คลังเก็บป้ายกำกับ: YIK_YAK

ระดมทุนได้ ก็เจ๊งได้! มาดู 7 สตาร์ทอัพที่เคยรุ่ง และร่วงเรียบร้อยแล้วในปีนี้

รุ่งได้ก็ร่วงได้ เป็นธรรมดาของสรรพสิ่ง เหล่าบรรดา “สตาร์ทอัพ” ก็เช่นกัน บางรายพุ่งไปจนถึงจุดที่เรียกว่า “สตาร์ทอัพยูนิคอร์น” แต่ก็ดิ่งลงมาเป็นม้าธรรมดาได้เหมือนกัน ที่น่าสังเกตคือ สตาร์ทอัพหลายรายเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในระยะยาวแล้วไปไม่รอด

Beepi

Beepi : ก่อตั้งปี 2013 – ปิดตัวกุมภาพันธ์ ปี 2017

Beepi เว็บไซต์ที่รวบรวมผู้ซื้อและผู้ขายรถยนต์ใช้แล้ว ดูท่าจะไปได้สวยเพราะระดมทุนตั้งต้นได้ถึง 150 ล้านเหรียญ ส่วนจุดสูงสุดพุ่งไปถึง 560 ล้านเหรียญ จนทำให้ Fair.com และ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อย่าง DGDG ขอซื้อกิจการ แต่ Beepi ก็ไม่ขาย สุดท้ายก็เจ๊งไป เพราะหมดเงินดำเนินการต่อ

Quixey

Quixey : ก่อตั้งปี 2009 – ปิดตัวกุมภาพันธ์ ปี 2017

Quixey แอพพลิเคชั่นค้นหาข้อมูลสารพัดบนมือถือ ด้วยความเชื่อที่ว่าในยุคนี้ผู้คนค้นหาสิ่งต่างๆ ผ่านมือถือกันมากขึ้น สตาร์ทอัพรายนี้ระดมทุนตั้งต้นได้ 133 ล้านเหรียญ และพุ่งไปถึง 600 ล้านเหรียญในเวลาตอมา แต่เมื่อดำเนินกิจการต่อไปเรื่อยๆ พบว่า ไม่มีรายได้ที่มั่นคง ส่วนในปี 2016 ก็มีการเปลี่ยนตัว CEO สุดท้ายไปไม่รอดเช่นกัน ก็มาปิดตัวเอาในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

Yik Yak

Yik Yak ก่อตั้งปี 2013 – ปิดตัวเมษายน ปี 2017

Yik Yak เป็นแอพพลิเคชั่นสังคมออนไลน์ชนิดหนึ่ง ความพิเศษอยู่ที่การแชทคุยกับคนที่ไม่รู้จักแบบไม่ต้องระบุตัวตน ตอนเริ่มต้นนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่วนเรื่องเงินนั้นเคยระดมทุนได้ถึง 73 ล้านเหรียญ และมีมูลค่าสูง 400 ล้านเหรียญาแล้ว แต่สุดท้ายไปไม่รอดมาและมาปิดตัวในเดือนเมษายนในปีนี้นั่นเอง อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

Maple

Maple : ก่อตั้งปี 2014 – ปิดตัวพฤษภาคม ปี 2017

Maple บริการจัดส่งอาหารเดลิเวอรี่ในนิวยอร์คซิตี้ สตาร์ทอัพรายนี้ได้รับการสนับสนุนจากเชฟไฮเอนด์ชื่อดังคือ David Chang ระดมทุนตั้งต้นที่ 29 ล้านเหรียญ มูลค่าสูงสุดอยู่ที่ 115 ล้านเหรียญ สุดท้ายมีปัญหาเรื่องใบโปรชัวร์คุกกี้ มารู้อีกทีก็ปิดตัวไปเรียบร้อยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง

Sprig

Sprig : ก่อตั้งปี 2013 – ปิดตัวพฤษภาคม ปี 2017

สตาร์ทอัพรายนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในบริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ และแน่นอนก็ล้มเหลวเช่นกัน Sprig ให้บริการในซานฟรานซิสโก แต่เน้นไปที่อาหารคุณภาพสูงและอาหารในท้องถิ่น และบอกเลยว่าจะส่งอาหารภายใน 15 นาที แต่สุดท้ายไปไม่ไหวเพราะรูปแบบธุรกิจไม่ยั่งยืน เพราะสู้กับคู่แข่งที่มีราคาต่ำกว่าอย่าง Seamless ไม่ได้ ส่วนการระดมทุนของรายนี้อยู่ที่ 57 ล้านเหรียญ มีมูลค่าสูงสุดถึง 110 ล้านเหรียญ

Gagan Biyani ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Sprig เขียนเอาไว้ในเว็บไซต์เลยว่าทำธุรกิจนี้ไม่ง่ายเพราะ “ความซับซ้อนของการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก”

Hello

Hello : ก่อตั้งปี 2012 – ปิดตัวมิถุนายน ปี 2017

Hello เป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเป็นเซ็นเซอร์เพื่อติดตามการนอน แรกๆ ดูเหมือนว่าจะไปได้สวย เพราะเปิดตัวอย่างดี ระดมทุนได้ 40 ล้านเหรียญ มีมูลค่าสูงไปถึง 300 เหรียญเลยทีเดียว แต่สุดท้ายก็มาเจ๊งไม่เป็นท่า ลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

Jawbone

Jawbone : ก่อตั้งปี 1997 – ปิดตัวกรกฎาคม ปี 2017

Jawbone เรียกได้ว่ารายนี้ก่อตั้งมานานและเป็นที่รู้จักกันดี เรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกในวงการอุปกรณ์ส่วนใส่การออกกำลังกาย มากกว่านั้น พุ่งไปจุดที่เรียกว่าเป็น “สตาร์ทอัพยูนิคอร์น” เพราะระดมทุน 1 พันล้านเหรียญ และมีมูลค่าสูงไปถึง 3 พันล้านเหรียญ แต่ล่าสุด ได้ปิดตัวลงแล้ว แต่ไม่จบแค่นั้น เพราะ Hosain Rahman ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบอกว่าได้เริ่มต้นบริษัทใหม่ที่มีชื่อว่า Jawbone Health Hub แต่จะเน้นไปในด้านการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ไปพร้อมๆ กัน

ที่มา – Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/startup-rise-and-down-2017/

ปิดฉาก Yik Yak สตาร์ตอัพแชทที่เคยมีมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ ตอนจบเหลือแค่ 1 ล้าน

ปิดฉากไปอีกรายกับสตาร์ตอัพดาวรุ่งที่ระดมเงินทุนได้จำนวนมาก มีมูลค่ากิจการมหาศาล แต่สุดท้ายธุรกิจไปไม่รอดและต้องปิดตัว ขายทรัพย์สินด้วยมูลค่าต่ำเรี่ยดิน

Yik Yak เป็นสตาร์ตอัพสัญชาติอเมริกัน ที่ทำแอพแชทโดยอิงกับพิกัดของผู้ใช้งาน แนวคิดของ Yik Yak คือค้นพบเพื่อนใหม่ๆ ในละแวกเดียวกัน (local community) เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เตะฟุตบอล ชิมอาหาร ฯลฯ แนวคิดของ Yik Yak จึงต่างไปจากแอพแชททั่วไปที่ใช้คุยกับคนที่เรารู้จักอยู่แล้ว เปลี่ยนมาเป็นการคุยกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแทน ผ่านแผนที่ของ Yik Yak ที่บอกว่ามีใครอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเราบ้าง

Yik Yak ก่อตั้งในปี 2013 และประสบความสำเร็จไม่น้อยกับตลาดนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความกระหายทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ มากกว่าคนกลุ่มอื่น ส่งผลให้บริษัท Yik Yak หันมาเน้นทำตลาดลูกค้ากลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ เช่น ส่งมาสค็อตของบริษัทไปทำกิจกรรมตามสถาบันการศึกษาทั่วสหรัฐอเมริกา

ความสนุกของ Yik Yak คือการแชทแบบไม่ต้องระบุตัวตน ส่งผลให้เราสามารถใช้ Yik Yak เป็นเครื่องมือ “นินทา” หรือปล่อยข่าวกอสสิปในรั้วมหาวิทยาลัยได้ ความนิยมของ Yik Yak เคยพุ่งสูงถึงขนาดพาแอพติด Top 10 ของแอพยอดนิยมบน iOS/Android อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง

ในช่วงรุ่งเรือง Yik Yak ระดมทุนรวมกันได้ถึง 73.5 ล้านดอลลาร์ (2.5 พันล้านบาท) และมูลค่าของบริษัทเคยพุ่งสูงถึง 400 ล้านดอลลาร์ (1.4 หมื่นล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มลูกค้านักศึกษาเลิกตื่นเต้นกับ Yik Yak ช่วงเวลาแห่งความจริงก็เดินทางมาถึง ช่วงกลางปี 2016 บริษัทก็เริ่มมีปัญหา และพยายามปรับเปลี่ยนธุรกิจ (pivot) ไปยังการแชทลับเฉพาะกลุ่ม แต่ความพยายามก็ไม่เกิดผล ในเดือนธันวาคม 2016 บริษัทก็ต้องปลดพนักงานส่วนใหญ่ออก จากที่เดิมมีพนักงานประมาณ 50 คนก็ลดลงเหลือ 20 คน

ล่าสุดในเดือนเมษายน 2017 บริษํทก็ประกาศปิดตัว โดยทีมงานบางส่วนของ Yik Yak ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน จะย้ายไปเป็นพนักงานของ Square บริษัททำระบบจ่ายเงินมือถือ ในราคาเพียง 1 ล้านดอลลาร์

Yik Yak ถือเป็นสตาร์ตอัพรายหนึ่งที่มากับกระแสการแชทแบบไม่เปิดเผยตัวตน (anonymous chat) ที่มีหลายบริษัทด้วยกัน เช่น Secret, Whisper, After School, Blindspot, Brighten แต่ก็ไม่มีรายไหนเลยที่สามารถไปต่อได้

David Byttow ผู้ก่อตั้งแอพ Secret ที่ต้องปิดตัวในลักษณะเดียวกันมาก่อน วิเคราะห์ความล้มเหลวของแอพแบบ anonymous ว่าการไม่เปิดเผยตัวตน ส่งผลให้การใช้งานสนุกในช่วงแรก แต่ในระยะยาวกลับไม่มีอะไรดึงดูดให้กลับมาใช้แอพต่อ เพราะผู้ใช้งานไม่สามารถสร้างความเป็นชุมชน (community) ระหว่างกันได้นั่นเอง ภาวะแบบนี้กลับแตกต่างจาก Snapchat ที่เป็นแอพบังคับให้เปิดเผยตัวตน แต่แชร์เนื้อหาที่ลบทิ้งไปโดยอัตโนมัติแทน การที่ผู้ใช้ Snapchat รู้จักกันและกัน เป็นสิ่งที่ทำให้ Snapchat ประสบความสำเร็จในแง่การสร้างฐานผู้ใช้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ที่มา – Yik Yak Blog, The Verge

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/yikyak-closed/