คลังเก็บป้ายกำกับ: FAST_RETAILING

มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของญี่ปุ่น เจ้าอาณาจักร Uniqlo รายได้ลดลงเพราะจีนล็อคดาวน์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การล็อคดาวน์ของจีนนั้นกระทบห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักธุรกิจใหญ่ที่เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของญี่ปุ่น Tadashi Yanai แห่ง Uniqlo ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

Uniqlo China

Tadashi Yanai (ทาดาชิ ยานาอิ) มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Uniqlo แบรนด์แฟชั่นที่คุ้นเคยของใครหลายๆ คนกำลังประสบปัญหาเหมือนผู้คนทั่วไปที่ประสบอยู่ ทั้งซัพพลายเชนที่ถูกดิสรัป ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เขายากจนเพิ่มขึ้น ยานาอิ ประธานของบริษัท Fast Retailing บริษัทแม่ของยูนิโคล่ ติดอันดับ 1 เศรษฐีที่รวยที่สุดในญี่ปุ่น ครอบครองทรัพย์สิน 23.6 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3 ล้านล้านเยน สินทรัพย์ลดลง 44% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากยอดขายลดลงอย่างมากทั้งสาขาในญี่ปุ่นและจีน

ยานาอิเองไม่ใช่คนที่ร่ำรวยตั้งแต่เกิด เขาสานต่อธุรกิจครอบครัวและเริ่มทำงานด้วยการทำงานตั้งแต่พื้นฐาน อาทิ ทำความสะอาดร้าน ทำความสะอาดเสื้อผ้าในร้านไปจนถึงสินค้าอื่นๆ เขาทำทุกอย่างด้วยตัวเองมาตั้งแต่เริ่มต้น เขารู้สึกว่านั่นเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เรียนรู้อย่างมาก

ยานาอิเริ่มเข้ามาดูแลกิจการต่อจากพ่อในช่วงปี 1984 และเริ่มตั้งบริษัท Uniqlo Warehouse จนกลายเป็นที่รู้จักกันในนามยูนิโคล่และมีหน้าร้านราว 300 แห่งทั่วญี่ปุ่นและสามารถขายแจ็คเก็ตผ้าฟลีซที่เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ได้มากกว่า 2 ล้านตัวภายใน 1 ปี (ผ้าฟลีซเป็นผ้าที่ผลิตได้ทั้งจากขนแกะและใยสังเคราะห์ ปัจจุบัน Uniqlo ผลิตผ้าฟลีซที่ทำจากขวดรีไซเคิลด้วย) ล่าสุด ยอดขายยูนิโคล่ตกต่ำลงมาก โดยเฉพาะในจีนเนื่องจากมาตรการเข้มข้นที่ต้องการกำจัดโควิดตามนโยบาย Zero covid

Fleece
Image from Uniqlo

เรื่องยอดขายตกในจีนนี้ ยานาอิแสดงความกังวลอย่างเห็นได้ชัด เขาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า บริษัทกำลังประสบปัญหามากจากนโยบาย Zero covid ของจีนทั้งในแง่ของผลกำไรและในแง่ของความเป็นอยู่ของพนักงาน ยานาอิกล่าวกับ Financial Times ว่า เซี่ยงไฮ้บังคับให้มีการระงับการทำธุรกิจและหยุดขนส่งจากท่าเรือ ทำให้บริษัทประสบความยากลำบาก ยูนิโคล่มีสาขาในจีน 865 แห่ง จีนถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของยูนิโคล่ เกือบ 90% มีสาขาอยู่ในเซี่ยงไฮ้ และมีสาขาอยู่ในญี่ปุ่น 813 แห่ง

โควิดป่วนจีนกระทบรายได้ยูนิโคล่ ภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินเยนอ่อน ต้นทุนสูง ถ้าไม่มีทางเลือกก็จะขึ้นราคาสินค้า

หลังจากที่มีการล็อคดาวน์ในจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ยอดผู้ติดเชื้อกลายเป็นศูนย์ ก็ทำให้เกิดการจำกัดการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคที่ต้องการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าจากยูนิโคล่และยังส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าออนไลน์ของยูนิโคล่ด้วย ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอดขายของยูนิโคล่ใน Tmall ของอาลีบาบาลดลง 33% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

รายได้จากยอดขายยูนิโคลที่ลดลงทั้งในจีนและญี่ปุ่น กอปรกับค่าเงินที่อ่อนค่าทำให้กำไรของยูนิโคล่ลดลงไปอีก ช่วงปลายเมษายนที่ผ่านมาค่าเงินของญี่ปุ่นต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ด้าน Takeshi Okazaki (ทาเคชิ โอคาซากิ) ซึ่งเป็น CFO ของยูนิโคล่ระบุว่าค่าเงินเยนอ่อนค่ายิ่งทำให้ต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งราคาแพงขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น มันมาถึงจุดที่แบรนด์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องขึ้นราคาสินค้า ซึ่งนโยบายของบริษัทก็หลีกเลี่ยงที่จะขึ้นราคาสินค้ามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ด้าน Fast Retailing บริษัทแม่ของยูนิโคล่รายงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 รายได้ของยูนิโคล่ลดลงราว 10.2% เทียบกับปีก่อนหน้า รายได้และผลกำไรจากสาขาในจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

Uniqlo
Image from Uniqlo

รายได้ของ Uniqlo ช่วงครึ่งแรกของปี 2022

รายได้รวมอยู่ที่ 1.2189 ล้านล้านเยนหรือประมาณ 3.22 แสนล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 189.2 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 12.7% รายได้และกำไรส่วนใหญ่ของยูนิโคล่มาจากเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย อเมริกาเหนือและยุโรป

รายได้ยูนิโคล่ในญี่ปุ่นอยู่ที่ 442.5 พันล้านเยน ลดลง 10.2% กำไรจากการดำเนินงาน 80.9 พันล้านเยน ลดลง 17.3% ยอดขายหน้าร้านลดลง 9.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

รายได้และกำไรยูนิโคล่ในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รายได้รวม 593.2 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 13.7% กำไรจากการดำเนินงาน 100.3 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 49.7% รายได้ในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย ยุโรปกลับมาแข็งแกร่ง ความต้องการในจีนลดลงเนื่องจากมาตรการจัดการโควิดเข้มข้น กำไรจากการดำเนินงานของสาขาในอเมริกาเหนือและยุโรปคิดเป็น 20% ของยอดรวมรายได้ในต่างประเทศของยูนิโคล่

GU
Image from GU

รายได้จาก GU ลดลง กำไรก็ลดลงอย่างมาก รายได้อยู่ที่ 122.8 พันล้านเยน ลดลง 7.4% กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 9.3 พันล้านเยน ลดลง 40.9% ขณะที่รายได้จาก Global Brands ประกอบไปด้วย Theory, PLST, Comptoir des Cotonniers, PRINCESSE TAM.TAM, J Brand รายได้โดยรวมอยู่ที่ 58.9 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 8.1% รายได้ที่เพิ่มขึ้นมากมาจากแบรนด์ Theory และ Comptoir des Cotonniers

บริษัทคาดการณ์ว่า รายได้ในปี 2022 จะอยู่ที่ 2.2000 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 3.1% และกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 270.0 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 8.4%

ที่มา – Business Insider, Fast Retailing, Forbes

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของญี่ปุ่น เจ้าอาณาจักร Uniqlo รายได้ลดลงเพราะจีนล็อคดาวน์ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/uniqlo-decline-revenue-and-profit-cause-of-zero-covid-policy-in-china/

หุ้นบริษัทแม่ของร้าน Uniqlo กลายเป็นหุ้นที่มีน้ำหนักมากสุดในตลาดหุ้นญี่ปุ่นแล้ว หลังราคาขึ้นมา 80% ในรอบ 1 ปี

หุ้นของ Fast Retailing บริษัทแม่ของร้านขายเสื้อผ้าชื่อดังอย่าง Uniqlo นั้นกลายเป็นหุ้นที่มีสัดส่วนในดัชนี Nikkei 225 มากถึงเกือบ 13% หลังราคาขึ้นมาในรอบ 1 ปีมากถึง 80% ส่งผลทำให้มีความกังวลว่าน้ำหนักในดัชนีของหุ้นตัวนี้อาจมีมากเกินไป

Uniqlo
ภาพจาก Shutterstock

หุ้นของ Fast Retailing บริษัทแม่ของร้านขายเสื้อผ้าชื่อดังอย่าง Uniqlo นั้นกลายเป็นหุ้นที่มีสัดส่วนในดัชนี Nikkei 225 มากถึงเกือบ 13% ไปแล้ว และสร้างความกังวลให้กับผู้จัดการกองทุน รวมถึงนักวิเคราะห์ในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากถ้าหากความผันผวนของราคาหุ้นตัวนี้มีมากเกินไปก็จะส่งผลต่อเนื่องไปยังดัชนี Nikkei 225 ที่มีนักลงทุนรายย่อย กองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่น ฯลฯ ลงทุนอยู่

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของ Fast Retailing ได้ขึ้นมามากถึง 80% และสร้างโมเมนตัมบวกให้กับดัชนี Nikkei 225 เป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาดัชนีได้ทำสถิติสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา โดยได้แตะระดับ 30,000 จุดไปเป็นที่เรียบร้อย

ราคาหุ้นของ Fast Retailing ที่พุ่งสูงนั้นยังส่งผลทำให้บริษัทมีมูลค่าแซงหน้า Inditex บริษัทแม่ของร้านเสื้อผ้าชื่อดังจากสเปนนั่นก็คือ Zara อีกด้วย เนื่องจากร้านเสื้อผ้าจากสเปนรายนี้ยังประสบปัญหาจาก COVID-19 ที่ร้านเสื้อผ้าในแบรนด์หลายๆ ร้านปิดตัวลงชั่วคราว จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาลประเทศต่างๆ

อย่างไรก็ดีถ้าหากเทียบหุ้นของ Fast Retailing กับหุ้นที่มีน้ำหนักมากสุดในดัชนีของประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นดัชนี S&P 500 หุ้นของ Apple ยังมีน้ำหนักในดัชนีเพียงแค่ราวๆ 6.3% เท่านั้น หรือแม้แต่ดัชนี DAX 40 ของเยอรมัน หุ้น Linde บริษัทด้านเคมีภัณฑ์ก็มีน้ำหนักเพียงแค่ 10.7% ของดัชนี

อย่างไรก็ดีในอนาคตถ้าหากหุ้นของ Fast Retailing ยังมีน้ำหนักในดัชนีมากขึ้น อาจทำให้ผู้จัดทำดัชนี Nikkei หาวิธีต่างๆ เพื่อปรับลดน้ำหนักในดัชนีลงมา ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดน้ำหนัก หรือใช้วิธีคำนวณอื่นๆ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post หุ้นบริษัทแม่ของร้าน Uniqlo กลายเป็นหุ้นที่มีน้ำหนักมากสุดในตลาดหุ้นญี่ปุ่นแล้ว หลังราคาขึ้นมา 80% ในรอบ 1 ปี first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/uniqlo-fast-retailing-weighting-nearly-13-percent-19-feb-2021/

คนจีนชอบมาก Uniqlo มีหน้าร้านในจีนมากกว่าญี่ปุ่น รายได้อาจแซงญี่ปุ่นภายในปี 2024

หลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ค้าปลีกเสื้อผ้าสัญชาติญี่ปุ่น Uniqlo ก็เริ่มขยายสาขาไปยังต่างประเทศมากขึ้น แห่งแรกที่ไปคือลอนดอน อังกฤษ หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่จีนในปีถัดมา แห่งแรกของจีนคือที่เซี่ยงไฮ้ 

Uniqlo Shanghai, China Photo: Fast Retailing

ปัจจุบันหน้าร้าน Uniqlo ในจีนมีจำนวนแซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้วเรียบร้อย จากเดือนสิงหาคม 2015 อยู่ที่ 387 แห่ง ก็เพิ่มเป็น 767 แห่งในช่วงปลายเดือนสิงหาคม เมื่อเกิดความขัดแย้ง ต่อต้านจีนมากขึ้น ราว 764 แห่งเริ่มคิดอยากย้าย Uniqlo กลับญี่ปุ่น

การเติบโตของ Uniqlo ในจีนนั้น แค่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการขยายหน้าร้านไปถึง 7 แห่ง สะท้อนให้เห็นว่า จีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของ Uniqlo ซึ่ง Fast Retailing ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Uniqlo พยายามสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ในจีน ด้วยการรวบแพลตฟอร์ม e-commerce เข้ากับหน้าร้าน ทำให้สามารถส่งออกสินค้ากลับไปยังญี่ปุ่นได้ ซึ่งบ้างครั้งเมื่อญี่ปุ่นมีปัญหากับจีนก็สร้างความเสี่ยงต่อธุรกิจด้วยเช่นกัน 

ทั้งนี้ Tadashi Yanai CEO Fast Retailing ระบุว่า สำหรับประชากรราว 1.3 ล้านคน หน้าร้านนี้สามารถมีได้มากถึง 3,000 แห่ง Uniqlo มีหน้าร้านในจีนทะลุ 782 แห่งภายในเดือนกันยายน 

Uniqlo in China, Photo: Fast Retailing

Uniqlo สามารถสร้างรายได้ทั้งในจีน ฮ่องกง และไต้หวันได้มากถึง 5.02 แสนล้านเยน หรือ 4.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.47 แสนล้านบาทในปี 2019 ราว 20% ของรายได้ทั้งหมด แม้จะน้อยกว่าในญี่ปุ่นที่ทำได้มากถึง 8.72 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2.55 แสนล้านบาท แต่อัตราการเติบโตของรายได้ราย 3 ปีจนถึงสิงหาคม 2019 อยู่ที่ 15% เติบโตเร็วกว่าญี่ปุ่นที่อยู่ที่ 3% ด้วยเหตุนี้ มีแนวโน้มที่รายได้ในจีนจะเติบโตแซงในญี่ปุ่นภายในปลายสิงหาคม 2024

Uniqlo in Shanghai, China Photo: Fast Retailing

บ่อยครั้งที่ยอดขายภาคการผลิต เช่น รถยนต์ หรือภาคส่วนอื่นๆ เติบโตกว่ารายได้ภายในประเทศ แต่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าไม่เป็นเช่นนั้น และมีแนวโน้มว่าจะมุ่งเป้ามาที่ผู้บริโภคภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งรายได้ Uniqlo จากต่างประเทศก็เคยแซงหน้ายอดขายในญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายสิงหาคม 2018 ที่ผ่านมา 

กิจการในจีนทำกำไรได้มาก ภายในสิงหาคม 2019 ทำส่วนต่างได้มากถึง 17.7% ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 11.7% นักชอปชาวจีนยังต้อนรับสินค้าราคาสูงได้ค่อนข้างดี และยังตอบรับอีคอมเมิร์ซได้ดีด้วย ผู้ชอปออนไลน์มีมากราว 20% ในช่วงปลายสิงหาคม 2019 เพิ่มขึ้นเท่าตัวของญี่ปุ่น 

Tadashi Yanai ผู้ก่อตั้ง Uniqlo Photo: Fast Retailing

Yanai ระบุว่า ถ้าเราเชื่อมต่ออีคอมเมิร์ซกับหน้าร้านที่มีอยู่ได้หมด ยอดขายสามารถพุ่งสู่ 2 ล้านล้านเยนหรือประมาณ 5.86 แสนล้านบาทได้ภายในหนึ่งปี ทั้งนี้ บริษัทเคยประเมินว่ายอดขายจะมากถึง 1.99 ล้านล้านเยนภายในสิ้นสิงหาคม 2020 ซึ่ง Fast Retailing เรียกการผนึกรวมของรูปแบบการค้าออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันว่าเป็น Information-driven manufacturer-retailer (ข้อมูลข่าวสารขับเคลื่อนการผลิตและการค้าปลีก) 

ข้อมูลข่าวสารว่าด้วยทิศทางการขายจะถูกรวบรวมจากทั่วโลกผ่าน smart tags (หน่วยความจำขนาดเล็ก) และข้อมูลการสั่งซื้อเหล่านี้จะถูกวิเคราะห์ด้วย AI ที่จะทำให้เห็นเทรนด์การตลาดในแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกันมากขึ้น ข้อมูลการขายจะถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อวางแผนการผลิต การผลิตและการจำหน่ายจ่ายแจกจะมีความรวดเร็วและทรงประสิทธิภาพและทำให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ามากยิ่งขึ้น 

Uniqlo China e-commerce

หน้าร้านในจีนจะมีออเดอร์สั่งซื้อออนไลน์มากยิ่งขึ้น ขณะที่ในญี่ปุ่นนั้นแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ของ Uniqlo ยังไม่เชื่อมโยงกัน อย่างไรก็ดี การพึ่งพาลูกค้าจีนมากไปก็ทำให้เกิดความเสี่ยงได้ Uniqlo ปิดชั่วคราวเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเกิดเหตุพิพาทพรมแดนเมื่อปี 2012 ความสัมพันธ์อันเปราะบางดังกล่าว ทำให้ Uniqlo ไม่ใช้โลโก้ที่เป็นภาษาญี่ปุ่นที่นำไปใช้กันทั่วโลกแต่นำมาใช้ไม่ได้ในจีน Yanai เองก็รับรู้ว่าจะไม่พึ่งพาจีนมากเกินไป 

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/uniqlo-stores-in-china-surpass-japan-and-revenue-will-surpass-in-2024/

กลุ่ม Uniqlo เตรียมลุยธุรกิจเครื่องสำอาง หลังเห็น Pain Point ในยุคโควิด

Uniqlo GU

ลุยตลาดเครื่องสำอาง

G.U. หนึ่งในธุรกิจลูกของ Fast Retailing ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Uniqlo ประกาศเตรียมลุยธุรกิจเครื่องสำอางเต็มตัว (full-scale) ในญี่ปุ่น

ธุรกิจเครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ G.U. จะใช้ชื่อว่า #4me by GU โดยจะเปิดตัวในวันที่ 4 กันยายนนี้ ซึ่งสินค้าที่จะผลิตในลำดับแรกๆ ได้แก่ ลิปสติก (lipsticks) จำนวน 8 เฉดสี และอายแชโดว์ (eyeshadows) 4 เฉดสี โดยจะขายในราคาเดียวคือ 649 เยน (ประมาณ 192 บาท)

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่ม Uniqlo ลงมาเล่นในตลาดเครื่องสำอางเป็นเพราะในยุคโควิด ผู้คนจำนวนมากประสบปัญหาปากแห้ง-ผิวแห้ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน ทางบริษัทจึงมองเห็นโอกาสในการทำตลาด โดยเครื่องสำอางของ G.U. จะเพิ่มมอยเจอร์ไรเซอร์โดยใช้ camellia oil หรือน้ำมันที่สกัดจากเมล็ดชาซึ่งหาได้ในท้องถิ่นเข้าไปเป็นส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ในส่วนนี้

กลุ่ม Uniqlo มองว่า การขยายธุรกิจไปสู่ตลาดเครื่องสำอางจะเป็นตัวกระตุ้นยอดขายโดยรวมของบริษัท เพราะสามารถขายร่วมกับสินค้าแฟชั่นที่ทางแบรนด์มีอยู่แล้ว

ที่มา – Japantimes

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/fast-retailing-goes-cosmetics-business/

Uniqlo คาดการณ์กำไรลดลง 44% เพราะการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ต้องปิดหน้าร้านทั่วโลก

แม้ Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo จะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยการระบาดของโรค COVID-19 ก็ทำให้ Fast Retailing ตัดสินใจปรับตัวเลขกำไรคาดการณ์ลดลงถึง 44% จากปีก่อน

Uniqlo

ต้องปรับลดลงเพราะสาขาที่เปิดไม่ได้

การระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ทำให้ Fast Retailing จำเป็นต้องปิดหลายสาขาทั่วโลกตามคำขอของรัฐบาลประเทศต่างๆ และจากจุดนี้เองทำให้รายได้จากหน้าร้านแทบจะหายไปในทันที จึงไม่แปลกที่เบอร์หนึ่งแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นของเอเชียต้องตัดสินใจปรับเป้ากำไรจากการดำเนินการลดลง

สำหรับเป้าหมายกำไรจากการดำเนินงานในปีปฏิทินนี้ (ก.ย. 2562-ส.ค. 2563) จะอยู่ที่ 1.45 แสนล้านเยน (ราว 43,000 ล้านบาท) ลดลงจาก 2.45 แสนล้านเยนที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และน้อยกว่าที่ทำได้ในปีปฏิทินก่อนถึง 44% โดย 6 เดือนแรกของปีปฏิทินนี้ก็มีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 1.36 แสนล้านเยน ลดลง 21% จากปีก่อน

Tadashi Yani ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Fast Retailing ยอมรับว่า วิกฤตนี้หนักที่สุดของมนุษยชาตินับตั้งแต่สงครามโลก แต่ถึงอย่างไรบริษัทก็ยังยืนยันการเดินหน้าเปิดสาขาใหม่ๆ ตามแผน และต้องการเป็นเบอร์หนึ่งของวงการแฟชั่นโลก

“นอกจากเปิดสาขาใหม่ๆ ตามแผน ในช่วงเวลานี้เราก็คิดว่าการคงความเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยคุณภาพของเสื้อผ้าจะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคสนใจสินค้าของ Fast Retailing มากขึ้น เพราะพวกเขาน่าจะต้องการเสื้อผ้าที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้จริง ไม่ได้ต้องการอะไรเหนือกว่านั้น”

ก่อนหน้านี้ Fast Retailing ต้องปิดสาขา Uniqlo ในประเทศจีนกว่า 750 แห่ง ทำให้ขาดรายได้ไปจำนวนมาก และตอนนี้ก็กำลังฟื้นฟูกิจการที่นั่นเพื่อกลับมาเปิดสาขาได้ใหม่ ในทางกลับกัน ในตลาดโลกอย่างสหรัฐอเมริกา, ยุโรป รวมถึงในญี่ปุ่นเอง Fast Retailing ก็ต้องปิดสาขาจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

สรุป

ช่วงนี้อาหารหนักทุกแบรนด์จริงๆ แม้แต่ Fast Retailing ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะหลังก็ไม่รอด ดังนั้นต้องติดตามกันว่าแบรนด์ใดอีกบ้างที่จะประกาศลดเป้ากำไร และรายได้ รวมถึงแผนการต่างๆ เพื่อรับมือ และประครองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตโรค COVID-19 ระบาดไปได้

อ้างอิง // Japan Today

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/uniqlo-profit-decline-in-covid-19/

กลุ่ม Fast Retailing บริษัทแม่ Uniqlo เตรียมแผนลดการใช้พลาสติกทุกสาขาทั่วโลกภายในปี 2020

Fast Retailing มีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวให้ได้ 85% ภายในสิ้นปี 2020 รวมสาขา 3,500 แห่งทั่วโลก เริ่มต้นจากการเปลี่ยนจากถุงพลาสติก เป็นถุงกระดาษในเดือนกันยายนนี้

ไม่ได้เป็นแค่กระแสแล้ว แต่นโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อมเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้น แบรนด์ใหญ่ในโลกเริ่มที่จะมีมาตรการในการงดใช้ถุงพลาสติก หรือเปลี่ยนถุงพลาสติกเป็นวัสดุอื่น เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

กลุ่ม Fast Retailing ได้ประกาศนโยบายครั้งใหญ่ที่จะลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวให้ได้ 85% ภายในปี 2020 ซึ่งก็คือปีหน้า โดยจะต้องปรับใช้กับทุกสาขาที่มีกว่า 3,500 แห่งทั่วโลก

Fast Retailing เป็นบริษัทด้านแฟชั่นยักษ์ใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น มีแบรนดืในเครือด้วยกันทั้งหมด 8 แบรนด์ แบรนด์ใหญ่ที่สุดก็คือ แบรนด์ Uniqlo ที่คนไทยรู้จักกันดี รวมไปถึงอีก 7 แบรนด์ GU, Theory, Helmut Lang, PLST (Plus T), Comptoir des Cotonniers, Princesse tam.tam และ J Brand

การลดปริมาณพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว จะเริ่มเปลี่ยนไปใช้ถุงกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำมาใช้ในร้าน Uniqlo และร้าน GU ทั่วโลกเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป

แผนระยะยาวของบริษัทคือ การจัดการการใช้พลาสติกในส่วนที่ไม่จำเป็นออกจากซัพพลายเชนตลอดทั้งกระบวนการให้ได้ พร้อมกับลดปริมาณพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวที่ลูกค้าจะได้รับกลับไปจากร้าน นั่นก็คือ ถุงช้อปปิ้ง และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าต่างๆ นั่นเอง

Uniqlo

ตัวเลขที่ Fast Retailing ตั้งเป้าไว้นั้น ต้องการลดการใช้พลาสติกลงให้ได้ 85% หรือคิดเป็นปริมาณ 7,800 ตันต่อปี ภายในสิ้นปี 2020 ต้องการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยนิดที่สุด

เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทได้วางแผนตาม 3 โครงการ ดังนี้

  1. เปลี่ยนถุงช้อปปิ้งเป็นถุงกระดาษ

นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2019 เป็นต้นไป ร้านต่างๆ ใน 12 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในญี่ปุ่นจะเริ่มเปลี่ยนถุงช้อปปิ้งจากถุงพลาสติกไปใช้ถุงกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน โดยเป็นถุงที่ผลิตขึ้นจากกระดาษที่ผ่านการรับรองของสภาพิทักษ์ป่า (Forest Stewardship Council – FSC) หรือกระดาษรีไซเคิล

สำหรับร้านต่างๆ ในประเทศที่ใช้ถุงช้อปปิ้งที่เป็นกระดาษอยู่แล้ว รวมถึงร้านยูนิโคล่ในยุโรป ตลอดจนแบรนด์ต่างๆ ของกลุ่มฯ ได้แก่ Theory, Comptoir des Cotonniers, Princesse tam.tam และ PLST ก็จะเริ่มเปลี่ยนไปใช้ถุงกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เดือนกันยายน 2019 เป็นต้นไปเช่นกัน

  1. จำหน่ายถุงผ้าที่ใช้ซ้ำได้ และคิดเงินค่าถุงช้อปปิ้งในบางประเทศ

อีกหนึ่งมาตรการก็คือ ร้านยูนิโคล่และร้าน GU ทั้งในญี่ปุ่นและในต่างประเทศ ตลอดจนร้าน Comptoir des Cotonniers และ Princesse tam.tam ทั่วโลก จะเริ่มจำหน่ายถุงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ซ้ำได้ของแต่ละแบรนด์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2019 เป็นต้นไป โดยที่มีดีไซน์ที่เป็นออริจินัลของแบรนด์

และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ใช้ถุงในรูปแบบที่ใช้ซ้ำได้ ร้านยูนิโคล่และร้าน GU ทุกสาขาในญี่ปุ่นจะเริ่มคิดค่าถุงช้อปปิ้งในราคาถุงละ 10 เยน (บวกภาษี) ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2020 เป็นต้นไป รวมถึงร้านยูนิโคล่ และร้าน GU ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชีย รวม 16 ประเทศ จะคิดค่าถุงช้อปปิ้งหลังจากเดือนกันยายน 2019 นี้

  1. ปรับแพ็คเกจจิ้งใช้วัสดุทดแทน

มีการขจัดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ของสินค้าบางรายการ อาทิ รองเท้ายูนิโคล่สำหรับสวมในบ้าน โดยเริ่มตั้งแต่ซีซั่น Fall/Winter 2019 เป็นต้นไป จะเริ่มการทดสอบยืนยันผล (Verification Testing) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนวัสดุบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ ยูนิโคล่และ GU เช่น ฮีทเทค (HEATTECH), แอริซึ่ม (AIRism) และผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในอื่นๆ จากพลาสติกไปเป็นวัสดุทางเลือกอื่นๆ โดยเริ่มกระบวนการทดสอบตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2019 เป็นต้นไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/fast-retailing-uniqlo-ban-plastic-single-use/

Uniqlo อัดฉีด! เลื่อนขั้นพนักงานเป็นผู้บริหาร เมื่อทำงานครบ 3 ปีแล้วผลงานดี หวังรักษาคนรุ่นใหม่

ค้าปลีกรายใหญ่อย่าง Uniqlo ประกาศนโยบายจูงใจพนักงานครั้งใหญ่ ระบุใครทำงาน 3 ปีแล้วมีผลงานดี จะพิจารณาเลื่อนขั้นให้อยู่ในระดับบริหาร และอัดฉีดรายได้ต่อปีเกือบ 8,600,000 บาท ถือเป็นการต่อสู้ของบริษัท เพื่อรับมือกับความตึงตัวของตลาดแรงงงานญี่ปุ่น

Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo จากประเทศญี่ปุ่นออกประกาศว่า บริษัทออกนโยบายเพื่อรักษาคนรุ่นใหม่และดึงดูดคนที่มีความสามารถสูงไว้ โดยตัดสินใจสัญญาว่าจะให้พนักงานย้ายขึ้นมาอยู่ในระดับผู้บริหารหลังทำงานครบ 3 ปีแล้วมีผลงานดี พร้อมกับอัดฉีดรายได้ต่อปีจากเดิมอยู่ที่ 20 ล้านเยน (ประมาณ 5,700,000 บาท) มาอยู่ที่ 30 ล้านเยน (ประมาณ 8,600,000 บาท) สำหรับผู้ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ข้อมูลที่ Fast Retailing เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ระบุว่าค่าเฉลี่ยรายได้ต่อปีของพนักงานอยู่ที่ 8.77 ล้านเยน (ประมาณ 2,500,000 บาท) ส่วนรายได้ต่อปีน้อยที่สุดในบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านเยน (1,100,000 ล้านบาท) หากเทียบแล้วจะพบว่าเงินเดือนดังกล่าวที่เปิดเผยออกมาสูงกว่า 3 เท่าของฐานเดือนเฉลี่ยของบริษัท

ข้อมูลในประเทศญี่ปุ่นระบุว่า ฐานรายได้ต่อปีของพนักงานที่มีประสบการณ์มากกว่า 4 ปี จะอยู่ที่ 3.1 ล้านเยน (889,204 บาท) ซึ่งเงินเดือนดังกล่าวสูงกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับฐานเงินเดือนชาวญี่ปุ่น

ส่วนพนักงานที่อยู่ในญี่ปุ่น บริษัท Fast Retailing จะเพิ่มรายได้ต่อปีเป็น 10 ล้านเยน (เกือบ 2,900,000 บาท)

ทางบริษัทกล่าวว่าการจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้น ย่อมทำให้คนที่มีความสามารถเข้ามาในบริษัทได้เร็วขึ้น และถือเป็นตัดการสินใจโดยตรงจาก ‘Tadashi Yanai’ CEO ของ Fast Retailing

โดยการปรับเงินเดือนครั้งนี้จะมีผลในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม-พฤษภาคม) ของช่วงปี 2563 เพื่อรับมือกับความตึงตัวของตลาดแรงงงานญี่ปุ่น

ทางบริษัทเปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้จะมีการส่งพนักงานใหม่ๆ ไปประจำยังหน้าร้านของ Uniqlo เป็นส่วนใหญ่ แต่หลังการปรับระบบใหม่ จะส่งพนักงานไปยังแผนกที่เหมาะสมกับทักษะของพนักงานที่มีอยู่ เช่น ด้านเทคโนโลยี หรือด้านออกแบบ เป็นต้น

รวมถึงจะมีการเปิดรับสมัครและคัดเลือกพนักงานทั้งที่อยู่ในญี่ปุ่นและต่างประเทศเพื่อขึ้นมาอยู่ในระดับผู้บริหารในช่วง 3-5 ปี หลังจากนี้อีกด้วย

ต้องก็ยอมรับว่าส่วนหนึ่งของการขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ ก็เป็นผลมาจากในช่วงต้นปี 2562 มีการเรียกร้องเพื่อเพิ่มค่าชดเชยในการจ้างแรงงานอีกด้วย น่าจับตาว่าใน Uniqlo ในไทย และบริษัทอื่นๆ ในไทยจะมีนโยบายในรูปแบบนี้เพิ่มออกมาอีกมากน้อยแค่ไหน

ที่มา Bloomberg

from:https://www.thumbsup.in.th/2019/06/uniqlo-will-promote-star-3-years-employees/

คิดใหม่ทำใหม่! UNIQLO งบปีล่าสุด กำไรโตกว่า 30% ยอดขายต่างประเทศยังโต

Fast Retailing บริษัทแม่ของ UNIQLO ได้รายงานงบปีล่าสุด โดยกำไรโตกว่า 30% ได้ปัจจัยจากยอดขายที่เติบโดในทวีปเอเชียและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยอดขายในประเทศญี่ปุ่นยังกลับมาเติบโตได้อีกด้วย

ภาพจาก Uniqlo

Fast Retailing ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ UNIQLO ร้านขายเสื้อผ้าชื่อดังได้รายงานงบปี 2018 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานในปีนี้บริษัทมีกำไรสุทธิ 154,811 ล้านเยน หรือประมาณ 45,107 ล้านบาท กำไรเติบโตถึง 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

สำหรับรายได้งบปีล่าสุดอยู่ที่ 2.13 ล้านล้านเยน มากกว่าในปี 2017 ที่บริษัททำรายได้อยู่ที่ 1.86 ล้านล้านเยน

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แบรนด์เสื้อผ้าจากประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาแรงกดดันจากแบรนด์เสื้อผ้าคู่แข่งอย่าง H&M และรวมไปถึง Inditex ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์อย่าง Zara ที่พยายามขยายสาขาเข้ามาในทวีปเอเชียมากขึ้น แรงกดดันนี้ทำให้ Tadashi Yanai ซึ่งเป็น CEO บริษัทต้องตั้งเป้าหมายใหม่คือทำให้ Fast Retailing เป็นบริษัทที่ใหญ่กว่า Inditex ในด้านของสาขา

บทความที่เกี่ยวข้องกับ UNIQLO

เปิดสาขาต่างประเทศมากขึ้น

ในรอบปีที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่คือเน้นยอดขายจากสาขาต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่บริษัทได้เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ คือยกเลิกสาขาที่ไม่ทำกำไร ยังรวมไปถึงการเปิดสาขาในทวีปเอเชียที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลดีจากยอดขายในประเทศญี่ปุ่นที่กลับมาดีขึ้นด้วย

นอกจากนี้งบปีล่าสุด UNIQLO ได้รายงานว่าในประเทศไทยทั้งสิ้น 40 สาขา แต่สำหรับจำนวนสาขาที่มากที่สุดนั้นอยู่ในประเทศจีน ซึ่งในงบปีล่าสุดสาขาในประเทศจีนมีสาขาทั้งสิ้น 623 สาขา โดยรวมสาขาทั้งหมดของ UNIQLO ล่าสุดมีอยู่ทั้งสิ้น 2,068 สาขา เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 148 สาขา

สำหรับเป้าหมายของบริษัทในงบปี 2019 บริษัทคาดว่าจะสามารถทำรายได้รวมไปถึงกำไรที่มากกว่าในปีนี้ โดยเฉพาะหลังจากการเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเพิ่มสาขาใหม่

ที่มาSouth China Morning Post, รายงานบริษัท, Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/fast-retailing-financial-report-fy-2018/

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำคัญ! Fast Retailing เร่งเครื่องโรงงานในเวียดนามผลิตเสื้อผ้า Uniqlo

เป็นการขยับตัวครั้งสำคัญอีกครั้งของ Fast Retailing เจ้าของแบรนด์ Uniqlo หลังแสดงความสนใจขยายการผลิตในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะค่าแรงในประเทศจีนที่เป็นโรงงานหลักปรับตัวสูงขึ้น

หน้าร้าน Uniqlo ในสหรัฐอเมริกา // ภาพจาก Flickr ของ GoToVan

เวียดนามกับเป้าหมายสำคัญของบริษัท

ก่อนหน้านี้ Fast Retailing มีโรงงานในประเทศเวียดนามอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่โรงงานหลักเมื่อเทียบกับโรงงานผลิตเสื้อผ้าในประเทศจีน แต่ด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าในประเทศจีนถึงเท่าตัว ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่สงบนิ่ง และมั่นคงกว่า ทำให้บริษัททยอยขยายฐานการผลิตในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง

สังเกตจากยอด Supplier สินค้าของ Uniqlo ในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ. 2560 ซึ่งจุดต่างของแรงงานเวียดนามกับแรงงานจีนคือเรื่องคุณภาพในการผลิตสินค้าด้วย แต่ถึงอย่างไรโรงงานการผลิตในประเทศเวียดนามก็ยังคงเป็นฐานการผลิตอันดับที่ 2 รองจากจีนเท่านั้น

ทั้งนี้ก็มีโอกาสที่ฐานการผลิตในประเทศเวียดนามจะขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น เพราะแรงงานในประเทศจีนที่เกี่ยวกับการตัดเย็บเสื้อผ้านั้นน้อยลง และหันไปรับงานอย่างอื่นแทน ส่วนทาง Fast Retailing ก็มีโรงงานกว่า 184 แห่ง เพิ่มขึ้น 38 แห่งเมื่อเทียบกับก.พ. 2560 กระจายอยู่ 7 ประเทศทั่วโลก

ซึ่งโรงงานทั้งหมดนี้ผลิตสินค้าคิดเป็นมูลค่ากว่า 80% ของแบรนด์ Uniqlo เนื่องจากบางคอลเล็คชั่นทางบริษัทก็ผลิตขึี้นมาเอง เพื่อสร้างความแตกต่างกับคอลเล็คชั่นอื่นๆ ส่วนในประเทศไทยล่าสุด Uniqlo เพิ่งเปิดสาขา Stand Alone เพื่อทดลองการทำตลาดรูปแบบใหม่

อ้างอิง // Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/fast-retailing-go-vietnam/

Uniqlo มียอดขายจากทั่วโลก แซงในประเทศญี่ปุ่นแล้ว

หลังเปิดสาขาแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 2541 ปัจจุบันแบรนด์ Uniqlo ของกลุ่ม Fast Retailing ก็ขยายอาณาจักรออกไปทั่วโลก และในไตรมาสล่าสุดของบริษัทก็สามารถทำยอดขายจากต่างประเทศ แซงในประเทศได้แล้ว

หน้าร้าน Uniqlo ในสหรัฐอเมริกา // ภาพจาก Flickr ของ GoToVan

เป็นครั้งแรกที่ยอดขายต่างประเทศมากกว่า

การขยายออกไปในต่างประเทศของ Uniqlo นั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2544 โดยเริ่มต้นที่ประเทศจีน และถึงตอนนี้ก็มีสาขาในต่างประเทศกว่า 958 สาขา แบ่งเป็นในจีนแผ่นดินใหญ่ 560 สาขา, เกาหลีใต้ 173 สาขา, เอเชียตะวันออกเชียงใต้ กับโซนโอชิเนีย 144 สาขา, ในพื้นที่ยุโรป 36 สาขา และในสหรัฐอเมริกาอีก 45 สาขา

แถมหลังจากนี้จะเพิ่มดีกรีการเปิดสาขาในจีนแผ่นดินใหญ่ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้นกว่านี้ เพราะเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงไม่แปลกที่ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 (ก.ย.-พ.ย. 2560) ยอดขายจากต่างประเทศจะปิดที่ 2.58 แสนล้านเยน (ราว 74,100 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 31%

และเป็นครั้งแรกที่ยอดขายในต่างประเทศมากกว่าในญี่ปุนที่เติบโต 8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 2.57 แสนล้านเยน ผ่านการมีสาขามากกว่า 837 แห่ง แม้ยอดขายในประเทศจะได้อานิสงส์จากความหนาว ทำให้สินค้ากลุ่ม Heattech และ Ultra Light Down ขายดีมาก จนยอดขายจากร้านเดียวกันเติบโต 8%

นอกจากนี้ตัวช่องทางออนไลน์ในประเทศก็เติบโต 26% เช่นกัน แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ยอดขายในประเทศญี่ปุ่นมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่ไปทำตลาด เพราะที่อื่นก็เกิดเหตุการณ์นี้เช่นกัน ยกเว้นในสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่สู้ดีนัก และบริษัทพยายามพลิกตลาดให้กลับมากำไรอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับยอดขายของทั้งกลุ่ม Fast Retailing ที่มีอย่างแบรนด์ GU, JBRAND และ Theory ในไตรมาสแรกปิดที่ 6.17 แสนล้านเยน (ราว 1.77 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 17% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 78,500 ล้านเยน (ราว 22,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 13% ถือเป็นการทำสถิติใหม่ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง

อ้างอิง // Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/uniqlo-overseas-sale/