คลังเก็บป้ายกำกับ: LETTER_OF_GUARANTEE

[PR] กสิกรไทยเปิดบริการหนังสือค้ำประกันบนบล็อกเชนครั้งแรกของโลก ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้งานผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็น 35%

กสิกรไทยเปิดโลกใหม่บริการหนังสือค้ำประกันมูลค่า 1.35 ล้านล้านบาท นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เป็นครั้งแรกของโลก สร้างมาตรฐานใหม่หนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ ลดขั้นตอนเวลา ต้นทุน เพิ่มความปลอดภัยสูงสุด  หนุนภาคธุรกิจขับเคลื่อนเร็วขึ้น  4 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ-เอกชนร่วมพัฒนาใช้นวัตกรรมนี้ หวังดันสัดส่วนหนังสือค้ำประกันผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเป็น 35% สิ้นปีหน้า

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสร้างเครือข่ายระบบเก็บรักษาและเรียกใช้เอกสารยุค 4.0 ที่มีความปลอดภัยสูง เริ่มเข้ามาพลิกโฉมหน้าธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเอกสารให้ดีขึ้น เช่นบริการหนังสือค้ำประกัน ซึ่งรัฐวิสาหกิจ และธุรกิจขนาดใหญ่ กำหนดให้บริษัทคู่ค้าต้องวางหนังสือค้ำประกันจากธนาคารเพื่อความมั่นใจในการประกอบธุรกิจร่วมกัน ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงมีหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารต่าง ๆ หมุนเวียนในระบบเป็นจำนวนมาก 

ธนาคารกสิกรไทย จึงร่วมกับไอบีเอ็มในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนสร้างระบบต้นแบบใช้รับรองเอกสารต้นฉบับ นอกจากนี้ ได้ทำการทดสอบบริการบน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย และจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล   และบจก. พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง ร่วมพัฒนาบริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Enterprise Letter of Guarantee on Blockchain) เพื่อยกระดับการจัดการเอกสารหนังสือค้ำประกันแก่หน่วยงานผู้รับหนังสือค้ำประกัน     และคู่ค้าผู้วางหนังสือค้ำประกัน  กล่าวคือ รัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีคู่ค้าจำนวนมาก จะเชื่อมโยงเอกสารหนังสือค้ำประกันของคู่ค้าทั้งหมดบนมาตรฐานเดียวกันด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ 100% ตลอดกระบวนการตั้งแต่เริ่มจนจบโดยไม่ใช้กระดาษ ปลอดภัยสูง ตรวจสอบได้ง่าย และยังปลอมแปลงยาก รวมทั้งสะดวกรวดเร็วกว่ารูปแบบเดิม ซึ่งสามารถเข้าตรวจสอบได้ ทุกที่ ทุกเวลา และจะบันทึกประวัติต่อเป็นห่วงโซ่แบบอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังเอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายธนาคารต่าง ๆ ได้ในอนาคต     บริษัทผู้รับหนังสือค้ำประกันจึงเข้าระบบเพื่อดูเอกสารหนังสือค้ำประกันของคู่ค้าที่ออกโดยธนาคารต่าง ๆ ได้ จากการเข้าระบบเพียงครั้งเดียว

บริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน จึงมีประโยชน์ต่อธุรกิจใน 6 ด้าน ได้แก่       1.ความปลอดภัย มีการจัดเก็บข้อมูลขึ้นบนระบบบล็อกเชนที่มีมาตรฐานเดียวกันและตรวจสอบสถานะได้ตลอดเวลา  2.ความเร็ว ช่วยลดเวลาขั้นตอนด้านเอกสารจาก 24 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 นาที  3. การลดต้นทุน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการจัดการเอกสารลง 2 เท่า  4.การเพิ่มประสิทธิภาพภาคธุรกิจให้จัดการเอกสารได้รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา   5. ข้อมูลรวมศูนย์ ภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน และ 6.การสร้างโอกาสทางธุรกิจ ช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น โดยการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านฐานข้อมูลที่มีมาตรฐานร่วมกัน สามารถเชื่อมต่อเพื่อต่อยอดได้ในอนาคต

นายพิพิธ กล่าวตอนท้ายว่า ในปี 2560 คาดว่าประเทศไทยจะมีการออกหนังสือค้ำประกันผ่านระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมกว่า 1.35 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปีที่ผ่านมา 8% ในจำนวนนี้เป็นหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารกสิกรไทย ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ที่ส่วนแบ่งตลาด 25% เป็นอันดับหนึ่ง เป็นการใช้บริการหนังสือค้ำประกันผ่านสาขา 80% และผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ 20% ซึ่งธนาคารตั้งเป้าว่า ในสิ้นปี 2561 จะสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้บริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เป็น 35%  โดยเป็นสัดส่วนที่ใช้ผ่านบล็อกเชน 5% ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า บริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกนี้ จะถูกนำไปใช้และพัฒนาให้เป็นมาตรฐานใหม่ที่เป็นสากล เพราะบล็อกเชนจะเอื้อให้ทุกภาคส่วนในระบบเชื่อมต่อและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ร่วมกัน ช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ พร้อมขับเคลื่อนสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

from:https://www.techtalkthai.com/kban-offers-first-letter-of-guarantee-on-blockchain/

KBank ประกาศบริการ Letter of Guarantee เชิงพาณิชย์ผ่าน Blockchain รายแรกของโลก

Blockchain เป็นหนึ่งในบริการสมัยใหม่ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ทั่วโลก โดยเชื่อว่าเป็นเครื่องมือที่จะเปลี่ยนโลกไปจากเดิม เหมือนที่ครั้งหนึ่ง Internet เคยทำมาแล้ว

สำหรับในประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank เป็นสถาบันการเงินกลุ่มแรกๆ ที่ประกาศเริ่มต้นนำ Blockchain มาใช้งาน โดยเลือกใช้ในบริการหนังสือค้ำประกันสำหรับองค์กร โดยใช้ชื่อว่า Enterprise Letter of Guarantee on Blockchain

Letter of Guarantee บน Blockchain สร้างมิติใหม่บริการ

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ KBank บอกว่า บริการหนังสือค้ำประกันมีคาดการณ์ว่ามีมูลค่ากว่า 1.35 ล้านล้านบาทในปีนี้เป็นมูลค่าที่สูงมาก โดยเป็นสัดส่วนของ KBank กว่า 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งการใช้ Blockchain เข้ามาช่วย ทำให้ขั้นตอน เวลาและต้นทุนลดลง ขณะที่ความปลอดภัยสูงขึ้น

บริการ Letter of Guarantee ของ KBank ได้ทดสอบร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในระบบ Regulatory Sandbox เพื่อตรวจสอบว่าบริการมีเสถียรภาพ ใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

หลังจากทำการทดสอบ ทำให้พบว่ามีประโยชน์ต่อธุรกิจใน 6 ด้าน คือ

  1. ความปลอดภัย ที่มากขึน้ มีการจัดเก็บข้อมูลบนมาตรฐานเดียวกัน ตรวจสอบสถานะได้ตลอดเวลา
  2. ความเร็ว ลดขั้นตอนเอกสารเหลือ 30 นาที
  3. ลดต้นทุน ประหยัดจากการจัดการเอกสารลง 2 เท่า
  4. เพิ่มประสิทธิภาพ ภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการได้เร็วขึ้น
  5. ข้อมูลรวมศูนย์ ข้อมูลทั้งหมดอยู่ภายใต้แพลตฟอร์มของ Blockchain เดียวกัน
  6. สร้างโอกาสทางธุรกิจ จากความสะดวกและรวดเร็ว

สำหรับการออกหนังสือค้ำประกันของ KBank ปัจจุบันออกผ่านสาขา 80% ออกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 20% ตั้งเป้าว่าในสิ้นปี 2561 จะเพิ่มสัดส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็น 35% โดยจำนวนนี้ เป็นการทำผ่าน Blockchain ที่ 5%

เริ่มใช้ Letter of Guarantee เชิงพาณิชย์ผ่าน Blockchain รายแรกของโลก

KBank ร่วมกับ IBM ในการนำเทคโนโลยี Blockchain สร้างระบบต้นแบบใช้รับรองเอกสารต้นฉบับ นอกจากนี้ ยังได้ทำการทดสอบบริการบน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย และจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล และ บจก.พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง ร่วมพัฒนาบริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยี Blockchain (Enterprise Letter of Guarantee on Blockchain)

กลุ่มบริษัทพันธมิตร ถือเป็นบริษัทที่มีคู่ค้าและมีการใช้หนังสือค้ำประกันเป็นจำนวนมาก ถ้าสามารถอยู่บนมาตรฐานเดียวกันจะเพิ่มประสิทธิภาพได้มหาศาล และนี่ถือเป็นครั้งแรกของโลก ที่มีการใช้หนังสือค้ำประกันเชิงพาณิชย์ บน Blockchain ครั้งแรกของโลก

“พันธมิตรทุกรายใช้บริการหนังสือค้ำประกันกับ KBank อยู่แล้ว ดังนั้นการชวนมาร่วมใช้บริการผ่าน Blockchain ซึ่งถือว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และเป็นมูลค่าต่อธุรกิจของประเทศอย่างสูง”

สำรวจความเห็นพันธมิตรกลุ่มแรกใช้บริการ Blockchain

ชินเสณี อุ่นจิตติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ บัญชีและการเงิน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. บอกว่า กฟภ. มีการใช้หนังสือค้ำประกันกว่า 70,000 ฉบับ โดยกว่า 20% เป็นบริการของ KBank โดยไฟฟ้าเป็นบริการรูปแบบใช้ก่อน จ่ายเงินทีหลัง ดังนั้นลูกค้าองค์กรต้องมีการใช้หนังสือค้ำประกันเพื่อรับรองว่าจะมีการจ่ายค่าบริการ

ปัญหาที่พบคือ มีลูกค้าทั่วประเทศ ทำให้ตรวจสอบหนังสือค้ำประกันยาก หมดอายุ หรือหนังสือปลอม การใช้ Blockchain ช่วยลดการจัดเก็บและตรวจสอบเอกสาร

สารนิต อังศุสิงห์ รองผู้ว่าการเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสาร การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. บอกว่า การขอใช้ไฟฟ้า จำเป็นต้องมีหนังสือค้ำประกัน ซึ่งต้องใช้เวลาหลายวัน และมีเอกสารเก็บไว้จำนวนมาก จนต้องเช่าโกดังจัดเก็บ และเวลาจะใช้ต้องเสียเวลาค้นหา การใช้ Blockchain จะช่วยได้มาก

นอกจากนี้ ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการลงทุนงานต่าง ต้องใช้งบประมาณมหาศาลต่อปี หนังสือค้ำประกันผ่าน Blockchain ช่วยทั้งความสะดวก ปลอดภัยและลดต้นทุนได้มาก

ณรงค์ชัย พิสุทธิ์ปัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด หรือ PTTPM บอกว่า บริษัทใช้หนังสือค้ำประกันประมาณ 300 ฉบับ แต่ละฉบับหมดอายุไม่พร้อมกัน และหลายฉบับหาไม่เจอ การจัดเก็บแบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยเรื่องนี้ได้มาก และยิ่งเก็บเป็น Blockchain ยิ่งช่วยได้มากขึ้นกว่าเดิมอีก

สรุป

ส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ Blockchain มีการใช้งานเชิงพาณิชย์ได้จริง นอกจาก KBank ที่มีทีมงานกว่า 150 ชีวิตทำงานตั้งแต่เริ่มต้น และพันธมิตรที่เริ่มต้นใช้งาน อีกส่วนที่สำคัญมาก คือ Regulator หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้ทดสอบบริการ และถือเป็นโครงการแรกใน Regulatory Sandbox ซึ่งหากสุดท้ายมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย กว้างขวาง จะยิ่งสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับประเทศโดยรวม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/kbank-letter-of-guarantee-commercial-blockchain-first-in-the-world/

ธนาคารกสิกรไทยจับมือ IBM นำ Blockchain มาสร้างบริการระบบจัดเก็บเอกสาร ใช้ยืนยันทางกฎหมายได้แทนเอกสารกระดาษ เปิดให้ทุกองค์กรมาร่วมใช้งาน

ธนาคารกสิกรไทยได้จับมือกับ IBM นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้สร้างระบบต่างๆ ในการทำธุรกิจ โดยทำการเปิดตัวระบบแรก OriginCert API สำหรับใช้ Blockchain ในการจัดการเอกสารแทนกระดาษทั้งหมดได้อย่างน่าเชื่อถือและปลอดภัย พร้อมเปิดให้ทุกองค์กรมาใช้งานได้ผ่านบริการนี้ทันที

ibm_blockchain

 

IBM นำ 4 เทคโนโลยี Blockchain จับมือกับกสิกร นำเสนอบริการใหม่ๆ สู่ธุรกิจเมืองไทย

IBM นั้นถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่เริ่มนำ Blockchain ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกเป็นรายแรกๆ และก่อนนี้ก็มีความเชี่ยวชาญในการนำ Blockchain ไปใช้ในธุรกิจ Supply Chain มาแล้ว รวมถึงมีการทดสอบการทำ Blockchain สำหรับธุรกิจการเงินในประเทศต่างๆ มาก่อนหน้านี้ โดยสำหรับในไทย ทาง IBM ได้มีการลงทุนเพื่อนำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน Blockchain จากเมืองนอกเข้ามาในไทยดังนี้

  • IBM Design Thinking ทีมนักออกแบบของ IBM ที่มีจำนวน Designer มากเป็น 15 เท่าของนักพัฒนา เพื่อให้ Blockchain กลายเป็น Application ที่เข้าใจง่าย และนำไปใช้งานได้อย่างสะดวกที่สุด
  • IBM Garages for Blockchain ทีมพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เพื่อประยุกต์เทคโนโลยีเหล่านี้เข้ากับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ทันทีผ่านระบบ Cloud
  • The Hyperledger Project โครงการ Open Source ที่ทาง IBM ร่วม Contribute ด้วยอยู่ เพื่อให้เทคโนโลยี Blockchain ในโครงการ Hyperledger นี้สามารถนำมาใช้ในเชิงธุรกิจได้

โดยทั่วไปแล้ว Blockchain ที่นำมาใช้ในธุรกิจจะประกอบไปด้วยส่วนประกอบ 4 ด้าน ดังนี้

  • Shared Ledger การแบ่งปันเอกสารระหว่างระบบทั้งหมดและผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้อง โดยรับประกันว่าทุกคนได้รับเอกสารชุดเดียวกันที่มีข้อมูลเหมือนกัน
  • Privacy ผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึง Content ภายในเอกสารแต่ละชุดได้
  • Smart Contract สามารถกำหนด Business Rule ให้เอกสารแต่ละชุดเพื่อทำ Automation ได้
  • Consensus จะต้องมีวิธีการในการตกลงว่าเอกสารชุดใดถึงจะถูกนำเข้าสู่ระบบและเชื่อถือได้ ซึ่งวิธีการเหล่านี้สามารถกำหนดได้

 

ระบบรับรองความถูกต้องของข้อมูลเอกสาร OriginCert API

ระบบนี้คือระบบแรกที่ทางกสิกร บิสิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นส่วนแรก โดยพัฒนาขึ้นมาเป็นบริการ API เพื่อให้ผู้อื่นสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเอกสารใดๆ ก็ตาม

มุมมองของ KBTG คือระบบนี้จะทำหน้าที่ในการจัดเก็บเอกสารต้นฉบับ และผู้รับก็เสมือนกับว่าได้รับเอกสารต้นฉบับที่ไม่ถูกปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขจริงๆ ทำให้การส่งเอกสารมีความถูกต้องและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นเอกสารต่างๆ ที่ต้องมีการยืนยันรับรองจากธนาคารโดยตรงนั้น ก็จะสามารถส่งผ่าน OriginCert และนำไปใช้ติดต่อราชการหรือสถานทูตได้ทันทีอย่างน่าเชื่อถือ และปลอมแปลงได้ยากกว่าเอกสารที่เป็นกระดาษเป็นอย่างมาก

ทางธนาคารกสิกรไทยได้เริ่มนำเทคโนโลยี OriginCert API นี้ไปใช้ในการรับรองเอกสารหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee: LG) เพื่อให้การจัดเก็บเอกสารมีความปลอดภัย และให้ลูกค้านำเอกสาร Digital นี้ไปใช้อ้างอิงต่อได้ผ่านการกำหนดสิทธิ์การ Share เอกสารไปยังปลายทางต่างๆ รวมถึงมีการแจ้งเตือนได้เมื่อเอกสารมีการหมดอายุในอนาคต เพื่อให้เจ้าของเอกสารสามารถทำการ Renew เอกสารต่ออายุต่อไปได้

กระบวกนการเหล่านี้จะเข้ามาลดต้นทุนทางธุรกิจในการดำเนินการด้านต่างๆ เกี่ยวกับเอกสาร ทั้งในแง่ของการเพิ่มความปลอดภัย, การลดความเสี่ยง, การจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างอัตโนมัติ และอื่นๆ อีกมากมาย

KBTG ตั้งใจจะเปิดบริการ OriginCert API นี้ให้สามารถนำไปใช้งานได้ในทุกธุรกิจทุกอุตสาหกรรม และไม่จำกัดว่าบริษัทที่นำไปใช้จะต้องเป็นบริษัทในเครือกสิกรหรือธุรกิจการเงินเท่านั้น ซึ่งทาง KBTG ก็หวังว่าเหล่าองค์กรธุรกิจต่างๆ จะมาจับมือกับทาง KBTG เพื่อเริ่มนำเทคโนโลยี Blockchain นี้ไปใช้งานในธุรกิจต่างๆ ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น การจัดเก็บใบเสร็จ, การจัดเก็บข้อมูลสัญญา และอื่นๆ เป็นต้น พร้อมทั้งในอนาคตยังมีแผนจะเปิดให้องค์กรอื่นๆ เป็น Node หนึ่งของบริการ Blockchain เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบได้อีกด้วย

from:https://www.techtalkthai.com/kasikorn-bank-and-ibm-offer-new-blockchain-based-service-to-enterprise-in-thailand/