วงครึ่งปีหลังคือภาคเทคโนโลยีและโทรคมนาคม โดยภาคเทคโนโลยีมีการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้น 34% และมีมูลค่าการทำข้อตกลงเพิ่มขึ้น 118% ขณะที่ภาคโทรคมนาคมมีจำนวนข้อตกลงเพิ่มขึ้น 15% และมีมูลค่าการทำข้อตกลงเพิ่มประมาณ 300% จากการทำข้อตกลงขนาดใหญ่ทั้งหมด 3 ฉบับ

อย่างไรก็ตาม PwC มองว่ากระแสการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นนอกจากแรงกระตุ้นจากโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการแย่งชิงสินทรัพย์ทางดิจิทัลและเทคโนโลยีในตลาดกันอย่างดุเดือด ธุรกิจต่างๆ ยังมองการลงทุนใน M&A เป็นช่องทางในการเพิ่มมูลค่าและสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจสำหรับการเปลี่ยนแปลงของเทรนในอนาคตเช่นกัน

เพิ่มเติมการควบรวมกิจการที่ผ่านมา:

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post PwC เผย ช่วงครึ่งหลังปี 63 ธุรกิจปรับตัว ดีล M&A เพิ่มขึ้น 18% ทั่วโลก กลุ่มเทคฯ-โทรคมสูงสุด first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/pwc-m-and-a-2020-increase/

เตรียมปลด! Deloitte บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ อาจปลดพนักงานออกกว่า 5,000 ตำแหน่ง

Deloitte หนึ่งในบริษัท Big Four ของวงการบัญชี-ที่ปรึกษาระดับโลก เตรียมประกาศปลดพนักงานจำนวนกว่า 5,000 ตำแหน่ง หลังเจอวิกฤตโควิดและเศรษฐกิจชะลอตัว

Deloitte Photo: Shutterstock

พนักงานกว่า 5% เตรียมโบกมือลา

Dan Helfrich ซีอีโอบริษัท Deloitte ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทกำลังพิจารณาปลดพนักงานโดยคาดว่าจะทำการปลดออกประมาณ 5% (คิดเป็นจำนวน 5,300 ตำแหน่ง) ของพนักงานในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 106,000 ตำแหน่ง

Bloomberg รายงานว่าพนักงานกลุ่มแรกที่จะถูกปลดคือ “ฝ่ายที่ปรึกษาทางธุรกิจ” จำนวนกว่า 2,500 ตำแหน่ง เนื่องจากไม่มีงานในช่วงที่ผ่านมาสักระยะแล้วซึ่งเป็นผลจากวิกฤตโควิด

สถานการณ์ของ Deloitte

Jonathan Gandal หนึ่งในโฆษกของ Deloitte กล่าวว่า การปลดพนักงานในครั้งนี้เป็นไปตามแผนการบริหารของบริษัท โดยยืนยันว่าภาพรวมของบริษัทยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี ส่วนการปลดพนักงานในครั้งนี้ บริษัทได้พยายามคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว

Big Four ไม่ได้ปลดกันทุกบริษัท

แม้หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Deloitte จะประกาศปลดพนักงาน 5% ในสหรัฐฯ แต่เพื่อนร่วมวงการรายอื่นๆ อย่าง PwC, EY หรือ KPMG ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเรื่องการปลดพนักงานแต่อย่างใด มาตรการที่ใช้กันส่วนใหญ่อย่างหนักที่สุดมีเพียงปรับลดเงินเดือนเท่านั้น

  • KPMG ใช้มาตรการตัดโบนัสและปรับลดเงินเดือนพนักงานระดับคู่ค้าประมาณ 50%
  • ส่วน EY และ PwC เป็น 2 รายที่อนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้าน ไม่มีข่าวเรื่องการปลดพนักงานหรือลดเงินใดๆ

ที่มา: ฺฺBloomberg, CRN, Big4 Accounting Firms

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/deloitte-lays-off/

PwC เผยผลสำรวจ CFO มีแผนเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ลดความเสี่ยงธุรกิจล้ม

ปัญหาทางการเงินส่งผลต่อการเลิกจ้างงานเยอะขึ้น แน่นอนว่ากลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ผู้บริหารระดับ CFO ตัดสินใจว่าจะต้องเลิกจ้างพนักงานเพื่อรับมือกับผลกระทบทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

PwC เผยผลสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอและผู้บริหารฝ่ายการเงินสหรัฐฯ และเม็กซิโกพบมีแผนเลิกจ้างพนักงาน หรือ สั่งพักงานเพิ่มมากขึ้น ชี้ซีเอฟโอส่วนใหญ่เลือกใช้มาตรการควบคุมต้นทุน ชะลอ หรือยกเลิกแผนการลงทุนหลังกังวลวิกฤตโควิด-19 กระทบต่อผลการดำเนินงานและสภาพคล่อง

ด้าน PwC ประเทศไทย ประเมินมีบริษัทหลายรายที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงมาตรการเยียวยาอื่น ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ แนะบริษัทไทยเร่งเตรียมแผนการไว้เผื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจยืดเยื้อในระยะยาว

PwC เผยผลสำรวจ COVID-19 CFO Pulse Survey ครั้งที่ 3 พบว่า 26% ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน หรือ ซีเอฟโอ (Chief Financial Officer: CFO) ในสหรัฐอเมริกาคาดว่า จะต้องมีการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก2 สัปดาห์ก่อนที่ PwC ทำการสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอสหรัฐฯ และเม็กซิโกที่ 16%

ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังคงยืดเยื้อต่อไปในปี 2563 ผลกระทบทางการเงินได้กลายเป็นปัจจัยความกังวลอันดับแรกในกลุ่มผู้บริหารฝ่ายการเงิน โดย 75% ของซีเอฟโอชี้ว่า ตนมีความกังวลว่า วิกฤตโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท

โดยในเวลานี้ 82% ของซีเอฟโอได้มุ่งเน้นไปที่การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน นอกจากนี้ 2 ใน 3 (67%) ของผู้ถูกสำรวจ ยังมีการพิจารณาที่จะชะลอ หรือยกเลิกแผนลงทุนที่วางไว้ โดยบริษัทส่วนใหญ่ต้องการควบคุมต้นทุนด้วยการชะลอการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนเพื่อสินทรัพย์ทั่วไป รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บุคลากร และอื่น ๆ

“ในขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสยังคงดำเนินต่อไป การพูดคุยกันในประเด็นเรื่องของกำลังแรงงานก็เปลี่ยนไปด้วย”

นาย ทิม ไรอัน ประธาน และหุ้นส่วนอาวุโส PwC สหรัฐอเมริกา กล่าวอีกว่า “ผู้นำธุรกิจหลายรายที่ผมได้พูดคุยด้วยต้องการทำทุกอย่างเท่าที่พวกเขาจะสามารถทำได้ เพื่อปกป้องพนักงานของพวกเขา อย่างไรก็ดี เราพบว่า การที่ธุรกิจประสบกับปัญหาการขาดกระแสรายได้ตามปกติ ทำให้ผู้บริหารจำนวนมากตกอยู่ในที่นั่งลำบากที่ต้องตัดสินใจในเรื่องการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า ในระยะต่อไปจะยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับหลายบริษัทที่จะหลีกเลี่ยงการไม่ลดจำนวนพนักงานท่ามกลางความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดที่ไม่มีใครรู้ว่าจะกินระยะเวลายาวนานแค่ไหน”

ทั้งนี้ แนวโน้มของการเลิกจ้างพนักงานที่เพิ่มขึ้นยังเห็นได้จากการที่ผู้ถูกสำรวจส่วนใหญ่ (81%) คาดว่า โควิด-19 จะทำให้รายได้และ/หรือกำไรของบริษัทของตนลดลงในปีนี้ นอกจากนี้ สัดส่วนของผู้บริหารฝ่ายการเงิน (61%) ที่เชื่อว่า ธุรกิจของตนจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 3 เดือนหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลงทันที ก็ปรับตัวลดลงจากการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนด้วยเช่นกัน

ผลสำรวจซีเอฟโอของ PwC ยังพบว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อการจ้างงานในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นแตกต่างกันออกไป โดยผู้บริหารฝ่ายการเงินในกลุ่มบริการทางการเงิน (Financial Services) เพียง 13% เท่านั้นที่คาดว่า จะมีการเลิกจ้างเปรียบเทียบกับซีเอฟโอในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Products) ที่ 36% และตลาดผู้บริโภค (Consumer Markets) ที่ 30% ที่คาดว่า จะมีการเลิกจ้างมากกว่า

“บริษัทต่างกำลังลดค่าใช้จ่ายและชะลอแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยี กำลังแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการลงทุนซื้อสินทรัพย์มาเพื่อใช้ในการดําเนินงานของบริษัท เพื่อให้สามารถผ่านพ้นพายุทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในครั้งนี้ไปให้ได้”

นางสาว เอมิที มิลไฮเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายลูกค้า ของ PwC กล่าว “ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ธุรกิจจำนวนมากมุ่งเน้นไปที่การเติบโตในระยะยาว แต่ในเวลานี้ พวกเขาถูกบีบบังคับให้คิดถึงสถานการณ์ในระยะสั้นและการปกป้องผลกำไรเป็นหลัก”

ด้าน นาย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงาน Clients and Markets หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอครั้งที่ 3 นี้ PwC ยังได้จัดทำผลสำรวจฉบับรวม (All countries’ findings) ซึ่งได้ทำการสอบถามมุมมองความคิดเห็นของซีเอฟโอจำนวน 824 รายในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา

โดยมีผู้ถูกสำรวจจาก 21 อาณาเขตและประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย อาร์เมเนีย, บราซิล, โคลัมเบีย, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีซ, ไอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, คาซัคสถาน, เม็กซิโก, ตะวันออกกลาง[1], เนเธอร์แลนด์, ฟิลิปปินส์, โปรตุเกส, สิงคโปร์, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา และไทยว่า ซีเอฟโอส่วนใหญ่ (74%) ที่ถูกสำรวจเหล่านี้มีความกังวลต่อผลกระทบทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากโควิด-19

ขณะที่ 80% คาดว่า รายได้ของพวกเขาในปี 2563 จะลดลงจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 สอดคล้องกับประมาณการทางเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund: IMF) ที่คาดว่า รายได้ต่อหัวของประชากรในกว่า 170 ประเทศทั่วโลกจะลดลงในปีนี้เช่นกัน

การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายกลายเป็นมาตรการสำคัญอันดับที่ 1 ที่ซีเอฟโอทั่วโลกรวมทั้งไทยนำมาใช้ในเวลานี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกเหนือไปจากการชะลอ หรือยกเลิกแผนลงทุน ในส่วนของผลกระทบต่อแรงงานในระยะสั้นนั้น ความกังวลของซีเอฟโอยังคงเป็นเรื่องความสามารถในการผลิตที่อาจจะลดลงจากการปิดโรงงาน หรือหากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสในวงกว้าง ซึ่งนี่ยังส่งผลให้ต้องมีการสั่งพักงาน รวมถึงการเลิกจ้างพนักงานในบางกรณีด้วย

“เป็นที่แน่ชัดว่าเมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไป บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องวางแผนรับมือในช่วงภาวะวิกฤต โดยในตอนนี้มีบริษัทหลายรายในไทยที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงมาตรการเยียวยาอื่น ๆ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของพวกเขา สำหรับบริษัทที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นบริหารจัดการภาวะวิกฤติและยังไม่มีแผนในการฟื้นฟูกิจการ ควรต้องเร่งสรุปแผนปฏิบัติการในระยะต่าง ๆ รวมทั้งเตรียมแผนระยะยาวไว้เผื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจยืดเยื้อด้วย”

from:https://www.thumbsup.in.th/pwc-research-cfo