คลังเก็บป้ายกำกับ: MOM

ศึกษาพบแม่รุ่นใหม่พอใจชมโฆษณาดิจิทัลมากกว่ากลุ่มแม่ยุคก่อน

ผลสำรวจความเห็นกลุ่มแม่ยุคใหม่ “Gen Z mom” เทียบกับคุณแม่ยุคก่อนหน้าพบว่ามีความต่างกัน โดยสัดส่วนแม่ยุคใหม่มีความเชื่อถือการรีวิวสินค้าของเหล่ามือโปรฯผู้มีชื่อเสียงมากกว่า แต่เชื่อถือการรีวิวบนแพลตฟอร์มดังอย่าง Amazon, Yelp และแพลตฟอร์มอื่นน้อยกว่าแม่ในยุคก่อน

ผลการสำรวจครั้งนี้ถูกระบุไว้ในรายงานเรื่อง “Futurecasting Families: Early Insights into Generation Z & the Future of Parenting” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดของคนอเมริกันรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวมาเป็นพ่อแม่ของครอบครัวใหม่ในอนาคต ความน่าสนใจของรายงานนี้คือแม้กลุ่มแม่ยุคใหม่ Gen Z mom จะไว้วางใจกับการรีวิวสินค้าในสื่อระดับมืออาชีพ แต่แม่กลุ่มนี้ยืนยันชัดว่าไม่ไว้วางใจในความคิดเห็นของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon และบริการแนะนำร้านอาหาร Yelp รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นที่มีส่วนได้เสียทางการค้ากับการรีวิว

รายงานที่ถูกจัดทำโดยเว็บไซต์ BabyCenter และ Collage Group ยังพบว่า Gen Z mom หรือแม่ยุคใหม่จะเลือกหาแหล่งข้อมูลที่รู้จักและไว้ใจเมื่อต้องการความช่วยเหลือและคำแนะนำสำหรับผลิตภัณฑ์ที่จะซื้อ โดยหากวิเคราะห์นอกกลุ่มแม่ พบว่ากลุ่ม Gen Z ที่เป็นผู้หญิงล้วนมีแนวโน้มยินดีชมโฆษณาดิจิทัลที่ตรงใจมากขึ้น แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับความสนใจของสาวๆ

รายงานให้รายละเอียดการสำรวจนี้ว่ากลุ่มสาว Gen Z ที่ยินดีชมโฆษณาดิจิทัลที่ตรงใจนั้นครองสัดส่วนเกือบครึ่งของกลุ่มตัวอย่าง เช่นกลุ่มเด็กหญิงที่พอใจชมโฆษณาดิจิทัล 42%, กลุ่มผู้หญิง 41% และกลุ่มแม่ 46% ขณะที่กลุ่มแม่ยุคก่อนราว 29% เท่านั้นที่แสดงจุดยืนไม่รังเกียจโฆษณาออนไลน์

หากมองในแง่ความคิดเชิงครอบครัว มากกว่า 70% ของผู้หญิง Gen Z และหญิงที่ไม่มีบุตร ยอมรับว่าประสบปัญหา FOMO หรือ fear of missing out เป็นประจำ เพราะส่วนใหญ่ใช้เวลาแทบทั้งวันบนโซเชียลมีเดียและออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตกือบตลอดเวลา อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ลดลงในกลุ่มแม่ยุคก่อน

คุณแม่วัย Gen Z ในกลุ่มตัวอย่างยังเน้นเรื่องความสำเร็จเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตในอุดมคติ เช่นเดียวกับค่านิยมดั้งเดิม เช่น การแต่งงาน และการอบรมบ่มนิยมลูกหลานก็ยังคงมีน้ำหนักอยู่ โดย ”ความสำเร็จ” เป็นตัวเลือกแรกของกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง Gen Z ประมาณ 30% ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนแม่ยุคก่อนที่ราว 20% เท่านั้นที่เลือกความสำเร็จ จุดนี้พบว่าผู้หญิง Gen Z มีความกังวลมากกว่ากลุ่มที่มีอายุมากกว่า ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นผลจากการเติบโตในช่วงหลังวินาศกรรม 9/11

ที่มา: Marketingdive

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2018/03/digital-ads-gen-z-mom/

ทรูมูฟ เอช ส่งภาพยนตร์โฆษณาสุดซึ้ง Mom ต้อนรับวันแม่ ชวนบอกรักแม่ แบบคมชัด ระดับ HD บนเครือข่าย 4G ที่ดีที่สุด ตอกย้ำ Best HD Network

ทรูมูฟ เอช ผู้นำเครือข่าย 4G+ แนะนำโฆษณาใหม่ล่าสุด ต้อนรับวันแม่ ชวนคนไทยบอกรักแม่แบบคมชัดระดับ HD ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดที่ทรูมูฟ เอช เข้าใจพฤติกรรมการใช้มือถือของผู้บริโภคที่มีแง่มุมและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย และแตกต่างกัน แต่ต่างก็ให้ความสำคัญกับความคมชัดทั้งภาพและเสียงระดับ Full HD จึงเป็นที่มาของการยกระดับเครือข่ายทรูมูฟ เอช เป็น Best HD Network รายแรกในไทย ถ่ายทอดเป็นซีรีส์ภาพยนตร์โฆษณาทั้งหมด 5 เวอร์ชั่นได้แก่ “Mom, Sport, Music, Movie และ Exclusive” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคุณภาพในการรับชม และรับฟังคอนเทนต์ผ่านเครือข่าย 4G จากทรูมูฟ เอช เริ่มออกอากาศทั่วประเทศ เรื่อง Mom เป็นเรื่องแรก วันที่ 11 สิงหาคมนี้

สำหรับภาพยนตร์โฆษณาเรื่อง ‘Mom’ เป็นเรื่องราวของทหารเกณฑ์ที่โทรศัพท์คุยกับแม่ ซึ่งความเป็นผู้ชายแบบแมนๆ แม้จะรักแม่อย่างสุดซึ้งก็ไม่กล้าบอกรักแม่ แต่ด้วยความคมชัดระดับ HD ทั้งภาพและเสียง แม้ลูกชายจะเงียบไม่พูดอะไร แต่แม่ก็ยังได้ยินชัดลึกไปถึงทุกความรู้สึกในจิตใจของลูกเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ซีรีส์ชุดนี้ยังสื่อให้เห็นถึงความหลากหลายของคอนเทนต์ที่ปรากฎในภาพยนตร์โฆษณาด้วย ไม่ว่าจะเป็น Sport, Movie, Exclusive และ Music เนื้อเรื่องเล่าถึงความคมชัดระดับ HD ทำให้เราได้มองเห็นอะไรที่คนอื่นทั่วไปมองไม่เห็น… Sport ไม่ใช่แค่เกมส์การแข่งขันฟุตบอลทั่วไป แต่เราสามารถมองลึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของกองเชียร์ที่อยู่ด้านหลัง.. Movie ไม่ใช่แค่ความยิ่งใหญ่หรือความอลังการของเซ็ตต่างๆ ในหนังที่เราดู แต่เราสามารถมองลึกเข้าไปถึงรายละเอียดความปราณีตในฉากนั้นๆด้วย.. Exclusive ไม่ใช่แค่นักร้องศิลปินหน้าเวทีที่เราชื่นชอบ แต่ความคมชัดทำให้เรามองเห็นได้ถึงนักร้อง backup เบื้องหลังที่เป็นส่วนสำคัญทำให้เวทีสมบูรณ์ และ Music ไม่ใช่แค่ภาพแต่คุณภาพเสียงที่คมชัดก็ทำให้เราได้เข้าถึงอารมณ์เพลง และทั้งหมดนี้คือ HD คุณภาพที่ดีที่สุดจาก ทรูมูฟ เอช

from:http://mobileocta.com/truemove-h-delivers-momentary-momentum/

ทำการตลาดช่องทางใด เข้าถึงกลุ่ม “แม่” ได้ดีที่สุด

Marketbuzz วิเคราะห์ข้อมูลผลสำรวจ “เสียงจากคุณแม่แท้ๆ” ที่มีลูกวัย 0ปี จำนวน 1,000 คน พบแม่ 63% คือคนที่ตัดสินใจเรื่องต่างๆ สำหรับลูกน้อย โดยมือถือเป็นสิ่งที่ทำให้เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของกลุ่มแม่ พร้อมเผยพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์นมผงและผ้าอ้อมเพื่อลูกน้อยสำหรับนักการตลาด

โดย Marketbuzzz พบว่า คุณแม่ของทารกแรกเกิดถึงอายุสามปีเป็นกลุ่มที่มีชีวิตยุ่งมาก หลายคนเป็นคุณแม่มือใหม่ที่มักจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นแม่อยู่สม่ำเสมอและมีข้อสงสัยว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้องและดีที่สุดให้ลูกหรือยัง อีกทั้งยังพบว่ากลุ่มนักการตลาดกำลังมองหาข้อมูลที่คล้ายคลึงกันสำหรับเด็กที่กำลังโต ในช่วงอายุระหว่าง 3-12 ปี รวมทั้งในช่วงอายุวัยรุ่นที่กลุ่มคุณแม่กำลังมองหาข้อมูลเกี่ยวกับการเติบโตและการศึกษา พฤติกรรมการกินและอาหาร และคำแนะนำอื่นๆ ในการเป็นพ่อแม่อีกด้วย เราจึงเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะนำเสนอการเข้าถึงกลุ่มคุณแม่ที่มีลูกในวัยแรกเกิดไปจนถึง 18 ปี

โดยข้อมูลจากการสำรวจพบว่า

  • 63% ของกลุ่มคุณแม่จะเป็นผู้ตัดสินใจหลัก โดยอีก 37% เป็นสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ตัดสินใจหลักร่วมกับคุณแม่ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม
  • อาหารเป็นประเภทสินค้าที่มีการซื้อมากที่สุด รองลงมาคือของใช้ส่วนตัว เสื้อผ้า และของเล่นเสริมทักษะ
  • กลุ่มคุณแม่ส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายสำหรับลูกน้อยเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ระหว่าง 2,500-7,500 บาท ครอบครัวที่มีรายได้มากก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมาก ครอบครัวที่มีรายได้น้อยก็จะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนน้อย
  • ในอดีต กลุ่มคุณแม่จะขอคำแนะนำจากแม่ของพวกเขา แต่กลุ่มคุณแม่ในยุคนี้ มีการเชื่อมต่อมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะทางมือถือและทางอินเตอร์เน็ต คุณแม่ยุคนี้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะมีความรู้ความเข้าใจในการเป็นพ่อแม่ พลังของโซเชียลมีเดีย รวมถึงโฆษณาออนไลน์และโฆษณาทางทีวี เป็นช่องทางที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือการอ่านข่าวสารและบทความเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเด็ก ซึ่งเป็นช่องทางที่คุณแม่ใช้มากกว่าคำแนะนำจากครอบครัวและเพื่อนฝูง บ่งบอกได้ว่ากลุ่มคุณแม่มองหาแหล่งข้อมูลที่กว้างมากขึ้นกว่าในกลุ่มของคนสนิท
  • กิจกรรมโปรโมชั่นต่างๆ มีผลมากที่สุดต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าให้กับลูกน้อย อยู่ที่ 38% ซึ่งมากกว่าคำแนะนำจากครอบครัวและเพื่อนฝูง 16%, การโฆษณา 15%, คำแนะนำจากคุณหมอ 14% และผลการวิจัยอ้างอิงจากมุมมองของกลุ่มคุณแม่ 13%
  • จากข้อมูลของการซื้อสินค้าสำหรับลูกน้อย ร้านค้าแบบดั้งเดิม (ห้างสรรพสินค้า, ซุปเปอร์มาร์เก็ต) เป็นช่องทางสำหรับซื้อสินค้าที่กลุ่มคุณแม่นิยมมากที่สุด สูงถึง 92% โดยมีช่องทางทางอีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางอันดับที่ 2 อยู่ที่ 58%
  • การสำรวจนี้ ยังลงลึกไปถึงรายละเอียดของปัจจัยในการตัดสินใจซื้อทั้งในส่วนของการให้นมลูกและการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้กับลูกน้อยอีกด้วย กลุ่มคุณแม่ยังเปิดใจกว้างในการเปลี่ยนแบรนด์ในการให้นมและผ้าอ้อมซึ่งจะต้องมีเหตุผลที่ดีในการเปลี่ยน ผลสำรวจพบว่ามีการเปลี่ยนยี่ห้อนมผงถึง 58% และเปลี่ยนยี่ห้อผ้าอ้อมถึง 65% ในช่วงลูกวัย 0-3 ปี โดยข้อมูลพบว่าเหตุผลในการเปลี่ยนแบรนด์ขึ้นอยู่กับประโยชน์ของสินค้าเป็นหลัก นอกจากนี้ ราคาและโปรโมชั่น เป็นอีกเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อ

มร. แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานบริหารของ Marketbuzzz ในฐานะอีกหน่วยธุรกิจของ Buzzebees (บัซซี่บีส์) กล่าวอธิบายว่า “มือถือได้เปลี่ยนแปลงวิธีการในการตัดสินใจของกลุ่มคุณแม่ พวกเขาใช้มือถือในการค้นหาข้อมูล ในการให้ความรู้กับตนเอง ในการซื้อสินค้า และในการตัดสินใจต่างๆ อยู่ตลอดทั้งวัน ดังนั้น แบรนด์ต่างๆ มีโอกาสมากยิ่งขึ้นในการเข้าถึงกลุ่มคุณแม่ ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงนำเสนอการเชื่อมต่อไปยังกลุ่มคุณแม่สองล้านคนนี้ เพื่อให้ผู้จัดการแบรนด์และนักการตลาดสามารถทำการค้นคว้าทางการตลาดและได้รับข้อมูลที่มากขึ้นเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายของตนเอง ด้วยวิธีการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นก็คือ ทางมือถือ

มร. บาร์โทลี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในกรณีนี้ยิ่งมีข้อมูลมากก็ยิ่งมีประโยชน์มากขึ้น และการให้ข้อมูลกลุ่มคุณแม่กว่าสองล้านคนนี้ จะทำให้นักการตลาดสามารถทำการศึกษาค้นคว้าเฉพาะเจาะจงไปยังลักษณะเฉพาะของกลุ่มตลาดเป้าหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของไลฟ์สไตล์ อายุของลูก หรือแม้แต่อาการแพ้ที่ลูกรู้สึกไวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราก็สามารถหาข้อมูลนั้นได้ ประโยชน์อย่างที่สองคือ กลุ่มคุณแม่เป็นกลุ่มคนที่ยุ่งมาก ด้วยการเข้าถึงพวกเขาเหล่านั้นผ่านทางมือถือจะช่วยให้เราสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ได้ในช่วงที่กลุ่มคุณแม่มีเวลาที่จะให้ข้อมูลผ่านมือถือ”

ในการเปิดตัวครั้งนี้ Marketbuzzz ยังได้เปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากผลการสำรวจ “เสียงจากคุณแม่แท้ๆ” ซึ่งทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในบทบาทการเป็นคุณแม่ของลูกในวัยตั้งแต่ 0-3 ปี ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนมุมมองและอิทธิพลของช่องทางออนไลน์ กลุ่มคุณแม่ในปัจจุบันนี้เป็นกลุ่มคนยุคใหม่ที่เติบโตมากับการหาข้อมูลต่างๆ ผ่านทางมือถือ และชอบที่จะแบ่งปันช่วงเวลาแห่งความสุขของลูกผ่านทางมือถืออีกด้วย

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/08/marketbuzz-mom-marketing-channel/

เปิดพฤติกรรม “แม่” ในหัวเมืองรองของต่างจังหวัดที่นักการตลาดควรรู้ จาก Mindshare (1)

ในขณะที่ข้อมูลของผู้บริโภคกลุ่ม “แม่” (Mom) ในเขตเมืองนั้นมีอยู่ทั่วไป แถมแบ่งกลุ่มหลากหลาย แต่กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ไม่ใช่ประเทศไทย และประชากรกลุ่ม “แม่” อีก 65% ในจังหวัดอื่น ๆ ก็มีความสำคัญ Mindshare เอเจนซีด้านการตลาดและการสื่อสารจึงได้มีการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มแม่ในสามจังหวัดหัวเมืองรอง ได้แก่ น่าน ชุมพร และบุรีรัมย์ ในชื่อ Mom Hunt 2016 และนำผลการศึกษามาแบ่งปันให้ได้ทราบกัน

คุณณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร ผู้อำนวยการวางแผนและพัฒนาธุรกิจ Mindshare กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการทำวิจัยครั้งนี้เพื่อสำรวจและทำความเข้าใจวิถีชีวิต บทบาท และแรงจูงใจของคุณแม่ในหัวเมืองรองต่อการเลือกซื้อของอุปโภคบริโภคเข้าบ้าน เพื่อให้นักการตลาดนำไปปรับกลยุทธ์การขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และเสริมด้วยการศึกษาโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) คุณแม่ที่มีลูกอายุระหว่าง 0 – 3 ปี, 3 – 6 ปี และ 6 – 12 ปี อาศัยในจังหวัดน่าน บุรีรัมย์ และชุมพร และเป็นครอบครัวฐานะปานกลาง เป็นเวลา 90 ชั่วโมง เพื่อทำความเข้าใจในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • แรงจูงใจต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทตามไลฟ์สไตล์ครอบครัว
  • การเฝ้าสังเกตการเสพสื่อของครอบครัว
  • การร่วมสังเกตพฤติกรรมการเลือกซื้อของเข้าบ้าน

โดยสิ่งที่พบได้มากที่สุดคือคุณแม่ในหัวเมืองรองนั้นให้ความสำคัญกับการปรับหลักการเลี้ยงลูกจากรุ่นสู่รุ่น และเปิดรับการเลี้ยงดูแนวใหม่จากสื่ออินเทอร์เน็ตให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของตนเอง นอกจากนี้ แม่ในต่างจังหวัดยังเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และเลือกเสพสื่อตามที่ตนเองสนใจ รวมถึงเปิดรับข้อมูลจากชุมชนผ่านทาง Facebook ด้วย

“การทำวิจัยครั้งนี้เราเจาะจงศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคที่เรียกตัวเองว่าแม่ เนื่องจากเป็นผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนและแตกต่างอย่างมีจุดร่วม แม่ในปัจจุบันไม่เพียงแต่มีบทบาทหลักในการเลี้ยงลูก แต่ยังจัดการดูแลสิ่งต่าง ๆ ภายในบ้าน และยังเป็นบุคคลสำคัญในการตัดสินใจซื้อของเข้าบ้านอีกด้วย” คุณณัฐากล่าว

โดยการศึกษาของ Mindshare พบมิติของความเป็นแม่ในหัวเมืองรอง ดังต่อไปนี้

1.ความสุขของแม่ในหัวเมืองรองนั้น “เรียบง่าย”

Mindshare พบว่า ความสุขของแม่ที่อาศัยอยู่ตามหัวเมืองรองนั้นเรียบง่าย ขอแค่ลูกมีความสุข แม่ก็มีความสุขแล้ว นอกจากนี้ การได้อยู่ท่ามกลางครอบครัวที่ใกล้ชิดก็เป็นความสุขของแม่กลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งรูปแบบอาจเป็นการตื่นเช้าไปตลาด ได้พบปะทักทายกับเพื่อนบ้านหรือคนรู้จักในตลาด การเข้าร่วมงานเทศกาลที่จัดขึ้นในท้องถิ่น ฯลฯ เป็นต้น

ซึ่งความสุขของลูกนั้นอาจเป็นการไปรับประทานอาหารอาหารฟาสต์ฟู้ดด้วยกันในโอกาสพิเศษ หรือการได้มีของเล่นที่หาซื้อไม่ได้จากในท้องถิ่นนั้น ๆ อีกประการหนึ่งที่ Mindshare พบก็คือ แม่กลุ่มนี้มองว่าเงินคือใบเบิกทางสู่ความสุข และให้ความสนใจกับการซื้อสลากกินแบ่ง

2. แม่ในหัวเมืองรองนั้นทุ่มเทเพื่อลูกไม่แพ้ใคร

Mindshare พบว่า แม่ในหัวเมืองรองนั้นสามารถทุ่มเททำสิ่งต่าง ๆ เพื่อลูกได้ไม่แพ้ใคร ในจุดนี้คุณณัฐาเล่าว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ได้พบเห็นคุณแม่หลายบ้านที่เสื้อผ้าของตัวเองนั้นใส่อะไรก็ได้ เก็บตรงไหนก็ได้ แต่กับของลูกนั้น หลายคนได้จัดตู้เสื้อผ้าให้ลูกเป็นการเฉพาะ โดยให้เหตุผลว่าจำมาจากในทีวี และคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อลูก

นอกจากนั้นยังพบว่าบางบ้านมีการจัดโซนห้องของเล่นของลูกเป็นพิเศษ และเมื่อมีเด็ก ๆ ในละแวกบ้านให้ความสนใจมาขอเล่นกับลูกของเธอ ก็ทำให้แม่กลุ่มนี้รู้สึกพอใจที่ลูกของตนเองโดดเด่นกว่าเด็กคนอื่นในชุมชนด้วย

ในด้านการเลี้ยงลูกนั้น Mindshare พบว่า Influencer, เซเลบ หรือกุมารแพทย์นั้นอาจมีอิทธิพลไม่เท่าคนรอบตัวของพวกเธอเอง เช่น แม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน โดยเฉพาะแม่ของตัวเอง เนื่องจากแม่ในหัวเมืองรองจะมองว่า แม่ของตัวเองนั้นเลี้ยงพวกเธอมา ขณะที่เซเลบหรือกุมารแพทย์มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกว่ามาก ดังนั้น Words of mom จึงมีผลต่อการตัดสินใจของแม่ในหัวเมืองรองได้มากกว่า

อย่างไรก็ดี ในบางพื้นที่ การใช้เซเลบก็ได้ผลดี ยกตัวอย่างเช่น ปอ-ทฤษฎี ที่มีอิทธิพลต่อคนบุรีรัมย์ เป็นต้น

ติดตามตอน 2 ได้เร็ว ๆ นี้ค่ะ

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/05/mindshare-local-mom-behavior-part-1/

โอกาสใหม่ของแบรนด์สินค้า หลังคุณแม่ Gen M ดึงดิจิทัลพัฒนาบุตร

ตอนนี้ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่เว้นคุณแม่ยุคนี้ที่มีอายุระหว่าง 21 – 35 ปี หรือเรียกง่ายๆ ว่าคุณแม่ Gen M (Millennial Mom) เพราะคุณแม่กลุ่มนี้ต่างใช้ช่องทางดิจิทัลในการหาข้อมูล และพร้อมทุ่มเงินกับนวัตกรรมใหม่เพื่อให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุด ถือเป็นโอกาสสำคัญของแบรนด์ที่จะทำตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มนี้

adult-18604_1920

ทำความรู้จักคุณแม่ Gen M กันก่อน

พิมพ์ฐณัช ภฐณวาณิชกุล ผู้จัดการศูนย์วิจัย สถาบันอาร์แอลจี กลุ่มบริษัทอาร์แอลจี ให้ข้อมูลว่า จากคนไทยเกือบ 70 ล้านคน มีคนที่สถานะเป็นแม่อยู่ทั้งหมด 28.5 ล้านคน และจำนวนนี้มีคุณแม่ Gen M อยู่ 8 ล้านคน ที่สำคัญเด็กเกิดใหม่ 5 แสนคนในปี 2559 ยังมาจากคุณแม่ Gen M ถึงครึ่งหนึ่ง ดังนั้นหากแบรนด์ต่างๆ สามารถทำตลาดเจาะคุณแม่กลุ่มนี้ได้ การเติบโตทางธุรกิจก็ไปได้อีกไกล แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจคุณแม่กลุ่มนี้ก่อน เพราะเกิดในยุคแอนะล็อก แต่ดำรงชีวิตในยุคดิจิทัล ทำให้พฤติกรรมไม่เหมือนกับคุณแม่ยุคเบบี้บูม และ Gen X

“คุณแม่ Gen M ค่อนข้างกังวลเรื่องคุณภาพชีวิตของลูกเป็นพิเศษ แม้ปัจจุบันจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่นแหล่งข้อมูลออนไลน์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คอยให้คุณแม่ใช้ เพราะคุณแม่ Gen M ได้รับข้อมูลจำนวนมาก มากจนกังวลในเรื่องต่างๆ ดังนั้นถ้าแบรนด์สินค้าต้องการทำตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ จำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความปลอดภัย, ไว้ใจได้, ใส่ใจในคุณภาพ และเข้าใจความรู้สึกของคุณแม่ เพื่อเทิร์นทัศนคติ นอกจากนี้ยังต้องวางตัวให้มีคุณค่า และเป็นผู้ช่วยที่ดีของคุณแม่ Gen M เช่นกัน”

6 ลักษณะเด่นของคุณแม่ Gen M

Womom Phenomenon หรือการรวมคุณลักษณะทั้งแม่ และความเป็นตัวเองเข้าไว้ด้วยกัน จากเดิมที่ต้องละทิ้งทุกอย่างเพื่อลูก เพราะคุณแม่ Gen M จะมีความฝัน และความหวัง เหมือนกับช่วงก่อนมีลูก เช่นการรักสวยรักงาม และการออกกำลังกายเป็นต้น โดยคุณแม่ Gen M เชื่อว่าถ้าแม่มีความสุข ลูกก็จะมีความสุขไปด้วย

7 to 7 Granny Hours หรือการให้ญาติผู้ใหญ่ และญาติที่สนิทช่วยเลี้ยงลูกให้ ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 1 ทุ่ม เพราะคุณแม่ Gen M ต้องการใช้ชีวิตเหมือนก่อนมีลูก ที่สำคัญเหตุการณ์นี้ยังส่งเสริมให้แต่ละครอบครัวกลับมาเป็นครอบครัวใหญ่อีกครั้ง จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่มานาน

New Rule is New Rule หรือคุณแม่ยุค Gen M จะมีความคิดเป็นของตัวเอง เช่นความคิดเรื่อง Single Mom ที่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอีกต่อไป รวมถึงเรื่องการให้นมลูกในที่สาธารณะก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน ยกเว้นเรื่องการเรียนที่ยังยึดกับหลักเดิมๆ คือใกล้บ้าน และต้องมีชื่อเสียง

Take It Easy Theory หรือคุณแม่ Gen M มีเทคโนโลยี และข้อมูลจำนวนมากรายล้อมอยู่ ทำให้การเลี้ยงดูค่อนข้างสบายกว่าคุณแม่ยุคก่อน และตอนนี้คุณแม่เริ่มทำตัวให้สนิทกับลูกมากขึ้น รวมถึงให้อิสระกับลูก เช่นการเรียนในสิ่งที่ชอบ เพื่อให้ลูกมีความสุขมากที่สุด

Internet of (Mother) Things หรือการติดตามลูก และการพัฒนาลูกโดยใช่ช่องทางดิจิทัลต่างๆ เช่นการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะผ้าอ้อม และเสื้อผ้าเด็ก นอกจากนี้ถ้าเทคโนโลยีใดสามารถเสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้ดี คุณแม่ Gen M ก็ยอมที่จะใช้จ่ายกับสิ่งนั้น

Trans – Parent Culture หรือการหาสังคมใหม่ๆ เพื่อมีข้อมูลมาใช้ในการเลี้ยงลูกให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ตัวอย่างที่เห็นง่ายที่สุดคือ การตั้งกลุ่มบนเฟสบุ๊ก เช่นกลุ่มคุณแม่ปีงูเล็ก ดังนั้นคุณแม่ก็ไม่ได้เลี้ยงลูกเพียงคนเดียวอีกต่อไป แต่จะมีแม่ๆ ออนไลน์มาช่วยกันเลี้ยงอีกแรงด้วย และไม่มีกำแพงทางการเชื่อมต่อเช่นกัน

pregnant-453200_1920

อยากเจาะแม่ Gen M ความเชื่อมั่นสำคัญ

ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย มองว่า การทำตลาดเจาะกลุ่มแม่ และเด็กเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะต้องสื่อข้อมูลให้ชัดเจน เช่นถ้าใส่ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นไป หรือใช้เวลาน้อยเกินไป แม่ก็จะไม่เข้าใจในสินค้า และบริการ นอกจากนี้การทำให้สินค้า หรือบริการมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคุณแม่ก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน อาทิการใช้พรีเซนต์เตอร์ที่มีลูกอ่อน หรือการเลือกรายการที่มีพิธีกรที่เป็นผู้ใหญ่ ก็ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอสื่อไปยังแม่ Gen M ต้องไม่ยัดเยียด กล่าวคือลงโฆษณาทางโทรทัศน์ซ้ำๆ เพราะไม่ได้ดึงดูดผู้บริโภค ประกอบกับตอนนี้แม่ Gen M สามารถหาข้อมูลได้จากช่องทางต่างๆ ทำให้การแทรกตัวเข้าไปในช่องทางดิจิทัล รวมถึงสื่อดั้งเดิ่มสามารถทำได้หลากหลายขึ้น เพียงแค่ต้องเลือกคอนเทนต์ให้ถูกต้อง, เวลาให้ถูกต้อง และพยายามให้แม่ Gen M วิ่งเข้ามาหาสื่อที่สินค้า หรือบริการต้องการนำเสนอ ไม่ใช่ยัดเยียดให้พวกเขา เพื่อยกระดับคอนเทนต์ให้มีประสิทธิภาพ

pregnant-935977_1920

สรุป

การทำตลาดกับแม่ และเด็กนั้น ความเชื่อมั่นยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะแม่ต้องการเลือกสิ่งที่ดีให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นแม่ในช่วงอายุไหนก็ตาม แต่แม่ Gen M ยังมีช่องว่างให้นักการตลาดสามารถพัฒนาสินค้า หรือบริการให้เจาะกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีช่องทางดิจิทัลเป็นอีกตัวเลือก และแม่ Gen M พร้อมจ่ายในนวัตกรรมใหม่

from:https://brandinside.asia/gen-m-mom/

เหล่า ”คุณแม่” ปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจบน Instagram อย่างไร?

tumblr_inline_o4g7wpDqsW1tayze1_540

น่าสนใจมากเมื่อ Instagram เปิดเผยสถิติเชิงพฤติกรรมของกลุ่มคุณแม่ที่มีต่อธุรกิจนานาประเภท โดยระบุว่ากว่า 93% ของกลุ่มแม่บน Instagram เข้ามาใช้บริการเป็นประจำอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ขณะที่ 68% ของกลุ่มนี้ใช้งาน Instagram ทุกวัน แถมมากกว่าครึ่งหนึ่งของแม่กลุ่มนี้มีการคลิกติดตามธุรกิจหลากหลายบน Instagram (follow) ด้วย

การเปิดเผยสถิติเหล่านี้เป็นหนึ่งในความพยายามของ Instagram เพื่อบอกให้นักการตลาดทั่วโลกหันมาสนใจใช้ Instagram ในการเข้าถึงกลุ่มคุณแม่ที่พร้อมจับจ่ายซื้อสินค้าเพื่อลูกน้อยและสามี

Instagram พบว่าผู้ใช้กลุ่มคุณแม่กว่า 56% มอง Instagram เป็นแหล่งเรียนรู้วิธีใช้งานสินค้า ขณะที่ 78% ลงมือซื้อสินค้า หรือเดินตามแคมเปญ รวมถึงการ take action อื่นๆเมื่อได้อ่านข้อมูลที่ธุรกิจโพสต์บน Instagram

เมื่อเจาะลึงลงไปในการติดตามแบรนด์ธุรกิจ กลุ่มแม่นั้นติดตามแบรนด์เครื่องสำอางมากกว่ากลุ่มคุณพ่อบน Instagram มากกว่า 5 เท่าตัว ขณะเดียวกันก็ติดตามแบรนด์แฟชันมากกว่ากลุ่มคุณพ่อราว 3 เท่าตัว รวมถึงติดตามบัญชีที่เกี่ยวข้องกับเส้นผมมากกว่า 2 เท่า

แม้แต่แบรนด์ที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง กลุ่มคุณแม่ก็ติดตามมากกว่ากลุ่มพ่อมากกว่า 1.7 เท่าตัว

ในมุมของคุณพ่อ การสำรวจของ Instagram พบว่าคุณพ่อก็มีการติดตามแบรนด์ธุรกิจเช่นกัน แต่จะเน้นแบรนด์รถยนต์ บัญชีที่เกี่ยวข้องกับกีฬา โดยพ่อ 69% จะ take action ตามคอนเทนต์ที่ได้เห็นบน Instagram

ตัวเลข 69% นี้ต่ำกว่า 78% ในกลุ่มแม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการสำรวจพบว่าคุณแม่ยุคใหม่ตรวจความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียมากกว่า 15 ครั้งต่อวัน และคอยส่อง Instagram มากกว่า 6 ครั้งทุกวัน

ที่มา : Instagram

from:http://thumbsup.in.th/2016/04/moms-on-instagram/