คลังเก็บป้ายกำกับ: mistake

Infographic: 7 บาป Social Media ที่ธุรกิจเล็กต้องเลี่ยง

ถ้าบาปคือความผิด ทั้ง 7 บาปต่อไปนี้คือความผิดพลาดที่ธุรกิจควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นในการเดินกลยุทธ์โซเชียลมีเดียของตัวเอง ซึ่งไม่เพียงธุรกิจขนาดเล็ก บางข้อผิดพลาดก็ไม่ควรเกิดขึ้นเลยในธุรกิจใหญ่เช่นกัน

นาทีนี้ทุกธุรกิจรู้แล้วว่าช่องทางออนไลน์นั้นมีประสิทธิภาพมากเพียงไร เพราะแพลตฟอร์มเหล่านั้นสามารถขยายกระแสประกายไฟเล็ก ๆ ให้กลายเป็นเปลวไฟลุกลามได้ สิ่งที่ธุรกิจควรทำคือการระลึกถึงจุดสำคัญที่จะทำให้กระแสนั้นได้รับความสนใจที่ดี และหลีกเลี่ยงวิกฤติ ดราม่า ความอับอาย หรือความรู้สึกแง่ลบอื่นๆ

หนึ่งในจุดสำคัญที่ธุรกิจต้องนึกถึง คือการเลี่ยงไม่หว่านแห พยายามคว้าไว้ทุกค่ายโซเชียลมีเดีย แต่ควรจะเลือกค่ายที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เหตุผลเป็นเพราะโซเชียลมีเดียวันนี้มีทั้ง Facebook, Instagram, LinkedIn, Twitter และ Pinterest นักการตลาดที่พยายามเข้าถึงลูกค้าใหม่แบบคลุมรอบทุกค่ายโซเชียล อาจจะพัฒนาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ไม่เต็มที่

อย่าหลงทาง

ความผิดพลาดจุดที่ 2 ที่ธุรกิจต้องระวังคือการหลงทาง ไม่สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องได้ จุดนี้เป็นเพราะจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้น และเครื่องมือการส่งข้อความที่ทรงพลัง ทั้ง 2 จุดแข็งที่ทวีความร้อนแรงตลอดเวลาทำให้โซเชียลมีเดียมีโอกาสที่น่าตื่นเต้นรออยู่สำหรับทุกองค์กร แต่ก็มีความเสี่ยงเรื่องการกำหนดกลุ่มเป้าหมายพลาดไปได้ง่าย

ความผิดพลาดต่อมาคือการโพสต์โซเชียลโดยไม่มีกลยุทธ์รองรับชัดเจน หากธุรกิจใดพลาดข้อนี้ ความล้มเหลวก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในการทำแคมเปญใดๆก็ตาม

ความผิดข้อ 4 เชื่อมกับความผิดข้อที่แล้ว คือการโพสต์มากเกินไป โพสต์ไม่รู้จักพอ ความผิดข้อนี้สามารถนำไปสู่มหากาพย์ความไม่ไว้วางใจของผู้บริโภค แถมยังสูญเสียเงินและความพยายามไปโดยเปล่าประโยชน์

ต้องฟังความคิดเห็น

บาปข้อ 5 คือการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสารทางเดียว หรือ One Way Tool เช่น การเป็นเครื่องมือประกาศข่าวเท่านั้น สิ่งที่แบรนด์ควรทำคือการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อส่งเสริมการแสดงความคิดของลูกค้า เพื่อให้แบรนด์ฟังความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่

บาปข้อ 6 คือการมองข้ามความสำคัญของพันธมิตรธุรกิจอื่น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเสียโอกาสในการแชร์โพสต์ ซึ่งจะทำให้ไม่อาจเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นได้ สุดท้ายคือบาปที่ 7 คือการไม่ได้วัดผลแคมเปญของธุรกิจ แน่นอนว่าการเลือกปิดตาไม่รับรู้ว่ามีข้อผิดพลาดอะไรในแคมเปญโซเชียลบ้าง จะเป็นบ่อนทำลายกลยุทธ์โซเชียลมีเดียในอนาคต ดังนั้นจงติดตามคะแนนเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะได้ผลลัพท์ที่ดีกว่า.

ที่มา: : PRDaily

from:https://www.thumbsup.in.th/social-media-mistakes?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=social-media-mistakes

บทเรียนสื่อจากกรณี “ไลฟ์สดซ้อมแฟน”

โซเชียลไทยแห่วิจารณ์และส่งต่อภาพรายงานข่าวของสำนักข่าวสัญชาติไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งพบว่ามีข้อความพิมพ์คำสะกดผิดมากกว่า 6 แห่งในย่อหน้าเดียว ถือเป็นบทเรียนต้องระวังในกรณีที่เนื้อหานั้นเป็นที่สนใจของกระแสสังคม

เพจ “ไทยเล็ด” โพสต์ภาพรายงานข่าว “ไลฟ์สดซ้อมแฟน” ซึ่งมีผู้ต้องหาหลักคือ “เอ็ม ชัยชนะ” ที่ทำทารุณกรรมแฟนสาวมากกว่า 6 ครั้งทั้งเตารีดนาบ-มีดปาดคอ ก่อนจะไลฟ์สดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรายงานข่าวนี้มีคำสะกดผิดหลายจุด ชนิดที่เด็กรุ่นใหม่ยังรับไม่ได้

คำผิดนั้นมีทั้ง “บาดแฟล”, “มีดยาด”, “ไม่บึกมาก”, “ข้อมือซ๊าน”, “จมูกมบหน้า” และ “น่าขมเชย”

ความผิดพลาดนี้ถือเป็นบทเรียนยิ่งใหญ่ เนื่องจากข่าวไลฟ์สดซ้อมแฟนนั้นเป็นข่าวที่สังคมไทยให้ความสนใจมาก เห็นได้ชัดจากการขึ้นแชมป์อันดับ 1 Youtube Trend วันที่ 24 เมษายน ซึ่งเป็นคลิป “ฟังจากปากแฟน “เอ็ม ชัยชนะ” โดนทารุณ 6 ครั้ง เตารีดนาบ-มีดปาดคอ | SpringNews” ยอดชม 318,998 ครั้งในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

นอกจาก YouTube ป้ายคำ #เอ็มชัยชนะ ติด Twitter Trend อันดับ 9 วันที่ 24 เมษายน หลังจากคำว่า “ไลฟ์สดซ้อมแฟน” ติด Top 3 Google Trend วันเดียวกัน

บทเรียนนี้สอนแบบสั้นแต่ชัดเจนว่า ข่าวใดที่ยิ่งร้อนแรง ข่าวนั้นยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ.

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2018/04/media-mistake/

5 บาปต้องเลี่ยง สำหรับมือใหม่หัดทำ Email Marketing

ปีใหม่ หลายคนอาจต้องเริ่มขอบเขตงานใหม่ หากใครที่รู้ตัวว่าเป็นมือใหม่การทำ email marketing ขอเชิญไปชมโอกาสผิดพลาด 5 จุดที่อาจจะทำให้แคมเปญใหม่ล้มไม่เป็นท่า

1. อย่ามากอย่าน้อย

จำนวนอีเมลที่ส่งให้กลุ่มเป้าหมายนั้นควรอยู่ในระดับที่พอดี ถามว่ากี่ฉบับจึงจะไม่มากไปและไม่น้อยไป? คำตอบจากการสำรวจล่าสุดพบว่า 86% ของผู้บริโภคระบุว่าพอใจที่ได้รับ marketing email จากบริษัทที่สนใจ 1 ฉบับต่อเดือน

ขณะที่ 60% ยินดีที่จะรับอีเมลสัปดาห์ละครั้ง มี 15% เท่านั้นที่แฮปปี้หากจะรับทุกวัน

ในทางตรงกันข้าม การศึกษายังแสดงให้เห็นว่านักการตลาดอีเมล 35% ส่งอีเมล 2 ถึง 3 อีเมลต่อเดือน 21% ส่งอีเมล 4 ถึง 5 ฉบับและ 19% เท่านั้นที่ส่งฉบับเดียวต่อเดือน

2. อย่าใช้ระบบ customization ให้ใช้ personalization

การสำรวจปี 2016 พบว่า การปรับแต่งหัวเรื่องอีเมลทำให้จำนวนการเปิดอีเมลเพิ่มขึ้นประมาณ 30% แต่เหมาะสมกับบางกรณีเท่านั้น เช่น เมื่อต้องการส่งชุดอีเมลอัตโนมัติไปยังลูกค้าใหม่, เมื่อต้องการส่งอีเมลไปยังลูกค้าที่ยกเลิกรถเข็นก่อนสั่งซื้อ, อีเมลพร้อมโปรโมชัน, อีเมลสำรวจความพึงพอใจ และอีเมลคูปองส่วนลดสำหรับวันเกิดหรือสำหรับกิจกรรมพิเศษ

แต่กรณีนอกเหนือจากนี้ การทำ personalization จะเหมาะสมกว่า การปรับเปลี่ยนสำหรับลูกค้ารายคนจะได้ผลดีมากเหมือนที่แบรนด์ Amazon เองก็ทำ

3. ส่งอีเมลโดยไม่แบ่งกลุ่ม

เมื่อลูกค้าลงทะเบียน ส่วนใหญ่จะให้ข้อมูลที่สำคัญทั้งเพศชายหรือหญิง วันเกิด ที่อยู่ และข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็นกับบริการ ข้อมูลนี้ช่วยให้นักการตลาดสามารถส่งอีเมลที่มีการกำหนดเป้าหมายได้ดีขึ้น ทำให้ไม่เกิดปัญหาสแปมเพราะอีเมลสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่จัดประเภทไว้

การแบ่งประเภทนี้ไม่เพียงช่วยให้อีเมลของบริษัทไม่เสี่ยงเป็นสแปม แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเนื้อหาของอีเมล ให้คุ้มค่ากับการลงทุนที่ทำไป

4. เนื้อหามากเกินไป

อีเมลนะไม่ใช่ว่าว อีเมลที่ดีไม่ใช่หนังสือพิมพ์ เต็มที่ก็ 7-8 scroll ตามจำนวนครั้งที่ผู้อ่านจะเลื่อนหน้าจอลงหรือมากกว่านั้น

5. “no reply”

แม้จะเป็นอีเมลที่ “no reply” หรืออย่าตอบกลับเมลนี้ แต่จงเขียนชื่อธุรกิจและเขียนชื่อบุคคลที่ส่งอีเมลแทนธุรกิจให้ชัดเจน เพราะผู้ส่งเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของอีเมลเทียบเท่ากับเป้าหมายของอีเมลทีเดียว

เหตุผลคือเพราะอีเมลส่วนบุคคลจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ลูกค้าจะรู้สึกชัดเจนว่ามีคนที่อยู่เบื้องหลังอีเมลที่ส่งถึง นอกจากนี้หากพวกเขาไม่ทราบว่าเป็นบริษัทใด ทุกคนจะไม่มีเหตุผลที่จะเปิดเว็บไซต์เข้าไปใช้บริการ

ที่มา : Business2community

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2018/01/mistakes-avoid-email-marketing/

สำรวจพบ “นักเขียนภาคเช้า” ผิดพลาดน้อยกว่า “นักเขียนกลางคืน”

คนทำงานจำนวนไม่น้อยนิยมทำงานตอนกลางคืน โดยบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่มีสมาธิและสมองแล่นเป็นพิเศษ แต่การสำรวจกลับชี้ว่างานของนักเขียนภาคกลางคืนนั้นมีข้อผิดพลาดมากกว่า โดยเฉพาะข้อผิดพลาดบนบทความออนไลน์ที่กลุ่มนักเขียนกลางคืนมีตัวเลขค่าเฉลี่ยที่สูงกว่านักเขียนภาคเช้าอย่างเห็นได้ชัด

นักเขียนภาคกลางคืนที่ทำงานช่วง 4 ทุ่มถึงตี 2 นั้นถูกเรียกว่านกฮูกกลางคืนในการสำรวจนี้ ขณะที่นักเขียนกลุ่มที่เขียนงานตี 4 ถึง 8 โมงเช้า ถูกเรียกว่านกตื่นเช้าซึ่งจะสามารถคว้าเจ้าหนอนได้ดีกว่า

ผู้ที่ทำสำรวจนี้คือ Grammarly ซึ่งวิเคราะห์ทั้งอีเมล โพสต์โซเชียลมีเดีย และบทความจากบล็อกต่างๆ โดยนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างข้อความที่ถูกเขียนในแต่ละช่วงเวลา เบื้องต้นพบว่านักเขียนภาคเช้าเขียนผิดเฉลี่ย 13.8 จุดต่อ 100 คำ น้อยกว่านักเขียนภาคกลางคืนที่เขียนผิด 17 จุดต่อ 100 คำ

สถิติค่าเฉลี่ยคำผิดเหล่านี้ถูกยกว่าเป็น Online Mistake Average ซึ่งแบ่งออกเป็นค่าเฉลี่ยคำผิดบนอีเมล โพสต์โซเชียล และบล็อก จุดนี้โพสต์โซเชียลครองแชมป์ประเภทงานเขียนออนไลน์ที่มีคำผิดเยอะที่สุด

บทความออนไลน์ที่มีคำผิดมากรองลงมาคืออีเมล และบล็อกโพสต์นั้นมีคำผิดเฉลี่ยน้อยที่สุด

ที่มา: PR Daily

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/04/writer-mistake/

6 ข้อพลาดบน social media ที่นักสื่อสารผิดพลั้งประจำ

Boy in front of laptop.

วันนี้คนส่วนใหญ่สื่อสารบนเครือข่ายสังคม ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน ข้อความเนื้อหาจำนวนมหาศาลบนโลกโซเชียลทำให้เราเห็นความผิดพลาดมากมายที่ทำให้การสื่อสารบนเครือข่ายสังคมไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร สะท้อนบทเรียนว่า 6 ข้อต่อไปนี้คือสิ่งที่นักการตลาดควรหลีกไกลเพื่อไม่ต้องช้ำใจกับภาวะทำตลาดผ่าน social media ไม่สำเร็จ

1. content เดียวเปรี้ยวทุกงาน

content ไม่ใช่สิ่งที่สามารถเรียกได้ว่า one-size-fits-all เพราะต่างคนต่างก็ต้องการเสพ content ที่ต่างกัน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การเขียนหรือสร้าง content ขึ้นใหม่เพื่อใช้กับแพลตฟอร์ม social media แต่ละแห่งจึงเป็นทางออกทำให้มั่นใจได้ว่า เหล่า follower จะไม่เบื่อหน่ายกับข้อความเดียวกันที่ปรากฏในหลายช่องทาง

2. เนื้อหาไม่เหมาะสม

เรื่องราวที่เราคิดว่าตลก หลายคนอาจไม่คิดแบบนั้น ขณะที่เรื่องราวที่เราคิดว่าดีงาม หลายคนอาจไม่เห็นด้วยเช่นกัน ดังนั้นขอให้ทุกคน “Think before you tweet” คิดก่อนโพสต์ข้อความใดโดยต้องไม่ลืมว่าคนร้อยคนสามารถคิดเห็นได้ร้อยทาง ซึ่งบางข้อความแทนที่จะถูกเชิดชูในแง่บวก ก็อาจถูกพลิกขึ้นมาเป็นเรื่องดราม่าได้ตลอดเวลา

3. วางแผนกำลังคนผิด

ต้องยอมรับว่าทุกแผนงานสามารถมีช่องโหว่ได้ตลอดเวลา และเมื่อลงมือทำตามแผนก็พบว่ามีหลายปัจจัยทำให้ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เหตุนี้หลายบริษัทจึงไม่เพียงวางแผนเฉพาะไอเดีย แต่ต้องมีการกำหนดนโยบาย ตารางประชาสัมพันธ์ content ที่ต่อเนื่อง รวมถึงการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของทีมงาน ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ความขลังของ content สามารถต้องตาต้องใจเหล่า follower ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

4. ไม่ยอมลงทุน

หลายองค์กรเลือกที่จะไม่จ้างมืออาชีพขึ้นมาทำ social media แต่เลือกใช้คนที่ไม่มีประสบการณ์ที่สามารถถ่ายรูปแล้วโพสต์บน Instagram แล้วจบไป จุดนี้มีความเป็นไปได้สูงที่องค์กรนั้นจะไม่สามารถสร้าง impact ได้ดีเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับคนที่ยอมจ้างทีมการตลาด ทีมพีอาร์ ทีมบริการลูกค้า หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องอื่นซึ่งเชี่ยวชาญวิธีการบอกเล่าเรื่องให้โดนใจ

5. ตอบสนองไม่ทั่วถึง

หลายครั้งที่แคมเปญ social media เป็นไปตามเป้าหมายทุกอย่าง แต่กลับมาตายตอนจบเรื่องการตอบสนองผู้สนใจในแคมเปญนั้น การสอบตกเรื่องการโต้ตอบนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เนื่องจากนักการตลาดสื่อสารควรรู้ว่าหัวใจของการสื่อสารบน social media ก็คือการโต้ตอบที่รวดเร็วทันใจ

6. โพสต์แบบโยนหินถามทาง

หลายบริษัทรู้ดีว่า target audience หรือกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร แต่บริษัทจำนวนไม่น้อยยังสับสนในเรื่องนี้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่นักสื่อสารของทุกบริษัทควรรู้ คือใครที่ใช่และไม่ใช่ลูกค้าของบริษัท เมื่อทราบแล้วจะได้ไม่ต้องเสียเวลากับการโพสต์แบบสุ่มมั่ว ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ follower บางรายสับสนไปด้วย

ที่มา: PRDaily

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/02/6-mistake-social-media/

Samsung พลาดอีกครั้งปล่อย Android 6.0.1 Marshmallow ให้กับผู้ใช้ Galaxy S5 ในฝรั่งเศส

สำหรับ Android 6.0.1 Marshmallow นั้นจริงๆแล้วตอนนี้ทาง Samsung ยังคงเปิดให้เฉพาะผู้ที่สมัครเข้าร่วมโปรแกรมทดสอบได้ทดสอบในเวอร์ชั่น Beta เท่านั้นนะครับ ยังไม่มีการปล่อยอัพเดทให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถอัพเกรดได้แต่อย่างใด แต่ทว่าจากรายงานล่าสุดที่ออกมาพบว่า Samsung ได้ปล่อยอัพเดทนี้ให้กับผู้ใช้ Galaxy S5 ในฝรั่งเศส ซึ่งงานนี้ต้องบอกว่าเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นซ้ำสองครับ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการปล่อยอัพเดทให้กับ Galaxy Note 4 แบบนี้ไปแล้ว

โดยจากการตรวจสอบแล้วพบว่า Build ที่ปล่อยออกมานั้นเป็นของวันที่ 1 มกราคม 2016 นั่นก็หมายความว่ามันไม่ใช่เวอร์ชั่น Public release แน่ๆ ทั้งนี้ผู้ใช้รายนี้ยังได้รับการอัพเดทแบบ Over-The-Air ตามปกติ เรียกว่าอัพได้ดื้อๆเลยนั่นเองครับ แต่เชื่อกันว่า Android 6.0.1 ที่ผู้ใช้รายนี้ได้รับน่าจะเป็นตัวเดียวกับที่ปล่อยทดสอบใน Beta แน่ๆ ส่วน Public release นั้นทาง Samsung ยังไม่ได้ประกาศกำหนดการอัพเดทใดๆออกมาให้ทราบ แต่คาดกันว่าอีกไม่กี่เดือนต่อจากนี้ทางบริษัทน่าจะได้ฤกษ์ปล่อยออกมาครับ

galaxy-s5-android-6.0.1-720x426

 

from:https://www.appdisqus.com/2016/01/25/android-6-0-1-marshmallow-for-the-galaxy-s5-sent-out-by-mistake-yet-again.html

Google ออกมาขอโทษสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับการจัดหมวดหมู่คนดำเป็นลิงกอริลล่า

สำหรับ Google คงต้องบอกว่าเป็นเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการค้นหาข้อมูลต่างบนโลกอินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันเลยล่ะครับ และนอกจากที่ Google จะเปิดให้บริการค้นหาข้อมูลต่างๆฟรีๆแล้วยังมีบริการอื่นๆที่ปล่อยออกมาอยู่เรื่อยๆอีกด้วยครับ ซึ่งนั่นก็ทำให้ Google นั้นเป็นบริษัทหนึ่งที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในยุคนี้ทีเดียวครับ แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แค่ไหนก็ยังคงมีสิ่งผิดพลาดให้เราได้เห็นกันอยู่ดีครับ

โดยล่าสุดนั้นเหมือนว่าอัลกอริธึ่มหรือระบบประมวลผลการค้นหาของ Google ได้เกิดความผิดพลาดขึ้น หลังจากที่นาย Jacky Alcine ได้เข้าใช้บริการ Google Photos ที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยนาย Alcine ได้พบว่าบริการนี้ทำการตั้งชื่อหมวดหมู่รูปภาพให้เขาโดยอัตโนมัติ แต่ทว่าเจ้าระบบประมวลผลดันไปตั้งชื่อหมวดหมู่ให้กับรูปของเขาและเพื่อนของเขาเป็นลิงกอริลล่าซะอย่างงั้น ขณะที่ภาพในหมวดหมู่อื่นๆถูกตั้งชื่อไว้อย่างถูกต้องและปกติดี และนั่นก็ทำให้เขารู้สึกโกรธมากที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น จึงได้เริ่มทวีตข้อความเพื่อให้ Google ปรับปรุงและแก้ไขตรงส่วนนี้ครับ

1435828514124

ต้องบอกไว้ก่อนว่านาย Alcine นั้นเป็นคนผิวสีหรือคนดำครับ และอย่างที่เราทราบกันดีว่าการเหยียดสีผิวของคนดำนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ และความผิดพลาดในครั้งนี้ก็ทำให้นาย Alcine รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก โดยได้ทวีตข้อความลงใน Twitter ว่า “เพื่อนของผมไม่ใช่กอริลล่า” ลองไปดูรูปสิ่งผิดพลาดของการจัดหมวดหมู่ที่เกิดขึ้นด้านล่างนี้ได้เลยครับ

 

แต่อย่างไรก็ตามความผิดพลาดแบบนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกแต่อย่างใดครับ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดขึ้นกับ Yahoo เช่นกัน โดยระบบประมวลของ Yahoo ได้ทำการติดแท็กรูปภาพให้กับผู้ใช้โดยอัตโนมัติซึ่งดันไปติดแท็กให้คนดำเป็น Ape หรือลิงนั่นเองครับ

ทั้งนี้ทาง Google ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ ทาง Google จึงรีบออกมาประกาศขอโทษกับสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้นในทันที และให้สัญญาว่าจะปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาดนี้โดยด่วนที่สุดครับ นอกจากนี้ทางโฆษกของ Google ยังกล่าวไว้ว่า “มีบางส่วนที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขแล้ว แต่บางส่วนก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไข”

 

ที่มา : cnet

 

 

 

from:http://www.appdisqus.com/2015/07/02/google-apologizes-for-algorithm-mistakenly-calling-black-people-gorillas.html

ใครก็พลาดกันได้!! Microsoft Lumia 535 แต่มีหน้าจอเป็น Android OS ซะงั้น

ต้นทาง: ใครก็พลาดกันได้!! Microsoft Lumia 535 แต่มีหน้าจอเป็น Android OS ซะงั้น

ว่าก็ว่าแหละครับ อะไรๆก็เกิดขึ้นได้เสมอขนาดว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft เองบางครั้งก็มีพลาดกันได้ โดยล่าสุดนั้นในหน้าเว็บของ Microsoft ที่อธิบายถึงรายละเอียดต่างๆของเครื่อง Lumia 535 นั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา ภาพรวมทั้งหมดของตัวเครื่อง สเปคและแอพต่างๆของเจ้าเครื่องนี้ ได้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นครับ โดยข้อผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นในรูปภาพที่ทาง Microsoft นั้นเลือกมาใช้ในการโปรโมทครับ แม้ว่าตัวเครื่องภายนอกนั้นจะเป็น Lumia 535 แต่ทว่ารูปภาพหน้าจอด้านในนั้นกลับแสดงให้เราเห็นถึงหน้าจอของ Android OS แทนซะอย่างงั้น

All-the-apps

อย่างที่เราทราบกันว่าในบริษัท Microsoft นั้นมีพนักงานมากมาย รวมทั้งแผนกต่างๆอีกมากมายหลายแผนก ฉะนั้นจะบอกว่าบริษัท Microsoft นั้นพลาดก็คงจะไม่ใช่ซะทีเดียวครับ แต่ควรจะมองว่าเป็นบางแผนกในบริษัทมากกว่าที่ทำให้เราได้เห็นเรื่องราวแปลกๆแบบนี้ครับ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องนี้ก็ควรถูกตำหนิครับ เพราะอย่างน้อยผู้ที่ทำกราฟฟิกชุดนี้ก็ควรจะแยกออกระหว่าง Vine บน Windows Phone และ Vine บน Android ครับ

Remember-the-apps

โดยรูปภาพดังกล่าวนั้นนอกจากจะแสดงให้เราเห็นว่ามันไม่ใช่หน้าจอของ Windows Phone แล้ว หากเรามองลึกลงไปอีกเราจะทราบได้ว่าเจ้า Android เวอร์ชั่นนี้ก็ไม่ใช่ตัวล่าสุดเช่นกันครับ คาดว่าจะเป็น Android 4.x เพราะว่าบริเวณนาฬิกานั้นมีสีฟ้าและนั่นก็หมายความว่าไม่น่าจะใช่ KitKat อีกด้วยครับ

อย่างไรก็ตามหลังจากที่รูปภาพดังกล่าวได้ถูกพบเห็นผ่านเว็บไซต์ของ Microsoft แล้ว ต้องบอกว่าเกิดการแสดงความคิดเห็นออกมาในโลกโซเชียลไม่น้อยเลยทีเดียวครับ บ้างก็ว่า “หางานใหม่รอเลย” หรือ “วันนี้มีคนโดนไล่ออกแน่นอน” รวมทั้งคอมเม้นต์ต่างๆที่ออกมาเสียดสีบริษัท Microsoft อีกมากมาย โดยเฉพาะจากเหล่า  Fanboy ของระบบปฏิบัติการอื่นๆนี่ล้อกันสนุกปากเลยครับ แต่จริงๆแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นข้อผิดพลาดที่ให้อภัยไม่ได้ซะทีเดียวหรอกครับ เพราะไม่มีใครบนโลกนี้ที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว อะไรๆก็เกิดขึ้นได้เสมอ แต่เชื่อเหลือเกินว่าเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้ คงถูกพูดถึงกันไปอีกซักระยะแน่นอนครับ

 

 
ที่มา : Phonearena

ที่มา – iPhone, iPad, Android, Windows Phone 8 เกมรีวิว แอพพลิเคชั่นรีวิว วิจารณ์ มือถือ ข่าวสารล่าสุด – APPDISQUS –

from:http://www.appdisqus.com/2015/06/13/when-marketing-fails-microsofts-lumia-535-page-shows-off-vine-for-android.html

หลุมพราง 7 ประการที่ Startup มือใหม่ควรระวัง (7 Pitfalls That Can Kill Your Startup) โดย Jeffrey Char

profiles_272_fyfn

บทความนี้เป็นการสรุปประเด็นสำคัญมาจากการบรรยายในหัวข้อ 7 pitfalls that can kill your startup ซึ่งถือเป็นอีกไฮไลท์ของงาน True Incube Asia Pacific Mobile App Challenge 2014 เมื่อค่ำวันพุธที่ผ่านมา เป็นการบรรยายโดย Jeffrey Char ซึ่งมีตำแหน่งเป็น CEO ของ J-Seed Ventures มีประสบการณ์ก่อตั้งธุรกิจมาแล้ว 15 บริษัท เป็นอาจารย์สอนด้านการลงทุนและนวัตกรรมให้กับมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในญี่ปุ่น รายละเอียดเพิ่มเติมของการบรรยายสรุปได้ดังนี้ค่ะ

1. หลงใหลไอเดียของตัวเอง (Fall in love with your idea)

the more i love the idea

ผู้เริ่มต้นธุรกิจส่วนมากจะเริ่มมาจากการปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าอยากจะทำอะไรออกมาขาย แล้วก็คิดว่ามันเป็นไอเดียที่เจ๋งมากๆ ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผิด เพราะธุรกิจที่จะเติบโตได้ต้องมีที่มาจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาของผู้คนต่างหาก เนื่องจากคุณต้องทำธุรกิจในโลกของความเป็นจริง ดังนั้น อย่าใช้ “ความคิด” ของตัวเองเป็นพื้นฐานของธุรกิจ แต่ต้องมองเห็น “ปัญหา” ที่มีอยู่จริง แล้วเอามาเป็นตัวตั้งเพื่อที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น

2. รีบทดสอบผลิตภัณฑ์เกินไป (Testing your product too early)

CustomerSatisfaction

สำหรับข้อนี้ พูดง่ายๆ ว่าถ้าเราติดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดที่เหลือก็คงไม่ต้องพูดถึง ถ้าเราเริ่มต้นธุรกิจอย่างถูกวิธี เราจะไม่เริ่มจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ แต่เราจะเริ่มด้วยการทดสอบปัญหาและข้อสันนิษฐานของเราที่มีต่อปัญหานั้นๆ เป้าหมายคือต้องรู้ว่าปัญหานั้นสร้างผลกระทบให้คนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็คือการดูความเป็นไปได้ของตลาดในอนาคตนั่นเอง ถ้าปัญหานั้นส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากก็อาจจะแปลว่าเป็นตลาดใหญ่ แล้วเราจะมีวิธีทดสอบข้อสันนิษฐานของเราได้อย่างไรบ้าง? คุณ Jeffrey ไม่ได้อธิบายเอาไว้อย่างละเอียด (หรืออาจจะมีแต่ฟังไม่รู้เรื่อง ฮ่าๆ) แต่คิดว่าแบบที่ง่ายที่สุดก็คือออกไปพูดคุยกับคนอื่นเกี่ยวกับสิ่งที่เราคิด หรือแบบที่เป็นทางการก็อาจจะทำการสำรวจหรือทำโฟกัสกรุ๊ป

3. หมกมุ่นกับผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ (Building perfect product)

genworth_financial_planning_good_debt_bad_debt

เจ้าของธุรกิจมือใหม่ที่ใจร้อนอาจจะอยากเห็นโปรดักต์ของตัวเองสมบูรณ์แบบพร้อมขายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในความเป็นจริงคือไม่มีผลิตภัณฑ์ไหนที่จะสมบูรณ์แบบตั้งแต่ออกมาจากไลน์ผลิตครั้งแรก ถึงมันจะออกมา “เป๊ะ” มากตามความคิดของเรา แต่มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการก็ได้ แทนที่จะทุ่มเทความพยายามไปกับการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบรวดเดียวจบ ควรจะผลิตแบบต้นทุนต่ำที่สุดในครั้งแรกแล้วค่อยๆ พัฒนามันขึ้นมา ด้วยการรับฟังความเห็นจากลูกค้าที่ได้ใช้งานจริง เพราะสุดท้ายแล้วธุรกิจจะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อมีคนยอมจ่ายเงินให้กับสินค้าของคุณ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบน่าจะหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่คนต้องการต่างหาก

4. ระดมทุนเร็วเกินไป (Raising capital too early)

money_hunt_by_rasei

“เงิน” คือปัจจัยสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่หล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดได้ ดังนั้น Startup หลายๆ รายจึงให้ความสำคัญกับการหาเงินมาลงทุน ทั้งที่ยังไม่มีแผนหรือทิศทางในการพัฒนาธุรกิจที่ชัดเจนว่าจะเอาเงินไปทำอะไรบ้าง เมื่อธุรกิจไม่ได้โฟกัสไปที่การแก้ปัญหาตั้งแต่แรก สิ่งที่ตามมาก็คือการไม่อยู่บนความเป็นจริง สุดท้ายก็ใช้เงินจนหมดโดยอาจจะไม่ได้พัฒนาอะไรที่เป็นรูปเป็นร่างให้กับธุรกิจเลย ซึ่งแปลว่าคุณกำลังทำลายความสัมพันธ์กับนักลงทุนไปด้วย และมันจะต้องมีผลกระทบอนาคตทางธุรกิจของคุณอย่างแน่นอน

5. โตเร็วเกินไป (Premature scaling)

119273624_kids_growing_up_too_fast_xlarge

เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง Startup ก็ต้องหาคนมาร่วมทีม จากผู้ก่อตั้งไม่กี่คนก็ต้องมีทีมงานจากหลายสาขาอาชีพเข้ามาช่วยดูแลในส่วนต่างๆ ซึ่งธุรกิจที่คุณ Jeffrey ยกมาเป็นตัวอย่างคือมีจำนวนพนักงานเยอะขึ้นแบบก้าวกระโดดจนควบคุมไม่ได้ ผลสุดท้ายคือไปไม่รอด เพราะไม่มีหน้าที่ที่ชัดเจนมารองรับการหาทีมงาน หรือมีจำนวนคนเยอะกว่าจำนวนงานนั่นเอง

6. วัฒนธรรมองค์กรไม่ชัดเจน (Screwed up company culture)

synergy

Startup ควรสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมกับธุรกิจ โดยกำหนดเป็นคำสั้นๆ ที่แสดงถึงภาพรวม ทิศทาง และเป้าหมายขององค์กร เช่น ความสนุกสนาน (Fun) แล้วก็พูดถึงมันบ่อยๆ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และทุกคนก็จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าอะไรที่ใช่หรือไม่ใช่สำหรับองค์กร

7. มีแต่คนประเภทเดียวกัน (Too many clones)

clones

ในบริษัทหนึ่งแห่งย่อมต้องประกอบไปด้วยคนหลากหลายประเภท และถ้าจะให้ธุรกิจเติบโตได้ดีก็ต้องอาศัยทักษะหลากหลายประเภท การจะหาคนที่มีความหลากหลายเข้ามาอยู่รวมกันได้คุณก็จะต้องเริ่มออกไป Hang out กับคนอื่นๆ ที่ต่างไปจากคุณบ้าง ซึ่งมันอาจจะรู้สึกแปลกๆ ในช่วงแรก เพราะโดยธรรมชาติของคนแล้วก็ต้องชอบคุยกับคนที่มีความสนใจเหมือนๆ กันเป็นธรรมดา แต่การออกไปทำความรู้จักกับคนที่มีความสนใจและความเชี่ยวชาญคนละด้านกับเรา นอกจากจะทำให้เราได้เห็นแง่มุมใหม่ๆ แล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายหรือ connection อีกด้วย

ทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการมือใหม่ควรจะเรียนรู้เอาไว้เพื่อที่จะได้ไม่ตกหลุมพรางทางธุรกิจ และคงจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกคนนะคะ :)

from:http://thumbsup.in.th/2014/10/7-pitfalls-that-can-kill-your-startup/

10 ความผิดพลาดง่ายๆ จากการดูแลช่องทางโซเชียลมีเดียที่พบได้เป็นประจำ

Social-Media-Mistake-IT-Insider

ภาพจาก ihavenet.com

โซเชียลมีเดีย กลายเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวสาร, นำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการ รวมทั้งเป็น Customer Service ไปแล้วในยุคนี้ เพราะเป็นช่องทางที่ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็ว รวมทั้งสามารถที่จะตรวจสอบข้อความได้อย่างทันท่วงที แต่การที่จะบริหารและทำให้ช่องทางนี้ได้ดีและเป็นที่พึงพอใจกับทั้งเจ้าของแบรนด์และคุณลูกค้านั้นก็ต้องอาศัยผู้ที่ดูแลไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ Facebook Page, Twitter เป็นตัวขับเคลื่อนให้ไปได้ด้วยดี

สำหรับการทำให้ดีนั้นต่างคนก็มีวิธีที่ต่างกันไป และเราก็ได้บอกในส่วนของ How To กันไปก็พอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่เราเจอในด้านความผิดพลาดนั้นกลายเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่มักเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ บทความแปลนี้ถือเป็นสิ่งที่จะคอยเตือนใจให้กับผู้ดูแลช่องทางการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าหรือผู้ที่ติดตามบนโซเชียลมีเดียให้ระมัดระวังการใช้งานโดยให้หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ครับ

1. เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ

บ่อยครั้งที่เราต้องการปริมาณให้มากเข้าว่า โดยลืมสิ่งที่เราต้องการจะเน้นหรือโฟกัส ดังนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา, คุณภาพ และบทสนทนาที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่ควรเน้นและให้ความสำคัญมากกว่าปริมาณ

2. ไม่พยายามสร้างสิ่งที่จะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์

การตอบกลับจากคำถามที่ได้รับ รวมทั้งกล่าวคำขอบคุณนั้นเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติอยู่แล้วในการดูแลโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าคุณทำแค่สองสิ่งนี้ถือว่าไม่สมบูรณ์แบบซะทีเดียว สิ่งที่ข้อนี้ต้องการจะบอกก็คือเราเป็นผู้เริ่มการสนทนาหรือสร้างบทสนทนาที่เกี่ยวกับเนื้อหานั้นขึ้นมาด้วยตัวเอง เพื่อที่จะเป็นการสื่อให้คนอ่านข้อความได้รู้ว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น รวมทั้งได้รู้ความรู้สึกนึกคิดจากความคิดเห็นของคนที่เข้ามาให้ความเห็นด้วย

3. โพสต์ข้อความไปโดยไร้กลยุทธ์และไร้การวางแผน

การที่ก้มหน้าก้มตาโพสต์หรือเขียนข้อความโดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้นคือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง (อย่างมาก) ดังนั้นเราควรที่จะให้เวลาเพื่อคิดเป้าหมาย(Goal) ของสิ่งที่จะทำการเขียนข้อความ โดยดูว่าที่เราเขียนไปว่าสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารคืออะไร, สิ่งที่เราจะได้รับคืออะไร, ตรงตามกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ โดยเป้าหมายเหล่านั้นจะถูกเอามารวมกับแผนการตลาดโดยรวม รวมทั้งการแตกงานย่อยๆ ในแต่ละวัน เพื่อที่จะทำให้สิ่งที่เราต้องการสื่อสารนั้นตรงตามเป้าหมายนั่นเอง

4. ตั้งระบบตอบกลับข้อความอัตโนมัติ

เคยได้ยินหลายคนบอกว่า คนที่ดูแลเรื่องออนไลน์นั้นเหมือนทำงาน 24*7 หรือทำงานแทบทุกวันไม่มีวันหยุดใดๆ เพราะในแง่ธุรกิจนั้นการตอบสนองที่เร็วย่อมเป็นสิ่งที่จะทำให้ได้เปรียบอยู่เสมอ ดังนั้นเราเป็นมนุษย์จึงมีการคิดค้นสิ่งที่จะช่วยทำแทนเราอัตโนมัติ อย่างเช่น ทำระบบตอบกลับข้อความขอบคุณสำหรับทุกคนที่มาติดตาม หรือ Follow หรือเป็นข้อความอื่นๆ ที่จะแนะนำสินค้า ซึ่งข้อความนี้นอกจากจะทำให้คิดเป็นการส่งข้อความสแปมแล้ว ยังทำให้การสร้างการสนทนาและปฏิสัมพันธ์ในภายภาคหน้าถูกปิดกั้นไปด้วย

ดังนั้นแล้วการส่งข้อความประเภทนี้ควรจะส่งด้วยตัวเองตามกำลังความสามารถ และให้กับคนที่คุณต้องการเท่านั้น

5. เขียนข้อความโดยไม่ตรวจทาน

ผมเองเข้าใจครับว่าการเขียนข้อความใดๆ นั้น เราอยากที่จะนำเสนอสิ่งที่ใช่และรวดเร็วที่สุด แต่การสะกดผิดหรือข้อความที่สำคัญนั้นตกหล่นหายไป ก็ย่อมทำให้สารถูกตีความเข้าใจผิดก็เป็นได้ และอาจสายเกินจะแก้ไขได้ เพราะโซเชียลมีเดียนั้นขึ้นชื่อความไวในการส่งต่อข้อความ

ทางที่ดีนั้น ควรให้เวลา 2-3 นาทีในการตรวจทานข้อความทั้งหมดที่จะทำการเขียนขึ้นไม่ว่าจะช่องทางใดๆ หรือถ้าให้แนะนำอีกวิธีคือให้เขียนข้อความที่ต้องการใส่ไว้บนโปรแกรม Notepad, Excel เพื่อที่จะตรวจทานข้อความทั้งหมด รวมทั้งไปสนับสนุนข้อที่ 3 คือช่วยในการวางแผนข้อความที่จะโพสต์ได้อีกด้วย

6. โพสต์ข้อความในขณะที่เหนื่อยไม่มีกะจิตกะใจทำ

บ่อยครั้งที่เรากลับเข้ามาตรวจดูข้อความแล้วไปเจอกับบางข้อความที่อ่านแล้วรู้สึกไม่ดี หรือรู้สึกโกรธในสภาวะจิตใจของเราที่ไม่ค่อยจะดีด้วยสิ่งแวดล้อมที่เจอ การที่ไปโต้ตอบในทันทีทันควันในช่วยที่มีภาวะจิตใจที่ไม่ดีนั้นอาจส่งผลให้ข้อความที่จะช่วยทำให้ดีขึ้นกลับเลวร้ายลง

ดังนั้นหากเกิดภาวะเช่นนี้ อย่าหุนหันพลันแล่นที่จะตอบทันที ให้กลับมาลองทบทวนก่อนที่จะโพสต์ข้อความหรือทางที่ดี ปิดทุกสิ่งอย่างแล้วไปพักผ่อน ทำใจให้สบายแล้วค่อยกลับมาอ่านและตอบอีกครั้งครับ

7. ช่วย RT หน่อยนะ / ฝากแชร์ด้วยนะ…ตลอดเวลา

สำหรับคนที่ใช้งาน Twitter อยู่เป็นประจำคงเคยได้เห็นข้อความต่อท้ายแบบเป็นมาตรฐานว่า “รบกวน RT”, “ช่วย RT” ซึ่งก็คือการช่วยส่งต่อข้อความไปยังผู้ที่ติดตาม อันที่จริงก็ไม่ได้มีกฎหรือกติกาใดๆ ว่าห้ามทำแบบนี้แต่อย่างใด แต่การใช้แบบพร่ำเพรือหรือตลอดเวลาก็คงดูน่ารำคาญหรือดูไม่ดีนัก การที่จะทำให้คนมา Retweet ข้อความ หรือส่งต่อข้อความนั้น อยู่ที่เนื้อหาหรือ Content ที่เรานำมาเสนอว่าถูกใจและโดนใจมากน้อยขนาดไหน ถ้าเขาถูกใจ ไม่ต้องมีข้อความขอร้องอะไรก็ถูก Retweet ไปง่ายๆ แล้วครับ และนี่คือการสนับสนุนข้อแรกคือ ให้เราเน้นคุณภาพของเนื้อหาเป็นหลัก

8. ส่งข้อความสแปมไปยังคนที่ติดตามหรือเพื่อนของคุณ

จากข้อที่ 4 ที่บอกว่าให้หลีกเลี่ยงการใช้โปรแกรมเพื่อส่งข้อความอัตโนมัติไปยังกลุ่มคนที่ติดตามเรา ในข้อนี้จะแตกต่างไปนิดเพราะเป็นการจงใจที่จะส่งข้อความในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน เพื่อวัตถุประสงค์ในการเรียกร้องความสนใจในบางอย่าง เช่น การยิงโปรโมชันต่างๆ สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ผู้ได้รับสารนอกจากจะไม่ได้รับรู้สาระที่แท้จริงว่ามันคืออะไรแล้ว พาลจะทำให้รำคาญและเลิกติดตามไปในที่สุด ดังนั้นพึงหลีกเลี่ยงครับ

9. ให้ความกลัวฉุดรั้งความคิดและทุกสิ่งอย่างของคุณไว้

ข้อนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความกลัว อย่ากลัวที่จะยืนยันสิ่งที่เราพูดออกไปในโซเชียลมีเดีย ความกลัวคืออุปสรรคที่จะทำให้เราไม่กล้าพูดหรือลังเลที่จะบอกในสิ่งที่เราอยากสื่อสารออกไป, เมื่อไหร่ที่ควรจะเขียนข้อความ และควรหรือไม่ควรจะบอกออกไป

ข้อนี้ไม่ได้ตั้งใจจะบอกให้คุณเลิกกลัวแบบ 100% แต่อยากจะให้เพียงแค่หาวิธีการใหม่ๆ เพื่อลดความกลัวนั้นไปจากความคิดของเรา เพื่อให้สร้างให้เรากล้าคิดและกล้านำเสนอสิ่งที่อยากจะบอกออกไป

10. แต่งเรื่องสั้น, บรรยายยาวๆมันทุกโพสต์

ในบางครั้งแล้วการเขียนข้อความที่ยาวๆ นั้นอาจจะทำให้ดูน่าเบื่อ หรือกลายเป็นบรรยายโวหารไป ด้วยข้อจำกัดของ Twitter ที่สามารถใช้ตัวอักษรได้สูงสุุด 140 ตัวอักษร จึงเป็นที่มาของข้อนี้คือ ให้เราพยายามย่อหรือสรุปใจความสำคัญที่ชวนติดตามหรือคลิกเพื่ออ่านต่อหลังจากที่อ่านประโยคนั้นจบ ซึ่งการที่จะทำให้อ่านได้ง่ายและเข้าใจ อาจต้องใช้เวลารวมทั้งความเข้าใจในสิ่งนั้นๆ ด้วยครับ

—————————————————————————————————————————————————————————–

ทั้ง 10 ข้อนี้คือสิ่งเป็นข้อผิดพลาดจากการใช้งานโซเชียลมีเดียที่พบเห็นได้อย่างง่ายๆ (โดยเฉพาะข้อ 7 ฮ่า…) เจตนาอย่างที่บอกไปครับว่าต้องการให้เห็นถึงตัวอย่างและระลึกถึงที่ไม่ควรเอาไปปฏิบัติตาม โดยหากหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว ผมก็เชื่อได้ว่าไม่ว่าสิ่งใดเข้ามา คุณก็จะระลึกถึงการได้ประโยชน์จากลูกค้าด้วยความถูกต้องและเหมาะสมของข้อมูลครับ

ที่มา: 12Most

from:http://thumbsup.in.th/2013/04/10-simple-mistakes-in-social-media/