คุยกับ ThoughWorks Thailand ผ่าน Tech Radar รายงานเทรนด์เทคโนโลยีรายครึ่งปีที่สายไอทีไม่ควรพลาด

เป็นประจำทุกๆครึ่งปี ที่ ThoughtWorks หนึ่งในบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลกจะเผยแพร่รายงาน “Tech Radar” ที่เล่าถึงมุมมองของ ThoughtWorks เกี่ยวกับเทรนด์และความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการพัฒนาซอฟต์แวร์และไอทีที่น่าสนใจ ตั้งแต่เครื่องมือ Framework ไปจนถึงแนวทางและแนวคิดในการทำงาน

และในการเผยแพร่ Tech Radar Vol.22 ฉบับล่าสุดนี้ TechTalkThai มีโอกาสได้พูดคุยกับทีมงาน ThoughtWorks Thailand เพื่อทำความรู้จักกับรายงานที่มีออกมาต่อเนื่องกว่าหนึ่งทศวรรษ และทำความเข้าใจในเนื้อหา และสรุปมาให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านกันแล้วในบทความนี้

TechTalkThai ได้รับเเกียรติพูดคุยกับคุณศอลาฮุดดีน เฉลิมไทย Lead Developer Consultant  จาก ThoughtWorks Thailand ผู้มีส่วนร่วมในการจัดทำ Tech Radar โดยคุณดีนได้ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงความสำคัญและความน่าสนใจของ Tech Radar ซึ่งเป็นรายงานที่ใช้เวลาอ่านไม่นานเลย

กว่าจะมาเป็น Tech Radar

ปกติในการทำงานของ ThoughtWorks ในสำนักงาน 43 แห่ง ที่อยู่ใน 14 ประเทศทั่วโลกนั้น จะมีการเลือกใช้เเทคโนโลยีที่แตกต่างออกไปตามความเหมาะสมของเนื้อหางาน ทำให้ภายในองค์กรของ ThoughtWorks นั้นมีการศึกษา ใช้งาน และอัพเดทข่าวคราวความเป็นไปของเทคโนโลยีที่น่าสนใจอย่างสม่ำเสมอ และในทุกๆปี ทีมงานของ ThoughtWorks ในแต่ละสาขา รวมถึงสาขาในประเทศไทย ก็จะส่งรายชื่อเทคโนโลยี ภาษา Framework แนวคิด และเทรนด์อื่นๆที่น่าสนใจ เข้าไปยังคณะกรรมการ Technology Advisory Board เพื่อทำการหารือและคัดเลือกประเด็นที่น่าสนใจและจัดกลุ่มออกมาเป็นหมวดหมู่และลำดับขั้นต่างๆของ Tech Radar

อ่าน Tech Radar อย่างไร

รายงานของ Tech Radar แต่ละฉบับจะมีธีมหลักของเล่ม ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ และจัดแบ่งประเภทของเทคโนโลยีหรือเทรนด์ออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ เทคนิค, แพลตฟอร์ม, เครื่องมือ, และภาษาและ Framework โดยเทคโนโลยีและแนวคิดแต่ละชิ้นภายใน 4 ประเภทหลักนี้ ก็จะได้รับการให้คะแนนแบ่งออกเป็น 4 ลำดับขั้น ได้แก่ Adopt, Trial, Assess, และ Hold

  • Adopt – เทคโนโลยีที่ ThoughtWorks มีความเห็นว่ามีความพร้อมสูง สามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรได้โดยมีความเสี่ยงต่ำ เพราะได้รับการพิสูจน์มาอย่างดีทั้งในตลาดและจากที่ ThoughtWorks ได้ใช้งานเทคโนโลยีนั้นจริงมาในหลายโปรเจกต์
  • Trial – เทคโนโลยีที่กำลังเริ่มได้รับความนิยม องค์กรควรศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อปรับใช้ให้เป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจ โดยทดลองนำไปใช้ในโปรเจกต์ที่รับความเสี่ยงได้พอสมควร
  • Assess – เทคโนโลยีที่ควรศึกษาและจับตาดูว่าจะส่งผลกระทบกับองค์กรและกระแสอย่างไรบ้าง
  • Hold – เทคโนโลยีที่ ThoughtWorks มีความเห็นว่าไม่เหมาะสมกับการใช้ในปัจจุบันแล้ว หากจำเป็นก็ควรใช้อย่างเข้าใจข้อเสียของมัน

นอกจากนี้ ในแต่ละหัวข้อของเทคโนโลยีก็จะมีสัญลักษณ์กรอบรอบวงกลม และเงา เพื่อระบุว่าเทคโนโลยีหรือเทรนด์ไหนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ เทรนด์ใดมีการเปลี่ยนแปลงลำดับขั้น หรือเทรนด์ใดยังคงอยู่ที่เดิม

ใครควรอ่าน Tech Radar

คุณดีนอธิบายกับเราว่า เนื่องจากเนื้อหาในรายงานฉบับนี้ค่อนข้างกว้าง และครอบคลุมงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่องค์กรทั้งหลายมีการนำเทคโนโลยีมาใช้งานกันมากขึ้น Tech Radar จึงมีประโยชน์สำหรับองค์กรหลายรูปแบบ และแม้แต่ตัวบุคคลที่ทำงานอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีเองก็สามารถอ่านเพื่ออัพเดทเทรนด์ความรู้ให้กับตัวเองได้

เนื่องจากการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้าไปใช้ในองค์กรหรือโปรเจกต์นั้นมีค่าใช้จ่ายทั้งด้านการศึกษาข้อมูล เวลา และการลงมือทำค่อนข้างสูง องค์กรที่ขาดความพร้อมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หรือองค์กรใดที่รับความเสี่ยงได้ไม่มากก็สามารถอ่านรีพอร์ตฉบับนี้เป็นแนวทาง โดยพิจารณาความเห็นของ ThoughtWorks ใช้และเลือกใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีที่มีความพร้อมสูง ที่ได้รับการพิสูจน์อย่างดีในตลาดซึ่งก็คือเทคโนโลยีที่ได้รับการจัดลำดับในหมวดหมู่ Adopt และหากอยากเรียนรู้เทคโนโลยีที่กำลังได้รับกระแสความนิยม ก็อาจจะขยับไปดูในหมวดหมู่ Trial ซึ่งถูกคัดสรรมาแล้วว่าน่าสนใจและอาจเข้ามามีบทบาทในอนาคต

4 ธีมหลักของ Tech Radar ฉบับที่ 22 

รายงาน Technology Radar แต่ละฉบับของ ThoughtWorks นั้นจะมาพร้อมกับธีมที่ชี้ให้เห็นถึงทิศทางของเทคโนโลยีต่างๆในช่วงเวลานั้น โดย Tech Radar ฉบับที่ 22 นั้นมีความพิเศษกว่ารายงานทั้ง 21 ฉบับที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ทีมงานได้ลองจัดทำรายงานฉบับนี้กันแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก ดังนั้นแน่นอนว่าการทำงานออนไลน์แบบรีโมตจึงกลายเป็น 1 ใน 4 ธีมหลักของฉบับที่ 22 นี้

ธีมหลักธีมที่ 2 คือแนวคิด “X is Software Too” ซึ่งหมายถึงการมองกระบวนการบริหารจัดการต่างๆ รอบๆ ซอฟต์แวร์ให้เหมือนกับวิธีที่เราจัดการซอฟต์แวร์ด้วย เช่น เราสามารถจัดการ ด้านความปลอดภัยในองค์กรด้วยโค้ด   นำวิถีปฏิบัติในการดูแลและพัฒนาซอฟต์แวร์มาใช้ในการจัดการ โดยทำให้ระบบและกระบวนการเหล่านี้เป็นอัตโนมัติ สามารถทดสอบความถูกต้องได้เสมอ

ธีมหลักที่ 3 ว่าด้วยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมของเทคโนโลยีด้านแมชชีนเลิร์นนิงที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงนี้ โดยจะสังเกตได้จากจำนวนหัวข้อใน Tech Radar ฉบับนี้ เช่น การมีเครื่องมือและกระบวนการพัฒนาด้านแมชชีนเลิร์นนิงที่เป็นระบบมีความพร้อมสูงขึ้น หรือการวางสถาปัตยกรรมแบบ data mesh ก็ตาม

ธีมหลักธีมสุดท้ายคือเทคโนโลยีที่อาจเรียกได้ว่าเข้ามาเป็นภาษาสากลของ Infrastructure ในขณะนี้อย่าง Kubernetes โดยคุณดีนให้ความเห็นว่า Kubernetes นั้นเป็นเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานดีสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทว่าก็ยังมีช่องว่างและความซับซ้อนอยู่ ซึ่งช่องว่างเหล่านี้นั้นส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มพัฒนา Add-ons ขึ้นมาเสริมการทำงาน ก่อให้เกิด Ecosystem ของ Kubernetes ที่หลากหลายและน่าสนใจอย่างมาก

โดยเนื้อหาต่อไป เราลองหยิบเทคโนโลยีในบางหัวข้อที่คิดว่าน่าสนใจมาเล่าให้ผู้อ่านฟังกัน

Everything as Code

สองเทรนด์ที่ถูกจัดอยู่ในลำดับขั้น Adopt และเป็นหนึ่งใน Key Theme ของฉบับนี้ด้วยคือ Infrastructure as Code และ Pipeline as Code ซึ่งหากพูดไปแล้วก็เป็นแนวคิดที่ไม่ได้ใหม่มากนัก แต่ใน Tech Radar ฉบับนี้ ThoughtWorks ต้องการที่จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำ Engineering Practice มาจัดการกับทุกๆอย่างในโครงสร้าง IT ซึ่งจะช่วยให้การทำงานเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราบรื่น และมีข้อผิดพลาดน้อยลง

ขณะที่โลกกำลังมุ่งเข้าสู่การใช้งานสถาปัตยกรรมในรูปแบบ Microservices กันอย่างแพร่หลาย กอปรกับความต้องการใช้งานเครื่องมือและแพลตฟอร์มที่หลากหลายขึ้น เกิดเป็นโจทย์ว่าองค์กรจะดูแลรักษาระบบที่รวมมิตรหลายอย่างไว้ด้วยกันอย่างไรให้ง่าย มีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากความท้าทายนี้ ThoughtWorks มองว่าเราสามารถจัดการเรื่องพวกนี้ด้วยการทำให้มันเป็นโค้ดทั้งหมด เพราะไม่เพียงแต่จะสามารถเก็บเป็น Version control แล้ว แต่มันนำมาซึ่งวิธีปฏิบัติทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์อื่นๆ มาด้วย  เมื่อทุกอย่างเป็นโค้ดเราสามารถจะทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นอัตโนมัติ สร้างกระบวนการทดสอบที่ครอบคลุม ตรวจสอบได้ง่าย หรือแม้แต่การออกแบบและการจัดการโค้ดเหล่านั้นออกเป็น Module เพื่อให้ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ซ้ำ

ในปัจจุบันจะเห็นกระแสการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้ขยายวงกว้างออกไปมาก แม้กระทั่งกระบวนการพัฒนา Machine Learning ที่เดิมๆ ไม่ได้เป็นระบบเช่นนี้ ก็เริ่มมีเครื่องมือออกมามากขึ้นเพื่อให้กระบวนการการพัฒนา Machine Learning สามารถจัดการได้ และเป็นอัตโนมัติเหมือนการพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไป ซึ่ง Tech Radar ฉบับนี้ก็ได้กล่าวถึงหลายเครื่องมือเหล่านี้ที่น่าจับตามอง

Hold ไม่ใช่ห้าม แต่ควรทำอย่างระมัดระวัง

เมื่อพูดถึงเทรนด์ที่น่านำไปใช้มาแล้ว ก็ลองมาดูในฝั่งของ Hold ดูบ้าง โดย Hold นั้นไม่ได้แปลว่าองค์กรควรหยุด หรือห้ามทำ แต่การทำนั้นควรเป็นไปอย่างระมัดระวังเนื่องจากในประสบการณ์ของ ThoughWorks แล้ว สิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหา หรือมีวิธีการอื่นที่ดีกว่าที่ควรหันไปมอง

หัวข้อแรกที่สะดุดตาทีมงาน TechTalkThai คือการประยุกต์ใช้ระบบบริหารจัดการ Log กับการวิเคราะห์ของฝ่ายธุรกิจ ซึ่งเมื่ออ่านจากหัวข้อแล้วเป็นสิ่งที่องค์กรจำนวนไม่น้อยทำกันอยู่ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ธุรกิจต้องแข่งขันกันด้วยข้อมูลมากขึ้น

ทีมงาน ThoughtWorks เล่าให้เราฟังว่าการเก็บข้อมูลเป็นสิ่งที่ดี แต่การนำเครื่องมือบริหารจัดการ Log มาใช้ในกรณีเช่นนี้ อาจไม่เหมาะสมในระยะยาว เพราะเครือ่งมือประเภทนี้มักถูกออกแบบมาเพื่อเก็บ Log ไว้ใช้ในด้านการตรวจสอบปัญหาของฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือฝ่ายความปลอดภัยเท่านั้น ซึ่งเป็นไปเพื่อดูแลรักษาระบบ ทว่าเมื่อเครื่องมือมีความสามารถมากขึ้น หลายองค์กรก็ประยุกต์ใช้มันเพื่อดูพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า หรือการวัดผลเชิงธุรกรรม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เครื่องมือประเภทนี้อาจช่วยได้ในเบื้องต้นเท่านั้น ไม่เหมาะกับการใช้วิเคราะห์ที่มีความซับซ้อน ไม่เหมาะกับการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นรวดเร็ว ตลอดเวลา หากต้องการวัดผลและเก็บบันทึกข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้ ควรไปใช้เครื่องมือที่ออกแบบมาเฉพาะทางมากกว่า

อีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ คือ Legacy Migration Feature Parity ซึ่งเตือนองค์กรให้ระวังถึงการย้ายระบบเก่าไปบนคลาวด์โดยยกไปทั้งชิ้น ไม่แก้ไขปรับปรุงอะไรเลย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่ ThoughtWorks คิดว่าน่าเสียดายหากไม่ได้มีการพิจารณา ทำให้ระบบมีความเรียบง่ายมากขึ้น โดยตัดฟีเจอร์ที่ไม่มีคนใช้ออกไป และออกแบบระบบบางส่วนให้ใช้ประโยชน์จากการอยู่บนคลาวด์อย่างเต็มที่ 

Technology Radar มีฉบับแปลไทยให้ดาวน์โหลดอ่านแล้ววันนี้

จากที่ได้ยกตัวอย่างไปข้างต้นและแนะนำรายงานฉบับนี้ไปอย่างคร่าวๆ ทีมงาน TechTalkThai คิดว่า Tech Radar จะมีประโยชน์กับผู้ที่ทำงานในสาย IT และผู้ที่สนใจและทำงานเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีขององค์กร โดยในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว ส่วนที่โดดเด่นของรีพอร์ตตัวนี้คือการแยกหมวดหมู่ที่ชัดเจน และคำอธิบายที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ทำให้สามารถเลือกอ่านในหัวข้อที่สนใจและอ่านจบรู้เรี่องได้อย่างรวดเร็ว

ทีมงาน ThoughWorks ประเทศไทยได้ทำการแปลรายงานฉบับดังกล่าวขึ้นเป็นภาษาไทย เพื่อให้ชาวไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้อย่างดีที่สุด ผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับดังกล่าวได้ที่ https://thght.works/3hlSVpK หรือฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://thght.works/32CIcD9


เกี่ยวกับ ThoughWorks

ThoughtWorks เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและให้บริการด้านซอฟต์แวร์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน มีพนักงานกว่า 7,000 คน และมีสำนักงาน 43 แห่งใน 14 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งได้เปิดสำนักงานที่กรุงเทพไปเมื่อปี 2559

from:https://www.techtalkthai.com/thoughtworks-thailand-tech-radar-it-trends-update-2020/