คลังเก็บป้ายกำกับ: TAIWAN

ขอดูดคนไทย! ไต้หวัน หวังดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก 6 ล้านคน ขอคนไทย 3.2 แสนคน เล็งขยายฟรีวีซ่า

การท่องเที่ยวไต้หวัน กางแผนปี 2023 นักท่องเที่ยวทั่วโลก 6 ล้านคน มั่นใจถึงแน่นเหตุสิ้นเดือน พ.ค. 2023 แตะ 2 ล้านคน มองนักท่องเที่ยวไทยเป็นเป้าหมายสำคัญ หวังทำได้ 3.2 แสนคนในสิ้นปีนี้ ชูจุดเด่น บินใกล้ และประหยัดกว่าคู่แข่ง ส่วนเรื่องขยายฟรีวีซ่ายังอยู่ระหว่างพิจารณา

ไต้หวัน

ไต้หวัน มองคนไทยเป็นนักท่องเที่ยวสำคัญ

ซีย ซิ่ว เม่ย รองผู้แทนประจำสำนักงานเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ในปี 2023 ทางไต้หวันตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าพื้นที่กว่า 6 ล้านคน โดยในสิ้นเดือน พ.ค. 2023 สามารถทำได้ 2 ล้านคน แบ่งเป็น 80% มาจากการท่องเที่ยวเชิงพักผ่อน

“ตอนนี้การท่องเที่ยวค่อนข้างฟื้นตัว แต่ยังไม่เทียบเท่ากับช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาดได้ โดยในปี 2019 จะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าพื้นที่กว่า 11 ล้านคน ส่วนประเภทของการท่องเที่ยวในปัจจุบันจะแบ่งเป็น 80% มาจากการท่องเที่ยวเชิงพักผ่อน ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งได้อีกเป็น 70% ที่ท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) และที่เหลือเป็นซื้อทัวร์”

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยถือเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญ เพราะติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้ามาในพื้นที่ และในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ค. 2023) นักท่องเที่ยวไทยเข้ามาในพื้นที่ ประมาณ 83,000 ราย มากขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 80%

จูงใจด้วยระยะทางสั้น ประหยัดกว่าคู่แข่ง

จากการเติบโตนี้ทำให้ ไต้หวัน ตั้งเป้านักท่องเที่ยวไทยเข้าพื้นที่ราว 3.2 แสนราย ในปี 2023 พร้อมจูงใจนักท่องเที่ยวไทยด้วยระยะทางบินที่สั้นกว่าคู่แข่ง หรือ 3.5 ชม. นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในประเทศที่ต่ำกว่า รวมถึงมีสายการบินต้นทุนต่ำรองรับในสนามบินต่าง ๆ ของประเทศไทย

“สำหรับกลุ่มเป้าหมายของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะเข้ามาในพื้นที่ไต้หวันจะเป็นกลุ่มคนอายุ 20-29 ปี รวมถึงมีทั้งกลุ่มพนักงานออฟฟิศผู้หญิงที่ต้องการกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้งหลังไม่ได้ออกไปต่างประเทศตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งมาตรการสนับสนุนเงิน 5,000 ดอลลาร์ไต้หวัน ก็ทำให้ไต้หวันถูกพูดถึงมากขึ้นเช่นกัน”

ล่าสุด ไต้หวัน แต่งตั้ง บอย ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรกของการท่องเที่ยวไต้หวันประจำประเทศไทย ด้วยคาแรกเตอร์อารมณ์ดี บุคลิกที่มีชีวิตชีวาและสไตล์ที่เป็นมิตร สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของไต้หวันที่มีความหลากหลาย และอุดมสมบูรณ์ ซึ่งกลยุทธ์นี้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวไปเที่ยวไต้หวันมากขึ้น

พิจารณาต่อฟรีวีซ่าช่วยดึงดูดอีกทาง

ปัจจุบัน ไต้หวัน ได้บริการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าพื้นที่มากขึ้น แต่หลังจากนี้ทางการมีแผนพิจารณาการเปิดให้ฟรีวีซ่าในแต่ละปี โดยขึ้นอยู่กับความสนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทย และการฟื้นตัวของภาพรวมการท่องเที่ยวหลังจากนี้

“หวังว่าปี 2024 การท่องเที่ยวจะฟื้นตัว 100% ซึ่งเรื่องนโยบายฟรีวีซ่า 14 วัน ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทย และวีซ่าธุรกิจ เราอยู่ระหว่างพิจารณาปีต่อปีว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร แต่ให้มั่นใจว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยคือกลุ่มสำคัญของเรา และจะมีการทำแคมเปญการท่องเที่ยวต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง”

ในทางกลับกัน นักท่องเที่ยวจากไต้หวันเข้ามาในประเทศไทยในปี 2019 ราว 83,000 คน ซึ่งปัจจุบันจำนวนดังกล่าวเริ่มมีมากขึ้น เพราะไทยคือเป้าหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวไต้หวันร่วมกับเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และฮ่องกง เพราะมีความสนุก และคุ้มค่าในการใช้จ่าย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ขอดูดคนไทย! ไต้หวัน หวังดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก 6 ล้านคน ขอคนไทย 3.2 แสนคน เล็งขยายฟรีวีซ่า first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/taiwan-thai-traveler-target-2023/

ไต้หวันเตรียมหามาตรการรับมือ หากโดนจีนตัดสายเคเบิลใต้น้ำ เน็ตพังทั้งประเทศ

รัฐบาลไต้หวันเริ่มหามาตรการแก้ปัญหา หากโดนรัฐบาลจีน “ตัดเน็ต” ด้วยการตัดสายเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งจะทำให้เกาะไต้หวันไม่สามารถสื่อสารกับโลกภายนอกได้

ปัญหานี้ไม่ได้เป็นแค่การคาดการณ์ เพราะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 เกิดเหตุว่าหมู่เกาะ Matsu ในปกครองของไต้หวัน (แต่อยู่เกือบติดชายฝั่งจีน) โดนเรือสัญชาติจีนทำเคเบิลใต้น้ำขาด 2 เส้น (พิสูจน์ไม่ได้ว่าอุบัติเหตุหรือตั้งใจ) ทำให้การสื่อสารได้รับผลกระทบ ที่ร้ายไปกว่านั้นคือเรือซ่อมเคเบิลใต้น้ำไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เป็นเวลานาน 2 เดือน กว่าจะซ่อมเสร็จต้องรอถึงเดือนเมษายน

เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลไต้หวันตื่นตัวอย่างมากเพื่อหาแนวทางแก้ไขในระยะยาว โดย Audrey Tang รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดคือ “ศัตรู” โจมตีโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศ เพราะรู้หมดว่าเสาสัญญาณอยู่ตรงไหนบ้าง และยังยกกรณีว่าไต้หวันเคยเจอปัญหาสายเคเบิลใต้น้ำขาดเมื่อปี 2006 จากแผ่นดินไหว ซึ่งต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะซ่อมเสร็จ

No Description

ภาพจาก @audreyt

แนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือใช้การสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นช่องทางสำรอง แม้ว่ามีแบนด์วิดท์ไม่มากเมื่อเทียบกับสายเคเบิลใต้น้ำ (0.01% ของแบนด์วิดท์) แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย ซึ่งรัฐบาลไต้หวันพูดคุยกับผู้ให้บริการดาวเทียมหลายราย เช่น SES Global, OneWeb, Project Kuiper ของ Amazon เพื่อกระจายความเสี่ยง ส่วน Starlink ของ SpaceX กลับมีความเสี่ยงว่า Elon Musk ลงทุนในจีนเป็นเงินมหาศาล และเคยให้สัมภาษณ์ว่าไต้หวันควรยอมเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน ทำให้คนไต้หวันไม่ไว้วางใจ

ส่วนเรื่องสายเคเบิลใต้น้ำ ไต้หวันยังพยายามสร้างสายเคเบิลใหม่ๆ เพิ่มเพื่อสำรองช่องทางให้มากที่สุด พัฒนาระบบความปลอดภัยของสายเคเบิลร่วมกับชาติพันธมิตรต่างๆ เช่น G7 และ Quad

นอกจากนี้ ไต้หวันยังพยายามคุยกับภาคเอกชนให้ระบบสื่อสารออนไลน์ต่างๆ สามารถใช้งานกันเองในประเทศได้ แม้โดนตัดทราฟฟิกออกสู่โลกภายนอก เพื่อให้รัฐบาลไต้หวันยังสามารถสื่อสารกับประชาชนของตัวเองได้ ตัวอย่างคือ Google Meet ตอนนี้ใช้ routing เฉพาะในประเทศแล้ว ในขณะที่ Zoom ยังต้องวิ่งออกนอกประเทศก่อนมาสร้างการเชื่อมต่อในประเทศ

ที่มา – Nikkei Asia, Bloomberg

from:https://www.blognone.com/node/134099

Terry Gou ผู้ก่อตั้ง Foxconn ยืนยันเตรียมลงชิง ปธน. ไต้หวันอีกรอบ

Terry Gou ผู้ก่อตั้งและอดีตประธาน Foxconn เคยประกาศลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันตั้งแต่ปี 2019 พร้อมลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดของบริษัท ก่อนจะแพ้ตั้งแต่การชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคก๊กหมิ่นตั๋ง ในการชิงชัยประธานาธิบดีเมื่อปี 2020

ล่าสุด Terry Gou เปิดเผยว่าเตรียมจะลงแข่งขันด้านการเมืองอีกครั้ง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้า 2024 โดยจะเริ่มจากการชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคก๊กหมิ่นตั๋งเช่นเดิม ก่อนจะไปแข่งกับวิลเลียม ไล (William Li) รองประธานาธิบดีไต้หวันปัจจุบัน ที่เป็นตัวแทนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในการชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศ

นโยบายของ Terry Gou รวมถึงพรรคก๊กหมิ่นตั๋งในระยะหลังคือมีแนวทางประนีประนอมกับจีน

ที่มา – Nikkei

ภาพจาก Getty Images

Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/133310

ไต้หวันผ่านกฎหมาย บริษัทผลิตชิปใช้งบ R&D ไปลดภาษีได้ หวังรักษาความเป็นผู้นำ

ไต้หวันเพิ่งผ่านร่างแก้ไขกฎหมายภาษี เปิดทางให้บริษัทอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ สามารถนำงบ 25% ที่ใช้ลงทุนใน R&D ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลไต้หวัน ต้องการรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตชิป ซึ่งไม่ใช่แค่ในแง่การมีคู่แข่งอย่างจีน แต่รวมถึงการที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศเช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐหรือแม้แต่สหภาพยุโรป ออกนโยบายผลักดันหรือส่งเสริมการผลิตและพัฒนาชิปภายในประเทศ (หรือภูมิภาค) ของตัวเอง ซึงตรงนี้รัฐบาลไต้หวันก็ต้องหาทางรักษาความเป็นผู้นำในแง่เทคโนโลยีและต้นตอของเทคโนโลยีเอาไว้ในประเทศ

นอกจาก R&D บริษัทผลิตชิปยังสามารถนำงบ 5% ที่ใช้ซื้อเทคโนโลยีล้ำหน้าใหม่ๆ มาใช้ลดภาษีได้เช่นกัน ซึ่งรัฐบาลไต้หวันบอกว่า มาตรการเหล่านี้คือ CHIPS Act ของไต้หวัน

ที่มา – Bloomberg

from:https://www.blognone.com/node/132197

Apple ออก AirPods Pro รุ่นพิเศษต้อนรับตรุษจีน พร้อมอีโมจิลายกระต่าย

พบกันเป็นสินค้าประจำปี โดยแอปเปิลออก AirPods รุ่นพิเศษจำนวนจำกัดต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ซึ่งปีนี้เป็น AirPods Pro 2 ที่กล่องแพ็คเกจและตัวเคสชาร์จ ที่สลักลวดลายอีโมจิพิเศษต้อนรับปีกระต่าย (คนละแบบกับของญี่ปุ่น)

แอปเปิลออกสินค้า limited ต้อนรับตรุษจีนมาแล้วหลายปี โดยปีที่ผ่านมาเป็นลายเสือ และปีก่อนเป็นลายวัว

AirPods Pro รุ่นพิเศษต้อนรับปีเถาะนี้ ขายเฉพาะในจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า ทั้งช่องทางออนไลน์ และหน้าร้าน Apple Store

ที่มา: GSM Arena

No Description

from:https://www.blognone.com/node/132062

Apple เตรียมใช้ชิปที่ผลิตในสหรัฐฯ จากโรงงาน TSMC ในแอริโซนา

Tim Cook ซีอีโอของ Apple เผยในที่ประชุมภายในบริษัทในเยอรมนีว่า บริษัทเตรียมใช้ชิปที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะหมายถึงจากโรงงานผลิตชิปของซัพพลายเออร์รายใหญ่อย่าง TSMC ที่กำลังก่อสร้างในรัฐแอริโซนา รวมทั้งจะใช้ชิปจากโรงงานในยุโรปเพิ่มมากขึ้น

โรงงานของ TSMC ในรัฐแอริโซนาคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2024 นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่าบริษัทวางแผนตั้งโรงงานเพิ่มอีกแห่งในรัฐเดียวกัน ปกติแล้ว Apple จะใช้ชิปจากโรงงานของ TSMC ที่อยู่ในไต้หวัน โดย Cook เผยว่าชิป 60% ของ Apple มาจากไต้หวัน

หาก Apple สามารถใช้ชิปที่มาจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปเพิ่มขึ้นก็เท่ากับว่าได้ลดการพึ่งพาเอเชียลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สหรัฐฯ ออกกฎหมาย Chip and Science Act ให้เงินสนับสนุน 5 หมื่นล้านเหรียญสำหรับบริษัทที่มาตั้งโรงงานผลิตชิปในประเทศ ส่วนยุโรปเองก็มีนโยบายสนับสนุนในแนวทางเดียวกัน ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า TSMC เข้าเจรจากับรัฐบาลเยอรมนีเรื่องการตั้งโรงงานใหม่

ทั้งนี้ TSMC เผยว่าโรงงานผลิตชิปแห่งแรกในรัฐแอริโซนาจะใช้เทคโนโลยีผลิตชิป 5 นาโนเมตร และผลิตได้ราว 20,000 หน่วยต่อเดือน ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอกับความต้องการของ Apple ที่ต้องการอัปเกรดมาใช้ชิป 3 นาโนเมตร แต่ TSMC ก็อาจจะมีเทคโนโลยีใหม่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ได้

ล่าสุดบริษัทลงทุนของ Warren Buffet ก็ได้เข้าซื้อหุ้น TSMC มูลค่าราว 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มา: Bloomberg

from:https://www.blognone.com/node/131511

ศุลกากรจีนอายัดชิ้นส่วน iPhone ที่ส่งมาจากไต้หวัน เพราะมีคำว่า ‘Made in Taiwan’ บนฉลาก

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว กรมศุลกากรจีนมีคำสั่งอายัดชิ้นส่วน iPhone ที่จัดส่งมาจากไต้หวันโดยมีจุดหมายคือโรงงาน Pegatron ในเมืองซูโจว เพราะมีคำว่า “Made in Taiwan” ปรากฏบนฉลากสินค้า ทำให้ Apple เริ่มเป็นกังวลว่าอาจส่งผลกระทบถึง iPhone 14 ที่กำลังจะเปิดตัว จึงได้มีคำขอเร่งด่วนไปยังซัพพลายเออร์ในไต้หวัน ให้ปฏิบัติตามกฎของจีน

ตามกฎของจีน สินค้าที่ส่งออกจากไต้หวันต้องมีคำว่า “Taiwan, China” หรือ “Chinese Taipei” อย่างใดอย่างหนึ่งสำแดงบนฉลาก เพราะจีนมีแนวคิดเรื่อง “จีนเดียว” โดยมองว่าไต้หวันเคยเป็นส่วนหนึ่งของจีน และปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่

เดิมทีกฎนี้มีมาก่อนตั้งนานแล้ว แต่ถูกยกระดับการนำมาใช้อย่างจริงจังจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน

ทว่า ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลไต้หวันก็ขอให้ซัพพลายเออร์ในประเทศติดฉลากสินค้าด้วยคำว่า “Taiwan” หรือ “Republic of China” ที่เป็นชื่อดั้งเดิมอย่างเป็นทางการเช่นกัน

เรื่องนี้จึงทำให้ซัพพลายเออร์ในไต้หวันอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก คือถ้าไม่ทำตามกฎจีน จะมีโทษปรับสูงสุด 4,000 หยวน หรืออย่างเลวร้ายที่สุดคือระงับการจัดส่ง เดือดร้อนไปถึงลูกค้า แต่ครั้นจะไปทำตามจีน ก็จะกลายเป็นขัดต่อคำขอของรัฐบาลในประเทศตัวเองเสียอีก ตอนนี้เลยต้องหารือกันอยู่ว่าจะหาทางออกร่วมกันอย่างไรดี

มีรายงานว่าไม่ใช่มีแต่ Apple ที่ต้องวิตกในเรื่องนี้ ผู้ผลิตหลายรายที่มีโรงงานประกอบสินค้าในจีนและต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากไต้หวันก็เจอปัญหานี้ไม่ต่างกัน

 

ที่มา : Nikkei Asia (1, 2)

from:https://droidsans.com/apple-iphone-supplier-disrupt-made-in-taiwan/

Intel เตือน อุปทานชิปอาจจะลดลง จากวิกฤติไต้หวัน

ความตึงเครียดเหนือไต้หวันระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจจะทำให้เกิดปัญหาอุปทานชิปทั่วโลกลดลง อุณหภูมิความเดือดเพิ่มสูงขึ้นหลังจากการเยือนไต้หวันโดยประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ แนนซี เปโลซี

ถอดบทสัมภาษณ์ Frans Scheper หัวหน้าฝ่ายยุโรปของ Intel เกี่ยวกับความเป็นไปได้ต่อเหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลการปิดการส่งออกของไต้หวันจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงและอาจทำให้เกิด “วิกฤตครั้งใหญ่”
 
“ส่วนประกอบโทรศัพท์มือถือ ชิป 80-90 ชิ้นมาจากเอเชีย”
 
“Intel กำลังเพิ่มการลงทุนในโรงงานผลิตเพื่อป้องกันการหยุดชะงักที่อาจจะเกิดขึ้น”
 
“Intel กำลังลงทุนครั้งใหญ่ในยุโรปและในอเมริกาเหนือเพื่อสร้างความสมดุลให้มากขึ้น”
 
“การเพิ่มการลงทุนอาจจะช่วยบรรเทาปัญหาการหยุดชะงักในระยะสั้นเท่านั้น”
 
แผนการรับมือของ Intel ได้เริ่มมองเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น เมื่อ Intel ใกล้บรรลุข้อตกลงมูลค่ากว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างโรงงานบรรจุและประกอบเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในอิตาลี
 
นี่คือแผนการรับมือของผู้ผลิตชิปอย่าง Intel ซึ่งหลังจากนี้เราอาจจะได้เห็นแผนจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากชิปซึ่งส่วนใหญ่ผลิตอยู่เอเชียเป็นหลัก จากการถอดบทสัมภาษณ์ทำให้มองเห็นความกังวลว่าความตรึงเครียดครั้งนี้อาจจะไม่จบลงในเร็วๆ นี้แน่ๆ แล้วแผนการเพิ่มการลงทุนจะช่วยบรรเทาปัญหาการหยุดชะงักในระยะสั้นจะเพียงพอที่จะรับมือได้หรือไม่
 

from:https://www.techtalkthai.com/intel-exec-warns-chip-supply-may-be-declining/

ถ้าจีนบุกไต้หวัน ชิป (อาจ) หายไปค่อนโลก – ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ กำลังเป็นประเด็นที่ทั้งโลกต้องหันมาให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงอุตสาหกรรมไอทีที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งปัจจุบันไต้หวันถือเป็นยักษ์ใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่า 60% หากที่สุดแล้วเรื่องราวบานปลายจนเกิดภาวะสงครามขึ้นมา สินค้าไอทีมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ชิป (อาจ) หายไปค่อนโลก

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมากต้องพึ่งพาชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ หรือเรียกง่าย ๆ คือ “ชิป” มีตั้งแต่ของเล็ก ๆ ที่เราเห็นกันทุกวันอย่างสมาร์ท ใหญ่ขึ้นไปหน่อยก็มีพีซี โทรทัศน์ ตู้เย็น หรือแม้กระทั่งรถยนต์ด้วยก็เช่นกัน

ทำไมไต้หวันถึงมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

ตามรายงานของ TrendForce ที่เปิดเผยออกมาเมื่อปีที่แล้ว บริษัทในไต้หวันถือครองส่วนแบ่งตลาดเซมิคอนดักเตอร์รวม 63% และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 66% ในปีนี้ โดยมี TSMC เป็นหัวหอก ถือครองส่วนแบ่ง 54% ของทั้งโลก ส่วนอันดับรองลงมาคือ เกาหลีใต้ที่ 18% โดย 17% มาจาก Samsung

ความสำคัญของ TSMC ไม่ใช่แค่การเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุด หากแต่ยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิปที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าที่สุดร่วมกับ Samsung และด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ TSMC กลายเป็น “ศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจของโลก” ไปโดยปริยาย แม้บริษัทจะไม่ได้อยากเป็นอย่างนั้นเลยสักนิดก็ตาม

ส่วนแบ่งการตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก

  • TSMC (ไต้หวัน) – 54%
  • Samsung (เกาหลีใต้) – 17%
  • UMC (ไต้หวัน) – 7%
  • GlobalFoundries (สหรัฐฯ) – 7%
  • SMIC (จีน) – 5%
  • HH Grace (จีน) – 1%
  • PSMC (ไต้หวัน) – 1%
  • VIS (ไต้หวัน) – 1%
  • DB HITek (จีน) – 1%
  • Tower Semiconductor (อิสราเอล) – 1%
  • บริษัทอื่น ๆ รวมกัน – 5%

ชิปหายกันครึ่งโลก ไม่ใช่เรื่องเกินจริง

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เดิมทีก็พบปัญหาชิปขาดแคลนที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2563 อยู่แล้ว จากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซ้ำด้วยการระบาดของ COVID-19 จนโรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลงจาการล็อกดาวน์ ไปจนถึงภัยธรรมชาติที่เกิดในบางประเทศส่งผลต่อกำลังการผลิต ซึ่งจนถึงตอนนี้แม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ 100%

ดังนั้น ถ้า TSMC และบริษัทอื่นในไต้หวันไม่สามารถผลิตชิปได้ การที่ชิป (อาจ) หายไปค่อนโลก ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงเท่าไหร่นักที่จะจินตนาการถึง ที่น่าเป็นห่วงคือ Apple ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ TSMC ซึ่งมีสินค้าสำคัญ ๆ อย่าง iPhone และ iPad รวมถึงสินค้าตระกูล Mac

ลูกค้า TSMC ตามสัดส่วนรายได้ของบริษัท

  • Apple – 25.93%
  • MediaTek – 5.80%
  • AMD – 4.39%
  • Qualcomm – 3.90%
  • Broadcom – 3.77%
  • Nvidia – 2.83%
  • Sony – 2.54%
  • Marvell – 1.39%
  • STM – 1.38%
  • ADI – 1.06%
  • Intel – 0.84%

จีนบุกเอง ก็อาจเจ็บเอง เสียหายกันทุกฝ่าย

ทางสหรัฐฯ พยายามโน้มน้าวให้ TSMC ย้ายฐานการผลิตออกจากไต้หวันมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน โดย TSMC พึ่งตั้งโรงงานในสหรัฐฯ ด้วยมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านเหรียญไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และกำลังจะตั้งอีกแห่งในญี่ปุ่น โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งแน่นอนว่าจีนคงไม่พอใจในเรื่องนี้

แต่หากจีนคิดจะหันหอกหาไต้หวัน ก็มีความเสี่ยงที่หอกนั้นจะย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเองเช่นกัน เพราะถึงแม้จีนพยายามจะส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศเป็นลำดับตามกลยุทธ์ระยะยาวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ข้อเท็จจริงคือจีนยังตามหลังคู่แข่งอยู่อีกหลายปี ทำให้ต้องอาศัยการพึ่งพาเครื่องจักรและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และยุโรปอยู่ หากไม่มีชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ป้อนเข้าสู่ประเทศ เศรษฐกิจอาจพังครืนไม่เป็นท่าเอาง่าย ๆ

หลักฐานอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่าโรงงานผลิตชิปในไต้หวันมีความสำคัญต่อจีนมากแค่ไหน คือมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจล่าสุดของจีน ที่เริ่มแบนสินค้าหลายอย่างจากไต้หวัน เช่น สินค้าประเภทอาหาร ผลไม้ และสินค้าจากการประมง แต่กลับไม่แตะต้องธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์เลย

นอกจากนี้ มาร์ก หลิว ประธานบริษัท TSMC ยังบอกกับสื่อต่างประเทศว่า จีนไม่สามารถใช้กำลังมาบังคับหรือข่มขู่ TSMC ให้ทำตามคำสั่ง (ผลิตชิป) ตามอำเภอใจได้ เพราะกระบวนการผลิตมีความซับซ้อนสูง ต้องมีการติดต่อกับโลกภายนอกแบบเรียลไทม์ ทั้งปัจจัยด้านวัสดุ สารเคมี ชิ้นส่วนอะไหล่ ซอฟต์แวร์ และการตรวจสอบชิป โดยเจ้าตัวหวังว่าสุดท้ายเหตุการณ์จะไม่ลุกลามไปจนถึงขั้นนั้น ก็จะเป็นการดีที่สุด

เรียกได้ว่าการก่อสงครามคงเป็นเรื่องที่ไม่ส่งผลดีอะไรกับทุกฝ่าย ไม่ว่าฝั่งไหนก็จะได้รับผลกระทบในเชิงลบ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อ้างอิง

from:https://droidsans.com/china-taiwan-us-semiconductor/

หน่วยงานภาครัฐ-เอกชันไต้หวันถูกโจมตีไซเบอร์ในช่วง Nancy Pelosi เยือนไต้หวัน

กระทรวงกลาโหมไต้หวัน รายการการโจมตีไซเบอร์ด้วยการยิง DDoS ถล่มเว็บไซต์ของกระทรวงเมื่อช่วงดึกของวันที่ 3 สิงหาคม ส่วนเว็บไซต์ของทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันก็โดนโจมตีด้วยเช่นกัน

Audrey Tang รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ให้ข้อมูลว่าปริมาณการโจมตีเว็บไซต์ของรัฐบาล ในช่วงที่ Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ไปเยือนไต้หวันระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม อยู่ที่ 15,000 gigabits สูงกว่าปกติ 23 เท่า

กลุ่มแฮ็กเกอร์ APT 27 ที่เชื่อกันว่ารัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลัง ออกมาประกาศว่าเป็นผู้โจมตีไซเบอร์ต่อไต้หวัน เพื่อประท้วง Nancy Pelosi ที่ท้าทายคำเตือนของรัฐบาลจีน

หน่วยงานภาคเอกชนของไต้หวันก็มีรายงานการถูกโจมตี โดยร้านสะดวกซื้อหลายแห่ง และสถานีรถไฟบางแห่งถูกแฮ็กหน้าจอแสดงผลดิจิทัลที่ใช้แสดงโฆษณา (digital signage) โดยขึ้นข้อความเป็นภาษาจีน มีความหมายว่า “Pelosi บ้าสงคราม ออกไปจากไต้หวันซะ”

จากการสอบสวนของคณะกรรมการสื่อสารของไต้หวัน (National Communications Commission เทียบได้กับ กสทช. บ้านเรา) พบว่าระบบป้ายดิจิทัลที่ถูกแฮ็กใช้ซอฟต์แวร์จากประเทศจีน

No Description

ภาพป้ายในสถานีรถไฟที่ถูกแฮ็ก

ที่มา – กระทรวงกลาโหมไต้หวัน, ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวัน, Focus Taiwan, Reuters

from:https://www.blognone.com/node/129684