คลังเก็บป้ายกำกับ: KOL

รู้ไว้ไม่มีพลาด!! หลักในการเลือก Influencer มาทำแคมเปญการตลาดให้ปัง

ปัจจุบัน Influencer หรือผู้มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์นั้น มีมากมายหลายคน และหลายหมวดหมู่ธุรกิจ เมื่อแบรนด์ต้องเลือก Influencer มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้แคมเปญทางการตลาดนั้นประสบความสำเร็จ  เราจะต้องมองที่ปัจจัยใดบ้าง ลองมาดูกันค่ะ

KOL (Key Opinion Leader) หรือ Influencer Marketing เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดใช้ชื่อเสียงความนิยม ของบุคคลที่มีอิทธิพลในโลกออนไลน์มาทำการตลาด ซึ่งเรียกได้ว่าเหล่า Influencer นั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมของผู้คน

เราจึงลองมาคุยกับ อรรวี ตั้งศุภพรชัย Senior Media Planner ที่มีประสบการณ์ในการร่วมงานกับ Influencer ว่าสิ่งสำคัญหลักๆ ที่เราควรมองหาก่อนตัดสินใจร่วมงานด้วยนั้นควรต้องมีอะไรบ้าง

วัตถุประสงค์ของแบรนด์

สำหรับขั้นแรกต้องคงต้องมองวัตถุประสงค์ก่อนว่าต้องการ Brand Awareness เพื่อต้องการ Eyeball ให้คนเห็นเป็นจำนวนมาก  เช่น หากผลิตภัณฑ์เป็นอาหารที่ต้องการสร้างการรับรู้มากๆ ก็อาจจะเลือกใช้ดาราที่มีชื่อเสียงร่วมด้วยกับการใช้ Food Blogger เพื่อกระจายการรับรู้ออกไปในวงกว้าง

หรือถ้ามีวัตถุประสงค์ในการสร้างการมีส่วนร่วม  เพื่อนำไปสู่การทดลองสินค้า  ก็ควรเลือกบุคคลที่ดูมีความเชี่ยวชาญในวงการนั้นๆ เช่น เลือกคุณหนุ่ย จากแบไต๋  ที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการไอที  เพื่อมารีวิวคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ เป็นต้น

หนุ่ย-พงศ์สุข Influencer ที่อยู่ในวงการไอที

ภาพจาก – beartai

งบประมาณที่ตั้งเอาไว้

ถ้าคุณเป็นเอเจนซี่แล้วลูกค้าโยนงบประมาณมา  สิ่งแรกที่ควรมองคือ “งบก้อนนี้ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”  ซึ่ง Influencer ในยุคนี้มีอยู่เยอะมากๆ  ทั้งดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง

โดยถ้าเป็นกลุ่มคนที่ติด Top อยู่แล้วก็จะมีราคาสูง  เพราะจะหลายเจ้ามีทีมโปรดักชั่นเป็นของตัวเอง  ทำให้เราต้องมาชั่งน้ำหนักกันดูว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้ควรจะใช้กลุ่มไหน

หากงบประมาณมีจำกัดอาจต้องหันไปเลือกกลุ่ม Nano Influencer หรือ Micro Influencer เพราะใช้งบประมาณไม่ได้เยอะมาก  หรือหากอยากได้คนที่มีชื่อเสียงคนเดียว เราก็จะหันไปใช้คนที่เป็น Macro Influencer หรือ Celebrity ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง

กลุ่มเป้าหมายคือใคร

นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ งบประมาณนั้น  สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์  เพราะเป็นกลุ่มคนที่แบรนด์ต้องการสื่อสารด้วย

โดยต้องมองว่ากลุ่มเป้าหมายอยู่ในวัยไหนและกำลังติดตาม Influencer คนใดอยู่  เช่น ตอนนี้วัยรุ่นส่วนใหญ่กำลังหนีไปเล่น twitter กัน  ดังนั้นเราจะเลือกซื้อ Influencer ที่อยู่บน twitter ด้วยหรือไม่

Kaykai Salaider คือ Influencer ชื่อดังที่มียอดผู้ติดตามในเฟซบุ๊กกว่าสองล้านคน

ภาพจาก – Kaykai Salaider Channel

Follower และ Engagement

หลายๆ คนมักให้ความสำคัญกับจำนวน Follower เพราะสื่อถึงความมีชื่อเสียง  แต่นอกเหนือจาก Follower ยังดูไปถึง Engagement ด้วยที่มีความสำคัญเหมือนกัน แม้ว่าจะต้องมีการลงโฆษณาเพื่อโปรโมทต์โพส  แต่ปกติที่จะทำงานกับ Influencer ก็ควรต้องถามก่อนว่า Organic Reach ดั้งเดิมนั้นเป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหนด้วย

ภาพลักษณ์เข้ากับสินค้าไหม

บางครั้งการเลือกจากความดังของ Influencer อย่างเดียวอาจไม่ถูกต้องนัก  แต่ควรเลือกให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายด้วย

ซึ่งสิ่งสำคัญคือภาพลักษณ์ของ Influencer ที่สนใจนั้นตรงกับผลิตภัณฑ์และกลุ่มเป้าหมายที่กำลังสื่อสารหรือไม่  เช่น หากสินค้าเป็นแนวหรูหราสิ่งที่ต้องเลือกคือคนน่าเชื่อถือ รวมไปถึงไลฟ์สไตล์ส่วนตัวมีแนวโน้มที่ใช้สินค้าแบบนี้

หรือหากเป็นสินค้าสำหรับผู้หญิง  แต่เลือกใช้ Influencer ผู้ชายที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังก็อาจไม่เข้ากับตัวสินค้า  ทำให้ควรต้องดูให้ดีๆ ว่าเรากำลังสื่อสารอยู่กับกลุ่มไหน

รูปแบบคอนเทนต์ในเพจของ Influencer

มีความครีเอทีฟมากน้อยแค่ไหน  อย่างบางคนมีชื่อเสียงก็จริงแต่ไม่เคยรับงานมาก่อน Mood&Tone ของ Instragram จะไม่เข้ากับผลิตภัณฑ์ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ไม่ดีนัก  คอนเทนต์ในเพจเขานั้นมันไปได้กันกับตัวผลิตภัณฑ์ของเรา ในแบบที่ไม่ยัดเยียดมากจนเกินไปหรือไม่

เพราะอย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้คนเสพสื่อฉลาด  อย่างไรก็รู้แน่ๆ ว่าคอนเทนต์ตัวนี้คือโฆษณา  แต่โฆษณาแบบไหนที่จะดูไม่ผิดแปลกมากจนเกินไปนั่นเอง

ถ้าเขาสร้างคอนเทนต์ได้ดีก็น่าทำงานด้วย  ซึ่งสิ่งนี้เป็นรายละเอียดเฉพาะบุคคล  และอะไรที่ไม่ใช่ตัวตัวของ Influencer คนนั้นงานที่ออกมาก็จะไม่สนุก  เพราะถ้าเลือกถูกคนแม้จะกำลังขายของคนดูก็จะดูจนจบได้เช่นกัน

ตัวอย่างการทำโฆษณาของ Influencer ที่มีเนื้อหาสนุกน่าติดตาม

สัดส่วนของการโฆษณาถึงแบรนด์

ถ้างานรีวิวเลยจะต้องพูดสินค้า 50% ขึ้นไปของเนื้อหานั้นๆ  หรือบางทีอาจจะ 100% ไปเลย  แต่หาก Tie-in หรือการ Co-Create Content ที่มีการนำไปเชื่อมโยงเข้ากับไลฟ์สไตล์ก็อาจไม่ได้ขายของมากนัก

ซึ่งขึ้นอยู่กับการปรึกษากับ Influencer ว่าต้องทำแบบไหนให้คนเข้าถึงได้มากที่สุดนั่นเอง  และต้องมาลองคุยอีกว่าคนไหนรับรีวิวแบบ 100% หรือคนไหนที่ไม่รับรีวิวแต่เน้นการ Tie-in มากกว่า

ชื่อเสียงและประวัติในอดีต

หากเป็นไปได้อาจลองหาข้อมูลว่า Influencer คนนั้นมีการทำงานเป็นอย่างไร  สามารถติดต่องานด้วยยากไหม  มีการส่งงานตรงต่อเวลาหรือเปล่า  ทำตามบรีฟไหม  สิ่งจริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มักถูกส่งต่อกันแบบปากต่อปาก

ภาพจาก – พี่เอ็ด7วิ

แพลต์ฟอร์มอื่นๆ

จริงๆ การเลือกใช้ Influencer ต้องมองที่แพลตฟอร์มที่เขามีด้วย  เพราะ Consumer Journey ของผู้บริโภคปัจจุบันนั้นไม่ได้จบแค่เพียงแพลตฟอร์มเดียว  ในหนึ่งแคมเปญหากมีงบประมาณที่เพียงพอก็ควรเลือกซื้อ Influencer ให้ครบถ้วนทุกแพลตฟอร์มด้วย

และเคล็ดลับหนึ่งในการใช้ Influencer คือหากใช้งานกันไปหลายแคมเปญ  แล้วภาพลักษณ์ของ Influencer คนนั้นดีมาก  ก็อาจกลายมาเป็นเหมือน Brand Ambassdor กับแบรนด์ๆ ได้เช่นกัน

 

สิ่งสำคัญในการร่วมงานกับ Influencer

สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่จะทำให้ตัวผู้จ้างงานกับ Influencer ทำงานกันได้อย่างราบรื่นนั้นคือ “การสื่อสารให้น่าพูดคุยด้วย” ผ่านทัศนคติที่ว่า Influencer ที่ทำงานร่วมเป็นเสมือนกับพาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกัน  เพราะบางครั้งอาจต้องร่วมงานกันอีกในอนาคต. ไม่ใช่แค่งานเดียวที่ต้องทำร่วมกันเท่านั้น

 

 

from:https://www.thumbsup.in.th/2019/05/how-to-select-influencer-2/

Baidu แนะ เมื่อแบรนด์เจอปัญหาเชิงลบควรแก้อย่างไร

ท่านผู้อ่านเคยรับชมคลิปสาวไทยที่มอบพวงมาลัยให้นักท่องเที่ยวจีนที่กำลังเป็นกระแสดังในช่วงนี้ไหมคะ วันนี้ทาง thumbsup มีคำแนะนำจากไป่ตู้ แอคเซส เกี่ยวกับปัญหานี้มาแชร์กันค่ะ

ลองชมคลิปที่กำลังเป็นกระแสกันก่อนนะคะ (ต้องขอขอบคุณคลิปจาก มติชนทีวีด้วยนะคะ) โดยเนื้อหาภายในคลิปเป็นการแอบถ่ายสาวคนหนึ่งที่กำลังคล้องพวงมาลัยให้กับนักท่องเที่ยวแบบสีหน้าบูดบึ้ง แต่พอถ่ายรูปก็ยิ้มหวาน และชาวจีนที่ได้เห็นคลิปนี้ก็นำไปล้อเลียนทำนองว่า สาวคนนี้จะยิ้มแย้มกว่านี้ หากนักท่องเที่ยวที่ได้รับพวงมาลัย มอบเงินเป็นค่าตอบแทนสักหน่อย

ซึ่งกระแสดังกล่าว กลายเป็นข่าวดังในสื่อออนไลน์และออฟไลน์เลยทีเดียวนะคะ หากนำเรื่องราวดังกล่าวมาเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ถ้าแบรนด์ให้บริการหรือดูแลลูกค้าไม่ดี ควรแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ซึ่งทาง thumbsup ได้รับคำแนะนำที่ดีจาก คุณพัชรพร สิริทรัพย์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และประชาสัมพันธ์ ไป่ตู้ แอคเซส ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านการทำโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์จีน เล่าให้ฟังว่า ประชากรจีนมีจำนวนมากที่สุดในโลก และคนเหล่านี้เข้าถึงโลกออนไลน์ได้เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นพวกเขาจะเชื่อการบอกต่อหรือบอกเล่าทั้งจาก Influencer หรือ Micro Influencer มาก เพราะมองว่าคนกลุ่มนี้ได้ใช้งานจริงและเจอปัญหาจริง

ทางด้านของการโฆษณาแบบเดิมก็ยังใช้งานได้แต่อาจไม่ได้มีผลตอบรับจากลูกค้ามากนัก เมื่อเทียบกับการสื่อสารแบบ KOL (Key Opinion Leader) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นใหม่มั่นใจว่าพวกเขามีมาตรฐานและหลักการที่ชัดเจนในการให้ข้อมูลด้านสินค้า รวมทั้งมีธีมที่ชัดเจนไปเลยว่าจะรับรีวิวสินค้าประเภทไหน เช่น Beauty, Family, Sport, Travel ซึ่งแบรนด์ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทสินค้าของคุณ

ดังนั้น ข้อควรระวังที่ทางไป่ตู้ จะแนะนำและชี้แจงให้แบรนด์ทราบ เกี่ยวกับข้อห้ามในการรีวิวที่ประเทศจีนนั้น ประกอบไปด้วย

  1. ทำโปรโมชั่นแบบสร้างการ engagement แบบทันทีนั้น ไม่สามารถทำได้ เช่น การแลกรับสินค้าแบบทันท่วงทีเมื่อนำภาพใน Page มาแสดงที่หน้าเคาน์เตอร์เพื่อรับสินค้าหรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม แต่สิ่งที่ทำได้คือการโฆษณาสินค้าหรือโปรโมชั่นที่มีอยู่แล้ว ส่วนสาเหตุที่การโฆษณาแบบแรกทำไม่ได้นั้น เพื่อควบคุมการทุจริตและนำมาใช้ซ้ำของลูกค้า และต้องเข้าใจด้วยว่าประชากรจีนมีเยอะมาก หากมีคนมาใช้สิทธิ์พร้อมกันอาจจะเจอผลกระทบกับแบรนด์ได้ 
  2. โฆษณาเชิงสรรพคุณไม่ได้ การใช้คำโฆษณาว่าใช้สินค้าชิ้นนี้แล้วขาว ผอม สวยนั้น ทำไม่ได้ เพราะเป็นการอวดอ้างเกินจริง หรือคำโฆษณาที่บอกว่าใช้สินค้านี้แล้ว จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น หายป่วยในทันที หรือคุณลักษณะของผู้ใช้งานจะเปลี่ยนได้ทันที ถือว่าเป็นใช้คำพูดลักษณะนี้คือการชวนเชื่อหลอกลวงและกล่าวอ้างเกินจริง
  3. การรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลที่จะแนะนำว่าใครดีกว่าใครนั้น ก็ทำไม่ได้ เช่น การโฆษณาที่บอกว่ามีตัวยาหรือคุณหมอ A มีฝีมือดีกว่าหมอคนอื่นในโรงพยาบาล แต่สามารถให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลเชิงภาพลักษณ์ได้ เช่น ได้รับมาตรฐานจากหน่วยงานใดบ้าง หรือมีเครื่องมือทันสมัย ความสะอาด ความปลอดภัยแบบทั่วไปจะทำได้เพราะไม่ได้เป็นการโฆษณาสรรพคุณ 

ส่วนคำแนะนำ หากว่าเจอผลกระทบในเชิงลบนั้น สิ่งที่แบรนด์ควรทำคือการไม่ป่าวประกาศแบบ Official จะไม่ส่งผลร้ายมากนักและคนฟังอาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องกระทบกระทั่งระหว่างบุคคล เพราะถ้าแบรนด์เป็นคนออกประกาศไปเอง สิ่งที่จะย้อนกลับมาคือภาพลักษณ์ที่แย่และสร้างความไม่พอใจได้ เช่น กรณีของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีช่วงหนึ่งกำลังได้รับความนิยมในการเดินทางไปเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีน แต่เมื่อมีการประกาศห้ามนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าประเทศ เพราะสร้างความเสียหาย กลายเป็นว่าตอนนี้ชาวจีนแอนตี้และไม่ไปท่องเที่ยวจนส่งผลกระทบด้านรายได้ ทำให้ตอนนี้ทางเกาหลีต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อดึงชาวจีนกลับมาอีกครั้ง

การทำโฆษณาให้ชาวจีนที่มีประชากรมากที่สุดในโลกนั้น อาจไม่ได้เจอแต่เรื่องดีทั้งหมด เพราะคนเราอาจมีเรื่องกระทบกระทั่งกันได้ สิ่งที่ควรระวังคืออย่าสร้างความขัดแย้งให้เป็นเรื่องใหญ่เพราะจะสร้างผลกระทบในวงกว้างมากกว่า อีกทั้งภาพลักษณ์ของคนไทยในสายตาชาวจีนคือเป็นคนใจดี อัธยาศัยดี อาหารอร่อย ผู้คนเป็นมิตร จึงควรรักษาความมีเสน่ห์เหล่านี้ไว้ดีกว่านคะ

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2018/05/baidu-suggest-problem/

“ตัวแม่ vs ผู้บริโภค” กับ 4 ความท้าทายในการใช้ Key-Opinion Leader

ชมพู่ อารยา เอ. ฮาร์เก็ต และอาลี ซีอานี

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปีหน้า และปีต่อ ๆ ไป งบประมาณจากแบรนด์จะถูกเทลงมาที่ฝั่งดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ และการแข่งขันบนสื่อดิจิทัลก็จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นด้วยเพื่อแย่งชิงเม็ดเงินดังกล่าว ซึ่งความเข้มข้นนั้นก็ได้ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นแล้วจากการเปิดตัวธุรกิจ KOL (Key-Opinion Leader) ของดาราตัวแม่อย่างชมพู่ อารยา เอ. ฮาร์เก็ต และอาลี ซีอานี ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การสื่อสารและคอนเทนต์ในชื่อ KOL Management พร้อมตั้งเป้ารายได้ในปีแรกเอาไว้ถึง 200 ล้านบาท

นอกจากโปรไฟล์ของชมพู่ที่นักการตลาดตระหนักดีถึงพลังในการสื่อสารแล้ว สำหรับอาลี ซีอานี ผู้บริหารจาก แมส กรุ๊ป เจ้าของนิตยสารแฟชั่นหัวนอกอย่าง ลอฟฟีเซียล ไทยแลนด์, ลอปติมัม ไทยแลนด์, WoW Thailand และ Men’s Fitness Thailand นั้น หากย้อนประวัติไปจะพบว่า เขาคนนี้มีดีกรีที่ไม่ธรรมดา กับประสบการณ์สายตรงที่อยู่ในฝั่ง Communications มาตลอด อีกทั้งยังเคยร่วมงานกับ Burberry Thailand, หอการค้าฝรั่งเศส-ไทย และมีสายสัมพันธ์กับทางชมพู่และบรรดาเซเลบที่แนบแน่นมาก

การดึงดารา และเซเลบมาใช้ในฐานะผู้นำทางความคิด และใช้ดึงดูดความสนใจจากผู้ใช้งาน Social Media ของไทยจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากนักสำหรับ KOL Management

โดย Business Model นั้นเริ่มตั้งแต่การวางกลยุทธ์ และหาเซเลบริตี้ที่ตอบโจทย์ จากนั้นก็มาวางแผนการสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ 5 กลุ่มได้แก่ Entertainment, Fashion, Commercial, Health และ Lifestyle แต่ละประเภทก็จะมีการสร้างคอนเทนต์ให้สามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ ปัจจุบันมีสมาชิกในสังกัดแล้วประมาณ 20 ราย ที่พร้อมจะเป็นผู้สนับสนุนแบรนด์ต่าง ๆ ในการทำตลาดสินค้า ยกตัวอย่างเช่น

  • กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ
  • แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์
  • มิ้นต์-ชาลิดา วิจิตรวงศ์ทอง
  • หลุยส์ สก๊อต
  • แพทริเซีย ธัญชนก กู๊ด
  • พลอย-ชวพร เลาหพงศ์ชนะ
  • ก็อต-จิรายุ ตันตระกูล

แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเนื่องจากมีปัจจัยให้น่าพิจารณาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทรนด์การใช้ Influencers ผ่านสื่อ Social Media นั้นเป็นเทรนด์ที่หลายสำนักทำวิจัยออกมาว่าน่าจับตาอย่างมากในปี 2018 เนื่องจากนักการตลาดส่วนใหญ่ของโลก (92%) เห็นพ้องกันว่า เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง (อ้างอิงจาก State of Influencer Marketing 2018) และ 39% ของนักการตลาดมีแผนเพิ่มงบประมาณทำการตลาดในปีหน้าผ่าน Influencers Marketing ในหลากหลายรูปแบบด้วย 

แปลว่าไม่ใช่แค่ชมพู่ แต่ทุกค่ายทุกสังกัดล้วนมีโอกาส อยู่ที่ใครจะบริหารเครือข่าย บริหารคอนเน็คชั่นได้ดีกว่ากัน

ประการที่สอง เป็นที่ทราบกันดีว่า เทรนด์ของการใช้ KOL นั้นดุเดือดมากในจีนและเกาหลี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในตลาดจีนตอนนี้ก็คือ คอนซูเมอร์จีนจะมีความระมัดระวังในการซื้อสินค้าและบริการอย่างมาก หรือเรียกได้ว่ามีความรู้เท่าทันคอนเทนต์ด้านการตลาดมากกว่าเดิม จนรูปแบบการใช้ Influencers แบบเก่า ๆ ใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งนั่นทำให้คอนซูเมอร์จีนจะเกิดความเชื่อมั่นในสินค้าได้มากขึ้น หากมันถูกรีวิวโดยบุคคลที่เขา “ไว้วางใจ” (Trust) 

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับการใช้ KOL ในจีนแผ่นดินใหญ่ก็คือ เทคนิคนี้สามารถเป็นผู้ช่วยแบรนด์เพิ่มยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าหากใช้ผิดวิธี มันก็คือผู้ทำลายแบรนด์ดี ๆ นี่เอง ซึ่งนี่คือคำถามย้อนกลับไปถึงบรรดา KOL ว่าจะสามารถเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลทางความคิดขนาดสร้าง Trust ให้กับผู้ใช้งาน Social Media ที่รู้ทันมากขึ้นทุกวันได้เลยหรือไม่

ในจุดนี้ คุณเช็ค – อนุพงศ์ จันทร กรรมการผู้จัดการบริษัท อัลเทอร์เนท 65 จำกัด ผู้ดำเนินการ Revu แพลตฟอร์มสำหรับการทำ Micro – Influencer ให้ทัศนะว่า “การทำตลาดมีหลายระดับ และต้องทำควบคู่กันไป นอกจากผู้บริโภคจะฟังดาราแล้ว เขายังฟังผู้บริโภคกันเองด้วย ดังนั้นในแง่มาร์เก็ตติ้ง ต้องทำควบคู่กันทุกด้าน”

คุณเช็ค อนุพงศ์ จันทร

“นอกจากนี้ จุดอ่อนประการหนึ่งของดาราก็คือถ้ามีการโพสต์กับโปรดักซ์ นั่นคือดาราเป็นพรีเซนเตอร์ แต่ผู้บริโภคส่วนมากจะเข้าใจได้ว่า ดาราไม่ใช้หรอก ดังนั้น ต่อให้ดาราบอกว่าดี แต่ผู้บริโภคก็จะไม่เชื่อ และหันไปเสิร์ชข้อมูลแทน ซึ่งคนที่เขาจะเชื่อ ก็คือผู้บริโภคด้วยกันเอง หรือก็คือ Trust ไม่ได้เกิดเพราะดารา ดังนั้น สุดท้ายต้องดูโจทย์ของแบรนด์ด้วยว่าต้องการอะไร”

แน่นอนว่า ทางชมพู่เองก็ตระหนักดีถึงความท้าทายดังกล่าว และบอกถึงทิศทางการเลือก KOL ว่า เน้นเลือกบุคคลที่น่าเชื่อถือ เป็นตัวจริงในไลฟ์สไตล์นั้น ๆ และสามารถพูดหรือนำความคิดไปสื่อสารยังกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการได้ พร้อมย้ำว่าจะไม่มีการสร้างภาพลวงว่าเป็นตัวจริง เพียงเพื่อหวังโฆษณาสินค้าด้วย แต่ในจุดนี้จะวัดอย่างไร ยังไม่มีใครบอกได้ จึงน่าจะต้องพึ่งพาเรดาห์ของผู้บริโภคให้ประเมินกันเอาเอง

แต่สิ่งที่ชมพู่กล่าวเพิ่มเติมว่า การรับงานของ KOL ไม่ได้มีการผูกมัดว่าจะต้องรับจากบริษัทเท่านั้น ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เพราะเท่ากับว่า การบริหารความน่าเชื่อถือของ KOL ในสังกัดจะทำได้ยากมากขึ้น ซึ่งจากความเคลื่อนไหวนี้ คุณเช็คมองว่า เทรนด์ของการใช้ Influencers ในปีหน้า น่าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่สนุก

“คิดว่าน่าจะสนุก เพราะ Influencers Marketing ปีหน้าน่าจะบูมมาก ๆ ยิ่งชมพู่มาพูดแบบนี้ด้วย เอเจนซีจะต้องรู้สึกว่าไม่ใช้ไม่ได้แล้ว แต่ความท้าทายก็คือจะใช้อย่างไรให้ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ทุกแคมเปญที่ใช้ดาราแล้วจะประสบความสำเร็จเสมอไป ต้องมีกลยุทธ์ มีการวางแผนที่ชัดเจน และมีคอนเทนต์ที่ถูกต้อง ”

“ผมมองว่า หัวใจสำคัญของพฤติกรรมผู้บริโภคในปีหน้าคือ Consumers always search ดังนั้น ถ้าจะ ประสบความสำเร็จจริง ๆ แบรนด์ควรต้องทำด้วยว่า อยากให้เขาเสิร์ชคำว่าอะไร และทำคอนเทนต์รองรับไว้ก่อน”

ดูทรงแล้วน่าจะเป็นปีที่ดุเดือดจริง ๆ ค่ะ ชาว Thumbsuper มีความเห็นอย่างไร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะคะ

 

 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/12/key-opinion-leader-araya-ali-ziani/