คลังเก็บป้ายกำกับ: GARMIN_FORERUNNER

นาฬิกา Smart Watch ช่วยเฝ้าระวังโควิด-19 ได้ด้วยฟีเจอร์วัดระดับออกซิเจน SpO2

Smart Watch หรือ Smart Band ทุกวันนี้ต้องบอกว่ามีการใส่เซนเซอร์เข้ามาให้มากมาย เห็นเรือนเล็กๆ แต่ตรวจวัดค่าต่างๆ ได้หลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในฟีเจอร์ที่หลายคนอาจมองข้าม หรือใช้เพียงแค่ตรวจสอบคุณภาพการนอน อย่างเซนเซอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือด (SpO2) วันนี้น่าจะเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อออกซิเจนในเลือดที่ลดลง อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อ COVID-19 ก็เป็นได้

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564 มีรายงานพบผู้ป่วย COVID-19 ที่ตรวจพบออกซิเจนในเลือดต่ำโดยไม่ได้มีอาการแสดงใด ๆ ที่บ่งบอกถึงภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำเลย ทั้งที่โดยปกติร่างกายเราจะต้องตอบสนองด้วยการหายใจที่บ่อยขึ้น ยาวขึ้น เพื่อรักษาระดับออกซิเจนในร่างกายไปแล้ว ซึ่งมีการเรียกภาวะนี้ว่า Silent hypoxia หรือ Happy hypoxia1

Happy Hypoxia อาการร้ายแรงจากโควิดที่มาแบบเงียบ ๆ

Happy hypoxia ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย? ปกติแล้วเมื่อออกซิเจนในร่างกายลดลงจนถึงจุด ๆ หนึ่ง จะเกิดการกระตุ้นส่วนที่เรียกว่า Carotid body ซึ่งอยู่ใกล้กับหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอ การกระตุ้นนี้จะส่งผลให้ร่างกายตอบสนองด้วยอาการ “หิวอากาศหายใจ” คือผู้ป่วยจะมีอากาศหายใจเร็ว และรู้สึกหายใจไม่อิ่ม (Dyspnea) ซึ่งอาการเหล่านี้จะพบได้ในผู้ป่วยโรคปอดบวม หรือผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว และที่สำคัญคือมันน่าจะเจอในผู้ป่วย COVID-19 ด้วย 

และปัญหามันก็อยู่ตรงที่ว่าผู้ป่วย COVID-19 บางรายอาจจะไม่แสดงอาการหิวอากาศหายใจเลย แถมยังใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนปกติเสียด้วยซ้ำ จนกระทั่งระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงมากจนร่างกายไม่สามารถทนได้แล้ว ค่อยแสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน และอาการเหล่านั้นยังมีความรุนแรงจนอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าเหตุใดผู้ป่วย COVID-19 จึงไม่แสดงอาการของภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ แต่ก็มีหลักฐานมากพอที่บ่งชี้ว่าการติดเชื้อโคโรนาไวรัส มีส่วนทำให้ Carotid body ทำงานผิดเพี้ยน และไม่เกิดการตอบสนองต่อระดับออกซิเจนในเลือดที่ลดลง

เซนเซอร์ SpO2 ในนาฬิกาช่วยเฝ้าระวังโควิดได้

กลับมาที่ประเด็นของเรากันนะครับ เหตุใด Smart Watch หรือ Smart Band ที่มาพร้อมฟีเจอร์วัดปริมาณออกซิเจนในเลือด  จึงมีประโยชน์ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ?? 

จากความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Happy hypoxia ของผู้ป่วย COVID-19 ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ทำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อ สามารถเฝ้าระวังความรุนแรงของโรคได้จากระดับออกซิเจนในเลือด ด้วยเซนเซอร์ SpO2 ใน Smart Watch หรือ Smart Band อย่างน้อยมันก็ช่วยเตือนให้คุณไปตรวจเช็คซ้ำกับแพทย์ในโรงพยาบาล เพื่อดำเนินการตรวจหาเชื้อได้อย่างทันท่วงที 

นอกจากนี้ เนื่องจากการวัดอุณหภูมิร่างกาย (วัดไข้) อาจจะไม่สามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อได้ เพราะเครื่องวัดอุณหภูมิมีความคลาดเคลื่อนได้จากหลายปัจจัย (เช่น อุณหภูมิในสิ่งแวดล้อมรบกวนการตรวจ) หรือผู้ป่วยอาจจะไม่มีไข้เลยก็ได้ ทำให้การวัดอุณหภูมิร่างกายคงไม่เพียงพอต่อการคัดกรอง 

จากรายงานของหน่วยบริการสุขภาพแห่งชาติในประเทศอังกฤษ2 จึงเพิ่มวิธีการคัดกรองโดยใช้เซนเซอร์ SpO2 วัดระดับออกซิเจนในเลือด และยังแนะนำให้ประชาชนซื้อติดไว้คอยคัดกรองบุคคลในครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่อการเชื้อ COVID-19 ด้วย หากระดับออกซิเจนในเลือดเริ่มลดลงเรื่อย ๆ ให้สงสัยว่าคน ๆ นั้นอาจติดโคโรนาไวรัส จำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติมและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด (แม้เขาจะไม่แสดงอาการป่วยใด ๆ ออกมาเลย)

การทำงานของเซนเซอร์ SpO2

การทำงานของเซนเซอร์วัดออกซิเจนในเลือด ใน Smart Watch และ Smart Band จะใช้หลักการสะท้อนของแสง หากสังเกตดี ๆ เซนเซอร์จะปล่อยแสงสีแดง (บางแบรนด์ใช้สีเขียว) พร้อมคลื่นอินฟราเรดที่ตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ออกมาพร้อมกัน แสงสีแดงจะทะลุผ่านเฉพาะเม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนมาก ในขณะที่คลื่นอินฟราเรดจะทะลุผ่านเฉพาะเม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนน้อย3 


image credit : GARMIN : Pulse Ox

ดังนั้น การประเมินระดับออกซิเจนในร่างกาย จะดูจากปริมาณแสงสีแดงที่สะท้อนกลับสู่อุปกรณ์ของคุณนั่นเอง ซึ่งอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนปลายนิ้วที่นิยมใช้กันในโรงพยาบาล ก็อาศัยหลักการสะท้อนของแสงเช่นเดียวกันครับ

ตัวอย่าง Smart Watch และ Smart Band ที่มีฟีเจอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือด

สำหรับ Smart Watch และ Smart Band ที่มาพร้อมฟีเจอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือดมีอยู่หลากแบรนด์หลายรุ่น ซึ่งผมขอยกตัวอย่างในแต่ละแบรนด์ ดังนี้

Apple

  • Apple Watch Series 6

Huawei

  • Huawei Honor Band 5 SpO2
  • Huawei Watch Fit 2020
  • Huawei GT2 Pro/GT2e

Garmin

  • Garmin Forerunner
  • Garmin Vivoactive 4

Fitbit

  • Fitbit Versa 3
  • Fitbit Sense

Xiaomi

  • Mi Band 5
  • Mi Watch

Samsung

  • Samsung Galaxy Watch3

 

SpO2 นับว่าเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ถึงกระนั้น การป้องกันก็ดีกว่าการตามแก้ไขนะ ยังไงเพื่อน ๆ ก็อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้านกันด้วยนะครับ

 

ที่มา

  • 1 Study explains fluctuation in blood oxygenation levels in COVID-19 patients | Aninews
  • 2 Covid-19: Patients to use pulse oximetry at home to spot deterioration | BMJ
  • 3 Pulse Ox Pulse Oximetry Functionality | Garmin

 

 

from:https://droidsans.com/smart-watch-spo2-detects-covid/

[Battle] ระหว่าง Apple Watch และ Garmin Forerunner 735XT … Smartwatch เรือนไหนที่เหมาะกับคุณ ?

ปี 2016 นี้นั้นเป็นปีที่สมาร์ทวอทช์เริ่มจะเข้ามาแทนที่นาฬิกาแบบปกติมากขึ้นจริงๆ สังเกตได้จากที่บนแขนหลายๆ ท่านนั้นน่าจะเริ่มเปลี่ยนจากนาฬิกาธรรมดามาเป็นสมาร์ทวอทช์กันบ้างแล้ว โดยในระดับบนๆ นั้นก็จะมีสมาร์ทวอทช์จาก Apple อย่าง Apple Watch ที่ยังคงทำตลาดได้เป็นอย่างดีอยู่

ส่วนผู้ผลิตอื่นๆ นั้นก็เริ่มที่จะปล่อยสมาร์ทวอทช์ของตนเองออกมาเรื่อยๆ เพื่อที่จะแย่งตลาดที่น่าหอมหวนนี้ ในวันนี้นั้นเราขอนำเสนอการประชันระหว่าง Apple Watch กับสมาร์ทวอทช์ของทาง Garmin รุ่น Forerunner 735XT ครับ

garmin_vs_apple 600 01

อย่างไรก็ตามแต่แล้วทั้งนี้ต้นฉบับจาก TheVerge โดย Lauren Goode นั้นจะทำการเปรียบเทียบด้านการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันเป็นหลักมากกว่าที่จะเปรียบเทียบทางด้านสเปคนะครับ ทาง NBS จึงขอเพิ่มส่วนของข้อมูลเล็กน้อยเพื่อที่ทุกท่านจะได้ใช้ช่วยในการเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจได้ด้วยอีกส่วนหนึ่งครับ ว่าแล้วก็เริ่มกันเลยดีกว่าครับ

Apple Watch

apple watch 600 01

สำหรับ Apple Watch ที่เปิดตัวมาได้เกือบจะ 2 ปีแล้วนั้นถือได้ว่าเป็นผู้ครองอันดับที่หนึ่งของตลาดสมาร์ทวอทช์อยู่ครับ ราคาเปิดตัวต่ำสุดในตอนแรกของรุ่นที่ถูกที่สุดนั้นอาจจะไม่ค่อยถูกใจใครมากเท่าไร(โดยเฉพาะกับแฟนๆ Android ที่ชอบเอาสเปคไปเทียบกับสมาร์ทวอทช์ระบบปฎิบัติการ Android Wear) แต่ทว่าหลังจากปีต้นปี 2016 ที่ผ่านมานั้น Apple Watch ได้ปรับราคาใหม่ให้น่าคบหามากขึ้นด้วยราคาเริ่มต้นที่ $299.99 สำหรับราคาต่างประเทศหรือราคาไทยเริ่มต้นที่ 20,500 บาทครับ(ตอนแรกราคาเริ่มต้น $349.99 หรือราคาไทยอยู่ที่ 3x,xxx บาท)

ในส่วนสเปคของ Apple Watch นั้นจะมีความแตกต่างกัน 2 รุ่นคือส่วนของขนาดหน้าจอที่ทำให้ขนาดตัวเรือนจแตกต่างกันไปดังต่อไปนี้ครับ(รุ่นที่ทาง TheVerge นำมาเปรียบเทียบคือรุ่นหน้าจอขนาด 38 mm)

apple watch spec 600 01

ขนาดตัวเรือนและหน้าจอของ Apple Watch ที่มีหน้าจอขนาด 42 mm(เหมาะกับผู้ชาย)

apple watch spec 600 02

ขนาดตัวเรือนและหน้าจอของ Apple Watch ที่มีหน้าจอขนาด 38 mm(เหมาะกับผู้หญิงหรือบุคคลที่มีขนาดตัวไม่ใหญ่มากนัก)

apple watch spec 600 03

สเปคส่วนอื่นๆ ที่ทั้งหน้าจอขนาด 42 mm และ 38 mm จะเหมือนกันทั้งหมด

Garmin Forerunner 735XT

garmin-forerunner-735xt-600 01

ในส่วนของ Garmin นั้นส่วนใหญ่แล้วผู้ใช้ในบ้านเราน่าจะคุ้นว่า Garmin เป็นบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ทางด้านการนำทาง หรือ GPS มากกว่าซึ่งจะว่าไปนั่นก็ไม่ผิดครับเพราะ Garmin นั้นโด่งดังด้วยการเป็นผลิตภัณฑ์ทางด้านนี้จริงๆ โดยทั้งนี้ Garmin อาจจะเข้ามาวนเวียนในตลาดสมาร์ทโฟนบ้างด้วยการร่วมเป็นคู่ค้ากับผู้ผลิตอย่าง ASUS หรือ Gigabyte แต่ทว่ารุ่นที่ออกมานั้นก็ไม่ได้ถูกนำมาจำหน่ายในเมืองไทยไม่เหมือนกับสมาร์ทวอทช์และสมาร์ทแบนด์ที่ทาง Garmin นั้นได้มีการนำมาจำหน่ายในเมืองไทยเราบ้าง(ถึงแม้ว่าจะช้ากว่าต่างประเทศอยู่หน่อยครับ)

สำหรับเสปคของ Garmin Forerunner 735XT ต้องบอกเลยจริงๆ ครับว่าหายากมาก โดยบนหน้าเว็บไซต์ของทาง Garmin เองก็ไม่ได้บอกสเปคเชิงลึกไว้เท่าไรมากนักแต่จะบอกสเปคคร่าวๆ ในเรื่องของการใช้งานไว้ดังต่อไปนี้ครับ

garmin-forerunner-735xt-spec 600 01

garmin-forerunner-735xt-spec 600 02

garmin-forerunner-735xt-spec 600 03

garmin-forerunner-735xt-spec 600 04

garmin-forerunner-735xt-spec 600 05

การเปรียบเทียบ

ว่าแล้วก็มาดูคลิปการเปรียบเทียบของทาง The Verge โดยบรรณาธิการสาวสุดน่ารักอย่างคุณ Lauren Goode กันดีกว่าครับว่าเธอจะเปรียบเทียบสมาร์ทวอทช์ทั้ง 2 รุ่นนี้ไว้ว่าอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้จากการเปรียบเทียบของ Goode ได้สรุปเอาไว้ครับว่า Apple Watch นั้นเกิดมาก็เป็นสมาร์ทวอท์ชเลยซึ่งนั่นหมายความว่ามันไม่ได้มีเซ็นเซอร์ทางด้านการติดตามการออกกำลังกายหรือแม่กระทั่ง GPS บนตัวเครื่องต่างๆ นั้นก็ไม่มีครับ ซึ่งทำให้ตรงจุดนี้นั้นคู่เปรียบเทียบอย่าง Garmin Forerunner 735XT ที่เป็นทั้งสมาร์ทวอทช์และอุปกรณ์ติดตามทางด้านการออกกำลังกาย(หรือเรียกรวมกันว่า multi-sport watch ก็ได้ครับตามที่คุณ Goode ได้บอกเอาไว้) ดูครอบเครื่องกว่ากันแบบเทียบไม่ได้เลยทีเดียวครับ

ด้วยความที่เป็น multi-sport watch ของ Garmin Forerunner 735XT นั้นทำให้มันมีทั้ง GPS และ Glonass ภายในตัว เรื่องของความแข็งแรงคงทนนั้นก็มีมากกว่า Apple Watch ไม่ว่าจะเป็นการกันน้ำแบบจริงๆ จังๆ หรือกระทั่งการกันกระแทก ฯลฯ ตรงนี้นั้น Garmin น่าจะได้ใจผู้ใช้ที่ชอบใช้งานสมาร์ทวอทช์สำหรับติดตามด้านสุขภาพและการออกกำลังกายไปเต็มๆ โดยถึงแม้ Apple Watch เองนั้ืนก็สามารถที่จะทำได้เหมือนกันก็ตามแต่ด้วยความที่ Apple Watch เกิดมาเป็นสมาร์มวอท์ชโดยตรงทำให้มันทำได้ไม่ดีมากเท่าไรครับ

Garmin Connect™ หนึ่งจุดเด่นของ Garmin Forerunner 735XT

เมื่อเทียบความสามารถทางด้านอัจฉริยะนั้น Apple Watch และ Garmin Forerunner 735XT ก็มีดีมีเสียแตกต่างกันไปครับ Apple Watch ได้เปรียบตรงที่สามารถให้ความสนุกสนานกับผู้ใช้ได้มากกว่าด้วยความที่ผู้ใช้จะมีฟีเจอร์ในการใช้งานต่างๆ ได้มากกว่าเช่นมีการสั่งงานด้วยเสียง การสัมผัสผ่านหน้าจอและที่เด็ดที่สุดก็คือการลงแอปพลิเคชันเพิ่มที่ทาง Garmin Forerunner 735XT ไม่มีมาให้ครับ แต่ในทางกลับกันข้อเสียอย่างรุนแรงของ Apple Watch ก็คือผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อมันได้กับอุปกรณ์ของ Apple ด้วยกันเท่านั้นในขณะที่ Garmin Forerunner 735XT นั้นสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้ทั้ง 2 ระบบปฎิบัติการไม่ว่าจะเป็น Android, iOS หรือกระทั่ง Windows ผ่านทาง Garmin Connect™ ครับ

กลับมาที่ข้อเสียของ Apple Watch อีก 2 ข้อที่แพ้ Garmin Forerunner 735XT นั่นก็คือการใช้งานแบบ Outdoor ที่หน้าจอของ Apple Watch นั้นจะไม่สามารถสู้แสงได้ดีเท่ากับ Garmin Forerunner 735XT ครับ กับอีกหนึ่งข้อเสียที่หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่เลยก็คือเรื่องของอายุการใช้งานแบตเตอรี่ของ Apple Watch นั้นแย่มากคือสามารถอยู่ได้เฉลี่ยที่ประมาณ 18 ชั่วโมงเท่านั้นขณะที่ Garmin Forerunner 735XT นั้นสามารถใช้งานได้ยาวนานต่อเนื่องถึง 7 วันครับ(อันนี้มาจากการลองใช้งานของ Goode จริงๆ นะครับ)

ดังนั้นหากจะว่าไปแล้ว Garmin Forerunner 735XT นั้นดูจะเหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบสมาร์ทวอทช์ที่เป็นอุปกรณ์สำหรับติดตามทางด้านการออกกำลังกายแบบ Outdoor มากกว่า ส่วน Apple Watch นั้นก็เหมาะสำหรับผู้ที่อยากจะได้สมาร์ทวอทช์มากกว่าแต่ต้องไม่ลืมว่า Apple Watch จะใช้งานได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อคุณใช้งานอุปกรณ์ iOS อย่าง iPhone เท่านั้นนะครับ ส่วนอีกข้อเสียใหญ่เลยที่ Goode สรุปเอาไว้ในคลิปก็คือราคาครับเนื่องจากว่าราคาเริ่มต้นของ Garmin Forerunner 735XT นี้แพงกว่า Apple Watch เกือบ 2 เท่าคืออยู่ที่ $449.99 ครับ

garmin-forerunner-735xt-600 02

หมายเหตุ – ถึงแม้ว่าในสหรัฐอเมริการาคาของ Apple Watch จะถูกกว่า Garmin Forerunner 735XT ถึงเกือบ 2 เท่า แต่ทว่าในไทยนั้นหากคุณหาร้านที่นำเข้าดีๆ หรือบนเว็บไซต์ขายของบางเว็บราคาไทยรวมแล้วจะอยู่ที่ 18,390 บาทเท่านั้น(รวม Vat แล้ว) แถมยังมีโปรโมชันผ่อน 0% 4 เดือนได้ด้วยนะครับ

หมายเหตุ 2 – อีกหนึ่งข้อเสียของ Garmin Forerunner 735XT ที่ทาง Goode ไม่ได้พูดไว้แต่ผมเองคิดว่าอาจจะเป็นจุดที่ทำให้หลายๆ ท่านต้องเอามาใช้ในการคำนึงการเลือกซื้อสมาร์ทวอทช์นั่นก็คือสีของ Garmin Forerunner 735XT ที่วางจำหน่าย ณ ปัจจุบันนั้นจะมีแค่ 2 สีคือสำดำและเทาเท่านั้นครับ

ที่มา : theverge, garmin, gsmarena

from:http://notebookspec.com/apple-watch-vs-garmin-which-one-should-you-get/355456/