คลังเก็บป้ายกำกับ: เถ้าแก่น้อย

เถ้าแก่น้อย ลุยธุรกิจสตรีทฟู้ดเกาหลี ตั้งเป้าขยายแฟรนไชส์ Bomber Dog 45 สาขา

TKN หรือ บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง ส่งบริษัท เถ้าแก่น้อย เรสเตอรองท์ แอนด์ แฟรนไชส์ จำกัด (TKNRF) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ TKN ปั้นแบรนด์สตรีทฟู้ดเกาหลี เตรียมเปิดขายแฟรนเชส์ บอมเบอร์ด๊อก (Bomber Dog) อาหารทานเล่นสไตล์เกาหลีอีก 45 สาขา เปิดโอกาสสำหรับคนที่อยากมีร้านค้าเป็นของตัวเอง ด้วยงบลงทุนเริ่มต้นที่ 123,000 บาท

อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสาหร่ายทะเลแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า “เถ้าแก่น้อย” รวมถึงขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์ ระบุว่า ที่เหลือของปีนี้ TKN เตรียมผลักดัน TKNRF เดินหน้าขยายธุรกิจร้านอาหาร ซึ่ง TKNRF ได้ศึกษาและทดลองวางกลยุทธ์รูปแบบร้านอาหารและเมนูต่างๆ ที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย จึงเป็นที่มาของแผรนไชส์อาหารสตรีทฟู้ดเกาหลี ที่มีจุดเด่นคือผู้บริโภคท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวให้ความนิยมอย่างมาก

TKNRF ตั้งเป้าขยายแฟรนไชส์ บอมเบอร์ด๊อก (Bomber Dog) ร้านสตรีทฟู้ดเกาหลีในช่วงที่เหลือของปี 2564 จำนวน 45 สาขา เฉลี่ยเปิด 8-10 สาขาต่อเดือน คาดว่าจะเปิดอีก 100 สาขาในปี 2565 ปัจจุบันมีสาขาในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ปั๊มน้ำมัน และ Cloud Kitchen แล้วทั้งสิ้น 18 สาขา เตรียมเปิดในเดือนกันยายนนี้อีก 8 สาขา เน้นขยายสาขาที่พื้นที่ปั๊มน้ำมันเป็นหลัก คาดว่าจะมียอดขายที่เติบโตจากธุรกิจนี้มากกว่า 100% ภายในปีนี้ และยังเพิ่มช่องทางสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชันสั่งอาหารชั้นนำเช่น Lineman, Grab, Food Panda เพื่อรองรับผู้บริโภคด้วย

Bomber Dog

รูปแบบการลงทุนแฟรนไชส์ของบอมเบอร์ด๊อกมี 2 รูปแบบ คือแบบรถเข็นจะมีค่าแฟรนไชส์เริ่มต้นที่ 123,000 บาทและแบบตั้งบนพื้นที่ มีขนาดพื้นที่ 2.5×2.5 เมตร มีค่าแฟรนไชส์เริ่มต้น 260,000 บาท

บอมเบอร์ด๊อก เป็นร้านสตรีทฟู้ดเกาหลี มีเมนูทานเล่น เช่น คอร์นดอก, ฮอทดอก ต็อกโบกี เฟรนช์ฟราส์ ไก่ป๊อบ ไก่ทอดเกาหลี รสชาติอร่อยเหมือนต้นตำรับ เข้าถึงง่าย ตอบโจทย์คนเมืองที่รีบเร่งเดินทาง ทานง่าย สะดวก รวดเร็ว

TKNRF

ที่มา – เถ้าแก่น้อย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เถ้าแก่น้อย ลุยธุรกิจสตรีทฟู้ดเกาหลี ตั้งเป้าขยายแฟรนไชส์ Bomber Dog 45 สาขา first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/tknrf-expand-bomber-dog-franchise-in-2021/

เปิดรายได้เถ้าแก่น้อย ในวันที่ไม่มีลูกค้าคนจีน ทางรอดอยู่ที่ไหน?

สำรวจ “เถ้าแก่น้อย” ในวันที่นอกจากวิกฤตโควิดจะกระทบแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญคือลูกค้าหลักอย่างชาวจีนหายไป ธุรกิจตอนนี้ยังไหวอยู่หรือไม่ และอะไรคือทางรอดของธุรกิจสาหร่ายแปรรูป 

เถ้าแก่น้อย

เปิดผลประกอบการเถ้าแก่น้อย (TKN) ไตรมาสแรกของปี 2021 พบว่า ยอดขายลดต่ำลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

  • ยอดขายไตรมาส 1 ปี 2021 อยู่ที่ 920 ล้านบาท
  • ยอดขายไตรมาส 1 ปี 2020 อยู่ที่ 1,110 ล้านบาท

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดขายของเถ้าแก่น้อยลดลงเป็นเพราะวิกฤตโควิด จำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว และที่สำคัญที่สุดคือ “ชาวจีน” ที่เป็นฐานสำคัญของธุรกิจเถ้าแก่น้อย ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขจะพบว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าของเถ้าแก่น้อยไปจีนลดต่ำลงถึง 39% ถือว่าอาการหนักมากๆ

ผลประกอบการไตรมาสแรกของเถ้าแก่น้อยปี 2021
ผลประกอบการไตรมาสแรกของเถ้าแก่น้อยปี 2021

ส่วนกำไรสุทธิของเถ้าแก่น้อยในไตรมาสแรกของปี 2021

  • ถ้าเทียบกับปีก่อนหน้าจะติดลบหนักถึง 35% (ไตรมาส 1/2020 มีกำไร 81 ล้านบาท, ส่วนไตรมาส 1/2021 มีกำไร 56 ล้านบาท)
  • แต่ถ้าเทียบเฉพาะไตรมาสต่อไตรมาสปรับตัวดีขึ้น 6.1% (ไตรมาส 4/2020 ขาดทุน 21 ล้านบาท, ส่วนไตรมาส 1/2021 มีกำไร 56 ล้านบาท)
กำไรสุทธิของเถ้าแก่น้อยย้อนหลัง 13 ไตรมาส
กำไรสุทธิของเถ้าแก่น้อยย้อนหลัง 13 ไตรมาส

โควิดทำสัดส่วนยอดขายในประเทศสำคัญมากขึ้น

แม้ตัวเลขยอดขายนอกประเทศไทยของเถ้าแก่น้อยจะลดลงกว่า 25% แต่ยอดขายในประเทศไทยติดลบเพียง 3.1% เท่านั้น

ความน่าสนใจคือ วิกฤตโควิดทำให้สัดส่วนยอดขายในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

  • ในยุคก่อนโควิด สัดส่วนยอดตลาดในประเทศไทยของเถ้าแก่น้อยมีเพียง 36% ส่วนตลาดต่างประเทศ+ตลาดจีนรวมกันอยู่ที่ 64% 
  • แต่ในยุคโควิด สัดส่วนยอดขายของเถ้าแก่น้อยปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยสัดส่วนยอดขายตลาดในประเทศไทยอยู่ที่ 42% (เกือบครึ่ง) ส่วนตลาดต่างประเทศ+ตลาดจีนรวมกันอยู่ที่ 58% 
ไตรมาส 1 ปี 2021 สัดส่วนยอดขายในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
ไตรมาส 1 ปี 2021 สัดส่วนยอดขายในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

จากตัวเลขยอดขายของเถ้าแก่น้อยยืนยันชัดเจนว่า วิกฤตโควิดทำให้เถ้าแก่น้อยต้องพึ่งตลาดในประเทศมากขึ้น 

ในเมื่อลูกค้าคนจีนมาไทยไม่ได้ เถ้าแก่น้อยใช้วิธีบุกจีนแทน

คำถามที่สำคัญคือ แล้วเถ้าแก่น้อยทำอย่างไรในวันที่ลูกค้าคนจีนหายไป

คำตอบอยู่ที่ข่าวสำคัญในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2021 นั่นคือการที่เถ้าแก่น้อยประกาศแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในจีนเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย 

อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสาหร่ายทะเลแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า ‘เถ้าแก่น้อย’ รวมถึงขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ บอกว่า สาเหตุที่แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในจีนเป็นเพราะต้องการให้มาทำหน้าที่หลักคือ “การกระจายสินค้า” ทั้งช่องทางร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) และช่องทาง E-Commerce ที่เป็นช่องทางซึ่งมีศักยภาพและโอกาสขยายตัวสูง

เห็นได้ชัดเจนว่า สำหรับเถ้าแก่น้อยแล้ว จีนยังคงเป็นพื้นที่ที่เถ้าแก่น้อยยังคงทุ่มเทเพราะเชื่อมั่นว่ามีโอกาสให้เติบโตได้อีกมาก และแม้การเดินทางมาไทยของลูกค้าชาวจีนจะไม่ง่ายในยุคหลังโควิด แต่การส่งออกสินค้าของเถ้าแก่น้อยไปยังจีนน่าจะมีภาพเป็นบวกมากขึ้น เพราะตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมา จีนก็เริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว

ประเมินอนาคตของเถ้าแก่น้อย

ในวันที่ตลาดในประเทศเป็นเสาหลักของธุรกิจ แต่ความเสี่ยงของเถ้าแก่น้อยในไทยคือความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด อย่างเช่นแม้ว่าจะเข้าสู่ปี 2021 แล้ว แต่สถานการณ์การล็อคดาวน์เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดยังคงเกิดขึ้น ทำให้ยอดขายของเถ้าแก่น้อยลดลงตามไปด้วย ส่วนตลาดต่างประเทศ เถ้าแก่น้อยมองว่า น่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากการที่หลายๆ ประเทศเริ่มเปิดประเทศแล้ว

ส่วนในแง่ของธุรกิจ เถ้าแก่น้อยจะผลักดันสินค้าใหม่ๆ ของบริษัท เช่น ในจีน รวมถึงมีกระแสข่าวว่าธุรกิจในอนาคตที่เถ้าแก่น้อยจะลงไปเล่นคือตลาด Plant-based มากขึ้น

ส่วนในด้านการลดต้นทุน ที่ผ่านมาเถ้าแก่น้อยได้ใช้วิธีการปิดโรงงานผลิตจาก 2 แห่งเหลือ 1 แห่ง โดยเถ้าแก่น้อยมีโรงงาน 2 แห่งคือที่ลาดหลุมแก้ว(นพวงศ์) และโรจนะ(อยุธยา) ทำให้ต้นทุนพนักงานลดน้อยลง และในด้านการตลาดก็ได้มีการลดจำนวนการใช้พรีเซนเตอร์ เน้นการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น

รู้หรือไม่ เถ้าแก่น้อยไม่ได้ขายแค่สาหร่าย

แม้ว่าหลายคนจะรู้จักเถ้าแก่น้อยในฐานะคนขายสาหร่ายแปรรูป แต่สินค้าที่เถ้าแก่น้อยขาย ไม่ได้มีแค่สาหร่ายเท่านั้น

สินค้าของเถ้าแก่น้อยในปัจจุบันมีตั้งแต่สาหร่ายแปรรูปที่แตกไลน์ออกไปหลายรสชาติ อย่างล่าสุดคือรสแกงกะหรี่ญี่ปุ่นและต้มย่ำมันกุ้ง นอกจากนั้นยังมีเครื่องดื่มชานมไต้หวันยี่ห้อ Just Drink ที่โด่งดังและวางขายในร้านสะดวกซื้อ

มากกว่านั้น เถ้าแก่น้อยมีธุรกิจร้านอาหารด้วย มีทั้งร้านขายสินค้าแฟลกชิพของเถ้าแก่น้อย TKN Land จำนวน 1 สาขาที่เทอร์มินอล 21 มีร้านข้าวแกงกะหรี่ Hinoya Curry 5 สาขา รวมที่เป็นร้านแบบ express อีก 2 สาขา (ปิดตัวลงไป 1 สาขาในยุคโควิด) และมีที่เป็น Cloud Kitchen กับ LINEMAN อีก 2 สาขา นอกจากนั้นก็ยังมีร้านอาหารเกาหลีอย่าง Bomber Dog อีก 1 สาขาด้วย

อ้างอิง – ผลประกอบการ Taokaenoi Food & Marketing Public Company Limited ไตรมาส 1 ปี 2021

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เปิดรายได้เถ้าแก่น้อย ในวันที่ไม่มีลูกค้าคนจีน ทางรอดอยู่ที่ไหน? first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/tnk-q1-2021/

ชานม “ฉุน ชุ่ย เฮอ” ภาระกิจใหม่ของเถ้าแก่น้อย ในวันที่ไม่ได้มีแค่สาหร่ายอบกรอบอีกต่อไป

“เถ้าแก่น้อย” แบรนด์ที่มีเบื้องหลังความสำเร็จจากการลงมือทำของ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ โดยมีสินค้าที่รู้จักกันมานานอย่างขนมสาหร่ายอบกรอบ กำลังก้าวข้ามความเป็นบริษัทผู้ผลิตขนม ไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เราได้เห็นกันแล้วคือชานม

อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)

ที่ผ่านมาเรามักคุ้นเคยกับแบรนด์เถ้าแก่น้อยจากขนมสาหร่ายอบกรอบในรสชาติต่างๆ ที่วางขายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ และเรื่องราวความสำเร็จของ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์เถ้าแก่น้อย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)

โดยขนมสาหร่ายอบกรอบเถ้าแก่น้อย นับว่าเป็นขนมที่เป็นของฝากยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนต้องซื้อกลับไป ติดอันดับ Top 3 แต่เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวที่มีปีละเกือบ 30 ล้านคน กลายเป็นศูนย์ คำถามที่เกิดขึ้นคือเถ้าแก่น้อยจะทำอย่างไรในฐานะแบรนด์ที่ผลิตขนมสาหร่ายอบกรอบที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

อิทธิพัทธ์ เล่ากลยุทธ์ของเถ้าแก่น้อยที่จะทำให้บริษัทเติบโตต่อไปได้ในอนาคต ว่าจะต้องใช้กลยุทธ์ 3 Go คือ

    1. Go Firm การทำให้องค์กรเฟิร์ม และปรับตัวอย่างรวดเร็ว
    2. Go Broad ขยายสินค้าให้กว้าง ไม่ได้มีแค่สาหร่ายอบกรอบเพียงอย่างเดียว
    3. Go Global คิดในระดับโลก มองโอกาสในตลาดโลก ไม่ได้คิดแค่ให้บริการในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว

เถ้าแก่น้อยที่ไม่ได้มีแค่สาหร่ายอบกรอบอีกต่อไป

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้แล้วจากกลยุทธ์ 3 Go คือ เถ้าแก่น้อยพยายามลบภาพแบบเดิมๆ ที่มีเพียงขนมสาหร่ายอบกรอบเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่สามารถเติบโตไปสู่บริษัทในระดับโลกอย่างที่ตั้งใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้มูลค่าตลาดของขนมอบกรอบลดลงราว 3-4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ยิ่งขนมสาหร่ายอบกรอบยิ่งมีมูลค่าตลาดที่ลดลงมากกว่า เพราะฐานลูกค้าสำคัญคือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นิยมซื้อเป็นของฝาก

การเปิดตัว ฉุน ชุ่ย เฮอ หรือ Just Drink นมพาสเจอร์ไรส์รสชานม จึงเป็นความพยายามใหม่ของเถ้าแก่น้อยที่จะหวังพึ่งพาเพียงขนมสาหร่ายเพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป โดยเป็นความร่วมมือระหว่างเถ้าแก่น้อยกับ ไต้หวัน บิฟิโด ฟู้ด นำสูตรและวัตถุดิบมาจากไต้หวันมาผลิตที่ประเทศไทย โดยนับว่าเป็นการผลิตที่ประเทศอื่นนอกไต้หวันเป็นครั้งแรกของฉุน ชุ่ย เฮอ เพราะก่อนหน้านี้แม้ฉุน ชุ่ย เฮอ จะเริ่มจำหน่ายที่ฮ่องกง และสิงคโปร์มาแล้ว แต่ก็เป็นการนำเข้าสินค้าจากไต้หวันทั้งสิ้น

สาเหตุหนึ่งที่เถ้าแก่น้อยลงมาเล่นในตลาด “ชานม” เป็นเพราะในปัจจุบันตลาดการบริโภคชานมในประเทศไทย มีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท และตลาดนมพาสเจอร์ไรส์ที่มีมูลค่า 16,000 ล้านบาท ในปี 2563

ฉุน ชุ่ย เฮอ ชานมที่มีสาขามากที่สุดในประเทศ

แม้ว่า ฉุน ชุ่ย เฮอ จะเป็นเครื่องดื่มนมพาสเจอร์ไรส์รสชานม ที่ขายในร้าน 7-11 ทั่วประเทศ ไม่ใช่คู่แข่งกับร้านขายชานมใส่แก้วชื่อดังหลายๆ ร้าน แต่อิทธิพัทธ์จะใช้การขายผ่าน 7-11 ทั่วประเทศเป็นจุดแข่งขัน ในฐานะชานมที่มีสาขามากที่ในประเทศ โดยขณะนี้ฉุน ชุ่ย เฮอ วางขายแล้วใน 7-11 6,000 สาขาทั่วประเทศ และจะขยายให้ครบ 12,000 สาขาในอนาคต เพราะจะต้องคำนึงถึงกำลังการผลิตที่สามารถทำได้ด้วย โดยในช่วงแรกหลังการเปิดตัว ฉุน ชุ่ย เฮอ มียอดขายราว 30,000 ขวดต่อวัน

ช่องว่างในตลาดนมพาสเจอร์ไรส์ที่ทำให้เถ้าแก่น้อยเห็นโอกาสที่จะเข้ามาในตลาดคือ ความไม่หลากหลายของผลิตภัณฑ์นม ที่ไม่ได้มีความแปลกใหม่มากนัก ผู้ผลิตนมในท้องตลาดมีแต่นมรสชาติทั่วไป ส่วนนมรสชานมมี แต่ยังคงเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้มีความ Mass เถ้าแก่น้อยจึงมองเห็นโอกาสที่ ฉุน ชุ่ย เฮอ จะเติบโตได้

ในขณะนี้ ฉุน ชุ่ย เฮอ มีให้เลือกเพียงรสชาติเดียวเท่านั้น ซึ่งในปีหน้านี้เถ้าแก่น้อยวางแผนที่จะนำรสชาติอื่นๆ เข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยต่อไป รวมถึงรสชาติที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อรับกับกระแสการรักสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทย ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ โดย ฉุน ชุ่ย เฮอ ในไต้หวันมีให้เลือกเกือบ 20 รสชาติ ทั้งรสชาติพื้นฐานที่เป็นที่นิยม และรสชาติพิเศษที่หมุนเวียนตามเทศกาล

เถ้าแก่น้อยแลนด์ยังอยู่ รอวันนักท่องเที่ยวกลับมา

อีกหนึ่งธุรกิจหนึ่งของเถ้าแก่น้อย คือ เถ้าแก่น้อยแลนด์ ที่มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เคยมีสาขามากถึง 17 สาขา แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 5 สาขาเท่านั้นที่ยังเปิดให้บริการอยู่ แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยได้เลย แต่อิทธิพัทธ์ ยังคงมองในแง่ดีโดยเลือกที่จะยังเก็บเถ้าแก่น้อยแลนด์เอาไว้ เพราะในอนาคตหากนักท่องเที่ยวกลับมา จะทำให้คู่แข่งของเถ้าแก่น้อยแลนด์หายไปทันที

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/taokaenoi-chun-cui-he-milk-tea/

กรณีศึกษา : ดราม่าเถ้าแก่น้อย จากแบรนด์ดังสู่แบรนด์พังชั่วข้ามคืน

กลายเป็นประเด็นเดือดบนโลกออนไลน์จากกระแส #ล่องเรือTaokaenoiXF4 โดยที่แบรนด์สาหร่ายเถ้าแก่น้อยจัดกิจกรรมแฟนมีต แต่แฟนคลับถล่มยับเพราะเอาเรื่องส่วนตัวมาเอี่ยวแบรนด์

แบรนด์เอาเรื่องส่วนตัวมาเอี่ยว เสี่ยงพัง!

ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาในโลกโซเชียลทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ต่างร้อนแรงด้วยกระแสของ #ล่องเรือTaokaenoiXF4 เป็นกิจกรรมที่ทางสาหร่ายเถ้าแก่น้อยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา รูปแบบกิจกรรมเป็นแฟนมีต คล้ายๆ กับ Meet & Greet กับ 4 หนุ่ม F4 รักใสใสหัวใจ 4 ดวงเวอร์ชั่น 2018 เป็นนัดแสดง และไอดอลสัญชาติจีน 

กิจกรรมที่ว่านี้เป็นการล่องเรือ พร้อมกับให้แฟนคลับได้ใกล้ชิดกับ F4 แบบเอ็กซ์คลูซีฟ โดยที่แฟนคลับที่จะเข้าร่วมกับกรรมได้ต้องมาจากการซื้อสินค้าเถ้าแก่น้อย Big Roll ชนิดที่ว่ามียอดซื้อสูงสุด หรือที่เรียกว่า Top Spender จะคัดเลือกเพียง 50 คนเท่านั้น โดยที่แฟนคลับได้ทุ่มซื้อมูลค่านับหมื่นนับแสน ยอดซื้ออันดับหนึ่งมีมูลค่าถึง 150,000 บาท

แต่แล้วเมื่อถึงวันจัดกิจกรรมกลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะตามกำหนดการ F4 จะเข้าร่วมกิจกรรมกับแฟนคลับร่วม 2 ชั่วโมง แต่แล้วก็พบว่า F4 ต้องโดยแทรกกิจกรรมไปเซอร์ไพร์สวันเกิดของภรรยา ของต๊อบ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ CEO ของเถ้าแก่น้อยที่จัดภายในเรือลำเดียวกัน

ทำให้แฟนคลับต่างไม่พอใจ เพราะแต่ละคนล้วนตั้งใจทุ่มเงินเพื่อซื้อสินค้าเพื่อมาเจอศิลปิน หรือไอดอลที่ชอบ แต่กลับได้ร่วมกิจกรรมเพียงแค่เล็กน้อย

จากเหตุการณ์นี้สิ่งที่แฟนคลับ และหลายคนมองในเรื่องประเด็นการนำเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องกับแบรนด์ แบรนด์มีการเชิญพรีเซ็นเตอร์มาร่วมกิจกรรมกับแฟนคลับ กับลูกค้าของแบรนด์ เหมือนเป็นการสร้างกิจกรรมเพื่อสนองความต้องการของภรรยา และกลุ่มเพื่อนเสียมากกว่า

ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ที่ทางเถ้าแก่น้อยเคยเป็นสปอนเซอร์ให้กับเดี่ยว 12” ของโน้ส อุดม แต้พานิช แต่ก็มีซีนการขอแต่งงานกันในงาน โดยคู่หนุ่มสาวก็เป็นเพื่อนของภรรยาต๊อบอีกเช่นเคย

อปป้า มาร์เก็ตติ้ง ศึกพรีเซ็นเตอร์ไอดอลเกาหลี 

เถ้าแก่น้อยขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำตลาดสาหร่ายในประเทศไทย เบอร์สองเป็นของมาชิตะ จากค่ายสิงห์ คอร์เปอเรชั่น แต่ละแบรนด์ในตลาดต่างชูจุดเด่นเรื่องความเป็นสาหร่ายคุณภาพจากประเทศเกาหลี เพราะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องสาหร่าย

ทำให้กลยุทธ์การตลาดค่อนข้างไปทางเกาหลี มีพรีเซ็นเตอร์เป็นศิลปินเกาหลี สนันสนุนคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลี และจับกลุ่มเป้าหมายเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีโดยเฉพาะ ซึ่งกลุ่มนี้ค่อนข้างสนับสนุนศิลปินในดวงใจของตัวเอง และพร้อมเปย์ได้ทั้งสินค้า และการร่วมกิจกรรมต่างๆ

เถ้าแก่น้อยเองก็ได้ใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นศิลปินชาวเกาหลี และเริ่มขยายมาฝั่งเอเชียให้กว้างขึ้น เริ่มต้นที่วง 2PM, GOT7, นิชคุณ หรเวชกุล, เซฮุน EXO ศิลปินไทยก็มีเช่นกัน ได้แก่ BNK48, ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่, SBFIVE และฌอห์ณ จินดาโชติ  

โดยที่เป็นการใช้พรีเซ็นเตอร์ 1 คน หรือ 1 วงต่อ 1 แบรนด์ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน และมีการสื่อสารที่แตกต่างกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแมส กลุ่มวัยรุ่น หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน

ซึ่ง F4 เป็นพรีเซ็นเตอร์ของเถ้าแก่น้อย Big Roll เป็นสาหร่ายแบบแท่ง ทางเถ้าแก่น้อยได้คว้าตัวมาร่วมงานเมื่อช่วงเดือนมีนาคมนี้เอง ตลาดนี้มีการเติบโตดี ต้องการใช้ F4 ในการสื่อสารกับแฟนคลับคนไทย และแฟนคลับชาวจีนอีกด้วย

ขณะเดียวกันมาชิตะในฐานะเบอร์สองก็ใช้กลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์ไอดอลเกาหลีเช่นกัน ทั้งคยูฮยอน, พัคจีฮุน และวง NCT ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีเช่นกัน เพราะแฟนคลับก็พร้อมสนับสนุนศิลปินที่ตนเองชอบ

กลยุทธ์อปป้า มาร์เก็ตติ้งยังคงเป็นสูตรสำเร็จของตลาดสาหร่าย ไม่ว่าจะมีข่าวเปิดตัว หรือทำกิจกรรมใดๆ แฟนคลับก็พร้อมสนับสนุน เมื่อเกิดเหตการณ์ดราม่าจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่แฟนคลับจะไม่พอใจ เพราะแสดงให้เห็นว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพ

มาชิตะส้มหล่น ได้แฟนเลิฟมากขึ้น

แน่นอนว่าเหตุการณ์ดราม่าที่เกิดขึ้นกับเถ้าแก่น้อยในครั้งนี้ ย่อมทำให้แฟนคลับถล่มทั้งแบรนด์ ทั้งตัวบุคคลแบบกระหน่ำ จนทางภรรยาของต๊อบ ตัวของต๊อบเอง และทางเอเยนซี่จัดงานต้องออกมาขอโทษถึงการจัดงานครั้งนี้

แม้จะขอโทษแล้วก็ตามแต่แฟนคลับก็ยังไม่พอใจ มีการด่าทอจนเกิดกระแสของการแบนสินค้าไปเลย หลายคนมีการย้ายค่ายไปทานมาชิตะแทน และมีการเปรียบเทียบถึงการจัดงานของ 2 แบรนด์ว่ามีการจัดงานที่แตกต่างกันแค่ไหน และได้ใจแฟนคลับมากกว่าด้วย

แม้ส่วนแบ่งการตลาดของมาชิตะอาจจะไม่ได้พุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะเถ้าแก่น้อยครองส่วนแบ่งตลาดไปกว่า 60% แล้ว แต่สิ่งที่มาชิตะได้คือแบรนด์เลิฟที่มากขึ้น เพราะมีการเปรียบเทียบกันได้

ล่าสุดทางเถ้าแก่น้อยได้ออกแถลงการณ์ถึงการแก้ไขปัญหานี้แล้วว่า จะมีการจัดกิจกรรมแฟนมีตให้อีกครั้ง โดยที่แฟนคลับจะไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของกิจกรรม จะยกเลิกระบบ Top Spender และเชิญแขก VIP 

แต่สุดท้ายแล้วเถ้าแก่น้อยจะสามารถกู้คืนภาพลักษณ์แบรนด์ได้หรือไม่? เพราะผู้บริโภคยุคนี้ก็ความจำดี ไม่ได้ลืมง่ายอีกต่อไปแล้ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/case-study-drama-taokaenoi-x-f4/

เถ้าแก่น้อย อิมพอร์ตร้าน Hinoya Curry ขยายพอร์ตร้านอาหาร ลดความเสี่ยงพึ่งพานักท่องเที่ยว

เถ้าแก่น้อยรุกธุรกิจร้านอาหาร นำเข้าแฟรนไชส์ Hinoya Curry ร้านข้าวแกงกะหรี่ชื่อดังจากญี่ปุ่น เปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้า The Market Bangkok เป็นการขยายพอร์ตร้านอาหาร เพื่อกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยว

เจาะธุรกิจรีเทล ร้านอาหาร ลดการพึ่งพานักท่องเที่ยว

ถ้าพูดถึงแบรนด์เถ้าแก่น้อยเรียกว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดขนมขบเคี้ยวในไทย นอกจาเป็นผู้นำในตลาดสาหร่ายแล้ว ยังมีการแตกเซ็กเมนต์ไปยังกลุ่มอื่นมากขึ้นด้วยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

การขยายมาธุรกิจรีเทลก็เป็นอีกกลยุทธ์ของเถ้าแก่น้อย โดยมีการเปิดร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ จำหน่ายสินค้าในเครือ รวมถึงสินค้าที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว เป็นการตั้งบริษัทลูกเถ้าแก่น้อย เรสเตอรองท์ แอนด์ แฟรนไชส์ เพื่อบริหารธุรกิจรีเทล และร้านอาหารโดยเฉพาะ ได้เปิดมา 6 ปีแล้ว ปัจจุบันมีร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ 21 สาขา

ในปีนี้เถ้าแก่น้อยได้รุกธุรกิจรีเทล และร้านอาหารมากขึ้น ได้คว้าแฟรนไชส์ร้าน Hinoya Curry ร้านข้าวแกงกะหรี่ชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น มีต้นกำเนิดที่ Yushima ในกรุงโตเกียวตั้งแต่ปี 2011 ได้แจ้งเกิดจากการคว้ารางวัล Kanda Curry Grand Prix ปี 2013 การแข่งขันแกงกะหรี่ระดับประเทศ ปัจจุบันมีทั้งหมด 50 สาขา

จุดเริ่มต้นของการได้แฟรนไชส์ร้าน Hinoya Curry นั้นอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย เรสเตอรองท์ แอนด์ แฟรนไชส์ จำกัด เล่าว่า

ปกติเป็นชอบเที่ยวญี่ปุ่นอยู่แล้ว ไปเที่ยวแล้วก็ทำงานด้วย มีเพื่อนแนะนำให้ไปทานที่ร้านนี้เป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในญี่ปุ่น เป็นธุรกิจครอบครัวแบบเล็กพริกขี้หนู พอทานแล้วชอบเลยชวนมาทำไทยประเทศไทย เป็นสาขาแรกนอกประเทศญี่ปุ่นด้วย

อิทธิพัทธ์บอกว่าการที่ขยายมาธุรกิจรีเทลอย่างร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ ก็เป็นร้านที่เจาะตลาดนักท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างมาก โดยช่วง 3 เดือนแรกของปีมียอดนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 10%

เพราะฉะนั้นการขยายพอร์ตมายังธุรกิจร้านอาหารจึงเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลดการพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวซึ่งมีความผันผวนอยู่ตลอด และธุรกิจร้านอาหารเองก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีด้วย

สินค้าต้องแตกต่าง และตลาดยังมีช่องว่าง

ร้าน Hinoya Curry เป็นร้านอาหารร้านแรกของธุรกิจอาหารในเครือเถ้าแก่น้อย อิทธิพัทธ์มองว่าตลาดร้านอาหารในไทยมีมูลค่า 22,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 15%

กลุ่มร้านแกงกะหรี่ยังเป็นกลุ่มที่เล็กมาก มีผู้เล่นน้อย มีแบรนด์ใหญ่เพียงรายเดียวคือ CoCoICHIBANYA นอกนั้นเป็นร้านเล็กๆ ร้านโลคอล ผู้เล่นร้านอาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไปเล่นเซ็กเมนต์อื่นอย่างราเม็ง หรือซูชิ

แต่มองว่ามีโอกาสการเติบโตสูง เพระาพฤติกรรมคนไทยชอบทานข้าวกับแกงอยู่แล้ว และร้าน Hinoya Curry ก็มีจุดเด่นที่เป็นข้าวแกงกะหรี่คอนเซ็ปต์แกงมิดข้าว มีราคาเริ่มต้น 140 บาท และมีท็อปปิ้งให้เลือกใส่เพิ่ม 30 ชนิด

หลักการเลือกแบรนด์มาเติมในพอร์ตนั้น มีหลักการเลือก 3 อย่าง 1.ธุรกิจนั้นต้องมีตลาดแต่ยังไม่มีเติมเต็ม มีช่องว่าง มีโอกาสอยู่ 2.สินค้าต้องแตกต่างที่ได้เปรียบคุ่แข่ง และ 3.ต้องมีระบบการขยายธุรกิจที่ดี

เป้ารายได้ 1,000 ล้านใน 5 ปี

ตอนนี้ร้าน Hinoya Curry ได้เปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้า The Market Bangkok เป็นสาขาแรก โดยเตรียมเปิดอีก 1 สาขาในเดือนพฤษภาคม ในปีนี้ต้งเป้าขยายเพิ่ม 3-4 สาขา และเพิ่มเป็น 10 สาขาใน 3 ปี

ในปี 2018 เถ้าแก่น้อย เรสเตอรองท์ แอนด์ แฟรนไชส์มีรายได้รวม 280 ล้านบาท ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 400 ล้านบาทเพราะมีร้านอาหารเข้ามาเพิ่ม และมีรายได้ 1,000-1,400 ล้านบาทภายใน 5 ปี

พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนรายได้จากที่ปัจจุบัน เถ้าแก่น้อย เรสเตอรองท์ แอนด์ แฟรนไชส์ คิดเป็นสัดส่วน 7-8% ของเถ้าแก่น้อย ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 15% ในอนาคต

สรุป

เป้นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการอยู่รอดในการทำธุรกิจในยุคนี้ ต้องกระจายความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของบ้านเมือง ซึ่งธุรกิจร้านอาหารยังคงเป็นอาวรุง่ที่หลายธุรกิจลงมาจับ มีการแตกธุรกจิมายังธุรกิจนี้ การที่เถ้าแก่น้อยขยายธุรกิจมาเปิดร้านอาหาร ช่วยเสริมธุรกิจเดิมให้แข็งแรงขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/tkn-import-hinoya-curry-from-japan/

เปิดแผน “เถ้าแก่น้อยแลนด์” จากอาณาจักรสาหร่าย สู่ร้านของฝาก One Stop Shopping

นอกจากสินค้าในกลุ่มขนมแล้ว เถ้าแก่น้อยยังมีในส่วนรีเทลที่เป็นร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์สำหรับจำหน่ายสินค้าในเครือ โดยล่าสุดได้เพิ่มฟอร์แมตเถ้าแก่น้อย พลัส ขยับสู่ร้านขายของฝากแบบ One Stop Shopping

จากโชว์รูมสินค้า กลายเป็นร้านของฝากนักท่องเที่ยว

ในการสร้างแบรนด์ยุคนี้การที่จะนำแบรนด์วางขายตามช่องทางค้าปลีกอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ หลายแบรนด์ลุกขึ้นมาสร้างช่องทางการขายเป็นของตัวเองทั้งสิ้น อย่างเถ้าแก่น้อย ได้ปั้นร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์เพื่อหวังเป็นอีกหนึ่งช่องทางขายให้เข้าถึงผู้บริโภค

เถ้าแก่น้อยแลนด์ได้เริ่มต้นเมื่อปี 2553 หรือ 8 ปีที่แล้ว เปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ โดยที่ต๊อบ อิทธิพัทธ์ได้บอกว่าจุดเริ่มต้นตอนนั้นต้องการเปิดเป็นโชว์รูมให้คนไทยได้เห็นสินค้าของเถ้าแก่น้อยมากขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มมีเทรนด์นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยแล้วซื้อของไทยกลับไป ก็เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวซื้อเถ้าแก่น้อยกลับไปด้วย

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอยู่ที่การเปิดสาขาที่เทอมินัล 21” เมื่อปี 2555 ต็อบบอกว่าถือเป็นการเปิดในช่วงที่เหมาะสมมากเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเยอะมีเทรนด์คนมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นเพราะหลังจากเกิดวิกฤตน้ำท่วมไปแล้ว

จึงทำให้เถ้าแก่น้อยทำการปรับกลยุทธ์ในการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพระาได้เห็นดีมานด์คนซื้อเถ้าแก่น้อยมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทเติบโตมาตลอดทุกปี

ในร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ได้จำหน่ายสินค้าในเครือของเถ้าแก่น้อย ขนมต่างๆ เวย์โปรตีน รวมถึงของฝากอื่นๆ ที่มีคนฝากขายด้วย จับโลเคชั่นตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะ

ผุดเถ้าแก่น้อย พลัส อัพเกรดสินค้า Non-food

หลังจากเปิดเถ้าแก่น้อยแลนด์มาได้ครบ 8 ปีแล้ว ในปีนี้ก็ถึงเวลาที่อัพเกรดโมเดลใหม่เถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัสที่มีขนาดใหญ่กว่า สินค้าเยอะกว่า เป็นร้านของฝากคอนเซ็ปต์ One Stop Shopping ชนิดที่ว่านักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วได้ของครบทุกอย่าง ประเดิมสาขาแรกที่เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์

อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า

คอนเซ็ปต์ของเถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัส จะมีของทุกอย่างไม่ใช่แค่ขนมของเถ้าแก่น้อย แต่จะมีของที่ระลึกอื่นๆ ที่คนจีนต้องการ เช่น สมุนไพร เฮลท์แคร์ สกินแคร์ สินค้าเพื่อสุขภาพ เพราะตั้งแต่เปิดมาจะเห็น Pain Point ของลูกค้าว่าพอมาซื้อของที่ร้าน แล้วจะต้องไปซื้อของที่ระลึกอื่นๆ ต่อที่อื่น เลยต้องการทำให้ร้านเป็น One Stop Service เลย

ต๊อบบอกว่าปกติลูกค้าจะใช้เวลาในการช้อปปิ้งในร้านเฉลี่ย 20-30 นาที แต่อยากให้ใช้เวลานานมากกว่า 30 นาที เลยต้องsาคอนเทนต์อื่นๆ มาเติมให้หลากหลาย มีการศึกษาพฤติกรรมลูกค้าว่าชอบอะไร Journey ของลุกค้าส่วนใหญ่จะซื้อขนมแล้วต้องซื้อสกินแคร์ ยาดม สมุนไพรอื่นๆ

รวมถึงการหาอะไรทานเพิ่มเติมด้วยในสาขาต่อๆ ไปอาจจะมีโซนปรุงอาหารสดๆ ภายในร้าน มีมุมนั่งพักนั่งทานเล้กๆให้ใช้เวลาในร้านมากขึ้น

เถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัสจะมีพื้นที่ร้านเฉลี่ย 150-300 ตารางเมตร ใช้งบลงทุนเฉลี่ย 5-10 ล้านบาท/สาขา ในขณะที่เถ้าแก่น้อยแลนด์สาขาปกติจะมีพื้นที่ขนาด 50-150 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 2-3 ล้านบาท และยังมีโมเดลเถ้าแก่น้อยแลนด์ มินิมีพื้นที่ขนาด 20-50 ตารางเมตร แต่มีเพียง 2 สาขาเท่านั้น

จำนวนสินค้าภายในร้านก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากเดิมมี 1,000 รายการ ได้เพิ่มอีก 1,000 รายการ แบ่งสัดส่วนสินค้าเป็นกลุ่มอาหาร 60% และ Non-food 40% และภายในร้านเป็นสินค้าของเถ้าแก่น้อย 20%

การมีสินค้าเพิ่มมากขึ้นทำให้ลุกค้าใช้จ่ายมากขึ้นเช่นกัน มีการเติบโต 20% หรือมีการใช้จ่าย 600 บาท/บิล ตั้งเป้า 800-1,000 บาท/บิล

ใน 4 ปีต้องมี 100 สาขา

ปัจจุบันมีเถ้าแก่น้อยแลนด์รวม 20 สาขา และมีเถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัส 1 สาขา เป้าหมายคืออยากมี 100 สาขาภายใน 4 ปี แบ่งเป็นโมเดลเถ้าแก่น้อยแลนด์พลัส 40 สาขา เถ้าแก่น้อยแลนด์ 30 สาขา และเถ้าแก่น้อยแลนด์ มินิ 30 สาขา

โดยโจทย์ใหญ่คืออยากเปิดสาขาให้ครอบคลุมในประเทศไทย และจะเจาะพื้นที่สนามบินเพิ่มมากขึ้น เป็นร้านขายของที่ระลึกที่ครอบคลุมทุกจุดในประเทศไทย

ในปี 2560 เถ้าแก่น้อยมีรายได้รวม 5,200 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ต่างประทเศ 60% ในประเทศ 40% ส่วนเถ้าแก่น้อยแลนด์มีรายได้ 300 ล้านบาท ตั้งเป้าใน 4 ปีมีรายได้ 1,000 ล้านบาท

สรุป

ในช่วงหลายปีที่ผานมาเถ้าแก่น้อยมีการปรับตัวอย่างหนักทั้งในเรื่องสินค้าที่มีการแตกไลน์ไปยังกลุ่มอื่นมากขึ้นเพราะตลาดขนมไม่ค่อยเติบโตการบุกตลาดรีเทลก็ถือว่าสนใจไม่น้อยโดยเฉพาะการเจาะตลาดท่องเที่ยวเพราะเป็นตลาดที่มีการเติบโตขึ้นทุกปี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/tao-kae-noi-land-plus-one-stop-shopping/

ตลาดเวย์โปรตีนหอมหวานขนาดไหน ทำไม “เถ้าแก่น้อย” ถึงลงมาเล่น

ถ้าใครอยู่วงการฟิตเนส ออกกำลังกายจะทราบอย่างดีว่ามีแบรนด์ My Whey เวย์โปรตีนน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว เป็นแบรนด์ในเครือ “เถ้าแก่น้อย” ตลาดนี้มีโอกาสอย่างไร ทำให้เถ้าแก่น้อยถึงเลือกจับ

แตกแบรนด์กลุ่มสุขภาพ นอกเหนือจากสาหร่าย

ด้วยเทรนด์การดูแลสุขภาพที่มีมาหลายปีแล้วในประเทศไทย ทำให้คนไทยเลือกที่จะทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายมากขึ้น หลายคนเลือกเข้าฟิตเนส สร้างกล้ามเนื้อ เป็นเทรนด์ที่เห็นในกลุ่มดารา เซเลบริตี้ด้วย เทรนด์นี้ส่งผลให้ธุรกิจอื่นๆ มีการเติบโตเช่นกัน หนึ่งในนั้นก็คือ “เวย์โปรตีน”

เวย์โปรตีนเป็นที่นิยมในกลุ่มของผู้ออกกำลังกายในการเล่นเวทเทรนนิ่ง เพื่อเสริมกล้ามเนื้อ แต่เวย์โปรตีนที่ขายในไทยส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้นทั้งจากอเมริกา และยุโรป ที่สำคัญคือรสชาติไม่ค่อยถูกปากคนไทย

ในตลาดนี้ยังไม่มีตัวเลขมูลค่าตลาดที่ชัดเจนมากนัก เพราะถือว่าเป็นตลาดที่ใหม่ แต่เมื่อเทียบกับตลาดประเทศอเมริกามีมูลค่าสูงถึง 8,000 ล้านเหรียญ ปัจจุบันในไทยมีผู้เล่นในตลาดรวม 10 แบรนด์ 7 แบรนด์เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ อีก 3 แบรนด์เป็นแบรนด์ไทย

ทำให้ “เถ้าแก่น้อย” มองเห็นโอกาสครั้งใหญ่ในการบุกตลาดนี้ เพราะเป็นตลาดเกิดใหม่ ยังไม่มีผู้นำตลาดชัดเจน ผสมกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่นิยมดื่มเวย์โปรตีนมากขึ้น จึงได้ปั้นแบรนด์ “My Whey” ขึ้นมา โดยพัฒนาสูตรขึ้นมาเอง แต่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

ต็อบ-อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า

“แบรนด์นี้ถือเป็นแบรนด์หลักที่ 2 ต่อจากเถ้าแก่น้อยที่ทำตลาดมา 14 ปี ได้มองเห็นเทรนด์ออกกำลังกายมาสักพัก ซึ่งเห็นว่าโอกาสในตลาดนี้มีสูง ยังไม่มีผู้นำตลาดจริงๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นแบรนด์นำเข้า และเวย์โปรตีนยังมีจุดอ่อนเรื่องรสชาติ เลยคิดว่าจะต้องทำรสชาติที่ดื่มง่าย และราคาไม่แพง”

ต็อบได้เคลมว่า My Whey มีราคาสูงกว่าคู่แข่งราว 20% เมื่อเทียบกับปริมาณ แต่มีการอัดสารอาหารให้แน่น นอกจากโปรตีนยังมีวิตามิน และสูตรใหม่ยังมีคอลลาเจนด้วย

เริ่มเปิดจากขายออนไลน์

My Whey ได้เริ่มจำหน่ายเมื่อเดือนเมษายน 2560 ได้วางจำหน่ายที่ช่องทางออนไลน์ก่อน มีช่องทาง Movefast แพลทฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่ต็อบได้เข้าไปถือหุ้น และจำหน่ายผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่ง My Whey เป็นสินค้าตัวแรกที่เริ่มจากออนไลน์ 100%

และเมื่อต้นปีได้เริ่มขยายเข้าสู่ช่องทางออฟไลน์เริ่มจากร้านกลุ่มสุขภาพความงามอย่างวัตสัน เพราะตรงกลุ่มเป้าหมาย และเริ่มขยายเข้าสู่โมเดิร์นเทรดอื่นๆ

“ที่เริ่มจากออนไลน์ก่อนเพราะคิดว่าเป็นช่องทางที่เหมาะมากกว่า เพราะเป็นสินค้าที่มีมูลค่า ต้องใช้ช่องทาง Direct Sale ในการพูดคุยกับลูกค้า ทำความเข้าใจกับลูกค้าโดยตรง ถ้าสินค้าไปวางบนเชล์ฟไม่มีใครสนใจแน่นอน แต่เมื่อแบรนด์เป็นที่รู้จัก ก็จะเริ่มบุกช่องทางออฟไลน์มากขึ้น”

เปิดสูตรใหม่ ดึง “เบลล่า” พรีเซ็นเตอร์

ปัจจุบัน My Whey มีทั้งหมด 5 รสชาติ ได้แก่ ช็อกโกแล็ต ชาเขียว กาแฟ ชาไทย และล่าสุดคือรสชาติสตรอเบอร์รี่ โยเกิร์ต สูตรนี้ได้ออกมาจับกลุ่มสาวๆ โดยเฉพาะ ครั้งนี้ได้ดึงแม่หญิงการะเกด “เบลล่า ราณ แคมเปน” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ จากเดิมใช้ “วู้ดดี้” และ “กาละแมร์” เป็นพรีเซ็นเตอร์คู่

ในปีปีที่แล้ว My Whey สร้างยอดขาย 50 ล้านบาท ในปีนี้ได้ตั้งเป้า 100 ล้านบาทให้ได้

สรุป

ตลาดเวย์โปรตีนยังมีโอกาสอีกมาก เพราะคนไทยยังชื่นชอบการออกกำลังกายอยู่ โดยที่ My Whey มีการหาจุดขายใหม่ๆ จุดยืนใหม่ๆ ที่แตกต่างจากในตลาด ทำให้มีการขยายกลุ่มผู้ดื่มให้กว้างมากขึ้นด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/my-whey-tao-kae-noi/

“ต๊อบ เถ้าแก่น้อย” ร่วมลงทุน “SkillLane” บุกตลาดคอร์สออนไลน์ระดับองค์กร

นายเอกฉัตร อัศวรุจกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง SkillLane, นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน), ณัชชัชพงศ์ พีระเดชาพันธ์ กรรมการบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด(มหาชน) และนายฐิติพงศ์ พิสิฐุวุฒินันท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง SkillLane

“ต๊อบ เถ้าแก่น้อย” ร่วมวงลงทุน SkillLane บุกตลาดบีทูบี (Business-to-Business) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าองค์กรที่ต้องการให้พนักงานสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ทุกที่ ทุกเวลา

สำหรับใครที่อาจยังไม่คุ้นเคย SkillLane คือเว็บไซต์คอร์สเรียนออนไลน์ขนาดใหญ๋ เน้นการเสริมทักษะสำหรับคนทำงานเพื่อก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือการทำธุรกิจ โดยได้รวบรวมบทเรียนที่ครอบคลุมความต้องการสำหรับคนทำงานตั้งแต่เรื่อง การเงิน/การลงทุน ธุรกิจ การตลาด เทคสตาร์ทอัพ พัฒนาตนเอง คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ถ่ายภาพ/กราฟฟิก/ออกแบบ ภาษา เตรียมสอบ และไลฟ์สไตล์ ฯลฯ

คุณฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “สิ่งที่ SkillLane ได้ทำมาตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมานั้นตอบโจทย์ความต้องการของคนในปัจจุบัน ที่ต้องการการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้วยตนเองได้อย่างสะดวก ในช่วงเริ่มต้นเราเปิดบริการให้กับลูกค้ารายบุคคล แต่ในปีนี้เราได้ขยายบริการของเราให้กับลูกค้าองค์กรที่ต้องการซื้อคอร์สออนไลน์ให้กับพนักงาน

“โลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ตัวองค์กรควรสนับสนุนให้พนักงานได้พัฒนาตนเอง และอัพเดตความรู้ใหม่ๆ เพื่อที่จะช่วยกันผลักดันองค์กรให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า”

คุณเอกฉัตร อัศวุรุจิกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่คุณต๊อบ ได้เข้ามาเป็นนักลงทุนของเรา เพราะคุณต๊อบมีประสบการณ์พัฒนาบุคลากรของบริษัทเถ้าแก่น้อยตั้งแต่เริ่ม จนประสบความสำเร็จอย่างมาก เราเชื่อว่าคุณต๊อบจะสามารถให้คำแนะนำที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าองกรค์ได้”

ในฐานะนักลงทุน และผู้ถือหุ้น SkillLane คุณต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า “SkillLane จะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วในตลาด บีทูบี (Business-to-Business) เพราะ SkillLane เข้าใจพฤติกรรมคนวัยทำงานมาเป็นอย่างดีตลอด 2 ปี และได้รับการตอบรับที่ดีเสมอมา สิ่งสำคัญที่ SkillLane นั้นแตกต่างจากที่อื่นคือคุณภาพของเนื้อหา และระบบการเข้าเรียนที่สร้างมาบนพื้นฐานของความต้องการของผู้ใช้งานที่แท้จริง”

ปัจจุบัน SkillLane ได้รับความไว้วางใจจากนักเรียนกว่า 100,000 คน ที่ได้เรียนผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน

 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/02/tkn-invested-course-online-skilllane/