คลังเก็บป้ายกำกับ: CRISIS_MANAGEMENT

4 วิธีเตรียมธุรกิจให้พร้อมสำหรับวิกฤต บทเรียนและแผนรับมือในอนาคต

ในภาวะที่โลกกำลังเชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่โควิด-19 ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง กิจกรรมต่างๆ ก็ไม่สามารถจัดได้ ทำให้หลายธุรกิจต้องเลย์ออฟพนักงาน หรือปรับลดเงินเดือนเพื่อพยุงให้ธุรกิจยังสามารถไปต่อได้

แน่นอนว่าวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤตครั้งแรกที่เผชิญ ก่อนหน้านี้มีทั้ง วิกฤต“ต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 “แฮมเบอร์เกอร์” ปี 2552 และอื่นๆ อีกมาก แน่นอนว่าวิกฤต “ไวรัสโควิด-19” ครั้งนี้จะไม่ใช่วิกฤตครั้งสุดท้ายที่ต้องเผชิญ นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องมีการเตรียมธุรกิจให้พร้อมรับมือกับวิกฤตในครั้งต่อไป

การเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตนอกจากจะสามารถลดผลกระทบต่อธุรกิจและสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานและลูกค้าอีกด้วย การไม่เตรียมพร้อมจะทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงต่อการสูญเสีย อย่างเลวร้ายสุดคือไม่มีรายได้จนต้องปิดกิจการไป

Thumbsup จึงรวบรวม 4 4 วิธีเตรียมธุรกิจให้พร้อมสำหรับวิกฤต บทเรียนและแผนรับมือในอนาคตสำหรับเจ้าของธุรกิจ ดังนี้

รักษาเครดิต

เมื่อเผชิญกับวิกฤต ธุรกิจที่ขาดรายได้ไม่จำเป็นต้องปิดกิจการเสมอไป การขอสินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจยังคงมีเงินทุนหมุนเวียนในการจ่ายค่าดำเนินการ เงินเดือน ค่าเช่า จึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การจะรักษาเครดิตได้ก็ต้องมีประวัติชำระเงินที่ตรงเวลา ชำระหนี้ที่คงค้าง และใช้เครดิตอย่างมีความรับผิดชอบ

สร้างคู่มือรับมือภาวะวิกฤตสำหรับธุรกิจ

ท่ามกลางภาวะวิกฤตย่อมเกิดความเครียดและความสับสนในการตัดสินใจ นั่นเป็นเหตุผลที่ควรมีคู่มือการรับมือ เมื่อธุรกิจหยุดชะงัก ควรมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร ข้อแนะนำสำหรับผู้บริหารและพนักงาน แน่นอนว่าในแต่ละธุรกิจมีเงื่อนไขทางการเงินไม่เหมือนกัน ดังนั้นแต่ละธุรกิจควรมีคู่มือรับมือเป็นของตัวเอง

สื่อสารกับพนักงาน

การสื่อสารภายในองค์กรที่ดี ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและเป็นสิ่งเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในองค์ก ก่อนเกิดวิกฤตพนักงานทุกระดับควรเข้าใจแผนการและขั้นตอนการรับมือวิกฤต เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมพนักงาน ไม่ให้ตื่นตระหนกกับความไม่แน่นอนว่าบริษัทจะดำเนินการอย่างไร

สื่อสารกับลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง

การสื่อสารที่สม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ มีความสำคัญอย่างยิ่งในภาวะวิกฤต ทันทีที่เกิดวิกฤตขึ้นควรเตรียมพร้อมที่จะสื่อสารกับลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้คำแนะนำและสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการวางแผนล่วงหน้า รวมถึงขั้นตอนการดำเนินการต่อไป

หากยังไม่ได้เตรียมพร้อมธุรกิจให้พร้อมสำหรับวิกฤต ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสำหรับเรียนรู้เก็บเอาบทเรียนไปสร้างแผนรับมือสำหรับอนาคต เชื่อว่าธุรกิจของคุณจะแข็งแกร่งและมั่นคงขึ้นอย่างแน่นอน

อ้างอิง AXIA, Forbes

 

from:https://www.thumbsup.in.th/4-ways-business-prepare-for-a-crisis

วิธีพลิก Crisis และกอบกู้ความเชื่อใจขึ้นมาใหม่ เมื่อแบรนด์เผลอทำพลาดไป

ถึงแม้โลกออนไลน์จะทำให้เราสามารถเป็นเจ้าของแบรนด์ได้เพียงชั่วข้ามคืน ขณะเดียวกันแบรนด์ก็สามารถพังได้เพียงกระพริบตาเดียวเช่นกัน ถึงจะพูดดูเกินจริง แต่ก็มีหลายกรณีที่เห็นกันได้ทั่วไปตามโพสต์ดราม่ารีวิว หรือครีมทาหน้าออนไลน์ที่ขายกันเกลื่อน จนทำให้ความเชื่อใจของผู้บริโภคนั้นแหลกสลายลงไปพริบต่าในชั่วข้ามคืน เรามาลองดูกันว่าจะมีวิธีไหนที่แบรนด์จะกอบกู้มันขึ้นมาได้ไหมอีกไหม

ในทางที่จริงนั้นการจะสร้าง Branding ให้ลูกค้าเชื่อถือต้องใช้เวลาและกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง แต่หากเกิดเรื่องผิดพลาดขึ้นมา การจะกลับมากู้ชื่อเสียงกลับเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ยังมีทางออกเบื้องต้นที่จะช่วยพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ในพริบตาอย่างทันท่วงที

1. ขอโทษอย่างจริงใจ

หากแบรนด์ผิดจริงคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการขอโทษอย่างจริงใจอีกแล้ว เพราะจริงๆ คนไทยค่อนข้างมีนิสัยใจดี ให้อภัย หากคุณยอมรับผิดแต่โดยดี ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านพ้นเพียงอดทนเพื่อให้เวลาเยียวยา และอีกอย่างการขอโทษคือสิ่งที่ทุกคนที่ติดตามประเด็นนี้ต้องการเป็นอย่างแรก

หากมีประเด็นขัดแย้งจนเกินจะต้านทาน (ปกติจะให้แอดมินแก้ไขเฉพาะหน้าก่อน) ก็ต้องประชุมคิดแผนกันให้รอบคอบและใจเย็น เพราะใช้อารมณ์จะยิ่งแย่ เช่น กรณีที่เป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างการผ่าปลากระเบนสดๆ ในการรายการทำอาหาร ที่เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายสำหรับบุคคลทั่วไปและนักอนุรักษ์สัตว์น้ำ

แต่เมื่อรายการออกมาอธิบายด้วยความจริงว่าปลานี้ไม่ใช่สัตว์อนุรักษ์ เป็นสัตว์ที่ใช้ทำอาหารอยู่แล้ว ทุกอย่างก็คลี่คลายไปด้วยดี ขอเพียงใจเย็นอย่าตื่นตระหนกเพราะเราต้องใช้สติในการควบคุมเหตุการณ์

2. รับบทผู้ถูกกระทำ

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่จะออกมากล่าวขอโทษแล้วทุกอย่างจะจบ ผลดีและเสียบางทีก็ขึ้นอยู่กับ Branding ก่อนหน้าด้วยว่าดีหรือร้าย หรือมีใครรอวันที่เราล้มอยู่หรือเปล่า ซึ่งกรณีส่วนใหญ่จะเกิดกับวงการ Influencer ซะมากกว่า

เพราะความจริงแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่เข้าใจกันระหว่างคนกับคน บางทีความจริงก็เกิดจากมุมมองทั้งสองฝั่ง ไม่ใช่เพียงหนึ่งเดียวอย่างที่โคนันว่าไว้ แต่หากฝ่ายใดมีท่าทีแข็งกร้าว และต่อต้านทุกสิ่งอย่าง เพราะฝ่ายนั้นจะเป็นฝ่ายผิดทันที เรียกว่าใครสงบนิ่งมากที่สุดได้เปรียบกว่า

3. ใช้งาน Micro Influencer

วิธีนี้ถูกใช้ประจำเมื่อแบรนด์ใหญ่เกิดประเด็นหนักเกินจะต้าน ต้องอาศัย Micro Influencer ช่วยกระจายข่าวไปแต่ละส่วน เพราะความจริงจากปากคนอื่น จะเชื่อได้ง่ายกว่าปากของแบรนด์เอง หรือกรณีที่แบรนด์แก้ไขสถานการณ์แล้ว ต้องใช้รีวิวมากลบข่าวเสีย เวลาเสิร์ชในอนาคตข้างหน้าจะได้ไม่มีประเด็นนี้ขึ้นมาอีก

4. เติมข่าวดีลงไป

วิธีนี้ใช้ได้เมื่อแก้ปัญหาโดยใช้ สื่อใหญ่ช่วยโปรโมท เพราะคนไทยมีนิสัยอ่านคอมเมนต์เพื่อดูทิศทางว่าตอนนี้ประเด็นเอนไปในทิศทางไหน ซึ่งในจังหวะวิกฤติการที่แบรนด์สร้างการชักจูงเล็กๆ ขึ้นมา ก็อาจเปลี่ยนทิศทางเรื่องร้ายค่อยๆ เบาบางลงได้

5. แก้วิกฤติที่ Twitter

วิกฤติบนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่จะเริ่มจากทวิตเตอร์เพราะเป็นพื้นที่จุดไฟ เราต้องก็เริ่มดับไฟตั้งแต่ต้นทาง ซึ่ง Twitter เป็นสื่อที่ Micro Influencer อยู่ค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นหากเกิดประเด็นขึ้นเราสามารถดับไฟโดยใช้ Micro Influencer ได้ (ตามข้อที่ 3)

แต่ที่ระวังคือ Twitter ถูกจับได้ง่ายเพราะเป็นคอนเทนต์ที่ถูกกลั่นออกมาจากความรู้สึกที่พิมพ์ผ่านคำพูด แต่เมื่อเกิดประเด็นแก้ต่างจะใช้คำที่ดูตั้งใจมากเกินไป หากใช้วิธีนี้จึงต้องระวังเป็นพิเศษ ไม่งั้นจากที่ควรจะดีกลายเป็นแย่กว่าเดิม

การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์นั้น ถึงเริ่มต้นจะง่ายแต่การจะอยู่รอดตลอดรอดฝั่งเป็นเรื่องที่ยาก และยิ่งเป็นการค้าขายออนไลน์แล้ว ก็อาจจะมีวิกฤติต่างๆ ที่เกิดทุกวันจนเราแก้ไม่ทันเลยก็ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่แบรนด์ต้องขายสินค้าดีๆ ต่อผู้บริโภค และจริงใจต่อการขายเสมอนะคะ 😀

from:https://www.thumbsup.in.th/how-to-deal-with-branding-crisis

แก้ Crisis Management ให้เหมือนกับง้อแฟน เทคนิครับมือกับวิกฤติของ บี-สโรจ เลาหศิริ

“การแก้วิกฤติเหมือนกับการที่เราทะเลาะกับแฟน  ในวันที่โกรธยกเหตุผล 108 มาอ้างก็คงไม่ฟัง  และสิ่งที่แฟนทุกคนต้องการคือ ‘แสดงให้ฉันเห็นว่าเธอแคร์ เธอฟังฉัน รอให้ฉันอารมณ์เย็นแล้วค่อยคุยกันด้วยเหตุผล’ 

นี่คือสิ่งที่ บี สโรจ เลาหศิริ Chief Marketing Officer ของ Rabbit Digital Group ที่ดูแลเเรื่องกลยุทธ์และการตลาด และเจ้าของเพจ สโรจขบคิดการตลาด บอกกับเราถึงวิธีรับมือกับ Crisis หรือ วิกฤติอย่างไรไม่ให้กลายเป็น ‘หายนะ’ อีกรอบสำหรับแบรนด์  และเล่าว่าในการทำ Crisis Management นั้นแบรนด์ควรต้องให้ความสำคัญกับสิ่งไหนบ้าง

ทำไมการแก้ Crisis ถึงสำคัญ

สโรจ: แน่นอนอันดับแรกผลกระทบต่อชื่อเสียงของแบรนด์สินค้า  ต่อมาคือกระทบต่อยอดขายตามมาเมื่อเห็นความไม่เชื่อในแบรนด์จนคนก็ไม่กล้าซื้อสินค้า

อีกอย่างคือเป็นวิกฤติในแง่ของความรู้สึก คนก็อาจจะแบนแล้วบอยคอตน์ ต่อต้าน เวลาที่แบรนด์ทำโฆษณาก็จะคอยมาคอมเมนต์ด่าอยู่ตลอดเวลา

จริงๆ วิกฤติเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับแบรนด์และสินค้า  เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนเกิดวิกฤติบ่นกับใครไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้คนไม่ทำแบบนั้นแล้ว  สิ่งที่มันเร็วและได้ Attention มากที่สุดคือการลงโซเชียลแล้วเดี๋ยวแบรนด์จะวิ่งมาแก้ปัญหาเอง

แบรนด์ควรซ้อมก่อนเกิด Crisis จริง

สโรจ: ผมย้อนไปนิดนึงนับเป็น 0 1 2 3 4 ซึ่ง 0 คือซ้อมเจอวิกฤติ  วางแผนก่อน Crisis Planning วางแผนรับมือวิกฤติ มาเซ็ตกันก่อนว่าอันไหนคือวิกฤติ เป็นสีเขียว เหลือง แดง ทุกคนที่เกี่ยวควรคุยกัน เพราะมันร้ายแรงไม่เท่ากัน เซ็ทร่วมกัน มี Protocal เป็นลำดับ 1 2 3 4 และที่สำคัญต้องซ้อมโดน  อย่างถ้าวันนี้มีคนบอกว่าตายเพราะสินค้า ตอบได้ไหมตอบภายใน 10 นาทีให้ได้ว่าต้องโทรหาใคร

ขั้นตอนสำคัญในการรับมือกับ Crisis

สโรจ: Step 1 Track Crisis บางคนใช้ Tools มาช่วย เช่น Social Listening Tools ต่างๆ  แต่ว่าจากที่ผมเคยแก้ Crisis มา ไม่มี Tools ไหนจัดการกับ Crisis ได้ดีกว่ามนุษย์อดนอน ใช้คนนั่ง Track นั่งเล่น Pantip เจอกระทู้นี้ปุ๊ปเห็นแล้วมัน Track ได้เร็วกว่า

Step 2 Holding Statement เป็นการที่แบรนด์ต้องรีบพูดก่อนที่เรื่องราวจะใหญ่โต  เพราะปกติดราม่าจุดประเด็นเรื่องหนึ่งชาวเน็ตจะขุด  อย่างดราม่าดาดราที่ต่อมเผือกทำงานไปขุดข่าวเก่าเคยเกิดอะไรมาบ้าง  ฉันก็เจอเหมือนกัน

Step 3 Handle the Crisis คือ ‘การสืบหาความจริง’ เพราะเรามี Protocol อยู่แล้วก็ไปสืบหามาว่าข้อกล่าวหานี้เป็น Fact ไหม ปัญหาอยู่ที่อะไรรีบหาคำตอบว่าให้ได้เร็วที่สุด ผิดก็ว่าไปตามผิด ถ้าเราไม่ผิดก็ชี้แจง 1 2 3 4 5 ต้องบอกว่าชาวเน็ตไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้นเขาเป็นคนมีเหตุผล  ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณยืนยันในสิ่งที่ถูกต้องมันก็จะมีคนเห็นสิ่งนั้นอยู่

Step 4 Mornitor & Recover คือ ตามเก็บงานคือมอนิเตอร์ไว้ไม่ใช่โพสต์เสร็จแล้วก็จบ  ถ้าเสิร์ช SEO แบรนด์ของเราสิ่งนี้ยังขึ้นอยู่ไหม  ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขหรือยัง ลองมอนิเตอร์ดูว่า Social Voice ไปหมดหรือยัง Search Engine มันหายไปหรือยัง  หรือเรื่องนี้มันกลายเป็น Top Rank ที่คุณต้องเริ่มสร้างข่าวดีๆ ลงไป  เพราะอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นแล้วมันจะอยู่ในดิจิทัลตลอดไป  ที่เราเรียกว่า ‘Digital Footprint’

ซึ่งต้องหาวิธีใส่ข่าวดีเข้าไป  จากนั้นดูว่ามีกระทู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้างไหมในประเด็นนี้  และมีแถลงการณ์ไปแนบครบหรือเปล่า

Crisis ควรต้องจบใน 48 ชั่วโมง

สโรจ: ส่วนใหญ่แล้ว Crisis จะอายุประมาณ 48-72 ชั่วโมง ก็จะเงียบหายไป  เป็นเรื่องปกติตามเพลงพี่ป็อป..แล้วมันจะผ่านไปด้วยดี  แต่ผ่านไปด้วยดีเราก็กลับไปทำงานอย่างสบายใจได้  แต่ถ้าปมไม่ถูกแก้รอละลอกใหม่ได้เลย

บางทีแบรนด์ก็ ‘พลาด’

สโรจ: อย่างล่าสุดที่เห็นกันมีแอดมินเพจในตำนานซึ่งผมต้องบอกก่อนว่าก็ชื่นชอบและติดตามผลงานของแอดมินนี้เพราะว่าเร็วมาก  ยังเคยแซวเลยว่าถ้าจะไปหา Tools Social Listening จากไหน  ให้ไปถามว่าแอดมินเพจนี้ใช้ Tools อะไรแล้วไปเอามาใช้เพราะมันเร็วมาก

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ‘เร็วไป’ บางทีจับมาเล่นเรียลไทม์บางครั้งเราต้องเลือก  เพราะมันมีเส้นบางๆ ระหว่างพอดีๆ คาบเส้น กับเลยเถิด  และบังเอิญว่าสิ่งไปที่ไปจับมันเป็นเรื่องที่ Sensitive ซึ่ง Sensitive มีอยู่ 2 เด้ง  เด้งแรกในแง่ประเด็นเรื่อง ‘Cyberbully’

ซึ่งน้องคนนี้ก็รณรงค์เรื่องนี้พอดีนั่นคือเด้งแรก  เด้งที่สองคือเราไปแตะ BNK ที่มีกลุ่มแฟนแบบเหนียวแน่นจนเรียก ‘Brand Guardian’ ที่พร้อมที่จะมาปกป้องในสิ่งที่เขารักและโจมตีกลับ

สิ่งที่พลาดไปนิดนึงคือพอเล่นเสร็จอาจจะคิดหรือไม่คิดก็ได้ถึงผลที่ตามมา  มันกลับกลายเป็นว่าเรียกแขกให้เข้ามาตอกย้ำประเด็นเรื่อง Cyberbully เข้ามาด่าอีก  รวมถึงเจ้าตัวเองก็ตั้งกระทู้แล้วต้องบอกว่า ‘เขียนดี’ เพราะน้องเขาเขียนเรื่องประเด็นของการเรียกไลค์  โดยมองข้ามการที่ต้องทำร้ายคนหนึ่งคนเพื่อให้ตัวเองมีชื่อเสียงขึ้นมาซึ่งเขียนดีมาก จึงทำให้แอดมินเพจนี้โดนโจมตีทันที

และแน่นอนว่าพอออกแถลงการณ์แก้ไขเสร็จแล้วก็ดำเนินชีวิตต่อไป  ที่แน่นอนอาจจะต้องมี Policy ที่แน่นหนาขึ้นที่จะต้องแตะประเด็นเหล่านี้

ถ้าแก้ดีก็พลิก ‘วิกฤติ’ ให้เป็น ‘โอกาส’ ได้

สโรจ: ผมชอบของต่างประเทศก่อนเป็นเคสของ KFC มันมีกรณีที่บริษัท KFC เปลี่ยนคนส่งไก่จากอีกเจ้าหนึ่งเป็นเจ้าหนึ่ง  ซึ่งเจ้าใหม่ที่มาทำการกระจายส่งไก่ไปทั่วไปประเทศเกิดความผิดพลาดทำให้ KFC ทั่วประเทศไม่มีไก่ขาย  จนแฟน KFC มากินทุกวันแบบนี้มันไม่ Professional และทำให้ความโกรธกระจายไปทั่ว Social

สิ่งที่ KFC ทำคือการซื้อหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งแล้วออกแถลงการณ์  ซึ่งสิ่งที่เขาทำก็คือว่าพิมพ์ โปสเตอรเป็นรูปถังไก่แล้วก็ไก่หมด  แล้วเปลี่ยนโลโก้ตัวเอง KFC เป็น FCK ย่อเป็นคำอุทานว่า F_CK

ภาพจาก – Reddit

เหมือนเล่นตัวเองแล้วบอกไปตามตรงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง  ทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น  แล้วเรามั่นใจว่าเรื่องนี้รับไม่ได้เราจะขอดำเนินการส่งไก่ให้ทุกคนให้เร็วที่สุดขอภัยจริงๆ  แค่นี้แล้วถ่ายรูปลง Twitter ลง Social คนแชร์เยอะมากแล้วก็แน่นอนว่า  จนคนบอกว่ารู้สึกให้อภัยเพราะเล่นเรื่องเลวร้ายแบบนี้ด้วยอารมณ์ขัน

ซึ่งในต่างประเทศ KFC เป็นแบรนด์ที่เล่นกับเทรนด์เยอะมาก เช่น เอาผู้พันแซนเดอร์ไปเล่นกับเทรนด์  มีความขี้เล่นเยอะ เวลาเกิด Crisis จึงเอาความขี้เล่นนี้เล่นกับตัวเองด้วย

ในวันนั้นหาก KFC ไม่ได้แก้สถานการณ์แบบนี้  อาจจะออกแถลงการณ์แบบอื่นแบบซีเรียสจริงจังก็แก้ได้  เพียงแต่ว่ามันก็เป็นท่ามาตรฐานของการแก้ Crisis แต่ KFC ใส่ Creativity ลงไป  แล้วคนก็รัก KFC มากขึ้น  เรียกได้ว่า ‘พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยแท้จริง’

บางเรื่องมันพลาดกันไม่ได้

สโรจ: เช่นเดียวกันในแต่ละอุตสาหกรรมมันมีเรื่องที่ ‘พลาดไม่ได้’ เพราะ Crisis มันมีโอกาสผิดพลาดเล็กน้อยกับพลาดไม่ได้เลย  อย่างเรื่องของอาหารเราก็ไม่ควรพลาดเรื่องของความสะอาด  เพราะสุขอนามัยผิดพลาดไม่ได้  หรือแม้กระทั่งถ้าเราเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัย  สิ่งที่พลาดไม่ได้คือระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ปลอดภัย

First Re-Action สำคัญที่สุด

สโรจ: แถลงการณ์แรกแสดงออกว่าสำนึกผิดไหม แถไหม ที่เราเห็นบ่อยๆ คือเรายึดมั่นในคุณธรรม ในเรื่องนี้ เราไม่ยอม..เฮ้ย..เราไม่สนว่าคุณยึดมั่นในเรื่องอะไร  ถ้าคุณยึดมั่นเรื่องนี้ต้องไม่เกิดขึ้นสิ

นั่นแปลว่าสิ่งที่เราต้องการฟังจาก First Reaction คือ ‘ความรู้สึกรับผิดชอบ’ กับเรื่องที่เกิดขึ้นและคำสัญญาว่าจะทำอะไรต่อ อย่าง Dolce & Gabbana กรณีตะเกียบและพิซซ่าอันโด่งดัง  สิ่งที่พลาดของเคสนี้คือ First Reaction เพราะการออก Holding Statement เท่ากับ First Reaction ที่ออกมากลายเป็นว่าทำให้มันกระพือไปอีก

กลายเป็นว่าเป็นการด่ากลับ หรือเหยียดกลับ  โดยบอกว่าอะไรแค่นี้นักหนา  จนทำให้เรื่องราวใหญ่โตจนสุดท้ายต้องเปิดการ์ด ‘รู้เท่าไม่ถึงการณ์’ แต่ความเสียหายก็เกิดไปแล้วก็คือถูกแบน ยกเลิกจัดงาน และแบรนด์ดังๆ ไม่ร่วมสังคายนาด้วยเลย

ภาพจาก – CNN

หรือ First Reaction ของ American Airline กรณีลากผู้โดยสารที่โดนลากลงจากเครื่องบิน  ซึ่ง First Reaction หรือสิ่งที่ผู้บริหารทวีตออกมาว่าทำถูกต้องตาม Protocal แล้ว  แต่ว่าเราขอโทษกับ ‘เรื่องวุ่นวาย’ ที่เกิดขึ้น  เรายังคงรักษาและยึดมั่นในการดำเนินการตาม Protocal ทำให้คนรู้สึกว่าสายการบินไม่ได้อยู่ข้างลูกค้า  จนส่งผลหุ้นก็ร่วงระนาว

ภาพจาก – Inc

ดังนั้นเวลาวิเคราะห์ Social ต้องบอกเลยว่าเขาโจมตีคุณเรื่องอะไรบ้าง  และจะออกแถลงการณ์มาก็ควรต้องแก้ให้ครบ

เดี๋ยวมันก็ผ่านไป

สโรจ: Crisis มีเข้ามาแล้วก็มีจากไป  วันนี้หลายคนก็คงลืมไปแล้วว่าปีที่แล้วเกิด Crisis อะไรกับแบรนด์บ้าง  และคนก็ยังอุดหนุนแบรนด์ๆ นั้นอยู่  โดยที่ความรู้สึกมันจางไปแล้ว  แต่ถ้าเราไม่ได้ไปแก้ที่ปมหลับหูหลับตาปล่อยให้เรื่องเงียบไปเรื่องนั้นก็จะโดนขุดมาอีกรอบหนึ่ง  สิ่งสำคัญคือการแก้ปม มอนิเตอร์ Recover เป็นเรื่องที่ดีเพื่อป้องกันอนาคตเพื่อไม่ให้เรื่องเดิมถูกขุดขึ้นหรือเกิดขึ้นมาอีก

สิ่งสำคัญที่สุดที่สโรจพยายามย้ำในการแก้ Crisis คือต้องจำอยู่เสมอว่าเวลาบริหารวิกฤตินั้น  ‘เรากำลังบริหารความรู้สึก ไม่ใช่บริหารความจริง’ หมายความว่าตอนนี้ชาวเน็ตกำลังโกรธเพราะเรื่องนี้มันไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง  และควรดูให้ดีว่าตอนนี้ชาวเน็ตพร้อมที่จะฟังหรือเปล่า  ไม่งั้นจะกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าเดิมได้

 

 

 

 
Source: thumbsup

from:https://thumbsup.in.th/2019/03/crisis-management-bee-saroj/

สรุปผลกระทบโซเชียล “การบินไทย” ดราม่านี้ใหญ่หลวงนัก

กลายเป็นกระแสร้อนสำหรับ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติที่ได้รับผลกระทบเต็มที่หลังเกิดกรณีผู้โดยสารร้องเรียนความล่าช้าของเที่ยวบิน TG 971 เส้นทาง ซูริค – กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 หลังจากประเด็นดังกล่าวถูกเผยแพร่ไป แบรนด์การบินไทยได้รับผลกระทบอย่างน้อย 3 ด้านนี้บนสื่อสังคมออนไลน์

1. เกือบทุกโพสต์ ถูกแหน็บแนม

แม้เหตุดราม่า TG 971 จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 แต่เพราะประเด็นดังกล่าวถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ช่วง 1 สัปดาห์นับจากนั้น ทำให้ไม่ว่าการบินไทยจะโพสต์บนเพจ Facebook ด้วยเนื้อหาใด หลายโพสต์ช่วงหลังจากวันที่ 17 ตุลาคมมักจะมีความเห็นแหน็บแนมการบินไทยโดยโยงกับกรณีที่เกิดขึ้น

โพสต์ความเห็นบนเพจการบินไทยในช่วงก่อนหน้านี้มักเป็นข้อความสอบถามรายละเอียดแคมเปญที่การบินไทยจัดขึ้น แต่ในช่วงหลังจากข่าวการบินไทยได้รับความสนใจ แม้กระทั่งโพสต์ที่มีเนื้อหาว่า “การบินไทยร่วมจัดแสดงนิทรรศการและเสวนางานศิลป์ร่วมสมัย” ก็ยังมีความเห็นแหน็บแนมการบินไทยปรากฏ

2. เสียงวิจารณ์ว่า “การบินไทยทำพลาด”

แม้โซเชียลจะเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารที่ดี แต่แถลงการณ์ที่การบินไทยโพสต์ขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางเพจ Facebook กลับถูกมองว่าเป็นการกระทำที่พลาดท่า เพราะยิ่งส่งผลเสียต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

หนึ่งในความเห็นน่าสนใจระบุว่า การนำโลโก้ของแบรนด์ออกมาวาง และเปิดช่องให้มีความเห็นต่อว่าเช่นนี้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์อย่างยิ่ง สิ่งที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรของการบินไทยควรทำคือการออกเป็นจดหมายแทน ดีกว่าการนำเอาโลโก้มาลงแบบนี้

3. แถลงการณ์ไม่ได้ผล

แม้ Facebook จะถูกใช้เป็นช่องทางอธิบายของทั้งผู้บริหารการบินไทย และทีมนักบินที่หวั่นใจว่านักบินการบินไทยจะตกเป็นจำเลยสังคม แต่ความเห็นของผู้บริโภคบนโซเชียลจำนวนไม่น้อยเป็นไปในแนวโน้มเดียวกัน คือไม่ยอมรับแถลงการณ์เหล่านี้

“สุเมธ ดำรงชัยธรรม” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ลงมือสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการตามระเบียบของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด รวมทั้งจะกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต ประเด็นนี้เสียงโซเชียลมองว่าความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว การบินไทยควรมีมาตรการจัดการปัญหาได้ดีกว่าการสอบสวนเพื่อป้องกัน

ขณะที่ “จักรี ดารารัตน์ จงศิริ” ผู้ใช้ Facebook ที่แสดงตัวเป็นนักบิน ได้อธิบายเหตุการณ์ล่าช้าของเที่ยวบิน TG 971 ว่าเป็นปัญหาความไม่เข้าใจของพนักงานในองค์กร จุดนี้ชาวโซเชียลไม่ได้มองไปทางเดียวกับนักบิน แต่มองว่าเหลุผลนี้ “ไม่มีผลกับด้านความปลอดภัยอะไรเลย เป็นแค่สิทธิพิเศษล้วนๆ แต่นักบินไม่ยอมเสียสละสิทธิ และเอาผู้โดยมาต่อรอง”

https://www.facebook.com/plugins/post.php?href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fchongsiri%2Fposts%2F1899101286847466&width=500

นอกจาก 3 บทสรุปผลกระทบที่เห็นบนโลกโซเชียลนี้ ยังมีอีกหลายแง่มุมที่สะท้อนว่าดราม่าชามนี้ไม่มีใครอยู่ข้างการบินไทยเลย ไม่แน่ ทางที่ดีคือการบินไทยต้องหยุดนำเสนอทุกอย่าง เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

แล้วก็รอเวลา ให้คนไทยลืมเรื่องนี้ไปเอง.

 
Source: thumbsup

from:https://thumbsup.in.th/2018/10/thai-airways/

ธุรกิจต้องสู้ แม้ Mood ผู้ซื้อยังซบ แต่จะทำอย่างไร ลองฟังคุณลุง “ฮาเซงาวะ” ผู้ฟื้นฟูกิจการสำเร็จ 2,400 แห่งกัน

ตอนนี้ทุกคนยังคงโศกเศร้ากับเหตุการณ์เสด็จสวรรณคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่ในฝั่งธุรกิจคงโศกเศร้านานไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องเดินต่อไป แต่จะให้ทำอย่างไรเมื่ออารมณ์การจับจ่ายผู้บริโภคไม่ปกติ ลองมาฟังข้อแนะนำจาก ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ ผู้ฟื้นฟูธุรกิจสำเร็จมากกว่า 2,400 แห่งกัน

img_6592
ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ กรรมการผู้จัดการ สถาบันวิจัยพลังองค์กร (CPI)

รัดเข็มขัด และดูโครงสร้างเรื่องสำคัญ

ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ กรรมการผู้จัดการ สถาบันวิจัยพลังองค์กร (CPI) เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ญี่ปุ่นเปิดประเทศมากว่า 150 ปี ก็พบเจอกับวิกฤติต่างๆ มานับไม่ถ้วน ทั้งสงคราม, แผ่นดินไหว และเศรษฐกิจตกต่ำ จนส่งผลกระทบกับจิตใจผู้บริโภค และมีบริษัทจำนวนมากที่ล้มหายตายจากไปในช่วงนั้น แต่ถ้าอยากอยู่รอด ก็ต้องผ่านพ้นวิกฤติเหล่านั้นไปให้ได้ ผ่านการรอให้ถึงจุดจบของเหตุการณ์ทั้งหลาย

“ทุกเหตุการณ์มีจุดจบ ดังนั้นต้องวางแผนให้ดีว่าก่อนจะถึงจุดจบนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง ส่วนตัวเชื่อว่าการรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย และการศึกษาโครงสร้างของบริษัทตัวเอง พร้อมกับวางแผนเผื่ออนาคตไว้ด้วย เพราะเมื่อทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติการแข่งขันก็จะกลับมาเหมือนเดิม และถ้าบริษัทตามคู่แข่งที่ปรับตัวได้แล้วไม่ทัน โอกาสที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนก็จะลดลงด้วย”

คุณลุงฮาเซงาวะ กำลังบรรยายขั้นตอนการทำ P
คุณลุงฮาเซงาวะ กำลังบรรยายขั้นตอนการทำ PDCA

อดทน – พยายาม – แก้ไข ต้องทำให้ได้

เมื่อเป็นผู้บริหารระดับสูง การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤตินี้เป็นเรื่องจำเป้น โดยการอดทน, พยายาม และแก้ไข ถือเป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงต้องทำให้ได้ โดยบางครั้งอาจต้องทุ่มเทมากถึง 120% ของที่ทำในปกติ แต่ยังต้องยึด 3 ข้อในการทำธุรกิจคือ ต้องวางตัวเป็นพื้นฐานเพื่อมนุษย์, สร้างผลกำไร และต้องช่วยเหลือผู้อื่นเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกันยังแนะนำให้ใช้กลยุทธ์ง่ายๆ อย่าง PDCA หรือ Plan, Do, Check และ Action เพื่อตรวจสอบธุรกิจในเบื้องต้น เช่นการวางแผน หรือ Plan จะต้องประกอบด้วย IAO หรือ Information, Analyze และ Objective เพราะจะวางแผนได้การรวบรวมข้อมูล แล้วนำมาวิเคราะห์ ก่อนตั้งเป้าหมายให้กับการดำเนินธุรกิจถือเป็นเรื่องจำเป็น มิฉะนั้นจะเกิด Cycle ของธุรกิจ และสร้างการเติบโตไม่ได้

ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ กรรมการผู้จัดการ สถาบันวิจัยพลังองค์กร (CPI)
ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ กรรมการผู้จัดการ สถาบันวิจัยพลังองค์กร (CPI)

1 ปีกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

“เชื่อว่าต้องใช้เวลา 1 ปี หรือเทียบเท่ากับระยะเวลาที่รัฐบาลประกาศให้ไว้ทุกข์ ดังนั้นทุกอุตสาหกรรม และธุรกิจในทุกระดับต้องใช้ขั้นตอนต่างๆ ตามที่บอกไว้ข้างต้น ถ้าผมเป็นผู้บริหารธุรกิจในประเทศไทยตอนนี้ ก็คงกระตือรือร้น, มุ่งมั่น และร้อนแรง เพื่อแสดงให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้ว่าธุรกิจยังไปได้ พร้อมกับชักจูงให้พวกเขาเดินเรา และช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไปด้วยกัน แต่อย่าลืมวิเคราะห์ธุรกิจของตนเอง ถ้าไม่รู้ว่าป่วยตรงไหน ก็จ่ายยาไม่ได้”

สำหรับ ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ ปัจจุบันอายุ 77 ปี มีประสบการณ์ทำธุรกิจมา 50 ปี และมีความเชี่ยวชาญในการฟื้นฟูธุรกิจ เช่นการกอบกู้บริษัทนิคอน – เอสซีลอร์ ให้พ้นภาวะขาดทุนภายใน 1 ปี  ซึ่งในวันที่ 9 พ.ย. คุณลุงนักฟื้นฟูธุรกิจรายนี้จะมาบรรยายที่ประเทศไทยภายในงาน “สู้สุดฤทธิ์ พลิกธุรกิจ ให้กลับมาผงาด” แต่ถ้ายังไม่ว่างสามารถไปซื้อหนังสือของคุณลุงท่านนี้ได้ตามร้านหนังสือทั่วไป

สรุป

ถึงตลาดจะซบเซาแค่ไหน แต่ธุรกิจก็ยังต้องอยู่ ถ้าพับตามตลาดไป ก็คงหายไปอย่างช้าๆ ดังนั้นการใช้ภาวะผู้นำเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจจึงจำเป็นในชั่วโมงนี้ ยิ่งระยะเวลาซบเซายังไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่าทุกคนคงผ่านวิกฤตินี้ได้ด้วยกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/hasegawa-eyes-on-thai-economy/

บทวิเคราะห์ กรณี Bar B Q Plaza แสดงความรับผิดชอบ ประกาศปิด 26 สาขากระทะ Black

bar-b-q-2

เป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับแบรนด์ สำหรับการที่ Bar B Q Plaza (บาร์บาคิวพลาซ่า) ประกาศปิด 26 สาขาที่ใช้กระทะ Black เป็นการชั่วคราวรวม 2 วัน จากกรณีที่มีการร้องเรียนผ่านทาง Social และแจ้งเข้ามาให้กับทาง Bar B Q Plaza ได้รับทราบ สิ่งที่แบรนด์ต่างๆ สามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้คือ

  1. การรับฟังเสียงของผู้บริโภคและนำไปปฏิบัติอย่างรวดเร็ว – ก่อนหน้านี้เมื่อมีเสียงว่ากระทะใช้งานไม่สะดวก การเปลี่ยนกระทะจึงได้ใจผู้บริโภคมาแล้ว และเมื่อนำมาใช้งานจริง เกิดข้อผิดพลาดขึ้น Bar B Q Plaza ก็รับฟังและ Take Action อย่างรวดเร็ว แม้จะเป็นปัญหาแต่การจัดการที่รวดเร็ว ย่อมส่งผลในทางบวก
  1. การออกมายอมโดยเร็วและปรับปรุงแก้ไข – Bar B Q Plaza เลือกที่จะออกมายอมรับอย่างรวดเร็ว เท่ากับผ่อนเรื่องร้ายแรงให้เบาลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ซึ่งผู้บริโภคก็พร้อมจะให้อภัย จากนั้นไม่รอช้าที่จะประกาศปิดให้บริการชั่วคราวเป็นเวลา 2 วันเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
  1. ชี้แจงแนวทางแก้ไข ยอมรับผิดเองไม่โทษใคร – แบรนด์จะประสบความสำเร็จได้ ไม่ได้เกิดจากยอดขายเท่านั้น แต่ต้องมาจากพนักงานทุกคนด้วย ดังนั้น การชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อเรียกความมั่นใจของผู้บริโภคกลับมา น้อมรับผิดด้วยตัวเอง แต่ “ไม่โทษความผิดไปที่พนักงาน” แต่แสดงความเข้าใจว่า ด้วยจำนวนลูกค้าที่มากเกินกว่าที่คาดไว้อย่างมหาศาล เข้าใจว่าทำให้พนักงานต้องทำงานหนักขึ้น จึงเกิดความผิดพลาดขึ้น การปิดให้บริการ จะทำการ Re-Check การปฏิบัติตามมาตรฐานความสะอาด และเพิ่มอัตราพนักงานเพื่อให้สอดรับกับการให้บริการ

bar-b-q-3

สรุปปัญหาที่เกิดขึ้น

สำหรับใครที่ไม่ได้ติดตามประเด็นนี้ Brand Inside สรุปปัญหาเบื้องต้นดังนี้

1. น้ำซุปเป็นสีดำ เกิดจากการใช้อุปกรณ์ไม่เหมาะสมในการทำความสะอาดกระทะ ส่งผลให้น้ำมันพืช (Soy Based Oil) ที่มีสีดำจากการอบเคลือบ (Seasoning) กระทะ Cast iron เพื่อป้องกันการติดกระทะ จึงถูกทำลายจากการทำความสะอาดและทำให้น้ำซุปกลายเป็นสีดำ ซึ่งยืนยันได้ว่าไม่ได้เกิดจากการหลุดลอกของผิวกระทะ และไม่ใช่สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ทาง Bar B Q Plaza ชี้แจงว่า กระทะ Black ทำจากเหล็กหล่อ Cast iron มีความทนทาน นำความร้อนได้ดี นิยมใช้ในหลายประเทศในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ไม่มีการเคลือบผิวนอกด้วยสารเคมี ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากองค์กรอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ US.FDA.

ข้อมูลอ้างอิงที่ทาง Bar B Q Plaza ให้ไว้ http://foodal.com/kitchen/pots-pots-skillets-guides-reviews/guides/best-frying-pans/

สำหรับการแก้ปัญหาทาง Bar B Q Plaza จะสื่อสารและเข้มงวดในมาตรฐานการทำความสะอาดและอุปกรณ์ทำความสะอาดใหม่

bar-b-q-5

2. กระทะเป็นสนิม เกิดจากขั้นตอนการเช็ดน้ำหลังทำความสะอาด “ไม่แห้ง” ก่อนทำการจัดเก็บ ส่งผลให้เกิดความชื้นและเป็นสนิม

การแก้ปัญหา Bar B Q Plaza จะทำการเข้มงวดกับการเช็ดทำความสะอาด และเพิ่มพนักงานในการตรวจสอบกระทะทุกใบก่อนให้บริการ

bar-b-q-5-2

สำหรับการประกาศปิดให้บริการชั่วคราว วันที่ 3-4 ต.ค. นี้ จะปิดทั้งหมด 26 สาขาที่ให้บริการกระทะ Black โดยในส่วนของกรุงเทพ 21 สาขา ได้แก่

  • สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว
  • สาขาเดอะมอลล์ท่าพระ
  • สาขาซีคอน บางแค
  • สาขาเดอะมอลล์บางแค
  • สาขาเดอะมอลล์บางกะปิ
  • สาขาซีคอนสแควร์
  • สาขาแฟชั่นไอร์แลนด์
  • สาขาเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า
  • สาขาเซ็นทรัลพระราม 3
  • สาขาสีลมคอมเพล็กซ์
  • สาขาเซ็นทรัลพระราม 2
  • สาขาเซ็นทรัลเวิลด์
  • สาขาสยามเซ็นเตอร์
  • สาขาเทอร์มินัล 21
  • สาขาเซ็นทรัลพระราม 9
  • สาขาเมกาบางนา
  • สาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน
  • สาขาเซียร์ รังสิต
  • สาขาเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ
  • สาขาเซ็นทรัล พลาซา เวสต์เกต
  • โลตัส แจ้งวัฒนะ
bar-b-q-1
สาขาที่ให้บริการกระทะทองเหลือง ยังเปิดอยู่นะ

ส่วนในต่างจังหวัด 5 สาขา จะปิดให้บริการวันที่ 5-6 ต.ค. ได้แก่

  • สาขาเซ็นทรัลพลาซาระยอง
  • สาขาเดอะมอลล์โคราช
  • สาขาเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่
  • สาขาเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่
  • สาขาบิ๊กซี ลำพูน

สรุป

การแก้ Crisis management ครั้งนี้ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม รับรู้ปัญหาได้เร็ว ตัดสินใจได้รวดเร็ว ช่วยลดความรุนแรงของปัญหา และเร่งแก้ไขก่อนที่ไฟจะลามทุ่งไปไกลจนเกินแก้ สิ่งที่น่าสนใจคือ แคมเปญของ Bar B Q Plaza ที่จะออกมาต่อจากนี้ เพื่อออกมาบอกว่า การดำเนินการทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และผลที่ได้รับออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างไร คือ กุญแจสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา

Credit: Facebook Bar B Q Plaza

from:https://brandinside.asia/bar-b-q-plaza-crisis-management-black-pan/

บทเรียนการแก้วิกฤต Crisis Management จาก Samsung Galaxy Note 7

galaxy-note7_video

ซัมซุง คือ แบรนด์โทรศัพท์มือถือที่ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของโลก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประสบกับปัญหาตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกเริ่มชะลอตัว เพราะสมาร์ทโฟนถือเป็นเทคโนโลยีที่เข้าสู่ช่วง Replace ไม่ใช่การ Adoption อีกแล้ว ดังนั้นการต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนเครื่องใหม่กับแบรนด์หลักในตลาดอีกรายคือ iPhone จาก Apple ที่ครองตลาดบนไว้ได้อย่างยาวนาน จึงเข้มข้นทุกครั้ง

การจะให้ผู้บริโภคเปลี่ยนเครื่องใหม่ ก็ต้องชิงเปิดตัวก่อน เปิดตัวให้หลากหลาย เน้นเรื่องความสวยงาม สเปคจัดเต็ม เทคโนโลยีใหม่ คือกลยุทธ์ที่ซัมซุงใช้ในการตี iPhone มาโดยตลอด และได้ผลอยู่ไม่น้อย จนกระทั่งเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา Samsung Galaxy Note 7 คือสมาร์ทโฟนเรือธง ที่ซัมซุง ตั้งใจออกมาตัดหน้า iPhone 7 และก็ดูเหมือนจะได้ผล Note 7 มียอดจองทั่วโลกมากเป็นที่น่าพอใจ

แต่สุดท้าย ซัมซุง พลาดท่าให้กับกระบวนการผลิต เกิดปัญหา แบตเตอร์รี่ Note 7 ระเบิด!

Lifestyle_02_Note7

สำหรับแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และอยู่ระหว่างการแข่งขันอย่างหนัก นี่คือวิกฤตครั้งใหญ่ หรือ Big Crisis เพราะการระเบิดกระทบกับความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการใช้งาน ผู้ใช้ที่ตั้งตารอเป็นเจ้าของ Note 7 จากที่จองไปล่วงหน้าหลายวัน เกิดความลังเลไม่แน่ใจกับข่าวที่ออกมา

ซัมซุงจัดการทำ Crisis Management โดยไม่รอช้า ประกาศให้ผู้บริโภคที่มี Note 7 อยู่ในมือ ให้หยุดใช้งานและนำเครื่องไปติดต่อที่ศูนย์บริการทันที จากนั้นศูนย์จะมีสมาร์ทโฟนสำรองให้ใช้งาน โชคดีที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพราะไทยเครื่อง Note 7 ยังไม่มีการกระจายสินค้าออกไป

note74

จากนั้น ซัมซุงทำการตรวจสอบหาสาเหตุของการระเบิด และพบว่าจุดบกพร่องอยู่ที่ แบตเตอร์รี่ ขณะที่สายการบินและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบินทั่วโลก ประกาศห้ามผู้โดยสารนำสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ขึ้นเครื่องบิน เพื่อป้องกันเหตุระเบิดที่อาจเกิดขึ้น พร้อมกับที่ ซัมซุง ตัดสินใจเรียกคืน Samsung Galaxy Note 7 ที่ขายไปแล้ว จำนวน 2.5 ล้านเครื่องคืนทันที และระงับการขายเครื่องที่เหลือทั้งหมด

ซัมซัง ได้ออกประกาศว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อีกทั้งเป็นการขอโทษผู้ใช้ ซัมซุงยืนยันว่าจะทำการผลิต Samsung Galaxy Note 7 ใหม่ทั้งหมด ถือเป็นการทำ Crisis Management ครั้งสำคัญของบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อดึงความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคกลับคืนมา

note71

มีการคาดการณ์มูลค่าความเสียหายที่ 1.1 หมื่นล้านยูโร แต่ถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าความเชื่อถือที่ผู้บริโภคทั่วโลกมีต่อซัมซุง ดังนั้นการตัดสินใจของซัมซุงจึงถูกต้อง ที่เรียกคืนเครื่องทั้งหมด จะให้ดีควรมีภาพการทำลายเครื่องทิ้ง และเริ่มต้นการผลิตใหม่ทั้งหมด จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมาได้ดียิ่งขึ้น แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของแบรนด์ที่มีต่อผู้บริโภค

ก่อนหน้าที่จะมีปัญหาแบตเตอร์รี่ระเบิด มีสัญญาณที่สะท้อนว่าอาจมีปัญหามาแล้ว จากที่ซัมซังเลื่อนการส่งมอบเครื่อง Note 7 ออกไปเล็กน้อย (ซึ่งซัมซุง ขอโทษลูกค้า และยินดีคืนเงินจองให้เนื่องจากไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามที่กำหนด)

note73

มองในมุมแบรนด์และการตลาดแล้ว ความผิดพลาดในการผลิตของซัมซุง ต่อโมเดล Samsung Galaxy Note 7 ถือว่าส่งผลกระทบอย่างรุนแรง แต่การออกมาจัดการ Crisis Management ที่รวดเร็ว ตรงประเด็น โดยไม่ลังเลที่จะรับผิดชอบต่อผู้ใช้ สามารถทำออกได้ดี และอย่างน้อยซื้อใจผู้ใช้ที่เป็นแฟนซัมซุงไว้ได้ (แม้จะสูญเสียกลุ่มผู้ใช้ที่จอง และเล็งว่าจะซื้อซัมซุงไปไม่น้อย) แต่เชื่อว่าในระยะยาว ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะสร้างคะแนนกลับมา

แต่ในมุมการตลาด ซัมซุงก็ต้องเริ่มพิจารณาแล้วว่า Note 7 รุ่นใหม่ที่จะออกสู่ตลาดอีกครั้ง จะมีอะไรพิเศษหรือไม่ เช่น การปรับราคาลงมาเพื่อเป็นการขอโทษลูกค้า อาจจะเป็นกลยุทธ์เรียกยอดขายคืนที่ดีก็ได้

from:https://brandinside.asia/crisis-management-samsung-galaxy-note7/

อีกหนึ่งความสตรองของมนุษย์แอดมิน เมื่อแฟนเพจ Nikon ต้องรับมือกับ meme จากดราม่าประกวดภาพถ่าย

จากดราม่าร้อนๆ บนแฟนเพจ Nikon เมื่อกรรมการตัดสินให้ภาพถ่ายที่ผ่านการตัดต่อชนะการประกวด หลังจากนั้นก็มีคนออกมาแฉว่า นี่มันไม่ใช่รูปตัดต่อเฉยๆ นะ มันเป็นรูปที่ผ่านการตัดต่อแบบแย่มากๆ ด้วย สิ่งที่ตามมาก็คือ มหกรรมภาพล้อเลียนจำนวนมากที่เข้าไปถล่มในช่องความคิดเห็นของโพสต์ดังกล่าว

อ่ะ ตามไปดูต้นตอของดราม่ากันได้ที่ petapixel

photoshopped

สิ่งที่อยากจะหยิบมาพูดถึงคงไม่ใช่เรื่องที่หลายๆ คนพูดกันไปแล้ว แต่อยากจะชวนให้เข้าไปอ่าน Reply ที่แอดมินของเพจตอบกลับทุกรูปที่คนส่งเข้ามา ถึงมันจะเป็นรูปล้อเลียนก็เถอะ แต่แอดมินตั้งอกตั้งใจตอบจริงๆ เพราะไม่ใช่การตอบแบบ default เหมือนที่หลายๆ แบรนด์มักจะทำเมื่อเกิดดราม่า

อาทิ “ขออภัยค่ะ ทางเรามีความเสียใจเป็นอย่างมาก บลา บลา บลา หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ…” อะไรทำนองนี้

แต่แอดมินเพจ Nikon แสดงให้เห็นความสตรองเบอร์ใหญ่มาก ยกตัวอย่างเช่น

Screen Shot 2559-01-30 at 4.14.50 PM Screen Shot 2559-01-30 at 4.15.20 PM Screen Shot 2559-01-30 at 4.15.55 PM Screen Shot 2559-01-30 at 4.16.09 PM

ความคิดสร้างสรรค์ของคนล้อเลียนก็ว่าเลิศแล้ว แต่การตอบกลับแบบเล่นด้วยของแอดมินก็เลิศพอๆ กัน #ปรบมือสิคะ #รออะไรกัน

กลายเป็นว่ารูปถ่ายต้นตอดราม่าก็เป็นอีกเรื่องนึง แต่ตอนนี้ความสนใจของลูกเพจก็ไปอยู่ที่การตอบกลับของแอดมินด้วย เพราะมีการตอบในแต่ละโพสต์อีกยาวววววววว (ว.แหวน หลายๆ ตัว) เรียกว่าเล่นมาก็เล่นกลับ แถมยังเล่นต่อด้วย

นับเป็นอีกความสตรองที่เราอยากจะ Standing ovation ให้แบบยาวๆ เช่นกัน เพราะเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จงรับมือกับดราม่าอย่างมีสติ และอารมณ์ขัน

จริงๆ แล้วทางแอดมินเพจมีการชี้แจงว่า ทางคณะกรรมการตัดสินให้ภาพนี้ชนะเพราะให้ความสำคัญกับจินตนาการ ซึ่งก็โดนตอกกลับไปว่า “น่าจะให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ด้วยนะ”

พอโดนแบบนั้นเข้าไป ทางแอดมินอาจจะเห็นว่า การแถคงไม่เวิร์กแล้วล่ะ (ก็ใช่น่ะสิ!) ไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแนวทางการรับมือมาจากประเด็นนี้ด้วยหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่ามาถูกทางแล้วล่ะ

อย่างไรก็ตาม คงจะดีกว่านี้ถ้ารูปที่ชนะการประกวดเป็นภาพถ่ายจริงๆ ที่ไม่ได้ผ่านการโฟโต้ชอป หรือถ้าจะผ่านการโฟโต้ชอปมาแล้ว ก็ควรจะเนียนกว่านี้

from:http://thumbsup.in.th/2016/01/crisis-management-admin-nikon/

ประมวลเหตุการณ์ ดราม่าโฆษณาส่อเหยียดสีผิว “Seoul Secret”

seoul-secret-hed-2015

กลายเป็นข่าวที่วงการโฆษณาต่างประเทศให้ความสนใจสำหรับ Seoul Secret บริษัทไทยที่ส่งจดหมายขอโทษกรณีโฆษณาสินค้าช่วยให้ผิวขาวหรือ skin-whitening product นั้นส่งสารเข้าข่ายเหยียดสีผิว โดยยอมถอดคลิปโฆษณาทั้งบน YouTube และ Facebook ออกหมดเพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ตามรายงานจาก Reuters แบรนด์ไทยชื่อ Seoul Secret ตัดสินใจถอดโฆษณาของตัวเองออกจาก YouTube ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยโฆษณาดังกล่าวแพร่ภาพผู้หญิง 2 คนซึ่งหนึ่งในนั้นคือคริส หอวัง ที่ถูกปรับสีผิวเป็นสีดำ ก่อนที่สารในโฆษณาจะสรุปว่า “แค่ขาวก็ชนะ”

http://c.brightcove.com/services/viewer/federated_f9?isVid=1&isUI=1

การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากชาวเน็ตพร้อมใจกันวิจารณ์โฆษณาชิ้นนี้ว่าเป็นการเหยียดผิว การสรุปว่าผู้ที่มีผิวดำคือผู้แพ้นั้นทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย ทั้งชาวเน็ตที่มองว่าเป็นการเหยียดสีผิว ขณะที่นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์มองว่าสื่อควรจะตระหนักถึงสารที่ละเอียดอ่อนลักษณะนี้ให้มาก แม้แต่ ”เมญ่า-นนธวรรณ ฌรรวนธร” มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2014 และนางเอกละครเรื่องสาวน้อยร้อยล้าน ที่ถูกพูดถึงเรื่องสีผิวมาโดยตลอดตั้งแต่ตอนประกวดนางงาม ก็แสดงความเห็นต้านโฆษณานี้เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา

กรณีของเมญ่านั้นมีการแชร์คลิปวิดีโอโฆษณาต้นเหตุผ่านทางเฟซบุ๊ก “Maeya Mae Nonthawan” พร้อมข้อความออกความเห็นทำนองว่า “ดำก็ชนะได้” ขอเพียงพิสูจน์กันด้วยความสามารถเท่านั้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยมีประเด็นร้อนเรื่องโฆษณาสะท้อนค่านิยมเรื่องสีผิว อย่างไรก็ตาม Seoul Secret พร้อมยอมรับผิดและออกแถลงการณ์ขอโทษทุกฝ่ายพร้อมชี้แจงว่าบริษัทฯไม่มีเจตนาเหยียดสีผิวหรือเชื้อชาติ แต่ตั้งใจสื่อถึงการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ทั้งในแง่บุคลิกภาพ รูปลักษณ์ ความสามารถ ความเป็นมืออาชีพ

ในขณะที่ Seoul Secret ถอดโฆษณาชิ้นนี้แล้ว สื่อดังอย่าง CNN และ Reuters พร้อมใจรายงานข่าวที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก ยังไม่นับสื่อไทยและแหล่งเผยแพร่ดราม่าที่มุ่งวิจารณ์ตัวโฆษณาและพรีเซนเตอร์อย่างคริส หอวัง ทั้งหมดนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ข่าวที่ทำให้ Seoul Secret เป็นที่รู้จักทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ แม้ว่าจะเป็นข่าวในภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีก็ตาม

 

 

seoul-secret-apoligize

ตั้งใจหรือจงใจ

Dunkin-Donuts-Thai-advert-010

ใครที่ติดตามโฆษณามา ก็อาจจะพอคุ้นกับโฆษณาโดนัทเจ้าหนึ่งที่เป็นข่าวเมื่อปี 2556 เรื่องการเหยียดสีผิว ซึ่งก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมาจนต้องมีการขอโทษขอโพยขึ้นมา แม้ในตอนนั้นเองเมืองไทยยังไม่มีกระแสในเรื่องนี้มากนักเว้นเสียแต่หลายๆ ท่านที่พอจะรู้กระแสจากต่างประเทศมาบ้างก็จะมองไปในทิศทางการเหยียดผิว นั่นน่าจะเป็นที่มาทำให้คนไทยมีการเริ่มรู้และหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น

พอมาในครั้งนี้ เชื่อโดยส่วนตัวว่าคนในไทยเองมีการรับรู้มาแล้ว การทำโฆษณานี้เหมือนเป็นการจงใจที่จะหยิบเรื่องนี้มาเล่นและทำให้คนพูดถึงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าความตั้งใจตามการแถลงจะแจ้งว่าไม่มีเจตนาก็ตาม ซึ่งสิ่งที่ได้ก็น่าจะเป็นไปตามที่ทางบริษัทคาดเอาไว้แต่และ ด้วยแรงผลักของการพูดถึงของสังคมอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ชื่อนี้ถูกกระจายตามช่องทางต่างๆ แล้วเรียบร้อย ด้วยทิศทางของแบรนด์ที่เราคิดกันว่าเป็นลบ

แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีกลุ่มคนที่สนใจเฉพาะตัวสินค้า ด้วยเหตุผลที่สินค้านี้มันไปตรงใจกับกลุ่มลูกค้าแบบเต็มๆ นั่นเอง สิ่งนี่น่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ของสินค้านี้แล้ว ขอบคุณภาพจากคุณ Surasak Lhuengusakul

12471769_10153783118944654_5568337212272395538_o

 

หากจะถามในแง่ของการจัดการ Online Crisis Management ก็ถือว่าทำออกมาอย่างรวดเร็วตามแรงกดดันของสังคมและทิศทางของกระแสลบ แต่หากสังเกตกันดีๆ Comment ทั้งหลายถูกลบออกไปจากหน้า Facebook Page อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ไม่ได้จะบอกว่าผิดที่ทำอย่างนี้ แต่อยู่ที่วิจารณญาณและการทำ Crisis Management Plan ที่ทางบริษัทได้กำหนดไว้ตั้งแต่แรก การลบออกมีก็เพื่อทำให้บรรยากาศของหน้า Pages ดูกลางๆ เพราะลองคิดดูว่า เวลาเราเข้าไปที่หน้านั้นแล้วเจอแต่ข้อความที่ลบ มันชวนให้เรากลายเป็นมนุษย์เผือก ด่าตามคนอืนไปด้วย แต่ก็ต้องรับสภาพว่าหากลบหมดจนเกลี้ยงเราจะถูกมองว่าเป็นอย่างไรด้วย

สุดท้ายแล้ว การทำการประชาสัมพันธ์ล้วนอยู่ที่วิจารณญาณของเจ้าของตั้งแต่แรกว่าเขาต้องการอะไร เขาจะสนใจหรือตั้งใจมองข้ามเพื่อความดังหรือธุรกิจตัวเอง

อย่าลืมว่า ออนไลน์เมื่อทำไปแล้ว มันก็จะยังคงอยู่ตลอดไป เหมือนเรากดลบข้อความแต่ก็ยังคงมีนักแคปเจอร์ในตำนานรออยู่นั่นเอง…

from:http://thumbsup.in.th/2016/01/seoul-secret-advertising-racism/

T-Mobile ถูกขโมยข้อมูลลูกค้าถึง 15 ล้านราย ผ่านทางผู้ตรวจสอบเครดิต Experian กับการรับมือ Crisis ของ T-Mobile

เป็นอีกหนึ่งกรณี Data Breach ที่น่าจับตามองมากเมื่อ T-Mobile ผู้ให้บริการธุรกิจ Telecommunication ได้ออกมายอมรับว่าถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าในประเทศสหรัฐอเมริกามากถึง 15 ล้านราย โดยการถูกขโมยข้อมูลครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากระบบภายในของ T-Mobile แต่อย่างใด แต่ถูกขโมยจาก Experian ผู้ให้บริการตรวจสอบเครดิตของลูกค้า T-Mobile โดยข้อมุลของลูกค้าที่ยื่นข้อมูลเครดิตให้ทาง T-Mobile ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2013 – 16 กันยายน 2015 นั้นตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้

Credit: ShutterStock.com
Credit: ShutterStock.com

สำหรับข้อมูลของลูกค้าที่ถูกขโมยไปนั้น ได้แก่ ที่อยู่, Social Security Number, วันเกิด, เลขทะเบียนใบขับขี่, เลขพาสปอร์ต, Military I.D. และอื่นๆ ที่ T-Mobile ใช้ในการตรวจสอบเครดิต โดยไม่ได้ถูกขโมยข้อมูลบัตรเครดิตหรือธนาคารไป ซึ่งถึงแม้ข้อมูลที่ถูกขโมยไปบางส่วนนั้นจะมีการเข้ารหัสเอาไว้โดย Experian แต่ทาง T-Mobile ก็กล่าวว่าข้อมูลเหล่านั้นก็อาจถูกถอดรหัสสำเร็จก็เป็นได้

 

การถูกขโมยข้อมูล Social Security Nubmer สร้างความเสียหายได้มากกว่าข้อมูลบัตรเครดิต

โดยทั่วไปถ้าหากลูกค้าถูกขโมยบัตรเครดิตไปนั้น กระบวนการหรือขั้นตอนต่างๆ ในการระงับการใช้จ่าย หรือการนำเงินที่ถูกใช้จ่ายไปแล้วกลับคืนมายังมีความเป็นไปได้อยู่ และสามารถร้องขอบัตรใบใหม่เพื่อใช้งานต่อไปได้ แต่ในกรณีของการถูกขโมย Social Security Number ไปพร้อมกับข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ นั้น ผู้ขโมยอาจนำไปใช้สมัครบัตรเครดิตใบใหม่โดยที่เจ้าของที่แท้จริงไม่ทราบเรื่องใดๆ จนเกิดความเสียหายกับสภาพความน่าเชื่อถือในเครดิตได้ รวมถึงเลข Social Security Number เหล่านี้ยังเปลี่ยนได้ยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้อีกด้วย

 

การบรรเทาปัญหาให้แก่ลูกค้าของ T-Mobile

T-Mobile ทราบเป็นอย่างดีว่าถึงแม้การถูกขโมยข้อมูลครั้งนี้จะเกิดจากความหละหลวมของ Experian แต่ T-Mobile เองก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบที่มีต่อลูกค้าได้เช่นกัน สิ่งที่ T-Mobile ทำคือการประสานงานกับทาง Experian เพื่อเปิดบริการเฝ้าระวังและตรวจสอบการลักลอบนำ Social Security Number ของลูกค้าไปใช้ทำธุรกรรมต่างๆ โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ฟรีๆ ถึง 2 ปีที่ http://www.protectmyid.com/default.aspx?sc=678628 ในขณะที่ก็ได้ทบทวนความสัมพันธ์ที่มีต่อ Experian แต่ก็ยังคงทำงานร่วมกับ Experian ในช่วงนี้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำสองอีก

 

ทำไมกรณีนี้ถึงมีความน่าสนใจ?

กรณีนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในการโจมตีที่มีความน่าสนใจและสามารถหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดี ด้วยประเด็นดังต่อไปนี้

  • การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นที่บริษัท Outsource ขององค์กร ไม่ใช่ระบบเครือข่ายขององค์กรโดยตรง ซึ่งเป็นอีกแง่มุมที่องค์กรส่วนใหญ่มักจะละเลยไป เพราะสุดท้ายแล้วถึงแม้การโจมตีเหล่านี้จะไม่ได้เกิดกับองค์กร และองค์กรเองมีการปกป้องตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว แต่ผลเสียหายตกอยู่ที่ลูกค้าขององค์กร องค์กรก็ต้องออกมารับผิดชอบอยู่ดี
  • ถึงแม้ข้อมูลที่เก็บไว้จะมีการเข้ารหัส แต่การเข้ารหัสนั้นก็ไม่ได้เป็นที่น่าเชื่อถือว่าจะไม่มีวันถูกถอดรหัสได้อีกต่อไป
  • ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกขโมยไปนั้น อาจนำไปใช้สร้างความเสียหายได้มากกว่าการถูกขโมยข้อมูลบัตรเครดิตเสียอีก
  • การรับมือและการรับผิดชอบต่อลูกค้าของ T-Mobile ร่วมกับ Experian ที่พยายามป้องกันไม่ให้ลูกค้าเกิดความเสียหายใดๆ จากความผิดพลาดในครั้งนี้

 

ก็ถือว่าจะเป็นแนวทางในการรับมือ Crisis ที่ดีสำหรับองค์กรเมื่อเกิดการโจมตีลักษณะนี้ขึ้นได้ครับ

 

ที่มา: http://thehackernews.com/2015/10/experian-tmobile-hack.html , http://www.t-mobile.com/landing/experian-data-breach.html?icid=WOR_NA_CLRSKY_GP21HHC35JV3079 , http://www.experian.com/data-breach/t-mobilefacts.html

from:https://www.techtalkthai.com/t-mobile-15-million-customers-data-breach-via-experian/