คลังเก็บป้ายกำกับ: COMMENTARY

Slide: Niche is the new mainstream: ชวนคุยภูมิทัศน์สื่อ 2020

สวัสดีครับเพื่อนๆ thumbsupers เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติจาก Future Maker Night จัดโดย Stockradar เชิญไปร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวงการสื่อมวลชนไทยในรูปแบบการบรรยายแบบ Keynote Speaking ความยาว 15 นาที (ซึ่งต้องขอขอบพระคุณสำนักข่าว Business Today และบล็อกของคุณ Joy Asawasripongtorn ที่นำแกนความคิดที่ผมบอกไปบอกต่อด้วยนะครับ) แต่หลังจากที่ลงมาจากเวทีผมก็คิดได้ว่า ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา ทำให้ผมจำเป็นต้องตัดความคิดเห็นไปหลายส่วน จึงเป็นที่มาของบล็อกในวันนี้ที่ผมจะมาอธิบายเพิ่มครับ

เพื่ออรรถรสในการอ่าน แนะนำให้กดดูสไลด์ให้ครบก่อนนะครับ แล้วค่อยไล่อ่านด้านล่าง

Niche is the new mainstream ชวนคุยภูมิทัศน์สื่อ 2020 

ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อขายอะไรทั้งสิ้นครับ หลายคนคิดว่าผมทำงานเอเจนซี่ ซึ่งเป็น Seller side จะต้องมาขายอะไรแน่ๆ เลย ไม่ใช่อย่างนั้นครับ แต่ผมมาวันนี้เพราะผมคิดว่าในฐานะที่ผมเป็นคนๆ หนึ่งที่ผ่านงานมาทั้ง

  • ฝั่ง Brand
  • ฝั่ง Media Publisher
  • ฝั่ง Tech Platform
  • ฝั่ง Professional Agency

Media is dead. So sad 

มีคนบอกว่าสื่อตายแล้ว ว้า ฟังดูน่าเศร้ามากเลยครับ แต่จริงๆ ผมกลับคิดว่าสื่อยังไม่ได้ตายนะครับ มันแค่เปลี่ยนคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าไปแล้วนั่นเอง (หรือที่เรียกในศัพท์การตลาดว่า Value proposition นั่นล่ะครับ) ผมขอยกตัวอย่างของ “รถม้า” กับ “รถยนต์” นะครับ

ย้อนกลับไปหลายร้อยปี คุณค่าของรถม้าคือ “ยานพาหนะ” คู่ใจคนยุคโบราณ เราจะเดินทางไปที่ไหน รถม้าอำนวยความสะดวกให้เรามาก แต่จู่ๆ วันหนึ่ง Henry Ford ประดิษฐ์รถยนต์ขึ้นมา คนก็หันเหไปใช้รถยนต์กันหมด แต่ถามว่ารถม้ามันหายไปจากโลกเราเลยไหม ไม่เลย มันยังคงอยู่ เพียงแต่มันเปลี่ยนคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าไปอยู่ในรูปแบบ “การละเล่น” และ “ของสะสม” ที่มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับคนบางกลุ่ม จะเทียบกับแผ่นเสียง The Beatles ก็ได้นะครับ จริงๆ ยุคนี้เราฟังเพลงผ่าน Streaming กันหมดแล้ว แต่แผ่นเสียงก็ยังมีคนนิยม มันมีคุณค่าทางจิตใจกับคนบางกลุ่ม

ดังนั้นคำถามสำคัญคือ ถ้าคุณเลือกที่จะรักษาธุรกิจสื่อไว้ คุณอาจต้องรู้ชัดว่าการที่คุณจะสร้าง “ภาพจำ” ที่ชัดเจนของคุณได้ คุณต้องมี “คาแรกเตอร์” ที่คนจำคุณได้ ไม่เช่นนั้น คุณจะไม่เป็นอะไรในสายตาของใครเลย โดยเฉพาะในยุคที่คนมีทางเลือกเสพข้อมูลข่าวสารหลากหลายกว่าสมัยก่อนมากๆ

Niche ไว้ก่อน แล้วค่อยขยายทีหลังยังไม่สายหรอกครับ

แต่ก่อนจะไปไหนไกล ผมอยากพาคุณย้อนอดีตไปสักหน่อยครับ

ย้อนกลับไปปี 1980 เมื่อพูดถึงสื่อ พวกเราคนดูมีหน้าที่อยู่ไม่กี่อย่างครับ เราเฝ้ารอดูรายการทีวีที่เราชอบ อยู่หน้าจอนิ่งๆ เป็น Captive Audience และพอพิธีกรพูดเสียงสูงๆ ว่า “พักฟังสิ่งที่น่าสนใจ สักครู่เดียวครับ!” มันเคยน่าสนใจไหมครับ ผมว่ามันก็พอได้ แต่ในยุคปัจจุบัน เราสามารถเสพสื่อได้ทุกที่ ทุกเวลาที่เราต้องการ จะดูย้อนหลังก็ได้ ไม่ต้องมารอ “สิ่งที่น่าสนใจ” แถมเรายังโต้ตอบกับสื่อได้อย่างทันทีทันใดเสียด้วยสิ

ยุคนั้นอะไรๆ ก็เน้นสื่อ Mass แต่ในความเห็นส่วนตัวของผม Mass ที่แท้จริงเริ่มไม่มีอยู่แล้วครับ มีแต่เรามอง Target ที่ซ่อนอยู่ในคำว่า Mass ไม่ออกเท่านั้นเอง 

คุณสามารถปลุกเร้าสังคมได้พอๆ กับสื่อนั่นแหละ

ผมยกตัวอย่างกรณี #เสือดำต้องไม่ตายฟรี เมื่อปีก่อนที่ผมรู้สึกส่วนตัวว่ากรณีเสือดำ มันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจเอาเสียมากๆ และผมก็กระตือรือร้นที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องนี้ด้วยการทวีตบน twitter บอกกับคนที่ติดตามกันว่าช่วยกระทืบ #เสือดำ หน่อย ไม่อยากให้เรื่องเงียบ แต่พอผมทำไป ก็มีคนเห็นด้วยกับผมประมาณหนึ่ง แต่มันยังไม่ Impact พอ สิ่งที่ผมทำก็เลยกลายเป็นสิ่งนี้ครับ

ปรากฏว่าสำนักข่าวใหญ่ๆ ต่างๆ ต่างพากันเห็นด้วย และออกมาอัปเดตผมกันใหญ่เลย ซึ่งท้ายที่สุดผมก็คิดว่าการที่ผมกระทืบแท็ก ก็พาไปสู่กระแสของการนำเสนอว่า ครบรอบ 1 ปี “คดีเสือดำ” ศศิน เตือนอย่าลืม 19 มี.ค. 62 ศาลนัดวันพิพากษา เห็นไหมครับ ยุคนี้เราร่วมกันกับสื่อรายงานก็ได้ เราทุกคนต่างมี “ปากกา” เป็นของตัวเองครับ

เส้นทางการเดินทางของบทสนทนา

เมื่อก่อนเส้นทางการเดินทางของ Brand’s Message มันค่อนข้างเป็นเส้นตรง จาก Brand เดินสู่ Media จาก Media เดินสู่ Audience แต่ยุคนี้มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น คุณยายคนหนึ่งซึ่งเป็น Audience นึกอยากจะทุบรถโชว์สื่อและบอกต่อให้คนอื่นๆ มาช่วยกันแชร์สิ่งที่แกคับแค้นใจก็ทำได้ พูดง่ายๆ ใครก็เป็นคนเริ่มต้นบทสนทนาได้ ที่คนสมัยก่อนเขาพูดว่า “นักข่าวทำอะไรก็ได้เพราะมีปากกาอยู่ในมือ” ยุคนี้คงไม่จริงแล้วล่ะครับ เพราะปากกามันอยู่ในมือเราทุกคนแล้ว ส่วนใครจะเขียนสื่อความเป็น story หรือไม่เป็น story นั่นก็เป็นอีกประเด็นนะครับ

แต่สิ่งที่ผมอยากจะชี้ชวนให้คุณเห็นจริงๆ ก็คือทุกอย่างมันหลอมรวมกันหมดแล้วล่ะครับ Brand + Media Publisher + Tech Platform + Professional Agency เส้นแบ่งมันเริ่มเบลอ คุณเองนั่นล่ะ (ใช่ครับคุณที่อ่านอยู่นี่แหละ) คุณคือ Brand และในขณะเดียวกัน คุณก็เป็น Media Publisher ที่สามารถสร้าง Content เจ๋งๆ ออกมาได้ แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกคุณตรงนี้ก็คือ คุณมีหน้าที่ผลิต Content ที่ดีแก่ว่าที่ลูกค้าของคุณที่เป็นเพียงคนบางคน ไม่ใช่ทุกคน

ทำไมผมจึงบอกว่าเราควรทำ Content สำหรับบางคน ไม่ใช่ทุกคน?

Hubspot

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผมขอยกตัวอย่างบล็อกที่ผมชอบอ่านนะครับ มันคือ Hubspot.com บล็อกแห่งนี้เป็นบล็อกที่ให้ความรู้ด้านการตลาดที่ Hubspot สถาปนาศัพท์การตลาดขึ้นมาเสียใหม่เรียกว่า “Inbound Marketing” ซึ่งเป็น Framework ที่ได้รับความนิยมมากๆ ในต่างประเทศ เวลาคนจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ Inbound Marketing ก็จะต้องมาที่ Hubspot.com ทั้งที่รู้ว่าบริษัทนี้ขายเครื่องมือ Marketing Automation แต่ด้วย Content ที่ดีมีคุณภาพของเขา ทำให้มีคนเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเขาเดือนหนึ่งเข้าหลักหลายร้อยล้านครั้งเลยทีเดียว

Readery

ตัวอย่างถัดมา ผมคิดว่าทุกคนคงรู้จักร้านหนังสือออนไลน์ Readery กันนะครับ นอกจากการทำเว็บไซต์ขายหนังสือ พวกเขายังออกมาทำ Podcast อยู่บน The Standard จนมีคนติดตามกันอย่างล้นหลาม นั่นเป็นเพราะ Readery เลือกที่จะเป็นบางอย่างที่สำคัญของคนบางคน แต่ไม่เป็นทุกอย่างของทุกคน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ readery podcast

Jitta

ทุกคนในแวดวง Tech ไม่มีใครไม่รู้จัก Jitta ผมชอบที่พวกเขาทำ Content ในช่องทางของเขาเองทั้งออนไลน์ออฟไลน์ โดยเฉพาะการทำ Content แบบเปิดสอนว่าจะเป็นนักลงทุนแบบ VI ทำอย่างไร แถมยังพิมพ์หนังสือออกมาอีกด้วย

เอาล่ะ…. ถ้าให้สรุปกันสั้นๆ ง่าย ผมแค่อยากจะบอกว่าไม่ว่าคุณจะเป็น Brand คุณจะเป็น Media Publisher คุณควรทำ Content ที่คนจะแคร์ และอยากจะดู อยากจะเสพ Content ของคุณจริงๆ ไม่ใช่ทำ 5 วิธี 10 วิธีไปเรื่อยๆ และบอกได้เลยครับว่ามันไม่เกี่ยวหรอกว่าเทคโนโลยีอะไรเท่าไหร่เลยด้วย เมื่อก่อนมีแต่เว็บ ก็จะมีคนมาบอกว่า…

  • สร้าง App สิ
  • ใช้ Chat Apps ไหมเผื่อคนอยากจะมา Engage กับสื่อมากขึ้น
  • ทำ Chat bots สิ
  • เดี๋ยวนี้มันต้อง AI มันต้องมีเทคโนโลยีมาช่วย
  • iPad…
  • Slack…
  • Autoplay videos… (วัดผลเป็น Viewability ไหม จะได้ไม่ต้องนับ Impression อย่างเดียว?)
  • Vertical video
  • Facebook live 360
  • AR
  • VR (ของใหม่ครับ ต้องลอง)
  • Instagram stories
  • Instant Articles
  • AMP (Google จะได้ช่วยเรา)
  • Smartwatches (คนยุคใหม่ใช้เยอะนะ เราตกยุคไม่ได้)

เห็นไหมครับว่ามันมีของใหม่มาเสมอนั่นแหละ ดังนั้นเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญคือ เราจะทำเงินจากมันได้อย่างไร

Business model แบบไหนล่ะที่ใช่

ในยุค Digital transformation มีคนพูดถึง Data เยอะมาก ในโลกของสื่อเลยมีการพูดถึง Data Journalism กันเยอะ ซึ่งผมก็ว่ามันเป็นเรื่องที่ดี มันทำให้เราสามารถมองหาแง่มุมในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น มีแง่มุมที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น แต่มันไม่ได้แก้ปัญหาให้เราในเชิงโครงสร้างธุรกิจ

จากรูปนี้ คุณจะเห็นได้ว่าแกนสำคัญของสื่อยุคนี้คือ Loyal audience  และเราควรที่จะหารายได้ทางอื่นนอกเหนือไปจากโฆษณาที่เราคุ้นเคย โดยเฉพาะรายได้ที่เรียกว่า Direct revenue ที่มันมาจากการทำ Subscription, จากการบริจาค, จากการ Premium Content, จากการจัดงานสัมมนา และอีเวนท์

คำแนะนำสำหรับ Brand

ผมไม่ได้บอกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ผมพยายามจะบอกคือ ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารล้นหลาม แต่คนมีเวลาเท่าเดิม ผมอยากชี้ชวนให้พวกคุณลองทำสิ่งที่เรียกว่า Owned Media หรือสื่อที่เราเป็นเจ้าของเอง อย่างเช่น บริษัท Digital Venture ในเครือ SCB / Katalyst ในเครือ Kbank / บล็อก Think with Google ต่างก็ทำบล็อกของตัวเองขึ้นมาทั้งสิ้น เพราะยิ่งเราทำ Content ออกจากช่องทางของเรามากเท่าไหร่ เรายิ่งควบคุมเสียงของเราบนโลกออนไลน์ได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่อันนี้ไม่ได้หมายความว่าทำสื่อของคุณแล้ว คุณจะไม่ทำงานร่วมกับสื่อมวลชน และ Influencer นะครับ ของแบบนี้ยังต้องทำทั้งสองทางครับ

คำแนะนำสำหรับ Media Publisher

ในแง่มุมของ Publisher คุณไม่จำเป็นต้องเป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน ผมคิดว่าคุณคงรู้จักคุณตุ๊ก Little monster ดีนะครับ คุณตุ๊กเมื่อปี 2559 ทั้งปียังมีรายได้ 1.9 ล้านบาท กำไรเพียง 300,000 บาท แต่พอปีถัดๆ มารายได้เติบโตเฉลี่ยสูงถึง 350% แซงหน้าสื่ออื่นๆ แบบแรงแซงโค้งด้วยพลังของการโฟกัสที่จุดยืนในเรื่องของ Parenting ที่สนุกสนานเป็นกันเอง

นอกเหนือไปจากนั้น คิดว่าทุกคนน่าจะยังจำ Dek-D.com ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากการทำตัวเป็นเว็บท่าสำหรับวัยรุ่น ซึ่งก็ดูเป็น Niche Media อย่างที่ผมบอก แต่วันเวลาผ่านไป คนที่เติบโตกับเด็กดีก็เริ่มมีหลากหลายกลุ่ม และการที่จะฝ่าฟันทำให้ Dek-D ยังคง Popular ท่ามกลางวัยรุ่นนั่นก็คือ การอุทิศตัวเองมาอาสาแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่ม Target นั่นก็คือ Event ทางด้านการติวน้องๆ เข้ามหาวิทยาลัย การทำหนังสือ พูดง่ายๆ ว่าเป็นการนำเอาจุดแข็งด้านการที่ตัวเองเป็น Niche Media ที่มีขนาดใหญ่พอ แล้วต่อยอดด้วยบริการที่ตอบโจทย์น้องๆ นั่นเอง

ถามว่าแล้วเราสามารถลงมือทำอะไรด้บ้าง? ผมคิดว่าเราอาจจะต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่าที่แท้จริงแล้ว สื่อมวลชนคืออะไรกันแน่ ทุกวันนี้ในแง่ “ช่องทาง” เราอยู่ยากแล้วเพราะ Facebook, Google เขาใหญ่กันมาก แต่ถ้าเราลองมองว่าเราเป็นมากกว่า Media Publisher ที่เคยเป็น เราทำตัวเราให้เป็นผลิตภัณฑ์ หรือบริการของคนที่อยู่ใน Segment ของเราล่ะ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราทำโปรดักชั่นของเรา เอเจนซี่ของเรา ทำคอร์สออนไลน์ ทำสื่อชนิดอื่นๆ ทำของที่ระลึกขาย ทำอีคอมเมิร์ซ

ขอย้ำอีกทีครับ It all about creating the value that serves your niche, loyal community. Being something important to your (niche) segment OR being irrelevant and die?

from:https://www.thumbsup.in.th/slide-niche-is-the-new-mainstream

ปรากฎการณ์ เกรต้า ธันเบิร์ก สะท้อนความเดือดดาลของ Generation Z

สำหรับผมแล้ว สุนทรพจน์ของ เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน กลางที่ประชุมสหประชาชาตินั้นไม่ได้ “แซ่บ” ที่เนื้อหา แต่ให้เผ็ดพริกสิบเม็ดที่ “ลีลาและท่วงท่า” เลยทีเดียว

ที่พูดแบบนี้เพราะเนื้อหา (message) ประนามผู้นำโลกเกี่ยวกับภาวะเรือนกระจกนั้นมีให้เห็นดาษดื่นตามหน้าหนังสือพิมพ์และอินเตอร์เน็ตทุกวัน รุนแรงกว่านี้ หยาบคายกว่านี้ก็มีให้เห็นอีกเยอะ แต่การที่ เกรต้า ธันเบิร์ก โด่งดังภายในข้ามคืนอย่างที่เราเห็น ส่วนหนึ่งก็มาจากการแสดงออกที่ต่างจาก “เด็ก” ทั่วไป

โดยปกติแล้ว “เด็ก” ที่ได้รับอนุญาตให้กล่าวสุนทรพจน์กลางที่ประชุมใหญ่ๆ นั้นมักมีสถานะไม่ต่างจาก “จำอวด” คั่นเวลาก่อนที่ผู้ใหญ่จะเริ่มคุยงาน กล่าวคือเด็กๆ เหล่านี้มักจะถูกมอบหมายให้พูดแต่เรื่องกว้างๆ สิ่งแวดล้อม สังคม สันติภาพโลก ฯลฯ เพื่อให้ผู้ใหญ่ฟังแล้วอมยิ้มในความไร้เดียงสา พูดไปแล้วเด็กๆ ก็ดูน่ารัก น่าเอ็นดู ฉลาดหลักแหลม จบฟินาเล่ด้วยเสียงปรบมือเปาะแปะจากบุคคลสำคัญหรือนักการเมืองใหญ่ๆ

“เป็นแค่เด็กแต่ก็เก่งได้ขนาดนี้ หนูอนาคตไกลแน่ๆ จ๊ะ” พูดเสร็จพวกผู้ใหญ่ก็หันไปจิบน้ำชาชิทแชทกันต่อไป

แต่สุนทรพจน์ของ เกรต้า ธันเบิร์ก แตกต่างจากแบบแผนอย่างสิ้นเชิง เธอพูดถึงปัญหาโลกร้อนด้วยความเดือดดาล เกรี้ยวกราด น้ำเสียงทุ้มต่ำ แววตาเคร่งเครียด มีหลุดตะโกนเหมือนการด่าทอเป็นระยะ พร้อมข้อมูลแน่นปึ้กที่บ่งบอกว่าศึกษามาอย่างดี

การกล่าวสุนทรพจน์ของ เกรต้า ธันเบิร์ก ครั้งนี้จึงไม่ใช่การแสดงความสามารถพิเศษ (Talent show) เพื่อเอาอกเอาใจผู้ใหญ่อย่างที่หลายคนคาดหวัง แต่เป็นการสั่งสอน (lecture) และตำหนิ (blame) เหล่าคนสำคัญผู้นำโลกผ่านสื่อสารมวลชนที่ออนแอร์ไปทั่วโลก

“ฉันไม่ควรมาอยู่บนเวทีนี้ แต่ควรกลับไปเรียนหนังสือ ในอีกฟากฝั่งของมหาสมุทร แต่พวกคุณก็เดินทางมาหาความหวังจากพวกเรา เยาวชน คุณกล้าดีอย่างไร คุณขโมยเอาความฝันและวัยเด็กของเราด้วยความพูดจอมปลอม นี่ฉันถือว่าเป็นกลุ่มคนที่โชคดีแล้วนะ ผู้คนอยู่อย่างทรมาน คนบาดเจ็บล้มตาย และระบบนิเวศกำลังล้มลง เรากำลังจะสูญพันธุ์ พวกคุณกล้าดีอย่างไรที่พูดกันแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ” ส่วนหนึ่งจากสุนทรพจน์ของ เกรต้า ธันเบิร์ก

ปรากฎการณ์ เกรต้า ธันเบิร์ก บอกอะไรกับเรา

ความดุเดือดของ เกรต้า ธันเบิร์ก กลางที่ประชุมระดับโลกนั้นเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของสงครามระหว่างเจเนอเรชั่นที่กำลังปะทุเดือดอยู่ในทุกพื้นที่ของโลก ตั้งแต่ระดับครัวเรือนลุกลามจนถึงระดับโลก

เมื่อ เกรต้า ธันเบิร์ก สาววัย 15 ปีซึ่งเป็นตัวแทนของเยาวชนวัย Generation Z ออกโรงหักหน้าผู้มีอำนาจนำในสังคมซึ่งตอนนี้เป็นคนรุ่น Generation X ชนิดหักดิบ เราจึงเห็นธาตุแท้ของคนยุคเก่าบางกลุ่มซึ่งแสดงถึงภาวะไร้น้ำอดน้ำทน (intolerance) และความไม่เดียงสา (immature) ซึ่งขนวิธีการหยาบคายมาโจมตี เกรต้า ธันเบิร์ก อย่างไม่รักษาภาพพจน์ตัวเองอีกต่อไป

ตัวอย่างเช่น การที่นายดิเนศ ดิซูซา นักวิจารณ์การเมืองหัวอนุรักษนิยมชาวอเมริกัน เชื้อสายอินเดีย โพสต์รูปภาพเปรียบเทียบ เกรต้า ธันเบิร์ก กับเด็กสาวบนโปสเตอร์ที่ กองทัพนาซีเยอรมัน ใช้โฆษณาชวนเชื่อ หรือการพยายามอธิบายพฤติกรรมก้าวร้าวของเธอว่าเป็นผลมาจากอาการแอสเพอร์เกอร์ซึ่งเป็นกลุ่มอาการเดียวกับโรคออทิสติค มากกว่านั้นกลุ่มอนุรักษ์นิยมหลายคนยังโจมตีเธอเรื่องหน้าตาประหลาดบิดเบี้ยว ท่าทางไม่เต็มเต็ง (ซึ่งเธอก็ตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่าคงไม่มีอะไรให้วิจารณ์แล้ว ถึงขุดเรื่องหน้าตามาว่ากัน)

ปรากฎการณ์การต่อสู้ของ เกรต้า ธันเบิร์ก ด้านหนึ่งจึงไม่ต่างอะไรกับชัยชนะถล่มถลายของพรรคอนาคตใหม่ การประท้วงฮ่องกงที่รณรงค์กันผ่านเยาวชนคนรุ่นใหม่ และการขับไล่ผู้นำเผด็จการจากปรากฎการณ์อาหรับสปริง นี่คือเสียงอันเกรี้ยวกราดของคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นเก่าจะอุดหูหนีไม่ได้อีก เสียงที่จะทวีความดังยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นในอนาคต

…และหากไม่ฟัง เสียงนี้กรอกหูจนคุณยอมศิโรราบในที่สุด

from:https://www.thumbsup.in.th/%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%8e%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%93%e0%b9%8c-%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%b2-%e0%b8%98%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%b4

ปรากฎการณ์ ‘เกรต้า ธันเบิร์ก’ สะท้อนความเดือดดาลของ Generation Z

สำหรับผมแล้ว สุนทรพจน์ของ เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน กลางที่ประชุมสหประชาชาตินั้นไม่ได้ “แซ่บ” ที่เนื้อหา แต่ให้เผ็ดพริกสิบเม็ดที่ “ลีลาและท่วงท่า” เลยทีเดียว

ที่พูดแบบนี้เพราะเนื้อหา (message) ประนามผู้นำโลกเกี่ยวกับภาวะเรือนกระจกนั้นมีให้เห็นดาษดื่นตามหน้าหนังสือพิมพ์และอินเตอร์เน็ตทุกวัน รุนแรงกว่านี้ หยาบคายกว่านี้ก็มีให้เห็นอีกเยอะ แต่การที่ เกรต้า ธันเบิร์ก โด่งดังภายในข้ามคืนอย่างที่เราเห็น ส่วนหนึ่งก็มาจากการแสดงออกที่ต่างจาก “เด็ก” ทั่วไป

โดยปกติแล้ว “เด็ก” ที่ได้รับอนุญาตให้กล่าวสุนทรพจน์กลางที่ประชุมใหญ่ๆ นั้นมักมีสถานะไม่ต่างจาก “จำอวด” คั่นเวลาก่อนที่ผู้ใหญ่จะเริ่มคุยงาน กล่าวคือเด็กๆ เหล่านี้มักจะถูกมอบหมายให้พูดแต่เรื่องกว้างๆ สิ่งแวดล้อม สังคม สันติภาพโลก ฯลฯ เพื่อให้ผู้ใหญ่ฟังแล้วอมยิ้มในความไร้เดียงสา พูดไปแล้วเด็กๆ ก็ดูน่ารัก น่าเอ็นดู ฉลาดหลักแหลม จบฟินาเล่ด้วยเสียงปรบมือจากบุคคลสำคัญหรือนักการเมืองใหญ่ๆ พร้อมกับกล่าวว่า

“เป็นแค่เด็กแต่ก็เก่งได้ขนาดนี้ หนูอนาคตไกลแน่ๆ จ๊ะ” พูดเสร็จพวกผู้ใหญ่ก็หันไปจิบน้ำชาชิทแชทกันต่อไป

แต่สุนทรพจน์ของ เกรต้า ธันเบิร์ก แตกต่างจากแบบแผนอย่างสิ้นเชิง เธอพูดถึงปัญหาโลกร้อนด้วยความเดือดดาล เกรี้ยวกราด น้ำเสียงทุ้มต่ำ แววตาเคร่งเครียด มีหลุดตะโกนเหมือนการด่าทอเป็นระยะ พร้อมข้อมูลแน่นปึ้กที่บ่งบอกว่าศึกษามาอย่างดี

การกล่าวสุนทรพจน์ของ เกรต้า ธันเบิร์ก ครั้งนี้จึงไม่ใช่การแสดงความสามารถพิเศษ (Talent show) เพื่อเอาอกเอาใจผู้ใหญ่อย่างที่หลายคนคาดหวัง แต่เป็นการสั่งสอน (lecture) และตำหนิ (blame) เหล่าคนสำคัญผู้นำโลกผ่านสื่อสารมวลชนที่ออนแอร์ไปทั่วโลก

“ฉันไม่ควรมาอยู่บนเวทีนี้ แต่ควรกลับไปเรียนหนังสือ ในอีกฟากฝั่งของมหาสมุทร แต่พวกคุณก็เดินทางมาหาความหวังจากพวกเรา เยาวชน คุณกล้าดีอย่างไร คุณขโมยเอาความฝันและวัยเด็กของเราด้วยความพูดจอมปลอม นี่ฉันถือว่าเป็นกลุ่มคนที่โชคดีแล้วนะ ผู้คนอยู่อย่างทรมาน คนบาดเจ็บล้มตาย และระบบนิเวศกำลังล้มลง เรากำลังจะสูญพันธุ์ พวกคุณกล้าดีอย่างไรที่พูดกันแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ” ส่วนหนึ่งจากสุนทรพจน์ของ เกรต้า ธันเบิร์ก

ปรากฎการณ์ เกรต้า ธันเบิร์ก บอกอะไรกับเรา

ความดุเดือดของ เกรต้า ธันเบิร์ก กลางที่ประชุมระดับโลกนั้นเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของสงครามระหว่างเจเนอเรชั่นที่กำลังปะทุเดือดอยู่ในทุกพื้นที่ของโลก ตั้งแต่ระดับครัวเรือนลุกลามจนถึงระดับโลก

เมื่อ เกรต้า ธันเบิร์ก สาววัย 15 ปีซึ่งเป็นตัวแทนของเยาวชนวัย Generation Z ออกโรงหักหน้าผู้มีอำนาจนำในสังคมซึ่งตอนนี้เป็นคนรุ่น Generation X ชนิดหักดิบ เราจึงเห็นธาตุแท้ของคนยุคเก่าบางกลุ่มซึ่งแสดงถึงภาวะไร้น้ำอดน้ำทน (intolerance) และความไม่เดียงสา (immature) ซึ่งขนวิธีการหยาบคายมาโจมตี เกรต้า ธันเบิร์ก อย่างไม่รักษาภาพพจน์ตัวเองอีกต่อไป

ตัวอย่างเช่น การที่นายดิเนศ ดิซูซา นักวิจารณ์การเมืองหัวอนุรักษนิยมชาวอเมริกัน เชื้อสายอินเดีย โพสต์รูปภาพเปรียบเทียบ เกรต้า ธันเบิร์ก กับเด็กสาวบนโปสเตอร์ที่ กองทัพนาซีเยอรมัน ใช้โฆษณาชวนเชื่อ หรือการพยายามอธิบายพฤติกรรมก้าวร้าวของเธอว่าเป็นผลมาจากอาการแอสเพอร์เกอร์ซึ่งเป็นกลุ่มอาการเดียวกับโรคออทิสติค มากกว่านั้นกลุ่มอนุรักษ์นิยมหลายคนยังโจมตีเธอเรื่องหน้าตาประหลาดบิดเบี้ยว ท่าทางไม่เต็มเต็ง (ซึ่งเธอก็ตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่าคงไม่มีอะไรให้วิจารณ์แล้ว ถึงขุดเรื่องหน้าตามาว่ากัน)

ปรากฎการณ์การต่อสู้ของ เกรต้า ธันเบิร์ก ด้านหนึ่งจึงไม่ต่างอะไรกับชัยชนะถล่มถลายของพรรคอนาคตใหม่ ไม่ต่างกับการประท้วงฮ่องกงที่รณรงค์กันผ่านเยาวชนคนรุ่นใหม่ และไม่ต่างกับการขับไล่ผู้นำเผด็จการจากปรากฎการณ์อาหรับสปริง

นี่คือเสียงอันเกรี้ยวกราดของคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นเก่าจะอุดหูหนีไม่ได้อีก เสียงที่จะทวีความดังยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นในอนาคต

…และหากไม่ฟัง เสียงนี้กรอกหูจนคุณยอมศิโรราบในที่สุด

from:https://www.thumbsup.in.th/greta-thunberg

[Opinion] อย่าอ่านแต่เทรนด์ แต่เราควรสร้างเทรนด์

ช่วงปลายปี เป็นธรรมเนียมของเว็บต่างๆ ที่จะนำเสนอแนวความคิดประเภท Digital Marketing Trends 2019 ออกมามากมาย ผมเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าพออ่านบทความประเภท Digital Marketing Trends จากเว็บต่างๆ ตอนนี้แล้วเริ่มรู้สึกว่า “เออ เจ๋งดี เห็นด้วย!” กับ “อ่า… มันอาจจะใช่อย่างนั้นก็ได้ครับ” แปลง่ายๆ ว่าเชื่อบ้างหรือยังไม่เชื่อบ้างนั่นเอง เป็นเพราะว่า

คำว่า “เทรนด์” มันก็คือ “แนวโน้ม” หรือ “สมัยนิยม”

–>

“แนวโน้ม” หรือ “สมัยนิยม” มักจะเป็น “ความคิดเห็นจาก คน / สำนักความคิด ที่เชื่อว่าสิ่งนั้นๆ เป็นสิ่งใหม่ หรือกำลังเป็นที่พูดถึง และอาจจะมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมที่เรากำลังทำงานอยู่”

–>

เราฟัง “ความคิดเห็น” จึงหมายถึง มันอาจจะเวิร์ค หรืออาจจะไม่เวิร์ค ในปีถัดไปทันทีก็ได้

เช่น

เทคโนโลยี AR / VR
เทรนด์ที่บอกว่าเทคโนโลยี AR / VR น่าสนใจ แต่จริงๆ เราทุกคนก็รู้ว่าเทคโนโลยีมันมีมาหลายสิบปีแล้ว แต่มันก็ค่อยๆ มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ

จากเมื่อสัก 10 ปีก่อนมีแต่พวก AR Browser อย่าง Layar (ใครนึกภาพไม่ออกนึกถึงแว่นเบจีต้าในการ์ตูน Dragon Ball นะครับ)

เมื่อ 3 ปีก่อนมี Pokemon Go พอมาถึง พ.ศ. นี้ AR / VR กลายเป็นความบันเทิงที่ทุกคนเข้าถึงได้ เมืองไทยเริ่มมีสวนสนุก VR เปิดกันหลายที่ แต่ในแง่มุมของ Marketing Communication มันก็ยังคงเป็นแค่สีสันการตลาด

สิ่งที่อยากจะชวนคิดกันก็คือ ในเมื่อเราพอจะเห็นแล้วว่าเทคโนโลยี มันมีผลกับการตลาด แต่เทคโนโลยีก็ต้องการเวลาที่จะเข้าถึงคนให้ได้มากขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นในแง่ว่าเทคโนโลยีมันต้องดีขึ้น / เร็วขึ้น / ถูกลง)

จึงเป็นไปได้ที่เราควรให้เวลากับเทคโนโลยีรอบตัว เราควรจะเอาเวลาส่วนหนึ่งของเราไปทดลองสร้างสิ่งใหม่บนเทคโนโลยีเหล่านี้ดูบ้าง เปิดใจให้กับการทดลอง และพร้อมที่จะ “พลาด” จากมันได้บ้าง แล้ววันหนึ่งมันก็จะ “สำเร็จ” ได้

นั่นแหละ เพราะ “เทรนด์” มันไม่ใช่ “สูตรสำเร็จ” แต่มันเป็นเพียงความคิดเห็นที่น่าสนใจ มันอยู่ที่เราจะเอาไปปฎิบัติหรือเปล่า

อย่าอ่านแต่เทรนด์ แต่เรานั่นแหละคือคนสร้างเทรนด์ จะเกิดไม่เกิด ขึ้นอยู่ที่เราจะทดลองทำสิ่งใหม่หรือเปล่าเท่านั้นเอง

Q: แล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง นี่จะมีแค่แรงบันดาลใจแล้วหายไปเฉยๆ ใช่ไหม?
A: ไม่ใช่ ที่บอกว่าทุกคนสามารถสร้างเทรนด์ได้ ผมพูดจริง แต่มีแนวทางปฎิบัติเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  • ในแง่องค์กร: ให้ตั้งงบประมาณ และตัวชี้วัดความสำเร็จ กำหนดตัวคนทำ ออกมาเลย โดยตั้งเป็น “งบทดลองทำสิ่งใหม่” โดยยังไม่ต้องไปผูกกับผลลัพธ์ทางธุรกิจ เช่น ต้องขายของได้ทันที ต้องมีคนเข้ามาล้านคนทันที ไม่เช่นนั้นจะมีคำถามเยอะ แต่ต้องแน่ใจว่าทีมงานของคุณรู้ว่านี่คือการทดลองเพราะมันอาจจะนำไปสู่เป้าหมายใด เมื่อเขาเห็นด้วย เขาก็จะพร้อมจะทำสิ่งใหม่ไปกับคุณ
  • ในแง่บุคคลธรรมดา: ถ้าคุณแค่เปิดเพจ เปิดบล็อก เป็น Freelancer คุณแค่ทำคนเดียว หรือทำกับเพื่อน คุณจะไม่ต้องตอบคำถามเยอะจากคนรอบตัว แต่แค่ต้องจัดเวลาทดลองทำให้ได้ ไม่งั้นคุณจะโดนงานรูทีนกินเวลาในการสร้างสิ่งใหม่
  • ถ้ามีแนวคิดอะไรเพิ่มเติมก็โพสต์มาด้านล่างนี้หรือใส่ใน Facebook Comment หรือตอบเราบน Twitter ก็ได้ครับ
 
Source: thumbsup

from:https://thumbsup.in.th/2018/12/opinion-do-not-just-read-trend-create-trend/

บทเรียนจากการเขียน Blog มา 12 ปี

ช่วงวันหยุดยาว มีเวลาอยู่กับตัวเองนานหน่อย ผมเลยเกิดฉุกคิดได้ว่าแป๊บๆ ก็เขียน Blog มาร่วม 12 ปีได้แล้ว (นี่ยังไม่นับยุค “ไดอะรี่” แบบไปส่องๆ กันเองบน DiaryHub, Storythai, Exteen ฯลฯ) ก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วเราเรียนรู้อะไรจากการใช้เวลาตั้ง 1 รอบชีวิตกับมันบ้าง มันมีความหมายว่าอะไร เลยอยากเขียนเอาไว้เป็นบันทึกกับตัวเองไว้ใน thumbsup ครับ

นั่งนึกย้อนกลับไป เราเจออะไรมาบ้าง?

  • เราอยากให้คนอ่าน (ที่ผมชอบบังคับให้คนอื่นเรียกว่า thumbsupers) มีข่าวสดๆ ใหม่ๆ อ่าน เลยตื่นตี 4 ตี 5 มาเขียน เพื่อให้ทัน 6 โมงเช้า แต่ตอนนี้ไม่ไหวแล้วนะ แต่ตอนนั้นฟิตมาก
  • นั่งหลังขดหลังแข็งเขียนอย่างต่อเนื่องมาตอนนี้ก็เป็นพันตอนแล้ว เพื่อให้คนที่ติดตามมั่นใจว่าไม่ได้มาเล่นๆ จนยอมที่จะกดติดตามในช่องทางต่างๆ
  • เรารู้สึกได้ว่าคนอ่านบางคนรู้จักเราจริงๆ ไม่ได้ตามอ่านเรื่องราวของเราแบบผ่านๆ และเวลาเจอคนเหล่านี้ในงาน event เขาจะอยากคุยเรื่องที่เราเขียน มันทำให้เรารู้สึกมีค่า
  • นั่งคิดหาประเด็นเล่าเรื่อง ออกสถานที่หาวัตถุดิบมาเขียน หรือถ่ายทำคลิปประกอบ Blog เหนื่อย แต่ก็สนุก
  • เตรียมการสัมภาษณ์คน ถอดเทป เรียบเรียง โปรโมท Content ตัวเองครั้งหนึ่งร่วม 10 ชั่วโมง เหนื่อยโคตร
  • เสียเงิน เสียเวลาทำสิ่งที่ก็ไม่แน่ว่าจะมีรายได้กลับมาสักเท่าไหร่ เมื่อไหร่ แต่ก็ทำ
  • เรารู้สึกว่าการเขียน Blog มันเป็นประสบการณ์ที่ดีของชีวิตมากๆ มันพาเราไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิตเยอะมาก ทำให้เรารู้จักคนใหม่ๆ ทำให้เราได้ทำรายการโทรทัศน์ ทำให้เราได้ลองออกหนังสือของตัวเอง ทำให้เราได้มีบริษัทของตัวเอง เปิดโอกาสให้ชีวิตเราหลากหลายขึ้นเยอะเลย
  • ฯลฯ

เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งธรรมดาที่เจอ แต่ถึงจะเหนื่อยกับมันแค่ไหน เราก็รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ทำ เพราะเรารู้ว่าเป้าหมายในการทำงานตรงนี้ไม่ใช่แค่การทำเพื่อตัวเอง แต่มันเป็นการทำอะไรที่อยู่เหนือขึ้นไปกว่าตัวเอง โดยเฉพาะการให้อะไรกับ “คนอ่าน”

ผมไม่ได้ตู่เอาเองนะครับ ลองโพสต์ถามเพื่อนรอบๆ ตัวดูแล้วว่า “อะไรทำให้คุณยังคงเขียน Blog, เปิดเพจมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เลิกล้มไปเสียก่อน จงอภิปราย” ปรากฏว่ามีเพื่อนๆ Blogger เขียนตอบกันมามากกว่า 50 ความคิดเห็น ขอเอาบางส่วนมาใส่ในนี้นะครับ แทบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยู่มาได้ขนาดนี้เพราะ “คนอ่าน”

Mao Investor – 1. เริ่มทำเพราะชอบ 2. ทำต่อเนื่องเพราะมีคนอื่นชอบและส่งพลังกลับมาให้เรา การที่มีคนมาเม้นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ดีใจแล้ว ถ้าไม่มีคนอ่านก็คงไม่ได้ทำต่อนานขนาดนี้ค่ะ สรุปคือเพราะคนอ่าน

MartinPhu – ของผมเขียนมาตั้งแต่ปี 2009 มาจนถึงปัจจุบันเพราะว่า ยังมีคนตามอ่าน และพูดคุยกันเสมอ รู้สึกว่าได้แบ่งปันความรู้หรือสิ่งที่เราได้ไปพบเห็นมาครับ ยังไม่เคยรู้สึกว่าอยากเลิกเขียน เพราะว่าสนุกที่จะแชร์ครับ ไม่ได้คาดหวังเรื่องชื่อเสียงหรืองานที่จะเข้ามาผ่านบล็อกสักเท่าไหร่ครับ

Designil – ชอบขีดๆ เขียนๆ ฮะ // เคยแพลนว่าจะเขียน Blog เรื่องนี้อยู่นานมากแล้วฮะ ตอนนั้นมีนักศึกษาเมลมาขอบคุณที่บทความในเว็บทำให้เค้าเรียนจบ

8 บรรทัดครึ่ง – เพราะยังมีคนอ่านครับ

Jetboat – คุณค่าในตัวเอง

iAumReview – ส่วนนึงกลายเป็น Routine ที่เราทำจนเคยชิน ไม่ทำคือขาด ส่วนนึงก็เป็น Business ไม่ทำ ก็ไม่มีกิน ไม่มีใช้เท่าปัจจุบัน ส่วนนึงกลายเป็นความรัก เบื่อกันบ้าง เซ็งกันบ้าง แต่ถ้าไม่มีแก ก็ไม่มีใคร อะไรแบบนี้ค่า

@kidmakk – เยียวยาความรู้สึกของตัว และคนอื่นๆ ครับ

ความเห็นของหลายๆ ท่านดีๆ เพียบเลยแต่อาจจะคล้ายกันเลยไม่ได้ลงตรงนี้ ลองไปอ่านกันดูในโพสต์นี้นะครับ แต่ผมคิดว่าพอจะสรุปรวมๆ ได้ว่า…

โดยส่วนใหญ่แล้ว Blogger แทบทุกคนเขียนมาได้อย่างยาวนานเพราะใจรัก ทำไปแล้วรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ทำจนกลายเป็นนิสัย และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้วถ้าไม่ได้ทำ Content ให้คนอ่านได้เสพจะรู้สึกขาดอะไรไปสักอย่าง 

และนอกจากเหตุผลที่เขียนมาข้างบนทั้งหมด ที่จริงผมมีมุมมองเพิ่มเติมว่า Blogger อาจไม่จำเป็นต้องตอบสนองกลไกการตลาดแต่อย่างเดียวก็ได้ หากแต่ Blogger สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมระดับที่ใหญ่ขึ้นได้ด้วย

บางคนอ่านไป อาจจะมีคำถามว่า Blogger เนี่ยนะ สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอะไร?

เป็นอาชีพก็แค่ทำแลกเปลี่ยนเงินไปก็จบแล้วนี่นา?

ประเด็นที่ผมอยากจะแชร์กับทุกคนในวันนี้ ไม่ใช่แค่ว่า Blogger ในฐานะอาชีพๆ หนึ่งมันเป็นยังไงหรอกครับ แต่ผมอยากจะชี้ว่าที่จริงแล้ว Blogger จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมในมิติที่มันนอกเหนือไปจากการหารายได้ได้ด้วย

เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ผมขอยกตัวอย่างของ Blogger คนหนึ่งครับ

คุ้นหน้าผู้หญิงคนนี้กันบ้างไหมครับ?

เธอชื่อ มะลาละห์ ยูซัฟซัย ครับ ปัจจุบันเธอเป็นนักการศึกษาและนักเรียกร้องสิทธิสตรี อายุแค่ 21 ปีเท่านั้นเอง

เมื่อสิบปีก่อน เธอเป็นเด็กนักเรียนจากเมืองมินโกรา เขตสวัด ประเทศปากีสถาน มะลาละห์เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อเธออายุเพียง 11 ปี ในฐานะ Blogger คนหนึ่งที่เขียน Blog ส่งให้สำนักข่าว BBC ทั้งหมดเกิดขึ้นจาก ณ เวลานั้นในเขตหมู่บ้านของเธอจะมีกลุ่มตาลีบันที่คอยห้ามไม่ให้เด็กผู้หญิงเข้าศึกษาในโรงเรียน มะลาละห์คิดว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เธอเลยเขียน Blog เล่าเรื่องราวชีวิตของเธอภายใต้ระบอบตาลีบันที่พยายามเข้าไปควบคุมหุบเขา และมุมมองของเธอต่อการสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กผู้หญิง

สิ่งที่เธอเขียน เธอเขียนด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในระดับที่สูงขึ้นไปกว่าตัวเราเองอย่างเดียว Blog ของเธอจึงมีพลัง และพลังนี้ก็ส่งต่อไปถึงสถาบันอื่นๆ

ต่อมาทางสำนักข่าว New York Times อ่าน Blog ของเธอจึงได้สนใจเข้ามาทำสารคดีชีวิต วิธีคิดของเธอ สารคดีชิ้นนั้นทำให้สื่อทั้งในและต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจทำให้เธอเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น จนต่อมามะลาละห์ก็ได้รับตำแหน่งประธานสภาเด็กเขตสวัด จากนั้นเธอได้รับการเสนอชื่อรางวัลระดับนานาชาติมากมาย

แต่ชื่อเสียงที่มากขึ้นของเธอกลับทำให้กลุ่มตาลีบันไม่พอใจ… มะลาละห์ ถูกกลุ่มตาลีบันลอบยิงเข้าที่หัวและคอสาหัสปางตาย แต่โชคดีที่รอดมาได้ จนในที่สุด มูลนิธิโนเบลได้ประกาศให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นอกจากนี้นิตยสาร TIME ยังได้ระบุว่ามะลาละห์คือหนึ่งในบุคคลผู้มีอิทธิพลที่สุดของโลกในปีนั้นอีกด้วย

จากเส้นทางเหล่านี้จะเห็นได้ว่า มะลาละห์ เริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการเขียน Blog แต่เธอคิดจากฐานของแนวความคิดในการทำสิ่งที่เหนือกว่าตัวเองขึ้นไปในระดับที่สร้างผลกระทบกับคนจำนวนมาก อย่างในกรณีนี้ก็คือการต่อสู้เพื่อสิทธิในการศึกษาของเด็กผู้หญิง ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเองอย่างเดียว

ถ้าลองมองดูดีๆ คุณจะเห็นว่าเส้นทางชีวิตของเธอ เมื่อเธอเลือกที่เขียน Blog เกี่ยวกับเรื่องที่มีคุณค่าอย่างสิทธิสตรี เธอก็ได้รับความสนใจจากผู้คน จากสื่อ จาก Blogger คนอื่นๆ และเมื่อเรื่องของเธอได้ถูกนำไปเล่าต่อจนกลายเป็นสารคดีของ New York Times ประกอบกับการต่อสู้เพื่อการศึกษาของเด็กผู้หญิง

– – – – –

พาคุณกลับจากปากีสถานมาที่ไทย…

ผมรู้สึกดีใจที่ได้เขียน Blog รับใช้ Community ที่อยู่รายรอบตัวผมมาถึง 12 ปี และจากนี้ไปก็เลยอยากจะท้าทายตัวเองว่าอยากจะให้ Blog ที่เขียนนี้สามารถทำสิ่งที่ใหญ่ขึ้นไปกว่านี้ได้อีก และปี 2019 จะเป็นปีที่ผมจะทำมันให้ดีขึ้นไปอีกเพื่อให้สามารถรับใช้คุณได้มากกว่าเดิม

 

 
Source: thumbsup

from:https://thumbsup.in.th/2018/10/what-i-learn-being-blogger-for-12-years/

กำจัดโรคเกลียดวันจันทร์ไปตลอดกาล ด้วยแนวคิดอิคิไก (Ikigai)

ผมเป็นคนชอบเวลาค่ำวันอาทิตย์ก้าวเข้าสู่วันจันทร์ครับ ชอบเพราะมันตื่นเต้นนิดๆ ว่าเราจะได้เจออะไรใหม่ๆ ในอาทิตย์ถัดไปแล้ว หรือไม่ก็ได้สะสางอะไรที่ทำไว้ค้างๆ คาๆ ในอาทิตย์ก่อนเสียที บางคนอาจจะบอกว่าไม่เห็นชอบวันจันทร์เลย (ไอ้คนเขียนท่าจะเพี้ยน) นั่นเป็นเพราะว่าวันจันทร์เป็นวันที่จะต้องกลับไปทำงาน ผมเองก็เคยเขียน 5 วิธีบรรเทาอาการโรคเกลียดวันจันทร์เอาไว้เมื่อ 7 ปีก่อน แต่พอมาถึงวันนี้ผมกลับพบว่าสิ่งที่เคยเขียนเอาไว้มันช่างไร้สาระจริงๆ เพราะคีย์เวิร์ดสำคัญของการที่เราจะรักวันจันทร์ได้ก็คือ “รักในสิ่งที่ทำ” ต่างหาก

เพื่อนๆ thumbsupers อย่าเพิ่งเบื่อกับประโยคที่ผู้รู้ทั่วโลกกล่าวย้ำคำเดิมที่ว่า “รักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เรารัก” เลยนะครับ ผมรู้ว่าคุณอาจจะเคยอ่านบทความอะไรแบบนี้มาเยอะแยะ แต่สุดท้ายเราก็กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมกันอยู่ดี คือทำงานงกๆๆๆ ได้เงินมากมาย มีคนรู้จักผลงาน แต่สุดท้ายก็กลับมาเกลียดวันจันทร์อยู่ดี นั่นเป็นเพราะคนๆ นั้นทำงาน ได้เงินมา แต่ตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือหลงใหลอะไร แถมยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นสิ่งที่ชอบหรือเปล่า

ปัญหาของพวกเราส่วนใหญ่เลยกลายเป็นว่า เรามักจะไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองจะอุทิศทุ่มเทชีวิตนี้ให้กับอะไรได้บ้าง คิดๆ ไปมันก็คล้ายกับคอนเซ็ปต์ Ikigai (อิคิไก) ที่แปลว่า “เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ ที่ทำให้อยากตื่นในทุกๆ เช้า”

ส่วนตัวแล้วผมชอบคอนเซ็ปต์ ของ “แผนผังอิคิไก” ด้านล่างนี้มากๆ ครับ เพราะมันวาดภาพให้เราเห็นได้ชัดว่า ถ้าคนเราจะมีเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ได้ คนเราควรจะมี 4 ปัจจัย นั่นคือ

“สิ่งที่คุณรัก” (what you love)

“สิ่งที่มีประโยชน์ต่อโลกใบนี้” (what the world needs)

“สิ่งที่สร้างรายได้ให้คุณ” (what you can be paid for)

“สิ่งที่คุณทำได้ดี” (what you are good at)

 

แล้ว Ikigai มันมาเกี่ยวกับการจะรักวันจันทร์ได้อย่างไร?

Ikigai เข้ามาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะถ้าหากเราสามารถหาสมดุลของทั้ง 4 ปัจจัยได้ คุณจะรู้สึกว่าเช้านั้น (หรือไม่ว่าเช้าวันไหน) คุณก็จะรู้สึกได้ว่า คุณ Ok กับมัน คุณรู้สึกฟินกับมัน และไม่รู้สึกผิดกับตัวเองที่ตื่นเช้ามาเจอความเป็นจริงในเช้าวันจันทร์ ไม่ฟูมฟายหรืออยากหลีกหนีมันแต่อย่างใด

หวังว่าคอนเซ็ปต์อิคิไก (Ikigai) นี้เป็นตัวตั้งต้นที่ทำให้พวกเราทุกคนรู้สึกดีกับวันจันทร์ได้นะครับ ใครค้นพบแล้ว Inbox มาเล่าให้พวกเราฟังบ้างนะครับ

 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2018/06/happy-monday/

[Blog แนวอุดมคติ] คุณได้ทำ ‘Content ที่แท้จริง’ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

คำเตือน: บทความนี้เป็นบทความแนวอุดมคติ หรือคติที่เราควรจะไปให้ถึง และจะชวนคุณผู้อ่านคิดว่า Content ที่คุณทำอยู่ทุกวันนี้คืออะไร คุณทำมันไปเพื่ออะไร และแท้จริงแล้วมันเป็น Content จริงๆ หรือเปล่า และถ้ามันไม่ใช่ Content สิ่งที่คุณทำจะยังมีค่าอยู่หรือไม่ เพราะเหตุใด? แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ

หลับตาย้อนอดีตไปปี 1996 ตั้งแต่ Bill Gates เขียนบทความที่ชื่อว่า Content is King ออกมา ก็มีนักการตลาดด้าน Content หลายคนเอาไปอ้างอิงอยู่บ่อยๆ บ่อยจนผมคิดว่า “จริงเหรอ?” เพราะเอาเข้าจริงๆ ชีวิตคนทำ Content มันก็ไม่ได้เป็น “ราชา” อะไรอย่างที่ลุง Bill เขาว่าอย่างนั้นสักหน่อย

เผลอๆ คนทำ Content แทบจะตกเป็น “ทาส” ของการผลิต Content ด้วยซ้ำ (ไม่เชื่อ ลองนึกภาพ Blogger หรือเจ้าของเพจดังสักคนที่ต้องคอยผลิต Content ออกมาอยู่ทุกๆ วันอาทิตย์ละ 20 โพสต์สิ หรือนึกภาพขององค์กรแบบ Netflix หรือ iFlix ที่ต้องไปไล่ซื้อ Content หนังจำนวนมากๆ มารอ user สิ ทุกคนเหนื่อยหมดนะ ไม่มีใครสบายจริงๆ หรอก)

แต่ก่อนจะเวิ่นเว้อไปไกลกว่านี้ ผมขอพา thumbsupers มาย้อนอ่านนิยามของคำว่า Content กันสักนิดนะครับ

Content แปลแบบคำนามก็แปลว่า เนื้อหา หรือสิ่งที่บรรจุอยู่ข้างใน
แต่ถ้าเราแปลแบบคำกริยามันแปลว่า ทำให้พึงพอใจ อิ่มอกอิ่มใจ
พวกเราทุกคนมีสิทธิ์จะเป็นคนทำ Content ได้หมดครับ เพียงเราเป็นคนที่สามารถทำให้คนอื่นพึงพอใจได้ อิ่มอกอิ่มใจได้ ไม่จำเป็นว่าคุณต้องเป็นนักเขียน หรือคนทำหนังเท่านั้นถึงจะถือว่าเป็นคนทำ Content
เพราะท้ายที่สุดแล้วคำว่า Content มันก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนทำด้วยครับ เช่น
  • ถ้าคุณเป็นนักข่าว Content ที่คุณทำก็คือข่าวสารที่จะทำให้คนอ่านของคุณได้รับรู้ข่าวสารข้อมูลที่มีประโยชน์ หรือได้รับความบันเทิง
  • ถ้าคุณเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย Content ที่คุณทำก็คือหนังสือ บทความวิชาการ บล็อกที่ให้ความรู้
  • ถ้าคุณเป็นคนทำงานในบริษัทแนวองค์กรธุรกิจ Content ของคุณก็มักจะเป็นงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่ส่งผลประโยชน์ต่อองค์กรของคุณ
  • ถ้าคุณเป็นศิลปิน Content ของศิลปินก็คืองานศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ วรรณกรรมที่คุณสร้างสรรค์ออกมาเพื่อความบันเทิง หรือส่งมอบคุณค่าทางศิลปะแก่ผู้คน
  • ถ้าคุณทำงานอยู่ในภาครัฐ Content ของรัฐบาลก็คือการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อสื่อสารกับประชาชน สมัยนี้ก็เลยไปถึงขั้น Open data

แต่ทั้งหมดนี้นิยามร่วมของมันระบุไว้แล้วว่า Content แปลว่า เนื้อหาที่ทำให้พึงพอใจ อิ่มอกอิ่มใจ นั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าว อาจารย์มหาวิทยาลัย พนักงานบริษัท ศิลปิน ข้าราชการ คุณล้วนแล้วแต่มีหน้าที่ทำให้ผู้ชมของคุณพึงพอใจ อิ่มอกอิ่มใจในแบบที่เขาอยากจะฟัง อยากจะเสพจากคุณ

ด้วยเหตุและผลที่เล่ามาทั้งหมด จึงพอจะสรุปแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า ถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นคนทำ Content หน้าที่ของคุณคือการสร้างประโยชน์ให้ผู้ชมพึงพอใจ

  • ถ้าคุณเป็นนักข่าว ข่าวสารของคุณควรเป็นข่าวสารที่ทำให้คนพึงใจ ไม่ใช่ข่าวสารที่บิดเบือนหรือเต็มไปด้วยความคิดที่ทำร้ายคน นักข่าวคนนั้นควรมีความตั้งใจดีที่จะทำให้ประชาชนคนอ่านได้ประโยชน์ มากกว่าทำให้ได้ยอดผู้อ่านมากๆ เพื่อให้ขายโฆษณาให้ได้มากๆ
  • ถ้าคุณเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หนังสือ บทความวิชาการ บล็อก ของคุณก็ควรทำหน้าที่ให้ความรู้ สร้างสรรค์ทฤษฎีที่โน้มนำให้คนนำแนวความคิดไปปฎิบัติและสร้างสรรค์สังคมได้ มากกว่าอยากจะเขียนเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพอย่างเดียว
  • ถ้าคุณเป็นคนทำงานในบริษัทแนวองค์กรธุรกิจ งานโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็ต้องเป็นแบบที่คนอ่านอยากอ่าน ไม่ใช่สักแต่ว่าขายของแบบไม่ดูบริบทและความต้องการของคน (จะบอกว่าเป็น Pull approach มากกว่า Push approach ก็ได้)
  • ถ้าคุณเป็นศิลปิน งานศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ วรรณกรรมที่คุณสร้างสรรค์ออกมา ก็ต้องพยายามสร้างแง่งามในใจคน
  • ถ้าคุณทำ Content ของภาครัฐ ก็คือการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อสื่อสารกับประชาชน เพื่อรับใช้ประชาชน โดยที่ทำออกมาใน format และ platform ที่เหมาะสมกับการเสพของคนในยุคปัจจุบัน

พอมาดูคำนิยามเหล่านี้แล้ว มันก็ชวนคิดนะครับว่า พวกเราในฐานะคนทำงานเกี่ยวข้องกับ Content มีกี่ครั้งที่เราพยายามคิดว่าเราจะทำ Content เพื่อให้มันทำให้คนอ่าน คนดูพึงพอใจ? มีกี่ครั้งที่เราตั้งใจจะทำให้คนอิ่มอกอิ่มใจ? มีกี่ครั้งที่เราตั้งใจทำ Content ออกมาเพื่อผู้ชม มากกว่าจะทำให้คนที่มีผลประโยชน์กับเราโดยตรง

ผมเพียงแต่จะบอกว่า ในฐานะคนทำ Content การเห็นอกเห็นใจคนอ่าน คนดู ผู้ชม หรือ audience ให้มากพอ เป็นสิ่งจำเป็นครับ ไม่ต้องเห็นด้วยกับผมทั้งหมดก็ได้ แค่ขอว่าขณะที่คุณทำ Content ในแนวของคุณ คุณได้ให้ค่ากับความเห็นอกเห็นใจคนอ่านบ้าง

แค่นั้นก็พอแล้ว

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2018/04/when-was-your-last-content/

[Commentary] Marketing, PR และเครื่องบิน

เมื่อปี 1903 พี่น้องตระกูลไรท์ประดิษฐ์เครื่องบินขึ้นมา พวกเขาก็คงรู้ครับว่า สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลกของพวกเขาได้ประดิษฐ์โอกาสให้ผู้คนมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ประดิษฐ์ผลกระทบเชิงลบที่จะทำให้มีคนตายจากเครื่องบินตกเช่นเดียวกัน

Marketing & PR จะว่าไปมันก็คล้ายกับการเกิดขึ้นของเครื่องบินนี่ล่ะครับ

มนุษย์เราประดิษฐ์ Marketing & PR ขึ้นมาเพื่อที่จะบรรลุจุดประสงค์ทางธุรกิจ มันสร้างความสำเร็จทางธุรกิจให้ผู้คนมากมาย แต่สุดท้าย พวกเราก็ประดิษฐ์ “ผลกระทบเชิงลบ” โดยเฉพาะกับคนรับสาร หรือ “คนอ่าน” อีกนับไม่ถ้วน

คุ้นๆ เรื่องพวกนี้ไหมครับ

  • อยากให้มีคนรับรู้เกี่ยวกับธุรกิจของตัวเอง –> พอมี Search Engine เกิดขึ้น ก็มีคนแนะนำว่าต้องทำ SEO เพราะคนจะได้ค้นหามาเจอเว็บเราฟรีๆ –> ต่อมาเรียนรู้ว่า Search Engine สนใจความหนาแน่นของ Keyword ก็เลยเขียนบทความที่มี Keyword ซ้ำกันเกี่ยวกับแบรนด์สัก 20 ครั้ง เพื่อที่ Search Engine จะได้มองว่าบทความของเรานี้ดี จัดอันดับให้อยู่ต้นๆ (ท้ายที่สุดเกิดผลกระทบเชิงลบว่า คนอ่านอาจจะไม่ได้อะไรจากบทความที่มี Keyword ซ้ำๆ นั้นเลย)
  • อยากให้มีคนสนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับธุรกิจตัวเอง –> พอมี Facebook เกิดขึ้น ก็มีคนแนะนำว่า ต้องทำ Page Like ให้ได้มากๆ เพื่อให้ได้ยอด Page Like เยอะๆ เลยแอบไปบอกให้เพื่อนช่วยมา Like เพจ (โดยบางทีเพื่อนเราที่เป็นคนอ่านอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพจของแบรนด์เรานำเสนอเกี่ยวกับอะไร)
  • มีคนเค้าบอกว่า Engagement แปลว่า Like, Comment, Share ก็เลยทำ Content อะไรก็ได้ที่จะมีคน Like, Comment, Share เยอะๆ เลยเริ่มทำภาพแมวใส่หมวก สวัสดีตอนเช้าด้วยถ้วยกาแฟ (คนอ่านที่ตามมา Like ชอบภาพแมวน่ารัก ไม่ได้ชอบเรื่องการศึกษา ท้ายสุดก็ Unlike หรือเลิก Engage)
  • อยากให้คนพูดถึงแบรนด์ตัวเองดีๆ แต่ไม่มีใครพูดถึงดีเลย ก็เลยไปจ้างหน้าม้ามาพูดถึงเราดีๆ ในกระทู้พันทิป (พอมีคนถามว่าทำไมไม่ไปปรับปรุงบริการหรือผลิตภัณฑ์ให้มันดีๆ แทน คนอ่านจะได้ไม่ด่า เราก็เริ่มทำงานกันแบบเป็นคอกเป็นแผนกมากเกินไป แล้วก็ตอบว่าอันนี้เป็นส่วนของ MarCom ไม่เกี่ยวกับฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ และฝ่ายผลิตภัณฑ์ ท้ายสุดก็เลยมาจบที่การเอางบประมาณการตลาดไปจ้างหน้าม้า คนอ่านที่ยังเจอปัญหาและบริการหลังการขายที่แย่ ก็ยังกลับมาต่อว่าเช่นเดิม)

ไม่รู้ว่ามันจะดูเป็นการด่วนสรุปไปหรือเปล่า แต่ผมขอคิดดังๆ ว่า นักสื่อสารแบรนด์อย่างเราๆ ท่านๆ มีนิสัยเสียกันอย่างหนึ่งครับ คือ เราชอบติดทำอะไรเป็นแบบแผน (หรือไอ้ที่เรียกกันว่า Pattern นั่นล่ะครับ) แต่บางทีเราทำกันมานาน จนลืมไปว่าแบบแผนไหนที่เราควรทำ แบบแผนไหนที่เราควรเลิกทำได้แล้ว

ที่เขียนมายืดยาวทั้งหมดนี้ไม่ใช่อะไร ผมแค่อยากจะบอกคนที่ทำ Marketing & PR ว่า ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ลองกลับมาคิดตั้งต้นที่ประโยชน์ของคนอ่าน หรือ Audience ที่เราแคร์เขาก่อนสิครับ

ลองอ่านส่วนสีส้มนะครับ ผมเอาไอ้ Bullet ข้างบนมาโพสต์ใหม่ ต่อด้วยสีส้มจะได้เห็นภาพชัดๆ

  • อยากให้มีคนรับรู้เกี่ยวกับธุรกิจของตัวเอง –> พอมี Search Engine เกิดขึ้น ก็มีคนแนะนำว่าต้องทำ SEO เพราะคนจะได้ค้นหามาเจอเว็บเราฟรีๆ –> ต่อมาเรียนรู้ว่า Search Engine สนใจความหนาแน่นของ Keyword ก็เลยเขียนบทความที่มี Keyword ซ้ำกันเกี่ยวกับแบรนด์สัก 20 ครั้ง เพื่อที่ Search Engine จะได้มองว่าบทความของเรานี้ดี จัดอันดับให้อยู่ต้นๆ (ท้ายที่สุดเกิดผลกระทบเชิงลบว่า คนอ่านอาจจะไม่ได้อะไรจากบทความที่มี Keyword ซ้ำๆ นั้นเลย) ถ้าเราสนใจที่ประโยชน์ของคนอ่านก่อน เราจะทำ Content ที่ถูกใจกลุ่มคนอ่านที่เราแคร์ ซึ่งท้ายที่สุด ปัจจัยต่างๆ ขั้นตอนวิธี (Algorithm) ของ Search Engine มันก็จะช่วยเราเอง เพราะ Search Engine ให้ค่ากับ Content คุณภาพดี 
  • อยากให้มีคนสนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับธุรกิจตัวเอง –> พอมี Facebook เกิดขึ้น ก็มีคนแนะนำว่า ต้องทำ Page Like ให้ได้มากๆ เพื่อให้ได้ยอด Page Like เยอะๆ เลยแอบไปบอกให้เพื่อนช่วยมา Like เพจ (โดยบางทีเพื่อนเราที่เป็นคนอ่านอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพจของแบรนด์เรานำเสนอเกี่ยวกับอะไรถ้าเราสนใจที่ประโยชน์ของคนอ่านก่อนว่าคนอ่านรู้สึกอย่างไร เวลาโดนบีบบังคับให้ไป Like เพจเพราะเกรงใจ เราจะคิดและหาทางชวนแต่คนที่สนใจเรื่องที่เรานำเสนอแบบเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ส่งหว่านไปเฉยๆ 
  • มีคนเค้าบอกว่า Engagement แปลว่า Like, Comment, Share ก็เลยทำ Content อะไรก็ได้ที่จะมีคน Like, Comment, Share เยอะๆ เลยเริ่มทำภาพแมวใส่หมวก สวัสดีตอนเช้าด้วยถ้วยกาแฟ (คนอ่านที่ตามมา Like ชอบภาพแมวน่ารัก ไม่ได้ชอบเรื่องการศึกษา ท้ายสุดก็ Unlike หรือเลิก Engage) ถ้าเราสนใจคนอ่านก่อน เราก็จะคิดได้ว่าคนอ่านที่รักเราจริงๆ เขาจะไม่ทำเพียงแค่ Like, Comment, Share แบบผ่านๆ แต่เขาจะบอกกับคนอื่นด้วยว่า ทำไมเขาจึง Like, Comment, Share Content ของเรา เช่น เราทำเพจที่ให้ความรู้ด้านการพัฒนาเด็กให้เป็นคนฉลาด ถ้า Content ของเราโดนใจกลุ่มคุณพ่อคุณแม่ เขาก็จะ Like เพจเราแบบระยะยาว คอย Engage และ Share เรื่องราวของเราออกไปแบบไม่ฝืน (คิดว่าเพื่อนๆ คงนึกภาพออกนะครับ เวลาใคร ‘อิน’ Content ของเราจริงๆ ยังไงเขาก็บอกต่อเรื่องของเราทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ครับ ขายให้ฟรีๆ ไม่ต้องจ้างก็ได้)
  • อยากให้คนพูดถึงแบรนด์ตัวเองดีๆ แต่ไม่มีใครพูดถึงดีเลย ก็เลยไปจ้างหน้าม้ามาพูดถึงเราดีๆ ในกระทู้พันทิป (พอมีคนถามว่าทำไมไม่ไปปรับปรุงบริการหรือผลิตภัณฑ์ให้มันดีๆ แทน คนอ่านจะได้ไม่ด่า เราก็เริ่มทำงานกันแบบเป็นคอกเป็นแผนกมากเกินไป แล้วก็ตอบว่าอันนี้เป็นส่วนของ MarCom ไม่เกี่ยวกับฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ และฝ่ายผลิตภัณฑ์ ท้ายสุดก็เลยมาจบที่การเอางบประมาณการตลาดไปจ้างหน้าม้า คนอ่านที่ยังเจอปัญหาและบริการหลังการขายที่แย่ ก็ยังกลับมาต่อว่าเช่นเดิม) ถ้าเราสนใจคนอ่านก่อน เราก็จะไม่สนใจเรื่องหน้าม้า แต่เราอยากทำบริการหลังการขายที่ดี แล้วคนก็จะบอกต่อเรื่องดีๆ ของเราเอง

มันอาจไม่สายเกินไป ถ้าเราจะเปลี่ยนจากการโฟกัสที่ตัวเลข มาเป็นการสนใจคนอ่าน แบบที่คนจะรักแบรนด์ และอยากบอกต่อเรื่องราวของแบรนด์ได้จริงๆ 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/10/marketing-pr-airplane/

เอาอะไรมาวัดว่าใครเป็น “ตัวจริง” ?

ผมเคยได้ยินพี่ที่ผมเคารพท่านหนึ่งกล่าวว่า “ยุคนี้กูรูบนโลกออนไลน์เยอะมาก มีทั้งคนที่เก่ง เป็นตัวจริง กับคนที่ไม่ใช่ตัวจริง ที่เราต้องระมัดระวัง” ผมเห็นด้วยกับพี่ท่านนั้นว่ามีเยอะจริงๆ นั่นแหละ แต่เรื่องหนึ่งที่ผมพยายามเก็บมาคิด และตั้งคำถามกับตัวเองอยู่บ่อยๆ ก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าไอ้คำว่า “ตัวจริง” น่ะมันวัดกันอย่างไร? นอกจากความชอบไม่ชอบส่วนตัวแล้วมันมีมาตรวัดอะไรอีกหรือเปล่า แล้วถึงเวลาเราจะคัดเลือกคนเหล่านั้นอย่างไร

หลังจากคิดมานานสองนาน ผมก็ได้คำตอบกับตัวเองแบบพื้นๆ เพื่อเอาไปทำงานต่อได้ มาดังนี้ครับ แต่อย่างไรก็ขอออกตัวนะครับว่า นี่มันความเห็นผมล้วนๆ เลย ไม่ได้อิงสำนักอะไรทั้งนั้น

1.  ตัวจริงต้องเคยมีผลงานที่จับต้องได้

การที่เราจะบอกว่าใครสักคนเป็นตัวจริงในเรื่องอะไร คนๆ นั้นก็ควรจะมีผลงานที่ได้รับการยอมรับก่อน ซึ่งการที่ใครสักคนจะมีผลงานที่ชัดเจนอย่างนั้นออกมาได้ แน่นอนว่าเขาก็จะต้องเป็นคนเก่ง และ คนเก่งก็คือ คนที่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด แล้วงานที่เขาทำนั้นมันได้สร้างประโยชน์ให้กับคนในแวดวงนั้นๆ ก่อน ซึ่งถ้าคนๆ นั้นมีผู้ติดตามมาก มันก็เยี่ยมเลยครับ เพราะคมความคิดของเขาจะได้ขจรขจายไปไกล แต่ถ้าหากเขามีจำนวนผู้ติดตามมากแต่ไม่เคยมีผลงานอะไร เขาอาจจะยังไม่ถึงขั้นตัวจริง แต่วันหนึ่งพอมีผลงานมากขึ้นก็จะกลายเป็นตัวจริงขึ้นมาได้

เช่น คิดว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินชื่อคอลัมนิสต์ “หนุ่มเมืองจันท์” เพราะคุณหนุ่มเมืองจันท์มีผลงานบทความ หนังสือมากมาย โดยเฉพาะ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” ที่คนในแวดวงธุรกิจให้การยอมรับ หนังสือออกมาทีไรก็ได้รับความนิยมทางด้านยอดขาย แถมคุณหนุ่มเมืองจันท์แกยังทำออกมาอย่างต่อเนื่องด้วยครับ

2. ตัวจริงต้องมีความสามารถในการโน้มน้าว Public Opinion (ทำอย่างไรให้คนที่เป็น ‘คนวงใน’ ในเรื่องของวงการนั้นๆ ให้การยอมรับ)

คนที่เคยมีผลงานบางคนอาจจะเก่งแบบคมในฝัก แต่มันคงน่าเสียดายถ้าหากคนที่คมในฝักคนนั้นไม่สามารถนำประสบการณ์ของตัวเองมาโน้มน้าวให้คนอื่นให้เชื่อ คิด และลงมือปฎิบัติตามได้ ดังนั้นคำว่าตัวจริงในที่นี้จึงควรเป็นที่สามารถโน้มน้าวคนได้ประมาณหนึ่งใน อาจจะไม่ต้องโน้มน้าวได้ซะทุกเรื่อง (ไม่มีใครเก่งไปซะหมดหรอก) ขอเพียงแต่รู้ว่าคนๆ นั้นมีฐานกลุ่มผู้ติดตามที่แท้จริง

วิธีการดูว่าคนๆ นั้นมีฐานผู้ติดตามที่แท้จริงหรือเปล่า ก็ดูแค่ว่าเวลาคนๆ นั้นแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คนที่เป็นคนวงในของอุตสาหกรรมนั้นๆ ต่างพากันไปร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยทันที หรือมีคนบอกต่อเรื่องราวความคิดเห็นของคนๆ นั้นอีกต่อหนึ่ง

เช่น ผมเคยดูคลิปที่คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์เคยพูดไว้ในงานของมติชนซึ่งท่านให้แง่คิดที่น่าสนใจหลายอย่าง จนคลิปนั้นมีคนให้ความสนใจและคนนำไปบอกต่อมากกว่า 400,000 ครั้ง รวมถึงคนวงในทางด้านการเมืองก็บอกต่อหลายต่อหลายคน

3. ดูที่การ “ยืนระยะ”

คนเราไม่มีใครเก่งได้ทุกอย่าง เราต้องมีเรื่องที่เราถนัดแค่บางเรื่อง ดังนั้นคนเราต้องดูกันยาวๆ คนไหนที่นำเสนอมาต่อเนื่องอยู่ได้ยาว และยังคงรักษาฐานผู้ชมให้เข้ามาเชียร์ได้อย่างต่อเนื่อง หรือ “ยืนระยะ” เก่งนั่นแหละ คนนั้นคือคนที่เราพอจะตัดสินได้ว่าคนๆ นั้นคือตัวจริง

เมื่อถึงเวลาที่จะต้องบอกและแนะนำคนอื่นว่าใครคือตัวจริง… (ในความเห็นของคุณ)

คำว่า “ตัวจริง” จะว่าไปมันก็เหมือนเรากินข้าวนั่นแหละ อาหารบางชนิดเราว่าอร่อย คนอื่นอาจจะบอกว่าไม่อร่อยก็ได้ เราบอกว่าเราชอบสเต๊ก แต่รสที่ถูกปากเราต้องเป็นเนื้อที่เคยขุนด้วยเบียร์เท่านั้น แต่รสที่ถูกปากเพื่อนเรา ต้องเป็นเนื้อที่มีกรรมวิธีแบบดรายเอจจิ้งเท่านั้น จะเห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องที่เฉพาะตัวมากๆ แต่เมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องบอกคนอื่น หรือให้คำแนะนำว่าใครคือตัวจริง เราอาจจะต้องลงรายละเอียดอีกสักนิด เช่น

  • เราคิดว่าคุณ A เป็นตัวจริงเพราะมีผลงาน A, B, C, D ที่จับต้องได้ออกมาอย่างต่อเนื่อง
  • เราคิดว่าคุณ A เป็นตัวจริงเพราะนอกจากแกจะเก่งแล้ว แกยังมีความสามารถในการโน้มน้าว และทำให้แฟนๆ พูดและปฎิบัติตามที่แกให้ความเห็นด้วย
  • เราคิดว่าคุณ A นอกจากผลงาน และความสามารถแล้วแกยังทำผลงานออกมาสม่ำเสมอ โปรเจ็กต์ไหนที่แกคุมก็ออกมาดีทุกที เราเลยคิดว่าคนๆ นี้คือตัวจริง

ถ้าเพื่อนๆ thumbsupers ท่านไหนมีความเห็นว่าจะอธิบายคนอื่นได้อย่างไรว่า คนที่คุณชื่นชอบเป็น “ตัวจริง” แล้วแตกต่างไป ช่วยบอกด้วยนะครับ ผมจะเอามาเติมในบทความพร้อมให้เครดิต 🙂

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/10/who-is-the-real-one/

การตลาดวันแม่ เล่นแค่ไหนเกินพอดี

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่ามีหลายคนที่เล่น Social Media คงมีโอกาสได้อ่านกระทู้ 32 ปีของเรา … กับผู้หญิงที่ไม่เคยได้เรียกว่า “แม่” อยู่บ้างพอสมควร กระทู้นี้เล่าเรื่องราวความผูกพันระหว่างผู้เขียนกับผู้ที่เลี้ยงดูมาอย่าง “ตั่วโกว” ได้อย่างน่าประทับใจ และยิ่งใกล้เทศกาลวันแม่ ก็ทำให้เพจดัง ๆ หลายเพจนำไปร้อยเรียงบอกต่อกันมากมาย ซึ่งถ้าเป็นการทำการตลาดก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

แต่มีความเป็นไปได้ว่านี่จะเป็นการทำการตลาดจริง ๆ เพราะหลังโพสต์กระทู้ไม่นาน ระบบแจ้งเตือนของ Pantip ก็ทำงานขึ้นมาทันทีว่า มีการโพสต์จากคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกันเกิดขึ้นในกระทู้นี้

สำหรับใครที่ไม่ได้ผ่านตา เรื่องราวย่อ ๆ ของกระทู้คือ

  • เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เจ้าของกระทู้ได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับความรักความผูกพันที่มีต่อตั่วโกว เพราะตั่วโกวเลี้ยงเธอมาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ และดูแลเธอมากกว่าแม่แท้ ๆ ของเธอเสียอีก ซึ่งในตอนท้ายของเรื่อง เธอบอกว่าได้ตัดสินใจซื้อสร้อยข้อมือของ Swarovski ให้เป็นของขวัญ (เจ้าของกระทู้โพสต์เสร็จเวลา 15.06 น.) และจบกระทู้ไป
  • ต่อมาเวลา 15.53 น. ของวันเดียวกัน ก็มีความเห็นที่สามเข้ามาโพสต์ต่อในทำนองว่า เป็นเพื่อนสมัยเรียนของเจ้าของกระทู้ เห็นกระทู้นี้จากที่เพื่อนแชร์มา และอยากสอบถามถึงสร้อยข้อมือที่เจ้าของกระทู้ซื้อให้ตั่วโกวเป็นของขวัญ ซึ่งเจ้าของกระทู้ก็ลงมาตอบถึงชื่อรุ่นเป็นที่เรียบร้อย
  • วันที่ 2 สิงหาคม เพจของ Swarovski ก็นำลิงค์บทความไปแชร์บนเพจ
  • จากนั้นกระทู้นี้ก็ฮอตฮิตติดลมบน มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งวันที่ 3 สิงหาคม ระบบเตือนภัยของ Pantip ก็ปรากฏข้อความขึ้น
  • เพื่อนของเจ้าของกระทู้จึงได้ออกมาอธิบายผ่านทางเพจ เหยื่อการตลาด ทาสโปรโมชัน ว่า
  • จากนั้นจนถึงตอนนี้ ทั้งเพื่อนและเจ้าของกระทู้ก็ยังไม่มีการเข้ามาตอบในกระทู้นี้เพิ่มเติม

โลกอินเทอร์เน็ตสามารถสร้างความประทับใจได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว และก็สามารถเปลี่ยนความประทับใจให้กลายเป็นความรู้สึกถูกหักหลังได้อย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน และภาพด้านล่างคือคอมเม้นท์ส่วนหนึ่งบนเพจของ Swarovski

คำอธิบายของเพื่อนเจ้าของกระทู้แสดงให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นคนขาดความรอบคอบ ไม่คิดให้รอบด้าน จนเกือบจะคล้อยตามว่าอาจเกิดจากความโลภแอบแฝงจริง ๆ ก็ได้ แต่จุดที่น่าสนใจมากกว่าคือ เวลาที่โพสต์ เพราะการเลือกวันที่ 1 สิงหาคม ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการหวังผล ยิ่งแบรนด์นำกระทู้ดังกล่าวไปใส่ไว้ในหน้าเพจตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม หากใช้เทคนิคด้านการตลาดดี ๆ อะไร ๆ ก็ไม่แน่เหมือนกัน และจากกระทู้นี้ ทำให้ตระหนักได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าโลกของลูก (บางคน) ทุกวันนี้จะบิดเบี้ยวไปมากจนทำให้ลูกบอกรักพ่อแม่ได้แต่ต้องมีบางอย่างแอบแฝง ก็ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายจริง ๆ

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/08/bad-mother-day-marketing/