คลังเก็บป้ายกำกับ: FORCAST

สมาคมมีเดียคาดการณ์งบสื่อปีนี้โต 4% คาดการณ์มูลค่า 120,000 ล้านบาท

สมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) เปิดตัวเลขการใช้สื่อปี 2017 พร้อมคาดการณ์ตัวเลขการใช้สื่อปี 2018 พบสื่อที่ได้รับงบโฆษณาลดลงยังเป็นสื่อเดิมคือ ทีวี, หนังสือพิมพ์, วิทยุ และแมกกาซีน ขณะที่กลุ่มเติบโตก็ยังเป็นกลุ่มเดิมอย่าง สื่อ Cinema, Outdoor, Transit, In-store และสื่ออินเทอร์เน็ต คาดการณ์ตัวเลขการใช้สื่อปีนี้ทะลุ 120,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปี 2017

โดยตัวเลขจาก MAAT เผยว่า งบประมาณการใช้สื่อในปี 2017 พบการใช้สื่อในกลุ่มสื่อโทรทัศน์ (ดิจิทัลทีวี เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม) ได้รับงบประมาณลดลง 7% วิทยุลดลง 16% หนังสือพิมพ์ลดลง 19% และนิตยสารลดลง 33% ซึ่งเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ได้รับงบประมาณลดลงอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายปี

ส่วนสื่อที่เพิ่มขึ้นก็ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับปีก่อนหน้า นั่นคือสื่อในโรงภาพยนตร์ เพิ่มขึ้น 27% สื่อนอกบ้านเพิ่มขึ้น 13% สื่อกลุ่ม Transit เพิ่มขึ้น 10% สื่อในห้างสรรพสินค้า เพิ่มขึ้น 35% และสื่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 24%

โดยปัจจัยแง่บวกที่ทำให้การใช้สื่อในปี 2018 เติบโตขึ้นคือเรื่องของความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับการมีมหกรรมฟุตบอลโลกที่กำลังจะจัดขึ้นช่วงกลางปีนี้ (14 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม) ส่วนปัจจัยแง่ลบคือเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงอยู่ และการที่ลูกค้าเพิ่มความคาดหวังต่อเอเจนซีในการเลือกใช้สื่อต่าง ๆ มากขึ้น

สมาคมมีเดียฯ คาดการณ์ว่า การใช้สื่อโดยรวมในปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยสื่อ OOH จะเติบโตเพิ่มขึ้น 10% สื่อโทรทัศน์จะเติบโตขึ้น 6%

สื่อวิทยุ – ทีวี – สิ่งพิมพ์ สู่การปรับตัวในยุคดิจิทัล

แม้สื่อวิทยุจะได้รับงบประมาณน้อยลงเรื่อย ๆ แต่คุณสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สายธุรกิจสื่อ) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ให้ทัศนะว่า การฟังวิทยุยังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับผู้ฟังในยุคดิจิทัลได้ เพราะเทคโนโลยีที่เข้ามานั้นช่วยให้สื่อวิทยุสามารถกระจายตัวไปได้ไกลมากกว่าเดิม รวมถึงยังเปิดโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ตามมาได้เช่นกัน หากสามารถปรับตัวและมองหาโอกาสใหม่ ๆ ได้

ด้าน ดร.สรายุทธ มหวลีรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเทค จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ว่า “สื่อสิ่งพิมพ์ตอนนี้เหมือนคนอายุ 55 ปี เรารู้ว่าอีก 5 ปีเราจะต้องเกษียณ แต่คนอายุ 55 ทุกวันนี้ ก็ยังเป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวนะ วันนี้สิ่งพิมพ์บ้านเราปรับตัวกันไปมากมาย เกือบทุกฉบับมีเพจบน Facebook แต่เราก็ต้องรู้ตัวว่าเราแก่แล้ว เราไปวิ่งสู้สื่อใหม่ ๆ ด้านความเร็วไม่ได้ เราต้องไปสู้ในด้านอื่น”

สิ่งที่จะพบเห็นได้มากขึ้นในธุรกิจสิ่งพิมพ์คือการจับมือกันมากขึ้นระหว่างค่ายต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุน ให้ธุรกิจอยู่ได้ 

“เราคงเดินต่อไปเหมือนคนรอวันเกษียณนี่แหล่ะ แต่เราได้ส่งลูกเข้าไปในดีไวซ์ใหม่ ๆ แล้ว คนทำหนังสือพิมพ์จึงยังอยู่ แต่หนังสือพิมพ์อาจต้องส่งตัวเองไปเป็นฝ่ายซัพพอร์ต ไม่ใช่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันแบบในอดีตอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเราก็เชื่อว่า วันที่เราเกษียณลูก ๆ ที่เราส่งออกไปจะสามารถเติบโตขึ้นมาเลี้ยงครอบครัวได้” ดร.สรายุทธกล่าวปิดท้าย

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2018/02/maat-media-forcast-2018/

Mindshare ชี้ 2018 เม็ดเงินโฆษณามีแนวโน้มโต 7.6% พบเทรนด์การใช้ “ข้อมูลอัจฉริยะ” เพิ่มขึ้น

อเจนซียักษ์ใหญ่ “Mindshare” เปิดแนวโน้มวงการโฆษณาปี 2018 พบเติบโตไปสู่ดิจิทัลชนิดที่หยุดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว พร้อมคาดการณ์สถานการณ์ในปี 2018 ว่าจะเห็นการเติบโตด้านเม็ดเงินในวงการโฆษณาในแง่บวก โดยตั้งไว้ที่ 7.6% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาทจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ มหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก สถานการณ์ทางการเมืองที่ใกล้เข้าสู่การเลือกตั้ง และความรู้สึกของผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากยุคดิจิทัลก็มีด้วยเช่นกัน นั่นคือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายจะเปลี่ยนไปเป็นการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลอัจฉริยะ เพราะจะทำให้การกำหนดเป้าหมายทำได้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ส่วนการกำหนดกลุ่มเป้าหมายจากข้อมูลประชากรจะเป็นเรื่องล้าสมัย ไม่เหมาะที่จะใช้ในยุคนี้อีกต่อไป

โดยหากย้อนพิจารณาเหตุการณ์ในปี 2017 สิ่งที่ Mindshare พบเกี่ยวกับสถานการณ์โดยรวมของตลาดในประเทศไทยคือมีสัญญาณบวกหลายประการ เช่น การส่งออกที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อก็คงที่ ส่วนตลาดหุ้น ก็ขึ้นไปปิดที่ 1,800 จุดซึ่งถือว่าสูงมาก นอกจากนั้น สถานการณ์เงินคงคลังของประเทศพบว่ามีเงินอยู่ 195,000 ล้านบาทซึ่ง Mindshare ระบุว่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และไทยยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมากถึง 35 ล้านคน ซึ่งทำให้จังหวัดอย่างกรุงเทพกลายเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลกด้วย

อีกสองปัจจัยที่จะมีผลทำให้การเติบโตของตลาดโฆษณาเป็นไปในแง่บวกคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสาธารณูปโภค และนโยบาย Thailand 4.0 นั่นเอง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่สามารถทำให้ GDP ของประเทศก้าวไปสู่ตัวเลขที่ทาง Mindshare ได้คาดการณ์ไว้ที่ 4.7% แต่อย่างใด ซึ่งทาง Mindshare ได้วิเคราะห์ว่า มาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การไว้อาลัยของประชาชนชาวไทยต่อการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ยาวนาน และตัวเลขหนี้สินครัวเรือนที่พบว่าสูงมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้การใช้จ่ายของคนไทยไม่เป็นไปตามที่ภาคธุรกิจคาดการณ์ไว้นั่นเอง

จากปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้การใช้จ่ายในการโฆษณาในปี 2017 ลดลงจากปี 2016 ถึง 5.9% จาก 107,427 ล้านบาทลงมาอยู่ที่ 101,113 ล้านบาท (ส่วนแท่งสีเขียวและสีเหลือเป็นการคาดการณ์ของ DAAT)

หันมาทางสื่อทีวีที่ยังเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ครองเม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่เอาไว้นั้น ทาง Mindshare เผยว่า ทีวีดิจิทัลเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ความท้าทายก็คือผู้บริโภคไม่ได้ติดตามเพราะช่อง แต่ติดตามเพราะสนใจคอนเทนต์ หรือตัวผู้ดำเนินรายการเป็นหลัก

โดยหากพิจารณาจากช่องแล้ว ช่องที่มีความโดดเด่นสูงสุดคือ WorkPoint เนื่องจากเป็นบริษัทที่สามารถคิดคอนเทนต์ได้ดี และมีความพร้อมในการผลิตรายการสูงกว่าช่องอื่น ๆ อย่างไรก็ดี Mindshare เผยด้วยว่า มีช่องทีวีดิจิทัลจำนวนไม่น้อยที่เริ่มฉายแววโดดเด่น เช่น ช่อง One, GMM, RS, ไทยรัฐ, อมรินทน์, PPTV และ Mono ที่ต่างเริ่มหาจุดเด่นของตัวเองพบ และสามารถใช้จุดเด่นนั้นดึงดูดผู้ชมได้มากขึ้น ผลก็คือ เม็ดเงินโฆษณาเริ่มไหลเข้าสู่ทีวีดิจิทัลมากขึ้น ดังแผนภูมิที่ปรากฏ

หรือหากมองเป็นตัวเลข อาจพิจารณาได้จากแผนภูมิด้านล่างนี้

จะเห็นได้ว่า เม็ดเงินในส่วนของทีวีดิจิทัลนั้นเป็นบวกแล้ว ในขณะที่ภาพรวมของทีวีติดลบ

แต่นอกจากจะได้เห็นการเติบโตในส่วนของทีวีดิจิทัลแล้ว หากลงในรายละเอียดก็จะพบด้วยว่า ส่วนของวิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารนั้นก็เป็นไปตามคาด คือเป็นสื่อที่มียอดเงินโฆษณาติดลบอย่างต่อเนื่อง ตัวที่บวกเพิ่มจะมีแค่ด้านล่างเช่น สื่อ Cinema, Outdoor, Transit, In-store และ Internet

การใช้จ่ายของอุตสาหกรรม ติดลบ 9 ใน 10

สำหรับใครที่สงสัยว่าเงินหายไปไหนหมด Mindshare บอกว่า อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ นั้นมีการลดการใช้เงินลงอย่างมีนัยสำคัญ มีเพียงธุรกิจสื่อและมาร์เก็ตติ้งธุรกิจเดียวเท่านั้นที่มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

จากแผนภูมินี้จะเห็นว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันนั้น กลุ่มที่ดูทีวีคือกลุ่มที่อายุ 36 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มที่อายุน้อยลง เช่น 21 – 34 ปีนั้น จะชมแบบสดผ่านทางออนไลน์ และมีการดูย้อนหลังบนช่องทางออนไลน์สูงมาก โดยตัวเลขนี้สัมพันธ์กับอีกข้อมูลหนึ่ง นั่นคือการครอบครองสมาร์ทโฟนที่มีสูงขึ้น จาก 33% ในปี 2014 มาเป็น 62% ในปี 2017 ทำให้สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ออนไลน์ไม่ว่าจะแบบสดหรือแบบดูย้อนหลังได้ง่ายขึ้น

นอกจากนั้น หากพิจารณาผู้ใช้งาน Facebook, LINE และ YouTube ในไทยแล้วจะพบว่าทั้งสามแพลตฟอร์มมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก (Facebook 48 ล้าน, LINE 44 ล้าน และ YouTube 43 ล้าน ส่วนบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น Pantip.com, Sanook.com ฯลฯ อีกประมาณ 30 ล้านราย)

จากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ Mindshare มองว่า เทรนด์ที่จะขับเคลื่อนวงการโฆษณาในปี 2018 นั้นประกอบด้วย 4  ด้านได้แก่

  • Digital จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณาเติบโตขึ้นตาม โดย Mobile ยังคงเป็นจอสำคัญ
  • Social Commerce เราผ่านยุคของ e-commerce ไปสู่ m-commerce และตอนนี้ก็คือยุคของ social commerce แล้ว ซึ่ง Social Commerce นี้เองที่จะช่วยให้การค้าขายบนโลกดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีแพลตฟอร์มที่มากขึ้นและกลไกการชำระเงินที่ง่ายขึ้น
  • Data ข้อมูลเป็นสิ่งที่จำเป็น ในปัจจุบันนี้บริษัทควรต้องลงทุนทั้งเทคโนโลยีและบุคคลากรที่จะสามารถจัดการกับข้อมูลได้
  • AI, Machine Learning, Bots เหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกให้เราได้มากขึ้น
แต่ที่สำคัญที่สุดนั้น คุณปัทมวรรณ สถาพร กรรมการผู้จัดการ Mindshare กล่าวว่า “ทิศทางการสื่อสารการตลาดของแบรนด์ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อมองผู้บริโภคว่าเป็นปัจเจกไม่ใช่ตัวเลข ผู้บริโภคจะมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ที่เข้าใจความชอบส่วนบุคคลของแต่ละคนและสามารถพูดกับพวกเขาในฐานะมนุษย์ที่ไม่ได้วัดเพียงแค่ ‘หญิงอายุ 20-39 ปี กรุงเทพฯ รายได้ระดับบน’ โดยแบรนด์ที่เข้าใจแก่นตรงนี้และสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธิ์ได้อย่างรวดเร็วจะเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค”

 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2018/01/mindshare-digital-advertising-forcast-2018/

DAAT เผยงบโฆษณาดิจิทัล 2559 แตะ 9,477 ล้านบาท คาดปี 2560 ทะลุหมื่นล้าน

 

 

 

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ร่วมกับ กันตาร์ ทีเอ็นเอส (ไทยแลนด์) บริษัทวิจัยชั้นนำเผยผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของปี 2559 – 2560 จาก 25 ดิจิทัลเอเจนซียักษ์ใหญ่แล้ว โดยผลการสำรวจในเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่า งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลในปี 2559 มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่ารวมกว่า 9,477 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี ก่อน 17% และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 24% ในปี 2560 

ผลสำรวจพบว่า ประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมทที่ใช้งบโฆษณากับสื่อดิจิทัลมากที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2559 ได้แก่

  1. กลุ่มสื่อสาร 1,011 ล้านบาท
  2. กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ 833 ล้านบาท
  3. กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว 798 ล้านบาท
  4. กลุ่มยานยนต์ 733 ล้านบาท
  5. กลุ่มผลิตภัณฑ์ แดรี่โปรดักส์ (ผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตจากนม) 488 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมทที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลเพิ่มในมูลค่าสูงที่สุดเทียบจากปี 2558 ได้แก่

  1. กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 482 ล้านบาท
  2. กลุ่มเครื่องสำอาง ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 245 ล้านบาท
  3. กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 203 ล้านบาท

คาดการณ์ 2560 งบปรับเพิ่ม 24% แตะหมื่นล้านบาท

สำหรับปี 2560 นั้นมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มที่เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลจะปรับตัวสูงขึ้นอีก 24%  ซึ่งจะทำให้มูลค่าตลาดสื่อโฆษณาดิจิทัล แตะหนึ่งหมื่นล้านบาท (ราว 11,774 ล้านบาท) ภายในเวลาเพียง 6 ปีที่เริ่มทำการสำรวจ

โดยมีการคาดการณ์ว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอาจมีการใช้งบโฆษณาดิจิทัลมากเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากผลิตภัณฑ์กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมีการแข่งขันกันอย่างสูง และช่องทางโฆษณาดิจิทัลเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งคาดว่าจะมีการใช้จ่ายสูงถึง 1,089 ล้านบาท แซงหน้ากลุ่มสื่อสารที่ครองแชมป์มาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้

นอกจากนี้ กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ เป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามองในปี 2560 เนื่องจากได้มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในปี 2559 สูงถึง 833 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าในปี 2558 ที่ 351 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 137% และคาดการณ์ว่าจะยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2560 ด้วย

Facebook ครองแชมป์สื่อดิจิทัลยอดฮิต

ในส่วนของการสำรวจประเภทสื่อดิจิทัลในปี 2559 ที่ผ่านมาพบว่า Facebook ยังคงครองแชมป์ได้อย่างเหนียวแน่น โดยครองส่วนแบ่งงบโฆษณาดิจิทัลสูงที่สุดต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่สอง คิดเป็นส่วนแบ่งสูงถึง 29% หรือเท่ากับงบโฆษณาดิจิทัล 2,711 ล้านบาท

อันดับสองคือ YouTube ที่ครองส่วนแบ่ง 16% คิดเป็นเม็ดเงิน 1,526 ล้านบาท ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ยังคงเห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของทั้ง Facebook และ YouTube

ส่วนอันดับสามคือ Display ที่ครองส่วนแบ่ง 15% คิดเป็นเม็ดเงิน 1,461 ล้านบาท อย่างไรก็ดี แม้ว่า Display จะครอบครองส่วนแบ่งงบโฆษณาดิจิทัลเป็นอันดับที่สามในปี 2559 แต่แนวโน้ มของการใช้สื่อประเภทนี้ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง ซึ่งต้องรอดูว่าในปี 2560 นี้ สื่อ Display จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด


นายศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่าปี 2560 สื่อโฆษณาดิจิทัลยังเติบโตเป็นเลขสองหลัก และปี 2560 จะเป็นปีที่สื่อโฆษณาดิจิทัลจะก้าวผ่านตัวเลขทางจิตวิทยาที่สำคัญคือ 10,000 ล้านบาท ด้วยปัจจัยประกอบกันทั้งด้านเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ผู้บริโภคใช้เวลากับสื่อดิจิทัลมากขึ้น และแบรนด์ต่างๆก็ลงทุนกับสื่อ ดิจิทัลมากขึ้น ทำให้เรามั่นใจว่า ปีนี้จะเป็นอีกปีที่สื่อดิจิทัลจะเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความท้าทายของนักการตลาดคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนดังกล่าวได้คุ้มค่า ในขณะที่คู่แข่งเองก็หันลงมาเล่นกับสื่อดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร อุปนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) และประธานคณะกรรมการจัดทำรายงานวิจัยสำรวจมูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล กล่าวว่า ปีนี้เรายังคงเห็นการเติบโตของสื่อโฆษณาดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ในแง่ของเม็ดเงิน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เช่น กลุ่มสื่อสาร หรือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว

“จากการรวบรวมความคิดเห็นจากเอเจนซีผู้นำทั้งหลายในเมืองไทย ให้ความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า สื่อออนไลน์ได้กลายมาเป็นสื่อหลักที่ใช้เป็นเครื่องมือในการทำการตลาดอย่างแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม”

ดร.อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กันตาร์ อินไซท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลการสำรวจทำให้เห็นแนวโน้มการใช้สื่อโฆษณาดิจิทัลของนักการตลาดปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสื่อดิจิทัลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถกล่าวได้ว่า สื่อโฆษณาดิจิทัล เป็นสื่อที่จะมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และจะมีบทบาทมากขึ้นในยุคการตลาด 4.0 ที่โลกดิจิทัลเป็นสิ่งที่คนทุกระดับสามารถจับต้อง และเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ยังทำให้เห็นว่ารูปแบบของการโฆษณาดิจิทัลก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม (Right Target at the Right Time) มากขึ้นกว่าการทำโฆษณาใน ยุค 2.0 และ 3.0 ที่ผ่านมา ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่นักการตลาดจะต้องอัพเดทสื่อโฆษณาดิจิทัลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สื่อดิจิทัลประเภทต่างๆ ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเป็นแนวทาง (Guideline) ในการวางแผนสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในงบประมาณที่เหมาะสม


นายกิตติ เศรษฐวีรวัฒน์ ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยี และดิจิทัล บริษัท กันตาร์ ทีเอ็นเอส (ไทยแลนด์) ผู้รับผิดชอบโครงการสำรวจมูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลายโดย 80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใน ประเทศไทยใช้ Smartphone เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (อ้างอิงข้อมูลจาก Connected Life)
ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่อยู่ที่ 65% เท่านั้น ทุกวันนี้เราจึงสามารถพบเห็นพฤติกรรมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้คนแทบจะตลอดทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอน กระทั่งเข้านอน พฤติกรรมดังกล่าวของผู้บริโภค ส่งผลให้การบริโภคสื่อดิจิทัลมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น และทำให้สื่อดิจิทัลมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากขึ้นกว่าในอดีต

สำหรับผู้สนใจรายงานฉบับเต็มพร้อมด้วยข้อมูลดิบสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2560 เป็ นต้นไป ที่ www.tnsglobal.com

 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/03/daat-reveal-digital-advertising-budget-2016-and-market-forcast-2017/