คลังเก็บป้ายกำกับ: เดลิเวอรี่

เป็นทุกอย่างให้คุณแล้ว 7-Eleven ทดลองเปิดบริการเดลิเวอรี่ ให้พนักงานปั่นจักรยานส่งของ

ตลาดเดลิเวอรี่อาหารในไทยที่มีมูลค่า 2.6 หมื่นล้านกำลังอยู่ในช่วงที่แข่งขันอย่างหนัก ล่าสุด 7-Eleven เจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อทดลองส่งบริการเดลิเวอรี่สินค้าและอาหาร ให้พนักงานปั่นจักรยานไปส่งตรงถึงหน้าบ้าน

เซเว่น อีเลฟเว่น
7-Eleven Photo: Shutterstock

เซเว่นฯ ทดลองบริการส่งของเดลิเวอรี่ ให้พนักงานปั่นจักรยานไปส่งของ

ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า เซเว่น อีเลฟเว่น ประเทศไทย ได้ทดลองให้บริการส่งของแบบเดลิเวอรี่ (Delivery) โดยให้พนักงานของตัวเองปั่นจักรยานไปส่งของถึงหน้าบ้านของลูกค้า ตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าถึง 4 ทุ่มของทุกวัน

จากข้อมูล ระบุว่า สาขาที่ให้บริการแบบเดลิเวอรี่ยังมีจำกัด โดยเริ่มต้นทดลองในเซเว่นฯ สาขาซอยบรมราชชนนี 4 และสาขาบริเวณหมู่บ้านสีวลี-ราชพฤกษ์ ครอบคลุมตั้งแต่ซอยบรมราชชนนี 4 และ 6 รวมถึงคอนโดฯ ลุมพินี พาร์ค ปิ่นเกล้า, หมู่บ้านสีวลี-ราชพฤกษ์, หมู่บ้านชัยพฤกษ์-ราชพฤกษ์ และหมู่บ้านเบญญาภา-ราชพฤกษ์

  • วิธีการสั่งของแบบเดลิเวอรี่ ลูกค้าที่อยู่ในบริเวณสาขาที่ให้บริการสามารถสั่งจาก LINE ของเซเว่นที่ให้บริการได้ หลังจากนั้นรอรับของส่งตรงถึงหน้าบ้านภายใน 30 นาที
  • ในช่วงนี้เซเว่นฯ จัดโปรโมชั่น หากลูกค้าสั่งสินค้าในราคา 100 บาทขึ้นไป จะส่งฟรีไม่คิดค่าบริการ (อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลระบุว่า หากสั่งสินค้าไม่เกิน 100 บาท จะคิดค่าบริการอย่างไร)
  • ส่วนการชำระเงิน สามารถจ่ายเป็นเงินสดหรือจ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) กับพนักงานที่ไปส่งของเดลิเวอรี่ได้เลย

ตลาดเดลิเวอรี่อาหาร (Food Delivery) ในไทยกำลังมีการแข่งขันอย่างหนัก ปัจจุบันตลาดนี้มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 26,000 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นทุกปี ปีละ 11-15% โดยผู้เล่นในตลาดมีหลากหลายตั้งแต่ LINE MAN, Grab Food, Food Panda ไปจนถึงสายส่งอาหารสดถึงบ้านอย่าง Happy Fresh และ Honestbee

อย่างไรก็ตาม โมเดลการส่งของจากเซเว่นถึงหน้าบ้านในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเซเว่นในญี่ปุ่นได้เริ่มทดลองการส่งของแบบเดลิเวอรี่มาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม พร้อมทั้งเตรียมขยายบริการไปกว่า 20,000 สาขาทั่วญี่ปุ่น

ที่มา – ประชาชาติธุรกิจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/7-eleven-delivery-service-test/

กาแฟจีนเดือด! Alibaba มี Starbucks ส่วน Tencent ก็มี Luckin coffee สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น

พร้อมปะทะเต็มที่ ไม่นานมานี้ Ele.me บริษัทสตาร์ทอัพเดลิเวอรี่ส่งอาหาร ที่ถูก Alibaba ซื้อเข้ามาเป็นบริษัทลูก ได้จับมือกับ Starbucks รุกหนักตลาดกาแฟจีน ด้วยลุยตลาดค้าปลีกแนวใหม่ ส่งกาแฟถึงหน้าบ้าน

หลายคนอาจไม่รู้ว่าในจีน มีสตาร์ทอัพกาแฟระดับยูนิคอร์น ชื่อว่า Luckin Coffee ที่โดดเด่นเรื่องของกาแฟและการส่งเดลิเวอรี่อยู่แล้ว การจับมือของ Starbucks+Alibaba จึงท้าทายธุรกิจอย่างมาก

ล่าสุด Luckin Coffee จึงต้องสู้ด้วยการจับมือกับยักษ์ใหญ่ Tencent คู่แข่งตลอดกาลของ Alibaba

Luckin Coffee กาแฟ
Luckin Coffee

Tencent จับมือ Luckin coffee พร้อมสู้ Starbucks+Alibaba

การจับมือของ Tencent และ Luckin Coffee สตาร์ทอัพยูนิคอร์นสายกาแฟในจีน ชัดเจนว่าคือการผนึกกำลังสู้กับ Starbucks ที่เพิ่งจับมือกับ Ele.me ของ Alibaba เพื่อขยายการขายกาแฟในจีนให้แกร่งทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เป็นกลยุทธ์แบบ New Reatil

  • ศัพท์ใหม่ในวงการค้าปลีกที่เรียกกันว่า New Retail หรือ Smart Retail หมายถึง ค้าปลีกในยุคใหม่ที่ผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ไม่ได้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งอีกต่อไป

Tencent บอกว่า การจับมือกับ Luckin Coffee ครั้งนี้ จะตอบโจทย์ลูกค้ารุ่นใหม่ในจีนที่มีความต้องการกาแฟแบบเดลิเวอรี่อย่างรวดเร็วทันใจ เพราะนี่คือจุดแข็งของสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายนี้อยู่แล้ว ส่วน Tencent จะเข้ามาช่วยเหลือในด้านของเทคโนโลยี การจัดการ และแอพพลิเคชั่นให้พร้อมแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในตลาด

  • ยกตัวอย่างเช่น ต่อไปลูกค้าในจีนจะสามารถสั่งกาแฟ Luckin Coffee ผ่าน WeChat ของ Tencent และให้ไปส่งแบบเดลิเวอรี่ได้ทันทีทันใด

ตลาดกาแฟกำลังหอมหวาน ใครๆ ก็อยากลงเล่น

ตลาดกาแฟ คือตลาดที่กำลังมาแรง เมื่อไม่นานมานี้ Coke ที่ทำธุรกิจน้ำอัดลมได้เข้าซื้อกิจการร้านกาแฟ Costa Coffee ไปด้วยมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท

โดยหนึ่งในเหตุผลของการเข้าซื้อกิจการ เพราะตลาดกาแฟในระดับโลกเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง นับแค่ในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันอุตสาหกรรมกาแฟก็มีมูลค่าสูงถึง 83,000 ล้านดอลลาร์

ส่วนตลาดกาแฟในจีน คาดการณ์กันว่า ตลาดกาแฟสดจะเติบโตขึ้นในปีนี้ถึง 18% แต่นี่ถือเป็นตัวเลขที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกสูงมาก เพราะค่าเฉลี่ยการดื่มการแฟต่อคนใน1 ปี ของจีนยังต่ำมากเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา โดยคนจีนดื่มกาแฟต่อปี 4.5 แก้ว ส่วนคนอเมริกันดื่มกาแฟ 269 แก้วต่อปี

ตลาดกาแฟในจีนยังเติบโตได้อีกมาก 2 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการธุรกิจไอทีจีนจึงไม่ปล่อยให้โอกาสตรงนี้หลุดมือ

นี่คือศึกกาแฟที่มี Alibaba และ Tencent สู้รบกันอีกแล้ว

ก็น่าคิดว่า ในจีนยุคนี้ ยังมีธุรกิจใหม่ๆ อะไรที่โดดเด่น แต่ไม่มียักษ์ใหญ่อย่าง Tencent หรือ Alibaba ลงมาเล่นหรือหนุนหลังอยู่บ้าง

  • คำตอบก็ดูเหมือนว่า … ไม่น่าจะมี

ข้อมูล – South China Morning PostFitchsolutions

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/tencent-partner-luckin-coffee/

“ถ้ากู้เงินธนาคารไม่ได้ ให้มาเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา” หัวเรือใหญ่ Grab ประเทศไทยคนใหม่กล่าว

หลังจากที่ Grab เข้าซื้อกิจการของ Uber ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุด Grab ประเทศไทยได้ออกมาแถลงถึงวิสัยทัศน์และอนาคตของธุรกิจ

Grab
Photo: Shutterstock

ก่อนอื่น สิ่งที่ต้องรู้อันดับแรกคือ ปัจจุบัน Grab มีธุรกิจหลักทั้งหมด 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

  1. Grab บริการเรียกรถสำหรับเดินทางที่คุ้นเคยกันดี
  2. Grab Delivery บริการรับส่งของและอาหาร (GrabFood เพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันนี้ 5 พฤษภาคม 2018)
  3. GrabPay บริการทางการเงิน
ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด
ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด

Grab: ภาพรวมธุรกิจหลังเข้าซื้อ Uber เป็นไปด้วยดี

ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หัวเรือใหญ่คนใหม่ของ Grab ประเทศไทยที่มานั่งเก้าอี้นี้ได้ประมาณ 4-5 เดือน ก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และความร่วมมือกับภาครัฐของ Lazada ในเครือ Alibaba

ธรินทร์ เล่าให้ฟังหลังจากที่ Grab เข้าซื้อ Uber ว่า “ภาพรวมหลังการเข้าซื้อกิจการเป็นไปด้วยดี ในด้านคนขับทำงานง่ายขึ้น ส่วนในบอร์ดของผู้บริหารก็ปกติดี”

  • ส่วนความกังวลหลังการเข้าซื้อกิจการ คำถามใหญ่คือ Grab จะผูกขาดตลาดเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่นหรือไม่นั้น

หัวเรือใหญ่ของ Grab ประเทศไทย มองว่า “การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ไม่ใช่การผูกขาดตลาด เพราะผู้บริโภคยังมีทางเลือกในการเดินทางอื่นๆ อยู่อีกมาก”

ธรินทร์ บอกว่า Grab เริ่มต้นธุรกิจจากธุรกิจเดินทางที่เชื่อมต่อคนจากจุดหนึ่งไปยังจุดนึ่ง แต่หลังจากนี้ต่อไป Grab จะเป็นแอพพลิเคชั่นในอนาคตสำหรับทุกวันของผู้บริโภค โดยจะเชื่อมต่อผู้คนด้วยธุรกิจอื่นนอกเหนือจากธุรกิจเดินทาง นั่นคือธุรกิจรับส่งของ-อาหาร และธุรกิจบริการทางการเงิน

GrabFood
GrabFood

Grab Delivery: บุกธุรกิจส่งอาหาร GrabFood อย่างเป็นทางการ

อันที่จริงแล้ว GrabFood ได้เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2017

ธรินทร์ ย้ำว่า บริการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเติบโตสูงถึง 440% ส่วนร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์ของ Grab ปัจจุบันมี 4,000 แห่ง แบ่งได้ดังนี้

  • ในส่วนของ Grab มีพาร์ทเนอร์ร้านค้าอยู่ 3,000 แห่ง
  • หลังจากเข้าซื้อ Uber ทำให้ Uber Eats ที่มีพาร์ทเนอร์อยู่ประมาณ 1,000 แห่ง รวมเข้ากับ Grab
  • ปัจจุบันจึงทำให้ Grab มีพาร์ทเนอร์ร้านอาหารใน GrabFood ถึง 4,000 ราย

สำหรับการแข่งขันในตลาดส่งอาหารเดลิเวอรี่ Grab ประเทศไทยบอกเลยว่า “เรามีศักยภาพในการแข่งขันสูงมาก เพราะตั้งแต่เปิดให้บริการ soft launch มา 4-5 เดือน เราไม่คิดค่าบริการในการส่งใดๆ เลย อย่างที่เห็นเรายังอยู่ได้ ในขณะที่คู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาดได้หายไปแล้ว แต่ทีนี้ข้อจำกัดของเราในตอนนี้ คือลูกค้าสั่งอาหารได้ภายในรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเราจะขยายบริการเพิ่มไปอีกอย่างแน่นอนหลังจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้”

GrabPay: “ถ้ากู้เงินธนาคารไม่ได้ ให้มาเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา”

ธุรกิจในส่วนบริการทางการเงิน Grab ได้พยายามเข้ามาเล่นอยู่ตลอด แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ ข้อกำหนด-กฎหมาย

ปัจจุบัน GrabPay ยังทำได้เพียงแค่เป็นบริการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต-เดบิตเท่านั้น โดยในประเทศไทยได้จับมือกับพันธมิตรการเงินทั้งหมด 9 ราย

แต่จุดประสงค์ของ Grab คือความต้องการก้าวไปสู่บริการทางการเงินแบบ e-wallet (ปัจจุบันใช้ได้เพียงในสิงคโปร์เท่านั้น) และจะได้ต่อยอดไปสู่ ธุรกิจปล่อยเงินกู้ กับพาร์ทเนอร์ของตัวเองในที่สุด

ธรินทร์ ระบุว่า ตอนนี้ Grab กำลังทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ GrabPay สามารถใช้งานเป็น e-wallet ได้ เพื่อต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตของบริษัท

  • หนึ่งในคำพูดของหัวเรือใหญ่ Grab คือการบอกว่า “ต่อไปถ้าคุณกู้เงินธนาคารไม่ได้ ขอให้มาเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา”

มองไปในอนาคต หาก GrabPay สามารถใช้เป็น e-wallet ได้ จะทำให้ Grab สามารถติดตามยอดรายรับ-รายจ่ายของพาร์ทเนอร์ โดยเฉพาะคนขับรถทั้งหมดของ Grab ได้ว่ามีสถานะทางการเงินและพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินอย่างไร จุดนี้ทำให้ Grab จะสามารถปล่อยเงินกู้กับพาร์ทเนอร์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจปล่อยเงินกู้ให้กับพาร์ทเนอร์ของ Grab ยังคงติดปัญหาด้านข้อกำหนด-กฎหมายอยู่ในหลายประเทศ ปัจจุบันยังไม่มีบริการนี้ในประเทศใดเลยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้บริการอยู่

ผังธุรกิจของ Grab
ผังธุรกิจของ Grab

สรุป

โดยสรุปแล้วก็คือ ภาพรวมธุรกิจหลักของ Grab ยังคงเป็นเรื่องธุรกิจการเดินทางผ่านแอพพลิเคชั่น แต่ในปีนี้สำหรับ Grab ประเทศไทยกำลังผลักดันอยู่ 2 เรื่องคือ การขยายธุรกิจส่งอาหารเดลิเวอรี่ที่ตลาดมีการแข่งขันสูงมาก และอีกอย่างคือการทำธุรกิจให้บริการทางการเงินซึ่งยังคงติดในข้อกำหนด-กฎหมายอยู่หลายส่วน แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ที่ อนาคตที่ Grab กำลังเดินไปคือการตอบโจทย์ใหญ่ของ Grab นั่นคือการเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับอนาคตในทุกๆ วันของผู้บริโภค

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/the-future-of-grab/

“ราคาของเราบางช่วงน้ำหนักสู้กับไปรษณีย์ไทยได้เลย” อ่านแผน DHL eCommerce ปี 2018

ขายของออนไลน์จะสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการจัดส่งสินค้า DHL eCommerce พร้อมลุยด้วยชื่อแบรนด์อันแข็งแกร่ง และขอท้าชนทุกแบรนด์ในปี 2018

DHL eCommerce ประเทศไทย “เราพร้อมแข่งได้ทุกแบรนด์ “

“ขายของออนไลน์จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการส่งของให้สำเร็จ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซแยกไม่ออกจากธุรกิจโลจิสติกส์”

ในระหว่างนั่งล้อมวงพูดคุยก่อนจะสิ้นสุดปี 2017 กับ เกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท DHL eCommerce ประเทศไทย เขาบอกเลยว่า “แบรนด์ DHL เราพร้อมแข่งได้ทุกแบรนด์ บางช่วงน้ำหนักของเราสู้กับไปรษณีย์ไทยได้เลย และที่สำคัญเราไม่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนัก ส่งของกับไปรษณีย์ไทยน้ำหนัก 5 – 10 กิโลกรัมบางครั้งก็ยากแล้ว แต่ DHL หมดปัญหาเรื่องนั้นไปได้เลย”

  • อีกหนึ่งความแข็งแกร่งของ DHL eCommerce ประเทศไทยคือ สิ้นสุดปี 2017 ขณะนี้พร้อมส่งสินค้าทั่วประเทศไปยัง 1,189 รหัสไปรษณีย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

MD ของ DHL eCommerce ประเทศไทย ฟันธงเลยว่า “การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย ทำให้การส่งของเดลิเวอรี่คือมาตรฐานใหม่ที่ผู้บริโภคคาดหวัง ดูอย่างเซ็นทรัลได้เลย ไม่เกิน 3 – 5 ปีสัดส่วนยอดขายจะมาจากออนไลน์ในปริมาณที่มากกว่า” 

อัพเดทตัวเลข

  • สำหรับรายได้ของ DHL eCommerce ในปี 2017 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3 – 4 เท่า
  • สัดส่วนปลายทางสินค้าไปต่างจังหวัดยังนำที่ 60% ส่วนต่างประเทศ 30 – 40% ส่วนต้นทางยังเป็น กทม.
  • ปี 2018 จะสร้างศูนย์กระจายสินค้ากว่า 100 แห่ง
เกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท DHL eCommerce ประเทศไทย

เปิด Shop คือแผนงานปี 2018 และตลาด e-Payment ที่ต้องเข้าไปจับ

Shop ของ DHL eCommerce ที่เป็นจุดรับส่งสินค้า ลูกค้า (ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ) ไม่ต้องเรียกให้พนักงานของ DHL ไปรับของหรือส่งของที่บ้านอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อความสะดวกจุดรับส่งสินค้านี้จะเป็นจุดกลางในการรับส่งหรือฝากของสินค้าแล้วไปรับด้วยตัวเองได้อย่างสะดวก โดยตอนนี้มีอยู่ประมาณ 200 จุด และกำลังจะขยายเพิ่มอย่างเข้มข้น

  • ไตรมาส 1 ปี 2018 จะขยายให้เป็น 500 จุด
  • ไตรมาสที่ 2 – 3 ปี 2018 จะเร่งให้ครบ 1,000 จุด

ส่วนอีกหนึ่งกระแสที่ต้องจับคือ กระแสไร้เงินสดหรือการจ่ายเงินผ่าน e-Payment ที่ DHL บอกว่า “ในปี 2018 จะเป็นปีที่ตลาด e-Payment แข่งกันหนักขึ้น แม้ว่า DHL จะโดดเด่นเรื่องการเก็บเงินปลายทาง และคืนเงินกลับไปยังผู้ขายได้ไวที่สุด คือ 3 วัน แต่กระแสนี้เราต้องจับ ต้องเข้าไปเล่น ปีหน้าจะได้เห็นการแข่งขันในตลาดนี้”

สรุป

ในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยที่ใหญ่ถึง 1.4 แสนล้าน ในตัวเลขนี้โลจิสติกส์คิดเป็น 8 – 10% เท่านั้น ตัวเลขคร่าวๆ คือมากกว่า 4,000 ล้านบาท การแข่งขันย่อมดุดเดือดเป็นธรรมดา DHL eCommerce ยังคงเป็นแบรนด์ที่ใช้ความแข็งแกร่งของชื่อแบรนด์ต่อไป ผสมกับการขยายจุดบริการให้ครอบคลุม รวมถึงกลยุทธ์แบบ Next Day

ความท้าทายต่อจากนี้จึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการเติบโตที่รวดเร็วของอีคอมเมิร์ซอาจทำให้ไม่สามารถคงคุณภาพเอาไว้ได้ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องจับตารอดูกันต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/dhl-ecommerce-2018/

ไม่ว่าจะแอพเรียกรถรายไหน ท้ายที่สุด ต้องส่งอาหารเดลิเวอรี่ได้ Ola ซื้อ FoodPanda ในอินเดียแล้ว

ทำ Grab ก็มี GrabFood ทำ Uber ก็มี UberEats ล่าสุด บริการแอพเรียกรถร่วมโดยสาร Ola เข้าซื้อ FoodPanda ในอินเดีย และพร้อมลงทุนต่อเนื่องอีกประมาณ 6,500 ล้านบาท

ต่อไปคนขับแท็กซี่ Ola จะหิ้วอาหารจากร้านไปส่งถึงบ้าน

บริการแอพเรียกรถร่วมโดยสาร Ola เข้าซื้อ FoodPanda ในอินเดียซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มของ Delivery Hero Group จากเยอรมนี

ดีลครั้งนี้ไม่ได้มีการเปิดเผยชัดเจน แต่แหล่งข่าวระบุว่า มูลค่าดีลไม่น่าจะเกิน 50 ล้านเหรียญ หรือราวๆ 1,600 ล้านบาท แต่ที่น่าสนใจคือ Ola เตรียมลงทุนต่อเนื่องใน FoodPanda อินเดียอีก 200 ล้านเหรียญ หรือ 6,555 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว

ในตลาดอาหารเดลิเวอรี่อินเดีย มีคู่แข่งหลายเจ้า เช่น UberEats, Zomato และ Swiggy ส่วน FoodPanda ที่เป็นเบอร์ 3 ของตลาดอินเดีย หลังจากการเข้าซื้อของ Ola ครั้งนี้ถือเป็นการเสริมความแกร่งให้กับธุรกิจอย่างมาก

  • ต่อไปนี้ คนขับแท็กซี่ Ola จะสามารถหิ้วอาหารไปส่งตามจุดต่างๆ จากร้านอาหารถึงหน้าบ้าน ที่ทำงาน หรือสถานที่ที่ลูกค้าต้องการ

Ola จะชนะ Uber ได้ไม่ยากในอินเดีย หลังการซื้อ FoodPanda

นักวิเคราะห์ มองว่า การเข้าซื้อ FoodPanda ในอินเดียของ Ola ครั้งนี้จะทำให้สามารถเอาชนะ UberEats ในแง่ราคาที่ต่ำกว่าได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า Ola เป็นแอพท้องถิ่นในอินเดีย ไม่ใช่บริการข้ามชาติอย่าง Uber

โดยปกติสั่งอาหารเดลิเวอรี่จากร้านอาหารหรูๆ UberEats จะคิดค่าบริการเพิ่มอีก 30% แต่สำหรับ Ola ค่าบริการจะถูกกว่านั้นมาก UberEats เตรียมตัวรับมือกับการ Localize ไว้ได้เลย

ทำไมทำแอพเรียกรถต้องส่งอาหารเดลิเวอรี่?

ส่วนอีกประเด็นที่น่านำไปขบคิดกันต่อคือ เพราะเหตุใด แอพบริการเรียกรถไม่ว่าจะรายไหนๆ เมื่อทำธุรกิจไปถึงจุดหนึ่ง ต้องส่งอาหารเดลิเวอรี่ได้ด้วย เท่าที่ดูจากความเป็นไปได้คือ

  • เพราะตลาดร้านอาหารมีมูลค่าสูงในทุกสังคม อย่างในไทย มีการประเมินไว้ว่า ในปี 2016 ตลาดร้านอาหารมีมูลค่าสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท ประกอบกับเมื่อการขนส่งมีต้นทุนที่ถูกลงและมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น (ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ) ดังนั้น นอกจากจะส่งของส่งสินค้าแล้ว การส่งอาหารจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในความสะดวกสบาย เพราะลูกค้าที่อยากกินอาหารอร่อยๆ ก็ไม่จำเป็นต้องไปที่ร้านนั้นๆ
  • การขยับขยายตำแหน่งจาก แอพเรียกรถร่วมโดยสาร มาส่งอาหารเดลิเวอรี่ เป็นการใช้ความแข็งแกร่งจากต้นทุนที่มีอยู่ในมือ จากแอพพลิเคชั่นที่ใช้ดึงคนขับรถมาอยู่บนแพลตฟอร์มแล้ว การใช้สิทธิประโยชน์ไปส่งของ/ส่งอาหารจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด

อ้างอิง – ET Tech IndiatimesWorldnews

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/ola-foodpanda-india-ride-hailing/

เลิกโทร 1112 ได้แล้ว! BURGER KING จับมือ Lalamove สั่งเบอร์เกอร์ผ่านเว็บไซต์ ขอโตออนไลน์

ปกติถ้าจะสั่ง BURGER KING ต้องโทร 1112 แต่หลังจากนี้ไม่ต้องโทรแล้ว เพราะไปร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ Lalamove ให้ลูกค้าสั่งผ่านหน้าเว็บไซต์ แล้วหลังจากนั้นรอรับแบบเดลิเวอรี่จาก Lalamove ได้เลย

แช่เบอร์ 1112 ไว้เหมือนเดิม แต่พยายามไม่ให้โต เน้นออนไลน์แทน

BURGER KING แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดเบอร์เกอร์รายใหญ่ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับ Lalamove บริการโลจิสติกส์ออนดีมานด์มาแรงแห่งยุค ดีลนี้เป็นการปรับตัวของ BURGER KING ประเทศไทยที่ต้องนำตัวธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า จากฐานลูกค้าที่โตขึ้นมาก การขยายช่องทางสั่งอาหารไปสู่ออนไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ “ถ้าย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อนหน้าจะพบว่า ฐานลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ 60% แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นลูกค้าหลักของเราคือคนไทย 60%” 

  • ก่อนหน้านี้หากจะสั่ง BURGER KING แบบเดลิเวอรี่จะต้องโทรผ่านเบอร์ 1112 ซึ่งจากข้อมูลระบุว่า ยอดขายผ่านการโทรสั่งเดลิเวอรี่ของ BURGER KING คิดเป็น 5% ของยอดขายเท่านั้น

แต่หลังจากนี้เมื่อ BURGER KING จับมือกับ Lalamove การสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่จะไม่ทำผ่าน 1112 แล้ว แต่ให้เข้าไปสั่งที่ delivery.burgerking.co.th

“ตัวเบอร์โทร 1112 ก็ยังเอาไว้เหมือนเดิม ตลาดจะอยู่เท่าเดิม ไม่โตแล้ว ต่อไปไม่ต้องกดเบอร์ 1112 เพราะจะให้ไปสั่งในเว็บไซต์แทน”

  • จากการทดลอง Soft Launch บริการเดลิเวอรี่พบว่า ค่าเฉลี่ยยอดบิลของลูกค้ามีราคาสูงขึ้น 2 เท่า คิดโดยเฉลี่ยยอดบิลอยู่ที่ 220 บาท แต่เมื่อสั่งแบบเดลิเวอรี่จะอยู่ที่ 400 – 500 บาท ผู้บริหาร BURGER KING ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะสั่งกันเป็นกลุ่ม ถือเป็นสัญญาณที่ดี
ซ้าย-นายชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการลาล่ามูฟ ประเทศไทย ขวา-ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

ขยายสาขาใหม่นับจากนี้ จะมี Lalamove เป็นพันธมิตรหลัก

การขยายสาขาของ BURGER KING ในปี 2018 ที่วางไว้ประมาณ 20 สาขาหลังจากนี้จะไม่ผูกตัวเองไว้กับ 1112 อีกต่อไป เพราะหลังจากการจับมือกับ Lalamove ทำให้มีความแกร่งในด้านการจัดส่งสินค้า

ชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการลาล่ามูฟ ประเทศไทย บอกว่า “ตลาดอาหารเดลิเวอรี่เป็นตลาดที่ใหญ่มาก คาดว่าโต 11 – 15% มีขนาดใหญ่ถึง 27,000 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ได้จับมือกับ LINE ประเทศไทย ส่วน BURGER KING ก็นับเป็นฟาสต์ฟู้ดเจ้าแรกที่ได้มาจับมือด้วย”

ปัจจุบัน Lalamove มีพาหนะสำหรับขนส่งเป็นมอเตอร์ไซค์กว่า 40,000 คัน บริการทั่วกรุงเทพและปริมณฑล นอกจากนั้นกรรมการผู้จัดการของ Lalamove ยังบอกด้วยว่า บริการของ Lalamove ครองตลาดไปกว่า 60 – 70% ของตลาด ด้วยความแข็งแกร่งของบริการของ Lalamove ตัวเลขเหล่านี้เป็นเรื่องน่าพึงพอใจอย่างมาก

ปี 2016 Lalamove มีรายได้ 140 ล้านบาท แต่ปี 2017 นี้รายได้จะพุ่งสูงไปถึง 540 ล้านบาท

สรุป : เมื่อ “ออนไลน์” คือฐานที่มั่นของธุรกิจ จับมือพันธมิตรดิจิทัลจึงสำคัญ

ปีนี้ BURGER KING มีรายได้เพิ่มขึ้นมา 30 – 40% รายได้ของปีนี้จะตกอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท

ในจำนวนนี้ยอดขายของ BURGER KING ที่โทรผ่าน 1112 มาสั่งคิดเป็น 5% เท่านั้น ดังนั้นการจับมือกับ Lalamove เพื่อเสริมความแกร่งในการทำตลาดเดลิเวอรี่ ยอดขายที่ตั้งเป้าไว้ว่าในปีหน้า 2018 คือจะทำให้ได้สัดส่วนถึง 10% ของยอดขายทั้งหมด

นอกจากนั้น BURGER KING ยังมองว่า จะทำบริการ Pick-up ที่ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าในขณะเดินทางแล้วมารับที่สาขาได้เลย (ตรงนี้ยังไม่ชัดว่าจะทำเมื่อไหร่ แต่บอกว่าจะทำแน่) ส่วนเรื่องการจ่ายเงินต้องยอมรับว่าลูกค้าส่วนใหญ่ยังยินดีจ่ายเงินเป็นเงินสดที่จุดหมายปลายทาง เพราะฉะนั้น การผลักดันให้จ่ายเงินในรูปแบบ Cashless Society ก็เป็นสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ตาม หลายคนตั้งคำถามถึงการทำรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ แต่ไม่ทำแอพพลิเคชั่นของ BURGER KING แต่คำตอบที่ได้คือ “แม้แต่เจ้าใหญ่อย่างไก่ทอดเจ้าหนึ่งยังทำแต่เว็บไซต์ ยกเลิกแอพพลิเคชั่นไปแล้ว เราก็คิดว่าเดินทางนั้น แต่ถ้าถามว่าจะแอพพลิเคชั่นไหม อันนี้ต้องขอคิดก่อน”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/burger-king-lalamove-delivery/

อีคอมเมิร์ซโต ซื้อของเดลิเวอรี่กำลังมา แต่ทำไม “สั่งของสดออนไลน์” ถึงยังขายไม่ดี?

กระแสอีคอมเมิร์ซโตต่อเนื่อง เพราะผู้คนนิยมซื้อของออนไลน์แล้วให้มาส่งแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น แต่สงสัยไหมว่าทำไมบริการซื้อของสดออนไลน์ถึงยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

ผู้เล่นทยอยลงตลาด online grocery (ที่น่าจะโต)

ถ้าพูดถึงบริการสั่งซื้อของสดออนไลน์ หรือ online grocery รายใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาตอนนี้เป็นของ Amazon, Walmart หรือ Target รวมถึงรายที่เคยทำซุปเปอร์มาก่อนอย่าง Safeway ก็เข้ามาเล่นในตลาดนี้ และนอกจากนั้นยังมีสตาร์ทอัพจากซานฟรานซิสโก Instacart ที่ลงมาเล่นในตลาดนี้ ด้วยการระดมทุนใหม่ไปกว่า 700 ล้านเหรียญ ทำให้ตอนนี้มีมูลค่าธุรกิจประมาณ 3.4 พันล้านเหรียญแล้ว ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

นั่นเป็นเพราะ มีรายงานการประเมินที่ระบุไว้ว่า ในปี 2025 ตลาดนี้ในสหรัฐอเมริกาจะมีการใช้จ่ายจากผู้บริโภคถึงระดับ 1 แสนล้านเหรียญ แต่ต้องไม่ลืมว่า ตัวเลขจำนวนนี้คือการคาดการณ์ เพราะถ้าดูจากภาพรวมตลาดในปัจจุบันจริงๆ ต้องนับว่าตลาดสั่งซื้อของสดออนไลน์ยังเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้มากเท่าที่ควร

ข้อมูลตัวเลขเท่าที่หาได้ HappyFresh เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าตลาด online grocery ในสหรัฐอเมริกายังคิดเป็นเพียง 10% ของภาพรวมตลาดทั้งหมด ส่วน honestbee ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ภาพรวมทั้งตลาดของ online grocery ในไทยทั้งหมดอยู่ที่ 3% เท่านั้นเอง

เปิดผลสำรวจ ทำไมคนไม่ชอบสั่งของสดออนไลน์?

ผลสำรวจจาก Morgan Stanley ในปี 2017 เปิดเผยว่า ผู้คนกว่า 84% ยังไม่ชื่นชอบการซื้อของสดออนไลน์ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ถ้าจะต้องซื้อของสดเช่นผักผลไม้ ขอเป็นคนไปเลือกเองจะดีกว่า ที่น่าสนใจคือตัวเลขจากผลสำรวจนี้เท่ากับปี 2016 ตัวเลขไม่เปลี่ยน หมายความว่า คนส่วนใหญ่ยังคงไม่นิยมชมชอบการสั่งซื้อของสดออนไลน์ แล้วต้องรอรับที่บ้านอย่างเดียว เหตุผลก็เพราะผู้บริโภค “ไม่ได้เลือก” นั่นเอง

อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มีคนที่ได้ลองสั่งซื้อของสดออนไลน์แล้ว พบว่า ไม่ประทับใจเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนที่ 17% เป็น 27% ในปีนี้

แก้ปัญหา “ความอยากเลือก” ด้วยการให้ความรู้ จะเพียงพอไหม?

หนึ่งในทางออกที่เห็นคือ online grocery เหล่านี้พยายามให้ความรู้ (educate) กับลูกค้า ก็ชัดเจนว่าบริการเหล่านี้ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า แต่จะเพียงพอจนมาทดแทนความรู้สึกที่ได้สัมผัสและได้เลือกสินค้าได้หรือไม่? ลองดูตัวอย่าง

รายแรกคือ สตาร์ทอัพ Instacart ส่งวิดีโอสอนนักช้อปปิ้ง (คนที่จะไปเลือกซื้อสินค้าให้) ในวิดีโอจะมีการสอนว่าการเลือกซื้อผลไม้แต่ละชนิดให้ดูที่ไหน ดูอย่างไร เช่น ถ้าจะซื้อกล้วย ทั้งลูกต้องเหลืองอร่าม แต่ปลายขั้วต้องมีสีเขียว เข้าใจว่าการอบรมพนักงานของตัวเองทำหลังบ้านก็ได้ แต่การนำมาเผยแพร่ก็เพราะต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้ลูกค้านั่นเอง

สรุป

ตลาดซื้อของสดออนไลน์หรือ online grocery เป็นตลาดที่ผู้ให้บริการต้องควบคุมปัจจัยหลายอย่าง แม้ว่าจะมีผู้เล่นหน้าเก่าและหน้าใหม่เข้ามา แต่ตลาดนี้ไม่ง่ายจริงๆ เพราะการบริการสินค้าที่เป็นของมีอายุขัยสั้น และอายุขัยนั้นส่งผลต่อสินค้าโดยตรง เป็นต้นว่า เวลาเพียง 1 วัน ก็ส่งผลต่อผลและผลไม้โดยตรง

นอกจากนั้น ยังมีความรู้สึกเชิงจิตวิทยา (แต่ก็ต้องยอมรับว่า คือความจำเป็นในบางครั้ง) เช่น ความต้องการสัมผัสสินค้าโดยตรง ทำให้มีความมั่นใจได้มากกว่า หรือเลยไปจนกระทั่งการหยิบสินค้าข้างในแถวที่จัดไว้ เพราะผู้บริโภคทราบว่าสินค้าที่จัดไว้หน้าแถวคือสินค้าที่จะหมดอายุก่อน จึงหยิบชิ้นถัดไป สิ่งสำคัญคือผู้ให้บริการ online grocery เข้าใจผู้บริโภคในระดับใด แต่ถึงที่สุด การจะอบรมให้พนักงานเลือกหยิบสินค้าที่ไม่เป็นไปตามลำดับที่ร้านจัดไว้ก็คงจะสร้างความวุ่นวายและไม่พอใจของร้านค้าคู่ค้าอยู่ไม่น้อย

อ้างอิง – QUARTZ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/why-grocery-online-doesnt-work/

คุยกับ Indie Dish สตาร์ทอัพรวมอาหารสุขภาพพร้อมส่ง หนึ่งในผู้ชนะบนเวที Dtac accelerate batch 5

ในเวที Dtac accelerate รอบนี้ มีสตาร์ทอัพที่เป็นผู้หญิงร่วมโครงการถึง 1 ใน 3 และ Indie Dish สตาร์ทอัพรวมอาหารสุขภาพพร้อมส่ง ที่เป็นหนึ่งในผู้ชนะ ก็มีทีมงานที่เป็นผู้หญิงรวมถึง LGBT อยู่ด้วย ไปทำความรู้จักธุรกิจนี้กันดีกว่า เพราะโปรไฟล์ถือว่าไม่ธรรมดาเลย

Indie Dish คืออะไร?

ประโยคแรกๆ ที่ทีม Indie Dish ใช้ในการนิยามธุรกิจสตาร์ทอัพรวมอาหารสุขภาพพร้อมส่งของตัวเองคือ “กินอาหารสุขภาพ ต้องอร่อยด้วย”

อิง-ดาริน สุทธพงษ์ CEO ของ Indie Dish บอกกับเราว่า “ภาพลักษณ์ของการกินอาหารสุขภาพในช่วงที่ผ่านมาคือ ไม่อร่อย” แม้ตลาดจะมีการเติบโตอยู่เรื่อยๆ แต่ในวงการอาหาร ถ้าจะแข่งขันกันได้จริง ความอร่อยคือตัวตัดสินและชี้วัดธุรกิจได้ไม่น้อยเลย

“อาหารไทยอร่อย ใครๆ ก็รู้ แต่ส่วนใหญ่มันไม่ Healthy โจทย์ของเราคือทำอาหารที่ตอบเรื่องสุขภาพ และต้องอร่อยด้วย”

Indie Dish มาจากคำว่า Indie+Dish โดยมาจาก สไตล์การขายอาหารคลีนของพ่อค้าแม่ค้าบนโลกออกไลน์จำนวนมากที่ “อินดี้มาก บางรายนึกอยากจะขายวันนี้ก็ขาย นึกอยากจะหยุดวันนี้ก็หยุด คือเป็นระบบที่เขาจัดการตัวเอง บางรายก็เป็นสามีภรรยามาทำด้วยกันสนุกๆ”

ส่วนคำว่า Dish มาจากการพลิกแพลงคำให้เข้ากัน ตอนแรกพอได้ Indie มาแล้ว จะใส่ Food ก็ไม่เข้า เลยเปลี่ยนมาเป็น Dish เพราะตัวธุรกิจก็เน้นขายเป็นจานๆ อยู่แล้ว สุดท้ายจึงออกมาเป็นชื่อ “Indie Dish” อย่างที่เห็นกัน

โมเดลคือ ใครทำธุรกิจอาหาร Healthy ก็ขายผ่าน Indie Dish ได้

โดยหลักการแล้ว Indie Dish คือสตาร์ทอัพที่ส่งแพลตฟอร์มเข้ามารวบรวมร้านอาหารคลีนบนโลกออนไลน์ แล้วส่งสินค้าให้แบบเดลิเวอรี่ โดยจะเข้ามาลดปัญหาการจัดการ “ระบบหลังบ้าน” ของคนทำธุรกิจอาหารสุขภาพในตลาด โดยซื้อผ่านแอพพลิเคชั่นของ Indie Dish

“พ่อค้าแม่ค้าก็ไม่ต้องลำบากจัดการตอบ LINE ลูกค้า เพราะเมื่อสั่งซื้อผ่าน Indie Dish เราจะจัดการระบบทั้งหมดให้ ตั้งแต่สั่งซื้อไปจนถึงกระจายสินค้า ที่สำคัญคือซื้อผ่านเรา สามารถจ่ายบัตรเครดิตได้ด้วย ต้องยอมรับว่าลูกค้าหลายรายก็ไม่สะดวกโอนหรือจ่ายเงินสดเสมอไป”

ส่วนในมุมของลูกค้า “ก็เลือกซื้ออาหารได้หลากหลาย เรารวบรวมร้านอาหารสุขภาพบนโลกออนไลน์ไว้กว่า 70 ร้าน และต้องบอกว่าความสร้างสรรค์คือสิ่งที่ Indie Dish มองหาจากคู่ค้ามาตลอด เพราะไม่ใช่ว่าพอพูดถึงอาหารคลีนก็จะเป็นกระเพราะคลีนเหมือนๆ กันทุกรายเท่านั้น แต่เราพยายามกระตุ้นให้แต่ละร้านทำอาหารที่สร้างสรรค์ออกมาตลอด เพื่อทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าอาหารที่เลือกซื้อนั้นผ่านการคัดสรรมาอย่างดี”

ทีมงานแข็งแกร่งคือหัวใจในการประสบความสำเร็จ

พอสอบถามประวัติผู้ก่อตั้ง Indie Dish ต้องยอมรับว่าโปรไฟล์ไม่ธรรมดาเลย เพราะว่าเคยทำงานที่ Amazon ในสหรัฐอเมริกามากว่า 10 ปี และยังมีคนที่ทำงานด้านดีไซน์กับ Starbucks ในสหรัฐอเมริกามาร่วม 8 ปีเช่นกัน แน่นอนว่า พวกเขารวมตัวกันที่สหรัฐอเมริกา คุยกันมาจนลงตัวที่จะทำธุรกิจอาหาร ทั้งหมดเลยตัดสินใจกลับมาประเทศไทยเพื่อเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ

“ชอบทำอาหารกันอยู่แล้ว อยู่ที่อเมริกา เราก็ทำอาหารกันเป็นประจำ แต่เราเห็นความเนิร์ดที่ซีแอตเทิล แถวที่เราทำงาน นอกจากจะกินอาหารคลีนกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว การจัดการเรื่องอาหารเหลือทิ้งก็ดีมาก เราเลยคิดว่าคนไทยน่าจะได้รู้จักอะไรแบบนี้ นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งที่มาของ Indie Dish เหมือนกัน”

พูดถึงเรื่องอาหารเหลือทิ้งนับเป็นประเด็นใหญ่ในโลกทุกวันนี้ ถ้าเราเข้าแอพพลิเคชั่น Indie Dish แล้วสั่งอาหารจะเห็นได้เลยว่า อาหารจะไม่ส่งภายในวันนี้ แต่จะให้เลือกเวลาส่งอย่างน้อยคือในวันถัดไป นั่นหมายความว่า Indie Dish จะรู้ว่าพรุ่งนี้คุณจะทานอะไร มากกว่านั้นตัวลูกค้าก็รู้ว่าจะได้ทานอะไร เป็นการช่วยลดขยะจากอาหารเหลือทิ้ง

อย่างไรก็ตาม ทีมงานหลักของ Indie Dish ประกอบไปด้วย ดาริน สุทธพงษ์ (อิง) CEO, พงศกร ธีรภาพวงศ์ (เอ) CTO, ณัฐนรี ชุมมานนท์ (เอม) CMO และ Co-Founder อีก 2 คนคือ สุพิชฌาย์ ยามวินิจ (จูน) และสุขุมา วรรณดี (กิ่ง)

คุยเรื่องเงินๆ ทองๆ กับ Indie Dish

Indie Dish เริ่มต้นทำธุรกิจมาในปี 2016 ช่วงเดือนสิงหาคม นับดูแล้วจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ครบ 1 ปีสนิท แต่ยอดการเติบโตน่าสนใจมาก ในช่วงเดือนแรกๆ ที่ส่งบริการออกมาได้รับผลตอบแทนที่ไม่ดี แต่เมื่อมีการกระจายข้อมูลออกไป ก็ทำให้เติบโตอย่างมาก

“รู้ไหมว่าลูกค้าที่เข้ามาสั่งอาหารในแอพพลิเคชั่น Indie Dish มีการซื้อซ้ำกว่า 53% ส่วนการเติบโตของธุรกิจจะเรียกว่าเป็น 10x ก็ได้ เพราะยอดการสั่งอาหารตอนนี้ตกอยู่ที่หลักแสนต่อเดือน”

ส่วนโมเดลการสร้างรายได้ของ Indie Dish คือการคิดค่าให้บริการจากพ่อค้าแม่ค้าที่ขายผ่านแอพพลิเคชั่น 20 – 30% แต่ที่น่าจับตามองคือ ตอนนี้ Indie Dish ได้ขยายไปทำแบรนด์อาหารของตัวเองอีกตัวคือ Basil ถือเป็นอีกหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ตัวเอง ตอนนี้ในแอพพลิเคชั่นจึงเป็นการผสมผสานระหว่างคัวคู่ค้าที่เข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มและขายอาหาร ในขณะที่ Indie Dish เองก็พัฒนาสูตรอาหารเพื่อส่งขายในนามของ Basil ไปพร้อมๆ กันด้วย

Indie Dish มองตลาดในไทยไปไกลกว่านั้น เพราะว่าคู่แข่งคือต่างชาติที่จะเข้ามาลุยในตลาดของไทยในไม่ช้า ในขั้นแรกจะเริ่มส่งบริการขยายออกไปนอกกรุงเทพ แต่ยังคงความเป็นเมือง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่คือคนเมืองที่รักสุขภาพ ส่วนในเรื่องการระดมทุน ก่อนหน้านี้ได้มาจากการเข้าร่วม Dtac accelerate และ 500 TukTuks แต่หลังจากนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มอีก 500,000 เหรียญ นับเป็นการระดมทุนใน Stage ที่ 4 เพื่อทำตามเป้าที่วางไว้ ทั้งขยายบริการและพัฒนาแบรนด์อาหารของตัวเองอย่าง Basil นั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/indie-dish-startup-interview/

คุยกับ Indie Dish สตาร์ทอัพรวมอาหารสุขภาพพร้อมส่ง หนึ่งในผู้ชนะบนเวที dtac Accelerate batch 5

ในเวที dtac Accelerate รอบนี้ มีสตาร์ทอัพที่เป็นผู้หญิงร่วมโครงการถึง 1 ใน 3 และ Indie Dish สตาร์ทอัพรวมอาหารสุขภาพพร้อมส่ง ที่เป็นหนึ่งในผู้ชนะ ก็มีทีมงานที่เป็นผู้หญิงรวมถึง LGBT อยู่ด้วย ไปทำความรู้จักธุรกิจนี้กันดีกว่า เพราะโปรไฟล์ถือว่าไม่ธรรมดาเลย

Indie Dish คืออะไร?

ประโยคแรกๆ ที่ทีม Indie Dish ใช้ในการนิยามธุรกิจสตาร์ทอัพรวมอาหารสุขภาพพร้อมส่งของตัวเองคือ “กินอาหารสุขภาพ ต้องอร่อยด้วย”

อิง-ดาริน สุทธพงษ์ CEO ของ Indie Dish บอกกับเราว่า “ภาพลักษณ์ของการกินอาหารสุขภาพในช่วงที่ผ่านมาคือ ไม่อร่อย” แม้ตลาดจะมีการเติบโตอยู่เรื่อยๆ แต่ในวงการอาหาร ถ้าจะแข่งขันกันได้จริง ความอร่อยคือตัวตัดสินและชี้วัดธุรกิจได้ไม่น้อยเลย

“อาหารไทยอร่อย ใครๆ ก็รู้ แต่ส่วนใหญ่มันไม่ Healthy โจทย์ของเราคือทำอาหารที่ตอบเรื่องสุขภาพ และต้องอร่อยด้วย”

Indie Dish มาจากคำว่า Indie+Dish โดยมาจาก สไตล์การขายอาหารคลีนของพ่อค้าแม่ค้าบนโลกออกไลน์จำนวนมากที่ “อินดี้สุดๆ บางรายนึกอยากจะขายวันนี้ก็ขาย นึกอยากจะหยุดวันนี้ก็หยุด คือเป็นระบบที่เขาจัดการตัวเอง บางรายก็เป็นสามีภรรยามาทำด้วยกันสนุกๆ”

ส่วนคำว่า Dish มาจากการพลิกแพลงคำให้เข้ากัน ตอนแรกพอได้ Indie มาแล้ว จะใส่ Food ก็ไม่เข้า เลยเปลี่ยนมาเป็น Dish เพราะตัวธุรกิจก็เน้นขายเป็นจานๆ อยู่แล้ว สุดท้ายจึงออกมาเป็นชื่อ “Indie Dish” อย่างที่เห็นกัน

โมเดลคือ ใครทำธุรกิจอาหาร Healthy ก็ขายผ่าน Indie Dish ได้

โดยหลักการแล้ว Indie Dish คือสตาร์ทอัพที่ส่งแพลตฟอร์มเข้ามารวบรวมร้านอาหารคลีนบนโลกออนไลน์ แล้วส่งสินค้าให้แบบเดลิเวอรี่ โดยจะเข้ามาลดปัญหาการจัดการ “ระบบหลังบ้าน” ของคนทำธุรกิจอาหารสุขภาพในตลาด โดยซื้อผ่านแอพพลิเคชั่นของ Indie Dish

“พ่อค้าแม่ค้าก็ไม่ต้องลำบากจัดการตอบ LINE ลูกค้า เพราะเมื่อสั่งซื้อผ่าน Indie Dish เราจะจัดการระบบทั้งหมดให้ ตั้งแต่สั่งซื้อไปจนถึงกระจายสินค้า ที่สำคัญคือซื้อผ่านเรา สามารถจ่ายบัตรเครดิตได้ด้วย ต้องยอมรับว่าลูกค้าหลายรายก็ไม่สะดวกโอนหรือจ่ายเงินสดเสมอไป”

ส่วนในมุมของลูกค้า “ก็เลือกซื้ออาหารได้หลากหลาย เรารวบรวมร้านอาหารสุขภาพบนโลกออนไลน์ไว้กว่า 70 ร้าน และต้องบอกว่าความสร้างสรรค์คือสิ่งที่ Indie Dish มองหาจากคู่ค้ามาตลอด เพราะไม่ใช่ว่าพอพูดถึงอาหารคลีนก็จะเป็นกระเพราะคลีนเหมือนๆ กันทุกรายเท่านั้น แต่เราพยายามกระตุ้นให้แต่ละร้านทำอาหารที่สร้างสรรค์ออกมาตลอด เพื่อทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าอาหารที่เลือกซื้อนั้นผ่านการคัดสรรมาอย่างดี”

ทีมงานแข็งแกร่งคือหัวใจในการประสบความสำเร็จ

พอสอบถามประวัติผู้ก่อตั้ง Indie Dish ต้องยอมรับว่าโปรไฟล์ไม่ธรรมดาเลย เพราะว่าเคยทำงานที่ Amazon ในสหรัฐอเมริกามากว่า 10 ปี และยังมีคนที่ทำงานด้านดีไซน์กับ Starbucks ในสหรัฐอเมริกามาร่วม 8 ปีเช่นกัน แน่นอนว่า พวกเขารวมตัวกันที่สหรัฐอเมริกา คุยกันมาจนลงตัวที่จะทำธุรกิจอาหาร ทั้งหมดเลยตัดสินใจกลับมาประเทศไทยเพื่อเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ

“ชอบทำอาหารกันอยู่แล้ว อยู่ที่อเมริกา เราก็ทำอาหารกันเป็นประจำ แต่เราเห็นความเนิร์ดที่ซีแอตเทิล แถวที่เราทำงาน นอกจากจะกินอาหารคลีนกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว การจัดการเรื่องอาหารเหลือทิ้งก็ดีมาก เราเลยคิดว่าคนไทยน่าจะได้รู้จักอะไรแบบนี้ นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งที่มาของ Indie Dish เหมือนกัน”

พูดถึงเรื่องอาหารเหลือทิ้งนับเป็นประเด็นใหญ่ในโลกทุกวันนี้ ถ้าเราเข้าแอพพลิเคชั่น Indie Dish แล้วสั่งอาหารจะเห็นได้เลยว่า อาหารจะไม่ส่งภายในวันนี้ แต่จะให้เลือกเวลาส่งอย่างน้อยคือในวันถัดไป นั่นหมายความว่า Indie Dish จะรู้ว่าพรุ่งนี้คุณจะทานอะไร มากกว่านั้นตัวลูกค้าก็รู้ว่าจะได้ทานอะไร เป็นการช่วยลดขยะจากอาหารเหลือทิ้ง

อย่างไรก็ตาม ทีมงานหลักของ Indie Dish ประกอบไปด้วย ดาริน สุทธพงษ์ (อิง) CEO, พงศกร ธีรภาพวงศ์ (เอ) CTO, ณัฐนรี ชุมมานนท์ (เอม) CMO และ Co-Founder อีก 2 คนคือ สุพิชฌาย์ ยามวินิจ (จูน) และสุขุมา วรรณดี (กิ่ง)

คุยเรื่องเงินๆ ทองๆ กับ Indie Dish

Indie Dish เริ่มต้นทำธุรกิจมาในปี 2016 ช่วงเดือนสิงหาคม นับดูแล้วจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ครบ 1 ปีสนิท แต่ยอดการเติบโตน่าสนใจมาก ในช่วงเดือนแรกๆ ที่ส่งบริการออกมาได้รับผลตอบแทนที่ไม่ดี แต่เมื่อมีการกระจายข้อมูลออกไป ก็ทำให้เติบโตอย่างมาก

“รู้ไหมว่าลูกค้าที่เข้ามาสั่งอาหารในแอพพลิเคชั่น Indie Dish มีการซื้อซ้ำกว่า 53% ส่วนการเติบโตของธุรกิจจะเรียกว่าเป็น 10x ก็ได้ เพราะยอดการสั่งอาหารตอนนี้ตกอยู่ที่หลักแสนต่อเดือน”

ส่วนโมเดลการสร้างรายได้ของ Indie Dish คือการคิดค่าให้บริการจากพ่อค้าแม่ค้าที่ขายผ่านแอพพลิเคชั่น 20 – 30% แต่ที่น่าจับตามองคือ ตอนนี้ Indie Dish ได้ขยายไปทำแบรนด์อาหารของตัวเองอีกตัวคือ Basil ถือเป็นอีกหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ตัวเอง ตอนนี้ในแอพพลิเคชั่นจึงเป็นการผสมผสานระหว่างคัวคู่ค้าที่เข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มและขายอาหาร ในขณะที่ Indie Dish เองก็พัฒนาสูตรอาหารเพื่อส่งขายในนามของ Basil ไปพร้อมๆ กันด้วย

Indie Dish มองตลาดในไทยไปไกลกว่านั้น เพราะว่าคู่แข่งคือต่างชาติที่จะเข้ามาลุยในตลาดของไทยในไม่ช้า ในขั้นแรกจะเริ่มส่งบริการขยายออกไปนอกกรุงเทพ แต่ยังคงความเป็นเมือง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่คือคนเมืองที่รักสุขภาพ ส่วนในเรื่องการระดมทุน ก่อนหน้านี้ได้มาจากการเข้าร่วม dtac Accelerate และ 500 TukTuks แต่หลังจากนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มอีก 500,000 เหรียญ นับเป็นการระดมทุนใน Stage ที่ 4 เพื่อทำตามเป้าที่วางไว้ ทั้งขยายบริการและพัฒนาแบรนด์อาหารของตัวเองอย่าง Basil นั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/indie-dish-startup-application-interview/

เมื่อปลาใหญ่ Amazon บุกธุรกิจส่งชุดวัตถุดิบอาหาร แย่งตลาดปลาเล็ก Blue Apron ในวันที่เริ่มแย่

ในวันที่หุ้นของ Blue Apron สตาร์ทอัพส่งชุดวัตถุดิบทำอาหารแบบเดลิเวอรี่เริ่มร่วงลง Amazon ก็เตรียมเข้ามาเล่นในตลาด meal kit นี้บ้าง เริ่มจากไปจดสิทธิบัตรสโลแกน แถมย้อนไปไม่นานก็เพิ่งซื้อ Whole Foods Market มาอีก

Photo: Amazon.com

เมื่อปลาใหญ่ลงเล่น จ่อกินรวบ แล้วใครจะสู้ได้?

หลังจากที่ Blue Apron สตาร์ทอัพส่งชุดวัตถุดิบทำอาหารแบบเดลิเวอรี่ (meal kit delivery) มีมูลค่าต่ำลงจนอาจจะสูญเสียสถานะความเป็น “ยูนิคอร์น”

Times รายงานว่าในวันจันทร์ที่ผ่านมา หุ้น IPO ของ Blue Apron ร่วงลงมาถึง 11.8% เหลือ 6.49 เหรียญ

Amazon ก็ได้ส่ง Amazon Meal Kits ลงสู่ตลาดเช่นกัน โดยใช้โอกาสนี้ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสำนักงานสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา โดยใช้สโลแกน “We do the prep. You be the chef.” (เราจัดเตรียมให้ ส่วนคุณเป็นคนทำ[อาหาร]) ดูหลักฐานการจดสิทธิบัตรของ Amazon ที่นี่

Photo: Amazon.com

แม้ว่าตลาดส่งชุดทำอาหารเดลิเวอรี่ จะมี Blue Apron ที่ครองตลาดอยู่ก่อนหน้าแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ที่ Amazon ได้ซื้อกิจการ Whole Foods Market ทำให้ Amazon ได้เปรียบมากขึ้นในการเข้ามารุกในตลาดส่งชุดทำอาหารเดลิเวอรี่

Photo: Amazon.com

ถ้าย้อนไปดูในช่วงที่ผ่านมา สตาร์ทอัพอย่าง Blue Apron ต้องทำงานด้านการตลาดอย่างหนัก เนื่องจากชื่อแบรนด์ยังไม่แข็งแรง ในไตรมาสที่ผ่านมา Blue Apron ใช้เงินไปกว่า 61 ล้านเหรียญ (1 ใน 4 ของรายได้) ในการทำการตลาดบนออนไลน์ พอดคาสต์ และในที่อื่นๆ

แต่เมื่อมองดู Amazon ที่แบรนด์แข็งแกร่ง ประกอบกับเพิ่งซื้อ Whole Foods Market มาหมาดๆ และยังเป็นเจ้าในเรื่องการส่งของอีก การลงเล่นในตลาดนี้จึงได้เปรียบอย่างมาก

ดูจากปัจจัยทั้งหมดแล้ว แทบไม่ต้องบอกก็รู้ว่า ปลาเล็กคงต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพราะไม่อย่างนั้นก็อาจจะต้องเตรียมตัวลาวงการไว้ได้เลย

ที่มา – Venturebeat

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/amazon-go-meal-kit-blue-apron/