คลังเก็บป้ายกำกับ: CONSUMER

ใช้ “พฤติกรรมของผู้ชม” ปรับเนื้อหาการตลาดให้ถูกใจยิ่งขึ้นกันเถอะ!

ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคหรือ consumer insight นั้นเป็นหนทางพัฒนา content marketing ที่ดีที่สุด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะหนึ่งในหนทางที่แบรนด์จะสามารถพัฒนา content การตลาดให้ดีและโดน คือการทำความเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายจะตอบโต้หรือรู้สึกกับเนื้อหานั้นอย่างไร infographic นี้จึงอาสาเป็นตัวช่วยให้ทุกคนทำความเข้าใจในเบื้องต้น ว่าจะเริ่มใช้ consumer insight ในการปรับ content marketing ที่ไหนก่อน

consumer insight นั้นสามารถทำให้เรารู้ว่า เนื้อหาประเภทใดควรลงมือทำเพิ่มขึ้น เช่นกรณีที่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายแชร์ infographic ที่เราสร้างไว้แบบถล่มทลาย เพราะ infographic เหล่านี้มีคำแนะนำและเคล็ดลับพิเศษที่พบว่ามีการแชร์กันอย่างแพร่หลาย หากเป็นเช่นนี้ การสร้าง infographic ชิ้นใหม่เพิ่มเติมย่อมเป็นทางเลือกที่ดี

นอกจากนี้ consumer insight ยังช่วยเปลี่ยนใจผู้บริหารได้ เช่นในกรณีที่ผู้บริหารบริษัทอยากจะโพสต์ปรัชญาแสนยาวบนบล็อกของบริษัท สถิติการรับชมในมุม consumer insight อาจจะทำให้ผู้บริหารในองค์กรมีนโยบายในทิศทางใหม่ได้ง่ายขึ้น

ในมุมเว็บไซต์หรือ online content ข้อมูล consumer insight ยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ในมุมผู้ใช้ได้มากมาย ตัวอย่างเช่น 47% ของผู้บริโภคคาดว่าหน้าเว็บจะโหลดเสร็จภายใน 2 วินาทีหรือน้อยกว่า แปลว่าหน้าเพจใดที่ใช้เวลาในการโหลด 3 หรือ 4 วินาที ต้องปรับเปลี่ยนได้แล้วก่อนจะสายไป

ข้อมูล consumer insight ในบริการอย่าง Google Analytics และเครื่องมืออื่น ล้วนมีรายงานที่แสดงว่าผู้ที่เข้าชมเนื้อหานั้นกำลังซื้ออะไร หรือมุ่งหน้าไปที่ไหน ข้อมูลนี้สามารถเป็นคำแนะนำที่ดีว่าเราจะสามารถปรับปรุงเนื้อหาในอนาคตได้อย่างไร โดยที่มีเป้าหมายชัดเจน

เคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้พฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อปรับปรุงเนื้อหา ชมได้ที่ infographic ของ Salesforce ด้านล่าง:

ที่มา: PRDaily

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/10/consumer-insight/

เปิดผลวิจัย Kantar พบกลุ่ม FMCG ถดถอยที่สุดในรอบ 10 ปี

 

ผลสำรวจ Kantar Worldpanel ในสินค้าอุปโภคบริโภค 92 กลุ่มชี้ สภาวะตลาด FMCG ถดถอยที่สุดในรอบทศวรรษ  พบผู้บริโภคทุกวันนี้จ่ายน้อยลง ความภักดีต่อแบรนด์น้อยลงและพร้อมที่จะเปลี่ยนจุดจับจ่ายได้ทันที

คุณอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเปิดเผยว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีการดิ่งลงตั้งแต่ มกราคม 2560 เป็นต้นมา ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และ การตกต่ำของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น  ข้าว  ข้าวโพด ยางพารา นอกจากนี้ ปัจจัยหนี้ในครัวเรือนยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ฉุดกำลังการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนในขณะที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างเต็มที่ (อัตราหนี้ในครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตั้งแต่ปี 2553 (2010) ถึงปี 2559 ในสัดส่วน 59, 66, 72, 77, 80, 81, และ 80 ตามลำดับ)

Kantar Worldpanel (Thailand) จึงได้ทำรายงานวิจัยชุดพิเศษขึ้น ชื่อชุด  “Essential Shopper Trends Thailand” เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยด้านพฤติกรรมการบริโภคในยุคภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความต้องการในตลาด และ ปัจจัยด้านช่องทางค้าปลีกที่ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้เจ้าของแบรนด์สินค้า นักการตลาด รวมไปถึงผู้ค้าปลีกได้ทราบถึงข้อจำกัด ปัญหา และแนวโน้มเพื่อการวางแผนธุรกิจได้อย่างแม่นยำในปัจจุบัน และร่วมกันพัฒนาตลาดให้อยู่รอด บนพื้นฐานประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก

คุณอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ

คุณอิษณาติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “จากข้อจำกัดด้านกำลังซื้อ  ตลอดจนนิสัยการจับจ่ายของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งคือ ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อสินค้ามากขึ้น และส่งผลโดยตรงต่อสถิติการเติบโตที่ถดถอยของตลาด FMCG มาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากยอดขายของกลุ่มสินค้า 3 กลุ่มหลักในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 จนถึง ไตรมาส 2 ของปี 2560 ประกอบไปด้วย  กลุ่มสินค้าในครัวเรือน ในอัตรา 3.3 กลุ่มสินค้าของใช้ส่วนบุคคล 6.2 และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในอัตรา 0.6 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 แล้ว อัตรายอดขายลดลงเหลือเพียง 4.1 1.5 และ 0.2 ตามลำดับกลุ่มสินค้า

เมื่อมองในแง่ของพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยภาพรวมในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคทำการ – ซื้อน้อยลง  (Buy Less) และ จ่ายน้อยลง (Pay Less) ทั้งนี้ การซื้อน้อยลงประกอบไปด้วย ปริมาณสินค้าที่ซื้อน้อยลง กลุ่มสินค้าที่ถูกซื้อน้อยลง และลดความถี่ที่ออกไปจับจ่ายสินค้า 

ส่วนการจ่ายเงินน้อยลงนั้น ประกอบไปด้วยการซื้อสินค้าในขนาดบรรจุที่เล็กลง การเลือกซื้อในช่วงมีโปรโมชั่น และที่อันตรายที่สุด คือ การเปลี่ยนช่องทางร้านค้าที่ซื้อสินค้าไปเลย และสถานการณ์ที่เหล่าผู้ค้าปลีกทั้งหลายต้องเผชิญอยู่นั้น เป็นการรับศึกหนักกับการที่ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายมากยิ่งขึ้น

จากข้อมูลวิจัย แสดงให้เห็นถึงสถิติด้านความถี่ในการออกไปจับจ่ายจากปี 2555 ถึงปี 2560 ว่า จากสถิติความถี่การซื้อสินค้า 210 ลดลงเหลือเพียง 201 ครั้งต่อปี โดยที่ผู้บริโภคทำการซื้อสินค้าตามความจำเป็นมากยิ่งๆ ขึ้น  ผู้บริโภคจะเลือกจับจ่ายเฉพาะกลุ่มสินค้าที่จำเป็นมากกว่าสินค้าที่ไม่จำเป็น นั่นคือจาก 44 กลุ่มสินค้า ถูกลดเหลือเพียง 42 กลุ่มสินค้าในหนึ่งปี และผู้บริโภคยังซื้อสินค้าที่อยู่ในช่วงโปรโมชั่นมากยิ่งขึ้น จาก 25% ที่ทำการซื้อตามโปรโมชั่นเพิ่มขึ้นเป็น 36% (ทั้งนี้นับเป็นสถิติในช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ต) โดยรวมการเติบโตของกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกซื้อลดลง  จากอัตรา 48% เหลือเพียง 37% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงว่า กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มที่จะถูกบริโภคมากขึ้นนั้น จะเป็นกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหาร หรือ สินค้า “Home Meal” ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กะทิกล่องสำเร็จรูป (Coconut Milk), น้ำยาซักผ้า (LQD Detergent), ส่วนผสมและเครื่องปรุงอาหาร (Meal Maker), นมถั่วเหลืองสเตอริไลซ์ (Sterilized Soy Milk), ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง (Insect Repellant), เครื่องดื่มชนิดผงชงดื่ม (RTD TFD), น้ำส้มสายชู (Vinegar), นมดื่มสเตอริไลซ์ (Sterilized LQD Milk), ขนมแปรรูปจากปลาหมึก (Cuttle Fish Snack), นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม (UHT DKY), และข้าว (Rice)

สำหรับช่องทางจัดจำหน่าย ผลจากการวิจัยพบว่า ตลาดออฟไลน์รูปแบบร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นเชนนั้นมีการขยายตัว ในขณะที่ช่องทางออนไลน์กำลังเป็นช่วงขาขึ้น การตอบรับทางช่องทางออนไลน์มีสถิติเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่ายังมีสัดส่วนที่ยังไม่ใหญ่นักก็ตาม

สรุปแนวโน้มพฤติกรรมเหล่านักช็อปในประเทศไทย

  • นักช็อปยังคงประหยัดการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องและไม่ซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น
  • ประโยชน์ที่ได้รับจากสินค้าเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อสินค้า
  • เงื่อนไขด้านขนาดบรรจุ  ราคา และช่องทางจัดจำหน่าย มีความแตกต่างอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมการบริโภคระหว่าง นักช็อปที่เป็นคนเมืองและผู้บริโภคตามเขตชนบท
  • ร้านค้าขนาดเล็กผ่านการค้าทางอี–คอมเมิร์ช (e-commerce) จะมีแนวโน้มยอดขายเพิ่มขึ้นใน อนาคต

สำหรับข้อคิดเห็นจากรายงานวิจัยชุดนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ไม่ค่อยมีความภักดีต่อแบรนด์มากนัก พวกเขาบริโภคหลายๆแบรนด์ หากผู้ค้าปลีกหรือแบรนด์ใดมีกลยุทธ์ที่ดีและบริการถูกใจ ลูกค้าก็จะให้ความภักดีต่อแบรนด์นั้นๆ แต่แบรนด์ใดที่ไม่ได้สร้างความประทับใจต่อสินค้าและบริการต่อลูกค้าเหล่านั้น พวกเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแบรนด์และสถานที่จับจ่ายสินค้าทันที

 

 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/08/kantar-fmcg-2017-decrease-the-most/

หัวเว่ยเผยผลประกอบการครึ่งปีแรก พร้อมทิศทางการพัฒนาสมาร์ทโฟน “AI” มาแน่

คุณทศพร นิษฐานนท์

ช่วงนี้เป็นอีกหนึ่งช่วงที่น่าสนใจของภาคธุรกิจ เพราะหลาย ๆ บริษัทเลือกที่จะออกมาเปิดเผยผลประกอบการครึ่งปีแรกกันอย่างคึกคัก ซึ่งแบรนด์สมาร์ทโฟนอย่างหัวเว่ยก็เช่นกันที่เลือกออกมาประกาศผลประกอบการในครึ่งปีแรก – ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ พร้อมทิศทางในการพัฒนาโปรดักซ์ในอนาคตที่ระบุว่า “ปัญญาประดิษฐ์” คือคำตอบสุดท้าย

โดยสถานการณ์ของหัวเว่ยในประเทศไทยปีนี้ต้องบอกว่าสามารถก้าวขึ้นมามีส่วนแบ่งในตลาด (ในแง่ Unit) ได้ถึง 10.7 เปอร์เซ็นต์ (สถิติในเดือนพฤษภาคม 2017) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (พฤษภาคม 2016) ที่อยู่ที่ 1.2% ถึง 8 เท่า  ส่วนในด้านรายได้จากการขาย หัวเว่ยระบุว่าเติบโตขึ้น 5 เท่า (อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ซึ่งการเติบโตของหัวเว่ยในระดับนี้ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศ Tier-1 ของหัวเว่ย (ได้รับงบประมาณและการลงทุนต่าง ๆ เพิ่ม) และเป็น Strategic Country ด้วย

ขณะที่ในระดับโลก หัวเว่ยมียอดขายในช่วงครึ่งปีแรก 73.01 ล้านเครื่อง เติบโตขึ้น 20.6% รายได้คิดเป็น 105.4 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 36.2% และส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 9.8% จากเดิม 8.4% เป็น Global Brand อันดับ 3 ของโลก

คุณทศพร นิษฐานนท์ รองผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอมซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) เผยว่า สิ่งที่หัวเว่ยทำได้ถูกที่ถูกทางจนกลายเป็นการเติบโตในสเกลดังกล่าวมาจาก 4 ปัจจัยหลัก นั่นคือ ตัวสินค้า, ช่องทางการจัดจำหน่ายและทีมงาน, แบรนด์ที่มีพัฒนาการไปสู่การเป็น Premium Brand และบริการพิเศษต่าง ๆ

  • ผลิตสินค้าโดยยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ในจุดนี้หัวเว่ยเผยว่าบริษัทมีการสร้าง R&D Center แล้ว 15 แห่งทั่วโลก และเลือกที่ตั้งตามความโดดเด่นของแต่ละประเทศ เช่น R&D ด้านดีไซน์ก็จะเลือกเมืองแฟชั่นเช่น ปารีส-ลอนดอนเป็นที่ตั้ง หรือถ้า R&D ด้าน Interface ก็อยู่ที่สหรัฐอเมริกา  R&D ด้านการควบคุมคุณภาพอยู่ที่ญี่ปุ่น ส่วน R&D ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่ที่อินเดีย เป็นต้น
  • มีพนักงานในฝ่าย R&D 80,000 คน จากพนักงานทั้งหมด 170,000 คน
  • ลงทุนเงินในด้าน R&D ไปแล้ว 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าการลงทุนด้าน R&D ในอันดับที่ 9 ของโลก
  • ทำ Joint Innovation Center กับแบรนด์อื่น ๆ เช่น Leica, Google, Pantone ฯลฯ
  • ขยาย Huawei Experience Shop มากขึ้น โดยปัจจุบันมีมากกว่า 42,300 แห่งทั่วโลก และในปีนี้คาดว่าจะขยายไปจนถึง 56,000 แห่งทั่วโลก ขณะที่ในเมืองไทย ปัจจุบันมี Experience Shop แล้ว 41 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4 เท่าตัว ซึ่งแนวทางในการขยายจะเลือกตั้งตาม Strategic Location เช่น ห้างสำคัญ ๆ
  • เพิ่มร้านค้าจัดจำหน่ายจาก 1,000 กว่าแห่งเป็น 9,000 กว่าแห่งในปัจจุบัน พร้อมตั้งเป้าให้มีถึง 10,000 แห่งภายในสิ้นปี 2017
  • เพิ่มพนักงานจากประมาณ 500 คนในปีที่แล้วเป็น 1,500 คนในปัจจุบัน
  • ดึงผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ จากองค์กรใหญ่ ๆ เข้ามาเสริมทัพมากขึ้นทั้งในระดับบนและระดับกลาง
  • ส่วนแบ่งตลาดในสมาร์ทโฟนกลุ่มพรีเมียมเช่นตระกูล P และตระกูล Mate (ราคา 500 เหรียญสหรัฐขึ้นไป​) ของหัวเว่ยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม จาก 1.6% (พฤษภาคม 2016) เป็น 8.3% ในปีนี้ และจะมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนตระกูล Mate เพิ่มในช่วงครึ่งปีหลังนี้ด้วย
  • ส่วนงานบริการขยายขึ้นมาเป็น 14 ศูนย์ทั่วประเทศในปัจจุบัน รวมถึงให้ร้านค้าเป็น Drop Point ให้ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่สะดวกไปศูนย์ และนโยบาย door-to-door ให้เจ้าหน้าที่หัวเว่ยไปรับเครื่องถึงที่ตามต้องการ
  • ใส่อีเมลของ Service Director ลงในโบรชัวร์ ในกรณีที่มีเรื่องใหญ่สามารถอีเมลตรงถึงผู้บริหารได้

คุณทศพรกล่าวว่า ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคเริ่มเปิดใจให้หัวเว่ยมากขึ้น ส่วนเป้าหมายของปีนี้ ก็ยังคงเหมือนกับที่ประกาศไว้เมื่อต้นปีนั่นคือ เติบโตด้านรายได้ 3 เท่าจากปีที่แล้ว และก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยให้ได้ พร้อมกล่าวด้วยว่ากรณีของข่าวสมาร์ทโฟน P10 ในช่วงที่ผ่านมามีผลกระทบกับแบรนด์อยู่บ้าง แต่ตอนนี้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

Consumer Insight ในมุมของหัวเว่ย “เราเห็นเทรนด์ของการอัปเกรด”

“หัวเว่ยเรามองว่าตลาดเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อก่อนเราอาจอยู่ในยุคข้อมูลสารสนเทศ แต่ยุคต่อจากนี้สินค้าจะมีความอัจฉริยะมากขึ้น ในส่วนของผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนไป ทุกวันนี้ผู้บริโภคหลักของเราคือกลุ่มมิลเลนเนียล หลายคนเป็น Digital Native ตั้งแต่เกิด ซึ่งคนเหล่านี้มีความต้องการต่าง ๆ มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น การซื้อสมาร์ทโฟนของลูกค้าก็เริ่มเปลี่ยนไป โดยหันมาซื้อรุ่นที่ราคาแพงมากขึ้น จากเดิมเคยซื้อสมาร์ทโฟนระดับล่างก็อัปมาซื้อในระดับกลาง จากที่เคยซื้อระดับกลางก็อัปไปตลาดบน และคนก็เริ่มมีีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี สามารถใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย” คุณทศพรกล่าว

“สินค้าก็จะฉลาดขึ้น ให้คำแนะนำเราได้ ตอบสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ ของเราได้มากขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น”

นอกจากนั้น พฤติกรรมการใช้งานก็เปลี่ยนไป โดยพบว่ามีถึง 6% ที่ยกมือถือขึ้นมาเปิดดูมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน มีการใช้งานกล้องมากขึ้น โดย 60% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายเซลฟี่ และอีก 70% อยากได้กล้องที่ดีขึ้น

“เรื่องเกมนี่เปลี่ยนไปเยอะมาก เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราพบว่ามีคนเล่นเกม 100 ล้านคน แต่ตอนนี้ มีคนเล่นเกม 2,700 ล้านคน อีกตัวหนึ่งคือการดูวิดีโอ คนสมัยก่อนจะไม่ค่อยกล้าดูวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต ตอนนี้การสตรีมมิ่งคอนเทนต์สูงขึ้นถึง 90% การใช้ Mobile-Payment ก็มากขึ้น” คุณทศพรกล่าวเสริมพร้อมเผยด้วยว่า 88% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะเริ่มมองหาแอปพลิคเคชันด้านสุขภาพมาติดตั้งอย่างน้อย 1 ตัวด้วย

จากเทรนด์นี้ คุณทศพรจึงเผยว่า บริษัทได้พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาสินค้าให้ฉลาดขึ้นเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ นั่นคือการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย

“ภายในปี 2025 ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน 90% จะมีการใช้งานบริการจากปัญญาประดิษฐ์แล้ว ดังนั้นหัวเว่ยจึงพัฒนา AI chipset (Kirin Chipset) – ตัวเครื่อง และบริการจากคลาวด์ให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ และประเทศไทยก็เป็นประเทศแรก ๆ ที่จะเริ่มแผนการให้บริการจากคลาวด์ด้วย” คุณทศพรกล่าวปิดท้าย

 

 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/08/huawei-h1-2017/

หุ่นยนต์ไอนสไตน์ช่างคุย (อาจ)จะมาทำให้คุณรักวิทยาศาสตร์

Hanson Robotics (ผู้พัฒนา Sophia หุ่นยนต์สาว ที่ถูกแชร์กันมากมายในโลกโซเชียล) วางขาย Professor Einstein หุ่นยนต์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่จะมาชวนเด็ก ๆ คุยสนุกเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในราคา 300 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1 หมื่นบาท)

Hanson Robotics พัฒนาหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์มานานแล้ว ก่อนหน้านี้ก็พัฒนาหุ่นยนต์ไอน์สไตน์ขนาดเท่าจริงมาแล้ว คราวนี้พัฒนาไอนสไตน์ขนาดเล็กลงมาเป็นหุ่นยนต์อัจฉริยะส่วนตัวเพื่อจำหน่ายในตลาดผู้บริโภคทั่วไป

หุ่นยนต์ไอน์สไตน์สูง 37 เซนติเมตร

  • ใช้หน่วยประมวลผล ARM7
  • ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ชาร์จได้ NiMH สามารถทำงานได้ 3 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
  • มีไมโครโฟนหลายตัวเพื่อจับทิศทางของเสียง
  • มีกล้องเพื่อติดตามใบหน้า เพื่อให้สบตากับผู้ใช้ได้
  • มีเซนเซอร์วัดระยะด้วยอินฟราเรดด้านล่าง เพื่อป้องกันการเดินตกโต๊ะ
  • มีมอเตอร์ 9 ตัว เพื่อใช้เคลื่อนที่ ขยับแขน และแสดงสีหน้า
  • ทำงานคู่กับแอป Stein-O-Matic บนเพื่อแสดงสื่อการสอนวิทยาศาสตร์

Andy Rifkin CTO ของ Hanson Robotics กล่าวว่ามีหลายงานวิจัยบ่งชี้ว่าหุ่นยนต์ที่จับต้องได้นั้นสามารถเพิ่มสัมฤทธิผลในการศึกษาได้ดีกว่าตัวละครเสมือน (ในจอภาพ)

ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง Hanson Robotics จะประสบความสำเร็จกับไอน์สไตน์หรือไม่ก็ขึ้นกับว่าเด็ก ๆ ชอบหุ่นยนต์ไอน์สไตน์ขนาดไหน มีหลายปัจจัยที่ทำให้หุ่นยนต์ที่สร้างมาเพื่อปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์สำเร็จหรือล้มเหลว เช่น

  • Uncanny Valley คือปรากฏการณ์ที่เมื่อหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ระดับหนึ่งจะดูน่ากลัว แต่ถ้าผ่านจุดนั้นไปได้ มนุษย์ก็จะรู้สึกดีด้วย หุ่นยนต์ไอน์สไตน์นี้ถึงแม้จะมีลักษณะที่ดูออกว่าเป็นมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจทำให้เหมือนมนุษย์ 100% ยังดูเป็นตัวการ์ตูน ซึ่งทำให้ไม่ได้ดูน่ากลัว
  • ความฉลาด ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์และการสื่อสารแบบธรรมชาตินั้นยังถือว่าห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ (Google Assistant, Siri, Cortana, Alexa ที่เป็นแนวหน้าแล้ว ยังคุยรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง) การออกแบบหุ่นยนต์ให้ดูฉลาดกว่าที่หุ่นยนต์ทำได้จริงอาจสร้างความคาดหวังที่สูงเกินไป (ไอน์สไตน์เชียวนะ) และเมื่อหุ่นยนต์ไม่สามารถตอบสนองได้ฉลาดแบบที่คาดหวัง ก็จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกผิดหวังได้ (ผู้เขียนบทความต้นฉบับพบว่าหลาย ๆ ครั้งหุ่นยนต์ไอน์สไตน์ก็ไม่สามารถเข้าใจคำถามที่ถามไปได้ เช่น 2+2 = ?) หุ่นยนต์หลายตัว ๆ ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์จึงถูกออกแบบมาไม่ให้ดูฉลาดมากนัก จะได้ไม่สร้างความคาดหวังให้ผู้ใช้มาก (ตัวอย่างเช่น Relay จาก savioke – อ้างอิงจากหนังสือ Sprint : How to Solve Big Problems and Test New Ideas in Just Five Days)

ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าไอน์สไตน์จะชวนให้เด็ก ๆ หลงรักวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ หุ่นยนต์ไอน์สไตน์วางจำหน่ายแล้วบน eBay ในราคาพิเศษ 250 เหรียญสหรัฐฯ พร้อมบัตรกำนัล 50 เหรียญสหรัฐฯ และเดือนหน้าจะจำหน่ายในช่องทางอื่นเพิ่มเติมในราคา 300 เหรียญสหรัฐฯ ใครสนใจก็จับจองกันได้เลย

ภาพและที่มา IEEE Spectrum


LINE it!

from:https://www.thairobotics.com/2017/07/26/hanson-robotics-einstein/

ต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อ Gen Z ก้าวขึ้นเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาด

ในตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลาย ๆ แบรนด์ที่หันมาให้ความสนใจกับผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z กันมากขึ้น เนื่องจากกลุ่ม Gen Z หรือก็คือคนที่เกิดระหว่างปี 1997 – 2015 นั้น กำลังเริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดกันแล้วนั่นเอง (ชาว Gen Z ที่อายุมากที่สุดก็คือ 20 ปี) แถมผลการศึกษาจากหลาย ๆ งานวิจัยยังชี้ด้วยว่า ชาว Gen Z นั้นก็มีพฤติกรรมของตัวเอง และแตกต่างจากกลุ่มมิลเลนเนียลอยู่พอควร

โดยจุดต่างของชาว Gen Z กับชาว Millennial ตามการสำรวจของ Nielsen ในหัวข้อ Total Audience Report ประจำไตรมาสที่ 1 ของปี 2017 นั้น พบว่า ในเรื่องของการเป็นเจ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น อาจไม่ต่างจากชาวมิลเลนเนียล ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ใกล้ ๆ กัน แต่ชาว Gen Z มีประสบการณ์ในการรับชมรายการทีวีแบบเดิม ๆ น้อยกว่าคนเจเนอเรชั่นอื่น ๆ แถมชาว Gen Z ใช้เวลาดูรายการจากอินเทอร์เน็ตบน “คอมพิวเตอร์พีซี” น้อยกว่าคนเจเนอเรชั่นอื่น ๆ ด้วย 

โดยสถิติจาก Nielsen พบว่า

  • ชาว Millennials และ Baby Boomers เฉลี่ยแล้วใช้เวลา 1 ชั่วโมงสองนาทีต่อวันในการเล่นอินเทอร์เน็ตบนพีซี
  • ชาว Gen X ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที ในการเล่นอินเทอร์เน็ตบนพีซี
  • ชาว Gen Z ใช้เวลา 8 นาทีต่อวันเท่านั้นกับการเล่นอินเทอร์เน็ตบนพีซี หลัก ๆ ของกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตของชาว Gen Z เกิดขึ้นบนอุปกรณ์มือถือ

เมื่อศึกษาถึงพฤติกรรมในการซื้อของแล้ว มีรายงานจาก IBM ตัวหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ “Uniquely Generation Z Study 2017″ ที่พบว่า เด็ก Gen Z สนใจการช้อปปิ้งในห้างสูงมาก ดังภาพ ส่วนการช้อปปิ้งโดยผ่านแอปพลิเคชัน หรือโทรศัพท์นั้นก็น้อยอย่างเห็นได้ชัด

ชาว Gen Z กับความต้องการในการซื้อ

ทั้งนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นห้างสรรพสินค้าหลาย ๆ แห่งมีการปรับตัวกันยกใหญ่ในช่วงนี้ ซึ่งไม่ว่าจะใช้ชื่อ Transformation หรือ 4.0 แปะท้าย แต่ก็เป็นการปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่นี้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของเด็ก Gen Z ที่ต่างจาก Generation อื่นอีกข้อหนึ่งก็คือ ในระหว่างช้อปปิ้งอยู่ในห้าง พวกเขาเหล่านี้ก็ยังนิยมการ “ส่งข้อความ” หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น Generation แห่งการส่งข้อความอย่างแท้จริง ซึ่งผลก็คือ ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเตรียมพร้อมในการนำ AI Chatbot มาใช้สำหรับแบรนด์ที่มีศักยภาพ เพื่อเตรียมรับการ Texting จากบรรดาเหล่า Gen Z ที่จะมีกำลังซื้อสูงขึ้นในอีกไม่นานนี้นั่นเอง

ส่วน Mobile apps ที่ชาว Gen Z ใช้งานมากที่สุดระหว่างช้อปปิ้งอยู่ในร้านค้าปลีก ตามการศึกษาของ Euclid Analytics consumer retail behavior survey พบว่า ชาว Gen Z มีการใช้งานคุณสมบัติต่าง ๆ ของแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือมากกว่าค่าเฉลี่ยแทบทุก segments โดยบริการส่งข้อความและ Snapchat นั้นมีการใช้งานสูงเป็นอันดับต้น ๆ

แต่สำหรับตลาดนอกสหรัฐอเมริกา เราอาจต้องเบนไปที่แอปพลิเคชันอย่าง Instagram – Facebook Messenger แทน เพราะสามารถจับตลาดโลกได้เหนือกว่า Snapchat 

 Mobile apps ที่ชาว Gen Z ใช้งานมากที่สุดระหว่างช้อปปิ้งอยู่ในร้านค้าปลีก 

เพื่อตอบรับกับเทรนด์การส่งข้อความ ไม่เฉพาะห้างสรรพสินค้าหรือช็อปต่าง ๆ ที่มีการปรับตัว เพราะมีรายงานข่าวว่า Amazon ผู้ให้บริการ E-Commerce ยักษ์ใหญ่อยู่ระหว่างการทำแบบสำรวจความคิดเห็น และมีแผนจะพัฒนาแอปพลิเคชันส่งข้อความในชื่อ Anytime ออกมาใช้งานในอนาคตอันใกล้นี้เช่นกัน

จะเห็นได้ว่า แม้พฤติกรรมบางอย่างของชาว Gen Z จะคล้ายกับชาว Millennials เช่น ใช้งานอุปกรณ์พกพา ใช้งานแอปพลิคเชัน แต่ก็มีอีกหลาย ๆ ด้านที่ค่อนข้างต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยชาว Gen Z ในปัจจุบันได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดแล้ว ด้วยส่วนแบ่ง ดังนี้

  1. Gen Z 26%
  2. Millennials 22%
  3. Gen X 20%
  4. Baby Boomers 24%

ซึ่งจากความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ เราอาจสรุปได้สั้น ๆ ว่า การสร้างประสบการณ์ในร้านค้าจะเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ และแบรนด์ควรเริ่มมองหาเทคโนโลยีเข้ามารองรับความต้องการด้าน Texting หรือพฤติกรรมการส่งข้อความที่จะเพิ่มมากขึ้นในลูกค้ากลุ่ม Gen Z นอกจากนั้นแล้ว เรื่องของการปรับคอนเทนต์ให้อยู่บนอุปกรณ์สื่อสารก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กันค่ะ

ที่มา: MarketingLand

 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/07/howto-adjust-business-for-gen-z/

สำรวจพบ”รีวิวออนไลน์” เชื่อถือได้มากพอ ๆ กับเพื่อน

 

มีผลการสำรวจจาก ReportLinker ระบุว่า ผู้บริโภคหรือนักช้อปออนไลน์ในปัจจุบันให้ความเชื่อถือการรีวิวบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เทียบได้กับการบอกต่อโดยเพื่อนของพวกเขาเลยทีเดียว

โดยจากข้อมูลที่ ReportLinker พบนั้น 59% ของนักช้อปออนไลน์ 535 คนบอกว่าพวกเขาให้ความเชื่อถือการรีวิวสินค้าบนโลกออนไลน์ไม่ต่างกับการบอกต่อของคนสนิท และมีถึง 7% ที่บอกว่า พวกเขาเชื่อโลกออนไลน์มากกว่ารีวิวจากเพื่อนของตัวเองเสียอีก

ในอีกด้านหนึ่ง ผลสำรวจนี้ก็พบว่า มีผู้บริโภคอีก 34% ที่ให้ความเชื่อมั่นกับเพื่อนมากกว่ารีวิวบนอินเทอร์เน็ต แต่ผู้จัดทำแบบสำรวจแนะนำว่า หากเป็นนักช้อปที่ตัดสินใจซื้อสินค้าจากโลกออนไลน์เสมอ ๆ บางครั้งคำแนะนำจากเพื่อนอาจใช้ไม่ได้เสมอไป ทางที่ดีจึงควรเช็คทั้งรีวิวจากเพื่อนที่ใช้งานจริง และจากโลกออนไลน์ไปพร้อม ๆ กัน

เมื่อถามว่า แล้วรีวิวจากอินเทอร์เน็ตแบบไหนที่ผู้บริโภครู้สึกว่าจริงใจ การสำรวจนี้พบว่า 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่า รีวิวที่บอกทั้งข้อดีข้อเสียของโปรดักซ์คือรีวิวที่พวกเขารู้สึกว่าจริงใจ และเป็นรีวิวที่ดี 

ขณะที่ 58% มองว่า สินค้าหรือบริการที่มีคนรีวิวจำนวนมาก ๆ นั้นมีความสำคัญต่อแบรนด์ และ 32% มองว่า หากมีรีวิวมากกว่า 30 ชิ้นขึ้นไปจะยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ในจำนวนนี้มี 26% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่า ความน่าเชื่อถือของผู้เขียนก็มีผลต่อรีวิวนั้น ๆ เช่นกัน

ส่วนตัวการที่ผลักดันให้ใครสักคนทำการรีวิวโปรดักซ์บนอินเทอร์เน็ตนั้น ผลการสำรวจนี้บอกว่า ผู้บริโภคเกือบครึ่งเขียนรีวิวเพราะได้รับประสบการณ์ดี ๆ จากโปรดักซ์ และมีผู้บริโภค 34% ที่ยอมรับว่าเขียนรีวิวเพราะเจอกับด้านลบของโปรดักซ์ด้วยเช่นกัน

ที่มา: SmallBizTrends

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/07/consumer-trust-online-review-as-friends/

เปิดข้อมูล YouTube ครึ่งปีแรก ไทย 89% เข้า YouTube ทุกวัน เสพคอนเทนต์ “ความงาม-ครอบครัว-รถยนต์” เพิ่ม

นอกจากจากการออกมาประกาศผล 10 อันดับโฆษณาของ YouTube Ads Leaderboard ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 แล้ว คุณไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Google ประเทศไทย ยังมีข้อมูล Insight อีกมากมายของYouTube ที่อยากนำมาฝากกันค่ะ โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคในไทยที่มีหลายประเด็นโดดเด่นไม่แพ้ภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น เชิญติดตามได้เลยค่ะ

ข้อมูลแรกที่น่าสนใจก็คือ ปัจจุบัน YouTube มีตัวเลขการรับชมทั่วโลกสูงกว่าพันล้านชั่วโมงต่อวัน (ซึ่งพันล้านชั่วโมงนั้นอาจเทียบเป็นวันได้เท่ากับการรับชมคอนเทนต์ความยาว 1 แสนปีต่อวันทุกวัน) ซึ่งการมาถึงจุดนี้ได้ มาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่

  • การ Personalization โดยใช้ Machine Learning ทำให้คนดู YouTubeเจอข้อมูลที่เหมาะกับเขามากขึ้น
  • มีการอัปเดตคุณสมบัติใหม่ตลอดเวลา โดยคุณไมเคิลระบุว่า YouTube ได้อัปเดตคุณสมบัติมากถึง 160 ตัวในปี 2016 ที่ผ่านมา เพื่อทำให้ประสบการณ์ในการรับชมดียิ่งขึ้น
  • เกิดพฤติกรรมการรับชมแบบ Cross-Screen ทำให้เทรนด์การรับชม YouTube บนหน้าจอสมาร์ททีวีเพิ่มสูงขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
  • การทำให้คอนเทนต์ของคนไทยได้รับการค้นเจอมากขึ้น

โดยตั้งแต่เดือนเมษายน 2016 – มีนาคม 2017 พบว่า ประเทศไทยมีการอัปโหลดวิดีโอโดย Content Creator มากกว่า 1 ล้านชั่วโมงรวมกัน ซึ่งในจุดนี้ Google ประเทศไทยถือว่าเป็น EcoSystem ที่ใหญ่มาก และไม่ใช่แค่ชั่วโมงการรับชมที่เติบโต แต่จำนวนช่องที่ประสบความสำเร็จก็เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยพบว่า ประเทศไทยมี Gold Channel (ช่องมี Subscriber มากกว่า 1 ล้านคน) เติบโตมากที่สุด โดยปัจจุบันมีมากว่า 55 แชนแนล ซึ่งถือว่าเติบโตมากกว่า 2 เท่าตัวในระยะเวลา 12 เดือน

ทั้งนี้ ไทยยังคงติดอันดับประเทศหนึ่งในสิบที่รับชม YouTube สูงที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากรีเสิร์ชของ TNS ระบุว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไทย 71% เข้ามาเยี่ยมชม YouTube หลายครั้งต่อวัน และมีถึง 89% ที่เข้ามาทุกวัน โดยการรับชมหลัก ๆ นั้นเกิดผ่านสมาร์ทโฟน และ 61% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยใช้เวลากับ YouTube มากกว่าทีวีแล้วด้วย

คุณไมเคิลระบุว่า “เทรนด์ที่เห็นก็คือ ในช่วงปีแรกๆ ของการเปิดตัวนั้น กลุ่ม Gold Channel จะเป็นกลุ่ม Traditional Media เช่น ช่องของ GMM, RS, ช่อง 3 ซึ่ง Gold Channel ก็คือ ผู้ที่มี Subscriber (กดติดตาม) มากถึง 1 ล้านคน พอมาปีที่ 2 Gold Channel จะเปลี่ยนเป็น Content Creator ด้านบันเทิงและเพลงมากขึ้น ยกตัวอย่าง บี้เดอะสกา, VRZO, พลอยชมพู ฯลฯ จนมาถึงปีที่ 3 เราพบว่า เรามี Content Creator ใน Vertical ใหม่ ๆ นั่นคือคอนเทนต์เกี่ยวกับเกม (เช่นการแคสต์เกม) เด็กและครอบครัว และบิวตี้”

 

 

ตัวเลขยอดการรับชมเฉพาะในเดือนมีนาคม 2017 เดือนเดียว

พฤติกรรมเปลี่ยน = ความท้าทายของนักการตลาด (อีกแล้ว)

Web Global Index ได้มีการทำสำรวจพบว่า ออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงสื่อของคนไทย ซึ่งเราเข้าถึงสื่อผ่านออนไลน์ถึง 8.3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นการเข้าถึงผ่านอุปกรณ์โมบายล์ 4 ชั่วโมง ขณะที่ทีวีนั้น คนไทยรับชมเฉลี่ยวันละ 2.3 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนั้นยังพบว่า ระหว่างดูทีวี คนไทย 75% เล่นมือถือไปด้วย อีก 35% ใช้คอมพิวเตอร์พีซีไปด้วย และ 30% เล่นแท็บเล็ตไปด้วย ซึ่งจะเห็นว่า คนไทยพฤติกรรมเปลี่ยนไปสู่การใช้งานหลายหน้าจอตลอดเวลา และนั่นคือความท้าทายของนักการตลาดในการสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นให้ได้นั่นเอง

 

“การได้ Attention ที่ยากขึ้นมาจากการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 7 เท่านับตั้งแต่ปี 2011 – 2014 (ข้อมูลจาก Canalys) ทุกวันนี้ ตลาดมือถือมียอดขายประมาณ 15 ล้านเครื่องต่อปี ซึ่งการที่ยอดขายสมาร์ทโฟนเติบโตนี้ทำให้ยอด Second Screening เติบโตตามมาตลอด ผลกระทบที่ตามมาก็คือ Attention Span ของคนก็เลยน้อยลงมาก เหลือประมาณ 8 วินาทีในปี 2015”

ถอดสมการ “Viewability + Audibility + Watch Time = Attention”

การทำให้โฆษณาได้รับความสนใจบนแพลตฟอร์ม YouTube นั้นจึงต้องประกอบด้วยการได้เห็น (Viewability) การได้ยินเสียง (Audibility) และการมีเวลารับชม (Watch Time) ซึ่งคุณไมเคิลชี้ว่า ถ้ามีทั้งภาพและเสียงพร้อมกันจะมีค่า Ad Recall หรือการจำโฆษณาได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก และ 95% ของโฆษณาบน YouTube มีเสียงประกอบทั้งสิ้น

“โดยโฆษณาที่ได้รับความสนใจสูงทั้ง 10 อันดับจาก Ads Leaderboard นั้นพบว่า มักมีการเล่าเรื่องที่ดี อีกข้อหนึ่งคือเราคิดว่าคนทำโฆษณาน่าจะจับทางได้แล้วว่า ถ้าทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเพลง ผู้บริโภคจะชอบดู และใน 10 อันดับท็อปเท็น มีถึง 5 ตัวที่เป็นคอนเทนต์เกี่ยวกับเพลง”

“สุดท้ายคือการใช้ Influencers ซึ่ง8 ใน 10 ของโฆษณาท็อปเท็นนั้นใช้ influencer มาดึงความสนใจ โดยจะพบว่านี่เป็นเทรนด์ที่สำเร็จบนทีวี และก้าวขึ้นมาสำเร็จบน YouTube แล้วในขณะนี้” คุณไมเคิลกล่าวปิดท้าย 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/07/youtube-h1-2017-consumer-insight/

SCBLIFE ปรับโฉมวิธีสื่อสารกับผู้บริโภค สู่การทำประกันที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง

คุณปรีชา รุธิรพงษ์

อาจเพราะที่ผ่านมา ธุรกิจประกันภัยต้องเผชิญกับปัญหาความไม่เข้าใจในตัวเนื้อหากรมธรรม์จนทำให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้บริโภคอยู่เสมอ ทาง SCBLIFE จึงได้ลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนวิธีสื่อสารกับผู้บริโภคเสียใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้ ภายใต้แนวคิด “Your Life Your Control”

คุณปรีชา รุธิรพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวคิด “Your Life Your Control” รู้ทันสิทธิ ประกันชีวิตจัดการได้ นี้ ถูกริเริ่มมาจากประสบการณ์ในธุรกิจที่พบปัญหาว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังใช้ประโยชน์จากประกันชีวิตได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งอาจเกิดจากการซื้อประกันชีวิตที่ไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง หรือซื้อโดยปราศจากความเข้าใจ หรืออาจไม่ทราบสิทธิที่ตนควรได้รับจากการทำประกันชีวิต ส่งผลให้ไม่สามารถใช้สิทธิที่ตนพึงมีพึงได้ และเกิดการละทิ้งกรมธรรม์ไปอย่างน่าเสียดาย

“สิ่งสำคัญของภารกิจเราในวันนี้คือ การให้ลูกค้าเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งการขายประกันแบบทั่วไปจะดูจากโปรไฟล์ และการพูดคุยกับลูกค้า และให้ตัวแทนเป็นผู้เสนอว่าควรจะทำประกันตรงจุดไหนบ้าง แต่รูปแบบนั้นเราพบว่า บางทีไม่ใช่วิธีที่จะทราบความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าว่าอยากให้ประกันชีวิตเข้าไปช่วยเติมเต็มในจุดใด”

ด้วยเหตุนี้ ทาง SCBLIFE จึงได้ทำการพลิกรูปแบบการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าใหม่ ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารใน 3 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 ใช้ “กราฟ” เข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูลของผู้บริโภคใน 4 ด้าน ได้แก่

  • ด้านความพร้อม และการมีหลักประกันความมั่นคงของครอบครัว
  • ด้านสุขภาพ ให้ประกันครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางการแพทย์
  • ด้านการลดหย่อนภาษี
  • ด้านความมั่นคงของชีวิตหลังเกษียณ
“ที่เราทำเช่นนี้เพราะเราอยากให้ผู้บริโภครู้ความต้องการของตัวเองก่อน ว่าตนเองต้องการอะไร ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมากกว่ากัน และเมื่อมีความรู้แล้วค่อยคุยกับตัวแทนประกันชีวิต ซึ่งตอนนี้เริ่มมีการนำไปใช้กับตัวแทนบางส่วน แต่ยังไม่ได้เข้าไปในการอบรม Academy”
นอกจากนั้น ทาง SCBLIFE ยังได้ปรับเว็บไซต์ SCBLIFE ให้เป็น Knowledge Hub ที่ผู้บริโภคสามารถเข้ามาหาข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ทั้งความรู้ด้านการเงิน การวางแผนชีวิต ด้านสุขภาพ และด้านการบริหารสมดุลชีวิตและการทำงาน
ขั้นตอนที่สอง เมื่อมีการตกลงทำสัญญาและอนุมัติกรมธรรม์แล้ว ลูกค้าจะได้รับ Welcome SMS ยืนยันการอนุมัติกรมธรรม์ประกันชีวิต และ Welcome Call เพื่อยืนยันประเภทกรมธรรม์ที่อนุมัติแล้ว พร้อมแจ้งรายละเอียดและสิทธิของลูกค้าในการทำประกันชีวิต อาทิ สิทธิการยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วัน หากพบว่ากรมธรรม์ที่ได้รับมีคลาดเคลื่อนจากที่ทำสัญญาไว้กับผู้ขาย หรือไม่ต้องการกรมธรรม์นี้อีกต่อไป หรือสิทธิในการรับประโยชน์ต่างๆ จากกรมธรรม์

ขั้นตอนที่ 3 หลังการตัดสินใจซื้อ SCBLIFE ได้จัดทำสื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการอ่านกรมธรรม์ในรูปแบบ Tutorial Booklet ที่ง่ายต่อการเข้าใจ แนบมากับกรมธรรม์ทุกเล่มที่ส่งให้ลูกค้า รวมทั้งสื่อในรูปแบบ Animation ที่จะตามมาด้วย

นอกจากนี้ SCBLIFE ได้จัดทำข้อมูลกรมธรรม์ออนไลน์ให้ลูกค้าเข้ามาตรวจเช็คและจัดการข้อมูลของตนเองได้ตลอดเวลา ผ่านบริการ MYSCBLIFE ที่ปัจจุบันลูกค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลในกรมธรรม์ แจ้งเปลี่ยนข้อมูลติดต่อได้ด้วยตนเอง เช่น หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ ที่อยู่ การดาวน์โหลดหนังสือรับรองการชำระเบี้ย ใบแจ้งครบกำหนดชำระเบี้ย เอกสารใช้สิทธิต่างๆ ตามกรมธรรม์ และการตรวจสอบข้อมูลวันครบกำหนดชำระเบี้ย และเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าไลฟ์สไตล์ดิจิตอลมากขึ้น ได้วางแผนพัฒนาการบริการเพิ่มเติม อาทิ การชำระเบี้ย การเคลม และการกู้เงินตามกรมธรรม์ ผ่านช่องทางออน์ไลน์เพิ่มเติม และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้นขอข้อมูลเกี่ยวกับประกันชีวิตให้กับลูกค้า ยังได้จัดทำสรุปคำถามที่พบบ่อยรวบรวมไว้ที่เว็บไซต์ http://www.scblife.co.th และ Contact Center โทร. 02-655-3000 ที่พร้อมให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

“ผมเชื่อมั่นว่าโครงการต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด ‘Your Life Your Control’ รู้ทันสิทธิ ประกันชีวิตจัดการได้ จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อน ที่ช่วยยกระดับสังคมประกันชีวิตอย่างยั่งยืน กล่าวคือ ช่วยส่งเสริมคุณภาพของธุรกิจประกันชีวิต และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประชาชนไทยในระยะยาว ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจของผู้บริโภคไทยต่อการทำประกันชีวิต สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “บริษัทประกันชีวิตที่คุณไว้วางใจ” ที่เรายึดมั่นมากว่า 40 ปี” นายปรีชากล่าวปิดท้าย

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/05/scblife-your-life-your-control/

เจาะพฤติกรรม”นักรีวิว”ออนไลน์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไหนใจดี – ขี้บ่น มาดูกัน

 

หากการเติบโตบนตลาด e-Commerce เป็นเป้าหมายของบริษัทแล้ว เชื่อว่าการได้รับทราบพฤติกรรมผู้บริโภคที่กว้างขึ้นย่อมต้องมีผลดีต่อธุรกิจเป็นแน่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมักตัดสินใจซื้อได้รวดเร็ว อีกทั้งยังมีค่าจัดส่งที่ไม่สูงมากนัก 

แต่สิ่งหนึ่งที่แบรนด์ต่าง ๆ ทราบกันเป็นอย่างดีก็คือ ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีการหาข้อมูลบนโลกออนไลน์สูง รวมถึงมีความเชื่อมั่นในรีวิวที่ตนเองพบบนโลกออนไลน์ในระดับที่สูงเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ บริษัท iPrice ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวบรวมร้านขายสินค้าออนไลน์ใน 7 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้ทำการศึกษาร่วมกับ Trusted Company ศึกษาการเขียนรีวิวของผู้บริโภคในตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยวิเคราะห์จาก 30,000 รีวิวบนเว็บไซต์ Trusted Company ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ผู้บริโภคเขียนรีวิววิจารณ์ร้านค้าต่างๆ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2014 ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2017 และพบว่ามีผลการศึกษาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ประเทศไทย

ผู้บริโภคชาวไทยเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เขียนรีวิวที่เป็นกลาง กล่าวคือคนไทยนิยมใช้คำว่าดีหรือแย่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะชอบใช้คำว่ารักหรือเกลียด ซึ่งบ่งบอกถึงการแสดงอารมณ์ในการเขียนรีวิว นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงการให้ความสำคัญต่อร้านขายสินค้าออนไลน์ คนไทยให้ความสำคัญกับการบริการกว่า 41% รองลงมาคือการจัดส่งที่รวดเร็วโดยให้ความสำคัญกว่า 35%

ภาพรวมแล้วคนไทยรู้สึกเป็นกลางต่อร้านค้าออนไลน์ในประเทศไทย โดยให้คะแนนเรตติ้งอยู่ที่ 3.5 จาก 5 คะแนน ซึ่งนี่คงเป็นโอกาสที่ร้านค้าออนไลน์ต่างๆจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจต่อความต้องการของผู้บริโภคเพื่อมองหากลยุทธ์ในการตอบสนองความต้องการของคนไทยต่อไป

สิงคโปร์

การเขียนรีวิวด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ถือเป็นการตะโกนบนโลกออนไลน์ ซึ่งคนสิงคโปร์มักจะเขียนรีวิวคำติด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่มากกว่าคนมาเลเซียอยู่ 25% นอกจากนี้คนสิงคโปร์ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงคาดหวังต่อสินค้าบริการสูงกว่าประเทศอื่นๆในประเทศแถบเพื่อนบ้าน เมื่อความคาดหวังไม่ได้รับการตอบสนอง คนสิงคโปร์จึงผิดหวังมากกว่าคนในประเทศอื่นๆ จึงทำให้เกิดการขอ Refund มากกว่าในประเทศอื่นๆ โดยผลการศึกษาพบว่าคนสิงคโปร์ 29% ขอ Refund ถ้าหากไม่พอใจต่อสินค้าและบริการ ในทางกลับกันถ้าหากสินค้าหรือบริการสามารถตอบสนองความต้องการพวกเขาได้ คนสิงคโปร์จะแชร์เรื่องราวเหล่านี้ให้กับเพื่อนและครอบครัวของพวกเขาฟังเป็นสองเท่า และถ้าพูดถึงการให้คะแนนต่อร้านค้าในตลาดแล้ว คนสิงคโปร์ให้คะแนนเฉลี่ยร้านค้าออนไลน์เพียง 2.9 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5 คะแนน

อินโดนีเซีย

คนอินโดนีเซียถือเป็นเชื้อชาติที่ใจดีมีพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกับคนไทย เนื่องจากมีคอนเซ็ปการใช้ชีวิตคือการให้อภัย ดังนั้นคนอินโดนีเซียจึงไม่นิยมเขียนรีวิวในเชิงลบ ถึงแม้ว่าประเทศอินโดนีเซียจะมีการแจ้งเกี่ยวกับการโกงเงินผ่านร้านขายสินค้าออนไลน์แต่ชาวอินโดนีเซียยังคงให้คะแนนร้านค้าออนไลน์สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยคะแนนเฉลี่ยตกอยู่ที่ 4.2 คะแนนจาก 5 คะแนน

ฟิลิปปินส์

ตลาดฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่น่าสนใจมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดการเติบโตประมาณ 17% ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งที่ร้านขายสินค้าออนไลน์ในตลาดฟิลิปปินส์ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ จากการศึกษาพบว่า ผู้บริโภคในตลาดส่วนมากให้รีวิวในเชิงลบโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • 57% ของผู้บริโภคเขียนคำว่าแย่มากในรีวิวของพวกเขา
  • 12% ของผู้บริโภคเขียนคำว่าแย่ในรีวิวของพวกเขา
  • 33% ของผู้บริโภคเขียนรีวิวในเชิงด่าทอ

ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศฟิลิปปินส์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศนี้ 

ในทางการตลาดมักจะพูดถึงคอนเซ็ปเรื่อง Expectation Gap ซึ่งเป็นความต่างระหว่างความคาดหวังของผู้บริโภคและการได้รับบริการจริง สิ่งหนึ่งที่ร้านขายสินค้าออนไลน์ได้เรียนรู้จากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในครั้งนี้คือการตรวจสอบและวิเคราะห์ความคาดหวังของผู้บริโภคว่าอยู่ในระดับใด (Expectation Level) เมื่อเทียบกับการให้บริการจริง (Deliver Level)

ถ้าหากบริษัททราบถึงความต้องการของผู้บริโภคในตลาดและทำการลดช่องว่างระหว่างการให้บริการนั้น จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกประทับใจต่อสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยลดการเขียนตำหนิในโลก Social Media ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าบริษัทในตลาด e-Commerce ยังต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคในตลาดให้มากยิ่งขึ้นและที่สำคัญช่องว่างนี้ยังเป็นโอกาสให้กับบริษัทใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดเพื่อชิงส่วนแบ่งได้อีกด้วยถ้าหากผู้ค้าปัจจุบันไม่มีการปรับตัว

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/04/research-reviewer-behavior-in-sea/

GroupM FOCAL 2017 ฟัง “ศิวัตร เชาวรียวงษ์” แนะกลยุทธ์ปรับตัวสำหรับนักการตลาด

ณศิวัตร เชาวรียวงษ์ และคุณนิคลาส สตอลเบิร์ก ประธานกรรมการบริหารบริษัท กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย)จบไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่สำหรับ “FOCAL 2017” งานสัมมนาดิจิทัลจาก “GroupM” บริษัทบริหารจัดการการลงทุนสื่อในเครือ WPP ซึ่งในปีนี้ คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ และคุณนิคลาส สตอลเบิร์ก ประธานกรรมการบริหารบริษัท กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ได้จัดให้มีการนำเสนอ 6  ทิศทางการตลาดดิจิทัลที่สำคัญสำหรับนักการตลาดไทยผ่านเวทีต่าง ๆ ภายในงานด้วย

โดยภายในงานได้มีการอ้างอิงตัวเลขจาก DAAT  ในเรื่องแนวโน้มเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลของปี 2017 ที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก 24% ซึ่งจะทำให้มูลค่าตลาดสื่อโฆษณาดิจิทัลไทยมีมูลค่าแตะหนึ่งหมื่นล้านบาท (ราว 11,774 ล้านบาท) เป็นครั้งแรก

“ด้วยงบประมาณดังกล่าว น่าจะทำให้เราขึ้นมาอยู่สูสี เป็นสื่ออันดับสองรองจากทีวี ในวงเล็บด้วยว่า เงินนี้เป็นเงินที่ใช้จ่ายผ่านเอเจนซี่เท่านั้น ไม่ได้รวมเงินที่ลูกค้าจ่ายตรงไปยังสื่อดิจิทัล และเงินที่ฐานธุรกิจใหญ่ในบ้านเราอย่าง SME ใช้กัน ซึ่งเราก็กำลังหาทางอยู่ว่าจะรวมได้อย่างไร เพราะคิดว่าถ้ารวมได้แล้ว งบประมาณก้อนนี้จะเห็นได้ชัดเจนขึ้น และจะมีมูลค่ามากกว่านี้อีกมากมาย” คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์กล่าวพร้อมให้ข้อมูลต่อว่า

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้คือ การผลักเงินของงบโฆษณาบางส่วนของสื่อทีวีมาอยู่บนสื่อดิจิทัล แล้วก็มีอีกหลายแบรนด์ที่ไม่ได้โยกงบมาจากสื่อทีวี แต่เพิ่มงบในส่วนสื่อดิจิทัล ซึ่งการปรับตัวนี้น่าจะทำให้ยอดโดยรวมเติบโตขึ้น”

สำหรับหัวข้อหลักของงานในปีนี้คือพฤติกรรมของคนไทยที่ใช้โทรศัพท์มือถือจนกลายเป็นอุปกรณ์หลักของชีวิต ทั้งใช้ในการเข้าอินเตอร์เน็ต และทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ แต่ในมุมของนักการตลาดนั้นก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสื่อและการหากลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดสำหรับธุรกิจ e-Commerce เอาไว้ด้วยเช่นกัน

4 เครื่องมือสำคัญสำหรับนักการตลาดยุค 2017

โดยการจะติดอาวุธให้นักการตลาดยุค 2017 ให้ทำงานได้อย่างครบเครื่องนั้น คุณศิวัตรได้เผยว่า นักการตลาดจำเป็นต้องมีเครื่องมือสำคัญ 4 ประการ ดังนี้

  • Realtime media Dashboard, Monitoring Tools
  • Programmatic (DSP/SSP)
  • Social Listening Tool
  • Data Analytic Platform

Brand Safety ในไทยปลอดภัยหรือเปล่า

นอกจากเทรนด์เรื่องวงการ Digital Marketing แล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กันจากนักการตลาดก็คือเรื่องของ Brand Safety ซึ่งในต่างประเทศกำลังมีประเด็นกับ Google และ YouTube อย่างหนัก เหตุเพราะระบบ Programmatic ของ Google มีการวางโฆษณาของแบรนด์เอาไว้กับคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง ในจุดนี้ เมื่อถามถึงสถานการณ์ในเมืองไทย คุณศิวัตรกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้น มีการสกรีนในระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่อง Brand Safety นั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการลดราคาอย่างแน่นอน

“บ้านเราถือว่าเคยมีการคุยกันมาแล้วในอดีต แต่เมื่อมันเป็นประเด็นขึ้นมาในระดับโลก เขาก็ต้องเข้มงวดมากกว่านี้ใช่ไหม แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องลดราคา เพราะเรื่อง Brand Safety ราคาเท่าไรก็เอามาแลกไม่ได้”

แอปพลิเคชันที่คนไทยใช้งานแล้วรู้สึกว่าทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น

ทั้งนี้ หนทางป้องกันสำหรับแบรนด์คือ การเลือกลงโฆษณากับคอนเทนต์แบบ Official ซึ่งในมุมมองของคุณศิวัตรนั้น มองว่าพฤติกรรมคนไทยเองก็มีการรับชมคอนเทนต์จากฝั่ง Media Provider ค่อนข้างมากอยู่แล้ว

หากกล่าวโดยสรุป มุมมองของ GroupM ที่นำเสนอผ่านงาน FOCAL 2017 คือการที่สื่อดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนชีวิตคนไทย ในการยกระดับชีวิตให้สะดวกมากขึ้น ทำมาหากินได้มากขึ้น แม้กระทั่งมิติของความบันเทิงก็มีตัวเลือกมากขึ้น ซึ่งถ้าหากมีอะไรที่ทำให้มันดีขึ้นได้ขนาดนี้ ก็จะทำให้ผู้บริโภคยึดติดและอยู่กับสิ่งนั้น ๆ ไปตลอดได้ในที่สุด 

 

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/04/group-m-focal-2017/