คลังเก็บป้ายกำกับ: BOOK

หมดยุคหนังสือพัฒนาตัวเองสุดโต่ง คนยุคนี้เหนื่อยก็พัก เทรนด์ปล่อยวางมาแรง รู้จักช่างแ-่งบ้างก็ได้

10 ปีที่แล้ว หนังสือขายดี มักเป็นหนังสือแนวพัฒนาตนเอง เช่น “เครื่องบอกทิศนำทางชีวิต” “บิดารวยสอนลูก” “ใช้ชีวิตให้ยิ่งใหญ่เหมือนผู้นำระดับโลก” “เก่งขึ้นได้ด้วย 10 วิธีง่ายๆ เปลี่ยนชีวิต” ชื่อบนปกแสนล่อตาล่อใจ ยิ่งชวนให้สงสัยว่าการพลิกหน้ากระดาษ 100-200 แผ่นนั้น จะทำให้คนธรรมดาอย่างเราเปลี่ยนไปได้อย่างคำเชื้อเชิญบนปกบอกไว้จริงหรือไม่

หนังสือพัฒนาตัวเองอาจไม่ได้หายไป แต่ตั้งชื่อปกที่เข้าถึงอารมณ์คนยุคนี้มากกว่า

จนมาถึงปัจจุบัน หนังสือแนวพัฒนาตนเอง ก็ยังไม่ได้จางหายไปจากชั้นหนังสือขายดี แต่มุมมองต่อการพัฒนาตนเองนั้น ไม่ได้เหมือนกับในสิบปีที่แล้วอีกต่อไปแล้ว หากกวาดสายตาไล่เรียงบนชั้นหนังสือหมวดพัฒนาตนเองในตอนนี้ อาจจะต้องกลั้นขำให้กับชื่อหนังสือปั่นประสาท เช่น “ศาสตร์แห่งการช่างแม่ง” “วิธีรับมือคนเฮงซวย” “คิดมากไปทำไมเดี๋ยวก็ตายกันหมดแล้ว” เป็นต้น 

แม้เนื้อหาด้านในจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น เหมือนเดิมตามที่หนังสือหมวดนี้ควรจะเป็น แต่ทว่า มุมมองต่อการใช้ชีวิตนั้นดูเหมือนจะเปลี่ยนไป ไม่ต่างกับเทรนด์ต่างๆ บนโลกใบนี้ จากการปั้นตัวเองที่แสนธรรมดา ให้กลายเป็นคนเก่ง คนพิเศษ ได้พลิกโฉมไปอีกฝั่ง สู่การปล่อยวาง เปิดโอกาสให้เราได้เอ่ยคำว่า “ช่างมัน” กับชีวิตบ้างก็ได้ กลายเป็นว่า ในเจเนอเรชั่นที่ต่างกันทำให้มุมมองต่อการใช้ชีวิต ต่อความสำเร็จในชีวิตแตกต่างกันไปด้วย ค่านิยมในการอ่านเลยผันเปลี่ยนไปตามเวลา

หรือว่านี่จะไม่ใช่ยุคของ หนังสือพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นตลอดเวลา อีกต่อไปแล้ว?

เพราะชีวิตนั้นมันช่างปัจเจก

ในหนังสือพัฒนาตัวเอง มักจะมีแพทเทิร์นที่เราคุ้นเคยกันดี บอกเล่าปัญหา ความล้มเหลวที่เจอ สร้างบรรยากาศกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จนเรารู้สึกอินไปกับปัญหานั้นไปด้วย 

ถ้าเป็นเราจะทำอย่างไรดีนะ? 

แต่แล้วก็มีแสงสว่างปลายอุโมงค์สาดส่องเข้ามา ผู้เขียนใส่ทางออกที่จากประสบการณ์ของตัวเองเอาไว้ จนคนอ่านแล้วแทบตบเข่าฉาด เขาผ่านมาได้ด้วยวิธีเช่นนี้เองหรอ พอเราได้ลองเอามาทำตามแล้ว มันกลายเป็นว่า เราได้ก้าวตามทางเดินที่ถูกต้องตามที่หนังสือบอกไว้ มันช่างเติมเต็มความเว้าแหว่งในใจได้ดีจริงๆ 

แต่หนังสือสิบเล่ม สิบผู้เขียน ก็มีวิธีต่างกันออกไป Dr. Tim Carey นักจิตวิทยาจาก Curtin University ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในบทความบนเว็บไซต์ psychologytoday.com ไว้ โดยแนะนำว่า การหยิบยืมความคิด วิธีการ ของผู้อื่นมาใช้กับเรานั้นเหมือนกับการหยิบยืมสูตรทำอาหารของเขามา อาจจะเหมาะกับเราหรือไม่เหมาะก็ได้ เพราะการใช้ชีวิตของแต่ละคน เจอประสบการณ์ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในรายละเอียดเล็กน้อย ที่เราไม่อาจยึดถือเอาวิธีของใครคนใดคนหนึ่งมายึดถือไว้ทั้งหมดได้ จึงแนะนำให้มองหาวิธีที่เป็นไปได้สำหรับตัวเอง ด้วยตัวเองจะดีกว่า

ประเด็นนี้สอดคล้องกับบทความจาก Forbes โดย Jeroen Kraaijenbrink ในเรื่อง ‘Why Self-Help Books Don’t Work (And How To Nevertheless Benefit From Them)’ ได้แบ่งประเภทของหนังสือแนวพัฒนาตัวเองไว้อย่างน่าสนใจ ว่าหนังสือประเภทนี้มักจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • Bad effect เป็นหนังสือประเภทที่ให้ความหวังและคำแนะนำแบบผิดๆ จนผู้อ่านไม่คิดจะแสวงหาคำแนะนำที่น่าเชื่อถือจากผู้เชี่ยวชาญ (อย่างน้อยก็มากกว่าผู้เขียน)
  • Placebo effect อ่านแล้วยังไงก็ใช่ ยังไงก็ถูกต้อง เพราะสิ่งที่ผู้เขียนบอกมานั้น เป็นข้อเท็จจริงธรรมดาทั่วไปนี่แหละ แต่เราอาจจะมองข้ามมันมาตลอด จนมีคนหยิบยกสิ่งนี้ขึ้นมา เราถึงได้รับรู้ว่ามันมีข้อเท็จจริงนี้อยู่ด้วยนี่นะ
  • No effect อ่านแล้วไม่เกิดผลอันใด เพราะที่ใส่มามีแต่เรื่องสามัญสำนึกทั่วไปล้วนๆ 

หนังสือพัฒนาตนเองจึงอาจไม่ได้ผลเสมอไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่พฤติกรรมของผู้อ่านเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคที่ Gen Y และ Gen Z กลายมาเป็นลูกค้ารายใหญ่ในตลาดหนังสือ ทั้ง 2 เจเนอเรอชั่นต่างมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ถ้าเทียบกับเจเนอเรชั่นก่อนหน้า 

The Me Generation กับมุมมองการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป 

“เด็กยุคใหม่นี่มันช่างขี้เกียจ ยอมแพ้ง่าย มั่นใจในตัวเองสูง” คำสบประมาทที่ทั้ง Gen Y และ Gen Z มักจะถูกคนรุ่นเก๋าแปะป้ายให้เหมือนๆ กัน อาจเพราะคติในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ของเจเนอเรชั่นก่อนหน้าอย่าง Baby Boomers ที่ใช้ชีวิตด้วยการไล่ล่าความสำเร็จ ความมั่นคงในชีวิต ทำงานให้หนักวันนี้แล้วจะสบายในวันหน้า 

แต่ในทางกลับกัน เหล่าคนรุ่นใหม่ มีมุมมองต่อการใช้ชีวิตต่างออกไป 

Gen Y กับปัญหาการตั้งตัว ที่พ่อแม่วาดฝันไว้ให้ ว่าความสำเร็จในชีวิตนั้นจะเริ่มจากการมีงานที่มั่นคง สร้างครอบครัว ลงหลักปักฐาน มีบ้าน มีรถ แต่ทุกอย่างมันไม่ง่ายขนาดนั้น งานวิจัย ‘The Life Patterns’ จาก University of Melbourne พบว่า เหล่า Gen Y รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ แบกรับค่าใช้จ่ายเป็นค่าที่อยู่สูงลิ่ว ในขณะที่ตัวเองก็ไม่สามารถซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ 

คน Gen Z ที่กำลังเริ่มต้นทำงาน ก็ต้องเผชิญกับช่วงโรคระบาด ที่มีทั้งปัญหาด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ ผลสำรวจจาก Cigna International Health สอบถามเหล่าคนทำงานกว่า 12,000 รอบโลก พบว่ากว่า 91% ของกลุ่มอายุ 18-24 ปี เผชิญกับความเครียดในการทำงาน 

แม้ทั้งสองรุ่นจะเกิดมาด้วยความพรั่งพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่คอยมอบความสะดวกสบาย แต่ในทางกลับกัน เศรษฐกิจกลับไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขาตั้งตัวหรือเริ่มต้นเป็นน้องใหม่ในที่ทำงานได้อย่างราบรื่น แค่การใช้ชีวิตก็ยากแล้ว จะต้องเป็นคนที่ดีขึ้น เก่งขึ้น จึงอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับวันเหนื่อยล้าของพวกเขา 

กระแสโต้กลับของความโปรดักทีฟจึงยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ใครๆ ก็ต่างก็ต้องยอมรับว่า ชีวิตนี้มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นอีกต่อไป ความสำเร็จในชีวิตที่คนรุ่นก่อนเคยคิดไว้ จึงอาจไม่ใช่ความสำเร็จที่คนรุ่นใหม่อยากได้มาครอบครอง 

อาจเป็นแค่การอนุญาตให้ตัวเองได้เอนหลังในวันเหนื่อยล้า ได้หยิบงานอดิเรกที่หลงลืมไปขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ปล่อยผ่านแจ้งเตือนงานในวันหยุด อาจเป็นแค่อะไรเหล่านี้ที่คนรุ่นใหม่ไขว่คว้าให้ตัวเอง

 

อ้างอิง

https://www.psychologytoday.com/us/blog/in-control/202012/why-are-self-help-books-not-so-helpful-after-all 

https://www.forbes.com/sites/jeroenkraaijenbrink/2019/07/05/why-self-help-books-dont-work-and-how-to-nevertheless-benefit-from-them/?sh=4e866f6b5f91 

https://www.bbc.com/worklife/article/20230215-are-gen-z-the-most-stressed-generation-in-the-workplace

https://pursuit.unimelb.edu.au/articles/a-generation-dislodged-why-things-are-tough-for-gen-y 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post หมดยุคหนังสือพัฒนาตัวเองสุดโต่ง คนยุคนี้เหนื่อยก็พัก เทรนด์ปล่อยวางมาแรง รู้จักช่างแ-่งบ้างก็ได้ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/self-help-book/

The Art of Computer Programming ออกเล่ม 4 ส่วนที่ 2 เต็มรูปแบบ

หนังสือ The Art of Computer Programming โดย Donald E. Knuth หนึ่งในปรมาจารย์ของวงการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ออกเล่ม 4 ส่วนที่ 2 เต็มรูปแบบ หลักจากก่อนหน้านี้ค่อยๆ ออกบางบทมาก่อนแล้ว โดยส่วนที่สองนี้หนา 732 หน้า ต่อจากส่วนแรกที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2011

Knuth วางโครงหนังสือ The Art of Computer Programming ไว้ทั้งหมด 7 เล่ม ตอนนี้เฉพาะเล่ม 4 ก็กินเวลานับสิบปี และยังมีการขยายไปยังส่วนที่ 3 เพิ่มเติม ส่วนเล่ม 5 คาดว่าจะเสร็จในปี 2025 และหากเสร็จแล้ว Knuth จะกลับไปอัพเดตเล่ม 1-3 เพิ่มเนื้อหาให้ทันสมัย ก่อนจะออกสรุปเล่ม 1-5 ให้อยู่ในเล่มเดียว แล้วค่อยกลับไปทำเล่ม 6 และ 7 โดย Knuth มองว่าเนื้อหาในเล่ม 1-5 นั้นเป็นแกนต่อการเขียนโปรแกรมมากกว่า ขณะที่เนื้อหาที่วางไว้ในเล่ม 6-7 นั้นเฉพาะทางกว่า เล่มแรกของหนังสือชุดนี้วางตลาดตั้งแต่ปี 1968 จนตอนนี้ก็นานถึง 54 ปีแล้ว

ตอนนี้หนังสืออยู่ในโกดังของ Addison-Wesley คาดว่าจะวางจำหน่ายได้จริงเดือนตุลาคมนี้

ที่มา – Knuth: Recent News

Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/130751

ประวัติศาสตร์การสร้าง Android ยุคแรก เคยถูกซัมซุงหัวเราะเยาะ ก่อนขายกิจการให้กูเกิล

ปลายเดือนนี้กำลังจะมีหนังสือเล่มใหม่ Androids: The team that built the Android operating system (Amazon, Google Play) เล่าประวัติของระบบปฏิบัติการ Android ในยุคแรกๆ ออกวางขาย หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Chet Haase หนึ่งในทีมวิศวกร Android ยุคถัดมาเล็กน้อย (เริ่มงานปี 2010) ที่อาศัยการสัมภาษณ์ข้อมูลทีมงานยุคแรกๆ มาสรุปเป็นหนังสือ

บางส่วนของหนังสือเล่มนี้ถูกนำมาเผยแพร่เพื่อโปรโมทหนังสือ ทำให้เราได้ทราบเรื่องราวของ Android ในปี 2005 ช่วงที่กำลังระดมทุน และสุดท้ายขายให้กูเกิล จนกลายเป็นระบบปฏิบัติการที่เรารู้จักกันดี

No Description

ทีมงาน Android ในยุคแรกเริ่มเป็นทีมจากบริษัท Danger ที่ก่อตั้งในปี 1999 และพัฒนามือถือ T-Mobile Sidekick ออกขายในปี 2002 จากนั้นทีมงานหลักที่นำโดย Andy Rubin ก็ลาออกมาตั้งบริษัท Android ในปี 2003 ด้วยวิสัยทัศน์ว่าต้องการสร้างระบบปฏิบัติการมือถือ ที่โอเพนซอร์สและไม่ขึ้นกับโอเปอเรเตอร์รายใด

ในฐานะสตาร์ตอัพ บริษัท Android จำเป็นต้องระดมทุนจากนักลงทุน VC ซึ่งเริ่มกระบวนการนำเสนอ (pitching) ในช่วงต้นปี 2005 แต่ในช่วงเดียวกันนั้น ทีม Android ก็ได้รับการติดต่อจาก Larry Page ที่ชื่นชอบ T-Mobile Sidekick และทราบว่า Rubin กำลังพัฒนา OS ตัวใหม่ เลยอยากรับทราบว่า Rubin ทำอะไรอยู่บ้าง

ทีม Android พบกับกูเกิล 2 ครั้งในเดือนมกราคมและมีนาคม 2005 แต่ก็แค่นำเสนอความคิดและเดโมเท่านั้น จากนั้นทีม Android หันไปคุยกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนฝั่งเอเชีย เพื่อเสนอ OS ให้ใช้งาน โดยบินไปเกาหลีเพื่อเจอซัมซุง และไต้หวันเพื่อเจอ HTC

การพบปะกับซัมซุงได้เจอกับ K.T. Lee ประธานฝ่ายมือถือที่ชอบ Sidekick เช่นกัน และบอกว่าไม่อยากพลาดโอกาสนี้อีก เขาจึงสนับสนุน Android เต็มที่ แต่เมื่อทีม Android ไปพบกับผู้บริหารระดับรองๆ ลงมากว่า 10 คน ก็มีคำถามว่าทำไมทีม Android ถึงมีแค่ไม่กี่คน เพราะทีมพัฒนา OS ของซัมซุงมีคนมากถึง 300 คน พร้อมทั้งหัวเราะใส่ และบอกว่าทีม Android ฝันเฟื่องไปหรือเปล่า

สุดท้ายทีม Android ไม่ได้เซ็นสัญญากับซัมซุง แต่การพบปะครั้งนี้ทำให้มือถือ Android รุ่นแรกสุดมีโค้ดเนมว่า “Dream” (ภายหลังคือ T-Mobile G1) จากคำดูถูกของซัมซุงนั่นเอง

No Description

จากนั้น ทีม Android บินไปไต้หวันและได้เจอกับ Peter Chou ซีอีโอคนดังของ HTC (ในตอนนั้น) ที่ต้องการ exclusivity ให้ฮาร์ดแวร์ชิ้นแรกทำโดย HTC รายเดียว ซึ่งแนวคิดนี้ขัดกับวิสัยทัศน์ของ Android ที่ต้องการให้เป็นระบบเปิด ถ้าผูกกับผู้ผลิตรายเดียวก็จะซ้ำรอย T-Mobile Sidekick อีก

เมื่อทีมงานกลับมาอเมริกา ก็นำเสนอผลงานต่อ VC ต่อและเริ่มมีคนสนใจ ตอนนั้นกูเกิลก็นัดพบขอคุยเป็นครั้งที่สาม ระหว่างที่ Rubin และทีมกำลังนำเสนอความคืบหน้าของทีม ก็โดนคนของกูเกิลขัดจังหวะ และบอกว่า “เราอยากซื้อพวกคุณ” (‘Let us interrupt you there. We just want to buy you.’)

ข้อเสนอของกูเกิลน่าสนใจ เพราะกูเกิลบอกว่าทีม Android จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการวิ่งหาเงินลงทุน มาอยู่กับกูเกิลแล้วมีเงินเหลือเฟือ กูเกิลสามารถใช้กำไรจาก search มาแบ่งให้กับโอเปอเรเตอร์เพื่อจูงใจให้ใช้ Android ได้ ทั้งสองฝ่ายเจรจากันอยู่หลายเดือน (โดย Larry Page มีส่วนร่วมโดยตรง) และจบด้วยทีมงาน Android กลายเป็นพนักงานกูเกิลในวันที่ 11 กรกฎาคม 2005

หลังจากนั้นไม่นาน Page พา Rubin มาแนะนำตัวกับทีมผู้บริหารภายในกูเกิล ซึ่งทีมก็โชว์เดโมไปตามปกติ แต่ตอนพูดถึงสไลด์หน้าที่เกี่ยวกับโมเดลการหาเงินของ Android ก็โดน Page ตัดบท แล้วบอกว่าอย่าเป็นห่วงเรื่องนั้นเลย ผมอยากให้พวกคุณสร้างโทรศัพท์ที่ดีที่สุด แล้วพวกเราจะจัดการเรื่องอื่นเอง

ที่มา – Ars Technica

from:https://www.blognone.com/node/124236

‘ANTIFRAGILE’ ทางรอดของธุรกิจที่ต้องอยู่รอดได้แบบแข็งแกร่ง แต่ก็ยืดหยุ่นได้ในทุกสถานการณ์

ผู้เขียนยอมรับว่าหนังสือ ‘ANTIFRAGILE’ เป็นหนึ่งในหนังสือที่อ่านและเข้าใจได้ยากในการตีความหมายหลายอย่างที่ต้องตีความให้ชัดเจน จึงพยายามที่จะมองแง่มุมของหลายๆ คน เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหานิยามของคำว่า ‘ANTIFRAGILE’ ที่ข้องเกี่ยวกับเชิงธุรกิจ ว่าทำไมนักการตลาดยุคใหม่เริ่มให้ความสนใจในสิ่งเหล่านี้

ด้วยภาวะ “ความไม่แน่นอน” ที่ธุรกิจต้องเจอหลากหลายรูปแบบมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา 2 ปีแล้ว เราก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่าวิกฤตนี้จะจบสิ้นเมื่อไหร่ นั่นจึงเป็นแนวทางที่ภาคธุรกิจต้องเจอ คือ ล้มแล้วลุกให้อยู่รอด ยิ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะล้มยิ่งเป็นไปไม่ได้ แต่จะประคองอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดและไม่กระทบในภาพรวมขนาดใหญ่

หากแบ่งประเภทของภาวะปัญหาต่างๆ ได้แก่

  • Fragile : เมื่อเจอปัญหาความไม่แน่นอนและไม่สามารถรับมือได้
  • Resilience : เมื่อเจอความไม่แน่นอน สามารถรับมือได้และฟื้นตัวได้เร็ว
  • Antifragile : เมื่อเจอความไม่แน่นอนจะได้ “ประโยชน์” จากเหตุการณ์นั้นๆ

หนังสือ Antifragile: Things That Gain From Disorder ได้นิยามคำว่า ‘ANTIFRAGILE’ นี้ไว้ว่า สิ่งต่างๆ ที่ได้รับประโยชน์จากแรงกระแทก เมื่อต้องเผชิญกับความผันผวน สุ่มเสี่ยงความผิดปกติ และความเครียด มนุษย์เราจะมีความสามารถในการป้องกันภาวะเหล่านั้นด้วยความยืดหยุ่นหรือทนทานต่อแรงกระแทกและกลับมาคงเดิม

หากแปลเป็นภาษาทางการแบบเข้าใจง่ายๆ ในมุมของธุรกิจคงเป็น การที่ธุรกิจต้องเจอผลกระทบมากมายจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าหนักหนาแค่ไหน หากผู้บริหารสามารถประคองให้ฟื้นกลับมาได้ ธุรกิจที่เก่งกาจนั้นเรียกว่าเป็นธุรกิจที่ Antifragile เพราะไม่ใช่แค่ฟื้นกลับมาได้แบบ Resilience แต่เป็นแมวเก้าชีวิตที่ฟื้นกลับมาได้ แม้เจอภาวะที่บั่นทอนสุดๆ ก็ตาม

‘ANTIFRAGILE’ ในแง่สังคมคือเราพยายามลดความไม่แน่นอนมากเกินไป ด้วยการออกกฏควบคุมต่างๆ ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง และเพื่อลดการผิดพลาดทั้งหลาย เราจึงเห็นการทดสอบหรือการแก้ปัญหามากมายเพียงแค่ทฤษฎีที่เรียนรู้จากแค่ในห้องเรียน แต่ไม่เคยลงมือทำจริง

หรือหากมองในเชิงของระบบวิวัฒนาการของสิ่งทั่วไปในโลก เรามักจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมมีบางอย่างที่เติบโตขึ้นได้ตามสภาพแวดล้อม ในขณะที่จะมีบางอย่างต้องสูญหายไป นั่นคือ วัฏจักร บางสิ่งเกิดใหม่และเติบโตได้บางสิ่งก็ดับสูญได้

ในมุมของธุรกิจ เราเห็นได้จาก วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 หลายธนาคารในสหรัฐฯ ใช้ความเสี่ยงมากเกินไป แต่เพราะกลุ่มธนาคารเหล่านี้ มีความข้องเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้รัฐบาลกลางต้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟู และอัดฉีดเงินเข้าไปเพื่อประคองให้ธนาคารกลางอยู่ต่อไปได้ และนั่นก็ทำให้รัฐบาลกลางเจอภาวะเสี่ยงเรื่องความไม่ยั่งยืน

“หากคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจแก้ปัญหา เป็นคนที่พร้อมรับความเสี่ยงไปด้วยกัน นั่นถึงจะเรียกว่าการแก้ปัญหาโดยคนที่สร้างปัญหา”

คนเราชอบใช้โมเดลหรือทฤษฎีมาควบคุมมากเกินไปและก้าวก่ายปัญหาจนไม่สามารถแก้ไขได้ มีนักวิชาการหลายคนพยายามที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นของตนเองและไม่รับผิดชอบกับคำพูดของตนเองในปัญหานั้น ดังนั้น ก่อนที่จะเชื่อใครเราต้องดูก่อนว่า คนๆ นั้นมีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหานั้นหรือเปล่า และขอดูหลักฐานด้วย อย่าฟังแค่คำพูด

ดังนั้น ผู้เขียน ‘ANTIFRAGILE’ จึงแนะนำ กลยุทธ์บาร์เบล (Barbell Strategy) หากนึกถึงที่ยกน้ำหนักมันจะมีความเท่ากันอยู่ที่สองฝั่งถ้าเราตั้งอย่างเป็นกลาง (หรือมองอย่างเป็นกลาง) หากเราลองทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ควรที่จะลองทำสิ่งหนึ่งที่สุดโต่งทั้งสองขั้ว เช่น บางคนยอมทำงานที่น่าเบื่อ แต่เขาก็ยอมทำงานอีกอย่างที่ลงทุนแบบสุดโต่ง และการลงทุนที่สุดโต่งนั้นถ้าสำเร็จก็อาจจะดีกว่างานประจำก็เป็นได้

ในแง่ของการทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน สูง กลางหรือล่าง สิ่งที่มนุษย์เราควรมีคือความกล้าที่จะออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ลองล้มบ้างและลุกขึ้นมาสู้กับสิ่งใหม่ๆ บ้าง เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ค่ะ

 

ที่มา : The Standard Podcast , Ichi, รีวิวหนังสือ Antifragile

from:https://www.thumbsup.in.th/antifragile-help-new-business?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=antifragile-help-new-business

รีวิว That Will Never Work กำเนิด Netflix และประสบการณ์การทำสตาร์ตอัพเมื่อ 20 ปีก่อน

คนไทยมักจะรู้จัก Netflix ในฐานะผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งรายใหญ่ของโลก คนไม่มากนักอาจจะรู้ว่า Netflix ที่จริงแล้วกำเนิดมาในฐานะบริษัทให้เช่าแผ่นดีวีดี โดยเรื่องราวที่เราได้ยินเสมอ คือ Reed Hastings ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทและซีอีโอปัจจุบันถูกปรับจากร้าน Blockbuster จากการคืนเทปวิดีโอช้ากว่ากำหนด 40 ดอลลาร์ เป็นที่มาของความพยายามสร้างบริการเช่าภาพยนตร์ออนไลน์ที่ไม่มีค่าปรับ

หนังสือ That Will Never Work เขียนโดย Marc Randolph ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอคนแรกของ Netflix เล่าถึงประสบการณ์ช่วงของการก่อตั้งบริษัท จนถึงช่วงที่บริษัทเข้าตลาดหุ้นไปแล้ว และเขาเองก็ออกจากบริษัทหลังจากนั้นไม่นาน

note: บทความเปิดเผยเนื้อหาหนังสืออย่างมีนัยสำคัญ

No Description

เนื้อหาในหนังสือเล่าตั้งแต่การค้นหา “ไอเดีย” ว่าจะเปิดบริษัทอะไรดี โดยมีไอเดียจำนวนมากโยนไปมาระหว่าง Marc และ Reed และทั้งสองคนก็วิจารณ์ไอเดียกันไปว่าทำไมมันจึงไม่เวิร์ค ในยุคนั้นการเช่าวิดีโอยังเป็นธุรกิจขนาดยักษ์ แต่การเปิดกิจการเช่าวิดีโอนั้นทำได้ยากเพราะม้วนวิดีโอ VHS นั้นมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก ทำให้ค่าส่งแพงจนเกินไป จนกระทั่งทั้งสองมาเจอกับแผ่นดีวีดีที่ยังไม่แพร่หลายนัก มีภาพยนตร์จำหน่ายในรูปแบบดีวีดีเพียงไม่กี่ร้อยเรื่องเท่านั้น จึงเป็นโอกาส ทั้งสองทดสอบด้วยการส่งแผ่นซีดีทางจดหมายไปยังบ้านของ Reed ว่ายังใช้งานได้หรือไม่

นอกจากเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแล้ว Reed ยังเป็นผู้ลงทุนหลักคนแรก หนังสือเล่าถึงแนวทางการแบ่งผลประโยชน์ว่าทั้ง Reed และ Marc ตีมูลค่าไอเดียไว้ที่ 3 ล้านดอลลาร์โดยได้รับคนละครึ่ง กระจายตามช่วงเวลาที่ไม่ระบุ แล้ว Reed ลงทุนอีก 2 ล้านดอลลาร์จึงได้หุ้นส่วนใหญ่ไป อย่างไรก็ตามก่อนเริ่มบริษัทนั้น Reed ให้ Marc หาคนลงทุนเพิ่มเติม กระบวนการนี้ทำให้ทั้งสองคนต้องฟังเสียงคนอื่นเพิ่มเติม และต้องพิสูจน์ว่าไอเดียมีความเป็นไปได้ก่อนจะเริ่มกันจริงๆ

No Description

Marc Rudolph ในงาน Cloud Summit เมื่อปี 2017

กระบวนการเริ่มต้นบริษัทจากศูนย์นับเป็นความท้าทายอย่างมากในสมัยนั้น Marc ต้องคุมทีมซอฟต์แวร์, จัดการสต็อกแผ่นดีวีดี, ออกแบซองแผ่นดีวีดีที่ทนทานพอรับแรงกระแทกจากการส่งไปรษณีย์ แม้แต่หลังจากวันแรกที่เริ่มเปิดบริการ ปัญหาเซิร์ฟเวอร์ไม่พอสำหรับรองรับลูกค้า และในยุคที่ไม่มีบริการคลาวด์ ทีมงานก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขับรถออกไปซื้อชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์มาประกอบเซิร์ฟเวอร์ใหม่

เส้นทางหลังจาก Netflix เริ่มต้น มีบทเรียนมากมาย ช่วงแรกที่เปิดเว็บนั้นในเว็บที่ทั้งแผ่นดีวีดีให้เช่าและแผ่นสำหรับขาย และพบว่าการขายแผ่นนั้นทำเงินได้เยอะกว่ามาก แต่เพื่อจะโฟกัสกับธุรกิจให้เช่าก็ต้องตัดธุรกิจขายแผ่นดีวีดีออกไป อีกบทเรียนหนึ่งคือการเริ่มต้นบริษัทนั้นใช้คนคนละประเภทกับการดำเนินกิจการที่เป็นรูปเป็นร่างแล้ว ช่วงแรกบริษัทอาจจะต้องการคนรู้รอบ (jacks-of-all-trades) แต่เมื่อตั้งหลักได้แล้วก็ต้องการคนมีประสบการณ์เฉพาะทางมากขึ้น

บทเรียนเล็กๆ แต่สำคัญที่หนังสือให้คือจังหวะเวลาเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แนวคิดว่าหลังจากโลกมีอินเทอร์เน็ตแล้วจะไม่ต้องการแผ่นหรือเทปใดๆ อีกต่อไปนั้นมีมาตั้งแต่ 20 ปีก่อนที่ Netflix กำลังขอทุนขยายบริษัท แต่ในความเป็นจริงคือบริการวิดีโอสตรีมมิ่งต้องรอให้อินเทอร์เน็ตทั่วถึงและความเร็วสูง ซึ่งใช้เวลานานกว่าที่หลายคนคาดมาก การที่ Netflix มีประสบการณ์และธุรกิจให้เช่าแผ่นดีวีดีอยู่ก่อนหลายเป็นความได้เปรียบ และบริษัทก็สามารถปรับธุรกิจเมื่อจังหวะเวลาพร้อมได้

จุดหักเหจุดใหญ่ในหนังสือ คือเมื่อได้ทุนเพิ่มเติม Reed เข้ามาพูดกับ Marc ว่าเขาพาบริษัทเดินหน้าไปเพียงช่วงแรกเท่านั้น และ Reed จำเป็นต้องเข้ามาเป็นซีอีโอร่วม พร้อมกับได้ส่วนแบ่งหุ้นเพิ่มเติมจากเดิมที่แบ่งค่าไอเดียคนละครึ่ง แม้ Marc จะแสดงความไม่พอใจในหนังสือแต่เขาก็อธิบายไว้ว่า Reed เป็นคนพูดตรงไปตรงมาและจริงใจ

ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสองยังมีโอกาสร่วมกันไปเจรจากับบริษัทที่มีโอกาสจะซื้อกิจการ คือ Amazon ที่เสนอราคาเบื้องต้น “สิบกว่าล้านดอลลาร์” ซึ่งไม่น่าพอใจพอ เพราะตอนนั้น Netflix ได้รับทุนรอบใหม่แล้ว หลังจากนั้นก็ไปเจรจากับ Blockbuster ที่เพิ่งนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นและได้เงินจาก IPO ถึง 450 ล้านดอลลาร์ โดย Netflix เสนอขายกิจการในราคา 50 ล้านดอลลาร์แต่ก็ล้มเหลว

No Description

That Will Never Work เป็นมุมมองที่หลายคนอาจจะไม่ได้รับรู้นักว่ากว่า Netflix จะมายิ่งใหญ่ในทุกวันนี้มันเริ่มต้นมาอย่างไร บริษัทที่สามารถเปลี่ยนธุรกิจหลักของตัวเอง จากขายดีวีดีมาเป็นการให้เช่า จนเป็นการสตรีมมิ่งอย่างทุกวันนี้ต้องผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบาก หนังสือเดินเรื่องสนุกและเหมาะกับผู้ที่สนใจโลกสตาร์ตอัพทุกคน แม้ว่าเนื้อหาโดยรวมจะเป็นมุมมองของ Marc เป็นหลักก็ตาม

หนังสือยังไม่มีแปลภาษาไทย แต่มีขายเวอร์ชั่นปกอ่อนตามร้านหนังสือภาษาอังกฤษแล้ว

Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/114894

หนังสือ The Phoenix Project หนึ่งในต้นกำเนิด DevOps แจกอีบุ๊กฟรีวันนี้

สำนักพิมพ์ IT Revolution Books ประกาศแจกอีบุ๊ก The Phoenix Project หนังสือนิยายไอทีที่แสดงปัญหาของการบริหารระบบไอทีในโลกแบบเดิมๆ จนนำมาสู่การปรับปรุงเพื่อให้ระบบเป็น DevOps

หนังสือออกมาตั้งแต่ปี 2003 และมียอดขายรวมกว่า 500,000 เล่ม แปลไปแล้ว 11 ภาษา

เนื้อหาในหนังสือเป็นนิยายเล่าถึง Bill ผู้จัดการไอทีที่มาทำงานแล้วซีอีโอเรียกเข้าพบ เข้าได้เลื่อนตำแหน่งเป็น VP of IT Operation แต่ถูกบีบให้ต้องสางปัญหาระบบไอทีทั้งบริษัทที่ยุ่งเหยิง แม้จะเป็นนิยายแต่เนื้อหาก็สะท้อนถึงปัญหาของระบบไอทีในโลกความเป็นจริงพร้อมกับชี้ทางควรปรับการจัดการระบบไอทีให้ทำซ้ำได้ แปลงระบบให้เป็นรูปแบบเหมือนสายพานการผลิตในโรงงงาน

ผมเองได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วคิดว่ามีคุณค่าดีมาก ควรหาเวลาอ่านกันทุกคนครับ หนังสือแจกฟรีบนทุกแพลตฟอร์มอีบุ๊ก ทั้ง Kindle, Appple iBook, หรือ B&N Nook อย่างไรก็ดีผมทดลองกด Google Play Book ในไทยยังไม่ฟรี

ที่มา – @ITRevBooks

No Description

Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/113774

The Art of Computer Programming ออกเล่ม 4 มัดที่ 5 และ 6, Donald E. Knuth ผู้เขียนอายุ 10000 ปี (ฐานสาม) แล้ว

Donald E. Knuth หนึ่งในปรมาจารย์ของวงการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ฉลองอายุครบ 10000 ปี (ฐานสาม) ด้วยการออกหนังสือ The Art of Computer Programming เล่ม (volume) 4 ส่วน B มัด (fasicle) ที่ 5 และ 6 ในเวลาไล่เลี่ยกัน

มัดที่ 5 เป็นเรื่องของ backtracking และส่วนพิเศษ Mathematical Preliminaries Redux เพิ่มเติมส่วนที่ Knuth ไม่รู้เมื่อเขียนเล่ม 1 ในปี 1960 โดยหนังสือมีโจทย์ 650 ข้อและเฉลย

มัดที่ 6 เป็นเรื่อง Satisfiability คือการวิเคราะห์ฟังก์ชั่น boolean แล้วหาว่ามีตัวค่าของตัวแปรที่ทำให้ฟังก์ชั่นเป็นจริงได้หรือไม่ หนังสือมีโจทย์ 500 ข้อและเฉลย

หนังสือ The Art of Computer Programming นั้นตัว Kunth วางแผนไว้ว่าจะมีทั้งหมด 7 เล่ม โดยคาดว่าเล่ม 5 จะเสร็จในปี 2025 โดยทุกครั้งที่หนังสือออกเล่มใหม่ หากใครพบจุดผิดพลาดเป็นคนแรก ตัว Knuth จะให้รางวัล 100 เซนต์ฐาน 16 ซึ่งคนได้รับมักไม่ค่อยนำเช็คไปขึ้นเงินนัก

ที่มา – Slashdot, Donald E. Knuth: Recent News

No Description

from:https://www.blognone.com/node/113554

Wikipedia ร่วมมือ Internet Archive เพิ่มลิงก์ไปยังหนังสือ กดลิงก์แล้วแสดงหน้าตัวอย่าง

Wikipedia ร่วมมือกับ Internet Archive แปลงลิงก์บน Wikipedia ที่อ้างอิงถึงหนังสือ ให้กลายเป็นลิงก์ในยังเว็บเก็บภาพแสกนหนังสือโดยตรง ทำให้ตรวจสอบได้ทันทีว่าอ้างอิงถูกต้องหรือไม่

ตอนนี้ทาง Internet Archive แสกนหนังสือแล้ว 50,000 เล่ม และความร่วมมือครั้งนี้ก็แปลงการอ้างอิงบน Wikipedia เป็นลิงก์ทั้งหมด 130,000 รายการ ผู้ใช้สามารถกดอ่านบางส่วนของหนังสือได้ทันที

ทาง Internet Archive ระบุว่าต้นทุนการแสกนหนังสืออยู่ที่เล่มละ 20 ดอลลาร์ และมีเป้าหมายที่จะแสกนหนังสือ 4 ล้านเล่มในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ที่มา – Internet Archive

No Description

from:https://www.blognone.com/node/112931

Xiaomi เปิดตัวหนังสือ 3 มิติ World of Warcraft สามารถขยายได้สูงสุด 1 ตารางเมตร ใน 1 หน้า

กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Xiaomi ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นพิเศษ Redmi Note 8 Pro World of Warcraft Edition เอาใจแฟนเกม World of Warcraft หนึ่งในเกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของ Blizzard Entertainment นับตั้งแต่ปล่อยออกมาในปี 2004


Xiaomi Redmi Note 8 Pro World of Warcraft Edition

ล่าสุด Xiaomi ได้เอาใจแฟนเกม World of Warcraft อีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวหนังสือป๊อปอัพ หรือ หนังสือ 3 มิติ World of Warcraft โดยใช้โครงสร้างในสไตล์ Origami ที่สามารถพับและกางออกได้เอง เมื่อมีการพลิกหน้า

หนังสือ 3 มิติ World of Warcraft มีเนื้อหาเป็นภาษาจีน โดยถูกแปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ที่ผลิตโดย Blizzard Entertainment และมีทั้งหมด 46 หน้า แต่ละหน้าสามารถขยายออกได้ถึง 1 ตารางเมตร

หนังสือ 3 มิติ World of Warcraft ไม่ได้วางจำหน่ายในรูปแบบปกติ แต่เปิดให้จับจองผ่านโครงการระดมทุน ในราคา 229 หยวน หรือราว 990 บาท ซึ่งถูกจับจองไปแล้วมากกว่า 4,000 เล่ม ทะลุเป้าหมายที่กำหนดไว้เกือบ 3.7 เท่า

ที่มา – Gizmochina
https://www.flashfly.net/wp/273641

from:https://www.flashfly.net/wp/273641

เงินติดล้อ “เตือนแรงๆ”!! หวังกระตุ้นให้คนไทยเริ่ม “วางแผนทางการเงิน”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลานี้คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น นานขึ้น และมีสัดส่วนคนที่เป็นหนี้สูงขึ้นอีกด้วย ทำให้ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อทะเบียนรถ ลุกขึ้นมาเปิดตัวแคมเปญ “หนี้หรือความสุข” แคมเปญที่เสียดสีสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม พร้อมกับแทรกอารมณ์ขัน

ซึ่งเป็นที่น่าแปลกที่บริษัทสินเชื่อมารณรงค์เรื่องหนี้ และพูดกับคนในสังคมที่กำลังมีปัญหานี้จริงๆ  เรามาดูกันว่า เงินติดล้อ นำเสนออะไรที่น่าสนใจบ้าง

1. ปัจจัยมากมาย กระตุ้นให้เราใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น 

เงินติดล้อ เปิดเผยว่าจากการเก็บข้อมูลพนักงานบริษัทที่มีอายุ 25-35 ปีขึ้นไป, กลุ่ม First Jobber, คนที่เพิ่งประกอบอาชีพใหม่ และมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือน

พบว่า คนกลุ่มนี้มีการใช้โทรศัพท์มือถือ – Social Media นานขึ้นและมากขึ้น พอยิ่งเห็นโฆษณาและโพสต์ภาพสินค้าและบริการต่างๆ จากของเพื่อน คนรู้จัก ก็ยิ่งกระตุ้นความอยากได้อยากมีสิ่งเหล่านั้นบ้าง ประกอบกับร้านค้าออนไลน์ (E-Commerce) เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้คนเข้าถึงการซื้อสินค้าได้ตลอดเวลาเพียงแค่มีอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์ ระบบขนส่งสินค้า (Logistics) ก็ให้บริการได้ดีขึ้น อย่าง Delivery ที่แต่ก่อนมีเพียงเจ้าใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ปัจจุบันเราสามารถสั่งแทบทุกอย่างแบบ Delivery ได้

รวมถึงรูปแบบสินเชื่อที่เข้าถึงง่าย ทั้งบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ก็ยิ่งทำให้กลุ่มคนที่กล่าวไปข้างต้นเริ่มเกิดการใช้จ่ายที่ “รายรับ” ไม่สมดุลกับ “รายจ่าย” มากขึ้นเรื่อยๆ

 

2. แนะให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ

เงินติดล้อ กล่าวต่อว่า บริษัทเล็งเห็นว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ก่อให้เกิดภาระหนี้ ถือเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการออม อาจนำมาซึ่งปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

ทำให้ เงินติดล้อ ตัดสินใจส่งเสียงให้สังคมตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านแคมเปญชุด “หนี้หรือความสุข” ที่ต้องการเตือนประชาชนทั่วไป (โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน) มีสติและคิดให้ดีก่อนเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่จำเป็นจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ซึ่งมักถูกชี้นำโดยสื่อโซเชียลและแรงกดดันจากสังคม ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครพูดถึงในประเด็นนี้มากนัก

 

3. สื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายแบบ “สุดขั้ว” แต่ “จริงใจ” แม้ไม่ใช่ลูกค้า

แม้ว่าแคมเปญที่ผ่านมา ที่ชื่อชุด “ชีวิตใหม่” ออกเผยแพร่วิดีโอโฆษณาเมื่อปี 2560 ซึ่งมุ่งสื่อสารกับลูกค้าของเงินติดล้อ ให้นำเงินกู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างอาชีพและชีวิตที่มั่นคง โดยทิ้งท้ายด้วยประโยคโดนใจ “เราไม่อยากให้คุณกลับมาหาเราอีก” ซึ่งออกมาในฟีลลิ่งแง่บวก จับกลุ่มลูกค้าของเงินติดล้อ

แต่อย่างไรก็ตาม เงินติดล้อระบุว่าบริษัทมีค่านิยมในการกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ และแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมากับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างจริงใจ ทำให้เกิดการสื่อผ่านแคมเปญ “หนี้หรือความสุข”

ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าแคมเปญนี้ออกมาในฟีลลิ่งที่รุนแรง แต่ก็ถือว่าเป็นการสื่อสารที่เข้าถึงใจกลุ่มเป้าหมายอย่างมนุษย์เงินเดือน วัยเริ่มทำงาน แบบตรงไปตรงมาและจริงใจ เพราะคนถูกตักเตือนดีๆ ก็มักจะเพิกเฉยอยู่บ่อยครั้ง

 

4. กระตุกต่อมคิดทางการเงินผ่านหนังสือ ดีไซน์ครีเอทีฟ

นอกจากนี้ เงินติดล้อ ยังมีการทำหนังสือ “25 วิธีคิดทำให้ชีวิตฉิบหาย” โดยปกหลังจะเขียนว่า “25 วิธีคิดทำให้ชีวิตสบายๆ” นำเสนอด้วย Typography ซึ่งเป็นการจัดวางและการออกแบบตัวอักษรเพื่อการสื่อสารให้ถึงกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง

“เราแค่อยากให้คุณใช้ชีวิตอย่างมีสติและตระหนักในทุกการตัดสินใจ เพราะชีวิตคนส่วนมาก มักจะไม่พังลงไปจากการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ แต่มักจะพังลงอย่างง่ายๆ กับเรื่องเล็กๆ เช่น การใช้จ่ายตรงนั้นอีกนิด หยิบยืมตรงนี้อีกหน่อยโดยไม่ระวัง” ข้อความส่วนหนึ่งจากผู้จัดทำหนังสือ ระบุ

ซึ่งหนังสือ จะมีการแจกให้กับพนักงานเงินติดล้อจำนวน 5,000 คนทั่วประเทศ และจะมีการวางขายหนังสือดังกล่าวตามร้านหนังสือทั่วประเทศในราคา 195 ยาท เริ่มวางจำหน่ายวันที่ 21 ตุลาคมนี้

 

5. คาดหวังให้คนไทย ไม่จำเป็นอย่าเป็นหนี้

สุดท้ายเงินติดล้อมองว่า การเผยแพร่แคมเปญในครั้งนี้ไม่ได้หวังผลทางด้านธุรกิจเลย เพราะแคมเปญเน้นเจาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ซึ่งไม่ใช่กลุ่มลูกค้าหลักของเงินติดล้อ โดยยืนยันว่าการเผยแพร่แคมเปญนี้ไม่ได้ห้ามให้เป็นหนี้ แต่อยากให้เป็นหนี้แบบมีการวางแผน ก่อหนี้เพื่อสร้างชีวิต

และการนำเสนอแคมเปญ “หนี้หรือความสุข” ในรูปแบบวิดีโอและหนังสือครั้งนี้ ก็เพื่อให้สังคมได้ฉุกคิดถึงการวางแผนทางการเงิน เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้พวกเราทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นต่อไป

from:https://www.thumbsup.in.th/new-ngerntidlor-campaign-via-book-and-video-ad