คลังเก็บป้ายกำกับ: เอสซีจี

เอสซีจี ผนึก ไมโครซอฟท์ ทรานส์ฟอร์มสู่องค์กรดิจิทัลครบวงจร

เอสซีจีและไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ประกาศผนึกกำลังเพื่อยกระดับศักยภาพของเอสซีจีสู่องค์กรดิจิทัลครบวงจร มุ่งมอบประสบการณ์ที่ “ตรงใจ-ฉับไว-ล้ำเทรนด์” ยิ่งขึ้นสำหรับลูกค้าด้วยนวัตกรรมดิจิทัลระดับโลก ที่เสริมความรวดเร็วในการบริการ เพิ่มความเข้าใจในความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า พร้อมขยายขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อเทรนด์ในยุคหน้า ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์นวัตกรรมสู่อนาคต” (Building New Frontiers of Innovation) ในความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ตลอดระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

Digital twin-เทคโนโลยีช่วยประเมินผลเพื่อปรับรูปแบบการผลิต

 

 

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของเอสซีจีในการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน เพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ ให้สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนสอดรับกับยุคดิจิทัลที่มีทางเลือกหลากหลายและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ผ่านมา เอสซีจีได้นำเทคโนโลยีมาผสานกับการดำเนินงานรอบด้าน ประกอบด้วย 1.) พัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี อาทิ “SCG Bi-ion” เทคโนโลยีไอออนกำจัดเชื้อโรคในอากาศ และ “SCG IoT Sensing Thermostat” ระบบควบคุมเครื่องปรับอากาศไร้สายอัจฉริยะ เพื่อการประหยัดพลังงาน 2.) บริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า เช่น แพลตฟอร์ม “TRUCK GO” ระบบจัดการบริหารงานขนส่ง (Transportation Management System) สำหรับผู้ประกอบการและบริษัทขนส่งขนาดกลาง-เล็ก ช่วยประหยัดต้นทุนจากการลดเวลาทำงานได้ 60% และแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ “Prompt Plus” ช่วยบริหารจัดการต้นทุนและสต๊อกสินค้าให้แก่ร้านค้ารายย่อยที่มีทั่วประเทศกว่า 10,000 ราย รวมถึง 3.) พัฒนากระบวนการผลิต เช่น เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) นำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในโปรเจกต์ บอนไซ (Bonsai) ของไมโครซอฟท์ มาพัฒนาเทคโนโลยี “Digital Twin” หรือตัวแทนเสมือน ที่ช่วยประเมินผลเพื่อปรับรูปแบบการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การเปลี่ยนเกรดเม็ดพลาสติก การปรับสายการผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้แม่นยำมากขึ้น แต่ใช้เวลาน้อยลง”

SCG-x-Microsoft-Partnership-Pillars-TH

นายรุ่งโรจน์กล่าวเสริมอีกว่า “เอสซีจีมีความยินดีอย่างยิ่งในการผสานศักยภาพของทั้ง 2 องค์กร เพื่อพัฒนานวัตกรรม สินค้า บริการและโซลูชันที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้าครบวงจรของไมโครซอฟท์ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence), การเรียนรู้ของระบบคอมพิวเตอร์ (Machine Learning), เมตาเวิร์ส (Metaverse) และควอนตัม คอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลก พร้อมศักยภาพของเอสซีจีที่สามารถเข้าใจปัญหาและประสบการณ์ของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งความเชี่ยวชาญด้านการวิจัย พัฒนานวัตกรรมที่สอดรับกับวิถีชีวิตของผู้คนและเทรนด์โลก ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือครั้งนี้สามารถช่วยส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้ลูกค้าได้อย่างทันท่วงที”

 

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์เชื่อว่าเทคโนโลยีจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตและสังคมได้ดีที่สุด เมื่อถูกนำไปใช้โดยผู้ที่มีความเข้าใจในความต้องการ โอกาส ความท้าทายของผู้คนได้ลึกซึ้งที่สุด ด้วยเหตุนี้ เราจึงพร้อมเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับเอสซีจีด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ใน 3 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่

  • เพิ่มความ “ตรงใจ” (Building for Intelligence) ท่ามกลางสภาพตลาดและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเสนอผลิตภัณฑ์และข้อมูลสินค้าที่ตรงกับความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าแต่ละคน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมด้วย ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เพื่อเป็นตัวช่วยลูกค้าในการพิจารณา เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ในร้านค้า เอสซีจี โฮม และช่องทางออนไลน์

อีกหนึ่งตัวอย่างของโครงการในด้านนี้ ได้แก่การวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าเชิงลึกบน Digital Commerce Platform ที่ช่วยให้เข้าใจความสนใจของลูกค้าและตลาดแม่นยำมากขึ้น และสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สอดรับกับความต้องการทันท่วงที สามารถที่จะลดเวลารอคอยการยืนยันส่งมอบสินค้าได้ถึง 70%

  • เสริมความ “ฉับไว” (Building for Agility) ในทุกก้าวของการดำเนินงาน เช่น โครงการ “Smart Manufacturing Campus Solution-CPAC Green Solution” ในธุรกิจ Cement and Green Solution เอสซีจี ได้นำเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และเมตาเวิร์ส (Metaverse) มาผสานเครื่องจักร คน และกระบวนการทำงานเข้าด้วยกัน ทำให้บริหารจัดการกระบวนการผลิตได้รวดเร็ว ปลอดภัย รู้ทันความเสี่ยงในการผลิตล่วงหน้าเพื่อรับมือได้ทัน รวมทั้งช่วยให้ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยในอนาคต จะขยายองค์ความรู้และโซลูชันดังกล่าว ไปสู่เครือข่ายเพื่อร่วมขยายขีดความสามารถการแข่งขันให้กับวงการอุตสาหกรรม
  • และ ต่อยอดความ “ล้ำเทรนด์” (Building for the Beyond) เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ในอนาคต ด้วยการยกระดับกระบวนการพัฒนานวัตกรรมให้รวดเร็ว และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น เช่น การคิดค้นนวัตกรรมผ่านโลกเสมือนในเมตาเวิร์ส (Metaverse) เพื่อเปิดให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญจากเอสซีจี  และการย่นระยะเวลาในการวิเคราะห์-วิจัยนวัตกรรมให้สั้นลง ด้วยเทคโนโลยีควอนตัม คอมพิวเตอร์ (Quantum Computer)

SCG-Bi-ion-เทคโนโลยีไอออนกำจัดเชื้อโรคในอากาศ

 

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ไมโครซอฟท์ยังพร้อมให้การสนับสนุนแบบครบวงจรเพื่อรองรับการปรับใช้นวัตกรรมดิจิทัลในทุกภาคส่วนของเอสซีจี ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือของไมโครซอฟท์ที่เป็นรากฐานสำคัญในการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์ Azure หรือโซลูชันอย่าง Dynamics และ Microsoft 365 ที่รองรับการทำงานของบุคลากรทั่วทั้งองค์กร ไปจนถึงบริการคลาวด์เพื่อความยั่งยืนอย่าง Microsoft Cloud for Sustainability ที่จะทำงานสอดประสานไปกับแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส) ของเอสซีจีเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนโลก ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ โซลูชันใหม่ๆ ด้วยนวัตกรรมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ”

ข่าว: เอสซีจี ผนึก ไมโครซอฟท์ ทรานส์ฟอร์มสู่องค์กรดิจิทัลครบวงจร มีที่มาจาก: แอพดิสคัส.
from:https://www.appdisqus.com/scg-joins-forces-with-microsoft-to-transform-into-a-fully-integrated-digital-organization/

เลิกจ่ายค่าไฟแพง SCG พร้อมรุกตลาด Solar Roof ตั้งเป้าปลายปี 64 เติบโต 600%

SCG Solar Roof Solutions เผยเทรนด์ความต้องการติด Solar Roof มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการใช้ไฟกลางวันทำงานที่บ้านมากขึ้นส่งผลให้ค่าไฟสูงขึ้นเฉลี่ย 30-50% บวกกับมีการพัฒนาเทคโนโลยีโซลาร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาเข้าถึงง่าย ส่งผลให้ปีที่ผ่านมายอดขาย SCG Solar Roof Solutions เติบโตเกือบ 200%

SCG Solar Roof Solutions
SCG Solar Roof Solutions
SCG Solar Roof Solutions
SCG Solar Roof Solutions

จ่ายค่าไฟฟ้า พร้อมให้บริการทั่วประเทศ ชูจุดแข็งด้วยความเชี่ยวชาญด้านหลังคาและความรู้ด้านโซลาร์ ที่คัดสรรสินค้าคุณภาพเยี่ยมมาตรฐานระดับโลก รับประกันสูงถึง 25 ปี รวมทั้งการให้บริการติดตั้งอย่างครบวงจร พิเศษกับนวัตกรรม Solar FIX สิทธิบัตรเฉพาะ SCG ติดโซลาร์โดยไม่ต้องเจาะหลังคาให้เสี่ยงรั่ว ตั้งเป้าปลายปี 64 เติบโต 600%

ธงชัย โสภณ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจหลังคา บริษัท เอสซีจี รูฟฟิ่ง จำกัด ใน SCG เผยว่า SCG ในฐานะผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างไม่เคยหยุดนิ่งในการคิดค้นพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการที่ช่วยตอบทุกความต้องการเรื่องบ้านของผู้บริโภค ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมของเจ้าของบ้านเปลี่ยนไป หันมาใช้ชีวิตภายในบ้านมากขึ้น การ Work from home เพื่อลดความเสี่ยงจากโควิด-19 และมลพิษฝุ่น PM 2.5 ส่งผลให้มีการใช้ไฟ เปิดแอร์ช่วงกลางวันมากขึ้น

ทำให้ค่าไฟเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 30-50% เจ้าของบ้านจึงมองหาทางออกที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟ โดยเฉพาะติด Solar Roof ที่คุ้มทุนภายใน 7-10 ปี ในแง่การลงทุน การติดตั้ง Solar Roof ให้ผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปี มากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบัน ภาครัฐมีการปรับเกณฑ์รับซื้อไฟคืนในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 2564 เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย จากเดิม 1.68 บาทต่อหน่วย

SCG Solar Roof Solutions
SCG Solar Roof Solutions
SCG Solar Roof Solutions
SCG Solar Roof Solutions

ภาพรวมตลาดโซลาร์ทั่วโลกเติบโตต่อเนื่องทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน รวมทั้งตลาดในไทยก็เติบโตเช่นกัน มีมูลค่าตลาดสูงถึง 8,200 ล้านบาท พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน Solar Roof เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น แต่ความรู้ความเข้าใจด้านนี้สำหรับลูกค้ายังมีไม่มาก ทั้งการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน มาตรฐานของอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบ รวมถึงการขออนุญาตกับภาครัฐ SCG ผลักดันช่องทางการขายแบบ Omni Channel ทำตลาดผ่านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายปีที่ผ่านมาเติบโตเกือบ 200%

ปี 2564 นี้ SCG ตั้งเป้าเข้าถึงลูกค้าสองกลุ่มคือกลุ่มงานบ้านและกลุ่มโรงงาน-อาคาร ตั้งเป้าเติบโตปลายปี 2564 กว่า 600% SCG มั่นใจสามารถลดค่าไฟฟ้าได้สูงสุด 60% ในส่วนของอินเวอร์เตอร์หรือระบบแปลงไฟ ใช้เทคโนโลยีสวิสเซอร์แลนด์รับประกัน 10 ปี สามารถติดตามการผลิตไฟได้เรียลไทม์ผ่าน SCG Solar Application และมีบริการหลังการขาย

ที่มา – SCG

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เลิกจ่ายค่าไฟแพง SCG พร้อมรุกตลาด Solar Roof ตั้งเป้าปลายปี 64 เติบโต 600% first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/scg-ready-to-enter-markets-for-solar-roofs/

กลยุทธ์ธุรกิจ SCG ปี 64: มุ่งสู่องค์กร Net Zero ยึดหลัก ESG เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม มีธรรมาภิบาล

ทิศทางการดำเนินธุรกิจ SCG ประจำปี 2564 มุ่งหน้าดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์และให้ความสำคัญกับการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ

SCG เอสซีจี

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG พูดถึงหัวใจความสำเร็จของปีที่ผ่านมาว่า ธุรกิจจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ BCM (Business Continuity Management) คือการทำยังไงให้ธุรกิจเรามีความต่อเนื่อง ต้องบอกว่า COVID-19 ไม่ได้อยู่ในสารบัญการทดสอบของเรา แต่โครงสร้างที่มีอยู่มีคนรับผิดชอบส่วนนี้ ทำให้ธุรกิจ SCG ปรับตัวได้เร็ว

การบริหาร BCM ทำให้เราก้าวข้ามวิกฤตได้ ช่วงแรกที่เกิด COVID-19 ระบาด หลักๆ คือการแพร่เชื้อจากคนสู่คน ส่วนหนึ่งเกิดจากการเดินทาง เราเริ่มดูแลคนที่ต้องเดินทางไปกลุ่มที่เสี่ยง เราคุยกันเรื่องกักตัวผู้ไปกลุ่มประเทศเสี่ยงก่อน พอโควิดระบาดใกล้ตัวมากขึ้น เราคุยกันว่าวิกฤตครั้งนี้รุนแรง มีสามเรื่องที่เราให้ความสำคัญคือ เรื่องพนักงาน, การผลิตสินค้าและการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า

เรื่องแรกคือเรื่องของพนักงาน เราต้องมาคิดกันว่าทำยังไงให้พนักงานมีความมั่นใจที่ทำงาน เราไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ถ้าพนักงานไม่มีความมั่นใจที่จะทำงานใน SCG จากนั้นก็เรื่อง Supply Chain การสั่งซื้อวัตถุดิบ การผลิตสินค้า ทำยังไงเมื่อเกิดความเสี่ยงบริเวณที่ผลิตสินค้า จะแก้ปัญหาและกลับมาให้บริการลูกค้าเร็วที่สุด และส่วนที่สามคือการส่งมอบให้ลูกค้า 

เมื่อธุรกิจไปได้แล้วเราก็ไปทำเรื่อง CSR ด้วย ทั้งเมืองไทยเมื่อเจอวิกฤตนี้ค่อนข้างเหนื่อย บุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยมาก หมอกังวลที่ต้องไปตรวจหาเชื้อ จะติดเชื้อกลับมาไหม เราก็หาแนวคิดว่าทำยังไงให้บุคลากรทางการแพทย์มั่นใจ จึงนำไปสู่เรื่องทำห้องที่มีการตรวจ การเทสต์ และคิดว่าทำยังไงให้ปลอดภัยสุด มันก็มีเรื่อง Modular Construction เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ก่อน เราก็เริ่มทำและส่งไปโรงพยาบาล 50-60 แห่ง จากนั้นก็ทำยังไงจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ ก็เริ่มนำเทคโนโลยี ทำแพคเกจจิ้งมาช่วยด้วย 

โควิดระบาดทั่วโลกในปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อรวม 106,884,498 คน เสียชีวิต 2,340,087 คน รักษาหาย 59,710,024 คน ข้อมูลจาก JHU

ความท้าทายปี 2564 โควิด-19 ยังไม่จบ

เรื่องของเศรษฐกิจ บางธุรกิจได้รับผลกระทบหมด การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักสุด บ้านเราล็อคดาวน์กลางเดือนถึงปลายมีนาคม ช่วงนั้นตลาดแสดงให้เห็นจริงๆ ว่าคนหรือผู้บริโภคต้องการอะไร เราจะเห็นเลยว่าอะไรที่เรียกว่า essential สำหรับผู้บริโภคจริงๆ คือเรื่อง delivery ตามด้วยเรื่องความสะอาด คือ touchless คือทำยังไงให้ไม่ต้องสัมผัส ทำให้ได้เห็นเลยว่าความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคคืออะไร

ภาพตอนนี้ คนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วมี 140-150 ล้านคนแล้ว คนที่ติดเชื้อจริง 100 กว่าล้าน เราผ่านจุดที่คนฉีดวัคซีนมากกว่าคนติดเชื้อ โลกเรามี 7,000-8,000 ล้านคน เราเริ่มเห็นแล้วว่าจุดต่ำสุดของโควิดอยู่ตรงไหน จุดต่ำสุดนี้อาจจะยาว หลายแห่งระบุว่า 2-3 ปีกว่าจะฉีดวัคซีนได้ทั้งโลก เมื่อผ่านจุดต่ำสุดนี้ไป บริษัทต้องเริ่มคิดแล้วว่า New Normal เป็นยังไง 

Delivery service, Technology, E-commerce, Hygiene เรื่องเหล่านี้เห็นได้ชัด อยู่ที่ว่าเราจะบริหารการจัดการอย่างไร ท่องเที่ยวนี่ยังไม่แน่ว่าจะเป็นจุดต่ำสุดหรือยัง หลายอุตสาหกรรมก็อาจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ก็อยู่ที่การปรับตัวธุรกิจ ทุกวิกฤต ธุรกิจที่รอดอยู่ได้คือปรับตัว ต้องปรับเร็วด้วย

วันนี้มีข่าวบอกว่า บริษัทเครื่องดื่มบอกว่าขวดน้ำที่ขาย ในอีกปีหนึ่งจะเป็นรีไซเคิลหมด SCG ที่คุยกับนักลงทุนมา เราใช้เวลากับ ESG มากอย่างเห็นได้ชัด มีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ESG คือ Environment สิ่งแวดล้อม Social สังคม Governance ธรรมาภิบาล ESG กำลังเป็นที่สนใจ นักลงทุนมองว่าธุรกิจที่เขาจะลงทุนคือบริษัทที่มีคะแนน ESG ดีกว่าบริษัทอื่นๆ แม้เจอโควิดระบาด นักลงทุนรายใหญ่ของโลกหลายราย ก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เขาใช้เวลาครึ่งหนึ่งของการประชุมพูดถึงเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งโควิดมีผล จากเดิมธุรกิจที่กำลังไปได้ดี แต่เมื่อเจอโควิดเข้ามา ธุรกิจเหล่านั้นรับมือได้อย่างไร  

SCG เอสซีจี
ภาพจาก Shutterstock

SCG มี 3 ธุรกิจหลัก คือซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง, เคมิคอลส์, แพคเกจจิ้ง 

เรามีสามบ้านในบ้านจะมีคู่แข่ง ลูกค้า แนวโน้มตลาดและวิธีการทำธุรกิจแตกต่างกัน ทั้งสามธุรกิจที่มี Strategy เดียวที่แชร์กันได้ ก็คือ ESG ซึ่งเราเรียกกันว่า Sustainable Development การพัฒนาต่อไปให้ยั่งยืนจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มองการพัฒนาในระยะยาว อยู่ไม่ได้ถ้าเราไม่มีความโปร่งใสหรือไม่มีบรรษัทภิบาลในการบริหารจัดการ เรามีพื้นฐานอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้เข้าไปใน DNA เราเรียกว่า ESG Integration 

ปลายเดือนที่ผ่านมา เราพัฒนา Chemical Recycle คือสินค้าเคมิคอลส์ทำอย่างไรไม่ให้เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม คือกลับไปใช้ใหม่ เอา ESG เข้าไปอยู่ในวิธีการทำธุรกิจ นี่คือส่วนที่อยู่ในตัว E และตัว E อีกอย่างหนึ่งคือการใช้พลังงานทดแทน เราสามารถที่จะใช้พลังงานอะไรเข้ามาทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พัฒนาโซลาร์เซล การลงทุนถึงจุดที่ว่าทำได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า หรือ non renewable 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ S หรือสังคม สินค้าบริการของเราทำอย่างไรให้มีความปลอดภัย ทำให้ผู้บริโภคมีความสบายใจที่จะใช้ของเรา ทั้งเรื่องความสะอาด well-being การไร้สัมผัส เช่น สุขภัณฑ์ออกมาในลักษณะ Touchless 

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องน้ำ เราทำมา 20 ปีแล้ว การทำฝาย ทำให้ป่ากลับมา ให้น้ำกลับมามีแหล่งน้ำมากขึ้น ในขั้นถัดไปคือการใช้น้ำหมุนเวียน มีน้ำแล้วบางทีบางจุดมันไม่พอ ไม่ใช่ว่าทุกจุดมีเหมือนกันหมด มีบางจุดน้ำน้อย น้ำมาก ทำอย่างไรที่จะมีระบบให้เอาน้ำมาใช้แบบหมุนเวียนได้ น้ำเกี่ยวกับทุกคน

หน้าที่หนึ่งของบริษัท ทำยังไงให้ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น ถ้าช่วยคนกลุ่มใหญ่ได้ก็เป็นประโยชน์ เราพูดกันเสมอว่าน้ำคือชีวิต มีน้ำก็ทำให้คนมีอาชีพได้ การใช้น้ำหมุนเวียนก็ทำให้ใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่า ทำให้คนประกอบอาชีพได้มากขึ้น ในการเพาะปลูกจากเดิมใช้น้ำ 1-2 ครั้ง พอมีน้ำหมุนเวียนก็ใช้ได้ 3-4 ครั้ง เหล่านี้คือหน้าที่ของบริษัท เราต้องยอมรับว่าถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ บริษัทก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน 

ตัวสุดท้ายคือ G สิ่งสำคัญที่สุดคือความโปร่งใส มันเป็นพื้นฐาน เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนจะลงทุนในบริษัทที่ไม่รู้ว่าทำธุรกิจอย่างไร ความโปร่งใสคือพื้นฐานของบรรษัทภิบาล ธุรกิจย่อมเข้าใจอยู่แล้วโดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยให้ทันและชัดเจน 

ในด้านดิจิทัลมองได้ 3 ส่วน

ส่วนหนึ่งคือการให้บริการ เช่น อีคอมเมิร์ซให้คนซื้อของผ่านแพลตฟอร์มได้ อีกส่วนหนึ่งคือซัพพลายเชน ทำยังไงที่ทำให้ต้นทุนที่ส่งของจากโรงงานผู้ผลิตไปยังลูกค้าในต้นทุนที่ต่ำสุดในเวลาที่คุยกันไว้ นี่คือดิจิทัลด้านโลจิสติกส์ และส่วนต่อมาคือ ดิจิทัลด้านการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่สุด ตรงที่สุด จัดการดีที่สุด คือเรื่อง automation คือเอาโรบอตมาใช้ในการผลิต ส่งของ การเก็บสิ่งของ

ส่วนเรื่อง digital economy มุมมอง SCG มีสามเรื่องทั้งเกี่ยวข้องกับลูกค้า การโลจิสติกส์ และการผลิต นอกจากนี้ก็มีเรื่องสุขภาพ ปัจจุบันเรา Work from home เยอะขึ้น เราเริ่มเห็นความน่าอยู่ของบ้านมากขึ้น มันไม่ใช่แค่ WFH แล้วแต่เป็น WFA คือ Work from anywhere ตรงนี้เราต้องสังเกตให้เห็นคือเข้าใจความต้องการผู้บริโภค ปรับตัว และความเร็วทำให้ SCG ผ่านหนึ่งปีที่ผ่านมา

โควิด-19 จะกระทบธุรกิจปี 64 อย่างไร

เราเห็นความต้องการผู้บริโภคมากขึ้นในส่วนของแพคเกจจิ้ง ทำอย่างไรถึงจะบริหารจัดการการเติบโตของธุรกิจได้ ส่วนที่สองคือผลกระทบมากสุดคือซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง พอเจอโควิด-19 การก่อสร้างใหม่จะขายนักท่องเที่ยวก็ไม่รู้จะขายใครแล้วตอนนี้ จะได้ก็ได้ infrastructure ของภาครัฐยังไปได้อยู่

พวกวัสดุก่อสร้างต้องเน้นให้ความสะดวกกับการอยู่อาศัยให้มากขึ้น ส่วนเคมิคอลส์ในด้านหนึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด แต่อีกด้านหนึ่ง ในส่วนของความสะอาด health care หน้ากาก หรือการทำให้คนสบายใจที่จะใช้ก็จะยังไปได้ ธุรกิจเคมิคอลส์ที่เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์จากเดิมมาเป็น EV ตอนนี้ก็ปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ 

Chemical Recycling SCG
Chemical Recycling SCG

การลงทุนใหม่เน้นเรื่องการรองรับการเติบโตที่ขยายตัวมากขึ้น

การลงทุนทั้งด้านแพคเกจจิ้งที่มีการเติบโตมากขึ้น ในด้านซีเมนต์จะลงทุนการปรับปรุงสินค้าและบริการมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในส่วนของการซ่อมแซมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันดีขึ้นและปรับให้ดีขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจเคมิคอลส์ก็จะมีการปรับให้เข้าสู่ circular economy มากขึ้น 

การลงทุนในตลาดที่มีศักยภาพอยู่ ตอนนี้ปิโตรเคมีในเวียดนามก็เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ตอนนี้เราไป 70% แล้ว อีกปีสองปีจะเพิ่มมากขึ้นในส่วนของการเข้าไปตลาดใหม่ๆ หรือลงทุนในส่วนนวัตกรรม และอีกส่วนหนึ่งจะปรับเข้าสู่ circular economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน)

สิ่งที่เราคุยกันมาตลอด หลังจากโควิดแล้วก็ยังไปต่อได้ การทำงานต้องรวดเร็วมากขึ้น ตลาดในอาเซียนมีศักยภาพไปได้อีก อินโดนีเซียก็ยังไปได้ ในส่วนของนวัตกรรมก็ต้องรวมเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้าไปด้วย ธุรกิจเรายังให้ความสำคัญเรื่องนี้อยู่ เดิมเราใช้ Sustainble Development ก็จะเป็น ESG ก็ได้เพราะอยู่ในรูปแบบเดียวกัน

เรื่องของ innovation สินค้า HVA (High Value Added Products & Services) ที่มีมูลค่าสูงถ้ามีมากก็ยิ่งดี ตอนนี้เฉลี่ยประมาณ 30% สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อีกสองปีถัดไปอาจจะไม่ใช่แล้ว 

ประเทศไทยกับความจำเป็นของวัคซีน อาจจะน้อยกว่าประเทศอื่นที่มีการติดเชื้อเยอะ ก็เป็นความท้าทายของบ้านเราที่จะทำอย่างไรให้เข้าถึงวัคซีนได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วและกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึง 

ประเทศที่ไปลงทุนตอนนี้

หลักๆ คือเวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งสองประเทศหลังก็ต้องดูเงื่อนไขในการรับมือโควิด ส่วนเมียนมา ในส่วนของ SCG ก็ไม่สามารถให้ความเห็นการเมืองของประเทศเขาได้ แต่เราสนใจความปลอดภัยของพนักงานราว 2,000 กว่าคน ส่วนใหญ่มีสัญชาติเมียนมา เราก็ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดให้ทำงานได้อย่างสะดวกใจมากที่สุด

ปัจจัยของความสำเร็จต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค ต้องปรับตัวด้วยความรวดเร็ว วิกฤตโควิดต่อไทยและโลกมีความรุนแรงอย่างมาก เรายังไม่เห็นว่าจะผลกระทบจะยาวนานขนาดไหน แต่เริ่มเห็นทางออก ในวิกฤตมีโอกาส คนที่อยู่รอดได้ระยะยาวคือคนที่ใช้วิกฤตในการปรับตัว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post กลยุทธ์ธุรกิจ SCG ปี 64: มุ่งสู่องค์กร Net Zero ยึดหลัก ESG เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม มีธรรมาภิบาล first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/scg-strategy-2021-focus-on-esg/

AIS ผนึก SCG และ ม.อ. ใช้ 5G ควบคุมรถยกผ่านทางไกล รายแรกในภาคอุตสาหกรรม

  • ก้าวย่างสำคัญด้านเทคโนโลยีของประเทศ เมื่อ2 องค์กรชั้นนำ “เอไอเอส” และ “เอสซีจี” ผู้นำอันดับ 1 ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีจาก 2 อุตสาหกรรม พร้อมด้วย ภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ ผนึกกำลังร่วมทดลองทดสอบการใช้งานจริง 5G ในภาคอุตสาหกรรมได้สำเร็จ เป็นรายแรกของไทย ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช.
  • นำเทคโนโลยี5G ยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 โดยร่วมกันพัฒนารถยกต้นแบบ ให้สามารถควบคุมผ่านระยะไกลบนเครือข่าย 5G จากเอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ กรุงเทพฯ – โรงงานของเอสซีจี จ. สระบุรี โดยผู้ควบคุมรถ ไม่ต้องอยู่ที่เดียวกับรถ แต่สามารถควบคุมรถให้เคลื่อนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่ต้องการได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ ช่วยเพิ่มผลิตผลให้ธุรกิจ สามารถต่อยอดไปสู่การฝึกอบรมพนักงานทางไกล และเพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งถือเป็นต้นแบบให้อุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงกับธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้
  • พร้อมกันนี้ เอไอเอส และเอสซีจี ยังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในการร่วมวิจัย และพัฒนานวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่าย5G ในโครงการอื่นๆ ตลอดจน ร่วมพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันบนโลกยุคดิจิทัล เป้าหมายเพื่อร่วมกันสร้าง 5G Ecosystem ของการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน ช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย และคุณภาพชีวิตของคนไทยไปอีกขั้น มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า “5G คือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาพลิกโฉมสังคมไทย และยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไปอีกขั้น พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจน อำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารของผู้ใช้บริการโดยทั่วไป จากคุณสมบัติ 3 ส่วน คือ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น, ขีดความสามารถการเชื่อมต่อ IoT และเครือข่ายที่ตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียร เอไอเอส ในฐานะผู้นำอันดับ 1 ด้านนวัตกรรมเครือข่ายและเทคโนโลยี มีความมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตอยู่เสมอ เพื่อเป็นแกนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Thailand 4.0

ดังที่ผ่านมา เอไอเอสเป็นผู้นำนวัตกรรม 5G รายแรกรายเดียวของไทยที่ทดลองทดสอบ 5G ครบแล้วทั่วไทย โดยเปิดพื้นที่ให้นักพัฒนา นักวิจัย นิสิตนักศึกษา และประชาชนได้ร่วมศึกษา ทดลอง ทดสอบการใช้งาน 5G ในหลากหลายมิติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยี 5G ว่ามีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างไร ตลอดจน เรามีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในการสร้าง Ecosystem ของการพัฒนานวัตกรรม เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้งานทั่วทุกภูมิภาคและทุกเจเนอเรชัน

สำหรับความร่วมมือระหว่างเอไอเอส, เอสซีจี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการทดสอบ 5G ในภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งได้ร่วมคิดค้นและพัฒนาโซลูชั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตด้วย 5G ทดลองทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง บนคลื่นความถี่ 2.6 GHz ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช. เป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็น Use Case จริงที่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงในอนาคต ผ่านการสาธิตการบังคับรถยกของ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกล จากกรุงเทพฯ – สระบุรี เป็นครั้งแรกของภาคอุตสาหกรรมของไทย ทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่า เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การพัฒนานวัตกรรม 5G ยังมีองค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ อีกหลายด้าน ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใน Ecosystem ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม 5G เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันในเวทีโลก พร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป”

อรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการ โครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ว่า “เอสซีจี มุ่งปรับเปลี่ยนการดำเนินงานด้านต่างๆ ในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง แพคเกจจิ้ง และเคมิคอลส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กรเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจัดตั้งคณะทำงานด้าน Mechanization, Automation and Robotics (MARs) และ Industry 4.0 ขึ้น ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ด้วยการนำเทคโนโลยีด้าน MARs และ Industry 4.0 มาผสมผสานกัน โดยใช้เงินลงทุนกว่า 860 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จนออกมาเป็นโซลูชันต่างๆ อาทิ การแจ้งเตือนเครื่องจักรก่อนการซ่อมบำรุง (Smart Maintenance) การใช้หุ่นยนต์ในห้องปฏิบัติการด้านการตรวจวัด (Smart Laboratory) การทำระบบจ่ายปูนให้ลูกค้าแบบอัตโนมัติ (Smart Dispatching) และการเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนเห็นข้อมูลเดียวกันที่ถูกต้องและนำมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ รวมทั้งตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ เอสซีจีให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ กับองค์กรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานสามารถประสบความสำเร็จได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับเอไอเอสในครั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าของเราได้รับสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น

สำหรับโครงการ “การพัฒนารถ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกลด้วยเครือข่าย 5G” ดังกล่าว เริ่มดำเนินการที่โรงงานของเอสซีจี ใน จ.สระบุรี เป็นแห่งแรก เพราะมีการเคลื่อนย้ายทั้งวัตถุดิบและสินค้าโดยใช้รถ Forklift เพื่ออำนวยความสะดวกจำนวนมาก อีกทั้งรถ Forklift ยังเป็น material mobility ที่ควบคุมได้ง่ายที่สุด ก่อนจะต่อยอดไปทดลองกับเครื่องมืออื่นๆ ในอนาคต ซึ่งการนำเครือข่าย 5G ที่มีความรวดเร็วในการตอบสนองแบบเรียลไทม์ และมีความแม่นยำในการส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบบอัตโนมัติขั้นสูงมาใช้นั้น จะช่วยตอบโจทย์ของเอสซีจี ทั้งการมีผลิตผลที่มากขึ้นเพราะพนักงานสามารถควบคุมรถจากที่ใดก็ได้ อีกทั้งยังสามารถฝึกอบรมการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้กับพนักงานที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่หน้างาน

ส่วนทิศทางของเอสซีจีในการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้เสริมขีดความสามารถของธุรกิจในอนาคตนั้น สามารถเป็นไปได้ทั้งการเพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยง เช่น การทำงานของเครื่องจักรบริเวณเหมืองและเตาเผาปูนซีเมนต์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น การเพิ่มความเร็วในส่งผ่านข้อมูลขนาดใหญ่จากโรงงานในหลากหลายพื้นที่มายังศูนย์ควบคุมส่วนกลางเพื่อให้บริหารจัดการข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ และการเสริมประสิทธิภาพให้ธุรกิจโลจิสติกส์ การตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีขึ้น เช่น การเสริมประสิทธิภาพของ IoT ในบ้าน ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัยในการอยู่อาศัยมากขึ้น หรือ Smart Home รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาตามแนวทาง Industry 4.0 ได้อย่างแท้จริง”

พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการ โครงการ อินโนเวชั่น ฮับส์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล เราทำงานวิจัยและพัฒนาอย่างใกล้ชิดกับ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันศึกษา ทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยี 5G ในมิติต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความพร้อมมากที่สุด เพื่อส่งมอบต่อให้กับภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้งานได้จริง ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม สำหรับงานวิจัยพัฒนานี้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก Innovation hub กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อนำ platform ระบบสมองกลฝังตัวขั้นสูงสำหรับยานยนต์ ผสมกับ ระบบควบคุม latency ต่ำ ผ่านทางไกลบนเครือข่าย 5G AIS นำไปใช้จริงในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/ais-scg-5g-industry/

SEAC จับมือ 6 องค์กรชั้นนำไทย ตอกย้ำการปฏิรูป “คน” ในองค์กร เน้นรีสกิลเพื่อสู้กับ Disruption

SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ร่วมมือกับ 6 องค์กรชั้นนำของไทย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของการปฏิรูปคนในองค์กร พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงประเด็นการรีสกิลเพื่อสู้กับโลกแห่งการ Disruption

SEAC ร่วมมือ 6 องค์กรชั้นนำของไทย ปรับทักษะให้อยู่รอดในโลกการทำงาน

SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียนร่วมมือกับ 6 องค์กรระดับแนวหน้าของประเทศไทย ได้แก่ อิตัลไทย, เอไอเอส, พีทีจี, เมืองไทยประกันชีวิต, มิตรผล และเอสซีจี จัดงานแถลงข่าวผ่านโครงการ YourNextU ซึ่งอัดแน่นไปด้วยหลักสูตรคุณภาพจากสถาบันชั้นนำระดับโลกมากมาย โดยเน้นย้ำไปที่การรีสกิล (Reskill) เพื่อสร้างความอยู่รอดให้เหล่าบรรดาคนทำงานท่ามกลางโลกแห่งการ Disruption

นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC กล่าวว่า โลกของการทำงานในอนาคต จะมีอีกหลายงานที่หมดความสำคัญ เพราะหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาแทนที่ ถ้าอ้างอิงข้อมูลจาก World Economics Forum ที่เปิดเผยว่า จะมีงานถึง 50% ที่จะถูกท้าทาย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการปรับตัวทางด้านทักษะเพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกการทำงานในอนาคต

“ในวันนี้ ยิ่งเศรษฐกิจแข่งขันกันมากขึ้นเท่าไหร่ เราต้องยิ่งปรับเปลี่ยนและปรับตัวเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะหากเพียงก้าวพลาดหรือหยุดพัฒนาเพียงเสี้ยววินาที “องค์กร” หรือ “คุณ” อาจจะหลงทางและไล่ตามคนอื่นไม่ทัน พลาดโอกาสทางธุรกิจที่อาจจะนำคุณไปสู่เส้นชัยก็เป็นได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ องค์กรจะต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญหาขององค์กรคืออะไร ตอนนี้องค์กรยืนอยู่ที่จุดไหน ความท้าทายใหม่ที่กำลังจะเข้ามามีผลกระทบกับองค์กรในรูปแบบไหนบ้าง องค์กรมีความพร้อมอย่างไรบ้าง แล้วเราจะมีหนทางแก้ปัญหาและเส้นทางใหม่ เพื่อรับมือให้องค์กรสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากการปรับองค์กรแล้ว สิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้คือ การเริ่มลงทุนในการปฏิรูปทรัพยากรมนุษย์หรือ “คนในองค์กร” ให้สามารถก้าวข้ามผ่านเรื่องเดิมๆ ด้วยการใช้กลยุทธ์รีสกิลเพิ่มทักษะการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้สามารถอยู่รอดท่ามกลางโลกดิสรัปชั่น (Disruption)” คุณอริญญา กล่าว

การรีสกิล (Reskill) ในความหมายของ SEAC หมายถึง การเพิ่มพูนทักษะเสริมความแข็งแกร่งให้องค์กร ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว และไม่สามารถทำสำเร็จได้ในระยะเวลาสั้นๆ หากแต่การรีสกิล “คน” สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ในทุกเรื่อง ทุกด้าน หลากหลายสาขาวิชา แต่ “บุคคล” นั้นต้องใช้เวลากับสิ่งนั้นให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามลักษณะของแต่ละองค์กรที่แตกต่างกันไป

นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC
นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC

ในครั้งนี้ SEAC ได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงจาก 6 องค์กรยักษ์ใหญ่ระดับแนวหน้าของประเทศไทย ได้แก่

  • คุณยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอิตัลไทย
  • คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส
  • คุณภูมิพัฒน์ สินาเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)
  • คุณฤทัย สุทธิกุลพานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL
  • ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานการเงิน และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มบริหาร บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด
  • คุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด

“ยิ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเท่าไหร่ ทรัพยากรมนุษย์ย่อมสั่นคลอนมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นองค์กรจำเป็นจะต้องตื่นตัวและพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ตลอดเวลา และต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยี รวมไปถึงเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง ผ่านการรีสกิลตัวเองเพื่อเป็นประตูเปิดโอกาสในการสร้างความก้าวหน้า ความมั่นคง และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม ดังนั้น SEAC พร้อมที่จะเป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยสร้างให้เกิดการตื่นตัวเรื่องการเรียนรู้ ปรับตัว เปลี่ยนแปลง และพัฒนาทั้งในด้านขององค์กร ตลอดจนระดับบุคลากรผ่านโมเดลการเรียนรู้ YourNextU เพื่อสร้างสังคมของการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยการนำนวัตกรรม มาสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ ที่ยั่งยืน” นางอริญญา กล่าวสรุป

เปิดโลกแห่งการเรียนรู้และค้นหาทักษะเพื่อพัฒนาตนเองได้แล้วกับ SEAC พร้อมสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับYourNextU โมเดลการเรียนรู้แบบผสมผสานที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด (The Best Blended Learning Model) ที่ให้คุณเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัดรูปแบบ ไม่จำกัดครั้ง และไม่จำกัดวิชา ราคาเพียง 12,000++ บาท/คน/ปี ได้ตั้งแต่วันนี้ ที่ www.yournextu.com

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/seac-x-6-companies-reskill/

เปิดทิศทางธุรกิจ SCG ปี 2019 กับเป้าหมายที่ต้องเติบโตอย่างยั่งยืน

เปิดแผนธุรกิจ SCG ในปี 2019 ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจภายใน และภายนอกประเทศ การเดินหน้าลงทุนดิจิทัล แต่ในความไม่แน่นอนอยู่รอบด้าน เป้าหมายสำคัญคือต้องเติบโตอย่างยั่งยืนให้ได้

ยังชัดเจนใน 3 กลยุทธ์หลัก

ท่ามกลางการปลี่ยนแปลงอันผันผวนจากภายนอกมากมาย เป็นความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจ ล้วนเป็นความท้าทายอย่างมากของ SCG ที่ต้องปรับตัวเพื่อรับกับความไม่แน่นอนต่างๆ

ในปีนี้รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ได้เผยถึงกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของ SCG ยังคงให้ความสำคัญกับ 3 กลลยุทธ์หลักได้แก่

  1. Regional Strategy ตลาดกลุ่มอาเซียนยังเป็นตลาดสำคัญทั้งในการทำตลาดและการผลิตจะเข้าไปในตลาดที่คิดว่ามีศักยภาพในการเติบโต
  2. Innovation แข่งขันด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และการให้บริการ
  3. Sustainability ในการทำธุรกิจต้องอยู่ภายใต้กรอบของการเติบโตอย่างยั่งยืนต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมและอยุ่ร่วมในชุมชนได้

รุ่งโรจน์บอกว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตมาก แต่ก็มีปัจจัยเรื่องความไม่แน่นอนที่เห็นในยุคนี้ ต้องรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ความไม่แน่นอนจากการแข่งขัน ความท้าทายอยู่ที่ว่าจะรับมือกับความไม่แน่นอนอย่างไร ซึ่ง SCG เน้นความมั่นคงเป็นหลักการทำธุรกิจให้มั่นคงเน้นการบริหารความเสี่ยงควบคู่การดำเนินงาน

ถ้าให้แยกตามกลุ่มธุรกิจ รุ่งโรจน์ได้บอกว่ากลุ่มธุรกิจเคมิคอลเป็นกลุ่มใหญ่สุด ท้าทายที่สุด เพราะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีความไม่แน่นอนสูง ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันที่ขึ้นลงตลอด รวมถึงปัจจัยเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ ต้องเอาจุดเด่นเรื่องนวัตกรรมมาใช้ ที่จะทำให้สินค้าไปถึงมือลูกค้าได้ดีที่สุด

ส่วนตลาดซีเมนต์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น มีความท้าทายที่ว่าจะตอบโจทย์ลูกค้าในครึ่งปีแรกอย่างไร แล้วครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไรต่อ

ธุรกิจโลจิสติกส์มี Fulfilment Solution ที่ช่วยบริหารการจัดส่งสินค้าให้ทั้งลูกค้า SME, B2B และ B2C

ธุรกิจแพ็คเกจจิ้งมีการแข่งขันรุนแรงขึ้นเพราะมีผู้ผลิตจากธุรกิจอื่นเช่นธุรกิจกระดาษก็หันมาทำแพ็คเกจจิ้งเริ่มมีผู้ผลิตรายใหญ่เข้ามาทุกระดับความท้าทายคือทำอย่างไรให้โตอย่างเข้มแข็งใช้จุดเด่นเรื่องดีไซน์ในการออกแบบแพ็คเกจจิ้งได้ดี

ให้น้ำหนักกับ Circular Economy

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา SCG เริ่มโมเดลธุรกิจ Circular Economy หรือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จะเป็นทิศทางสำคัญของบริษัทในอนาคต ซึ่ง Circular Economy คือการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดทั้งการผลิตการไปใช้แล้วนำกลับมาผลิตใหม่เป็นเทรนด์ของผู้ประกอบการทั่วโลกที่เริ่มปรับใช้กัน

SCG เองพยายามทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อเป็นเรื่องที่ดีต่อสังคม สิ่งที่ต้องทำคือสร้างอิมแพ็คให้เห้นในสังคม ที่ผ่านมาได้เริ่มทำโครงการถนนพลาสติก ด้วยการนำเอาพลาสติกมาทำเป็นถนนเริ่มจากที่นิคมอุตสาหกรรม มีการเอาขยะมาบริหารจัดการ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม

สรุป

ถือเป็นการปรับตัวอย่างต่อเนื่องของ SCG ที่ต้องปรับให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเริ่มมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดขึ้น เชื่อว่าจะสร้างอิมแพ็คในสังคมได้อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/scg-strategy-2019/

AddVentures ลงทุนต่อเนื่อง หนุน “Vertex Ventures” ต่อยอดสตาร์ทอัพศักยภาพอาเซียน

AddVentures โดย SCG เดินหน้า Fund of Funds ต่อเนื่อง ลงทุนใน “Vertex Ventures” กองทุนระดับเวิลด์คลาสในอาเซียน หวังคัดกรองการลงทุนสตาร์ทอัพศักยภาพ เพื่อต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่เอสซีจี พร้อมช่วยยกระดับสตาร์ทอัพอีโคซิสเท็มในภูมิภาค

จาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ AddVentures บอกว่า AddVentures ได้เดินหน้าการลงทุนในลักษณะ Fund of Funds อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กำลังอยู่ระหว่างเข้าลงทุนใน Vertex Ventures SEA Fund III กองทุนที่ 3 ของ Vertex Ventures ที่มุ่งลงทุนสตาร์ทอัพระดับ Series A ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย และเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีขนาดกองทุนใหญ่อันดับต้นๆ ของอาเซียนขณะนี้ โดยใช้ความชำนาญ ข้อมูลวิจัยเชิงลึก และการดำเนินการที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านเครือข่ายของทีมงาน

“Vertex Ventures เป็น Venture Capital ที่มีผลการดำเนินงานที่ดี กองทุนสองกองแรกคัดกรองการลงทุนสตาร์ทอัพได้อย่างดีเยี่ยม จนมีสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งและน่าสนใจหลายรายใน Portfolio ขณะเดียวกัน Vertex Ventures ยังมีทิศทางการลงทุนในสตาร์ทอัพ Disruptive Technology ระดับ early-stage สอดคล้องกับทิศทางของ AddVentures”

นอกจากนี้ Vertex Ventures ยังมีเครือข่ายของบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ในวงการ Technology และ Venture Capital อย่างกว้างขวาง มีกองทุนภายใต้การบริหารทั้งในอิสราเอล สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่ง Vertex Ventures ยังได้สร้าง Venture Capital Platform กับ General Partners (GPs) รายต่างๆ ในแต่ละประเทศอีกด้วย

จาชชัว บอกว่า Vertex Ventures SEA Fund III ถือเป็นกองทุนแรกของ Vertex Ventures ที่เปิดโอกาสให้ Limited Partner (LPs) จากภายนอกเข้าลงทุน มีวิธีการดำเนินงานคือ เลือกลงทุนในสตาร์ทอัพศักยภาพ 20 รายตลอดระยะเวลากองทุน และสร้างโอกาสการลงทุนรอบถัดไป (Follow-on round) ในบริษัทที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตสูง คาดว่าการลงทุนครั้งนี้จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับการร่วมลงทุน (Co-investment) ของ AddVentures ในระดับ Series A ได้ต่อไป

ทั้งนี้ AddVentures ยังคงมองถึงโอกาสการเข้าถึงสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมด้าน Enterprise ผ่านการสร้างความร่วมมือเชิงพาณิชย์ (Commercial Deal) และอาจพิจารณานำนวัตกรรมเหล่านั้นมาต่อยอดเป็นธุรกิจกับธุรกิจหลักหรือสร้างเป็นธุรกิจใหม่ของเอสซีจีอีกด้วย เชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อทิศทางของ AddVentures และเอสซีจี ตลอดจนมีส่วนช่วยยกระดับการเจริญเติบโตของสตาร์ทอัพอีโคซิสเท็มในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ก่อนหน้านี้ AddVentures เพิ่งประกาศการลงทุนในลักษณะ Fund of Funds ก้อนแรกใน Wavemaker SEA Fund II กองทุนที่สองของ Wavemaker Partners ซึ่งเป็นกองทุนชั้นนำที่มีเครือข่ายระดับโลกอีกกองทุนหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต่อยอดการลงทุนสตาร์ทอัพด้าน B2B ในภูมิภาค

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/addventures-vertex-ventures-startup/

เริ่มเคลื่อนไหว AddVentures โดย SCG ประเดิมลงทุน WAVEMAKER PARTNERS ต่อยอดสตาร์ทอัพ B2B

หลังจากเปิดตัวมาได้สักพัก AddVentures โดย SCG เริ่มต้นลงทุนในกองทุน Venture Capital ของอาเซียน “WAVEMAKER PARTNERS”

จาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ AddVentures บอกว่า AddVentures ได้ประเดิมการลงทุนในลักษณะ Fund of Funds ผ่าน Venture Capital ก้อนแรก ในกองทุน Wavemaker SEA Fund II ซึ่งเป็นกองทุนที่สองของ Wavemaker Partners ที่มุ่งลงทุนสตาร์ทอัพด้าน B2B ระดับ Seed Stage ถึง Series A Stage ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“การเลือกลงทุนใน Wavemaker Partners เพราะเป็น Venture Capital ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จจนทำให้สตาร์ทอัพในพอร์ตหลายรายไปสู่จุดหมายหรือการ Exit ได้ และ Wavemaker ยังมีความสนใจร่วมกัน คือการลงทุนสตาร์ทอัพด้าน B2B และ Deep Tech Startups จึงคาดหวังหวังว่าจะได้ร่วมลงทุนและใช้เครือข่ายของ SCG ในการช่วยให้สตาร์ทอัพกลุ่มนี้เติบโต”

Wavemaker Partners ได้รับคัดเลือกอยู่ในเครือข่ายของ Draper Venture Network (DVN) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตร Venture Capital ระดับโลก มีเครือข่าย Venture Capital ชั้นนำมากกว่า 17 ราย เชื่อมโยงผู้ประกอบการและนักลงทุนจากทั่วโลก

จาชชัว บอกว่า Wavemaker SEA Fund II เน้นการสร้าง Portfolio จำนวนมาก เพื่อเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพ B2B ที่มีศักยภาพ 80 รายตลอดระยะเวลากองทุน และสร้างโอกาสการลงทุนรอบถัดไป (Follow-on round) ในบริษัทที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตสูง โดยการลงทุนครั้งนี้สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับการร่วมลงทุน (Co-investment) ของ AddVentures ในระดับ Series A ได้เป็นอย่างดี

สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของ AddVentures ทำให้มีโอกาสเข้าถึงสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมด้าน B2B และอาจพิจารณานำนวัตกรรมเหล่านั้นมาต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ของ SCG ได้

ปัจจุบัน AddVentures และเอสซีจีก็ได้เริ่มทดลองต่อยอดสร้างความร่วมมือเชิงพาณิชย์ หรือ Commercial Deal กับสตาร์ทอัพบางรายที่ Wavemaker ได้ลงทุนไปแล้ว เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อทิศทางของบริษัทและการเจริญเติบโตของ ecosystem ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แน่นอน

สำหรับ AddVentures โดยเอสซีจี เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อตั้งขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์หลักคือ ส่งเสริมศักยภาพและลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งไทยและทั่วโลก เพื่อให้เอสซีจีสามารถเชื่อมโยงนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมทั้งยังทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าและบริการที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิตให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

โดยมีแผนในการลงทุนทั้งการลงทุนผ่านกองทุน (Venture Capital) และการลงทุนโดยตรง (Direct Investment) ในสตาร์ทอัพทั้งในไทย อาเซียน และศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของโลก เช่น ซิลิคอนวัลเลย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา, เทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล, เสิ่นเจิ้น ประเทศจีน ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.Enterprise 2.Industrial และ 3.B2B ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจหลัก 3 กลุ่มของเอสซีจี ได้แก่ 1.ธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 2.ธุรกิจเคมิคอลส์ และ 3.ธุรกิจแพคเกจจิ้ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/addventures-scg-wavemaker-partners/

[วิเคราะห์] อ่านเกม SCG และ AddVentures ลงทุน startup งานนี้ไม่ง่ายสำหรับองค์กรใหญ่

SCG เป็นองค์กรใหญ่รายล่าสุดของไทยที่ประกาศเปิดตัว AddVentures หรือบริษัทเงินทุนที่เน้นการลงทุนใน กองทุนและ startup ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SCG โดยเบื้องต้นวางไว้ 3 ประเภท คือ Industrial, Enterprise และ B2B

สำหรับ SCG ซึ่งถือว่าเป็นพี่ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ แพ็คเกจจิ้ง และอีกหลายอุตสาหกรรม รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ล่าสุดเริ่มเข้าสู่บริการโลจิสติกส์ การตั้ง AddVentures จึงเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองอย่างยิ่ง

ลงทุน startup ไม่ง่าย หวั่นทับซ้อนธุรกิจ SCG

AddVentures ระบุว่าเตรียมงบประมาณไว้ 3,000 ล้านบาทสำหรับการลงทุนในระยะเวลาประมาณ 5 ปี โดยคาดว่าจะลงทุนใน startup ด้วยเงิน 1-5 ล้านดอลลาร์ต่อราย จากจำนวนเงินดังกล่าว แสดงว่า AddVentures น่าจะเน้นการลงทุนใน startup ระดับ Serie A ขึ้นไป (มูลค่า 30 – 150 ล้านบาท)

แสดงว่า startup ที่จะเข้าตา AddVentures ได้ ต้องมีสินค้าหรือบริการที่ชัดเจนแล้ว เข้าสู่ตลาดและมีฐานลูกค้าประมาณหนึ่ง เตรียมรอรับเงินทุนเพื่อขยายตลาด startup ไหนที่มีคุณสมบัติประมาณนี้น่าจะอยู่ในเรดาห์ที่ AddVentures มองอยู่ โดนเล็งไว้แล้ว 2-3 รายในปีแรก

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ SCG มีสินค้าและบริการที่ครอบคลุมแทบทั้งหมดในอุตสาหกรรมที่ตัวเองเกี่ยวข้องอยู่ จึงเป็นเรื่องยากไม่น้อยที่ AddVentures จะลงทุนกับ startup และจะไม่ทับซ้อนกับธุรกิจของบริษัทแม่ ซึ่ง startup ไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของ SCG ก็มีอยู่ไม่มากนักด้วย (เห็นอยูชัดๆ ไม่กี่ราย)

ดังนั้น การจะลงทุนเพื่อเข้าไปถือหุ้น ก็อาจไม่ใช่คำตอบที่ startup ต้องการ (เพราะธุรกิจอาจจะขัดกันเอง และก่อให้เกิดการผูกขาดขึ้นกับ startup) มากเท่ากับการซื้อกิจการ startup มาเลย ซึ่งด้วยเงินทุน SCG และ AddVentures สามารถทำได้อยู่แล้ว

ลงกองทุนต่างประเทศ เน้นความรู้ หวังกำไรยาก

สำหรับการลงทุนในกองทุนในภาพรวมตลาด มีองค์กรใหญ่ของไทยตั้งบริษัทลูกมาดูแลด้านนี้ เช่น Digital Ventures, Beacon Venture รวมถึง AddVentures ด้วย ซึ่งการลงทุนกับกองทุนในต่างประเทศ หวังผลกำไรได้ยาก (เพราะเป็นเม็ดเงินเพียงเล็กน้อยที่ไปร่วมลงทุน)

แต่การลงทุนในกองทุนที่เข้าไปลงทุนใน startup อีกที ข้อดีคือ สามารถเข้าถึง profile ของบริษัท startup ที่อยู่ในกองทุนได้ มีโอกาสได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ หรืออาจจะเข้าไปศึกษาตัว startup บางรายที่น่าสนใจ เพื่อนำไปสู่การลงทุนหรือซืัอกิจการ

แต่จะลงทุนใน startup ต่างประเทศไทยก็คงไม่ได้ช่วยเรื่องการสร้างรายได้หรือผลกำไรอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าอยู่ที่การหาแหล่งความรู้ใหม่ๆ จาก startup หรือการซื้อกิจการเพื่อนำมาผนวกกับธุรกิจหลักและใช้งานโดยตรงมากกว่า

สรุป

นี่คือเรื่องใหม่สำหรับ SCG และ AddVentures จากเดิมที่เป็นองค์กรใหญ่ทำเองทุกอย่างทั้งหมด การกระโดดเข้ามาในวงการ startup ช่วงแรกคงเป็นช่วงลองผิดลองถูก แต่ก็จะข้อจำกัดของบริษัทแม่อยู่พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจทับซ้อนแข่งกันเอง เชื่อว่าถ้า AddVentures (รวมถึงบริษัทลงทุนจากบริษัทใหญ่ๆ รายอื่น) ถ้าเรียนรู้มากพอ และมองเห็นโอกาสชัดๆ อาจมีการเข้าซื้อกิจการ startup มาต่อยอดธุรกิจกันตรงๆ เลยก็ได้ (แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้) แต่ก็ขึ้นกับ startup รายนั้นจะอยากขายหรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/scg-addventure-to-industry/

กระโดดร่วมวง “บริการส่งด่วน” SCG ผนึก YAMATO ASIA เปิด “SCG EXPRESS”

เป็นข่าวไปตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว SCG ได้ร่วมทุนกับ YAMATO ASIA (ยามาโตะ เอเชีย) บริษัทขนส่งรายใหญ่จากญี่ปุ่นภายใต้สัญลักษณ์แมวดำคาบลูก เพื่อสื่อว่าเป็นบริษัทขนส่งที่ดูแลสินค้าเป็นอย่างดี (เสมือนแม่แมวดูแลลูก) ซึ่งครั้งนี้ได้ทุ่มงบประมาณ 633 ล้านบาท เปิดตัวธุรกิจขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน “SCG EXPRESS” (เอสซีจี เอ็กซ์เพรส) เพื่อสนองต่อตลาด e-Commerce ที่เติบโตกว่า 12% ในปีที่ผ่านมา

สำหรับบริการของ SCG EXPRESS มาใน 4 รูปแบบบริการ ได้แก่

  1. บริการขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วนถึงบ้าน หรือ ทัค-คิว-บิง (TA-Q-BIN) บริการรับพัสดุถึงบ้านลูกค้าและจัดส่งถึงปลายทางในวันถัดไป
  2. บริการส่งเอกสารหรือพัสดุภัณฑ์ด่วนระหว่างบริษัทถึงบริษัท (Document TA-Q-BIN)
  3. บริการเก็บเงินปลายทาง (TA-Q-BIN COLLECT) สามารถเลือกชำระได้ทั้งเงินสดและบัตรเครดิต
  4. บริการขนส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิ (COOL TA-Q-BIN) รายแรกและรายเดียวในไทย

เริ่มต้นสาขาแรกบางซื่อ เตรียมขยาย 110 สาขา

จุดเริ่มต้นจะให้บริการในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โดยมีศูนย์บริการ SCG EXPRESS แห่งแรกที่บางซื่อ อาคาร 26A SCG สำนักงานใหญ่ และเตรียมเปิดจุดให้บริการรับส่งพัสดุเพิ่มเป็น 110 สาขา ภายในปีนี้ ทั้งในรูปแบบศูนย์บริการ Service Point และรับเปิดตัวแทนรับพัสดุ Service Agent

นิธิ ภัทรโชค ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-ตลาดในประเทศ ธุรกิจ เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง บอกว่า e-Commerce ในปีเติบโตกว่า 12% ส่งผลให้ธุรกิจบริการส่งด่วนเติบโตตามไปด้วย SCG จึงร่วมกับ YAMATO ASIA เปิดตัวธุรกิจใหม่ SCG EXPRESS ธุรกิจส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน ภายใต้แนวคิด “Deliver Your Happiness”

SCG และ YAMATO ASIA ร่วมกันวิจัยตลาดและศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศไทยกว่า 2 ปี เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการส่งมอบบริการที่ตอบความต้องการของตลาดและผู้บริโภค และช่วยยกระดับมาตรฐานการให้บริการขนส่งสินค้าในประเทศไทย โดยใช้งบประมาณเบื้องต้นกว่า 633 ล้านบาท

และนำแนวทางและมาตรฐานการให้บริการรับส่งสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งเรื่องความสุภาพและความเต็มใจในการให้บริการ มาประยุกต์และถ่ายทอดให้แก่พนักงานขนส่งสินค้า (Sales Driver) ในประเทศไทย

บริการขนส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิรายแรกรายเดียวในไทย

SCG EXPRESS เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่มีบริการขนส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิ (COOL TA-Q-BIN) จัดส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้รับ ซึ่งมี 2 รูปแบบบริการ คือ สินค้าแบบแช่เย็น (Chilled) ระบบควบคุมอุณหภูมิที่รักษาความเย็นได้ 0-8 องศาเซลเซียส สินค้าแช่แข็ง (Frozen) ระบบควบคุมอุณหภูมิที่รักษาความเย็นได้ต่ำกว่า -15 องศาองศาเซลเซียส สำหรับขนาดพัสดุมีให้เลือกตั้งแต่ กว้าง+ยาว+สูง ขนาดไม่เกิน 160 เซนติเมตร น้ำหนักสูงสุดไม่เกิน 25 กิโลกรัม และราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 40 บาท เป็นต้นไป

กลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้ประกอบการธุรกิจ e-Commerce (B2C) และกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ (C2C) โดย SCG EXPRESS มีพนักงานให้บริการกว่า 130 คน สามารถรองรับการขนส่งพัสดุได้ 5,000 กล่อง/วัน

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถใช้บริการส่งพัสดุผ่านศูนย์บริการฯ หรือใช้บริการรับพัสดุถึงบ้าน (Pick up Service) ผ่านคอลเซ็นเตอร์ โทร.02-239-8999 นอกจากนี้ยังสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและใช้บริการผ่านเว็บไซต์ http://www.scgexpress.co.th และแอพพลิเคชั่น SCG EXPRESS ทั้งระบบ IOS และ Android ได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

????????????????????????????????????

สรุป

ตลาดบริการส่งด่วนหรือ Delivery เป็นตลาดที่การแข่งขันดุเดือดมากอยู่แล้ว มีผู้ให้บริการในตลาดอยู่หลายราย การที่ SCG กระโดดเข้ามาอีกราย แสดงว่าเห็นโอกาสจากระบบ Logistics ที่มีอยู่แล้วของบริษัท ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้ ต่อรอดูต่อไปว่า SCG EXPRESS จะสามารถขยับตัวได้ไวมากน้อยแค่ไหน เมื่อเจอกับคู่แข่งที่เป็นสตาร์ทอัพ แต่สุดท้ายคนที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ปณท. ที่ต้องเร่งปรับตัวให้ทันเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/scg-yamato-asia-scgexpress/