คลังเก็บป้ายกำกับ: VMWARE_CLOUD_ON_AWS

VMware เปิดตัว VMware Cloud on AWS บน AWS Marketplace

VMware เปิดตัว VMware Cloud on AWS บน AWS Marketplace ให้ใช้งานแล้ว

Credit: VMware

VMware ได้ประกาศเปิดตัว VMware Cloud on AWS ให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้งานได้จาก AWS Marketplace เป็นที่เรีบร้อยแล้ว โดยโซลูชันนี้สามารถต่อยอดใช้งานควบคู่กับ VMware vRealize Cloud Management และ VMware Tanzu ได้ นอกจากนี้ยัสามารถใช้งานร่วมกับ AWS Discount Program ที่ลูกค้ามีอยู่ได้

VMware Cloud เป็นบริการที่ช่วยให้ลูกค้าองค์กรสามารถใช้งาน VMware vSphere บน AWS Cloud ได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการใช้งานระบบ Hybrid Cloud ภายในองค์กร ที่ผ่านมา VMware ได้ร่วมมือกับ AWS มามากกว่า 4 ปี เพื่อพยายามผลักดันโซลูชันที่มีให้สามารถทำงานอยู่บน Public Cloud ได้

ที่มา: https://news.vmware.com/releases/vmware-cloud-in-aws-marketplace

from:https://www.techtalkthai.com/vmware-launches-vmware-cloud-on-aws-on-aws-marketplace/

AWS จับมือ VMware ประกาศพร้อมให้บริการ VMware Cloud on AWS Outpost

ถือเป็นการยกระดับความร่วมมือของโซลูชันจาก AWS และ VMware ที่จับ VMware Cloud on AWS ลงไปไว้ใน Outpost

VMware Cloud on AWS ก็คือการยกแพลตฟอร์ม VCF ของตนไปติดตั้งบนฮาร์ดแวร์ของคลาวด์จาก AWS ส่วน AWS Outpost เป็นฮาร์ดแวร์พิเศษที่ออกแบบและจัดการโดย AWS เพื่อให้ลูกค้ายกไปตั้งไว้ที่ไซต์ตัวเอง แต่ได้รับการดูแลโดย AWS ตอบโจทย์เรื่อง Compliance หรือ Latency ของลูกค้า ทั้งนี้ VMware Cloud on AWS Outpost จึงหมายถึงการนำซอฟต์แวร์ที่ใช้ใน VMware Cloud on AWS ไปลงบน Outpost นั่นเอง ซึ่งท่านสามารถดูตารางเปรียบเทียบได้ดังด้านล่าง

credit : VMware

VMware Cloud on AWS Outpost จะถูกดูแลโดย VMware เป็นด่านแรกแต่หากเกิดปัญหาเรื่องฮาร์ดแวร์ AWS ถึงจะเข้ามาจัดการ อย่างไรก็ดีโซลูชันสามารถเชื่อมต่อทำงานร่วมกันบริการคลาวด์หลักของ AWS ได้ปกติเหมือน Outpost แต่จะเร็วแค่ไหนก็ขึ้นกับลิงก์ที่ผู้ใช้มีด้วย ในส่วนของเรื่องข้อมูลโดยพื้นฐานข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในเครื่อง มีเพียงข้อมูล metadata ที่ช่วยให้ AWS สามารถรับทราบสถานะการทำงานที่จำเป็นเท่านั้นที่จะถูกส่งกลับไปเช่น ฮาร์ดแวร์ยังดีอยู่ไหม ยังเพียงพอหรือมีปัญหา เป็นต้น

สำหรับความพร้อมตอนนี้ยังเปิดให้แค่ในสหรัฐฯเท่านั้นนะครับที่ US East (N. Virginia) และ US West (Oregon) ก็ต้องรอติตตามต่อไปว่าจะเข้าไทยหรือไม่เมื่อไหร่

ที่มา : https://aws.amazon.com/blogs/aws/vmware-cloud-on-aws-outposts-brings-vmware-sddc-as-a-fully-managed-service-on-premises

from:https://www.techtalkthai.com/vmware-cloud-on-aws-outpost/

VMware Webinar : VMware Cloud บน AWS เพื่อคนไอที [28 sep 2021]

ในปัจจุบันนี้การที่องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม รูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ใช่เพียงทางเลือกในการทำงานเหมือนดังก่อน ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากเรียนเชิญท่านทำความรู้จักกับ VMware Cloud บน AWS ซึ่งเป็นบริการที่มีความปลอดภัยสูง และยังรองรับการเพิ่ม ลดขนาดให้เหมาะกับความต้องการขององค์กรในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ยังสามารถทำ migration ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมระบบความปลอดภัยแบบ on-premises บน vSphere-based ที่มีอยู่บน AWS cloud อยู่แล้วได้ทันที โดยงานสัมมนาจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 28 กันยายน 2021 เวลา 13.30 – 15.00 น. โดยมีกำหนดการลงทะเบียนดังนี้

รายละเอียดการบรรยาย

หัวข้อ : VMware Cloud บน AWS เพื่อคนไอที

ผู้บรรยาย : คุณ Charlie Kumpeeraparb ตำแหน่ง Senior Solutions Engineer บริษัท VMware (Thailand) Co., Ltd.

วันเวลา : วันอังคารที่ 28 กันยายน 2021 เวลา 13.30 – 15.00 น.

ภาษา : ไทย

ลิงก์ลงทะเบียน : https://vmware.zoom.us/webinar/register/6216322141117/WN_zbbnEY_qSR-8PSyrzswqGw

การบรรยายในครั้งนี้ ท่านจะพบกับผู้เชี่ยวชาญจาก VMware ที่จะสร้างความเข้าใจให้กับท่านผ่าน architecture ของ VMware Cloud บน AWS ที่มีการ integrate เข้าด้วยกันมากกว่า 200 native AWS services ที่ run บน vSphere ที่มาพร้อมกับการ support แบบมืออาชีพที่ช่วยให้องค์กรของท่านดำเนินไปได้โดยไม่สะดุด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำธุรกิจ ทั้งนี้รวมไปถึงการที่ระบบจะได้มีการปรับปรุง applications ให้ทันสมัยด้วย Kubernetes อยู่ตลอดเวลา

ในระหว่างการบรรยายท่านจะได้เห็นรายละเอียดหน้าจอคอนโซลของ VMware Cloud บน AWS ตั้งแต่การตั้งค่าเริ่มต้น ฟีเจอร์หลัก ๆ และความง่ายและรวดเร็วในการ migrating vSphere workloads จาก on-premises ไปยัง VMware Cloud บน AWS

from:https://www.techtalkthai.com/vmware-webinar-vmware-cloud-aws-28092021/

สรุปงานสัมมนาออนไลน์ VMware : Networking Guide to Migrating Workloads to VMware Cloud on AWS

AWS เป็นผู้ให้บริการคลาวด์อันดับหนึ่งที่องค์กรมากมายเลือกใช้ อย่างไรก็ดีหลายองค์กรอาจกังวลว่าหากย้ายขึ้นคลาวด์แล้ว จะกระทบกับการเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน มีเครื่องมือเพียงพอหรือไม่ ต้องสร้างทักษะกันอีกนานแค่ไหนถึงจะมั่นใจ แต่ไม่อีกต่อไปสำหรับลูกค้า VMware เพราะด้วยโซลูชัน VMware Cloud on AWS จะช่วยให้การบริหารจัดการ Workload ขององค์กรไม่ว่าจะ On-premise หรือ Cloud กลายเป็นผืนเดียวกัน มารู้จักกับโซลูชันดังกล่าวกันได้ในบทความนี้ครับ

ไอเดียของ VMware Cloud on AWS ก็คือ VMware ได้มีการซื้อบริการ Bare-metal ในนามของตัวเองและติดตั้ง VMware Cloud Foundation ซึ่งประกอบด้วย vSAN, vSphere, NSX ที่บริหารจัดการด้วย Software-defined Data Center (SDDC) ด้วยเหตุนี้เอง ข้อดีประการแรกที่ลูกค้าจะได้รับคือหน้าตาของเครื่องมือที่เหมือนกันกับที่เคยใช้ในองค์กร

ข้อดีประการที่สองคือสามารถใช้บริการจาก AWS เพื่อต่อยอดความต้องการทางธุรกิจได้ด้วยความเร็วสูง สาเหตุเพราะระบบของ VMware เชื่อมต่อท่อตรงเข้ากับดาต้าเซ็นเตอร์ของ AWS โดยตรงจึงเรียกได้ว่าไม่มีการสูญเสียของข้อมูล ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการนำข้อมูลออกจาก AWS ผ่าน VMware ยังถูกกว่าการส่งกลับรูปแบบปกติอีกด้วย

ข้อดีประการที่สามคือผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์คลาวด์เช่นเดียวกับการใช้งานบน AWS โดยตรง เพราะฮาร์ดแวร์ทุกอย่างถูกดูแลด้วยทีมงานของ VMware แต่เหนือกว่าตรงนี้ผู้ใช้งานสามารถเคลื่อนย้าย Workload ขึ้นลงได้อย่างอิสระ ไร้ข้อจำกัด

ข้อดีประการที่สี่ คือความง่ายในการย้าย Workload ขึ้นคลาวด์ โดยทั่วไปแล้วหลายองค์กรอาจกังวลว่าในการปฏิบัติงานจริง จะย้าย VM ขึ้นคลาวด์ได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้ VMware ได้เตรียมเครื่องมือสนับสนุนหรือ HCX (hybrid cloud extension) ในรูปแบบของ SaaS ที่สามารถช่วยย้าย VM จำนวนมากในคราเดียวโดยมองการทำงานเป็นกรอบเดียวกันทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไอพี

เรื่องความมั่นคงปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ และข้อดีข้อสุดท้ายคือ VMware จะแบ่งแยก VPC ออกจาก AWS ทั้งทางกายภาพและลอจิก ไม่ถูกแชร์ทรัพยากรกับผู้ใช้งานรายอื่นของ AWS นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ของ NSX Firewall ที่สามารถกระจายอยู่ในทุกภาคส่วนของ Workload ได้ ซึ่งเราจะขยายความต่อในหัวข้อถัดไป

กรณีศึกษาการประยุกต์ใช้งาน VMware Cloud on AWS ในรูปแบบต่างๆ

ผู้อ่านท่านใดที่ยังไม่มีไอเดียหรือยังสงสัยว่าจะริเริ่มการใช้งาน VMware Cloud on AWS ได้อย่างไร ทาง VMware ได้ยกกรณีต่างๆ ที่องค์กรอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ดังนี้

1.) ย้ายการใช้งานทั้งหมดไปบนคลาวด์ สำหรับองค์กรใดที่คิดว่าไม่มีความต้องการที่จะรักษาไซต์ On-premise เอาไว้และอยากจะไปคลาวด์ทั้งหมด ขจัดภาระการดูแลอุปกรณ์ออกไป

2.) ใช้เป็นส่วนต่อขยายบริการ กล่าวคืออาจจะมีการแบ่งการทำงานบางส่วนขึ้นคลาวด์ให้ทำงานประสานกัน หรือในกรณีที่มีความไม่แน่นอนของการทำงาน อยากจะเตรียมคลาวด์ไว้สำหรับรองรับความต้องการที่พุ่งสูงอย่างฉับพลัน

3.) อันที่จริงแล้ว VMware ยังมีความร่วมมือกับ Cloud เจ้าอื่นด้วย ที่ AWS เป็นหนึ่งในนั้น หมายความว่าหากองค์กรมีความประสงค์ที่อยากจะไป Multi-cloud โซลูชันคลาวด์ของ VMware ก็ครอบคลุมตอบโจทย์ได้

4.) สำรองเป็น Business Continuity Plan ในกรณีของสถานการณ์ฉุกเฉินการเตรียมระบบพร้อมไว้บนคลาวด์อาจจะทำได้ง่ายกว่าวิธีการปกติ ซึ่งต้องไปลงทุนหาสถานที่ หรือจะเตรียมอัปโหลดข้อมูลขึ้นไปรอไว้ก่อนในรูปแบบของ DR ที่พร้อมเริ่มใช้งานได้ทันที แล้วแต่ SLA ที่สามารถรับได้

5.) สภาพแวดล้อมแบบ Test-Dev หลายองค์กรต้องการพื้นที่สำหรับทดสอบ แต่การที่จะไปจัดหาฮาร์ดแวร์มาทดลอง ก็อาจจะล้าช้า ค่าใช้จ่ายสูง และไม่ยืดหยุ่น ดังนั้น VMware Cloud จึงสามารถตอบโจทย์ท่านใด

6.) กรณีที่ต้องการเปลี่ยนการให้บริการของธุรกิจสู่สากล เพื่อรองรับผู้ใช้งานทั่วโลก ซึ่ง AWS มีดาต้าเซนเตอร์กระจายอยู่ทั่วโลก

ปลอดภัยมากเพียงพอ ไม่น้อยไปกว่า On-premise

หลายคนกังวลว่าเมื่อย้ายขึ้น AWS ไปแล้ว การทำงานจะปลอดภัยหรือไม่ มีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติม หรือมีวิธีการแอบแฝงที่วุ่นวายอยู่หรือเปล่า หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดเช่นนั้น บอกได้เลยว่าไม่กับโซลูชัน VMware Cloud on AWS เพราะ VMware นำเสนอเครื่องมือป้องกันไม่ไม่น้อยไปกว่าบน On-premise อาทิเช่น

1.) Service-defined Firewall และ IDS/IPS

NSX บน AWS ไม่ได้ด้อยไปกว่า On-premise แต่อย่างใด ด้วยความสามารถ Intrinsic Security จะช่วยให้องค์กรสามารถปกป้องทราฟฟิค East-West หรือ North-South ได้อย่างมั่นใจ โดยเราขอหยิบยกฟีเจอร์สำคัญมาให้รู้จักกันดังนี้

  • L7 Firewall – Next-gen Firewall ในปัจจุบันสมควรที่จะต้องเข้าใจแอปพลิเคชันได้ด้วย ซึ่งนอกจาก NSX จะสามารถทำงานตรงนี้ได้แล้ว ผู้ใช้งานยังสามารถปรับแต่งคุณสมบัติแอปพลิเคชันได้ด้วย เช่น บังคับให้แอปพลิเคชันใช้งาน TLS 1.3 ขึ้นไป เป็นต้น
  • Identity Firewall – NSX Firewall สามารถปกป้องการเข้าไปถึงแต่ละเซสชันของการใช้งาน เชื่อมต่อกับ Active Directory หรือใช้เป็น Local Database สำหรับพิสูจน์ตัวตนของการใช้งานได้ เพียงแค่ติดตั้ง VM Tools กับเครื่องที่ต้องการ
  • FQDN – กรณีอยากบังคับใช้ Policy ที่เฉพาะเจาะจงด้วยชื่อของ VM ก็สามารถทำได้ผ่านฟีเจอร์ FQDN นี้ เพื่อความสะดวกต่อการทำงานให้ผู้ดูแลจำได้ง่าย
  • IDS/IPS – ปัญหาการวาง IDS/IPS ที่เคยพบเห็นกันทั่วไป ที่นำอุปกรณ์ไปขวางทราฟฟิคจนกลายเป็นจุดคอขวดจะหมดไป เพราะ IDS/IPS ซอฟต์แวร์สามารถกระจายไปได้ทุกๆ จุดที่จำเป็น ทำให้การตรวจสอบปัญหาทำได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังทำงานแบบ Context-based หรือเลือกเฉพาะ Signature ที่สัมพันธ์กับการทำงาน ไม่จำเป็นต้องเก็บ Signature ทุกตัวมาใช้ จึงทำงานได้อย่างรวดเร็ว ไม่เพียงเท่านั้น Policy ยังผูกกับ VM กล่าวคือไม่ว่าจะย้าย VM ไปที่ใดก็ไม่ต้องสร้าง Rule ใหม่มารองรับ และไม่มี Policy ขยะให้ต้องตามมาลบภายหลัง

2.) Load Balancer, Global Load Balancer (GSLB) และ Web Application Firewall

VMware ได้รวบรวมโซลูชันจากกิจการที่ตนได้เข้าซื้อไว้เมื่อปี 2019 ที่นำเสนอเรื่อง Application Delivery หรือ AVI Networks โดยสถาปัตยกรรมของ AVI ภายใต้ NSX บน VMware Cloud on AWS ประกอบด้วยส่วนหลัก 2 ส่วนคือ Avi Controller หรือศูนย์กลางคอยควบคุมจัดการ Service Engine (Load balancer แต่ละตัวใน Data Plane ตามภาพประกอบ) ข้อดีของ Avi มีดังนี้

  • Elasticity – รองรับการขยายตัวของ Workload ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเพิ่มจำนวนของ Service Engine ขึ้นหรือลงได้เมื่อไม่ใช้งาน รวมถึงรองรับการเปิดใช้งานได้แบบอัตโนมัติหรือทำแบบ Manual ก็ได้
  • Resilience – มีความทนทานต่อความเสียหาย กล่าวคือหาก Service Engine ตัวใดเสียหายและไม่สามารถสร้างทดแทนขึ้นได้ใหม่ทัน ก็สามารถที่จะ Redirect ทราฟฟิคไปยังกลุ่มของ Load balancer ตัวอื่นได้
  • Flexibility – รองรับการกระจายงานไปยัง Workload ได้ทุกประเภทไม่ว่าจะอยู่ VM, Container หรือ Bare-metal ก็ตาม
  • Monitoring – มีเครื่องมือสำหรับช่วยติดตามการทำงานของทราฟฟิคได้โดยง่าย แทนที่จะต้องเข้าไป Troubleshoot ผ่าน Command-line โดย Dashboard ของ Avi สามารถติดตามได้ว่าทราฟฟิคช่วงใดล่าช้า เกิดขึ้นกับ User หรืออุปกรณ์ใด

นอกจากในมุมของการ Load Balance ทราฟฟิคภายในแล้ว สำหรับองค์กรใดที่มีหลายไซต์ซึ่งจำเป็นต้องใช้งาน Global Load-balance ก็สามารถเปิดใช้งานความสามารถนี้ได้ทันที รองรับการทำ Active-Standby ไม่เพียงเท่านั้นในโมดูลยังสามารถเปิดความสามารถ Web Application Firewall เพิ่มที่สะดวกสบายอย่างมาก ซึ่งปกติแล้วมีค่าใช้จ่ายสูงมากและยุ่งยากไม่น้อย

โดยภาพรวมของ Avi บน AWS ผู้ใช้งานจะได้การควบคุมทั้ง Stack ตามภาพประกอบคือ เบื้องหลัง CGW ผู้ใช้งานจะสามารถควบคุม Avi Cluster ของตนเองได้ทั้งหมด

3.) SD-WAN

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าเทคโนโลยี SD-WAN สามารถช่วยในเรื่องการบริหารจัดการทราฟฟิคข้าม WAN ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับวิธีการเชื่อมต่อได้มากมาย แต่อีกมุมหนึ่งของ SD-WAN ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้งาน VMware Cloud on AWS นั่นก็คือประสิทธิภาพในการส่งทราฟฟิคระหว่างปลายทางกับ AWS เป็นพิเศษ โดยการเชื่อมต่อเป็นไปได้ 3 รูปแบบคือ

  • IPSec ตรงไปยังจุด AWS Edge ตามปกติ ซึ่งเป็นท่าพื้นฐาน ที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุดในรูปแบบการ Deploy ทั้งหมด
  • ตั้งตัวรับขึ้นบนคลาวด์หรือ Deploy Edge ภาครับขึ้นมาบน AWS วิธีการนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากตามมาเช่นกัน
  • VMware ได้จัดตั้ง Cloud Gateway ของตนขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งสามารถรองรับ SD-WAN จากปลายทางและเร่งความเร็วของทราฟฟิคผ่านท่อส่งขนาดใหญ่เพื่อเข้าสู่คลาวด์ของ AWS ได้อย่างทันใจ โดยรูปแบบนี้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดและทำได้ไม่ยาก

โดยสรุปโซลูชัน VMware Cloud on AWS ได้เพิ่มทางเลือกให้แก่องค์กร เพื่อเริ่มต้นกับ AWS ได้ง่ายกว่าด้วยเครื่องมือบริหารจัดการที่คุ้นเคย ดังนั้นทีมไอทีก็ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้เครื่องมือใหม่ ที่อาจจะนำไปสู่ข้อผิดพลาดหรือช่องโหว่แก่องค์กรในภายหลัง นอกจากนี้ในการเคลื่อนย้ายข้อมูลยังเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีค่าใช้จ่ายการนำข้อมูลออกถูกกว่าการทำงานปกติด้วย

ในมุมของความมั่นคงปลอดภัยจะเห็นได้ว่า VMware ได้แพ็คเครื่องมือจำเป็นทุกอย่างมาให้ท่านแล้ว ไม่ด้อยไปกว่าการทำงานบน On-premise ทั้ง Firewall, IDS/IPS, Load Balancer, WAF และ SD-WAN ทำให้มั่นใจได้ว่าองค์กรของท่านมีเครื่องมือเพื่อคุ้มครองให้ทำงานได้อย่างมั่นใจ แถมยังครอบคลุมและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการแยกส่วนทั้งหมด

from:https://www.techtalkthai.com/summary-vmware-webinar-networking-guide-to-migrating-workloads-to-vmware-cloud-on-aws/

VMware Webinar : Networking Guide to Migrating Workloads to VMware Cloud on AWS

VMware ขอเรียนเชิญ IT infrastructure, IT Manager, DevOps และชาวไอทีผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “Networking Guide to Migrating Workloads to VMware Cloud on AWS” ซึ่งเป็นการแนะแนวทางย้ายการทำงานขึ้นสู่ VMware Cloud on AWS และฟีเจอร์ใหม่ๆ ในวันอังคารที่ 13 กรกฏาคม 2021 เวลา 10.30 – 12.00 น. โดยมีกำหนดการลงทะเบียนดังนี้

รายละเอียดการบรรยาย

หัวข้อ : Networking Guide to Migrating Workloads to VMware Cloud on AWS

ผู้บรรยาย : คุณ Charlie Kumpeeraparb ตำแหน่ง Senior Solutions Engineer บริษัท VMware (Thailand) Co., Ltd.

วันเวลา : วันอังคารที่ 13 กรกฏาคม 2021 เวลา 10.30 – 12.00 น.

ภาษา : ไทย

ลงทะเบียน : https://vmware.zoom.us/webinar/register/6416249477575/WN_7SNLp-8QTeuZJVSVQnGFtA

ในฐานะเจ้าหน้าที่ไอที คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าถ้าจะย้าย workload จาก data center ไปยัง Cloud อย่าง AWS จะทำได้อย่างไรบ้าง และเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่าจะบริหารจัดการ network และ security บนสถาปัตยกรรมแบบ Cloud ได้อย่างไรต่างไปจากเดิมที่เคยทำอยู่หรือไม่?

ทุกคนต่างทราบนี้ว่า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว้ให้สามารถทำงานได้ในสภาวะที่มีการแพร่ระบาดได้ ดังนั้นเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ จึงมีความต้องการเร่งความเร็วในการทำ digital transformation ตั้งแต่ในระดับ distributed edge, data center, ไปจนถึงบน cloud ถ้ามองในมุมของ networking จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแอปพลิเคชันทั้งหมดได้ถูกสลับที่จากแบบ on-premises ไปเป็น distributed ผ่านสภาพแวดล้อมแบบ hybrid

ด้วยความซับซ้อนเช่นนี้ เราจึงอยากเรียนเชิญท่านเข้าฟังบรรยาย webinar เพื่อดูว่า VMware Virtual Cloud Network – ซึ่งรองรับการทำงานในแพลตฟอร์มระดับ L2–L7 – จะช่วยให้คุณสามารถขยาย network ได้อย่างปลอดภัยบน cloud อย่าง AWS ได้อย่างไร ผ่านการทำงานจากจุดศูนย์กลางเดียวโดยใช้วิธีการกำหนด policy-based ทั้งสำหรับ networking และ security ให้ทำงานสอดคล้องกันในคราวเดียวข้าม hybrid cloud ได้อย่างไร โดยหัวข้อนี้จะครอบคลุมถึง โซลูชันหลัก features, กรณีศึกษา และ deploy options ที่จะช่วยให้คุณสามารถวางแผน migration บน VMware Cloud ได้อย่างราบรื่น

หัวข้อการบรรยาย :

  • ความสามารถในการขยายที่สอดคล้องไปพร้อมกับความปลอดภัย บนการทำงานในระบบ VMware Cloud ของ AWS
  • การวางระบบ Network และ Security ที่มีความเสถียรบนสภาพแวดล้อมแบบ Hybrid/Multi-Cloud

from:https://www.techtalkthai.com/vmware-webinar-networking-guide-to-migrating-workloads-to-vmware-cloud-on-aws/

สรุปงานสัมมนาออนไลน์ VMware Cloud As An Operating Model: A Hybrid Cloud Blueprint for Modern Applications

ความท้าทายในการพัฒนาองค์กรจาก Infrastructure แบบเดิมสู่ Hybrid Cloud นั้นมีไม่น้อย แต่ในเมื่อเทคโนโลยีอันล้ำค่าจาก Cloud เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแล้วจะทำอย่างไรองค์กรจึงสามารถก้าวข้ามอุปสรรคสู่เป้าหมายดังกล่าวโดยกระทบกับผู้ปฏิบัติงานให้น้อยที่สุด จึงเป็นที่มาของหัวข้อสัมมนาในโซลูชัน VMware Cloud on AWS ที่ VMware ได้มาเล่าให้ฟังในวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยทีมงาน TechTalkThai ขอสรุปสาระสำคัญมาให้ติดตามกันดังนี้ครับ

ความท้าทายของการทำ Hybrid Cloud นั้นมีมากมายตัวอย่างเช่น

  • รูปแบบของเทคโนโลยีที่อยู่บน On-premise และ Cloud แตกต่างกันอย่าง VM บน Hypervisor กับ VM บน Cloud เป็นคนละรูปแบบ ดังนั้นจะทำงานข้ามระหว่างกันได้อย่างไร
  • SLA ของทั้งสองสภาพแวดล้อมไม่เท่ากัน 
  • ทักษะการใช้งานเครื่องมือไม่เหมือนกัน หากระบบย้ายไปอยู่บน Cloud ทีมไอทีขององค์กรก็จะต้องมาเรียนรู้เครื่องมือของ Cloud ใหม่
  • ระบบความมั่นคงปลอดภัยแตกต่างกัน และสืบเนื่องจากความไม่คุ้นเคย องค์กรอาจจะเผยช่องโหว่ต่อสาธารณะได้โดยไม่ตั้งใจ

ด้วยเหตุนี้เองจากความคาดหวังขององค์กรที่ว่าเมื่อย้ายไป Cloud แล้ว จะสามารถยกระดับตัวเองเข้าสู่คอนเซปต์ Agile ได้แต่ด้วยอุปสรรคทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้องค์กรกลับล่าช้าลงไปอีก ด้วยเหตุนี้เองทาง VMware จึงได้นำเสนอโซลูชัน VMware Cloud on AWS ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถทลายข้อจำกัดที่กล่าวมา

6 แนวคิดในการปฏิรูปองค์กรสู่การใช้งาน Cloud 

การย้าย Infrastructure ขึ้น Cloud หรือนำแอปพลิเคชันขององค์กรไปใช้ร่วมกับเทคโนโลยี Cloud ทำได้หลายรูปแบบ โดยทั่วไปแล้วสามารถนิยามได้ดังนี้

  • Replace – ล้มเลิกหรือเปลี่ยนวิธีการใช้งานแบบเดิมโดยสิ้นเชิง เพื่อไปใช้งานบริการ Cloud เช่น จากการตั้ง On-premise Exchange Server ให้บริการอีเมลก็ไปใช้ o365 หรือ Gmail แทน
  • Retain/Retire – ยังไม่ย้ายโดยทันทีแต่พยายามใช้เทคโนโลยีเดิมจนกว่าจะหมดอายุแล้วค่อยเปลี่ยนไปใช้งาน Cloud
  • Re-factor – เปลี่ยนการใช้งาน VM ไปรันในรูปแบบของ Container แทน แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบของซอฟต์แวร์
  • Re-architect – เปลี่ยนรูปแบบของแอปพลิเคชันจากเดิมเช่น จากเดิมเคยใช้ SQL Database ย้ายเป็น NoSQL แทนเป็นต้น หรือเปลี่ยน Web-tier เป็น Stateless แทน
  • Relocate – ย้าย Infrastructure ทั้งหมดขึ้นสู่ Cloud โดยยกเลิกการใช้งานบน On-premise
  • Hybrid – คงการทำงานแบบเดิมส่วนหนึ่งแต่ใช้งานบริการความสามารถของ Cloud ร่วมด้วย

อย่างไรก็ในรูปแบบของ Re-architect หรือ Re-factor เรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอันล้ำค่าของ Cloud เลยแม้แต่น้อย แม้ทั้งสองรูปแบบจะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถ Relocate ให้ทำงานร่วมกับ Cloud ได้อยู่โดยที่องค์กรไม่ต้องลำบากมากนัก ซึ่งนี่เองคือจุดเริ่มต้นของ VMware Cloud on AWS

VMware Cloud on AWS คืออะไร? 

ไอเดียก็คือ VMware ไปเช่า AWS Infrastructure เพื่อติดตั้งชุด Software Stack เหมือนกับที่เราใช้กันอยู่ในองค์กร และนำมาจัดสรรให้บริการแก่ผู้ใช้งาน ซึ่งอ้างอิงกับโมเดล Infrastructure จาก AWS ทั้งนี้นอกจากจะได้ข้อดีต่างๆ ของ Cloud แล้ว การดูแลรักษายังทำโดย VMware โดยคุณสมบัติของ VMware Cloud on AWS (VMC) มีดังนี้

  • Seamless Migration – ผู้ใช้สามารถย้าย VM ข้ามแพลตฟอร์มได้เหมือนปกติ เช่นเดียวกับการย้าย VM ข้ามไซต์ด้วย vMotion 
  • As-a-Service – อัตราการใช้บริการถูกคิดตามจริงเช่นเดียวกันบริการ Cloud ปกติ
  • Consistent – ผู้ใช้งานสามารถใช้เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการ VMware อย่าง vSphere กับจัดการทรัพยากรบน Cloud ได้เหมือนเดิม 
  • Portable – สามารถย้าย Workload ไปมาระหว่างกันได้ เช่น การนำ Kubernetes ข้ามมารันบน Cloud หรือ On-premise
  • Modern Apps – ทำให้แอปพลิเคชันได้ความทันสมัยอย่างที่องค์กรคาดหวังไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้าน Container, AI/ML และบริการอื่นๆ 

ข้อดี 8 ประการกับการใช้ VMware Cloud On AWS

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า VMC นั้นจะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ On-premise ได้หรือไม่ จะเกิดความล่าช้าหรือไม่ และจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ใดต่อองค์กรได้บ้าง ซึ่งเราขอสรุปเป็นข้อๆ ไว้ดังนี้

1.) แก้ปัญหาปัญหา SLA ที่ไม่เท่ากันด้วย Stretched Cluster

การทำ Hybrid อาจมีประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของ SLA เพราะฝั่งของ On-premise มักสูงว่าบน Cloud แต่ด้วยโซลูชันของ VMC ที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถทำ Stretched Cluster เพื่อลดเวลา SLA ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเพียงแค่ท่านเพิ่มจำนวนของบริการใน Availability Zone และเปิดใช้ Stretched Cluster เท่านี้ก็สามารถยกระดับจาก SLA มาสูงสุดที่ 99.99% ได้แล้ว อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานสามารถเปิดใช้ Stretched Cluster ได้เฉพาะใน Region ที่มีอย่างน้อย 3 Availability Zone เท่านั้น

2.) ตอบโจทย์ Workload ได้เทียบเท่า On-premise ด้วยฮาร์ดแวร์จาก AWS

อย่างที่ทราบแล้วว่า VMware ได้เช่า AWS Infrastructure มาทำตลาด ซึ่งหลายคนกังวลใจว่าแล้วประสิทธิภาพในการทำงานของฮาร์ดแวร์บน Cloud จะแรงสู้ On-premise ได้หรือไม่ คำตอบคือ VMC ได้นำเสนอฮาร์แวร์รุ่น i3 และ r5 (สเป็คตามด้านบน) ในลักษณะของ Bare Metal จะเห็นได้ว่าหมดกังวลเรื่องปริมาณของ Workload ได้เลย นอกจากนี้ยังมีรุ่น i3en ที่สามารถรองรับดิสก์ขนาดถึง 45 TB ได้ด้วยเอาใจกลุ่มตลาดที่ต้องการพื้นที่มหาศาล 

3.) ง่ายและยืดหยุ่นกว่าในการรับ Workload ด้วย Auto-scale

การเพิ่มโฮสต์บน VMC นั้นมีขั้นตอนง่ายมาก นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถใช้ฟีเจอร์ Auto-scale เพื่อขยายทรัพยากรรองรับการใช้งานที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้ตั้งแต่ 3 ถึง 16 โหนด เมื่องานใน CPU, Memory หรือ I/O ถึงค่าที่กำหนด 

4.) ตัดปัญหาการบริหารจัดการให้แก่องค์กร

อีกหนึ่งปัญหาที่องค์กรต้องเผชิญและเป็นหนึ่งในจุดขายว่าทำไมองค์กรอยากย้ายมา Cloud ก็เพราะไม่มีต้องมีทีมงานคอยดูแล Infrastructure ทั้งนี้ VMC ก็เช่นเดียวกัน โดยทีมงานจาก VMware จะคอยติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับฮาร์ดแวร์ของลูกค้า หากเกิดปัญหาทางทีมงานจะทำการจัดการย้ายโฮสต์ให้ทันที 

5.) หมดกังวลเรื่องค่า License per CPU

หลายคนทราบดีว่าซอฟต์แวร์หลายตัวมีการคิดค่าใช้จ่ายตาม Core ทั้งนี้ VMware ได้เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถ Customize CPU Core ได้ตามที่ต้องการใช้งาน (แต่ต้องมีการ Reboot เครื่อง) ด้วยเหตุนี้ License เดิมที่เคยใช้อยู่บน On-premise ก็สามารถใช้ได้บน VMC เช่นกัน ยกตัวอย่างในกรณีของ Oracle หรือ Microsoft SQL Server  

6.) เชื่อมต่อตรงสู่ AWS หมดห่วงเรื่องกลัวช้า

การที่ VMware วางโซลูชันอยู่บน AWS นั่นหมายความว่าทราฟฟิคของผู้ใช้งานจะต้องวิ่งผ่านโครงข่ายของ AWS เหมือนกับที่ใช้งาน AWS Cloud ดังนั้นอาจมีคำถามว่า VMC จะช้าไหม คำตอบคือ VMware เองมีท่อตรงสู่ AWS ที่เรียกว่า VMware Transit Connect ซึ่งมีขนาดใหญ่มากพอเทียบเท่ากับ AWS Direct Connect (เป็นบริการท่อวิ่งตรงระหว่างองค์กรกับ Cloud) ดังนั้นผู้ใช้จึงไม่ต้องกลัวว่า VMC จะลดทอนประสิทธิภาพของท่านลง นอกจากนี้ VMC ยังสามารถเปิดใช้ Jumbo Frame หรือการรองรับแพ็กเก็ตขนาดใหญ่ทำให้การ vMotion จาก On-premise ไม่ได้ล่าช้าอย่างที่คิด

7.) ใช้เป็น DR ได้ทันที

แต่เดิมการทำ DR เราจะต้องมีการ Backup จาก On-premise ก่อนเพื่อนำไป Restore บน Cloud ซึ่ง VMC เองมีการใช้ DRaaS Connector ที่สามารถเชื่อมต่อกับ VMware SaaS และย้ายข้อมูลสู่ VMC Storage เมื่อเรียบร้อยดีแล้ว ผู้ใช้งานจะสามารถทำ Live Mount หรือการเปิด VM Backup ที่เก็บเอาไว้ให้มองเห็นใช้งานบน VMC Console ทันที

อีกหนึ่งประเด็นเรื่องของการทำ DR ที่มักพบปัญหากันมากก็คือการย้ายข้อมูลกลับ โดยปกติแล้วอาจจะต้องดึงข้อมูลกลับมาทั้งก้อน จึงสร้างค่าใช้จ่ายสูงตามมา แต่ VMC มีความสามารถนำข้อมูลเฉพาะส่วนต่างกลับมายัง On-premise ได้

8.) ลดค่าใช้จ่าย Data Transfer จาก AWS

หลักการของ AWS ที่หลายคนที่ใช้ Cloud คงทราบดีอยู่แล้วและอาจเป็นปัญหาด้วยซ้ำ ก็คือแม้ AWS จะไม่คิดค่า Inbound Data แต่จะคิดค่าบริการในขาส่งข้อมูลกลับ สำหรับในส่วนของ VMC นั้นเนื่องจาก VMC อยู่บนโครงสร้างของ AWS จึงไม่มีค่าบริการของข้อมูลที่ทำงานร่วมกันภายใน รวมถึงการส่งข้อมูลจาก VMC กลับหาลูกค้าไม่ว่าจะผ่านทาง AWS Direct Connect หรืออินเทอร์เน็ตจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเทียบกับบริการของ AWS ปกติ ด้วยเหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่า VMC สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของการนำข้อมูลกลับได้อย่างมีนัยสำคัญ 

from:https://www.techtalkthai.com/summary-vmware-webinar-cloud-as-an-operating-model-a-hybrid-cloud-blueprint-for-modern-applications/

VMware Webinar: Cloud As An Operating Model: A Hybrid Cloud Blueprint for Modern Applications [9 ต.ค. 2020 เวลา 10.30น.]

TechTalkThai ขอเรียนเชิญ IT Manager, System Engineer, ผู้ดูแลระบบ IT และผู้ที่สนใจทุกท่าน เข้าร่วมฟัง VMware Webinar ในหัวข้อเรื่อง “Cloud As An Operating Model: A Hybrid Cloud Blueprint for Modern Applications” เพื่อเรียนรู้ถึงกลยุทธ์ใหม่ในการวางระบบ IT ที่จะมี Hybrid Cloud เป็นศูนย์กลางของการทำ Automation เพื่อตอบรับต่อโจทย์ทางธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง และรวดเร็ว พร้อมรับชมความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่าง VMware และ AWS ในรูปแบบของ Hybrid Cloud ในวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2020 เวลา 10.30 – 12.00 น. โดยมีกำหนดการและวิธีการลงทะเบียนดังนี้

รายละเอียดการบรรยาย

หัวข้อ: Cloud As An Operating Model: A Hybrid Cloud Blueprint for Modern Applications
ผู้บรรยาย: ทีมงาน VMware ประจำประเทศไทย
วันเวลา: วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2020 เวลา 10.30 – 12.00 น.
ช่องทางการบรรยาย: Online Web Conference
ภาษา: ไทย

จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ได้สร้างผลกระทบอันคาดเดาไม่ได้ไปทั่วโลก แต่ในทางกลับกันก็สร้างโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกดิจิทัล เพราะไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาลไปจนถึงภาคเอกชน บริษัท องค์กรต่าง ๆ ต่างขยับตัวขึ้นระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อให้สามารถรองรับพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป และหาทางเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น

เมื่อแต่ละองค์กรนำระบบคลาวด์มาใช้มากขึ้น ก็พบว่ามีปริมาณการใช้งานที่มากขึ้นประกอบกับปริมาณ workloads ก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงตระหนักได้ว่าต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ “ให้คลาวด์เป็น Operating Model” ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการหลักขององค์กรได้อย่างยืดหยุ่น และจะต้องมีความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ มีการทำงานแบบ automation, API-driven และอื่น ๆ ใน Operation Model ใหม่!

VMware Cloud เป็นโซลูชัน hybrid cloud เพียงหนึ่งเดียวที่มาพร้อมระบบอันทันสมัย สามารถปกป้อง และรองรับการขยายของ vSphere-based application ผ่าน AWS ซึ่งเป็น public cloud ชั้นนำของโลก ด้วยสถาปัตยกรรมเดียวกันที่เปี่ยมประสบการณ์ในการปฏิบัติงานทั้งแบบ on-premises และ on cloud จึงทำให้องค์กรสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจจาก VMware และ AWS hybrid cloud

Webinar ครั้งนี้จะนำเสนอโดยทีมงาน VMware ที่พร้อมตอบทุกคำถามที่เกี่ยวข้อง

ลงทะเบียนเข้าร่วม Webinar ได้ทันที

ผู้ที่สนใจสามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อเข้าร่วม Webinar ในหัวข้อนี้ได้ทันทีที่ https://vmware.zoom.us/webinar/register/2916007956847/WN_slGEpDqAS0W_JA8d5wb-CQ โดยทีมงานขอความกรุณากรอกข้อมูลชื่อบริษัทด้วยชื่อเต็มของหน่วยงานหรือองค์กร เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการจัดการกับข้อมูลการลงทะเบียน

from:https://www.techtalkthai.com/vmware-webinar-cloud-as-an-operating-model-a-hybrid-cloud-blueprint-for-modern-applications/

สรุป VMware BCP Part I – ทำงานไม่สะดุด สร้างความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจด้วย VMware Cloud on AWS

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคของการทำงานแบบ Next Normal ที่ทุกคนต้องพร้อมทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลาเพื่อรับมือกับเหตุไม่คาดฝันอย่างเช่นการแพร่ระบาดของโรคหรือเหตุอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ โซลูชัน Business Continuity Planning หรือ BCP ก็กลับมาได้

BCP Solution Overview

ในการออกแบบโซลูชัน BCP นั้น จะต้องพิจารณาในหลากหลายประเด็น โดยความท้าทายหลักๆ ที่หลายธุรกิจได้เผชิญกันไปท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ก็ได้แก่

  • การทำให้พนักงานสามารถทำงานได้จากทุกอุปกรณ์และทุกสถานที่ โดยยังคงทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

  • ต้องสามารถเพิ่มขยายระบบ IT Infrastructure และ License ให้รองรับต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลันได้

  • ผู้ดูแลระบบจะต้องยังคงสนับสนุนแก้ไขปัญหาของผู้ใช้งานที่อยู่คนละสถานที่กันได้

  • ต้องบริหารจัดการ Image และ Application ได้จากศูนย์กลาง

  • เครื่องมือที่ใช้จะต้องรองรับการทำงานร่วมกับระบบ Application หลักๆ ที่ใช้งานภายในองค์กร

  • ต้องมีการปกป้องข้อมูลไม่ให้รั่วไหล ยังมีความเป็นส่วนตัว และควบคุมการเข้าใช้งาน Application ให้เหมาะสมกับบทบาทที่แตกต่างกันของพนักงานแต่ละคนได้

  • มีวิธีการในยืนยันตัวตนที่แข็งแรง ปลอมแปลงได้ยาก และมีการใช้ Soft-Token

  • ยังคงควบคุมให้พนักงานทุกคนทำตามนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ได้

Credit: VMware

ทั้งนี้ในมุมของ VMware เองที่ได้มีส่วนเข้าไปช่วยธุรกิจองค์กรทั่วโลกในการรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ ก็ได้สรุปถึง 4 ประเด็นในการเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้กับการทำ Remote Working ดังนี้

  1. ธุรกิจต้องวางระบบและกระบวนการใหม่ให้กับ Security Operations Center (SOC) และ Workflow ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องต่อรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป

  2. ต้องมีแผนการทำ Digital Distancing ให้ชัดเจนนอกเหนือไปจากการทำ Social Distancing เพื่อให้ Application ที่ใช้ในการทำงานของแต่ละคนนั้นก็ต้องมีการเว้นระยะระหว่างกัน ลดความเสี่ยงด้าน Cybersecurity ลง

  3. ต้องระวังการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นจากการที่พนักงานทำงานจากภายนอกองค์กรให้มากขึ้น

  4. ต้องระมัดระวังด้านการจัดการข้อมูลของผู้บริหารและข้อมูลสำคัญของธุรกิจให้มากเป็นพิเศษ

สำหรับโซลูชันที่โดดเด่นของ VMware ในการทำ BCP อย่างฉุกเฉินของหลายธุรกิจองค์กรทั่วโลก ก็คือ VMware Horizon และ VMware Workspace ONE ที่ช่วยให้พนักงานในแผนกต่างๆ ของแต่ละธุรกิจสามารถทำงานจากที่บ้านได้ด้วยประสบการณ์ในการทำงานที่เหมือนกับการทำงานภายในบริษัท โดยโซลูชันของ VMware นี้เปิดให้ใช้งานทั้งในลักษณะของทั้ง Desktop และในลักษณะของ Application เพื่อให้ธุรกิจสามารถเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับความต้องการได้

Credit: VMware

VMware Horizon สามารถช่วยให้ผู้ใช้งานเชื่อมต่ออุปกรณ์จากที่บ้านเข้าไปยัง Physical Desktop, Virtual Desktop หรือ Virtual Application ภายใน Data Center ขององค์กรได้ทันที และทำงานได้เสมือนกำลังใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ของที่ทำงาน โดยมีระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่หลากหลาย และควบคุมไม่ให้มีการนำข้อมูลสำคัญของธุรกิจออกไปได้ และมีความสามารถเด่นอื่นๆ ที่น่าสนใจดังนี้

  • Blast Extreme ช่วยให้ส่งภาพความละเอียดถึงระดับ 8K ออกไปใช้งานได้ และมีความเร็วสูงขึ้นกว่าในอดีต 6 เท่า ใช้ Bandwidth น้อยลง 50%

  • JMP สร้าง Desktop/App ได้อย่างรวดเร็วด้วยการใช้หน่วยความจำในการจัดเก็บข้อมูลแทน Disk ทำให้จัดการ Image ได้เร็วขึ้น 30 เท่า สามารถทำ Instant App Delivery ได้ และมี Zero Downtime Update ได้ในบางกรณี

  • รองรับ OS และ Client ได้หลากหลาย

  • รองรับการใช้ VoIP ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลภาพและเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรองรับการทำ Contact Center/Call Center ได้

  • เชื่อมต่อ USB ได้จากระยะไกล รองรับการใช้อุปกรณ์ในการทำงานได้อย่างอิสระ

อย่างไรก็ดี การใช้งาน VMware Horizon นี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณ WAN Bandwidth ขององค์กรที่ต้องเพียงพอต่อการใช้งานของพนักงานจำนวนมาก, การตั้งค่าของ Physical PC ที่ต้องการเปิดให้ Remote เข้าไปได้นั้นต้องเหมาะสม, การกำหนดสิทธิ์ของผู้ใช้งานต้องเลือกให้ดีเพื่อไม่ให้เปลืองทรัพยากรของระบบเกินกว่าที่จำเป็น และควรเปิดใช้ Two-Factor Authentication เพื่อความมั่นคงปลอดภัยในระดับที่สูงขึ้น

Credit: VMware

ถัดมาคือ VMware Workspace ONE ระบบ Digital Working Platform ที่สามารถสร้าง Portal ในการทำงานผ่าน Application หรือเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้จากทุกอุปกรณ์ได้ทันที และสามารถควบคุมด้านความมั่นคงปลอดภัยของอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานได้ รวมถึงยังสามารถทำ Single Sign-On เพื่อช่วยให้การทำงานมีความง่ายดายมากยิ่งขึ้นได้ โดยมี App Catalog ช่วยให้พนักงานแต่ละคนทำงานได้ตามความเหมาะสม เข้าถึง App และข้อมูลที่จำเป็นได้ รวมถึงยังเปิดให้ผู้ดูแลระบบ IT สามารถสนับสนุนแก้ไขปัญหาให้ผู้ใช้งานได้ทั้งสำหรับ PC, Smartphone และ Tablet ได้อีกด้วย

VMC Solution Overview and Benefits

Credit: VMware

อีกโซลูชันหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ VMware Cloud on AWS ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง VMware และ AWS ทำให้ธุรกิจองค์กรสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีของ VMware บน AWS ได้โดยตรง ง่ายต่อการทำ Hybrid Cloud ซึ่งจะช่วยให้การทำ BCP ง่ายดายยิ่งขึ้น ไม่ต้องลงทุนในระบบ IT Infrastructure ด้วยตนเอง

ทั้งนี้บน VMware Cloud on AWS ก็สามารถใช้งาน VMware Horizon ได้ ทำให้ตอบโจทย์การ Scale ระบบ Virtual Desktop หรือ Virtual App ได้อย่างง่ายดาย และประหยัดค่าใช้จ่ายในยามที่ไม่ได้ใช้งานได้ โดยการ Provision ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมีการสั่งซื้อ Hardware ใดๆ

VMware Horizon มีระบบ Cloud Connector เพื่อเชื่อมให้ Horizon ในองค์กรและบน AWS สามารถบริหารจัดการร่วมกันได้จากศูนย์กลางได้ทันที

นอกจากเครื่อง Desktop แล้ว VMware ก็รองรับการใช้ VMware Site Recovery เพื่อให้ VMware Cloud on AWS กลายเป็นสาขาสำรองหรือ DR ให้พร้อมกู้ระบบกลับมาทำงานได้อย่างง่ายดายอีกด้วย

รับชม Webinar ย้อนหลังได้ทันที

ใน Webinar ครั้งนี้มีการ Demo โซลูชัน VMware Horizon, VMware Workspace ONE และ VMware Cloud on AWS ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนรับชมได้ทันทีที่ https://VMware.zoom.us/rec/share/-px_LZLC9EJOeoXfzkDnfJVxAY26T6a82nMd_PALz0ZQ3v1X8obxlzym1q1Y12gn 

เข้าร่วม VMworld 2020 ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

เข้าร่วมชมงานสัมมนาออนไลน์จากวิทยากรชั้นนำระดับโลก กับเนื้อหาการบรรยายกว่า 900 Session ได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

เข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์ใหญ่ระดับโลกประจำปีจาก VMware โดยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดทั่วโลกในยามนี้ ทาง VMware จึงเปิดให้ผู้ที่สนใจทุกท่านเข้าร่วมงาน VMworld 2020 ในแบบออนไลน์ได้ฟรีกับเนื้อหากว่า 900 Session โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสามารถเลือกซื้อบัตรเพิ่มเติมเพื่อเข้าร่วม Workshop หรือเสวนากับผู้บริหารชั้นนำระดับโลกโดยตรงก็ได้เช่นกัน

งาน VMworld 2020 นี้จะจัดขึ้นในแบบถ่ายทอดสด ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 และจะจัดแบบถ่ายทอดย้อนหลังให้เข้าชมได้จนถึงสิ้นปี 2563 นี้ เพื่อให้ทุกท่านไม่พลาดเนื้อหาและแนวโน้มสำคัญในโลกเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ผู้ที่สนใจสามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อเข้าที่ https://reg.rainfocus.com/flow/vmware/vmworld2020/reg/form/contactInfo โดยทีมงานขอความกรุณากรอกข้อมูลชื่อบริษัทด้วยชื่อเต็มของหน่วยงานหรือองค์กรเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการจัดการกับข้อมูลการลงทะเบียนจากทีมรับลงทะเบียนในต่างประเทศ โดยขั้นตอนในการลงทะเบียนจะมีดังนี้

  1. ลงทะเบียนสร้าง Account เข้าร่วมงานครั้งแรกที่ https://reg.rainfocus.com/flow/vmware/vmworld2020/reg/form/contactInfo โดยคลิกที่ปุ่ม “Create one here” หากยังไม่เคยเข้าร่วม VMworld มาก่อน โดยต้องใช้ Email ของบริษัทในการลงทะเบียน

  2. ระบบจะทำการส่งอีเมล์ในหัวข้อ “Account Activation Email” ไปยังอีเมล์บริษัทที่ได้ลงทะเบียนไว้ ให้เข้าไปทำการคลิกที่ลิงค์ “Activate Your Account” 

  3. ระบบจะนำท่านไปสู่หน้าลงทะเบียนเข้าร่วมงาน VMworld 2020 ให้ทำการกรอกข้อมูลรายละเอียดตามจริง และจะมีส่วนที่ให้เลือกประเภทของบัตรเข้าชมงาน ก็สามารถเลือกบัตรที่มีราคา 0$ เพื่อเข้าร่วมงานได้ฟรีทันที

  4. เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ระบจะทำการส่งอีเมล์ในหัวข้อ “VMworld 2020 Registration Confirmation” กลับไปหาท่านในอีเมล์บริษัทที่ได้ทำการลงทะเบียนไว้ เพื่อยืนยันผลการลงทะเบียนว่าสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

from:https://www.techtalkthai.com/vmware-business-continuity-planning-part-i-cloud-on-aws/

[Guest Post] วีเอ็มแวร์ คลาวด์ เสริมความสามารถองค์กรเพื่อรองรับการสร้างนวัตกรรมและความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เร็ว ๆ นี้ทาง วีเว็มแวร์ ได้ทำการปรับปรุงพอร์ทโฟลิโอคลาวด์ อันจะช่วยให้องค์กรมีความยืดหยุ่นและสร้างทางเลือกที่มากขึ้นให้กับภูมิภาค ในการควบคุมศักยภาพของคลาวด์ตอบโจทย์ธุรกิจยุค mobile-first

วีเอ็มแวร์ (NYSE: VMW) ประกาศความก้าวหน้าล่าสุดของพอร์ทโฟลิโอ VMware Cloud ที่จะช่วยให้องค์กรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนโมบิลิตี้และสร้างความคล่องตัวให้กับองค์กร สิ่งนี้จะช่วยให้ธุรกิจเสริมสร้างความแข็งแกร่งเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของภูมิภาค ความก้าวหน้าล่าสุดของไฮบริดคลาวด์ร่วมกับความสามารถใหม่ของ VMware Cloud บน AWS, Azure VMware Solution รุ่นใหม่ VMware Cloud บน Dell EMC และความพร้อมใช้งานทั่วไปของ Google Cloud VMware Engine ซึ่งจะช่วยให้องค์กรต่างเข้าถึงบริการคลาวด์ที่ยืดหยุ่นและมีทางเลือกพร้อมยกระดับนวัตกรรม มีความคล่องตัวและความยืดหยุ่นทางธุรกิจ

เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าสูงถึง 100 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 300 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568 ในขณะที่ส่วนแบ่งดิจิทัลในภูมิภาคนั้นแคบลง จากรายงานล่าสุดของ  Asia Cloud Computing Association (ACCA) ระบุว่าความคืบหน้าเกี่ยวกับความพร้อมของคลาวด์นั้นได้ชะลอตัวลง ความต้องการสำหรับธุรกิจในการเปลี่ยนแปลงสู่การทำงานระยะไกล และการกระจายของทีมงานเป็นสัญญานให้เห็นถึงความซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย ทั้ง โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือด้านการจัดการ และในส่วนของกระบวนการ สำหรับองค์กรที่จะประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ องค์กรต้องการรากฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งพร้อมด้วยคลาวด์ที่เป็นแกนหลักเพื่อเร่งเปิดใช้นวัตกรรมทางธุรกิจและการเติบโตของเศรษฐกิจที่หลากหลายในภูมิภาค

การปรับปรุงใหม่ของพอร์ทโฟลิโอ VMware Cloud จะให้ความยืดหยุ่นแก่องค์กรและทางเลือกในการนำประโยชน์จากคลาวด์มาใช้ให้เต็มศักยภาพ ขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและสร้างความยืดหยุ่นเชิงธุรกิจในยุคที่องค์กรถูกขับเคลื่อนด้วยแอปและเศรษฐกิจแบบ mobile-first

VMware Cloud on AWS นำเสนอนวัตกรรมใหม่ สร้างคลาวด์อีโคโนมีที่ดีกว่า: บริการพับลิคคลาวด์ของ VMware สำหรับที่ใช้กับเวิร์คโหลดที่ทำงานด้วย vSphere ความสามารถใหม่ที่อัปเดตให้กับ VMware Cloud on AWS   ได้แก่ i3en instance รุ่นล่าสุด 2-Host SDDC Configuration บริการการจัดการคลาวด์ multi-tenant ซึ่งความสามารถที่อัปเดตใหม่เหล่านี้จะช่วยองค์กรธุรกิจทุกขนาดสามารถเข้าถึงระบบคลาวด์ได้ดีขึ้นในต้นทุนที่ถูกลง นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสะดวกในการโยกย้ายข้อมูล  และบริหารการทำงานระหว่างโมเดิร์นแอปพลิเคชันของวีเอ็มแวร์และบริการ VMware Cloud on AWS ได้เป็นอย่างดี

ลดภาระการทำงานด้วย Google Cloud VMware Engine: บริการเสริมที่ช่วยให้สามารถบริหารจัดการโซลูชันภายใต้ VMware Cloud Foundation stack ได้เต็มรูปแบบ ตั้งแต่ VMware vSphere vCenter vSAN NSX-T และ โซลูชัน HCX สำหรับการทำ cloud migration – ในสภาพแวดล้อมเฉพาะบนโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ของ Google Cloud เพื่อรองรับเวิร์คโหลดงานการผลิตขององค์กร

เพิ่มความเร็วและความคล่องตัวสำหรับส่งมอบแอปพลิเคชันด้วยโซลูชัน Alibaba Cloud VMware: โซลูชันนี้พร้อมให้บริการแล้วในประเทศจีนและภูมิภาคฮ่องกง องค์กรสามารถขยายเวิร์คโหลดด้วย VMware-based on premises สำหรับองค์กรไปยัง Alibaba Cloud โดยไม่ต้องปรับสภาพแวดล้อมของพวกเขา พร้อมทั้งสามารถบริหารจัดการเวิร์คโฟลว์ในสภาพแวดล้อมของวีเอ็มแวร์ได้โดยไม่ทำให้ระบบเน็ตเวิร์กและซีเคียวริตี้หยุดชะงัก

ความสามารถของบริการ vRealize Automation Cloud ของ VMware: บริการนี้มีขึ้นในสิงคโปร์ซึ่งสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค โดยบริการนี้ช่วยให้การส่งแอปพลิเคชันใหม่ ๆ ทำได้รวดเร็วมากขึ้น และสามารถจัดการไลฟ์ไซเคิลของบริการเหล่านี้บนคลาวด์ทุกรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจ รวมทั้งเดินหน้าต่อยอดประสบการณ์ใช้งานคลาวด์ บน AWS Azure Google Cloud หรือ VMware Cloud on AWS เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

เอกภาวิน สุขอนันต์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท วีเอ็มแวร์ กล่าวว่า “ในยุคที่มีการเกิดใหม่ของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เช่น 5G ปัญญาประดิษฐ์ และโมเดิร์นแอปพลิเคชัน โดยมีคลาวด์ทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเข้าถึงและกำลังสร้างโอกาสใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนร่วมกับอีโคซิสเต็ม อันช่วยจะสร้างความตื่นตาตื่นใจในนวัตกรรมให้กับประเทศไทย นอกจากความยืดหยุ่นและความคล่องตัวแล้ว องค์กรในประเทศไทยและภูมิภาคยังต้องการรักษาความมั่นคงในสภาพแวดล้อมแบบผสมผสานและแบบมัลติคลาวด์ ในขณะที่เราสร้างความแข็งแกร่งให้กับพอร์ทโฟลิโอคลาวด์ของเรา เราสามารถช่วยให้องค์กรก้าวกระโดดนวัตกรรมปรับขนาดและปรับปรุงความคล่องตัวเพื่อให้มั่นใจในความต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

คำกล่าวจากพาร์ทเนอร์:

AsiaPac

นายแอนดรูว์ เฉิง ผู้อำนวยการบริหาร AsiaPac Distribution Pte Ltd กล่าวว่า “ภายใต้แผนริเริ่มการพัฒนาประเทศไปสู่สมาร์ทเนชัน และความต่อเนื่องในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่ภายในองค์กรต่าง ๆ ในสิงคโปร์ นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย กระบวนการโยกย้ายบนคลาวด์ที่ไร้รอยต่อยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าของเราประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลอีโคโนมีอีกด้วย ในฐานะพาร์ทเนอร์ VMware Cloud on AWS ในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามุ่งมั่นสนับสนุนลูกค้าของเราด้วยการนำเสนอไฮบริดคลาวด์ที่ดีที่สุดเพื่อกระตุ้นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่และเตรียมความพร้อมให้กับใช้งานสำหรับอนาคต”

Telekom Malaysia

Mr Umapathy Sivan, CIO, Telekom Malaysia Berhad กล่าวว่า “เราขอขอบคุณ VMware ที่นำเสนอรวมทั้งให้ความรู้ที่สำคัญตลอดระยะเวลาที่เราสร้างทรานฟอร์เมชันของเรา โดยโซลูชันของ VMware ที่มาเสริมทัพการทำงานของบริการ TM ONE Cloud ของเราจะช่วยให้เราสามารถนำเสนอประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมให้แก่ลูกค้าของเราได้อย่างราบรื่นทั้งลูกค้าระดับองค์กรและผู้บริโภค ในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมรวมทั้งแรงผลักสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศมาเลเซียไปสู่ความเป็น Digital Nation เราเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ที่ครบวงจรประจำชาติและความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงบทบาทสำคัญของ TM ในฐานะผู้เปิดโฉมหน้าประเทศสู่การเป็น Digital Malaysia”

ปัจจุบัน VMware ให้การดูแลมากกว่า 10M เวิร์คโหลดบนคลาวด์ที่ทำงานภายในดาต้าเซ็นเตอร์มากกว่า 10,000 แห่งใน 128 ประเทศ ผู้ให้บริการคลาวด์มากกว่า 4,300 รายให้บริการ VMware Cloud ครอบคลุม Alibaba Cloud, Azure, AWS, Google Cloud, IBM Cloud, Oracle Cloud และพาร์ทเนอร์ที่ได้รับการรับรองในฐานะพาร์ทเนอร์ผู้ให้บริการ VMware Cloud มากกว่า 170 ราย

 

เกี่ยวกับวีเอ็มแวร์

วีเอ็มแวร์เป็นผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีความซับซ้อน บริการคลาวด์, เน็ตเวิร์กกิ้ง, ระบบซีเคียวริตี้และดิจิทัลเวิร์คเพลสของวีเอ็มแวร์พร้อมมอบรากฐานดิจิทัลแบบไดนามิกและมีประสิทธิภาพให้กับลูกค้าทั่วโลก ภายใต้ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์มากมาย โดยสำนักงานใหญ่วีเอ็มแวร์ตั้งอยู่ที่เมืองพาโล อัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย วีเอ็มแวร์ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นพลังสนับสนุนที่ดี จากแนวโน้มและผลกระทบการจัดการนวัตกรรมเชิงพื้นที่ในระดับโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูที่ https://www.vmware.com/company.html

 

from:https://www.techtalkthai.com/vmware-cloud/

VMware อัปเดตความสามารถให้ VMware Cloud on AWS

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจได้อย่างยืดหยุ่น วันนี้ VMware Cloud on AWS ได้ปรับปรุงให้มีต้นทุนต่ำลงเพื่อเข้าถึงธุรกิจได้มากขึ้น

Credit: Vmware

การอัปเดตใหม่ๆ มีดังนี้

  • i3en instance – มี instance ใหม่เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่เน้น Storage ปริมาณมาก โดย i3en ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อ GB ถูกลงไปกว่าครึ่ง พร้อมกันนี้ยังใช้ SSD เพื่อตอบสนองการเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว โดยชิปประมวลผลมาจาก 2nd Gen Intel Xeon Scalable นั่นเอง
  • 2-Host Production Cluster – สามารถทำคลัสเตอร์แบบ 2 โฮสต์เพื่อเริ่มใช้งาน Cloud on AWS ได้ด้วยต้นทุนต่ำลง
  • VMware Tanzu Kubernetes Grid – แพ็คเอาเครื่องมือโอเพ่นซอร์สและอัตโนมัติมาช่วยผู้ใช้สามารถบริการจัดการสภาพแวดล้อมแบบ Kubernetes 
  • VMware Transit Connect – ช่วยให้องค์กรสามารถกำจัดความยุ่งยากเมื่อต้องตั้งค่าการเชื่อมต่อข้ามไปมาระหว่าง Cloud on AWS, Amazon VPC และ On-premise โดย Transit Connect ต่อยอดจากบริการ AWS Transit Gateway ซึ่งช่วยเรื่องรองรับการเชื่อมต่อได้ตามความต้องการอย่างอัตโนมัติ รวมถึงสามารถประสานเอาโซลูชันจาก VMware SD-WAN เข้ามาเพื่อเชื่อมต่อระหว่าง Branch สู่ Cloud on AWS ได้
  • Multi-tenancy – เครื่องที่ช่วยให้ผู้ให้บริการ (Managed Service Provider) สามารถบริหารจัดการการแบ่งย่อยทรัพยากรไปจำหน่ายต่อนี้ มีต้นทุนต่ำลงแล้วเพราะอนุญาตให้ลูกค้าสามารถซื้อ Cloud on AWS เป็น VM ได้แทนเหมา Host

ที่มา :  https://www.vmware.com/company/news/releases/vmw-newsfeed.VMware-Cloud-on-AWS-Delivers-on-Customer-Requirements-for-Agility-Business-Continuity-and-Better-Cloud-Economics.7aa53d77-e377-458d-960f-5bf151e3f90c.html

from:https://www.techtalkthai.com/new-update-for-vmware-cloud-on-aws/