คลังเก็บป้ายกำกับ: ASCEND

กลุ่ม CP ซื้อกิจการ Chilindo เว็บประมูลสินค้า มูลค่ากว่า 558 ล้านบาท ตั้งเป้าบุกต่างประเทศ

กลุ่ม CP ซื้อกิจการ Chilindo เว็บประมูลสินค้า มูลค่ากว่า 558 ล้านบาท เพื่อที่จะเสริมแกร่งด้าน E-commerce ขณะเดียวกันก็ตั้งเป้าที่จะนำแพลตฟอร์มนี้ขยายไปในต่างประเทศด้วย

ศุภชัย เจียรวนนท์
ศุภชัย เจียรวนนท์ – ภาพจาก CP Group

Ascend Commerce ซึ่งเป็นบริษัทลูกในกลุ่ม CP ได้เข้าซื้อกิจการ Chilindo เว็บประมูลสินค้าของไทย โดยมูลค่าในการเข้าซื้อกิจการนั้นอยู่ที่ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 558 ล้านบาท โดยเป้าหมายของกลุ่ม CP คือต้องการยกระดับเว็บไซต์แห่งนี้ให้กลายเป็นแพลตฟอร์ม E-commerce สัญชาติไทยและวางแผนที่จะนำ Chilindo บุกตลาดต่างประเทศด้วย

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้กล่าวว่า “การที่ CP ลงทุนในแพลตฟอร์ม Chilindo นั้น ถือเป็นการนำร่องเพื่อสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยที่จะมาช่วยยกระดับอีคอมเมิร์ซไทยก้าวสู่ตลาดในระดับสากล ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยล้วนเป็นแพลตฟอร์มของธุรกิจข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่”

สำหรับ Chilindo เป็นเว็บไซต์ประมูลสินค้าออนไลน์ โดยใช้รูปแบบของการเล่นเกมการประมูล และจะได้ซื้อสินค้าก็ต่อเมื่อชนะประมูลในราคาที่ตนเองต้องการ ซึ่งราคาประมูลขั้นต่ำที่ 1 บาท จึงทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มนี้แตกต่างจากการเข้าใช้งานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่นๆ โดย Chilindo มีความโดดเด่นในด้านราคา เน้นการจำหน่ายสินค้าในราคาที่ผู้บริโภค “ยอมรับได้” ไม่ใช่ราคาที่ร้านค้าเป็นผู้กำหนดไว้

ปัจจุบัน Ascend Commerce นั้นมีเว็บไซต์ WeMall ห้างสรรพสินค้าออนไลน์ Weloveshopping แหล่งรวมสินค้าหลากหลาย ทั้งนี้เมื่อรวมการซื้อกิจการของ Chilindo นั้นกลุ่ม CP จะมีฐานธุรกิจ E-commerce ที่แข็งแกร่งมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/cp-group-buy-auction-website-chilindo-and-plan-to-expand-outside-th-8-aug-2020/

หัวเว่ย ก้าวล้ำนำเทคโนโลยีในยุคสมัยแห่งระบบอัจฉริยะ : คว้าชัยด้วยระบบนิเวศเหนือชั้น

เทคโนโลยี AI ประสานทุกองค์ประกอบเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และในขณะนี้ หัวเว่ยกำลังสร้างระบบนิเวศเปี่ยมนวัตกรรมที่มาพร้อมความยั่งยืนเพื่อแบ่งปันความสำเร็จร่วมกับพันธมิตรผ่านโครงการ Ascend Partner

ศาสตร์แห่งปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มคำยอดนิยมอีกต่อไป แต่มันกำลังกลายเป็นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สามัญชนิดใหม่ มันถือเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เช่นเดียวกับการปฏิวัติเชิงสังคมและเศรษฐกิจ หัวเว่ยไม่เคยหยุดยั้งการลงทุนในสายงานด้านการวิจัยและพัฒนาศักยภาพดังกล่าวเพื่อเกื้อหนุนความร่วมมือใหม่ๆ ทั้งสำหรับ 5G, cloud, edge และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยสร้างรูปรอยใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น บริการด้านการเงิน การขนส่ง การจ่ายกระแสไฟฟ้า การผลิต และอีกมากมาย

เทคโนโลยีต่างๆ ดังกล่าวมักต้องอาศัยการสอดประสานกันเพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่เปี่ยมประสิทธิผล ในการนั้น หัวเว่ยได้ทุ่มเทความอุตสาหะทั้งหมดในการสร้างระบบนิเวศซึ่งรวมกลุ่มการศึกษาวิจัย ภาคอุตสาหกรรม และชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา AI ที่ล้วนช่วยให้เทคโนโลยีและภาคส่วนต่างๆ ดังกล่าวก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปพร้อมกัน ควบคู่ไปกับวิธีการทำงานแบบเปิด การเปิดกว้างทางฮาร์ดแวร์ เราได้ใช้ซอฟท์แวร์ระบบเปิด (open-source) และออกไล่ตามความสำเร็จร่วมกันกับพันธมิตรของเรา

การประสานพลังคือพื้นฐานของความสำเร็จทางเทคโนโลยี

อันที่จริง หัวเว่ยได้นำหน่วยประมวลผล AI ของซีรี่ส์ Ascend มาใช้ในการสั่งการทำงานของ Atlas AI Computing Platform ซึ่งเอื้อให้เกิดโซลูชั่นส์ด้านโครงสร้างพื้นฐานของ AI ในทุกด้านที่รองรับการตั้งค่าได้ทั้ง Device-Edge-Cloud

โครงการ Huawei Asia Pacific Partner Ascend จะเป็นหนึ่งในประตูที่เปิดกว้างให้มืออาชีพและบริษัทด้าน AI เข้าถึงเรา ตลอดจนได้เรียนรู้การปรับใช้ และต่อยอดการใช้งานผลิตภัณฑ์ Ascend AI

นอกจากนี้ โครงการนี้จะเป็นหนึ่งในช่องทางที่ช่วยสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาต่างๆ รวมถึงสถาบันการเรียนรู้ระดับสูงเพื่อการพัฒนามืออาชีพด้าน AI โครงการที่ครอบคลุมการใช้งานอย่างกว้างขวางในหลายด้าน โครงการจะครอบคลุมการใช้งาน 4 ด้านหลักคือ การพัฒนา AI การให้ความช่วยเหลือ การถ่ายโอนความรู้ และการออกตลาดและทรัพยากรเชิงกลยุทธ์ โดยเป้าประสงค์เชิงคาดการณ์ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

1. โครงการ Independent Software Vendor (ISV) AI Collaboration

ภายใต้โครงการย่อยนี้ ทั้ง ISV นักนวัตกรรมและผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงพอร์ทัลออนไลน์ ระบบพันธมิตรสามขั้นจะจัดกลุ่มคู่ค้าโดยแบ่งเป็น “สมาชิก” (“Members”) “ผู้ผ่านการรับรอง” (“Certified”) หรือ “ผู้ได้รับการคัดสรร” (“Preferred”) พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับแต่ละขั้น โดยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวรวมถึง NRE หรือการจัดหาทุน Non-Recurring Engineering บัตรเข้าสอบสำหรับ HCIA-AI (การสอบใบรับรองทักษะเฉพาะด้าน AI ของหัวเว่ย) การสนับสนุนการออกตลาด ตลอดจนทรัพยากรเชิงกลยุทธ์ต่างๆ

2. โครงการ Institute of Higher Learning (IHL) AI Talent Cultivation

หัวเว่ยจะมอบความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับระดับขั้นทั้งสาม ตั้งแต่ “การประสานหลักสูตร” “นวัตกรรมเทคโนโลยี” ไปจนถึง “ผู้ร่วมทุนทางธุรกิจ” โครงการนี้มุ่งช่วย IHL ในการสร้างสาขาต่างๆ ให้แก่งาน AI ตลอดจนผลิตมืออาชีพด้าน AI และยกระดับการวิจัยเชิงวิชาการและเชิงวิทยาศาสตร์ในสายงาน AI โดยอาศัยศักยภาพทางเทคโนโลยี Atlas AI อย่างเต็มรูปแบบ (full-stack) ของหัวเว่ย

“ในยุคสมัยใหม่แห่ง AI การร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์และหัวเว่ยในการพัฒนางานวิจัยและมืออาชีพด้าน AI จะสร้างผลกระทบใหญ่หลวงให้แก่สังคมของเรา” หวง จื่อยง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ Business Analytics Centre ของทางมหาวิทยาลัยฯ กล่าวเสริม

3. โครงการพัฒนาอุตสาหกรรม AI ของรัฐบาล

หัวเว่ยจะให้การสนับสนุนด้านเทคนิคเพื่อส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านนวัตกรรม AI ของชาติโดยอาศัยเทคโนโลยี Ascend ซึ่งหัวเว่ยจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ทางด้านข้อพึงปฏิบัติเชิงอุตสาหกรรม และช่วยเหลือภาครัฐทางด้านงานนโยบายต่างๆ ซึ่งรวมถึงการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม AI แห่งชาติ

“กลยุทธ์ด้าน AI ระดับชาติของอินโดนีเซียซึ่งผลักดันโดย BPPT ถือเป็นหลักชัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างชาติที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สิ่งนี้เป็นวิสัยทัศน์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของโรดแมปพัฒนาประเทศ Indonesia 2045 ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า AI ที่มีอยู่ทุกหนแห่งจะช่วยนำพาประเทศชาติไปบนหนทางสู่การบรรลุเป้าหมายในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดร. ฮัมมาน ริซา Head of Agency for the Assessment and Application of Technology (BPPT) กล่าว

ด้วยกลยุทธ์เชิงนวัตกรรมเหล่านี้ หัวเว่ยจึงเดินหน้ามุ่งสร้าง Ascend AI Ecosystem พร้อมแบ่งปันความสำเร็จร่วมกัน ทางบริษัทจะช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ในทุกๆ ประเทศในเอเชียแปซิฟิกให้บรรลุเป้าประสงค์ต่อเนื่องผ่านโครงการที่มีโครงสร้างและมีระบบการทำงาน เช่น

• การปรับใช้และการใช้งานผลิตภัณฑ์ Ascend AI
• การต่อยอดระบบนิเวศ ISV และ start-up
• การสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและพัฒนาในท้องถิ่นและการพัฒนามืออาชีพด้าน AI
• ความสามารถเชิงความรู้และทักษะในการเขียนโปรแกรมและทดสอบโปรแกรมสำหรับผลิตภัณฑ์ Ascend AI
• การเติบโตของ AI Ecosystem ในตลาดซัพพลายเออร์หลายๆ แห่งที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI

พันธมิตรแห่ง APAC ต่างได้ประโยชน์จาก AI

กลุ่มสมาชิกในภูมิภาค APAC ต่างได้รับโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาลผ่านโครงการต่างๆ และระบบนิเวศของเรา การพัฒนา AI ในภูมิภาคต่างๆ การปันผลทางประชากร และนโยบายสนับสนุนของประเทศต่างๆ ได้สร้างโอกาสทางการค้าขายให้แก่การประมวลผลด้วย AI

“ในการประสานความร่วมมือโดยตั้งอยู่บนระบบนิเวศ AI หัวเว่ยมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ ทางเราร่วมงานกับชุมชนวิชาการและอุตสาหกรรมต่างๆ ในการผลักดันการพัฒนา AI ซึ่งช่วยยกระดับได้โดยรวมทั้งเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สุดแล้ว ทางเราหวังที่จะลดช่องว่างและบรรลุผลสำเร็จร่วมกันให้ได้โดยเร็วที่สุด” ดาเนียล โจว ประธาน Huawei Cloud & AI Business Group แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริม “ด้วยการผลักดันแบบควบรวม Connectivity + Computing + Cloud ทางเราจึงสามารถสร้างแพลตฟอร์มอัจฉริยะอัตโนมัติที่ทำงานด้วยฐานข้อมูล เพื่อให้พร้อมรองรับเนื้อหา แอปพลิเคชัน และอัลกอริธึมของพันธมิตร”

“ด้วยความร่วมมือร่วมใจ เราจะร่วมกันสร้างระบบนิเวศที่เติบโตและก้าวล้ำนำหน้าในโลกใบที่เชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ด้วยระบบอัจฉริยะ” ดาเนียล กล่าวเพิ่มเติม ทั้งนี้ เหนืออื่นใด หัวเว่ยจะสร้างโลกที่เชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ด้วยระบบอัจฉริยะ และโปรแกรม Asia Pacific Ascend Partner ก็คือเสาหลักสู่การบรรลุซึ่งเป้าประสงค์นี้

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเข้าชม https://e.huawei.com/sg/products/cloud-computing-dc/atlas.

from:https://www.enterpriseitpro.net/huawei-ai-ascend-partner-atlas/

บัตรประชาชนหาย ล้อมเซิฟเวอร์.. Ascend Group ประกาศรับสมัครงานวิศวรด้านความปลอดภัยอาวุโส

บริษัท Ascend Group ผู้ซึ่งมีกิจการในเครือทั้ง iTruemart, We Love Shopping, WeMall, True IDC และยังมี Truemoney อยู่นั้น ดูเหมือนจะขาดเจ้าหน้าที่วิศกรด้านความปลอดภัยอาวุโสอยู่ (อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าคนเดิมโดนเด้ง หรือเพิ่งจ้างเข้ามาเป็นคนแรก) และได้ทำประกาศหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามารับตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา

คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัคร วิศกรด้านความปลอดภัยอาวุโส (Senior Security Engineer) นั้นต้องมีอายุงานอย่างน้อย 4 ปี และทำงานในด้าน IT Security มาก่อน โดยหน้าที่หลักๆ คือ

  • ให้คำปรึกษาและช่วยปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยของระบบ IT
  • ทดสอบความเสี่ยงและการโดนเจาะระบบ
  • ปรึกษากับผู้นำด้าน IT เพื่อหาระบบความปลอดภัยที่จำเป็น
  • ให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยกับพนักงานในองค์กร
  • พัฒนาและรักษาระบบความปลอดภัย

สำหรับรายละเอียดและขอบเขตของงานทั้งหมด สามารถไปอ่านกันได้ที่ JobsDB เลยครับ

 

source : jobsdb

from:https://droidsans.com/ascend-group-require-senior-it-security/

เปิดใจแม่ทัพ Ascend กับการแบกบริการ E-Wallet แข่งธนาคาร และ E-Commerce ชนทุนต่างชาติ

แม้เป็นเต้ยของบริการ E-Wallet ในชื่อ True Money แต่ตอนนี้ธนาคารก็ลงมาแข่งด้วย QR Code ที่จ่ายตามร้านค้า ไหนจะ E-Commerce ที่ WeMall ก็ต้องชนกับทุนต่างชาติ ปีหน้าของกลุ่ม Ascend จึงท้าทายอย่างยิ่ง

ปี 2561 ไม่ใช่เรื่องง่ายของกลุ่ม Ascend

กลุ่ม Ascend สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นพี่ใหญ่ของบริการออนไลน์สัญชาติไทยก็ว่าได้ แต่ในปี 2561 ที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป ทั้งเทคโนโลยี รวมถึงเงินทุนต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาทำให้แม่ทัพของ Ascend นั้นต้องคิดใหม่ ทำใหม่ในหลายเรื่อง เพื่อผ่านพ้นการแข่งขันนี้ไปให้ได้

ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด เล่าให้ฟังว่า Prompt Pay คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้กลุ่มธนาคารใหญ่ๆ ในประเทศไทยเข้ามารุกตลาดบริการ Retail Payment หรือการจ่ายเงินตามร้านค้าต่างๆ ได้ และผู้บริโภคก็ใช้ได้อย่างสะดวก เพราะเงินที่จ่ายนั้นผูกอยู่กับบัญชีของแต่ละธนาคาร

ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด

แต่ฝั่ง E-Wallet เองอย่าง True Money ก็อยู่ในวง Prompt Pay เหมือนกัน ทำให้บริษัทต้องใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ให้มากที่สุด เพื่อสร้างการเติบโต และต่อยอดจากฐานผู้ใช้ที่มี 8 ล้านราย (Active 4 ล้านราย) ในประเทศไทย รวมถึงสามารถเดินตามพันธกิจที่ว่าด้วยการช่วยเหลือทุกคนให้เข้าถึงบริการทางการเงินอีกด้วย

แข่งด้วย Incentive เหมือน Visa-Master Card

“เมื่อการจ่ายด้วย Prompt Pay มันเป็นบริการพืื้นฐาน ธนาคารไหนก็ทำได้ รวมถึงบริการ E-Wallet ด้วย ดังนั้นการแข่งขันหลังจากนี้จะเดินไปในทิศทางว่าผู้เล่นคนไหนให้ Incentive กับร้านค้า และลูกค้าได้มากกว่ากัน เช่นส่วนลด เหมือนกับที่ Visa และ Master Card แข่งขันกันอยู่ตอนนี้”

สำหรับ True Money คงไม่เข้าไปแข่งขันกับธนาคารตรงๆ เพราะธนาคารใหญ่กว่าทางกลุ่มมาก ดังนั้นการหานวัตกรรมด้านบริการใหม่ๆ ล่าสุดเพิ่งเปิดบริการ Donation (บริจาค) ให้กับองค์กร หรือมูลนิธิต่างๆ เช่น “โครงการก้าวคนละก้าว” ที่มีผู้ใช้บริจาคผ่าน True Money กว่า 20 ล้านบาท เพื่อต่อยอดไปสู่ Crowd Sourcing Platform

นอกจากนี้การเดินเกมในตลาดต่างประเทศก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เช่นในกัมพูชา True Money ก็มีเงินหมุนเวียนกว่า 6,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของมูลค่า GDP ที่นั่น โดยถ้ารวมอีก 5 ประเทศในอาเซียนที่เข้าไปทำตลาดจะมีผู้ใช้งาน 5 ล้านราย และถ้ารวมไทยด้วยจะมีเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% จากปีก่อน

อีกบริการใหม่ของ True Money ที่ส่งซองเงินของขวัญกันได้

ดึงประสบการณ์ Ant Financial เข้าสู้ศึก

“ถ้ามองแค่บริการทางการเงิน ไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าสิงคโปร์เลย แถมทิ้งห่างประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่หลายช่วงตัว แต่เพื่อให้ Ascend เป็นผู้นำในเรื่องนี้ได้ จึงดึงประสบการณ์จาก Ant Financial ที่เป็นพาร์ทเนอร์ของเรามาให้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่อง CRM ที่ช่วยบริหารจัดการร้านค้า ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ช่วยเราได้เยอะ”

อย่างไรก็ตามนั่นแค่หนึ่งในส่วนธุรกิจของ Ascend และเป็นส่วนที่ดูดีที่สุดของทางกลุ่ม เพราะยังเหลืออีก 2 ธุรกิจคือ Data Center ในชื่อ True IDC ที่เติบโตได้ดีไม่แพ้กับ True Money ผ่านรายได้เพิ่ม 30% และมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่นการสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ แถมยังมี Supernap ที่เป็นไซต์ขนาดใหญ่ที่หลายฝ่ายสนใจมาก

แต่อีกธุรกิจคือ E-Commerce ที่มีบริการ WeMall และ WeLoveShopping กลับถูกลดดีกรีการทำตลาดลง เพราะการแข่งขันของธุรกิจนี้ค่อนข้างดุเดือด ผ่านเกมการแข่งขันที่กลายเป็นของทุนต่างชาติเต็มตัว และเป็นการยากที่จะมีใครยอมทุ่มเงินถึงขนาด Amazon กับ Alibaba ได้

ไม่ทิ้ง E-Commerce แต่จะปรับให้เหมาะสม

“ยืนยันว่า Ascend ยังไม่ทิ้ง E-Commerce ในเร็วๆ นี้แน่ และเรายังลงทุนเรื่องนี้ต่อเนื่อง แม้การแข่งขันจะดุเดือด ผ่าน Alibaba ที่ต้องการชนะในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไหนจะ Amazon ที่กำลังเตรียมเข้ามา รวมถึง Shopee ที่ทุ่มเหมือนกัน ส่วน 11street ของเกาหลีได้ยินว่าอาจจะไปแล้วก็ได้ ไหนจะเซ็นทรัลกับ JD.com อีก”

เมื่อเป็นเงินทุนระดับโลกมาสู้กัน “ปุณณมาศ” มองว่าสุดท้ายก็เหลือแค่ Amazon กับ Alibaba ซึ่งรายหลังนั้นมีกำไรต่อเดือนกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36,000 ล้านบาท) และถ้าเอากำไรก้อนนี้มาทุ่มตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คงยากที่จะมีใครสู้ด้วย

ทำให้ทางกลุ่มตัดสินใจมองหาช่องทางใหม่ๆ เช่นบริการ O2O (Online to Offline) ไม่ได้ไปแข่งขันตรงๆ กับผู้เล่นระดับโลก พร้อมลงทุนหลัก 100 ล้านบาททุกปี แต่ฝั่ง WeLoveShopping นั้นยังเติบโตได้ดีอยู่ เพราะมีลักษณะเป็น E-Marketplace ไม่ใช่หน้าร้านที่บริษัทบริหารจัดการเองทั้งหมด

สรุป

ปีนี้รายได้ของกลุ่ม Ascend น่าจะปิดที่ 8,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 15% พร้อมตั้งเป้ารายได้ปีหน้าเติบโต 15-20% โดยหลักๆ มาจากธุรกิจ True Money ที่ปีหน้าตั้งเป้ายอดผู้ใช้ Active ในไทยเป็น 5 ล้านคน และจากคำสัมภาษณ์ของแม่ทัพ Ascend นั้นแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ง่ายๆ เลยที่ Ascend จะฝ่าฟันความท้าทายนี้ไปได้ เพราะทั้งทุนธนาคารเองก็ใหญ่ ยิ่งฝั่ง E-Commerce ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก ดังนั้นคงต้องรอดูกันยาวๆ ว่าหลังจากนี้ Ascend จะแก้เกมธุรกิจอย่างไรบ้าง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/ascend-ewallet-ecommerce-2018/

[PR] เปิดตัวสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย Thailand E-Payment Trade Association (TEPA) ยกระดับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เทียบเท่ามาตรฐานสากล

กรุงเทพฯ 30 สิงหาคม 2560 – สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) แถลงเปิดตัวสมาคมพร้อมสมาชิกภายในเครือข่าย ตอบรับ QR Code Standard ด้วยการขับเคลื่อนโดยรัฐบาลไทย ด้วยนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ ในปัจจุบัน ประกอบกับการใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย โดยตัวเลขอยู่ที่ 40 ล้านเครื่องในปี 2558 และเพิ่มขึ้นมาเป็น 50 ล้านเครื่องในปี 2559 และคาดว่าจะเพิ่มถึง 80 ล้านเครื่องในปี 2564 ทำให้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ห้า และการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นกิจกรรมประจำวัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จึงเล็งเห็นความสำคัญในการผนึกกำลังกัน จัดตั้งสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) เพื่อยกระดับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และเพิ่มความไว้วางใจในการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับผู้บริโภคไทย

สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) ได้รับอนุญาติให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 โดยสมาคมมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ตลอดจนเจรจาทำความตกลงในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิกซึ่ง ปัจจุบัน ทางสมาคมมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 16 ราย ทั้งบริษัทที่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงบัตรโดยสาร e-Money ซึ่งประกอบไปด้วย:

1. บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด
2.
บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด
3.
บริษัท เพย์สบาย จำกัด
4.
บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด
5.
บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด
6.
บริษัท ทีทูพี จำกัด
7.
บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
8.
บริษัท แรบบิทไลน์ เพย์ จำกัด
9.
บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)​
10.
บริษัท เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ จำกัด
11.
บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด
12.
บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด
13.
บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน)
14.
บริษัท บลูเพย์ จำกัด
15.
บริษัท โอมิเซะ จำกัด
16.
บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) กล่าวว่าการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สะท้อนถึงนโยบาย Thailand 4.0 และการผลักดันในการเป็นสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ ในหลายประเทศ อาทิ จีนและอินเดีย การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ล้ำหน้าไปไกลมาก และในประเทศเช่นสวีเดน สังคมไร้เงินสดก็กลายเป็นภาพแห่งความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ข้อดีของการไม่ใช้เงินสดต่างๆ อาทิ การลดภาระค่าใช้จ่ายการจัดการเงินสด ลดความเสี่ยงในการครอบครองเงินสด ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนทำให้ลดความเสี่ยงจากการคอรัปชั่น

สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) จะคอยผลักดันการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการให้ความรู้กับผู้บริโภคไทยและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมกันนี้ สมาคมก็จะคอยกำกับดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางธนาคารแห่งประเทศไทยและนโยบายภาครัฐ และจะคอยเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมธุรกิจชาวไทย

นายปุณณมาศยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่าผมหวังว่าผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ ได้ตระหนักและเปิดใจรับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายอย่างแท้จริง และยังมั่นใจได้ถึงความปลอดภัย เพราะภาครัฐและทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ลงมากำกับดูแลธุรกิจนี้อย่างใกล้ชิด ผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ สามารถมั่นใจได้ว่าสมาชิกของสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) ทั้ง 16 ราย เป็นผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับใบอนุญาติประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง และมุ่งเน้นให้บริการผู้บริโภคด้วยบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล

###

เกี่ยวกับสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA)

สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Association: TEPA) ได้รับอนุญาติให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 โดยสมาคมมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ตลอดจนเจรจาสร้างข้อความตกลงในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิก ปัจจุบัน สมาคมมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 16 ราย ทั้งบริษัทที่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงบัตรโดยสาร e-Money ซึ่งประกอบไปด้วย:
1.
บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด
2. บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด
3.
บริษัท เพย์สบาย จำกัด
4.
บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด
5.
บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด
6.
บริษัท ทีทูพี จำกัด
7.
บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
8.
บริษัท แรบบิทไลน์ เพย์ จำกัด
9.
บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)​
10.
บริษัท เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ จำกัด
11.
บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด
12.
บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด
13.
บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน)
14.
บริษัท บลูเพย์ จำกัด
15.
บริษัท โอมิเซะ จำกัด
16.
บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)
ดยนายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด เป็นนายกสมาคม

from:https://www.techtalkthai.com/thailand-e-payment-trade-association/

จับเข่าคุย Programmer จาก Ascend Group อยู่องค์กรแตกต่างจากเปิดบริษัทเองอย่างไร

กระแส startup ในบ้านเราและทั่วโลกมาแรงแบบสุดๆ ผลที่ตามมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การขาดแคลนบุคลากรด้านไอที โดยเฉพาะ Programmer สายต่างๆ เรียกว่าเป็นที่ต้องการทั้งหมด เนื่องจากการจะขยายบริการให้ได้ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก คนด้านไอที สำคัญมาก

และนั่นทำให้ Programmer หลายคนที่จบใหม่ หรือกำลังจะเรียนจบ เริ่มมองหาโอกาสว่า จะเริ่มต้นอาชีพด้วยการสมัครงานองค์กรต่างๆ หรือจะเริ่มต้นทำบริษัทของตัวเองไปเลย (หรือเป็นฟรีแลนซ์) แบบไหนจะดีกว่ากัน Brand Inside ได้มีโอกาสนั่งจับเข่าคุยกับ Programmer จาก Ascend Group ถึงความแตกต่างนี้ เพื่อช่วยให้น้องใหม่ทั้งหลายใช้ประกอบการตัดสินใจ

อยากเปลี่ยนแปลงชีวิตคนไทยให้ดียิ่งขึ้น

การนั่งคุยครั้งนี้ มี 2 Programmer ทั้งที่มีประสบการณ์ และน้องใหม่เพิ่งเข้าทำงานมาสะท้อนมุมมอง เริ่มต้นที่ จิรวัฒน์  กรัณย์วิทยาการ Mobile Application Development Team Lead ของ True Money และ ประเสริฐ ประติภากร Developer จาก True Money ในเครือ Ascend Group เช่นเดียวกัน

สำหรับ จิรวัฒน์ ถือเป็นระดับหัวหน้างานที่มีลูกน้อง Programmer หลายคนในทีม ดูแลเรื่องของ User Interface บริการ TrueMoney ทั้งเว็บไซต์และโมบายแอป โดยเข้ามาทำงานที่ Ascend Group เพราะเห็นว่าที่นี่มีหลากหลายบริการที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนไทยให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อนจะโยกย้ายมาทำ TrueMoney เคยทำส่วนของ Egg Digital มาก่อน

 

“ที่ Egg Digital หน้าที่เราคือ เปลี่ยนโลก offline ให้เป็น online มีลูกค้าเป็นบริษัทหลายรายในตลาด เท่ากับช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการต่างๆ ของบริษัทลูกค้าได้ง่ายขึ้น”

ด้าน ประเสริฐ เป็น Programmer น้องใหม่ที่เข้ามาทำงาน Ascend Group ได้เกือบปี ดูแลระบบ Back End ของ TrueMoney บอกว่า เป็นคนชื่นชอบเทคโนโลยี  และอยากมีส่วนร่วมกับการพัฒนาบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งที่ Ascend Group ไม่สำคัญว่าเป็นเด็กใหม่ เพราะทุกคนสามารถเสนอความเห็นได้เต็มที่ มีส่วนร่วมกับการทำงานจริง

เรียนรู้ทุกอย่างเป็นองค์รวมเพื่อพัฒนาทักษะให้ดียิ่งขึ้น

ด้วยความที่ Ascend Group มีสินค้าและบริการที่หลากหลายเพื่อให้บริการคนเป็นล้านคน ดังนั้น Programmer ที่นี่ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา มีการฝึกอบรมทั้งในและต่างประเทสอย่างต่อเนื่อง ต้องสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้

อีกประเด็นที่สร้างความแตกต่างคือ Programmer ทุกคนจะได้รับผิดชอบและร่วมกับทีมงานที่หลากหลาย เช่น การตลาด, การบริการ, การขาย และฯลฯ โดยประชุมงานร่วมกัน ออกไปพบลูกค้าด้วยกัน

จิรวัฒน์ บอกว่า ที่ Ascend Group ทุกคนจะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานแบบมืออาชีพ มีคนจากหลายประเทศมาทำงานร่วมกัน มีโอกาสได้ทำงานที่หลากหลาย และสนับสนุนการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา และส่งเสริมให้ทุกคนแชร์ความรู้กัน ตามแนวคิดที่ว่า ยิ่งให้ยิ่งได้รับ The More You Give, The More You Get

ดังนั้น Programmer หลายคนใน Ascend Group จะเขียนบทความ แชร์ประสบการณ์และความรู้ ผ่านทาง developers.ascendcorp.com และ github.com/AscendGroup ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปอ่านได้แม้จะไม่ได้ทำงานอยู่ที่นี่ก็ตาม ซึ่ง ประเสริฐ ก็เขียนบทความเพื่อแชร์ความคิด ความรู้สึก ในการเข้ามาทำงานที่ Ascend Group ไว้ และได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมากด้วย

ตัวอย่างงานเขียน  จิรวัฒน์ คลิกที่นี่ และ ประเสริฐ คลิกที่นี่

ทำงานองค์กรใหญ่ ใครว่าไม่สนุก สำรวจตัวเอง Attitude สำคัญที่สุด

จิรวัฒน์ และ ประเสริฐ บอกว่า การทำงานสายเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทัน ที่ Ascend Group จะได้ทำงานร่วมกับคนเก่ง กับผู้เชี่ยวชาญ เป็นบริการที่มีคนใช้ทั่วประเทศ มีบริษัทระดับนี้อยู่ไม่มากนัก แต่ในการทำงานกลับรู้สึกสนุก เหมือนย้อนกลับไปเรียนมัธยม ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ได้สร้างสรรค์สิ่งที่แตกต่าง

ดังนั้น ส่วนสำคัญอยู่ที่ Attitude หรือ ทัศนคติในการทำงานและใช้ชีวิต ที่นี่ไม่ได้ต้องการคนที่วิ่งเร็วที่สุด แต่ต้องการคนที่พร้อมจะวิ่งไปด้วยกัน

มีกิจกรรมในองค์กรที่ช่วยพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ เช่น English Stand up Meeting ให้ทุกคนออกมาสื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษ, Knowledge Sharing แบ่งปันความรู้ใหม่ๆม มีการวางรูปแบบและมาตรฐานในการพัฒนา Software เพื่อให้ Programmer ทุกคนทำงานอย่างเป็นระเบียบ สามารถทำงานแทนกันได้ไม่ต้องห่วงเรื่องเขียน Code ไม่รู้เรื่อง และโครงการ Ascend X Project คิดค้นหาความรู้ใหม่ๆ แล้วปั้นเป็นโครงการไปเสนอผู้บริหาร

“ถ้างานเยอะ เครียด จนไม่มีเวลา บอกได้เลยว่า จะไม่สามารถร่วมกิจกรรมเหล่านี้ได้ เพราะที่พูดมานี้ไม่ใช่งาน แต่เป็นกิจกรรมภายใน ที่อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม และ Ascend X Project หลายตัวที่กลายเป็นบริการจริงๆ”

Work Hard, Play Harder ถ้ามีความสุข งานจะดี

จิรวัฒน์ บอกว่า สาเหตุที่อยู่กับ Ascend Group ไม่ออกไปทำบริษัทของตัวเอง ส่วนหนึ่งเพราะที่นี่ตอบโจทย์ทุกอย่าง ทั้งเรื่องงาน และเรื่องชีวิตส่วนตัว ได้โอกาสในการพัฒนาและมีความก้าวหน้า ที่ Ascend Group เชื่อมั่นในความคิดสร้างสรรค์ ถ้ามีความสุข งานที่ทำจะออกมาดี เชื่อหรือไม่ว่า งานส่วนใหญ่เป็นระบบ Volunteer คือ มีโปรเจคมา แล้วให้คนที่สนใจรับงานไปทำ ผลลัพธ์คือได้งานที่ดี และช่วยให้คนพัฒนาไปพร้อมกัน

ประเสริฐ บอกว่า ที่ Ascend Group ได้เรียนรู้การทำงานเป็นระบบ ได้เรียนรู้การทำงานแบบมืออาชีพ ยิ่งกว่านั้นที่นี่คือสังคมของคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงพนักงานทุกคนเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา จึงไม่น่าแปลกใจถ้า Ascend Group จะเป็นหนึ่งในองค์กรที่น่าทำงานด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/interview-programmer-ascend-group/

Ascend เปิดข้อมูลคนใช้ TrueMoney Wallet “โอนเงิน” บริการยอดนิยมสูงสุด

พูดถึง Mobile Payment ในประเทศไทยมีผู้ให้บริการอยู่หลายราย แต่ถ้านึกถึงแบรนด์ที่แอคทีฟมากที่สุด หลายคนนึกถึง TrueMoney Wallet เพราะปลายปีที่ผ่านมาเพิ่งเปิดบริการใหม่ จ่ายเงินซื้อของที่ 7 ELEVEN ได้ สร้างสิ่งที่เรียกว่าการจ่ายเงินแบบ Online to Offline ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด

ทำให้ผู้ใช้เข้าใจมากขึ้นว่า เงินในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ใช้จ่ายได้ไม่แตกต่างจากเงินสดจริงๆ

ใช้ซื้อของในเซเว่นโตสุด แต่ “โอนเงิน” คนใช้เยอะสุด

อภินันท์ ดาบเพ็ชร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ True Money Wallet และ Prepaid MasterCard ของ Ascend Group บอกว่า จากการเปิดบริการจ่ายเงินที่ 7 ELEVEN ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมา Ascend คาดการณ์ว่าบริการนี้น่าจะได้รับความนิยมสูงที่สุด แต่เมื่อดูสถิติแล้ว เป็นบริการที่เติบโตเร็ว แต่บริการที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด หรือมีคนใช้งานมากที่สุด คือ การโอนเงิน ระหว่างผู้ใช้ หรือที่เรียกว่า P2P ซึ่งถือเป็นบริการพื้นฐาน

โดยพบว่ากลุ่มผู้ใช้มีการบอกต่อ สร้างเป็นกลุ่มผู้ใช้ และมีการโอนเงินให้กัน เฉลี่ย 4 ครั้งต่อเดือน ครั้งละประมาณ 120 บาท ซึ่งกลุ่มที่ใช้งานเป็นหลักคือ นักศึกษามหาวิทยาลัย, วัยรุ่นตอนต้น และ กลุ่มคนเริ่มทำงานใหม่

เหตุที่ใช้ TrueMoney Wallet ในการโอนเงินกันมาก เพราะสะดวกสบายกว่า ไม่ต้องใช้บัญชีธนาคาร ไม่เสียค่าธรรมเนียม ไม่ต้องห่วงเรื่องค่ายมือถือ เพราะเป็นแอปที่ทุกคนโหลดใช้ได้ ทำให้เกิดการบอกต่อ ให้มาใช้งาน

ส่วนที่สำคัญอีกประการคือ การยินยอมรับการโอนเงินระหว่างกันผ่าน TrueMoney Wallet แสดงว่า ผู้ใช้เห็นว่าเงินในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น ซื้อของใน 7ELEVEN, ใช้ซื้อของออนไลน์ ซึ่ง พ่อค้าแม่ค้าจำนวนมาก ยินดีรับเงินผ่าน TrueMoney Wallet หรือการใช้เป็น Prepaid Mastercard ซื้อแอปบน App Store, Play Store โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต

“3-4 เดือนท้ายสุด TrueMoney Wallet มีการใช้งานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40% ต่อเดือน แปลว่าต้องมีคนมาใช้งานเพิ่มขึ้น หรือคนเดิมแต่ใช้งานบ่อยขึ้น จนปัจจุบันมีผู้ใช้งานประจำทุกเดือน กว่า 8 แสนราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

ยืนยันแอปมีประโยชน์จริง ด้วยรางวัล แอปแห่งปี 2016 จาก Google

การจะบอกว่า TrueMoney Wallet เป็นแอปพลิเคชั่นที่มีประโยชน์ สิ่งที่การันตีได้ดีที่สุดคือ มีบุคคลที่ 3 มายืนยัน ซึ่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา Google ได้ประกาศรายชื่อแอปแห่งปี 2016 ( Best Apps of 2016 ) จาก Play Store ซึ่ง TrueMoney Wallet เป็นแอป Mobile Payment ที่สามารถชำระสินค้าออนไลน์ จ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ ชำระสินค้าที่ 7 ELEVEN ได้ ติดอันดับในหมวด “แอปดีจนต้องบอกต่อ”

ถือเป็นแอปที่สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค นอกจากจะโอนเงินระหว่างกันได้ จ่ายชำระค่าใช้จ่ายได้ ซื้อของได้ แน่นอนว่า ในปีนี้ช่วงไตรมาส 2 TrueMoney Wallet จะขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น สามารถซื้อสินค้าจากร้านค้าต่างๆ ได้มากขึ้น เป็นการทำให้แอปฯ ขยับเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันทั่วไป ต้องการจ่ายเงินเมื่อไร ไม่ต้องหยิบกระเป๋าตังค์ แต่หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาแทน

“TrueMoney Wallet จะต้องใช้จ่ายกับสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น นี่คือกระบวนการทำให้แอปฯ เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นแอปฯ ที่ทุกคนพร้อมจะเปิดใช้งานตลอดเวลา โดยจะเน้นในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย และวัยรุ่นตอนต้นให้เข้มข้นมากขึ้น และขยายให้กลุ่มคนทำงานใหม่ ใช้งานมากขึ้น”

“ล่าขุมทรัพย์กับแก๊งซานต้า” เกมสร้างประสบการณ์ ดึงดูดชวนเพื่อนมาใช้

สุดท้ายแล้วปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้มีการใช้งานมากขึ้น คือ ต้องสร้างประสบการณ์ที่คุ้นเคยให้กับผู้ใช้บริการ อภินันท์ บอกว่า TrueMoney Wallet ได้จัดแคมเปญส่งท้ายปีช่วงคริสมาสต์ กับเกม ล่าขุมทรัพย์กับแก๊งซานต้า ซึ่งเป็นเกมที่คล้ายกับเกมแจกอั่งเปาที่เคยจัดไป แต่คราวนี้มีกิจกรรมเพิ่มคือ ต้องชวนเพื่อนมาใช้งาน และมีการโอนเงินไป-กลับให้กัน เพื่อแลกสิทธิ์ในการเล่นเกมชิงของรางวัล

นี่คือการสร้างแรงจูงใจโดยการใช้เกม มาสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้บริการ ชวนเพื่อนมาใช้ โอนเงินให้เพื่อน ทำให้ผู้ใช้รับรู้ว่า การทำงานสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและใช้งานได้จริง

ภายใน 1 สัปดาห์ที่มีการจัดแคมเปญนี้ มีการตอบรับอย่างดี ผู้ใช้บริการ TrueMoney Wallet เข้าร่วมกิจกรรม 460,000 ราย แต่เป้าหมายจากนี้คือ ต้องทำให้คนกลุ่มนี้ยังคงใช้งานต่อไป ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายพอสมควร

และเนื่องจากใกล้เทศกาลตรุษจีน ประมาณปลาย ม.ค. นี้แล้ว TrueMoney Wallet คาดว่าจะจัดแคมเปญเพื่อกระตุ้นยอดการใช้งานและสร้างประสบการณ์อย่างต่อเนื่องอีกแน่นอน

สรุป

TrueMoney Wallet ได้พัฒนาแอปฯ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้บริโภคในการใช้บริการ Mobile Payment หนึ่งในนั้นคือบริการ “โอนเงิน” ซึ่งเมื่อได้รับเงินแล้ว ก็มีโอกาสใช้จ่าย นำไปสู่การใช้ประโยชน์จากแอปฯ มากขึ้นกว่าเดิม ปีนี้ยิ่งจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายกับร้านค้าและสินค้าที่จับต้องได้มากขึ้น ถือว่าเป็นการเร่งเครื่องเดินหน้าก่อนที่คู่แข่งในตลาดจะขยับตัว การได้รับรางวัล “แอปดีจนต้องบอกต่อ” จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/ascend-truemoney-wallet-transfer-service/

[PR] แอสเซนด์ มันนี่ ประกาศร่วมมือแอนท์ ไฟแนนเชียล ขยายแผนงานการเข้าถึงบริการทางการเงินทั่วโลก

ascend-money-punnamas

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ประกาศความร่วมมือกับบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป บริษัทในเครือบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป ที่ฮ่องกง เพื่อร่วมผลักดันการเติบโตของการใช้จ่ายแบบออนไลน์และออฟไลน์ และเป็นการสร้างระบบการให้บริการทางการเงินที่เข้มแข็ง สะดวก ปลอดภัย และมั่นใจได้ ให้กับผู้บริโภคและร้านค้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้บริโภคชาวไทย และในเอเชียอาคเนย์ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินที่ครอบคลุมและเท่าเทียม

 

 

เกี่ยวกับแอสเซนด์ มันนี่

พันธกิจของแอสเซนด์ มันนี่คือการให้โอกาสคนทุกคนให้เข้าถึงนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น แอสเซนด์ มันนี่เป็นผู้นำด้านธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ fintech ในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ชื่อของ ทรูมันนี่ สำหรับธุรกิจการชำระเงิน และแอสเซนด์ นาโน สำหรับธุรกิจเงินกู้รายย่อย แอสเซนด์ มันนี่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ และมีบริการใน 6 ประเทศ รวมไปถึงไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา โดยแอสเซนด์ มันนี่มุ่งเป้าไปที่ลูกค้าสองกลุ่มหลัก 1) กลุ่มผู้บริโภคยุคดิจิทัล ด้วยบริการแอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ 2) ลูกค้ากลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ด้วยเครือข่ายตัวแทนที่ใหญ่ ทั้งนี้ แอสเซนด์ มันนี่ให้บริการการชำระเงิน การโอนเงินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ การชำระบิล การเติมเงิน การชำระเงินแบบออนไลน์และออฟไลน์ และการจ่ายเงินเดือน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาไปที่เว็บไซต์ http://www.ascendcorp.com/money

เกี่ยวกับแอนท์ ไฟแนนเชียล

แอนท์ ไฟแนนเชียลมุ่งเน้นที่จะให้บริการธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม และประชาชนทั่วไป ด้วยพันธกิจที่จะนำความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่สวยงามมาสู่โลก แอนท์ ไฟแนนเชียลตั้งมั่นที่จะสร้างระบบเปิดของนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางอินเทอร์เน็ตใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกับสถาบันทางการเงิน เพื่อสนับสนุนความต้องการทางการเงินของสังคมอนาคต ธุรกิจในเครือของแอนท์ ไฟแนนเชียลรวมไปถึงอาลีเพย์ แอนท์ ฟอร์จูน ซีมา เครดิต และมายแบงก์ หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาไปที่เว็บไซต์ http://www.antfinancial.com หรือที่ทวิตเตอร์ @AntFinancial

from:https://www.techtalkthai.com/ascend-money-alibaba/

๋Jack Ma มาแล้ว! ANT FINANCIAL เข้าถือหุ้นใน Ascend Money 20% บุก e-Payment ไทย

img_0832
Jack Ma และเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์

หลังจากมีข่าวลือแบบชัดๆ มาพักใหญ่ๆ ในที่สุดการเจรจารายละเอียดก็ลงตัว ระหว่าง ANT FINANCIAL และ Ascend บริษัทในเครือ CP ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ Jack Ma และเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP พร้อมด้วย ศุกชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ ของ Ascend Group เดินทางไปด้วยตัวเอง

แสดงว่า ความร่วมมือครั้งนี้ยิ่งใหญ่แน่นอน

ANT FINANCIAL ผู้ให้บริการการเงินดิจิทัลรายใหญ่ในจีน ได้ประกาศแผนงานและความตกลงทางกลยุทธ์ธุรกิจร่วมกับ Ascend Group บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน รวมถึงการลงทุนของ ANT FINANCIAL ในบริษัท Ascend Money โดย ANT FINANCIAL จะเข้าถือหุ้น 20% และมีเงื่อนไขสามารถเพิ่มอีก 10% ได้ภายใน 2 ปี

Ant Financial บริษัทแม่ของ Alipay
Ant Financial บริษัทแม่ของ Alipay

การร่วมมือระหว่าง Ascend Money และ ANT FINANCIAL เพื่อร่วมผลักดันการเติบโตของการใช้จ่ายแบบออนไลน์และออฟไลน์ และเป็นการสร้างระบบการให้บริการทางการเงินที่เข้มแข็ง สะดวก ปลอดภัย และมั่นใจได้ ให้กับผู้บริโภคและร้านค้า โดยความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการลงทุนครั้งแรกกับบริษัทไทยของ ANT FINANCIAL และ Ascend Money เป็นพันธมิตรรายแรกในภูมิภาคนี้ และเป็นพันธมิตรรายที่สองของโลก ต่อจาก PayTM ของอินเดีย

ทำให้ Ascend Money ได้รับการสนับสนุนด้านกลยุทธ์และทางเทคนิค ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับโลกที่ ANT FINANCIAL ได้นำพาบริการ Alipay การชำระเงินและไลฟ์สไตล์โมบายล์ประสบความสำเร็จอย่างสูง และมีผู้ใช้งานมากที่สุดของจีน

ANT FINANCIAL พัฒนาระบบชำระเงินด้วย Big Data เพื่อควบคุมความเสี่ยง การนำระบบคลาวด์มาใช้งาน Ascend Money จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในประเทศไทย

img_0780
ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหาร Ascend Group

อีริค จิง ประธานคณะผู้บริหารของ ANT FINANCIAL บอกว่า ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และข้อมูล คือหลักสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายของ ANT FINANCIAL ในการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับทุกคนบนโลก เป้าหมายคือการขยายบริการสู่ผู้บริโภคกว่า 2,000 ล้านคนในสิบปีข้างหน้า

โดยการสร้างระบบเปิดกับพันธมิตรทั่วโลก ตลาดการชำระเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพที่สูงและการแข่งขันที่ยังน้อยอยู่ ANT FINANCIAL จะเข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมรายเล็กและรายย่อย และประชาชนทั่วไป ในการนำเสนอบริการทางการเงินที่ปลอดภัยและไว้ใจได้ และ Ascend Money ในฐานะผู้นำในประเทศไทย ก็พร้อมที่สุดที่จะสร้างระบบนวัตกรรมทางการเงินใหม่ในไทย

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ Ascend Group บอกว่า เป้าหมายหลักคือ การทำให้ทุกคนเข้าถึงนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น และการที่ทั้งสองบริษัทมีพันธกิจที่คล้ายกัน นำมาซึ่งความร่วมมือในวันนี้

img_0752
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ Ascend Group

ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหาร Ascend Group บอกว่า จุดมุ่งหมาย คือ ให้บริการนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ให้กับลูกค้าทั่วไปและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 100 ล้านรายในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2563 ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเร่งระบบและนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสร้างระบบการเงินที่เข้มแข็ง

สำหรับ Ascend Money เป็นผู้ให้บริการ FinTech ในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้ชื่อ True Money สำหรับธุรกิจการให้บริการด้านการเงิน และ Ascend Nano สำหรับธุรกิจเงินกู้รายย่อย โดยมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ และมีให้บริการใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาร์ และกัมพูชา เน้นลูกค้า 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้บริโภคยุคดิจิทัล ด้วยบริการแอพพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และลูกค้ากลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ด้วยเครือข่ายตัวแทนที่กว้างขวาง ให้บริการการชำระเงิน การโอนเงินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ การชำระบิล การเติมเงิน การชำระเงินแบบออนไลน์และออฟไลน์ และการจ่ายเงินเดือนแล้ว ในอนาคตจะมีบริการด้านเงินกู้ ประกันภัย และการลงทุน อีกด้วย

img_0844

ดักลาส ฟีกิน รองประธานอาวุโส บริษัท ANT FINANCIAL Services Group บอกว่า ANT FINANCIAL กำลังก้าวสู่ระดับโลก เพื่อให้บริการชาวจีนได้ดียิ่งขึ้น และเพื่อเปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันในการรับบริการทางการเงินทั่วโลก ดังนั้น การเสาะหาพันธมิตรจึงสำคัญสำหรับการเติบโตของบริษัท และหวังที่จะทำงานกับบริษัทที่มีพันธกิจเหมือนกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/jack-ma-antfinancial-partner-ascend-group/

Ascend Group แต่งตั้ง ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ Ascend Money

ascend-logo-1

Ascend Group (แอสเซนด์ กรุ๊ป) ประกาศแต่งตั้ง ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ เป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป

ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด บอกว่า คณะกรรมการของบริษัทฯ มีมติแต่งตั้งให้ ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด

ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) จาก University of Rochester ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ในธุรกิจการเงินมากกว่า 15 ปี

ascend-2
ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ // ขอบคุณรูปภาพจาก acnews.net

โดยเริ่มทำงานกับบริษัท จีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่แรก ดูแลรับผิดชอบงานในส่วนผลิตภัณฑ์เครดิตการ์ด และสินเชื่อบ้าน จากนั้นได้เข้าร่วมงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด มหาชน ดูแลในด้านงานบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) และได้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด ภายใต้แบรนด์ ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ หลังจากนั้น ได้เข้าร่วมงานที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ดูแลรับผิดชอบในส่วนงานลูกค้าบุคคล ก่อนมาร่วมงานกับ Ascend Group

การตัดสินใจเข้าร่วมงานตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (FinTech) ชั้นนำของประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทอยู่ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยมีบริษัทภายใต้บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด คือ บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด และ บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด โดยธัญญพงศ์จะเข้ามาบริหารงานในส่วนการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน กำหนดกรอบนโยบาย บริหารจัดการ และวางแผนการตลาดของทั้ง 2 บริษัท ให้เป็นไปตามนโยบายของกลุ่มบริษัทฯ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/ascend-group-appoint-new-md-ascend-money/