คลังเก็บป้ายกำกับ: สโรจ_เลาหศิริ

แก้ Crisis Management ให้เหมือนกับง้อแฟน เทคนิครับมือกับวิกฤติของ บี-สโรจ เลาหศิริ

“การแก้วิกฤติเหมือนกับการที่เราทะเลาะกับแฟน  ในวันที่โกรธยกเหตุผล 108 มาอ้างก็คงไม่ฟัง  และสิ่งที่แฟนทุกคนต้องการคือ ‘แสดงให้ฉันเห็นว่าเธอแคร์ เธอฟังฉัน รอให้ฉันอารมณ์เย็นแล้วค่อยคุยกันด้วยเหตุผล’ 

นี่คือสิ่งที่ บี สโรจ เลาหศิริ Chief Marketing Officer ของ Rabbit Digital Group ที่ดูแลเเรื่องกลยุทธ์และการตลาด และเจ้าของเพจ สโรจขบคิดการตลาด บอกกับเราถึงวิธีรับมือกับ Crisis หรือ วิกฤติอย่างไรไม่ให้กลายเป็น ‘หายนะ’ อีกรอบสำหรับแบรนด์  และเล่าว่าในการทำ Crisis Management นั้นแบรนด์ควรต้องให้ความสำคัญกับสิ่งไหนบ้าง

ทำไมการแก้ Crisis ถึงสำคัญ

สโรจ: แน่นอนอันดับแรกผลกระทบต่อชื่อเสียงของแบรนด์สินค้า  ต่อมาคือกระทบต่อยอดขายตามมาเมื่อเห็นความไม่เชื่อในแบรนด์จนคนก็ไม่กล้าซื้อสินค้า

อีกอย่างคือเป็นวิกฤติในแง่ของความรู้สึก คนก็อาจจะแบนแล้วบอยคอตน์ ต่อต้าน เวลาที่แบรนด์ทำโฆษณาก็จะคอยมาคอมเมนต์ด่าอยู่ตลอดเวลา

จริงๆ วิกฤติเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับแบรนด์และสินค้า  เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนเกิดวิกฤติบ่นกับใครไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้คนไม่ทำแบบนั้นแล้ว  สิ่งที่มันเร็วและได้ Attention มากที่สุดคือการลงโซเชียลแล้วเดี๋ยวแบรนด์จะวิ่งมาแก้ปัญหาเอง

แบรนด์ควรซ้อมก่อนเกิด Crisis จริง

สโรจ: ผมย้อนไปนิดนึงนับเป็น 0 1 2 3 4 ซึ่ง 0 คือซ้อมเจอวิกฤติ  วางแผนก่อน Crisis Planning วางแผนรับมือวิกฤติ มาเซ็ตกันก่อนว่าอันไหนคือวิกฤติ เป็นสีเขียว เหลือง แดง ทุกคนที่เกี่ยวควรคุยกัน เพราะมันร้ายแรงไม่เท่ากัน เซ็ทร่วมกัน มี Protocal เป็นลำดับ 1 2 3 4 และที่สำคัญต้องซ้อมโดน  อย่างถ้าวันนี้มีคนบอกว่าตายเพราะสินค้า ตอบได้ไหมตอบภายใน 10 นาทีให้ได้ว่าต้องโทรหาใคร

ขั้นตอนสำคัญในการรับมือกับ Crisis

สโรจ: Step 1 Track Crisis บางคนใช้ Tools มาช่วย เช่น Social Listening Tools ต่างๆ  แต่ว่าจากที่ผมเคยแก้ Crisis มา ไม่มี Tools ไหนจัดการกับ Crisis ได้ดีกว่ามนุษย์อดนอน ใช้คนนั่ง Track นั่งเล่น Pantip เจอกระทู้นี้ปุ๊ปเห็นแล้วมัน Track ได้เร็วกว่า

Step 2 Holding Statement เป็นการที่แบรนด์ต้องรีบพูดก่อนที่เรื่องราวจะใหญ่โต  เพราะปกติดราม่าจุดประเด็นเรื่องหนึ่งชาวเน็ตจะขุด  อย่างดราม่าดาดราที่ต่อมเผือกทำงานไปขุดข่าวเก่าเคยเกิดอะไรมาบ้าง  ฉันก็เจอเหมือนกัน

Step 3 Handle the Crisis คือ ‘การสืบหาความจริง’ เพราะเรามี Protocol อยู่แล้วก็ไปสืบหามาว่าข้อกล่าวหานี้เป็น Fact ไหม ปัญหาอยู่ที่อะไรรีบหาคำตอบว่าให้ได้เร็วที่สุด ผิดก็ว่าไปตามผิด ถ้าเราไม่ผิดก็ชี้แจง 1 2 3 4 5 ต้องบอกว่าชาวเน็ตไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้นเขาเป็นคนมีเหตุผล  ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณยืนยันในสิ่งที่ถูกต้องมันก็จะมีคนเห็นสิ่งนั้นอยู่

Step 4 Mornitor & Recover คือ ตามเก็บงานคือมอนิเตอร์ไว้ไม่ใช่โพสต์เสร็จแล้วก็จบ  ถ้าเสิร์ช SEO แบรนด์ของเราสิ่งนี้ยังขึ้นอยู่ไหม  ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขหรือยัง ลองมอนิเตอร์ดูว่า Social Voice ไปหมดหรือยัง Search Engine มันหายไปหรือยัง  หรือเรื่องนี้มันกลายเป็น Top Rank ที่คุณต้องเริ่มสร้างข่าวดีๆ ลงไป  เพราะอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นแล้วมันจะอยู่ในดิจิทัลตลอดไป  ที่เราเรียกว่า ‘Digital Footprint’

ซึ่งต้องหาวิธีใส่ข่าวดีเข้าไป  จากนั้นดูว่ามีกระทู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้างไหมในประเด็นนี้  และมีแถลงการณ์ไปแนบครบหรือเปล่า

Crisis ควรต้องจบใน 48 ชั่วโมง

สโรจ: ส่วนใหญ่แล้ว Crisis จะอายุประมาณ 48-72 ชั่วโมง ก็จะเงียบหายไป  เป็นเรื่องปกติตามเพลงพี่ป็อป..แล้วมันจะผ่านไปด้วยดี  แต่ผ่านไปด้วยดีเราก็กลับไปทำงานอย่างสบายใจได้  แต่ถ้าปมไม่ถูกแก้รอละลอกใหม่ได้เลย

บางทีแบรนด์ก็ ‘พลาด’

สโรจ: อย่างล่าสุดที่เห็นกันมีแอดมินเพจในตำนานซึ่งผมต้องบอกก่อนว่าก็ชื่นชอบและติดตามผลงานของแอดมินนี้เพราะว่าเร็วมาก  ยังเคยแซวเลยว่าถ้าจะไปหา Tools Social Listening จากไหน  ให้ไปถามว่าแอดมินเพจนี้ใช้ Tools อะไรแล้วไปเอามาใช้เพราะมันเร็วมาก

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ‘เร็วไป’ บางทีจับมาเล่นเรียลไทม์บางครั้งเราต้องเลือก  เพราะมันมีเส้นบางๆ ระหว่างพอดีๆ คาบเส้น กับเลยเถิด  และบังเอิญว่าสิ่งไปที่ไปจับมันเป็นเรื่องที่ Sensitive ซึ่ง Sensitive มีอยู่ 2 เด้ง  เด้งแรกในแง่ประเด็นเรื่อง ‘Cyberbully’

ซึ่งน้องคนนี้ก็รณรงค์เรื่องนี้พอดีนั่นคือเด้งแรก  เด้งที่สองคือเราไปแตะ BNK ที่มีกลุ่มแฟนแบบเหนียวแน่นจนเรียก ‘Brand Guardian’ ที่พร้อมที่จะมาปกป้องในสิ่งที่เขารักและโจมตีกลับ

สิ่งที่พลาดไปนิดนึงคือพอเล่นเสร็จอาจจะคิดหรือไม่คิดก็ได้ถึงผลที่ตามมา  มันกลับกลายเป็นว่าเรียกแขกให้เข้ามาตอกย้ำประเด็นเรื่อง Cyberbully เข้ามาด่าอีก  รวมถึงเจ้าตัวเองก็ตั้งกระทู้แล้วต้องบอกว่า ‘เขียนดี’ เพราะน้องเขาเขียนเรื่องประเด็นของการเรียกไลค์  โดยมองข้ามการที่ต้องทำร้ายคนหนึ่งคนเพื่อให้ตัวเองมีชื่อเสียงขึ้นมาซึ่งเขียนดีมาก จึงทำให้แอดมินเพจนี้โดนโจมตีทันที

และแน่นอนว่าพอออกแถลงการณ์แก้ไขเสร็จแล้วก็ดำเนินชีวิตต่อไป  ที่แน่นอนอาจจะต้องมี Policy ที่แน่นหนาขึ้นที่จะต้องแตะประเด็นเหล่านี้

ถ้าแก้ดีก็พลิก ‘วิกฤติ’ ให้เป็น ‘โอกาส’ ได้

สโรจ: ผมชอบของต่างประเทศก่อนเป็นเคสของ KFC มันมีกรณีที่บริษัท KFC เปลี่ยนคนส่งไก่จากอีกเจ้าหนึ่งเป็นเจ้าหนึ่ง  ซึ่งเจ้าใหม่ที่มาทำการกระจายส่งไก่ไปทั่วไปประเทศเกิดความผิดพลาดทำให้ KFC ทั่วประเทศไม่มีไก่ขาย  จนแฟน KFC มากินทุกวันแบบนี้มันไม่ Professional และทำให้ความโกรธกระจายไปทั่ว Social

สิ่งที่ KFC ทำคือการซื้อหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งแล้วออกแถลงการณ์  ซึ่งสิ่งที่เขาทำก็คือว่าพิมพ์ โปสเตอรเป็นรูปถังไก่แล้วก็ไก่หมด  แล้วเปลี่ยนโลโก้ตัวเอง KFC เป็น FCK ย่อเป็นคำอุทานว่า F_CK

ภาพจาก – Reddit

เหมือนเล่นตัวเองแล้วบอกไปตามตรงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง  ทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น  แล้วเรามั่นใจว่าเรื่องนี้รับไม่ได้เราจะขอดำเนินการส่งไก่ให้ทุกคนให้เร็วที่สุดขอภัยจริงๆ  แค่นี้แล้วถ่ายรูปลง Twitter ลง Social คนแชร์เยอะมากแล้วก็แน่นอนว่า  จนคนบอกว่ารู้สึกให้อภัยเพราะเล่นเรื่องเลวร้ายแบบนี้ด้วยอารมณ์ขัน

ซึ่งในต่างประเทศ KFC เป็นแบรนด์ที่เล่นกับเทรนด์เยอะมาก เช่น เอาผู้พันแซนเดอร์ไปเล่นกับเทรนด์  มีความขี้เล่นเยอะ เวลาเกิด Crisis จึงเอาความขี้เล่นนี้เล่นกับตัวเองด้วย

ในวันนั้นหาก KFC ไม่ได้แก้สถานการณ์แบบนี้  อาจจะออกแถลงการณ์แบบอื่นแบบซีเรียสจริงจังก็แก้ได้  เพียงแต่ว่ามันก็เป็นท่ามาตรฐานของการแก้ Crisis แต่ KFC ใส่ Creativity ลงไป  แล้วคนก็รัก KFC มากขึ้น  เรียกได้ว่า ‘พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยแท้จริง’

บางเรื่องมันพลาดกันไม่ได้

สโรจ: เช่นเดียวกันในแต่ละอุตสาหกรรมมันมีเรื่องที่ ‘พลาดไม่ได้’ เพราะ Crisis มันมีโอกาสผิดพลาดเล็กน้อยกับพลาดไม่ได้เลย  อย่างเรื่องของอาหารเราก็ไม่ควรพลาดเรื่องของความสะอาด  เพราะสุขอนามัยผิดพลาดไม่ได้  หรือแม้กระทั่งถ้าเราเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัย  สิ่งที่พลาดไม่ได้คือระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ปลอดภัย

First Re-Action สำคัญที่สุด

สโรจ: แถลงการณ์แรกแสดงออกว่าสำนึกผิดไหม แถไหม ที่เราเห็นบ่อยๆ คือเรายึดมั่นในคุณธรรม ในเรื่องนี้ เราไม่ยอม..เฮ้ย..เราไม่สนว่าคุณยึดมั่นในเรื่องอะไร  ถ้าคุณยึดมั่นเรื่องนี้ต้องไม่เกิดขึ้นสิ

นั่นแปลว่าสิ่งที่เราต้องการฟังจาก First Reaction คือ ‘ความรู้สึกรับผิดชอบ’ กับเรื่องที่เกิดขึ้นและคำสัญญาว่าจะทำอะไรต่อ อย่าง Dolce & Gabbana กรณีตะเกียบและพิซซ่าอันโด่งดัง  สิ่งที่พลาดของเคสนี้คือ First Reaction เพราะการออก Holding Statement เท่ากับ First Reaction ที่ออกมากลายเป็นว่าทำให้มันกระพือไปอีก

กลายเป็นว่าเป็นการด่ากลับ หรือเหยียดกลับ  โดยบอกว่าอะไรแค่นี้นักหนา  จนทำให้เรื่องราวใหญ่โตจนสุดท้ายต้องเปิดการ์ด ‘รู้เท่าไม่ถึงการณ์’ แต่ความเสียหายก็เกิดไปแล้วก็คือถูกแบน ยกเลิกจัดงาน และแบรนด์ดังๆ ไม่ร่วมสังคายนาด้วยเลย

ภาพจาก – CNN

หรือ First Reaction ของ American Airline กรณีลากผู้โดยสารที่โดนลากลงจากเครื่องบิน  ซึ่ง First Reaction หรือสิ่งที่ผู้บริหารทวีตออกมาว่าทำถูกต้องตาม Protocal แล้ว  แต่ว่าเราขอโทษกับ ‘เรื่องวุ่นวาย’ ที่เกิดขึ้น  เรายังคงรักษาและยึดมั่นในการดำเนินการตาม Protocal ทำให้คนรู้สึกว่าสายการบินไม่ได้อยู่ข้างลูกค้า  จนส่งผลหุ้นก็ร่วงระนาว

ภาพจาก – Inc

ดังนั้นเวลาวิเคราะห์ Social ต้องบอกเลยว่าเขาโจมตีคุณเรื่องอะไรบ้าง  และจะออกแถลงการณ์มาก็ควรต้องแก้ให้ครบ

เดี๋ยวมันก็ผ่านไป

สโรจ: Crisis มีเข้ามาแล้วก็มีจากไป  วันนี้หลายคนก็คงลืมไปแล้วว่าปีที่แล้วเกิด Crisis อะไรกับแบรนด์บ้าง  และคนก็ยังอุดหนุนแบรนด์ๆ นั้นอยู่  โดยที่ความรู้สึกมันจางไปแล้ว  แต่ถ้าเราไม่ได้ไปแก้ที่ปมหลับหูหลับตาปล่อยให้เรื่องเงียบไปเรื่องนั้นก็จะโดนขุดมาอีกรอบหนึ่ง  สิ่งสำคัญคือการแก้ปม มอนิเตอร์ Recover เป็นเรื่องที่ดีเพื่อป้องกันอนาคตเพื่อไม่ให้เรื่องเดิมถูกขุดขึ้นหรือเกิดขึ้นมาอีก

สิ่งสำคัญที่สุดที่สโรจพยายามย้ำในการแก้ Crisis คือต้องจำอยู่เสมอว่าเวลาบริหารวิกฤตินั้น  ‘เรากำลังบริหารความรู้สึก ไม่ใช่บริหารความจริง’ หมายความว่าตอนนี้ชาวเน็ตกำลังโกรธเพราะเรื่องนี้มันไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง  และควรดูให้ดีว่าตอนนี้ชาวเน็ตพร้อมที่จะฟังหรือเปล่า  ไม่งั้นจะกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าเดิมได้

 

 

 

 
Source: thumbsup

from:https://thumbsup.in.th/2019/03/crisis-management-bee-saroj/

เกิดอะไรขึ้นบ้างกับ Digital Marketing ในปี 2018 แล้วหลังจากนี้ปี 2019 จะเดินไปทิศทางไหนดี?

การเสวนาในหัวข้อ Digital Marketing Trends ในงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2019 โดยมีคุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร (ตูน) EVP Head of Marketing ธนาคารไทยพาณิชย์ และคุณสโรจ เลาหศิริ (บี) Chief Marketing Officer Rabbit’s Tale
การเสวนาในหัวข้อ Digital Marketing Trends ในงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2019 โดยมีคุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร (ตูน) EVP Head of Marketing ธนาคารไทยพาณิชย์ และคุณสโรจ เลาหศิริ (บี) Chief Marketing Officer Rabbit’s Tale

บทความนี้ถอดความมาจากงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2019 โดยมีคุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร (ตูน) EVP Head of Marketing ธนาคารไทยพาณิชย์ และคุณสโรจ เลาหศิริ (บี) Chief Marketing Officer Rabbit’s Tale ร่วมเสวนาในหัวข้อ Digital Marketing Trends

  • คำถามแรก เกิดอะไรขึ้นบ้างสำหรับ Digital Marketing ในปี 2018

โลกกำลังหมุนไปสู่ยุคเอา Data มาประยุกต์ใช้กับแคมเปญการตลาด

คุณตูน-สุธีรพันธ์ บอกว่า ในฐานะที่เป็น Head of Marketing (หัวหน้าฝ่ายการตลาด) ของ SCB มีโอกาสได้ดูแลการตลาดทุกส่วน จึงมองอย่างคนที่เห็นภาพรวมทั้งหมด โดยสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2018 และชัดเจนมากสำหรับการทำ Digital Marketing คือการนำเอา Data มาประยุกต์ใช้การกับแคมเปญการตลาด

การนำเอา Data มาประยุกต์ใช้กับแคมเปญการตลาด (Data Utilization) เป็นเทรนด์ที่มาแน่นอน และที่สำคัญมาในหลายอุตสาหกรรม ไม่ใช่เพียงแค่ธนาคารเท่านั้น อย่างเช่น Agency รายใหญ่ๆ ก็นำเอา Data มาใข้แล้ว เช่น โอกิลวี่, เลเบอเนต-รายนี้มีบริษัทลูกที่เชี่ยวชาญเรื่อง Data มาก รวมถึงเจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ก็กำลังจะรวมตัวกับ Wunderman ที่เป็นบริษัท CRM ใหญ่ของโลก

สรุปคือ Agency ยักษ์ใหญ่ของโลกจะประกาศตัวเอา Data มาใช้งานในทางความคิดสร้างสรรค์ เรียกได้ว่ามันจะเป็นหลักการของการทำงานในอนาคต

คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร (ตูน) EVP Head of Marketing ธนาคารไทยพาณิชย์
คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร (ตูน) EVP Head of Marketing ธนาคารไทยพาณิชย์

แต่ทั้งนี้การนำเอา Data มาใช้กับการแคมเปญการตลาด ไม่ใช่การมานั่งพูดว่า Data หรือ Big Data สำคัญอย่างไร เพราะมันสำคัญอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ควรพูดคือ ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีรองรับแล้วหรือยัง รวมถึง Mindset ของบุคลากรในองค์กรพร้อมแล้วหรือยังมากกว่า

คุณตูนยกตัวอย่างของ SCB ที่นำเอา Data มาใช้ โดยบอกว่า โดยปกติคนทั่วไปจะมองเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, YouTube แต่เบื้องหลังของมันคือการนำเอา Data มาใช้งาน บางโปรเจกต์ลงสื่อไป 3-5 ล้านบาท แต่เราได้เงินกลับคืนมา 3,000 ล้าน นั่นเป็นเพราะเรานำเอา Data มาใช้งาน เราเอา Data มาทำให้เรามองเห็นว่ามี sale signal อยู่ตรงไหน และเอาจุดนั้นมาใช้ทางการตลาด

นอกจากนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่สอดคล้องกันคือ DMP หรือ Data Management Platform (ระบบที่ช่วยนักการตลาดจัดการข้อมูลที่เข้ามามากมายในแต่ละวัน) เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมาจะมีแต่เรื่อง social media conference แต่นับจากนี้ไปจะมีแต่ DMP conference

DMP คือการเอา Data จากหน้าร้านและในโซเชี่ยลมีเดียมากองรวมกัน และพยายามทำให้เรามองเห็นสัญญาณอะไรบางอย่างจาก Data กองนั้น โดยเครื่องมือโซลูชั่นในปีนี้อาจจะมีราคาแพง ต้องเป็นระดับใหญ่แบบธนาคารหรือผู้ให้บริการโทรคมนาคมถึงจะใช้ได้ แต่พอถึงจุดหนึ่ง  DMP จะกลายเป็นโซลูชั่นที่ใครๆ ก็สามารถใช้งานได้ จะเหลือเดือนละประมาณ 2-3 พันบาท คือสุดท้ายแล้ว DMP จะเริ่มราคาตก คนเข้าถึงง่ายขึ้น ดังนั้นใครเรียนรู้ก่อน ทำความเข้าใจได้ก่อน ก็ย่อมได้เปรียบ

คุณสโรจ เลาหศิริ (บี) Chief Marketing Officer Rabbit’s Tale
คุณสโรจ เลาหศิริ (บี) Chief Marketing Officer Rabbit’s Tale

หมดยุคทำหนังซึ้ง-กินใจ ยุคถัดไปคือสร้างแบรนด์ร่วมกับผู้บริโภค

คุณบี-สโรจ มองว่า หนึ่งในปรากฏการณ์ของปี 2018 คือการที่ลูกค้าหรือนักการตลาดก้าวหน้ามากขึ้น เพราะจากประสบการณ์คนที่เข้ามาแล้วหวังไวรัลหรือเพจไลค์แทบไม่มีแล้ว ดังนั้นถ้าใครยังบรีฟแบบนี้อยู่คือล้าหลังไปแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ลูกค้าไม่ได้มองดิจิทัลเป็นการสื่อสาร แต่มองว่าเป็นโอกาส ลูกค้ามองหาความสร้างสรรค์ การสร้างประสบการณ์ของผู้บริโภคในมุมดิจิทัล ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าเริ่มมองหาการสร้าง CRM (การทำให้ลูกค้ารู้สึกผูกพันธ์กับสินค้า บริการ หรือองค์กรนั้นๆ), การสร้างแพลตฟอร์ม, การทำระบบตอบโต้ลูกค้า, การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ, เส้นทางของผู้บริโภคตั้งแต่เห็นโฆษณาที่ปล่อยออกไป แล้วไปที่ไหนต่อ กล่าวคือเป็นการลงทุนเพื่อสร้างระบบตอนนี้เริ่มเห็นหลายแบรนด์ที่ทำ CRM แล้ว เช่น ลงไปทำแคมเปญจริงจังผ่าน LINE, ไปทำแอพพลิเคชั่น หรือเริ่มทำแชทบ็อต นี่คือเทรนด์ของปี 2018 ที่เริ่มเห็นบรีฟมาในแนวทางนี้

โดยสรุปคือ มันหมดยุคของการสร้าง emotional สร้างหนังยาวๆ จบแล้วซึ้ง นั่นเป็นการสร้างแบรนด์ที่แบรนด์เป็นคนสร้างฝ่ายเดียว แต่เทรนด์ต่อไปคือ การสร้างแบรนด์ที่แบรนด์สร้างร่วมกันกับผู้บริโภค ไม่ใช่เอาคอนเทนต์มา emotional นำอย่างเดียว เพราะมันจะกลับไปจุดที่คุณภาพสินค้าและบริการแล้ว ถ้าสินค้าไม่ดี ต่อให้ทำหนังซึ้งแค่ไหน สร้างสรรค์แค่ไหน แต่ประสบการณ์ลูกค้าไม่ดี การสร้างแบรนด์ก็ไม่เกิด

ดังนั้น เมื่อสินค้าดี การสื่อสารก็ต้องดี มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ดูอย่างแอดมินตามเพจต่างๆ สังเกตดูว่าจะไม่ค่อยเป็นบ็อท แต่เป็นคนจริงๆ มาตอบ แอดมินหยอกล้อเล่นกัน ทำผิดก็ยอมรับ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์

การเสวนาในหัวข้อ Digital Marketing Trends ในงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2019 โดยมีคุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร (ตูน) EVP Head of Marketing ธนาคารไทยพาณิชย์ และคุณสโรจ เลาหศิริ (บี) Chief Marketing Officer Rabbit’s Tale
การเสวนาในหัวข้อ Digital Marketing Trends ในงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2019 โดยมีคุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร (ตูน) EVP Head of Marketing ธนาคารไทยพาณิชย์ และคุณสโรจ เลาหศิริ (บี) Chief Marketing Officer Rabbit’s Tale

เทรนด์ Digital Marketing ปี 2019 เดินไปทิศทางไหนดี?

  • Conversion is a King!

คุณตูน บอกว่าในปี 2019 Digital Marketing จะเป็นกระแสหลัก (mainstream)

จากประสบการณ์ของตนเองกับการทำแคมเปญของ SCB จะเห็นได้ว่าตอนนี้การทำการตลาดเป็นดิจิทัลทั้งหมดแล้ว มีเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นออฟไลน์ ยุคนี้สื่อออฟไลน์ได้เป็น niche (เฉพาะกลุ่ม) ไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะซื้อรายการวิทยุ ก็ต้องแน่ใจว่าแคมเปญนั้นจะเจาะไปถึงกลุ่มคนฟังวิทยุจริงๆ 

Digital Maketing ในปีนี้จะมีกษัตริย์องค์ใหม่คือ conversion ปีนี้การทำการตลาดดิจทัล แบรนด์จะต้องมองไปที่ประสบการณ์ลูกค้าเป็นอันดับแรก ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการตลาดไม่ว่าจะเป็นของ Adobe ที่เคยจำกัดวงแคบๆ อย่าง perfomance marketing สุดท้ายมันจะกลายเป็นเมนสตรีม เราจะไม่มีการพูดคุยเรื่องสตอรี่บอร์ด ร้องไห้ที่วินาทีไหน อีกต่อไป

  • ผสมออนไลน์-ออฟไลน์ ใช้ Data ให้เป็น มองให้ขาด เพื่อออกแบบการตลาด

ด้านของคุณบี มองว่า จะมี 3 สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับ Digital Marleting ในปี 2019

  1. ออฟไลน์-ออนไลน์ ต้องใช้ด้วยกัน: นับตั้งแต่นี้สื่อออนไลน์ยิ่ง “แพง” ขึ้น ดังนั้นอย่าไปทุ่มออนไลน์อย่างเดียว ต้องทำออฟไลน์ด้วย ทิ้งไม่ได้ เพราะเป็นสื่อช่วยย้ำภาพจำให้กับผู้บริโภค ที่สำคัญจะทำให้ loop ของประสบการณ์ลูกค้าครบวงจร ยกตัวอย่างเช่น Netflix ที่เป็นบริการออนไลน์ แต่ทุ่มงบโฆษณาออฟไลน์เยอะมาก (ดูได้จากแคมเปญปีใหม่ 2019 #ไม่ไปไหนไปNetflix) ก็ไม่แน่ว่าปี 2019 นี้ อาจพลิกกลับกลายเป็นว่าสื่อออฟไลน์คือกุญแจสำคัญของการตลาดดิจิทัล นั่นอาจหมายความว่าใครที่แตะผู้คนในโลกความเป็นจริงได้มากกว่ากัน คนั้นก็ชนะ
  2. บรีฟงานต้องเริ่มจาก Data: อย่าทิ้ง Data ไว้ปลายน้ำ ถ้าบรีฟงานต้องนำเอา Data ขยับมาอยู่ที่ต้นน้ำ มาอยู่ที่การเริ่มต้นของการบรีฟ เพราะค่าโฆษณาราคาแพงขึ้น ในขณะที่งบประมาณที่ใช้ยังเท่าเดิม ดังนั้นนักการตลาดต้องหาคนที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ให้เจอ ต้องนำ Data มาใช้ในการแบ่งสัดส่วน ตั้งแต่การสร้างบรีฟ สร้างโปรดักต์ และหาความต้องการของผู้บริโภค
  3. นักการตลาดต้องใช้หลักวิศวะในการออกแบบแคมเปญ: ปีนี้นักการตลาดจะต้องทำ Engineering Marketing คือการออกแบบการตลาดโดยใช้หลักวิศวะ เพราะวันนี้นักการตลาดต้องมองข้อมูลให้ขาด แล้วนำไปคิดต่อยอดจากข้อมูลประสบการณ์ลูกค้าที่มีอยู่

อะไรคือสิ่งที่ห้ามทำในปี 2019

สำหรับคุณตูนมี 3 สิ่งที่นักการตลาดดิจิทัลห้ามทำเด็ดขาดในปี 2019 ได้แก่

  1. ห้ามเอาสตอรี่บอร์ดไปขายเจ้านาย: เพราะเจ้านายไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจเรื่องเนื้อหาที่จะใช้ในการทำการตลาด หน้าที่ของเจ้านายคือการปลดล็อคอุปสรรคให้ลูกน้อง โดยต้องปล่อยให้ลูกน้องทดลอง และหากเกิดความผิดพลาด เจ้านายคือคนที่จะช่วยฟื้นฟูความเสียหาย
  2. อย่าขายงานแค่แบบเดียว จงทำให้ไว้เผื่อเลือก: ยุคนี้ห้ามทำคอนเทนต์แบบเดียว ต้องสร้างทางเลือกเสมอ เพราะแต่ละแพลตฟอร์มมีจริตที่ต่างกัน
  3. อย่าเป็นฝนเทียม แต่จงเป็นกรมชลประทาน: ข้อนี้สำคัญมาก เพราะนี่ความแตกต่างของการตลาดยุคใหม่กับยุคก่อน แน่นอนว่าแคมเปญการตลาดคือการสร้างคุณค่า (value) ให้กับแบรนด์ แต่ถ้าเราเปรียบคุณค่าของการตลาดเป็น “น้ำ” แคมเปญการตลาดก็คือ การบังคับให้น้ำไหลไปยังทิศทางที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย พืชผลก็งอกงาม สินค้าขายดี แต่ถ้าไม่มีฝนตก นักการตลาดก็ทำฝนเทียม และคาดหวังว่าฝนจะไปตกในไร่นาที่ขาดแคลนน้ำ แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะฝนอาจไปตกผิดที่ผิดทาง พื้นที่ที่แล้งก็ยังไม่หายแล้ง พื้นที่ที่ไม่แล้งดันน้ำท่วม ดังนั้น นักการตลาดยุคใหม่ต้องทำตัวเป็นกรมชลประทาน ออกแบบเส้นทางน้ำให้น้ำไหลไปยังทิศที่ถูกต้องไปสู่ผู้บริโภค ไปยังที่ที่ขาดน้ำจริงๆ เพราะฉะนั้นหลักคิดคือ จงเป็นกรมชลประทาน อย่าเป็นฝนเทียม

สำหรับคุณบีมี 2 สิ่งที่นักการตลาดดิจิทัลห้ามทำเด็ดขาดในปี 2019 ได้แก่

  1. หยุดทำแผนการตลาดดิจิทัลแบบเดิมๆ ซ้ำซาก: การทำแผนแบบการตลาดดิจิทัลแบบเดิม (traditional digital marketing) คือแผนการตลาดที่เปิดตัวสินค้า จากนั้นทำหนังฮีโร่ ส่งให้เหล่า Influencer ช่วยแชร์ ติดแฮชแท็ก เสร็จแล้วก็ทำคอนเทนต์ตามมา อาจจะซื้อบทความ-วิเคราะห์เพื่อบอกว่าแผนการตลาดนี้เจ๋งมาก อันนี้เป็นสูตรแบบเก่ามาก ไม่ได้ผลแล้วเพราะอันที่จริง ผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยเล่น Facebook กันแล้ว แต่นักการตลาดยังอินกับ Facebook อยู่ นักการตลาดยุคใหม่จึงต้องคิดใหม่ได้แล้ว
  2. หยุดทำหนังซึ้งกินใจ ยอดวิวสิบล้าน แต่ขายไม่ได้ก็ไร้ผล: นักการตลาดยุคนี้ต้องคิดให้มากขึ้น ต้องเอา Data มาประยุกต์ใช้จริงจัง เลิกทำการสื่อสารผ่านหนังโฆษณาที่หวังว่าจะกินใจผู้บริโภค คือต่อให้มียอดวิวสิบล้านแต่ไม่ได้เอาคอมเม้นท์ผู้บริโภคมาปรับปรุงสินค้าและบริการ หรือปล่อยปละละเลย Data ที่เกิดขึ้นหลังบ้าน ตรงนี้ควรต้องเปลี่ยนให้หมดได้แล้ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/digital-marketing-trends-from-ctc-2019/

เปิดมุมมอง “สโรจ-นรนิติ์” นักโฆษณาดิจิทัลแห่งปีที่ชี้ว่าการตลาดทุกวันนี้เข้าสู่ยุค “ปลาเร็วกินปลาช้า”?

จากผลการประกาศรางวัลเวที DAAT Award 2017 ที่ผ่านมาในหัวข้อ บุคคลโฆษณาดิจิทัลเยี่ยมยอดแห่งปี 2559 นอกจากชื่อของบุคลากรของเอเจนซียักษ์ใหญ่ที่หลายคนรู้จักกันดีจะได้ปรากฏบนเวทีในฐานะผู้ได้รับรางวัลแล้ว ชื่อขององค์กรน้องใหม่มาแรงอย่าง “Rabbit’s Tale” ก็กลายเป็นชื่อที่ปรากฏบนเวทีแห่งนี้ถึงสองครั้ง กับตำแหน่ง Creative of The Year ที่ตกเป็นของคุณนรนิติ์ ยาโสภา และตำแหน่ง Young Achiever of the Year ที่ตกเป็นของคุณสโรจ เลาหศิริ

ไม่เพียงเท่านั้น ในปีที่ผ่านมา แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป (Rabbit Digital Group) ยังคว้ารางวัลจากเวทีต่าง ๆ มามากมาย อาทิ รางวัลBronze Award และ Silver Awardจากเวที ADMAN Awards ในผลงานCanon Redefineและรางวัล Bronze Awardจากเวที ADMAN Awards และ MAAT AwardsในผลงานDesigning Veranda ส่วนในเวทีต่างประเทศ ก็สามารถคว้ารางวัล Bronze Awardจากเวที ADFEST 2016 มาได้เช่นกัน

นั่นจึงเป็นที่มาของการได้พูดคุยกับสองผู้บริหารอย่างคุณสโรจ เลาหศิริ (ซ้าย) Chief Marketing Officer และคุณนรนิติ์ ยาโสภา Executive Creative Director สองผู้บริหารจาก Rabbit Digital Group เจ้าของรางวัลบุคคลโฆษณายอดเยี่ยมแห่งปี ถึงมุมมองของการสร้างสรรค์ผลงานบนเวทีโฆษณาดิจิทัลว่าจากความสำเร็จที่ผ่านมาว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาก้าวเข้ามาถึงจุดนี้ และอะไรคือความท้าทายที่รอพวกเขาอยู่ในอนาคตข้างหน้า รวมถึงทัศนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่กลายเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดในปัจจุบันไปแล้วด้วย

โดยคุณนรนิติ์เจ้าของรางวัล Creative of The Year เผยว่า “เวลาเราคิดงาน เราจะถามตัวเองว่า มันใช่โซลูชันที่ตอบโจทย์แล้วหรือยัง เช่น ถ้าลูกค้าบอกว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการ เราก็ต้องมามองว่า แล้วมันแก้ปัญหาของลูกค้าได้ไหม บางทีเราอาจต้องย้อนไปที่โจทย์ใหม่ว่าทำไมลูกค้าถึงต้องการให้แก้ปัญหานี้ กลับไปถามลูกค้าใหม่ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นมันใช่สิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ หรือเปล่า”

“เช่นคุณอยากได้หนังโฆษณา แต่จริง ๆ สิ่งที่คุณอยากจะแก้ มันอาจเป็นการลองเปิดตัวโปรดักซ์ใหม่ หรือเซอร์วิสใหม่เพื่อจะมาตอบสนองตรงนี้หรือเปล่า ผมจะได้พูดแมสเซจนี้ออกไปได้ เป็นต้น พอเรายังไม่เจอโซลูชันจริง ๆ มันก็จะยังไม่ได้งานดี เราก็จะยังไม่รู้สึกพอใจ จะทำให้เรารู้สึกพอใจก็คือเราต้องแก้โจทย์นี้ได้มากกว่า”

ด้านคุณสโรจ ในฐานะ  Young Achiever of the Year เผยว่า สิ่งที่ท้าทายพวกเขาในอนาคตก็คือ สเกลของงานที่เข้ามานั้นใหญ่มากขึ้น อีกทั้งทีมยังได้รับโอกาสให้พิทช์งานคู่กับเอเจนซี่ชั้นนำ ซึ่งถือเป็นปีที่ต้องต่อสู้ แสดงผลงาน และโชว์แนวคิดความเป็นมืออาชีพให้มากขึ้นนั่นเอง

ยิ่งในปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่มีการคาดการณ์กันว่า แนวโน้มของสื่อโฆษณาดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการสื่อของประเทศไทย และอาจมีการเติบโตด้านเม็ดเงินโฆษณาทะลุหลัก 1 หมื่นล้านบาทด้วยนั้น ในมุมของนักโฆษณา คุณนรนิติ์ก็ได้ให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ โดยเขามองว่ามันเป็นการโยกย้ายตามพฤติกรรมของคน เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยน การใช้จ่ายเงินด้านการโฆษณาจึงต้องเปลี่ยนตาม

“วันนี้เราเห็นว่า ตั้งแต่สมาร์ทโฟนเข้ามา ก็กลายเป็นว่าสื่อโฆษณาสามารถเข้าถึงคอนซูเมอร์ได้ง่ายขึ้นผ่าน Device ที่ทุกคนพกติดตัว ดังนั้น การ Spending มันจึงเยอะขึ้นตามช่องทางเหล่านี้”

“ความแตกต่างที่น่าสนใจก็คือ เมื่อก่อนเราใช้คำว่าดิจิทัลเข้ามาซัพพอร์ท แต่ตอนนี้ดิจิทัลเป็นแพลตฟอร์มหลักในการรันโปรเจ็ค ที่สามารถเข้าถึงคนได้กว้างมากขึ้น ดังนั้นสเกลงานมันจึงใหญ่ขึ้น และนำไปสู่การใช้จ่ายด้านงบโฆษณาที่มากขึ้นตามไปด้วย”

ด้านคุณสโรจ เสริมว่า “จริง ๆ ตอนนี้ตลาดกำลังอยู่ระหว่างการหาจุดสมดุลระหว่างสื่อ Traditional กับ Digital ใครที่บอกว่าสื่อ Traditional จะตายผมว่าไม่ใช่ แต่ต้องหาให้ได้ว่าจุดบาลานซ์ของมันอยู่ตรงไหน เพราะอย่าลืมว่า ประชากรอินเทอร์เน็ตของไทยนั้นแค่ 50% กว่า ๆ เท่านั้น เวลาไปต่างจังหวัด ทีวียังเป็นสื่อที่มีความจำเป็นอยู่ ผมจึงมองว่าตลาดกำลังเซ็ทตัว เราอยู่ระหว่างการทดลองว่าจะย้ายมาที่ดิจิทัลเท่าไรถึงจะเวิร์ก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ไม่เกิน 2 – 3 ปีก็คงจะได้เห็นภาพที่ชัดขึ้น”

ในระหว่างนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับวงการโฆษณาดิจิทัลจึงอาจเป็นการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ เข้ามาเสริมทีม เพื่อเตรียมความพร้อม รวมไปถึงการศึกษาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI หรือบ็อท เอาไว้ ซึ่งการจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ให้ได้ผลในเมืองไทยนั้น ทั้งคุณสโรจและคุณนรนิติ์ต่างก็มองว่า ต้องอาศัยจังหวะเช่นกัน เพราะบางทีการประยุกต์ใช้เร็วกว่าที่คอนซูเมอร์จะปรับตัวได้ทันก็อาจได้ผลตรงกันข้าม

สุดท้าย เมื่อถามถึงสิ่งที่คนโฆษณาดิจิทัลต้องเตรียมตัวสำหรับอนาคตนั้น คุณนรนิติ์ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่คาดเดายาก เพราะสิ่งที่กำลังเจริญเติบโตจะเติบโตแบบก้าวกระโดด อีกทั้งยังมีความอ่อนไหว ที่สามารถจะพลิกผันได้โดยง่าย ขณะที่คุณสโรจมองว่า “ความยากของเอเจนซี่คือการตามให้ทันเทคโนโลยี และรู้ว่าเมื่อไรต้องหยิบตัวไหนขึ้นมาใช้งานจึงจะตอบโจทย์ของลูกค้า กับอีกข้อคือความเร็ว เพราะโลกทุกวันนี้ ปลาเร็วกินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว ถ้าเรายิ่งทำตัวเทอะทะ เป็นองค์กรใหญ่ เราก็พร้อมจะโดน Disrupt จากคนรุ่นใหม่ได้ตลอดเวลา”

จากทัศนะของทั้งสองท่าน จะเห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้หยุดโลก แต่ความเปลี่ยนแปลงคือส่ิงที่กำลังขับเคลื่อนโลก ซึ่งในความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ข้อดีของมันคือทำให้นักการตลาดดิจิทัลมีพื้นที่ที่กว้างมากขึ้นสำหรับการออกไอเดีย และการสร้างประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ ๆ มากมาย แต่ข้อเสียก็คือ ใครที่ตกขบวน ตามไม่ทันหรือไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ “ความเปลี่ยนแปลง” ก็พร้อมจะทิ้งท่านเอาไว้กลางทางได้ตลอดเวลาเช่นกัน 
 
Source: thumbsup

from:http://thumbsup.in.th/2017/04/visions-of-digital-maketer-of-the-year/