คลังเก็บป้ายกำกับ: CHEVROLET

GM ประกาศเลิกสนับสนุน CarPlay/Android Auto, เปลี่ยนไปใช้ Android Automotive

บริษัทรถยนต์เครือ GM ประกาศว่าจะเลิกสนับสนุนระบบยิงมือถือขึ้นจอภาพรถยนต์ (phone projection systems) ทั้ง Apple CarPlay และ Android Auto ในรถยนต์รุ่นปี 2024 เพื่อไปใช้ระบบปฏิบัติการ Android Automotive ที่รันจากคอมพิวเตอร์ภายในรถยนต์แทน

รถยนต์ในเครือ GM เริ่มใช้ Android Automotive มาได้สักพักแล้ว เช่น GMC และ Cadillac ที่เริ่มในปี 2021 แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ GM ยืนยันว่าจะเลิกรองรับ CarPlay และ Android Auto ด้วย

GM ให้เหตุผลว่ายุทธศาสตร์ใหม่ของบริษัทคือการใช้คอมพิวเตอร์ในรถ และระบบปฏิบัติการ Android Automotive ที่บริษัทปรับแต่งเอง ใช้ชื่อแพลตฟอร์มโดยรวมว่า Ultifi โดยจะรองรับแอพยอดนิยมอย่าง Google Maps, Google Assistant, Audible, Spotify จึงตัดสินใจเลิกรองรับระบบ phone projection ที่มีความสามารถซ้ำซ้อนกัน ผู้ใช้งานมือถือยังสามารถเชื่อมต่อกับรถยนต์ได้ผ่าน Bluetooth (แต่จะเป็นการส่งข้อมูลอย่างเดียว, projection ไม่ได้แล้ว)

No Description

No Description

หน้าจอระบบ Ultifi ที่อิงจาก Android Automotive

นโยบายนี้จะมีผลต่อรถ EV ที่วางขายใหม่เท่านั้น (รถน้ำมันที่วางขายใหม่ยังใช้ระบบเดิม) และรถยนต์ที่ขายไปแล้วทุกรุ่นจะยังใช้งาน CarPlay และ Android Auto ได้เหมือนเดิม โดยรถยนต์ใหม่รุ่นที่จะมีเฉพาะ Android Automotive เท่านั้นคือ 2024 Chevrolet Blazer EV, 2024 Chevrolet Equinox EV, 2024 Cadillac CELESTIQ, 2025 GMC Sierra EV

ส่วนรถยนต์ EV ของปี 2024 บางรุ่นจะยังใช้งาน CarPlay และ Android Auto ได้ เช่น Chevrolet Silverado EV, Bolt EV, Cadillac Lyriq, GMC Hummer EV

Chevrolet Blazer EV รุ่นปี 2024 (วางขายปี 2023) จะเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ใช้ Android Automotive อย่างเดียว

ที่มา – The Verge, Ars Technica

from:https://www.blognone.com/node/133256

Chevrolet เข้าสู่วงการ NFT จัดประมูลภาพรถออนไลน์ แต่ไม่มีใครเข้าร่วมประมูลเลย

ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แบรนด์รถยนต์ Chevrolet ประกาศเข้าสู่วงการ NFT ครั้งแรกด้วยการนำรถรุ่น Corvette Z06 ของปี 2023 มาทำเป็น NFT ขายในโลกเสมือนจริง โดยเปิดประมูลระหว่างวันที่ 20-24 มิถุนายน (NFT อยู่บนเชน Ethereum) และรายได้จะบริจาคให้การกุศล

การประมูลรอบนี้ยังมีกิมมิคเล็กๆ คือรถในภาพเป็นสีเขียว Minted Green ที่ Chevrolet สัญญาว่าจะใช้เฉพาะในภาพนี้เท่านั้น ผู้ชนะประมูลจะได้เป็นเจ้าของรถสีนี้ (Own the Color) และไม่ถูกนำไปใช้ผลิตรถจริงอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสตอรี่จะดีแค่ไหนก็ตาม ผลปรากฏว่าไม่มีใครเข้าประมูลเลย จนผู้จัดการประมูลต้องขยายเวลาไปอีก 24 ชั่วโมง และพบว่าไม่มีใครมาประมูลอีกอยู่ดี

ตัวแทนของ Chevrolet บอกหลังจบประมูลว่าโปรเจคนี้ถือเป็นการเรียนรู้ของแบรนด์ในการเริ่มต้นเข้าสู่โลก Web3 และบอกว่าจะพยายามหาวิธีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นประโยชน์กับลูกค้าต่อไป

No Description

ที่มา – Chevrolet, Jalopnik, Corvette Blogger

from:https://www.blognone.com/node/129218

Chevrolet เปิดตัว Bolt EV ใหม่ 2 รุ่น พร้อมตั้งเป้าเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 30 รุ่นใน 4 ปี

General Motors บริษัทแม่ของ Chevrolet เดินหน้าเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่อีก 2 รุ่น คือ Bolt EV และ Bolt EUV โดยทั้งสองรุ่นนี้มีความคล้ายกันหลายจุด แต่ก็มีจุดขายที่แตกต่างกันชัดเจน

Bolt EUV เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบครอสโอเวอร์ ซึ่งตัวย่อ EUV เป็นตัวย่อที่ GM ตั้งขึ้นมาเองจาก electric utility vehicle หรือรถยนต์ไฟฟ้าเอนกประสงค์ โดย Bolt EUV มีฐานล้อยาวกว่า Bolt EV ราว 3 นิ้ว และตัวรถยาวกว่า ทำให้ผู้โดยสารตอนหลังนั่งสบายขึ้น

GM ระบุว่า Bolt EUV สามารถวิ่งได้ระยะทาง 250 ไมล์ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง หรือราว 402 กิโลเมตร ระบบชาร์จสามารถเลือกได้ทั้ง 120 และ 240 โวลท์

alt="o5SUWD.jpg"

alt="o5YKsu.jpg"Chevrolet Bolt EUV

ส่วน Bolt EV เป็นภาคต่อของรถรุ่นนี้ที่เปิดตัวครั้งแรกกว่าสี่ปีที่แล้ว มาในทรงแฮตช์แบ็ค โดยแพลตฟอร์มยังคงเดิม เปลี่ยนแค่ฟีเจอร์และหน้าตา ด้านแบตเตอรี่มีความจุ 65 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้รถวิ่งได้ราว 259 ไมล์ หรือราว 416 กิโลเมตร ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ตัวเดียว มีกำลัง 200 แรงม้า แรงบิด 360 นิวตันเมตร

alt="o5Y9Uz.jpg"

alt="o5YZyZ.jpg"Chevrolet Bolt EV

ด้านระบบช่วยขับ ลูกค้าที่ซื้อ Bolt EUV สามารถซื้อระบบ Super Cruise เพิ่มได้ ซึ่งเป็นระบบช่วยขับที่รักษารถให้อยู่ในเลน โดยโฆษณาว่าไม่ต้องจับพวงมาลัย และเปลี่ยนเลนได้เองเมื่อคนขับเปิดไฟเลี้ยว

Bolt EV มีราคาเริ่มต้น 31,995 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 958,000 บาท ส่วน Bolt EUV ราคาเริ่มต้นที่ 33,995 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.02 ล้านบาท

ทั้ง Bolt EV และ Bolt EUV เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่นใน 30 รุ่นที่ GM ตั้งเป้าจะเปิดตัวภายใน 4 ปีข้างหน้า

ที่มา – TechCrunch
ภาพทั้งหมดโดย GM

from:https://www.blognone.com/node/121218

Jaguar ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นในปี 2025 ส่วน Chevrolet กดราคา Bolt EV เหลือ 9.5 แสนบาท

ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ตื่นตัวกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ล่าสุด Jaguar ที่ขาย SUV เครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลักประกาศแผนปรับรถยนต์ทุกรุ่นให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบต่างๆ ส่วน Chevrolet ลดราคารถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นเริ่มต้นลงต่ำล้าน

Jaguar
Jaguar I-Pace

Jaguar กับการรุกรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง

Jaguar Land Rover หรือ JLR ได้แจ้งเป็นการทั่วไปว่า ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป บริษัทจะปรับการทำตลาดรถยนต์รุ่นต่างๆ ให้มีรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นแบบ Plug-in Hybrid, Fuel-Cell หรือรถยนต์ไฟฟ้าล้วน โดยการปรับกลยุทธ์ครั้งนี้จะมีผลทั้งรถยนต์แบรนด์ Jaguar และ Land Rover

ขณะเดียวกันเพื่อการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ Jaguar มีแผนลงทุนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีใหม่กว่า 2,500 ล้านปอนด์/ปี แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของแบรนด์ หลังถูกกดดันให้ปรับตัวผ่านนโยบายหลายประเทศที่เริ่มเข้มงวดกับมลพิษ

Jaguar XJ
Jaguar XJ โฉมปัจจุบัน

ทั้งนี้ Jaguar มีการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วนแล้ว 1 รุ่นคือ I-Pace รถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบ Compact SUV ส่วนแบรนด์ Land Rover ยังไม่มีรุ่นใดเป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน มีเพียงรุ่น Plug-in Hybrid และส่วนใหญ่ของรุ่นที่ทำตลาดยังมาพร้อมกับเครื่องยนต์ดีเซล

Chevrolet จูงใจตลาดด้วยราคาที่เข้าถึงง่าย

ในทางกลับกัน Chevrolet หนึ่งในแบรนด์รถยนต์ของกลุ่ม GM เร่งทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วนด้วยการเปิดตัว Bolt EV รถยนต์ไฟฟ้าล้วนในโฉม Minorchange ครั้งแรก โดยคราวนี้มากับ 2 รุ่นย่อยคือ Bolt EV รถยนต์ไฟฟ้าล้วนขนาด Subcompact 5 ประตู กับ Bolt EUV รถยนต์ไฟฟ้าล้วนขนาด Subcompact 5 ประตู ยกสูง

Chevrolet Bolt EUV
2022 Chevrolet Bolt EUV

นอกจากหน้าตาที่เปลี่ยนไป และการแตกรุ่นย่อยใหม่ สิ่งที่น่าสนใจของ Bolt EV คือการตั้งราคา เพราะ Chevrolet เลือกตั้งราคาเริ่มต้นของรุ่นนี้ที่ 31,995 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9.5 แสนบาท ถือเป็นราคาที่ค่อนข้างถูก และน่าจะช่วยให้การครอบครองรถยนต์ไฟฟ้าทำได้ง่ายขึ้น

Nissan ปฏิเสธไม่ได้คุยกับ Apple ตามข่าว

ส่วนกรณีของรถยนต์ไฟฟ้า Apple ที่มีข่าวหลุดออกมาว่า ยักษ์ใหญ่ไอทีรายนี้เจรจากับ Nissan เพื่อให้ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ล่าสุด Nissan แจ้งอย่างเป็นทางการว่า บริษัทไม่มีการเจรจากับ Apple ตามข่าวที่หลุดออกมา แต่บริษัทพร้อมพาร์ทเนอร์กับองค์กรต่างๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต

สรุป

ถือเป็น 3 ข่าวในวงการรถยนต์ที่น่าสนใจ เพราะ Jaguar เองเป็นแบรนด์ที่ยึดติดกับเครื่องยนต์ดีเซล และ SUV มาโดยตลอด ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จึงท้าทายอย่างมาก ส่วน GM ก็พยายามดัน Chevrolet เพื่อทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มที่ และต้องดูกันว่า Apple จะเดินเกมนี้ในอนาคตอย่างไร

อ้างอิง // BBC, Reuters, Ars Technica

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Jaguar ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นในปี 2025 ส่วน Chevrolet กดราคา Bolt EV เหลือ 9.5 แสนบาท first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/jaguar-chevrolet-ev-plan/

ยังมีพื้นที่ในตลาดรถยนต์ไทยให้ Great Wall Motors หรือไม่?

ช่วงที่ Chevrolet กำลังเลหลังรถยนต์ในสต๊อก ก็น่าจับตาว่า Great Wall Motors (GWM) ที่ซื้อโรงงานผลิตของกลุ่ม GM ในประเทศไทยไปจะทำตลาดในไทยหรือไม่ และถ้าทำจริง มันยังมีช่องว่างในตลาดแค่ไหน

great wall motors
ภาพ Shutterstock

ได้แต่โรงงาน ส่วนแบรนด์ต้องปั้นใหม่

ตอนนี้ GWM ได้เข้าซื้อโรงงานของกลุ่ม GM ในประเทศไทยที่จังหวัดระยองแล้ว โดยก่อนหน้านี้โรงงานดังกล่าวเป็นฐานผลิตสำคัญของกลุ่มรถกระบะแบบต่างๆ ทั้งกระบะเชิงพาณิชย์ และ SUV ที่มีพื้นฐานจากรถกระบะ เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย และส่งออกไปจำหน่ายที่ออสเตรเลีย และประเทศในกลุ่มเอเชียเช่นกัน

ถ้าว่ากันจริงๆ GWM จะได้แค่โรงงาน GM ที่ใช้ผลิต Chevrolet และรถยนต์แบรนด์อื่นๆ เพื่อส่งออก หากต้องการทำตลาดในประเทศไทยจริงๆ ก็ต้องมาสร้างแบรนด์กันตั้งแต่เริ่มต้น หรือตั้งแต่การเจรจากับผู้สนใจทำธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์, การทำโฆษณาสื่อสารไปยังผู้บริโภค รวมถึงการวางแผนว่าจะนำรถยนต์รุ่นใดมาทำตลาดบ้าง

chevrolet
Chevrolet Captiva โฉมแรก

เมื่อปี 2562 การจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในไทยแต่ละปีอยู่ราว 1 ล้านคัน แถมในปี 2563 ก็มีการคาดการณ์ว่าภาพรวมการจำหน่ายอาจมีตัวเลขลดลง เพราะด้วยปัญหาเศรษฐกิจ และปัจจัยภายนอกที่เหนือการควบคุมอื่นๆ ดังนั้นแบรนด์รถยนต์ใหม่จะมาทำตลาดในช่วงนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย

ตัวเลข Chevrolet ที่มีแชร์แค่ 15,000 คัน

ขณะเดียวกันหาก GWM จะเข้ามาแทน Chevrolet จริงๆ มันอาจจะค่อนข้างยาก เพราะปี 2562 ทาง Chevrolet ก็มียอดขายราว 15,000 คัน หรือแค่ 1.5% ของตลาด หากต้องการมากกว่านั้นก็ต้องพยายามสร้างความแตกต่างในตลาดไทยที่ค่อนข้างมีความเฉพาะตัว และไม่เหมือนประเทศจีนอย่างที่ GMW ถนัด

Great Wall Motors
แบรนด์ที่ใช้ทำตลาดของ Great Wall Motors

สำหรับ GWM ทำตลาดคล้ายคลีงกับกลุ่ม GM ผ่านการไม่ได้ทำตลาดรถยนต์ในชื่อของตัวเอง แต่จะสร้างแบรนด์ย่อยออกมา ประกอบด้วย HAVAL, WEY, ORA และ GWM Pickup โดย HAVAL ทำตลาด SUV, WEY ทำตลาด SUV หรู, ORA ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และ GMW Pickup ทำตลาดรถกระบะตามชื่อ

เมื่อเป็นอย่างนี้จึงคาดเดาได้ว่า กลุ่มรถยนต์ที่ GWM อาจนำเข้ามาทำตลาดจะเป็นกลุ่ม SUV และกระบะ ซึ่งกลุ่มแรกนั้นการแข่งขันก็ประมาณหนึ่ง ผ่านผู้เล่นแบรนด์ญี่ปุ่นที่ขับเขี้ยวกันอย่างสูสี ส่วนตลาดรถกระบะนั้น ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือยาก ผ่านตลาดที่มี 2 แบรนด์หลักครองอยู่ แถมแบรนด์จีนอย่าง MG ที่เพิ่งเข้ามาก็แทบไม่ได้ลืมตาอ้าปาก

Great Wall Motors
การผลิตรถยนต์ของ Great Wall Motors

รถยนต์ไฟฟ้าอาจเป็นโอกาสใหม่ของ GWM

ในทางกลับกันรถยนต์ไฟฟ้าก็อาจเป็นโอกาสใหม่สำหรับ GWM ในตลาดไทย เพราะปัจจุบันรัฐไทยก็สนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้น เช่นสิทธิประโยชน์ทางภาษีในรูปแบบต่างๆ แต่มันก็มีการสนับสนุนอีกตัวที่ระบุว่า การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าล้วนจากประเทศจีนนั้นเสียภาษีนำเข้า 0% มันก็อาจไม่ใช่เรื่องหลักที่ GWM ต้องมาตั้งโรงงานที่ไทยก็ได้

ยิ่ง GWM เป็นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ 3 อันดับแรกของจีน ผ่านยอดขายทั่วโลกกว่า 1 ล้านคัน และมีการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า ถึงขนาด ORA ถูกเรียกว่าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกที่สุดรุ่นหนึ่งในจีน มันก็น่าจะง่ายกว่าที่จะใช้วิธีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมาทั้งคัน แทนที่จะผลิตที่ประเทศไทย

Great Wall Motors
SUV หรู แบรนด์ WEY ของ Great Wall Motors

อย่างไรก็ตามการเข้ามาของ GWM ในประเทศไทยนั้นก็มีจุดประสงค์เพื่อทำตลาดในระดับภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนียมากกว่าเดิม เพราะปัจจุบันมีสำนักงานประจำภูมิภาคนี้ที่ประเทศออสเตรเลีย บริหารตลาดออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และการซื้อโรงงานผลิตของ GM ในไทย ก็เป็นการเข้ามาทดแทนตลาดเอเชีย-โอเชียเนียของกลุ่ม GM โดยอัตโนมัติ

พวงมาลัยขวา กับโอกาสครองตลาดเบ็ดเสร็จ

ก่อนหน้านี้ GWM ได้เจรจากับกลุ่ม GM เพื่อซื้อโรงงานผลิตรถยนต์ที่อินเดีย โดยข้อตกลงนี้จะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2563 ดังนั้นการเข้ามาซื้อโรงงานของกลุ่ม GM ในประเทศไทยก็กลายเป็นว่า GWM เตรียมเข้ามาครองตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวาแบบเบ็ดเสร็จ เพราะโรงงานผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาหลักๆ ก็มาจากฝั่งเอเชียใต้ทั้งนั้น

รถพวงมาลัยขวา พวงมาลัยซ้าย
สีโทนน้ำเงินคือประเทศที่ใช้รถยนต์พวงมาลัยขวา และสีโทนแดงคือประเทศใช้พวงมาลัยซ้าย // ภาพโดย TesterABVงานของตัว, CC BY-SA 4.0, ลิงก์

แม้ว่าประเทศที่ใช้รถยนต์พวงมาลัยขวาจะคิดเป็นเพียง 27% ของประเทศทั่วโลก แต่หากนับเป็นจำนวนรถยนต์แล้วล่ะก็มันยิ่งน้อยลงไปอีก ดังนั้นหากต้องการบุกตลาดนี้ ก็ต้องครองทั้งตลาดนี้เอาไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรเยอะ และยังใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะหลักอย่างอินเดีย, อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

เมื่อ GWM เดินเกมนี้เต็มที่ ก็น่าจับตามองว่า GWM จะใช้กลยุทธ์อะไรในการครองตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา ยิ่งในประเทศจีน GWM เป็นผู้ผลิต 3 อันดับแรกของตลาดอยู่แล้ว การมีฐานการผลิตใหญ่ ตอบโจทย์ตลาดได้จำนวนมาก ต้นทุนการผลิตก็ถูกลงโดยอัตโนมัติ และ GWM ก็อาจกลายเป็นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ที่รู้จักไปทั่วโลกก็เป็นได้

สรุป

ถือเป็นการเดินเกมอย่างมีระบบของ GWM เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการสร้างอาณาจักรผลิตรถยนต์พวงมาลัยซ้ายในกลุ่มยุโรปผ่านการตั้งโรงงานหลายแห่งในจีน และรัสเซีย ยิ่ง GWM มาตั้งโรงงานในอินเดีย กับไทย หรือฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาอันดับต้นๆ ของโลก มันก็ยิ่งสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับ GWM ไม่น้อย

ส่วนเรื่องการทำตลาด ผู้เขียนเชื่อว่า GWM น่าจะมีประสบการณ์ในการสร้างแบรนด์ไม่มากก็น้อย เพราะสามารถปั้นแบรนด์ให้ติดตลาดจีน และรัสเซียได้แล้ว ดังนั้นหากการออกแบบที่มีระดับ และการทำราคาออกมาได้จูงใจ มันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเปิดใจผู้บริโภคให้มาซื้อรถยนต์ของแบรนด์ Great Wall Motors

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/great-wall-motor-in-thailand/

จาก Zafira สู่ Captiva! ย้อนรอย 20 ปี Chevrolet ประเทศไทย หลังขายโรงงาน และถอนตัวจากตลาด

20 ปี เป็นเวลาไม่ใช่น้อยๆ แต่นั่นมันก็เพียงพอที่ Chevrolet แบรนด์รถยนต์จากสหรัฐอเมริกาจะประกาศถอนตัวจากตลาดประเทศไทย ดังนั้นลองมาดูกันดีกว่าว่า 20 ปีที่ผ่านมา Chevrolet เดินกลยุทธ์ก่อนถึงจุดจบอย่างไรบ้าง

chevrolet

เปิดหัวอย่างตื่นเต้นด้วย Zafira

Chevrolet เริ่มขายรถยนต์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2543 ผ่านการที่กลุ่ม GM ผู้ผลิตรถยนต์จากสหรัฐอเมริกา มองเห็นโอกาสในตลาดรถยนต์ไทย จึงเปิดโรงงานผลิตที่จังหวัดระยอง โดยรถยนต์รุ่นแรกที่ Chevrolet ทำตลาดที่ไทยคือรุ่น Zafira ราคาล้านต้นๆ และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ผ่านความเป็น Mini-MPV 7 ที่นั่งรุ่นแรกๆ ในไทย

แต่การมาเปิดโรงงานถึงประเทศไทยไม่ใช่จะมาทำตลาดแค่รุ่นเดียวแน่ๆ เพราะหลังจากนั้น Chevrolet ก็ทยอยเปิดตัวรถยนต์รุ่นต่างๆ โดยเน้นตัวที่ตลาดรถเก๋งก่อน เช่น Lumaina เก๋งหรูขนาด Compact ในปี 2546 ราคาตอนนั้น 2.65 ล้านบาท ชนกับแบรนด์ยุโรปทุกเจ้า รวมถึง Optra เก๋งเล็กราคาเอื้อมถึงในปี 2547

จากนั้นก็ลงสนามตลาดรถกระบะด้วยรุ่น Colorado ในปี 2547 ด้วย เรียกว่าช่วงนั้นก็ได้ความเป็น Chevrolet ดึงดูดคนเล่นรถกระบะที่ชื่นชอบความเป็นอเมริกันไปเต็มๆ ก่อนปี 2549 จะเปิดตัว Aveo เก๋งขนาดเล็กสุดด้วยราคาเริ่มเพียง 4.99 แสนบาท เขย่าตลาดเก๋งขนาด Sub-Compact ไปพอสมควร

สร้างความเชื่อมั่นหลังประกาศล้มละลาย

นอกจากนี้ในปี 2550 ทางค่ายก็เปิดตัว Captiva รถ SUV 7 ที่นั่งมาเติมเต็มการทำตลาด จน Chevrolet มีทั้งเก๋งขนาดเล็ก-กลาง, กระบะ, MPV และ SUV ให้เลือก แต่เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในปี 2552 เพราะกลุ่ม GM ได้ยื่นเป็นบริษัทล้มละลาย และกระทบต่อภาพลักษณ์แบรนด์ Chevrolet ที่กำลังไปได้สวยในไทยสุดๆ

chevrolet
Chevrolet Captiva โฉมแรก

อย่างไรก็ตาม Chevrolet ประเทศไทยก็สามารถแก้ไขปัญหานี้ และฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้ ผ่านการได้สถาบันการเงินของไทยสนับสนุน และเปิดตัวรุ่น Cruze ในปี 2553 ทดแทนรุ่น Optra ที่ทำตลาดมานาน รวมถึงปี 2555 ก็เปิดตัวรุ่น Trailblazer รถแบบ PPV เพื่อเพิ่มตอบโจทย์การใช้งานแบบเอนกประสงค์มากขึ้น

ส่วนในปี 2555 ก็เริ่มทำตลาด Sonic ที่เข้ามาทดแทน Aveo รวมถึงเปิดตัว Mini MPV รุ่น Spin โดยหวังว่าทั้งสองรุ่นจะสามารถได้รับความนิยมเหมือนกับที่ทำได้ในอดีต แต่สุดท้ายแล้วเส้นทางมันกลับไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมันคือจุดเริ่มต้นของการหายไปของ Chevrolet ประเทศไทย

chevrolet
Chevrolet Cruze

เลิกทำตลาดรถเก๋ง คงไว้แต่รถกระบะ

นับตั้งแต่นั้นมา Chevrolet ประเทศไทยก็ไม่ได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ อีกเลย (มีเพียงเปิดโฉมใหม่ของรุ่นเดิม หรือ Minorchange) แถมยอดขายก็ค่อยๆ ลดลง จนปี 2558 ก็มีการถอนตัวออกจากโครงการ Eco Car เฟส 2 รวมถึงมีการให้พนักงานสมัครใจลาออกด้วย

ที่สุดแล้วในปี 2561 Chevrolet ประเทศไทยก็เลิกทำตลาดรถยนต์นั่งอย่างเป็นทางการ ถ้าเรียกแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือเลิกขายรถเก๋งทั้งหมด เหลือแต่กลุ่มรถกระบะ และ PPV เท่านั้น ซึ่งการทำแบบนี้ Chevrolet ก็สามารถเน้นทำตลาดแต่สินค้าที่ตนเองถนัดได้ แม้ตลาดรถกระบะจะแข่งขันสูงก็ตาม

Chevrolet
Chevrolet Trailblazer

เมื่อทุกอย่างดีขึ้น Chevrolet ก็เริ่มเปิดตัวรุ่นใหม่ โดยในปี 2562 ได้นำรุ่นในตำนานอย่าง Captiva กลับมาทำตลาดอีกครั้งหนึ่ง ผ่านการตั้งราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ก็สามารถดึงยอดซื้อไปได้ประมาณหนึ่ง ถือเป็นการเกาะกระแส SUV เติบโตในไทยได้เป็นอย่างดี

แบกไม่ไหว จะให้อยู่ต่อคงลำบาก

ถึงจะเริ่มกลับมาได้ แต่ด้วยกลยุทธ์การทำธุรกิจในระดับโลกของกลุ่ม GM ไม่ได้เน้นที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกแล้ว ประกอบกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยแข่งกันสูง รวมถึง Chevrolet ก็ไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งมาได้มากนัก กลุ่ม GM จึงประกาศเลิกจำหน่าย Chevrolet ในประเทศไทยภายในสิ้นปี 2563

chevrolet
ศูนย์การผลิตรถยนต์ของ Chevrolet ที่ระยอง

นอกจากนี้ยังขายโรงงานผลิตที่ระยองให้กับ Great Wall Motors จากประเทศจีนด้วย เรียกว่าเป็นเรื่องไม่คาดฝันของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย โดยผู้ใช้งาน Chevrolet ยังได้รับงานสนับสนุนการซ่อมบำรุงอยู่ ส่วนตัวแทนจำหน่าย และพนักงานของ Chevrolet ในประเทศไทยก็จะได้รับการสนับสนุนเช่นกัน

ถือเป็นการปิดฉากอีกครั้งของแบรนด์รถยนต์จากสหรัฐอเมริกา เพราะก่อนหน้านี้ Chrysler ก็เคยตั้งบริษัทในไทย และที่สุดแล้วก็ต้องถอยทัพไป ส่วน Ford นั้นปัจจุบันก็เหลือทำตลาดแค่รถกระบะเหมือนกับที่ Chevrolet เคยทำไปก่อนหน้านี้ และก็คงต้องจับตาดูว่าอนาคตของแบรนด์รถสหรัฐฯ ในไทยจะเป็นอย่างไร

สรุป

Captiva กลายเป็นรุ่นรถยนต์ที่ทำให้ Chevrolet ประสบปัญหาใหญ่ถึง 2 ครั้ง แต่นั่นก็เป็นแค่เรื่องบังเอิญ เพราะจริงๆ แล้วช่วงแรกของ Chevrolet ประเทศไทยนั้นเหมือนทุกอย่างจะไปด้วยดี แต่ด้วยปัญหาล้มละลาย และการปรับกลยุทธ์ รวมถึงตลาดรถยนต์ไทยที่ต่างกับที่อื่น ก็ทำให้ Chevrolet ต้องถอยทัพออกไปในที่สุด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/end-of-chevrolet-in-thailand/

หมดยุครถใช้น้ำมัน? GM เตรียมปลดพนักงานกว่า 14,000 ตำแหน่ง เดินหน้ารถยนต์ไฟฟ้าเต็มกำลัง

น่าจะการันตีได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้า และรถไร้คนขับคืออนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะล่าสุดกลุ่ม GM เจ้าของแบรนด์ Chevrolet และ Cadillac เตรียมปลดพนักงานส่วนผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันหลายหมื่นคนภายในปี 2562

คนร้องไห้ // ภาพ pixabay.com

ปลดพนักงานที่ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว

แม้ไตรมาส 3 ของกลุ่ม GM หนึ่งในยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์จากสหรัฐอเมริกาจะทำยอดขายได้ค่อนข้างดี แต่บริษัทก็ตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการเตรียมปลดพนักงานกว่า 14,000 คน พร้อมปิดโรงงานผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันอีก 7 แห่งทั่วโลก เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับองค์กร และสามารถเดินหน้ารถยนต์ไฟฟ้า กับรถยนต์ไร้คนขับได้เต็มรูปแบบ

Mary Barra ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม GM ยอมรับว่า การส่งแผนลดขนาดองค์กรครั้งนี้จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2562 หากไม่มีอะไรเข้ามาขวาง โดยพนักงานส่วนใหญ่ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งจะอยู่ในสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับโรงงาน 5 แห่งที่จะปิดในทวีปอเมริกาเหนือด้วย ส่วนอีกสองแห่งนั้นอยู่นอกพื้นที่ดังกล่าว

Mary Barra ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม GM // ภาพ GM

“เราจะทำสิ่งนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจแข็งแกร่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์นั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเราต้องการทำให้แน่ใจว่าเราอยู่ในตำแหน่งที่ดี เราคิดว่ามันเหมาะสมแล้วในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงนี้ในช่วงที่เราแข็งแกร่ง และเศรษฐกิจก็แข็งแกร่งด้วย โดยพนักงานที่ต้องออกไปนั้นคิดเป็น 15% ของทั้งหมด”

ขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการทำตลาด GM ยังเตรียมหยุดจำหน่ายรถแบบ Sedan หรือเก๋งที่ขายไม่ค่อยดี เช่นรุ่น Buick LaCrosse, Chevrolet Impala และ Cadillac CT6 และหันไปทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะรุ่น Chevrolet Volt เป็นต้น ที่สำคัญการกระทำข้างต้นยังทำให้หุ้นของ GM ดีดตัวสูงสุดในรอบ 2 ปีด้วย

Chevrolet Volt // ภาพ Chevrolet

ในทางกลับกัน GM ได้จ้างงานกลุ่มนักออกแบบรถยนต์ไฟฟ้า และวิศวกรซอฟท์แวร์จำนวนมากเพื่อเข้ามาทำงานกับ GM Cruise หน่วยธุรกิจที่ดูแลเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไร้คนขับ โดยเมื่อปีก่อนมีการจ้างงานกว่า 1,000 ตำแหน่งเพื่อมาทำงานในสำนักงานที่ San Francisco ซึ่งไม่ใช่สำนักงานใหญ่ของ GM ที่อยู่ที่ Detroit

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจครั้งนี้ของ GM ก็สร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีของแคนาดา เพราะมีโรงงาน GM อยู่ในประเทศ จึงห่วงเรื่องการจ้างงานที่ลดลง ส่วนการเลิกจำหน่ายรถเก๋งบางรุ่นก็ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะตอนนี้ความต้องการของตลาดนั้นอยู่ที่รถยนต์แบบ SUV

สรุป

ถือเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาด และแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในการเดินหน้าทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบของ GM ดังนั้นเมื่อยักษ์ใหญ่ลงมาเล่นเองอีกราย กลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง Tesla และแบรนด์จีนก็คงต้องหวั่นๆ กันบ้าง เพราะเรื่องความเชื่อมั่น แบรนด์ดั้งเดิมนั้นมีอยู่มากกว่าแน่นอน

อ้างอิง // Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/gm-layoff-14000-employee/

Chevrolet ส่ง eCOPO Camaro Concept รถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบที่มีกำลังขับเคลื่อน 800 แรงม้า

ถือเป็นอีกก้าวของวงการยานยนต์ หลัง Chevrolet ได้ปล่อยรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบรุ่น eCOPO Camaro ที่ผลิตมาเพื่อใช้แข่ง Drag โดยเฉพาะ แถมรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ยังมีแรงม้าสูงถึง 800 ตัวอีกด้วย

eCOPO Camaro

มอเตอร์สปอร์ตต้องสั่นสะเทือน

รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นอีกกลยุทธ์ที่หลายค่ายผู้ผลิตรถยนต์ต้องเดินหน้าทำตลาด แต่ไม่ใช่แสดงออกแค่การสร้างรถยนต์ไฟฟ้าคันหนึ่งเพื่อจำหน่าย แต่ต้องแสดงศักยภาพของตัวเองเพื่อบ่งบอกถึงความจริงจังในการลงทุนเรื่องนี้ด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นที่มาของ Chevrolet กับรุ่น eCOPO Camaro

สำหรับตัว Camaro นั้นถือเป็นรถยนต์สปอร์ตรุ่นเรือธงของทางแบรนด์ และถ้าใครเคยรับชมภาพยนตร์เรื่อง Transformer ก็คงคุ้นเคยกับรถยนต์รุ่นนี้ที่แปลงร่างเป็น Bumblebee ได้ แต่ตัวรหัส COPO ที่อยู่ก่อนหน้าชื่อรุ่นนั้นย่อมาจาก Central Office Production Order หรือรุ่นที่ผลิตขึ้นเพื่อง่ายต่อการปรับเปลี่ยนเรื่องต่างๆ

eCOPO Camaro

ซึ่งหลักๆ ก็เป็นการแต่งให้รถยนต์ Camaro นั้นแรงยิ่งกว่าเดิม โดยรหัสดังกล่าวเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2512 เพื่อนำรถยนต์รุ่นนี้ไปแข่งขันที่รายการ NHRA Stock Eliminator ส่วนตัว e ก็มีที่มาอย่างที่หลายคนเดากันได้คือ Electric หรือรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง

ส่วนในมุมของประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้จะมาพร้อมกับมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ BorgWaner ที่มีพละกำลังในการขับเคลื่อนเท่ากับ 800 แรงม้า ผ่านแบตเตอรี่แพค 800 โวลต์ แบ่งเป็นลูกละ 200 โวลต์ทั้งหมด 4 ลูก ติดตั้งไว้บริเวณเบาะหลัง และกระโปรงหลังที่ละชุด

COPO Camaro รุ่นต้นกำเนิดเมื่อ 50 ปีก่อน

ที่สำคัญ Chevrolet ยังทดสอบแล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบรุ่นนี้สามารถวิ่ง Quarter-Mile ได้ภายใน 9 วินาที ส่วนเรื่องดีไซน์นั้นก็แทบจะถอดแบบนั้น COPO Camaro เลยด้วย นอกจากนี้มันยังไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้าที่แรงที่สุดแค่ในจินตนาการเหมือนกับ NIO EP9 กับ Tesla Roadster เพราะรถไฟฟ้ารุ่นนี้ทดสอบจริงๆ แล้ว

สรุป

เป็นอีกครั้งที่หลายคนเริ่มเห็นศักยภาพของรถยนต์ไฟฟ้าว่ามันสามารถวิ่งได้เร็ว และแรงแค่ไหน รวมถึงเรื่องสถาปัตยกรรมการออกแบบที่ไม่ต้องอวกาศ เพียงแค่ปรับจากโมเดลดั้งเดิมก็สามารถใช้งานได้ ดังนั้นอนาคตเราอาจเห็นแบรนด์อื่นๆ เริ่มสร้างรถยนต์ไฟฟ้าแรงๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ก็เป็นได้

อ้างอิง // The Verge, Chevrolet

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/ecopo-camaro-concept/

เชฟโรเลต Bolt รถยนต์ไฟฟ้าราคา 1.3 ล้านบาท อีกนิดก็เอื้อมได้แล้ว

กระแสรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาแรงมากๆ ทั่วโลก หลังจากการโหมกระหน่ำของ Tesla ทำให้เทคโนโลยีถูกพูดถึงอย่างมาก และแบรนด์รถยนต์อื่นๆ ก็กระโดดเข้ามาวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง ดังนั้นถ้าใครที่ฝันว่าอยากจะมีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นของตัวเอง (ซึ่งราคาไม่สูงเกินไป) ก็อาจจะไม่ต้องรอ Tesla ออกรุ่น Model 3

เพราะล่าสุด เชฟโรเลต ได้พัฒนา Bolt รถยนต์ไฟฟ้าคันแรก ที่จะเปิดตัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ด้วยราคา 37,500 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1.3 ล้านบาท แต่สามารถวิ่งได้ระยะทาง 238 ไมล์ หรือประมาณ 350 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟฟ้าเต็ม 1 รอบ

2016-chevrolet-bolt-electric-vehicle-charging-980x380-01

หมายความว่าในการชาร์จไฟฟ้าเต็ม 1 รอบ สำหรับการใช้งานในเมือง 3-4 วันสบายๆ ถ้าใช้งานหนักหน่อย 1-2 วันก็ยังเอาอยู่ ไม่ต้องห่วงเรื่องแบตเตอร์รี่หมดกลางทาง และผู้ซื้อยังมีโอกาสได้สิทธิพิเศษทางภาษีมูลค่า 7,500 ดอลลาร์จากการซื้อ EV

ดังนั้น ถือว่า Bolt จะเป็น EV รุ่นแรกที่เข้ามาจับตลาดทั่วไปในระดับราคาที่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ เช่นเดียวกับ Tesla Model 3 ที่จะเปิดตัวในอนาคต ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ เชฟโลเรต มี Volt ซึ่งเป็นเทคโนโลยี Plugged in hybrid ขณะที่ Tesla มี Model S และ Model X

2016-chevrolet-bolt-electric-vehicle-design-9-7-1480x551-01

สรุป

สำหรับในประเทศไทย ค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ยังยืนยันว่าเทคโนโลยี Hybrid และ Plugged in hybrid ยังเป็นตัวเลือกแรก และจะใช้งานไปอีกประมาณ 10 ปี ก่อนที่ EV จะเริ่มทำตลาด แต่ดูเหมือนในต่างประเทศกลับเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีกันอย่างจริงจัง (และแน่นอนว่า เริ่มมาจาก Tesla) เพื่อมีแบรนด์แรกเริ่ม แบรนด์อื่นๆ ก็ตาม ดังนั้น ถ้าไทย ซึ่งต้องการเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตที่สำคัญของ EV ทั้งเรื่อง แบตเตอร์รี่ หรือ เครื่องยนต์ นี่คือ โอกาสสำคัญที่สุด

Credit: Consumerist

from:https://brandinside.asia/chevrolet-bolt-electric-vehicle-go-to-market/

Chevrolet สร้าง ”ปั้มน้ำมันชีวิตดี” ด้วย IBM Watson

Screen Shot 2016-09-16 at 7.41.29 AM

ไม่ใช่แค่อารมณ์ดี แต่ Chevrolet ใช้คำว่า “Positivity Pump” หรือปั้มแก๊สปั้มน้ำมันแห่งแรกที่จะมอบความรู้สึกดีให้กับลูกค้าที่มาเยือน เบื้องหลังของแคมเปญสุขใจนี้คือปัญญาประดิษฐ์ก้องโลกอย่าง IBM Watson ซึ่งสามารถมอบประสบการณ์ดีให้กับทุกคนได้อย่างเหมาะเจาะ

แบรนด์รถชื่อดังอย่าง Chevrolet ลุย 4 เมืองใหญ่รอบโลกเพื่อสาธิตให้โลกเห็นความงามของระบบ “global positivity system” ที่บริษัทนำเทคโนโลยี IBM Watson มาใช้เพื่อช่วยให้ทุกคนรู้สึกดี จุดเด่นของแคมเปญนี้คือการจับอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้าที่อยู่ในปั้มขณะนั้น ซึ่งลูกค้าจะได้รับน้ำมันฟรีตามระดับความรู้สึกดีที่ระดับตรวจจับได้ (อารมณ์ดีไม่มาก ก็ได้น้ำมันฟรีน้อยหน่อย ฮา)

แคมเปญนี้เกิดขึ้นบนการสร้างสรรค์ของเอเจนซี่ The Martin Agency ที่ร่วมมือกับ Commonwealth/McCann แนวคิดของแคมเปญคือผลสำรวจที่พบว่า โพสต์แง่ลบนั้นถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์มากกว่า 26,000 โพสต์ต่อวินาที นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจในการมอบความรู้สึกดีๆให้กับนักเดินทางก่อนที่จะขับรถมุ่งหน้าต่อไป

แคมเปญนี้ขอร้องให้ลูกค้าร่วมลงชื่อใช้งานด้วย Facebook หรือ Twitter โดยผู้โชคดีบางราย ระบบจะเสนอรางวัลที่ช่วยมอบประสบการณ์ชีวิตตามอาชีพหรือตัวตนของลูกค้ารายนั้น เช่น กรณีพ่อครัวที่จะได้รับเชิญไปดินเนอร์กับพ่อครัวรุ่นพี่เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ด้านงานพ่อครัวมือโปร หรือนักเรียนศิลปะและนักเรียนถ่ายรูปที่ระบบจะเสนอโปรแกรมเพิ่มสีสันให้การเดินทางครั้งใหม่

ที่มา : DigitalBuzzBlog

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2016/09/chevrolet-positivity-pump-ibm-watson-ai/