คลังเก็บป้ายกำกับ: THAI_PBS

สัมภาษณ์ทีม INOX ผู้พัฒนาเว็บไซต์รายงานผลการเลือกตั้ง 66 ของ Thai PBS

ในช่วงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 มีเว็บไซต์หลายแห่งทำหน้าที่รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง และได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก

เว็บไซต์แห่งหนึ่งที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากคือ เว็บไซต์รายงานผลการเลือกตั้ง 66 ของ Thai PBS (election66.thaipbs.or.th) ทั้งเรื่องการออกแบบที่ใช้งานง่าย และสามารถรองรับปริมาณโหลดจำนวนมหาศาลในช่วงวันเลือกตั้ง เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางเทคนิคเบื้องหลังเว็บไซต์แห่งนี้ Blognone จึงขอสัมภาษณ์ทีมจากบริษัท INOX ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเว็บไซต์นี้ร่วมกับ Thai PBS

No Description

แนะนำตัวทีมงานที่เกี่ยวข้องกับโปรเจคนี้

ทีมจะดูมีหลายคนมากๆ แวะเวียนมาร่วมมือในส่วนที่ตัวเองเป็น specialist ครับ

  • Team lead: มด (@moogreentea)
  • Tech lead: แชมป์ (@champjss)
  • Project manager: วี (@vixtrz)
  • UX/UI Designer: เกน
  • Developer: มาร์ค, แอม, เจ, นก
  • DevOps / Consult: โนเน, นนท์, จั้ม, พัด
  • นิสิตฝึกงานประจำปีนี้ (ปังปอนด์, กอล์ฟ, กานน, แชมป์, ต้น, แม็ก) ที่ร่วมพัฒนา backend ดึงผล และฟีเจอร์จับขั้วรัฐบาลด้วยครับ

No Description

ที่มาที่ไปของโครงการเว็บรายงานผลการเลือกตั้ง

เมื่อปี 2565 เราเคยร่วมงานกับ Thai PBS ทำเว็บไซต์รายงานผลเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ 65 ซึ่งได้ผลตอบรับค่อนข้างดี พอมาถึงการเลือกตั้งใหญ่ปี 66 เราเลยได้รับความไว้วางใจให้มาร่วมงานกันอีกครั้งครับ

ในช่วงแรก ทีมงานตีโจทย์การออกแบบเว็บรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไร

เราพยายามจะถอดความสำเร็จจากงานเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ก็พบว่าบริบททางการเมืองต่างกันมาก เอาแนวทางเดิมมาใช้ตรงๆ ไม่ได้ ดังนั้นทางเราและ Thai PBS จึงเริ่มจากทำเซอร์เวย์กันในวงเล็กๆ (ระบุกลุ่มเป้าหมาย) เพื่อสรุปเอาคำถามสำคัญที่กลุ่มเป้าหมายของเราอยากรู้

ผลการสำรวจความเห็นได้ข้อสรุปมา 3 ข้อ สิ่งที่คนอยากรู้คือ 1) เขตที่บ้านเรา ใครได้เป็น ส.ส. 2) พรรคไหนได้ ส.ส. จำนวนเท่าไร 3) แล้วใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

จากนั้นเราเอาประเด็นหลักนี้มาพัฒนาต่อให้สุดทาง ประเด็นแรกเรื่อง “เขตที่บ้านเรา ใครได้เป็น ส.ส.” นั้นเราดูจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ว่าผู้ใช้น่าจะต้องเข้ามาดูผลหลายๆ ครั้ง เพื่อดูคะแนนล่าสุด ดังนั้นถ้าออกแบบให้ผู้ใช้สามารถปักหมุดเขตที่บ้านไว้ได้เลย จะได้ไม่ต้องไปไล่กดแผนที่ซ้ำๆ ทำให้การใช้งานง่ายขึ้น

No Description

แต่ในประเด็นว่า “ใครจะได้เป็นนายก”​ เป็นส่วนที่ท้าทายที่สุด เพราะจากการเลือกตั้งฯ 62 แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ว่าพรรคที่ 1 จะได้เป็นรัฐบาลเสมอไป ดังนั้นการออกแบบที่ดึงภาพพรรคอันดับ 1 หรือพรรคอันดับ 1-3 ขึ้นมาเด่นที่สุด อาจจะไม่ใช่แนวทางที่เหมาะกับบริบททางการเมืองปัจจุบัน เราเลยเลือกนำเสนอในรูปของ “สูตรจับขั้วรัฐบาล” พร้อมบวกเลขที่นั่งของแต่ละสูตรมาให้เสร็จเลย เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจว่า พรรคที่ 1 ไม่ได้แปลว่าจะได้เป็นรัฐบาล แต่ขึ้นอยู่กับสูตรการจับมือแบบไหน เป็นไปได้แค่ไหน

ประเด็นนี้อาจสุ่มเสี่ยงกับความเป็นกลางด้วย เราเลยต้องทำงานในส่วนนี้กับทาง Thai PBS (ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะและต้องวางตัวเป็นกลาง) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การนำเสนอออกมาเป็นกลางที่สุด โดยเราเลือกนำเสนอสูตรตั้งต้น 5 สูตรตามการสรุปจากทีมข่าวการเมือง เป็นค่าตั้งต้นให้เห็นภาพความเป็นไปได้ แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถจัดสูตรรัฐบาลเองได้และแชร์ได้ด้วยตามคะแนนแบบเรียลไทม์ในตอนนั้น

No Description

ประเด็นด้านการออกแบบ Design/UX มีสิ่งที่ต้องคำนึงอย่างไรบ้าง

เนื่องจากทาง Thai PBS มีกลุ่มผู้ชมหลากหลาย โดยเฉพาะฐานผู้ชมกลุ่มผู้สูงวัย มีเยอะพอสมควร ในกระบวนการคิดจึงต้องเลือก persona ของผู้ชมให้หลากหลาย เพื่อออกแบบและทดสอบให้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม New Voter, Active Voter, กลุ่มผู้ใหญ่วัยเกษียณ เป็นต้น เพื่อให้เราสามารถเอาสิ่งที่พัฒนาไปทดสอบกับ user จริงๆ จนมั่นใจว่า UX/UI ที่ออกแบบมานั้น ไม่ซับซ้อนเกินไปสำหรับกลุ่มเป้าหมาย (ต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ทีมงานทุกคนที่ได้มาร่วมทดสอบกันด้วยครับ)

จะเห็นว่ามีหลายๆ จุดที่พยายามทำให้ดูง่าย ลดความซับซ้อน เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ฟอนต์เล็ก หรือตัดความสามารถในการซูมแผนที่ออกไปเลยเพื่อกันงง แล้วดันให้ไปใช้ฟิลเตอร์แยกเฉพาะภูมิภาคช่วยให้เห็นแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้นได้ หรือให้พิมพ์ชื่อจังหวัดเพื่อค้นหาแทน

No Description

No Description

เทคโนโลยีที่เลือกใช้งาน (Front End) และเหตุผลที่เลือกใช้

ในงานนี้เราเลือกใช้ NextJS เพื่อให้ได้ใช้ React และสามารถ custom HTML response เพื่อให้มีภาพสำหรับแชร์และ Title แตกต่างกันในแต่ละหน้าเมื่อมีการแชร์ได้

ในงานนี้เรา build โปรเจกต์เป็น Docker image เพื่อเอาไปใช้บน Kubernetes เองเลยครับ

เทคโนโลยีที่ใช้งาน (Backend/Server) และเหตุผลที่เลือกใช้

  • ในส่วนข้อมูลผลการเลือกตั้งที่ผู้ชมเข้าถึง เป็นไฟล์สรุปผลที่เก็บบน Amazon S3 และอยู่ผ่าน Amazon CloudFront อีกทีหนึ่ง ทำให้มั่นใจได้มากว่าสามารถรับโหลดได้ และสามารถปล่อยให้เว็บอยู่ต่อไปหลังเลือกตั้งได้ตลอด โดยไม่ต้องดูแลระบบ/มีค่าใช้จ่ายมากนัก
  • ในส่วนระบบการประมวลผลข้อมูลหลังบ้าน รันอยู่บน AWS EKS และต่อกับฐานข้อมูล MongoDB Atlas เพราะเปิดฐานข้อมูลใช้แค่ไม่กี่วันได้อย่างสะดวก รวมถึงได้ใช้ความสามารถ ChangeStream เพื่อใช้ trigger ให้ข้อมูลใน data pipeline ที่เกี่ยวข้องอัปเดตได้อย่างรวดเร็ว

ประเด็นเรื่องการสเกลเครื่องให้รับมือปริมาณผู้ชมได้

  • ปกติ Thai PBS ใช้ EKS กับระบบเว็บอยู่แล้ว ซึ่งงานนี้เราใช้ EKS เช่นกัน
  • ตัว workload (NodeGroup) เราใช้เป็น Spot instance ทั้งหมด ราคาถูกกว่า On-demand instance อยู่ประมาณ 40-50%
  • Spot instance มีเรื่องต้องระวังคืออาจโดน AWS เรียก node คืนได้เสมอ แต่เราประเมินแล้วว่า AWS ยังมี capacity พอให้ scale up ด้วย Spot instance ได้ หรือถ้าเต็มจริงๆ เราก็สามารถ scale up ด้วยเครื่องแบบ On-demand ได้ทันทีเหมือนกันเพราะเตรียมไว้หมดแล้ว
  • Workload ข้างในออกแบบให้ stateless 100% (สามารถเกิดแก่เจ็บตายได้โดยระบบรวมไม่สะดุด) เพื่อรองรับการเพิ่มลด Worker ได้ตามต้องการ

จริงๆ ตัว NextJS เองไม่ได้รับโหลดได้สูงมากนัก แต่เนื่องจากมี caching ทำให้เหลือโหลดเข้ามาถึงระบบจริงๆ ไม่เยอะ ถึงจะเตรียม autoscale ไว้แต่ก็ใช้จริงประมาณ 4-5 pod เท่านั้น ที่เหลือก็สามารถรับโหลดได้ตามขีดความสามารถของ CDN เลย

ส่วนการรับมือ spike load ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่างานส่วนใดควรทำที่ฝั่งไคลเอนต์หรือเซิร์ฟเวอร์, วางแผนทำ caching ถูกต้องเหมาะสม และทางทีม DevOps ยังช่วยทดสอบยิงแอป เพื่อใช้ประเมินสถานการณ์ไปด้วยอีกทางหนึ่ง อีกส่วนที่สำคัญคือระบบอื่นๆ ข้างเคียง เช่น เว็บไซต์หลัก (ซึ่งอาจเป็นทางเข้าของผู้ใช้บางกลุ่ม) ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือไปด้วยกัน

No Description

เว็บรายงานผลของ TPBS ทำงานเร็วเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับเว็บอื่น คิดว่าเพราะอะไรที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เว็บเราเร็ว ทั้งด้าน front end และ backend เช่นอย่าง front end เข้าใจว่าหลายๆ เจ้าก็เลือกใช้ NextJS เหมือนกัน ทำไมของเราเร็วกว่าคนอื่น

ทีมมองว่าเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก

  • ปัจจัยแรกคือด้วยการออกแบบ flow การใช้งานเว็บ สามารถ optimize การโหลดข้อมูลให้ทำเท่าที่จำเป็นได้ เช่น เมื่อเข้ามาครั้งแรกให้โหลดเฉพาะผลที่นั่งภาพรวมเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องโหลดผลเลือกตั้งมาทั้งหมด
  • อีกปัจจัยหนึ่งคือการใช้ caching ช่วยอย่างเหมาะสม สำหรับงานนี้ เนื่องจากผลเลือกตั้งจะอัปเดตถี่มากๆ เราเลยเลือกใช้ SSR ในการเรนเดอร์ HTML เบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้เรนเดอร์ผลคะแนนลงไป (และปล่อยให้ไปทำงานต่อที่ฝั่งไคลเอนต์แทน) ช่วยให้ทำ caching ส่วนหน้าเว็บและ assets ที่เกี่ยวข้องได้นาน

ระยะเวลาในการพัฒนาเว็บไซต์ทั้งหมด

งานนี้ใช้เวลาในการออกแบบระบบและพัฒนาประมาณ 1 เดือนครึ่ง ฟีเจอร์ทั่วไปใช้งานได้สมบูรณ์ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง แต่ยังมีการปรับจูน ปรับแต่ง แก้ไขจนถึงวันเลือกตั้งจริง และแม้แต่ตอนเริ่มประกาศผลไปแล้ว ก็ยังมีการแก้ไขปรับปรุง โดยทาง Thai PBS กับเราประสานกันเพื่อแก้ไข ตาม feedback ของผู้ชม

ปัญหาอื่นๆ ที่พบในระหว่างทาง (ถ้ามี)

ช่วงประมาณ 2 ทุ่มกว่า มีอยู่จังหวะหนึ่งที่ข้อมูลคะแนนจากต้นทาง ส่งมาเป็น 0 เกือบทุกเขต และเนื่องจากเราดึงข้อมูลและสรุปเร็วมาก ทำให้ผู้ชมเห็นคะแนนลดวูบไป (ดู[เหตุการณ์จริงจาก รมต. DE]((LIVE) คืนเลือกตั้ง – YouTube) ได้) แต่เนื่องจากเราแยกเก็บ data source คะแนนจากสื่อไว้อีกชุดหนึ่ง จึงสามารถสลับโหมดมาใช้คะแนนจากสื่อชั่วคราวได้ (แต่ก็ทดไว้ในใจว่าคราวหน้า คงต้องทำ Snapshot ไว้ย้อนเวลาได้ด้วยเพื่อป้องกันกรณีนี้)

อยากฝากบอกอะไรถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้ามาใช้งานเว็บของเรา

ผลการเลือกตั้ง เป็นแค่จุดเริ่มต้นครับ อย่างที่เราพยายามเสนอใน UI ยังต้องติดตาม รวมถึงส่งเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนกันต่อไป

from:https://www.blognone.com/node/134068

Thai PBS เริ่มทดลองออกอากาศสัญญาณภาพทีวีแบบ 4K แล้ว

สถานีโทรทัศน์ Thai PBS เริ่มทดลองออกอากาศสัญญาณภาพทีวีความละเอียดระดับ Ultra HD (4K) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เวลา 11.11 น. โดยจะทดลองออกอากาศ 3 เดือนเพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับจัดทำมาตรฐานเพื่อการทำงานเตรียมพร้อมสำหรับการแพร่ภาพจริงในอนาคต

การทดลองออกอากาศนี้เป็นการออกอากาศภาคพื้นดินโดยสามารถรับสัญญาณภาพได้ภายในระยะรัศมี 10 กิโลเมตรจากเสาส่งโทรทัศน์ของ Thai PBS บริเวณ ถ.วิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยหลังเสร็จสิ้นระยะเวลาการทดลองออกอากาศทางสำนักวิศวกรรมของ Thai PBS จะรวบรวมข้อมูลเพื่อทำรายงานนำเสนอต่อ กสทช. ต่อไป

ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของการทดลองออกอากาศก็เพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้จัดทำมาตรฐานด้านการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการผลิตเนื้อหาสื่อ และการส่งสัญญาณต่างๆ

ในปัจจุบันนี้การออกอากาศสัญญาณทีวีภาคพื้นดินในประเทศไทยนั้นมีความละเอียดสูงสุดที่ระดับ Full HD (1080p) นั้นมีจำนวนพิกเซลในภาพ 1920*1080 พิกเซล ส่วนสัญญาณภาพแบบ Ultra HD หรือที่คุ้นหูกันว่า 4K นั้น จะมีความละเอียดของจอภาพระดับ 3840*2160 พิกเซล (หรือเรียกอีกอย่างว่า 2160p) ซึ่งมีจำนวนพิกเซลในภาพสูงเป็น 4 เท่าของมาตรฐาน Full HD ที่มีการออกอากาศอยู่ ณ ปัจจุบัน

No Description

ที่มา – Thai PBS

Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/131472

ไทยมีทีวีดิจิทัลช่องใหม่ ช่องการศึกษา ALTV ของ Thai PBS ได้ใบอนุญาตช่อง 4 จาก กสทช.

ประเทศไทยมีสถานีทีวีดิจิทัลช่องใหม่แล้ว หลัง กสทช. เห็นชอบให้ใบอนุญาตกับ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท) หรือ Thai PBS เปิดช่องการศึกษา ALTV ทีวีเรียนสนุก โดยให้เลขช่องเป็นช่อง 4 (ช่องหลักของ Thai PBS คือช่อง 3)

ตัวองค์กร ส.ส.ท. เริ่มโครงการช่องเพื่อการศึกษา Active Learning TV มาได้สักระยะแล้ว (เริ่มทำปี 2563) โดยเผยแพร่ภาพผ่านทางช่องดาวเทียม KU-Band และออนไลน์ (เว็บไซต์สำหรับดูสด-ย้อนหลัง) และเพิ่งมาได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการจาก กสทช. เป็นใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสาธารณะ ประเภทช่องเด็กเยาวชนและครอบครัว โดยใบอนุญาตมีอายุสิ้นสุดในปี 2573 เช่นเดียวกับกลุ่มช่องทีวีสาธารณะอื่น ๆ ได้แก่ NBT, Thai PBS, ททบ.5, T-Sports และทีวีรัฐสภา

แนวทางของ ALTV ระบุว่าแยกรายการเป็นสาระความรู้ เสริมการศึกษา 40% สาธิตการสอนของครู 36% รายการเนื้อหาสำหรับครอบครัว สถานการณ์ปัจจุบัน และอื่น ๆ 24% (ผังรายการ)

ตอนนี้ ALTV เพิ่งได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจาก กสทช. ส่วนกำหนดการแพร่สัญญาณผ่านทีวีดิจิทัลช่อง 4 อาจต้องรอประกาศอีกสักระยะหนึ่ง แต่สามารถดูผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียมไปพลางๆ ก่อนได้

No Description

ที่มา – ALTV, Thai PBS

from:https://www.blognone.com/node/129119

Thai PBS สถานีโทรทัศน์ของไทยรายแรกที่เริ่มใช้ Facebook Live API เผยแพร่ออกอากาศบน Facebook

thaipbslive

หลังจากมีความเคลื่อนไหวจากงาน F8 ของ Facebook จากการเปิดตัว Live API ที่จะทำให้การถ่ายทอดสดสามารถทำได้ผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่มีข้อจำกัดเพียงบนโมบายล์เท่านั้น ในไทยก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวกันแล้ว โดยมีสถานีโทรทัศน์ Thai PBS เริ่มใช้งาน API ในการนำเสนอข่าวบนหน้า Facebook แล้ว

สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ได้เริ่มเผยแพร่รายการของสถานีผ่านทางหน้า Facebook ของสถานีเป็นครั้งแรกผ่านรายการข่าวเที่ยง โดยเป็นการใช้งาน Facebook Live API ที่เพิ่งจะเปิดตัวกันเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา การเผยแพร่ครั้งนี้ไม่ใช่การถ่ายทำผ่านกล้องอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือโมบายล์แต่อย่างใด แต่เป็นการออกอากาศที่ดึงเอาภาพจากการออกอากาศบนโทรทัศน์มาออกพร้อมๆ กันบนออนไลน์เลย โดยเป็นสถานีโทรทัศน์ไทยเจ้าแรกในการทำเรื่องนี้

การออกอากาศในครั้งนี้ดูแล้วน่าจะเป็นการทดสอบในช่วงเทศกาลวันหยุด แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของสถานีที่จะนำเสนอรายการ รวมทั้งการถ่ายทอดสดผ่านการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นมืออาชีพ และได้ภาพที่มีคุณภาพสูงบน Facebook ในไม่นานนี้แน่นอน

นอกจากช่อง Thai PBS จะเริ่มใช้ Live API อย่างเป็นทางการแล้ว ก็มีการเผยแพร่ของคุณหาว เจ้าของ Facebook Page 2how สาธิตการใช้งาน Facebook Live ผ่านโปรแกรม wirecast โดยโปรแกรมนี้รองรับการทำ Facebook Live แล้วเรียบร้อย สามารถต่อกับกล้องของ Webcam, กล้องถ่ายรูป และแน่นอนว่ากล้องวิดีโอ เพื่อทำให้การถ่าย Live เหมือนเราทำในสตูดิโอเลย

พออ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็คิดว่า อุปกรณ์ทั้งหลายที่จะมาทำขนาดนี้น่าจะแพงมาก (โปรแกรม wirecast ราคาราวๆ 40,000 บาท) ถ้าอยากได้ถูกกว่านั้นจะมีไหม? ตอบได้ว่าช่วงนี้เริ่มออกมาบ้างแล้วครับ มีกล้อง Mevo ที่เริ่มเปิด Pre-Order กันแล้วในราคาหมื่นต้นๆ ความสามารถเบื้องต้นก็คือการใช้กล้องที่มีคุณภาพมากกว่ากล้องติดมือถือ ทำให้ภาพที่ได้มีคุณภาพดีไปด้วย ใครสนใจก็ไปสั่งล่วงหน้าได้ที่นี่ GetMevo

2016-04-14_13-53-45


 

เพียงไม่กี่วันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงกันอย่างมากมายในการนำเสนอ Content ผ่านช่องทางที่เพิ่มขึ้น ในแง่ของช่องทางก็อดคิดถึงไม่ได้ว่า YouTube Live จะเป็นอย่างไร

แต่ในแง่ของผู้สร้างสรรค์ Content …เรา ได้เริ่มพิจารณาหรือมีแผนการทำสิ่งที่นี้บ้างแล้วหรือยัง?

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2016/04/thaipbs-facebook-live-api-first-in-thailand/

ธุรกิจสื่อกับการนำ Facebook Live มาใช้ กรณีศึกษา Thai PBS

 

Screen Shot 2559-01-31 at 12.59.43 AM

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้อ่านหลายคนคงเริ่มสังเกตเห็นรูปแบบคอนเทนต์อย่าง  Facebook Live (Live Video แบบสดๆ บน Facebook) โดย Celeb. ชื่อดัง และที่ขาดไม่ได้คือสายสำนักข่าวที่เหมาะกับการใช้ฟีเจอร์ตรงนี้โดยตรง ทีมงาน Thumbsup มีโอกาสได้พูดคุยกับทีมงาน Thai PBS ซึ่งเป็นสื่อรายแรกๆ ของไทยที่นำ Facebook Live Streaming มาใช้ ซึ่งวันนี้เราจะไปพูดคุยกับพี่ ๆ 2 ท่าน คุณณัฏฐา โกมลวาทิน (พี่เต๋า) และ กนกพร ประสิทธิ์ผล (พี่ต่าย) มาเล่าถึงประสบการณ์การนำฟีเจอร์ดังกล่าวมาใช้กับธุรกิจสื่อ

เริ่มต้นใช้ Facebook Live ตั้งแต่เมื่อไหร่

พี่ต่าย: สำหรับเพจของ Thai PBS เราเริ่ม Live ครั้งแรกคือวันเสาร์ที่ 9 มกราคมที่ผ่านมาค่ะ ในงาน “ด.เด็ก คิดดี Thai PBS Kids Day” งานวันเด็กถือว่าเป็นกิจกรรมใหญ่งานหนึ่งของ Thai PBS เลยอยากลองรายงานบรรยากาศสดๆ กันดู และอยากสวัสดีวันเด็กกับคุณผู้ชมที่ไม่ได้มาร่วมงานในวันนั้น อุปกรณ์ก็ใช้ iPad ที่ต่ายถือเลยค่ะ เดินไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งงาน แวะตามบูธต่าง ๆ ซึ่งก็ออกอากาศสดไปกว่าชั่วโมงครี่งทั้งภาคเช้าและบ่าย ถือเป็นครั้งแรกและก็เรียนรู้เทคนิคกันไปด้วยค่ะ เนื่องจากการถ่ายแบบสดๆ นอกสถานที่ก็จะมีเสียงแทรกพอสมควร และสิ่งสำคัญคือสัญญาณเน็ตต้องนิ่ง เพราะถ้ามีช่วง Speed ของอินเตอร์เน็ตต่ำ Facebook ก็จะแจ้งเตือน และอาจทำให้ Live steaming หยุดชะงักได้

พี่เต๋า : อีกส่วนที่สำคัญเวลาถ่ายทอดสด เราควรปิดพวก notification ทั้งหลายค่ะ ไม่งั้นพอเด้งมา Facebook ก็จะหยุด Live อีก อย่างสายเรียกเข้าก็เช่นกัน ถ้าแทรกเข้ามาก็จะหยุด Live เลย ค่อยกลับมา resume หลังจากวางสาย

พี่ต่าย: ผลตอบรับที่ได้ในการสดครั้งแรกนี้ ทั้งยอด View และคอมเม้นท์ที่ส่งเข้ามา หลายๆ คนชื่นชอบค่ะ ได้ติดตามกิจกรรมสด ๆ และชื่นชมในนวัตกรรมใหม่ของวงการสื่อที่นำมาใช้ มีคนเข้ามาร่วมพูดคุยกันมากพอสมควร แถมเรายังได้เห็นยอด View จริงๆ ด้วยว่ามีคนดูอยู่เท่าไหร่แบบเรียลไทม์

มีแผนการทำคอนเทนต์อย่างไรต่อ

พี่ต่าย: มีทั้งมุมเนื้อหาการรายงานข่าว ซึ่งทางส่วนงานข่าวจะเป็นกลไกสำคัญด้านการถ่ายทอดเนื้อหา แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นทดสอบ และในมุมเนื้อหาด้านรายการและกิจกรรม ตอนนี้เราก็เริ่มทำแคมเปญที่ชื่อ Facebook Live : Behind the Scenes เชิญแขกรับเชิญมาพูดคุย ถ่ายทอดเบื้องหลังต่างๆ อย่างครั้งแรกเราก็เชิญพี่โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ พูดคุยกับเบื้องหลัง “เดอะดาวน์ซีรี่ส์” เมื่อ 22 ม.ค.ที่ผ่านมาและเชิญคุณเต๋ามาเป็นพิธีกร เรียกว่าประสบความสำเร็จมากมีคนดูประมาณ 6 หมื่นกว่าคนตลอด 1 ชม. รวมถึงคำถาม ข้อความทักทายกับคุณโหน่งเข้ามาอย่างมากมาย

12647919_10207593389305615_1888809558_n