คลังเก็บป้ายกำกับ: แจ็ค_หม่า

“แจ็ค หม่า” ยอมสละสิทธิการควบคุมธุรกิจ Fintech ของ Alibaba ในการปรับปรุงโครงสร้างการถือหุ้น

แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งของ Alibaba Group จะไม่มีสิทธิ์ควบคุมการลงคะแนนเสียงเหนือบริษัท fintech อีกต่อไป หลังจากเสร็จสิ้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับปรุงธรรมาภิบาลและความโปร่งใส
 

Image Credit : worldkings.org
แจ็ค หม่า ถือหุ้นใหญ่และมีสิทธิออกเสียงผ่าน Hangzhou Junhan Equity Investment Partnership และ Hangzhou Junao Investment Partnership โดยที่ :
  • Hangzhou Yunbo Investment Consultancy เป็นหุ้นส่วนทั่วไปของบริษัทด้านการลงทุนทั้งสองแห่ง ซึ่งถือหุ้น Ant Group รวมกัน 53.46%
  • แจ็ค หม่า ถือหุ้น 34% ใน Hangzhou Yunbo Investment Consultancy
  • ผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่นๆ เอริค เซียนตง จิง, ไซมอน หู และฟาง เจียง ถือหุ้นรายละ 22%
  • แจ็ค หม่า รวมถึง เอริค เซียนตง จิง, ไซมอน หู และฟาง เจียง จะสละสิทธิออกเสียงเพื่อความโปร่งใส
นอกจากนี้ Hangzhou Yunbo Investment Partnership จะออกจากการเป็นหุ้นส่วนกับ Hangzhou Junhan Investment Partnership โดยแยกความเชื่อมโยงระหว่างนักลงทุนทั้งสองของ Ant Group ในขณะที่กลุ่มการลงทุนอีกกลุ่มหนึ่ง Hangzhou Xingtao Enterprise Management Consultancy จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่าง โดยที่ แจ็ค หม่า ยังมีส่วนได้เสียใน Hangzhou Xintao

ตามรายงานของ Ant Group :

  • “การปรับ” โครงสร้างการถือหุ้นจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิในการออกเสียงของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งรวมถึง แจ็ค หม่า ด้วย
  • เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น การปรับโครงสร้างจะหมายถึงไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดรายหนึ่งมีอำนาจในการควบคุมผลการประชุมสามัญ (ไม่ว่าจะการทำงานเพียงลำพังหรือกับผู้ถือหุ้นรายอื่น )
  • หุ้นของ Alibaba Group พุ่งขึ้น 8.7% ในวันจันทร์ หลังข่าวการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น
  • การปรับโครงสร้างล่าสุดเป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่มต่างๆ ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2021 เพื่อ “เพิ่มประสิทธิภาพ” การกำกับดูแลกิจการของบริษัท และสร้าง “การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว”
  • สิ่งเหล่านี้รวมถึงการเพิ่มจำนวนกรรมการอิสระเป็น 4 คน ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการขององค์กร และจะมีการแต่งตั้งกรรมการอิสระเพิ่มเป็นรายที่ 5 ซึ่งหมายความว่ากรรมการอิสระจะเป็นคณะกรรมการส่วนใหญ่ของบริษัท

ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง :

  • ในเดือนพฤศจิกายน 2020 Ant Group ได้ยกเลิกแผนการเสนอขายหุ้น IPO ในเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง หลังจากหน่วยงานกำกับดูแลพบว่าบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการดำเนินการดังกล่าว
 

from:https://www.techtalkthai.com/jack-ma-waives-control-of-alibabas-fintech-business-in-a-shareholding-restructuring/

ทางการจีนไม่ได้เพ่งเล็งแค่ ‘แจ็ค หม่า’ เท่านั้น แต่บริษัทเทคจีนทุกรายต้องระวังตัว

หลังจากรัฐบาลจีนเริ่มกำกับขอบเขตของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้าในจีน เริ่มต้นจาก Ant Group ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ IPO ได้สำเร็จเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา หรือแม้แต่การออกกฎหมายใหม่ ทางรัฐบาลก็ได้ร่อนใบตักเตือนสู่หลากหลายบริษัทในวงการนี้อย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา

รัฐร่อนหมายเตือน เล็ก-ใหญ่แค่ไหนก็ไม่รอด

ณ ปัจจุบัน คำเตือนจากทางการจีนมีตั้งแต่ การตั้งราคาไม่สม่ำเสมอ การใช้งานข้อมูลส่วนตัวลูกค้าในทางที่ผิด ยันสภาวะการทำงานที่แย่เกินไปต่อพนักงาน จำนวนแอปพลิเคชั่นที่ถูกตรวจสอบมีจำนวนไม่น้อยกว่า 222 แอป รวมถึงแอปยอดนิยมอย่าง Meituan แอปฟู้ดเดลิเวอรี่, DiDi ผู้ให้บริการขนส่งระยะสั้น, Douyin แพลตฟอร์มวิดิโอสั้น และ Pinduoduo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

“ทางการจีนต้องการส่งสารให้บริษัทเทคยักษ์ใหญ่เหล่านี้ว่าสุดท้ายแล้ว รัฐ มีอำนาจมากที่สุด และจะไม่ยอมรับคำตอบอื่นทั้งสิ้น” กล่าว Mark Natkin กรรมการผู้จัดการ Marbridge Consulting บริษัทวิจัยอุตสาหกรรมในปักกิ่ง

การผูกขาดตลาด: เครื่องมือในการควบคุมของรัฐบาลจีน

ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกเหมือนกัน ประเทศจีนมีประวัติศาสตร์การใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด (Antitrust Laws) ที่สั้นที่สุด อีกทั้งทางรัฐบาลจีนเคยใช้กฎหมายเหล่านี้ในการควบคุมอิทธิพลของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจีนอีกด้วย

กลับกัน บริษัทอินเทอร์เน็ตภายในประเทศไม่เคยโดนตรวจตรา เพราะทางการจีนมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของตัวเองได้เติบโต

Jack Ma Alibaba
แจ็ค หม่า ภาพจาก Shutterstock

ทว่า เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลจีนก็เปลี่ยนท่าทีของตัวเอง เริ่มตรวจสอบและกำกับบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ในจีน โดยเริ่มจาก Ant Group และเครือ Alibaba ของแจ๊ค หม่า ทั้งหมด ข้อหาหลักของ Alibaba ในการควบคุมตลาด คือ การบังคับให้พาร์ทเนอร์ใช้แพลตฟอร์มของตัวเองและห้ามใช้แพลตฟอร์มคู่แข่ง ไม่เช่นนั้นจะโดนลงโทษ

การกระทำเช่นนี้เรียกว่า “er xuan yi” หมายความว่า ต้องเลือกแค่ 1 จาก 2 ตัวเลือก ซึ่งเป็นสิ่งที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในจีนทำกันมานานหลายปี สังคมประณามกันมาโดยตลอด หรือแม้แต่เกิดการฟ้องร้องขึ้น แต่ไม่มีผลลัพธ์ชัดเจน เหตุเพราะไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาพอ

ทางรัฐร่อนหมายตรวจให้ Meituan เจ้าของแอปฟู้ดเดลิเวอรี่รายใหญ่ด้วยข้อหาเดียวกัน ด้านบริษัท Meituan ให้คำตอบว่าจะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเต็มที่ และจะดำเนินธุรกิจต่อไปเหมือนเดิม

Pinduoduo
Pinduoduo แอปฯ E-Commerce ที่ถูกรัฐบาลจีนตรวจสอบ

เสียงบ่นจากลูกค้า ค่าปรับจากทางการ และการโต้ตอบของบริษัท

“เป้าหมายหลักของทางการจีน คือ การตักเตือนบริษัทให้ทำตามกฎหมาย โดยไม่ได้ต้องการดำเนินคดีจริงๆ” กล่าวโดย รองศาสตราจารย์ Angela Zhang อาจารย์ภาคนิติศาสตร์ จาก University of Hong Kong

ทางการท้องถิ่นของจีนเองก็เริ่มกำกับบริษัทในพื้นที่ของตัวเองเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้เพื่อการควบคุมตลาด ได้สั่งปรับแอปส่งของ Ele.me ที่มี Alibaba เป็นเจ้าของ เป็นจำนวน 500,000 หยวน (ประมาณ 243,000 บาท) ด้วยข้อหาทำผิดกฎหมายด้านราคาและความปลอดภัยของอาหาร

คณะกรรมการความปลอดภัยผู้บริโภคแห่งเซี่ยงไฮ้ ได้ตรวจสอบ Meituan และ Pinduoduo ไปเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การหลอกลวงผู้บริโภคออนไลน์ คุณภาพสินค้าไม่ดี รวมถึงละเลยการส่งของให้ลูกค้า

เมื่อเดือนที่แล้ว หลายกระทรวง รวมถึงกระทรวงการคมนาคม และ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ก็ได้เรียกตัวแทนของ 8 บริษัท รวมถึงบริษัท DiDi และ Meituan ที่เป็นแอปเดลิเวอรี่ทั้งคู่ เข้าไปคุยเรื่องความกังวลที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในด้านสิทธิของไรเดอร์

ภายหลัง DiDi ได้โพสต์วิธีการคำนวณรายได้ของไรเดอร์ใน WeChat ของบริษัท และขอบคุณมวลชลสำหรับความสนใจและคำวิจารณ์

เมื่อสิ้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา Wang Xing กรรมการผู้บริหารบริษัท Meituan ได้ทำการบริจาคหุ้นของบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท) ให้แก่มูลนิธิในชื่อของตัวเอง เพื่อสนับสนุนโปรเจคด้านการศึกษาและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อไป ตัวบริษัท Meituan ก็ได้จัดตั้งทีมงานที่จะคอยให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบของเจ้าหน้าอย่างเคร่งครัด

ในเดือนเม.ย. ก่อนหน้านี้ Pony Ma กรรมการผู้บริหารบริษัท Tencent Holdings ประกาศไว้ว่าทางบริษัทได้จัดงบประมาณมูลค่า 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท) ไว้สนับสนุนโปรเจคด้านประชาสงเคราะห์ (Public Welfare), การพัฒนาชุมนุมชนบท (Rural Revitalization), การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และอื่น ๆ

Tencent ก็ไม่รอดจากการตรวจสอบของทางการจีน ประเด็นที่ถูกจับตามองส่วนใหญ่ในปีที่ผ่านมา คือ เรื่องการให้บริการด้านการเงินที่เสี่ยง และ แจ้งการเข้าซื้อกิจการไม่ครบ

“ถ้าเราสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมด้วยเทคโนโลยีและสินค้าของพวกเราได้มากขึ้น ผมคิดว่าเราจะได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นจากยูสเซอร์ ลูกค้า รัฐบาล และ พนักงานของเรา” กล่าวโดย Martin Lau ประธานบริษัท Tencent

สรุป

ด้วยท่าทีที่เคร่งครัดขึ้นของรัฐบาลจีนต่อบริษัทเทคโนโลยีในประเทศของตัวเอง น่าติดตามว่าจะมีผลกระทบต่อความนิยม หรือ ฟีเจอร์ต่างๆ ของแอปหรือไม่ ไม่ว่าบริษัทจะตอบแทนสังคมยังไง ไม่ว่าจะมีมูลค่าสูงหรือต่ำแค่ไหน ท้ายที่สุดก็ต้องเข้าใจว่า รัฐบาลจีนใหญ่ที่สุด

ที่มา – The Wall Street Journal 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ทางการจีนไม่ได้เพ่งเล็งแค่ ‘แจ็ค หม่า’ เท่านั้น แต่บริษัทเทคจีนทุกรายต้องระวังตัว first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/chinese-government-warn-all-tech-company/

เปิดเคล็ดลับการหาหุ้นส่วน ชวนมาทำธุรกิจ กรณีศึกษาจาก Alibaba และ Google

ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นทำธุรกิจอะไรก็ตาม เราต้องหา “หุ้นส่วน” มาช่วยสนับสนุน ทั้งด้านการเงินและด้านความคิด

Brand Inside ขอพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปเรียนรู้เคล็ดลับและข้อควรระวังในการหาหุ้นส่วน รวมไปถึงกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากผู้ก่อตั้ง Alibaba และ Google

คัมภีร์หาหุ้นส่วนทำธุรกิจ : กรณีศึกษา Alibaba และ Google
คัมภีร์หาหุ้นส่วนทำธุรกิจ : กรณีศึกษา Alibaba และ Google

6 วิธีน่าสนใจสำหรับใช้เลือกหุ้นส่วนหรือ Co-founder

1. เขียนคำอธิบายลักษณะของหุ้นส่วนที่ต้องการออกมา

ก่อนอื่นหลายๆ คนอาจจะเริ่มต้นธุรกิจโดยเลือกหุ้นส่วนเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อน เพราะความสนิทสนมหรือความคุ้นเคยที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมานาน แต่อย่าลืมว่าแม้จะรู้จักกันดีแต่ทักษะอื่นๆ ของพวกเขาอาจจะไม่ได้เหมาะกับการมาทำธุรกิจร่วมกับเราก็ได้ ดังนั้น เราต้องลองวิเคราะห์ว่า ตัวเองมีจุดอ่อนและจุดแข็งด้านการทำธุรกิจอย่างไรบ้าง จากนั้นก็ให้เราลองลิสต์ออกมาว่า อยากได้คนที่มีลักษณะหรือประสบการณ์แบบไหนมาเสริมจุดอ่อนและพัฒนาจุดแข็งให้ธุรกิจเรา 

2. คำถามน่าสนใจสำหรับคัดเลือกคนที่อยากมาเป็นหุ้นส่วน

หลังจากที่เราได้ลองไปนำเสนอไอเดียธุรกิจให้หลายๆ คนฟังก็น่าจะมีผู้ที่สนใจไอเดียธุรกิจของเราอยู่บ้าง แต่คำถามคือถึงแม้ว่าคนที่สนใจมาเป็นหุ้นส่วนกับเราจะมีความสามารถแค่ไหน หรือเขาจะชื่นชอบไอเดียของเราเพียงใด แต่ก็ไม่มีอะไรมายืนยันว่าเขาเหมาะที่จะมาร่วมงานกับเรา ดังนั้น Brand Inside จึงขอนำเสนอ 3 มุมมองที่น่าสนใจในการคัดเลือกคนมาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ

  • เขาชอบทดลองสิ่งใหม่ๆ และกล้าที่จะล้มเหลวหรือเปล่า 

ให้เราลองถามถึงผลงานที่ผ่านมาของเขา ทั้งผลงานที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จและผลงานที่ล้มเหลว เพราะสิ่งเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าเขามีลักษณะพื้นฐานของการเป็นผู้ประกอบการหรือเปล่า ที่สำคัญเรายังสามารถถามต่อยอดถึงมุมมองต่อความล้มเหลวของเขาได้อีกด้วย

  • เขาได้รับการชื่นชมจากคนอาชีพเดียวกันไหม

ให้เราลองถามว่า เขามีคอนเนคชั่นกับคนที่ทำงานในในสายอาชีพเดียวกันหรือเปล่า และอาจจะให้เขาเล่าต่อว่า ตัวเองคิดว่าเพื่อนร่วมงานน่าจะมีมุมมองต่อเขาอย่างไร

  • ให้ผู้ที่เชี่ยวชาญสาขานั้นๆ มาสัมภาษณ์เขาด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากได้หุ้นส่วนตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ แต่เราไม่มีความรู้เรื่องนี้มากนัก เราก็อาจจะชวนคนรู้จักที่เก่งเรื่องนี้มาช่วยสัมภาษณ์ด้วย เพราะคนที่ถนัดเรื่องนี้จะสามารถบอกได้ว่าผู้ที่ถูกสัมภาษณ์เก่งในงานนั้นจริงหรือไม่

Large group of unrecognizable business people waiting for a job interview. Focus is on man with blue clipboard.

3. ลองทำงานร่วมกันก่อนตกลงเป็นหุ้นส่วน

การได้ลองทำงานร่วมกันก่อนเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของอีกฝ่าย เพราะในอนาคตเราและหุ้นส่วนต้องใช้เวลาร่วมกันเป็นจำนวนมาก และต้องก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปด้วยกัน นอกจากนั้น ถ้าอีกฝ่ายเป็นคนที่สามารถมองเห็นข้อเสียในการทำงานของเราก็ยิ่งดี เพราะเราจะได้พัฒนาตัวเอง ซึ่งหลังจากได้ลองทำงานร่วมกันในระยะหนึ่งแล้ว เราก็อาจจะลองใช้สัญชาตญานตัดสินว่า อยู่กับคนนี้แล้วเราสบายใจไหม เราเชื่อใจเขาไหม และเราอยากทำงานร่วมกับเขาไปนานๆ ไหม เพราะหลายๆ ครั้งคนเราก็ตัดสินใจถูกจากการเชื่อสัญชาตญานของตัวเอง

4. ทำความเข้าใจเรื่องสไตล์การบริหารงานที่แตกต่างกัน

ผู้บริหารบางคนอาจจะมีวินัยและใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบ ในขณะที่ผู้บริหารอีกคนหนึ่งอาจจะเป็นคนง่ายๆ สบายๆ ถ้าจะแบ่งหน้าที่การบริหารให้ลงตัว คนแรกอาจจะคอยดูเรื่องกฎหมายหรือบัญชีเป็นหลัก ส่วนคนที่สองอาจจะช่วยดูเรื่องทุกข์สุขของพนักงาน อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารสองคนที่มีสไตล์การทำงานต่างกันอาจจะเกิดปัญหาความขัดแย้งได้เป็นเรื่องปกติ เช่น ผู้บริหารคนแรกที่เป็นคนเคร่งเครียดอาจจะรู้สึกไม่พอใจที่ภาระงานส่วนใหญ่ตกมาอยู่ที่ตัวเอง ส่วนผู้บริหารคนที่สองก็อาจจะรู้สึกไม่พอใจที่ตัวเองถูกควบคุมจนเกินไป เป็นต้น

5. คุยกันให้มั่นใจว่าแต่ละฝ่ายมีความมุ่งมั่นระดับเดียวกัน

เราไม่จำเป็นต้องบังคับกันว่าให้ทำงาน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือต้องอยู่ที่ออฟฟิศกันถึงตีหนึ่งตีสอง แต่สิ่งที่เราควรคุยกันให้เรียบร้อยคือแต่ละคนมีความมุ่งมั่นที่อยากจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจนี้เท่ากันหรือเปล่า แต่ละคนมองเห็นเป้าหมายเดียวกันไหม วิสัยทัศน์ของแต่ละคนเป็นอย่างไร และแต่ละคนมีข้อจำกัดอะไรบ้างในการทำงาน เพื่อที่เราจะได้รับคนที่มีความตั้งใจและมองเห็นภาพอนาคตเช่นเดียวกับเรามาร่วมงานด้วยกัน

6. สถานที่หาหุ้นส่วนธุรกิจที่เราอาจจะคิดไม่ถึง

“มหาวิทยาลัย” เป็นแหล่งหาหุ้นส่วนทางธุรกิจชั้นดี เพราะอาจารย์มหาลัยก็มักจะรู้จักศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จด้านหน้าที่การงาน และเหล่านักเรียนที่เป็นนักกิจกรรมตัวยงก็มักจะมีคอนเนคชั่นกับคนที่หลากหลาย ดังนั้น คนกลุ่มนี้สามารถเป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อระหว่างเจ้าของธุรกิจที่อยากหาหุ้นส่วนกับศิษย์เก่าหรือนักศึกษาที่มีแพชชั่นสำหรับงานที่มีรูปแบบแตกต่างกันไปได้

New business meeting with a group of entrepreneurs on a conference table in a modern office loft

4 ข้อควรระวังก่อนตัดสินใจเลือกหุ้นส่วนหรือ Co-founder

1. ตกลงกันให้ดีก่อนว่าใครจะเป็นซีอีโอ

หากไม่ตกลงเรื่องนี้ตั้งแต่แรกหุ้นส่วนก็อาจจะทะเลาะกันได้ในระหว่างการทำงาน ดังนั้น เราควรกล้าพูดคุยเรื่องนี้และถามความต้องการของหุ้นส่วนตรงๆ เพราะซีอีโอหรือคนที่มีอำนาจตัดสินใจสูงที่สุดก็มีได้เพียงคนเดียว 

2. บางครั้งคนเก่งที่มีอีโก้ก็อาจจะไม่น่าร่วมงานด้วย

ตอนจะรับใครมาเป็นหุ้นส่วนก็ขอให้เรามั่นใจก่อนว่าคนๆ นั้นเก่ง แต่ไม่ได้หลงระเริงในความสามารถของตัวเองจนเกินไป เพราะบางครั้งคนที่มีอีโก้สูงมากก็อาจจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมา ทำให้บรรยากาศการทำงานแย่ลงจนอาจจะก่อให้เกิดปัญหาหากต้องร่วมงานกันเป็นระยะเวลานาน 

3. ไม่ควรเลือกหุ้นส่วนที่มีภาระทางการเงินมาก

ถ้าเราเลือกหุ้นส่วนที่มีภาระทางการเงินหรือกำลังมีปัญหาในชีวิตจำนวนมาก เขาก็อาจจะมีความเครียด ความกดดันเป็นทุนเดิม ทำให้ไม่สามารถทุ่มเทกับธุรกิจของเราได้เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อช่วงเริ่มต้นธุรกิจที่เราต้องทุ่มเทพลังกายและพลังใจเป็นอย่างมาก 

4. ลองวางแผนล่วงหน้าว่าถ้าหุ้นส่วนลาออกจะทำอย่างไร

เจ้าของธุรกิจหลายๆ คนอาจจะวาดฝันว่าหุ้นส่วนที่ได้มาในครั้งแรกจะเป็นคนที่อยู่ร่วมงานกันจนธุรกิจเติบโต แต่เราต้องยอมรับว่าในระหว่างการทำงานจริงความขัดแย้งด้านการงานการเงินหรือด้านความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทำให้แต่ละฝ่ายอาจจะเลิกทำธุรกิจร่วมกันในที่สุด ดังนั้น เราควรคุยกันตั้งแต่ช่วงตกลงร่วมเป็นหุ้นส่วนกันว่า หากเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมาเราจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

เมื่อทราบวิธีหาหุ้นส่วนหรือ Co-founder แล้ว Brand Inside ขอชวนคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับเรื่องราวการหาหุ้นส่วนของผู้ก่อตั้งบริษัทระดับโลกอย่าง Alibaba และ Google 

แจ็ค หม่า หาเพื่อนร่วมทีม 17 คนแรกได้อย่างไร

ในปี 1995 แจ็ค หม่า ได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา และได้พบกับเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจว่าอยากให้สองสิ่งนี้เข้ามาแพร่หลายในประเทศจีนเช่นเดียวกัน

เมื่อกลับมาประเทศจีนเขาจึงชวนคนรู้จักทั้ง 17 คนมาร่วมลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เขาอยากทำให้เติบโตในอนาคต ซึ่งธุรกิจที่ว่านั้นก็คือ Alibaba หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันนั่นเอง 

ในบรรดาคนกลุ่มนี้ มีทั้งคนที่เป็นนักเรียนเก่าของแจ็คหม่า เพื่อนร่วมงานในที่ทำงานก่อนๆ เพื่อนที่มีคนรู้จักร่วมกัน รวมทั้งคนอื่นๆ ที่เชื่อมั่นในไอเดียของเขา

นอกจากนั้น แต่ละคนก็ล้วนมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ทั้งคนที่เป็นนักสื่อสารมวลชน นักพัฒนาเว็บไซต์ ผู้ที่ทำงานด้านการศึกษา ผู้ที่ทำงานด้านการเงินการธนาคาร และสาขาอาชีพอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเด่นของ Alibaba เพราะบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ มักจะเริ่มต้นจากการมีสมาชิกในทีมเพียง 3-4 คนเท่านั้น

ในหมู่ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมดประกอบไปด้วยผู้หญิงจำนวน 6 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Lucy Peng ซึ่งเธอได้ก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอของ Lazada ในปี 2018 ส่วนผู้หญิงคนอื่นๆ ก็ล้วนได้ไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงที่บริษัทต่างๆ ในเครือของ Alibaba 

เรื่องราวของ Larry Page และ Sergey Brin สองผู้ร่วมก่อตั้ง Google

Larry Page และ Sergey Brin ได้พบกันครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เพราะทั้งสองคนเรียนด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อยู่เช่นเดียวกัน

แต่รู้หรือไม่ว่า ช่วงแรกทั้งสองคนรู้สึกไม่ถูกชะตากัน และตอนทำงานพวกเขาก็มักจะทะเลาะกันอยู่บ่อยๆ อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ไม่ยอมให้สิ่งนี้มาเป็นอุปสรรคในการสร้างสิ่งดีๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับโลก

ในตอนแรกพวกเขาทั้งสองคนไม่ได้ตั้งใจจะเปิดบริษัท แต่ด้วยความที่โปรเจคจบที่มหาวิทยาลัยของทั้งสองได้รับผลตอบรับดีมาก พวกเขาเลยคิดถึงก้าวต่อไปที่จะช่วยแก้ปัญหาให้คนในสังคมได้มากขึ้น จึงนำไปสู่การเปิดบริษัท Google ในที่สุด

พวกเขาตั้งเป้าหมายว่าอยากให้ Google พัฒนาไปเป็น search engine อันดับหนึ่งของโลกที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำทุกวัน ทั้งในเวลาที่จะเลือกซื้อของ เวลาเลือกร้านอาหารหลังเลิกงาน และเวลาเลือกสถานที่ไปเที่ยว เป็นต้น

ทั้งสองจึงตั้งใจพัฒนาระบบหลังบ้านต่างๆ โดยไม่ได้หวังเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง เพราะ Larry Page ก็เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าผมถูกผลักดันด้วยเงิน ผมคงขายบริษัททิ้งและไปพักผ่อนริมทะเลแล้ว”

สรุป

การหาหุ้นส่วนเป็นขั้นตอนสำคัญมากในการเริ่มต้นทำธุรกิจ เราควรใช้เวลาทำความรู้จักคนที่เราอยากชวนมาเป็นหุ้นส่วน เพื่อจะได้คัดเลือกคนที่เหมาะสมมาร่วมงานด้วย

ในทางกลับกัน ถ้าเราพลาดเลือกคนที่ไม่เหมาะสมเข้ามา ธุรกิจของเราก็จะเติบโตได้ช้า รวมถึงตัวเจ้าของธุรกิจเองก็อาจจะต้องมาเสียสุขภาพจิตกับหุ้นส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพก็เป็นได้ 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เปิดเคล็ดลับการหาหุ้นส่วน ชวนมาทำธุรกิจ กรณีศึกษาจาก Alibaba และ Google first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/business-partner-alibaba-google/

สื่อของรัฐบาลจีนรายงาน แจ๊ค หม่าปรากฏตัวเป็นครั้งแรก หลังหายหน้าจากสาธารณะไปร่วมหลายเดือน

Jack Ma
Jack Ma via Twitter Post by Global Times

แจ๊ค หม่าปรากฏตัว

หลังจากที่ไม่มีใครเห็นแจ๊ค หม่ามานานหลายเดือน ล่าสุด Global Times สื่อในเครือของรัฐบาลจีน เผยแพร่ คลิปวิดีโอของแจ๊ค หม่า ขณะกำลังทำการประชุมผ่านทางวิดีโอออนไลน์เพื่อพบปะและพูดคุยกับบรรดาคุณครูในชนบทจีนกว่า 100 ราย

การปรากฏตัวของแจ๊ค หม่ากับประเด็นเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะก่อนหน้าที่เขาจะวางมือและส่งไม้ต่อให้แดเนียล จาง ขึ้นมาดูแลอาณาจักร Alibaba ประเด็นเรื่องการศึกษาเป็นสิ่งที่หม่าบอกว่าจะลงไปทำอย่างเต็มตัว นอกจากนั้นก็รวมถึงพื้นหลังที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษมาก่อนด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำที่แจ๊ค หม่า ได้บอกไว้คือ “เราจะพบกันอีกครั้ง หลังจากโรคระบาดโควิด-19 ได้สิ้นสุดลง”

อ่านข่าวการหายตัวไปของแจ๊ค หม่า

ทำความเข้าใจเบื้องหลังและบริบทการหายตัวไปของแจ๊ค หม่าใน Brand Inside TALK

ที่มา – Global Times, Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post สื่อของรัฐบาลจีนรายงาน แจ๊ค หม่าปรากฏตัวเป็นครั้งแรก หลังหายหน้าจากสาธารณะไปร่วมหลายเดือน first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/found-jack-ma-china-media-report/

เปิดเบื้องหลังล้มดีล Ant Group: เมื่อ “สี จิ้นผิง” ไม่พอใจ “แจ๊ค หม่า”

SEATTLE, WA – SEPTEMBER 23: Jack Ma, CEO of Alibaba listens as Chinese President Xi Jinping speaks at a U.S.-China business roundtable, comprised of U.S. and Chinese CEOs on September 23, 2015, in Seattle, Washington. The Paulson Institute, in partnership with the China Council for the Promotion of International Trade, co-hosted the event. (Photo by Elaine Thompson-Pool/Getty Images)

ดีล IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ล้มไม่เป็นท่า

เป็นข่าวใหญ่โต เมื่อ IPO ของ Ant Group ที่คาดกันว่าจะเป็นดีลขายหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดใหญ่ระดับ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1 ล้านล้านบาทถูกยกเลิกไป

ส่วนเหตุผลที่ดีลล้ม ตอนแรกสาธารณะรับรู้เพียงว่า “ดีลนี้ไม่ผ่านเงื่อนไขด้านการกำกับดูแลบางอย่าง”

แต่ทว่าผ่านไปไม่กี่วัน มีรายงานที่อ้างอิงแหล่งข่าวภายในของรัฐบาลจีนว่า เอาเข้าจริงแล้ว ที่ดีลนี้ไม่ผ่านเป็นเพราะผู้นำสูงสุดจีนไม่พอใจแจ๊ค หม่า

เมื่อผู้นำสูงสุดไม่ปลื้ม

เหตุที่ทำให้สี จิ้นผิง ไม่พอใจแจ๊ค หม่ามาจากการพูดในวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเนื้อหาสำคัญที่ทำให้เขาประสบปัญหากับทางการจีนมีหลายส่วน ตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์ว่าหน่วยงานที่ดูแลกำกับด้านการเงินเป็นตัวฉุดรั้งนวัตกรรม รวมทั้งบอกว่า สถาบันทางการเงินจีนไม่ให้ความสำคัญกับธุรกิจรายเล็กรายย่อย นั่นก็เป็นเพราะ “หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของจีนมุ่งเป้าไปที่ความเสี่ยงมากจนเกินไป และละเลยที่จะมองไปที่การพัฒนา” และหม่าก็บอกอีกว่า “เอาจริงๆ ระบบการเงินของจีนไม่มีการจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ หรือพูดอีกอย่างคือ ระบบการเงินของจีนไม่มีระบบนั่นเอง”

แน่นอนว่า การพูดของหม่าในที่สาธารณะครั้งนี้ถึงหูของผู้มีอำนาจในรัฐบาลจีน และรวมถึงผู้นำสูงสุดอย่างสี จิ้นผิง

แหล่งข่าวภายในของทางการจีน บอกว่า ไม่ใช่แค่สีเท่านั้นที่โกรธในสิ่งที่หม่าพูด แต่รวมถึงผู้นำระดับสูงหลายคนก็ไม่พอใจเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งที่หม่าพูดเป็นการให้ร้าย-ทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลจีน และในขณะเดียวกันก็ทำให้ตัวเองดูดี

และนี่เองที่เป็นที่มาซึ่งทำให้ดีล Ant Group ล้มไม่เป็นท่า

Presidnet Xi Jinping Meets Visiting Armenian President Serzh Sargsyan
Chinese President Xi Jinping (L) meets Armenian President Serzh Sargsyan (R) at the Great Hall of the People on March 25, 2015 in Beijing, China. (Photo by Feng Li – Pool/Getty Images)

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หม่าวิจารณ์สถาบันทางการเงินจีน

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เป็นเพราะหม่าเกษียณแล้ว จึงออกมาวิจารณ์ได้มากขึ้นหรือเปล่า?

คำตอบคือ ไม่ใช่

เพราะหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ในปี 2008 หม่าเคยพูดว่า ธนาคารในจีนหลายแห่งไม่สนใจคนทำธุรกิจเลย แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้า “ธนาคารไม่ยอมเปลี่ยน เราก็จะเปลี่ยนธนาคารเอง” พร้อมทั้งได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า จะสร้างระบบการกู้ยืมเงินที่ครบวงจรและเป็นประโยชน์กับคนทำธุรกิจตัวเล็กๆ

ในปี 2013 หม่าซัดเหล่าบรรดาคนทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินว่า “อันที่จริงจีนไม่ได้ขาดนวัตกรรมทางการเงินอะไรหรอก แต่สิ่งที่จีนขาดจริงๆ คือสถาบันทางการเงินที่ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษหน้าต่างหาก” และหลังจากนั้นไม่นาน ในปีเดียวกัน Alipay ก็ได้ทำระบบกองทุนตลาดเงินออนไลน์ (online money-market mutual fund) เพื่อช่วยเหลือผู้คนในการลงทุน และให้เก็บเงินในไว้แพลตฟอร์มของ Alipay ได้ ซึ่งหลังจากที่มีระบบนี้ขึ้นมาปรากฏว่า คนจีนจำนวนมากเอาเงินออกจากธนาคารแบบดั้งเดิม แล้วหันมาเก็บเงิน-ลงทุนใน Alipay แทน

หรืออย่างในรอบนี้ปี 2020 ที่หม่าวิจารณ์ระบบการเงินจีนอีกครั้ง ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีในโลกออนไลน์ หลายคนแสดงความคิดเห็นขอบคุณที่หม่ากล้าออกมาพูดในประเด็นนี้

นี่คือการท้าทายรัฐบาลจีน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

และที่สำคัญ ต้องอย่าลืมว่า Ant Group ที่มีบริการ Alipay เป็นตัวชูโรงนั้นสามารถเข้าถึงประชากรจีนได้เกือบ 70% ทั่วประเทศ แถมปล่อยเงินกู้ให้กับบุคคลทั่วไป 500 ล้านคน รวมถึงธุรกิจรายเล็กรายย่อยอีกกว่า 20 ล้านราย

นี่คือพลังของ Ant Group ที่มีเบื้องหลังคือผู้ทรงอิทธิพลอย่างแจ๊ค หม่า และเมื่อวันหนึ่งกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลจีน แน่นอนว่า ผู้มีอำนาจย่อมต้องทำอะไรสักอย่าง

เพราะถึงที่สุดแล้ว “สีไม่สนใจว่าคุณจะทำอะไรจนร่ำรวยขึ้นมาได้ สิ่งที่เขาสนใจคือสิ่งที่คุณทำหลังร่ำรวยแล้วต่างหาก และคุณได้ปรับผลประโยชน์ของตัวเองให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศหรือไม่” แหล่งข่าวของรัฐบาลจีนให้ข้อมูล

อ้างอิง – The Wall Street Journal, Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/xi-jinping-jack-ma-drama-ant-group/

Ant Group บริษัทฟินเทคของ’แจ็ค หม่า’ ทุบสถิติ IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

Ant Group บริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินยักษ์ใหญ่ของ ‘แจ็ค หม่า’ สร้างสถิติเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ด้วยมูลค่าหุ้นละ 10.32 ดอลลาร์สหรัฐและ 10.13 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ มูลค่ารวมสูงถึง 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์หรือราว 1 ล้านล้านบาท

โดยการ IPO รอบนี้เป็นการทุบสถิติของ Aramco บริษัทน้ำมันของซาอุดิอาระเบียซึ่งระดมทุนได้ 2.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

Ant Group เป็นบริษัทในเครือ Alibaba ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน Ant Group จึงเติบโตอย่างรวดเร็วจนสามารถครอบคลุมเป็นบริการทางการเงินพื้นฐานในประเทศจีน ตั้งแต่เปิดบัญชี ลงทุน การออม ประกันชีวิต เครดิต รวมถึงเป็นโปรไฟล์ในการจับคู่ให้กับผู้ใช้งานในประเทศจีนกว่า 700 ล้านรายต่อเดือน โดยปัจจุบันมียอดธุรกรรมทางการเงินกว่า 17.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี

แจ็ค หม่า กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ IPO ครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เกิดขึ้นนอกเมืองนิวยอร์ก และ เราคงไม่กล้าคิดเรื่องนี้เมื่อห้าปีหรือสามปีที่แล้ว” ซึ่งสามารถตีความได้ว่ากระแสโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว

ทั้งนี้ ธุรกิจในเครือ Ant Group ได้แก่ Alipay บริการจ่ายเงินผ่านมือถือ, Yu’e Bao บริการซื้อกองทุนรวมผ่าน Alipay, Huabei บริการสินเชื่อรายย่อย และ MYbank ธนาคารออนไลน์

ที่มา CNN, BBC

 

 

from:https://www.thumbsup.in.th/ant-group-biggest-ipo?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=ant-group-biggest-ipo

แจ๊ค หม่าติดต่อรัฐบาลไทย เตรียมบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย สู้ภัย COVID-19

Jack Ma Alibaba
Jack Ma Photo: Shutterstock

หน้ากาก 2 ล้านชิ้น ชุดตรวจโรค 1.5 แสนชุด และอื่นๆ

แจ๊ค หม่าในนามมูลนิธิแจ็ค หม่าและมูลนิธิอาลีบาบา ประกาศโครงการบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับ 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

โดยทางมูลนิธิของแจ๊ค หม่าและอาลีบาบาได้ติดต่อไปยังรัฐบาลไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อเสนอโครงการบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์

เป้าหมายของการบริจาคคือการช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านี้รับมือกับการระบาดของ COVID-19 และขยายความช่วยเหลือไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อีกในอนาคต

“เราร่วมมือกับประเทศในเอเชียเพื่อรับมือกับภัยจาก COVID-19” ตัวแทนจากมูลนิธิแจ็ค หม่า กล่าว

“เราและมูลนิธิอาลีบาบาจะส่งหน้ากากอนามัยจำนวน 2 ล้านชิ้น ชุดตรวจโรค 150,000 ชุด ชุดป้องกันเชื้อโรค 20,000 ตัว และอุปกรณ์ป้องกันใบหน้า 20,000 ชิ้นไปยังอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย และเรากำลังดำเนินการเพิ่มเติมสำหรับประเทศอื่นในเอเชีย”

การบริจาคเกิดขึ้นภายหลังการเปิดตัว คู่มือ COVID-19 ออนไลน์ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเผยแพร่ประสบการณ์และความรู้ของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์และทีมสนับสนุนของโรงพยาบาลในประเทศจีนที่อยู่เป็นด่านหน้าของการรักษาโรคที่เกิดจาก COVID-19  และมีส่วนสำคัญต่อการชะลอการแพร่ระบาดของโรค

ที่มา – ข่าวประขาสัมพันธ์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/jack-ma-donates-sea-covid-19/

แจ๊ค หม่าแจกคู่มือสู้ภัย COVID-19 บอก “เรียนรู้จากคนที่ผ่านวิกฤตมาก่อน ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์”

Jack Ma
Jack Ma Photo: Getty Images

แจ๊ค หม่าแจกคู่มือสู้ภัย COVID-19 ดาวน์โหลดฟรี

มูลนิธิแจ็ค หม่า และมูลนิธิอาลีบาบา จัดทำคู่มือเพื่อเผยแพร่ประสบการณ์และความรู้ของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ซึ่งอยู่ในแนวหน้าของการรักษา COVID-19 ในจีน และมีส่วนสำคัญต่อการชะลอการแพร่ระบาดของโรค

  • ตามไปอ่านคู่มือสู้ภัย COVID-19 ของแจ๊ค หม่าได้ที่ COVID-19.alibabacloud.com ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

เนื้อหาดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดลงในรูปแบบคู่มือดิจิทัล ซึ่งทั้งผู้บริหารและบุคลากรทางการแพทย์ได้บอกเล่าสิ่งที่พวกตนได้เรียนรู้ในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่วิธีการคัดกรองผู้ป่วย การตรวจวินิจฉัย ไปจนถึงวิธีการรักษาผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19

จากการทำงานต่อเนื่องมากกว่า 50 วัน โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง สาขาที่หนึ่ง ได้รับผู้ติดเชื้อ COVID-19 เข้ารักษาจำนวน 104 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่มีอาการขั้นรุนแรงจำนวน 78 ราย ซึ่งจากการทำงานแบบนำร่องของบุคลากรทางการแพทย์และการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้สามารถข้ามผ่านวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขในครั้งนี้มาได้โดยไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากการรักษาผู้ป่วยแม้แต่รายเดียว และไม่มีการตรวจวินิจฉัยที่ผิดพลาด รวมทั้งไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว

มูลนิธิแจ็ค หม่า และมูลนิธิอาลีบาบา หวังว่าคู่มือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารและบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก และจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย COVID-19

แจ็ค หม่า ได้เขียนในคำนำของคู่มือนี้ว่า “ในสถานการณ์ที่เชื้อกำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ เราหวังว่าประสบการณ์และความรู้ในคู่มือ จะช่วยติดอาวุธให้กับเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้แพทย์และพยาบาลในพื้นที่ที่กำลังเกิดการระบาดของโรค ได้เรียนรู้แนวทางจากผู้ที่เคยผ่านวิกฤตมาก่อน โดยไม่ต้องเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์”

ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/jack-ma-handbook-fights-covid-19/

แจ๊ค หม่าเล่นทวิตเตอร์แล้ว ข้อความแรกทวีตเรื่องหน้ากากและชุดตรวจ COVID-19 บริจาคให้สหรัฐอเมริกา

ทวิตเตอร์ของแจ๊ค หม่า

แจ๊ค หม่า มีบัญชีทวิตเตอร์แล้ว

ทวีตแรกของหม่าเป็นการอัพเดทภาพและข้อความที่ระบุถึงการขนส่งหน้ากากอนามัยและชุดทดสอบเชื้อไวรัสโรค COVID-19 ล็อตแรกให้กับสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันมีผู้ Retweet ทวีตแรกของเขาไปแล้วกว่า 22,000 ครั้ง และกด Like ไปแล้วกว่า 120,000 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ หม่าสัญญาว่าจะบริจาคหน้ากากอนามัยทั้งหมด 1,000,000 ชิ้น รวมถึงชุดทดสอบเชื้อไวรัสโรค COVID-19 จำนวน 500,000 ชุดไปยังสหรัฐอเมริกา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/jack-ma-on-twitter-mask-donation-to-us/

Jack Ma บริจาคหน้ากาก 1 ล้านชิ้น พร้อมบอก “จะสู้ COVID-19 ได้ ต้องร่วมมือกันทั้งโลก ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง”

Jack Ma
Jack Ma Photo: Getty Images

จะสู้ COVID-19 ต้องร่วมมือกันทั้งโลก ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง

ในนามของ Jack Ma Foundation หรือมูลนิธิของแจ๊ค หม่าบริจาคหน้ากากอนามัยจำนวน 1,000,000 ชิ้น พร้อมชุดทดสอบไวรัสจำนวน 500,000 ชุดให้กับสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมต่อสู้กับช่วงเวลาที่ยากลำบากในสถานการณ์ COVID-19 ที่ WHO ประกาศแล้วว่า เป็นการระบาดครั้งใหญ่ระดับโลก

ในประกาศที่แจ๊ค หม่าเขียน ระบุว่า นี่คือช่วงเวลาที่ท้าทายของมนุษยชาติ การจะรับมือหรือแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในขณะนี้ ไม่สามารถทำได้ด้วยประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ต้องร่วมมือกันทั้งโลก

  • “ณ ตอนนี้ เราไม่สามารถสู้กับการระบาดของไวรัสได้ เว้นเสียแต่ว่าเราจะร่วมมือกันข้ามพรมแดนของประเทศ แบ่งปันความรู้-วิธีการและบทเรียนอันยากลำบากนี้”
  • “รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราล้มเหลวอย่างแน่นอน”

ที่มา – Dailymail

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/jack-ma-donation-covid-19-usa/