คลังเก็บป้ายกำกับ: BEHAVIOR

งวดนี้ไม่ถูก งวดหน้าลองใหม่! พลังของ “หวย” ซื้อไปก็ไม่ค่อยถูก แต่ทำไมเรายังอยากเล่น

ใกล้วันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนทีไรเป็นต้องหาเลขให้ได้เพื่อซื้อหวย วิธีหาเลขก็มีมากมาย ไม่ว่าจะจากการเอาความฝันมาตีเป็นเลข การไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ดัง ๆ หรือแม้แต่บนบานศาลกล่าวถ้าเดือนไหนจำเป็นต้องใช้เงินมาก ๆ 

คนไทยชอบซื้อลอตเตอรี่มากขนาดไหน? ในปีงบประมาณ 2565 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่งรายได้ 53,736 ล้านบาท รายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาลที่นำส่งมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2556 และไม่ลดลงเลยแม้แต่ช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยรายได้ก้อนนี้มาจากการที่สลากกินแบ่งรัฐบาลแต่ละใบจะถูกหัก 23% เพื่อนำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน 

หวย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราถูกหวยกันบ่อยแค่ไหน คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปเพื่อซื้อหวยหรือเปล่า…

หากคุณอยากถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ใน หนึ่งใบจะประกอบด้วยเลข 6 หลัก แต่ละหลักเป็นได้ตั้งแต่เลข 0-9 รวมทั้งหมด 10 เลข ดังนั้น ความเป็นไปได้ของเลขทั้งหมดบนลอตเตอรี่คิดเป็น 10 ยกกำลัง 6 ซึ่งเท่ากับ 1,000,000 แบบ และรางวัลที่ 1 จะมีเพียงเลขชุดเดียว ดังนั้น เราแต่ละคนมีความน่าจะเป็นที่จะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 แค่ 0.0001% ยิ่งถ้าซื้อน้อยชุด โอกาสที่จะถูกก็น้อยลงไปด้วย

อันที่จริงแล้ว ต่อให้ไม่ต้องพึ่งคณิตศาสตร์ เราต่างรู้กันอยู่แก่ใจว่าเรามีโอกาสถูกรางวัลน้อยมาก หรืออย่างน้อยงวดที่เราถูกหวยก็เทียบไม่ได้เลยถ้าเทียบกับงวดที่เราไม่ถูก แล้วทำไมเราถึงต้องเล่นหวยอยู่ดี คำตอบง่าย ๆ ของหลายคนก็คงจะเป็นเพราะ “อยากรวย (แบบข้ามคืน)” แต่มีคำอธิบายทางจิตวิทยาอะไรบ้างที่อธิบายความชอบเล่นหวยจนหยุดไม่ได้ได้มากกว่านั้น

“ถ้าถูกรางวัลที่ 1 ก็ดีสิ จะได้ซื้อรถยนต์ซักคัน ผ่อนบ้านซักหลัง”

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราชอบเล่นหวยมาจากจิตนาการของตัวเอง เพราะเราต่างจินตนาการว่าถ้าถูกหวยแล้วเราจะมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ อย่างถ้าถูกหวยเราคงได้ใช้หนี้ให้หมด คงได้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือบางทีก็ซื้อเงินสดไปเลยถ้าถูกเยอะ ๆ 

เรามองว่าหวยจะเป็นสิ่งที่เนรมิตรให้ชีวิตเราแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในทางที่ดีขึ้น ทำให้เราหายใจหายคอคล่องมากขึ้นเพราะไม่ต้องมาคอยกังวลเรื่องเงินอีกต่อไป 

เมื่อการซื้อหวยทำให้คนมีความหวังและจินตนาการถึงสิ่งดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นถ้าถูกหวย จึงเป็นไปได้ว่าผู้ที่มีฐานะทางการเงินไม่ค่อยดีเท่าไรจะมีแนวโน้มที่จะซื้อหวยมากกว่าผู้ที่มีฐานะทางการเงินมั่นคงกว่า

ในปี 2008 Emily Haisley, Romel Mostafa และ George Loewenstrin นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ได้ทำการศึกษาถึงสาเหตุที่คนจนมักจะชอบซื้อลอตเตอรี่มากกว่าคนรวย และพบว่า 2 เหตุผลหลักคือเพราะผู้คนเหล่านั้นรู้สึกว่าตัวเองจน ลอตเตอรี่จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถยกระดับฐานะได้ อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่า ลอตเตอรี่ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่คนจนมีโอกาสชนะพอ ๆ กับคนรวย ลอตเตอรี่จึงกลายเป็นหนทางหนีจากความยากจน

อย่างไรก็ตาม เมื่อคนจนซื้อลอตเตอรี่จำนวนมากกว่าคนจน ทำให้คนจนเสียเงินไปกับการซื้อลอตเตอรี่มากกว่าคนรวยเมื่อเทียบกับรายได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าลอตเตอรี่มีลักษณะเป็นภาษีอัตราถดถอย กล่าวคือ ผู้มีรายได้น้อยจ่ายเงินให้กับรัฐบาลในสัดส่วนต่อรายได้ที่สูงกว่าผู้ที่มีฐานะดีกว่า

“งวดนี้ต้องถูกแน่”

เรายังมีแนวโน้มที่จะมองโลกในแง่ดีเกินความเป็นจริงเมื่อนึกถึงความเป็นไปได้ที่จะถูกหวยซึ่งตรงนี้คงต้องโทษการทำงานของสมองด้วยที่ทำให้เราคิดแบบนั้น

ลองจินตนาการว่าเราถือของอยู่ 1 ชิ้น เราก็คงมองเห็นภาพได้ง่าย ๆ ถ้าจินตนาการว่าถือของอยู่ 10 ชิ้นก็ยังพอมองเห็นภาพ แต่ถ้าให้เราลองคิดว่าเราถือของอยู่ในมือ 1,000 หรือ 10,000 ชิ้น เราก็เริ่มจะสับสนและจินตนาการไม่ออกแล้วว่าการถือของเยอะขนาดนั้นจะออกมาเป็นลักษณะไหน เพราะสมองไม่ถนัดในการนึกภาพสิ่งของเยอะ ๆ 

ในทางเดียวกัน เรามีโอกาสถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 เป็น 1 ใน 1,000,000 เพราะฉะนั้นสมองของเราจะไม่สามารถมองเห็นภาพตัวเลข 1,000,000 ได้ แต่จะโฟกัสไปยังเลข 1 ทำให้เรามองว่าถึงจะมีโอกาสน้อยแต่ก็มีโอกาส ฉะนั้นเราจึงรู้สึกว่าเราต้องซื้อหวยเพราะยังมีโอกาสถูก แต่ถ้าไม่ซื้อเลยก็ไม่มีโอกาสถูกเลย

“โห งวดนี้เกือบจะถูกแล้วเชียว พลาดไปแค่ตัวเดียว เดี๋ยวงวดหน้าเอาใหม่”

เวลาตรวจลอตเตอรี่แล้วผิดจากรางวัลที่ถูกไปแค่ตัวเดียวทำให้เกิดความหวังว่าครั้งนี้เกือบจะถูกรางวัลแล้ว ครั้งหน้าต้องมีโอกาสที่จะถูกรางวัลมากขึ้นอย่างแน่นอน การ “เกือบจะถูกอยู่แล้วเชียว” นี่เองที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจทางด้านจิตวิทยาให้เราต้องการซื้อหวยอยู่เรื่อย ๆ ถึงแม้งวดต่อไปเราอาจจะไม่ใกล้เคียงเลขที่ถูกเลยก็ตาม

Robert Williams ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการศึกษาการเล่นพนันใน University of Lethbridge ในแคนาดาพูดถึงอาการเกือบจะถูกอยู่แล้วนี้ โดยเรียกว่า “near miss effect” ว่าปัญหาคือแม้ว่าเลขตรงแค่ครึ่งหนึ่ง คนที่เล่นหวยยังไงก็ยังจะมองว่า “เกือบถูก” อยู่ดี 

อาการ “เกือบถูก” ยังเกิดขึ้นในลักษณะของการที่เลือกเลข 3 และลอตเตอรี่ออกมาเป็นเลข 5 แต่เราก็ยังจะมองว่าเลขที่เราเลือกใหล้เคียงกับเลขที่ถูกอยู่ดี 

นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นยังพบว่าเราจะรู้สึกมั่นใจถ้าเราเลือกเลขลอตเตอรี่ด้วยตัวเองมากกว่าที่จะให้คอมพิวเตอร์เลือกสุ่มเลขให้ นั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราถึงเลือกซื้อเลขที่ตีความจากความฝัน เลขอายุ หรือเลขปีเกิดด้วย

“คนอื่นยังถูกเลย เราก็ต้องถูกบ้างซักวัน”

มนุษย์ทุกคนมีอคติ โดยอคติที่ทำให้เรายังคงเล่นหวยอยู่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Availability Bias” คือการประเมินความเป็นไปได้ออกมากกว่าที่ควรจะเป็นเพราะเราจดจำเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นได้

พูดง่าย ๆ คือ เวลาที่เราเล่นหวย เรานึกไปถึงคนที่เคยมีประสบการณ์ถูกลอตเตอรี่มากกว่าคนที่ไม่ถูกลอตเตอรี่ เหตุผลก็เพราะว่าคนที่ถูกลอตเตอรี่หลายล้านมักจะปรากฎอยู่ตามหน้าข่าว และไม่เคยมีใครไปทำข่าวคนที่ไม่ถูกลอตเตอรี่เลย สื่อจึงทำให้เรามีอคติคิดว่าเราเองก็คงมีโอกาสที่จะถูกลอตเตอรี่แบบที่เห็นในข่าวบ้าง

การเสพข่าวคนถูกลอตเตอรี่จึงทำให้การที่เราจะถูกรางวัลใหญ่บ้างเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ 

หวย
สื่อรายงานข่าวผู้ถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่

“จะเลิกเล่นก็เสียดายเงินที่ใช้ซื้อลอตเตอรี่ไปแล้วตั้งหลายปี
ถ้าเล่นต่อแล้วถูกก็อาจจะคืนทุน”

ยิ่งเราเล่นหวยมาเป็นระยะเวลานานเท่าไรและซื้อมามากมายเท่าไร เราก็ยิ่งจะตัดสินเลิกซื้อหวยไม่ได้มากเท่านั้น เพราะมองว่าเงินที่สูญเสีญไปกับการเล่นหวยมาหลายปีมีจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นจำเป็นที่เราจะต้องเล่นต่อ เพราะถ้าถูกรางวัลใหญ่ก็จะสามารถชดเชยเงินที่เสียไปได้

แต่ในทางกลับกัน เรากลับมองว่าการซื้อลอตเตอรี่ไม่กี่ใบต่อระยะครึ่งเดือนเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำให้ลำบากอะไร แค่เจียดเงินเพียงเล็กน้อยจากรายได้มาซื้อลอตเตอรี่เท่านั้นเอง เพราะบางครั้งเราก็มองแค่เงินเล็กน้อยที่เสียไปกับการซื้อลอตเตอรี่ในงวดหนึ่ง ๆ เท่านั้น

สรุปแล้วไม่ว่าเราจะมองเงินที่เสียไปเป็นรายงวด หรือมองจำนวนเงินทั้งหมดที่สูญเสียไปกับการเล่นหวย เราก็สามารถหาเหตุผลให้ตัวเองได้ว่าทำไมการซื้อลอตเตอรี่จึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่เราควรจะเล่นต่อไป

นอกจากเหตุผลเหล่านี้แล้ว เหตุผลหนึ่งที่คนไทยชอบเล่นหวยมาจากความเบื่อหน่ายในการใช้ชีวิตที่ซ้ำซากจำเจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การลุ้นหวยจึงเป็นรูปแบบของความสุขชั่วคราวที่ทำให้คนไทยได้ลุ้นกันพอสนุกสนาน แถมการเล่นหวยยังทำให้สร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ง่ายขึ้นเพราะคนส่วนใหญ่ก็เล่นหวยกันเป็นปกติอยู่แล้ว

ใคร ๆ ก็อยากรวยโดยไม่ต้องทำงานหนัก การเล่นหวยจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดแถมยังเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกมีความหวังได้บ้างถ้าเล่นอย่างมีสติ แต่การเล่นหวยก็อาจจะทำให้เราหมกมุ่นจนไม่เป็นอันทำอะไรได้แต่สุดท้ายก็ไม่รวยจริง ดังนั้น เวลาที่เราจริงจังกับการเล่นหวยมากเกินไป เราอาจจะต้องลองเปลี่ยนคำถามที่ใช้ถามตัวเองเวลาจะซื้อลอตเตอรี่จาก “ถ้าถูกรางวัลแล้วจะเอาเงินไปทำอะไรดี” เป็น “เราจะมีโอกาสถูกรางวัลมากขนาดนั้นไหม”

อ้างอิง – Psychology Today, Bustle, Business Insider, Wired, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ไทยรัฐ, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post งวดนี้ไม่ถูก งวดหน้าลองใหม่! พลังของ “หวย” ซื้อไปก็ไม่ค่อยถูก แต่ทำไมเรายังอยากเล่น first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/why-we-love-playing-lottery/

เพราะของมันต้องมี จริงเหรอ? ทำไมเรามักจะควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้เมื่อเห็นของฟรี หรือเลข 0 บาท

เคยเป็นไหม เจอป้ายซื้อ 1 แถม 1 ทีไรเป็นต้องพุ่งเข้าร้านทุกที คนเยอะแค่ไหนก็ยอมต่อคิวได้ จนสุดท้ายแล้วก็ต้องเสียเงินทุกที อาการชอบของฟรีเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ไม่ว่าใครก็เป็นกัน

ในปี 2013  แบรนด์ไอศกรีมสัญชาติอเมริกันอย่าง Baskin Robbins ได้ประกาศแจกไอศกรีมฟรีเพื่อร่วมเฉลิมฉลองกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในโอกาสที่เมืองดูไบได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดงาน World Expo 2020 จนคนพากันมาต่อคิวยาวเหยียดต่อไปหลายช่วงตึกเพื่อรับไอศกรีมฟรีที่ปกติมีมูลค่าแค่ 3 ดอลลาร์สหรัฐหรือถ้าคิดเป็นเงินไทยปัจจุบันก็เพียงแค่ 105 บาทเท่านั้น

ทำไมของฟรีถึงทำให้ยอมต่อแถวหลายชั่วโมงได้ ทั้งที่ไอศกรีมก็มีมูลค่าไม่มากนัก และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มีกำลังซื้อกันอยู่แล้ว? คำถามนี้ตอบได้ด้วยหลักจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่เรียกว่า “Zero Price Effect”

ก่อนที่จะไปพูดถึง Zero Price Effect เราควรเข้าใจหลักกลไกตลาดในสถานการณ์ปกติที่ของยังไม่ฟรีก่อน

หลักกลไกตลาดหากอธิบายอย่างง่ายมีอยู่ว่า 

  • ถ้าราคาสินค้าลดลง เราจะอยากซื้อมากขึ้น
  • ถ้าราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เราจะอยากซื้อน้อยลง 

และราคาสินค้าและความต้องการของผู้บริโภคไม่ได้แปรผกผันกันอย่างอิสระแต่เป็นการแปรผกผันกันอย่างมีสัดส่วน หากลองสังเกตจากตัวเราเอง ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อของแต่ละอย่าง เรามักจะคิดคำนวณคร่าว ๆ อยู่เสมอว่าราคาของสิ่งที่เรากำลังจะซื้อคุ้มค่าและเหมาะสมกับการประโยชน์ของสินค้านั้นหรือไม่ 

Zero Price Effect: เมื่อเลข 0 มีพลังมหาศาล

มาสู่คำถามที่ว่า ทำไมพอเห็นของฟรี เราแทบจะไม่ต้องเสียเวลาคิดคำนวณอะไรเลยและรีบเดินเข้าไปหาสินค้านั้นโดยอัตโนมัติ (แม้จะต้องเสียเวลาต่อคิวหลายชั่วโมงเพื่อของฟรีที่มูลค่าจริงไม่กี่บาท)

นักจิตวิทยาและนักเศรษศาสตร์พฤติกรรมที่ชื่อว่า Dan Ariely พร้อมทั้ง Kristina Shampanier และ Nina Mazar ได้ตีพิมพ์งานวิจัยในปี 2007 พร้อมทั้งตั้งชื่ออาการเห็นของฟรีเป็นไม่ได้นี้ขึ้นมาว่า Zero Price Effect 

Zero Price Effect เป็นแนวคิดที่ว่าเมื่อสินค้านั้นฟรี กลไกตลาดแบบปกติจะใช้ไม่ได้ เพราะเลข 0 จะทำให้คนหยุดคิดเรื่องความคุ้มค่าแต่มองว่าต้องหยิบของนั้นไว้ก่อนเพราะกลัวจะเสียโอกาสไป ผู้บริโภคจึงไม่คิดเรื่องความคุ้มค่าอีกต่อไป แต่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจแทน ทำให้ความต้องการซื้อสินค้านั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก การใช้อารมณ์เหนือเหตุผลแบบนี้มีชื่อเรียกว่า “Affect Heuristic” พูดง่าย ๆ ก็คือ เลข 0 กระตุ้นให้เกิด Affect Heuristic

Ariely, Shampanier และ Mazar ได้ทำการทดลองขายช็อกโกแลต 2 แบรนด์ ดังนี้ Hershey’s Kisses วางขายในราคา 1 เซ็นต่อชิ้น Lindt truffles ที่เป็นช็อกโกแลตที่มีเป็นแบรนด์หรูกว่าและมีคุณภาพดีกว่า วางขายในราคา 15 เซ็นต่อชิ้น ผลการทดลองพบว่าลูกค้า 73% เลือกซื้อของ Lindt

ต่อมาได้ลองลดราคาช็อกโกแลตลงแบรนด์ละ 1 เซ็น เท่ากับว่าวางขาย Lindt ในราคา 14 เซ็น และให้ Hershey’s Kisses ฟรี ผลที่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือโดยมีลูกค้าซื้อ Hershey’s Kisses 69% ขณะที่มีผู้ซื้อ Lindt เพียง 31% เท่านั้น 

จะเห็นว่าหากขายสินค้าชนิดเดียวกัน 2 แบรนด์ ในราคาที่ยังไม่ฟรี ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าที่มีคุณภาพมากกว่า เพราะมีการคำนวนเปรียบเทียบ ‘คุณค่าที่ได้มา’ และ ‘เงินที่เสียไป’ ในหัวคร่าว ๆ แล้วรู้สึกว่าเสียเงินมากกว่านิดหน่อยแต่ได้คุณค่ากลับมามากกว่าเยอะ 

แต่พอเป็นเรื่องของฟรี ทุกอย่างจะกลับตาลปัตร เพราะแม้จะลดราคาลงมาในมูลค่าที่เท่ากัน (ซึ่งในกรณีนี้คือ 1 เซ็น) ผู้บริโภคจะหันมาเลือกของฟรีแทนโดยไม่สนใจคุณภาพของสินค้าเท่าไรนัก

ช็อกโกแลตแบรนด์ Lindt

ต่อมาในปี 2015 Mehdi Hossain และ Ritesh Saini ได้ทำการศึกษาพบว่า Zero Price Effect จะเกิดในระดับที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า โดยได้แบ่งสินค้าเป็น 2 ชนิด คือ ผลิตภัณฑ์ที่เน้นความพึงพอใจด้านอารมณ์ (hedonistic product) และผลิตภัณฑ์ที่เน้นประโยชน์ใช้สอย (utilitarian product) 

การศึกษาพบว่า Zero Price Effect จะเกิดขึ้นสินค้าฟุ่มเฟือยมากกว่าสินค้าจำเป็น โดยให้ตัวอย่างไว้ว่า การแจกเค้กช็อกโกแลตฟรี 1 คำ จะทำให้เกิด Zero Price Effect มากกว่าการแจกน้ำตาลฟรี 1 ช้อน อย่างกรณีไอศกรีมของร้าน Baskin Robbins เองก็จัดว่าเป็นสินค้าที่สร้างความพึงพอใจทางด้านอารมณ์จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะยอมต่อคิวหลายชั่วโมงเพื่อรอรับไอศกรีมฟรี

ถอดบทเรียน Zero Price Effect กับธุรกิจ: ของฟรีจะฟรีจริงไหม?

เมื่อธุรกิจจับจุดได้ว่าเลข 0 มีพลังในการโน้มน้าวจิตใจให้คนมาซื้อสินค้า Zero Price Effect จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ แต่แบรนด์ต่าง ๆ มักจะคิดมูลค่าแอบแฝงลงไปอย่างเนียน ๆ จนออกออกมาในรูปแบบโปรโมชันลดราคาต่าง ๆ 

  • Buy One, Get One Free!

การนำ Zero Price Effect มาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจที่ชัดเจนที่สุดออกมาในรูปแบบโปรโมชัน 1 แถม 1 อย่างเช่น Pizza Company ที่มักมีโปรโมชันซื้อ 1 ถาด แถมอีก 1 ถาด แคมเปญแบบนี้ทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้บริโภคมักจะซื้อสินค้ามากกว่าที่จำเป็นหรือมากกว่าที่วางแผนไว้ตอนแรกเพราะเห็นว่าราคาถูกเลยรู้สึกว่าต้องรีบซื้อไว้ก่อน ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายของบริษัท โปรโมชัน 1 แถม 1 ยังดึงดูดให้ลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยซื้อ Pizza Company มาก่อน เข้ามาลองทานด้วยเพราะเห็นว่าราคาถูกดี

  • สมัครสมาชิกวันนี้ ทดลองใช้ฟรีก่อนได้เลย

Zero Price Effect ยังมาในรูปแบบของการให้ทดลองใช้ฟรีก่อนในระยะเวลาจำกัดแล้วค่อยให้ผู้บริโภคตัดสินใจว่าจะใช้บริการต่อหรือไม่ อย่างที่เราพบเจอกันในบริการสตรีมมิงต่าง ๆ อย่าง Netflix ที่เปิดให้ทดลองใช้ฟรีก่อน 30 วัน เริ่มแรกเราก็คิดว่าจะดูซีรีส์เรื่องดังซักเรื่องให้จบใน 1 เดือนแล้วค่อยยกเลิกสมาชิก แต่สุดท้ายก็จบลงที่ยอมจ่ายเงินให้ Netflix ทุกเดือนแม้ว่าจะได้ดูบ้างไม่ดูบ้าง นอกจาก Netflix จะได้เงินเพิ่มแล้วยังได้ข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ไปวิเคราะห์และสร้างเนื้อหาที่คนสนใจมาเพิ่มจำนวนสมาชิกได้อีก

  • ซื้อ X วันนี้ แถมฟรีสินค้า Y

หลายแบรนด์มักชอบจัดโปรโมชันซื้อของอย่างหนึ่ง แถมของอีกอย่างหนึ่ง หรือซื้อของครบมูลค่าที่กำหนดและจะได้ของฟรี อย่างแคมเปญ Back to School ของ Apple ที่ซื้อ iPad หรือ MacBook แล้วแถม AirPods ลองคิดง่าย ๆ ในช่วงที่ไม่มีแคมเปญ หากเราอยากได้ AirPods ก็คงจะไปซื้อ AirPods อย่างเดียว แต่พอมีแคมเปญนี้ขึ้นมาก็มีแนวโน้มว่าเราจะซื้อ iPad หรือ MacBook ไปด้วยเพราะคิดว่าคุ้มค่ามากกว่าและยังไงก็คงได้ใช้ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เราต้องเสียเงินซื้อ iPad และ Macbook ในราคาที่แพงกว่าการซื้อ AirPods อย่างเดียวอย่างน้อยก็ 2 เท่า

  • สร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าด้วยแพ็คเกจ Freemium

Freemium เป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่ได้รับความนิยม เกิดจากการนำ “Free” มาบวกกับ “Premium” คือการที่บริษัทให้ใช้สินค้าหรือบริการฟรี แต่หากอยากได้บริการเสริมค่อยจ่ายเงินเพิ่มซึ่งบริการเสริมเหล่านี้มักดึงดูดความสนใจของผู้ใช้เพราะทำให้ประสบการณ์ในการใช้งานดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น YouTube Premium แน่นอนว่าเราสามารถใช้ YouTube ได้ฟรี แต่ใครบ้างจะไม่อยากดูคลิปวิดีโอแบบลื่นไหล ไร้โฆษณา จนท้ายที่สุดหลายคนก็ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อแพ็คเกจ Premium ไปตามระเบียบ

หน้าทดลองใช้ YouTube Premium เพื่อดูคลิปวิดีโอแบบไม่มีโฆษณาคั่น
  • ของแจกดึงดูดใจจนต้องรับไว้ก่อนแม้จะไม่ได้ใช้อีกเลย

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การแจกของฟรีเมื่อไปร่วมงานหรือการประชุมต่าง ๆ  บริษัทมักจะแจกของที่ระลึกอย่างกระเป๋า สมุดโน้ตหรือแม้แต่เสื้อยืดที่ประทับเครื่องหมายของแบรนด์ลงไป จนเราก็อดไม่ได้ที่จะรับมาก่อนแล้วก็จบด้วยการวางไว้บนชั้นวางของจนลืม ราคาแอบแฝงของการแจกของฟรีคือการสร้างการรับรู้ว่าแบรนด์นั้น ๆ มีอยู่และทำให้ผู้บริโภคจำแบรนด์นั้น ๆ ได้ 

ปัญหาของการตลาดแบบนี้ก็คือการลงทุนมหาศาลไปกับการทำของที่ระลึกที่สุดท้ายแล้วผู้บริโภคน้อยคนมากจะได้นำไปใช้จริง แถมยังมีต้นทุนที่เสียเปล่าไปมากมายกับการผลิตของแจกฟรีซึ่งหนึ่งในนั้นคือต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม 

ใคร ๆ ก็พูดว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” และเราก็รู้กันอยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องจริง แต่พอเห็นป้ายซื้อ 1 แถม 1 ทีไรก็ไม่มีใครห้ามใครสักที แม้จะเป็นแค่เลขศูนย์แต่ดันมีพลังมหาศาลจนสามารถเล่นกับจิตใจคนได้ เมื่อ Zero Price Effect เกิดขึ้น แล้วใครจะต้านทานไหว เพราะของใดเล่าจะดีเท่าของฟรี

อ้างอิง – The Decision Lab, Feedough

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เพราะของมันต้องมี จริงเหรอ? ทำไมเรามักจะควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้เมื่อเห็นของฟรี หรือเลข 0 บาท first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/zero-price-effect/

[Guest Post]การศึกษาผู้บริโภคของไอบีเอ็ม ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการค้าปลีกและท่องเที่ยว หลังผู้บริโภคได้รับวัคซีนโควิด-19

ผลการศึกษาผู้บริโภคทั่วโลกโดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) เผยให้เห็นว่าผู้บริโภคมองถึงแนวโน้มที่ดีเกี่ยวกับการกลับไปใช้ชีวิตหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยอุตสาหกรรมหลักๆ อย่างค้าปลีก ท่องเที่ยว และขนส่ง จะต้องสร้างประสบการณ์ที่เข้าถึงความต้องการส่วนบุคคลมากขึ้น หากต้องการคงความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดลูกค้าให้สำเร็จ

การศึกษาผู้บริโภคมากกว่า 15,000 คนทั่วโลก พบว่าคนส่วนใหญ่มั่นใจในความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และการกระจายวัคซีนโควิด-19 และมากกว่าครึ่งคาดหวังว่าวัคซีนโควิด-19 จะช่วยปกป้องพวกเขาได้ เศรษฐกิจจะสามารถกลับมาเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคมองว่าระดับการฉีดวัคซีนจะต้องเกิน 70% ถึงจะทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจที่จะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ หากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังคงดำเนินไปในอัตราปัจจุบัน คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับความสะดวกสบายแบบที่เคยได้รับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนกว่าจะถึงปี 2022 โดยการศึกษาระบุว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ ผู้บริโภคกำลังมองถึงการปรับวิธีการทำงาน เข้าสังคม ท่องเที่ยว และซื้อของ

“ความเคยชินต่างๆ ที่ก่อตัวขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดได้เพิ่มความคาดหวังของผู้บริโภคเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วมของแบรนด์ผ่านช่องทางดิจิทัล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบริการอย่างค้าปลีก ท่องเที่ยว และขนส่ง” นายเฮซุส แมนทัส Senior Managing Partner ของไอบีเอ็ม เซอร์วิสเซส กล่าว “หลายธุรกิจเริ่มมองถึง ‘การกลับมาสู่ภาวะปกติหลังการแพร่ระบาด’ ซึ่งธุรกิจต่างๆ จะต้องเร่งพัฒนาระบบดิจิทัลบนพื้นฐานของเทคโนโลยีเอไอและคลาวด์ เพื่อที่จะคงความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ การลงทุนเพื่อสร้างประสบการณ์ไฮบริดที่ผสมผสานทั้งกิจกรรมเชิงกายภาพและดิจิทัลเข้าด้วยกัน จะช่วยมอบประสบการณ์ที่เข้าถึงความต้องการเฉพาะบุคคลได้อย่างไร้รอยต่อยิ่งขึ้น”

ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้

ผู้บริโภคทั่วโลกที่สำรวจส่วนใหญ่พร้อมที่จะกลับไปซื้อของในห้างร้านเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

การศึกษาพบว่ากระแสอาจเปลี่ยนไปสำหรับอุตสาหกรรมการค้าปลีกที่ซบเซา โดยผู้บริโภคระบุถึงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะได้กลับไปที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าอีกครั้ง หลังได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคที่สำรวจจำนวนมากอาจไม่ละทิ้งทางเลือกในการช็อปปิงออนไลน์ที่พวกเขาคุ้นเคยในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยมีกลุ่มที่สำรวจอย่างน้อยหนึ่งในห้าคนที่ระบุว่าพวกเขาวางแผนที่จะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก แต่คาดว่าจะซื้อสินค้าในห้างร้านบ่อยขึ้นมาก หากว่าฉีดวัคซีนแล้ว

หมวดหมู่สินค้าที่คาดว่าผู้บริโภคน่าจะกลับไปซื้อที่ร้านค้ามากที่สุดคือของเล่น เกม และสินค้าที่เกี่ยวกับงานอดิเรก (เพิ่มขึ้น 121%) รวมถึงเครื่องแต่งกาย รองเท้า และเครื่องประดับ (เพิ่มขึ้น 76%)

เหตุผลหลักที่ผู้บริโภคที่สำรวจทั่วโลกยังคงจะซื้อสินค้าออนไลน์ต่อไปคือเรื่องความสะดวก ตามมาด้วยความคุ้มค่า และความหลากหลายของสินค้าที่มีขายออนไลน์ หากจะดึงดูดให้ผู้บริโภคกลับไปซื้อของที่ห้างร้าน ผู้ค้าปลีกต้องมองถึงการจัดโปรโมชันและการเน้นสินค้าท้องถิ่น โปรโมชันในห้างเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่จะช่วยดึงผู้บริโภคให้ไปเลือกซื้อสินค้าที่ห้างร้าน โดยเฉพาะกลุ่มเจนเอ็กซ์ (54% ที่สำรวจ) และเบบี้บูมเมอร์ (52% ที่สำรวจ) นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ไม่มีจำหน่ายออนไลน์ อย่างผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตในปริมาณน้อย และเครื่องแต่งกายทำมือ อาจสามารถดึงดูดกลุ่มมิลเลนเนีลยล เจนเอ็กซ์ และเบบี้บูมเมอร์เกือบ 50% ที่สำรวจให้มาซื้อสินค้าที่ร้านได้

ศักยภาพในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ในขณะที่การเดินทางของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว แต่ก็มีเริ่มส่งสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจน การศึกษาแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้น โดยคน 30% วางแผนที่จะบินบ่อยขึ้น แม้ว่าจะสวนทางกับ 23% ของผู้ที่สำรวจที่วางแผนที่จะบินน้อยลง

การศึกษาพบว่าผู้บริโภคที่ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 เท่า มองถึงการเดินทางค้างคืนในหกเดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ประชากรกลุ่มใหญ่ยังมีแผนที่จะอยู่บ้านไปเรื่อยๆ โดยประมาณหนึ่งในสี่ของผู้บริโภคที่สำรวจระบุว่าพวกเขาไม่ได้วางแผนที่จะเดินทางในปี 2564 แม้ว่าจะได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วก็ตาม

วัคซีนอาจช่วยกระตุ้นการเดินทางที่เกี่ยวกับงาน โดยผู้ที่สำรวจรู้สึกสะดวกใจที่จะเดินทางที่เกี่ยวข้องกับงานเพิ่มขึ้นสองถึงสี่เท่าในประเทศส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ที่ต้องเดินทางเพื่อธุรกิจที่มีอายุมากกว่า แสดงความมั่นใจในเรื่องดังกล่าวน้อยกว่า โดยมีกลุ่มที่อายุมากกว่า 55 ปีเพียง 8% เท่านั้นที่สะดวกใจจะเดินทางเพื่อธุรกิจขณะที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 และมีเพียง 25% เท่านั้นที่รู้สึกสะดวกใจแม้จะได้รับวัคซีนแล้ว

การศึกษายังชี้ให้เห็นว่ายานพาหนะส่วนบุคคลยังเป็นทางเลือกสำคัญทั้งในช่วงการระบาดของโควิด-19 และหลังจากที่ประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว แม้ว่า 10% ของผู้ที่สำรวจวางแผนที่จะใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลน้อยลงหลังจากได้รับวัคซีน แต่ผู้บริโภค 47% มองว่าจะใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลมากขึ้น

การสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าการเดินทางรูปแบบอื่นๆ อาจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หรืออาจมีความต้องการลดลงเมื่อประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น อุตสาหกรรมเรือสำราญอาจประสบกับการตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญมากที่สุด โดย 26% ของผู้สำรวจระบุว่าพวกเขาจะใช้เรือสำราญน้อยลง ขณะที่มีเพียง 17% ที่ระบุว่าจะใช้มากขึ้น

ผลสำรวจกลุ่มเจนซี (ผู้ที่มีอายุ 18-24 ปี) มีความแตกต่างออกไป

แนวโน้มหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความแตกต่างกันออกไปในผู้บริโภคที่ได้รับการสำรวจแต่ละกลุ่มอายุ แต่กลุ่มเจนซีที่สำรวจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 กลับแสดงแนวโน้มที่แตกต่างออกไปในหลายๆ ด้าน

กลุ่มเจนซีที่สำรวจส่วนใหญ่ต้องการใช้เวลาร่วมกับคนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวหลังได้รับวัคซีนแล้ว โดย 27% ของกลุ่มเจนซีที่สำรวจระบุว่าจะมีปฏิสัมพันธ์นอกบ้านมากขึ้น เทียบกับเพียง 19% ในกลุ่มเจนเอ็กซ์ และเพียง 16% ของกลุ่มที่อายุเกิน 55 ที่สำรวจ โดยกลุ่มเจนซีสนใจที่จะกลับไปยังสถานที่ที่มีคนจำนวนมากอย่างการแข่งขันกีฬา สถานบันเทิงหรือสวนสนุก พิพิธภัณฑ์และอาร์ตแกลลอรี รวมถึงกิจกรรมการแสดงสด และโรงภาพยนตร์ น้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ ที่สำรวจ ยกเว้นการไปร้านอาหารและสถานที่ที่ให้บริการฟรีอย่างชายหาดและสวนสาธารณะ

โดยเฉลี่ยแล้ว 60% ของกลุ่มเจนซีที่สำรวจมีแผนที่จะไปสถานที่อย่างร้านอาหารและบาร์ ร้านเสริมสวยและร้านตัดผม เมื่อได้รับวัคซีนแล้ว เทียบกับ 71% ของกลุ่มมิลเลนเนียล และ 69% ของกลุ่มเจนเอ็กซ์ที่สำรวจ และดูเหมือนพฤติกรรมนี้จะเป็นเทรนด์ต่อเนื่อง เพราะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มเจนซีที่สำรวจก็ระบุว่าออกไปยังสถานที่ต่างๆ น้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นเช่นกัน

 

ระเบียบวิธีการศึกษา

สถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็มหรือ IBV ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่มากกว่า 15,000 คน ในสหรัฐอเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร แคนาดา เยอรมัน เม็กซิโก สเปน บราซิล และจีน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อทำความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อวัคซีนโควิด-19 สิ่งที่ผู้บริโภควางแผนทำเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว และผลที่มีต่อมุมมองของผู้บริโภคในประเด็นต่างๆ เช่น การจับจ่ายซื้อสินค้า การเดินทาง การร่วมงานอีเวนท์ขนาดใหญ่ในอนาคต รวมถึงการกลับไปทำงาน สามารถดูข้อมูลผลสำรวจฉบับเต็มได้ที่ https://ibm.co/vaccine-consumer-behavior

IBV ได้ทำการวิจัยเพื่อหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อทัศนคติและความชอบของพวกผู้บริโภค

เกี่ยวกับสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจ

สถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ให้ข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจที่เชื่อถือได้ภายใต้จุดยืนในการผสานรวมเทคโนโลยีและธุรกิจเข้าด้วยกัน โดยรวบรวมความเชี่ยวชาญจากบรรดานักคิดในอุตสาหกรรมต่างๆ นักวิชาการแถวหน้า และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ พร้อมด้วยข้อมูลจากการวิจัยและผลการปฏิบัติงานทั่วโลก thought leadership ของ IBV ครอบคลุมถึงข้อมูลเจาะลึกจากการวิจัย การเปรียบเทียบมาตรฐานและผลการปฏิบัติงาน รวมถึงการสร้างแผนภาพข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาคต่างๆ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ติดตาม @IBMIBV บน Twitter และรับข้อมูลเชิงลึกล่าสุดได้ทางอีเมล โดยไปที่ http://www.ibm.com/ibv

from:https://www.techtalkthai.com/guest-post-ibm-post-vaccine-covid-19/

ไทยพาณิชย์ชี้ COVID-19 ทำให้ลูกค้าหันมาใช้ SCB Easy เพิ่มขึ้นถึง 2 แสนรายทันที

SCB ชี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป หันมาใช้ช่องทางดิจิทัลในการทำธุรกรรมมากขึ้น

SCB Easy Application
ภาพจาก Shutterstock

ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยวิกฤติ COVID-19 ส่งผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หลีกเลี่ยงการจับเงินสด งดเดินทางออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น รวมไปถึงหันมาใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้นในการทำธุรกรรมการเงิน ล่าสุดนั้นธนาคารได้รายงานว่า ฐานผู้ใช้งาน SCB EASY เพิ่มขึ้นกว่า 200,000 ราย สะท้อนให้เห็นว่าลูกค้าเริ่มให้ความสำคัญกับช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น

อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19  นอกจากส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดย SCB EASY มีฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 200,000 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ใช้งานรวมแตะ 11 ล้านราย ยอดธุรกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 135 ล้านรายการต่อเดือน การโอนเงินนั้นคิดเป็นสัดส่วนมากสุดถึง 75%”

ขณะเดียวกันธนาคารได้เตรียมพร้อมเพิ่มขีดความความสามารถในการรองรับการทำธุรกรรมผ่าน SCB EASY อีกหนึ่งเท่าตัว เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เข้มข้นมากขึ้น

ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังได้กล่าวถึงจำนวนลูกค้าใหม่ของธนาคาร ที่มาจากการใช้บริการยืนยันตัวตนผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นนั้นก็มีจำนวนก็เพิ่มขึ้นทะลุ 10,000 บัญชี ภายในระยะเวลา 3 วัน ช่วงสิ้นเดือนมีนาคม โดยวันที่มียอดสูงสุดตัวเลขอยู่ที่ 5,000 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวของประชาชนในการเริ่มต้นเข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มกันมากขึ้น

สำหรับวิธีการเปิดบัญชีของ SCB สำหรับลูกค้าใหม่ ไปยืนยันตัวตนที่ 7-Eleven โดยไม่ต้องไปสาขา สามารถอ่านได้จากบทความนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/scb-easy-new-user-after-covid-19-boost-200k-user-behavior-change/

ลึกกว่าข้อมูลโซเชียล Chaos Theory ใช้หลักจิตวิทยาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้

เป็นทิศทางของดิจิตอลเอเจนซี่ทั่วโลก ที่หันมาทำเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคให้มากขึ้น ในบ้านเราก็มี Chaos Theory เป็นรายล่าสุดที่เปิดตัวเข้าสู่สนามนี้

Chaos Theory ก่อตั้งโดย กษมาช นีรปัทมะ และ ฉกาจ ชลายุทธ ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการเอเจนซี่ไทยมานาน เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ให้บริการ Audience Intelligence ที่วิเคราะห์พฤติกรรมของ “ลูกค้า” ได้แบบเจาะจง (audience behavior analysis)

จุดเด่นที่ Chaos Theory ชูว่าเหนือกว่าบริการ Big Data Analytics ตัวอื่นๆ ในสายการตลาดออนไลน์ คือ การนำศาสตร์ด้านจิตวิทยา (psychology) และ cognitive science เข้ามาร่วมวิเคราะห์กับข้อมูลจากโซเชียล เพื่อให้สะท้อนความคิดของกลุ่มลูกค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และจะมุ่งสู่การ “ทำนายอนาคต” ได้ในระยะถัดไป

ชื่อบริษัท Chaos Theory แปลเป็นไทยว่า ทฤษฎีไร้ระเบียบ นำมาจากเป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงลักษณะพฤติกรรมของระบบที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยลักษณะการเปลี่ยนแปลงของระบบที่เรียกว่าเคออสนี้ จะมีลักษณะที่ปั่นป่วนจนดูคล้ายว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นแบบสุ่มหรือไร้ระเบียบ แต่จริง ๆ แล้ว ระบบเคออสนี้เป็นระบบแบบไม่สุ่ม หรือระบบที่มีระเบียบ จึงถือเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่เข้ามาอธิบายในสัมพันธภาพของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโลกใบนี้ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ พร้อมทั้งยังเป็นหนึ่งทฤษฎีสำคัญที่ช่วยในการไขปริศนาในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างน่าสนใจ

Chaos Theory ระบุว่าเก็บข้อมูลสะสมมานาน 3 ปี มีคลังข้อมูลจำนวนกว่า 1 พันล้านชิ้น ประกอบด้วยภาพ ข้อความ เสียง วิดีโอ ฯลฯ ที่อยู่บนโลกออนไลน์

บริการของ Chaos Theory มีทั้งหมด 4 ตัว ได้แก่

  1. Cognitive Platform หาว่ากลุ่มเป้าหมายของลูกค้าเป็นใคร มีความน่าสนใจอย่างไร มีบุคลิกลักษณะอย่างไร และในอนาคตจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไหร่ ตามสภาวะเศรษฐกิจหรือฤดูกาลขาย เพื่อช่วยในการบริหารจัดการขายหรือการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. Psychologic Insight ทำนายพฤติกรรมผู้บริโภคออกเป็นเซ็กเมนท์ต่างๆ ตามหลักการของ OCEAN model ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลแต่จะนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของผู้บริโภคชาวไทย เพื่อความแม่นยำในการทำนายพฤติกรรม โดย OCEAN แบ่งบุคลิกภาพของคนเราออกเป็น 5 แบบ
  3. Data Analysis บริการวิเคราะห์ข้อมูลและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่าเคย หรือใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ 100% และเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
  4. Data Research บริการวิจัยข้อมูล และให้คำปรึกษาในทุกเรื่องที่ลูกค้าอยากทราบเกี่ยวกับข้อมูลที่มี ว่าจะเก็บข้อมูลนั้นอย่างไร ด้วยวิธีการไหน

รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้จาก Chaos Theory

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/chaos-theory-audience-intelligence/

เมื่อแบงก์กลายเป็น Data Company เขาใช้ข้อมูลลูกค้าทำอะไรได้บ้าง ?

ในยุคดิจิทัล ไม่ว่าอะไรก็กลายเป็น Data (ข้อมูล) ได้ และกลายเป็นจุดวัดใจที่ใครมีมากกว่าวิเคราะห์ และปรับใช้กับลูกค้าได้มากกว่า คนนั้นก็ชนะไป แล้วธนาคารที่เรียกว่าเป็นตัวกลางที่เราไว้ใจทำธุรกรรมการเงินด้วย เขาสามารถใช้ข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่ทำอะไรได้บ้าง

ภาพจาก shutterstock

ฐานข้อมูลของธนาคารใหญ่แค่ไหน ?

ฐากร ปิยะพันธ์ ผู้บริหารสายงานดิจิทัล แบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ บอกว่า ในโลกธุรกิจ ภาคการเงินถือว่ามีถังข้อมูลขนาดใหญ่มาก เพราะจากประชากรไทยทั้งหมดกว่า 67 ล้านคน แต่ในภาพรวมไทยเรามีบัญชีธนาคารกว่า 81 ล้านบัญชี มีจำนวนบัตรเดบิต (ส่วนใหญ่ไว้กดเงินแทนเอทีเอ็ม) 51 ล้านใบ และมีจำนวนบัตรเครดิต 21 ล้านใบ

ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละอย่างทั้งบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต บัตรเดบิต ฯลฯ เมื่อลูกค้าทำธุรกรรมการเงินผ่านผลิตภัณฑ์ตัวไหน ก็ทำให้เกิดข้อมูลใหม่ๆ ขึ้น และธนาคารจะมาจัดหมวดเป็นข้อมูลชุดต่างๆ เช่น พฤติกรรมการใช้จ่าย พฤติกรรมการออม การเลือกใช้โปรโมชั่น ช่วงเวลาที่ทำธุรกรรม ฯลฯ

“แม้ว่าจำนวนบัญชีจะมากกว่าจำนวนประชากรไทยไปสักหน่อย แต่ผมมองว่ามีคนไทยเข้าถึงบริการธนาคารเพียง 75% ของประชากรไทยทั้งหมด เลยยังมีช่องว่างให้เราต้องเข้าไปตอบสนองความต้องการ และทำให้คนที่ยังเข้าไม่ถึง เข้าถึงเรื่องการเงินให้ได้”

ธนาคารใช้ข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่ทำอะไรได้บ้าง ?

เมื่อธนาคารกลายเป็น Data company หัวใจหลักคือการเก็บข้อมูลที่อยู่นอกระบบ ใส่เข้ามาในระบบ เพื่อวิเคราะห์ หาสิ่งที่จะตรงใจ ตรงเวลา และตรงความต้องการของลูกค้า

“ทุกวันนี้ธนาคารทั้งหลายมีข้อมูลอยู่เยอะมาก แต่ใช้น้อยมาก เพราะเรายังทำเรื่อง Infrastrucher (โครงสร้างพื้นฐาน) ได้ไม่ครบ โดยยังขาดข้อมูลที่เรียกว่า UnInfrastrucher เลยต้องค่อยๆ เพิ่มข้อมูลกลุ่มนี้เข้ามาในระบบ เช่น เสียงของลูกค้าเพื่อใช้ในการระบุตัวตน การปรับข้อความที่อยู่ในระบบอื่นๆ อย่างลูกค้าแชทถามผ่านโซเชียลมีเดีย ก็ต้องแปลงข้อมูลพวกนี้เข้ามาวิเคราะห์ในระบบได้ ก็จะต้องทำเรื่อง API (Application Programing interface) เพื่อเชื่อมระหว่างระบบ ฯลฯ ”

ภาพจาก Shutterstock

นอกจากนี้ Data ยังต่อยอดให้เป็น Commercialize ได้ด้วย แต่เราต้องทำอีกเยอะในเรื่องการแบ่งส่วนข้อมูล ว่า ข้อมูลอะไรที่เปิดเผยต่อสาธารณะ และข้อมูลที่ต้องอยู่ในระบบปิด ซึ่งต้องดูทั้งเรื่องกฎหมาย และเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“ในต่างประเทศ ธนาคารใหญ่ๆ ทั้งในยุโรป และสหรัฐฯ พอเขามีข้อมูลเยอะ เขาก็มีการแชร์ มีการขายออกมา เช่น เรื่องพฤติกรรมลูกค้า เพื่อให้คนที่ต้องการเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น หรือมีการแชร์ Bonus Point ต่างๆ เช่น ลูกค้าใช้อยู่หลายธนาคาร แต่ละที่ก็มีคะแนนที่ได้จากธุรกรรมเก็บไว้ แบงก์ก็เปิดโอกาสให้เอาคะแนนของหลายๆ มาเทรวมกันได้ อันนี้ที่ไทยก็มีคนทำ ซึ่งเกิดขึ้นจากความต้องการของลูกค้า”

ภาพจาก shutterstock

การเปิดเผย และความปลอดภัยข้อมูลลูกค้า

แต่สุดท้ายแล้ว การเปิดเผยข้อมูลของลูกค้า ยังมีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศ  ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ตัวลูกค้าอยู่แล้ว

โดยธนาคารทุกที่ก็พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะทำระบบรักษาความปลอดภัย ป้องกันการโจรกรรมข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลเฉพาะที่กฏหมายกำหนดให้ทำได้เท่านั้น

สรุป

เมื่อธนาคารกลายเป็นถังข้อมูลขนาดใหญ่ เขาต้องปรับตัวใช้ทั้งข้อมูลพฤติกรรมลูกค้ามาวิเคราะห์ เพื่อสร้างของใหม่ๆ หรือทำของที่มีอยู่ให้ดีขึ้น แต่หลายคนยังกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้กำกับของแต่ละประเทศว่ามีพาวเวอร์แค่ไหน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/commercialize-bank-future-data/

เปิดเทรนด์ผู้บริโภค 10 เรื่องนี้ยอมได้ถ้าชีวิตจะสะดวกสบายขึ้น

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก Ericsson เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่พบว่าโลกดิจิทัลทำให้คนคาดหวังกับ “เทคโนโลยี” มากขึ้น รวมถึงยอมรับและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้มากขึ้นด้วย โดยแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับผู้บริโภคในปี 2018 ตามการคาดการณ์ครั้งนี้มีประเด็นหลัก ๆ ที่น่าสนใจอยู่ 10 หัวข้อได้แก่ 

ผู้บริโภคยุคใหม่จะ

  • มีการใช้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เสียง หรือท่าทางตามธรรมชาติเป็นตัวสั่งการเทคโนโลยีให้ตอบสนองความต้องการ
  • ต้องการหูฟังที่ช่วยแปลภาษาแบบเรียลไทม์เพื่อความสามารถในการสื่อสารที่มากขึ้น
  • มีความสนใจที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา และพร้อมจะลืมเรื่องที่เรียนรู้มาแล้วได้ตลอดเวลาเช่นกัน เนื่องจากสามารถกลับเข้ามาค้นหาข้อมูลนั้น ๆ ใหม่ได้ตราบเท่าที่ยังมีอินเทอร์เน็ต
  • ยอมรับให้ AI เข้ามาตรวจสอบข้อมูลที่ถูกโพสต์ลงบน Social Network มากขึ้น
  • พบว่าการโฆษณาสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้นจะชาญฉลาดมากขึ้น
  • แยกแยะความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรได้ยากขึ้น
  • มองการใช้ชีวิตว่าจะมีหุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานสร้างรายได้แทน เพื่อให้ตนเองมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น
  • คาดหวังว่า เทคโนโลยี VR จะก้าวล้ำจนทำให้ตนเองสามารถเดินเข้าไปดูรูปแห่งความทรงจำเก่า ๆ ที่อยู่ในสมาร์ทโฟนได้ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า
  • คาดหวังการเดินทางในอากาศ เช่น โดรนแท็กซี่ มากขึ้นเนื่องจากเบื่อปัญหาการจราจรในปัจจุบัน
  • คาดหวังถึงแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้อย่างยาวนาน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องที่ชาร์จอีกต่อไป

จากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะทำให้ “หูฟัง” มีแนวโน้มจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่ถูกใช้งานมากขึ้นในชีวิตประจำวัน และเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปถึงระดับหนึ่ง อุปกรณ์ดิจิทัลเหล่านี้จะเป็นฝ่ายเรียนรู้เราแทนที่เราจะต้องไปเรียนรู้อุปกรณ์เหมือนแต่ก่อน และให้การตอบสนองอย่างเป็นธรรมชาติกลับมาภายในเวลาอันรวดเร็วด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ มนุษย์จะรู้สึกว่าตนเองล้าหลังได้ง่าย และหลงลืมการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น เนื่องจากเห็นว่ามีอินเทอร์เน็ตอยู่ และตนเองสามารถกลับเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ข้อมูลในรายงาน 10 แนวโน้มผู้บริโภคปี 2018 เป็นการศึกษาจากห้องปฏิบัติการวิจัยผู้บริโภคของ Ericsson โดยอ้างอิงจากกลุ่มตัวอย่างประชากรจำนวน 30 ล้านราย ใน 10 เมืองทั่วโลก

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2018/01/ericsson-research-consumer-trend-2018/

เที่ยวแบบชาวมิลเลนเนียลห้ามขาด Social Media

มีการเปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักเดินทางชาวไทยที่มีอายุระหว่าง 18 – 29 ปีพบว่า สื่อ Social Media เป็นสิ่งที่นักเดินทางใช้งานมากที่สุดในระหว่างการเดินทาง โดยสามอันดับแรกได้แก่ Facebook 95.8%, LINE 87.6% และ Instagram 76.2% และสองสิ่งแรกที่นักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มมิลเลนเนียลนิยมทำเมื่อเดินทางถึงที่พัก คือ ถ่ายเซลฟี่ 26% และเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่าน Wi-Fi 25%

ข้อมูลข้างต้นเป็นการสำรวจของ Hotels.com เว็บไซต์และแอปพลิเคชันจองที่พักออนไลน์ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี กับผลสำรวจ Mobile Travel Tracker เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้โมบายล์โฟนและ Social Media ของชาวมิลเลนเนียลพบว่า นักท่องเที่ยวไทยกลุ่มมิลเลนเนียล (อายุ 18-29 ปี) มีพฤติกรรมชอบแชร์ภาพและเรื่องราวการท่องเที่ยวบนสื่อ Social Media เพื่อแบ่งปันประสบการณ์กับกลุ่มเพื่อนและกลุ่มคนที่ติดตามอ่านบนสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทยมักใช้เวลาส่วนใหญ่ระหว่างการท่องเที่ยวไปกับการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงกว่า 80% อัพโหลดรูปภาพ 67% และเช็คอินในสถานที่น่าถ่ายภาพ 64% ลงบน Social Media เพื่อแชร์และโชว์

ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันต่างๆ ต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวยุคมิลเลนเนียลทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ตั้งแต่ก่อนออกเดินทางรวมถึงขณะที่กำลังเดินทางท่องเที่ยว โดย 3 องค์ประกอบสำคัญของการเดินทางที่นักท่องเที่ยวยุคมิลเลนเนียลมักทำคือการจองหรือค้นหาข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ได้แก่ การจองโรงแรม 94%, การจองเที่ยวบิน 72% และการค้นหาร้านอาหารท้องถิ่น 61.8% ตามลำดับ

แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่ชาวมิลเลนเนียลชื่นชอบที่สุดคือ แอปพลิเคชัน Social Media 87.6%, แอปพลิเคชันสำหรับการท่องเที่ยว 70% และแอปพลิเคชันแผนที่ 60.8% โดยสามช่องทาง Social Media ที่ชาวมิลเลนเนียลนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ Facebook 95.8%, LINE 87.6% และ Instagram 76.2%

นอกจากนั้นยังพบว่านักท่องเที่ยวไทยกลุ่มมิลเลนเนียลมากกว่าครึ่งหนึ่ง (54.6%) ยอมรับว่า พวกเขาเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ที่จะได้รับความสนใจและกระแสตอบรับที่ดีเมื่อโพสต์ลงไปบน Social Media และยังยอมรับด้วยว่า รูปที่นิยมโพสต์บน Social Media คือ ภาพเซลฟี่ของตัวเอง ภาพอาหาร และสถานที่เก๋ๆ (66%, 66% และ 66%) จากนั้นจึงเป็นภาพถ่ายกับเพื่อน ครอบครัวและคนรัก (57%) ตามมาด้วยภาพชายหาดและทะเล (54.6%) ขณะที่ในด้านการจองโรงแรมพบว่า สี่ในสิบของนักท่องเที่ยวปฏิเสธที่จะจองโรงแรมที่ไม่มีบริการ Wi-Fi ฟรี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่ชัดเจนมากขึ้นของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเชื่อมต่อกับสังคมออนไลน์ตลอดเวลา

การสำรวจ Mobile Travel Tracker นี้จัดทำขึ้นเป็นปีที่ 2 โดย Hotels.com เพื่อชี้ให้เห็นเทรนด์ล่าสุดในการใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือในระหว่างการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยกลุ่มมิลเลนเนียล

แดเนียล เครก รองประธานด้าน Mobile ของแบรนด์ Hotels.com กล่าวว่า “ผลสำรวจ Mobile Travel Tracker แสดงให้เห็นถึงว่าโทรศัพท์มือถือมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นต่อการเดินทางท่องเที่ยวของนักเดินทางไทยกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งเกือบ 100% รู้สึกว่าสมาร์ทโฟนทำให้พวกเขาคล่องตัวมากขึ้นในระหว่างเดินทาง กว่า 60% รู้สึกว่าอุปกรณ์สื่อสารช่วยให้พวกเขาสามารถมีโอกาสในการจองเที่ยวบินและที่พักได้มากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้พวกเขายังรู้สึกว่าสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางหลักในการค้นหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวด้วย”

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/12/millennial-travelling-research/

ยิ่งหรู ไม่ได้แปลว่ารวย คนรวยจริงในอเมริการะดับท็อปเปลี่ยนพฤติกรรมมาบริโภค “สิ่งที่มองไม่เห็น”

ต่อให้หรูแค่ไหน สมัยนี้ก็ตามเก็บกันทันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเพชรพลอย เครื่องประดับ บ้านหรู รถราคาแพง กระเป๋าหลักล้าน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกสถานะทางสังคมอีกต่อไป คนรวยจริงที่อยู่บนยอดพีระมิด 1% เลิกเสียเงินให้กับของหรูพวกนี้มาสักพักแล้ว จะมีก็แต่คนรายได้ปานกลางเท่านั้นที่ยังคงเอื้อมกันต่อไป

Photo: Pixabay

เมื่อความหมายของการแสดง “ความรวย” เปลี่ยน

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า The Sum of Small Things: A Theory of the Aspirational Class ของ Elizabeth Currid-Halkett ที่เพิ่งตีพิมพ์สดๆ ร้อนๆ ในปี 2017 นี้ โดยศึกษาสังคมอเมริกันร่วมสมัยและเน้นไปที่พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนในสังคม

เธอพบว่า ในอดีต “ข้าวของเครื่องใช้หรูหรา” ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า นาฬิกา เพชรพลอย อัญมณี บ้าน รถ กระเป๋า ฯลฯ เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานะทางชนชั้น ยิ่งหรูก็แปลว่ายิ่งรวย แต่ในสังคมร่วมสมัยนี้อาจไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว

จากสถิติบอกว่า นับตั้งแต่ปี 1996 – 2014 คนรวยระดับบน หรือที่เรียกกันว่า “พวก 1%” ในสหรัฐอเมริกา ใช้จ่ายในสิ่งของหรูหราน้อยลงมาก เพราะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั้งชาติอีก ในขณะที่กลุ่มคนรายได้ปานกลางคือกลุ่มที่ใช้จ่ายกับสิ่งของหรูหรามากที่สุด อย่างในปี 2014 กลุ่มคนรายได้ปานกลางนี่เองที่ใช้จ่ายกับในส่วนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยประจำปีถึง 35%

Photo: Pixabay

แล้วเหล่าบรรดาคนรวย 1% เขาใช้จ่ายในอะไรกัน?

คนรวยระดับท็อปกลุ่มนี้หันไปใช้จ่ายกับ “สิ่งที่มองไม่เห็นแต่มีคุณค่า” อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องบอกก่อนว่า สิ่งที่มองไม่เห็นในที่นี้ไม่ใช่เรื่องลี้ลับ หรือเรื่องไสยศาสตร์แต่อย่างใด

“สิ่งที่มองไม่เห็น” ที่พวก 1% ใช้จ่ายก็คือ การไปลงทุนกับเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ลูกๆ หลานๆ, ไปท่องเที่ยวในที่แปลกๆ, เดินทางไปในดินแดนห่างไกล, ไปเน้นการออกกำลังกาย, ไปเล่นโยคะ, ไปเล่นพิลาทิส, ไปเข้าร่วมกับวงโอเปร่า หรือจ้างคนใช้ในบ้านเพิ่มเพื่อแลกกับเวลาว่างที่มากขึ้น

Photo: Pixabay

สรุป

ในโลกสมัยใหม่ที่ทุนนิยมได้ขยายฐานทางเศรษฐกิจให้กับคนหลากหลายกลุ่ม จำนวนคนชั้นกลางกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้การเข้าถึง “สิ่งของหรูหรา” เป็นเรื่องปกติสามัญที่ใครๆ ก็ทำได้ นั่นหมายความว่า คนรวยระดับท็อปที่ต้องการแสดงสถานะทางสังคมจึงไม่สามารถแสดงออกในรูปแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไปแล้ว

เพราะเมื่อสิ่งของที่มองเห็นทั้งหลายไม่บ่งบอกสถานะทางสังคม ทางออกคือต้องหาหนทางใหม่ๆ เช่น ลงทุนกับสิ่งที่มองไม่เห็นตรงๆ แต่ในท้ายที่สุดจะมีคุณค่าอย่างมาก และยิ่งนับวันโลกในอนาคตก็จะไปวัดและไปแข่งขันกันในจุดนั้นมากขึ้น

แต่เอากันเข้าจริงๆ แล้ว เรื่องพฤติกรรมของคนรวยระดับท็อปที่เปลี่ยนไปก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่มันคือการใช้จ่ายเพื่อเพิ่มพูน “ทุนทางวัฒนธรรม” ที่ Pierre Bourdieu และนักคิดในสายสังคมวิทยาได้เคยเสนอไว้แล้วนั่นเอง

อ่านเรื่องทุนทางวัฒนธรรม เพิ่มเติมได้ที่นี่

ที่มา – The Economist

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/american-richest-cultural-capital/

6 ข้อควรรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนไป

ในวันที่ใคร ๆ ก็มองนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มเป้าหมาย และมีการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยหาทางเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนให้ได้ ผ่านบริการชำระเงินที่ชาวจีนนิยมใช้อย่าง Alipay หรือ WeChat Pay ไปจนถึงการลงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม Social Media ที่ชาวจีนใช้งานอย่างล้นหลาม แต่นั่นอาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางทีแม้จะหาทางดึงนักท่องเที่ยวจีนมาได้แล้วก็ยังไม่อาจสร้างความประทับใจได้ หากยังไม่เข้าใจในพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนในบริบทอื่น ๆ ที่เปลี่ยนไป 

มุมอื่น ๆ ของนักท่องเที่ยวจีนที่เราจะนำมาฝากกันวันนี้มาจากผลการสำรวจข้อมูลการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน (CITM) โดย Hotels.com ที่ทำการสำรวจนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 3,000 รายที่เดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ และข้อมูลจากโรงแรมและที่พัก 3,800 แห่งในเว็บไซต์ Hotels.com ทั่วโลก รวมถึงข้อมูลของ Hotels.com โดยตรง และบริษัทวิจัยตลาด โดยพบว่า

มีการแบ่งนักท่องเที่ยวจีนได้เป็น 5 กลุ่มจากพฤติกรรมการท่องเที่ยว

  1. กลุ่มเที่ยวแบบเจาะลึก (30%) ส่วนใหญ่เกิดในยุค 70 หรือเป็นกลุ่มมิลเลนเนียล และมองว่าการท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต โดยกลุ่มนี้จะใช้เงินประมาณ 26% ของรายได้ไปกับการท่องเที่ยว และปัจจัยเรื่องราคาไม่มีผลต่อการตัดสินใจ
  2. กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของครอบครัว (30%) เป็นกลุ่มที่เกิดในยุค 60 – 70 รายได้ปานกลาง ชอบใช้เวลาเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว มักใช้จ่ายอย่างประหยัดประมาณ 407 เหรียญสหรัฐต่อวัน หรือประมาณ 13,667 บาท
  3. กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ชีวิต (14%) เกิดในยุค 80 – 90 อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มีรายได้ดี ใช้จ่ายเงินประมาณ 29% ของรายได้ส่วนตัวไปกับการท่องเที่ยว ชอบพักโรงแรมบูทีค และเชื่อมั่นในคำแนะนำจากคนท้องถิ่นก่อนออกเดินทางจริง
  4. กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อความสุขใจ (9%) เกิดในยุค 80 ใช้เงินเฉลี่ย 3,546 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 119,074 บาทไปกับการท่องเที่ยวในปี 2559 ชอบพักโรงแรมห้าดาว และกว่า 60% มีแนวโน้มจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า
  5. กลุ่มท่องเที่ยวแบบเรียบง่าย (17%) เกิดในยุค 90 ไม่ชอบท่องเที่ยวตามแบบแผน และใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด มองหาโรงแรมที่มีวัฒนธรรมที่เข้ากันได้มากกว่าโรงแรมหลายดาว

 5 สิ่งที่นักท่องเที่ยวจีนต้องการที่สุดในการมาเที่ยวต่างแดน

1.        พนักงานโรงแรมที่พูดภาษาจีนกลางได้
2.        การรองรับวิธีชำระเงินของชาวจีน
3.        บริการรถรับส่งในพื้นที่
4.        มัคคุเทศก์ภาษาจีนกลาง
5.        ภัตตาคารหรือร้านอาหารจีนในโรงแรม

ทั้ง 5 ข้อนี้เป็นหนึ่งในคำร้องขอลำดับต้น ๆ ของลูกค้าชาวจีน แต่เป็นเรื่องที่บรรดาผู้ประกอบการโรงแรมไม่ค่อยให้ความสำคัญ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ผู้ประกอบการโรงแรมในไทยมีแผนที่จะยกระดับบริการให้ลูกค้าชาวจีนโดย 35% จะพุ่งความสำคัญไปที่โปรแกรมทางการตลาดเฉพาะกลุ่ม และ 38% มีแผนที่จะขยายสื่อ Social Media ของตนให้ครอบคลุมและเข้าถึงมากยิ่งขึ้น ในขณะที่มีเพียง 24% เท่านั้นที่มีแผนจะเพิ่มพนักงานที่พูดภาษาจีนกลางได้

เน้นรายละเอียดและวางแผนเที่ยวมากยิ่งขึ้น

นักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่ในทุกช่วงวัยเดินทางบ่อยขึ้น และยาวนานขึ้น จำนวนครั้งโดยเฉลี่ยของการท่องเที่ยวต่อปีได้เพิ่มขึ้นจาก 3 ครั้ง เป็น 4 ครั้ง และจำนวนวันต่อการท่องเที่ยวหนึ่งครั้งเพิ่มขึ้นจาก 5 วันในปีที่แล้ว มาเป็น 7 วัน นักท่องเที่ยวจีนยังใช้โอกาสในการท่องเที่ยวแต่ละครั้งเพื่อเยือนเมืองหลาย ๆ แห่ง โดยกว่า 80% กล่าวว่าพวกเขาจะไม่พักอยู่แค่เมืองใดเมืองหนึ่งเท่านั้น

การใช้จ่ายเงินเฉลี่ยต่อวันในระหว่างการท่องเที่ยวก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 8% และกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การรับประทานอาหาร การเยี่ยมชมทิวทัศน์ และกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน CITM กลับระบุว่า การช้อปปิ้งกลับลดจากปีที่แล้วถึง 35% เป็นการชี้ให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจีนมีรูปแบบความชื่นชอบที่หลากหลาย และมีความรอบรู้ในเรื่องการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

นิยมเที่ยวแบบแบ็คแพกมากขึ้น

Hotels.com ระบุว่า รูปแบบการท่องเที่ยวที่ชาวจีนชื่นชอบคือง่าย ๆ สบาย ๆ โดยมีแนวโน้มว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนจะทำการจองการเดินทางผ่านระบบกรุ๊ปทัวร์ลดลงเรื่อย ๆ ในอนาคต เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่จะใช้เวลาในการหาข้อมูลออนไลน์มากขึ้น (ใช้เวลาประมาณ 12 วัน) และมักจะเริ่มวางแผนล่วงหน้าก่อนการเดินทางนานถึง 1 – 2 เดือน วิธีการสำรองที่พักที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีการใช้งานกันอย่างล้นหลาม คือการใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ โดยผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนสูงถึง 46% ได้ทำการสำรองที่พักผ่านมือถือในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยอีก 17% ใช้วิธีการจองผ่านเว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมในอันดับที่สอง

ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัย หรือกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 60 – 69 ปี และ 70 – 79 ปี ระบุว่าพวกเขาต้องการที่จะท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็กในอนาคต ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 15% และ 21% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงแรมในไทยพบว่าในปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเองมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 68%

ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีน

ในการสำรวจยังพบว่า มี 11 ประเทศปลายทางที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวจีนดังนี้

ลำดับที่ 1 ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา
ลำดับที่ 2 ออสเตรเลีย และแคนาดา
ลำดับที่ 3 เยอรมนี
ลำดับที่ 4 เยอรมนี
ลำดับที่ 5 มัลดีฟส์
ลำดับที่ 6 ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, ไทย และสหราชอาณาจักร

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ชาวจีนนิยมใช้ระหว่างท่องเที่ยว

ประกอบด้วย

  • สมาร์ทโฟน 96%
  • กล้องถ่ายรูปดิจิทัล/กล้องวิดีโอ 61%
  • แท็บเล็ต 49%

ตัวเลขจาก CITM ระบุว่า ในปี 2559 มีผู้คนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศจำนวน 122 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 4% และสูงกว่าปี 2554 ถึง 74% ในจุดนี้ นายอภิราม ชาวดรีย์ รองประธานและกรรมการผู้จัดการของ Hotels.com ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและลาตินอเมริกา กล่าวว่า “ศักยภาพการเติบโตทั้งในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน และอำนาจซื้อของพวกเขานั้นมีมากมายมหาศาล”

“ประเทศต่าง ๆ ใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกจับตามองว่าเป็นตลาดท่องเที่ยวที่กำลังจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในอนาคต ดังนั้น นอกเหนือไปจากการหาบริการที่หลากหลายเพื่อรองรับกับความต้องการในรูปแบบจำเพาะของนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว การเตรียมพร้อมรับมือกับตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งตลอดในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้”

 

สำหรับใครที่ตั้งเป้าจะเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน หากพิจารณาข้อมูลนี้แล้วเกิดไอเดียดี ๆ อยากจะแบ่งปันความคิดเห็นกัน ทีมงานก็ต้องขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ


ที่มา: Hotels.com

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/07/6-new-behaviors-of-chinese-tourists/