คลังเก็บป้ายกำกับ: SME_STARTUP

15 ข้อที่เจ้าของ SME ควรคิด เพื่อสู้ศึกธุรกิจในปี 2021

ในปี 2021 นี้เจ้าของธุรกิจควรหันมาปรับตัวหรือใส่ใจในเรื่องอะไรมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงท่ามกลางวิกฤติโควิด 19 ที่ยังเป็นความท้าทายใหญ่ในปัจจุบัน 

15 ข้อที่เจ้าของ SME ควรคิดสู้ศึกธุรกิจปี 2021
15 ข้อที่เจ้าของ SME ควรคิดสู้ศึกธุรกิจปี 2021

ก่อนเข้าสู่เนื้อหา เราลองมาดูกันก่อนว่าในปีที่ผ่านมา แบรนด์ใหญ่ระดับโลก ออกมารับมือกับสถานการณ์โควิด และเป็นตัวอย่างที่ดีให้เจ้าของธุรกิจ SME ได้เรียนรู้ในประเด็นใดกันบ้าง

1. ตอบให้ได้ว่าธุรกิจของเราเกิดมาเพื่ออะไร

ถ้าเราสามารถตอบตัวเองได้ว่าธุรกิจของเราเกิดมาเพื่ออะไร หรือเรากำลังทำธุรกิจเพื่อช่วยคนกลุ่มไหนอยู่ เราก็จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้แม้ว่าจะเจอวิกฤติหนักแค่ไหนก็ตาม สำหรับตัวอย่างที่น่าสนใจในช่วงโควิดที่ผ่านมาก็เช่น แบรนด์ Burger King ที่ทำแคมเปญชวนคนไปซื้ออาหารของคู่แข่งอย่าง McDonald ในประเทศอังกฤษ หรือแบรนด์ Nike ที่บริจาครองเท้ามูลค่ารวมกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น

2. ปรับตัวก่อนได้เปรียบกว่า

Agile คือคำศัพท์ในแวดวงธุรกิจที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยในปีที่ผ่านมา หากแปลให้เห็นภาพมากขึ้น Agile ก็คือการปรับแผนธุรกิจให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น มากกว่าที่จะทำตามแผนใหญ่ที่ตั้งไว้ในตอนแรก ตัวอย่างแบรนด์ที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในช่วงโควิดก็เช่น แบรนด์ Nike ที่ทำแคมเปญ “Play Inside, Play for the World” เพื่อส่งเสริมให้คนปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างของรัฐบาล

3. อย่าคิดแต่เรื่องผลกำไร

ลูกค้าจะรู้สึกผูกผันกับแบรนด์ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือสังคมมากกว่าแบรนด์ที่มีจุดยืนเพื่อแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Dove ที่รณรงค์ให้วัยรุ่นหญิงกว่า 35 ล้านคนทั่วโลกเกิดความรักและรู้สึกเคารพตัวเองมากขึ้นมาตั้งแต่ปี 2005 หรือแบรนด์ Unilever ที่ผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เป็นต้น

4. ผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์และห่วงใยสิ่งแวดล้อม

ในปีที่ผ่านมาเราอาจจะได้ยินปัญหาเรื่องฟาสต์แฟชั่นกันบ่อย เพราะฟาสต์แฟชั่นคือการเร่งผลิตเสื้อออกมาตามสมัยนิยม โดยพยายามลดต้นทุนทั้งด้านวัสดุและแรงงานให้ต่ำที่สุด รวมทั้งทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปโดยไม่รู้ตัว เพราะต้องนำทรัพยากรมาใช้ในการผลิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในปัจจุบันผู้คนในสังคมจึงพยายามรณรงค์ให้ธุรกิจหันมาใส่ใจห่วงโซ่การผลิตที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น และทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง

5. แบ่งกำไรมาช่วยเหลือสังคม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในช่วงที่โควิด 19 ระบาดรุนแรง ลูกค้าจะรู้สึกประทับใจและอยากมาซื้อสินค้าของแบรนด์หรือธุรกิจที่ออกมาช่วยเหลือผู้คนในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ ในทางกลับกัน ลูกค้าก็จะเกิดความรู้สึกต่อต้านแบรนด์หรือธุรกิจที่ทอดทิ้งพนักงาน และไม่มีจุดยืนออกมาช่วยเหลือสังคม

10 ข้อที่ SME ควรรู้เพื่อสู้ศึกธุรกิจปี 2021
10 ข้อที่ SME ควรรู้เพื่อสู้ศึกธุรกิจปี 2021

เมื่อเห็นตัวอย่างของแบรนด์ระดับโลกดังนี้แล้ว SME อย่างเราควรเริ่มต้นครุ่นคิดหรือปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เพื่อให้ธุรกิจพัฒนาไปได้อย่างดียิ่งขึ้น

1. วางแผนธุรกิจให้เรียบร้อยก่อนออกสินค้า

เมื่อคิดอยากตั้งธุรกิจอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราควรวางแผนเกี่ยวกับธุรกิจนั้นให้เรียบร้อยและชัดเจนก่อนที่จะผลิตสินค้า เช่น ลองวิเคราะห์คู่แข่งว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเรามีจุดเด่นและแตกต่าง จะใช้การตลาดแบบไหน ต้องมีกระแสเงินสดเท่าไหร่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ที่จะตามมา ทั้งนี้ แผนธุรกิจก็เป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ธุรกิจในช่วงนั้น

2. สร้างเรื่องเล่าของแบรนด์เพื่อทำให้ธุรกิจโดดเด่นจากคู่แข่ง

ในช่วงเริ่มทำธุรกิจ หลายๆ คนอาจจะครุ่นคิดเรื่องการตั้งชื่อแบรนด์ การทำโลโก้ หรือการออกแบบเว็บไซต์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้สำคัญก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจมักจะหลงลืม คือการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ออกไป เพราะถ้าเราสามารถนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ของเราได้ดี ลูกค้าก็จะจดจำแบรนด์ของเราได้มากกว่าแบรนด์อื่นๆ

3. การบริหารเงินคือเส้นเลือดสำคัญของการทำธุรกิจ

ในช่วงเริ่มต้น เจ้าของธุรกิจหลายๆ คนอาจจะตั้งราคาสินค้าให้ต่ำเข้าไว้ เพื่อดึงดูดลูกค้ามาจากคู่แข่ง แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าเราปรับลดราคาสินค้าให้ต่ำลงเป็นระยะเวลานาน แต่ค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ เช่น ค่าพนักงาน ค่าการตลาด ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง ฯลฯ ยังสูงแบบเดิม ธุรกิจของเราก็จะขาดทุนในที่สุด ดังนั้น เราควรเน้นการสื่อสารถึงคุณค่าของสินค้าที่เราสามารถส่งมอบให้ลูกค้าแล้วตั้งราคาให้เหมาะสมจะดีกว่า

4. เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณของลูกค้า

เจ้าของธุรกิจมักจะอยากขยายฐานลูกค้าให้ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ข้อผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นคือแทนที่จะมุ่งทำการตลาดไปที่กลุ่มเป้าหมายหลัก พวกเขากลับเน้น “ปริมาณ” มากกว่า “คุณภาพ” ของลูกค้าจริงๆ ดังนั้น เราจึงควรถามตัวเองอยู่เสมอว่า ธุรกิจของเราเกิดมาเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มไหน แล้วเราอยากต่อยอดธุรกิจให้พัฒนาไปอย่างไรในอนาคต ถ้าตอบคำถามได้ตามนี้เราถึงจะสามารถขยายกลุ่มลูกค้าได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

4. สิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องคิดเมื่อรับพนักงานเข้ามา

การบริหารพนักงานเป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจ ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับพนักงานที่พบได้บ่อยก็เช่น กว่าจะได้พนักงานหนึ่งคนมาต้องผ่านกระบวนการรับสมัครและการคัดเลือกที่ใช้ระยะเวลานาน แต่หลายๆ ครั้งก็กลับได้พนักงานที่ไม่เหมาะกับองค์กร หรือทำงานได้ไม่นานก็ลาออกอยู่ดี ปัญหานี้เกิดจากการที่เจ้าของธุรกิจมักจะจ้างพนักงานเข้ามาช่วยทำงานอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองไปถึงขั้นที่ว่าพนักงานคนนั้นจะช่วยให้ธุรกิจ “เติบโตอย่างยั่งยืน” ได้หรือเปล่า

5. เลือกคนผิดชีวิตเปลี่ยน

ในขณะที่การจ้างพนักงานอาจจะไม่ได้เป็นความเสี่ยงมากสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีงบประมาณจำกัดแล้ว กว่าจะเสียเงินจ้างพนักงานหนึ่งคนได้ก็ต้องผ่านการคิดคำนวณมาอย่างดี ดังนั้น เมื่อจะคัดเลือกใครเข้ามาในทีม ขอให้เราพิจารณาอย่างละเอียดก่อนว่า คนๆ นั้นมีทัศนคติและนิสัยเหมาะสมที่จะมาทำงานในธุรกิจของเราหรือไม่ 

6. ระวังข้อมูลสำคัญของธุรกิจรั่วไหล

ข้อมูลที่ว่านั้นรวมไปถึงกลยุทธ์ของธุรกิจและรหัสสำคัญต่างๆ เช่น รหัสล็อกอินเข้าคอมพิวเตอร์ของบริษัท เพราะมีโอกาสสูงที่ผู้ไม่หวังดีจะนำข้อมูลส่วนนี้มาหาผลประโยชน์จากเรา วิธีป้องกันปัญหานี้ คือให้เราระมัดระวังเสมอเมื่อจะให้รหัสสำคัญกับใคร และอย่าลืมเปลี่ยนพาสเวิร์ดของโปรแกรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีคนลาออก

7. ถ้าบริหารคนเดียวไม่ไหวควรแบ่งให้เอาท์ซอร์สช่วยเหลือ

ในช่วงปีสองปีแรกเจ้าของธุรกิจคงจะต้องทำงานบางส่วนแบบหัวหมุน จนส่งผลให้แบ่งเวลามาดูด้านอื่นๆ ได้ไม่ทั่วถึง เช่น ขาดการดูแลหรือควบคุมพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความผิดพลาดในด้านต่างๆ เช่น การบริหารเงิน การจ้างพนักงาน ดังนั้น วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือให้จ้างเอาท์ซอร์สเข้ามาเพื่อช่วยในเรื่องในเรื่องที่เจ้าของธุรกิจไม่ถนัดหรือไม่มีเวลาดูแลมากพอ

8. เรื่องที่ควรฉุกคิดก่อนตัดสินใจลงทุน

ในการทำธุรกิจเราอาจจะใช้บริการที่ช่วยบริหารระบบหลังบ้านหลายอย่าง เช่น บริการจัดการสต็อคสินค้า บริการจัดทำบัญชี ซึ่งสองบริการนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์ แต่หลายๆ ครั้งเจ้าของธุรกิจก็มักจะหลงเชื่อคำโฆษณา และเผลอไปลงทุนในเครื่องมือหรือซอฟท์แวร์ที่ดูเหมือนจะเป็นตัวช่วยในการทำธุรกิจ แต่ความจริงแล้วไม่ได้จำเป็นสำหรับธุรกิจตัวเองเสียด้วยซ้ำ ส่งผลให้ใช้จ่ายเงินไปอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

9. ธุรกิจเติบโตเร็วเกินไปใช่ว่าดี

การที่ธุรกิจเติบโตเร็วเกินไปอาจจะส่งผลเสียในระยะยาว ปัญหาที่พบได้บ่อยคือเจ้าของต้องการขยายธุรกิจจึงนำเงินสดออกมาใช้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ขาดกระแสเงินสดและต้องกู้ยืมเงิน ทำให้เกิดหนี้ในที่สุด นอกจากนี้ ในช่วงที่เราเร่งขยายธุรกิจ พนักงานก็ยิ่งต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ ทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อย หมดไฟและมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง

ที่มา : Forbes 1, Forbes 2, contentgrip, martechtoday, smallbusinessbc, investopedia, smallbizclub, business

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post 15 ข้อที่เจ้าของ SME ควรคิด เพื่อสู้ศึกธุรกิจในปี 2021 first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/sme-2021-entrepreneur-leadership/

“Next Trends 2020” เวทีสัมมนาส่งท้ายปี สร้างความเข้าใจและปรับตัวให้อยู่รอดในโลกยุค Disruption

นิตยสาร SME Thailand x นิตยสาร SME Startup จัดสัมมนาใหญ่แห่งปี “420 Minutes Next Trends 2020 ชี้เทรนด์ธุรกิจ” อัพเดตเทรนด์การทำธุรกิจในปีหน้า โดยในงานสัมมนามีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายวงการมาพูดถึงเทรนด์แห่งความเปลี่ยนแปลง พร้อมกรณีศึกษาและวิธีรับมือให้คนไทยผู้เป็นเจ้าของธุรกิจและคนทั่วไปนำไปต่อยอด เพื่อให้ธุรกิจสามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยมีหัวข้อที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจดังนี้ 

แนวคิดจากโตโยต้า ลดทุน เพิ่มกำไร วิธีการอยู่รอดของ SME ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง 

หัวข้อนี้ได้ คุณสุปรียา ไม้มณี ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสังคม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ สายทิพย์ ลามา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านโคกสว่าง ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ จ.ขอนแก่น มาร่วมแชร์กรณีศึกษาและโครงการของโตโยต้าที่ช่วยสนับสนุน SME ให้เติบโตไปด้วยกัน

เริ่มจากหลักคิดของโตโยต้าที่อยากเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วย  SME ดำเนินธุรกิจและเติบโตต่อไปได้ จึงเปิดตัวโครงการ “TSI โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์” นำความรู้, ประสบการณ์การทำงานและหลักคิดของโตโยต้ามาถ่ายทอดสู่ธุรกิจชุมชนนำไปปรับใช้ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วย Objective  ของโตโยต้า คือ อยากขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคม เล็งเห็นความสำคัญของ OTOP ที่จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำความรู้แบบโตโยต้าไปช่วยผู้ประกอบการ 

แนวคิดที่ว่าคือ “ไคเซ็น” หรือการปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น ส่งเสริมให้คิดนวัตกรรมใหม่ๆ ปรับลดกระบวนการที่ไม่จำเป็นหรือสิ้นเปลืองออก สร้างความสามารถทางธุรกิจและส่งเสริมให้เป็นองค์กรแห่งความรู้ ให้ธุรกิจมีภูมิต้านทานความเปลี่ยนแปลง มีระบบการจัดการที่ดี ลดต้นทุน เพิ่มกำไร 

สุปรียา ระบุว่า “เราทำให้เขารู้ก่อนว่ากระบวนการผลิตสินค้าที่มีปัญหามาจากสาเหตุใด หลังจากนั้น เราจะเริ่มให้เขาคิดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร คิดวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จากนั้นก็จะเปิดใจและร่วมมือร่วมใจกันทุกอย่าง นอกจากนี้เราใช้คนของโตโยต้าที่เกษียนแล้วเข้าไปช่วยเสริมกำลังธุรกิจรายย่อย คนกลุ่มนี้จะมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ที่สำคัญคือ พวกเขายังมีไฟในการทำงาน มีองค์ความรู้ มีทักษะ มีประสบการณ์มาก”

คุณสุปรียา ไม้มณี ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสังคม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

“หลังจากถ่ายทอดองค์ความรู้ได้สัก 2 ปี เมื่อเราเห็นว่าชุมชนเข้าใจวิธีการ ความคิด คือทำซ้ำๆ ทำเรื่อยๆ หรือการทำไคเซนนั่นเอง จากการที่เราขยายองค์ความรู้ออกไป ก็น่าจะพัฒนาเศรษฐกิจภายในดีขึ้น มั่นคง และยั่งยืนด้วย” สุปรียา กล่าว

กลุ่มข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ จากจังหวัดขอนแก่น เป็นธุรกิจรายย่อยหนึ่งในโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” มาร่วมแชร์ประสบการณ์ โดย สายทิพย์ ลามา ประธานกลุ่มพูดถึงโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ว่า “ถือว่าเป็นโอทอปรุ่นแรก คำว่า ไคเซ็น ฟังแต่ชื่อก็เพราะมาก เค้าเรียก โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เราไม่เคยคิดเรื่องของเสีย โตโยต้าทำให้เราวางแผนและลดการสูญเสียเยอะมาก”

สายทิพย์ ลามา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านโคกสว่าง ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ จ.ขอนแก่น

“หลังจากการไคเซนแล้ว กลุ่มข้าวแตนฯ ก็มีการวางแผนการผลิตทุกจุดอย่างเป็นระบบ มีการแก้ไขปัญหาเราเอาระบบการไคเซนมาใช้ในขบวนการผลิตแบบ TPS ทำให้เราลดต้นทุน เพิ่มกำไร ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความสุขอย่างยั่งยืน สุดท้ายเราสามารถแบ่งปันให้กับชุมชนอื่น สร้างแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจอื่นได้”

ที่มาโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ 

โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เกิดจากการผนึกพลังร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyata Production System: TPS) ที่ประกอบไปด้วยพนักงานเกษียณอายุ ผู้มีประสบการณ์การผลิตแบบโตโยต้าที่มีจิตอาสาในการตอบแทนสังคม ร่วมกับผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าที่เชี่ยวชาญด้านสินค้าคงคลังและเข้าใจถึงบริบทของชุมชน 

จากนั้น ก็ถ่ายทอดนวัตกรรมของโตโยต้า ภายใต้แนวคิด Toyota Way, TPS, Kaizen และ Customer First ร่วมดำเนินงานในทุกขั้นตอนกับ SMEs และ OTOP เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ให้ธุรกิจมีกำไร พัฒนาต่อไปได้ด้วยตัวเอง และสนับสนุนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อแบ่งปันความสำเร็จสู่ชุมชนด้วย 

ปัจจุบันตัวโครงดำเนินการปรับปรุงธุรกิจชุมชนแล้วเสร็จ 4 แห่ง มีทั้งธุรกิจเสื้อผ้าที่ จ.กาญจนบุรี, ธุรกิจอาหารที่ จ.ขอนแก่น, ธุรกิจหัตถกรรมเกษตรที่ จ.กระบี่ และธุรกิจผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจะขยายโครงการให้ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศในปี 2022

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.toyota.co.th/tsi/

ในงานสัมมนา Next Trends 2020 ยังมีเทรนด์โลกและองค์ความรู้สำคัญต่อการอยู่รอดของธุรกิจอีกมากมายคือ 

Beyond Digital Consumer Trend 2020 ดร. เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า เราต้องเข้าใจเทรนด์ผู้บริโภค 3 เรื่อง คือ ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการแค่ออนไลน์ แต่ต้องการออฟไลน์ด้วย, เราไม่สามารถขายสินค้าให้ผู้บริโภคได้อย่างเดียว แต่ต้องสร้างภาพให้เขาอยากซื้อสินค้าเราด้วย, พฤติกรรมผู้บริโภคไม่ได้มีแค่แบบเดียว

เทรนด์ Packaging โลก 2020 สมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบมือรางวัลระดับโลก ผู้ก่อตั้ง Prompt Design พูดถึงเทรนด์ Packaging ปีหน้าว่า จะประกอบไปด้วย 7 อย่างคือ การทำ packaging ที่ personalized ได้, ทำแพ็คเกจให้เข้าใจง่ายสื่อสารตรงจุดมากขึ้น, มีเรื่องราวบอกเล่าความไม่ธรรมดาของผลิตภัณฑ์ได้, เทรนด์รักษ์โลกต้องมา, สร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับลูกค้าผ่านการออกแบบได้, ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ มากขึ้น และควรใช้เทคโนโลยีเและนวัตกรรมเข้ามาช่วย 

SME Transformation พลิกธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอดในยุคดิจิทัล  ในหัวข้อนี้ วีรพล สวรรค์พิทักษ์ ผู้บริหารบริษัท อีมิเนนท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ CMO บริษัท La Nature จำกัด พูดถึงการอยู่รอดได้ในยุคนี้ด้วย 3 คิด คือคิดมาก ให้นึกถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก คิดดี คิดให้ผู้อื่น คิดเผื่อโลก หมดยุคที่คนเดียวจะไปได้ไกล คิดไว คิดแล้วลงมือทำแล้ว ยุคนี้ปลาไวกินปลาช้า ให้ลงมือทำแม้จะไม่มั่นใจ 100% เพราะคนที่พร้อมไม่มีอยู่จริง 

คิดแบบ Startup ทำแบบ SME

พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไลฟ์สไตล์กว่า 1,000 รายการ เผยกลยุทธ์ 6 อย่างในการทำธุรกิจแบบใหม่ 

  • เน้นการดีไซน์ รวมเอานวัตกรรมและวิถีชีวิตเข้าไว้ด้วยกัน
  • ต้องอาศัยการร่วมมือกัน ใครเก่งอะไรก็เอามาทำด้วยกัน (Collaboration)
  • ต้องเข้าใจการทำงานของแต่ละแพลตฟอร์มว่าทำงานอย่างไร เอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Multi-channel E-commerce)
  • ต้องตอบแทนโลกและสังคม
  • ทำให้ดีตั้งแต่ต้น เลือกแบบไหนก็ไม่ผิด (Built to sell or Built to last) 
  • ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง ทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ

Digital Marketing เจาะเทคนิค พลิกธุรกิจโต

สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล นักวางกลยุทธ์การตลาดดิจิทัล บริษัท แบรนด์เบเกอร์ จำกัด มีเคล็ดลับสำคัญ 2 อย่างคือ โลกดิจิทัลมีคอนเทนต์หลากหลาย ต้องไม่ขายของให้ทุกคน แต่ขายให้เขาหยุดสนใจเราได้, ก่อนนำเสนอสินค้า ต้องรู้ว่าผู้บริโภคใช้ชีวิตอย่างไร มีความต้องการอะไร ต้องการสิ่งนั้นในช่วงเวลาใด 

MARKETING 2020 บิ๊กเทรนด์เปลี่ยนโลก

เอกบดินทร์ เด่นสุธรรม ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญทางด้านวางแผนยุทธ์ธุรกิจ บริษัท เด็นส์ ว็อท จำกัด สรุป 4 เทรนด์คือ

  • Automated is here คือเทรนด์ AI เทรนด์ที่เพิ่มความสะดวกสบายแก่มนุษย์มากขึ้น
  • Cities: Explode มนุษย์อยู่ในเมืองมากจนเกิดปัญหามากมาย เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม สภาวะอากาศฯ 
  • Burnout ภาวะความเครียดมากขึ้น
  • The Experience Economy ต้องมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ต้องเหนือกว่า ไวกว่า

นี่คือทั้งหมดของงานสัมมนา Next Trends 2020 ที่ถือว่าครบทุกแง่ทุกมุมสำหรับการรับมือกับเทรนด์ธุรกิจในปีหน้าช่วยติดอาวุธในยุคที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยง ใครที่พลาดงานนี้ก็สามารถติดตามได้อีกทีในปีหน้าซึ่งจะมีจัดขึ้นอีกอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/next-trends-2020-seminar-how-to-survive-in-disruption-era/