คลังเก็บป้ายกำกับ: THE_PIZZA_COMPANY

แข็งแกร่ง แต่ก็ต้องเปลี่ยนแปลง! เดอะ พิซซ่า คอมปะนี รีแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 22 ปี

เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ร้านพิซซ่าของ บมจ. เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2544 และใช้เวลาเพียง 45 วัน ในการสร้างแบรนด์ใหม่เพื่อแก้ปัญหาการถูกฟ้องร้องจากคู่ค้ายักษ์ใหญ่ต่างชาติในอดีต

ผ่านมา 22 ปี เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เป็นเบอร์ 1 ของตลาด 11,000 ล้านบาท ผ่านการครองส่วนแบ่ง 65% ของมูลค่าดังกล่าว แต่ถึงจะเป็นเบอร์ 1 การจะทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ก็คงไม่ดีนักในฐานะผู้ขับเคลื่อนตลาดให้เติบโต

เดอะ พิซซ่า คอมปะนี จึงมีการเปิดแคมเปญใหม่ต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างสีสันด้วยพิซซ่าถาดยักษ์ หรือหน้าที่หลากหลาย และล่าสุดคือการประกาศทุ่มงบราว 100 ล้านบาท เพื่อรีแบรนด์ใหม่ทั้งหมด

เดอะ พิซซ่า คอมปะนี

เดอะ พิซซ่า คอมปะนี กับการรีแบรนด์ใหม่

ปัทม์ พงษ์วิทยาพิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซ่า คอมปะนี และธุรกิจเดลิเวอรี (1112 เดลิเวอรี) เล่าให้ฟังว่า ในฐานะผู้นำวัฒนธรรมการกินพิซซ่าเข้ามาในประเทศไทย และสร้างตลาดนี้ให้คึกคักตั้งแต่วันแรก การจะอยู่เฉย ๆ คงไม่ใช่เรื่องถูกต้อง และนั่นคือการเดินหน้าแผนรีแบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ใหม่ทั้งหมด

“เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ค่อนข้างแข็งแกร่งในฝั่งลูกค้ากลุ่มครอบครัว และคนวัยทำงาน แต่สำหรับฝั่งลูกค้าคนรุ่นใหม่ เรายังเข้าถึง และตอบโจทย์พวกเขาไม่ได้มากขนาดนั้น ทำให้การรีแบรนด์ครั้งนี้เราตั้งเป้าว่าจะทำให้ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้ง่ายกว่าเดิม และหวังว่าคนรุ่นใหม่จะเพิ่มจาก 10% เป็น 20% ของสัดส่วนลูกค้า”

สำหรับการรีแบรนด์ของ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ

  • โลโก้ ที่เปลี่ยนใหม่ ทั้งตัวอักษร และรูปแบบ พร้อมเปลี่ยนมาเน้นสีเขียวที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ
  • ยูนิฟอร์ม ของพนักงานมีการเปลี่ยนใหม่ผ่านการร่วมมือกับแบรนด์ Asava เพื่อให้ดูทันสมัย
  • รูปแบบตัวร้าน ที่ปรับการออกแบบให้สว่าง และเรียบง่ายมากขึ้น ปีนี้จะเสร็จ 120 สาขา จากทั้งหมด 420 สาขา

เมื่อ 10 ปีก่อน เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เคยมีการเปลี่ยนแปลงแบรนด์มาครั้งหนึ่งผ่านการเปลี่ยนโทนสีจากแดงเป็นเขียว การทำแบบนั้นช่วยให้แบรนด์รักษาฐานลูกค้าหลักที่มีอายุ 25-45 ปี เอาไว้จนกินสัดส่วน 60% ของลูกค้าทั้งหมด

อยากให้ พิซซ่า เข้าไปอยู่ในทุกโมเมนต์

ขณะเดียวกัน เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เตรียมขยายหน้าร้านอีก 40 แห่ง ภายในปีนี้ แต่จะเน้นที่สาขาแบบซื้อกลับบ้านที่มีขนาดเล็ก กระจายอยู่ในคอมมูนิตี้มอลล์ และสถานีบริการน้ำมัน นอกจากนี้ยังเพิ่มเมนู DIY ในพิซซ่า, พาสต้า และสลัด เพื่อเพิ่มตอบโจทย์ทุกความต้องการของแต่ละลูกค้า

นอกจากนี้ยังเตรียมร่วมมือกับแบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายสินค้า หรืออื่น ๆ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนในมุมการทำสินค้าพรีเมียมออกมาจำหน่าย ก่อนหน้านี้เคยร่วมกับแบรนด์แฟชั่นเพื่อจำหน่ายเสื้อ แต่เวลานั้นทำเพียงอย่างเดียวอาจตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ไม่ได้ จึงต้องสร้างสีสันในมุมอื่น ๆ ด้วย

“คาดว่าจะใช้เวลา 12-18 จะปรับปรุงทุกสาขาให้เป็นรูปแบบใหม่ ซึ่งจากการปรับปรุงทั้งหมดจะทำให้เราเข้าไปอยู่ในทุกโมเมนต์ของลูกค้าได้ เพราะปัจจุบันคนไทยกินพิซซ่าเฉลี่ย 2 ครั้ง/ปี โดยเฉพาะเวลาพิเศษ และ Sharing Moment ต่าง ๆ ผ่านราคาเริ่มต้น 279 บาท ได้ถาดกลาง 6 ชิ้น”

นำแบรนด์ไก่ทอดเข้าสู่เมนูหลัก

สำหรับเมนูไก่ทอดแบรนด์ Chick-A-Boom ทาง เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ได้นำเมนูดังกล่าวบรรจุเข้าไปในเล่มเมนูหลัก ไม่ได้ทำการแยกออกมาเป็นแบรนด์ย่อยตามแผนที่ช่วงเปิดตัวเมื่อกลางปี 2565 ได้แจ้งไว้ เนื่องจากเมนูดังกล่าวค่อนข้างเหมาะสมกับการรับประทานควบคู่กับเมนูอื่น ๆ ของร้าน

ด้านทิศทางตลาด Fast Food ในประเทศไทย ปัจจุบันเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง เนื่องจากลูกค้าเริ่มกลับมารับประทานในร้านมากขึ้น ไม่ได้สั่งแค่จากช่องทางเดลิเวอรีอย่างเดียว โดยสัดส่วนการจำหน่ายของ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี จะมาจากรับประทานในร้าน 35% เดลิเวอรี 35% และซื้อกลับบ้านอีก 30%

หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจของ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี คือ ลูกค้าที่สั่งเดลิเวอรีมากที่สุดมีการสั่งกว่า 255 ครั้ง/ปี ถือเป็นจำนวนที่มากกว่าปกติ โดยคู่แข่งของแบรนด์ปัจจุบันมี พิซซ่า ฮัท และ โดมิโน่พิซซ่า เป็นต้น รวมถึงร้านพิซซ่าอิตาเลียนรายย่อยต่าง ๆ

สรุป

เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เป็นเบอร์ 1 ของตลาดพิซซ่าอย่างไม่ต้องสงสัย และการปรับปรุงแบรนด์ครั้งใหญ่น่าจะช่วยให้บริษัททำตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนเรื่องการเอาชนะตลาดคนรุ่นใหม่ก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่า การรีแบรนด์ครั้งนี้จะช่วยให้เข้าถึงลูกค้ามากแค่ไหน

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post แข็งแกร่ง แต่ก็ต้องเปลี่ยนแปลง! เดอะ พิซซ่า คอมปะนี รีแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 22 ปี first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/the-pizza-company-rebrand/

ทำไม เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ต้องขายไก่ทอดราดซอส ทั้งที่ ไมเนอร์ ฟู้ด มี บอนชอน อยู่แล้ว?

ตลาดไก่ทอดในประเทศไทยมีมูลค่าราว 25,000 ล้านบาท และคงนึกไม่ยากว่าใครคือเบอร์ 1 ตลาดนี้

แต่ถึงจะมีเบอร์ 1 ผูกขาด แบรนด์ร้านอาหารยักษ์ใหญ่ต่างพยามเจาะตลาดไก่ทอด เพื่อหวังแบ่งเค้กนี้บ้าง

เดอะ พิซซ่า คอมปานี

เดอะ พิซซ่า คอมปะนี คือหนึ่งในนั้น เพราะหลังทดลองทำตลาดไก่ทอดแบรนด์ ชิค-อะ-บูม ด้วยการขายแค่สาขาเดียว แถมไม่เดลิเวอรี เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ปรากฎว่า ไก่ทอดแบรนด์นี้ถูกพูดถึงอย่างรวดเร็ว หากอ้างอิงจากปากผู้บริหาร เดอะ พิซซ่า คอมปะนี

เป็นที่มาของการขยายหน้าร้านไก่ทอด ชิค-อะ-บูม กว่า 15 สาขา ในรูปแบบ ป็อปอัพ สโตร์ เน้นที่เขตเมือง และแหล่งรวมตัวของวัยรุ่น

ว่าแต่ ไมเนอร์ ฟู้ด บริษัทแม่ของ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ก็มี บอนชอน แบรนด์ไก่ทอดเกาหลีอยู่แล้ว แถมเอาจริง ๆ ไก่ทอด ชิค-อะ-บูม ก็ไม่ได้มีหน้าตาต่างกันมากนัก แล้วทำไม เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ต้องปั้นแบรนด์ไก่ทอดขึ้นมาอีก

ปั้นแบรนด์ใหม่เพิ่มความหลากหลาย

ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า ชิค-อะ-บูม ไม่ใช่ร้านอาหารใหม่ของ ไมเนอร์ ฟู้ด แต่คือแบรนด์ลูกของ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ที่ขายพิซซ่าเป็นหลัก และอยู่ระหว่างปรับปรุงภาพลักษณ์แบรนด์ให้โดนใจลูกค้าคนรุ่นใหม่มากขึ้น เช่นการปรับหน้าร้านให้ดูสว่าง ใช้ลายไม้ ต่างจากเดิมที่ดูมืด ๆ ทึม ๆ ถ้าเข้ามาเพื่อกินไปถ่ายรูปไปคงออกมาไม่สวยแน่ ๆ

ดังนั้น ชิค-อะ-บูม คือการเพิ่มความหลากหลายให้กับเมนูในร้าน เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ที่จริง ๆ แล้วค่อนข้างเด่นเรื่องเมนูปีกไก่ทอดอยู่แล้ว (เชื่อว่าหลายคนคงเคยกินปีกไก่บาร์บีคิว) มาพัฒนาเมนูไก่ให้ติดตลาดไปอีกขั้น ปลดล็อคธุรกิจให้ไม่ต้องพึ่งแค่เมนูเดิม ผ่านการนำปีกบน และปีกกลาง มาทอดกรอบในสไตล์อเมริกัน

“ชิค-อะ-บูม เกิดจากการมองเห็นศักยภาพของตลาดไก่ทอดในประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีมูลค่าตลาดสูง และมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับที่ผ่านมา เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เราเป็นเจ้าตลาดปีกไก่ทอด ทั้งไก่เกาหลี ไก่บาร์บีคิว ตั้งแต่ยุคแรก ๆ” ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เผย

ขยายหน้าร้าน กับเป้าหมาย 1,500 ล้านบาท

จากผลตอบรับที่ดีแม้เปิดขายแค่สาขาเดียว เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ตัดสินใจขยายจุดจำหน่าย ชิค-อะ-บูม อีก 15 แห่ง ในรูปแบบ ป็อปอัพ สโตร์ ในห้างสรรพสินค้า เช่น ในเครือเซ็นทรัลกว่า 10 สาขา และจำหน่ายในร้าน เดอะ พิซซ่า คอมปะนี 220 สาขา จากทั้งหมด 416 สาขา แต่ยังไม่มีเดลิเวอรี ต้องทางที่ร้าน หรือซื้อกลับบ้านเท่านั้น

การเร่งมือขนาดนี้ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ไม่ได้มาเล่น ๆ แน่ เพราะ ป๊อบอัพ สโตร์ ต้องลงทุนสาขาละ 4 แสนบาท ส่วนแคมเปญการตลาดเพื่อช่วยดันยอดขายให้ถึง 1,500 ล้านบาท ตามเป้า ก็ต้องใช้อีกหลายสิบล้านบาท แต่ก็ต้องวัดใจกันว่า วัยรุ่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักจะซื้อหรือไม่

เพราะหากดูที่ราคา ชิค-อะ-บูม จะมีเซ็ตไก่ 3 แบบคือ

  • Chicka อร่อยเดี่ยว มีไก่ 6 ชิ้น ราคา 169 บาท
  • Chicka Chicka อร่อยเป็นคู่ มีไก่ 12 ชิ้น ราคา 289 บาท
  • Chicka Chicka Chicka อร่อยกัน มันส์เป็นทีม มีไก่ 18 ชิ้น ราคา 389 บาท

ส่วนในร้านจะมีไก่ที่จัดมาแบบ 4 ไม้ เสิร์ฟพร้อมคอร์นด็อก ในราคา 399 บาท ก็ต้องบอกว่าสูสีกับคู่แข่ง ซึ่งต้องวัดที่ความแตกต่าง และความน่าสนใจล้วน ๆ ว่าจะดึงดูดลูกค้าได้แค่ไหน โดย เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ย้ำว่า ชิค-อะ-บูม คือ ไก่ทอดสไตล์อเมริกัน ที่มาพร้อมกับซอส 7 รสชาติ เช่น รสกระเทียม, น้ำผึ้ง, บัฟฟาโล และเผ็ดเข้มข้น เป็นต้น

ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย แต่เติบโตได้ในอนาคต

เมื่อ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เป็นผู้นำของตลาดพิซซ่าในประเทศไทย หน้าที่หลักคือทำให้ตลาดนี้เติบโตให้มากที่สุด โดยในปี 2564 เดอะ พิซซ่า คอมปะนี มียอดขายราว 8,000 ล้านบาท ลดลง 10% จากปี 2563 เหตุผลก็คงเดาได้ไม่ยาก เพราะโรค COVID-19 ระบาด ทำธุรกิจร้านอาหารพัก ถึงยอดเดลิเวอรีจะโต แต่ก็ชดเชยหน้าร้านไม่ได้

ส่วนเป้าหมายของ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ในปี 2565 คือการฟื้นยอดขายให้เติบโต 15% จากปี 2564 หรือคูณออกมาจะได้ 9,200 ล้านบาท ซึ่ง 1,500 บาท จาก ชิค-อะ-บูม เป็นส่วนหนึ่งของยอดขาย และถือว่าก็ไม่น้อย เพราะคิดเป็น 16% ของรายได้ กับแบรนด์ที่เปิดตัวมาเพียง 1 ปี

ในทางกลับกัน การที่ ไมเนอร์ ฟู้ด มี บอนชอน ไก่ทอดสไตล์เกาหลี อยู่ในมือ การมี ไก่ทอดสไตล์อเมริกัน ที่แข็งแกร่งอยู่ในมืออีกแบรนด์ ก็คงดีไม่น้อย กินแชร์ในตลาดไก่ทอดได้เพิ่มขึ้นแน่ ๆ จะว่าไปก็คงคล้ายกับการมี Swensen’s กับ Dairy Queen สองร้านไอศกรีมที่ตอบโจทย์คนละกลุ่มลูกค้า อยู่ในมือ

สรุป

ส่วนตัวเชื่อว่า ไมเนอร์ ฟู้ด และ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี คงไม่ได้มาเล่น ๆ ในตลาดไก่ทอดแน่นอน เพราะเมื่อทุ่มงบขยายสาขา และการตลาด แถมตั้งเป้ายอดขาย 1,500 ล้านบาท แม้ยอดขายนี้จะคิดเป็นแค่ส่วนน้อยของตลาดไก่ทอด แต่ผู้เล่นในตลาดไม่ทำอะไร โอกาสที่ ไมเนอร์ ฟู้ด จะมีที่ยืนในตลาดนี้มากขึ้นก็มีสูง

อ้างอิง // Minor, Chick-A-Boom

อ่านข่าว เดอะ พิซซ่า คอมปะนี และธุรกิจร้านอาหารเพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ทำไม เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ต้องขายไก่ทอดราดซอส ทั้งที่ ไมเนอร์ ฟู้ด มี บอนชอน อยู่แล้ว? first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/the-pizza-company-chick-a-boom/

The Pizza Company ยอมรับ ยอดขายติดลบ 10% เตรียมปรับหน้าร้านใหม่กระตุ้นยอดขายปี 2565

The Pizza Company ต้านวิกฤตโรค COVID-19 หลากสายพันธุ์ไม่ไหว ยอมรับยอดขายติดลบ 10% กางแผนปรับหน้าร้านให้หรู-ถ่ายรูปสวย พร้อมบุกตลาดไก่ทอด 40,000 ล้านบาท ปั้นยอดขายปี 2565 เพิ่มขึ้น 15%

the pizza company

The Pizza Company ติดลบ แต่มั่นใจว่าดีกว่าตลาด

ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป The Pizza Company เล่าให้ฟังว่า ถึงยอดขายเดลิเวอรีจะเติบโต 20-25% แต่ไม่สามารถชดเชยยอดขายการรับประทานในร้านที่หายไปหลายช่วงเวลาของปี 2564 เพราะการระบาดของโรค COVID-19 หลายสายพันธุ์ จนสิ้นปีนี้ยอดขายของบริษัทจะลดลง 10% เมื่อเทียบกับปี 2563

“เราพยายามบุกเดลิเวอรีเต็มที่ และอัดแคมเปญต่าง ๆ เช่น 1 แถม 1 หรือพิซซ่าหน้าใหม่ จนยอดขายในเดือน ธ.ค. 2564 อยู่ในระดับเดียวกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ด้วยยอดขายการรับประทานในร้านยังอยู่ในระดับ 60% จากช่วงเวลาปกติ ทำให้รายได้จากฝั่งนี้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่เรามั่นใจว่า เราค่อนข้างดีกว่าร้านอื่น ๆ”

สำหรับยอดขาย The Pizza Company ปี 2564 จะปิดราว 8,000 ล้านบาท ผ่านการขายจากหน้าร้านกว่า 420 สาขา ซึ่งปัจจุบันกลับมาเปิดให้บริการทุกสาขาแล้ว รวมกับช่องทางเดลิเวอรี ส่วนเหตุผลลูกค้ายังไม่กลับมารับประทานในร้าน ภาณุศักดิ์ มองว่า ความแตกต่างระหว่างการรับประทานที่ร้าน กับที่บ้าน ยังไม่มากพอ

the pizza company

ปรับหน้าร้านใหม่ ฟื้นยอดขายให้เติบโต

“ถ้าเทียบกับร้านอื่นในกลุ่มไมเนอร์ ตอนนี้ ซิซซ์เล่อร์ มีลูกค้ากลับมาใช้บริการที่ร้านถึง 80% เพราะการรับประทานที่ร้าน กับที่บ้านนั้นต่างกันจริง ๆ The Pizza Company ต้องแก้ไขตรงนี้เพื่อดึงดูดลูกค้าให้กลับมาที่ร้าน และนั่นคือที่มาของการทำร้านรูปแบบใหม่ในชื่อ The Pizza Company Signature”

The Pizza Company Signature บริษัทใช้เวลาวิจัย และพัฒนานานกว่า 1 ปี โดยการออกแบบจะทำให้ร้านดูโมเดิร์นขึ้น เช่นใช้ลายไม้ และตกแต่งให้ดูสว่าง ต่างจากเดิมที่ใช้สีดำ และมีแชนเดอเลียร์อยู่กลางร้าน ซึ่งลูกค้ามองว่าเชย และเหมาะแค่ลูกค้ากลุ่มครอบครัว ไม่จูงใจกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น หรือคนทำงานเริ่มต้น

ส่วนในมุมเมนู ร้านรูปแบบใหม่จะมีพิซซ่าถาดกลางเพียงไซส์เดียว แต่จะใช้แป้งแบบพิเศษที่ไม่มีในสาขาอื่น และมีเมนูเนื้อสัตว์ กับชีส เป็นอีกจุดขาย เช่นสเต๊ก และพาสต้าที่ผัดบน Truckle หรือชีสทั้งลูก เพื่อให้ประสบการณ์ใหม่ในการรับประทานที่ร้าน สร้างกระแสด้วยการถ่ายรูปโดยลูกค้าที่เข้ามารับประทานได้

the pizza company

มีแล้ว 1 สาขา พร้อมบุกตลาดไก่ทอดเพิ่ม

ปัจจุบัน The Pizza Signature มี 1 สาขาที่ศูนย์การค้า ซีคอนสแควร์​ ศรีนครินทร์ และกำลังวางแผนเปิดสาขาเพิ่มเติมในปี 2565 โดยอ้างอิงจากความสำเร็จของสาขาแรก ใช้รูปแบบปรับเปลี่ยนสาขาดั้งเดิม และเน้นที่พื้นที่เขตเมือง เพื่อดึงดูดลูกค้าคนรุ่นใหม่ และคนที่เริ่มทำงาน

“ยอมรับว่าร้านเราไม่ดึงดูดกลุ่มพุ่งเริ่มทำงาน และคนรุ่นใหม่ โดยกลุ่มแรก เมื่อมีกำลังซื้อ พวกเขาเลือกไปใช้บริการในร้านที่มีระดับสูงกว่า The Pizza Company ส่วนคนรุ่นใหม่ก็อย่างที่บอก คือถ่ายรูปไม่สวย ตัวร้านไม่จูงใจ ทำให้เราต้องปรับตัว จะอยู่กับลูกค้ากลุ่มครอบครัวอย่างเดียวคงไม่ได้”

ขณะเดียวกัน The Pizza Company บุกตลาดไก่ทอด 40,000 ล้านบาท ด้วยแบรนด์ย่อย Chick-A-Boom เมนูปีกไก่ทอดเคลือบซอส 7 รูปแบบ ราคาเริ่มต้น 6 ชิ้น 169 บาท เบื้องต้นจำหน่ายที่หน้าร้าน The Pizza Company Signature เท่านั้น แต่ในปี 2565 จะวางจำหน่ายในสาขาอื่น และช่องทางเดลิเวอรี

เชื่ออารมณ์จับจ่ายกว่าจะฟื้นต้องรอสิ้นปี 2565

ภาณุศักดิ์ เสริมว่า หามองไปที่ปี 2565 อารมณ์การจับจ่ายของผู้บริโภคจะยังไม่กลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนโรค COVID-19 ระบาด และต้องรอราว 2-3 ไตรมาส กว่าจะฟื้นกลับมา ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยการปรับตัวข้างต้น บริษัทตั้งเป้ามียอดขายเติบโตในปี 2565 ที่ 15%

“นอกจากการปรับหน้าร้านใหม่ การเพิ่มแบรนด์ย่อยปีกไก่ทอด และอารมณ์ที่น่าจะกลับมา ปี 2565 The Pizza Company จะเปิดเพิ่มอีกราว 10 สาขา เป็นสาขารูปแบบเดิม เพราะรูปแบบใหม่ต้องดูเรื่องความสำเร็จก่อน แต่ที่แน่ ๆ คือ สาขาใหม่ที่เปิดจะมีขนาดที่เล็กลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ”

ทั้งนี้ปี 2564 The Pizza Company มีการส่งแคมเปญการตลาดหลายครั้งเพื่อกระตุ้นยอดขาย เช่น การทำ 1 แถม 1 ถึง 2 ครั้ง ซึ่งปกติจะทำแค่ปีละ 1 ครั้ง, การทำแคมเปญเดลิเวอรีด้วยหน้าเมนูใหม่ และการทำพิซซ่าขนาดยาว 1 เมตร เป็นต้น

สรุป

The Pizza Company ค่อนข้างโชคดีที่เชี่ยวชาญเรื่องเดลิเวอรี ทำให้ไม่ต้องปรับตัวมากในวิกฤตนี้ แต่ด้วยยอดขายจากหน้าร้านที่หายไปมาก ทำให้ทางร้านต้องปรับตัว และการติดลบเพียง 10% น่าจะเป็นเรื่องที่น่าพอใจของบริษัท แต่ก็ต้องดูกันว่า ในปี 2565 ทุกอย่างจะกลับมาดีขึ้นอย่างที่คาดหวังหรือไม่

อ้างอิง // The Pizza Company

อ่านข่าวเกี่ยวกับ The Pizza Company และธุรกิจร้านอาหารเพิ่มเติมที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post The Pizza Company ยอมรับ ยอดขายติดลบ 10% เตรียมปรับหน้าร้านใหม่กระตุ้นยอดขายปี 2565 first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/the-pizza-company-2022-plan/

The Pizza Company กระตุ้นยอดขายปี 64 ออกโปรโมชัน 1 แถม 1 พลัส เมนูอื่นก็แถมด้วย

The Pizza Company กระตุ้นยอดขายด้วยการออกโปรโมชัน 1 แถม 1 อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้แถมแค่พิซซ่าอย่างเดียว เพราะในปีนี้มีเมนูอื่นๆ ก็แถมด้วยเช่นกัน

กลายเป็นธรรมเนียมประจำของทุกๆ ปีไปแล้วกับร้าน The Pizza Company ที่จะมีการจัดโปรโมชันพิซซ่าซื้อ 1 แถม 1 ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี ในช่วงวันครบรอบของแบรนด์ โดยนับว่าเป็นแบรนด์พิซซ่ารายแรกๆ ในประเทศไทยที่ทำโปรโมชัน 1 แถม 1 เป็นประจำ

แต่ในปีนี้ The Pizza Company ได้ปรับกลยุทธ์ในการจัดโปรโมชัน 1 แถม 1 ใหม่ เปลี่ยนเป็น 1 แถม 1 พลัส ที่เพิ่มความหลากหลายของเมนูไม่ได้แถมแค่พิซซ่าเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวเมนูใหม่เพิ่มเติม พิซซ่ามหาเศรษฐี มาพร้อมกับ หน้า 4 ชีสทองคำและเบคอน และขอบชีสบอลทองคำ 2 ถาด ในราคา 439 บาท

ปีนี้ The Pizza Company ไม่ได้ 1 แถม 1 แค่พิซซ่า

ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป ของ The Pizza Company เล่าว่า “The Pizza Company เป็นแบรนด์พิซซ่าเจ้าแรกในประเทศไทยที่ทำโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 และทำโปรโมชันนี้มาต่อเนื่องนาน 20 ปี” โดยในปีนี้ได้เปิดตัวโปรโมชัน 1 แถม 1 พลัส เลือกเมนูได้หลากหลายยิ่งขึ้น และรับแถมฟรีอีก 1 จาน ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2564

สำหรับการเปิดตัวโปรโมชัน 1 แถม 1 พลัส ของ The Pizza Company ในปีนี้ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่ร้านอาหารต่างๆ จะใช้โปรโมชัน เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในระลอกที่สอง เพราะปีที่แล้ว โปรโมชัน 1 แถม 1 ของ The Pizza Company พิสูจน์แล้วว่าช่วยกระตุ้นยอดขายได้จริงในยุคที่โควิด-19 ระบาด

1 แถม 1 พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง

ปีที่แล้ว The Pizza Company ออกโปรโมชัน 1 แถม 1 ยาวกว่าปกติ คือช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงปลายเดือนเมษายน จากที่ปกติเคยจัดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงสิ้นเดือนมีนาคม ทำให้ยอดขายเติบโตขึ้น 70-80% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ยอดขายที่เพิ่มขึ้นยังอาจมาจากการจัดโปรโมชันส่งฟรีร่วมด้วยอีกทางหนึ่ง

โดยสถานการณ์ของ The Pizza Company ในปีที่แล้ว ภาณุศักดิ์เล่าว่ามีการปิดสาขาไปราว 30-40 สาขาทั่วประเทศ และเคยคิดว่าสถานการณ์ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึงช่วงต้นปี 2564 ร้านอาหารจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดอีกครั้ง ทำให้สถานการณ์แย่ลงอีกครั้ง

ปริมาณคนเข้าร้าน The Pizza Company ลดลงไป 60% โดยเฉพาะสาขาในเมือง เพราะคนไม่ได้เข้ามาทำงาน แต่ทำงานที่บ้านมากกว่า ส่วนสาขานอกเมือง และสาขาต่างจังหวัดไม่ค่อยกระทบมากเท่าใดนัก เมื่อถามว่าสถานการณ์โควิด-19 รอบที่แล้ว หรือรอบนี้น่ากลัวกว่ากัน ภาณุศักดิ์เล่าว่า สถานการณ์โควิด-19 ในรอบที่สองคนไม่มีเงิน และตกงานเยอะ ทำให้การค้าขายทำได้ยากกว่าตอนที่โควิด-19 ระบาดในรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว

ฝากถึงรัฐบาลไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ย่อมต้องการความช่วยเหลือ

สุดท้าย The Pizza Company แม้จะเป็นร้านอาหารในเครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ซึ่งนับว่าเป็นบริษัทใหญ่ แต่ภาณุศักดิ์ก็ยืนยันว่า ผู้ประกอบการไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ ก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน ต้องช่วยเหลือทุกคนไม่ใช่ช่วยแค่บางคนเท่านั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post The Pizza Company กระตุ้นยอดขายปี 64 ออกโปรโมชัน 1 แถม 1 พลัส เมนูอื่นก็แถมด้วย first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/the-pizza-company-buy-one-get-one-free-2021/

The Pizza Company ปี 2021: ชะลอเปิดสาขาใหม่ เน้นเดลิเวอรี เจาะลูกค้าวัยรุ่นมากขึ้น

The Pizza Company ร้านพิซซ่าในเครือ Minor Food เล่าถึงภาพรวมของธุรกิจร้านพิซซ่าในปี 2020 รวมถึงภาพรวมการทำธุรกิจในปี 2021 ที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ในปี 2020 ที่ผ่านมายังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจร้านอาหารเป็นอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายร้านต้องปิดตัวลงชั่วคราว หรือบางร้านก็ตัดสินใจปิดร้านอย่างถาวร เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศอย่าง The Pizza Company ในเครือ Minor Food ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

พิซซ่า อาหารที่เกิดมาเพื่อเดลิเวอรี

ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไปของ The Pizza Company ในเครือ Minor Food เล่าถึงสถานการณ์ของ The Pizza Company ในปี 2020 ที่ผ่านมาว่า สาขาทั้งหมดของ The Pizza Company มีทั้งหมดประมาณ 420 สาขา โดยต้องปิดตัวลงชั่วคราวไป 7 สาขา ส่วนใหญ่เป็นสาขาที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น สาขาในจังหวัดภูเก็ต เกาะพีพี และเกาะเต่า เป็นต้น

ส่วนในปีนี้มีการปิดสาขาชั่วคราวเพิ่มไปแล้ว 3 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สีแดง รวมสาขาที่ปิดให้บริการในขณะนี้มีประมาณ 10 สาขา ส่วนในปีนี้จะยังคงชะลอการเปิดสาขาใหม่ออกไปก่อนในช่วงครึ่งปีแรกนี้ จากที่ปีที่แล้วคาดการณ์ว่าปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 7-8 สาขา

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ดูเหมือนจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ The Pizza Company มากนัก เพราะสัดส่วนการขายในปัจจุบันเป็นการสั่งซื้อผ่านบริการเดลิเวอรีเป็นส่วนใหญ่ คือ 60% ตามมาด้วยซื้อกลับไปทานที่บ้าน (Take Away) 30% และการนั่งทานที่ร้านอีก 10% เท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้พิซซ่า เป็นอาหารที่ยังขายได้ดีในช่วงเวลาที่โควิด-19 ระบาด เป็นเพราะพิซซ่า เป็นอาหารที่เกิดมาเพื่อจัดส่งแบบเดลิเวอรี่อยู่แล้ว ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันทั่วโลก ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

ย้อนกลับไปในปีที่แล้ว The Pizza Company ได้มีการเปิดตัวพิซซ่าสไตล์นิวยอร์กขนาดใหญ่กว่า 18 นิ้ว ซึ่งเป็นพิซซ่าที่ไม่สามารถส่งเดลิเวอรีได้ เพราะต้องการดึงให้คนกลับเข้ามานั่งทานอาหารภายในร้านอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่มีการปลดล็อคดาวน์ไปแล้ว

ซึ่งในครั้งนั้นความต้องการที่จะดึงให้คนกลับเข้ามานั่งทานอาหารภายในร้านทำได้สำเร็จ โดย The Pizza Company ก็ได้ให้ข้อมูลว่าพิซซ่าสไตล์นิวยอร์กขนาดใหญ่ 18 นิ้ว ประสบความสำเร็จ ด้วยยอดขายกว่า 2 แสนถาด ภายในเวลา 2 สัปดาห์แรก

พิซซ่าไซส์ใหญ่ ที่ลดขนาดลงจนส่งเดลิเวอรีได้

แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย มีการแพร่ระบาดครั้งใหม่ The Pizza Company จึงไม่สามารถใช้กลยุทธ์เดิมเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาทานอาหารที่ร้านได้อีกต่อไปแล้ว

จนในที่สุด The Pizza Company จึงต้องลดขนาดพิซซ่ายักษ์สไตล์นิวยอร์กให้เหลือ 15 นิ้ว เพื่อให้สามารถบริการส่งเดลิเวอรีได้ โดยในปีนี้มีการเปิดตัวพิซซ่าสไตล์นิวยอร์กในหน้าใหม่อีก 4 หน้า ได้แก่ มาการิต้า คาโบนาร่า พาร์ม่าแฮม และซีฟู้ด มาเนีย โดยพิซซ่าสไตล์นิวยอร์กนี้จะไม่ใช่เมนูชั่วคราวอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นเมนูถาวรของ The Pizza Company แล้ว

พรีเซนเตอร์ใหม่ในรอบ 10 ปี หวังเข้าถึงลูกค้ารุ่นใหม่ คนเจน Z มากขึ้น

นอกจากนี้ The Pizza Company ยังต้องการที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ นั่นคือ กลุ่มคนเจน Z คนวัยเรียน และคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานให้มากขึ้นกว่าเดิม จากที่แต่เดิม The Pizza Company มักถูกมองว่าเป็นร้านอาหารสำหรับครอบครัวมากกว่า

โดยกลยุทธ์ที่ The Pizza Company ใช้ คือการเปิดตัวพรีเซนเตอร์เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี นั่นคือ “ไอซ์ พาริส อินทรโกมาลย์สุต” เพื่อต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น

พฤติกรรมการสั่งอาหารของลูกค้าที่เป็นกลุ่มครอบครัว กับกลุ่มคนรุ่นใหม่จะมีความต่างกันพอสมควร โดยกลุ่มลูกค้าครอบครัวจะนิยมสั่งอาหารให้หลากหลาย เน้นทานหลายๆ อย่าง แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่จะเน้นความคุ้มค่า สั่งเมนูที่คุ้ม และได้ปริมาณเยอะ

การเดินเกมครั้งนี้ของ The Pizza Company ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ คนเจน Z ให้มากขึ้น นับว่าน่าสนใจ เพราะพฤติกรรมของลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ ต้องการเมนูอาหารที่คุ้มค่า ได้ปริมาณเยอะ ซึ่งเมนูพิซซ่าสไตล์นิวยอร์กทั้งขนาด 15 และ 18 นิ้ว ก็ตอบโจทย์ในจุดนี้ได้ ส่วนตัวพรีเซนเตอร์คนใหม่อย่าง ไอซ์ พาริส ก็เป็นที่รู้จักในกลุ่มวัยรุ่นอยู่แล้วด้วย

นอกจากนี้ด้านการตลาด The Pizza Company จะลดการลงโฆษณาในสื่อชนิด Out of Home (สื่อนอกบ้าน) ในช่วงนี้ โดยเฉพาะโฆษณาตามลิฟท์ในอาคารสำนักงาน เพราะพฤติกรรมการทำงานที่บ้านของคน แต่จะเน้นการโฆษณาบนช่องทางดิจิทัลต่างๆ ทดแทน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post The Pizza Company ปี 2021: ชะลอเปิดสาขาใหม่ เน้นเดลิเวอรี เจาะลูกค้าวัยรุ่นมากขึ้น first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/the-pizza-company-business-in-2021/

ใหญ่จนใส่ถุงไม่ได้ The Pizza Company เปิดตัวพิซซ่าแบบใหม่ ใหญ่ 18 นิ้ว ดึงคนเข้าหน้าร้าน

The Pizza Company หนึ่งในแบรนด์พิซซ่ายอดนิยมในเครือ Minor Food ในช่วงสถานการณ์โควิดต้องปิดร้านชั่วคราวไป 30 สาขา และปิดถาวรไปอีก 5 สาขาทั่วประเทศ แม้ในช่วงนี้สถานการณ์จะดีขึ้นแล้วแต่ยอดขายที่หน้าร้านกลับมาได้เพียง 50% เมื่อเทียบกับยอดขายในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดเท่านั้น

กลยุทธ์สำคัญของ The Pizza Company ที่จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด คือ การเปิดตัวเมนูพิซซ่าใหม่ที่สามารถรับประทานได้เฉพาะที่ร้านเท่านั้น ด้วยจุดเด่นพิซซ่าแบบนิวยอร์ก XXL ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 นิ้ว ใหญ่จนใส่ถุงใส่กล่องสำหรับเดลิเวอรีไม่ได้ เพื่อดึงคนกลับเข้าร้าน

ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป The Pizza Company

ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตว์บุญ ผู้จัดการทั่วไปของ The Pizza Company ในเครือ Minor Food เล่าว่า เมนูพิซซ่าสไตล์นิวยอร์ก เป็นเนื้อแป้งแบบโฮมเมด อยู่ตรงกลางระหว่างแป้งบางกรอบ และหนานุ่ม มีทั้งหมด 14 หน้าให้เลือก และหน้าใหม่ คือ ทรัฟเฟิ้ลแฮมเบคอน พร้อมด้วยเมนูอื่นๆ เช่น ปีกไก่บัฟฟาโล่ นิวยอร์กแมคแอนชีส พอร์คริบส์ และนิวยอร์กชีสเค้ก

พิซซ่าสไตล์นิวยอร์ก นับว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของพิซซ่าที่ใหญ่ถึง 18 นิ้ว ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ต้องทำขึ้นใหม่ โดยเฉพาะถาดพิซซ่า ที่ไม่เคยมีขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน

การจัดวางอาหาร จะมีกระดาษรอง และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อตกแต่งโต๊ะให้ลูกค้าสามารถถ่ายรูปได้อย่างสวยงาม

พิซซ่ายุคนี้ แค่อร่อยอย่างเดียวไม่พอ ต้องถ่ายรูปได้ด้วย

ไม่ใช่แค่เมนูพิซซ่าแบบใหม่ ที่เน้นความใหญ่ 18 นิ้ว จนไม่สามารถเลือกสั่งกลับไปทานที่บ้าน หรือเดลิเวอรีได้แล้ว The Pizza Company จึงใช้กลยุทธ์ Instagramable เข้ามาจับฐานลูกค้าส่วนใหญ่ ที่เป็นกลุ่มคนอายุ 15-30 ปี ที่ชอบถ่ายรูปก่อนทาน ด้วยอุปกรณ์ตกแต่งโต๊ะ ที่จะนำมาวางให้เมื่อสั่งเมนูใหม่นี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถถ่ายรูปได้อย่างสวยงามมากขึ้น

กลยุทธ์ The Pizza Company ดึงลูกค้ากลับเข้าร้าน

กลยุทธ์ดึงลูกค้ากลับเข้าหน้าร้านของ The Pizza Company นับว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะในขณะนี้ยอดขายอยู่ในระดับ 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะดีขึ้น จนคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้แล้ว แต่เมื่อคนกลับเข้ามาในห้างสรรพสินค้า คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ทานพิซซ่า เพราะพิซซ่า เป็นอาหารที่สั่งเดลิเวอรีในช่วงล็อคดาวน์จนเบื่อไปแล้ว

ทำให้ยอดขายของ The Pizza Company สาขาที่ตั้งอยู่ในเมือง โดยเฉพาะย่านสยามสแควร์ หายไป 70-80% ส่วนสาขาที่ขายดีกลับเป็นสาขานอกเมือง เช่น ย่านองครักษ์ ลำลูกกา และในจังหวัดสงขลา

การจะดึงดูดลูกค้าให้กลับเข้ามาทานอาหารที่ร้านอีกครั้ง จึงต้องใช้เมนูใหม่ๆ ที่ทานได้ที่ร้านเท่านั้น ไม่สามารถเลือกสั่งเดลิเวอรี หรือสั่งกลับไปทานที่บ้านได้ เข้ามาเป็นจุดดึงดูด เพราะพิซซ่าขนาดใหญ่ถึง 18 นิ้ว ยังไม่เคยมีมาก่อน ซึ่ง The Pizza Company คาดหวังว่ายอดขายของหน้าร้านจะกลับมาสู่ระดับ 70-80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ

ราคา สร้างความคุ้มค่าให้พิซซ่าหน้ายักษ์

โดยปกติแล้วพิซซ่าของ the Pizza Company จะมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 239 บาท หากเป็นพิซซ่าแป้งบางกรอบ ขนาดกลาง แต่พิซซ่านิวยอร์ก ขนาดใหญ่ 18 นิ้ว มีราคาเพียง 399 บาท จากราคาปกติ 569 บาทเท่านั้น ลูกค้าจึงอาจตัดสินใจลองเมนูแบบใหม่ได้ไม่ยาก ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยกว่าบาท แต่ได้พิซซ่าขนาดใหญ่ และแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร

ไม่เน้นสงครามราคา แต่เน้นสร้างนวัตกรรมเมนูอาหารใหม่ๆ

แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะเห็นตลาดร้านอาหารพิซซ่า แข่งขันกันด้วยการลดราคา หรือจัดโปรโมชัน 1 แถม 1 มาตลอด ซึ่งโดยปกติ The Pizza Company จะมีการจัดโปรโมชัน 1 แถม 1 ในช่วงเดือนมีนาคม ของทุกๆ ปี ในโอกาสวันครบรอบของแบรนด์ แต่อย่างไรก็ตามการสร้างเมนูพิซซ่าใหม่ๆ ก็มีความสำคัญในการแข่งขันที่มีความรุนแรง

สรุป

ความพยายามในการทำพิซซ่าขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 18 นิ้วของ The Pizza Company ที่ต้องทานที่หน้าร้านเท่านั้น นับว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะเมนูพิซซ่าแบบเดิมๆ คนอาจเบื่อ เนื่องจากเคยทานในช่วงล็อคดาวน์อยู่บ่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามตลาดเดลิเวอรีเป็นตลาดที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ยังมีลูกค้าอีกหลายคนที่อยากทานพิซซ่าแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยทาน ดังนั้นหากในอนาคตมีการลดขนาดพิซซ่านิวยอร์กลง หรือขายแยกชิ้นเพื่อทานแบบพออิ่มคนเดียว อาจทำให้ The Pizza Company เข้าถึงลูกค้าในกลุ่มที่หลากหลายมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/the-pizza-company-new-pizza-18-inch-diameter/

กลุ่ม Minor อัดงบปั้นพนักงานดาวรุ่งกว่า 5 แสนบาท/คน สร้างผู้นำรุ่นใหม่ช่วยพลิกโฉมองค์กร

บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือกลุ่ม Minor คืออีกองค์กรที่ช่วยสร้างงานในประเทศไทย ผ่านจำนวนพนักงานที่นี่กว่า 35,000 คน แต่เพื่อพัฒนาคนคุณภาพเพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรในยุคดิจิทัล การลงทุนครั้งสำคัญจึงเกิดขึ้น

กลุ่มพนักงานของ Minor ที่เข้าโครงการ NGT

5 แสนบาท/คน กับความคุ้มค่าที่ได้กลับมา

ปัจจุบันกลุ่ม Minor นั้นทำตลาดไปทั่วโลก และถ้านับพนักงานกลุ่มทั้งหมดก็มีกว่า 66,000 คน ซึ่งในไทยนั้นคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะเป็นสำนักงานใหญ่ จึงไม่แปลกที่คนเยอะขนาดนี้ การลงทุนเรื่องคนก็ต้องสูงเป็นธรรมดา ซึ่งทางกลุ่มก็มีการพัฒนาทักษะต่างๆ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ จนถึง C-Level อยู่เป็นประจำ

แต่เมื่อ 4 ปีก่อน ทางกลุ่มตัดสินใจสร้างโครงการ New Generation Talent Program หรือ NGT ขึ้นมา เพื่อเร่งความเร็วในการพัฒนาทักษะของพนักงานที่มีความสามารถพิเศษในตัว และสามารถขึ้นมาทำงานในระดับผู้นำองค์กรได้ในอนาคต

ปัทมาวลัย รัตนพล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ของกลุ่ม Minor

ปัทมาวลัย รัตนพล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ของกลุ่ม Minor เล่าให้ฟังว่า 4 ปีที่ผ่านมามีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการนี้ 54 คน เฉลี่ยปีละ 15 คน และบริษัทใช้งบประมาณในการยกระดับบุคลากรเหล่านี้กว่าคนละ 5 แสนบาท เพื่อให้เขาได้เข้าร่วมฝึกทักษะกับผู้บริหารระดับสูง และเดินทางไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศ

สูงสุดคือผู้ช่วยรองประธาน แต่ไม่สำเร็จก็มี

“จากการสร้างโครงการนี้ขึ้นมา ตัวพนักงานที่มีทักษะพิเศษก็จะได้รับการอบรมจากผู้บริหารระดับสูง พร้อมไปศึกษางานในต่างประเทศ ทั้งในที่ที่ Minor ทำ และไม่ได้ทำธุรกิจอยู่ จากนั้นก็ต้องกลับมาเสนอโครงการใหม่ๆ เพื่อช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทในแง่มุมต่างๆ”

การเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะ Design Thinking

สำหรับผู้ที่จบจากโครงการ NGT นั้นปัจจุบันมีทั้งคนที่สามารถขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยรองประธานด้านกลยุทธ์ และผู้อำนวยการด้านการตลาดของแบรนด์ธุรกิจต่างๆ ของบริษัท เช่น Burger King แต่ก็ยังมีบางคนที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จในโครงการนี้ แต่ก็สามารถแสดงบางทักษะให้บริษัทได้เห็นเช่นกัน

“ตัวโครงการที่พนักงานเหล่านี้ต้องเสนอให้กับผู้ใหญ่ในองค์กร ต้องมาในรูปแบบ Pitching หรือมีแผนธุรกิจ, รูปแบบรายได้ และกำไรขาดทุนที่ชัดเจน แต่บางคนยังเสนอในรูปแบบ Storytelling ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการในตอนนี้ เพราะหลักๆ คือเราอยากได้สิ่งที่เป็นไปได้จริงมาช่วยยกระดับธุรกิจ”

ประเทศที่กลุ่ม Minor ทำธุรกิจอยู่

องค์กรเก่า ทำให้ Culture จากนี้ต้องเปลี่ยน

ปัจจุบันกลุ่ม Minor นั้นดำเนินธุรกิจมากว่า 50 ปีแล้ว โดยธุรกิจของบริษัทนั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ ธุรกิจด้านงานบริการ, ร้านอาหาร และสินค้าไลฟสไตล์ ซึ่งที่กล่าวมาก็ล้วนมีแต่แบรนด์ที่หลายคนรู้จักทั้งนั้น เช่น The Pizza Company, Sizzler, Anello และโรงแรม Anantara เป็นต้น

แต่ด้วยองค์กรที่เก่าแก่ขนาดนี้ ทำให้ทางบริษัทเริ่มศึกษาการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่ง NGT ก็คือหนึ่งในนั้น เพื่อทำให้องค์กรดูสดใหม่ และสามารถดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และล่าสุดก็มีการทำโครงการ Hackathon เพื่อคิดค้นรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาในระยะเวลาสั้นๆ ด้วย

บรรยากาศการทำงานแบบ Agile

“ตั้งแต่ต้นปีทาง Minor ก็เริ่มศึกษาการปรับเปลี่ยนของวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเน้นเรื่อง Design Thinking และการทำงานในรูปแบบ Agile ที่เน้น Team Base ไม่ใช่ Silo เป็นฝ่ายๆ เหมือนในอดีต เพื่อเพิ่ม Speed to Market ให้กับการทำธุรกิจของทางกลุ่ม”

สรุป

สังเกตได้ว่าองค์กรใหญ่ๆ ในปัจจุบันเริ่มปรับตัวมากขึ้น พยายามสร้างผู้บริหารรุ่นใหม่ เพื่อทดแทนคนเก่าๆ ที่ออกไป แต่การจะสร้างพวกเขาขึ้นมานั้น มันใช้วิธีแบบเดิมไม่ได้ ต้องปรับทั้งฝั่งองค์กรเอง และให้โอกาสพวกเขาคิดเยอะๆ ด้วย ดังนั้นคงต้องจับตากันต่อไปว่ากลุ่ม Minor หลังจากนี้จะเดินไปในทิศทางใดเมื่อมีผู้บริหารรุ่นใหม่ขึ้นมามากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/minor-and-ngt-project/

เปิดจักรวาลอาหารขึ้นห้าง ใครเป็นใครมาดูกัน

ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำมักมีแบรนด์อาหารหลาหลายรวมอยู่ แล้วรู้หรือไม่ว่าในแบรนด์อาหารที่คุณคุ้นเคยและทานบ่อยๆ นั้นดำเนินธุรกิจโดยบริษัทใด วันนี้จะมาเปิดจักรวาลร้านอาหารขึ้นห้างของ CRG  (Central Restaurants Group) กับ Minor International ว่าในแบรนด์ที่เห็นกันบ่อยๆ อยู่ในเครือธุรกิจไหนบ้างนะ

เครือธุรกิจ CRG

  • KFC (ร้านไก่ทอดยอดนิยมครองใจคนไทย)
  • Mister Donut (ร้านขายโดนัท)
  • Auntie Anne’s (ร้านขนมจากประเทศสหรัฐอเมริกา)
  • Pepper Lunch(ร้านสเต็กจานร้อน สไตล์ญี่ปุ่น)
  • Chabuton Ramen(ร้านราเมนดีกรีทีวีแชมป์เปี้ยน)
  • Cold Stone Creamery (ร้านไอศกรีม)
  • The Terrace (ร้านอาหารไทยและนานาชาติ)
  • Yoshinoya (ร้านข้าวหน้าญี่ปุ่น)
  • Ootoya (ร้านอาหารญี่ปุ่นเพื่อสุขภาพ)
  • Tenya (ร้านเทมปุระชื่อดังจากโตเกียว)
  • Katsuya (ร้านทงคัตสึต้นตำรับสไตล์ญี่ปุ่น)

*นอกจากแบรนด์อาหารขึ้นห้างด้านบนนี้ ธุรกิจอาหารในเครือของ CRG ยังมี  Fezt Ice Cream ด้วย

เครือธุรกิจ MINOR FOOD

  • The Pizza Company (ร้านพิซซ่า)

  • BreadTalk (ร้านขนมปังสดใหม่)

  • Swensens (ร้านไอศกรีมขวัญใจเด็กและผู้ใหญ่)

  • Dairy Queen (ร้านไอศกรีมแบบ take away)

  • Sizzler (ร้านสเต็กและสลัดบาร์บุฟเฟต์)

  • BURGER KING (ร้านเบอร์เกอร์จากสหรัฐอเมริกา)

*นอกจากนี้แบรนด์อาหารขึ้นห้างด้านบนนี้ ธุรกิจอาหารในเครือของ MINOR FOOD ยังมี  VGC Food Group, ไทย เอ็กซ์เพรส, ริเวอร์ไซด์,เดอะ คอฟฟี่ คลับ, เบนิฮานา และ เอส เอส พี ด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก – Minorinternational CRG

 

 

 

 

 

 
Source: thumbsup

from:https://thumbsup.in.th/2018/07/restaurant-in-mall/

จากธุรกิจอาหาร สู่ People Business คือทิศทาง The Pizza Company เพื่อรักษารสชาติที่ถูกปากคนไทย

แม้ก่อตั้งมา 16 ปี แต่ The Pizza Company ก็ขึ้นมาครองใจคนไทยได้ด้วยรสชาติที่ถูกปากได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ทำเช่นนี้ได้ก็คือ “คน” และบริษัทก็ใส่ใจเรื่องนี้มาก ถึงขนาดบอกว่าตัวเองคือ People Business

ภาพจาก Facebook ของ The Pizza Company

ธุรกิจของเราเดินด้วยคนเกือบทุกขั้นตอน

ถ้ามองกันผิวเผิน The Pizza Company ก็คงเป็นร้านอาหาร Fast Food ที่ขายพิซซ่า คล้ายกับผู้เล่นรายอื่นในตลาด แต่ถ้ามองลงไปลึกๆ แล้วจะเห็นว่า ขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจของเชนร้านอาหารรายนี้จะเดินด้วยคนแทบจะทุกขั้นตอน ดังนั้นพิซซ่าแต่ละถาดที่เสิร์ฟให้กับลูกค้า ถ้าคนทำไม่ดี สิ่งที่แบรนด์พยายามสร้างมาก็คงถูกหักล้างทั้งหมด

สุภัทร์ ไพรสานฑ์กุล ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายการตลาด ทั้งในและต่างประเทศของ The Pizza Company ภายใต้บมจ.เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป เล่าให้ฟังว่า คนคือส่วนสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพราะในทุกขั้นตอนของการทำพิซซ่าในแต่ละถาดนั้นใช้คนทำแทบทั้งสิ้น

“ปัจจุบันเรามีพนักงานทั้งกลุ่มกว่า 8,000 คนในระบบ และการทำพิซซ่าแต่ละถาดแทบไม่ได้ใช้เครื่องจักรเลย ดังนั้นการมีคนเก่งๆ และเข้าใจกระบวนการทำพิซซ่าจึงสำคัญมาก เพื่อรับกับ Standard ที่เราวางไว้ให้ จึงไม่เหมือนกับสินค้าอื่นๆ ที่ผลิตจากโรงงานพร้อมกัน และใช้เครื่องจักรเป็นหลัก รวมถึงมองคนเป็นแค่ส่วนประกอบ”

ภาพจาก Facebook ของ The Pizza Company

Treat ทุกคนให้ดี เพื่อเข้าใจลูกค้าทุกคน

ก่อนหน้านี้การสร้างแบรนด์จะเน้นที่เรื่องคุณภาพของสินค้า หลังจากนั้นก็ก้าวมาสู่ข่วง Consumer Centric หรือการวิเคราะห์เพื่อสร้างสินค้าให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย แต่ปัจจุบันมันก้าวมาสู่ช่วง Human Centric หรือการมองลูกค้าเป้นคนมีจิตวิญญาณ พร้อมสร้าง Two Way Communication ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาคนในบริษัทให้ดีก่อน

และมันก็ตรงกับทาง The Pizza Company ทำ เพราะใน 330 สาขาที่อยู่ในประเทศ และต่างประเทศ ผ่านรูปแบบร้านที่หลากหลาย ต่างก็สร้างพนักงานที่มีคุณภาพขึ้นมาภายใต้แนวคิดเดียวกันคือ การช่วยพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ, การยกระดับการศึกษาให้ดีขึ้น และการเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตัวตำแหน่ง “ผู้จัดการสาขา” ที่ปัจจุบันจะคัดเลือกจากคนที่ทำงานกับ The Pizza Company มาตั้งแต่ต้น เพื่อให้ตัวพนักงานรู้สึกเติบโตไปด้วยกันกับบริษัท และจุดนี้ทำให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแกร่ง รวมถึงส่งรสชาติอาหารที่ถูกปากคนไทยได้มากที่สุดเช่นเดิม

สรุป

จริงๆ แล้วคนก็เป็นส่วนสำคัญของทุกธุรกิจ แต่ในธุรกิจร้านอาหารเอง ด้วยการต้องใส่ใจปรุงในทุกๆ รสชาติ ทำให้คนกลายเป็นฟันเฟืองที่จำทำให้ตัวธุรกิจขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น หรือแย่ลง ดังนั้นถ้าอยากให้ธุรกิจดีกว่าเดิม การใส่ใจรายละเอียดในเรื่องคน ก็เป็นอีกเรื่องที่บริษัทเองจะละเลยไปไม่ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/the-pizza-company-way/

เทรนด์กำลังมา – สั่งพิซซ่าแล้วรีเควสต์ขออะไรแปลกๆ เพิ่ม

เรื่องมีอยู่ว่าตอนนี้มีกระแสขนาดย่อมใน Twitter คือการสั่งพิซซ่าแบบเพิ่มเงื่อนไขพิเศษ จากนั้นก็เกิดการนำมาแชร์ต่อกัน เรียกว่าเด็ดและน่ารักมากเลยทีเดียว

โดยจากที่เราพบนั้นเป็นการสั่งพิซซ่าผ่าน The Pizza Company 1112 แบบสั่งออนไลน์ ซึ่งในตอนท้ายจะมีช่องให้กรอกข้อมูลเพิ่มเติมที่ลูกค้าต้องการ

ในสถานการณ์ปกติ เต็มที่ก็บอกว่าขอซอสเพิ่ม ลดชีส อะไรก็ว่าไป แต่อันนี้มาเหนือกว่านั้น!

ในต่างประเทศมีคนทดลองรีเควสต์อะไรแปลกๆ กันค่อนข้างมาก มาดูตัวอย่างกัน

วาดภาพพ่อมดบนหน้ากล่อง (ที่มา – 9gag)

67094_700b

อันนี้เยอะหน่อย บอกให้ตัดพิซซ่าตรงกลางเป็น Pokeball ผลคือพิซซ่าเลาะตรงกลางจริง แถมปิกาชูมาด้วย (ที่มา – Smosh)

m225137280

เมื่อเมืองนอกเขาเล่นกันมานานแล้ว ในไทยก็เพิ่งมาเล่นกัน โดยคนแรกที่เราพบคือการรีเควสต์ วาดรูปหมีริลัคคุมะตรงฝากล่องให้ด้วย … ผล

จากนั้นก็มากันไม่หยุด อาทิ

ตอนนี้ก็มีคนทดลองกันเยอะ รายนี้จัดเต็ม ขอออริกาโน่เพิ่ม แถมขอวาดรูปลาอียอร์ให้ด้วย

แต่กรณีที่เห็นว่าเด็ดที่สุดตอนนี้คงเป็น ขอไก่เพิ่มอีก 1 ชิ้นดื้อๆ เลย… จัดไป!

เข้าใจว่าเรื่องกระแสนี้ทาง The Pizza Company คงไม่ได้ตั้งใจทำขึ้นมา เพราะเมื่อดูใน Twitter @thepizzacompany เองก็มีแต่โพสต์ที่ลิงก์มาจาก Facebook แต่ตัวเพจก็ไม่ได้พูดถึงกระแสนี้แต่อย่างใด ส่วนหนึ่งคงเพราะการรับรีเควสต์นี้ก็ทำให้พนักงานทำงานมากขึ้นด้วยนั่นเอง

แต่ถ้าพนักงานทำให้ซึ่งเป็นเรื่องเกินคาดหมาย ลูกค้าอย่างเราก็พอใจมากขึ้นๆ ไปอีกนะ :)

ปล. ถ้าเขียนเรื่องนี้แล้วทาง The Pizza ต้องรับรีเควสต์แปลกๆ มากขึ้น ทางเรากราบขออภัยมา ณ ที่นี้
ปล.2 แต่ถ้าเรื่องนี้ทำให้ยอดขาย The Pizza เพิ่มขึ้น … แบ่งมาให้เราบ้างก็ดีนะ ฮี่ๆ

from:http://faceblog.in.th/2014/05/request-trend-on-pizza-box/