คลังเก็บป้ายกำกับ: 2016

แทรกแซงเลือกตั้งจริง? Twitter แบนสื่อรัสเซียไม่ให้ซื้อ AD แล้ว

Twitter ออกประกาศ “แบน” สื่อรัสเซียสองค่ายอย่าง Russia Today (RT) และ Sputnik จากการลงโฆษณาบนแพลตฟอร์มของ Twitter แล้วหลังปรากฏหลักฐานว่าทั้งสองค่ายนี้พยายามที่จะแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 โดยใช้ช่องทาง Social Network

โดย Twitter ออกมาชี้แจงว่า เป็นไปได้ที่การซื้อโฆษณาเหล่านั้นจะเป็นการปฏิบัติการในฐานะตัวแทนรัฐบาลรัสเซีย มีผลทำให้นับจากนี้ไป ทั้งสองสื่อจะถูกแบนไม่ให้ซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์ม Twitter ได้อีก อย่างไรก็ดี แอคเคาน์ของทั้งสองสื่อจะไม่ได้ถูกปิดลงแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นกฎของบริษัทในการให้บริการ

ส่วนรายได้ค่าโฆษณาที่ Twitter ได้มาจากทาง Russia Today นั้น ถึงตอนนี้ก็ไม่น้อยทีเดียว โดย Jack Dorsey ได้ทวีตเองว่ามีมูลค่าถึง 1.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 63,137,000 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทเปิดเผยว่าจะนำไปบริจาคเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง โดยจะเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนเร็ว ๆ นี้

แต่งานนี้ ทางผู้บริหารของ Russia Today ที่ดูแลด้าน Social media ก็ออกมาตอบโต้ว่า Twitter คงยังไม่ลืมเช่นกันที่เคยโน้มน้าวให้สื่อต่าง ๆ รวมถึง Russia Today ให้ลงโฆษณาในช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

โดยตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ต้องบอกว่าแพลตฟอร์มโฆษณาของสื่อ Social Media อย่าง Facebook และ Twitter ได้เผชิญกับการกดดันอย่างหนักทั้งจากสภาคองเกรส และประเทศในสหภาพยุโรปจำนวนมาก โดยเฉพาะเยอรมนี ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเช่นกัน

ความกังวลของประเทศเหล่านั้นคือ การเกรงว่าแพลตฟอร์มของ Facebook หรือ Twitter สามารถแปลงร่างกลายเป็นม้าเมืองทรอย ให้ประเทศฝ่ายตรงข้ามใช้แทรกแซงกิจการภายในได้ผ่านรูปแบบของการโฆษณานั่นเอง

โดยในส่วนของ Twitter เพื่อแสดงความจริงใจต่อเรื่องนี้ ทางบริษัทได้เปิดตัว Advertising Transparency Center สำหรับแสดงผลว่ามีโฆษณาตัวใดรันอยู่บนแพลตฟอร์มของ Twitter บ้าง มากไปกว่านั้นยังบอกได้ด้วยว่าใครคือเจ้าของโฆษณาเหล่านั้น รวมถึงระยะเวลาในการแสดงผล – กลุ่มเป้าหมายด้วย

 

นอกจากนี้ Twitter ยังระบุว่าบริษัทจะโฟกัสเป็นพิเศษที่โฆษณาทางการเมือง โดยเฉพาะโฆษณาที่มีการสนับสนุนผู้สมัครหรือพรรคแบบเฉพาะเจาะจง โดยในอนาคต รูปแบบการลงโฆษณาทางการเมืองอาจอยู่ในลักษณะเช่นนี้

สำหรับ Facebook เองก็ระบุว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดการลงโฆษณาของตนเองออกมาเช่นกัน

ที่มา: TechCrunch

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/10/twitter-ban-rt-sputnik-buy-ads/

เปิดตัวเลขภาพรวมตลาด e-Commerce ปี 2016 พบเติบโต 9.86%

นอกจากการเปิดพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยในปี 2017 แล้วนั้น ทาง ETDA ยังได้เปิดเผยผลสำรวจมูลค่า e-Commerce ในไทยปี 2559 พร้อมการคาดการณ์มูลค่า e-Commerce ปี 2560 ออกมาพร้อมกันด้วย โดยพบว่าในปี 2016 ตลาด e-Commerce ไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท คาดปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2,812,592.03 ล้านบาทหรือเติบโตเพิ่มขึ้น 9.86%

โดยมีกลุ่มประชากรในการสำรวจเป็นผู้ประกอบการทั้งสิ้น 592,996 ราย แบ่งมูลค่าตามลักษณะทางธุรกิจ ได้แก่ B2B, B2C และ B2G โดยผลการสำรวจดังกล่าวเมื่อแบ่งตามประเภทอุตสาหกรรมแล้วแบ่งได้ 8 กลุ่ม ดังนี้ อุตสาหกรรมการผลิต, อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง, อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก, อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร, อุตสาหกรรมการขนส่ง, อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ, อุตสาหกรรมการบริการด้านอื่น ๆ และอุตสาหกรรมการประกันภัย

โดยในปี 2016 ไทยมีมูลค่า e-Commerce ทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมูลค่า e-Commerce ประเภท B2B ประมาณ 1,542,167.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60.24% รองลงมาเป็นมูลค่าของประเภท B2C จำนวนมากกว่า 703,331.91 ล้านบาท หรือ 27.47% และส่วนที่เหลือราว 314,603.95 ล้านบาท หรือ 12.29% เป็นมูลค่าตามธุรกิจประเภท B2G”

เมื่อเทียบมูลค่า e-Commerce ของปี 2559 กับปี 2558 จะพบว่ามูลค่าของประเภท B2B มีการเติบโตขึ้น 15.53% เช่นเดียวกับประเภท B2C ที่โตขึ้น 37.91% แต่ประเภท B2G กลับมีอัตราการเติบโตลดลง 21.42% สืบเนื่องจากการยกเลิกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐโดยวิธี e-Auction ทำให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ใช้ข้อมูลมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2G ของปี 2559 ที่มาจากวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบ e-Market และ e-Bidding เท่านั้น

ในส่วนของการแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซตามประเภทอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม พบว่าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซสูงที่สุด ได้แก่

  • อันดับที่ 1 อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า e-Commerce 713,690.11 ล้านบาท (31.78%)
  • อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่า e-Commerce  607,904.89 ล้านบาท (27.07%)
  • อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า e-Commerce  428,084.73 ล้านบาท (19.06%)
  • อันดับที่ 4 อุตสาหกรรม ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร มีมูลค่า e-Commerce 384,407.71 ล้านบาท (17.12%)
  • อันดับที่ 5 อุตสาหกรรมการขนส่ง มีมูลค่า e-Commerce 83,929.05 ล้านบาท (3.74%)
  • อันดับที่ 6 อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิง และนันทนาการ มีมูลค่า e-Commerce 15,463.46 ล้านบาท (0.69%)
  • อันดับที่ 7 อุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ มีมูลค่า  e-Commerce 9,622.77 ล้านบาท (0.43%)
  • อันดับที่ 8 อุตสาหกรรมการประกันภัย มีมูลค่า e-Commerce 2,396.69 ล้านบาท (0.11%)

คุณสุรางคณา

สำหรับการคาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่า e-Commerce ปี 2017 เมื่อเทียบกับปี 2016 พบว่ามูลค่า 
e-Commerce ของไทยมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีมูลค่า
รวมประมาณ 2,812,592.03 ล้านบาทในปี 2017 เติบโตเพิ่มขึ้น 9.86%  ซึ่งมูลค่าขายนั้นส่วนใหญ่ยังเป็นมูลค่า e-Commerce ประเภท B2B จำนวน ทั้งสิ้น 1,675,182.23 ล้านบาท (59.56%) เพิ่มขึ้น 8.63% ส่วนมูลค่า e-Commerce ประเภท B2C ของปี 2560 จำนวน 812,612.68 ล้านบาท (28.89%) เพิ่มขึ้น 15.54% และมูลค่า e-Commerce ประเภท B2G จำนวน 324,797.12 ล้านบาท (11.55%) เพิ่มขึ้น 3.24%

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของมูลค่า e-Commerce ของไทยนั้น จากการสำรวของ ETDA พบว่ามีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

  • การสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายในประเทศ
  • การที่ผู้ประกอบการหันมาเพิ่มช่องทางการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทาง e-Commerce มากขึ้น
  • การเติบโตด้านตลาด e-Commerce ของไทยมีแนวโน้มและศักยภาพในการเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมากในอนาคต
  • การที่นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น อาทิ นักลงทุนจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย จึงช่วยสร้างบรรยากาศในการแข่งขันและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาขีดความสามารถของตัวเอง และยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย

ทั้ง ปัจจัย ผนวกกับการส่งเสริมจากนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล และโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอินเทอร์เน็ตและนวัตกรรมดิจิทัลล้วนส่งผลต่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในวันนี้ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพราะนอกจากจะส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ด้วยการที่ทุกชุมชนสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกมาขาย เพิ่มรายได้ครัวเรือนและรายได้ชุมชน ทั้งยังยกระดับคุณภาพชีวิตในแต่ละชุมชนแล้ว ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกให้กับไทยได้คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวสรุป

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/09/e-commerce-thailand-etda-2016-growth/

เปิดพฤติกรรม “แม่” ในหัวเมืองรองของต่างจังหวัดที่นักการตลาดควรรู้ จาก Mindshare (1)

ในขณะที่ข้อมูลของผู้บริโภคกลุ่ม “แม่” (Mom) ในเขตเมืองนั้นมีอยู่ทั่วไป แถมแบ่งกลุ่มหลากหลาย แต่กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ไม่ใช่ประเทศไทย และประชากรกลุ่ม “แม่” อีก 65% ในจังหวัดอื่น ๆ ก็มีความสำคัญ Mindshare เอเจนซีด้านการตลาดและการสื่อสารจึงได้มีการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มแม่ในสามจังหวัดหัวเมืองรอง ได้แก่ น่าน ชุมพร และบุรีรัมย์ ในชื่อ Mom Hunt 2016 และนำผลการศึกษามาแบ่งปันให้ได้ทราบกัน

คุณณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร ผู้อำนวยการวางแผนและพัฒนาธุรกิจ Mindshare กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการทำวิจัยครั้งนี้เพื่อสำรวจและทำความเข้าใจวิถีชีวิต บทบาท และแรงจูงใจของคุณแม่ในหัวเมืองรองต่อการเลือกซื้อของอุปโภคบริโภคเข้าบ้าน เพื่อให้นักการตลาดนำไปปรับกลยุทธ์การขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และเสริมด้วยการศึกษาโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) คุณแม่ที่มีลูกอายุระหว่าง 0 – 3 ปี, 3 – 6 ปี และ 6 – 12 ปี อาศัยในจังหวัดน่าน บุรีรัมย์ และชุมพร และเป็นครอบครัวฐานะปานกลาง เป็นเวลา 90 ชั่วโมง เพื่อทำความเข้าใจในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • แรงจูงใจต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทตามไลฟ์สไตล์ครอบครัว
  • การเฝ้าสังเกตการเสพสื่อของครอบครัว
  • การร่วมสังเกตพฤติกรรมการเลือกซื้อของเข้าบ้าน

โดยสิ่งที่พบได้มากที่สุดคือคุณแม่ในหัวเมืองรองนั้นให้ความสำคัญกับการปรับหลักการเลี้ยงลูกจากรุ่นสู่รุ่น และเปิดรับการเลี้ยงดูแนวใหม่จากสื่ออินเทอร์เน็ตให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของตนเอง นอกจากนี้ แม่ในต่างจังหวัดยังเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และเลือกเสพสื่อตามที่ตนเองสนใจ รวมถึงเปิดรับข้อมูลจากชุมชนผ่านทาง Facebook ด้วย

“การทำวิจัยครั้งนี้เราเจาะจงศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคที่เรียกตัวเองว่าแม่ เนื่องจากเป็นผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนและแตกต่างอย่างมีจุดร่วม แม่ในปัจจุบันไม่เพียงแต่มีบทบาทหลักในการเลี้ยงลูก แต่ยังจัดการดูแลสิ่งต่าง ๆ ภายในบ้าน และยังเป็นบุคคลสำคัญในการตัดสินใจซื้อของเข้าบ้านอีกด้วย” คุณณัฐากล่าว

โดยการศึกษาของ Mindshare พบมิติของความเป็นแม่ในหัวเมืองรอง ดังต่อไปนี้

1.ความสุขของแม่ในหัวเมืองรองนั้น “เรียบง่าย”

Mindshare พบว่า ความสุขของแม่ที่อาศัยอยู่ตามหัวเมืองรองนั้นเรียบง่าย ขอแค่ลูกมีความสุข แม่ก็มีความสุขแล้ว นอกจากนี้ การได้อยู่ท่ามกลางครอบครัวที่ใกล้ชิดก็เป็นความสุขของแม่กลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งรูปแบบอาจเป็นการตื่นเช้าไปตลาด ได้พบปะทักทายกับเพื่อนบ้านหรือคนรู้จักในตลาด การเข้าร่วมงานเทศกาลที่จัดขึ้นในท้องถิ่น ฯลฯ เป็นต้น

ซึ่งความสุขของลูกนั้นอาจเป็นการไปรับประทานอาหารอาหารฟาสต์ฟู้ดด้วยกันในโอกาสพิเศษ หรือการได้มีของเล่นที่หาซื้อไม่ได้จากในท้องถิ่นนั้น ๆ อีกประการหนึ่งที่ Mindshare พบก็คือ แม่กลุ่มนี้มองว่าเงินคือใบเบิกทางสู่ความสุข และให้ความสนใจกับการซื้อสลากกินแบ่ง

2. แม่ในหัวเมืองรองนั้นทุ่มเทเพื่อลูกไม่แพ้ใคร

Mindshare พบว่า แม่ในหัวเมืองรองนั้นสามารถทุ่มเททำสิ่งต่าง ๆ เพื่อลูกได้ไม่แพ้ใคร ในจุดนี้คุณณัฐาเล่าว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ได้พบเห็นคุณแม่หลายบ้านที่เสื้อผ้าของตัวเองนั้นใส่อะไรก็ได้ เก็บตรงไหนก็ได้ แต่กับของลูกนั้น หลายคนได้จัดตู้เสื้อผ้าให้ลูกเป็นการเฉพาะ โดยให้เหตุผลว่าจำมาจากในทีวี และคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อลูก

นอกจากนั้นยังพบว่าบางบ้านมีการจัดโซนห้องของเล่นของลูกเป็นพิเศษ และเมื่อมีเด็ก ๆ ในละแวกบ้านให้ความสนใจมาขอเล่นกับลูกของเธอ ก็ทำให้แม่กลุ่มนี้รู้สึกพอใจที่ลูกของตนเองโดดเด่นกว่าเด็กคนอื่นในชุมชนด้วย

ในด้านการเลี้ยงลูกนั้น Mindshare พบว่า Influencer, เซเลบ หรือกุมารแพทย์นั้นอาจมีอิทธิพลไม่เท่าคนรอบตัวของพวกเธอเอง เช่น แม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน โดยเฉพาะแม่ของตัวเอง เนื่องจากแม่ในหัวเมืองรองจะมองว่า แม่ของตัวเองนั้นเลี้ยงพวกเธอมา ขณะที่เซเลบหรือกุมารแพทย์มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกว่ามาก ดังนั้น Words of mom จึงมีผลต่อการตัดสินใจของแม่ในหัวเมืองรองได้มากกว่า

อย่างไรก็ดี ในบางพื้นที่ การใช้เซเลบก็ได้ผลดี ยกตัวอย่างเช่น ปอ-ทฤษฎี ที่มีอิทธิพลต่อคนบุรีรัมย์ เป็นต้น

ติดตามตอน 2 ได้เร็ว ๆ นี้ค่ะ

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/05/mindshare-local-mom-behavior-part-1/

DAAT Awards ประกาศแล้ว “Digital People of the Year 2016” ใน 9 สาขา

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ Digital Advertising Association Thailand (DAAT) ประกาศแล้ว รางวัลเพื่อคนดิจิทัลเอเจนซีครั้งแรกของวงการ ภายใต้ชื่อ “DAAT Awards 2016” พร้อมใช้เวทีดังกล่าวชูความสามารถคนเบื้องหลังใน 9 สาขา

จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสื่อโฆษณาดิจิทัลที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างสูงในวงการสื่อโฆษณาของประเทศไทย ด้วยเม็ดเงินที่มีการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมดังกล่าวกว่า 9,000 ล้านบาทในปี 2016 ที่ผ่านมา และอาจแตะ 10,000 ล้านบาทในปีนี้ ทางสมาคมโฆษณาดิจิทัลจึงได้จัดให้มีการประกวดบุคคลโฆษณาดิจิทัลยอดเยี่ยมแห่งปี 2559 เพื่อเป็นกำลังใจของคนทำงานเบื้องหลัง และนำไปสู่การประกาศผลรางวัลครั้งสำคัญนี้ในที่สุด

โดยทางสมาคมโฆษณาดิจิทัลได้มีการแบ่งประเภทรางวัลเป็น 9 สาขา ดังนี้

1. Agency Head of the year

2. Creative of the year

3. Young Achiever of the year

4. Channel/Engagement/Digital Media Planner of the year

5. Client Service of the year

6. New Business Development of the year

7. Strategic/Brand Planner of the year

8. Technology/Developer of the year

9. Community Manager of the year

 

โดยแต่ละสาขาจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ Gold, Silver และ Bronze ซึ่งผลการตัดสินมีดังต่อไปนี้

1. Agency Head of the year

Gold Award : คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ จาก mInteraction

Silver Award : คุณปัทมวรรณ สถาพร จาก WPP (Thailand) – MindShare

Bronze Award : คุณโศรดา ศรประสิทธิ์ จาก Brilliant & Million Communication and Online Agency

2. Creative of the year

Gold Award : คุณนรนิติ์ ยาโสภา จาก Rabbit’s Tale

Silver Award : คุณฐิติพันธ์ ทับทอง  จาก Brilliant & Million Communication and Online Agency

Bronze Award : คุณเชษฐชาย ช้างแก้ว จาก mInteraction

3. Young Achiever of the year

Gold Award : คุณสโรจ เลาหศิริ จาก Rabbit’s Tale

Silver Award : คุณกนกพร กุลศรี จาก Brilliant & Million Communication and Online Agency

Bronze Award : คุณอภิรดา ลังประเสริฐ จาก UM Thailand และคุณเกริก สถิรวงศ์วรรณ จาก WPP (Thailand) – MindShare

4. Channel/Engagement/Digital Media Planner of the year

Gold Award : คุณการันต์ ตันสุธัญลักษณ์ จาก Publicis One – Starcom MediaVest Group

Silver Award : –

Bronze Award : –

5. Client Service of the year

Gold Award : –

Silver Award : คุณสุบรรณ มณีมูล จาก mInteraction

Bronze Award : –

ส่วนในประเภทที่ 6 – 9 นั้นพบว่า ไม่มีผู้ที่ผ่านเกณฑ์ จึงไม่มีการประกาศผลการตัดสิน ซึ่งนายศุภชัย ปาจริยานนท์ เผยว่า การจัดงานครั้งนี้ต้องการโฟกัสไปที่บุคลากร เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด จึงอยากให้อุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลมาร่วมกันสนับสนุนส่งเสริม ให้กำลังใจกลุ่มคนทำงานผ่านรางวัลเกียรติยศในครั้งนี้ โดยเรามีเป้าหมายคือการผลักดันให้รางวัลนี้เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุดในวงการดิจิทัลประเทศไทย

อย่างไรก็ดี นายศุภชัยยังได้คาดการณ์ถึงการมอบรางวัลในปีหน้า (2017) ว่า สาขาอย่างเช่น Technology/Developer of the year นั้นคาดว่าจะมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมมากขึ้น เนื่องจากในปีนี้มองเห็นเทรนด์การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่หลากหลายมากนั่นเอง

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/04/daat-award-2016/

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ทั้งปี 2016 นักการตลาดสูญเงิน 7.4 พันล้านดอลล์ไปกับโฆษณาไร้คุณภาพ

เหรียญยังมี 2 ด้าน โฆษณาก็มีทั้งที่คุณภาพคับแก้วและที่ไร้ประสิทธิภาพ ล่าสุดการสำรวจของบริษัทวิจัย Forrester พบว่านักการตลาดสูญเงินไปมากกว่า 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐไปกับโฆษณาไร้คุณภาพตลอดทั้งปี 2016 ถือเป็นมูลค่ามหาศาลแม้ว่าการสำรวจจะจำกัดเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

ทีม ForecastView ในเครือ Forrester Research ประเมินว่าตลอดปีที่ผ่านมา นักการตลาดในสหรัฐฯเสียเงินกว่า 7,400 ล้านเหรียญไปกับโฆษณาออนไลน์ที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยราวครึ่งหนึ่งหรือ 56% เป็นโฆษณาที่ไม่มีใครเปิดชมหรือเป็นโฆษณาที่นักการตลาดถูกฉ้อโกง

การสำรวจของ ForecastView พบว่าสาเหตุหลักของการสูญเงินไปกับโฆษณาไร้ประสิทธิภาพคือความไม่โปร่งใสบนโลกการตลาดดิจิทัล แม้ในรายงานจะไม่ระบุชัด แต่หลายคนนึกถึงความผิดพลาดของระบบวัดผลในหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งล้วนทำให้นักการตลาดมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าที่ควร

ForecastView มองว่าเม็ดเงินที่จะสูญไปกับโฆษณาไร้คุณภาพมีแนวโน้มขยับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเบื้องต้น Forrester พยากรณ์ว่ามูลค่าเม็ดเงินสะพัดในวงการโฆษณาไร้คุณภาพอาจพุ่งเป็น 1.09 หมื่นล้านเหรียญในปี 2021 ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่เม็ดเงินในวงการโฆษณาเพิ่มขึ้นเท่าตัว

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การสำรวจพบว่าโฆษณาดิจิทัลกว่า 36% ของทั้งหมดยังมีปัญหาเรื่องการไม่สามารถเปิดชมได้ (หรือการไม่มีใครเปิดชม) โฆษณาประเภทนี้อยู่ในพื้นที่ตาบอดที่ไม่มีใครมองเห็น ซึ่งยังเป็นปัญหาที่นักการตลาดต้องตระหนัก และป้องกันได้ด้วยการเลือกผู้ให้บริการที่มีมาตรฐาน

นอกจากนี้ นักการตลาดยังควรต้องไล่ตามกระบวนการซื้อสื่อออนไลน์ให้ทัน จุดนี้การสำรวจพบว่าเพียง 37% ของนักการตลาดภาคธุรกิจสู่ผู้บริโภคหรือ business-to-consumer marketer เท่านั้นที่เชื่อว่าตัวเองรู้จักการตลาดดิจิทัล สัดส่วนนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับเม็ดเงินมหาศาลที่จะถูกลงทุนในช่องทางนี้

ที่มา: MarketingDive

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/04/low-quality-ads-2016/

DAAT เผยงบโฆษณาดิจิทัล 2559 แตะ 9,477 ล้านบาท คาดปี 2560 ทะลุหมื่นล้าน

 

 

 

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ร่วมกับ กันตาร์ ทีเอ็นเอส (ไทยแลนด์) บริษัทวิจัยชั้นนำเผยผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของปี 2559 – 2560 จาก 25 ดิจิทัลเอเจนซียักษ์ใหญ่แล้ว โดยผลการสำรวจในเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่า งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลในปี 2559 มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่ารวมกว่า 9,477 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี ก่อน 17% และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 24% ในปี 2560 

ผลสำรวจพบว่า ประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมทที่ใช้งบโฆษณากับสื่อดิจิทัลมากที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2559 ได้แก่

  1. กลุ่มสื่อสาร 1,011 ล้านบาท
  2. กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ 833 ล้านบาท
  3. กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว 798 ล้านบาท
  4. กลุ่มยานยนต์ 733 ล้านบาท
  5. กลุ่มผลิตภัณฑ์ แดรี่โปรดักส์ (ผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตจากนม) 488 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมทที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลเพิ่มในมูลค่าสูงที่สุดเทียบจากปี 2558 ได้แก่

  1. กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 482 ล้านบาท
  2. กลุ่มเครื่องสำอาง ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 245 ล้านบาท
  3. กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 203 ล้านบาท

คาดการณ์ 2560 งบปรับเพิ่ม 24% แตะหมื่นล้านบาท

สำหรับปี 2560 นั้นมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มที่เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลจะปรับตัวสูงขึ้นอีก 24%  ซึ่งจะทำให้มูลค่าตลาดสื่อโฆษณาดิจิทัล แตะหนึ่งหมื่นล้านบาท (ราว 11,774 ล้านบาท) ภายในเวลาเพียง 6 ปีที่เริ่มทำการสำรวจ

โดยมีการคาดการณ์ว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอาจมีการใช้งบโฆษณาดิจิทัลมากเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากผลิตภัณฑ์กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมีการแข่งขันกันอย่างสูง และช่องทางโฆษณาดิจิทัลเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งคาดว่าจะมีการใช้จ่ายสูงถึง 1,089 ล้านบาท แซงหน้ากลุ่มสื่อสารที่ครองแชมป์มาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้

นอกจากนี้ กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ เป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามองในปี 2560 เนื่องจากได้มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในปี 2559 สูงถึง 833 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าในปี 2558 ที่ 351 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 137% และคาดการณ์ว่าจะยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2560 ด้วย

Facebook ครองแชมป์สื่อดิจิทัลยอดฮิต

ในส่วนของการสำรวจประเภทสื่อดิจิทัลในปี 2559 ที่ผ่านมาพบว่า Facebook ยังคงครองแชมป์ได้อย่างเหนียวแน่น โดยครองส่วนแบ่งงบโฆษณาดิจิทัลสูงที่สุดต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่สอง คิดเป็นส่วนแบ่งสูงถึง 29% หรือเท่ากับงบโฆษณาดิจิทัล 2,711 ล้านบาท

อันดับสองคือ YouTube ที่ครองส่วนแบ่ง 16% คิดเป็นเม็ดเงิน 1,526 ล้านบาท ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ยังคงเห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของทั้ง Facebook และ YouTube

ส่วนอันดับสามคือ Display ที่ครองส่วนแบ่ง 15% คิดเป็นเม็ดเงิน 1,461 ล้านบาท อย่างไรก็ดี แม้ว่า Display จะครอบครองส่วนแบ่งงบโฆษณาดิจิทัลเป็นอันดับที่สามในปี 2559 แต่แนวโน้ มของการใช้สื่อประเภทนี้ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง ซึ่งต้องรอดูว่าในปี 2560 นี้ สื่อ Display จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด


นายศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่าปี 2560 สื่อโฆษณาดิจิทัลยังเติบโตเป็นเลขสองหลัก และปี 2560 จะเป็นปีที่สื่อโฆษณาดิจิทัลจะก้าวผ่านตัวเลขทางจิตวิทยาที่สำคัญคือ 10,000 ล้านบาท ด้วยปัจจัยประกอบกันทั้งด้านเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ผู้บริโภคใช้เวลากับสื่อดิจิทัลมากขึ้น และแบรนด์ต่างๆก็ลงทุนกับสื่อ ดิจิทัลมากขึ้น ทำให้เรามั่นใจว่า ปีนี้จะเป็นอีกปีที่สื่อดิจิทัลจะเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความท้าทายของนักการตลาดคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนดังกล่าวได้คุ้มค่า ในขณะที่คู่แข่งเองก็หันลงมาเล่นกับสื่อดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร อุปนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) และประธานคณะกรรมการจัดทำรายงานวิจัยสำรวจมูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล กล่าวว่า ปีนี้เรายังคงเห็นการเติบโตของสื่อโฆษณาดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ในแง่ของเม็ดเงิน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เช่น กลุ่มสื่อสาร หรือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว

“จากการรวบรวมความคิดเห็นจากเอเจนซีผู้นำทั้งหลายในเมืองไทย ให้ความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า สื่อออนไลน์ได้กลายมาเป็นสื่อหลักที่ใช้เป็นเครื่องมือในการทำการตลาดอย่างแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม”

ดร.อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กันตาร์ อินไซท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลการสำรวจทำให้เห็นแนวโน้มการใช้สื่อโฆษณาดิจิทัลของนักการตลาดปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสื่อดิจิทัลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถกล่าวได้ว่า สื่อโฆษณาดิจิทัล เป็นสื่อที่จะมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และจะมีบทบาทมากขึ้นในยุคการตลาด 4.0 ที่โลกดิจิทัลเป็นสิ่งที่คนทุกระดับสามารถจับต้อง และเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ยังทำให้เห็นว่ารูปแบบของการโฆษณาดิจิทัลก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม (Right Target at the Right Time) มากขึ้นกว่าการทำโฆษณาใน ยุค 2.0 และ 3.0 ที่ผ่านมา ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่นักการตลาดจะต้องอัพเดทสื่อโฆษณาดิจิทัลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สื่อดิจิทัลประเภทต่างๆ ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเป็นแนวทาง (Guideline) ในการวางแผนสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในงบประมาณที่เหมาะสม


นายกิตติ เศรษฐวีรวัฒน์ ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยี และดิจิทัล บริษัท กันตาร์ ทีเอ็นเอส (ไทยแลนด์) ผู้รับผิดชอบโครงการสำรวจมูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลายโดย 80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใน ประเทศไทยใช้ Smartphone เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (อ้างอิงข้อมูลจาก Connected Life)
ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่อยู่ที่ 65% เท่านั้น ทุกวันนี้เราจึงสามารถพบเห็นพฤติกรรมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้คนแทบจะตลอดทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอน กระทั่งเข้านอน พฤติกรรมดังกล่าวของผู้บริโภค ส่งผลให้การบริโภคสื่อดิจิทัลมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น และทำให้สื่อดิจิทัลมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากขึ้นกว่าในอดีต

สำหรับผู้สนใจรายงานฉบับเต็มพร้อมด้วยข้อมูลดิบสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2560 เป็ นต้นไป ที่ www.tnsglobal.com

 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/03/daat-reveal-digital-advertising-budget-2016-and-market-forcast-2017/

สรุปความความเคลื่อนไหวในแวดวงการตลาดดิจิทัลประจำเดือนกุมภาพันธ์

สวัสดีค่ะ อีกไม่นานก็จะก้าวเข้าสู่เดือนมีนาคมกันแล้ว ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่กำลังจะหมดลงนี้ นอกจากข่าวคราวที่เราได้นำเสนอไปแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวในแวดวงการตลาดและดิจิทัลมากมายทีเดียวค่ะ โอกาสนี้ทีมงานเลยจะขอรวบรวมข่าวและเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวเหล่านั้นมาฝากกันนะคะ

ครั้งแรกกับวงการ กับการประกวด DAAT Awards 2016 รางวัลบุคคลโฆษณาดิจิทัลยอดเยี่ยมแห่งปี 2559

ขอเริ่มต้นกันที่สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ค่ะ โดยปีนี้ เป็นปีที่มีคาดการณ์ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2560 จะโตขึ้น 10% เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น และสื่อโฆษณาดิจิทัลยังคงครองตำแหน่งการเติบโตในเม็ดเงินการลงทุนสูงสุด  เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หันมาเสพสื่อผ่านทางอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้นนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ทางสมาคมฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญ และได้จัดการประกวดสื่อโฆษณาดิจิทัล ‘DAAT Awards 2016 รางวัลบุคคลโฆษณาดิจิทัลยอดเยี่ยมแห่งปี 2559’ ขึ้น เพื่อมอบรางวัลให้แก่บุคคลในวงการโฆษณาดิจิทัลที่มีผลงานโดดเด่น และเพื่อสร้างคุณค่าให้กับบุคลากรได้เกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตน การประกวดบุคคลโฆษณาดิจิทัลยอดเยี่ยมครั้งนี้แบ่งออกเป็น 9 สาขา ได้แก่

• ประเภทบุคคล DIGITAL PEOPLE OF THE YEAR
1. Agency Head of the Year
2. Creative of the Year
3. New Business Development of the Year
4. Strategic/Brand Planner of the Year
5. Channel/Engagement/Digital Media Planner of the Year
6. Technology/Developer of the Year
7. Young Achiever of the Year
8. Client Service of the Year
9. Community Manager of the Year

รางวัลการประกวด แบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้ คือ โกลด์ (Gold) ซิลเวอร์ (Silver) และบรอนซ์ (Bronze)

คณะกรรมการตัดสิน คณะกรรมการตัดสิน ประกอบด้วย ผู้บริหารองค์กร และนักการตลาดอาวุโสจากประเภทธุรกิจต่างๆที่สำคัญในประเทศไทย อาทิ คุณรวิศ หาญอุตสาหะ (ศรีจันทร์)
คุณวรวุฒิ อุ่นใจ (B2S)
คุณเสาวนีย์ วงศาพิพัฒน์ (L’Oreal Thailand)
คุณพิมจันทร์ วิมุกตานนท์ (FrieslandCampina)
คุณจิตราวิณี วรรณกร (KBank)
คุณจันทร์เพ็ญ จันทนา (SCB)
คุณยุทธนา จิตจรุงพร (Tesco Lotus)
คุณอนัตตา โชติปัญจรัตน์ (Big C)
คุณอรรถวดี จิรามณีกุล (Minor)
คุณธีรวิทย์ ชัยภมร (PepsiCo)
คุณยุธยา สังค์นาค (FWD)
คุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ (ททท.)
คุณวรรณิภา ภักดีบุตร (โอสถสภา)
คุณอัญชัน สันติไชยกุล (TRUE)
คุณกุลภัทร เวปุลละ (Coca-Cola)
คุณพงศกร คอวนิช (AIS)
คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร (SCB)

เอเจนซี่โฆษณาหรือผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจ สามารถส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดได้ โดยระยะเวลาของผลงานต้องอยู่ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2559 เท่านั้น ผู้ที่สนใจสามารถสมัครผ่านทางเว็บไซต์ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2560 หรือสามารถคลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.daatawards.com หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 090-656-2436 ค่ะ

QueQ เจาะตลาดอีคอมเมิร์ซ! เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ TakeAway 

เอ่ยชื่อ QueQ เชื่อว่ากลุ่มคนยุคใหม่รู้จักกันเป็นอย่างดี ล่าสุด QueQ เปิดตัว TakeAway สำหรับให้ผู้บริโภคสั่งอาหารล่วงหน้ากันแล้ว โดยจับมือกับสองร้านอาหารชื่อดัง บาร์บีคิวพลาซ่า และฮ็อทสตาร์ พร้อมตั้งเป้าขยายฐานพาร์ทเนอร์ Takeaway ให้ได้ 1,000 ร้านค้าภายในสิ้นปีนี้ด้วย

คุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท คิวคิว จำกัด  กล่าวว่า “การเปิดตัวคุณสมบัตินี้เกิดขึ้นเนื่องจากเรามองเห็นแทรนด์การเติบโตอย่างรวดเร็วของพฤติกรรมผู้บริโภคในการนำเอาเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลมาช่วยอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ของการใช้ชีวิต โดยการสั่งซื้ออาหารผ่านแอปพลิเคชั่นนั้น QueQ ได้จับมือกับร้านอาหารสองแบรนด์ดัง ได้แก่ บาร์บีคิวพลาซ่าและฮ็อทสตาร์ ซึ่งผู้ใช้แอปพลิเคชั่น QueQ ทุกคนจะสามารถสั่งอาหารแบบกลับบ้านได้ล่วงหน้า และเมื่ออาหารเสร็จก็จะได้รับแจ้งเตือนเพื่อให้มารับอาหารที่ร้าน ไม่ต้องเสียเวลามายืนรอ”

โดยบาร์บีคิวพลาซ่าเลือกเอาเมนูยอดฮิตสำหรับกลุ่มคนต่างๆ จำนวน 3 เมนู ได้แก่ เยอรมันเบคอน เบคอน และคามะจัง มาบรรจุในเพ็จเกจพิเศษเพื่อให้ลูกค้าได้สั่งกลับบ้านพร้อมน้ำจิ้มรสชาติเอกลักษณ์ของบาร์บีคิวพลาซ่าแถมไปพร้อมกันในซองด้วย ผู้ใช้บริการสามารถสั่งอาหารล่วงหน้ากลับบ้านได้ที่ร้านอาหารบาร์บีคิวพลาซ่าจำนวน 25 สาขา เริ่ม 15 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2560 นี้

ด้านเมนูที่ฮ็อทสตาร์นำเข้ามาร่วมรายการภายใต้คุณสมบัติ Takeaway ครั้งนี้ มีด้วยกัน 3 รายการ ได้แก่ 1.เซตเมนูไก่ทอดไซส์ XXL รสชาติใดก็ได้ 1 ชิ้น พร้อมเครื่องดื่มฮ็อทสตาร์เลมอนเนด 1 แก้ว ในราคาเพียง 179 บาท 2. เซตชิคกี้ พิซซ่า ชิ้น พร้อมเครื่องดื่มฮ็อทสตาร์เลมอนเนด 1 แก้ว ในราคาเพียง 95 บาท และ 3. ไก่ทอดไซส์ XXL รสชาติใดก็ได้ 1 ชิ้น ราคา 139 บาท โดยสามารถใช้บริการสั่งอาหารล่วงหน้าผ่านฟีเจอร์ Takeaway ได้ที่ร้านฮ็อทสตาร์สาขาที่ร่วมรายการสาขาแรกที่เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ชั้น G ตั้งแต่วันที่ 15 – 31 มีนาคม 2560

สุดท้ายกับคุณทิวา ยอร์ค (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและเฮดโค้ชของ Kaidee ที่ได้มอบเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 100,000 บาท ผ่านทางกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ให้กับนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ (ที่ จากซ้าย) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเงินจำนวนดังกล่าวมาจากก่อนหน้านี้ทาง Kaidee ได้ชวนผู้ใช้งาน Kaideeร่วมลงประกาศขายของที่ไม่ได้ใช้ และ Kaidee จะร่วมบริจาคประกาศละ 10 บาท ซึ่งสามารถรวบรวมยอดเงินตามจำนวนดังกล่าว และย้ำว่า Kaidee พร้อมจะเป็นแพลตฟอร์มตัวกลาง หากมีผู้บริจาคของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยชาวใต้อย่างต่อเนื่องค่ะ

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/02/summary-pr-news-february-2017/

Alibaba นับถอยหลังยอดผู้ใช้ทะลุ 500 ล้านคน

เปิดสถิติสุดทึ่งของอาณาจักรออนไลน์ช้อปปิ้งของ Jack Ma ล่าสุดมีผู้ใช้งานตลาดออนไลน์ของเจ้าพ่อแดนมังกรรายนี้มากกว่า 493 ล้านคนผ่านอุปกรณ์พกพาทุกเดือน เพิ่มขึ้นจาก 393 ล้านคนในปลายปี 2015

เจ้าพ่อ Alibaba เปิดเผยตัวเลขนี้ในงานแถลงผลประกอบการล่าสุดของบริษัท โดย Taobao และ Tmall เป็นตลาดที่มีผู้ซื้อประจำหรือ active buyer รวมกันมากกว่า 443 ล้านรายต่อปี เพิ่มขึ้นชัดเจนจาก 407 ล้านคนที่เคยสำรวจได้ในปีที่แล้ว

อีกจุดที่น่าสนใจคือ Alibaba สามารถทำรายได้เฉลี่ย 35 เหรียญสหรัฐต่อลูกค้า 1 คน (ราว 1,200 บาท) ถือเป็นยอดเงินที่ไม่ธรรมดา

เบ็ดเสร็จแล้ว Alibaba ระบุว่าไตรมาส 4 ของปี 2016 (ตุลาคม-ธันวาคม) บริษัทสามารถทำรายได้สุทธิ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ บนรายได้รวมที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 54% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ประเด็นสำคัญที่สุดที่น่าจับตามองใน Alibaba คือการเติบโตของธุรกิจต่างประเทศ งานนี้ Alibaba โชว์ตัวเลขจากธุรกิจค้าปลีกต่างประเทศ (international retail business) ว่าเพิ่มขึ้นกว่า 288% คิดเป็นรายได้มากกว่า 357.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตัวเลขนี้อาจธรรมดาเมื่อเทียบกับการวิเคราะห์ที่พบว่าปี 2017 นี้ ประชากรจีนราว 19.1% จะมีการจับจ่ายซื้อสินค้าต่างประเทศมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนักวิเคราะห์ของ Emarketer ประเมินไว้ว่าจะทำให้เม็ดเงินมหาศาลไหลหมุนเวียนในตลาดโลกอย่างคึกคัก

ที่มา: TechinAsia

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/01/alibaba-revenues-q4-2016/

Google ลงดาบ “Bad Ads” 1.7 พันล้านชิ้นปี 2016

โฆษณาชั้นเลวหรือ Bad Ads นั้นเป็นชื่อเรียกรวมโฆษณาที่นักต้มตุ๋นหรือบรรดา scammer ใช้ล่อลวงให้นักท่องเน็ตหลงกลคลิกอ่านหรือดำเนินการตามสิ่งที่ต้องการ ล่าสุด Google ประกาศแล้วว่าได้กำจัดโฆษณากลุ่มนี้มากกว่า 1,700 ล้านชิ้นในปี 2016 ที่ผ่านมา ถือเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นกว่าปี 2015 ราว 2 เท่าตัว

ย้อนไปเมื่อปี 2015 เจ้าพ่อเสิร์ชเอนจินอย่าง Google ประกาศบล็อกโฆษณาชั้นเลวราว 780 ล้านชิ้นเพื่อยกระดับให้ตัวเองเป็นแพลตฟอร์มโฆษณาคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้กลายเป็นเศษฝุ่นเพราะโฆษณากลุ่ม Bad Ads มีจำนวนเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด

เบื้องต้น Google ให้ข้อมูลว่าหนึ่งในกลลวงที่พบมากที่สุดใน Bad Ads คือการโหลดมัลแวร์ในรูปคำเตือนปลอม (กลลวงนี้อยู่ในกลุ่ม “trick to click” หรือการลวงให้คลิก) ซึ่งทำให้ผู้ใช้หลงเชื่อว่าคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่กำลังพบปัญหา และการคลิกที่โฆษณานี้จะทำให้เครื่องกลับมาปกติอีกครั้ง

จากการสร้างระบบขึ้นมาเพื่อตรวจจับ Bad Ads ประเภทนี้ Google ระบุว่าสามารถตรวจจับและระงับบริการโฆษณามากกว่า 112 ล้านชิ้น ถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 6 เท่าตัวจากปีที่แล้ว

Bad Ads กลุ่มใหญ่ถัดมาคือกลุ่มโฆษณากิจกรรมหรือสินค้าผิดกฏหมาย ได้แก่ โฆษณาด้านการพนัน 17 ล้านชิ้นที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ และโฆษณาสินค้าด้านสุขภาพ 68 ล้านชิ้นที่เข้าข่ายผิดกฏหมาย ทั้งหมดนี้ถูกระงับกำจัดราบคาบ

ยังมีโฆษณากลุ่มที่เรียกกันว่า ‘tabloid cloakers’ โฆษณาที่ใช้เรื่องราวข่าวเหลือเชื่อมาเรียกความสนใจ แต่เมื่อคลิกไปแล้วจะไม่ได้ปรากฏหน้าข่าว กลับพบหน้าเพจจำหน่ายสินค้าลดความอ้วนแทน จุดนี้ Google ระบุว่าได้แบน 1,300 บัญชีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการลงโฆษณาสินค้ากลุ่มนี้ไปเรียบร้อย

ที่มา: NDTV

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/01/google-bad-ads-2016/

เปิดทำเนียบ 10 แอปพลิเคชันทำเงินสูงสุดปี 2016

2016-top-apps-hero

LINE ขวัญใจนักแชตของไทยติด 1 ใน 10 แอปพลิเคชันที่สามารถทำเงินรายได้มากที่สุดปี 2016 (ในกลุ่มแอปที่ไม่ใช่เกมหรือ Non Game) โดยแอปดูหนังฟังเพลงอย่าง Spotify, Netflix, Pandora และ HBO NOW ต่างครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของตารางเพราะสามารถเรียกเงินจากกระเป๋าของผู้ใช้สมาร์ทโฟนได้มากที่สุด

รายงานจาก Sensor Tower พบว่าในช่วงปีที่ผ่านมา Spotify คือแอปพลิเคชันที่สามารถทำรายได้มากที่สุดในโลก ความน่าสนใจคือแม้ Spotify จะครองแชมป์เฉพาะในกลุ่มแอปบนร้าน iTunes App Store แต่ก็สามารถทำเงินได้มากที่สุดในภาพรวม

แชมป์บนร้าน Google Play คือแอปพลิเคชันแชตอย่าง LINE กลับกลายเป็นแอปพลิเคชันที่ทำเงินได้มากเป็นอันดับ 2 ในภาพรวม ตามมาด้วย Netflix, Tinder, Pandora และ HBO NOW

2016-top-apps-by-revenue

สิ่งที่เราสามารถสรุปได้จากข่าวนี้มีหลายแง่มุม หนึ่งคือบริการสตรีมมิงเพลงและรายการทีวีนั้นกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นชัดเจน เท่ากับว่ามีโอกาสสูงที่ฐานสมาชิกบริการสตรีมมิงที่แน่นขึ้นแสดงว่าทีวีอาจมีผู้ชมน้อยลง และอีกหนึ่งแง่มุมคือแอปพลิเคชันที่ทำเงินก็ยังมีความท้าทายสูง

ประเด็นหลังเห็นได้ชัดจากการประกาศของ Pandora แอปพลิเคชันที่สามารถทำเงินได้มากที่สุดอันดับ 5 ของโลกนั้นประกาศลดพนักงานกว่า 7% ทั้งที่มีฐานสมาชิกมากกว่า 4.3 ล้านคนที่เสียเงินค่าบริการในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม Pandora ต้องพยายามลดต้นทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับ Apple Music หรือ Spotify ให้ได้

อีกจุดที่น่าสนใจคือ แอปพลิเคชันที่ทำรายได้สูงเหล่านี้ไม่ใช่แอปพลิเคชันที่ถูกดาวน์โหลดมาก ดูรายละเอียดจากภาพด้านล่าง

2016-top-apps-by-downloads

นอกจากตัวเลขภาพรวมทั้งปี 2016 การสำรวจยังแยกตัวเลขเฉพาะไตรมาส 4 ปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สร้างรายได้ให้แอปพลิเคชันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ สถิติที่เกิดขึ้นคือ 8.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ (รวมทั้ง 2 แพลตฟอร์ม iOS และ Android) เพิ่มขึ้น 67% จาก 5.2 พันล้านเหรียญในไตรมาส 4 ปี 2015

ผู้สนใจ สามารถชมรายละเอียดการรวบรวมสถิติแอปพลิเคชันปี 2016 ได้เพิ่มเติมจากที่มา

ที่มา: SensorTower

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/01/top-apps-2016/