คลังเก็บป้ายกำกับ: IGF2014

[IGF 2014] บริษัทโทรคมรวมกลุ่ม Telecommunications Industry Dialogue ปกป้องสิทธิลูกค้า

ตัวแทนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เสนอบทเรียนจากการรวมกลุ่มของภาคอุตสาหกรรมเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของลูกค้า ระหว่าง “การประชุมโต๊ะกลมสำหรับกลุ่มผู้จัดการประชุมหัวข้อความเชื่อใจทางดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตและสิทธิมนุษยชน” ในวันสุดท้ายของการประชุมการอภิบาลอินเทอร์เน็ตครั้งที่ 9

Yves Nissim รองประธานบริษัทออเรนจ์และประธานกลุ่มหารืออุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunications Industry Dialogue) กล่าวถึงการรวมตัวกันในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติอาหรับในปี พ.ศ. 2556 ที่บริษัทต่างๆ ถูกร้องขอจากรัฐบาลให้ทำในสิ่งที่บริษัทไม่อยากทำ เช่น ขอให้เครือข่ายยกเลิกบริการข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือในช่วงที่มีการต่อต้านจากประชาชน

“เราตัดสินใจว่าเราจะสู้ และเรารวมกลุ่มกันเพื่อเผชิญหน้ากับคำสั่งเหล่านี้ มันมีพลังมากกว่าการเผชิญหน้าเพียงลำพัง ดังนั้นเราจึงสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เราทำงานกันภายใต้หลักการขององค์การสหประชาชาติ และตอนนี้เรากำลังจะเผยแพร่บทเรียนของเรา

“การทำงานตามแนวทางของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทำให้เรารู้สึกมั่นคง เพราะว่ามันพุ่งประเด็นไปที่องค์ประกอบต่างๆ ของปัญหาที่เราต้องพบเจอในแต่ละวัน นั่นก็คือ การรักษาจุดยืนของเราพร้อมกับเคารพจุดยืนของรัฐบาลด้วย ดังนั้นเราตัดสินใจว่าจะเขียนความคิดเห็นและข้อเสนอเป็นเอกสารออกมา

“ในแง่ของความโปร่งใส ซึ่งในงานประชุมนี้ก็มีการพูดถึงรายงานความโปร่งใสของบริษัทต่างๆ ในบางประเทศเรามีรัฐบาลที่พยายามแทรกแซงเครือข่ายการสื่อสารของเรา เราจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก เราจะปกป้องเครือข่ายของเราและตอบโต้อย่างเป็นทางการ และมีกระบวนการที่โปร่งใสเพื่อช่วยให้รัฐบาลทำงานได้โดยรัฐบาลไม่ต้องเชื่อมต่อกับเครือข่ายเราโดยตรง-เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไรกับเครือข่ายของเราบ้าง

“เราจะเปิดเผยกระบวนการที่โปร่งใสเกี่ยวกับการสอดส่องการสื่อสารในทุกประเทศ รวมทั้งบทเรียนจากประเทศต่างๆ นอกจากนี้เรายังจัดทำรายงานความโปร่งใสของบริษัทโทรคมนาคม ซึ่งโวดาโฟนได้เผยแพร่การร้องขอข้อมูลของรัฐบาลออกมาแล้วเมื่อหลายเดือนก่อน อย่างไรก็ดี เราเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำรายงานความโปร่งใสของตัวเองด้วย ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มโทรคมนาคมเท่านั้น”

ปัจจุบันกลุ่ม Telecommunications Industry Dialogue (@IndustryDialog) ประกอบด้วย อัลคาเทล-ลูเซนต์ เอทีแอนด์ที มิลลิคอม โนเกีย ออเรนจ์ เทเลโฟนิกา เทเลนอร์ เทเลียโซเนรา และโวดาโฟน โดยสมาชิกทั้งหมดประกอบธุรกิจโดยยึดหลักปฏิบัติที่เดินตามแนวทางของหลักปฏิบัติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) ซึ่งวางอยู่บนกรอบ “คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา”

ผู้ประกอบการโทรคมนาคมในประเทศไทยที่ถือว่าอยู่ในกลุ่ม Telecommunications Industry Dialogue คือ ดีแทค ซึ่งดำเนินกิจการโดยเทเลนอร์ โดยก่อนหน้านี้ผู้บริหารเทเลนอร์ได้เปิดเผยว่ากสทช.ได้ติดต่อให้ดีแทคปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2557

สำหรับข้อสรุปจากการประชุมโต๊ะกลมนี้ จะถูกนำเสนอในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยประชุมที่ 27 ซึ่งจะเริ่มในวันจันทร์ที่ 8 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งในที่ประชุมครั้งนี้จะมีการพิจารณารายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรื่อง “สิทธิความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล” ด้วย

https://www.youtube-nocookie.com/embed/J1DEgGHCyj0?list=UUk0zf4oI0IsJLh1owvUQSfQ

ที่มา – การประชุมการอภิบาลอินเทอร์เน็ต IGF 2014

DTAC, Human Rights, IGF2014, Telecom, Telecommunications Industry Dialogue, Telenor

from:http://www.blognone.com/node/60117

[IGF 2014] การเดินทางที่ยังไม่สิ้นสุดของ IGF: บทสรุปของการประชุม

การประชุม Internet Governance Forum ครั้งที่ 9 ประจำปี 2014 ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ได้เสร็จสิ้นลงแล้วในวันนี้ โดยตลอดการประชุมทั้ง 4 วันนี้ ประกอบด้วยตัวแทนจากทั้งภาควิชาการ อุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐ หน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐาน และผู้มีส่วนร่วม เข้าร่วมงานด้วยตัวเองและเข้าร่วมแบบทางไกล (remote participants) มากกว่า 3,500 คน

หัวข้อสำคัญที่ได้รับการเน้นเป็นพิเศษในการประชุมครั้งนี้ คือเรื่องของ Net neutrality ที่การถกเถียงระหว่างการรักษาความเป็นกลางของเครือข่ายที่เป็นหลักการสำคัญที่ต้องรักษาเอาไว้กับบริการฟรี (zero-ratings) ในฐานะช่องทางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้ที่มีรายได้น้อย โดยการถกเถียงนี้คาดว่าจะสานต่อไปในปีหน้า ณ การประชุม IGF 2015 ที่บราซิล

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีหัวข้อเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเกี่ยวพันกับการประชุมสิทธิความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิตัล ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่จะจัดขึ้น ณ สำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในวันที่ 12 กันยายน 2557 นี้ โดยสิ่งที่ถูกเน้นมากที่สุดคือเรื่องของการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล

สิ่งสำคัญที่สุดคือการเรียกร้องให้ชาติสมาชิกของสหประชาชาติ ต่ออายุและให้การสนับสนุนแก้ไขระเบียบของสหประชาชาติ ที่จะอนุญาตให้ IGF สามารถดำเนินการได้ต่อไป หลังจากที่จะครบอายุการดำเนินงานในปีหน้า (2015)

ที่มา – การประชุม IGF 2014

IGF2014, Internet Governance, Net Neutrality, Human Rights, IGF, Turkey, United Nations

from:http://www.blognone.com/node/60115

[IGF2014] การทำให้ประชากรโลก 1 พันล้านคนที่เหลือเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

การประชุม Internet Governance Forum 2014 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ช่วงเช้ามีการเสวนาถึงแนวนโยบายที่จะทำให้ประชากรอีก 1 พันล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยบนเวทีผู้มีผู้ที่ดูแลนโยบายการส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนำเสนอถึงสถานการณ์ดังนี้

Mignon Clyburn รักษาการประธาน Federal Communications Commission (FCC) หรือ กสทช. สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า 80% ของประชากรในสหรัฐอเมริกาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่บ้านหรือผ่านสมาร์ทโฟน แต่ยังมีประชากรอีกหลายล้านคนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เนื่องด้วยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเข้าถึง ซึ่ง FCC ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก โดยตั้งแต่ปี 2011 FCC ปรับนโยบายการเข้าถึงบริการจากที่เน้นเรื่องระบบโทรศัพท์พื้นฐานมาเป็นอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โดยประธานาธิปดีบารัค โอบาม่า มีเป้าหมายว่าจะทำให้คนอเมริกันเข้าถึงเครือข่าย 4G LTE ให้ได้ 88% ในปี 2016

Sam Paltridge ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ อุตสาหกรรม องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ยกตัวอย่างประเทศปากีสถานว่า การให้บริการโทรศัพท์แบบ prepaid ทำให้เกิดการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างกว้างขวางจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตถึง 73% ของจำนวนประชากร และเก็บภาษีได้กว่า 500 ล้านดอลล่าร์ต่อปี และมีเงินภาษีที่ได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่กลับกันด้านนโยบายกลับไม่เอื้อต่อการเติบโตและเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยมีการปิดกั้นบริการ Skype ปิดกั้นบริการ VPN และการที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อลงทะเบียนซิมการ์ด เป็นต้น

ที่มา – การประชุม IGF 2014

FCC, IGF2014, nextbilloninternetusers, OECD

from:http://www.blognone.com/node/60114

[IGF 2014] ปัญหาของการเก็บข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตและการนำไปใช้งาน

ที่การประชุม Internet Governance Forum 2014 ในวันสุดท้าย ช่วงสายมีการสัมมนาในหัวข้อของการเก็บข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตกับการนำเอาไปใช้ โดยมีตัวแทนจากภาคการศึกษาและภาคประชาสังคม เข้าร่วมในการสัมมนาหัวข้อดังกล่าว

โดยภาพรวม ผู้ร่วมเสวนาทุกคนต่างกล่าวถึงการเก็บข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน (เช่น เก็บสถิติจาก Github, Wikipedia หรือแม้กระทั่งข่าวเกี่ยวกับเรื่องของการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต) โดยหนึ่งในปัญหาที่ทำให้หน่วยงานเหล่านี้ต้องจัดเก็บข้อมูลเอง เนื่องจากข้อมูลจากองค์กรอย่าง ITU ที่เป็นสถิตินั้นค่อนข้างเก่าและไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

Yacine Khelladi ผู้ระสานงานของ Alliance for Affordable Internet ที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตระบุว่า ข้อมูลเหล่านี้อาจจะมีไว้สำหรับเป็นข้อมูลให้กับผู้ที่ตัดสินใจในเชิงนโยบาย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสถิติเหล่านี้อาจจะไม่ได้บ่งบอกถึงปัญหาของกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน หรือผลกระทบ (impact) ของอินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้

ที่มา – การประชุม IGF 2014

IGF2014, Internet, Statistics

from:http://www.blognone.com/node/60106

[IGF 2014] โครงสร้างของ Internet Governance ในอนาคต

วันนี้ที่งานประชุม IGF 2014 ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี มีการสนทนาแลกเปลี่ยนในหัวข้อ โครงสร้างของการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต (Internet Governance) ในอนาคต โดยมีนักวิชาการ ตัวแทนจากภาครัฐ และผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมการสนทนาในหัวข้อดังกล่าว

ตัวแทนจาก Internet Society ระบุว่าปัญหาอย่างหนึ่งของการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันเป็นเรื่องของการไม่มีส่วนร่วมมากเท่าที่ควรจะเป็น และองค์กรอย่าง ICANN เองก็ทำงานภายใต้การสนับสนุนกับองค์กรธุรกิจมากกว่าองค์กรภาครัฐที่เป็นตัวแทนของประชาชน ส่วนตัวแทนจากทางภาคเอกชนระบุว่า ICANN ไม่ควรจะทำงานกับภาครัฐเท่านั้น แต่ควรจะทำงานกับทุกๆ ฝ่าย มากกว่า และจะต้องคำนึงถึงความเป็นจริงสำหรับการมีส่วนร่วมต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมเองมีความเห็นร่วมกันว่า การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และควรที่จะจัดให้เป็นความสำคัญในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในอนาคต มากกว่าจะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีบทบาทมากกว่าคนอื่น

ที่มา – งานประชุม IGF 2014

IGF2014, Internet Governance

from:http://www.blognone.com/node/60099

[IGF 2014] เกาหลีใต้มีนโยบายส่งเสริม “Maker Movement”

เมื่อเช้านี้ตามเวลาท้องถิ่นในตุรกี หนึ่งในการสัมมนาของ IGF 2014 เป็นหัวข้อเรื่องว่าด้วย Internet of Things (อ่านเนื้อหาในภาพรวมได้จากข่าวเก่า) แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือการนำเสนอของ Jaiyong Lee ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัย Yonsei ประเทศเกาหลีใต้ โดยระบุว่า ณ ขณะนี้ ทางภาครัฐของเกาหลีใต้มีนโยบายส่งเสริม Maker Movement อย่างเป็นทางการแล้ว

Lee กล่าวว่า ในเกาหลีใต้ กระแสการเติบโตของ Internet of Things นั้นมีรากฐานจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า IoT ถือเป็นอนาคตที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จะสามารถเติบโตได้จากการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ IoT

รัฐบาลเกาหลีใต้จึงมีนโยบายที่ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับ IoT โดยถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต และในเวลาเดียวกันก็ให้การส่งเสริมกระแสของ “Maker movement” ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศที่เกี่ยวข้องกับ IoT ด้วย

ที่มา – การประชุม IGF 2014

IGF2014, Internet of Things, Maker Movement, South Korea

from:http://www.blognone.com/node/60076

[IGF 2014] สัมภาษณ์ Jari Arkko ประธาน IETF เกี่ยวกับ HTTP 2.0

ที่งาน Internet Governance Forum เมื่อเช้านี้ ผมได้มีโอกาสพบกับ Jari Arkko ประธานคณะทำงานวิศวกรรมอินเทอร์เน็ต (รู้จักกันในนาม IETF หรือ Internet Engineering Task Force) เลยได้มีโอกาสสัมภาษณ์สั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องของมาตรฐาน HTTP 2.0 ครับ

Jari Arkko ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ Ericsson โดยอยู่ในสายงายวิจัยของบริษัท และเคยเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานผลักดันด้านวิศวกรรมอินเทอร์เน็ต (Internet Engineering Steering Group: IESG) โดยเขารับหน้าที่เป็นประธาน IETF เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว (อ่านประวัติโดยย่อได้ที่นี่)

นโยบายการเข้ารหัสที่เริ่มใช้เป็นมาตรฐานกับ HTTP 2.0 จะขยายออกไปยังมาตรฐานตัวอื่นๆ หรือไม่ครับ?

สิ่งที่เราทำคือความพยายามที่จะทำให้อินเทอร์เน็ตมีความปลอดภัยและได้รับการปกป้อง แต่การปรับปรุงความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ตไม่ใช่งานเพียงด้านเดียวที่เราทำ ตัวอย่างเช่น ในกรณีของ HTTP 2.0 ที่กำลังอยู่ระหว่างการหารือนั้น ก็มีการถกเถียงจำนวนมากว่าเราจะทำอย่างไร รวมถึงบทบาทของ proxy และการที่เราจะทำอย่างไรในการรวมระบบต่างๆ จากผู้มีส่วนร่วมเข้าด้วยกัน

ดังนั้นในข้อกำหนดของมาตรฐานปัจจุบันไม่ได้ระบุว่าคุณต้องทำการเข้ารหัสเป็นค่าเริ่มต้น กล่าวคือ มันก็ยังทำงานเป็น HTTP แบบเดิม เพียงแต่มันทำให้ง่ายขึ้นที่จะทำให้มันปลอดภัยมากขึ้น คือในปัจจุบัน ไม่ว่าจะ HTTP หรือ HTTPS เอง คุณก็สามารถใช้ TLS ในการทำให้มันปลอดภัยมากขึ้น แต่มันไม่จำเป็นที่จะเป็นค่าเริ่มต้นในการที่จะบังคับใช้ใช้สำหรับความปลอดภัยตั้งแต่แรก

คำถามต่อมาคือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เสนอว่า พวกเขาต้องการทำ cache สำหรับข้อมูลอินเทอร์เน็ต จะรักษาความสมดุลนี้ได้อย่างไร

นั่นเป็นสิ่งที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่ การพูดคุยยังคงมีอยู่ต่อไป ตอนนี้มาตรฐาน HTTP 2.0 ยังอยู่ระหว่างการทำงานของคณะทำงาน (working group) ผมเองก็หวังว่าจะสามารถออกมาได้ทันภายในสิ้นปีนี้ เราเองก็หวังว่าจะหาทางออกในเรื่องนี้ได้เช่นกัน

ทาง ISP เอง ก็กังวลกับประเด็นของการเข้ารหัสอยู่เหมือนกัน เนื่องจากเขาอ้างว่าการเข้ารหัสจะทำให้เขาไม่สามารถ cache ข้อมูลอะไรไว้ได้เลย เป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่าครับ เพราะเวลาเราพิจารณาข้อกังวลของ ISP ก็ถือว่ามีน้ำหนักอยู่พอสมควร

ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่สวยงามมากกว่าในการทำงานแบบนี้ เพราะเราต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาร่วมในการเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำอะไรบางอย่างเฉพาะกับคนทำเว็บเบราเซอร์อย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย เรามีคนจำนวนมากใน IETF ที่รู้ว่าความแตกต่างในแต่ละส่วนเป็นอย่างไรบ้าง ดังนั้นเราถึงมีการพูดคุยและถกเถียงกัน แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องแบบขาว-ดำ อย่างแน่นอน

สิ่งสำคัญคือทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตที่สำคัญสามารถทำงานได้ แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ต้องทำให้มันปลอดภัยด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ตลอดจนถึงธุรกรรมสำคัญต่างๆ เช่น ธนาคาร การซื้อขาย หรือแม้กระทั่งอีเมลที่ปัจจุบันก็เชื่อมต่อในรูปแบบที่เป็นการรักษาความปลอดภัยจากปลายทางสู่ปลายทาง (end-to-end security) ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะไม่เปลี่ยนแปลงมาตรฐานอะไรเลย แต่แนวโน้มในอุตสาหกรรมก็ให้ความสนใจในเว็บที่มีความปลอดภัยลักษณะนี้มากขึ้น ตัวอย่างเช่นการใช้ HTTPS ก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

พวกเราที่ IETF ยังไม่ตัดสินใจว่าเราจะใช้อะไร นอกเหนือไปจากการพิจารณาในวิธีการทางเทคนิค เราสร้างเครื่องมือให้มากขึ้น และเรายังคงมุ่งมั่นพัฒนา HTTPS, HTTP,TLS ต่อไป โดยทำให้มันเร็วขึ้นในการใช้งาน และปลอดภัยมากขึ้น แต่เราก็พยายามจะรักษาสมดุลความแตกต่างของแต่ละฝ่ายเอาไว้ให้ได้

IGF2014, Internet, IETF, Interview

from:http://www.blognone.com/node/60075

[IGF 2014] Vincent Cerf: ผมต้องการเห็นอินเทอร์เน็ตที่เป็นของทุกๆ คน

เมื่อวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี (3 กันยายน) Google ได้จัดงานสัมมนา Big Tent ขึ้น โดยจัดหลังจากการประชุม Internet Governance Forum 2014 ในวันที่ 2 สิ้นสุดลง ภายในงานมีทั้งผู้เข้าร่วมประชุม IGF, เจ้าหน้าที่รัฐบาล รวมไปถึงภาคประชาสังคม เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยหัวข้อที่สำคัญที่สุดคือการขึ้นพูดของ Vincent Cerf หนึ่งในผู้คิดค้นร่วมโปรโตคอล TCP/IP ที่เป็นโปรโตคอลหลักของอินเทอร์เน็ต

Cerf ระบุว่าอินเทอร์เน็ตเป็นหนึ่งในโครงสร้างการติดต่อที่สำคัญ โดยอินเทอร์เน็ตที่ดีจะต้องเชื่อมต่อกันและไม่มีโครงสร้างที่แตกออกเป็นส่วนๆ (fragmented) และในเวลาเดียวกัน ก็จะต้องมีสภาพที่เปิดให้กับทุกคน ทุกฝ่าย ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยเราจะต้องตระหนักทั้งพลังด้านบวกและลบของอินเทอร์เน็ตไปพร้อมๆ กัน

เมื่อพิธีกรถามว่า จะมีวิธีการใดที่จะทำให้การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ Cerf ตอบว่า แนวทางที่ดีที่สุดคืออินเทอร์เน็ตจะต้องเป็นของทุกๆ คน และทุกๆ คน ควรจะต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น และเราจะต้องหาจุดสมดุลในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสม ไม่ใช่มากจนเกินไป

ที่มา – งาน Big Tent ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี

Google, IGF2014, Internet Governance

from:http://www.blognone.com/node/60073

[IGF 2014] การปรับใช้และความรับผิดชอบของมาตรฐานอินเทอร์เน็ต

ที่การประชุม Internet Governance Forum 2014 ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ช่วงบ่ายวันนี้ มีการสนทนาแลกเปลี่ยนกันในหัวข้อมาตรฐานอินเทอร์เน็ตกับการใช้งานจริงและความรับผิดชอบ โดยมีตัวแทนจากทางฝั่งผู้ออกมาตรฐาน ภาครัฐ และตัวแทนจากภาคเอกชน เข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนหัวข้อดังกล่าว

Jarri Arkko ประธานของ Internet Engineering Task Force (IETF) ระบุว่า มาตรฐานเป็นสิ่งที่จำเป็น อย่างไรก็ตามทุกมาตรฐานก็ไม่ได้รับการยอมรับเสมอไป เพราะไม่ได้ทำงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ ดีพอ บางมาตรฐานก็ไม่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่จะนำไปปรับใช้ (เช่น BCP 38 ที่เอาไว้ทำการคัดกรองข้อมูล) หรือบางมาตรฐานที่ต้องหาจุดสมดุลที่ลงตัวอย่างเช่น HTTPS 2.0 ที่บังคับเรื่องของการเข้ารหัส ก็ยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันอยู่ ดังนั้นสิ่งที่น่าจะทำคือเรื่องของการดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการออกมาตรฐาน

ด้าน Chip Sharp ตัวแทนจากทาง Cisco ระบุว่าการเปลี่ยนผ่านการใช้งานมาตรฐานเป็นสิ่งที่ยากลำบาก เพราะในหลายกรณีที่หากเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว ผู้ดูแลระบบเครือข่ายต้องเสียเวลาและเสียโอกาสในทางธุรกิจอันเกิดจากการแก้ไขสคริปต์ต่างๆ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังอย่างมาก ส่วนตัวแทนจากทาง Google ระบุว่า ถ้ามาตรฐานได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมเป็นฉันทามติ ก็จะไม่มีปัญหาอะไรในการนำเอาไปใช้งาน

ที่มา – การประชุม IGF 2014

IGF2014, Internet, Standard

from:http://www.blognone.com/node/60066

[IGF 2014] Cloud computing, อินเทอร์เน็ตบนมือถือ กับประโยชน์สำหรับประเทศกำลังพัฒนา

วันนี้ที่เวทีการประชุม Internet Governance Forum ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี มีการเสวนาในหัวข้อ Cloud computing อินเตอร์เน็ตบนมือถือ กับประโยชน์สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา โดยประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานรัฐและวิชาการเข้าร่วมในการเสวนาครั้งนี้

โดยภาพรวม ทุกคนบนเวทีเสวนาต่างเห็นตรงกันว่า cloud computing และอินเตอร์เน็ตบนมือถือ สามารถสร้างประโยชน์ในวงกว้าง ในกรณีของประเทศจีน ตัวเลขของการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือนั้นนำหน้าการใช้บนแพลตฟอร์มอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2012 และทำให้เกิดบริการและแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ จำนวนมาก ด้านตัวแทนจากทางเคนยาระบุว่า การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ในประเทศ ส่วนตัวแทนจากทางโปรตุเกสระบุว่า การนำเอา cloud computing เข้ามาจัดการบริหารเมือง ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องของมาตราฐาน การจัดการกับข้อมูลที่มหาศาล ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ โดยตัวแทนจากภาควิชาการของจีน เสนอให้มี “Big data appliance” (อย่างเช่น Watson ของ IBM) เพื่อรับมือกับความสลับซับซ้อนของข้อมูลเหล่านี้

ที่มา – การประชุม IGF 2014

IGF2014, Cloud computing, Development

from:http://www.blognone.com/node/60060