คลังเก็บป้ายกำกับ: POLITICAL_MARKETING

Twitter ห้ามลงโฆษณาเรื่องการเมืองทุกประเภท ชี้ประชาชนรับรู้ดังกล่าวได้ด้วยตนเอง

CEO ของ Twitter ‘Jack Dorsey’ ประกาศผ่านทวีตส่วนตัว @jack ระบุอย่างชัดเจนว่าบริษัทจะไม่อนุญาตให้ลงโฆษณาที่เป็นเกี่ยวข้องกับทางการเมืองทุกประเภท Jack อธิบายอย่างเป็นลำดับในทวิตส่วนตัวอย่างชัดเจนพอสมควร

เขามองว่า โฆษณาผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีพลัง แต่พลังนั้นนำมาซึ่งความเสี่ยง ซึ่งมีผลต่อการลงคะแนนหรือโหวต และมีผลต่อผู้คนมากมายหลายล้านชีวิต ประกอบกับมีความท้าทายหลายอย่างเช่น Machine Learning และ Deepfake ที่มาอย่างเร็วและซับซ้อนมากขึ้น

แน่นอนการตัดสินใจครั้งนี้ ต้องการส่งแรงกระทบไปยัง Facebook อย่างชัดเจน เนื่องจากก่อนหน้านี้ CEO Facebook ‘Mark Zuckerberg’ มองว่าไม่ควรปิดกั้นการลงโฆษณาทางการเมือง เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่แต่ละคนจะลงโฆษณาและประชาชนควรจะรับรู้ข้อมูล

โดย CEO Twitter กล่าวเสียดสีว่า “ความน่าเชื่อถือจะไม่เกิดขึ้นเมื่อพูดว่า: พวกเรากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อหยุดผู้คนจากการเล่นเกมบนระบบของเราเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด แต่!!! แต่ถ้าใครสักคนจ่ายเงินให้เราเพื่อยิงแอดและบังคับให้คนเห็นโฆษณาทางการเมืองของเขา…อืม…พวกเขาสามารถพูดอะไรก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ!“

ซึ่ง Jack ชี้ให้เห็นว่ากำกับดูแลโฆษณาทางการเมืองแม้จะก้าวหน้ามากขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอ และมองว่าการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ไม่จำเป็นต้องใช้การโฆษณาทางการเมืองเลย

ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมจะประกาศในวันที่ 15 พ.ย. นี้ และการห้ามโฆษณาทางการเมืองจะมีผลในวันที่ 22 พ.ย. 62

อ่านแถลงการณ์ผ่านทวิตของ CEO Twitter แบบแปลเป็นภาษาไทยได้จากด้านล่างนี้


พวกเราตัดสินใจหยุดการโฆษณาทางการเมืองบน Twitter ทั่วโลก พวกเราเชื่อว่าการสื่อสารทางการเมืองจะเข้าถึงคนได้ผ่านการรับรู้โดยตรง ไม่ใช่จากการซื้อโฆษณา ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เราจะอธิบายเหตุผลให้ฟัง

การสื่อสารทางการเมืองแต่ละอันจะได้รับความสนใจเมื่อ Follow บัญชีนั้นๆ หรือ Retweet ทวีตอันใดอันหนึ่ง การจ่ายเงินเพื่อให้เกิดความสนใจเป็นการตัดสินใจของประชาชน รวมถึงเป็นการบังคับให้ข้อความด้านการเมืองที่ถูกปรับแต่งมานั้นพุ่งเป้าไปถึงประชาชน พวกเราเชื่อว่าการตัดสินใจครั้งนี้ไม่ควรประนีประนอมกับ “เรื่องเงิน”

ในขณะที่การโฆษณาผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีพลังอย่างเหลือเชื่อ และมีประสิทธิภาพมากสำหรับผู้ลงโฆษณาเชิงพาณิชย์ แต่พลังนั้นนำมาซึ่งความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในทางการเมือง โดยการโฆษณาดังกล่าวสามารถสร้างอิทธิพลต่อการลงคะแนนหรือโหวต มีผลต่อผู้คนมากมายหลายล้านชีวิต

จะเห็นว่าโฆษณาทางการเมืองบนอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันมีเรื่องความท้าทายใหม่ๆ ต่อบรรยากาศการสนทนาของพลเมือง เช่น Machine Learning ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสื่อสารและเจาะกลุ่มเป้าหมายย่อย, ข้อมูลที่สื่อสารผิดไปแล้วขาดการตรวจสอบ และ Deepfake ซึ่งทั้งหมดนี้มาพร้อมกับความเร็ว, ความซับซ้อน และความครอบงำที่มีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งความท้าทายทั้งหมดนี้มีผลต่อทุกการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่แค่การลงโฆษณาเรื่องการเมือง ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการโฟกัสที่รากของปัญหา แบบไม่เพิ่มภาระและความซับซ้อนของการนำเงินมาใช้ การพยายามแก้ปัญหาทั้งสองประเด็น หมายถึงการแก้ทั้งสองอย่างให้ดีขึ้นไม่ได้ และเป็นอันตรายต่อความน่าเชื่อของ Twitter

ตัวอย่างเช่น ความน่าเชื่อถือจะไม่เกิดขึ้นเมื่อพูดว่า “พวกเรากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อหยุดผู้คนจากการเล่นเกมบนระบบของเราเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด แต่!!! แต่ถ้าใครสักคนจ่ายเงินให้เราเพื่อยิงแอดและบังคับให้คนเห็นโฆษณาทางการเมืองของเขา…อืม…พวกเขาสามารถพูดอะไรก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ!”

ก่อนหน้านี้เราได้ตัดสินใจสร้างไม่อนุญาตให้โฆษณาเฉพาะผู้สมัครทางการเมือง แต่โฆษณาหลายอันก็นำเสนอวิธีหลีกเลี่ยง ซึ่งมันไม่แฟร์กับทุกคน(ในแพลตฟอร์ม) แต่ผู้สมัครทางการเมืองก็ต้องการซื้อโฆษณาเพื่อผลักดันประเด็นของเขา ดังนั้นเราก็ต้องหยุดเรื่องพวกนี้ด้วย

พวกเราตระหนักดีกว่า พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการโฆษณาทางการเมืองที่ขนาดใหญ่ขึ้น บางคนอาจโต้แย้งว่าการกระทำของเราในวันนี้อาจเป็นประโยชน์กับผู้ครองตลาด แต่เราเห็นการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) เข้าถึงคนหมู่มากได้โดยไม่ต้องพึ่งการโฆษณาทางการเมือง ซึ่งเราเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้พวกเราต้องการสร้างกำกับดูแลโฆษณาทางการเมือง (แม้จะยากมากที่จะทำ) ถึงการกำหนดข้อบังคับเพื่อสร้างความโปร่งใส่ในการโฆษณาจะก้าวหน้าไปมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ปัจจุบันโลกอินเทอร์เน็ตสามารถทำสิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ และหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ต้องคิดแล้วว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นเรากำกับสนามนี้ได้จริงๆ หรือเปล่า
ทำให้เราจะแถลงข่าวเรื่องนโยบายนี้ในวันที่ 15 พ.ย. นี้ พร้อมกับเงื่อนไขบางอย่าง (เช่น โฆษณาที่สนับสนุนให้คนไปเลือกตั้งจะยังได้รับการอนุญาต) โดยพวกเราจะเริ่มบังคับใช้นโยบายในวันที่ 22 พ.ย. 62 เพื่อให้ผู้ลงโฆษณาทราบช่วงเวลาบังคับใช้ ก่อนที่นโยบายดังกล่าวจะมีผลจริงๆ

สุดท้าย นี่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นี่เป็นเรื่องในการจ่ายเงินเพื่อการเข้าถึงผู้คน และประเด็นการจ่ายเพื่อเพิ่มการพูดถึงเรื่องการเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประชาธิปไตยของปัจจุบัน ซึ่งอาจจะยังไม่มีการเตรียมรับมืออย่างเพียงพอ ถือเป็นเรื่องที่คุ้มค่าอย่างยิ่งที่จะเดินถอยกลับไปในที่ที่ควรจะอยู่


from:https://www.thumbsup.in.th/twitter-doesnt-allow-political-ads

4 กลยุทธ์ทางการตลาด ที่นักการเมืองนิยมใช้ในช่วงหาเสียง

นับตั้งแต่วันที่วันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการถูกเคาะออกมาเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 สนามการเมืองก็เริ่มคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลายพรรคการเมืองเริ่มปลดล็อกตัวเอง เดินเกมสู่สนามเลือกตั้งอย่างเต็มที่ แม้จะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมากมาย แต่ในที่สุดก็เดินทางมาถึงวันโหวตยกมือเลือกให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

จะเห็นได้ว่า “การตลาดการเมือง” (Political Marketing) ก็ยังมีการนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง

ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Business School) เคยกล่าวในรายการ Biz Genius ของวิทยุจุฬา ในหัวข้อ “กลยุทธ์การตลาดที่นักการเมืองมักใช้ในการเมือง” ได้อย่างน่าสนใจ

เพราะการหาเสียงเลือกตั้งผ่านออนไลน์ในครั้งนี้ สามารถถอดบทเรียนเรื่องของการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing), กลยุทธ์ทางการตลาด (Strategic Marketing)  และการสร้างแบรนด์ในระดับบุคคล (Personal Branding) ได้หลายแง่มุม ซึ่งมีข้อมูลและความเห็น thumbsup ประกอบด้วยในบางส่วน

4 กลยุทธ์ทางการตลาดที่นักการเมืองนำมาใช้

ดร.เอกก์ เล่าต่อว่า 4S ที่เหล่าบรรดานักการเมืองใช้ คือ Sensation, Story, Speed และ Social Media

1. Sensation

โดย ดร.เอกก์ ระบุว่า คนเราใช้อารมณ์ตัดสินใจเยอะมาก และพิจารณาภาพลักษณ์ภายนอก เมื่อคุณสมบัติของผู้นำทางการเมืองมีความใกล้เคียงกัน ทำให้ “รูปลักษณ์ภายนอก” ส่งผลต่อการเลือกนักการเมือง

จะเห็นว่ามีดารา นักแสดง นักร้อง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ต่างทยอยเดินเข้าออกทางการเมืองอยู่เสมอ แม้จะมีเหตุผลอื่นๆ ที่เข้ามาทำงานตรงนี้

ซึ่งสัมผัสทั้งห้าอย่าง “รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส” จึงถูกนำมาใช้ในการเมืองตลอด ยิ่งการหาเสียงแบบพบปะผู้คน การได้สัมผัสตัว (เช่น จับมือ กอด หรือแม้แต่หอมแก้ม) ได้ให้สิ่งของ (ให้ดอกไม้หรือคล้องมาลัย) ได้ถ่ายรูป ได้เซลฟี่กับนักการเมือง มีผลมากๆ โดยเฉพาะในเมืองไทย

ความสำเร็จจากต่างประเทศที่เห็นได้ชัดสุด คงหนีไม่พ้นการเมืองประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2551 ที่ Barack Obama ชนะการเลือกตั้งจากการใช้ Social Media ในการนำเสนอตัวบุคคลที่เป็นนักการเมืองผิวสี (ตามกระแสความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้น) และแคมเปญ “Change” ที่เล่นกับความรู้สึก “ขี้เบื่อ” ของคนได้ ทำให้ชนะการเลือกตั้งในเวลานั้นไปในที่สุด

2. Story

สังเกตว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มีนักการเมืองหน้าใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่จะว่าพรรคการเมืองจะทำอย่างไรให้ผู้คนจดจำนักการเมืองคนนี้ได้?

คำตอบก็คือนักการเมืองคนนั้น ก็ต้องมาพร้อมกับการเล่าเรื่อง (Storytelling) ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เคยทำอะไรมาบ้าง ถ้าบอกแค่ว่าคนนี้ดี ซื่อสัตย์จริงใจ มันไม่พอ เพราะ คุณค่า (Value) ที่เกิดขึ้นจะมีไม่มากนัก

แต่ถ้าใช้วิธีเล่าเรื่องว่าความดี ความเก่ง หรือความเจ๋ง มีที่มาที่ไปอย่างไร ก็จะทำให้นักการเมืองคนนั้นมีคุณค่า (Value) เพิ่มขึ้นทันที

แต่ต้องระวังหนึ่งอย่างคือ เรื่องราว (Story) นั้นต้องมีอยู่จริง ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยจาก McCann Worldgroup ที่ระบุในข้อแรกเลยว่า

ความจริงเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด (Truth is the most valued currency) ผู้บริโภคตั้งคำถาม โดยเริ่มไม่เชื่อใจสิ่งรอบตัว แม้แต่เรื่องสื่อ การเมือง สื่อสังคมออนไลน์ และสถาบันระดับโลก แต่ผู้บริโภคเชื่อใจในแบรนด์ว่าจะเข้าใจผู้บริโภคได้จริงๆ

ซึ่งพรรคการเมืองก็ถือเป็นแบรนด์หนึ่งที่ประชาชนเลือกนั่นเอง จะเห็นว่าพรรคการเมืองใหม่ๆ ก็ดูได้เปรียบในเรื่องนี้ แต่พรรคการเมืองเดิมๆ ก็มีความได้เปรียบตรงที่สามารถสื่อสารการปรับเปลี่ยนในพรรคให้ฐานแฟนคลับได้ด้วยเช่นกัน

3. Speed

เกิดเรื่องอะไรที่เป็นกระแส นักการเมืองจะมุ่งไปที่เรื่องนั้น เล่นกับกระแสที่เกิดขึ้นทันที หรือกระแสที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กระแสความหลายทางเพศ, เพศทางเลือกอย่าง LGBTQ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender และ Queer) หรือแม้แต่กระแสการทำให้กัญชาเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย ก็มีผลต่อการตัดสินใจเช่นกัน

4. Social Media

เครื่องมืออย่างโซเชียลมีเดียในยุคนี้ มีสิ่งที่เรียกว่า “Retargeting” ซึ่งบอกได้ทันทีว่า ใครคือกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นป้อนข้อความ (Message) ไปยังกลุ่มคนแต่ละกลุ่มที่ความต้องการแตกต่างกันออก ได้แบบซ้ำๆ บ่อยๆ และจะเจอในทุกๆ ที่

นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเรารู้สึกว่าทำไมนักการเมืองคนนี้ช่างพูดตรงใจเรา เพราะคำพูดจากนักการเมือง ถูกแสดงมาให้เห็นบ่อยๆ นั่นเอง

“สติ” คือเรื่องสำคัญ ประชาชนต้องรู้เท่าทัน

ดร.เจกก์ ระบุว่าประชาชนต้องมี ‘สติ’ เพราะนักการเมืองเล่นกับอารมณ์ มีเรื่องราว ตามกระแสรวดเร็ว ใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสาร เราจะหลงสนุกไปด้วย จนลืมคิดว่าเลือกหรือไว้วางใจใครสักคน

“เพราะนักการตลาดมีเครื่องมือเยอะมากที่ทำให้คนหลง โดยที่ของข้างในไม่ได้ดีจริง การซื้อของผิด มีปัญหาแค่เรา แต่การเลือกคนผิด เกิดปัญหาที่ประเทศของเรา อย่าหลงกับข้อมูลฉาบฉวย ต้องใช้เวลาไตร่ตรองให้ดี” ดร.เจกก์ กล่าว

ส่วนโชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย เคยกล่าวไว้ในคอลัมน์ ‘โชคช่วยด้วยการตลาด’ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เมื่อนานมาแล้ว ว่าการตลาดและการเมืองจะไปด้วยกันได้ดีถ้านักการเมืองจะเป็นคนที่ดี มีความจริงใจ มีจริยธรรมและนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน

โดยนำยุทธวิธีทางการตลาดมาใช้ในการให้ข้อมูลข่าวสาร เผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ที่ดีให้กับประชาชน เพื่อประชาชนจะได้รับประโยชน์จากนโยบายและโครงการต่างๆ อย่างแท้จริง

“มีไหมครับนักการเมืองและการตลาดแบบนี้ ถ้ามีแบบนี้เยอะๆ ผมเชื่อว่า เมืองไทยของเราก็ยังพอมีหวังครับ” โชค บูลกุล กล่าวปิดท้ายในคอลัมน์

from:https://www.thumbsup.in.th/2019/06/political-marketing-in-thailand-2019/