คลังเก็บป้ายกำกับ: UNIQLO

เปิดตัว New U-New Uniqlo Experience บนตึก 3 ชั้น

เปิดตัว New U-New Uniqlo Experience บนตึก 3 ชั้น ใจกลางวยามสแควร์ ในคอนเซ็ปต์ของการเชื่อมต่อโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์เข้าด้วยกัน

New U – New Uniqlo Experience at Siam Square ตั้งอยู่บนพื้นที่รวมกว่า 1000 ตร.ม. มีขนาดสามชั้น บริเวณ สยามสแควร์ ซอย 7 ซึ่งประกอบด้วยสินค้าอันเป็นเอกลักษณ์   ธีมประจำฤดูกาล ตลอดจนบริเวณพิเศษที่ร่วมมือกันอย่าง UNIQLO COFFEE with Roots และ UNIQLO FLOWER จากการร่วมมือกับร้านดอกไม้ Bangkok Flower 

โดยภายในงานผู้เยี่ยมชมสามารถสัมผัสประสบการณ์ด้านบริการจากพนักงานยูนิโคล่และการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ของยูนิโคล่เพื่อความสะดวกสบาย

นางเขมจิรา เทศประทีป ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “สยามสแควร์นับเป็นพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย สยามสแควร์จึงเป็นหนึ่งสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับยูนิโคล่ในการจัดแสดงไลฟ์แวร์ผ่านการบริการและสินค้า 

โดย New U – New Uniqlo Experience at Siam Square เป็นการประสานการเชื่อมต่อโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ ซึ่งนอกจากลูกค้าจะสามารถสัมผัสสินค้าและลองสินค้าได้จริงแล้ว ลูกค้ายังสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์สไตร์ โดยเพียงสแกนบาร์โค้ดและรอรับสินค้าที่บ้านหรือตามสถานที่ที่ต้องการได้

มีคอนเซ็ปต์ดังต่อไปนี้ 

ชั้นที่ 1 LifeWear ธีมประจำฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว 2565 ตลอดจนไอเทมไฮไลท์,  UNIQLO FLOWER จากการร่วมมือกับร้านดอกไม้ Bangkok Flower

ชั้นที่ 2  Technology and Innovation เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ผสานอยู่ใน LifeWear 

ชั้นที่ 3  โซน UT (UNIQLO T-Shirt), UTme และ UNIQLO COFFEE with Roots 

นอกจากการเยี่ยมชมเพื่อสัมผัสสินค้าและบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟแล้ว ที่ New U – New Uniqlo Experience at Siam Square ลูกค้ายังสามารถซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์โดยสามารถสแกนบาร์โค้ดจากไอเทมที่ชอบและเลือกช้อปผ่านออนไลน์สโตร์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เปิดตัว New U-New Uniqlo Experience บนตึก 3 ชั้น first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/launched-the-new-u-new-uniqlo-experience-on-a-3-storey-building/

Uniqlo เปลี่ยนไป! นอกจากเสื้อผ้าสไตล์มินิมอลแล้ว ยังหันมาขายดอกไม้ด้วย

หมดยุคขายอย่างเดียว Uniqlo มาแนวฉีก ไม่ได้ขายแค่เสื้อผ้าสไตล์มินิมอลแล้ว แต่หันมาขายดอกไม้ด้วย

Uniqlo Flower

ต่อจากนี้ เราจะไม่นึกถึง Uniqlo ที่หมายถึงแบรนด์เสื้อผ้าลำลอง สไตล์มินิมอล เน้นความเรียบง่าย ใส่สบายอีกต่อไป เพราะ Uniqlo หันมาขายดอกไม้เพิ่มด้วย

ยูนิตที่เปิดมาให้บริการใหม่นี้เรียกว่า Uniqlo Flower เป็นบริการจากหน้าร้านออนไลน์ให้กับลูกค้าในบางสาขาเท่านั้น ซึ่งก็มีทั้งในโตเกียว คานากาวะ ไซตามะ และชิบะ สามารถสั่งออนไลน์ให้ส่งตรงถึงบ้านได้เลย ถ้าสั่งดอกไม้ก่อนเที่ยงวันก็จะได้รับในวันถัดไป

ดอกไม้ที่จัดช่อขายให้กับลูกค้านี้ มีทั้งกุหลาบ คาร์เนชัน คอร์นฟลาวเวอร์ และดอกไม้ที่ออกแต่ประจำฤดูนั้นๆ ซึ่งราคาที่จัดจำหน่ายก็อยู่ที่ 1,490 ถึง 1,590 เยน ราว 375 ถึง 400 บาท

Uniqlo Flower

Uniqlo Flower

สำหรับช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมก็จะมีระงับการให้บริการในบางพื้นที่ เช่น ฮอกไกโด อาโอโมริ อากิต และอิวาเตะ ฟรีค่าส่ง ถ้าสั่งตั้งแต่ 4,990 เยนหรือประมาณ 1,200 บาทขึ้นไป ในไทยก็เริ่มมียูนิตดอกไม้จัดจำหน่ายแล้ว

ที่มา – Japan Today, Uniqlo Flower

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Uniqlo เปลี่ยนไป! นอกจากเสื้อผ้าสไตล์มินิมอลแล้ว ยังหันมาขายดอกไม้ด้วย first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/uniqlo-flower/

ยูนิโคล่ เปิดเสื้อผ้าคอลเลคชัน Fall/Winter 2022 ธีม Today’s Classics

uniqlo ยูนิโคล่ เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว 2022 ในธีม “Today’s Classics” พร้อมนิทรรศการชื่อเดียวกันที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจความหมายของ Today’s Classics มากขึ้น โดยจัดขึ้นในวันที่ 24–26 สิงหาคม 2565 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 

uniqlo

สำหรับธีมประจำซีซันนี้อย่าง Today’s Classics คือการนำเสื้อผ้าชิ้นคลาสสิกมาปรับปรุง พัฒนาให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งไอเทมต่างๆ ยังมีกลิ่นอายดั้งเดิมแต่ปรับให้เข้ากับการนำมาใช้ชีวิตในปัจจุบันของผู้สวมใส่มากยิ่งขึ้น โดยในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว 2022 นี้ ยูนิโคล่ได้สร้างสรรค์ LifeWear เพื่อวันนี้และอนาคต ผ่านการจัดกลุ่มไอเทมเป็น 5 ประเภท ได้แก่ เสื้อตัวนอก, เสื้อผ้าถัก (Knitwear), เครื่องแต่งกายท่อนล่าง (Bottoms), Sport Utility Wear และเสื้อยืด

uniqlo

เสื้อตัวนอก (Outerwear)

ยูนิโคล่ขยายคอลเลคชันเสื้อตัวนอกเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และสถานการณ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่เสื้อเชิ้ต แจ็คเก็ตสำหรับเริ่มต้นฤดูในช่วงใบไม้ร่วง ไปจนถึงเสื้อโค้ทผ้าวูล ไลน์อัพสินค้ามีตั้งแต่เสื้อวอร์มขนเป็ดและเสื้อนอกบุด้วยคอตตอน ซึ่งมีฟังก์ชันที่เหมาะกับทุกสไตล์การแต่งตัว ไอเทมเหล่านี้จึงเพิ่มความสนุกด้านแฟชั่นให้คุณได้

uniqlo

เสื้อผ้าถัก (Knitwear)

การพัฒนาไอเทมผ้าถักอย่างต่อเนื่องเป็นหนึ่งในผลงานยูนิโคล่มาสเตอร์พีซ ในฤดูกาลนี้ยูนิโคล่ประสบความสำเร็จอีกครั้งกับการใช้เทคโนโลยีผ้าถักล่าสุด อีกขั้นกับการสร้างสรรค์รูปทรงที่ประณีตและเพิ่มความสบายมากขึ้น เนื้อผ้าถักที่หลากหลายและเต็มไปด้วยสีสันที่ต่างกัน เพิ่มมิติให้กับการแต่งตัว เน้นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้สวมใส่มากยิ่งขึ้น

uniqlo

เครื่องแต่งกายท่อนล่าง (Bottoms)

สำหรับฤดูกาลนี้ยูนิโคล่ให้ความสำคัญกับกางเกงขากว้างสไตล์ใหม่ๆ และเป็นทรงยอดนิยม ความหลากหลายของกางเกงมีตั้งแต่กางเกงพลีทลุคคลีนไปจนถึงกางเกงยีนส์แบ็กกี้สไตล์ลำลอง นี่คือไลน์อัพสินค้าสำหรับทุกคนเพื่อการค้นหากางเกงที่ใช่สำหรับสไตล์ของตัวเอง

uniqlo

SPORT UTILITY WEAR

เสื้อผ้าฟังก์ชันที่มีคุณสมบัติเพื่อการใช้ชีวิตที่อิสระตลอดจนถึงการออกกำลังกาย เพราะไลฟ์สไตล์เฉพาะบุคคลที่เปลี่ยนไปและหลากหลายยิ่งขึ้น SPORT UTILITY WEAR ถูกออกแบบมาเพื่อให้เหมาะสำหรับทุกกิจกรรม ตั้งแต่การเล่นกีฬา กิจกรรมกลางแจ้ง และการใช้ชีวิตประจำวัน ไลน์อัพเสื้อผ้าแบบลำลองที่เรียบง่ายและมีคุณสมบัติพิเศษมอบความสบายและเหมาะกับการแต่งตัวหลากหลายสไตล์และมีเลเยอร์ 

uniqlo

เสื้อยืด (Core-T) 

เพราะเสื้อยืดมีมาตรฐานและมีความเป็นสากล ผู้คนจึงสามารถเลือกสวมใส่ในสไตล์ที่เป็นตัวเองได้มากที่สุด เนื่องจาก    เสื้อยืดเป็นไอเทมที่ทำให้สื่ออารมณ์ใดๆ ได้ง่าย เสื้อยืดที่แตกต่างกันไปจะให้อารมณ์ที่ไม่เหมือนกัน จากสีสัน และเนื้อผ้าที่แตกต่างกัน ผู้สวมใส่จึงสามารถค้นหาแรงบันดาลใจด้านสไตล์ต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด อาทิ เสื้อยูนิโคล่ U CREW NECK SHORT SLEEVE T-SHIRT เสื้อยืดสุดคลาสสิกของยูนิโคล่ที่มาพร้อมความสบาย ทรงพอดีตัว ดีไซน์มินิมอล สวมใส่ได้หลายโอกาส หรือ AIRISM COTTON OVERSIZED CREW NECK HALF SLEEVE T-SHIRT เสื้อยืดทรงหลวมมีไตล์ที่ออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ให้ได้ทั้งรูปลักษณ์และความสบายที่คงตัว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ยูนิโคล่ เปิดเสื้อผ้าคอลเลคชัน Fall/Winter 2022 ธีม Today’s Classics first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/uniqlo-fall-winter-2022-todays-classics/

มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของญี่ปุ่น เจ้าอาณาจักร Uniqlo รายได้ลดลงเพราะจีนล็อคดาวน์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การล็อคดาวน์ของจีนนั้นกระทบห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักธุรกิจใหญ่ที่เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของญี่ปุ่น Tadashi Yanai แห่ง Uniqlo ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

Uniqlo China

Tadashi Yanai (ทาดาชิ ยานาอิ) มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Uniqlo แบรนด์แฟชั่นที่คุ้นเคยของใครหลายๆ คนกำลังประสบปัญหาเหมือนผู้คนทั่วไปที่ประสบอยู่ ทั้งซัพพลายเชนที่ถูกดิสรัป ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เขายากจนเพิ่มขึ้น ยานาอิ ประธานของบริษัท Fast Retailing บริษัทแม่ของยูนิโคล่ ติดอันดับ 1 เศรษฐีที่รวยที่สุดในญี่ปุ่น ครอบครองทรัพย์สิน 23.6 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3 ล้านล้านเยน สินทรัพย์ลดลง 44% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากยอดขายลดลงอย่างมากทั้งสาขาในญี่ปุ่นและจีน

ยานาอิเองไม่ใช่คนที่ร่ำรวยตั้งแต่เกิด เขาสานต่อธุรกิจครอบครัวและเริ่มทำงานด้วยการทำงานตั้งแต่พื้นฐาน อาทิ ทำความสะอาดร้าน ทำความสะอาดเสื้อผ้าในร้านไปจนถึงสินค้าอื่นๆ เขาทำทุกอย่างด้วยตัวเองมาตั้งแต่เริ่มต้น เขารู้สึกว่านั่นเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เรียนรู้อย่างมาก

ยานาอิเริ่มเข้ามาดูแลกิจการต่อจากพ่อในช่วงปี 1984 และเริ่มตั้งบริษัท Uniqlo Warehouse จนกลายเป็นที่รู้จักกันในนามยูนิโคล่และมีหน้าร้านราว 300 แห่งทั่วญี่ปุ่นและสามารถขายแจ็คเก็ตผ้าฟลีซที่เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ได้มากกว่า 2 ล้านตัวภายใน 1 ปี (ผ้าฟลีซเป็นผ้าที่ผลิตได้ทั้งจากขนแกะและใยสังเคราะห์ ปัจจุบัน Uniqlo ผลิตผ้าฟลีซที่ทำจากขวดรีไซเคิลด้วย) ล่าสุด ยอดขายยูนิโคล่ตกต่ำลงมาก โดยเฉพาะในจีนเนื่องจากมาตรการเข้มข้นที่ต้องการกำจัดโควิดตามนโยบาย Zero covid

Fleece
Image from Uniqlo

เรื่องยอดขายตกในจีนนี้ ยานาอิแสดงความกังวลอย่างเห็นได้ชัด เขาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า บริษัทกำลังประสบปัญหามากจากนโยบาย Zero covid ของจีนทั้งในแง่ของผลกำไรและในแง่ของความเป็นอยู่ของพนักงาน ยานาอิกล่าวกับ Financial Times ว่า เซี่ยงไฮ้บังคับให้มีการระงับการทำธุรกิจและหยุดขนส่งจากท่าเรือ ทำให้บริษัทประสบความยากลำบาก ยูนิโคล่มีสาขาในจีน 865 แห่ง จีนถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของยูนิโคล่ เกือบ 90% มีสาขาอยู่ในเซี่ยงไฮ้ และมีสาขาอยู่ในญี่ปุ่น 813 แห่ง

โควิดป่วนจีนกระทบรายได้ยูนิโคล่ ภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินเยนอ่อน ต้นทุนสูง ถ้าไม่มีทางเลือกก็จะขึ้นราคาสินค้า

หลังจากที่มีการล็อคดาวน์ในจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ยอดผู้ติดเชื้อกลายเป็นศูนย์ ก็ทำให้เกิดการจำกัดการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคที่ต้องการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าจากยูนิโคล่และยังส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าออนไลน์ของยูนิโคล่ด้วย ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอดขายของยูนิโคล่ใน Tmall ของอาลีบาบาลดลง 33% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

รายได้จากยอดขายยูนิโคลที่ลดลงทั้งในจีนและญี่ปุ่น กอปรกับค่าเงินที่อ่อนค่าทำให้กำไรของยูนิโคล่ลดลงไปอีก ช่วงปลายเมษายนที่ผ่านมาค่าเงินของญี่ปุ่นต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ด้าน Takeshi Okazaki (ทาเคชิ โอคาซากิ) ซึ่งเป็น CFO ของยูนิโคล่ระบุว่าค่าเงินเยนอ่อนค่ายิ่งทำให้ต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งราคาแพงขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น มันมาถึงจุดที่แบรนด์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องขึ้นราคาสินค้า ซึ่งนโยบายของบริษัทก็หลีกเลี่ยงที่จะขึ้นราคาสินค้ามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ด้าน Fast Retailing บริษัทแม่ของยูนิโคล่รายงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 รายได้ของยูนิโคล่ลดลงราว 10.2% เทียบกับปีก่อนหน้า รายได้และผลกำไรจากสาขาในจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

Uniqlo
Image from Uniqlo

รายได้ของ Uniqlo ช่วงครึ่งแรกของปี 2022

รายได้รวมอยู่ที่ 1.2189 ล้านล้านเยนหรือประมาณ 3.22 แสนล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 189.2 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 12.7% รายได้และกำไรส่วนใหญ่ของยูนิโคล่มาจากเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย อเมริกาเหนือและยุโรป

รายได้ยูนิโคล่ในญี่ปุ่นอยู่ที่ 442.5 พันล้านเยน ลดลง 10.2% กำไรจากการดำเนินงาน 80.9 พันล้านเยน ลดลง 17.3% ยอดขายหน้าร้านลดลง 9.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

รายได้และกำไรยูนิโคล่ในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รายได้รวม 593.2 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 13.7% กำไรจากการดำเนินงาน 100.3 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 49.7% รายได้ในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย ยุโรปกลับมาแข็งแกร่ง ความต้องการในจีนลดลงเนื่องจากมาตรการจัดการโควิดเข้มข้น กำไรจากการดำเนินงานของสาขาในอเมริกาเหนือและยุโรปคิดเป็น 20% ของยอดรวมรายได้ในต่างประเทศของยูนิโคล่

GU
Image from GU

รายได้จาก GU ลดลง กำไรก็ลดลงอย่างมาก รายได้อยู่ที่ 122.8 พันล้านเยน ลดลง 7.4% กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 9.3 พันล้านเยน ลดลง 40.9% ขณะที่รายได้จาก Global Brands ประกอบไปด้วย Theory, PLST, Comptoir des Cotonniers, PRINCESSE TAM.TAM, J Brand รายได้โดยรวมอยู่ที่ 58.9 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 8.1% รายได้ที่เพิ่มขึ้นมากมาจากแบรนด์ Theory และ Comptoir des Cotonniers

บริษัทคาดการณ์ว่า รายได้ในปี 2022 จะอยู่ที่ 2.2000 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 3.1% และกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 270.0 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 8.4%

ที่มา – Business Insider, Fast Retailing, Forbes

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของญี่ปุ่น เจ้าอาณาจักร Uniqlo รายได้ลดลงเพราะจีนล็อคดาวน์ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/uniqlo-decline-revenue-and-profit-cause-of-zero-covid-policy-in-china/

ทนแรงกดดันไม่ไหว! Uniqlo ยอมระงับการทำธุรกิจในรัสเซียแล้ว

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ Uniqlo ออกมายืนกราน “ไม่หยุดขายในรัสเซีย” และยังบอกอีกว่า เครื่องนุ่งหุ่มคือสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต คนรัสเซียควรมีสิทธิใช้ชีวิตแบบเดียวกับคนอื่น ล่าสุดกลับลำแล้ว! ประกาศระงับการทำธุรกิจในรัสเซียชั่วคราว

Uniqlo-suspend-business-in-Russia

ก่อนหน้าที่จะมาประกาศเปลี่ยนใจระงับการทำธุรกิจในรัสเซีย Uniqlo ประกาศบริจาค 1.15 พันล้านเยน หรือ 10 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 331 ล้านบาทและเสื้อผ้าอีก 200,000 ชิ้นให้กับองค์กร UNHCR (องค์กรข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่อพยพออกจากยูเครนและประเทศเพื่อนบ้าน

ก่อนหน้านี้ช่วงวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ทาง UNHCR ได้เรียกร้องขอให้รัฐบาล องค์กรเอกชน รวมไปถึงปัจเจกชนทั้งหลายร่วมกันสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพ ทางองค์กรขอให้มีการบริจาคราว 270 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 8.94 พันล้านบาท สำหรับความช่วยเหลือเบื้องต้นในระยะ 3 เดือน และขอให้บริจาคราว 240 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับรับมือช่วง 6 เดือน ทาง Fast Retailing ระบุว่าได้ทำงานร่วมกับ UNHCR มาตั้งแต่ปี 2006 และให้ความช่วยเหลือด้านเสื้อผ้าแก่ผู้ลี้ภัยมาโดยตลอด และในปี 2011 ยังเป็นบริษัทแรกในเอเชียที่ร่วมเป็นหุ้นส่วนกับ UNHCR ด้วย

หลังประกาศบริจาคเงินและเสื้อผ้าเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้อพยพจากยูเครนและประเทศเพื่อนบ้าน Uniqlo ยังยืนกราน ยังไงก็จะค้าขายกับรัสเซียต่อไป เพื่อผดุงสิทธิของชาวรัสเซียให้ได้ใช้ชีวิตต่อ ล่าสุด Uniqlo ที่มีหน้าร้านอยู่ในรัสเซีย 50 แห่ง ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะระงับการทำธุรกิจในรัสเซียชั่วคราว พร้อมทั้งยืนยันว่าต่อต้านสงครามและประณามการรุกรานทุกรูปแบบที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนและเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพของผู้คน

Uniqlo suspend business in Russia

ที่มา – Nikkei, Fast Retailing (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ทนแรงกดดันไม่ไหว! Uniqlo ยอมระงับการทำธุรกิจในรัสเซียแล้ว first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/uniqlo-suspend-business-in-russia/

Uniqlo ปกป้องจุดยืน ‘ไม่หยุดขายในรัสเซีย’ แจง เครื่องนุ่งห่ม คือสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต

Uniqlo ปกป้องจุดยืน ‘ไม่หยุดให้บริการในรัสเซีย’ แจง เครื่องนุ่งห่มเป็น เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ คนรัสเซียมีสิทธิใช้ชีวิตแบบเดียวกับคนอื่น

จากกรณีที่ Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo ประกาศว่าจะติดตามสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ต่อไป โดยยังไม่หยุดให้บริการในรัสเซีย ล่าสุด บริษัทได้ออกแถลงการณ์ปกป้องจุดยืนที่จะดำเนินกิจการทั้ง 49 สาขาในรัสเซียต่อไปเป็นที่เรียบร้อย

Tadashi Yanai ประธานบริษัท Fast Retailing ชี้ว่า “สงครามไม่ควรจะเกิดขึ้น ทุกประเทศควรต่อต้านสิ่งนี้” 

อย่างไรก็ดี Fast Retailing ตอบสนองต่อสงครามนี้ต่างไปจากธุรกิจอื่นๆ เขาให้เหตุผลที่บริษัทไม่ได้หยุดให้บริการในประเทศรัสเซียว่า “เครื่องนุ่งห่มคือสิ่งจำเป็นในชีวิต ผู้คนในรัสเซียก็มีสิทธิที่จะใช้ชีวิตในแบบเดียวที่เราเป็น”

ก่อนหน้านี้ Fast Retailing ประกาศว่าบริษัทจะบริจาคเงินกว่า 10 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 331 ล้านบาท และเครื่องนุ่งอีก 2 แสนชิ้น ให้กับข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจนต้องลี้ภัยจากยูเครนและประเทศข้างเคียง

อย่างไรก็ตาม แบรนด์เสื้อผ้ารายอื่นในเซกเมนต์ใกล้เคียง ทั้ง Zara และ H&M ดำเนินการในแนวทางตรงกันข้าม ประกาศยุติบริการในประเทศรัสเซียเป็นที่เรียบร้อย โดย Zara ระบุว่าจะหยุดให้บริการหน้าร้านกว่า 100 แห่ง และร้านค้าออนไลน์เป็นการชั่วคราว

ที่มา – Japan Today

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Uniqlo ปกป้องจุดยืน ‘ไม่หยุดขายในรัสเซีย’ แจง เครื่องนุ่งห่ม คือสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/uniqlo-defend-its-decision-in-russia/

รับซื้อเสื้อเก่า! Uniqlo รับซื้อ Heat Tech-แจ็คเก็ตขนเป็ด ใช้แล้ว ให้ราคาเริ่ม 60 บาท

กระแสเปิดตัวแคมเปญรักษ์โลกเริ่มเกิดขึ้นในหลายบริษัท ล่าสุด Uniqlo ที่ส่งแคมเปญชื่อ Re: Uniqlo เพื่อรับซื้อเสื้อ Heat-Tech ตัวเก่า และแจ็คแก็ตขนเป็ด ใช้แล้ว โดยให้คูปองซื้อสินค้ามูลค่าเริ่มต้น 60 บาทเป็นสิ่งตอบแทน

uniqlo

Re: Uniqlo รักษ์โลกด้วยการรีไซเคิล

รายงานข่าวแจ้งว่า Uniqlo ประเทศญี่ปุ่น เปิดตัว Re: Uniqlo แคมเปญรักษ์โลกผ่านการเปิดให้ผู้บริโภคทั่วไปนำเสื้อ Heat Tech กับ Down หรือผลิตภัณฑ์จากขนเป็ด เช่นแจ็คเก็ต มาบริจาคที่ร้าน และ Uniqlo จะนำเสื้อผ้าที่ยังใช้งานได้ไปให้กับ UNHCR หรือองค์กรช่วยเหลือผู้อพยพ และองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการเสื้อผ้าไปช่วยเหลือผู้ยากไร้

ส่วนเสื้อผ้าที่ใช้งานไม่ได้แล้ว Uniqlo จะนำมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าชุดใหม่ แต่เพื่อตอบแทนผู้บริจาค Uniqlo จะให้คูปองมูลค่า 200 เยน (ราว 60 บาท) กับเสื้อผ้า Heat Tech 1 ชิ้น (ผู้ใช้ 1 รายจะมีสิทธิ์ได้คูปองมูลค่าสูงสุดแค่ 1,000 เยน (ราว 300 บาท) เท่านั้น) โดยคูปองจะใช้ซื้อสินค้าที่มีมูลค่าเกิน 201 เยน ขึ้นไป

ด้าน แจ็คเก็ตขนเป็ด Uniqlo จะให้คูปองมูลค่า 1,000 เยน กับแจ็คเก็ตขนเป็ด 1 ชิ้น ใช้ซื้อสินค้ามูลค่ามากกว่า 5,000 เยน ขึ้นไป และเพื่อเพิ่มความรักษ์โลก คูปองที่ Uniqlo แจกจะเป็นแบบดิจิทัล ใช้ซื้อสินค้าได้ถึงเดือน ก.พ. 2022

Uniqlo ไมใช่แบรนด์แรกที่ดำเนินแคมเปญรักษ์โลกในปัจจุบัน เพราะล่าสุดในไทย Ikea ได้รับซื้อเฟอร์นิเจอร์เก่า เพื่อให้คูปองเงินสดกับผู้ขายไปซื้อเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ ของ Ikea ส่งเสริมการใช้สินค้าหมุนเวียน และไม่ทิ้งสินค้าที่ไม่จำเป็น หรือไม่อยากได้ให้เป็นขยะ

สำหรับสินค้า Heat Tech ในประเทศไทย เสื้อยืดแขนสั้นมีราคาเริ่มต้น 390 บาท ส่วนแจ็คเก็ตขนเป็ดราคามากกว่า 1,000 บาท

สรุป

แคมเปญลักษณะนี้ช่วยภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรอย่างไม่ต้องสงสัย แลผู้บริโภคยังได้ประโยชน์จากการนำสินค้าที่ไม่ใช้แล้วมาเปลี่ยนเป็นมูลค่าเพื่อซื้อสินค้าอื่น ๆ ในอนาคต ดังนั้นต้องรอดู Uniqlo ประเทศไทยว่าจะมีการเดินหน้าแคมเปญในลักษณะนี้หรือไม่ เพราะเชื่อว่าน่าจะมีหลายคนรออยู่เช่นกัน

อ้างอิง // Uniqlo

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post รับซื้อเสื้อเก่า! Uniqlo รับซื้อ Heat Tech-แจ็คเก็ตขนเป็ด ใช้แล้ว ให้ราคาเริ่ม 60 บาท first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/uniqlo-recycle-campaign/

ย้อนรอย 10 ปี Uniqlo ประเทศไทย แค่ปรัชญา LifeWear หรือไม่ที่ทำให้มีรายได้ 10,000 ล้านบาท

ในที่สุด Uniqlo ได้ทำตลาดในประเทศไทยครบ 10 ปี หลังเปิดสาขาแรกเมื่อเดือน ก.ย. 2011 แล้วช่วงเวลา 10 ปีนี้ Uniqlo ต้องเจอกับอะไร หลังจากนี้ต้องปรับกลยุทธ์หรือไม่ Brand Inside อยากชวนมาติดตามไปด้วยกัน

uniqlo

Uniqlo กับการเปิดสาขาแรกที่ เซ็นทรัลเวิลด์

การเข้ามารุกตลาดประเทศไทยของ Uniqlo เริ่มต้นเดือน ก.ย. 2011 ผ่านการเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถัดจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ขยายตลาดนอกประเทศญี่ปุ่นของ Uniqlo

โยชิทาเกะ วากากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าใหัฟังว่า ผู้บริโภคในไทยให้การตอบรับการเปิดสาขาของ Uniqlo เป็นอย่างดี ทำให้บริษัทตัดสินใจขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีทั้งหมด 54 สาขาทั่วประเทศ ทั้งอยู่ในศูนย์การค้า, Standalone รวมถึงช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบ

“หลังจากนี้ Uniqlo มีแผนขยายสาขาไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่นเดิม โดยรูปแบบ และขนาดของสาขาจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับพฤติกรรม และการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในพื้นที่นั้น ๆ ยิ่งโรค COVID-19 ระบาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทำให้ Uniqlo ต้องศึกษามากขึ้น เช่น การวางแผนประเภทสินค้า เป็นต้น”

uniqlo

คงปรัชญา LiveWear เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

นับตั้งแต่ Uniqlo เริ่มต้นธุรกิจ องค์กรนี้ยึดมั่นในปรัชญา LiveWear หรือการนำความเรียบง่าย ผสานคุณภาพ และความยั่งยืน ในการออกแบบสินค้า ซึ่งในประเทศไทย Uniqlo ได้ใช้แนวคิดนี้ในการทำตลาดเช่นกัน และค่อนข้างประสบความสำเร็จจากการจำหน่ายสินค้าที่มีจุดเด่นดังกล่าว

“Uniqlo พบว่า ลูกค้าชาวไทยค่อนข้างชื่นชอบสินค้าของเรา เพราะสินค้าเหล่านั้นทำให้ผู้สวมใส่มีความสุขมากกว่าเดิม และทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาดีขึ้น เราจะยึดมั่นในปรัชญานี้ต่อไป ภายใต้ความเชื่อที่ว่าเสื้อผ้าของเรามีพลังที่จะเปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้นได้”

การปรับตัวเบื้องต้นของ Uniqlo ภายใต้วิกฤต COVID-19 ทางแบรนด์เลือกทำตลาดเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับการต้องอยู่บ้าน หรือ Work from Home มากขึ้น ใกล้เคียงกับกลยุทธ์ในประเทศอื่น ๆ แต่ Uniqlo มีความพร้อมที่จะทำตลาดเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับการสวมใส่ไปทำงานเช่นเดิม

uniqlo
โยชิทาเกะ วากากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด

ไม่ใช่แบรนด์ Fast Fashion เพราะเน้นยั่งยืน

แม้ผู้บริโภค และนักวิเคราะห์จะมอง Uniqlo เป็นหนึ่งแบรนด์สินค้า Fast Fashion (คล้ายกับ Zara และ H&M) แต่ โยชิทาเกะ ไม่ได้มองอย่างนั้น เพราะเขาเชื่อว่า Uniqlo ไม่ใช่แบรนด์ Fast Fashion แต่คือแบรนด์เครื่องแต่งกายที่เน้นความยั่งยืน และสร้างฐานลูกค้าด้วยคุณภาพของสินค้า

“จุดยืนของเราไม่ใช่ Fast Fashion เพราะเราทำตามปรัชญา LiveWear ซึ่งเน้นความเรียบง่าย และสวยฝาม แต่แฝงไปด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อความยั่งยืนของตัวสินค้า ทั้งมุมการผลิต และการสวมใส่ของลูกค้า พร้อมอุทิศสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมผ่านการทำธุรกิจเช่นกัน”

ปัจจุบัน Uniqlo เป็นหนึ่งในแบรนด์สินค้าของกลุ่ม Fast Retailing ที่มียอดขายทั่วโลกราว 2.01 ล้านล้านเยน (ราว 6.1 แสนล้านบาท) ในปีปฏิทิน 2020 (สิ้นสุดเดือน ส.ค. 2020) โดย Uniqlo มีสาขากว่า 2,200 แห่ง ใน 25 ประเทศทั่วโลก

Uniqlo
ภาพจาก Shutterstock

มองดูธุรกิจอื่น ๆ สร้างการเติบโตเพิ่ม

ขณะเดียวกันแบรนด์เครื่องแต่งกายอื่น ๆ เริ่มขยายธุรกิจไปมากกว่าแค่จำหน่ายเสื้อผ้า เช่นทำร้านกาแฟ หรือร้านอาหาร ซึ่ง Uniqlo มีทำเช่นกัน แต่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น และได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ส่วนในประเทศไทย โยชิทาเกะ ขอศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน

“ในประเทศไทยอาจมี Business Model อื่น ๆ เพื่อต่อยอดทำตลาดแบรนด์ Uniqlo ในอนาคต แต่เวลานี้ทางองค์กรขอเน้นที่การจำหน่ายเครื่องแต่งกายก่อน โดยเฉพาะการขยายสาขา, การส่งมอบสินค้าให้ตอบโจทย์ทุกกลุ่มลูกค้า, การให้ความสำคัญทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ รวมถึงการช่วยเหลือสังคมด้วย”

อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด มียอดขายราว 10,000 ล้านบาท ลดลง 13.33% จากปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิปิดที่ 2,007 ล้านบาท ลดลง 17.22% เนื่องจากการระบาดของโรค COVID-19 โดยภาพรวมตลาด Fast Fashion ในไทยมีการวิเคราะห์ว่าอยู่ราว 30,000 ล้านบาท

สรุป

Uniqlo กลายเป็นแบรนด์ขวัญใจชาวไทยได้ในเวลาอันรวดเร็ว และแม้จะผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่องค์กรก็ยังแข็งแกร่ง และครองใจลูกค้าคนไทยไว้เช่นเดิม ซึ่งต้องดูว่า 10 ปีแล้ว กลุ่ม Fast Retailing จะเอาแบรนด์อื่น ๆ เข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มหรือไม่ และจะต่อยอดความสำเร็จของ Uniqlo นี้อย่างไร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ย้อนรอย 10 ปี Uniqlo ประเทศไทย แค่ปรัชญา LifeWear หรือไม่ที่ทำให้มีรายได้ 10,000 ล้านบาท first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/10th-yrs-uniqlo-thailand/

จับกระแส Fast Fashion เมื่อ Topshop ออกจากตลาดไทย แล้วใครจะขึ้นมาแข่ง Uniqlo-Zara-H&M

Fast Fashion ในไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพราะ Topshop เพิ่งประกาศยุติการทำตลาดในวันที่ 1 ส.ค. ตามรอย Forever 21 ที่ปิดไปเมื่อปี 2018 แล้วจากนี้ใครจะขึ้นมาแข่งกับ Uniqlo, Zara และ H&M

topshop

วิกฤต Topshop ในต่างประเทศสู่ไทย

Topshop คือแบรนด์ Fast Fashion ระดับโลก ก่อตั้งที่สหราชอาณาจักร เคยเป็น Big 4 ในตลาดนี้กับ Uniqlo, Zara และ H&M แต่การบริหารงานที่ผิดพลาด ประกอบกับกระแส Fast Fashion ไม่เติบโตเหมือนในอดีต สุดท้าย Topshop จึงประกาศล้มละลาย และถูกซื้อไปโดย ASOS ผู้ขายเสื้อผ้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่จากสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม Asos ซื้อแค่แบรนด์ Topshop ไม่รวมหน้าร้าน กับสินทรัพย์อื่น ๆ Topshop จึงถูกลอยแพ และไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ ล่าสุดทิศทางนี้อาจส่งผลถึงตลาดไทยที่ บริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป (CMG) ผู้นำเข้าแบรนด์นี้ประกาศยุติการทำตลาด Topshop ในไทย ผ่านการปิดสาขา และโยกพนักงานไปรับผิดชอบธุรกิจอื่น ๆ

ในทางกลับกันตลาด Fast Fashion ในไทยแข่งขันกันสูงมาก สังเกตจากทุกร้านต่างแปะป้าย Sale กันทุกช่วงเวลา ยิ่งสาขาของ Topshop ก่อนปิดตัววันที่ 1 ส.ค. ทยอยลดลงจนเหลือแค่ 4 สาขาทั่วไทย สวนทางกับ 3 ยักษ์ใหญ่ที่เปิดสาขาใหม่ต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ยิ่งดูยิ่งคล้ายกับกรณีของ Forever 21 เมื่อปี 2018

Forever 21

Fast Fashion ในประเทศไทยไม่ง่าย

ภาพรวมตลาด Fast Fashion ในประเทศไทยก่อนโรค COVID-19 ระบาด หลายฝ่ายคาดว่ามีมูลค่าราว 30,000 ล้านบาท และเติบโต/ปีเกือบ 10% แต่พอโรคดังกล่าวระบาด ทุกอย่างก็พลิกผัน และยังไม่มีใครออกมาคาดการณ์ถึงตัวเลขนึ้ และหากดูรายได้ธุรกิจแฟชั่นของ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ของ CMG พบว่าลดลงหนัก

ยอดขายในไตรมาส 1 2021 ยอดขายธุรกิจแฟชั่นของ บมจ.เซ็นทรัล รีเทลฯ อยู่ที่ 9,751 ล้านบาท ลดลง 21% จากไตรมาส 1 2020 แม้ตัวเลขดังกล่าวจะรวมธุรกิจแฟชั่นทั้งในอิตาลี และแบรนด์ต่าง ๆ แต่มันก็พิสูจน์ว่า แบรนด์แฟชั่นอยู่ยาก ยิ่งต้อง Learn from Home และ Work from Home ก็ไม่รู้จะซื้อเสื้อผ้าทำไม

การหยุดเลือดด้วยการปิด Topshop โดย CMG จึงกลายเป็นคำตอบในการประคองธุรกิจให้ไม่เผชิญกับค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไปมากกว่านี้ ถือเป็นการปิดฉาก Topshop ในประเทศไทยที่ไม่สวยงามนัก เพราะถึงขนาดหน้า Facebook Page ยังไม่เหลือ แถมสินค้าที่จำหน่ายใน central.co.th ก็ไม่มีอีกแล้ว

topshop

Uniqlo-H&M-Zara แย่ไม่แพ้กัน

จบการอัพเดทข่าวคราว Topshop คราวนี้ลองมาดูผลประกอบการของ 3 ยักษ์ใหญ่ Fast Fashion ในไทยกันบ้าง เริ่มด้วย Uniqlo ภายใต้ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปิดรายได้รวมปี 2021 ที่ 10,606 ล้านบาท ลดลง 13.33% จากปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิปิดที่ 2,007 ล้านบาท ลดลง 17.22%

ต่อด้วย H&M ภายใต้ บริษัท เอชไทย (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งรายได้รวมปี 2021 ที่ 4,596 ล้านบาท ลดลง 6.55% กำไรสุทธิปิดที่ 261 ล้านบาท ลดลง 30.4% ส่วน Zara ภายใต้ บริษัท กากันท์ (ประเทศไทย) จำกัด ปิดรายได้รวมปี 2021 ที่ 3,040 ล้านบาท ลดลง 39.64% ขาดทุนสุทธิ 25 ล้านบาท ลดลง 161%

เรียกว่าเจ็บกันทั่วหน้าในปี 2563 สำหรับธุรกิจ Fast Fashion และยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นกลับมาในปีนี้ได้หรือไม่ เพราะการระบาดของโรค COVID-19 ในไทยยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และถึงจะมีเวลาฟื้นตัวกลับมาบ้าง แต่ช่วงหลังเจอระบาดอย่างหนัก และทำให้ห้างสรรพสินค้าต้องปิดบริการชั่วคราว จะพึ่งแต่ช่องทางขายออนไลน์ก็คงไม่ไหว

ovs

แล้วใครจะขึ้นมาแทนที่ Topshop?

จริง ๆ แล้ว ในไทยมีแบรนด์ Fast Fashion เข้ามาทำตลาดมากมาย ไล่ตั้งแต่แบรนด์นอก เช่น OVS ของกลุ่มไมเนอร์, Cotton On และ Mango หรือจะเป็นแบรนด์ไทยเช่น Jaspal ที่มีแบรนด์ในเครือมากมาย รวมถึง Fast Fashion ที่เน้นจำหน่ายออนไลน์อย่าง Pomelo หรือ Shein

แต่ฝั่งแบรนด์ไทย และแบรนด์นอกต่างพึ่งพาหน้าร้านในศูนย์การค้าเป็นหลัก ส่วนหน้าร้านออนไลน์ยังไม่ส่งผลกับภาพรวมยอดขายนัก ดังนั้นแบรนด์ออนไลน์ล้วนอย่าง Pomelo และ Shein ที่ไม่มีต้นทุนเรื่องสาขา (มีเปิดบ้าง แต่เป็นสาขาขนาดเล็ก) อาจได้เปรียบในการทำตลาดภายใต้วิกฤตนี้

หากนำความสากล และความเชี่ยวชาญการทำธุรกิจ ผู้เขียนมองว่า OVS อาจขึ้นมาแทนที่ตำแหน่ง Topshop เพราะมีเกือบสิบสาขาในไทย และความเป็นแบรนด์จากอิตาลีก็น่าจะช่วยได้ไม่น้อย แต่ก็ห้ามมองข้ามกลุ่มแบรนด์ไทย Jaspal เพราะปี 2021 มีรายได้รวม 6,550 ล้านบาท ลดลง 25.8% ขาดทุนสุทธิ 144 ล้านบาท ลดลง 150%

อ้างอิง // บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post จับกระแส Fast Fashion เมื่อ Topshop ออกจากตลาดไทย แล้วใครจะขึ้นมาแข่ง Uniqlo-Zara-H&M first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/fast-fashion-thailand-2021/

Uniqlo ยังโตได้ดีในไตรมาส 3 กำไรโต 67% แต่โควิดในเอเชีย-ชาตินิยมจีน ยังท้าทาย

9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2021 ของ Uniqlo ยังโตได้ดี กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 67% แต่ยังเผชิญความท้าทายในไตรมาส 4 เรื่องโควิดในเอเชียและชาตินิยมจีน

uniqlo q3 fy2021

ไตรมาส 3 Uniqlo กำไรโต 67% ฟื้นจากปีก่อนหน้า

Takeshi Okazaki ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของ Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo ระบุว่า กำไรสุทธิของ 3 ไตรมาสแรกของ ปีงบประมาณ 2021 ของ Fast Retelling (กันยายน 2020 – สิงหาคม 2021) อยู่ที่ 1.51 แสนล้านเยน หรือ 4.49 หมื่นล้านบาท 

  • เพิ่มขึ้นถึง 67% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของ 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2020 

ชัดเจนว่าสถานการณ์ปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายประเทศจัดการการแพร่ระบาดของโควิดได้ดีขึ้น

Fast Retailing ยังรายงานว่า รายได้ของช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2021 เพิ่มขึ้น 9.9% เทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 1.69 ล้านล้านเยน หรือ 5 แสนล้านบาท โดยหลักๆ เป็นเพราะผลประกอบการในญี่ปุ่นและจีน (ทั้งในและนอกแผ่นดินใหญ่) ค่อนข้างแข็งแรง

ไตรมาสสุดท้ายของ Uniqlo ยังน่ากังวล

อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์โควิดที่กำลังกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้งหลังจะเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเริ่มระบาดไปทั่ว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ยังประสบปัญหาด้านการกระจายวัคซีน 

Q3 performance Fast Retailing
Chart of Results Summary for FY2021 3Q from fastretailing.com

ทำให้ทาง Fast Retailing ต้องปรับลดการคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 4 ลงมา โดยคาดหวังการเติบโตของรายได้ในไตรมาส 4 อยู่ที่ 7% จากไตรมาสก่อน น้อยกว่าในช่วงไตรมาส 3

  • Fast Retailing คาดการณ์ รายได้ปี 2021 ลดลงมาที่ 2.15 ล้านล้านเยน (6.4 แสนล้านบาท) จากที่เคยคาดไว้ที่ 2.21 ล้านล้านเยน (6.6 แสนล้านบาท)
  • Fast Retailing คาดการณ์ กำไรจากการดำเนินงานปี 2021 ลดลงมาที่ 2.45 แสนล้านเยน (7.29 หมื่นล้านบาท) จากที่เคยคาดไว้ที่ 2.55 แสนล้านเยน (7.59 หมื่นล้านบาท)

ญี่ปุ่นยังระบาดหนัก-จีนชาตินิยมแรงซื้อแบรนด์ชาติตัวเองมากขึ้น

มีการระบุชัดว่าสาเหตุที่ทำให้ต้องปรับลดการคาดการณ์ผลประกอบการลงเป็นเพราะการดำเนินงานในญี่ปุ่นและจีนต่ำกว่าความคาดหวัง อย่างในญี่ปุ่น การจัดการปัญหาการระบาดระลอกใหม่ยังไม่ดีนักทำให้ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในโตเกียวอีกครั้ง ส่วนอีกหลายๆ จังหวัดก็ตกอยู่ในสภาวะกึ่งสภาวะฉุกเฉิน

ส่วนในจีน Takeshi Okazaki ระบุว่า ณ ขณะนี้ ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินไปกับการท่องเที่ยวมากกว่าการซื้อเสื้อผ้า แต่ยอดขายในภาพรวมทั้งปียังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และคาดว่าจะกลับไปแตะระดับก่อนการระบาดได้

Uniqlo Shanghai, China Photo: Fast Retailing

แม้จะชัดเจนว่าผู้บริโภคในจีนหันมาสนใจที่จะอุดหนุนแบรนด์ท้องถิ่นมากขึ้นเพราะโควิด-19 และกระแสรักชาติที่เกิดหลังการถูกนานาชาติรุมประณามในกรณีซินเจียงจนหลายๆ แบรนด์ ต้องออกมาตัดสัมพันธ์กับผู้ผลิตในซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับซินเจียง 

แต่ Okazaki ยังย้ำชัดว่า ไม่ได้มีความกังวลเกี่ยวกับการบริโภคในประเทศจีน เพราะแม้แบรนด์จีนจะได้รับความนิยมจากชาวจีนมากขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือการคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตัวเอง

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Uniqlo ยังโตได้ดีในไตรมาส 3 กำไรโต 67% แต่โควิดในเอเชีย-ชาตินิยมจีน ยังท้าทาย first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/uniqlo-performance-q3-fy-2021/