คลังเก็บป้ายกำกับ: เดลิเวอรี่

Uniqlo เปลี่ยนไป! นอกจากเสื้อผ้าสไตล์มินิมอลแล้ว ยังหันมาขายดอกไม้ด้วย

หมดยุคขายอย่างเดียว Uniqlo มาแนวฉีก ไม่ได้ขายแค่เสื้อผ้าสไตล์มินิมอลแล้ว แต่หันมาขายดอกไม้ด้วย

Uniqlo Flower

ต่อจากนี้ เราจะไม่นึกถึง Uniqlo ที่หมายถึงแบรนด์เสื้อผ้าลำลอง สไตล์มินิมอล เน้นความเรียบง่าย ใส่สบายอีกต่อไป เพราะ Uniqlo หันมาขายดอกไม้เพิ่มด้วย

ยูนิตที่เปิดมาให้บริการใหม่นี้เรียกว่า Uniqlo Flower เป็นบริการจากหน้าร้านออนไลน์ให้กับลูกค้าในบางสาขาเท่านั้น ซึ่งก็มีทั้งในโตเกียว คานากาวะ ไซตามะ และชิบะ สามารถสั่งออนไลน์ให้ส่งตรงถึงบ้านได้เลย ถ้าสั่งดอกไม้ก่อนเที่ยงวันก็จะได้รับในวันถัดไป

ดอกไม้ที่จัดช่อขายให้กับลูกค้านี้ มีทั้งกุหลาบ คาร์เนชัน คอร์นฟลาวเวอร์ และดอกไม้ที่ออกแต่ประจำฤดูนั้นๆ ซึ่งราคาที่จัดจำหน่ายก็อยู่ที่ 1,490 ถึง 1,590 เยน ราว 375 ถึง 400 บาท

Uniqlo Flower

Uniqlo Flower

สำหรับช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมก็จะมีระงับการให้บริการในบางพื้นที่ เช่น ฮอกไกโด อาโอโมริ อากิต และอิวาเตะ ฟรีค่าส่ง ถ้าสั่งตั้งแต่ 4,990 เยนหรือประมาณ 1,200 บาทขึ้นไป ในไทยก็เริ่มมียูนิตดอกไม้จัดจำหน่ายแล้ว

ที่มา – Japan Today, Uniqlo Flower

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Uniqlo เปลี่ยนไป! นอกจากเสื้อผ้าสไตล์มินิมอลแล้ว ยังหันมาขายดอกไม้ด้วย first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/uniqlo-flower/

สมรภูมิแย่งชิงลูกค้า! แฟลช เอ็กซ์เพรส-เคอร์รี่แข่งกันลดราคา แต่ไปรษณีย์ไทยขึ้นราคา

งานเดลิเวอรี่มีเดือด เมื่อสองแบรนด์ใหญ่หันมาอัดโปรโมชั่น พร้อมลดราคาในการให้บริการลูกค้าแล้ว

Flash-Kerry

โควิดทำให้กระแสซื้อสินค้าออนไลน์ถล่มแบรนด์เดลิเวอรี่ทั้งเล็กและใหญ่ในตลาด ทุกแบรนด์ต้องแข่งขันกันส่งสินค้าถึงมือลูกค้าให้ตรงเวลา จนเกิดกระแสดราม่าสินค้าล้นคลังส่งของ พนักงานขับรถส่งของต้องวิ่งรอกถี่ไปพร้อมๆ กับแบกความหวังของลูกค้าที่ต้องส่งสินค้าให้เร็ว แบกเป้าหมายของบริษัทที่ต้องส่งสินค้าให้มากและทันเวลา ล่าสุด เข้าสู่ยุคแข่งขันราคากันแล้ว มาดู Flash กับ Kerry ว่ามีอะไรใหม่ๆ บ้าง

แฟลช เอ็กซ์เพรส

Flash Express ลดราคา 10%

ผู้ให้บริการขนส่งสัญชาติไทยลดราคาเอาใจตลาด ด้วยการลดค่าส่งลง 10% สำหรับพัสดุขนาด 1 กิโลกรัม ความยาว x กว้าง x สูง ไม่เกิน 40 เซ็นติเมตร ผ่าน Flash Home ทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง

ไม่ใช่แค่นี้ ลูกค้ายังสามารถสะสมคะแนนจาก Flash Familyได้ด้วย เพื่อนำคะแนนมาแลกสินค้าในภายหลัง และยังฟรีค่าบริการเสริม Speed Guarantee คือการันตีเวลาส่ง ส่งช้า ส่งฟรี สำหรับลูกค้าที่พัสดุขนาดไม่เกิน 1 กิโลกรัม

บริษัทจะไม่เก็บค่าบริการเพิ่มเมื่อส่งพัสดุผ่าน Flash Shop และ Flash Home หากพัสดุถึงปลายทางไม่ตรงตามเวลา ลูกค้าจะได้รับคืนเงินค่าบริการขนส่งเต็มจำนวน เงื่อนไขเป็นไปตามบริษัทกำหนด สามารถใช้บริการได้ตั้งแต่ 16 กรกฎาคมถึง 5 สิงหาคม 2565 นี้

kerry express

Kerry Express เริ่มต้นค่าส่งที่ 15 บาท

เปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ พร้อมบริการจัดส่งที่รวดเร็ว ส่งวันนี้ถึงพรุ่งนี้! เฉพาะ Seal Bag A (32 ซม. x 23 ซม.)​ น้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม จำกัดจำนวนการส่ง 1 ชิ้น/ คน/ ใบเสร็จ/ วัน

ขอสงวนสิทธิ์เฉพาะสาขาที่ร่วมรายการเท่านั้น ราคานี้ไม่รวมค่าบริการน้ำมันส่วนเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป (การปรับราคา ระยะเวลา และค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม เป็นไปตามดุลยพินิจของบริษัทฯ แต่เพียงผู้เดียว

จังหวัดที่ร่วมรายการ และสามารถส่งปลายทางได้ทุกจังหวัด: กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ชลบุรี, กาญจนบุรี, ขอนแก่น, นครราชสีมา, นครสวรรค์, นครศรีธรรมราช, สระบุรี, สงขลา, สุพรรณบุรี และอุบลราชธานี

จังหวัดที่ร่วมรายการ และสามารถส่งปลายทางได้เฉพาะในจังหวัดเท่านั้น เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง, ลำพูน, ลพบุรี, นครปฐม, พะเยา, พิษณุโลก, ภูเก็ต, ราชบุรี, ระยอง, ร้อยเอ็ด, สุราษฎร์ธานี และอุดรธานี

ไปรษณีย์
ภาพจาก Facebook ของไปรษณีย์ไทย

ขณะที่ไปรษณีย์ไทยดันหันมาขึ้นราคา ส่งสินค้าน้ำหนักไม่ถึง 500 กรัม จะคิดค่าบริการ 30 บาท จากเดิม ไม่รวมลงทะเบียนอยู่ที่ 3-15 บาท (อ่านเพิ่มได้ที่นี่ ไปรษณีย์ไทย ขึ้นราคา ส่งพัสดุใดๆ เริ่มต้น 30 บาท เลิกใช้มาตรฐานเดียวกับส่งซองจดหมาย)

ที่มา – Flash, Kerry

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post สมรภูมิแย่งชิงลูกค้า! แฟลช เอ็กซ์เพรส-เคอร์รี่แข่งกันลดราคา แต่ไปรษณีย์ไทยขึ้นราคา first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/flash-versus-kerry-express-on-price-war-but-thailand-post/

จีน Lockdown เข้มข้น: เร่งควบคุมโควิด จนคนอยู่ลำบาก รถโดยสารไม่มี คนส่งของไม่พอ

ต้องบอกว่าอาการหนักจริงๆ สำหรับประเทศจีน ที่ล่าสุดล็อคดาวน์เสียจนคนจีนอยู่ในประเทศตัวเองยังอยู่ลำบาก เดือดร้อนจนต้องออกมาประท้วง ประท้วงจนทางการจีนต้องสั่งเซ็นเซอร์คลิปประท้วงอีก เป็นการจัดการโควิดที่เชื้อโรคอยู่ไม่ได้ไม่พอ คนก็จะอยู่ไม่ได้ด้วย

Covid-Zero

มาตรการ Covid Zero เข้มข้น จนคนอยู่ลำบาก

Brad Zhang กักตัวอยู่ในโรงแรมของจีน เซี่ยงไฮ้ เป็นเวลายาวนาน 3 สัปดาห์แล้ว เมื่อจีนเริ่มสั่ง lockdown หลังจากที่โควิดระบาดรอบใหม่ ทำให้ในตัวเมืองไม่มีรถแท็กซี่วิ่ง ไม่มีขนส่งมวลชนให้บริการ เขาต้องเดินลากกระเป๋าเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตรเพื่อกลับบ้านตัวเองท่ามกลางเมืองปิดตายที่มีคนอยู่อาศัยราว 25 ล้านคน Zhang บอกว่าวิธีเดียวที่เขาจะกลับบ้านได้ก็คือ เดิน เขาถูกกักตัวหลังจากเดินทางมาจากต่างประเทศ Zhang บอกว่าเขาไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน ไม่มีร้านรวงเปิด ไม่มีร้านอาหารเปิดสักร้านเลย

ขณะที่ Wang ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของเซี่ยงไฮ้ บอกว่า เขากำลังหมดหวังที่คิดว่าอพาร์ทเมนท์เขาน่าจะหลุดจากการล็อคดาวน์เหมือนทางฝั่งตะวันตกเสียที เพราะเขาไม่ได้กักตุนอาหารไว้และตอนนี้เขาก็พึ่งพาการกินอยู่กับเพื่อนบ้านเท่านั้น เขาบอกว่า มีแต่ทรัพยากรทางการแพทย์เท่านั้นที่ถูกมุ่งเป้า ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ แต่จีนไม่ได้สนใจชีวิตที่เหลือท่ามกลางการล็อคดาวน์เลย หลายคนต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤตเพราะไม่ได้รับการดูแล ไม่ใช่การดูแลจากโควิด แต่เป็นการดูแลในเรื่องความหิวโหยและการดูแลที่ช้าเกินไปจะทำให้ชีวิตของผู้คนตกอยู่ในความเสี่ยง ตกอยู่ในช่วงโศกนาฏกรรม มันเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์ลงมือทำกันเองนี่แหละ พนักงานส่งอาหารก็ถูกห้ามปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว

Kye Lee เป็นอีกคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ เธอพยายามสั่งผัก เนื้อสัตว์และสิ่งของที่จำเป็นมายังพื้นที่ล็อคดาวน์ที่เธออยู่หลายต่อหลายครั้ง แต่เธอก็พบว่า ความพยายามนั้นล้มเหลว คำสั่งซื้อของเธอโดนปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า การล็อคดาวน์ไม่ใช่แค่ทำให้เดินทางลำบาก อาหารไม่มีจะกิน แต่บางคนยังเตรียมตัวไม่ทันด้วยซ้ำ หลังมีคนติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้น รัฐก็พร้อมใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดทันที เซี่ยงไฮ้กลายเป็นศูนย์กลางขอโรคระบาดหลังจากที่พบคนติดเชื้อโอไมครอนเพิ่ม แต่คนส่วนใหญ่ก็มีอาการอ่อนๆ ไปจนถึงไม่มีอาการเลย

covid 19
Photo by Shengpengpeng Cai on Unsplash

ควบคุมจนล้มเหลว พอคนลุกขึ้นประท้วงก็ถูกเซ็นเซอร์

ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามา อาจกล่าวได้ว่า จีนมุ่งเป้าหวังควบคุมโควิดจนไม่สนใจว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ล็อคดาวน์จะประสบปัญหาในการใช้ชีวิตอย่างไร ล่าสุด บริษัทเทคจีนยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent ยังต้องเอาคลิปวิดีโอออกจาก WeChat เพราะผิดกฎหมายและนโยบายของจีน ที่คนประท้วงผ่านคลิปวิดีโอ เรียกร้องว่าพวกเขาหิว เขาต้องการทานอาหาร ต้องการสิทธิที่จะรับรู้และต้องการเสรีภาพ เป็นการเรียกร้องสิทธิที่พวกเขากำลังถูกบีบบังคับผ่านนโยบายล็อคดาวน์เซี่ยงไฮ้ของจีน

มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเซี่ยงไฮ้คิดเป็น 3.8% ของ GDP จีน เป็นเมืองที่ชนชั้นนำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เซี่ยงไฮ้ถือเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีคนรวยอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก เป็นทั้งศูนย์กลางบริการทางการเงิน เป็นทั้งศูนย์รวมแฟชั่นหรู เป็นพื้นที่ที่มีคนต่างประเทศมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดในจีน ระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขก็ถือว่าดีที่สุดของประเทศ ไม่มีโรคระบาดมาสองปีแล้ว คนไม่คุ้นเคยกับนโยบาย Covid Zero ของจีน ทางการจีนถึงกับต้องออกจดหมายเปิดผนึกเพื่อขอบคุณชาวเมืองเซี่ยงไฮ้ที่อดทนต่อความยากลำบากจากมาตรการกำจัดโรคระบาดของจีน โดยจีนสัญญาว่าจะจัดการให้ดีขึ้นทั้งในส่วนของการให้ความดูแลแบบฉุกเฉินและการจัดหาอาหารให้

ปัญหาใหญ่ตอนนี้ของจีนคือ มีผู้คนราว 71 ล้านคนที่กำลังได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์หลายพื้นที่ในจีน จนทำให้ผู้คนประสบปัญหาเพราะขาดแคลนอาหาร ทั้งในรูปแบบไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ ทั้งการทุ่มซื้ออาหารเพราะความตกใจกลัว ขณะเดียวกันก็ขาดแคลนพนักงานส่งของด้วย นักวิชการจาก Chinese University of Hong Kong ระบุว่า การล็อคดาวน์ของจีนสร้างภาระและต้นทุนให้ประเทศสูงถึงราว 4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.53 ล้านล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 3.1% ของ GDP

Xi Jinping
ภาพจาก Shutterstock

WeChat ไม่ได้ลบแค่วิดีโอประท้วงการจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาลจีนเท่านั้น ยังบบทความจาก Li Chengpeng ผู้ที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจีนอยู่บ่อยครั้ง บทความที่ถูกลบทิ้งไป เขาก็พูดถึงต้นทุนต้นทุนของนโยบาย Covid Zero ของจีนที่สร้างผลกระทบต่อมนุษย์เช่นกัน

ที่มา – Nikkei, Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post จีน Lockdown เข้มข้น: เร่งควบคุมโควิด จนคนอยู่ลำบาก รถโดยสารไม่มี คนส่งของไม่พอ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/covid-zero-policy-makes-chinese-suffer/

LINE MAN อัดแคมเปญ คนละครึ่ง ลด 100 เทียมทาน ลดเพิ่มอีกต่อ ช่วยผู้บริโภค-ร้านอาหาร

LINE MAN อัดแคมเปญ ‘LINE MAN คนละครึ่ง ลด 100 เทียมทาน’ ลดภาระค่าครองชีพด้วยโค้ด ลด 50% สูงสุด 100 บาท เริ่มแล้ววันนี้ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565

Disclaimer: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือ LINE MAN Wongnai

LINE MAN ตัวจริงคนละครึ่ง เดินหน้าเข้าร่วมโครงการเฟส 4 อัดแคมเปญ LINE MAN คนละครึ่ง ลด 100 เทียมทาน ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ลูกค้าด้วยโค้ด REALHALF มอบส่วนลด 50% สูงสุด 100 บาท และโปรโมชันจาก 60,000 ร้านค้าทั่วไทย เริ่มแล้ววันนี้ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565 พร้อมดันยอดขายร้านอาหาร สูงสุดกว่า 5 เท่า* ยืนยันระบบใช้งานง่าย ไรเดอร์ไม่ยกเลิกออร์เดอร์

คุณยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวว่า “จากความสำเร็จของ LINE MAN ที่รวบรวมร้านอาหารในโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ไว้มากที่สุดกว่า 60,000 ร้าน จากร้านอาหารทั้งหมดที่ลงทะเบียน กับกระทรวงการคลังจำนวน 82,000 ร้าน ช่วยกระตุ้นยอดขายร้านอาหารเพิ่มมากขึ้นสูงสุด 5 เท่า พร้อมกับลดภาระ ค่าครองชีพของผู้บริโภค เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่เรามุ่งมั่นเสมอมาเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยคนละครึ่งเฟส 4 นี้ LINE MAN ยังคงสานต่อความตั้งใจผ่านการมอบสิทธิประโยชน์ให้กับร้านอาหารรวมถึงผู้บริโภค พร้อมกับสนับสนุนนโยบายของกระทรวงการคลังต่อไป”

 LINE MAN คนละครึ่ง ลด 100* เทียมทาน จาก 60,000 ร้านอาหารครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ – 14 กุมภาพันธ์ 2565

  • สำหรับผู้ใช้สิทธิ์คนละครึ่งบน LINE MAN ใส่โค้ด “REALHALF” รับส่วนลด 50% สูงสุด 100 บาท เมื่อสั่งอาหารผ่านคนละครึ่ง ไม่มีกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการสั่งซื้อสินค้า (ได้รับสิทธิ์ 1 ครั้ง) ลูกค้าสามารถรับส่วนลดต่อที่ 1 จาก LINE MAN สูงสุด 100 บาท ทั้งลูกค้าเก่าและใหม่ และส่วนลดต่อที่ 2 จากการใช้คนละครึ่ง

“จากสถิติของลูกค้าจะมีการเลือกสั่งออร์เดอร์คนละครึ่ง มากกว่าออร์เดอร์ปกติถึง 2 เท่า โดยเราเชื่อว่าคนละครึ่งเฟส 4 นี้ จะช่วยสร้างโอกาสให้กับร้านอาหารทั้งที่เคยเข้าร่วมคนละครึ่งผ่านแอปฯ LINE MAN และร้านใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าร่วม ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ร้านอาหารเหล่านี้ได้ขยายฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น และเป็นผลดีต่อการทำการตลาดของร้านในอนาคต” คุณยอดสรุป

สำหรับร้านอาหารที่เข้าร่วมคนละครึ่งบน LINE MAN รายงานยอดขายเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 เท่า (สถิติจากร้านอาหาร ที่เข้าร่วมคนละครึ่งเฟส 3) โดยมีจำนวนผู้ใช้ใหม่บน LINE MAN ที่เพิ่มขึ้นถึง 284%

ร้านอาหารที่เข้าร่วมคนละครึ่งเฟส 4 จะได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นยอดขายมากมาย อาทิ

  • ปรับลดค่า GP ไม่เกิน 20% สำหรับออร์เดอร์ “คนละครึ่ง”
  • สื่อโฆษณาออนไลน์บนแอปฯ และทุกช่องทางสื่อของ LINE MAN Wongnai
  • ระบบคนละครึ่งบน LINE MAN ที่ใช้งานง่าย ไม่ต้องสแกน ไม่จำกัดระยะทาง และคนขับไม่ยกเลิกออร์เดอร์
  • หากสร้างโปรโมชันกับเมนูคนละครึ่ง รับพื้นที่สื่อบนหน้าแอปฯ เพิ่มเติม มูลค่าถึง 200,000 บาท

ร้านอาหารที่เคยเข้าร่วมเฟส 3 กับ LINE MAN แล้ว เพียงกดปุ่มยืนยันบนแอปฯ ถุงเงิน ก็สามารถรับออร์เดอร์คนละครึ่ง ต่อได้เลย และสำหรับร้านอาหารที่ไม่เคยเข้าร่วมคนละครึ่งกับ LINE MAN สามารถเข้าร่วมขายคนละครึ่งได้ที่แอปฯ ถุงเงิน ตั้งแต่วันนี้จนกว่าจะสิ้นสุดโครงการคนละครึ่ง เฟส 4

*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post LINE MAN อัดแคมเปญ คนละครึ่ง ลด 100 เทียมทาน ลดเพิ่มอีกต่อ ช่วยผู้บริโภค-ร้านอาหาร first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/lineman-half-half-campaign/

ทุบอีกแล้ว! รัฐบาลจีนจัดหนักแอปเดลิเวอรีและแอปเรียกรถ ต้องขึ้นค่าแรงให้เหมาะสม

ทุบไม่หยุด สำหรับรัฐบาลจีนยังคงเดินหน้าทุบบริษัทเทคโนโลยีจีนต่อเนื่อง ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมจีนเพิ่งจะเผยแพร่ข้อความหลังจากประชุมร่วมกับอีกบริษัทเทคจีนอีก 10 แห่งซึ่งก็มีทั้ง Meituan, Didi Global, Alibaba Group Ele.me และ Tencent ร่วมด้วย

ผลจากการประชุมดังกล่าวนำมาสู่การร่างแนวทางในการควบคุมแพลตฟอร์มเดลิเวอรีอาหารเพื่อประกันรายได้คนทำงานให้มากกว่าระดับการจ่ายขั้นต่ำ ทั้งนี้สื่อจีนก็มีการวิพากษ์วิจารณ์แอป Didi ด้วยว่ามีการจ่ายค่าแรงให้กับคนขับรถอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่ทางการจีนเองก็โจมตีบริษัทเทคจีนต่อเนื่อง ซึ่งก็มีทั้งการวิพากษ์นโยบายที่มีการขูดรีดแรงงาน ละเมิดสิทธิผู้บริโภค ซึ่งนี่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการที่จีนเริ่มเข้ามาควบคุมบริษัทเทคจีนมากขึ้น ไม่ได้มีแค่แพลตฟอร์มเหล่านี้เท่านั้นแต่ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เกมและด้านเอ็นเตอร์เทนเมนท์ด้วยที่เป็นเป้าหมายของจีน

ก่อนหน้านี้จีนก็เพิ่งจะเรียกบริษัทเกมอย่าง Tencent และ NetEase เข้ามาประชุมเพื่อบอกให้พวกเขาทำตามกฎใหม่โดยไม่ต้องสนใจรายได้หรือยอดขาย แน่นอนว่าอุตสาหกรรมบันเทิงก็โดนด้วย

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ทุบอีกแล้ว! รัฐบาลจีนจัดหนักแอปเดลิเวอรีและแอปเรียกรถ ต้องขึ้นค่าแรงให้เหมาะสม  first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/china-order-delivery-and-ride-hailing-companies-improve-income-for-workers/

ถอดวิธีคิดเจ้าของคาเฟ่และโรงแรมแมว: อยู่อย่างไรให้รอด ในวันที่หลายธุรกิจปิดตัว

ในยุคที่โควิดระบาดหนักขนาดนี้ หลายคนต้องถูกลอยแพจากตำแหน่งงานโดยไม่ตั้งใจ บ้างก็ถูกลดเงินเดือน ปรับสภาพไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีสภาวะถดถอย ยุคนี้ แค่คิดจะหยิบจับหรือทำธุรกิจอะไรขึ้นมาสักอย่าง ถือเป็นเรื่องยากแสนยาก ทั้งยากในวิธีคิดเพื่อการก่อตั้งและยากที่จะดำรงอยู่ได้อย่างดี โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ใครๆ ก็ไม่กล้าใช้เงิน เพราะเราต่างไม่รู้ว่าสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้จะอยู่กับเราไปอีกยาวนานแค่ไหน ทำได้แค่เพียง ระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างสุดกำลัง

วันนี้ Brand Inside ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจคาเฟ่และโรงแรมแมว ณัฐฤฎา ช้วนรักธรรม (เกม) เจ้าของร้าน Cat Slave Cafe’s and Cat Hotel เรามาดูกันว่า เธอมีวิธีคิดในการทำธุรกิจช่วงโควิดระบาดอย่างไรบ้าง

Cat Slave Cafe’s and Cat Hotel

ณัฐฤฎาเล่าให้เราฟังว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจนี้ จากตัวเธอเองที่เป็นคนรักแมว ชอบเลี้ยงแมวและชอบไปเที่ยว ช่วงที่เธอไปเที่ยว เธอก็ต้องเอาแมวของเธอไปฝากตามโรงแรม ตามคลินิก ซึ่งคนเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นห่วงสัตว์เลี้ยงที่เปรียบเหมือนลูกของตัวเองและเอาไปฝากในสถานที่ต่างๆ ที่รับดูแล เธอเริ่มจากดูข้อมูลว่าการทำธุรกิจแบบนี้เขาทำอย่างไรกันบ้าง ปกติโรงแรมแมวจะมีเฉพาะตามคลินิก เมื่อไปถึงจะนำสัตว์เลี้ยงไปใส่กรงบ้าง บางแห่งก็ทำพื้นที่ให้กว้างขึ้น มีของเอนเตอร์เทนแมวเหมือนโรงแรมแมว

จากนั้นเธอก็เริ่มคิดทำธุรกิจนี้ โดยเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2019-2020 เธอคิดว่าอยากทำเพราะชอบและคิดว่าน่าสนใจ ถ้าทำเป็นโรงแรม จะต้องรอคนนำสัตว์เลี้ยงมาฝากและพากลับไป เลยคิดว่าน่าจะทำอะไรมากกว่าโรงแรมแมว เช่น มีการทำเครื่องดื่ม ทำขนม ทำโรงแรมและคาเฟ่ไว้ในพื้นที่เดียวกัน ตัวเธอเองก็มีแมวเลี้ยงอยู่ก่อนหน้าแล้ว 7 ตัว แมวที่เธอเลี้ยงเริ่มจากการเลี้ยงแมวจรเพราะอยากช่วยเหลือ เธอนำแมววิเชียรมาศ แมวขาวมณี รวมเป็นแมวจร 4 ตัวมาเลี้ยง จากนั้นเธอก็ซื้อแมวพันธุ์มาอีก 2 ตัว และรุ่นพี่ที่รู้จักกันเก็บแมวจรข้างถนนมาอีก 1 ตัวให้เธอช่วยเลี้ยง

Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

ทำธุรกิจคาเฟ่และโรงแรมแมวเพราะใจรัก ไม่ได้ทำเพราะตามกระแส

จุดตั้งต้นของเธอคือความรักที่มีต่อแมวอยู่เป็นทุนเดิมหรือเรียกได้ว่าเป็นทาสแมวมาก่อน ไม่ได้คิดจะทำธุรกิจเช่นนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม หากเราไปตามคาเฟ่ต่างๆ เราจะเห็นว่าส่วนใหญ่เลี้ยงแมวพันธุ์ แต่สำหรับเธอไม่ได้เริ่มจากแนวคิดนั้น 

เธอแบ่งโซนสำหรับทำพื้นที่ให้แมวโดยการแบ่งเป็นรูปแบบการดูแลลูกค้า ถ้าเป็นลูกค้าที่เล่นกับแมวจะมีคาเฟ่ชั้นล่างและเอาท์ดออร์เล็กๆ ส่วนด้านบนทำเป็นโรงแรมแมว จัดโซนให้เฉพาะคนเอาแมวมาฝาก มีห้องสำหรับให้แมวอยู่จำนวน 11 ห้อง แยกกันเป็นโซน

คาเฟ่แมว- Cat Slave Cafe' And Cat Hotel
Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

สำหรับในส่วนของ Cat Hotel จะมีขนาดห้องที่หลากหลายด้วยกัน มีห้องแบบ Single Room เรตราคาอยู่ที่ 150 บาท น้องแมวสามารถมาอยู่ได้ 1 ตัว ขนาดพื้นที่ราว 60x100x90 ซม. ส่วนห้องรูปแบบ Standard Room เรตราค 250 บาท แมวอยู่ได้ 2 ตัว ขนาดพื้นที่ราว 60x100x1170 ซม.

ส่วนห้องที่เป็นแบบ Family Room เรตราคาอยู่ที่ 350 บาท แมวอยู่ได้ 4 ตัว ขนาดพื้นที่ 110x120x190 ซม. และห้องแบบ View Room เรตราคาอยู่ที่ 400 บาท แมวอยู่ได้ 4 ตัว ขนาดพื้นที่ราว 110x120x190 ซม. ทาง Cat Hotel มีทรายแมวไว้ให้และมีอาหารแมวให้ด้วย (ลูกค้าสามารถเอาอาหารสำหรับแมวมาได้ด้วย) ค่าอาหารจะตกวันละ 50 บาท เป็นอาหารเม็ด ส่วนมากลูกค้ามักจะนำอาหารมาเอง เพราะแมวแต่ละตัวก็จะมีความต้องการหลากหลาย มีการทานอาหารที่จำเพาะแล้วแต่การเลี้ยงดู

คนที่เอาแมวมาฝาก จะต้องมีสมุดสุขภาพแมว ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ได้มีอาการป่วยอยู่เดิม มีเอกสารให้เซ็นยินยอมว่ากรณีที่แมวป่วยหรือเสียชีวิต ทางคาเฟ่และโรงแรมแมวจะไม่ได้รับผิดชอบในส่วนนี้ แต่ทางร้านจะแจ้งข้อมูลกับลูกค้าเสมอว่า ถ้าแมวของเขาป่วยขณะที่มาอยู่ที่คาเฟ่หรืออยู่ในโรงแรมแมว ทางร้านก็จะพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลให้ โดยลูกค้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง  

Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

ณัฐฤฎาพูดถึงการนำแมวไปฝากของผู้คนส่วนใหญ่ มักจะแมวพันธุ์มาฝากอยู่แล้ว ส่วนมากแมวไทยก็เลี้ยงกึ่งปิดกึ่งปล่อย ทางร้านก็จะประเมินอยู่เสมอว่าเขาจะเอาแมวมาทิ้งที่ร้านหรือไม่ มีการถ่ายสำเนาบัตรประชาชน มีการ add Line เพื่อส่งภาพความเป็นอยู่ของน้องแมวให้ลูกค้าดูทุกวันทั้งเช้าและเย็น ว่าลูกเขาทำอะไร มีกิจกรรมอะไร ส่งความคืบหน้าทุกวัน

ปัจจุบันทาง Cat Slave Cafe’s And Cat Hotel เปิดให้บริการในส่วนของคาเฟ่ แต่ยังปิดในส่วนของโรงแรมอยู่ เพราะยังต้องเฝ้าระวังเรื่องโควิดระบาดอยู่ ตอนนี้ขายเครื่องดื่มในไลน์แมน https://wongn.ai/q8bny ขายในหมู่บ้าน ขายตามกลุ่มคนชุมชนแถวนี้ ยังไม่ได้ใช้เงินทำการตลาดด้านนี้มากนัก เรียกว่า ทำร้าน ทำธุรกิจแบบซ้อมเปิดไปก่อน “ตอนนี้ก็ซ้อมขายไปก่อน ขายได้นิดหน่อยก็ดีกว่าปิดไปเลย อย่างน้อยก็มีรายได้เข้ามาบ้าง แต่ก็ยังไม่คุ้มทุน”

สำหรับเมนูเครื่องดื่มก็มีทั้งชา กาแฟ โกโก้ อิตาเลียนทั่วไป หลังจากนี้ถ้าสามารถเปิดร้านและโรงแรมได้เต็มรูปแบบก็จะมีการเพิ่มเมนูของทานเล่น นักเกต เฟรนส์ฟราย อาจจะมีเมนูหนักๆ บ้าง เช่น ขนมจีนแกงเขียวหวาน อาหารคาววันละหนึ่งอย่าง

Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

เลือกลงทุนในยุคนี้ มีวิธีคิดอย่างไร

ณัฐฤฎาเล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่คิดว่าโควิดระบาดลุกลามหนักขนาดนี้ ด้วยการจัดการไม่ดี ทำให้ล้มเหลวไปหมด ตอนที่คิดลงทุนยังไม่หนักขนาดนี้ และสิ่งที่ทำไม่ได้บูด ไม่ได้เสีย ไม่พัง ถึงเปิดตอนนี้ไม่ได้ ก็ยังเก็บไว้เปิดในอนาคตได้ แม้ตอนนี้จะรู้สึกเหนื่อยอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าทำไปก่อน 

อีกทั้งสถานที่ก็เป็นบ้านของตัวเองอายุ 30 ปีแล้ว เธอเลือกทุบทิ้งบางส่วนและรีโนเวต พื้นทำใหม่ หลังคาทำใหม่หมดเลย ต่อเติมบ้าง โครงสร้างเดิม ทำใหม่ราว 1 ล้านเศษ ไม่รวมเฟอร์นิเจอร์ ทำใหม่หมดใช้ระยะเวลานาน 1 ปี และก็เลือก reference ให้ช่างปรับตามรวมทั้งวัสดุใช้ในบ้าน เป็นบ้านตัวเอง หลังโควิดระบาดอย่างหนักก็ทำให้ผู้คนเดินทางไม่ได้ ก็ยังไม่เปิดโรงแรมให้แมวพัก

ณัฐฤฎา ช้วนรักธรรม (เกม) เจ้าของร้าน Cat Slave Cafe’s and Cat Hotel

สำหรับข้อคิดในการทำธุรกิจยุคนี้ ณัฐฤฎากล่าวว่า ทำธุรกิจยุคนี้ต้องใช้ความอดทนมากๆ เพราะสถานการณ์ก็ยากลำบากอย่างที่รับรู้กัน ดังนั้น ถ้าคนที่ทำธุรกิจตามกระแส ส่วนมากก็จะปิดตัวลงไปก่อน แต่ถ้าคนที่ทำเพราะใจรัก หรือมี passion เกี่ยวกับสิ่งที่อยากทำ คิดว่าน่าจะอดทนทำมันต่อไปได้ดีกว่า ในกรณีนี้ไม่นับรวมกลุ่มธุรกิจที่ที่ทุนหนา เพราะถือว่าอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่สายป่านยาวจะทำอย่างไรก็ย่อมสะดวกกว่ากลุ่มอื่น

ความได้เปรียบทางธุรกิจที่ณัฐฤฎามอง เธอบอกว่า เธอไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่ เพราะฉะนั้น ธุรกิจหลักๆ ที่จะเปิดในยุคนี้ที่ต้องคำนึงถึงค่าเช่าสถานที่ หรือแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน เหล่านี้ ถ้าสามารถทำได้เองก็จะช่วยลดต้นทุนที่ไม่เป็นจำเป็นลง สิ่งที่เราทำได้เอง เราจะตั้งใจทำมากกว่าพนักงานที่เราจ้างรายวันแน่นอน ทั้งเรื่องคุณภาพและบริการต่างๆ

ส่วนเรื่องทำเล เธอก็มองว่าเป็นทำเลที่ได้เปรียบ แต่หน้าร้านของรายอื่นๆ ก็อาจจะฝ่าวิกฤตไปได้บ้างถ้าหันมาพึ่งออนไลน์เช่น ช่องทางจัดจำหน่ายออนไลน์ เช่น บริการเดลิเวอรี่ แม้ว่าอาจจะต้องเสียค่า GP ให้บริษัทที่ทำเดลิเวอรี่ด้านนี้ ก็ยังดีกว่าไม่มียอดขายเข้ามาเลย การเพิ่มช่องทางดังกล่าวช่วยเพิ่มกระแสเงินสดเข้ามาในระบบได้บ้าง สุดท้ายแล้ว เธอคิดว่า ทุกคนที่เริ่มทำธุรกิจก็คงไม่อยากปิดกิจการไป

Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

ดังนั้น ก็ต้องสู้ สู้ด้วยตัวเองก่อน ทุกวันนี้ เราพึ่งใครไม่ได้ ไม่มีนโยบายอะไรมารองรับหรือเยียวยาเจ้าของธุรกิจได้เลย ไม่ได้นับเฉพาะธุรกิจร้านค้าเล็กๆแบบนี้ ธุรกิจขนาดกลางก็ยังสู้ไม่ไหวเช่นกัน สุดท้ายเธอก็หวังว่าทุกคนจะผ่านมันไปให้ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ถอดวิธีคิดเจ้าของคาเฟ่และโรงแรมแมว: อยู่อย่างไรให้รอด ในวันที่หลายธุรกิจปิดตัว  first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/cat-slave-cafes-and-cat-hotel-how-to-survive-among-covid-19-outbreak/

Food Delivery ปี 64 นี้มูลค่ารวมสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวกว่า 24% YOY

โควิด-19 ระบาดยาวนาน ส่งผลให้การแข่งขันธุรกิจจัดส่งอาหาร (Food Delivery) รุนแรงมากขึ้น กอรปกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคของรัฐไปจนถึงการจำกัดการให้บริการของร้านอาหารเหลือเพียงการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันจัดส่งอาหาร ส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ที่คาดว่ามูลค่ารวมของรายได้ธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 2564 หายไปไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท ผลักดันให้ธุรกิจจัดส่งอาหารกลายเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร

Disclaimer: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือ LINE MAN Wongnai

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าทั้งปี 2564 ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านน่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้งหรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาดในปี 2562 ที่มีจำนวนราว 35-45 ล้านครั้ง วิถีการใช้ชีวิตท่ามกลางโรคระบาดส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปการเปลี่ยนแปลงเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภค ดังนี้

ระดับราคาเฉลี่ยต่อครั้งที่สั่งลดลง 20-25% จากปีก่อน จากปีก่อนจากปัจจัยด้านกำลังซื้อและการอัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ ผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารในระดับราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อ

ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) มีบทบาทมากขึ้นและคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่า 40% ของมูลค่ารวมของธุรกิจจัดส่งอาหารจากเดิมในปี 2563 อยู่ที่ 29% เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงประเภทอาหารของผู้บริโภคมายังเมนูอาหารที่มีราคาย่อมเยา

พื้นที่การส่งอาหารขยายสู่บริเวณกรุงเทพฯ รอบนอกและพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ – ปริมณฑลมากขึ้น ผลสำรวจของศูนย์วิจัยฯ พบว่า หลังการระบาดเดือนเมษายน 2564 พนักงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ทำงานทั้งสองรูปแบบคือ Work from home และ Hybrid working มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 83% โดยผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารบริเวณใกล้ที่พักมากขึ้น

ปัจจัยและสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ปี 2564 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 5.31-5.58 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวสูงถึง 18.4%-24.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถึงแม้รายได้จะเติบโตแต่การจะพลิกกลับมาสร้างผลประกอบการให้เป็นบวกสุทธิของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจ Food Delivery ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Food Delivery ปี 64 นี้มูลค่ารวมสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวกว่า 24% YOY first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/k-research-analysis-on-food-delivery-expand-in-2021/

ทำงานหนักจนตาย: เปิดปมพนักงานอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่แห่งเกาหลี กับวลี “บริษัทเห็นเราเป็นแค่หุ่นยนต์”

พนักงานอีกกี่รายที่ต้องทำงานหนักจนตาย.. ให้บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ระดับโลก ?

อีคอมเมิร์ซเกาหลี

ท่ามกลางกระแสความเติบโตของวงการอีคอมเมิร์ซในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคือ การทำงานหนักตรากตรำของพนักงานหลายชีวิต

เมื่อต้นปี 2021 มีข่าวน่าสลดใจว่า พนักงาน Pinduoduo อีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ในจีน เสียชีวิต 2 ราย

ส่วนทางฝั่ง Amazon ก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีข่าวแง่ลบเกี่ยวกับพนักงานออกมาไม่ขาดสาย เช่น Amazon งานเข้า! ส.ส. สหรัฐฯ เผยพนักงานถูกบังคับด้วยเวลาจนต้องปัสสาวะลงในขวดพลาสติก 

ไม่ใช่แค่จีน ไม่ใช่แค่ฝั่งตะวันตก ล่าสุด ทางฝั่งเกาหลีใต้ก็มีข่าวว่า พนักงานบริษัทอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่อย่าง Coupang ทำงานหนักจนเสียชีวิตเช่นเดียวกัน

มันเกิดอะไรขึ้นในโรงงานของบริษัทอีคอมเมิร์ซแห่งเกาหลีใต้รายนี้ ?

coupang

ชะตากรรมพนักงานในคลังสินค้าบริษัท Coupang

เรื่องราวมีอยู่ว่า Jang Deok-joon ซึ่งเป็นพนักงานในคลังสินค้าของ Coupang ได้เสียชีวิตลงหลังกลับจากทำงานกะดึก

พ่อของเขาเล่าว่า ในคืนนั้น Jang Deok-joon เข้าไปอาบน้ำเป็นเวลานานถึงชั่วโมงครึ่งแล้วยังไม่ออกมา เมื่อลองเปิดประตูเข้าไปดูก็พบว่า เขานอนหมดสติและขดตัวอยู่ในอ่างอาบน้ำ แม้จะนำตัวส่งโรงพยาบาลแต่เขาก็เสียชีวิตลง ซึ่งเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพระบุว่าเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว 

หากย้อนไปดูชีวิตการทำงานของ Jang Deok-joon ก็จะพบว่า เขาทำงานหนักมาตลอด

  • เขาทำงานช่วงกะดึก 19.00 น. ถึง 04.00 น.
  • เขาทำงานหนักเป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน
  • เขาน้ำหนักลดลงถึง 14 กิโลกรัม

กรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะ Go Geon อดีตพนักงานที่ Coupang ก็เล่าว่า “บริษัทเห็นพวกเราเป็นแค่หุ่นยนต์” ตอนที่เขายังทำงานอยู่ในคลังสินค้าก็ต้องวิ่งทำเวลาจนได้รับบาดเจ็บบริเวณเอ็นร้อยหวาย เพราะถ้าช้าหัวหน้าก็จะยิ่งพูดจากดดัน

ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะตั้งแต่ปี 2019 ถึงปี 2020 มีรายงานว่า พนักงานของ Coupang ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงานที่คลังสินค้าถึง 982 ครั้ง ซึ่งถ้าเป็นในอดีตทาง Coupang จะไล่พนักงานกลุ่มนี้ออกไป เพราะอ้างว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพบ้าง

แต่ท้ายที่สุด ศาลในเกาหลีใต้ก็ตัดสินว่า ให้บริษัทหยุดการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมนี้ 

coupang

Coupang ยิ่งใหญ่ขนาดไหนในเกาหลีใต้

เมื่อไม่นานมานี้ Coupang เพิ่งเข้า IPO ในตลาดหุ้น Nasdaq ด้วยมูลค่าธุรกิจกว่า 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือว่าเป็นการ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี หลังจากที่บริษัทเอเชียอย่าง Alibaba เคยสร้างประวัติไว้อย่างน่าภาคภูมิใจ

Coupang มีพนักงานในเครือกว่า 37,000 คน เพื่อรองรับออร์เดอร์สินค้ามหาศาลในแต่ละวัน

บริษัทนี้มีชื่อเสียงมากถึงขนาดที่ประชากรกว่าครึ่งของเกาหลีใต้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Coupang ไว้ เพื่อใช้บริการ Rocket Delivery ที่รับประกันว่าจะจัดส่งสินค้าภายใน 24 ชั่วโมง

Coupang จัดส่งสินค้าได้รวดเร็วขนาดนี้เพราะใช้ AI เข้ามาคำนวณทุกอย่าง ตั้งแต่การสต็อคสินค้า การจัดเรียงสินค้าในรถบรรทุก ไปจนถึงการแนะนำเส้นทางและลำดับส่งมอบสินค้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้สามารถส่งสินค้าหลายล้านรายการได้ภายในหนึ่งวัน

แต่ก็มีข้อเสียหลายอย่าง เช่น พนักงานในคลังสินค้าต้องรีบทำงานถึงขนาดที่หาเวลาไปเข้าห้องน้ำได้ยากเลยทีเดียว

 

โดยสรุป

แม้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั่วโลกจะเติบโตแค่ไหน สิ่งที่หลงลืมไม่ได้คือ “การเอาใส่ใจพนักงานหลังบ้าน” เพราะพวกเป็นกำลังสำคัญ

ถ้าบริษัทระดับโลกบริหารเรื่องนี้ได้ไม่ดีเท่าไหร่ คงสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์เช่นเดียวกับที่หลายๆ ยักษ์ใหญ่กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้

ที่มา: SCMP

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ทำงานหนักจนตาย: เปิดปมพนักงานอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่แห่งเกาหลี กับวลี “บริษัทเห็นเราเป็นแค่หุ่นยนต์” first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/coupang-ecommere-korea-hard-work/

คัตสึยะ ร้านทงคัตสไตล์ญี่ปุ่น เดินหน้าลุยเดลิเวอรี่-ขยายสาขา ฝ่าวิกฤตโควิด

คัตสึยะ (KATSUYA) หนึ่งในผู้นำตลาดทงคัตสึจากญี่ปุ่น รสชาติแท้ เจแปนนิส สไตล์ บริหารงานโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ก้าวสู่ปีที่ 7 ในประเทศไทย รุกเดลิเวอรี่เต็มพิกัด เร่งขยายสาขาฝ่าวิกฤตโควิดในปีนี้ (2021) ตั้งเป้าเปิด 12 สาขา พร้อมจับมือพันธมิตรร่วมกันขยายช่องทางขายใหม่ เพื่อเติบโต 30-40%

katsuya

เด่นชัย เพชรชมรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจอาหารญี่ปุ่น บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด บอกว่า คัตสึยะ มีการรุกขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด พัฒนาเมนูใหม่ๆ ทุก 2 เดือน ทั้งเมนูที่ส่งตรงมาจากญี่ปุ่น และเมนูที่พัฒนาขึ้นเองเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนไทย แต่ยังคอนเซ็ปต์ความเป็นทงคัตสึต้นตำรับจากญี่ปุ่น

จากสถานการณ์โควิด แบรนด์จึงปรับแผนมุ่งเน้นการเพิ่มยอดขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ พร้อมทั้งพัฒนาเมนูทุกเมนูที่จัดส่งถึงลูกค้า ให้ยังคงมีคุณภาพดี อร่อย และคุ้มค่า ไม่ต่างกับที่ลูกค้ามาทานที่ร้าน ส่งผลให้แบรนด์มีการเติบโตในส่วนของตลาดเดลิเวอรี่เป็นอย่างมาก และเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 50% ของยอดขายรวมทั้งหมดของคัตสึยะ

katsuya

โดยในปีที่ผ่านมา (63) มีการเติบโตกว่า 60%  สูงเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นของกลุ่มซีอาร์จี และคาดว่าในปีนี้จะมีการเติบโตไม่ตํ่ากว่า 30-40% 

สำหรับแผนงานในปี 2564 แบรนด์ตั้งธงลุยในช่องทางเดลิเวอรี่แบบเต็มพิกัด ขยายไปยังทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทั้ง Grabfood, Line Man, Food Panda, Gojek, True Food, Robinhood รวมถึงแพลตฟอร์มของ ซีอาร์จี Food hunt 1312 นำเสนอเมนูพิเศษที่จำหน่ายเฉพาะในช่องทางเดลิเวอรี่ และโปรโมชั่นสุดคุ้มที่เน้นให้ความสำคัญถึงแม้ไม่ได้มาทานที่ร้าน แต่ความคุ้มค่า ราคา รสชาติ ไม่ต่างกับการมาทานที่ร้านคัตสึยะ

katsuya

ในขณะเดียวกัน ยังจับมือกับแบรนด์ในเครือ ลุยกลยุทธ์ Cross Sale เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ และตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบถ้วนมากขึ้น อาทิ ร่วม Collaboration กับแบรนด์ บราวน์ ทั้งในส่วนของการทำโปรโมชั่นพิเศษ และนำเมนูซิกเนเจอร์อย่างชานมไข่มุก จำหน่ายที่คัตสึยะทั้งในแบบทานที่ร้าน, ซื้อกลับ (Take away) และ เดลิเวอรี่ นอกจากนี้ ยังมีแผนนำเมนูพิเศษของแบรนด์ไปจำหน่ายที่ร้าน มิสเตอร์ โดนัท ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้อีกด้วย

ส่วนแผนการขยายสาขา เน้นกลยุทธ์การขยายสาขาโมเดลใหม่ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ลูกค้า ไปยังโลเคชั่นใหม่ ๆ รวมถึงขยายไปยังจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ ที่มีกลุ่มลูกค้าของคัตสึยะอยู่ เช่น ขอนแก่น, อุดรธานี เป็นต้น และเน้นการเปิดสาขาในรูปแบบที่เอื้อต่อรูปแบบเดลิเวอรี่ อาทิ ไฮบริด คลาวด์ คิทเช่น (Hybrid Cloud Kitchen) และ คลาวด์ คิทเช่น (Cloud Kitchen) โดยความแตกต่างของร้านในแต่ละรูปแบบ จะอยู่ที่ขนาดร้าน จำนวนที่นั่งในร้าน รูปแบบการบริการ รวมไปจนถึงเมนูอาหาร ซึ่งปัจจุบันร้านคัตสึยะมีจำนวนสาขาทั้งหมด 42  สาขา แบ่งเป็นร้านแบบ Full Shop  จำนวน  37  สาขา, แบบ ไฮบริด คลาวด์ คิทเช่น จำนวน 4 สาขา และ แบบ คลาวด์ คิทเช่นจำนวน 1 สาขา โดยมีแผนการที่จะขยายสาขาเพิ่มเติมในปีนี้ทั้งหมด 12 สาขา รวมสิ้นปีนี้จะมี 54 สาขา

katsuya

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post คัตสึยะ ร้านทงคัตสไตล์ญี่ปุ่น เดินหน้าลุยเดลิเวอรี่-ขยายสาขา ฝ่าวิกฤตโควิด first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/katsuya-delivery/

เพนกวินกินชาบูปรับตัวสู้โควิด: เมื่อก่อนขายชาบู ขายหม้อ ตอนนี้ขายทุเรียนด้วย!

จากผู้ชายขายชาบู สู่ผู้ชายขายหม้อ ตอนนี้เริ่มขายทุเรียนด้วยแล้ว! สำหรับ Penguin Eat Shabu-ร้านเพนกวินกินชาบู ต้องบอกว่าสู้สุดใจ สู้เต็มที่ ปรับตัวมาตั้งแต่โควิดระบาดรอบที่แล้วจนมีคำสั่งล็อคดาวน์ ตอนนี้โควิดระบาดระลอก 3 ร้านเพนกวินกินชาบูก็ยังต้องปรับตัวสู้โควิดอีกระลอกหนึ่ง

Penguin Eat Shabu เพนกวินกินชาบู

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครมีมติให้ยกระดับมาตรการควบคุม งดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่มสุราและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ในร้านให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น คำสั่งดังกล่าวเริ่ม 1 พฤษภาคม 2021 ยกระดับพื้นที่สีแดงเข้ม งดนั่งทาน ซื้อกลับบ้านได้ถึง 21.00 น. แน่นอน คำสั่งนี้ย่อมผลกระทบโดยตรงกับร้านอาหารที่ให้ทานอาหารที่ร้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ร้าน Penguin Eat Shabu ก็คือหนึ่งในร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

เรื่องการปรับตัวจากการขายชาบูและขายหม้อสำหรับกินชาบูด้วยนั้น ธนพันธ์ วงชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Penguin Eat Shabu เผยความในใจผ่าน Facebook ส่วนตัวว่า “เวลาคนเรามันจนตรอกลำบาก เชื่อเหอะมันทำได้ทุกอย่างจริงๆ” หลังจากที่รัฐสั่งให้ปิดร้าน ทางร้านจึงเรียกประชุมทีม วางแผนกำลังคนใหม่และประเมินความเสี่ยงจากวิกฤตครั้งนี้

หลังจากนั้น 24 ชั่วโมง เย็นวันแรกก็เริ่มนัดประชุม ตัดสินใจขายทุเรียน คิดชื่อ ออกแบบโลโก้ ออกแบบการ์ดขอบคุณ ทำระบบการจอง หาซัพพลายเออร์ และกลับมาเขียนคอนเทนต์ถึงตี 4

ยังไม่หยุด ยังสู้ต่อ เช้าวันรุ่งขึ้นไปคุยกับสวนทุเรียน ถ่ายรูปสินค้า ทำระบบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขายทุเรียน ไม่ใช่แค่สนใจทุเรียนที่กำลังเป็นสินค้าตัวใหม่ หม้อสำหรับทำชาบูก็ขายด้วย จากนั้นจึงเริ่มขายทุเรียนได้ กลายเป็นเพนกวินกินชาบู สู่เพนกวินกินทุเรียน

ตอนนี้ Peunguin Eat Durian หรือเพนกวินกินทุเรียน ขายหมอนทองแกะแล้ว เกรด AAA ขายทุกวัน ส่งถึงหน้าบ้าน ขายวันละ 50 กิโลกรัม เนื้อทุเรียนเกรดพรีเมียม กรอบนอกนุ่มใน เก็บได้ 3-5 วัน ส่งตรงจากสวนทุเรียน รับประกันไม่มีเนื้อเละหรือเนื้อแฉะ ไม่ใช้สารเร่งสุก ปล่อยสุกแบบธรรมชาติ

สำหรับราคาทุเรียนที่เป็นราคาโปรโมชั่นตอนนี้ ปกติ 500 กรัม ราคา 700 บาท ถ้าซื้อตอนนี้

  • 500 กรัม 600 บาท
  • 1 กิโลกรัม 1,100 บาท
  • 2 กิโลกรัม 2,100 บาท
  • 3 กิโลกรัม 3,000 บาท

Penguin Eat Durian

เงื่อนไขในการสั่ง

  • จำกัด 1 คนต่อ 1 ออเดอร์
  • 1 กล่อง มี 2 ขนาด คือขนาด 500 กรัม ราคา 600 บาท (ราคาเต็ม 700 บาท) และอีกขนาดหนึ่งคือ 1 กิโลกรัม ราคา 1,100 บาท (ราคาเต็ม 1,300 บาท)
  • สามารถสั่งได้จากลิงก์นี้ เพนกวินกินทุเรียน
  • หรือที่นี่ LineOA
  • หรือที่นี่ @PenguinEatShabu

เงื่อนไขการจัดส่ง

  • จัดส่งทั่ว กทม. ค่าส่ง 100 บาท
  • จัดส่งทั่วประเทศ ค่าส่ง 150 บาท
  • เก็บเงินปลายทาง (COD)
  • ตัดรอบ 20.00น. ทุกวัน จะได้รับของในวันถัดไปก่อน 20.00 น. หรือจนกว่าของรอบนั้นจะหมด
  • ถ้าสั่งหลังจากนั้นจะเป็นออเดอร์ในวันถัดไป
  • มีจัดส่งด่วน บวกเพิ่มอีก 30 บาท ได้รับของก่อน 18.00น.
  • เมื่อออเดอร์เสร็จ ทางร้านจะโทรคอนเฟิร์มออเดอร์เช้าวันรุ่งขึ้นเวลา 09.00น. หรือจะโทรไปคอนเฟิร์มกับทางร้านก็ได้ที่เบอร์นี้ 099-595-9428

 

สำหรับใครที่เป็นแฟนเพนกวินกินชาบูอยู่ จะสั่งชาบูหรือจะสั่งทุเรียนหรือจะซื้อหม้อสำหรับไปทำชาบูทานเอง ก็สั่งได้หมดแล้ว ติดตามได้ที่เพจ Penguin Eat Shabu

ที่มา – Hfocus, Penguin Eat Shabu – เพนกวินกินชาบู, IG

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เพนกวินกินชาบูปรับตัวสู้โควิด: เมื่อก่อนขายชาบู ขายหม้อ ตอนนี้ขายทุเรียนด้วย! first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/from-penguin-eat-shabu-to-penguin-eat-durian-among-covid-19-outbreak-third-wave/