คลังเก็บป้ายกำกับ: รีแบรนด์

แมคโดนัลด์รัสเซียได้ชื่อใหม่ Vkusno & tochka สโลแกน ชื่อเปลี่ยนไปแต่หัวใจเหมือนเดิม

Vkusno & tochka ชื่อใหม่ของแมคโดนัลด์ รัสเซีย แปลว่า Delicious. Full Stop อร่อย แค่นั้น ชื่อใหม่ ภายใต้เจ้าของคนใหม่ที่เป็นนักธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตทำร้าน McDonald 25 แห่งในไซบีเรีย ถือเป็นการรีแบรนด์ครั้งใหม่ในรอบกว่า 30 ปี ร้านแมคโดนัลด์ที่รีแบรนด์แล้วและเปิดใหม่นี้คือร้านที่ตั้งอยู่บริเวณจตุรัสพุชกิน (Pushkin Square) กลางใจกรุงมอสโก 

Vkusno-&-tochka

หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการเปิดตัวโลโก้ที่เป็นเฟรนช์ฟราย 2 อันพร้อมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น หลายคนมองว่าโลโก้เหมือน Mos Burger แบรนด์เบอร์เกอร์สัญชาติญี่ปุ่น ล่าสุดมาพร้อมชื่อใหม่ที่แปลว่าอร่อยแล้ว ยังมีสโลแกนมาด้วย นั่นก็คือ ถึงชื่อจะเปลี่ยนไป แต่หัวใจยังคงเดิม (The name changes, love stays) 

การรีแบรนด์ครั้งใหม่นี้มีคนต่อคิวเพื่อเข้าไปรับประทานในร้านอาหารน้อยกว่าตอนที่เปิดตัวครั้งแรกในช่วงปี 1990 และยังมีเมนูที่น้อยลงด้วย ไม่มี Big Mac ที่เป็นเมนูยอดฮิตของแมคโดนัลด์เจ้าเก่าและยังมีอีกหลายเมนูที่หายไปรวมทั้งของหวานอย่าง McFlurry ด้วย ไม่ใช่แค่เมนูที่น้อยลงแต่ราคาก็ลดลงด้วย ราคาของดับเบิลชีสเบอร์เกอร์อยู่ที่ 129 รูเบิล (ประมาณ 2.31 เหรียญสหรัฐหรือ 60 กว่าบาท) จากเดิมอยู่ที่ 160 รูเบิล ส่วนแมคฟิชราคา 169 รูเบิลจากเดิมอยู่ที่ 190 รูเบิล ขณะที่องค์ประกอบต่างๆ ของเบอร์เกอร์และอุปกรณ์ของแมคโดนัลด์ก็ยังอยู่คงเดิม เซอร์เกย์ลูกค้าวัย 15 ปีบอกว่า รสชาติยังเหมือนเดิม แต่โค้กมีรสชาติที่แตกต่าง

Oleg Paroev ซีอีโอแมคโดนัลด์ เวอร์ชั่นรัสเซียหรือ Vkusno & tochka ระบุว่า บริษัทเตรียมจะกลับมาเปิดหน้าร้านอีกราว 200 แห่งภายในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนและทั้งหมดรวม 850 สาขาจะเปิดภายในช่วงปลายซัมเมอร์ ภายในร้านยังคงตกแต่งเช่นเดิม เพียงแต่เอาชื่อเดิมออกเท่านั้น เป้าหมายของแมคโดนัลด์เวอร์ชั่นรัสเซียก็คือ ไม่ต้องการให้ลูกค้ารู้สึกถึงความแตกต่างทั้งในเรื่องของคุณภาพอาหารและบรรยากาศ นอกจากนี้ก็พยายามรักษาระดับราคาที่สามารถจับต้องได้ อาจจะมีราคาเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงเงินเฟ้อแต่ก็ไม่ได้มีราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง

ขณะที่ Alexander Govor นักธุรกิจชาวไซบีเรียนผู้เป็นเจ้าของ Vkusno & tochka ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์สว่า อาจจะมีการปล่อยเมนูเด่น Big Mac เหมือนกับแมคโดนัลด์เจ้าเก่าออกมา เขาบอกว่า เขาไม่มีสิทธิใช้สี หรือสัญลักษณ์หรือโลโก้ของแมคโดนัลด์ได้ เขาไม่มีสิทธิที่จะอ้างอะไรที่เกี่ยวข้องกับแมคโดนัลด์ได้ Big Mac คือเรื่องเล่าของแมคโดนัลด์ เราจะทำบางอย่างที่เหมือนกัน เราจะพยายามทำบางอย่างให้ดีขึ้น ด้านซีอีโอเผย บริษัทกำลังมองหาแหล่งซัพพลายเออร์ที่จะจัดหาเครื่องดื่มให้ใหม่ เพราะเครื่องดื่ม Coca Cola กำลังจะหมดแล้วและยังระงับการขายในรัสเซียอยู่

อย่างไรก็ดีขณะที่มีการแถลงข่าวอยู่นั้นก็มีชายคนหนึ่งยืนมาถือป้ายหน้ากล้อง เนื้อหาในป้ายนั้นระบุว่า “เอา Big Mac กลับมา” จากนั้นเขาก็ถูกเชิญตัวออกไปจากร้าน

ด้านเจ้าของแมคฯ คนใหม่ Govor ระบุว่า เขาใช้เงินจ่ายเงินซื้อสัญลักษณ์ในราคาที่ต่ำกว่าตลาด มันคือสัญลักษณ์ของ McDonald เบอร์เกอร์ที่มีสาขามากที่สุดในโลกด้วยราคา 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.86 หมื่นล้านบาท ซึ่งสหรัฐมีสิทธิจะซื้อกลับไปภายใน 15 ปี แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าเขาจะไม่ซื้อกลับไป ด้านแมคโดนัลด์เคยระบุไว้ว่าเจ้าของธุรกิจคนใหม่จะต้องรักษาการจ้างพนักงาน 6.2 หมื่นรายของแมคโดนัลด์ต่อไปอย่างน้อย 2 ปีเป็นอย่างต่ำ แต่ทาง Govor ก็ยังไม่ได้ออกความคิดเห็นใดๆ กับเรื่องนี้

ที่มา – CNA, The Straits Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post แมคโดนัลด์รัสเซียได้ชื่อใหม่ Vkusno & tochka สโลแกน ชื่อเปลี่ยนไปแต่หัวใจเหมือนเดิม first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/russia-mcdonald-new-name-vkusno-and-tochka/

เบอร์เกอร์คิง รีแบรนด์ในรอบ 20 ปี คุมโทน โลโก้ แพ็คเกจ ชุดพนักงาน และโซเชียลมีเดีย

Burger King เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดประกาศรีแบรนด์เปลี่ยนโลโก้  เมนู แพ็คเกจอาหาร โฆษณา การออกแบบร้าน ยูนิฟอร์มพนักงาน  รวมไปถึงภาพลักษณ์บนโซเชียลมีเดียใหม่ทั้งหมด โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในรอบ 20 ปี

โลโก้ใหม่ของ Burger King จะใช้การออกแบบด้วยความเรียบง่าย มินิมอล เหลือเพียง 2 สีหลักเท่านั้น โดยโลโก้ใหม่ในปี 2021 นี้ เป็นการนำโลโก้เก่าที่ใช้ระหว่างปี 1969-1999 มาใช้อีกครั้ง โดยตัดเอาสีน้ำเงินที่ล้อมรอบคำว่า Burger King ออกไป

“การออกแบบคือหนึ่งในเครื่องมือการสื่อสารที่สำคัญที่สุด เพื่อแสดงออกว่าเราคือใครและเราให้คุณค่ากับอะไร รวมถึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างความอยากอาหาร และสร้างประสบการณ์สูงสุดให้กับลูกค้าของเรา” ราฟาเอล เอบรือ หัวหน้าฝ่ายออกแบบ ของ Restaurant Brands International บริษัทแม่ของเบอร์เกอร์คิงกล่าว

burger-king-rebranding-new logo new uniform
ภาพจาก Burger King

นอกจากนี้ยังเปลี่ยนชุดยูนิฟอร์มของพนักงาน และบรรจุภัณฑ์อาหารใหม่ โดยชุดยูนิฟอร์มจะมีความทันสมัยและสีที่โดดเด่น ส่วนบรรจุภัณฑ์นอกจากจะเน้นโลโก้ใหม่แล้ว ยังใส่คำอธิบายเข้าไปด้วยว่า ‘กรอบ’ และ ‘อร่อย’

burger-king-rebranding-new packaging
ภาพจาก Burger King

ทั้งนี้ ลูกค้าทั่วโลกจะเริ่มเห็นภาพลักษณ์ของทันทีจากโฆษณาและบรรจุภัณฑ์ แต่สำหรับการปรับปรุงร้านอาหารทั่วโลกกว่า 19,000 แห่งให้สอดคล้องกับรูปลักษณ์ใหม่นี้จะต้องใช้เวลาอีกหลายปีด้วยกัน

ที่มา CNN, Fastcompany

 

from:https://www.thumbsup.in.th/burger-king-rebrand-2021?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=burger-king-rebrand-2021

ถึงเวลาต้องรีแบรนด์ (Rebranding) รวมสัญญาณที่ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลง

ผู้ประกอบหลายคนอาจคิดว่าแบรนด์เป็นแค่ชื่อกับโลโก้ แต่แบรนด์คือสิ่งที่ทำให้คนจดจำธุรกิจได้ ดังนั้นแบรนด์จึงเป็นมากยิ่งกว่านั้น

แบรนด์ คือผลรวมประสบการณ์ของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ โลโก้ ผลิตภัณฑ์ การสื่อสาร รวมถึงภาพลักษณ์ที่จะเข้าไปสร้างภาพจำในใจคน

แต่เมื่อธุรกิจดำเนินมาถึงระยะหนึ่ง ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อเติบโต และทำให้แบรนด์เป็นที่น่าจดจำอยู่เสมอ การรีแบรนด์ (Rebranding) จึงกลายเป็นอีกทางออกสำหรับหลายธุรกิจ

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาต้องรีแบรนด์แล้ว ควรพิจารณาอะไร ปัจจัยไหนบ้าง วันนี้ขอพาไปดูกรณีศึกษาแต่ละเคสกันครับ

เปลี่ยนให้ทันสมัย

กรณีนี้ขอยกตัวอย่างแบรนด์ ‘ศรีจันทร์’ เมื่อแบรนด์เก่าเกินกว่าที่จะเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนรุ่นใหม่ ก็ต้องถึงเวลาต้องเปลี่ยนทั้งภาพลักษณ์แต่ไม่เปลี่ยนเอกลักษณ์

เปลี่ยนทั้งโลโก้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากแบรนด์ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือคนที่มีอายุมากกว่า 35 ปี เป็นกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงาน รวมถึงก้าวไปไกลถึงต่างประเทศในชื่อ ‘SRICHAND’

พร้อมกันการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างรอบด้าน นำมาสู่ความสำเร็จในการเป็นที่จดจำในลูกค้าด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

เปลี่ยนกลยุทธ์

แบรนด์ที่ไม่สามารถหากลุ่มเป้าหมายใหม่ได้ การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรูปแบบธุรกิจ เพิ่มไลน์สินค้า ขยายตลาดทางธุรกิจ

ยกตัวอย่างเช่น ‘ดอยคำ’ เดิมมีภาพลักษณ์ที่เหมาะสำหรับกลุ่มคนที่รักสุขภาพเท่านั้น จึงมีการรับรู้ในวงแคบ ต่อมาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สดใสมากขึ้น วัยรุ่นมากขึ้น ทำให้ครองส่วนแบ่งตลาดน้ำผลไม้ได้อย่างมาก

เปลี่ยนเพื่อแตกต่าง

ในอุตสาหกรรมหนึ่งมีหลายธุรกิจที่เข้ามาแข่งขันกัน ส่วนผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมายให้เลือกซื้อเลือกใช้ แต่จะทำอย่างไรให้แบรนด์โดดเด่นขึ้นมา

ยกตัวอย่าง ‘เงินติดล้อ’ ที่ก่อนหน้านี้คือ ‘ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ’ แต่ลูกค้ายังคงสับสนกับ ‘ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ’ ซึ่งเป็นธุรกิจสินเชื่อบ้าน จากนั้นเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘เงินติดล้อ’

ช่วยแก้ปัญหาความเข้าใจผิดของลูกค้า และสามารถสร้างการรับรู้แบรนด์ให้กับลูกค้าได้เป็นจำนวนมาก

เปลี่ยนโครงสร้าง

มีหลายแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต การควบรวมกิจการเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ธุรกิจสามารถขยายบริการ สร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทใหม่ และต่อยอดได้มากยิ่งกว่าเดิม

ยกตัวอย่างกรณี ‘LINE MAN Wongnai’ เป็นการควบรวมระหว่างไลน์แมนผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี เรียกรถ และส่งของ กับ วงใน แพลตฟอร์มรีวิวและค้นหาร้านอาหาร ที่มีฐานข้อมูลร้านอาหารกว่า 400,000 ทั่วประเทศไทย

ซึ่งนอกจะเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเติบโตแล้วยังสามารถต่อยอดบริการอื่นๆ ได้อีกมากมายในอนาคต

อ้างอิง Entrepreneur

from:https://www.thumbsup.in.th/when-to-rebranding?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=when-to-rebranding

ไทยรัฐออนไลน์ รีแบรนด์ เปลี่ยนโลโก้ใหม่ ปรับโฉมหน้าเว็บ

วันนี้ 18 มิ.ย. 62 ไทยรัฐออนไลน์ www.thairath.co.th ประกาศรีแบรนด์ เปลี่ยนโลโก้ใหม่ โดยระบุว่า ต้องการให้ดูแตกต่าง เรียบและล้ำกว่าเดิม คาดว่าเพื่อจับตลาดคนรุ่นใหม่มากขึ้น เมื่อเทียบกับโลโก้ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเดิม

ไทยรัฐ เป็นสื่อหัวสียักษ์ใหญ่ของไทย โดยเป็นสื่อแรกๆ ในไทยที่เร่ิมต้นทำออนไลน์ ในชื่อ ไทยรัฐออนไลน์ และเปิดช่องทีวีในชื่อ ไทยรัฐทีวี สำหรับความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ หน้าเว็บและทวิตเตอร์ ได้มีการเปลี่ยนใหม่ด้วยเช่นกันเพื่อให้สอดคล้องกับการรีแบรนด์ใหม่ ส่วนหลังจากนี้ต้องรอดูว่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และไทยรัฐทีวี จะมีความเปลี่ยนแปลงตามมาหรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/thairath-new-logo/

“คิดคิด” คัมแบ็ก รีเฟรชแบรนด์ครั้งใหญ่ ใส่แฟชั่นยุค 90

คิดคิด หมากฝรั่งในตำนานขวัญใจเด็กยุค 90 คัมแบ็กสู่ตลาด รีเฟรชแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 35 ปี สร้างเซ็ตแฟชั่นจากไทยดีไซเนอร์ เอาใจวัยรุ่นยุค 90

รีเฟรชแบรนด์ครั้งใหญ่ ย้อนรอยความทรงจำตำนานหมากฝรั่ง

หลายคนยังคงจำ “คิดคิด” ตำนานหมากฝรั่งของคนไทยที่เป่าลูกโป่งได้เจ้าแรกเป็นอย่างดี ในปีนี้ได้หวนคืนสังเวียนในรอบ 35 ปี ทำการรีเฟรชแบรนด์ครั้งใหญ่ด้วยการจับมือสยามเซ็นเตอร์ และไทยดีไซเนอร์ 3 แบรนด์ดัง สร้างเซ็ตแฟชั่นแบบ Limited Edition

หมากฝรั่ง คิดคิดผลิตและจัดจำหน่ายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 โดยโรงงานลูกกวาดเม่งเซ้ง เป็นโรงงานแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้เครื่องจักรผลิตหมากฝรั่ง และลูกอม ด้วยรสชาติมินต์เฉพาะตัวของคิดคิด และสีเหลืองสดใสและแถบคาด น้ำเงิน, แดง, เขียว อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์

อีกทั้งสโลแกนที่ติดหูอย่าง “คิดคิดเพื่อนเคี้ยว ถ้าคิดจะเคี้ยว เคี้ยวคิดคิด” จึงกลายเป็นที่นิยมกับผู้บริโภคในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ เรียกว่าหากใครมาเดินสยามในตอนนั้น จะคุ้นภาพกลุ่มวัยรุ่นเดินเคี้ยวคิดคิดกันอย่างแน่นอน

ริศร์สุ แต้มคงคา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานลูกกวาดเม่งเซ้ง จำกัด เผยว่า

“เมื่อปี พ.ศ. 2527 ที่หมากฝรั่งคิดคิดออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก ผู้บริโภคในยุคนั้นโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นไม่ได้มองว่า คิดคิดเป็นแค่ขนมหรือของขบเคี้ยวเท่านั้น รสชาติของมินต์, สีสันวินเทจ และเทรนด์เป่าลูกโป่งจากหมากฝรั่ง ทำให้พวกเขามองว่าการเคี้ยวคิดคิดเป็นแฟชั่นที่ดูเท่ ดูคูล ดูชิค แบบสไตล์อเมริกาที่ฮิตกันมากในตอนนั้น

และมาจนถึงวันนี้ ความมีเสน่ห์และสโลแกนคิดคิดเพื่อนเคี้ยวก็ยังอยู่ในใจผู้บริโภคเสมอมา เราจึงมองว่าตอนนี้ถึงเวลาแล้ว ที่จะปลุกจิตวิญญาณของคิดคิดให้กลับมาอยู่ในลุคเทรนดี้อีกครั้ง และส่งต่อความตั้งใจนี้ไปยังสินค้าอื่น ให้เห็นว่าแฟชั่นที่พวกเขาเคยเชื่อนั้นยังไม่ตาย แม้เวลาจะผ่านมากกว่า 35 ปีแล้วก็ตาม”

คิดคิดจึงพาย้อนรอยความทรงจำออกมาฟื้นตลาดใหม่ พร้อมแกะกล่องส่งความพิเศษด้วยการผลิตคิดคิด ปี๊ปสังกะสีที่ไม่เคยขายที่ไหนมาก่อนวางจำหน่าย เอาใจนักสะสมที่ร้าน Absolute Siam Store สยามเซ็นเตอร์ชั้น 1 สร้างกระแส ไทย ฟีเวอร์ (Thai Fever) แฟชั่นลุคเทรนดี้

จับมือ 3 ดีไซเนอร์ดัง ใส่แฟชั่นยุค 90

และในโอกาสครบรอบ 35 ปี ของหมากฝรั่งคิดคิด ในปีนี้จึงได้เฉลิมฉลองด้วยการ รีเฟรช แบรนด์ คิดคิดเข้าสู่ยุคแห่งความเท่คูลชิคจัดเต็มอีกครั้ง ด้วยการจับมือกับสยามเซ็นเตอร์ และไทย ดีไซเนอร์ 3 แบรนด์ดัง ตีโจทย์ความเทรนดี้ ดึงช่วงเวลาทอง ย้อนรอยความทรงจำนักเคี้ยว Gen X และ Gen Y สู่ความคิดถึงอีกครั้ง

สร้างเซ็ตแฟชั่นหมากฝรั่งยุค 90 ผสมผสานไปกับแฟชั่นยุค Generation Alpha ด้วยโปรเจค Limited Edition Fashion กับแบรนด์คนไทยทั้ง 3 แบรนด์ คือ Fox Pixel (แบรนด์เสื้อผ้าชุดลำลอง Unisex), April Pool Day (แบรนด์ชุดว่ายน้ำวินเทจ) และ She (แบรนด์กระเป๋าแฮนเมดสุดชิค)

ทุกวันนี้หมากฝรั่งคิดคิดมีวางจำหน่ายในร้านค้า Traditional Trade ทั่วไปทั้งต่างจังหวัด และในกรุงเทพ การรีเฟรชแบรนด์ครั้งนี้จะทำให้ผู้คนที่เคยสัมผัสกับคิดคิด ได้ย้อนตัวเองไปในช่วงเวลาแห่งความทรงจำ ที่เป็นวัยรุ่นมีทั้งความสนุกสนานและเต็มไปด้วยสีสันกันอีกครั้ง

การใช้สื่อความเป็นแฟชั่นของคิดคิดกับแบรนด์ทั้ง 3 จะทำให้ผู้คนนึกถึงรสชาติ การดีไซน์ และตำนานที่ไม่ตกยุค ไม่มีวันตาย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/kidkid-rebrand-fashion-90s/

4 แบรนด์ไทยที่รีแบรนด์ใหม่แล้วไปได้ดี

เมื่อธุรกิจดำเนินกิจการมาระยะหนึ่ง ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อการเติบโต และทำให้แบรนด์ใหม่อยู่เสมอ เราพบว่ามีแบรนด์ไทยจำนวนหนึ่งที่ทำการ Rebranding ได้อย่างน่าสนใจ ลองมาดูที่มาที่ไปและความสำเร็จของแบรนด์ไทยเหล่านี้กัน

1.ศรีจันทร์

แบรนด์ที่เปลี่ยนสายตาของผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง แต่ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยเอาไว้อย่างดี จากการเป็น “ผงหอมศรีจันทร์” ที่มีลูกค้าส่วนใหญ่ในวัย 35 ปีขึ้นไป ให้มีฐานลูกค้าเป็นวัยรุ่น และวัยทำงานแทน เป็นแบรนด์ SRICHAND ที่ไปไกลถึงต่างประเทศ

ด้วยการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ โดยทุ่มงบสูงเพื่อการวิจัยและพัฒนาแป้งฝุ่นที่ดีที่สุด และเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้พกพาง่าย แก้ปัญหาแป้งหกที่สาวๆ มักพบเจอ และมีความพรีเมียม พร้อมทั้งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่าง SRICHAND for men แป้งฝุ่นสำหรับผู้ชาย, Disney x SRICHAND คอลเลคชั่น Beauty and the Beast

พร้อมทั้งใช้สื่อโฆษณามาขับเคลื่อนในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ เรียกได้ว่าเป็นการรีแบรนด์ใหม่หมดทั้ง 360 องศา และนำมาสู่ความสำเร็จพลิกฟื้นแบรนด์ที่กำลังค่อยๆ เลือนหายไป ให้เข้ามานั่งในใจผู้บริโภคได้อีกครั้งพิสูจน์ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนคิดว่าเป็นการตัดสินใจก้าวสำคัญของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ที่กล้าตัดสินใจเปลี่ยนแบรนด์เดิมในรุ่นคุณปู่ ให้เปลี่ยนภาพลักษณ์เป็นคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี(ส่วนตัวก็ได้กลายเป็นลูกค้าของศรีจันทร์ไปแล้วอีกหนึ่งคน)

2. Bar-B-Q Plaza

Bar-B-Q Plaza(บาร์บีคิวพลาซ่า) คือร้านปิ้งย่างที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 30 ปี แต่ก็มีวิกฤติจากการแข่งขันของแบรนด์ร้านอาหารปิ้งย่างอื่นๆ ที่ผุดขึ้นมาเป็นคู่แข่งขัน จนทายาทธุรกิจรุ่นต่อมาได้เข้ามารีแบรนด์ใหม่อีกครั้งในวันที่แบรนด์มีอายุ 25 ปี

เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนตัวมาสคอตในรูปแบบใหม่ ทั้งแนวคิดสินค้าและพนักงานร้าน และแนวคิดโฆษณา เริ่มต้นจากภายในองค์กรให้มีความเชื่อตรงกัน ว่าเป็นร้านที่คอยส่งต่อประสบการณ์ที่ดี ความสุข และความสนุกให้กับลูกค้า พร้อมทั้งรีแบรนด์ดิ้งภานนอกผ่านการเปลี่ยนการตกแต่งร้าน ตุ๊กตามาสคอต โลโก้ ฯลฯ
จนปัจจุบันถึงแม้จะอายุกว่า 30 ปีแล้ว แบรนด์ของ Bar-B-Q Plaza(บาร์บีคิวพลาซ่า) กลับไม่แก่ไปตามกาลเวลา ผู้บริโภคยังให้ความนิยมอยู่เสมอ เห็นได้จากการออกเมนูใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี เหมือนอย่างเมนูรีฟิลที่ตัวผู้เขียนเองก็ไปต่อคิวทานหน้าร้าน และเห็นว่ามีลูกค้าอีกหลายคนที่ยังเป็นแฟนคลับของ Bar-B-Q Plaza อย่างล้นหลาม
***  ปัจจุบันมีการเปลี่ยนมาสคอสอีกครั้งฉลองอายุ 30 ปีของบาร์บีคิวพลาซ่า

3. ดอยคำ

แบรนด์ที่มีต้นกำเนิดมาจาก “โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” เพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชผัก ผลไม้ หลายๆ ชนิดแทน โดยรีแบรนด์แบบยกเครื่องครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปีโดยกลุ่มลูกค้าเก่าเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ หรือมักซื้อเป็นของฝากให้คนอายุ 35 ปีขึ้นไป

ดอยคำมีการรีแบรนด์ใหม่เพื่อเจาะกลุ่มคนอายุ 20-30 ปี ด้วยการปรับดีไซน์โลโก้ และบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยสดใสมากขึ้น และมุ่งเน้นด้านความงามแทน เช่น ดอยคำน้ำมะเขือเทศสูตร low sodium, น้ำมะเขือเทศ moctail ที่ดื่มง่าย และดีต่อผิว น้ำเสาวรสผสมสารสกัดจากใบหญ้าหวาน เป็นต้น

ส่งผลให้ดอยคำ เติบโตขึ้นเป็นแบรนด์น้ำผลไม้ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในตลาดน้ำผลไม้เลยทีเดียว อยากบอกว่าในปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่หลายๆ คนก็มองว่าน้ำผลไม้เป็นเหมือนหนึ่งไอเทมเสริมความงามที่ดีเลยที่เดียว เพราะช่วยทานแล้วมีให้ผิวพรรณดีจากภายใน

4. เงินติดล้อ

หลายคนคงคุ้นเคยได้ยินชื่อ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ผู้ทำธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถและโบรกกอร์ประกันวินาศภัย ปัจจุบันมีการรีแบรนด์ใหม่ด้วยการตัดคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ออกเหลือเพียงชื่อ “เงินติดล้อ”

เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการ“ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” จากกลุ่มบริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป ในปี 2554 แต่ผู้บริโภคยังคงมีความสับสนในกับธุรกิจสินเชื่อบ้าน รถที่ดินชื่อ“ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ” ว่าเป็นเครือเดียวกัน เพราะมีผู้โทรเข้ามาที่ Call Center ของเงินติดล้อ และเข้ามาที่สาขาเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาการปรับโลโก้เหลือเป็น “เงินติดล้อ” ในสัญลักษณ์รูปเงินหมุน และโฆษณาชุด “ขอโทษ” เพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจผิดให้กับกลุ่มลูกค้า เพื่อแก้ปัญหาของความสับสนที่เกิดขึ้น

การรีแบรนด์ในครั้งนี้ทำให้การรับรู้ด้านแบรนด์เงินติดล้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้แบรนด์ได้รับการไว้วางใจจากผู้บริโภคในระดับต้นๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก- ดอยคำ ศรีจันทร์ Bar-B-Q Plaza  เงินติดล้อ

 

 
Source: thumbsup

from:https://thumbsup.in.th/2018/07/4-brand-thai-rebranding/

ชวนสาวก Apple อ่านกลยุทธ์ ทำไม iStudio by Comseven ต้องรีแบรนด์ใหม่ในชื่อ Studio7

studio7-comseven

iStudio by Comseven เปลี่ยนชื่อมาเป็น Studio7 ได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่คำถามคือ ทำไมต้องรีแบรนด์ใหม่ ในเมื่อชื่อ iStudio เป็นที่รู้จักดีสำหรับสาวก Apple ซึ่งรวมผลิตภัณฑ์ในตระกูล iPhone และ Mac ทั้งหมด

ถ้าเป็นคนใช้ Mac น่าจะสังเกตคำว่า … by Comseven และรู้ว่า iStudio by Comseven มีสาขามากที่สุด (มากกว่าทุกรายที่เหลือรวมกัน) แต่สำหรับคนใช้ iPhone ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อ iPhone กับผู้ให้บริการมือถือก่อน (AIS, dtac, True) ดังนั้นการรีแบรนด์ครั้งนี้ ซึ่ง Comseven จะมีการเปิดเผยในวันนี้ (7 ต.ค.59)  Brand Inside เลยชวนมาพิจารณาว่า ทำไมจึงเกิดการรีแบรนด์ครั้งนี้ขึ้น

  • ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจนิดนึง ในไทย Apple ไม่ได้ขายเอง จึงไม่มีร้าน Apple Store (สัญลักษณ์จะมีแค่ Logo Apple เท่านั้น) แต่ในไทยตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการคือ iStudio
  • iStudio ในประเทศไทย ดำเนินการโดย 5 เจ้า คือ Comseven, Uficon, Copperwired, SPVi และ Graphicscan ซึ่ง Comseven มีจำนวนสาขามากที่สุดกว่า 100 สาขา ทั่วประเทศ และถ้ารวมกับ iBeat, U-Store และ BananaIT ด้วย Comseven จะมีกว่า 300 สาขา

istudio_103_comseven

  • แม้ว่า iStudio by Comseven จะมีมากที่สุด (ต่างจังหวัดเป็นของ Comseven ทั้งนั้น) แต่ด้วยชื่อแบรนด์ iStudio ทำให้ลูกค้าอาจจะแยกไม่ออกว่าร้านไหนเป็นของเจ้าไหน ยิ่งในร้าน การออกแบบ และมาตรฐานต่างๆ Apple จะคุมเองทั้งหมด ทำให้ทุกร้านหน้าตาคล้ายๆ กัน
  • สำหรับผู้ใช้ Mac อาจจะพอรู้ความแตกต่างนี้ และจะเลือกใช้บริการจากผู้ดำเนินการในประเทศไทย ที่ตนเองคิดว่าให้บริการดีที่สุด หรือไปใช้บริการได้ง่าย เช่น ใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงาน ซึ่ง Comseven ได้เปรียบจากจำนวนสาขาที่มากกว่า และการเปลี่ยนชื่อเป็น Studio7 จะสร้างความแตกต่างให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

istudiocomseven

  • ขณะที่ผู้ใช้ iPhone สำหรับประเทศไทย ผู้นำเข้า iPhone จะเป็นผู้ให้บริการมือถือ จากนั้นจะส่งให้กับ iStudio ทั้ง 5 เจ้าอีกครั้ง และการขายเครื่องพร้อมแพ็คเกจ หรือขายเครื่องเปล่า ผู้ใช้จะเลือกมองไปที่ผู้ให้บริการมือถือก่อน แต่ล่าสุดผู้ให้บริการมือถือ (AIS และ True) ได้ร่วมมือกับ iStudio เพื่อให้การซื้อเครื่องใน iStudio สามารถเปิดบริการได้เลย
  • ดังนั้น การรีแบรนด์ของ Studio7 จะทำให้ Comseven สร้างแบรนด์ได้แตกต่างอย่างชัดเจนมากขึ้น ผู้ใช้จดจำได้ง่ายขึ้น ถามว่าการทิ้งชื่อ iStudio ที่คนรู้จักดีอยู่แล้ว จะเป็นผลเสียหรือไม่ ถ้าดูในเบื้องต้นแล้ว ยังมีคำว่า Studio อยู่ ใกล้เคียงคำเดิม เพิ่มเติมคำว่า 7 เพื่อให้แตกต่าง

หลังจากนี้ Studio7 จะมีการเดินเกมเพื่อสร้างความแตกต่างออกมาอีก ไม่ใช่แค่การรีแบรนด์ชื่อเพียงอย่างเดียวแน่นอน รอติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลย Brand Inside จะนำมาบอกต่อโดยทันที

from:https://brandinside.asia/comseven-istudio-to-studio7/