คลังเก็บป้ายกำกับ: MINOR_FOOD

กลุ่มไมเนอร์ ประกาศร่วมทุน 50.1% ใน กาก้า รุกตลาดชานมไข่มุก พร้อมนำแบรนด์บุกต่างประเทศ

บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT ประกาศร่วมทุนสัดส่วน 50.1% ใน บริษัท กาก้า เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของร้าน กาก้า เพื่อรุกตลาดเครื่องดื่ม และชานมไข่มุก พร้อมนำแบรนด์บุกต่างประเทศ

Gaga

ไมเนอร์ บุกตลาดชานมไข่มุก

ดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของ MINT กล่าวว่า ตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่กาก้าได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือธุรกิจอาหารของบริษัท ทางไมเนอร์พร้อมที่จะทำงานร่วมกับเจ้าของแบรนด์ที่มีความเข้าใจในธุรกิจ และเล็งเห็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจของกาก้าทั้งใน และต่างประเทศ

“Attitude in a Cup คือแนวคิดในการทำธุรกิจของ กาก้า ช่วยสร้างความแตกต่างกับแบรนด์เครื่องดื่มประเภทชาทั่วไป และเราเชื่อว่าแบรนด์ที่มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งจะช่วยส่งเสริมธุรกิจร้านอาหารของเราให้เติบโตยิ่งขึ้น สำหรับการร่วมทุนในครั้งนี้ยังเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดของไมเนอร์ ฟู้ด ด้านธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย”

ปัจจุบัน กาก้า มีหน้าร้านทั้งหมด 29 สาขา ในประเทศไทย เริ่มต้นธุรกิจปี 2561 โดยกลุ่มไมเนอร์มีแผนขยายสาขาเพิ่มเติมในไทย และเตรียมนำ กาก้า ไปให้บริการในทวีปเอเชีย และตะวันออกกลาง ซึ่ง กาก้า จะเสริมแกร่งร้านในเครือ เช่น เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, บอนชอน, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน และเบอร์เกอร์ คิง

สำหรับภาพรวมตลาดชานมไข่มุกในประเทศไทยอ้างอิงข้อมูลการสำรวจโดย Momentum Works และ qlub บริษัทโซลูชันการชำระเงินดิจิทัล พบว่า มีมูลค่า 749 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 26,000 ล้านบาท ผ่านจำนวนร้านชานมไข่มุกกว่า 31,000 สาขา ทั่วประเทศ

สรุป

ไมเนอร์ เพิ่มร้านอาหารในเครืออย่างต่อเนื่อง และ กาก้า จะมาช่วยเพิ่มความหลากหลายผ่านร้านชานมไข่มุกที่บริษัทไม่ได้ทำตลาดมากนัก แต่ต้องติดตามกันว่า กาก้า จะเติบโตได้มากกว่านี้ในตลาดต่างประเทศหรือไม่ เพราะตลาดไทยยังแข่งกันดุ และเหมือนกระแสชานมไข่มุกจะเริ่มชะลอตัวแล้ว

อ้างอิง // Minor

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post กลุ่มไมเนอร์ ประกาศร่วมทุน 50.1% ใน กาก้า รุกตลาดชานมไข่มุก พร้อมนำแบรนด์บุกต่างประเทศ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/minor-gaga-invest/

Burger King ประเทศไทย เปิดศึก “เมนูไก่ทอด” ดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่กินเบอร์เกอร์

Burger King ประเทศ เปิดศึก “เมนูไก่ทอด” เต็มตัว เปิดตัวเมนูชิกเก้นคิง หวังดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่เคยเข้าร้าน Burger King มาก่อน

Burger King ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีเมนูเบอร์เกอร์ Whopper อันเป็นเอกลักษณ์ เพิ่งจะรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ตามนโยบายของบริษัทแม่ในต่างประเทศ ซึ่งการรีแบรนด์นี้ Burger King ให้เหตุผลว่าต้องการเป็นแบรนด์ที่เป็นมิตร เข้ากับยุคดิจิทัล และเป็นมิตรกับคนไทยมากขึ้น

คำว่าเป็นมิตรกับคนไทยมากขึ้นดูจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ก่อนหน้านี้ Burger King ในประเทศไทย เคยมีความพยายามที่จะปรับเมนูใหม่ให้เหมาะกับความชอบของคนไทย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงจะเป็นเมนูข้าว ที่นับว่าเป็น Comfort Food ของคนไทย

ล่าสุด Burger King เพิ่งจะประกาศเปิดตัว “ชิกเก้นคิง” เป็นการเข้าสู่การแข่งขันเมนูไก่ทอดอย่างเต็มตัว จากที่ก่อนหน้านี้ Burger King มีเมนูไก่ แต่จะเป็นเพียงของทานเล่นเท่านั้น ไม่ได้เป็นไก่ทอดที่มาพร้อมกระดูกแบบที่เรากำลังจะเห็นกัน เป็นการต่อยอดจากการเปิดตัวเมนูข้าวเมื่อปี 2019 ตามกลยุทธ์ที่ Burger King ต้องการเป็นฟาสต์ฟู้ดที่เป็นมิตรกับคนไทยมากกว่าที่เคย

เมนูไก่ทอดมีอะไรดี Burger King มองเห็นอะไรในเมนูไก่ทอด

ธนวรรธ ดำเนินทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงการลงสู่การแข่งขันเมนูไก่ทอดว่า เมนูอาหารที่ทำจากไก่เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ทั้งตลาดมีมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท และในเชิงพฤติกรรมของคนไทยเอง ก็ชอบบริโภคไก่อยู่แล้ว

หากลองสังเกตกันดีๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไก่ทอดกลายเป็นเมนูที่กำลังมาแรงอยู่ในกระแส มีผู้ลงมาแข่งในตลาดนี้มากมาย โดยเฉพาะไก่ทอดเกาหลี ที่มีผู้เล่นรายใหญ่คือ บอนชอน ซึ่งเป็นเชนร้านอาหารในเครือของ Minor เอง ที่มีการขยายสาขาจากเดิมที่มีอยู่ 30 สาขา เป็น 80 สาขา หลังจากที่ Minor เข้าซื้อบอนชอนในประเทศไทย เมื่อปี 2019 ซึ่งธนวรรธให้ข้อมูลว่าคนไทยชอบเมนูไก่ทอดที่กรอบ มีซอส และเผ็ด

แม้ว่า Burger King ในประเทศไทยจะลงสู่การแข่งขันเมนูไก่ทอด ช้ากว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาด ไม่ใช่แค่บอนชอนเท่านั้น แต่คู่แข่งที่เป็นฟาสต์ฟู้ดรายอื่นๆ อย่าง KFC, McDonald’s และ Texas ขายเมนูไก่ทอดมานานมากแล้ว ยังไม่รวมร้านไก่ทอดเกาหลีที่เห็นกันได้อย่างชินตา

ตลาดเมนูไก่ทอดมูลค่ามหาศาล ยังเติบโตได้อีกมาก

หากเจาะเฉพาะร้านอาหารประเภทฟ้าสต์ฟู้ด ไก่ทอดจะมีมูลค่าตลาดมากที่สุดของธุรกิจอาหารบริการด่วน (Quick-Service Restaurant หรือ QSR) โดยมีมูลค่า 18,700 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 7-9% ต่อปี และยิ่งรวมกับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ที่นิยมบริโภคไก่มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย หมู และเนื้อ

ด้วยมูลค่าตลาดของเมนูไก่ทอดที่มีอยู่มหาศาล และตลาดยังคงเติบโตอยู่ทุกปี แต่ Burger King ไม่เคยทำเมนูไก่ทอดขายมาก่อน เพราะจุดแข็งของ Burger King จริงๆ อยู่ที่เมนูเบอร์เกอร์เนื้อที่เป็นเอกลักษณ์

เบอร์เกอร์ตลาดเล็กกว่าไก่ทอด

แต่จุดแข็งของ Burger King ที่เป็นเมนูเบอร์เกอร์ อาจไม่เพียงพอต่อการแข่งขันอีกต่อไปแล้ว เพราะธนวรรธให้ข้อมูลว่า ตลาดเมนูเบอร์เกอร์ในประเทศไทยมีมูลค่าเพียง 10,000 ล้านบาทเท่านั้น และเติบโตเพียงแค่ 2-3% ต่อปี การหันมาทำเมนูไก่ทอดเสริมกับเบอร์เกอร์อาจเป็นทางที่ทำให้ Burger King ในประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น

แต่ปัญหาจริงๆ คือ ไม่ใช่ลูกค้าทุกคนจะชอบกินเบอร์เกอร์ เพราะหากลองเทียบกับคู่แข่งในวงการฟาสต์ฟู้ด ทั้ง KFC, McDonald’s ทั้งคู่ก็มีเบอร์เกอร์ขาย แต่ก็ยังขายเมนูไก่ทอดด้วยเช่นกัน Burger King ที่มีเมนูหลักเป็นเบอร์เกอร์จึงต้องหาทางจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพื่อรับกับตลาดเมนูไก่ทอดที่กำลังมาแรง

แม้ Burger King จะยอมรับว่าตัวเองเข้าสู่สนามการแข่งขันเมนูไก่ทอดช้ากว่าคนอื่นๆ Burger King จึงต้องทำการบ้าน สร้างความแตกต่างให้กับเมนูไก่ทอดของตัวเอง โดยเฉพาะการเรียนรู้พฤติกรรมของคนไทยว่าชอบไก่ทอดที่ทั้งกรอบ และมีความเผ็ดจากซอส

สำหรับไก่ทอด ชิกเก้นคิง ของ Burger King จะมีด้วยกัน 2 เมนู ได้แก่ ไก่ทอดโรยหอมเจียวรสต้นตำรับ และไก่ทอดหอมเจียวรสซอสเผ็ชชช ซึ่งทั้งสองเมนูไม่มีผงชูรส ไม่มีสารกันบูด โดยจะเริ่มวางขายตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม เป็นต้นไป ในราคา 79 บาท จากปกติ 124 บาท (ไก่ทอด 1 ชิ้น พร้อมโค้ก 1 แก้ว)

ดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ คือเป้าหมายที่ Burger King ต้องการ

เป้าหมายของ Burger King ในการเปิดตัวเมนูไก่ทอดเป็นครั้งแรก Burger King ต้องการดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่อาจไม่เคยเข้ามาในร้าน Burger King มาก่อนให้ลองเข้ามาชิมเมนูไก่ทอดที่ร้าน ทั้งวัยรุ่น และวัยทำงาน

อย่างไรก็ตามแม้ Burger King จะเพิ่งลงมาเล่นในตลาดเมนูไก่ทอด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Burger King จะลดความสำคัญของเมนูเบอร์เกอร์ลง เพราะธนวรรธ ยังคงคาดการณ์สัดส่วนยอดขายของเมนูไก่ทอดว่าจะมีสัดส่วนไม่เกิน 15% เท่านั้น ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า แสดงว่า Burger King จะยังคงเป็นร้านฟาสต์ฟู้ดที่เน้นขายเบอร์เกอร์อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองแน่นอน

ประกอบกับการลงสู่การแข่งขันเมนูไก่ทอดคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ Burger King เพราะที่ผ่านมา KFC, McDonald’s และ Texas ก็ขายไก่ทอดกันมานานมากแล้ว การดึงดูดลูกค้าคนไทยให้เปลี่ยนใจมาซื้อไก่ทอดจาก Burger King ก็อาจมีความท้าทายพอสมควร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Burger King ประเทศไทย เปิดศึก “เมนูไก่ทอด” ดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่กินเบอร์เกอร์ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/burger-king-chicken-king/

The Pizza Company กระตุ้นยอดขายปี 64 ออกโปรโมชัน 1 แถม 1 พลัส เมนูอื่นก็แถมด้วย

The Pizza Company กระตุ้นยอดขายด้วยการออกโปรโมชัน 1 แถม 1 อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้แถมแค่พิซซ่าอย่างเดียว เพราะในปีนี้มีเมนูอื่นๆ ก็แถมด้วยเช่นกัน

กลายเป็นธรรมเนียมประจำของทุกๆ ปีไปแล้วกับร้าน The Pizza Company ที่จะมีการจัดโปรโมชันพิซซ่าซื้อ 1 แถม 1 ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี ในช่วงวันครบรอบของแบรนด์ โดยนับว่าเป็นแบรนด์พิซซ่ารายแรกๆ ในประเทศไทยที่ทำโปรโมชัน 1 แถม 1 เป็นประจำ

แต่ในปีนี้ The Pizza Company ได้ปรับกลยุทธ์ในการจัดโปรโมชัน 1 แถม 1 ใหม่ เปลี่ยนเป็น 1 แถม 1 พลัส ที่เพิ่มความหลากหลายของเมนูไม่ได้แถมแค่พิซซ่าเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวเมนูใหม่เพิ่มเติม พิซซ่ามหาเศรษฐี มาพร้อมกับ หน้า 4 ชีสทองคำและเบคอน และขอบชีสบอลทองคำ 2 ถาด ในราคา 439 บาท

ปีนี้ The Pizza Company ไม่ได้ 1 แถม 1 แค่พิซซ่า

ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป ของ The Pizza Company เล่าว่า “The Pizza Company เป็นแบรนด์พิซซ่าเจ้าแรกในประเทศไทยที่ทำโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 และทำโปรโมชันนี้มาต่อเนื่องนาน 20 ปี” โดยในปีนี้ได้เปิดตัวโปรโมชัน 1 แถม 1 พลัส เลือกเมนูได้หลากหลายยิ่งขึ้น และรับแถมฟรีอีก 1 จาน ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2564

สำหรับการเปิดตัวโปรโมชัน 1 แถม 1 พลัส ของ The Pizza Company ในปีนี้ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่ร้านอาหารต่างๆ จะใช้โปรโมชัน เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในระลอกที่สอง เพราะปีที่แล้ว โปรโมชัน 1 แถม 1 ของ The Pizza Company พิสูจน์แล้วว่าช่วยกระตุ้นยอดขายได้จริงในยุคที่โควิด-19 ระบาด

1 แถม 1 พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง

ปีที่แล้ว The Pizza Company ออกโปรโมชัน 1 แถม 1 ยาวกว่าปกติ คือช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงปลายเดือนเมษายน จากที่ปกติเคยจัดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงสิ้นเดือนมีนาคม ทำให้ยอดขายเติบโตขึ้น 70-80% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ยอดขายที่เพิ่มขึ้นยังอาจมาจากการจัดโปรโมชันส่งฟรีร่วมด้วยอีกทางหนึ่ง

โดยสถานการณ์ของ The Pizza Company ในปีที่แล้ว ภาณุศักดิ์เล่าว่ามีการปิดสาขาไปราว 30-40 สาขาทั่วประเทศ และเคยคิดว่าสถานการณ์ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึงช่วงต้นปี 2564 ร้านอาหารจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดอีกครั้ง ทำให้สถานการณ์แย่ลงอีกครั้ง

ปริมาณคนเข้าร้าน The Pizza Company ลดลงไป 60% โดยเฉพาะสาขาในเมือง เพราะคนไม่ได้เข้ามาทำงาน แต่ทำงานที่บ้านมากกว่า ส่วนสาขานอกเมือง และสาขาต่างจังหวัดไม่ค่อยกระทบมากเท่าใดนัก เมื่อถามว่าสถานการณ์โควิด-19 รอบที่แล้ว หรือรอบนี้น่ากลัวกว่ากัน ภาณุศักดิ์เล่าว่า สถานการณ์โควิด-19 ในรอบที่สองคนไม่มีเงิน และตกงานเยอะ ทำให้การค้าขายทำได้ยากกว่าตอนที่โควิด-19 ระบาดในรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว

ฝากถึงรัฐบาลไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ย่อมต้องการความช่วยเหลือ

สุดท้าย The Pizza Company แม้จะเป็นร้านอาหารในเครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ซึ่งนับว่าเป็นบริษัทใหญ่ แต่ภาณุศักดิ์ก็ยืนยันว่า ผู้ประกอบการไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ ก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน ต้องช่วยเหลือทุกคนไม่ใช่ช่วยแค่บางคนเท่านั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post The Pizza Company กระตุ้นยอดขายปี 64 ออกโปรโมชัน 1 แถม 1 พลัส เมนูอื่นก็แถมด้วย first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/the-pizza-company-buy-one-get-one-free-2021/

The Pizza Company ปี 2021: ชะลอเปิดสาขาใหม่ เน้นเดลิเวอรี เจาะลูกค้าวัยรุ่นมากขึ้น

The Pizza Company ร้านพิซซ่าในเครือ Minor Food เล่าถึงภาพรวมของธุรกิจร้านพิซซ่าในปี 2020 รวมถึงภาพรวมการทำธุรกิจในปี 2021 ที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ในปี 2020 ที่ผ่านมายังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจร้านอาหารเป็นอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายร้านต้องปิดตัวลงชั่วคราว หรือบางร้านก็ตัดสินใจปิดร้านอย่างถาวร เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศอย่าง The Pizza Company ในเครือ Minor Food ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

พิซซ่า อาหารที่เกิดมาเพื่อเดลิเวอรี

ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไปของ The Pizza Company ในเครือ Minor Food เล่าถึงสถานการณ์ของ The Pizza Company ในปี 2020 ที่ผ่านมาว่า สาขาทั้งหมดของ The Pizza Company มีทั้งหมดประมาณ 420 สาขา โดยต้องปิดตัวลงชั่วคราวไป 7 สาขา ส่วนใหญ่เป็นสาขาที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น สาขาในจังหวัดภูเก็ต เกาะพีพี และเกาะเต่า เป็นต้น

ส่วนในปีนี้มีการปิดสาขาชั่วคราวเพิ่มไปแล้ว 3 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สีแดง รวมสาขาที่ปิดให้บริการในขณะนี้มีประมาณ 10 สาขา ส่วนในปีนี้จะยังคงชะลอการเปิดสาขาใหม่ออกไปก่อนในช่วงครึ่งปีแรกนี้ จากที่ปีที่แล้วคาดการณ์ว่าปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 7-8 สาขา

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ดูเหมือนจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ The Pizza Company มากนัก เพราะสัดส่วนการขายในปัจจุบันเป็นการสั่งซื้อผ่านบริการเดลิเวอรีเป็นส่วนใหญ่ คือ 60% ตามมาด้วยซื้อกลับไปทานที่บ้าน (Take Away) 30% และการนั่งทานที่ร้านอีก 10% เท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้พิซซ่า เป็นอาหารที่ยังขายได้ดีในช่วงเวลาที่โควิด-19 ระบาด เป็นเพราะพิซซ่า เป็นอาหารที่เกิดมาเพื่อจัดส่งแบบเดลิเวอรี่อยู่แล้ว ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันทั่วโลก ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

ย้อนกลับไปในปีที่แล้ว The Pizza Company ได้มีการเปิดตัวพิซซ่าสไตล์นิวยอร์กขนาดใหญ่กว่า 18 นิ้ว ซึ่งเป็นพิซซ่าที่ไม่สามารถส่งเดลิเวอรีได้ เพราะต้องการดึงให้คนกลับเข้ามานั่งทานอาหารภายในร้านอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่มีการปลดล็อคดาวน์ไปแล้ว

ซึ่งในครั้งนั้นความต้องการที่จะดึงให้คนกลับเข้ามานั่งทานอาหารภายในร้านทำได้สำเร็จ โดย The Pizza Company ก็ได้ให้ข้อมูลว่าพิซซ่าสไตล์นิวยอร์กขนาดใหญ่ 18 นิ้ว ประสบความสำเร็จ ด้วยยอดขายกว่า 2 แสนถาด ภายในเวลา 2 สัปดาห์แรก

พิซซ่าไซส์ใหญ่ ที่ลดขนาดลงจนส่งเดลิเวอรีได้

แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย มีการแพร่ระบาดครั้งใหม่ The Pizza Company จึงไม่สามารถใช้กลยุทธ์เดิมเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาทานอาหารที่ร้านได้อีกต่อไปแล้ว

จนในที่สุด The Pizza Company จึงต้องลดขนาดพิซซ่ายักษ์สไตล์นิวยอร์กให้เหลือ 15 นิ้ว เพื่อให้สามารถบริการส่งเดลิเวอรีได้ โดยในปีนี้มีการเปิดตัวพิซซ่าสไตล์นิวยอร์กในหน้าใหม่อีก 4 หน้า ได้แก่ มาการิต้า คาโบนาร่า พาร์ม่าแฮม และซีฟู้ด มาเนีย โดยพิซซ่าสไตล์นิวยอร์กนี้จะไม่ใช่เมนูชั่วคราวอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นเมนูถาวรของ The Pizza Company แล้ว

พรีเซนเตอร์ใหม่ในรอบ 10 ปี หวังเข้าถึงลูกค้ารุ่นใหม่ คนเจน Z มากขึ้น

นอกจากนี้ The Pizza Company ยังต้องการที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ นั่นคือ กลุ่มคนเจน Z คนวัยเรียน และคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานให้มากขึ้นกว่าเดิม จากที่แต่เดิม The Pizza Company มักถูกมองว่าเป็นร้านอาหารสำหรับครอบครัวมากกว่า

โดยกลยุทธ์ที่ The Pizza Company ใช้ คือการเปิดตัวพรีเซนเตอร์เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี นั่นคือ “ไอซ์ พาริส อินทรโกมาลย์สุต” เพื่อต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น

พฤติกรรมการสั่งอาหารของลูกค้าที่เป็นกลุ่มครอบครัว กับกลุ่มคนรุ่นใหม่จะมีความต่างกันพอสมควร โดยกลุ่มลูกค้าครอบครัวจะนิยมสั่งอาหารให้หลากหลาย เน้นทานหลายๆ อย่าง แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่จะเน้นความคุ้มค่า สั่งเมนูที่คุ้ม และได้ปริมาณเยอะ

การเดินเกมครั้งนี้ของ The Pizza Company ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ คนเจน Z ให้มากขึ้น นับว่าน่าสนใจ เพราะพฤติกรรมของลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ ต้องการเมนูอาหารที่คุ้มค่า ได้ปริมาณเยอะ ซึ่งเมนูพิซซ่าสไตล์นิวยอร์กทั้งขนาด 15 และ 18 นิ้ว ก็ตอบโจทย์ในจุดนี้ได้ ส่วนตัวพรีเซนเตอร์คนใหม่อย่าง ไอซ์ พาริส ก็เป็นที่รู้จักในกลุ่มวัยรุ่นอยู่แล้วด้วย

นอกจากนี้ด้านการตลาด The Pizza Company จะลดการลงโฆษณาในสื่อชนิด Out of Home (สื่อนอกบ้าน) ในช่วงนี้ โดยเฉพาะโฆษณาตามลิฟท์ในอาคารสำนักงาน เพราะพฤติกรรมการทำงานที่บ้านของคน แต่จะเน้นการโฆษณาบนช่องทางดิจิทัลต่างๆ ทดแทน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post The Pizza Company ปี 2021: ชะลอเปิดสาขาใหม่ เน้นเดลิเวอรี เจาะลูกค้าวัยรุ่นมากขึ้น first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/the-pizza-company-business-in-2021/

ศึกษา 3 องค์กรใหญ่ Air Asia-Minor-โอสถสภา กับการพัฒนาวัคซีนการตลาดเพื่อแก้วิกฤต COVID-19

การระบาดของโรค COVID-19 สร้างผลกระทบทั้งองค์กรทุกระดับ แล้วองค์กรขนาดใหญ่ปรับตัวกับวิกฤตนี้อย่างไร และภาพรวมธุรกิจเริ่มฟื้นหรือยัง ลองมาหาคำตอบจาก Air Asia, Minor Food และ โอสถสภา ไปด้วยกัน

air asia

โดนหนักที่สุดแต่พร้อมปรับตัวตลอด

เริ่มต้นที่ธุรกิจการบินกันก่อน โดย “สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Thai Airasia เล่าให้ฟังว่า อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบหนักที่สุด แม้การเดินทางบนเครื่องบินนั้นมีความปลอดภัยเทียบเท่าห้องผ่าตัด แต่การที่ประเทศต่างๆ คุมเข้มเรื่องการเดินทาง ทำให้บริษัทหยุดนิ่งทุกอย่าง และต้องปรับตัวหลายเรื่อง

“เรามีเครื่องบิน 60 ลำ และช่วง COVID-19 ระบาดหนักๆ เราต้องจอดทุกลำไว้บนพื้น ดังนั้นเมื่อเครื่องบินบินไม่ได้ การสร้างรายได้ก็ไม่เกิดขึ้น ทำให้ทีมผู้บริหารระดับสูงลดเงินเดือน และสวัสดิการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพนักงานส่วนใหญ่ นอกจากนี้เรายังหาอาชีพเสริมให้พวกเขา และหันมาจำหน่ายชานมไข่มุกผ่านเดลิเวอรี่เช่นกัน”

Air Asia Japan

ปัจจุบัน Thai Airasia สามารถนำเครื่องบินขึ้นบินได้ 40 ลำ และมีแนวโน้มธุรกิจดีขึ้น แต่เพื่อรองรับวิกฤตในอนาคต บริษัทจึงพัฒนา Super App เพื่อให้บริการลูกค้าจำนวนมากได้มากกว่าเที่ยวบิน นอกจากนี้การไม่ปลดพนักงาน และการบอกความจริงทุกอย่างกับพนักงานยังช่วยให้บริษัทพลิกฟื้นจากวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีหลายช่องทางย่อมมีหลายโอกาส

ต่อที่ธุรกิจอาหารโดย “ประพัฒน์ เสียงจันทร์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป เสริมว่า ด้วยบริษัทมีร้านอาหารหลายแบรนด์ และมีช่องทางจำหน่ายทั้งรับประทานที่ร้าน, Drive-Thru และส่งถึงบ้าน ทำให้การระบาดของ COVID-19 ไม่ได้รับผลกระทบหนักเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมการบิน

“ถึงเราจะมีหลายช่องทาง แต่ยอดขาย 30% เรามาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และส่วนใหญ่ร้านเราอยู่ในห้างสรรพสินค้า เท่ากับว่าช่วงการระบาดหนักๆ ธุรกิจของเรานิ่งไปทั้งหมด และถึงตอนนี้ร้าน The Coffee Club ที่เจ้าตลาดลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักก็ยังติดปิดถึง 30 สาขา จากทั้งหมด 60 สาขา”

อย่างไรก็ตามการที่กลุ่มไมเนอร์หลากหลายธุรกิจ ทำให้ทางกลุ่มมีการโยกย้ายพนักงาน เช่นฝั่งพนักงานบริการในโรงแรมได้เปลี่ยนมาเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์เพื่อรับออร์เดอร์เดลิเวอรี่ของฝั่งอาหาร ที่สำคัญกลยุทธ์หลักหลังจากนี้ของไมเนอร์ ฟู้ด คือการบุกเดลิเวอรี่ ผ่านการนำทุกแบรนด์ร้านอาหารที่ทำตลาดมาปรับให้ส่งเดลิเวอรี่ได้

delivery

ถึงจะเป็น FMCG ก็ต้องปรับตัวให้เร็ว

สุดท้ายที่ “สุทิพา ปัญญามหาทรัพย์” Chief Marketing Officer – Thailand บมจ.โอสถสภา เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้บริษัทเตรียมงบประมาณการตลาดไว้ใช้กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นในปีนี้ แต่สุดท้ายมันกลับไม่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต้องปรับแผนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการทำตลาดอย่างไรให้เข้าถึงผู้บริโภคในช่วงล็อคดาวน์ได้

“M-150 คือสินค้าที่จำหน่ายได้ดีที่สุดของเรา ผ่านยอดขาย 120 ล้านขวด/ปี หรือวันละ 4 ล้านขวด ซึ่งเรามีการทำตลาดโดยเข้าไปแจกให้ผู้บริโภคชิม แต่ตอนนี้มันคงทำไม่ได้ เราจึงเริ่มเดินแผน Direct Selling และหันมา Reskill กับพนักงาน เพื่อเตรียมพร้อมในช่วงหลังวิกฤต รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้วย”

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่โอสถสภาทำตลาดใหม่มีทั้ง Baby Mild Handgel ที่นำแอลกอฮอล์จากกลุ่มสินค้าอื่นๆ มาประยุกต์ และถึงสินค้าโคโลจน์ 12plus จะจำหน่ายได้ไม่ดีเพราะทุกคนต้องอยู่บ้าน ก็เปลี่ยน 12plus ให้มีสินค้าแอลกอฮอล์เพื่อใ้ชทำความสะอาด แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวที่รวดเร็วของบริษัท

สรุป

การปรับตัวของหลากหลายองค์กรขนาดใหญ่แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัว และไม่ยอมแพ้กับวิกฤต นอกจากนี้ทุกองค์กรยังมีแนวคิดเดียวกันคือ “โปร่งใส” เพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าใจวิกฤต และพร้อมสู้ไปกับบริษัท เพื่ออนาคตหลังวิกฤต COVID-19 ทุกอย่างจะสามารถกลับมาเติบโตเหมือนเดิม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/air-asia-minor-osorspa-covid-19/

Burger King ปรับกลยุทธ์รับมือวิกฤตโควิด ขอเป็นร้านเบอร์เกอร์ ที่ “เป็นมิตร” กับคนไทย

Burger King ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในเครือ Minor ที่มีเบอร์เกอร์ Whopper เป็นหนึ่งในเมนูต้นตำหรับสำหรับร้าน Burger King ทั่วโลก กำลังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้กลายเป็นร้านที่เป็นมิตรกับคนไทยมากขึ้น พร้อมเริ่มฉลองเทศกาลคริสมาสต์ ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้

ธนวรรธ ดำเนินทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย)

ธนวรรธ ดำเนินทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) เล่าการทำธุรกิจของ Burger King ว่า ปีนี้เป็นปีที่ยากลำบาก สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ Burger King ต้องมีการตัดสินใจปิดสาขาชั่วคราวไป 12 แห่ง แบ่งเป็น สาขาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ เกาะพีพี เกาะสมุย และกรุงเทพฯ จากจำนวนสาขาทั้งหมด 96 แห่งทั่วประเทศ

ผลกระทบที่ Burger King ได้รับนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดสาขาในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว แม้ฐานลูกค้าของ Burger King จะเป็นคนไทยในสัดส่วนมากกว่า 60% ก็ตาม โดยก่อนหน้านี้สาขาที่สามารถสร้างรายได้ให้กับ Burger King ในประเทศไทยมากที่สุดคือ สาขาภายในสนามบินภูเก็ต

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สัดส่วนการขายอาหารของ Burger King เปลี่ยนไป จากเดิมที่การนั่งทานอาหารภายในร้าน รวมกับการสั่งกลับบ้าน คิดเป็นสัดส่วน 70% ในปีที่แล้ว ลดลงเหลือ 60% ในปีนี้ ส่วนเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปีที่แล้ว เป็น 25% ในปีนี้ ส่วนไดฟ์ทรู มีสัดส่วนประมาณ 15%

ส่วนด้านพฤติกรรมของลูกค้าก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากที่แต่เดิมสาขาขายดีของ Burger King คือสาขาภายในสนามบินภูเก็ต แต่กลายเป็นว่าปัจจุบัน สาขาที่ขายดีกลับเป็นสาขา ภายในปั๊มน้ำมันแถวประชานุกูล เพราะคนอยากซื้อของจากร้านที่อยู่ใกล้บ้าน ไม่ได้อยากเข้าเมืองอีกต่อไป

Burger King จึงวางแผนที่จะขยายสาขาไปอยู่ในปั๊มน้ำมันมากขึ้น โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา Burger King เคยวางแผนเปิดสาขาเพิ่ม 10 สาขา แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเปิดสาขาใหม่ล่าช้าออกไป โดยในปีนี้อาจเปิดสาขาใหม่ได้เพียง 5 สาขาเท่านั้น (เปิดไปแล้ว 2 สาขา รอเปิดปลายปีนี้อีก 3 สาขา)

Burger King ปรับตัว ขอเป็นร้านเบอร์เกอร์ ที่เป็นมิตรกับคนไทย

จากผลกระทบที่เกิดขึ้น Burger King จึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ ปรับตัวให้อยู่รอดภายใต้สถานการณ์ ที่ทำให้ลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหายไป ด้วยการหันมาจับกลุ่มฐานลูกค้าที่เป็น “คนไทย” มากขึ้น แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ที่ผ่านมา Burger King ดูเป็นแบรนด์ที่คนไทยเข้าถึงยากกว่าที่ควรเป็น

เมนูอาหารที่ไม่ได้มีแค่เบอร์เกอร์อีกต่อไป

ธนวรรธ เล่าว่า กลยุทธ์การจับกลุ่มฐานลูกค้าคนไทย ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง “เพราะถ้าทำแบบเดิมๆ จะหวังผลลัพธ์ใหม่ๆ ก็คงไม่ได้” ตั้งแต่การพัฒนาเมนูอาหารใหม่ๆ ที่ถูกใจคนไทย อย่างเช่นในปีที่แล้วที่ Burger King ออกเมนูข้าวไก่ทอด ก็ได้รับผลตอบรับที่ดี ในอนาคตจึงต้องมีเมนูใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เบอร์เกอร์ เป็นเมนู Localize มาให้ลูกค้าที่เป็นคนไทยมากขึ้น

การสื่อสารต้องเข้าใจง่าย

ปัญหาอย่างหนึ่งของ Burger King คือ คนไทยเข้าใจยาก ทั้งชื่อเมนูภาษาอังกฤษยาวๆ ไม่มีป้ายเมนูภาษาไทย บางครั้งลูกค้าที่เข้ามาในร้านอ่านเมนู Whopper ซึ่งเป็นเหมือนเมนูต้นตำหรับของ Burger King ทั่วโลกผิด Burger King จึงต้องเริ่มเปลี่ยนป้ายเมนูภายในร้านให้มีภาษาไทยมากขึ้น รวมถึงเปลี่ยนชื่อเมนูบางอย่างที่เคยเรียกเป็นภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทย เช่น Tender Crisp เปลี่ยนเป็น สะโพกไก่ทอด โดยการเปลี่ยนแปลงนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนเรื่อยๆ

การทำโปรโมชัน ราคา บรรยากาศในร้านก็สำคัญ

ที่ผ่านมา Burger King มีการปรับลดราคาลงเฉลี่ยประมาณ 10% แต่อย่างไรก็ตามการปรับลดราคาไม่สำคัญเท่ากลยุทธ์การจัดโปรโมชันให้มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะโปรโมชัน 1 แถม 1 ที่ได้รับผลตอบรับดี โดยได้รับบทเรียนมาจาก The Pizza Company ที่ลูกค้าต้องการความคุ้มค่า

โดยโปรโมชัน 1 แถม 1 ของ Burger King สามารถเลือกได้ทั้งเมนูยอดนิยม เช่น วอปเปอร์ จูเนียร์ ชีส (Whopper Jr. Cheese), นินจาเบอร์เกอร์ (Ninja Burger Pork), ฟิช แอนด์ คริสป์ (Fish N’ Crisp) และ เบอร์เกอร์สะโพกไก่ทอด (Tender Crisp)

ส่วนประเด็นการเลือกตกแต่งร้าน เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลวันคริสมาสต์ในช่วงปลายปีที่จะถึงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม จนกลายเป็นกระแสที่ได้รับการพูดถึงในโลกออนไลน์ ธนวรรธ ให้เหตุผลว่า ต้องการเลื่อนเทศกาลแห่งความสุขให้มาถึงเร็วขึ้นก่อนกำหนด เพื่อคืนรอยยิ้มให้ทุกคนอีกครั้งหนึ่ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/burger-king-thai-customer/

ไมเนอร์ ไตรมาส 2 รายได้กลุ่มร้านอาหารลดลง 32% ธุรกิจโรงแรมลดลง 93% เทียบปีก่อนหน้า

ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 2563 และ 6 เดือนแรกของปี 2563 ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) พบว่า รายได้จากการดำเนินงาน 6,682 ล้านบาทในไตรมาส 2 ลดลง 79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความท้าทายทั้งสามธุรกิจในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมในกลุ่มไมเนอร์ โฮเทลส์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินมาตรการประหยัดค่าใช้ในทุกหน่ววยธุรกิจทั่วทุกภูมิภาค ค่าใช้จ่ายลดลง 50% เทียบกับปีก่อนหน้า 

ผลการดำเนินงานจำแนกรายธุรกิจ 

ธุรกิจร้านอาหาร ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทมีสาขาร้านอาหารทั้งสิ้น 2,363 สาขา มีทั้งบริษัทลงทุนเองและสาขาแฟรนไชส์ แบ่งเป็นสาขาในไทย 1,582 สาขา คิดเป็น 67% และสาขาในต่างประเทส 781 สาขา คิดเป็น 33% ในอีก 25 ประเทศทั่วทวีปเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป แคนาดา และเม็กซิโก

ร้านอาหารหารจำแนกตามแบรนด์ดังนี้ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน, เบอร์เกอร์ คิง, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ไทย เอ็กซ์เพรส, ริเวอร์ไซด์, เบนิฮานา, บอนชอน อื่นๆ (ร้านที่อยู่ในสนามบิน)

ผลประกอบการตามกลุ่มร้านอาหาร ไตรมาส 2 ปี 2563 ยอดขายรวมทุกสาขา รวมทั้งแฟรนไชส์ ลดลง 36.8% สาเหตุหลักมาจากการปิดให้บริการร้านอาหารและการปิดให้บริการนั่งทานในร้านอาหารชั่วคราวทั้งในไทยและออสเตรเลียท่ามกลางโควิด-19 ระบาด 

ยอดขายผ่านช่องทางบริการจัดส่งอาหารและซื้อกลับบ้านเพิ่มขึ้น ช่วยลดผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงจากการนั่งทานภายในร้านได้บางส่วน ส่งผลให้ยอดขายต่อร้านเดิมลดลงราว 23.0% 

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ติดลบในอัตราที่น้อยกว่ายอดขายโดยรวมทุกสาขาเพียงเล็กน้อย อาทิ ซิซซ์เลอร์ -3% แดรี่ ควีน -11% เดอะ คอฟฟี่ คลับ -4% ไทย เอ็กซ์เพรส -5% เบนิฮานา -2% อื่นๆ (ร้านในสนามบิน) -1% และปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเดือนมิถุนายน เนื่องจากร้านอาหารส่วนใหญ่กลับมาเปิดให้บริการ 

แม้ว่ากลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศจะมียอดขายโดยรวมทุกสาขาลดลง 21.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในไตรมาส 2 ปี 2563 แต่ยอดขายโดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในแต่ละเดือนตลอดทั้งไตรมาส นอกจากนี้ กลยุทธ์ขยายเวลาแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 ของเดอะพิซซ่า คอมปะนี ทำให้มียอดขายเติบโต 24.7% 

สำหรับครึ่งปีหลัง 2563 คาดว่าทุกกลุ่มธุรกิจจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในไทยและจีน ซึ่งมียอดขายในระดับที่ใกล้เคียงยอดขายก่อนวิกฤต

ธุรกิจโรงแรม ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี2563 บริษัทมีโรงแรมที่ลงทุนเอง 373 แห่ง มีโรงแรมและเซอร์วิส สวีทที่รับจ้างบริหาร 153 แห่ง ใน 55 ประเทศ มีจำนวนห้องพักทั้งสิ้น 75,187 ห้อง เป็นห้องที่บริษัทลงทุนเอง 56,299 ห้อง และห้องที่บริษัทรับจ้างบริหารจำนวน 18,888 ห้อง 

ภายใต้แบรนด์อนันตรา, อวานี, โอ๊คส์, ทิโวลี, เอ็นเอช, คอลเลคชั่น, เอ็นเอช โฮเทลส์, นาว และเอเลวาน่า คอลเลคชั่น แบ่งเป็นห้องพักในไทย 4,782 ห้อง คิดเป็น 6% และเป็นห้องพักในต่างประเทศ 70,405 ห้อง คิดเป็น 94% ในอีก 54 ประเทศ ครอบคลุมทั่วทวีปเอเชีย โอเชียเนีย ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา

ผลประกอบการตามประเภทการลงทุน โรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของเองและเช่าบริหาร กลุ่มโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของเองและเช่าบริหาร มีสัดส่วน 66% ของรายได้จากการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมและอื่นๆ ไตรมาส 2 ปี 2563 รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของกลุ่มโรงแรมเดิมและโรงแรมทั้งหมดลดลง 95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

โรงแรมในยุโรปและลาตินอเมริกามีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของกลุ่มโรงแรมเดิมที่บริษัทเป็นเจ้าของและเช่าบริหารลดลง 95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

กลุ่มโรงแรมภายใต้สิทธิบริหารจัดการห้องชุด สัดส่วนรายได้คิดเป็น 21% ของรายได้จากการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมและอื่นๆ มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนลดลง 69% YoY

โรงแรมภายใต้สัญญารับจ้างบริหาร คิดเป็น 9% ของรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแรมและอื่นๆ รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของกลุ่มโรงแรมเดิมที่บริษัทรับจ้างบริหารลดลง 82% YoY

ภาพรวมของโรงแรมทั้งหมดในไตรมาส 2 ปี 2563 รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของกลุ่มโรงแรมเดิมและโรงแรมทั้งหมดลดลง 91% YoY อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าพักเฉลี่ยมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือน ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าผลกระทบเชิงลบจากการระบาดของโควิด-19 จะปรับลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค

ธุรกิจจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิตสินค้า ไตรมาส 2 ปี 2563 มีร้านค้าและจุดจำหน่ายจำนวน 466 แห่ง ลดลง 30 แห่ง จาก 496 แห่ง เป็นผลมาจากการปิดแบรนด์เซฟ มาย แบค และบางสาขาของร้านอเนลโล่ 

โดย 82% ของจำนวนร้านค้าและจุดจำหน่ายทั้งหมด 466 แห่ง เป็นของกลุ่มแฟชั่นภายใต้แบรนด์ อเนลโล่, บอสสินี่, บรูคส์ บราเธอร์ส, ชาร์ล แอนด์ คีธ, เอสปรี, เอแตม, โอวีเอส และแรทลีย์ ขณะที่ 18% เป็นของกลุ่มเครื่องใช้ในบ้านและครัวเรือน ภายใต้แบรนด์โจเซฟ โจเซฟ, สวิลลิ่ง เจ.เอ. เฮ็งเคิลส์ และโบเดิ้ม

การปิดสาขาส่วนใหญ่เป็นการชั่วคราวและสภาพแวดล้อมการค้าปลีกที่ชะลอตัวท่ามกลางมาตรการการปิดประเทศจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิตลดลง 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในไตรมาส 2 ปี 2563 อย่างไรก็ตาม มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือนจากการกลับมาเปิดสาขากลางเดือนพฤษภาคม

แนวโน้มในอนาคต ก่อนที่มีการระบาดของโควิด-19 บริษัทได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กรในทุกหน่วยธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวครอบคลุมกลยุทธ์ทางธุรกิจ โครงสร้างองค์กร ความเป้นผู้นำ และบุคลากร กระบวนการและประสิทธิภาพ ดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กร การระบาดของโควิด-19 ทำให้ช่วยเร่งให้กระบวนการดังกล่าวเร็วยิ่งขึ้นและเปลี่ยนให้บริษัทกลายเป็นองค์กรที่มีความว่องไวในการปฎิบัติงานมากขึ้น 

รวมทั้งผลการประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ทำให้การบริหารสภาพคล่องและกระแสเงินสด และจัดการงบดุลอย่างรวดเร็ว

โรงแรมกลับมาเปิดให้บริการแล้วมากกว่า 70% ร้านอาหารมากกว่า 90% ไมเนอร์ โฮเทลส์ได้ดำเนินตามแผนกลยุทธ์ในการกลับมาเปิดให้บริการอย่างรอบคอบ มุ่งเน้นความสามารถในการทำกำไรและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง 

ส่วนไมเนอร์ ฟู้ด ช่วงที่เหลือของปี 2563 จะให้ความสำคัญในระยะสั้นในการสร้างผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ผ่านการสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถในการทำกำไร โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ออกแคมเปญการตลาดที่น่าสนใจ และการขยายสาขาใรูปแบบที่เหมาะสมจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำหรับการเติบโตของรายได้ ทั้งนี้ ไมเนอร์ ฟู้ดจะเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหารเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน 

ด้านไมเนอร์ ไลฟ์สไตล์ ยังมุ่งเน้นสร้างรายได้ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซด้วยตลาดและแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่มากขึ้น 

ที่มา – SET

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/minor-q2-2020/

ใหญ่จนใส่ถุงไม่ได้ The Pizza Company เปิดตัวพิซซ่าแบบใหม่ ใหญ่ 18 นิ้ว ดึงคนเข้าหน้าร้าน

The Pizza Company หนึ่งในแบรนด์พิซซ่ายอดนิยมในเครือ Minor Food ในช่วงสถานการณ์โควิดต้องปิดร้านชั่วคราวไป 30 สาขา และปิดถาวรไปอีก 5 สาขาทั่วประเทศ แม้ในช่วงนี้สถานการณ์จะดีขึ้นแล้วแต่ยอดขายที่หน้าร้านกลับมาได้เพียง 50% เมื่อเทียบกับยอดขายในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดเท่านั้น

กลยุทธ์สำคัญของ The Pizza Company ที่จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด คือ การเปิดตัวเมนูพิซซ่าใหม่ที่สามารถรับประทานได้เฉพาะที่ร้านเท่านั้น ด้วยจุดเด่นพิซซ่าแบบนิวยอร์ก XXL ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 นิ้ว ใหญ่จนใส่ถุงใส่กล่องสำหรับเดลิเวอรีไม่ได้ เพื่อดึงคนกลับเข้าร้าน

ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป The Pizza Company

ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตว์บุญ ผู้จัดการทั่วไปของ The Pizza Company ในเครือ Minor Food เล่าว่า เมนูพิซซ่าสไตล์นิวยอร์ก เป็นเนื้อแป้งแบบโฮมเมด อยู่ตรงกลางระหว่างแป้งบางกรอบ และหนานุ่ม มีทั้งหมด 14 หน้าให้เลือก และหน้าใหม่ คือ ทรัฟเฟิ้ลแฮมเบคอน พร้อมด้วยเมนูอื่นๆ เช่น ปีกไก่บัฟฟาโล่ นิวยอร์กแมคแอนชีส พอร์คริบส์ และนิวยอร์กชีสเค้ก

พิซซ่าสไตล์นิวยอร์ก นับว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของพิซซ่าที่ใหญ่ถึง 18 นิ้ว ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ต้องทำขึ้นใหม่ โดยเฉพาะถาดพิซซ่า ที่ไม่เคยมีขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน

การจัดวางอาหาร จะมีกระดาษรอง และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อตกแต่งโต๊ะให้ลูกค้าสามารถถ่ายรูปได้อย่างสวยงาม

พิซซ่ายุคนี้ แค่อร่อยอย่างเดียวไม่พอ ต้องถ่ายรูปได้ด้วย

ไม่ใช่แค่เมนูพิซซ่าแบบใหม่ ที่เน้นความใหญ่ 18 นิ้ว จนไม่สามารถเลือกสั่งกลับไปทานที่บ้าน หรือเดลิเวอรีได้แล้ว The Pizza Company จึงใช้กลยุทธ์ Instagramable เข้ามาจับฐานลูกค้าส่วนใหญ่ ที่เป็นกลุ่มคนอายุ 15-30 ปี ที่ชอบถ่ายรูปก่อนทาน ด้วยอุปกรณ์ตกแต่งโต๊ะ ที่จะนำมาวางให้เมื่อสั่งเมนูใหม่นี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถถ่ายรูปได้อย่างสวยงามมากขึ้น

กลยุทธ์ The Pizza Company ดึงลูกค้ากลับเข้าร้าน

กลยุทธ์ดึงลูกค้ากลับเข้าหน้าร้านของ The Pizza Company นับว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะในขณะนี้ยอดขายอยู่ในระดับ 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะดีขึ้น จนคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้แล้ว แต่เมื่อคนกลับเข้ามาในห้างสรรพสินค้า คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ทานพิซซ่า เพราะพิซซ่า เป็นอาหารที่สั่งเดลิเวอรีในช่วงล็อคดาวน์จนเบื่อไปแล้ว

ทำให้ยอดขายของ The Pizza Company สาขาที่ตั้งอยู่ในเมือง โดยเฉพาะย่านสยามสแควร์ หายไป 70-80% ส่วนสาขาที่ขายดีกลับเป็นสาขานอกเมือง เช่น ย่านองครักษ์ ลำลูกกา และในจังหวัดสงขลา

การจะดึงดูดลูกค้าให้กลับเข้ามาทานอาหารที่ร้านอีกครั้ง จึงต้องใช้เมนูใหม่ๆ ที่ทานได้ที่ร้านเท่านั้น ไม่สามารถเลือกสั่งเดลิเวอรี หรือสั่งกลับไปทานที่บ้านได้ เข้ามาเป็นจุดดึงดูด เพราะพิซซ่าขนาดใหญ่ถึง 18 นิ้ว ยังไม่เคยมีมาก่อน ซึ่ง The Pizza Company คาดหวังว่ายอดขายของหน้าร้านจะกลับมาสู่ระดับ 70-80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ

ราคา สร้างความคุ้มค่าให้พิซซ่าหน้ายักษ์

โดยปกติแล้วพิซซ่าของ the Pizza Company จะมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 239 บาท หากเป็นพิซซ่าแป้งบางกรอบ ขนาดกลาง แต่พิซซ่านิวยอร์ก ขนาดใหญ่ 18 นิ้ว มีราคาเพียง 399 บาท จากราคาปกติ 569 บาทเท่านั้น ลูกค้าจึงอาจตัดสินใจลองเมนูแบบใหม่ได้ไม่ยาก ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยกว่าบาท แต่ได้พิซซ่าขนาดใหญ่ และแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร

ไม่เน้นสงครามราคา แต่เน้นสร้างนวัตกรรมเมนูอาหารใหม่ๆ

แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะเห็นตลาดร้านอาหารพิซซ่า แข่งขันกันด้วยการลดราคา หรือจัดโปรโมชัน 1 แถม 1 มาตลอด ซึ่งโดยปกติ The Pizza Company จะมีการจัดโปรโมชัน 1 แถม 1 ในช่วงเดือนมีนาคม ของทุกๆ ปี ในโอกาสวันครบรอบของแบรนด์ แต่อย่างไรก็ตามการสร้างเมนูพิซซ่าใหม่ๆ ก็มีความสำคัญในการแข่งขันที่มีความรุนแรง

สรุป

ความพยายามในการทำพิซซ่าขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 18 นิ้วของ The Pizza Company ที่ต้องทานที่หน้าร้านเท่านั้น นับว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะเมนูพิซซ่าแบบเดิมๆ คนอาจเบื่อ เนื่องจากเคยทานในช่วงล็อคดาวน์อยู่บ่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามตลาดเดลิเวอรีเป็นตลาดที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ยังมีลูกค้าอีกหลายคนที่อยากทานพิซซ่าแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยทาน ดังนั้นหากในอนาคตมีการลดขนาดพิซซ่านิวยอร์กลง หรือขายแยกชิ้นเพื่อทานแบบพออิ่มคนเดียว อาจทำให้ The Pizza Company เข้าถึงลูกค้าในกลุ่มที่หลากหลายมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/the-pizza-company-new-pizza-18-inch-diameter/

Minor พร้อมลุยตลาดหลังโควิด สร้างครัวกลาง ทยอยเปิดร้าน ปรับเมนูใหม่เอาใจผู้บริโภค

ธุรกิจอาหารนับว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างรุนแรงที่สุดธุรกิจหนึ่ง ผู้ประกอบการแต่ละรายจำเป็นต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนไปให้ได้

เช่นเดียวกับ Minor Food ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทร้านอาหารที่เป็นที่รู้จักในทวีปเอเชีย และในประเทศไทย เช่น The Pizza Company, Swensen’s, Sizzler, Dairy Queen, Burger King และ Bonchon โดยในปัจจุบัน Minor Food มีร้านอาหารภายในเครือ 2,200 ร้าน ใน 26 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ Minor Food ได้รับผลกระทบ และจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อเอาตัวรอดในช่วงเวลานี้เช่นเดียวกัน

ดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เล่าว่า Minor Food ได้เรียนรู้สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดในประเทศจีนก่อน ทำให้ร้านอาหารของ Minor Food ในประเทศจีนต้องปิดชั่วคราวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และกลับมาเปิดได้อีกครั้งในเดือนมีนาคม ซึ่งทำให้ Minor มีประสบการณ์ที่สามารถนำมาใช้กับสถานการณ์โควิด-19 ในไทยได้

นอกจากนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา Minor Food ยังมีการ Digital Transformation ภายในองค์กร โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้าดิจิทัลมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยเฉพาะ Platform Food Delivery ของตัวเอง ที่กลายเป็นสิ่งที่ช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ดิลลิป ราชากาเรีย เล่าว่า ในขณะนี้ร้านอาหารในเครือ Minor Food ในประเทศไทย สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้แล้วกว่า 95% ยกเว้นร้านอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยว ที่ยังคงปิดอยู่อีกประมาณ 15 แห่ง โดย Minor Food ต้องใช้ความระมัดระวัง และพิจารณาให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเปิดร้านอาหารแต่ละแห่ง รวมถึงต้องระมัดระวังการลงทุนด้วย โดยจะเน้นไปที่การลงทุนที่ได้ผลในระยะยาว เช่น ระบบ Digital

โดยในขณะนี้ยอดขายของร้านอาหารกลับมาอยู่ในระดับ 60-70% ของช่วงสถานการณ์ปกติแล้ว และได้ผ่านจุดต่ำสุดไปตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งคาดว่ารายได้จะกลับสู่ระดับปกติเหมือนก่อนช่วงโควิด-19 ภายในช่วงปลายปีนี้

กลยุทธ์ Minor Food ช่วงวิกฤตโควิด-19

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ ของ Minor Food ได้เล่าถึงกลยุทธ์ที่ใช้ในการปรับตัว ทั้งช่วงก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยอดขายจากบริการเดลิเวอรีเติบโตขึ้น 3 เท่า โดย Minor จะเน้นการการสร้าง Platform ของ Minor เอง โดยในปัจจุบันสัดส่วนของบริการเดลิเวอรี่ แบ่งออกเป็นผ่านช่องทางของตัวเอง 60-70% และแอปพลิเคชันเดลิเวอรีต่างๆ อีก 30-40% ขึ้นอยู่กับแบรนด์ของร้านอาหาร

ในอนาคต Minor Food วางแผนจะสร้าง Royalty Program เพื่อสะสมแต้มจากการรับประทานอาหารของร้านอาหารภายในเครือ โดยผู้บริโภคสามารถใช้แต้มข้ามร้านอาหารได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังมีการ

เมนูอาหารต้องตอบรับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป

เมื่อสถานการณ์บังคับให้ธุรกิจร้านอาหาร ต้องอาศัยรายได้หลักจากบริการเดลิเวอรี Minor Food จึงต้องปรับเมนูอาหาร ให้ตอบโจทย์การเดลิเวอรีมากที่สุด ทุกเมนูต้องสั่งผ่านบริการเดลิเวอรีเพื่อนำกลับไปทานที่บ้านได้ รวมถึงต้องปรับเมนูให้ตอบกับความต้องการของคนไทยมากที่สุด ประพัฒน์ยกตัวอย่างร้าน Swensen’s ว่า ได้นำเอาเมนูไอศกรีมมะม่วงน้ำปลาหวานมาตอบโจทย์คนไทย แทนที่จะขายแค่ไอศกรีมรสชาติเดิมๆ ที่ชาวต่างชาติชื่นชอบ

เปลี่ยนรูปแบบร้านอาหาร ปรับตัวรับความต้องการใหม่ๆ

Sizzler เป็นร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะสาขาทั้งหมดของ Sizzler ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ทำให้เมื่อมีการล็อคดาวน์ Sizzler ก็ต้องปิดร้านตามไปด้วย เพราะห้างสรรพสินค้าปิดให้บริการ Sizzler To Go จึงกลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่ Minor Food นำมาใช้ โดยเน้นตั้งร้านในรูปแบบคีออสกลางเมือง เพราะเมนูอาหารของ Sizzler ยากต่อการส่งเดลิเวอรี

นอกจากนี้ยังมี Cloud Kitchen ครัวกลางที่รวบรวมเอาร้านอาหารหลายๆ แบรนด์เข้ามาอยู่ในที่เดียวกัน ลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากหลายแบรนด์ในออเดอร์เดียว

ส่วนการจ้างงานของพนักงาน เนื่องจาก Minor เป็นบริษัทที่มีธุรกิจในเครือหลายอย่าง จึงสามารถสลับให้พนักงานเข้าทำงานในร้านอาหารอื่นๆ ก็ได้ โดยประพัฒน์ ยกตัวอย่างว่าพนักงานในร้านอาหารที่ภูเก็ตที่ปิดตัวลง ก็สามารถเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แทนได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/minor-food-new-strategy-after-covid-19/

ไมเนอร์ ฟู้ด กับการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อการอยู่รอดในยุคโควิด-19

ในช่วงที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักจากภาวะวิกฤตโควิด-19 กลุ่มธุรกิจอาหารเรียกว่าประสบปัญหาเยอะที่สุด แต่ก็ฟื้นกลับมาได้เร็วที่สุด เพราะการใช้ชีวิตของคน ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องบริโภคของกินของใช้กันอยู่แล้ว

กลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยแบรนด์ร้านอาหารที่เป็นที่รู้จักได้แก่ The Pizza Company, Swensen’s, Sizzler, The Coffee Club, Dairy Queen, Burger King และ Bonchon รวมมากกว่า 2,200 ร้านใน 26 ประเทศ ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายประเภทได้อย่างครอบคลุม และนี่เป็นการแถลงข่าวเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวในช่วงครึ่งปีหลังที่น่าสนใจ

ดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT และรักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไมเนอร์ ฟู้ด กล่าวว่า “ด้วยแกนหลักธุรกิจของไมเนอร์แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ โรงแรม ร้านอาหารและไลฟ์สไตล์ เมื่อเจอปัญหาวิกฤตโควิด ก็ส่งผลกระทบกับธุรกิจทั่วโลก แต่โชคดีที่เราปรับตัวไว เพราะได้เรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจีนมาแล้วว่าต้องเดินให้เร็ว เพื่อที่จะพยุงธุรกิจและพนักงานให้อยู่รอด

โดยสิ่งที่เราจะเดินหน้าปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลนั้น เน้นไปที่ 3 เรื่องหลัก คือ ปรับโฉมแบรนด์ให้ดึงดูดใจผู้บริโภคยุคใหม่, ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ไว และขยายธุรกิจใหม่ๆ ไปยังต่างประเทศ โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัทจะมาจากธุรกิจอาหารในไทย 70% ต่างประเทศ 30%

แนวทางที่จะทำในปีนี้

คุณประพัฒน์ เสียงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากปัญหาโควิด-19 ไมเนอร์ ฟู้ด มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับเดลิเวอรี่ (แอป 1112) และก็ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยมีการแบ่งสัดส่วนรายได้ในกลุ่มเดลิเวอรี่ที่ทางแบรนด์มี 65% จากแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ 35% แม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นไปตามเป้าแต่ก็ช่วยพยุงรายได้รวมให้ดีขึ้น ซึ่งช่องทางเดลิเวอรี่ทำให้บริษัทมียอดการเติบโตเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเมนูใหม่ๆ ให้สามารถเดลิเวอรี่และยังคงสภาพเหมือนเพิ่งออกจากครัวจนถึงมือลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น Swensen’s, Sizzler, Burger King, Bon Chon เพราะต้องการเติมเต็มความต้องการอาหารของกลุ่ม Mid Market รวมทั้งเมนูของร้านอาหารเหล่านี้ ก็ยังคงเป็นที่นึกถึงตลอด

พัฒนา Cloud Kitchen เพื่อเสิร์ฟเมนูสดใหม่ โดยเฉพาะ Bon Chon และ Sizzler ที่ลูกค้าชอบสั่งกลับไปทานที่บ้าน และช่วงโควิด บริษัทเจอปัญหาว่าต้องรอคิวนานในการจัดส่งและสภาพเมนูไม่สดใหม่ตามความต้องการจึงจะเพิ่มจุดทำคลาวด์คิทเช่นสำหรับย่านชุมชน เพื่อให้เสิร์ฟอาหารได้เร็วขึ้น

สิ่งที่เราจะทำคือ เพิ่มภาพการจดจำของแบรนด์ให้มากขึ้น โดยอยากให้ผู้บริโภคที่อยากทานอาหารอะไรก็คิดถึงแบรนด์ของเราก่อนและกดสั่งซื้อจากแบรนด์เราก่อน และเราจะมีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับการสั่งซื้อผ่านโปรโมชั่นของเราเท่านั้น เป็นการยกระดับการให้บริการ ทั้งเรื่องความสะอาด ปลอดภัย สดอร่อยและรักษ์โลก

นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนา เมนูอาหารใหม่ๆ ที่เข้ากับรสนิยมของคนไทยมากขึ้น เช่น มะม่วง มะพร้าวอ่อน ทานคู่กับไอศกรีม หรือแคมเปญใหม่ๆ และยังมีการทำโมเดลร้านแบบเป็นคีออส ให้คนเดินทางสามารถหาซื้อสินค้ากลับไปทานที่บ้านหรือที่ทำงานได้ โดยจะมีซิซซ์เลอร์ ทูโก และเตรียมผลักดันเดอะ คอฟฟี่ คลับให้เป็นบริการแกร็บแอนด์โกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยกับความปลอดภัยของทั้งลูกค้าและพนักงานภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ไมเนอร์ ฟู้ดจึงได้ตั้งโปรเจค “Business Beyond COVID” ด้วยอบรมพนักงานด้านการให้บริการที่สะอาดอย่างเข้มข้นขึ้น โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นหลัก ผ่านแคมเปญรักษาความปลอดภัยของอาหาร ได้แก่ “Zero Touch Delivery” “Safety Seal” และ “Easy Pick Up” ของเดอะ พิซซ่า คอมปะนี หรือการจ่ายไร้เงินสดเมื่อสั่งอาหารในร้านเบอร์เกอร์ คิง

นอกจากนั้น ธุรกิจในเครือมีการใช้เครื่องทำความสะอาด และน้ำยาทำความสะอาด จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัย อีโค่แล็บ (ECOLAB) กับไดเวอร์ซี่ (Diversey) ซึ่งต่างเป็นเครื่องมือทำความสะอาดคุณภาพสูงที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อใช้ในธุรกิจบริการอาหาร การแปรรูปอาหาร โรงแรมและงานดูแลสุขภาพ นายประพัฒน์ ทิ้งท้าย

from:https://www.thumbsup.in.th/minor-transform-business?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=minor-transform-business