คลังเก็บป้ายกำกับ: ผู้นำองค์กร

15 ข้อที่เจ้าของ SME ควรคิด เพื่อสู้ศึกธุรกิจในปี 2021

ในปี 2021 นี้เจ้าของธุรกิจควรหันมาปรับตัวหรือใส่ใจในเรื่องอะไรมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงท่ามกลางวิกฤติโควิด 19 ที่ยังเป็นความท้าทายใหญ่ในปัจจุบัน 

15 ข้อที่เจ้าของ SME ควรคิดสู้ศึกธุรกิจปี 2021
15 ข้อที่เจ้าของ SME ควรคิดสู้ศึกธุรกิจปี 2021

ก่อนเข้าสู่เนื้อหา เราลองมาดูกันก่อนว่าในปีที่ผ่านมา แบรนด์ใหญ่ระดับโลก ออกมารับมือกับสถานการณ์โควิด และเป็นตัวอย่างที่ดีให้เจ้าของธุรกิจ SME ได้เรียนรู้ในประเด็นใดกันบ้าง

1. ตอบให้ได้ว่าธุรกิจของเราเกิดมาเพื่ออะไร

ถ้าเราสามารถตอบตัวเองได้ว่าธุรกิจของเราเกิดมาเพื่ออะไร หรือเรากำลังทำธุรกิจเพื่อช่วยคนกลุ่มไหนอยู่ เราก็จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้แม้ว่าจะเจอวิกฤติหนักแค่ไหนก็ตาม สำหรับตัวอย่างที่น่าสนใจในช่วงโควิดที่ผ่านมาก็เช่น แบรนด์ Burger King ที่ทำแคมเปญชวนคนไปซื้ออาหารของคู่แข่งอย่าง McDonald ในประเทศอังกฤษ หรือแบรนด์ Nike ที่บริจาครองเท้ามูลค่ารวมกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น

2. ปรับตัวก่อนได้เปรียบกว่า

Agile คือคำศัพท์ในแวดวงธุรกิจที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยในปีที่ผ่านมา หากแปลให้เห็นภาพมากขึ้น Agile ก็คือการปรับแผนธุรกิจให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น มากกว่าที่จะทำตามแผนใหญ่ที่ตั้งไว้ในตอนแรก ตัวอย่างแบรนด์ที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในช่วงโควิดก็เช่น แบรนด์ Nike ที่ทำแคมเปญ “Play Inside, Play for the World” เพื่อส่งเสริมให้คนปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างของรัฐบาล

3. อย่าคิดแต่เรื่องผลกำไร

ลูกค้าจะรู้สึกผูกผันกับแบรนด์ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือสังคมมากกว่าแบรนด์ที่มีจุดยืนเพื่อแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Dove ที่รณรงค์ให้วัยรุ่นหญิงกว่า 35 ล้านคนทั่วโลกเกิดความรักและรู้สึกเคารพตัวเองมากขึ้นมาตั้งแต่ปี 2005 หรือแบรนด์ Unilever ที่ผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เป็นต้น

4. ผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์และห่วงใยสิ่งแวดล้อม

ในปีที่ผ่านมาเราอาจจะได้ยินปัญหาเรื่องฟาสต์แฟชั่นกันบ่อย เพราะฟาสต์แฟชั่นคือการเร่งผลิตเสื้อออกมาตามสมัยนิยม โดยพยายามลดต้นทุนทั้งด้านวัสดุและแรงงานให้ต่ำที่สุด รวมทั้งทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปโดยไม่รู้ตัว เพราะต้องนำทรัพยากรมาใช้ในการผลิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในปัจจุบันผู้คนในสังคมจึงพยายามรณรงค์ให้ธุรกิจหันมาใส่ใจห่วงโซ่การผลิตที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น และทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง

5. แบ่งกำไรมาช่วยเหลือสังคม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในช่วงที่โควิด 19 ระบาดรุนแรง ลูกค้าจะรู้สึกประทับใจและอยากมาซื้อสินค้าของแบรนด์หรือธุรกิจที่ออกมาช่วยเหลือผู้คนในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ ในทางกลับกัน ลูกค้าก็จะเกิดความรู้สึกต่อต้านแบรนด์หรือธุรกิจที่ทอดทิ้งพนักงาน และไม่มีจุดยืนออกมาช่วยเหลือสังคม

10 ข้อที่ SME ควรรู้เพื่อสู้ศึกธุรกิจปี 2021
10 ข้อที่ SME ควรรู้เพื่อสู้ศึกธุรกิจปี 2021

เมื่อเห็นตัวอย่างของแบรนด์ระดับโลกดังนี้แล้ว SME อย่างเราควรเริ่มต้นครุ่นคิดหรือปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เพื่อให้ธุรกิจพัฒนาไปได้อย่างดียิ่งขึ้น

1. วางแผนธุรกิจให้เรียบร้อยก่อนออกสินค้า

เมื่อคิดอยากตั้งธุรกิจอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราควรวางแผนเกี่ยวกับธุรกิจนั้นให้เรียบร้อยและชัดเจนก่อนที่จะผลิตสินค้า เช่น ลองวิเคราะห์คู่แข่งว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเรามีจุดเด่นและแตกต่าง จะใช้การตลาดแบบไหน ต้องมีกระแสเงินสดเท่าไหร่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ที่จะตามมา ทั้งนี้ แผนธุรกิจก็เป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ธุรกิจในช่วงนั้น

2. สร้างเรื่องเล่าของแบรนด์เพื่อทำให้ธุรกิจโดดเด่นจากคู่แข่ง

ในช่วงเริ่มทำธุรกิจ หลายๆ คนอาจจะครุ่นคิดเรื่องการตั้งชื่อแบรนด์ การทำโลโก้ หรือการออกแบบเว็บไซต์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้สำคัญก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจมักจะหลงลืม คือการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ออกไป เพราะถ้าเราสามารถนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ของเราได้ดี ลูกค้าก็จะจดจำแบรนด์ของเราได้มากกว่าแบรนด์อื่นๆ

3. การบริหารเงินคือเส้นเลือดสำคัญของการทำธุรกิจ

ในช่วงเริ่มต้น เจ้าของธุรกิจหลายๆ คนอาจจะตั้งราคาสินค้าให้ต่ำเข้าไว้ เพื่อดึงดูดลูกค้ามาจากคู่แข่ง แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าเราปรับลดราคาสินค้าให้ต่ำลงเป็นระยะเวลานาน แต่ค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ เช่น ค่าพนักงาน ค่าการตลาด ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง ฯลฯ ยังสูงแบบเดิม ธุรกิจของเราก็จะขาดทุนในที่สุด ดังนั้น เราควรเน้นการสื่อสารถึงคุณค่าของสินค้าที่เราสามารถส่งมอบให้ลูกค้าแล้วตั้งราคาให้เหมาะสมจะดีกว่า

4. เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณของลูกค้า

เจ้าของธุรกิจมักจะอยากขยายฐานลูกค้าให้ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ข้อผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นคือแทนที่จะมุ่งทำการตลาดไปที่กลุ่มเป้าหมายหลัก พวกเขากลับเน้น “ปริมาณ” มากกว่า “คุณภาพ” ของลูกค้าจริงๆ ดังนั้น เราจึงควรถามตัวเองอยู่เสมอว่า ธุรกิจของเราเกิดมาเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มไหน แล้วเราอยากต่อยอดธุรกิจให้พัฒนาไปอย่างไรในอนาคต ถ้าตอบคำถามได้ตามนี้เราถึงจะสามารถขยายกลุ่มลูกค้าได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

4. สิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องคิดเมื่อรับพนักงานเข้ามา

การบริหารพนักงานเป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจ ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับพนักงานที่พบได้บ่อยก็เช่น กว่าจะได้พนักงานหนึ่งคนมาต้องผ่านกระบวนการรับสมัครและการคัดเลือกที่ใช้ระยะเวลานาน แต่หลายๆ ครั้งก็กลับได้พนักงานที่ไม่เหมาะกับองค์กร หรือทำงานได้ไม่นานก็ลาออกอยู่ดี ปัญหานี้เกิดจากการที่เจ้าของธุรกิจมักจะจ้างพนักงานเข้ามาช่วยทำงานอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองไปถึงขั้นที่ว่าพนักงานคนนั้นจะช่วยให้ธุรกิจ “เติบโตอย่างยั่งยืน” ได้หรือเปล่า

5. เลือกคนผิดชีวิตเปลี่ยน

ในขณะที่การจ้างพนักงานอาจจะไม่ได้เป็นความเสี่ยงมากสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีงบประมาณจำกัดแล้ว กว่าจะเสียเงินจ้างพนักงานหนึ่งคนได้ก็ต้องผ่านการคิดคำนวณมาอย่างดี ดังนั้น เมื่อจะคัดเลือกใครเข้ามาในทีม ขอให้เราพิจารณาอย่างละเอียดก่อนว่า คนๆ นั้นมีทัศนคติและนิสัยเหมาะสมที่จะมาทำงานในธุรกิจของเราหรือไม่ 

6. ระวังข้อมูลสำคัญของธุรกิจรั่วไหล

ข้อมูลที่ว่านั้นรวมไปถึงกลยุทธ์ของธุรกิจและรหัสสำคัญต่างๆ เช่น รหัสล็อกอินเข้าคอมพิวเตอร์ของบริษัท เพราะมีโอกาสสูงที่ผู้ไม่หวังดีจะนำข้อมูลส่วนนี้มาหาผลประโยชน์จากเรา วิธีป้องกันปัญหานี้ คือให้เราระมัดระวังเสมอเมื่อจะให้รหัสสำคัญกับใคร และอย่าลืมเปลี่ยนพาสเวิร์ดของโปรแกรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีคนลาออก

7. ถ้าบริหารคนเดียวไม่ไหวควรแบ่งให้เอาท์ซอร์สช่วยเหลือ

ในช่วงปีสองปีแรกเจ้าของธุรกิจคงจะต้องทำงานบางส่วนแบบหัวหมุน จนส่งผลให้แบ่งเวลามาดูด้านอื่นๆ ได้ไม่ทั่วถึง เช่น ขาดการดูแลหรือควบคุมพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความผิดพลาดในด้านต่างๆ เช่น การบริหารเงิน การจ้างพนักงาน ดังนั้น วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือให้จ้างเอาท์ซอร์สเข้ามาเพื่อช่วยในเรื่องในเรื่องที่เจ้าของธุรกิจไม่ถนัดหรือไม่มีเวลาดูแลมากพอ

8. เรื่องที่ควรฉุกคิดก่อนตัดสินใจลงทุน

ในการทำธุรกิจเราอาจจะใช้บริการที่ช่วยบริหารระบบหลังบ้านหลายอย่าง เช่น บริการจัดการสต็อคสินค้า บริการจัดทำบัญชี ซึ่งสองบริการนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์ แต่หลายๆ ครั้งเจ้าของธุรกิจก็มักจะหลงเชื่อคำโฆษณา และเผลอไปลงทุนในเครื่องมือหรือซอฟท์แวร์ที่ดูเหมือนจะเป็นตัวช่วยในการทำธุรกิจ แต่ความจริงแล้วไม่ได้จำเป็นสำหรับธุรกิจตัวเองเสียด้วยซ้ำ ส่งผลให้ใช้จ่ายเงินไปอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

9. ธุรกิจเติบโตเร็วเกินไปใช่ว่าดี

การที่ธุรกิจเติบโตเร็วเกินไปอาจจะส่งผลเสียในระยะยาว ปัญหาที่พบได้บ่อยคือเจ้าของต้องการขยายธุรกิจจึงนำเงินสดออกมาใช้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ขาดกระแสเงินสดและต้องกู้ยืมเงิน ทำให้เกิดหนี้ในที่สุด นอกจากนี้ ในช่วงที่เราเร่งขยายธุรกิจ พนักงานก็ยิ่งต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ ทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อย หมดไฟและมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง

ที่มา : Forbes 1, Forbes 2, contentgrip, martechtoday, smallbusinessbc, investopedia, smallbizclub, business

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post 15 ข้อที่เจ้าของ SME ควรคิด เพื่อสู้ศึกธุรกิจในปี 2021 first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/sme-2021-entrepreneur-leadership/

เปิดเคล็ดลับฉบับหัวหน้า ปรับอารมณ์ตัวเองและพนักงานอย่างไร ไม่ให้จมกับโควิด

McKinsey เปิดงานวิจัย เผยเคล็ดลับฉบับผู้นำองค์กร

เมื่อสถานการณ์โควิดกลับมาวิกฤติอีกครั้ง ในฐานะหัวหน้าหรือผู้นำ เราควรทำอย่างไร เพื่อช่วยให้พนักงานคลาย “ความกลัว” หรือ “ความกังวล” และมีแรงใจกลับมาสู้กับงานอีกครั้ง

เปิดงานวิจัย เคล็ดลับปรับอารมณ์ไม่ให้จมกับสถานการณ์โควิด
เปิดงานวิจัย เคล็ดลับฉบับหัวหน้า ปรับอารมณ์ตัวเองและพนักงานอย่างไร ไม่ให้จมกับสถานการณ์โควิด

1. การสื่อสารสำคัญที่สุด

นี่เป็นช่วงเวลาที่เราจำเป็นต้องสื่อสารกับพนักงานให้บ่อยขึ้น และในฐานะหัวหน้าเราก็ควร “อัพเดต” ให้พนักงานทราบเสมอว่า เรากำลังดำเนินการอะไรอยู่เพื่อให้พวกเขาปลอดภัยที่สุด 

ถ้าเราไม่คอยอัพเดตเรื่องราวต่างๆ หรือสื่อสารบ่อยๆ พนักงานก็จะจินตนาการถึงสถานการณ์ของบริษัทในทางที่เลวร้ายกว่าความเป็นจริง เช่น บริษัทกำลังจะปิดตัวลงหรือเปล่า หัวหน้าใส่ใจความรู้สึกของพวกเราหรือไม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งกดดันตัวเองให้มีคำตอบสำหรับทุกคำถาม อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้เราซื่อสัตย์กับพนักงาน โดยสารภาพไปตามตรงว่า “เรายังไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร แต่หวังว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ให้ได้เร็วที่สุด” นอกจากนี้ เราอาจจะ “จัดเซสชั่นพูดคุยกับพนักงานแบบ 1:1” ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาปกติจะไม่ได้พูดคุยกันแบบนี้ก็ตาม 

2. หัวหน้าต้องใส่ใจทั้ง “สุขภาพกาย” และ “สุขภาพจิต” ของพนักงาน

เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพนักงานแต่ละคนกำลังรับมือกับอะไรอยู่บ้าง ถ้าเราไม่ได้พูดคุยกับพวกเขาโดยตรง สิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้ คือเราควรสังเกตว่า มีพนักงานคนไหนพฤติกรรมเปลี่ยนไปหรือเปล่า เช่น ขาดประชุมออนไลน์บ่อย, เข้าประชุมออนไลน์แต่ปิดกล้อง, ไม่ตอบอีเมลหรือแชทงาน, ส่งงานช้ากว่ากำหนด, ลาป่วยบ่อยกว่าเมื่อก่อน เป็นต้น ถ้าเห็นสัญญานเหล่านี้เราอาจจะลองพูดคุยกับพนักงานเป็นการส่วนตัว เพื่อที่เราจะสามารถช่วยเขาเท่าที่ทำได้ เพราะบางคนอาจจะกำลังแบกภาระอันหนักอึ้งอยู่ เช่น มีหนี้ หรือต้องจัดเวลามาเลี้ยงลูกและทำงานที่บ้านไปพร้อมๆ กัน

หลายบริษัทจึงจัด การประชุมออนไลน์สั้นๆ ในช่วงเช้า เพื่ออัพเดตความคืบหน้าของงาน และเพื่อ ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ของพนักงานว่า “ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง” ซึ่งการที่หัวหน้าพูดคุยหรือวิดิโอคอลกับพนักงานเพียงวันละ 10 นาที ก็ช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้ระดับหนึ่งแล้ว

นอกจากนี้ ถ้าบริษัทมี “โปรแกรมให้คำปรึกษา” พนักงานก็จะรู้สึกสบายใจมากขึ้น สิ่งสำคัญคือถ้าพบว่าพนักงานคนไหนต้องการ “ความช่วยเหลือ” เรื่องใดเป็นพิเศษ เราจะได้ช่วยแก้ปัญหาได้ทัน นอกจากนี้ การใส่ใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี เช่น ส่งขนมไปให้พนักงานถึงบ้าน เพื่อช่วยส่งเสริมกำลังใจในการทำงาน เป็นต้น

WFH
ประชุมงานออนไลน์

3. มอง “โควิด” เป็น “โอกาส”

แทนที่จะถามว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดกับเรา ให้ลองมองว่าเรื่องนี้เกิดขึ้น เพื่อให้เราได้เรียนรู้ 

วิกฤติเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่เราสามารถ “เรียนรู้” จากวิกฤติได้ หน้าที่ของเราคือทำให้พนักงานเข้าใจว่า โควิดเป็นเพียง “ความท้าทาย” หนึ่งที่จะช่วยให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งในฐานะผู้นำเราก็ควรสร้าง “แรงบันดาลใจ” ในการเผชิญหน้ากับปัญหาให้พนักงานด้วยเช่นเดียวกัน เช่น เราจะทำให้บริษัทเติบโตขึ้นหลังจบสถานการณ์โควิดอย่างไร ที่สำคัญให้เราเน้นย้ำกับพนักงานเสมอว่า ถ้าเราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้เราจะรู้สึก “ภูมิใจ” 

เรายังสามารถมองว่าสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสให้เราได้ “ให้กำลังใจ” พนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในตำแหน่งที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้าน สิ่งที่เราสามารถทำเพื่อตอบแทนและแสดงความขอบคุณในความเสียสละของพวกเขาก็เช่น ให้เวลาพวกเขาพักเบรคมากขึ้น ให้สวัสดิการอาหารฟรี เพื่อให้พวกเขามีพลังกายและพลังใจทำงานต่อไปในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้

ช่วงเวลานี้ยังเปิดโอกาสให้เราได้ “รับฟังความคิดเห็น” ของพนักงานมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่จะช่วยให้บริษัทดำเนินกิจการต่อไปได้ นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อดีของสถานการณ์โควิด คือเมื่อต้องเปลี่ยนมาสื่อสารกันทางออนไลน์ทั้งหมด การประชุมต่างๆ ก็มีความ “กระชับ” มากขึ้น ทำให้เราสามารถใช้เวลาที่เหลือไปทำงานให้เกิดประโยชน์ได้ 

อย่างไรก็ดี นอกจากเราจะใส่ใจความรู้สึกของพนักงานแล้ว สิ่งที่ห้ามละเลยเป็นอันขาด คือ “การใส่ใจความรู้สึกของตัวเอง” เพราะการเป็น “หัวหน้า” ไม่ใช่เรื่องง่าย และด้วยตำแหน่งแล้วเราจำเป็นต้องรับมือกับความเครียดหรือความกดดันต่างๆ มากมาย 

1. “ความผิดพลาด” คือบทเรียน เพราะหัวหน้าก็ผิดพลาดได้

การ กลัวความผิดพลาดไม่ได้ช่วยให้เราผิดพลาด น้อยลง

ด้วยความที่เราเป็นหัวเรือใหญ่ของบริษัท การกลัวความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากเกิดอะไรไม่ดีขึ้นก็อาจจะส่งผลกระทบไปในวงกว้างได้ อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกกลัวนี้กลับส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของเราโดยไม่รู้ตัว 

วิธีการแก้ปัญหานี้ คือเราควรทำความเข้าใจและ ให้คำจำกัดความอารมณ์” และ “ความรู้สึก” ของเรา เช่น ถ้าเรามีหน้าร้านแล้วเรากลัวว่าลูกค้าจะไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างหรือสวมหน้ากากอนามัย เราก็อาจจะพูดระบายออกมาให้ตัวเองเข้าใจสถานการณ์ว่า “ฉันรู้สึกกังวลว่าจะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าภายในร้าน” เพราะ เมื่อได้พูดออกมาเราจะรู้สึกดีขึ้น ขั้นถัดมาให้เราลอง ลิสต์ความกังวล” หรือ “ความจริงต่างๆ ที่ต้องยอมรับให้ได้ และเขียน แผนการสำหรับเตรียมรับมือ ออกมา

2. หัวหน้าไม่จำเป็นต้อง “เข้มแข็ง” ตลอดเวลา

เราอาจจะเผลอยึดติดกับความคิดที่ว่า คนเป็นหัวหน้าต้อง “เข้มแข็ง” ตลอดเวลา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั่นนับเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่เกิดความรู้สึกเครียดหรือกดดันได้เสมอ ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองแล้วยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เราก็รู้สึกเครียดและกังวลเช่นเดียวกัน พนักงานก็จะยิ่งรู้สึกว่า ไม่ใช่ตัวเขาเองคนเดียวที่รู้สึกไม่ดี แต่ยังมีคนอีกมากที่ต้องดิ้นรนเพื่อผ่านมรสุมนี้ไปด้วยกัน

3. อย่าลืม “ใจดี” กับตัวเอง

เพื่อป้องกันการเกิดอาการ “หมดไฟ” เราควรรู้จักวิธีการ “ชาร์จพลัง” ให้กับตัวเอง ซึ่งแต่ละคนก็คงมีวิธีการผ่อนคลายที่แตกต่างกันไป บางคนก็อาจจะคลายความกังวลโดยการโทรศัพท์หาคนที่ตัวเองคุยด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ บางคนก็อาจจะไปเดินเล่นหรือปั่นจักรยานในบรรยากาศที่มีธรรมชาติล้อมรอบ ซึ่ง “การออกกำลังกาย” ก็เป็นวิธีการที่ซีอีโอหลายคนใช้เพื่อสร้างพลังในการทำงานให้กับตัวเอง นอกจากนี้ ในช่วงก่อนนอน เราก็สามารถสงบจิตใจได้ด้วย การอ่านหนังสือดีๆ สักเล่มด้วยเช่นเดียวกัน

4. หาช่วงเวลา “พักเบรค” จากการติดตามข่าวสาร

ในสถานการณ์เช่นนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะคอยติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ แต่ในบางครั้ง การติดตามข่าวสารตลอดเวลาก็ทำให้เราเครียดและเหนื่อยล้าโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น เราควรจัดสรรเวลาพักเบรคหรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นเวลาที่เราหนีห่างจากโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยให้เราผ่อนคลายหรือรู้สึกสงบมากยิ่งขึ้น เมื่อรู้สึกดีขึ้นสมองของเราก็จะทำงานได้ดี และอาจจะเกิดไอเดียดีๆ ในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยไม่รู้ตัว

5. อย่าลืมวางแผนระยะยาว

ในช่วงเวลาวิกฤติเราอาจจะยุ่งอยู่กับการประชุมต่างๆ ทั้งประชุมที่มีอยู่แล้วเป็นประจำและประชุมด่วน อย่างไรก็ตาม การที่เรายุ่งเช่นนี้อาจจะไม่ใช่สัญญาณที่ดีนัก เพราะ นอกจากจะวุ่นอยู่กับการวางแผนรับมือรายวัน เราก็ควรคิดและวาง “แผนระยะยาว” สำหรับอนาคต ด้วย

ที่มา : mckinsey, ehstoday, uxdesign, HBRAPA, keap

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เปิดเคล็ดลับฉบับหัวหน้า ปรับอารมณ์ตัวเองและพนักงานอย่างไร ไม่ให้จมกับโควิด first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/leader-deal-with-covid-19-mckinsey/

ถอดบทเรียน 5 กลยุทธ์การปรับตัวของ CEO ยุคใหม่ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส สู่ทางรอดขององค์กร

โควิด-19 ลุกลามบานปลายสร้างสถานการณ์ความไม่คงทางเศรษฐกิจ นำสู่ปัญหาการจ้างงาน และความท้าทายในการทำธุรกิจ จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

ภาระอันหนักหน่วงจึงตกเป็นของ CEO หรือผู้บริหารขององค์กร ที่จะต้องมีความเป็นผู้นำ พาองค์กรรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ แต่บทบาทความเป็นผู้นำคงทำในรูปแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะในยุคนี้ใครๆ ก็ต้องรู้จักปรับตัว โดยบทบาทของ CEO ในฐานะผู้นำองค์กร จะต้องกล้าตัดสินใจเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งระยะสั้น และระยะยาว

ซึ่ง CEO ที่ดี จะไม่มองว่าสถานการณ์ในครั้งนี้ เป็นอุปสรรค แต่จะมองว่าเป็นความท้าทายใหม่ๆ และเป็นโอกาสอันดีที่องค์กรจะได้ปรับตัว CEO บางคนถึงขนาดมองว่าสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ เป็นเหมือนความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว

ปรับตัวให้เป็น บทบาทของ CEO ยุคใหม่ที่ควรทำ

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายๆ องค์กร รู้จักปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว สามารถทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้

เช่น โรงพยาบาล Cincinnati Children’s Hospital Medical Center (CCHMC) สามารถเพิ่มอัตราการตรวจคนไข้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จากเดิม 2,000 เคส ในปี 2019 เพิ่มเป็น 5,000 เคส ต่อสัปดาห์

บริษัทผู้ให้บริการโรงภาพยนตร์ในดูไบ ที่เปลี่ยนพนักงานดูแลโรงภาพยนตร์ ให้กลายเป็นพนักงานที่สนับสนุนการขายของซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ภายในเวลาเพียง 2 วัน หรือ Unilever เปลี่ยนสายการผลิตผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย เป็นสายการผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ โดยใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น

ในภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ผลักดันให้การทำธุรกิจ และอุตสาหกรรม เกิดการปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงเวลาปกติอาจไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ แต่ต้องอาศัยเวลามากกว่านี้

ภาพโดย Jealous Weekends จาก Unsplash

บริหารจัดการเวลาให้เป็น แต่ไม่ใช่ทำงานตลอดเวลา

แน่นอนว่าการปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจ ในช่วงเวลาอันสั้น ต้องใช้ความพยายามในการทำงานมากกว่าปกติ เพื่อทำให้ได้ผลลัพธ์ในเวลาอันสั้น การบริหารเวลาจึงเป็นหน้าที่สำคัญของ CEO แต่ไม่ใช่ว่า การทำงานหนักกว่าปกติ จะหมายถึงการทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่มีเวลาพักผ่อน

จริงๆ แล้วการแบ่งเวลาก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน พนักงานหลายๆ คน ได้รับความกดดันในการทำงาน จึงอาศัยโอกาสที่ได้ทำงานที่บ้าน นำเอาเวลาที่ไม่ต้องใช้ไปกับการเดินทางมาใช้กับการทำงาน บางคนอาจทำงานได้มากขึ้นหลายชั่วโมง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก CEO ที่ดีจึงควรรู้จักบริหารจัดการเวลาทั้งของตัวเอง และคนทำงานคนอื่นๆ

ส่วนตัว CEO เอง บางคนก็อาศัยช่วงเวลาที่ไม่ต้องเดินทางด้วยการนั่งเครื่องบินข้ามประเทศ เพื่อให้ได้ชั่วโมงการทำงานเพิ่มเติม CEO บางคน จึงเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการเวลาของตัวเองใหม่ ด้วยการกำหนดช่วงเวลาการเดินทาง ให้เป็นช่วงเวลาพักผ่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานมากเกินไป

สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนทำงาน

ในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง นอกเหนือจากการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กร เพื่อหาทางรอดจากวิกฤตในครั้งนี้แล้ว CEO ควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงาน รับฟังความคิดเห็น ในช่วงเวลาที่พนักงานต้องการความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งจะได้ผลในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานในระยะยาว

หนึ่งในสิ่งที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพนักงานได้ นั่นคือ การสร้างภาพลักษณ์ความเป็นมิตร และเข้าถึงง่าย Deanna Muligan CEO ของ Guardian เล่าว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เขาเปลี่ยนรูปแบบการแต่งกายใหม่ ด้วยภาพลักษณ์สบายๆ แทนที่จะแต่งกายด้วยชุดทางการ ผลลัพธ์ที่ได้คือ พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรมากขึ้น

ไม่ได้ทำเพื่อผู้ถือหุ้น หรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว

แน่นอนว่าในสถานการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลง สร้างความไม่แน่นอนให้กับการทำธุรกิจ การหวังผลกำไร ที่ทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อย่าลืมว่าการทำธุรกิจยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก นอกเหนือจากผลกำไร นั่นคือการเป็นผู้ให้ ทั้งให้ความมั่นใจกับพนักงาน ว่าจะมีความมั่นคง มีรายได้เช่นเดิมในช่วงเวลาหลายๆ เดือนข้างหน้า

ส่วนการให้อีกอย่าง คือการให้กับสังคม ในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 องค์กรหลายๆ แห่ง จึงเลือกที่จะบริจาคอุปกรณ์ หรือสินค้าที่มีความจำเป็น ให้กับคนในสังคม

ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความเป็นผู้นำ

การเป็น CEO มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ การรู้จักคนจำนวนมาก โดยเฉพาะบรรดาคนที่เป็น CEO เช่นเดียวกัน ในช่วงเวลานี้จึงควรใช้เป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือ แบ่งปันประสบการณ์ และไอเดียระหว่างกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

เพราะการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เป็นเหมือนการทดลองทฤษฎีการแก้ไขปัญหา ที่แตกต่างกันไป โดยอาจได้วิธีที่ได้ผลจากสิ่งที่ CEO คนอื่นๆ เคยทดลองทำแล้วประสบความสำเร็จ

การปรับตัวของ CEO ไม่ได้มีแค่ 5 วิธี

ความจริงแล้วการปรับตัวของบุคคลที่เป็นผู้นำ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียง 5 วิธีข้างต้นนี้เท่านั้น การเป็นผู้นำยังมีวิธีปรับตัวที่หลากหลาย ตามบริบทการทำงานของแต่ละองค์กร ที่จะมีความแตกต่างกันไป

ถ้าอยากรู้ว่าการปรับตัวของคนที่เป็นผู้นำทำอย่างไรบ้าง ชวนมาหาคำตอบกันได้ที่งาน Brand Inside Forum 2020: New Workforce “ทิศทางการทำงานในอนาคต ตอบโจทย์คนทุกเจเนอเรชั่น” ที่กำลังจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ที่สามย่าน มิตรทาวน์ ฮอลล์ ซึ่งจะมีอีกหลากหลายวิธีการปรับตัว การเป็นผู้นำในยุคสมัยใหม่ จากผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญในหลายองค์กร

สามารถซื้อบัตรผ่าน Event Pop ได้ที่ >> http://go.eventpop.me/Brandinsideforum2020 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล: forum@brandinside.asia

ที่มา – McKinsey

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/5-strategies-for-new-era-of-ceo/