คลังเก็บป้ายกำกับ: CBDC

ข้อสังเกตต่อเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย ทำทั้งหมดได้โดยไม่ต้องใช้บล็อกเชน

พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายแจกเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาท ให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคนที่มีอยู่ราว 50 ล้านคน โดยระบุว่าจะพัฒนาระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ด้วยเหตุผลเรื่องการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินตามนโยบายที่วางไว้

บทความนี้เป็นการตั้งข้อสังเกตต่อแนวนโยบาย โดยจำกัดขอบเขตแค่ประเด็นทางเทคโนโลยีเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นอื่นๆ ในแง่ความเหมาะสมของนโยบายในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

No Description

ข้อจำกัดของการใช้เงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย

หากอ้างอิงการแถลงรายละเอียดของโครงการ ณ วันที่ 7 เมษายน 2566 โดยแกนนำของพรรค (คลิปแถลงฉบับเต็มด้านล่าง) การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมีข้อจำกัดการใช้จ่ายเงินใน 3 มิติ ได้แก่

  • จำกัดระยะทาง กำหนดไว้ที่รัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามบัตรประชาชน โดยสามารถขยายรัศมีเพิ่มได้ หากบริเวณนั้นไม่มีร้านค้า
  • จำกัดระยะเวลา กำหนดไว้ว่าเงินดิจิทัลมีอายุ 6 เดือน เพราะเป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
  • จำกัดประเภทของการใช้จ่าย ยกเว้นการซื้อบุหรี่ การพนัน การใช้หนี้นอกระบบ การซื้อของที่ผิดกฎหมาย

แกนนำของพรรคเพื่อไทยอธิบายว่าต้องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพราะ “เขียนเงื่อนไข” ลงในตัวเงินดิจิทัลได้ จึงสามารถจำกัดการใช้งานเหล่านี้ได้ ซึ่งคำกล่าวนี้ห่างไกลจากข้อเท็จจริงในทางเทคนิคอยู่มาก

บล็อกเชน ไม่สามารถใช้จำกัดสิทธิได้ด้วยตัวเอง

ผู้ที่เคยศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นพร้อมกับเงินดิจิทัล Bitcoin คงทราบข้อมูลกันดีว่า หลักการสำคัญคือนำการประมวลผลไปอยู่บน “เชน” หรือสายโซ่ข้อมูล เพื่อให้ประมวลผลธุรกรรมแบบกระจายศูนย์โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางได้

แต่จริงๆ แล้ว ตัวบล็อกเชนมีหน้าที่ประมวลผลเฉพาะธุรกรรมที่อยู่บนสายโซ่ (on-chain) เท่านั้น ซึ่งครอบคลุมถึงแค่ว่า “ใครโอนเงินให้ใคร” (who pays whom) เปรียบได้กับระบบหลังบ้านเพียงอย่างเดียว โค้ดบนบล็อกเชนนั้นไม่รับรู้ถึงข้อมูลนอกโลกบล็อกเชน เช่น สภาพอากาศ, ราคาหุ้น, หรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่ผ่านมาโครงการบล็อกเชนต่างๆ ก็จะมีตัวกลางเรียกว่า Oracle นำข้อมูลเข้ามาสู่บล็อกเชนให้อีกทีหนึ่ง

แต่ในการนำไปใช้งานจริง เรายังต้องมีระบบอื่นที่อยู่นอกบล็อกเชน (off-chain) เข้ามาเชื่อมต่อด้วย ตัวอย่างคือระบบกระเป๋าเงิน (วอลเล็ต) ที่ช่วยให้ผู้ใช้จัดการวงเงิน การใช้จ่ายเงินแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นระบบภายนอกที่มาเชื่อมต่อกับบล็อกเชนอีกที หรือถ้าใครติดตามเรื่อง NFT ก็จะทราบว่าตัวไฟล์สินทรัพย์ดิจิทัล ถูกเก็บอยู่ในระบบสตอเรจแบบอื่นนอกบล็อกเชน เช่น ระบบ HTTP แบบดั้งเดิม หรือระบบไฟล์กระจายศูนย์ IPFS

การระบุว่าเลือกใช้บล็อกเชนเพราะเป็นเทคโนโลยีที่จำกัดสิทธิการใช้เงิน ไม่ให้ใช้นอกกรอบนโยบายได้ จึงไม่ถูกต้องในทางเทคนิค และในทางตรงข้ามคือ เทคโนโลยีบล็อกเชนกลับไม่สามารถทำสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการได้

  • จำกัดระยะทาง เป็นสิ่งที่อยู่นอกบล็อกเชน ต้องการแอปพลิเคชั่นรายงานว่าผู้รับและผู้จ่ายอยู่ที่พิกัดใด
  • จำกัดระยะเวลา อาจทำได้หากกำหนดเงื่อนไขเวลาเพิ่มเติมในซอฟต์แวร์ที่รันบล็อกเชน เพียงแต่ซอฟต์แวร์บล็อกเชนที่นิยมในปัจจุบัน ออกแบบมาให้ใช้เงินดิจิทัลได้ตลอดไปในอนาคต และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องอายุของเงินไว้ ที่ผ่านมา Smart Contract บนแพลตฟอร์มอย่าง Ethereum มักกำหนดเวลาโดยใช้หมายเลขบล็อกแทนค่าเวลาจริงๆ ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจยากกว่ามาก และเวลาที่กำหนดก็ไม่สามารถกำหนดแน่นอน เช่น บอกว่าให้ใช้ถึงเที่ยงคืนเป๊ะวันที่ 31 ธันวาคม แบบนี้ทำไม่ได้
  • จำกัดประเภทของการใช้จ่าย ตัวบล็อกเชนเห็นแค่ยอดธุรกรรมระหว่างใครกับใคร (who pays whom) เท่านั้น ไม่รู้ว่าใช้จ่ายเพื่ออะไร (what) สุดท้ายแล้วการจำกัดประเภทต้องไปทำที่ระบบนอกเชน เช่น ตัวแอพฝั่งผู้ขาย อยู่ดี

นอกจากนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนยังมีข้อจำกัดอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไป เช่น ไม่สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมากๆ ได้ และต้องอาศัยเวลาในการประมวลผลแต่ละบล็อกนานกว่าระบบธุรกรรมออนไลน์ในปัจจุบัน

เงินดิจิทัล CBDC ไม่จำเป็นต้องใช้บล็อกเชนเสมอไป

ในการแถลงของพรรคเพื่อไทย ได้อ้างถึงแนวคิดเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) โดยพยายามบอกว่าเงินแบบ CBDC ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งไม่จริงเสมอไป

แนวคิดของเงินดิจิทัล CBDC เป็นแค่การแปลงเงินตรา (currency) แบบดั้งเดิมให้อยู่ในรูปดิจิทัลเท่านั้น ตัวเทคโนโลยีจะเป็นบล็อกเชนหรือไม่ก็ได้ ตัวอย่างคือ โครงการทดสอบ CBDC รอบล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าใช้ระบบจากบริษัท Giesecke+Devrient ของเยอรมนี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรวมศูนย์ (centralized) ที่ไม่ใช่บล็อกเชน ด้วยเหตุผลว่าต้องการทดสอบระบบที่รองรับธุรกรรมจำนวนมากๆ ที่เป็นข้อจำกัดของบล็อกเชน

ระบบเงินดิจิทัล CBDC ของหลายประเทศเองก็ไม่ได้ใช้บล็อกเชนมาตั้งแต่แรก เช่น

ในช่วงหลัง ตัวแนวคิด CBDC เอง (ไม่ว่าเป็นเทคโนโลยีแบบใด) ยังถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นว่าต้องมีจริงๆ หรือไม่ ตัวอย่างคือ รายงานของธนาคารกลางสิงคโปร์หลังทดสอบ CBDC แล้ว และพบว่ายังไม่จำเป็นในตอนนี้ และ อดีตที่ปรึกษาธนาคารกลางของอังกฤษ ที่มีมุมมองว่า CBDC ซ้ำซ้อนกับเงินสำรองอิเล็กทรอนิกส์ที่ธนาคารกลางทั่วโลกมีอยู่แล้ว และไม่มีประโยชน์ชัดเจน

การเงินโลกเก่า “เป๋าตัง” สามารถทำสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการได้

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยชูประเด็นเรื่องการใช้บล็อกเชนว่า ต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใน “โลกยุคใหม่” ซึ่งแตกต่างจากแอพพลิเคชันเป๋าตัง ที่เป็นเงินใน “โลกยุคเก่า”

อย่างไรก็ตาม ระบบเป๋าตังที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าเป็นการเงินโลกยุคเก่า ใช้เทคโนโลยีฐานข้อมูลแบบปกติร่วมกับการพัฒนาแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนทั่วไป (ไม่มีบล็อกเชนเลย) กลับสามารถทำเงื่อนไข 3 ข้อที่พรรคเพื่อไทยต้องการได้ และมีอยู่แล้วในโครงการคนละครึ่งที่ผ่านมา

  • จำกัดระยะทาง เป๋าตังกำหนดให้ต้องสแกนจ่ายแบบพบหน้าอยู่แล้ว และในทางเทคนิคสามารถกำหนด geofencing กำหนดรัศมีระยะทางระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายได้
  • จำกัดระยะเวลา วงเงินของเป๋าตังมีหมดอายุตามระยะเวลาของโครงการอยู่แล้ว และจำกัดวงเงินรายวัน วันละไม่เกิน 150 บาทอยู่แล้ว
  • จำกัดประเภทของการใช้จ่าย ใช้วิธีจำกัดประเภทผู้ขาย (merchants) เช่น ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อที่เป็นแฟรนไชส์ บริการขนส่งสาธารณะบางประเภท ซึ่งใช้วิธีการตรวจสอบจากเอกสาร ณ จุดลงทะเบียน

ส่วนเงื่อนไขการใช้งานอื่นๆ เช่น แนวคิดเรื่องการให้เงินดิจิทัลหมุนอยู่ในระบบเพื่อให้เกิดการหมุนของเงินกระตุ้นเศรษฐกิจหลายรอบ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้บล็อกเชนอยู่ดี เพียงแค่กำหนดเงื่อนไขในแอพเป๋าตัง ให้วงเงินในแอพไม่สามารถแลกคืนเป็นเงินสดได้ (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาของโครงการ) สามารถจ่ายออกเพื่อซื้อสินค้าอื่นๆ ในระบบได้เพียงอย่างเดียว ก็แก้ปัญหานี้ได้

โครงสร้างพื้นฐานมีอยู่แล้ว ไม่ต้องลงทุนใหม่ให้ซ้ำซ้อน แต่ต้องเป็นของทุกคน

ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ระบบที่มีอยู่แล้วอย่างเป๋าตัง สามารถตอบโจทย์นโยบายเรื่องการจำกัดสิทธิการใช้เงินของพรรคเพื่อไทยได้ทั้งหมด ไม่ต้องลงทุนพัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานใหม่” ให้ซ้ำซ้อน โดยที่ไม่เห็นประโยชน์ที่จับต้องได้จากเทคโนโลยีบล็อกเชนตามที่กล่าวอ้าง

ในแง่ของระยะเวลาโครงการ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบายพรรคเพื่อไทย บอกว่าจะใช้โครงการเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจเพียง 6 เดือนเท่านั้น และไม่ได้ระบุว่าหลังจากหมดโครงการ 6 เดือนนี้จะมีโครงการเกี่ยวกับเงินดิจิทัลอีกหรือไม่ หากไม่มีแผนต่อเนื่องอีก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่มาเพียงเพื่อโครงการเดียว ก็คงไม่คุ้มค่างบประมาณที่เสียไปเท่าไรนัก

ในแง่ของเวลาเริ่มดำเนินโครงการ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ประเมินว่าจะจัดตั้งรัฐบาลในช่วงไตรมาส 3 และเริ่มโครงการเงินดิจิทัลได้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 เท่ากับว่ามีเวลาในการริเริ่มโครงการ พัฒนา และทดสอบระบบเพียงไม่กี่เดือน การพัฒนาระบบไอทีแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในระยะเวลาเพียงเท่านี้ ย่อมไม่ง่ายในทางปฏิบัติ และมีโอกาสล้มเหลวสูง ดังที่ตลาดหุ้นออสเตรเลียล้มเลิกโครงการเปลี่ยนระบบเป็นบล็อกเชน สูญเสียทั้งเวลาและงบประมาณที่ใช้ไป

อย่างไรก็ตาม ระบบที่มีอยู่แล้วอย่างเป๋าตัง ยังมีจุดอ่อนในแง่ความเป็นเจ้าของที่ไม่ชัดเจน เพราะโครงการเป๋าตังพัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย (ในฐานะรัฐวิสาหกิจ) ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง การที่ธนาคารรายเดียวได้สิทธิในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ จึงควรถูกตั้งคำถามในแง่การแข่งขันในอุตสาหกรรม เพราะถือว่าได้เปรียบธนาคารหรือสถาบันการเงินรายอื่น (รวมถึงธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจรายอื่นด้วย เช่น ธนาคารออมสิน หรือ ธกส.) เป็นอย่างมาก

หากเรามองย้อนดูจุดเริ่มต้นของโครงการเป๋าตัง ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาพิเศษคือระหว่างวิกฤต COVID-19 ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ก็พอเข้าใจได้ว่า ธนาคารกรุงไทยอาจมีความพร้อมในการพัฒนาระบบไอทีมากกว่าหน่วยงานอื่น และสามารถสร้างระบบขึ้นมาตอบสนองนโยบายภาครัฐได้ในเวลาที่จำกัดมาก

แต่ในปี 2566 วิกฤต COVID-19 คลี่คลายไปมากแล้ว รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาหลังการเลือกตั้ง ควรต้องหยิบประเด็นนี้มาพิจารณา และหารือกันว่าความเป็นเจ้าของ “โครงสร้างพื้นฐานการเงิน” ของประเทศไทยควรเป็นของใครกันแน่ ภารกิจในอนาคตระยะยาวของเป๋าตังควรเป็นอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจอื่นๆ เข้ามาแข่งขันบนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้อย่างเป็นธรรมและเสรี

from:https://www.blognone.com/node/133352

พรรคเพื่อไทยประกาศแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านวอลเล็ต ใช้บล็อกเชน

พรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุเกิน 16 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

วันนี้ (7 เมษายน) พรรคเพื่อไทยได้แถลงรายละเอียดเพิ่มเติมของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบายและประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจ, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค, นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนพรรค เป็นผู้ร่วมแถลง

สรุปรายละเอียดที่ถอดความโดยเว็บไซต์มติชน

  • ตั้งใจให้เป็นเงินดิจิทัล ไม่ให้เงินสด เพราะต้องการนำเทคโนโลยีมาจำกัดวิธีการใช้เงินบางประเภทที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น การพนัน ยาเสพติด หนี้นอกระบบ
  • สามารถนำเงินดิจิทัลไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ซื้อบุหรี่และใช้หนี้นอกระบบ
  • กำหนดระยะเวลาให้ใช้ภายใน 6 เดือน และจำกัดรัศมีการใช้งานตามบัตรประชาชน 4 กิโลเมตร หากพื้นที่ไหนไม่มีร้านค้าสามารถขยายได้ (นายเศรษฐาบอกว่าด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนจะขยายได้เป็น 7.5 กิโลเมตรหรือไกลกว่านั้น) แต่จะไม่อนุญาตให้ใช้นอกพื้นที่ได้เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน หากอาศัยอยู่คนละที่กับที่อยู่ในทะเบียนบ้าน จำเป็นต้องกลับไปเยี่ยมบ้านเท่านั้น
  • นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในช่วง 6 เดือนจะมีมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นๆ รองรับด้วย
  • จากนี้ไป คนไทยจะมี 2 บัญชี คือ บัญชีออมทรัพย์ทั่วไป และ บัญชีดิจิทัลวอลเล็ต โดยใช้บล็อกเชนเขียนเงื่อนไขลงไปบนเงิน ว่าต้องใช้ภายใน 6 เดือน และรัศมี 4 กิโลเมตร ซึ่งแตกต่างจากแอพเป๋าตังเป็นเงินในโลกยุคเก่า
  • หลังครบ 6 เดือนแล้ว สิ่งที่ได้กลับมาในระยะยาวคือโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินยุคใหม่ ที่อิงอยู่บน central bank digital currency (CBDC)
  • จะให้ประชาชนเลือกระหว่างบัตรคนจน กับกระเป๋าเงินดิจิทัล อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนที่มาของเงินจะมาจากงบประมาณบัตรคนจน 5 หมื่นล้านบาท, การรีดงบประมาณส่วนเงินในรายจ่ายงบประมาณปี 67 “หลายแสนล้าน”, การเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 2 แสนล้าน
  • คาดว่าจะเริ่มโครงการได้วันที่ 1 มกราคม 2567

ที่มา – มติชน, Voice TV, ไทยรัฐ

from:https://www.blognone.com/node/133342

ธนาคารกลางออสเตรเลียเลือกรูปแบบการใช้งาน CBDC เตรียมทดลอง 14 รูปแบบ

ธนาคารกลางออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia – RBA) และศูนย์วิจัยความร่วมมือทางการเงินดิจิทัล (Digital Finance Cooperative Research Centre – DFCRC) ประกาศเลือกแนวทางการใช้งานเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (central bank digital currency – CBDC) มาเตรียมการทดสอบจริงทั้งหมด 14 รูปแบบการใช้งาน จากที่มีการส่งแนวคิดเข้าไป 140 รูปแบบ

รูปแบบการใช้งานหลายแบบไม่ต่างจากรูปแบบการทดลอง CBDC ในประเทศอื่นๆ นัก เช่น การจ่ายเงินโดยไม่ใช้อินเทอร์เน็ต (offline payments) ที่ธนาคาร ANZ เสนอให้ทดสอบการจ่ายเงินแบบออฟไลน์ แต่เป็นการจ่ายเงินเพื่อชำระค่าสินค้า (consumer-to-merchant) เท่านั้น โดยผู้ขายต้องใช้โทรศัพท์รับเงินจากบัตร NFC ของผู้ซื้อ โดยระหว่างรับชำระจะไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และเมื่อรับชำระสำเร็จแล้วสามารถโอนเงินทั้งหมดเข้าบัญชีธนาคารภายหลัง

อีกรูปแบบหนึ่งของการทดลองจาก Commonwealth Bank เสนอให้ใช้ CBDC ชำระค่าสินค้าแล้วจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มโดยอัตโนมัติ ทำให้เงินภาษีเข้าและออกสรรพากรทันทีที่มีธุรกรรมเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม หากธุรกิจมีเครดิตภาษีเกินมาก็ได้เงินเข้าบัญชีอัตโนมัติ ข้อเสนอบางส่วนเสนอให้เชื่อมดอลลาร์ออสเตรเลียเข้ากับเงินคริปโตเพื่อเร่งความเร็วในการโอนเงินข้ามประเทศ หรือตลาดตราสารหนี้ออสเตรเลียเสนอให้นำ CBDC มาใช้ชำระค่าตราสารหนี้เพื่อลดวันชำระจาก T+2 เหลือ T+0

แม้จะมีแนวทางเสนอเข้าไปมากมาย แต่ธนาคารที่ส่งข้อเสนอเหล่านี้ก็แสดงความเห็นว่าการใช้งาน CBDC น่าจะต้องรออีกหลายปีกว่าจะมีการใช้งานจริง เพราะต้องดูความเป็นไปได้ของรูปแบบการใช้งานแต่ละแบบว่าทำได้จริงหรือไม่ รวมถึงต้องคิดถึงข้อกำหนดในการกำกับดูแลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่มา – RBA, IT News

No Description

Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/132922

ลาวเริ่มทดสอบกีบดิจิทัล ใช้แพลตฟอร์ม Iroha ของบริษัท Soramitsu จากญี่ปุ่น

ธนาคารแห่งประเทศลาวเริ่มทดสอบเงินดิจิทัลของธนาคารกลางในชื่อ DLak หรือลาวกีบดิจิทัล หลังศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปลายปี 2021 ร่วมกับบริษัท Soramitsu จากประเทศญี่ปุ่น

Soramitsu นั้นเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Hyperledger Iroha แพลตฟอร์มบล็อคเชนสำหรับการเก็บบันทึกความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ทดแทนกันได้ (fungible asset) เช่น เงินตรา, ทองคำ, หรือแร่ต่างๆ แม้ว่าประกาศทดสอบกีบดิจิทัลครั้งนี้ไม่ได้ระบุเทคโนโลยีโดยตรงแต่ชื่อบัญชีใน QR ของเงินกีบดิจิทัลระหว่างสาธิตก็ระบุชื่อบัญชีลงท้ายด้วย @iroha อยู่ ตัว QR ที่ใช้สาธิตนั้นก็อยู่ในรูปแบบเดียวกับมาตรฐาน QR ของ EMVco ที่ใช้งานในหลายประเทศ

ทาง Soramitsu ชูจุดเด่นของการสร้างเงินดิจิทัลเช่นนี้ว่าทำให้เงินถึงมือผู้รับปลายทางเร็วขึ้น เทียบกับการจ่ายเงินผ่านเครือข่ายบัตรเครดิตแบบเดิมๆ ที่อาจจะใช้เวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะถึงเดือน

การทดสอบครั้งนี้จะเป็นข้อมูลให้ทางธนาคารแห่งประเทศลาวพิจารณาว่าจะเริ่มใช้งานเงินดิจิทัลในอนาคตหรือไม่ โดยเป้าหมายของโครงการมี 3 ประการ คือ เปิดให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นแม้จะไม่มีบัญชีธนาคาร, ลดค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินข้ามประเทศ, และสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วการลดการพึ่งพาเงินต่างประเทศ

ที่มา – Soramitsu

No Description

Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/132533

อดีตที่ปรึกษาแบงค์ชาติอังกฤษเตือน ธนาคารกลางไม่ควรสร้างเงินดิจิทัล ชี้ประโยชน์ไม่ชัดเจน ถ้าระบบเดิมแพงก็คุมราคาเอา

Tony Yates นักเศรษฐศาสตร์อิสระและอดีตที่ปรึกษาธนาคารกลางอังกฤษในช่วงปี 1992-2013 แสดงความเห็นลง Financial Times ว่าธนาคารกลางไม่ควรพยายามผลักดันโครงการเงินดิจิทัล แม้ว่าธนาคารกลางหลายชาติจะแสดงความสนใจและพากันสร้างโครงการทดสอบใหญ่น้อยกันออกมาต่อเนื่อง

Yates ระบุว่าในความเป็นจริงธนาคารกลางชาติต่างๆ ก็มีเงินสำรองอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้วเป็นฐานข้อมูลการให้ยืมและการยืมเงินกับสถาบันทางการเงินต่างๆ แต่การทำโครงการเงินดิจิทัล (CBDC) นั้นจะเป็นการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์เช่นนี้ในวงกว้างขึ้น ซึ่งก็จะมีคำถามว่าใครสามารถใช้งานได้บ้าง ตั้งแต่หน่วยตัวกลางที่ไม่ใช่ธนาคาร, ครัวเรือนทั่วไป, ภาคธุรกิจ, ประชาชนบุคคลธรรมดา, หรือแม้แต่ชาวต่างชาติ

เขาระบุว่าธนาคารกลางพยายามแสดงตัวสนใจ CBDC เพราะเหตุผลที่ไม่ชัดเจน บางคนก็พูดลอยๆ ว่า CBDC จะเป็นอนาคต บางคนกลัวว่าถ้าเงินสกุลของตนไม่ออก CBDC แล้วจะเสื่อมความนิยมในเวทีโลก หรือบางทีก็พยายามผลักดันเพราะกลัวเงินคริปโต แม้ว่าในความเป็นจริงเงินคริปโตนั้นใช้งานเป็นเงินได้แย่มากๆ เพราะค่าเงินผันผวนแถมใช้งานลำบาก

เหตุผลที่ดูดีสักหน่อยของ CBDC คือประสิทธิภาพในการจ่ายเงินสูงขึ้น เพราะบริการรับชำระต่างๆ คิดค่าบริการแพง แต่ถ้าให้บริการจริงธนาคารกลางก็ต้องวางระบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อรองรับธุรกรรมทั้งหมด ทางเลือกที่ดีกว่าคือการไปคุมราคาบริการรับชำระทั้งหลายในตอนนี้ (คำพูดที่ใช้คือ tax the excess เป็นการเก็บภาษีเมื่อบริษัททำกำไรเกินควร) ข้อดีอีกข้อของ CBDC คือการจ่ายดอกเบี้ยทำให้ธนาคารกลางมีเครื่องมือออกมาตรการมากขึ้น เช่น การจ่ายดอกเบี้ยติดลบเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่าย แต่ถ้าทำจริงๆ ก็จะส่งผลกระทบกับความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางอย่างมาก

Yates และ IMF แสดงความกังวลต่อ CBDC คล้ายกันคือหากใช้งานจริงจะเกิดความเสี่ยงทางการเงินกับธนาคารเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนอาจจะพากันถอนเงินจากธนาคารไปยัง CBDC อย่างรวดเร็วจนธนาคารขาดสภาพคล่อง และธนาคารกลางเองต้องเข้ามาแทรกแซงในที่สุด

ที่มา – Financial Times

No Description

แผนที่ชาติที่ทดลอง CBDC ในระดับต่างๆ จาก IMF

Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/132314

พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบาย NFT เพื่อการเกษตร, Blockchain ของไทย, CBDC แก้คอร์รัปชัน

พรรคเพื่อไทย นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แถลงนโยบายหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 โดยมีส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายด้านดิจิทัล-เทคโนโลยีดังนี้

  • ใช้ NFT มาช่วยในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
  • สร้าง Blockchain ของประเทศไทยเอง เพื่อใช้ซื้อขายสินค้าเกษตร และสินค้าที่เกิดจากนโยบาย softpower ของพรรค
  • ผลักดันการใช้เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
  • ผลักดันนโยบายรัฐบาลดิจิทัลเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบงบประมาณได้

การแถลงนโยบายรอบนี้ยังไม่มีการลงรายละเอียดของแต่ละนโยบายแต่ละข้อมากนัก ยังเป็นการเปิดตัวว่ามีนโยบายอะไรบ้างเท่านั้น

No Description

คลิปฉบับเต็ม (ช่วงแถลงนโยบายเริ่มประมาณนาทีที่ 40)

from:https://www.blognone.com/node/131742

ธนาคารกลางสิงคโปร์ออกรายงานการทดลองเงินดิจิทัล: ยังไมจำเป็นตอนนี้แต่อนาคตอาจจะมีการใช้งาน

ธนาคารกลางสิงคโปร์ออกรายงานโครงการ Orchid ที่เป็นโครงการเงินดิจิทัลจากธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency – CBDC) โดยมุ่งทดสอบการใช้งานเงินดิจิทัลที่จำกัดวัตถุประสงค์การใช้งาน (purpose bound money – PBM) ตอนนี้พบว่ายังไม่จูงใจพอที่จะเปิดใช้งานจริงในตอนนี้แต่ก็จะเดินหน้าสำรวจการใช้งานที่เหมาะสมต่อไป พร้อมกับเตรียมความพร้อมในกรณีที่มีความต้องการใช้งานในอนาคต

PBM เป็นเหมือนคูปองทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่จำกัดว่าผู้ใช้งานสามารถใช้ที่ใดได้บ้าง เช่น ร้านค้าที่ร่วมโครงการ, อาหารในโรงเรียน, หรือโครงการสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ ความได้เปรียบคือการออกคูปองไม่ต้องวางโครงสร้างใหม่ทั้งหมดทุกรอบในแต่ละโครงการแต่อาศัยโครงสร้าง CBDC เป็นระบบกลางแล้วกำหนดเงื่อนไขของแต่ละโครงการได้ทันที

การใช้งานจริงมีตั้งแต่การใช้งานเป็นคูปองศูนย์อาหาร, ธนาคารที่ปล่อยเงินกู้บ้านอาจจะสามารถโอน PBM ให้กับผู้กู้ได้โดยตรง ขณะที่ผู้กู้จะต้องนำไปจ่ายกับผู้รับเหมาเท่านั้นไม่สามารถนำไปใช้งานอย่างอื่นได้, หรือเงินสนับสนุนการฝึกอาชีพของรัฐบาลแทนที่จะต้องทำระบบลงทะเบียนขอเงินสนับสนุน รัฐบาลก็สามารถออก PBM เพื่อให้ประชาชนนำเงินไปจ่ายศูนย์ฝึกอบรมที่เข้าร่วมโครงการได้ทันที

ที่มา – MAS

No Description

Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/131265

ธนาคารกลางยุโรป เลือก 5 บริษัท พัฒนาต้นแบบการใช้งาน “ดิจิทัลยูโร” แบบต่างๆ

ธนาคารกลางยุโรป หรือ European Central Bank (ECB) ประกาศความร่วมมือกับบริษัท 5 แห่ง พัฒนาต้นแบบ UI ที่เป็นไปได้ของการใช้สกุลเงิน “ยูโรดิจิทัล” (digital euro) ที่มีระยะเวลาทดสอบนาน 2 ปี

ECB กำลังพัฒนาระบบหลังบ้าน (back-end infrastructure) ของการชำระเงินเป็นยูโรแบบดิจิทัล และจะให้บริษัทเหล่านี้สร้างต้นแบบของระบบหน้าบ้าน (front-end) มาเชื่อมกับระบบของ ECB ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป 5 กรณี ได้แก่

  • peer-to-peer online payments – CaixaBank
  • peer-to-peer offline payments – Worldline
  • point of sale payments initiated by the payer – EPI
  • point of sale payments initiated by the payee – Nexi
  • e-commerce payments – Amazon

ECB บอกว่ามีบริษัทเสนอตัวเข้ามา 54 ราย คัดเลือกเหลือ 5 ราย มีบริษัทที่เราคุ้นชื่ออย่าง Amazon, ธนาคารในยุโรปคือ CaixaBank (สเปน) กับ Nexi (อิตาลี), บริษัทด้านระบบจ่ายเงิน Worldline (ฝรั่งเศส) และ European Payments Initiative บริษัทด้านเครือข่ายการจ่ายเงินของยุโรป

ทั้ง 5 บริษัทมีกำหนดทำต้นแบบเสร็จในไตรมาส 1/2023

ที่มา – ECB

from:https://www.blognone.com/node/130467

จีนส่งสัญญาณทุกกระเป๋าเงินดิจิทัลต้องทำงานร่วมกับหยวนดิจิทัลได้

Fan Yifei รองผู้อำนวยการธนาคารกลางจีน บรรยายในงาน China Digital Forum 2022 โดยบรรยายถึงความก้าวหน้าของหยวนดิจิทัลว่ามีพัฒนาการไปมาก แต่การจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในตอนนี้ก็ก้าวหน้าขนานกันไป จึงมีความจำเป็นต้องทำลายกำแพงและสร้างมาตรฐานที่ใช้งานร่วมกันกับหยวนดิจิทัล

Yifei ระบุถึงมาตรฐานกลางของระบบจ่ายเงินทุกส่วน ตั้งแต่ มาตรฐาน QR, การระบุตัวตนผู้ใช้, ระบบส่งข้อความระหว่างหน่วยงาน, การเชื่อมต่อผ่าน NFC และ Bluetooth โดยเป้าหมายสุดท้ายคือให้ผู้จ่ายสามารถสแกน QR ของผู้ให้บริการรายใดก็ได้ ขณะที่ผู้ค้าไม่มีต้นทุนเพิ่มเติมเพื่อรับเงินจากผู้ให้บริการค่ายต่างๆ

แม้รัฐบาลจีนจะผลักดันหยวนดิจิทัลอย่างหนัก แต่ในจีนผู้ใช้จำนวนมาก ก็ใช้งาน WeChat Pay หรือ Alipay อยู่ก่อนแล้ว และทุกวันนี้ทั้งสองบริษัทให้บริการธุรกรรมถึง 90% ของตลาด ปริมาณธุรกรรมจำนวนมากของประเทศตกอยู่ในความควบคุมของบริษัทเอกชนทำให้ธนาคารกลางจีนแสดงท่าทีต้องการควบคุมตลาดนี้มากยิ่งขึ้นมานาน เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็มีการกำหนดให้ทั้งสองบริษัทต้องแยกประเภทของการรับเงินส่วนบุคคลออกจากการรับเงินเชิงการค้า

ที่มา – The Register

No Description

ภาพจาก Alizila (Alibaba)

Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/130437

คุยกับแบงค์ชาติเรื่องการทดสอบ Retail CBDC ในไทย เมื่อตัวเลขในแอปจะเป็นเงินของเราจริงๆ

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเตรียมเริ่มทดสอบเงินบาทดิจิทัล (Retail CBDC) ในวงจำกัดกับประชาชนราวหนึ่งหมื่นคน นับเป็นครั้งแรกที่คนไทยทั่วไปจะได้สัมผัสเงินบาทดิจิทัลกันจริงๆ ผมพูดคุยกับคุณกษิดิศ ตันสงวน ผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงการทดสอบในครั้งนี้ ว่าเรากำลังทดสอบอะไร และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเลือกใช้งานจะเป็นอย่างไรหากมีการใช้งาน CBDC เป็นการทั่วไปจริงๆ

No Description

CBDC มีหลายแบบ คนละปัญหา และเป็นคนละเทคโนโลยี

ข่าวการทดสอบ CBDC นั้นมีมาแล้วหลายรอบนานนับปี โดยที่ผ่านมาเราอาจจะได้ยินความเชื่อมโยงระหว่างโครงการ CBDC ต่างๆ และเทคโนโลยีบล็อคเชน แต่ในการทดสอบ Retail CBDC รอบนี้จะเป็นระบบที่ใช้ฐานข้อมูลรวมศูนย์

No Description

คุณกษิดิศ ตันสงวน ผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย

การทดสอบ CBDC รอบแรกๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทดสอบนั้นใช้เทคโนโลยี Corda R3 ที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่ธนาคารกลางหลายประเทศ แต่รอบต่อมาก็ปรับไปทดสอบ Hyperledger Besu โดยโครงการทดสอบเหล่านี้เป็นการทดสอบสำหรับสถาบันการเงินที่มีเงื่อนไขการใช้งานต่างกัน เช่น การโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินมีปริมาณธุรกรรมไม่มากนัก และความเร็วในการโอนไม่ใช่เงื่อนไขเหมือนการโอนรายย่อย แต่ผลการทดสอบ CBDC ระหว่างสถาบันการเงินในประเทศไทยเองกลับไม่ได้สร้างประโยชน์มากนัก เทียบกับระบบการโอนเงินที่ใช้งานทุกวันนี้เช่น BATHNET หรือ RTGS ที่ระบบของไทยเองโอนสำเร็จภายในวันเดียวอยู่แล้ว ขณะที่หลายประเทศอาจจะมีระบบโอนเงินที่ช้ากว่านี้

No Description

ภาพกระบวนการโอนเงินข้ามประเทศเมื่อสองธนาคารไม่มีความสัมพันธ์ (มีบัญชีธนาคารระหว่างกัน) โดยตรง แต่ทำให้ต้องใช้ธนาคารตัวกลาง (correspondent bank) มาช่วยส่งต่อเงิน ภาพโดย Bank of England

อย่างไรก็ดีเมื่อหันมามองปัญหาการโอนเงินข้ามประเทศ (cross border) ยังมีโอกาสที่จะใช้งาน CBDC บน Blockchain มาใช้งาน เพราะทุกวันนี้กระบวนการโอนเงินข้ามประเทศยังช้ามาก การทำงานจริงต้องผ่านตัวกลางหลายชั้น เพราะธนาคารแต่ละประเทศไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับธนาคารปลายทาง และการโอนภายในประเทศปลายก็มีปัญหาเวลาทำการที่ไม่ตรงกัน การใช้งาน CBDC จะช่วยให้ ธนาคารในเครือข่ายสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยตรงแบบ peer-to-peer, ทำงานได้ตลอดเวลา, และสามารถยืนยันได้ว่าธุรกรรมจะสมบูรณ์ หรือหากไม่สำเร็จก็ยกเลิกไป (all-or-nothing)

CBDC สำหรับสถาบันการเงินยังมีปัญหาที่ต้องการสำรวจทางแก้ไขต่อไป เช่น กระบวนการกำกับดูแลที่แต่ละชาติจะมีเงื่อนไขต่างกัน และ CBDC ที่เชื่อมต่อหลายชาติเข้าด้วยกันต้องรองรับเงื่อนไขเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไข governance เช่น กระบวนการอนุญาตให้สถาบันการเงินเชื่อมต่อระบบเข้ากับเครือข่ายว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง

เมื่อมองเทคโนโลยีสำหรับการจ่ายเงินรายย่อย เงื่อนไขที่เปลี่ยนไปคือเงินที่เราใช้งานกันนั้นอาศัยความเชื่อใจในธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว การโอนเงินรายย่อยมีปริมาณธุรกรรมจำนวนมากและต้องการความรวดเร็ว จึงไม่มีเงื่อนไขที่ตรงบล็อคเชนเหมือนการโอนเงินข้ามประเทศ และเมื่อสำรวจเทคโนโลยีต่างๆ จึงพบว่าการออกแบบของ G+D Filia นั้นตรงกับความต้องการใช้งานจึงนำมาใช้ในการทดลองครั้งนี้ แต่การใช้เทคโนโลยีในการทดลองก็ไม่ใช่การเลือกเทคโนโลยีในระบบจริงแต่อย่างใด แนวทางนี้เลือกเทคโนโลยีสำหรับทำ Retail CBDC นั้นหลายชาติก็มักเลือกมายังระบบรวมศูนย์

G+D Filia ตัวเลือกหนึ่งสำหรับการสร้าง Retail CBDC ในอนาคต

G+D Filia เป็น 1 ใน 3 เทคโนโลยีที่ได้รางวัลจากธนาคารกลางสิงคโปร์เมื่อปี 2021 โดยมีจุดแตกต่างจากโซลูชั่นอื่นๆ คือ เงินทั้งหมดที่สร้างขึ้นในระบบเป็นโทเค็น และการโอนเงินไม่ต้องบันทึกธุรกรรมลงในฐานข้อมูลแต่อย่างใด นอกจากจะเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้แล้ว แนวทางของ G+D Filia ยังทำให้ระบบรองรับการจ่ายเงินแบบออฟไลน์ โดยทั้งผู้รับและผู้โอนไม่ต้องเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ รวมถึงเมื่อได้รับเงินแบบออฟไลน์มาแล้วก็สามารถโอนต่อไปได้ทันทีโดยไม่ต้องเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์เช่นกัน

คุณกษิดิศ เล่าถึงกระบวนการเลือกเทคโนโลยีว่าการใช้งานออฟไลน์มีเงื่อนไขหลายอย่าง โดยการออกแบบระบบนั้น มีข้อกังวลด้านความปลอดภัยที่ฮาร์ดแวร์ที่ใช้งานต้องเชื่อถือได้จริง ไม่เช่นนั้นก็อาจจะมีการโจมตี double spending ในระบบได้ และข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งคือระบบการโอนเงินแบบออฟไลน์ของ G+D Filia นั้นยังเป็นระบบปิด (proprietary) ของบริษัทเอง หากในอนาคตจะมีการใช้งาน CBDC เป็นวงกว้างจริงธนาคารแห่งประเทศไทยก็อาจจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองมาใช้งาน

No Description

การใช้งาน G+D Filia ผ่านโทรศัพท์มือถือ ภาพจาก G+D

การเปิดให้ใช้เงินบาทดิจิทัลแบบออฟไลน์นั้นยังมีเงื่อนไขที่ต้องคิดอีกมากว่าหากเปิดใช้งานจริงจะเป็นรูปแบบใด เพราะโดยทั่วไปแล้วชาติที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สูงก็ไม่มีความจำเป็นมากนัก ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่อาจจะกำหนดได้หากเปิดใช้งานจริง เช่น สามารถใช้งานออฟไลน์ได้ช่วงเวลาหนึ่ง และต้องกลับมายืนยันรายการกับระบบออนไลน์ หรืออาจจะยอมให้ออฟไลน์เพียงข้างเดียวแบบเดียวกับที่เราจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตทุกวันนี้ สำหรับการทดสอบในปลายปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะทดสอบแบบออฟไลน์กับพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเองเท่านั้น ไม่เปิดให้คนนอกใช้งาน

Retail CBDC ของไทย ยังเป็นการทดสอบ รูปแบบการใช้งานไม่ต่างจากพร้อมเพย์

แม้ว่าเทคโนโลยีเบื้องล่างของ CBDC จะต่างจากเงินในบัญชีปกติ แต่การทดสอบวงกว้าง Retail CBDC ของไทยในปลายปีนี้ยังไม่มีการทดสอบแบบออฟไลน์ แต่อย่างใด ผู้ใช้ต้องโอนเงินออกจากบัญชีธนาคารเข้าไปยังบัญชี CBDC ที่เลขบัญชีต่างออกไป (อาจจะมีทั้งตัวเลขและตัวอักษร ความยาวเพิ่มขึ้น) ในแต่การใช้งานยังต้องมีการเปิดบัญชีเหมือนบัญชีธนาคารอยู่ กระบวนการทดสอบจะเป็นการสร้างทราฟิกการใช้งานจริง มีผู้ใช้ถือ CBDC และมีร้านค้ารับจ่ายค่าสินค้าด้วย CBDC จริง

กระบวนการทดสอบนี้จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถทดสอบกระบวนการทำงานด้านหลัง เช่น กระบวนการออกโทเค็น CBDC ว่าการทำงานภายใน ทำให้สามารถประเมินระบบอย่างสมจริง แต่สำหรับผู้ใช้ปกติก็จะไม่ต่างจากการใช้งานพร้อมเพย์ทุกวันนี้นัก

ขณะที่การพัฒนานวัตกรรม ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็กำลังเปิดรับความเห็นให้ทุกคนส่งแนวทางการการใช้งานที่เป็นนวัตกรรมไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านทาง CBDC Hackathon เพื่อสำรวจว่าภาคธุรกิจมีความต้องการใช้งานประเภทใดบ้าง

กระบวนการทดสอบนี้จะมีช่วงเวลาจำกัด คาดว่าจะทดสอบถึงกลางปี 2023 แล้วหยุดการทดสอบเพื่อประเมินผลต่อไป ไม่เหมือนโครงการทดสอบ Retail CDBC ของจีนที่ทดสอบเป็นวงกว้างมากและขยายไปเรื่อยๆ

Retail CBDC ถ้าใช้งานจริงต้องมีเทคโนโลยีของตัวเอง สร้างนวัตกรรมใหม่

คุณกษิดิศยังระบุถึงอนาคตของ Retail CBDC ว่าหากมีการใช้งานจริงในอนาคตก็นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ควรผูกกับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง แม้ตอนนี้ช่วงทดสอบจะใช้เทคโนโลยีของ G+D ไป แต่หากจะใช้งานจริงก็ต้องสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง เพื่อให้มีความยืดหยุ่น สามารถควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ด้วยตัวเองได้

การใช้งาน Retail CBDC ของแต่ละประเทศอาจจะต่างกันเพราะแต่ละประเทศก็มีปัญหาต่างกันไป เช่น จีนมีปัญหาที่ระบบโอนเงินอยู่ในมือของเอกชนไม่กี่ราย หรือสวีเดนที่มีอัตราการจ่ายผ่านบัตรสูงมาก สำหรับประเทศไทยเองกระบวนการจ่ายเงินผ่านพร้อมเพย์สามารถใช้งานได้ดีและไม่มีการผูกขาดกับผู้ให้บริการน้อยรายนัก แนวทางของไทยนั้น CBDC การสร้าง CBDC จึงเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คุณสมบัติ programmability เข้าไปกำหนดการทำงานของเงิน หรือการถ่ายโอนมูลค่าไปยังระบบอื่นๆ เป็น synthetic CBDC ซึ่งกระบวนการเหล่านี้อาจจะทำได้ยากในระบบธนาคารเดิมๆ ที่ไม่ใช่ CBDC เพราะธนาคารต้องบริหารสภาพคล่องของตัวเอง การเปิดให้ผู้ใช้สามารถสร้างเงื่อนไขกับบัญชีตัวเองได้อย่างอิสระก็จะมีความเสี่ยงสภาพคล่องเพิ่มขึ้นมา ขณะที่ผู้ให้บริการ CBDC นั้นเป็นเพียงผู้ถือเงินแทนเจ้าของเท่านั้น ไม่มีความเสี่ยงสภาพคล่องแต่อย่างใด

from:https://www.blognone.com/node/130214