คลังเก็บป้ายกำกับ: K_RESEARCH

ทุกคนต้องรู้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA: รักษาสิทธิอะไรให้เจ้าของข้อมูล

1 มิถุนายน 2565 เป็นวันเริ่มต้นของการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA (Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019)) ของไทย โดยมีหลักการสำคัญในการกำหนดสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีทางเลือกในการให้หรือไม่ให้ความยินยอมในการจัดเก็บ ใช้ และเปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง ซึ่งการเลือกนั้นต้องไม่ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ หากถูกละเมิดสิทธิ เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลสามารถร้องเรียนและเรียกค่าสินไหมทดแทนได้  

pdpa

ทำความเข้าใจขอบเขตของความคุ้มครองเพื่อตระหนักรู้รักษาสิทธิของตนทั้งก่อน ขณะ และหลัง การให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลกัน 

คำจำกัดความ “ข้อมูลส่วนบุคคล และสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล”  ตาม PDPA

ข้อมูลส่วนบุคคล คือ

1. ข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ฯลฯ แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรม และไม่รวมข้อมูลของนิติบุคคล เช่น อีเมล เลขทะเบียน และที่อยู่ของบริษัท นามแฝง ข้อมูลนิรนาม ฯลฯ

2. ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Personal Data) เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ

ทั้งนี้ กฎหมายให้การคุ้มครองข้อมูลที่อ่อนไหวเข้มงวดกว่าข้อมูลส่วนบุคคลธรรมดา

สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล คือ

  1. สิทธิการได้รับแจ้งโดยไม่ต้องร้องขอ เช่น เก็บข้อมูลอะไรบ้าง, เก็บไปทำไม, เก็บนานแค่ไหน, ส่งต่อข้อมูลให้ใคร, ช่องทางติดต่อผู้ควบคุมข้อมูล และหากเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งอื่นหรือ หากแก้ไขวัตถุประสงค์ในภายหลัง ต้องแจ้งให้ทราบ
  2. สิทธิในการเพิกถอนความยินยอม
  3. สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
  4. สิทธิในการแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกต้อง
  5. สิทธิในการลบข้อมูลส่วนบุคคล
  6. สิทธิในการห้ามมิให้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
  7. สิทธิในการให้โอนย้ายข้อมูลส่วนบุคคล
  8. สิทธิในการคัดค้านหรือให้ระงับการประมวลผลข้อมูลส่วน บุคคล

หากเกิดการละเมิดสิทธิ >> เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลสามารถร้องเรียนและเรียกค่าสินไหมทดแทน 

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาล ศาลจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าความเสียหายที่เจ้าของข้อมูลได้รับจริง และอาจสั่งลงโทษเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่เกินสองเท่า

pdpda

สำหรับข้อยกเว้นในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและองค์กรที่ติดต่อ รวมถึงความจำเป็นในทางการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

√  ข้อมูลเดิมที่จัดเก็บก่อน PDPA มีผลบังคับใช้ >> องค์กรเก็บและใช้ต่อได้ตามวัตถุประสงค์เดิม โดยกำหนดวิธีการยกเลิกความยินยอมและประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของข้อมูลแจ้งยกเลิกความยินยอมได้โดยง่าย ทั้งนี้ หากต้องการนำข้อมูลไปเปิดเผยต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล

√  การเก็บข้อมูลภายใต้ฐานสัญญา (Contractual Basis) >> จัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติตามสัญญาที่เจ้าของข้อมูลเป็นคู่สัญญาได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยข้อมูลที่จัดเก็บต้องเป็นไปเพื่อการให้บริการแก่บุคคลนั้น (ถ้านำข้อมูลส่วนบุคคลลูกค้าไปใช้วิเคราะห์และทำการตลาด ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก่อน) เช่น กรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีกับธนาคาร กรณีลูกค้าเข้ารับบริการในโรงพยาบาล กรณีลูกค้าเปิดบัญชีเพื่อซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น 

√  การเก็บข้อมูลภายใต้ฐานประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย (Legitimate Interest) >> โดยต้องมีการประเมินความสมเหตุผลและไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลเกินไป เช่น การติดตั้งกล้อง CCTV บันทึกภาพลูกค้าในอาคารที่ทำการต่าง ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาความปลอดภัย การตรวจสอบข้อมูลลูกค้าเพื่อป้องกันการทุจริต เป็นต้น 

√  การเก็บข้อมูลภายใต้ฐานการปฏิบัติตามกฎหมาย (Legal Obligation) >> เป็นการเก็บข้อมูลที่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนให้ผู้ควบคุมข้อมูลต้องปฏิบัติตาม เช่น ธนาคารจัดทำรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) การจัดทำรายงานการหักภาษี ณ ที่จ่ายส่งกรมสรรพากร เป็นต้น 

การเก็บข้อมูลภายใต้ฐานประโยชน์สำคัญต่อชีวิต (Vital Interest) >> เป็นการประมวลผลข้อมูลในกรณีที่เจ้าของข้อมูลไม่อยู่ในสภาวะที่จะให้ความยินยอมได้

√  การเก็บข้อมูลภายใต้ฐานภารกิจของรัฐ (Public Task) >> เป็นการประมวลผลข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ปปช.) ประมวลผลข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นต้น

√  การเก็บข้อมูลภายใต้ฐานจดหมายเหตุ / วิจัย / สถิติ (Historical Document / Research/ Statistic) >> เป็นการประมวลผลข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดทำเอกสารประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือที่เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยหรือสถิติ โดยจัดให้มีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสม

ก่อนให้ความยินยอมในการใช้ข้อมูล เจ้าของข้อมูลควรใส่ใจในการคุ้มครองข้อมูลของตนเองด้วย อาทิ

  1. ไม่ด่วนยินยอมหรือให้ข้อมูล โดยที่ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดของขอบเขตการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล >> ข้อมูลใดบ้างที่จะจัดเก็บ วัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล ระยะเวลาการเก็บข้อมูล ชื่อและเบอร์ของบริษัทหรือบุคคลที่รับผิดชอบต่อการเก็บข้อมูล
  2. คำนึงถึงความอิสระ และไม่มีเงื่อนไขแอบแฝง โดยต้องไม่นำการให้ความยินยอมมาเป็นเงื่อนไขในการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ
  3. ควรเก็บ/บันทึกหลักฐาน เผื่อใช้ในการร้องเรียนในกรณีที่พบว่าข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์  โดยอาจถ่ายภาพหรือขอสำเนาเอกสารการให้ความยินยอม
  4. ระมัดระวังการให้ข้อมูลและการเปิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล แก่เว็บไซต์/แอปพลิเคชัน ที่มีการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล โดยให้พิจารณาตามความจำเป็น โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการเงิน เช่น การให้ข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ สำหรับแอปพลิเคชันที่ไม่ได้ใช้เป็นประจำ อาจเลือกให้ข้อมูลเพื่อใช้ครั้งเดียวและไม่ให้บันทึกข้อมูลบัตรไว้ในระบบ เป็นต้น
Business, Technology, Internet and network concept. Young businessman working on a virtual screen of the future and sees the inscription: Personal data protection

PDPA ช่วยคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างไร

√ ลดความเดือดร้อนรำคาญใจจากการละเมิดสิทธิ: โดยการติดต่อเสนอขายสินค้าหรือบริการใด ๆ จากบริษัทหรือหน่วยงานที่เราไม่เคยติดต่อมาก่อน จะต้องได้รับความยินยอม เช่น Call Center โทรเสนอขายประกัน สินเชื่อส่วนบุคคล ต้องแจ้งว่าได้รับเบอร์มาจากไหนและเราเคยแจ้งบอกรับข้อมูลการตลาดไว้ รวมทั้งต้องแจ้งช่องทางการยกเลิกการรับข้อมูลการตลาดดังกล่าวอย่างชัดเจน 

√  ป้องกันความเสี่ยงภัยไซเบอร์: เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ต้องมีระบบการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลและการป้องกันข้อมูลรั่วไหล ดังเช่นที่เคยเกิดกรณีแฮกเกอร์ขโมยข้อมูลลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์ในไทยกว่า 10 ล้านรายการ  

√  สร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมใดๆ: เนื่องจากขอบเขตของกฎหมาย บังคับใช้ครอบคลุมถึงองค์กรทุกแห่งทั้งในและนอกประเทศ เช่น Online Marketplace Platform ของต่างประเทศ ที่เสนอขายสินค้าหรือบริการแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในไทย หรือมีการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นในไทย เช่น เว็บไซต์ต่างประเทศที่รับจองโรงแรมผ่านช่องทางออนไลน์ ฯลฯ 

√  มีมาตรการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิ: รวมถึงมีบทลงโทษทางอาญาและทางปกครอง แก่ผู้จัดเก็บ ใช้ และเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ระบบการจัดการมีปัญหาทำให้เกิดข้อมูลรั่วไหล ขายข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่องค์กรอื่นโดยไม่แจ้งในวัตถุประสงค์ขอความยินยอมจากลูกค้า เป็นต้น (โทษอาญา: จำคุกไม่เกิน 1 ปี และ/หรือปรับสูงสุด 1 ล้านบาท โทษทางปกครอง: ปรับสูงสุด 5 ล้านบาท) 

การบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการสร้างบรรทัดฐานในการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในชุดกฎหมายที่ส่งเสริมความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่มุ่งกำกับดูแลความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่ผู้เป็นเจ้าของข้อมูล โดยกำหนดแนวทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้องค์กรทุกแห่งที่จัดเก็บ ใช้ และเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลในประเทศไทย ปฏิบัติตาม ดังนั้น บุคคลที่มีสถานะเป็น ‘เจ้าของข้อมูล’ ที่ไปใช้บริการต่าง ๆ พึงตระหนักถึงทางเลือกในการให้ความยินยอมในการจัดเก็บ ใช้ และเปิดเผยข้อมูล เช่น ลงทะเบียนอีเมลและเบอร์โทรศัพท์เพื่อแลกรับคูปองสินค้าฟรี อาจต้องแลกมากับการให้ข้อมูลไปใช้งานในกิจกรรมส่งเสริมการขายในหมวดหมู่ใกล้เคียงกันโดยผู้ให้บริการนั้น ๆ อย่างไรก็ดี บุคคลมีสิทธิถอนความยินยอมได้ทุกเมื่อ

ขอบคุณข้อมูล www.secnia.go.th , www.jrit.ichi.com , www.law.chula.ac.th , www.ratchakitcha.soc.go.th , www.primal.co.th , https://www.hrconsultant.training/post/data-subject-pdpa , https://www.academic.cmru.ac.th/web63/files/pdpa.pdf , https://www.bot.or.th/Thai/PaymentSystems/PSA_Oversight/20210224%20%20PDPA%20%20Nonbank/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%20PDPA_%E0%B8%94%E0%B8%A3.%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C_24%E0%B8%81.%E0%B8%9E.64.pdf

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ทุกคนต้องรู้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA: รักษาสิทธิอะไรให้เจ้าของข้อมูล first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/personal-data-protection-act/

ส่องความไม่แน่นอนของมนุษย์เงินเดือน ถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือน ลดเวลาทำงาน เมื่องานประจำไม่มั่นคงอีกต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจภาคครัวเรือนเกี่ยวกับผลกระทบต่อการทำงานในปี 2564 ที่ผ่านมาพบว่า

  • 54.0% ของครัวเรือนเริ่มมีความสนใจประกอบอาชีพเสริมแต่ยังไม่ได้เริ่มทำ
  • 28.2% ของครัวเรือนได้เริ่มทำอาชีพเสริมแล้วเนื่องจากงานที่ทำอยู่เป็นหลักได้รับผลกระทบจากโควิด-19

อาชีพส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมคือการขายสินค้าออนไลน์ ทั้งการขายอาหารขนมหรือสินค้าทั่วไป ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องไปกับ Google trends ที่บ่งชี้ว่าจำนวนการค้นหาคำว่า “ขายออนไลน์” มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าสถานการณ์โควิด-19 ได้เข้ามากระทบตลาดแรงงานและมุมมองเกี่ยวกับการทำงานที่เกิดขึ้นได้ 2 มิติ โดยมิติแรกเป็นเรื่องความมั่นคงของอาชีพหลัก หลังเริ่มเห็นว่าอาชีพต่าง ๆ มีความไม่แน่นอนสูงในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงอาจเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตในด้านอื่น ๆ ด้วย และมิติที่ 2 เป็นเรื่องรายได้ที่ลดลงจากอาชีพหลักส่งผลต่อความไม่เพียงพอในการดำรงชีวิตประจำวัน

การค้นหาคำว่าขายออนไลน์และการลงทุนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

google trends

รายได้ลดจึงต้องหารายได้เสริม…ไม่เพียงแค่อาชีพฟรีแลนซ์ที่ได้รับผลกระทบหนัก แต่มนุษย์เงินเดือนก็ได้รับผลกระทบด้วย

ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนจากการทำงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีสัดส่วนที่ลดลงอยู่ที่ 66.6% จาก 71.2% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) บ่งชี้ว่า ภาพรวมครัวเรือนมีรายได้จากการทำงานที่ลดลง สอดคล้องไปกับสถานการณ์ที่หลายบริษัทอาจมีการเลิกจ้าง ปรับลดคนงาน ลดเงินเดือน หรือลดระยะเวลาการทำงานลง

เช่น ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนลดลงอยู่ที่ 43.9 ในไตรมาส 3/2564 หรือเคยลดลงไปอยู่ที่ 40.2 ในไตรมาส 2/2563 จากระดับก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 46.7 ในไตรมาส 3/2562 ดังนั้นการมองหาอาชีพที่สองเพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่แน่นอนจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น รวมถึงกระแสเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามาก็ยังทำให้หลายอาชีพเริ่มถูกลดบทบาทลงมาก ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการจ้างงานจากสถานการณ์โควิดมาก ทำให้นักบิน/พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามเดิมทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก หลายคนจึงต้องหาอาชีพใหม่รองรับ บ้างก็นำงานอดิเรกที่ชอบมาทำเป็นอาชีพเสริม เช่น ร้านครัวซองค์ของนักบิน หรือบางคนสามารถค้นพบทักษะใหม่ ๆ ของตัวเองและเริ่มนำมาทำเป็นอาชีพเพื่อให้เกิดรายได้ ดังนั้น ในตลาดแรงงานยุคปัจจุบัน การมีทักษะที่หลากหลายและกว้างขวาง การเรียนรู้ที่จะปรับตัว หรือการมีอาชีพที่สองรองรับความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นจึงมีบทบาทที่สำคัญมากยิ่งขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

การใช้เงินทำงานหรือการลงทุนอีกทางเลือกของการเพิ่มรายได้… ต้องศึกษาให้ดีและรู้เท่าทัน

ในช่วงที่สถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูงหลายอาชีพรายได้มีแนวโน้มปรับลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิมหรืออาจปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นนอกจากการประกอบอาชีพเสริมแล้ว แนวทางที่นิยมหารายได้เพิ่มจาก “การใช้เงินทำงาน” ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหารายได้เพิ่มเติม ซึ่งการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและการการลงทุนสามารถทำได้ง่ายขึ้นในโลกแห่งข้อมูลอย่างปัจจุบัน  โดยคำค้นหาใน google trends เกี่ยวกับการลงทุนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับการขายออนไลน์ ปัจจุบันทางเลือกและช่องทางการลงทุนมีค่อนข้างเยอะ ตอบโจทย์ความต้องการลงทุนที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่การลงทุนในเงินฝากประจำ การลงทุนในกองทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การลงทุนในพันธบัตร/หุ้นสามัญ รวมไปถึงสิ่งที่เป็นกระแสอยู่ในตอนนี้คือ “การลงทุนใน Cryptocurrency” ซึ่งความเสี่ยงในการลงทุนแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันตามผลตอบแทนที่ได้รับ โดยคอนเซ็ปต์ “High Risk High Return” ยังคงใช้ได้อยู่ ดังนั้น ในการเลือกที่จะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดจึงควรที่จะศึกษาการลงทุนให้เข้าใจและประเมินความเสี่ยงหรือเงินต้นที่อาจสูญเสียได้จากการลงทุนนั้น 

สำหรับปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการเลือกลงทุนสินทรัพย์ต่าง ๆ คือ จำนวนเงินต้น จุดประสงค์การลงทุน ช่วงเวลาที่สามารถลงทุนได้ ประเภทและลักษณะของสินทรัพย์นั้น ๆ รวมถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงที่รับได้ นอกจากนี้ การรู้จักผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบันมีช่องทางการลงทุนที่เพิ่มขึ้น บางช่องทางมีการดึงดูดใจผ่านผลตอบแทนที่สูงแต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น แชร์ลูกโซ่หรือการลงทุนผ่าน Internet ซึ่งอาจนำมาซึ่งการสูญเสียเงินต้นที่นำไปลงทุนและส่งผลกระทบต่อสถานะรายได้ของครัวเรือน

ผู้ที่ไม่มีเวลาศึกษาหรือติดตามตลาดการลงทุนในกองทุนรวมเป็นอีกทางเลือกที่ดี โดยปัจจุบันมีทั้งกองทุนที่ลงในไทยและต่างประเทศสามารถเลือกสินทรัพย์ที่น่าสนใจและให้ทางบริษัทหลักทรัพย์หรือผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการสินทรัพย์ หรือหากเป็นผู้ที่มีเวลาและติดตามข่าวสารการลงทุนอยู่เสมอสามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น การลงทุนในหุ้นสามัญ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดี แต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

คริปโต crypto currency bitcoin

ปัจจุบันช่องทางการลงทุนที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากคือ การลงทุนใน Cryptocurrency หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การซื้อ-ขายสกุลเงินบิทคอยน์ โดยจะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมามีข่าวกลุ่มคนที่ได้รับกำไรและประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก แต่ในอีกมุมนึงสินทรัพย์ประเภทนี้เป็นสินทรัพย์ที่ใหม่มากจึงมีความผันผวนสูง มีคนได้รับกำไรจำนวนมากแต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ขาดทุนจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้เช่นกัน การติดตามสถานการณ์ การรู้จักลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนและการจับจังหวะการลงทุนจึงเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ 

ดังนั้น ในการใช้เงินทำงานเป็นอีกช่องทางในการหารายได้สำหรับมนุษย์เงินเดือน แต่ต้องศึกษาและเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ช่องทางการหารายได้เสริมเป็นตัวซ้ำเติมฐานะทางการเงินของครัวเรือนในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ภาวะการครองชีพสูงขึ้น ในขณะที่ครัวเรือนยังมีภาวะรายได้ที่ตึงตัว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ส่องความไม่แน่นอนของมนุษย์เงินเดือน ถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือน ลดเวลาทำงาน เมื่องานประจำไม่มั่นคงอีกต่อไป first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/how-salary-man-survive/

ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ไทยก้าวเข้าสู่ประเทศ “แก่และไม่รวย” รายได้ไม่สูง ขาดแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ

  • ไทยกำลังจะเป็นประเทศที่แก่และไม่รวย” จากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของผู้สูงอายุ ขณะที่ไทยยังคงติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ทำให้รายได้ต่อหัวยังไม่สูงนัก (GDP (PPP) per capita: 19,004 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี) รวมทั้งยังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ตลอดจนระบบบำนาญของไทยยังขาดความครอบคลุมและเพียงพอ 
  • ในปี 2565 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) เป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ทั้งนี้ มาตรการรัฐส่วนใหญ่ยังคงเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งช่วยชะลอผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น หากไทยยังไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ยิ่งจะซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่มากยิ่งขึ้น

aging society

ไทยประเทศกำลังพัฒนาแรกๆ ที่เข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์

หนึ่งปัญหาใหญ่ที่เหมือนเป็นระเบิดเวลารออยู่คือ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในปี 2565 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด เป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์  ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ไทยพร้อมหรือยังกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ?”

ไทยนับเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกๆ ที่จะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ หากลองพิจารณากลุ่มประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์แล้วพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นประเทศพัฒนาที่มีรายได้ต่อหัว (GDP(PPP) per capita) ค่อนข้างสูง เช่น

  • สิงคโปร์ (102,742 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี)
  • ญี่ปุ่น (44,5851 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี)

ขณะที่ไทยยังคงติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) มีรายได้ต่อหัวยังไม่สูงมากนัก (19,0041 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี) ระบบบำนาญของไทยในภาพรวมยังขาดความครอบคลุมและความเพียงพอต่อการยังชีพ สะท้อนจากดัชนีชี้วัดระบบบำนาญ หรือ Mercer CFA Institute Global Pension Index ปี 2563 ซึ่งไทยรั้งอันดับสุดท้ายจากการศึกษาจำนวน 43 ประเทศทั่วโลก อาจเรียกได้ว่า คนไทยกำลังจะแก่และไม่รวย”

aging society

ขาดแคลนแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ

ในระยะข้างหน้า ไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้สูงอายุ ขณะที่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มแต่งงานช้าและมีบุตรน้อยลง สะท้อนจากอัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility rate) ในช่วงปี 2563-2568 จะอยู่ที่ราว 1.5 คน ต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน (ระดับทดแทน คือ ระดับของภาวะเจริญพันธุ์ที่ใช้เพื่อรักษาขนาดของประชากรให้คงที่ต่อไป โดยมีอัตราการเจริญพันธุ์เท่ากับ 2.1 คน) และมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนประชากรวัยแรงงานที่เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ

นอกจากนี้ผลิตภาพของแรงงานไทย (Labor Productivity) มีโอกาสลดต่ำลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุและจากปัญหาทักษะแรงงานไม่ตรงความต้องการของตลาด (Skill Mismatch) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากแรงงานสูงอายุส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาต่ำ อาจทำให้ปรับตัวไม่ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ในภาพรวม ไทยยังขาดแคลนแรงงานเฉพาะทางที่มีทักษะสูง โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นที่ต้องการของตลาด รวมไปถึงทักษะเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จากสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ไทยเสี่ยงสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

aging society

วัยแรงงานแบกรับภาระภาษีจำนวนมากจากผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนของภาระการคลังของไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งจะเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังในระยะถัดไป เป็นผลมาจากประชากรวัยแรงงานต้องแบกรับภาระทางภาษีจำนวนมากจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากอัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงาน (Old-age Dependency) ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจาก 20% ในปี 2563 เป็นราว 47% ในปี 2583 ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นยิ่งส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้านสาธารณสุขและสวัสดิการผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกัน รายรับจากประชากรวัยแรงงานที่เป็นฐานภาษีก็มีแนวโน้มลดลง อาจทำให้มีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ตลอดจนอาจจะกระทบต่อความยั่งยืนของระบบบำนาญของประเทศ ยิ่งจะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะที่ผ่านมาภาครัฐได้เริ่มออกมาตรการรับมือสังคมสูงอายุไปบ้างแล้ว เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการที่เน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งช่วยเพียงชะลอผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น

aging society

เร่งปรับตัวก่อนสาย พัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน

หากไทยยังไม่ปรับตัวอย่างจริงจัง อาจจะต้องเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ในขณะที่ยังไม่พร้อมตามปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งรายได้ต่อหัวของประชากรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ระบบบำนาญที่ยังไม่ครอบคลุมและไม่เพียงพอ การขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมไปถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังของประเทศในอนาคต ถึงเวลาแล้วที่ไทยควรเร่งรับมือปัญหาดังกล่าว ผ่านการออกมาตรการต่างๆ ให้มีความเพียงพอและครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มทุกวัย แม้ว่าอาจจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันที แต่อย่างน้อยอาจจะพอช่วยบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้บ้าง โดยอาจแบ่งกลุ่มแรงงานเพื่อออกแนวทางการรับมือ ดังนี้ 

กลุ่มแรกคือผู้สูงอายุและคนกำลังจะเป็นผู้สูงอายุในไม่ช้า ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระดับการศึกษาต่ำและประกอบอาชีพเกษตรกรรม ยิ่งทำให้ยากต่อการพัฒนาและปรับทักษะใหม่ๆ ในกลุ่มนี้อาจจะต้องหวังพึ่งพาภาครัฐในการดูแลให้สามารถดำรงชีวิตโดยไม่ลำบากมากนัก ซึ่งอาจเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 4.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของผู้สูงอายุทั้งหมด ซึ่งภาครัฐได้ออกมาตรการดูแลส่วนนี้ไปบ้างแล้ว เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บัตรทอง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น  อย่างไรก็ตามเบี้ยยังชีพที่ผู้สูงอายุได้รับยังค่อนข้างน้อยและไม่เพียงพอต่อการยังดำรงชีวิต

ภาครัฐอาจจะต้องปรับปรุงและพัฒนาหลักประกันทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อให้ผู้สูงอายุยังคงสามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองให้นานที่สุด โดยต้องเป็นงานที่เน้นความปลอดภัย มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับเงื่อนไขตามวัยของแรงงงาน เช่น งานพัฒนาชุมชน งานบริการในห้องสมุดหรือร้านหนังสือ เป็นต้น 

ขณะที่แรงงานกลุ่มที่ยังมีเวลาและมีศักยภาพในการปรับตัว ภาครัฐควรเร่งออกมาตรการเชิงรุกเพื่อยกระดับผลิตภาพแรงงานซึ่งน่าจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญสังคมสูงอายุในระยะยาว ผ่านการพัฒนาทักษะแรงงาน (Upskilling & Reskilling) ให้ตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อให้แรงงานสามารถเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ของประเทศในอนาคตได้ เช่น ทักษะเทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น ควบคู่กับการส่งเสริมการผลิตบัณฑิตในสาย STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ให้มากยิ่งขึ้น

ในส่วนของการพัฒนาทักษะแรงงานวัยกลางคน หรือ Gen X อาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว โดยอาจเริ่มจากการปรับทักษะง่ายๆ  เช่น ทักษะการบริบาลผู้สูงอายุ ซึ่งไทยมีศักยภาพและความพร้อมด้าน Healthcare เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบกับไทยยังถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดของโลกสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุวัยเกษียณ ถือเป็นโอกาสดีของไทยที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งอาจจะพอช่วยบรรเทาปัญหาสังคมสูงอายุของไทยได้บ้าง นอกจากนี้การส่งเสริมสุขภาพแบบป้องกันควบคู่กันไปจะช่วยลดค่าใช้ด้านสาธารณสุขของภาครัฐ ไม่ให้เป็นภาระการคลังต่อไปในอนาคต

aging society

อย่างไรตาม โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง ทักษะที่เป็นที่ต้องการในวันนี้ อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไปในวันข้างหน้า การเตรียมพร้อมรับมือกับทุกๆ การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การสร้างสังคมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยภาครัฐควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และสร้างแรงจูงใจให้แรงงานต้องการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อโลกอนาคต เช่น ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงการสร้างระบบพัฒนาทักษะให้มีความครอบคลุมและเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ อย่างครบวงจร ตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาตลอดจนการนำไปใช้งานจริง ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ได้จัดตั้งโครงการ SkillsFuture เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาและเรียนรู้ทักษะใหม่ตลอดชีวิตของแรงงานสิงคโปร์ โดยทางรัฐบาลจะสนับสนุนเครดิตคนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์แก่แรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปเพื่อนำไปใช้พัฒนาทักษะที่สนใจ ควบคู่กับการจัดหางานที่เหมาะสมบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างครบวงจร 

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ไทยก้าวเข้าสู่ประเทศ “แก่และไม่รวย” รายได้ไม่สูง ขาดแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/thailand-not-ready-to-aging-society/

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาสิ่งแวดล้อม​ ต้นทุนที่ต้องแบกรับและปฏิเสธไม่ได้ของ SME

  • การประชุม COP26 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 ที่เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร คาดว่ากลุ่มสมาชิกจะมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนและเข้มข้นขึ้น รวมถึงประเทศไทยที่พร้อมประกาศจุดยืนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การกำหนดเป้าหมายข้างต้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
    แต่การดำเนินการในระยะข้างหน้าอาจเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โจทย์ธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้น นโยบายทางการค้าของประเทศชั้นนำ และต้นทุนในการปรับตัวที่เพิ่มขึ้น
  • เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นต้องปรับตัวทันที เนื่องจากการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมจะมาเร็วและเข้มข้นกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก (SMEs) ที่อาจขาดศักยภาพและมีทรัพยากรไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน

Climate Change

การประชุม 26th UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) ในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 ที่เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร คาดว่ากลุ่มสมาชิกชั้นนำ เช่น สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จะมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนและเข้มข้นขึ้น เพื่อชะลอวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก รวมถึงประเทศไทยที่แม้จะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกไม่มากนัก แต่ไทยยังคงดำเนินตามแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 ในปี 2573 โดยเฉพาะในภาคพลังงาน คมนาคมและขนส่ง โดยมีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือน
กระจกต่ำและมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2608 เพื่อประกาศจุดยืนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

cop26

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ข้างต้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในระยะข้างหน้าอาจเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โจทย์ธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึงนโยบายทางการค้าของประเทศชั้นนำ เช่น

  • ภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกมีแนวโน้มรุนแรงและมีความถี่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเร่งให้ทุกประเทศทั่วโลกอาจต้องพิจารณาปรับเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ให้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการบังคับใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นภาครัฐและผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจมาถึงเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้
  • โจทย์ธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายและการเปลี่ยนรูปแบบการซื้อสินค้าในช่วงโควิด-19 ที่ทำให้มีการสั่งซื้ออาหารและสินค้าออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ขยะบรรจุภัณฑ์เฉพาะจากระบบ Delivery จะมีปริมาณมากกว่า 250 ล้านชิ้น ในปี 2564 และปริมาณขยะติดเชื้อจากการป้องกันและรักษาโควิด-19 ที่จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ที่ซับซ้อนจะเร่งให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวในเชิงรุกและเข้มข้นขึ้น โดยยังสามารถตอบโจทย์การใช้งานและความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน
  • นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศสำคัญจะเข้มงวดและขยายการบังคับใช้ในวงกว้างมากขึ้น เช่น มาตรการ Carbon Border Adjustment ของสหภาพยุโรปที่จะใช้กับสินค้านำเข้าในปี 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการรั่วไหลของคาร์บอนและกระตุ้นให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องกับภาคการผลิตของประเทศผู้ส่งออกที่ส่วนใหญ่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าในระยะแรกอาจใช้กับภาคธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงอย่างภาคพลังงาน เหมืองแร่ แต่คาดว่าจะขยายไปสู่สินค้าและประเทศอื่นต่อไปในอนาคต
Climate Change
ภาพจาก Shutterstock

ต้นทุนสูงขึ้นจาก ราคาพลังงาน แรงงาน และเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจมีต้นทุนเฉพาะหน้าสูงขึ้น ทั้งจากราคาพลังงาน ต้นทุนแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโควิด-19 ประกอบกับยอดขายที่ยังไม่ฟื้นตัว การเปลี่ยนผ่านไปสู่ Bio-Circular-Green Economy ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มเติมในการปรับตัวเพื่อความยั่งยืน เนื่องจากสินค้าและบริการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่จะมาทดแทนสินค้ากลุ่มดั้งเดิมยังอยู่ระหว่างการพัฒนา หรือเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนสูง เพราะยังไม่มีตลาดรองรับเพียงพอที่จะทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) แต่คาดว่าต้นทุนน่าจะปรับตัวลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าธุรกิจจะเผชิญความท้าทายหลายประการเพื่อตอบรับ
เทรนด์สิ่งแวดล้อม แต่เป็นโจทย์ที่ธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นต้องปรับตัวทันที เนื่องจากการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมจะมาเร็วและเข้มข้นกว่าที่คาดไว้ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก (SMEs) ที่อาจขาดศักยภาพและมีทรัพยากรไม่เพียงพอ

ดังนั้นจึงควรมีกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน ทั้งมาตรการทางการเงินในรูปแบบสินเชื่อ เงินกองทุนสนับสนุนผู้ส่งออก การร่วมลงทุนในงานวิจัยพัฒนาที่มีศักยภาพในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ รวมถึงมาตรการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี ทักษะแรงงาน และ Know-how ต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้เองในระยะยาว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาสิ่งแวดล้อม​ ต้นทุนที่ต้องแบกรับและปฏิเสธไม่ได้ของ SME first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/cop26-climate-change-in-business/

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ -0.5% จากโควิดระบาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดมุมมองเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะหดตัวที่ -0.5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวที่ 1.0% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่จำนวนเคสผู้ติดเชื้อรายวันอาจยังไม่ผ่านจุดสูงสุด ทำให้มาตรการล็อกดาวน์อาจใช้ระยะเวลายาวขึ้น

economy thai

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่มีแนวโน้มรุนแรงและลากยาวขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม การประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คาดว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะแตะระดับสูงสุดในเดือนกันยายน และจะค่อยๆ ลดจำนวนลง แต่กว่าสถานการณ์จะควบคุมได้หรือจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน คาดว่าไม่เร็วไปกว่าไตรมาสที่ 4 ในปี 2564 นี้

kbank

ดังนั้น คาดว่ารัฐบาลจะยังคงมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดไปไม่ต่ำกว่า 2 เดือน (นับจาก .. 2564) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ตามมา และแม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้างในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่คงไม่สามารถชดเชยผลกระทบได้ทั้งหมด ทำให้คาดว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ของไทยในไตรมาส 3/2564 จะหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.5 และ -4.9 ตามลำดับ

นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลอาจมีการทยอยผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในบางธุรกิจ แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสยังไม่สูงมากก็จะทำให้ประเด็นความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่กลับมาปกติ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว 

kbank

ท่องเที่ยวยังไร้แสง คาดนักท่องเที่ยวทั้งปี 1.5 แสนคน

สำหรับผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยอาจน้อยกว่าที่คาด เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยในปีนี้อาจลดลงอยู่ที่ราว 1.5 แสนคน แม้ว่าจะมีการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์และโครงการสมุย พลัส โมเดล” 

ห่วงคลัสเตอร์โรงงานกระทบการผลิต ส่งออก-บริโภคในประเทศ

ในขณะที่ ภาคการผลิตเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการแพร่ระบาดในโรงงาน โดยหากการแพร่ระบาดยังคงไม่สามารถควบคุมได้ อาจส่งผลให้เกิดการปิดโรงงาน และมีผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่การผลิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นอกจากนี้ อาจทำให้สินค้าในประเทศเกิดภาวะขาดตลาดในบางช่วงจังหวะเวลาอีกด้วย อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และอียู ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า น่าจะยังส่งผลให้การส่งออกไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง

ครึ่งปีแรกขยายตัว 2.0% แต่โดนรวมยังไม่ดี

เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2564 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2564 ที่ขยายตัว 7.5% YoY ส่งผลให้ในครึ่งปีแรกของปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.0% YoY อย่างไรก็ดี หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 0.4% QoQ แสดงให้เห็นถึง

โมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยที่ยังอ่อนแรงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2564 ขยายตัว 7.5% YoY เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำ และการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นเป็นหลัก โดยการส่งออกสินค้าในไตรมาส 2/2564 ขยายตัวที่ 36.2% YoY ในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการชดเชยอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (Pent-up demand) ในขณะที่ การบริโภคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 2/2564 แม้ว่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าเนื่องจากฐานที่ต่ำ แต่การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนกลับหดตัวที่ -2.5 QoQ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ -0.5% จากโควิดระบาด first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/thai-economy-forcast-2021-kresearch/

อุปกรณ์ไม่พร้อม เวลาไม่มี รูปแบบไม่ได้ อุปสรรคเรียนออนไลน์ ยุคโควิดระบาด ที่ต้องเร่งแก้ไข

  • เรียนออนไลน์ เป็นช่องทางเลือกที่จำเป็นในภาวะที่โควิดยังระบาดรุนแรง แต่ก็มีอุปสรรคและข้อจำกัดไม่น้อย
  • ความไม่พร้อมในอุปกรณ์การเรียนออนไลน์อย่างคอมพิวเตอร์/แท็บเล็ต อินเทอร์เน็ต และค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งกลุ่มผู้ปกครองที่เผชิญปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเรียนออนไลน์น่าจะยังอยู่ยาว ทุกฝ่ายควรเร่งสร้างความพร้อมและลดอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ เพื่อลดช่องว่างระหว่างการศึกษาในนักเรียนบางกลุ่มที่ไม่มีความพร้อม
  • ทางออก เช่น การจัดทำคลิปสื่อการสอนบทเรียนของแต่ละชั้นเรียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเผยแพร่ในหลายช่องทาง การกำหนดเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตฟรีในช่วงเวลาเรียน
  • เร่งพัฒนาความรู้การใช้เทคโนโลยีสื่อการสอนออนไลน์แก่บุคลากรผู้สอนผ่าน E-learning
e-learning
ภาพจาก Shutterstock

เรียนออนไลน์ สิ่งที่จำเป็น แต่มีข้อจำกัด

การระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ นับว่ารุนแรงกว่าที่ผ่านมา และคาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลานานกว่าที่สถานการณ์จะคลี่คลายลง ทำให้การกลับมาเรียนที่โรงเรียนจึงยังมีความไม่แน่นอนสูง การเรียนออนไลน์ จึงเป็นช่องทางเลือกที่จำเป็นในภาวะเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียนที่จะกลับไปโรงเรียนอีกครั้ง

บางพื้นที่ต้องปรับการเรียนการสอนทั้งการเรียนแบบ On-Site และ Online โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโรคโควิดในพื้นที่ 

จากผลสำรวจความพร้อมการเรียนออนไลน์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังพบอุปสรรคและข้อจำกัดในการเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน (79.1%) โดยกลุ่มผู้ปกครองที่เผชิญปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานทุกวัน และกลุ่มที่มีบุตรหลานมากกว่า 1 คน อยู่ในช่วงวัยเรียนชั้นประถมและมัธยมต้น ขณะที่ผู้ปกครอง 20.9% ไม่มีอุปสรรคหรือปัญหาในการเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน

K Research

อุปกรณ์ไม่พร้อม ปัญหาหลักของผู้มีรายได้น้อย

อุปสรรคสำคัญในการเรียนออนไลน์ คือ ความไม่พร้อมในอุปกรณ์การเรียน โดยผู้ปกครองผู้มีรายได้น้อยจะเผชิญกับข้อจำกัดที่สูงกว่าเมื่อบุตรหลานต้องเรียนออนไลน์

การเรียนทางออนไลน์สามารถช่วยให้เข้าถึงความรู้ได้ตลอดเวลา ลดช่องว่างการเข้าถึงการศึกษาหาความรู้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความสามารถในการเข้าถึงการเรียนรู้ออนไลน์ในประเทศไทยก็ยังมีข้อจำกัดสูง โดยเฉพาะเมื่อต้องปรับมาเรียนออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ

ความไม่พร้อมในอุปกรณ์การเรียนออนไลน์อย่างคอมพิวเตอร์/แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ต (คิดเป็น 59.8%) ซึ่งผลสำรวจสะท้อนว่านักเรียนส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน (คิดเป็น 50.9%)  ซึ่งการเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟนมีข้อจำกัด อาทิ ขนาดหน้าจอที่เล็ก ข้อจำกัดของโทรศัพท์ในการลงแอปพลิเคชั่นเพื่อการทำการบ้านส่งออนไลน์ และการเรียนเป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียน

นอกจากนี้ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนมากกว่า 1 คน จะต้องแบ่งปันการใช้อุปกรณ์ในการเรียน และค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์เพื่อการเรียนออนไลน์ รวมถึงยังต้องมีภาระรายจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น (จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า คนไทยที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่ยังใช้ระบบเติมเงิน ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีเพียง 9-10 ล้านคน) และผลสำรวจยังสะท้อนว่า กลุ่มผู้ปกครองผู้มีรายได้น้อยจะเผชิญกับข้อจำกัดที่สูงกว่าเมื่อบุตรหลานต้องเรียนออนไลน์

e-learning
ภาพจาก Shutterstock

เวลาของผู้ปกครอง อีกตัวแปรสำคัญ

ผู้ปกครองเผชิญปัญหาในการจัดสรรเวลาระหว่างการทำงานและการดูแลบุตรหลานระหว่างเรียนออนไลน์ (คิดเป็น 52.5%) ด้วยการเรียนออนไลน์นักเรียนจะต้องการเวลาจากผู้ปกครองมากกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องออกไปทำงานทุกวันไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ซึ่งผู้ปกครองต้องใช้เวลาในการสอนเพิ่มเติมเมื่อบุตรหลานไม่เข้าใจบทเรียน และการแก้ไขปัญหาเมื่ออุปกรณ์การเรียนขัดข้อง เป็นต้น 

นักเรียนเองก็ไม่พร้อมเช่นกัน

ความไม่พร้อมของผู้เรียน (คิดเป็น 44.9%)  การเรียนออนไลน์เด็กนักเรียนจะต้องมีวินัยในตนเองสูง ซึ่งปัญหาที่ผู้ปกครองพบส่วนใหญ่เด็กนักเรียนจะขาดสมาธิในการเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากหลายสาเหตุ อาทิ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์ นักเรียนจะเปิดเว็บไซต์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนในระหว่างเรียน ความล้าจากการที่ต้องเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตนานๆ และเมื่อมีปัญหาระหว่างเรียนไม่สามารถปรึกษาได้ทันทีส่งผลต่อการเรียน เป็นต้น 

รูปแบบการสอนก็ไม่พร้อมด้วย

ความไม่พร้อมของรูปแบบการสอน (คิดเป็น 38.2%) เหตุการณ์ไม่คาดคิดเมื่อการระบาดของโควิด-19 เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งไม่ได้เตรียมความพร้อมและออกแบบการเรียนการสอนในการรองรับรูปแบบการเรียนออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการสอน ข้อจำกัดของบุคลากรในการใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่นเฉพาะสำหรับการเรียนที่ช่วยให้การสอนออนไลน์เสมือนจริง ความพร้อมของเทคโนโลยีของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ยังมีช่องว่างสูง เช่น โรงเรียนในเมืองและในพื้นที่ชนบท เป็นต้น

e-learning
ภาพจาก Shutterstock

ยกมือถาม ทางออกของอุปสรรค ต้องทำอย่างไร?

เด็กนักเรียนอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังคงต้องรออีกสักระยะกว่าที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิดทำให้โอกาสการกลับไปเรียนที่โรงเรียนยังมีความไม่แน่นอนสูงในหลายพื้นที่ ดังนั้น การเรียนออนไลน์จึงยังเป็นช่องทางสำคัญ

ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือออกมาบ้าง เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง 2,000 บาทต่อนักเรียน 1 คน (ระดับอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา)​ หน่วยงานรัฐร่วมกับเอกชนจัดแพคเกจอินเทอร์เน็ตราคาประหยัด (15 ส.ค.-15ต.ค. 2564) เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชนและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวของเด็กนักเรียน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เพื่อที่จะลดอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ และลดช่องว่างระหว่างการศึกษาในนักเรียนบางกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์และมีข้อจำกัดเรื่องของสภาพคล่องในครัวเรือน ซึ่งในระยะสั้นการแบ่งเบาภาระรายจ่ายของผู้ปกครอง เช่น การให้นักเรียนกลุ่มรายได้น้อยที่อยู่ห่างไกลจากจุดสัญญาณ WiFi ฟรีของรัฐได้รับสิทธิ์อินเทอร์เน็ตฟรีในช่วงเวลาเรียน 

การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบทเรียน เช่น การจัดทำคลิปการสอนบทเรียนของแต่ละชั้นเรียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เผยแพร่ในหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์โรงเรียน เว็บไซต์เฉพาะของกระทรวงศึกษาธิการ หรือจะเป็นช่องทางโทรทัศน์ (National Broadcast) เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าไปทบทวนบทเรียนได้ตลอดเวลา ขณะที่การสอนอาจจะมีการเพิ่มกิจกรรม หรือคลิปวิดีโอ เพื่อลดภาวะความเครียดในการเรียนออนไลน์ และการออกแบบการวัดประสิทธิผลในการเรียนให้สนับสนุนกับการเรียนออนไลน์

การเรียนออนไลน์จะมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นการพัฒนาการศึกษาในระบบให้มีคุณภาพและเท่าเทียม ด้วยการพยายามลดข้อจำกัดและเติมเต็มช่องว่างในทุกๆ ด้าน ทั้งพัฒนาการของนักเรียนและบุคลากรผู้สอน เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันดำเนินการวางแผนและสร้างระบบการเรียนออนไลน์ให้เป็นมาตรฐานโดยการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งเป็น “ความท้าทายหลัก” สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการเปิด WiFi ฟรีให้กับผู้มีรายได้น้อยและนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงเป็นสิ่งจำเป็น

ท้ายสุด การให้ความสำคัญในการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีกับบุคลากรในโรงเรียน เช่น การจัด E-Learning การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความคุ้นชินและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกการศึกษาในระยะข้างหน้า

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post อุปกรณ์ไม่พร้อม เวลาไม่มี รูปแบบไม่ได้ อุปสรรคเรียนออนไลน์ ยุคโควิดระบาด ที่ต้องเร่งแก้ไข first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/e-learning-challenge-in-covid/

Work from Home มีทั้งบวกและลบ ช่วยหยุดโควิดได้แต่ประสิทธิภาพอาจลดลง

  • การทำงานที่บ้าน (Work From Home: WFH) รวมทั้งการสลับระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศกับที่บ้าน (Hybrid WFH) จะเป็นรูปแบบการทำงานในอนาคตของหลายองค์กร แม้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า WFH และการทำงานที่ออฟฟิศ มีทั้งด้านบวกและด้านลบที่แตกต่างกันไป ซึ่งในที่สุดแล้ว องค์กรต่างๆ ทั้งพนักงานและบริษัท คงต้องหาแนวทางหรือจุดลงตัวร่วมกันเพื่อให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่าย 

K Research

โควิด-19 ยังไม่จบง่ายๆ ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในระดับสูง ล่าสุดกับการล็อกดาวน์พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้หลายบริษัทยังคงรูปแบบการทำงาน WFH ต่อไป

จากผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า พนักงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล กว่า 52.7% ยังทำงาน ณ ที่พักเต็มรูปแบบหรือ WFH 100% ขณะที่ประมาณ 30.6% มีรูปแบบการทำงานที่ออฟฟิศ 2-3 วันต่อสัปดาห์สลับกับการทำงานในที่พัก หรือ Hybrid WFH

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ตัวอย่างประมาณ 16.7% ยังต้องไปทำงานที่ออฟฟิศ เนื่องจากลักษณะงานไม่เหมาะที่จะ WFH ได้ เช่น งานทางด้านบัญชี งานที่ต้องลงนามในเอกสารสำคัญต่างๆ เป็นต้น รวมถึงบางบริษัทไม่มีความพร้อมในระบบไอทีและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงานให้สามารถทำงานที่บ้านได้

K Research

WFH ไม่ตอบโจทย์ประสิทธิภาพการทำงาน

WFH ไม่ต่างจากการทำงานที่ออฟฟิศที่ก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งในระยะเริ่มแรกของการทำงานที่บ้าน นับเป็นสิ่งแปลกใหม่ของวิถีการทำงานในยุค New Normal และเป็นสิ่งที่พนักงานหลายคนรอคอยกับการที่ไม่ต้องตื่นแต่เช้า แต่งตัวและฟันฝ่าการจราจรที่ติดขัดไปทำงาน การทำงานที่บ้านหรือที่ไหนๆ นั้น สามารถทำได้เพียงแค่มีระบบการสื่อสารโทรคมนาคมอินเทอร์เน็ตก็พอ

สอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า ในด้านบวกนั้น กลุ่มตัวอย่างมองว่าการทำงานที่บ้านช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีเวลาอยู่กับครอบครัว สามารถบริหารเวลาระหว่างชีวิตประจำวันกับการทำงาน (Work Life Balance) ได้ การทำงานมีประสิทธิภาพเนื่องจากไม่ต้องประชุมตลอดเวลา สุขภาพดีขึ้น และมีความยืดหยุ่นด้านเวลาทำงาน

K Research

อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่งของการทำงานที่บ้าน ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่ต้อง WFH มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง พบว่า การทำงานที่บ้านมีอุปสรรคในมิติต่างๆ ที่สำคัญคือ อุปสรรคด้านการทำงาน (59% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) เนื่องจากไม่มีความคล่องตัวเหมือนกับการทำงานที่ออฟฟิศ ทั้งปัญหาด้านอุปกรณ์การทำงานและระบบไอที ปัญหาการสื่อสารระหว่างลูกทีมและหัวหน้า การติดต่อสื่อสารนอกเวลางานที่มากขึ้น การติดต่อประสานงานระหว่างหลายทีมมีความยากลำบาก การรับรู้นโยบายของบริษัทและงานระหว่างทีมงานมีน้อยลง และปัญหาในเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างพนักงานและหัวหน้างาน

ตามมาด้วย ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น (58.4% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) เช่น ค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ อุปสรรคการทำงานที่บ้านอื่นๆ อาทิ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยไม่เหมาะกับการทำงาน เช่น มีเสียงดัง จำนวนผู้อยู่อาศัยรวมกันจำนวนมาก ทำให้ขาดสมาธิในการทำงาน ปัญหาสุขภาพจากพื้นที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม การทำงานที่บ้านต้องมีการควบคุมพฤติกกรรมตนเองที่สูงและต้องใช้สมาธิอย่างมากในการทำงาน และต้องบริหารจัดการความสมดุลของเวลางานและการดูแลบุตรหลาน

ทำงานอย่างไรให้ชีวิตสดใส การงานดีขึ้น

รูปแบบการทำงานเป็นสิ่งที่พนักงานและองค์กรยังต้องหาคำตอบที่เหมาะสม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การทำงานที่บ้านยังมีอุปสรรคท้าทายสำหรับพนักงานและบริษัทที่ต้องแก้ปัญหาด้วยแนวทางและเครื่องมือที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความพร้อมด้านระบบงานไอทีและอุปกรณ์ที่สอดรับกับลักษณะงาน การปรับสวัสดิการและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำงานที่บ้านกับการทำงานที่ออฟฟิศ เป็นต้น    

ผลสำรวจ พบว่า พนักงานต้องการการสนับสนุนจากองค์กรในด้านสวัสดิการค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต/ค่าโทรศัพท์ (60.2%) เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้ สิ่งที่พนักงานต้องการการสนับสนุนเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องไอทีและอุปกรณ์ในการทำงาน (48.9%) เช่น โน๊ตบุค ระบบข้อมูล หรือแม้กระทั่งความช่วยเหลือด้านเทคนิคเมื่อเกิดปัญหาขึ้น 

K Research

และเป็นที่น่าสนใจว่า มุมมองของพนักงานต่อการ WFH หรือ Work From Anywhere ต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานนั้น กลุ่มตัวอย่าง มองว่า การทำงานที่บ้านทำให้แรงจูงใจในการทำงานลดลง (60.0%) มีความเสี่ยงต่อการลดลงของเงินเดือนและสวัสดิการ (57.6%) มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานลดลง (18.3%) และมองว่างานไม่มีความท้าทาย (14.7%)

ท้ายสุดแต่สำคัญที่สุด การที่ทีมงานในที่ทำงานอยู่ต่างที่กันเป็นสิ่งท้าทายสำหรับองค์กรที่คงจะต้องออกแบบการบริหารจัดการภายในเพื่อทำให้พนักงานทุกคนยังมีความรู้สึกมีส่วนร่วม ไม่ถูกโดดเดี่ยว การออกแบบการโปรโมทพนักงาน สวัสดิการ เพื่อให้พนักงานมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานใหม่ การสร้างทีมทำงานที่แข็งแกร่ง และการวัดประสิทธิภาพหรือ KPI ที่ชัดเจน เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถเก็บพนักงานที่มีคุณค่าไว้กับองค์กรต่อไป ซึ่งหัวใจสำคัญคงจะอยู่ที่การสื่อสารสองทางอย่างสร้างสรรค์ในพนักงานทุกๆ ระดับ ให้เกิดความเชื่อมั่นและร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Work from Home มีทั้งบวกและลบ ช่วยหยุดโควิดได้แต่ประสิทธิภาพอาจลดลง first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/kresearch-work-from-home-good-or-bad/

จาก Work from Home ถึง Hybrid Work Model เทรนด์การทำงานที่ “เลือก” ได้มากขึ้น

  • สำหรับคนที่ Work from Home ยาวๆ แล้วพบว่ามีปัญหา คุณภาพชีวิตลดลง หมดไฟ นายจ้างใช้งานมากขึ้น หาสมดุลในชีวิตส่วนตัวและงานได้ยาก
  • องค์กรที่พบว่า การ Work from Home ไม่ได้ดีที่สุด แต่จะเข้าออฟฟิศแบบเดิมๆ ก็ไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว
  • เกิดเป็นนโยบายการทำงาน Hybrid Work Model อนุญาตให้พนักงานเลือกวันทำงานระหว่างที่บ้านและที่ออฟฟิสในช่วงระหว่างสัปดาห์ได้ เป็นเทรนด์ที่กำลังมีการทดลองใช้จริง
  • แม้ทิศทางดังกล่าวจะตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็มีหลายโจทย์ที่ต้องคิดเพิ่ม ทั้งโดยตัวกิจการและพนักงานเอง เพราะจะมีผลต่อการวางแผนอนาคต

hybrid work model

ภาคธุรกิจมีความคุ้นชินกับ Work from Home มากขึ้น

ท่ามกลางกระแสการระบาดหลายระลอกของไวรัสโควิดทั่วโลกในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมานั้น ผลสำรวจโดย Upwork Pulse Survey (ธันวาคม 2563 โดยสำรวจผู้จัดการฝ่ายบุคคลที่ดูแลด้านการรับพนักงานใหม่จำนวน 1,000 คน) พบว่า พนักงานภาคธุรกิจในสหรัฐฯ มีความคุ้นชินและยอมรับการทำงานระยะไกล (Remote Work) มากขึ้นในมิติต่างๆ โดย 56.8% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ยังคงทำงานจากที่บ้านทั้งหมดหรือบางส่วน 

ขณะที่ หากเทียบกับช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่เป็นช่วงของการเริ่มระบาดของไวรัสรอบแรก พบว่า

  • 68% รู้สึกว่าการทำงานระยะไกล มีความราบรื่น มากกว่ารอบแรก ซึ่งสะท้อนความกังวลต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง
  • ประโยชน์ของการทำงานระยะไกล 3 อันดับแรก คือ การลดการประชุมที่ไม่จำเป็นลง ทำให้ตารางการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น และไม่ต้องเดินทาง
  • ใน 5 ปีข้างหน้า ผู้ตอบคาดว่า สัดส่วนการทำงานระยะไกลแบบ Fully Remote จะมีสัดส่วนประมาณ 22.9% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดที่ประมาณ 12.3% ขณะที่แบบ Partially Remote จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาที่ 14.6% ของพนักงานทั้งหมด เทียบกับช่วงก่อนโควิดที่ประมาณ 8.9%
  • ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ธุรกิจเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จ้าง Freelancer มากขึ้นจาก 12.3% ในช่วงก่อนโควิด มาเป็น 41.8% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 
ภาพจาก Unsplash โดย Mimi Thian

ผลสำรวจข้างต้น สอดคล้องกับทิศทางของหลายบริษัทในต่างประเทศที่ทยอยปรับนโยบายการทำงาน โดยข้อมูลจาก EFMA ได้ชี้ถึงตัวอย่างในภาคธนาคาร ได้แก่

  • DBS ในสิงคโปร์ที่อนุญาตให้พนักงานทำงานระยะไกลได้ 40% ของเวลาการทำงานทั้งหมด
  • ธนาคาร Danske ในเดนมาร์ค ที่อนุญาตให้พนักงานเลือกว่าอยากเข้าทำงานกี่วันในออฟฟิส หลังสำรวจแล้วพบว่า 92% ของพนักงานต้องการทำงานจากที่บ้านเฉลี่ยประมาณ 2 วันต่อสัปดาห์
  • ธนาคาร Standard Chartered สำรวจแล้วพบว่า 80% ของฟังก์ชั่นการทำงาน สามารถมีลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่น จึงทำให้เตรียมเสนอนโยบายการทำงานในลักษณะดังกล่าวทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยให้พนักงานเลือกเวลาและสถานที่ทำงานได้เอง ก่อนที่จะเพิ่มความครอบคลุมพนักงานในประเทศต่างๆ มากขึ้นในอนาคต
  • Citigroup ที่มองว่าพนักงานสามารถทำงานที่บ้านภายใต้ Hybrid Work Model หากสามารถสื่อสารกับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานได้อย่างราบรื่น
  • ธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่สายการเงิน ก็มีนโยบายไปในทิศทางที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Microsoft, Ford, Google เป็นต้น

ขณะที่ คาดว่าสำหรับไทยนั้น บริษัทต่างๆ คงทยอยขบคิดในประเด็นเหล่านี้ เพื่อพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์ทางธุรกิจและเงื่อนไขการทำงานของพนักงานที่เหมาะสมเป็นการเฉพาะต่อไป

ภาพจาก Shutterstock

Hybrid Work Model ก็มีสิ่งที่ต้องแลกและขบคิดเพิ่ม…

การทำงานจากที่บ้าน ก็ทำให้พนักงานบางกลุ่มรู้สึกลบกับชีวิตได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตที่ลดลง รู้สึกว่าปริมาณงานมากไปหรือ Burn Out  บริษัทนายจ้างมีความต้องการในงานมากขึ้น รวมถึงปัญหาในการไม่สามารถ Balance ระหว่างชีวิตส่วนตัวและงานได้ 

แน่นอนว่า การทำงานระยะไกลนี้ ไม่ได้เหมาะสมกับทุกฟังก์ชั่นของงานและทุกธุรกิจ อาทิ งานบริการ หรืองานที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดด้าน IT ยังคงต้องประจำอยู่เป็นหลักแหล่ง

สำหรับเจ้าของกิจการหรือบริษัท สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ ความจำเป็นในการปรับขนาดลดขนาดสถานที่ทำงานเดิม หรือเพิ่มเติม Working Space แห่งอื่นๆ รวมถึงความพร้อมด้านอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของวิถีการทำงานแบบใหม่นี้ โดยเฉพาะหลังจากเราสามารถเดินหน้าการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของการสื่อสารภายในองค์กร วัฒนธรรมองค์กร และระบบการบริหารการปฏิบัติงานของพนักงานต่างๆ ด้วย

ภาวะหมดไฟ burnout ภาพจาก Shutterstock

สำหรับพนักงานแล้ว แม้รูปแบบการทำงานใหม่นี้ จะตอบโจทย์ชีวิตของหลายคน แต่ก็อาจหมายถึงนโยบายการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป มาสู่การจ้างในรูปแบบสัญญาจ้างแทนที่จะเป็นพนักงานประจำ หรือการปรับอัตราค่าจ้างที่ให้เหมาะสมกับสภาพชีวิตที่มีความจำเป็นลดลง ทั้งสำหรับการเดินทาง หรือใช้ชีวิตในเมืองหลวงที่มีค่าครองชีพแสนแพงแบบเดิม

สำหรับไทยแล้ว ผู้มีงานทำในรูปแบบ Freelancer หรือทำงานส่วนตัว อยู่ที่ประมาณ 12.7 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 32.3% ของกำลังแรงงานรวมทั้งประเทศ (ข้อมูลปี 2563) และคงจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ขณะที่หากเทรนด์ดังกล่าวชัดเจนขึ้นจริง ก็คงจะกระทบต่อการวางแผนอนาคตที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ ควรเลือกทำงานที่บ้านหรือที่ทำงานวันไหน หากแต่รวมไปถึงการวางแผนชีวิตและวางแผนการเงินใหม่ด้วย เพราะอาชีพและรายได้อาจมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขการจ้างงานที่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้

ขอบคุณข้อมูลจาก EFMA, Upwork, YMCA WorkWell, Harvard Business Review, กรมสุขภาพจิต

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post จาก Work from Home ถึง Hybrid Work Model เทรนด์การทำงานที่ “เลือก” ได้มากขึ้น first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/hybrid-work-model/

แรงงานไทยกระทบหนัก ไม่มีงานทำ ชั่วโมงทำงานลด รายได้หด ทักษะยังไม่พัฒนา

  • โควิด-19 ระลอกนี้ซ้ำเติมกลุ่มแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบหนักอยู่แล้วให้หนักลงไปอีก
  • ธ.ค.63 คาดว่ามีผู้ว่างงานจากผลกระทบโควิด-19 ประมาณ 5.9 แสนคน
  • ผู้เสมือนว่างงาน หรือมีจำนวนชั่วโมงการทำงานน้อยลง รายได้ก็ลดลงด้วย ประมาณ 2.1 ล้านคน
  • แรงงานภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ กว่า 6.9 ล้านคน ยังไม่ฟื้นและรายได้หดหาย
  • ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาทักษะและผลิตภาพแรงงานไทย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีนโยบายเชิงรูปธรรม และประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามกำลังแซงหน้าไปแล้ว

K Research

แรงงานเปราะบางปี 2564 มีโอกาสเพิ่มสูงกว่า 2.7 ล้านคน หรือ 6.9%

กว่า 1 ปีของการระบาดโควิด-19 ที่จนถึงปัจจุบันวิกฤตนี้ก็ยังไม่ยุติลง และมีแนวโน้มจะสร้างผลกระทบที่ยืดเยื้อยาวนานสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยที่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีนให้กับประชากร 70% ขึ้นไปของประชากรทั้งประเทศอาจมีความเสี่ยงว่าจะเกิดขึ้นไม่ทันภายในช่วงปี 2564 นี้ ถึงแม้ภาครัฐมีแผนจะจัดหาวัคซีนไว้แล้วมากกว่า 63 ล้านโดสก็ตาม เพราะแม้ว่าเราอาจจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิดในรอบเดือนเมษายนนี้ให้คลี่คลายได้ก่อนเข้าสู่จังหวะการเปิดประเทศในจังหวัดท่องเที่ยวเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 (ทั้งการไม่กักตัว/ลดวันกักตัวลง) แต่ก็มีความเป็นไปได้ในกรณีเลวร้ายที่อาจมีเหตุการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการระบาดรอบถัดไปหรือคลัสเตอร์ใหม่ๆ ได้อีก

ภาพดังกล่าวย่อมกดดันเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจและครัวเรือน ให้มีความเปราะบางมากขึ้นผ่านจังหวะการฟื้นตัวที่สะดุดลงและเลื่อนเวลาออกไปจากที่เคยหวังกันไว้ก่อนเกิดระลอกปลายเดือนธันวาคม 2563 และเมษายน 2564 ซึ่งถ้าย้อนไปดูผลกระทบต่อแรงงานจากสถิติล่าสุด พบว่า โควิดรอบแรก ทำให้มีผู้ว่างงาน เร่งจำนวนขึ้นมาอยู่ที่ 5.9 แสนคน ณ ธันวาคม 2563 คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.5% ต่อกำลังแรงงานทั้งหมด (เทียบกับ 0.96% ณ ธันวาคม 2562) ขณะที่ หากนับรวมผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานน้อยอีกราว 2.1 ล้านคน หรือ 5.4% ต่อกำลังแรงงาน โดยแบ่งเป็น ภาคเกษตรราว 1.3 ล้านคน และภาคนอกเกษตร 0.8 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นการผลิต ขายส่งขายปลีก ที่พักแรม เป็นต้น กล่าวได้ว่า แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบแรกและมีความเปราะบางด้านรายได้ อาจมีมากถึง 2.7 ล้านคน หรือ 6.9% 

K Research

นอกจากนี้ ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดโควิดรอบเดือนเมษายน 2564 แรงงานนอกระบบนอกภาคเกษตรในสาขาการค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่มีจำนวน 6.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 17.5% ต่อกำลังแรงงาน ซึ่งครอบคลุมถึงตลาดนัด ร้านนวดและสปา แท็กซี่และจักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงหาบเร่แผงลอย ก็มีรายได้ที่ลดลงมาเหลือเพียง 10-50% ของรายได้ก่อนโควิดแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาถึงความคืบหน้าของโครงการ “เราชนะ” ของภาครัฐ ที่มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์มากถึง 32.8 ล้านคน ก็สะท้อนได้เช่นกันว่า ผู้ที่มีความเปราะบางจากผลกระทบของโควิดมีอยู่เป็นจำนวนมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ

ดังนั้น สำหรับในปี 2564 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จำนวนแรงงานเปราะบางที่วัดจากผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ในกรณีเลวร้ายหากไม่สามารถเปิดการท่องเที่ยวได้ สถานการณ์การจ้างงานจะแย่ลง

ขณะที่การจ้างงานในภาคการค้าส่งค้าปลีกโดยรวมก็ยังไม่น่าจะดีขึ้น เพราะแม้จะไม่ถูกกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์มากเหมือนปีก่อน รวมถึงน่าจะได้อานิสงส์จากการที่รัฐบาลจะต่ออายุมาตรการคนละครึ่ง แต่การแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นมากกว่าในรอบแรก จะเป็นตัวฉุดการใช้จ่ายและกระทบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงการจ้างงาน โดยรวมแล้ว จึงอาจมีเพียงอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าที่น่าจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างจีนและสหรัฐฯ   

K Research
ภาพจาก Shutterstock

การเร่งพัฒนาทักษะและผลิตภาพแรงงาน ยังไร้แผนที่ชัดเจน

นอกเหนือจากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้กับผู้เปราะบางในการรับมือกับโจทย์เฉพาะหน้าเรื่องโควิดแล้ว ภาครัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องวางแนวทางความช่วยเหลือในการพัฒนาทักษะและผลิตภาพแรงงานแบบคู่ขนานกันไปเพื่อรองรับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการประกอบธุรกิจในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่รวดเร็วและซับซ้อนขึ้น โดยจำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ซึ่งครอบคลุมไปถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย เพื่อออกแบบมาตรการที่อุดช่องว่างหรือเติมเต็มให้แรงงานสามารถพัฒนาทักษะตนเองและยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกันก็ต้องสอดรับไปกับการวางเป้าหมายในอนาคตของประเทศในการเป็นฮับในด้านต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าหนีไม่พ้นที่จะต้องทำให้ผลิตภาพแรงงานไทยแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย นับว่าเป็นความท้าทายพอสมควร เพราะก่อนโควิดผลิตภาพแรงงานของไทยก็เริ่มลดลงแล้ว แม้จะยังสูงกว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลางสูงก็ตาม 

K Research

สำหรับแรงงานนั้น จำเป็นอย่างยิ่งเช่นกันที่จะต้องเร่งปรับตัว ทั้งการรู้ลึกรู้จริงในสาขาที่เชี่ยวชาญ และรู้รอบรู้กว้างในสาขาอื่นๆ อีกทั้งยังต้อง Upskill / Reskill ให้มีทักษะที่จำเป็นที่เป็นที่ต้องการสำหรับภาคธุรกิจแห่งอนาคต ที่สำคัญก็คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านภาษา ความยืดหยุ่นในการปรับตัว เป็นต้น ตลอดจนคงต้องสร้างอุปนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งจะทำให้แรงงานมีความสามารถในการรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่จะเข้ามาอีกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน 

K Research

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post แรงงานไทยกระทบหนัก ไม่มีงานทำ ชั่วโมงทำงานลด รายได้หด ทักษะยังไม่พัฒนา first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/covid-effect-labour-situation-in-thailand/

น่าห่วง! ตลาดแรงงาน 64: ธุรกิจปิด ว่างงานเพิ่ม จบใหม่ไม่มีงาน รายได้ลด ขาดทักษะ

  • สถานการณ์ตลาดงานไทยยังไม่ดี ความเสี่ยงตกงานสูง ธุรกิจท่องเที่ยวหนักสุด อาจตกงาน 1.5-2 ล้านคน
  • แนวโน้มลดการจ้างงาน เลิกจ้างงาน ลดวัน-เวลาการทำงาน และไม่จ้างพนักงานใหม่ ยังเข้มข้น
  • เด็กจบใหม่ 5 แสนคน หางานยาก โอกาสว่างงานสูง ได้งานผลตอบแทนต่ำ ไม่ได้รับการสอนงานเท่าที่ควร
  • สุดท้ายความสามารถในการปรับตัว เปลี่ยนแปลง เพิ่มทักษะ พร้อมทำสิ่งใหม่ คือหนทางในการอยู่รอด

labour

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตลาดงานประเทศไทยเป็นที่รู้กันว่าขาดแคลนแรงงานระดับล่าง โดยข้อมูลเดือน ธ..2563 พึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 2.5 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในงานก่อสร้างและบริการ และอาจมีจำนวนมากถึง 3-4 ล้านคน ขณะที่แรงงานระดับบนก็ขาดแคลนเช่นกัน

ผลการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ พบว่าบริษัทที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยระบุว่ายังขาดแคลนวิศวกรถึง 26% อีกทั้งวิศวกรจบใหม่ที่ขึ้นทะเบียนวิชาชีพประมาณ 7,000 คนต่อปีจากผู้ที่สำเร็จศึกษาด้านวิศวกรรม 33,000 คน ส่วนหนึ่งเพราะคนนิยมศึกษาต่อสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ โดยลดลงจาก 39.8% ในปี 2550 มาอยู่ที่ 32.7% ในปี 2558

ขณะที่แนวโน้มของผู้ประกอบการยังขาดแคลนรายได้ ปิดกิจการ และอยู่อย่างยากลำบาก ต้องปรับลดคน ปรับลดการจ้าง หรือปรับลดชั่วโมงทำงาน ปี 63 พบว่า ก.ค. มีคนว่างงานสูงสุด 0.83 ล้านคน คิดเป็น 2.1% แต่เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลาย การว่างงานปรับมาอยู่ที่ 0.65 ล้านคนคิดเป็น 1.69% แต่สถานการณ์ยังเปราะบางมาก เมื่อดูจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของประกันสังคม ณ ปี 2563 ที่อยู่ที่ 4.0 แสนคน แม้จะดีขึ้นจากช่วง ก.ย.-ต.ค. แต่ยังถือว่าสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 9 ปีที่อยู่ระดับ 1.2 แสนคน

K Research
ที่มา: สำนักงานประกันสังคม

ธุรกิจท่องเที่ยว ยังเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แรงงานจำนวนมากที่อยู่ธุรกิจนี้จึงได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น นักบินที่มีแนวโน้มตกงาน 1,000 คนในปี 2563 (อ้างอิงจากสมาคมนักบินไทย) โดยสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคาดการณ์ว่าแรงงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวมีโอกาสตกงานประมาณ 1.5 – 2 ล้านคน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะรักษาธุรกิจและการจ้างงานได้ ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น พนักงานขับรถ พนักงานเสิร์ฟอาหารหรือพนักงานบริการทั่วไป

แรงงานจบใหม่แนวโน้มเตะฝุ่นเพียบ

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือแรงงานจบใหม่ในปีการศึกษา 2564 หรือที่เรียกว่า first jobber ในปี 2563 ที่มีจำนวนถึง 500,000 คน กำลังต้องเจอภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการหางานทำ

ผลสำรวจของ Job Thai ระบุว่าอัตราการเปิดรับสมัครงานลดลงจากในปีก่อน (ก่อนเกิดโควิด-19 ในช่วงม..2563 อัตราการเปิดรับอยู่ที่กว่า 1 แสนราย แต่ในเดือนมิ.. 2563 อยู่ที่ 9 หมื่นราย) ธุรกิจโรงแรมความต้องการแรงงานลดลงมากที่สุด ธุรกิจอื่นๆ แม้จะยังอยู่ได้ แต่ก็อยู่ในโหมดประคองตัว ลดรายจ่าย เพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน การรับสมัครงานจะมีไม่มาก ดังนั้นโอกาสสำหรับนักศึกษาจบใหม่ จึงมีไม่มากนัก

Labour
ภาพจาก Shutterstock

นอกจากการหางานที่ยากกว่าในช่วงปกติ รายได้ที่ได้รับก็มีแนวโน้มลดลง โดยผลการศึกษาของ The Institute for Fiscal Studies ระบุว่าเด็กที่จบใหม่ในช่วงวิกฤตการเงิน รายได้หรือเงินเดือนที่ได้รับจะต่ำกว่าในระดับปกติ 7% ขาดโอกาสที่จะได้รับการสอนงานจากหัวหน้างานโดยตรง เนื่องจากต้องทำงานที่บ้าน โอกาสและทักษะต่างๆ จะไม่สามารถถูกฝึกฝนได้เต็มที่ ไม่สามารถเรียนรู้วัฒนธรรมในองค์กรเพื่อที่จะไปปรับใช้กับสถานการณ์การทำงานในอนาคต

ปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ไม่ใช่ปัญหาระยะสั้น แต่ในอีก 2-3 ปี คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงขาดประสบการณ์​ ขาดทักษะ และรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาด หรืออาจทำให้ตลาดแรงงานขาดผู้มีความรู้ความสามารถไป เนื่องจากบางกลุ่มอาจหันไปทำธุรกิจของตัวเองหรือสนใจทำอาชีพใหม่ๆ เช่น Youtuber หรือขายของออนไลน์ ดังนั้นปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่จึงเป็นปัญหาในระยะยาวที่ต้องรีบแก้ไข

นอกจากนี้ ความต้องการแรงาน วิธีการและระบบการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น รูปแบบการทำงานที่มีการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) เพิ่มมากขึ้น การเข้าประชุมออนไลน์ การสอนออนไลน์ มีการสัมภาษณ์งานผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีการลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไปได้มากขึ้น บางตำแหน่งงานจึงถูดลดออกไป ดังนั้นคนที่ปรับตัวได้ดี มีความยืดหยุ่นสูงจึงยังมีโอกาส

food delivery
ภาพจาก Shutterstock

ในวิกฤตยังมีโอกาส กับตำแหน่งงานใหม่ๆ

อย่างไรก็ดี ในช่วงโควิด-19 เราได้เห็นอาชีพใหม่ๆ หรือตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น Food delivery โดยแรงงานบางส่วนที่ถูกลดชั่วโมงการทำงาน หรือกำลังว่างงาน เช่น นักบิน หรือ มัคคุเทศก์ เริ่มขายของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ผู้ที่สามารถปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้เร็วจะเป็นผู้ที่อยู่รอด

แม้ว่าในอนาคตสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติแต่ตำแหน่งงาน หรือ ความต้องการพนักงานของแต่ละองค์กรจะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการจะกลับเข้าไปในตลาดแรงงานหรือความสามารถอยู่รอดได้นั้นจะต้องมีการปรับตัวในหลากหลายด้าน ดังนี้ 

  1. ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี: ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียังสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด อีกทั้งการทำงานต่างๆ ยังต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีจึงเป็นทักษะที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในระยะข้างหน้า
  2. การนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้: Big data หรือ ข้อมูลจะมีความสำคัญต่อองค์กรมาก การเรียนรู้ที่ใช้ข้อมูลที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ความสามารถในการปรับตัว และความยืดหยุ่นในการทำงาน: ในสภาวะที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การเกิดขึ้นของโรคระบาดโควิด-19 แรงงานที่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วจะสามารถอยู่รอดได้

บทวิเคราะห์จาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post น่าห่วง! ตลาดแรงงาน 64: ธุรกิจปิด ว่างงานเพิ่ม จบใหม่ไม่มีงาน รายได้ลด ขาดทักษะ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/how-to-survive-in-covid-era/