คลังเก็บป้ายกำกับ: ปรับตัว

ธุรกิจต้องปรับตัว! โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ ให้พักฟรี 1 คืน เมื่อสั่งอาหารขั้นต่ำ 2,020 บาท

โควิด-19 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวแทบพังทลาย หนึ่งในนั้นคือธุรกิจโรงแรมและที่พัก เมื่อคนไปเที่ยวไม่ได้ ก็ไม่มีคนเข้าพักโรงแรม สิ่งที่ทำได้คือ ธุรกิจโรงแรมต้องพยายามปรับตัว ล่าสุด โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ เลยจัดโปรโมชั่น ให้เข้าพักห้องแกรนด์รูมฟรี 1 คืน เมื่อสั่งอาหาร ขั้นต่ำ 2,020 บาท

ที่พักกว้างขนาด 60 ตารางเมตร ปรับโฉมใหม่ริมสายน้ำเจ้าพระยา โดยมีเงื่อนไขต้องสั่งอาหารไทย, จีน หรืออาหารนานาชาติ ที่มาพร้อมบริการเดลิเวอรี่กับทางโรงแรมฯ มีหลากหลายเมนูให้เลือก เช่น ซุปเสฉวน, เป็ดย่างฮ่องกง, ข้าวผัดซีฟู้ดซอสเอ็กซ์โอ, พาสต้าหมึกดำซีฟู้ด, พอร์คชอปหมูคุโรบูตะซอสพริกไทยดำ, ต้มยำกุ้ง, ขนมจีบ ซาลาเปาไส้ต่างๆ และเมนูแสนอร่อยอื่นๆ

ดูรายการอาหารและกดสั่งซื้อได้ที่ LINE Store: https://shop.line.me/@chatriumriverside โปรโมชั่น เริ่มตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และสามารถเข้าพักได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/order-food-get-free-room/

เข้าใจการใช้ Data กับธุรกิจ ผ่านมุมมอง Adapter Digital อีกยักษ์ใหญ่ Digital Agency ของไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูล หรือ Data ในปัจจุบันสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในโลก Digital Agency ที่ต้องช่วยลูกค้าให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย การมี Data ยิ่งเยอะก็ยิ่งดี แล้วอย่างนี้ Adapter Digital มองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

Data สำคัญจนถึงขั้นต้องปรับองค์กร

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า Data นั้นสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดมีคำเปรียบเปรยว่า Data คือขุมทรัพย์ของธุรกิจ แต่ใช่ว่าการมี Data เยอะจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้เสมอไป เพราะต้องนำ Data เหล่านั้นมาวิเคราะห์ หรือใช้เครื่องมือในการคำนวนที่ถูกต้องด้วย

เหตุนี้เอง Adapter Digital หนึ่งในยักษ์ใหญ่ Digital Agency ของไทยจึงตัดสินใจแยกส่วนธุรกิจออกมาดูแลเรื่อง Data โดยเฉพาะ และใช้ชื่อว่า Adapter Analytica เพื่อสร้างทีมที่วิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ก่อนส่งไม้ต่อให้ Adapter Digital ที่เด่น Creative และ Adapter Innovation ที่เน้นเรื่องนวัตกรรม

Adapter Digital
โครงสร้างใหม่ของ Adapter Digital Group

“การมี Adapter Analytica ทำให้เราสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าได้ดีขึ้น ผ่านการสร้างจุดแข็งในการสื่อสาร ซึ่งทั้งหมดมาจากการนำข้อมูลที่ลูกค้ามีมาวิเคราะห์ แต่ใช่ว่าสูตรนี้จะใช้ได้กับลูกค้าทุกระดับ เพราะแค่เปลี่ยนธุรกิจ แหล่งข้อมูลก็ไม่เหมือนกันแล้ว” ปิยวัฒน์ รัตนขจิตวงศ์ ผู้อำนวยการธุรกิจ Adapter Analytica กล่าว

แต่ Data ก็ไม่ใช่คำตอบของธุรกิจทั้งหมด

อย่างไรก็ตามเมื่อองค์กรรู้สึกถึงความสำคัญของ Data และหันมาเก็บ Data ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเอาชนะในสงครามธุรกิจ แต่สุดท้ายแล้วบางองค์กรที่เก็บข้อมูลน้อยกว่า แต่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง กลับเป็นผู้ชนะในสงครามนี้ได้

Data
ภาพจาก Shutterstock

“ก่อนเก็บ Data ควรกำหนดเป้าหมายก่อนว่าจะเก็บไปเพื่ออะไร เพื่อให้ Data เหล่านั้นนำมาใช้งานได้จริง ยิ่งหากต้องทำงานกับ Digital Agency ด้วยแล้ว การจะใช้ Data เหล่านั้นให้เต็มประสิทธิภาพที่สุด ทั้งสององค์กรก็ต้องมีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็เดินต่อได้ลำบาก”

สำหรับ Adapter Digital นั้นจะอาศัยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรต่างๆ ผ่านการพิสูจน์ว่าการมีข้อมูลไม่ต้องมาก หรือไม่ต้องใช้ข้อมูลที่เป็นความลับสูง มาต่อยอดแล้วช่วยให้องค์กรเหล่านั้นบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ จากนั้นจึงเจรจาเพื่อต่อยอดการใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อทำให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโต และ Adapter Digital ก็โตไปด้วยกัน

Adapter Digital
การทำงานของ Adapter Digital เกี่ยวกับงาน Data

Data ก็มีวันหมดอายุหากไม่ได้ใช้เป็นเวลานาน

“พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภคก็ยังต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา ดังนั้นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังตอบโจทย์สิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขาต้องการได้มันก็จำเป็นยิ่งกว่าเดิม ที่สำคัญคือไม่ใช่เห็นโฆษณาแล้วจบ แต่ต้องเห็นโฆษณาแล้วต่อยอดไปที่ปิดการขาย หรือเป้าอื่นๆ ได้”

ทั้งนี้ Adapter Digital ได้พิสูจน์แล้วว่าการทำงานด้านข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุดต้องมี 3 องค์ประกอบที่เดินหน้าไปพร้อมกันคือตัว Adapter Group, ความสัมพันธ์กับลูกค้าที่แน่นแฟ้น และการเปิดกว้างในการใช้ Data ร่วมกัน ยิ่งประกอบกับความเชื่อใจแล้ว มันก็ยิ่งต่อยอดให้ทั้งสององค์กรเติบโตไปด้วยกันได้ดีขึ้น

data
ตัวอย่างขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูล

ที่สำคัญ “ปิยวัฒน์” ย้ำว่า หากทุกแผนกขององค์กรต่างๆ มี Data Mindset หรือกระบวนการคิดโดยอ้างอิงข้อมูลที่ตนเองมี การมีข้อมูลยอดขายเบื้องต้นที่บันทึกไว้ในโปรแกรม Spreadsheet ก็สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้แล้ว

สรุป

ถ้าให้อธิบายการใช้งาน Data แบบง่ายๆ ก็มีตัวอย่างที่ดีคือธุรกิจร้านอาหาร ที่สามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับยอดขาย เช่นมูลค่า, ช่องทาง และช่วงเวลาที่ขายไปสำรวจ ซึ่งถ้าทำถูกต้องก็จะได้รูปแบบการทำธุรกิจที่ถูกต้องคร่าวๆ จากนั้นก็ลองมาศึกษาว่าช่วงเทศกาลขายดีหรือไม่ รวมถึงหาปัจจัยภายนอกอื่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับการเติบโตของธุรกิจได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/adapter-agency-maximize-data/

DBS ทำแอพให้เปิดบัญชีที่ไหนก็ได้ ซีอีโอเตือนวงการธนาคาร “ปรับตัวไม่ทัน ให้นับวันรอล่มสลาย”

DBS หนึ่งในธนาคารที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ธนาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดในโลก” ทำแอพพลิเคชั่นให้ลูกค้าเปิดบัญชีได้ทุกที่ ไม่ต้องไปสาขา ในขณะที่ซีอีโอส่งสัญญาณเตือนวงการธนาคารให้รีบปรับตัวกันได้แล้ว ก่อนจะสายเกินไป

Photo: flickr.com by Canadian Pacific

DBS ทำแอพพลิเคชั่น เปิดบัญชีได้ทุกที่ ไม่ต้องไปสาขา

DBS ธนาคารรายใหญ่จากสิงคโปร์ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ธคาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดในโลก” จากนิตยสาร Euromoney ในปี 2016

และแน่นอน ชื่อเสียงนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ DBS ได้ทำมาสักพักแล้วกับการให้ลูกค้ามารถเปิดบัญชีได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องไปสาขา เพียงโหลดแอพพลิเคชั่นของธนาคาร แล้วสมัครลงชื่อใส่ข้อมูลไปตามระบบ ใช้เวลาไม่กี่นาที จะได้รับการยืนยันจากธนาคาร โดยทางธนาคารจะมีการใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบ Biometric identification เพื่อความปลอดภัย และหากลูกค้ามีปัญหาก็สอบถามปัญหากับ Chatbot ได้ตลอดเวลา ธนาคารไม่ต้องใช้มนุษย์ ลดต้นทุนได้เพิ่ม

ต้องบอกว่า DBS เข้มข้นกับตลาดในเอเชียมาก โดยเริ่มจากตลาดที่มีประชากรสูงก่อน อย่างในอินโดนีเซียก็เพิ่งเปิดตัวไปในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และอินเดียตั้งแต่เมษายนปี 2016 มีผู้ใช้งานกว่า 1.5 ล้านคน และมีที่ให้ชำระเงินผ่าน QR Code กว่า 700,000 แห่งในอินเดีย อย่างไรก็ตาม DBS คาดการณ์ไว้ว่า ต้องการมีลูกค้าในแต่ละประเทศอย่างน้อย 10 ล้านคนเป็นอย่างต่ำ

ทั้งสองตลาดไม่ว่าจะเป็นอินโดฯ หรืออินเดียสามารถใช้ Digibank ของ DBS ได้ทุกรูปแบบ แต่ที่น่าสนใจคือ DBS ไปให้บริการในจีนเช่นกัน แต่ยังไม่สามารถทำ Digibank ได้เต็มที่ เหตุผลก็เพราะ ผู้เล่นในตลาดรายใหญ่เป็นอุปสรรค ทั้ง Alipay ของ Alibaba และ WeChat Payments ของ Tencent

Photo: Capture from Youtube

ซีอีโอ DBS เตือนวงการธคาร อาจล่มสลาย ถ้าสู้ e-walletไม่ได้

พิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า การปรับตัวของ DBS ให้เป็นดิจิทัลเต็มตัวคือความจำเป็นและความต้องการอยู่รอดของธุรกิจ เพราะ Piyush Gupta ซีอีโอของธนาคาร DBS บอกว่า หลายแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของโลกกำลังเข้ามาบุกในธุรกิจให้บริการทางการเงิน (financial service) แม้แต่ Facebook กับ Google ยังเข้ามาเล่น

แต่ที่ Gupta บอกว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อวงการธนาคารทั้งหมดก็คือ บริการให้ชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-wallet อย่างเช่น Alipay, WeChat Payment หรือในอินโดนีเซียบริการเรียกรถอย่าง Go-JeK ยังทำ Go-Pay เป็น e-wallet ของตัวเอง หรืออย่าง Grab ก็ทำ GrabPay

แต่ถ้าต้องยกตัวอย่าง Alipay น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะทำให้เห็นถึงภัยคุกคามของ e-wallet ต่อธนาคารทั้งหลาย (ที่ยังไม่ปรับตัวทั้งหลาย) Alipay มีผู้ใช้บริการกว่า 520 ล้านคนทั่วโลก มีอัตราการใหู้ยืมเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการใช้จ่ายเงินซื้อของเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่นอกจากนั้นลูกค้ายังลงทุนในสินค้าหลายตัวผ่าน Alipay ได้ด้วย

“อะไรที่ธนาคารคิดว่าทำไม่ได้ บริการพวกนี้ทำได้หมด”

“ธนาคารไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องสู้กับผู้เล่นเหล่านี้ให้ได้ เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวที่คุณจะชนะ”

ซีอีโอ CBS ยังบอกไว้ว่า “ในอีก 5 ถึง 10 ข้างหน้า ถ้าธนาคารไม่ปรับตัวให้ธนาคารเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อบริการต่างๆ ได้ ก็ให้นั่งนับวันรอปิดกิจการได้เลย”

จากข้อมูลระบุว่า CBS ลงทุนในการก้าวไปเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อบริการต่างๆ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 122,000 ล้านบาท

ที่มา – Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/dbs-bank-digital-adaptation/

“ตลาดสดยิ่งเจริญ” รุกคอมเพล็กซ์แนวสูง-เปิดบริการรับซื้อของ รับรถไฟฟ้าสายสีเขียวจอดหน้าตลาด

“ตลาดสดยิ่งเจริญ” เป็นตลาดที่มีเนื้อที่รวมกันกว่า 30 ไร่ และอยู่คนระแวกพหลโยธินมา 62 ปี แต่ที่รู้กันว่าคนรุ่นใหม่ชอบความสะดวกสบาย ประกอบกับรถไฟฟ้าก็อยู่หน้าตลาด ทำให้ตลาดสดแห่งนี้เตรียมยกเครื่อง ผ่านการลงทุน 1,000 ล้านบาท

พัฒนาคอมเพล็กซ์แนวสูง รับอาหาร-แฟชั่น

แม้จะไม่ได้อยู่ระแวกสะพานใหม่ ถนนพหลโยธิน แต่หลายคนก็คงเคยได้ยินชื่อ “ตลาดสดยิ่งเจริญ” กันมาบ้าง เพราะเป็นอีกศูนย์รวมของสดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพ รวมถึงเป็นแหล่งที่รวมของอร่อยไว้มากมาย จนผู้บริโภคบางคนยอมเดินทางไกลเพื่อไปซื้อกิน และกลายเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวของย่านนั้น เหมือนกับตลาดอตก. หรือบองมาเช่ ที่รวมร้านอร่อยไว้มาก แต่ของสดคงสู้ไม่ได้

นฤมล ธรรมวัฒนะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง จำกัด และตลาดยิ่งเจริญ เล่าให้ฟังว่า ตัวตลาดสดแห่งนี้เป็นที่รู้จักทั้งในแง่ผู้บริโภคทั่วไปที่มาซื้อของสดเพื่อไปทำกับข้าว หรือหาของกินก่อนกลับบ้าน และในแง่พ่อค้าแม่ค้าที่มาเหมาของสดต่างๆ ไปขายต่อตามที่ต่างๆ ด้วยราคาส่งของพ่อค้าแม่ขายในตลาดสดแห่ง

ณฤมล ธรรมวัฒนะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทสุวพีร์ โฮลดิ้ง จำกัด และตลาดยิ่งเจริญ

“ในช่วงที่รับหน้าที่บริหารต่อจากคุณแม่ (สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ) ก็เร่งสร้างแบรนด์ให้ตลาดยิ่งเจริญเป็นที่รู้จัก ทั้งในแง่สินค้าครบ และคุณภาพของสดที่นี่ เช่นเรื่องปลอดโฟม และลดการทำน้ำเน่าเสีย แต่การมาถึงของรถไฟฟ้า และความเจริญก็ทำให้เราต้องปรับ ยิ่งผู้บริโภคพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง การมีแค่พื้นที่พลาซ่าชั้นเดียวที่รวมสินค้าแฟชั่น และไอที ก็คงต้องมีมากชั้นขึ้น”

1,000 ล้านบาท ก็คุ้มค่า เพราะช่วยดึงคนรุ่นใหม่

สำหรับการลงทุนครั้งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 1,000 ล้านบาท และภายใน 5 ปีน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างวางแผน และภายในพลาซ่าแนวสูงจะประกอบด้วย ร้านอาหารเชนดัง ซึ่งมาจากผลสำรวจความต้องการของผู้บริโภคระแวกนั้น รวมถึงสินค้าแฟชั่น และอุปกรณ์ไอทีต่างๆ เพื่อให้มีความเป็นคอมมูนิตี้มอลล์มากกว่าแค่ตลาดสด

ในทางกลับกันการสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และมีสถานีอยู่ด้านหน้าของตลาดก็ทำให้จำนวนผู้เข้าใช้บริการของตลาดลดลงถึง 20% ในระยะแรก แต่เมื่อผู้ค้า และผู้ซื้อต่างปรับตัวได้ จำนวนผู้ใช้บริการก็ใกล้จะกลับมาปกติที่ราว 20,000 คน/วัน โดยช่วงที่คนมาใช้บริการมากที่สุดคือ 02.00-07.00 น. เพราะพ่อค้าแม่ค้าที่เหมาซื้อราคาส่งจะมาใช้บริการ

Gen 3 กับภาระกิจเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ตลาดสด

ด้วยระยะเวลากว่า 60 ปี ทำให้ปัจจุบันภาระการบริหารงานตกมาอยู่กับ “กัญจนิดา ตันติสุนทร” ลูกสาวของนฤมล และ “อริย ธรรมวัฒนะ” ลูกพี่ลูกน้องของกัญจนิดา โดยทั้งคู่รับหน้าที่สื่อสารการตลาด กับการนำเทคโนโลยีใหม่มายกระดับธุรกิจตามลำดับ เพราะถ้าปล่อยไว้อย่างนี้โอกาสที่กลุ่มคนรุ่นใหม่จะกลับมาเดินตลาดก็ยาก

ส่วนการเปลี่ยนแปลงก็มีทั้ง การนำระบบฐานข้อมูลมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า รวมถึงเปิดบริการ “ส่งสด” เว็บไซต์ให้บริการรับซื้อของภายในตลาด และส่งสินค้าภายในวันนั้น โดยใช้ Personal Shopper ที่ฝึกฝนจากบริษัท และร่วมกับ Lalamove ในการส่งสินค้า เริ่มให้บริการในวันที่ 11 ส.ค. จากนั้นจะเปิดบริการ Freshmate ที่เป็นแอปพลิคชั่นตามมา

ทั้งนี้ตลาดสดยิ่งเจริญที่มีพื้นที่กว่า 30 ไร่นั้น ปัจจุบันมีร้านค้าเช่าแผงทั้งหมด 1,500 ร้าน แบ่งเป็นขายอาหารสด 60%, ขายสินค้าอื่นๆ ในโซนพลาซ่า (แฟชั่น, ไอที, เครื่องสำอาง และธนาคาร) 30% และร้านอาหาร 15% โดยมีค่าแผงขนาด 4×4 ม. เฉลี่ยที่ 12,000 บาท/เดือน สามารถขายได้ 24 ชม. 7 วัน

สรุป

การปรับตัวของตลาดยิ่งเจริญ น่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับตลาดสดดังๆ เช่นอตก. และตลาดคลองเตย ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองบ้าง เพราะอย่างที่รู้กันว่า ผู้บริโภครุ่นใหม่ เลือกที่จะใช้ชีวิตสบาย ไม่อยากเดินในตลาดที่สกปรก ดังนั้นถ้าไม่เปลี่ยน ตลาดสดที่อยู่คู่คนไทยมานาน ก็คงหายไปกับกาลเวลา ไม่เหมือนกับตลาดสดในกรุงบูดาเปสที่อยู่มาได้กว่า 120 ปี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/ying-charoen-market-3rd-gen/