คลังเก็บป้ายกำกับ: PLANT-BASED_MEAT

ขาใหญ่มาเพิ่ม เบทาโกร ส่งแบรนด์ Meaty! ทำตลาด Plant-based Meat ชิงแชร์ตลาด 45,000 ล้านบาท

ตลาด Plant-based Meat ยังเดือดต่อ เบทาโกร อีกยักษ์ใหญ่สินค้าเกษตร และอาหาร ประกาศเปิดตัว Meaty! แบรนด์สินค้า Plant-based Meat เพื่อต่อกรกับกลุ่มทุนใหญ่อย่าง CP และรายย่อยอีกเกือบ 10 ราย

Meaty!

เบทาโกร กับการลุยตลาด Plant-based Meat

วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เบทาโกร เปิดเผยว่า การให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ที่พยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง โดยหันมาเลือกรับประทานโปรตีนทางเลือกในบางมื้อแบบ Flexitarian

ทำให้ผลิตภัณฑ์ Plant-based Food กลายเป็นหนึ่งในเทรนด์อาหารโลกที่ได้รับความนิยม และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลว่าตลาด Plant-based Meat ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก ผ่านการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จนปี 2567 จะมีมูลค่าตลาด 45,000 ล้านบาท

“เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เบทาโกรจึงได้พัฒนา Meatly! โปรตีนจากพืชให้เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์คุณภาพ ที่มีความปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรม และยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางอาหารในอนาคต”

ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติ หรือ UX คาดการณ์ว่าว่า ภายในปี 2050 จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคน และเบทาโกรคาดว่าในอีก 9 ปีข้างหน้า 25% ของการบริโภคเนื้อสัตว์จะถูกทดแทนด้วยโปรตีนจากพืช ดังนั้น Meaty! จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอาหารที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Meaty! จะเริ่มต้นทำตลาดด้วย 3 ผลิตภัณฑ์คือ

  • แพลนต์เบสคัตสึ
  • แพลนต์เบสคัตสึชีส
  • เนื้อหมูบดแพลนต์เบส

จำหน่ายในช่องทางค้าปลีกทั่วไป รวมถึงจำหน่ายในรูปแบบ B2B ให้กับร้านอาหารต่าง ๆ เช่น Easy Buddy, 137 Pillars, Bangkok Trading Post, Plantiful, เหล เหล บาย เลอ มาย อัน, Little Mermaid, Babyccino, โค-ลิมิเต็ด และ Aoringo

อ้างอิง // ข่าวประชาสัมพันธ์ เบทาโกร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ขาใหญ่มาเพิ่ม เบทาโกร ส่งแบรนด์ Meaty! ทำตลาด Plant-based Meat ชิงแชร์ตลาด 45,000 ล้านบาท first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/betagro-meaty-plant-based/

เนื้อหมูจากพืช ถูกกว่า เนื้อหมูจริง ถึงเวลากิน Plant-based Food? เช็คราคาแบรนด์ไหนถูกกว่าบ้าง

ในที่สุด Plant-based Meat ในไทยสามารถทำราคาลงมาแข่งขันกับราคาเนื้อสัตว์จริง ๆ ได้อย่างสูสี โดย Meat Avatar ขายหมูสับที่ทำมาจากพืช 1 กก. ราคา 178 บาท ถูกกว่าหมูสับ Makro ที่ขาย 186 บาท/กก.

plant-based

Plant-based Meat ถูกกว่าเนื้อสัตว์มีอยู่จริง

ก่อนหน้านี้ Brand Inside รายงานข่าวประชาสัมพันธ์ของ Meat Avatar ที่ส่งมาว่า ร้านอาหารแห่ใช้เนื้อหมูจากพืชทดแทนเนื้อหมูจริง เพราะเนื้อหมูมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำราคาขายปลีก หมูสับจำแลง หรือ Miced Pork Avatar กล่องละ 240 ก. ราคา 120 บาท ที่อยู่บนเว็บไซต์ meatavatar.com มาเปรียบเทียบ

เมื่อคำนวนเป็นหน่วย กก. จะได้ กก. ละ 500 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาเนื้อหมูพอสมควร แต่ล่าสุด Brand Inside ได้ลงสำรวจ Makro พบว่า Meat Avatar ขาย หมูสับจำแลง ในบรรจุภัณฑ์น้ำหนักรวม 1 กก. ราคา 175 บาท ซึ่งถูกกว่าราคา หมูสับ ที่ Makro จำหน่ายราคา 186 บาท/กก. (ข้อมูลวันที่ 1 ก.พ. 2565)

ถือเป็นมิติใหม่ในวงการ Plant-based Meat ที่มีการขายปลีกเนื้อจากพืชในราคาที่ต่ำกว่าเนื้อสัตว์จริง ๆ เพราะหากนับตั้งแต่ช่วงกระแส Plant-based Meat เริ่มจำหน่ายมากขึ้นในไทยเมื่อ 2-3 ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน ราคาเนื้อจากพืชยังมีราคาขายปลีกสูงกว่าเนื้อสัตว์จริง ๆ 2-3 เท่า

สำรวจตลาด Plant-based Meat ใน Makro

หากสำรวจในส่วนจำหน่ายเนื้อจากพืชใน Makro จะพบว่า มีเนื้อจากพืช 4-5 แบรนด์จำหน่ายอยู่ในตู้แช่แข็ง และรูปแบบผลิตภัณฑ์มีทั้งขายแยกในปริมาณน้อย และนำมารวมกันเพื่อขายในปริมาณมาก โดยตัวอย่างแบรนด์ และรูปแบบสินค้าที่น่าสนใจมีดังนี้

  • MoreMeat เนื้อจากพืช ปริมาณ 200 ก. 3 ถุง ราคา 255 บาท (กก. ละ 425 บาท)
  • Meat Zero เนื้อบดจากพืช ปริมาณ 220 ก. 3 ถุง ราคา 209 บาท (กก. ละ 316 บาท)
  • Let’s Plant Meat เนื้อบดจากพืช ปริมาณ 1 กก. ราคา 280 บาท

และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับราคาขายปลีกแยกในปริมาณน้อย อ้างอิงราคาจาก tops.co.th กับร้านค้าออนไลน์อื่น ๆ จะพบว่า ราคาขายเนื้อจากพืชในปริมาณมากจะราคาต่อกิโลกรัมจะถูกกว่าราคาขายจำนวนน้อย เช่น

  • MoreMeat เนื้อจากพืช ปริมาณ 200 ก. ราคา 89 บาท (กก. ละ 445 บาท)
  • Meat Zero เนื้อบดจากพืช ปริมาณ 220 ก. ราคา 79 บาท (กก. ละ 359 บาท)
  • Let’s Plant Meat เนื้อบดจากพืช 150 ก. ราคา 79 บาท (กก. ละ 526 บาท)

ถือเป็นสัญญาณดีสำหรับตลาด เนื้อจากพืช และอาจเติบโตได้ตามที่ ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส มองว่า Plant-based Food ในไทยจะเติบโตเฉลี่ย 10% ทุกปีจนมีมูลค่า 45,000 ล้านบาท ในปี 2567 โดยในปี 2562 มูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท

Plant-based Meat ในไทยมีทุนไหนบ้าง

ปัจจุบันตลาดเนื้อจากพืชในประเทศไทยเริ่มมีทุนใหญ่เข้ามาทำตลาดมากขึ้น เช่น Meat Zero เป็นของกลุ่ม CP ส่วน Meat Avatar มีกลุ่มมิตรผลเข้ามาลงทุน เช่นเดียวกับ MoreMeat มีกลุ่ม V Foods เข้ามาลงทุน (ผู้ผลิตน้ำนมข้าวโพด และอาหารจากพืช) รวมถึงมีแบรนด์จากต่างชาติเช่น OmniMeat และ Beyond Meat ขายอยู่ในตลาด

หากอธิบายภาพรวมตลาด Plant-based Food ในประเทศไทยจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ

  • Plant-based Milk เช่น น้ำนมถั่วเหลือง และนมจากธัญพืชต่าง ๆ
  • Plant-based Meal เช่น อาหารสำเร็จรูปที่ทำมาจากพืช, อาหารเจ และอาหามังสวิรัติ
  • Plant-based Meat หรือ Plant-based Protein เช่น เนื้อจากพืชตามแบรนด์ต่าง ๆ ข้างต้น

ส่วนที่กินมูลค่าตลาดมากที่สุดคือ Plant-based Milk หากอ้างอิงจากข้อมูลของ Tofusan จะพบว่า มูลค่าตลาดน้ำนมจากพืชสูงถึง 16,000-17,000 ล้านบาท หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตลาด ส่วนที่เหลือเป็นอาหารมังสวิรัติปรุงสำเร็จ เช่นช่วงเทศกาลกินเจในกรุงเทพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์เงินสะพัดถึง 4,700 ล้านบาท

ทั้งนี้จุดเด่นของ Plant-based Meat มีตั้งแต่การใช้วัตถุดิบจากพืช ทำให้ลดการปล่อยมลพิษจากการเลี้ยงสัตว์ได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงสารอาหารภายในผลิตภัณฑ์จะค่อนข้างโดดเด่นในเรื่องโปรตีน และให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้ดีกว่าเนื้อสัตว์ปกติ

สรุป

เนื้อจากพืชที่ราคาถูกกว่าเนื้อจากสัตว์มีอยู่จริง และส่วนตัวผู้เขียนคาดว่า แบรนด์อื่น ๆ จะพยายามกดราคาลงมาเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Plant-based Meat โตลำบาก มาจากราคาที่ยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ ยิ่งราคาเนื้อหมูยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวลดลง มันก็คงเป็นโอกาสของแบรนด์ต่าง ๆ ในการรุกตลาดตอนนี้

อ้างอิง // Meat Avatar, กรุงไทยคอมพาส

อ่านข่าวเกี่ยวกับ Plant-based Meat เพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เนื้อหมูจากพืช ถูกกว่า เนื้อหมูจริง ถึงเวลากิน Plant-based Food? เช็คราคาแบรนด์ไหนถูกกว่าบ้าง first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/meat-avatar-plant-based-1-kg/

รู้จัก OmniMeat ผู้ผลิต Plant-based Meat ที่เริ่มจากดูแลสิ่งแวดล้อม สู่การเติบโตยั่งยืน

ตลาด Plant-based Meat ในประเทศไทยยังเป็นกระแสต่อเนื่อง ลองทำความรู้จัก OmniMeat ผู้ผลิต Plant-based Meat อีกรายที่ทำตลาดในไทย และชูเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในการทำตลาดเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

omnimeat

Omnimeat ที่เริ่มต้นจากการรักษาสิ่งแวดล้อม

Plant-based Meat หรือเนื้อจากพืช เป็นหนึ่งในประเภทของ Plant-based Food ที่ประกอบด้วย Plant-based Milk หรือนมจากพืช, Plant-based Meal หรืออาหารสำเร็จจากพืช และ Plant-based Meat ซึ่งอย่างหลังมีผู้เล่นทั้ง Startup และธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่ ลงสนามมาชิงส่วนแบ่งที่กำลังเติบโต

Green Monday องค์กรจากฮ่องกงคือหนึ่งในผู้เล่นที่ลงสนามนี้ เพราะนอกจากเห็นโอกาสการเติบโต ยังมองเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นอีกแกนในการทำธุรกิจ หลังพบว่า เนื้อหมูถูกบริโภคมากที่สุดในจีน คิดเป็นสัดส่วน 65% ของการบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมด แต่การบริโภคมากขนาดนี้ส่งผลเสียต่อภาพรวมสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก

เพราะการเลี้ยงหมูเพื่อตอบโจทย์การบริโภคจำนวนมากจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก, สร้างมลภาวะทางอากาศ, มีการใช้น้ำเยอะ และต้องผลิตอาหารสัตว์จำนวนมาก Green Monday จึงเปิดตัว OmniPork ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อหมูที่ดีต่อสุขภาพ ทำด้วยโปรตีนจากพืช และลดการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างยั่งยืนในปี 2018

omnimeat

ขยายตัวไปมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

หลังจากเปิดตัวไม่นาน OmniPork เริ่มขยายตัวไปในประเทศ 20 ประเทศทั่วโลก ผ่านแนวทางการทำตลาดที่ชูจุดเด่นเรื่องอาหารที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยรักษาสุขภาพได้ โดยในประเทศไทยจะทำตลาดภายใต้แบรนด์ OmniMeat วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามการทำตลาดในประเทศไทยมีทั้งความง่าย และความยาก โดยความง่ายคือ คนไทยคุ้นเคยโปรตีนจากพีชอยู่แล้ว ผ่านการรับประทานอาหาร “เจ” แต่การจะให้มารับประทานทุกวันคงยาก OmniMeat จึงพยายามสื่อสารสินค้าให้รับประทานในชีวิตประจำวันได้จริง พร้อมกับความอร่อยที่ผู้บริโภคไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับวัตถุดิบที่ทำจากพืช

นอกจากนี้ OmniMeat ยังพยายามทำตลาดให้เข้ากับแต่ละท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ดีที่สุด นอกจากคุณค่าทางโภชณาการที่ดี และรักสุขภาพมากกว่าการรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งหลังจากทำตลดในประเทศไทยมา 2 ปี ภาพรวมตลาด Plant-based Meat ที่มีมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย

omnimeat

จากส่วนเล็ก ๆ ในมังสวิรัติ สู่ตลาดที่ยอมรับ

หากเจาะไปที่ภาพรวมตลาด Plant-based Meat ในประเทศไทย ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะจากที่สินค้าโปรตีนจากพืชถูกวางจำหน่ายร่วมกับสินค้ามังสวิรัติอื่น ๆ กลายเป็นว่ามีเชลฟ์ของตัวในในซูเปอร์มาร์เก็ต ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสินค้า และผู้บริโภคให้ความสนใจวัตถุดิบนี้มากขึ้น

จุดนี้เอง Plant-based Meat จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และมีโอกาสเติบโตเทียบเท่ากับ Plant-based Milk เช่นนมถั่วเหลือง หรือถั่วชนิดอื่น ๆ ที่ถูกรับประทานกันอย่างแพร่หลาย ผ่านการเป็นโปรตีนจากพืชที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และช่วยดูแลสุขภาพผู้รับประทาน

อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของ Plant-based Meat คือราคา เพราะค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ปกติ แต่ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่า หลังจากนี้ราคาน่าจะค่อย ๆ ลดลง ผ่านเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้น และผู้บริโภคต้องการรับประทานมากกว่าเดิม ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่า OmniMeat จะได้รับประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าวแค่ไหน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post รู้จัก OmniMeat ผู้ผลิต Plant-based Meat ที่เริ่มจากดูแลสิ่งแวดล้อม สู่การเติบโตยั่งยืน first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/omnimeat-plant-based-meat/

CPF เปิดตัว MEAT ZERO เนื้อจากพืช บุกตลาดต่างประเทศ ตั้งเป้าขึ้น Top3 ของโลกใน 3-5 ปี

เนื้อจากพืช (Plant-based Meat) เป็นเทร็นด์อาหารของโลกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี CPF ทำการวิจัยและพัฒนามากว่า 2 ปี พบนวัตกรรม PLANT-TEC ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ MEAT ZER0 เนื้อทางเลือกที่มีลักษณะ รสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัส

meat zero

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า CPF ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่า MEAT ZERO ให้ความรู้สึกเสมือนรับประทานเนื้อสัตว์จริงๆ เป็นพืชที่อร่อยอย่างเนื้อ ผู้บริโภคแทบจะแยกไม่ออกเลยว่ากำลังรับประทานพืชอยู่

ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น หลายคนควบคุมอาหารหรือลดน้ำหนักด้วยการเว้นเนื้อสัตว์เป็นครั้งคราว หลายคนมีความเชื่อและเลือกเว้นเนื้อสัตว์ในวันเกิด เดือนเกิด หรือเมื่อโอกาสอำนวย เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Flexitarian หรือกลุ่มมังสวิรัติยืดหยุ่น จึงทำให้มีความต้องการอาหารทางเลือกที่ปราศจากเนื้อสัตว์มากขึ้น แต่ข้อจำกัดที่พบคือระดับราคาที่สูงของเนื้อเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่หาซื้อได้ง่ายนัก MEAT ZER0 จึงเข้ามาตอบโจทย์ให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้นทั้งระดับราคาและจุดจำหน่าย เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้แตะหนึ่งพันล้านบาทให้บริษัทได้ในเวลาไม่กี่ปี

meat zero

ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช MEAT ZERO วางจำหน่ายในระดับราคาที่ใกล้เคียงกับอาหารจากเนื้อสัตว์ปกติ โดยมีรูปแบบอาหารพร้อมรับประทาน ที่ประกอบด้วยเมนูยอดนิยม เช่น โบโลน่าจากพืช เบอร์เกอร์หมูจากพืช ข้าวกระเพราเนื้อจากพืช สปาเก็ตตี้เนื้อสับ จำหน่ายในราคา 35-45 บาท และในรูปแบบอาหารพร้อมปรุง สำหรับนำไปปรุงเป็นอาหารรับประทานกันในบ้าน อาทิ นักเกตไก่จากพืช เนื้อบดจากพืช และหมูกรอบจากพืช โดยวางจำหน่ายในราคา 69 บาท

ที่สำคัญคือ ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ง่ายจาก เซเว่นอีเลฟเว่น แมคโคร โลตัส และห้างโมเดิร์นเทรดชั้นนำทั่วประเทศ

meat zero

บุกตลาดส่งออก เตรียมขึ้นแท่น Top 3 ของโลก  

ผู้บริโภคกลุ่มวีแกนและกลุ่มมังสวิรัติยิดหยุ่น (Flexitarian) มีจำนวนราว 29% ของประชากรโลก ขณะที่ซีพีเอฟมีฐานลูกค้าอยู่ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก จึงจะใช้ศักยภาพนี้ในการกระจาย “MEAT ZER0” ออกสู่ตลาดโลกทั้งเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2564 นี้ จะเริ่มส่งออกไปยังตลาดเอเชียก่อน และขยายสู่ยุโรป และอเมริกา โดยมั่นใจว่าจะก้าวสู่ผู้นำตลาดเนื้อทางเลือกอันดับ 1 ของเอเชีย จะขึ้นแท่น Top 3 ผู้นำเนื้อทางเลือกของโลกได้ภายในเวลา 3-5 ปี    

“MEAT ZER0 จะกลายเป็น 1 ใน 3 ผู้นำตลาดเนื้อทางเลือกของโลกได้ภายใน 3-5 ปี และซีพีเอฟจะยังคงพัฒนาต่อไปสู่การเป็นบริษัทอาหารแห่งอนาคตหรือ Food Tech Company อย่างเต็มรูปแบบตอบโจทย์ความต้องการอาหารของผู้บริโภคทุกกลุ่ม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post CPF เปิดตัว MEAT ZERO เนื้อจากพืช บุกตลาดต่างประเทศ ตั้งเป้าขึ้น Top3 ของโลกใน 3-5 ปี first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/cpf-meat-zero/

ไทยยูเนี่ยนมุ่งสู่สินค้าโปรตีนจากพืช ตั้งเป้าสร้างรายได้ทะลุ 1.6 แสนล้านบาทภายในปี 2025

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งเป้าสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 5% หรือทะลุ 1.6 แสนล้านบาท (5.19 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ภายใน 5 ปีข้างหน้า 

Thai Union

ธีรพงศ์ จันศิริ CEO ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป ระบุว่า จะมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของธุรกิจมากขึ้น ก่อนหน้านี้เคยมุ่งไปที่ตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและตะวันออกกลาง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เดือนนี้ ไทยยูเนี่ยนจะออกผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ตัวเอง เป็นสินค้าประเภทโปรตีนจากพืชหรือเนื้อไร้เนื้อ หรือที่เรียกกันว่า plant-based meat ภายใต้ชื่อ OMG Meat ซึ่งจะมีการนำมาขายในค้าปลีกไทย เหมือนที่ขายในเทสโกในอังกฤษหรือร้านอาหารที่อยู่ภายใต้เครือไมเนอร์ 

ธีรพงศ์คาดว่าปีนี้น่าจะทำยอดขายได้ที่ 100 ล้านบาทและเพิ่มเป็นพันล้านบาทได้ภายใน 5 ปี โดยโปรตีนทางเลือกนั้นจะมีเนื้อสัตว์หลากชนิด ทั้งเนื้อหมู เนื้อปู และเนื้ออาหารทะเลต่างๆ ไทยยูเนี่ยนยังลงทุนในสตาร์ทอัพผ่านการร่วมทุน 30 ล้านเหรียญสหรัฐและยังเป็นพาร์ทเนอร์กับไทยเบฟด้วย นอกจากนี้ ทางไทยยูเนี่ยนยังให้ความสนใจที่จะนำกัญชามาใส่ในอาหารด้วย ซึ่งตอนนี้ก็มีชื่อในใจแล้วว่า Happy Tuna

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ไทยยูเนี่ยนมุ่งสู่สินค้าโปรตีนจากพืช ตั้งเป้าสร้างรายได้ทะลุ 1.6 แสนล้านบาทภายในปี 2025  first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/thai-union-luanch-plant-based-meat-omg-meat/

Bill Gates ชวนประเทศร่ำรวยเปลี่ยนไปกินเนื้อสัตว์จากพืช รสชาติไม่เหมือนแต่เดี๋ยวก็ชิน

Bill Gates มหาเศรษฐีชื่อดัง แนะนำประเทศร่ำรวยควรหันมาบริโภคเนื้อสัตว์จากพืช (Plant Based Meat) ได้แล้ว เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

กระแสการบริโภคเนื้อสัตว์จากพืช หรือ Plant Based Meat กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในระดับโลก รวมถึงในประเทศไทย พิสูจน์ได้จากตัวเลขมูลค่าตลาดของเนื้อสัตว์จากพืชที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

มูลค่าตลาด Plant-based Food ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.85 แสนล้านบาท และจะเติบโตเฉลี่ย 10.5% จนมีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.57 แสนล้านบาท ในปี 2024

แต่อย่างไรก็ตามมูลค่าตลาดของเนื้อสัตว์จากพืชยังคงคิดเป็นส่วนแบ่งเพียง 1% จากมูลค่าตลาดเนื้อสัตว์ทั้งหมด

ส่วนในประเทศไทย ตลาด Plant-based Food ปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 28,000 ล้านบาท มีโอกาสเติบโตปีละ 10% และในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส)

ด้วยกระแสความนิยมเนื้อสัตว์จากพืชที่ผลักดันให้ตลาดเติบโตเฉลี่ย 10.5% ทำให้เชนร้านอาหารหลายรายตัดสินใจเพิ่มตัวเลือกเมนูที่ทำจากเนื้อสัตว์จากพืช ทดแทนเนื้อสัตว์แบบปกติกันมากขึ้น โดยเฉพาะ Burger King ที่เพิ่มเมนู Whopper ที่ทำจากเนื้อสัตว์จากพืชทั้งในสหรัฐอเมริกา และในประเทศไทย

Beyond Meat ผู้ผลิตเนื้อสัตว์จากพืชรายหนึ่ง ภาพจาก Shutterstock

Bill Gates ชวนประเทศร่ำรวยหันมาบริโภคเนื้อสัตว์จากพืชกันได้แล้ว

ล่าสุด Bill Gates มหาเศรษฐีชื่อดัง ผู้ก่อตั้งบริษัทไอทีรายใหญ่อย่าง Microsoft ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์จากพืช ผ่านการให้สัมภาษณ์กับ MIT’s Technology Review โดย Bill Gates สนับสนุนให้คนหันมาบริโภคเนื้อสัตว์จากพืช

“ประเทศที่ร่ำรวยควรหันมาบริโภคเนื้อสัตว์จากพืช 100% ได้แล้ว เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม”

อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าพิจารณาในการหันไปบริโภคเนื้อสัตว์จากพืช ที่ในขณะนี้รสชาติยังไม่เหมือนเนื้อสัตว์แบบเดิม 100% ซึ่ง Bill Gates ก็ได้ตอบคำถามในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน ว่า “คุณจะเคยชินกับรสชาติที่แตกต่างไปเอง ในขณะที่ผู้ผลิตเนื้อสัตว์จากพืชก็กำลังพัฒนารสชาติให้ดีขึ้นเรื่อยๆ”

ส่วนในมุมประเทศที่มีฐานะยากจน Bill Gates ก็ยอมรับว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะหันมาบริโภคเนื้อสัตว์จากพืชแทนเนื้อสัตว์แบบเดิมๆ ได้ในเร็ววันนี้ เพราะประเทศยากจนยังคงต้องพึ่งพาการทำปศุสัตว์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญอยู่เช่นเดิม

Bill Gates ถือครองที่ดินการเกษตรมากที่สุดในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2021 ที่ผ่านมา Bill Gates และภรรยา Melinda Gates เพิ่งจะทำลายสถิติเป็นผู้ถือครองที่ดินการเกษตรมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยพื้นที่ 242,000 เอเคอร์ หรือประมาณ 980 ล้านตารางเมตร เทียบเท่ากับสนามฟุตบอลรวมกัน 137,000 แห่ง

อย่างไรก็ตามหาก Bill Gates ต้องการให้คนในประเทศรำ่รวยหันมาบริโภคเนื้อสัตว์จากพืชทดแทนเนื้อสัตว์แบบเดิมๆ ก็น่าจะมีส่วนช่วยลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มาก เพราะ Oxfam เคยทำการศึกษาพบว่า ประเทศร่ำรวยเพียง 1% มีส่วนในการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกที่เพิ่มขึ้น 60% นับตั้งแต่ปี 1990-2015 คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับประเทศที่มีฐานะยากจนอีกครึ่งหนึ่ง

ที่มา – Nypost, Veganfoodandliving

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Bill Gates ชวนประเทศร่ำรวยเปลี่ยนไปกินเนื้อสัตว์จากพืช รสชาติไม่เหมือนแต่เดี๋ยวก็ชิน first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/bill-gate-suggest-rich-country-should-eat-plant-based-meat/

อ่านเกม Burger King ทำไมต้องทำ Plant-Based Whopper เบอร์เกอร์เนื้อที่ไม่มีเนื้อ

Brand Inside ชวนเปิดกลยุทธ์ Burger King ทำไมต้องทำ Plant Based Whopper เบอร์เกอร์เนื้อจากพืช ไม่มีเนื้อเป็นส่วนประกอบ

Burger King ในประเทศไทยเพิ่งจะเปิดตัวเมนูใหม่ Plant Based Whopper เมนูเบอร์เกอร์ Whopper ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Burger King ในรูปแบบ Plant Based หรือการใช้เนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์แบบปกติ โดยทาง Burger King ยังเครมด้วยว่า “กรรมวิธีการย่างบนเปลวไฟซึ่งเป็นกรรมวิธีเอกลักษณ์ ทำให้รสสัมผัสแพลนต์เบสที่ได้ออกมามีรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อจริงมากที่สุด”

โดยเมนู Plant Based Whopper จะเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป ในราคา 165 บาท และ 219 บาท เมื่อซื้อเป็นชุดรวมน้ำอัดลม และเฟรนช์ฟรายส์

สำหรับการนำเนื้อสัตว์จากพืชมาทำเป็นเมนู Plant Based Whopper ของ Burger King นี้ นับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดนำเอาเนื้อสัตว์จากพืชมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักของเมนู

อ่านเกม Burger King ทำไมต้องทำเบอร์เกอร์เนื้อที่ไม่มีเนื้อ

จากการเปิดตัวเมนูเบอร์เกอร์เนื้อสัตว์จากพืช Plant Based Whopper ของ Burger King นี้ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าสาเหตุหลักอาจมาจากกระแสของเนื้อสัตว์จากพืชที่กำลังมาแรงไม่ใช่แค่ในระดับโลก แต่รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน

มูลค่าตลาด Plant-based Food ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.85 แสนล้านบาท และจะเติบโตเฉลี่ย 10.5% จนมีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.57 แสนล้านบาท ในปี 2024

ส่วนในประเทศไทย ตลาด Plant-based Food ปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 28,000 ล้านบาท มีโอกาสเติบโตปีละ 10% และในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส)

ในขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา Burger King ได้ทดลองขายเบอร์เกอร์ Impossible Whopper ซึ่งเป็นเบอร์เกอร์เนื้อสัตว์จากพืชที่ทำร่วมกับแบรนด์ Impossible Food ไปก่อนหน้านี้ และวางขายให้ได้ทุกสาขาทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2562

จากมูลค่าตลาดจำนวนมหาศาล จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม Burger King ต้องหันมาสนใจทำเมนูเบอร์เกอร์เนื้อสัตว์จากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ในประเทศไทย ยังไม่มีร้านอาหารฟาสฟู้ดต์รายใดทำเมนูเนื้อสัตว์จากพืชมาก่อน Burger King จึงถือเป็นรายแรกที่เข้ามาเปิดตลาดนี้ในประเทศไทย

นอกจากนี้เทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสนใจกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เลือกทานอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และร่างกายมากขึ้นเช่นเดียวกัน เห็นได้จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ที่ระบุว่า ผู้บริโภคชาวไทยกว่า 53% ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง และอีก 45% สนใจที่จะเปลี่ยนไปรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติ วีแกน และอาหารจากพืช

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post อ่านเกม Burger King ทำไมต้องทำ Plant-Based Whopper เบอร์เกอร์เนื้อที่ไม่มีเนื้อ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/burger-king-plant-based-whopper/

Impossible Foods ประกาศลดราคาครั้งที่ 2 ในรอบปี เหตุความต้องการในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูง

กระแส Plant-based Meat หรือโปรตีนจากพืชเติบโตต่อเนื่อง และเมื่อความต้องการมีมากกว่าเดิม Impossible Foods จึงตัดสินใจปรับลดราคาครั้งที่ 2 ในรอบปี เพื่อตอบโจทย์ตลาดได้ดีกว่าเดิม

impossible foods

Impossible Foods กับการปรับลดราคา

การปรับลดราคาของ Impossible Foods ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการปรับลดราคากับตัวแทนจำหน่ายที่ทำตลาด Foodservice ถึง 15% เหลือ 6.80 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์ (ราว 204 บาท/4.53 กรัม) เพื่อให้ตัวแทนจำหน่ายกลุ่มนี้สามารถบุกตลาด Foodservice เช่นร้านอาหาร และสถานบริการต่างๆ ได้ดีขึ้น

Patrick Brown ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Impossible Foods เสริมว่า บริษัทเตรียมปรับลดราคาจำหน่ายกับตัวแทนจำหน่าย Foodservice ในแคนาดา, สิงคโปร์, ฮ่องกง และมาเก๊า โดยอัตราการปรับลดจะทำตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

แม้การปรับลดราคาจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาจะเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี แต่ตัวสินค้ายังราคาสูงกว่าเนื้อบดที่ราคาเฉลี่ย 2-3 ดอลลาร์/ปอนด์ (ราว 60-90 บาท/4.53 กรัม) จึงต้องรออีกระยะหนึ่งกว่า Plant-based Meat จะมีราคาเท่าเทียมกับเนื้อสัตว์จริงๆ

อย่างไรก็ตามการเติบโตของ Plant-based Meat ในสหรัฐอเมริกา และทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งร้านอาหารต่างๆ ยังเริ่มนำสินค้านี้ไปทำตลาดมากขึ้น เช่น Burger King, Starbucks และอื่นๆ จุดนี้เองทำให้กำลังผลิตของ Impossible Foods เพิ่มขึ้น 6 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019

สรุป

Plant-based Maet ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และน่าจะหยุดยากในเวลานี้ เพราะในวิกฤต COVID-19 โรงงานเนื้อสัตว์ต่างต้องปิดบริการชั่วคราว กลายเป็นโอกาสของ Plant-based Meat ที่จะช่วงชิงตลาด และพยายามทำราคาลงมาให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงๆ มากกว่าเดิม

อ้างอิง // Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Impossible Foods ประกาศลดราคาครั้งที่ 2 ในรอบปี เหตุความต้องการในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูง first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/impossible-foods-discount/

Nestle เตรียมทำตลาด Plant-based Meat ในประเทศจีนภายใต้แบรนด์ Harvest Gourmet

กระแส Plant-based Meat หรือเนื้อเทียม กำลังเติบโตทั่วโลก ไม่เว้นแต่ประเทศจีน ถึงขนาด Nestle ยักษ์ใหญ่ในโลกอาหารต้องลงมาบุกตลาดจีนด้วยแบรนด์ Harvest Gourmet เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในอนาคต

harvest gourmet

ท้าชนแบรนด์ท้องถิ่น และเจ้าตลาด

สำหรับการเปิดตัว Harvest Gourmet ในประเทศจีนของ Nestle ถือเป็นการต่อยอดจากการทำตลาดแบรนด์ดังกล่าวที่ออสเตรเลีย กับนิวซีแลนด์ โดยตัวสินค้าจะประกอบด้วยเนื้อเทียมหลากหลายรูปแบบ เช่นไส้กรอก และเนื้อบด รวมถึงมีอาหารสำเร็จรูปจำหน่ายด้วย เช่น Kung Pao Chicken, Braised Meatball และ Pork Belly

Rashid Qureshi ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Nestle จีนแผ่นดินใหญ่ แจ้งว่า จีนถือเป็นประเทศผู้นำเทรนด์เกี่ยวกับเนื้อเทียมในเอเชีย และผู้คนต่างก็ต้องการอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพของพวกเขา รวมถึงโลกนี้ด้วย โดย Harvest Gourmet จะผลิตที่โรงงานผลิตเนื้อเทียมโดยเฉพาะ ตั้งอยู่ในเทศบาลนครเทียนจิน

harvest gourmet
โรงงานของ Harvest Gourmet

ที่สำคัญโรงงานดังกล่าวยังเป็นที่ผลิตเนื้อเทียมโดยเฉพาะแห่งแรกในเอเชีย แต่การทำตลาด Gourmet Harvest ของ Nestle นั้นไม่ง่าย เพราะปัจจุบันตลาดเนื้อเทียมในจีนมีตั้งแต่แบรนด์ท้องถิ่น เช่น Zhenmeat และ Starfield รวมถึงผู้นำของตลาดนี้อย่าง Beyond Meat ซึ่งทั้งหมดมีการพาร์ทเนอร์กับ Starbucks และ KFC มาแล้ว

อย่างไรก็ตามเพื่อการขยายตลาด Gourmet Harvest ทาง Nestle มีแผนนำสินค้าต่างๆ ไปจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์ผ่าน Tmall รวมถึงวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต Hema ด้วย ส่วนการเติบโตของเนื้อเทียมในจีนหลักๆ มาจากความกังวลเรื่องสุขภาพ, การช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และการลดการทารุณสัตว์

สรุป

เนื้อเทียมเติบโตไปทั่วโลกจริงๆ แต่ก็น่าสนใจว่ามันจะเกิดขึ้นในจีนด้วยหรือไม่ เพราะล่าสุด CCTV มีการสำรวจว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ถูกสำรวจ 2,659 คน ไมเต็มใจที่จะทดลองรับประทานเนื้อเทียม และมีเพียง 13.7% ที่บอกว่าได้ทดลองบ้างแล้ว ทั้งรสชาติยังค่อนข้างดีอีกด้วย

อ้างอิง // Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/nestle-plant-based-meat-china/

อาหารกระป๋อง Plant Based Meat มาแรง ในยุคที่ความสะดวกมาคู่กับความอร่อย และสุขภาพดี

อาหารกึ่งสำเร็จรูป ทั้งที่มาในรูปแบบกระป๋องอย่างซุป และบะหมี่สำเร็จรูป รสชาติต่างๆ กำลังมีแนวโน้มของรสชาติที่เปลี่ยนไปจากเดิม แทนที่จะมีแต่รสชาติไก่ หมู ต้มยำที่เราคุ้นเคย ไปสู่การพัฒนาเป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบ Plant Base

ภาพจาก Shutterstock

อาหารกระป๋อง นับว่าเป็นอาหารที่ตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตของคน ตั้งแต่ช่วงยุค 1960 เป็นต้นมา ที่ชีวิตของคนมีความเร่งรีบ ทำให้อาหารกระป๋องได้รับความนิยม และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2018 อาหารกระป๋องมีมูลค่าตลาดทั่วโลกกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.98 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

แม้จะดูเหมือนว่ารูปแบบของอาหารกระป๋องจะไม่ได้เปลี่ยนไปนับตั้งแต่ปี 1960 แต่ความจริงแล้ว อาหารที่อยู่ภายในมีการเปลี่ยนไปตลอดเวลาตามความนิยมของคนที่เปลี่ยนไป อาหารกระป๋องต้องไม่ใช่สิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวก แต่ต้องเป็นสิ่งที่ให้โภชนาการที่ดี และอร่อยด้วย

โดยหนึ่งในเทรนด์ใหม่ของวงการอาหารกระป๋องที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงนี้ คือ อาหารกระป๋องที่ทำจากเนื้อสัตว์จากพืช หรือ Plant Based Meat

ภาพจาก amys.com

Amy’s Kitchen หนึ่งในผู้ผลิตอาหารกระป๋อง ที่มีตัวเลือกอาหารกระป๋องที่ไม่มีเนื้อสัตว์ หรือมังสวิรัติมานานหลายปีแล้ว ตั้งแต่บะหมี่ที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ไปจนถึงซุปต้มข่า โดยอาหารกระป๋องของ Amy’s Kitchen เหมาะกับคนที่ต้องการอาหารที่ทำจากส่วนผสมจากธรรมชาติ มีโซเดียมต่ำ ซึ่งแตกต่างจากอาหารกระป๋องแบรนด์อื่นๆ

Anderson House Foods ก็เป็นผู้ผลิตอาหารกระป๋องอีกแบรนด์ที่มีตัวเลือกอาหารกระป๋องที่ไม่มีเนื้อสัตว์ตั้งแต่ปี 1983 โดยให้ผู้บริโภคนำไปเติมเนื้อสัตว์เพิ่มเอง ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคก็สามารถนำเนื้อสัตว์จากพืชมาเติมเองได้ เพราะตัวซุปเปล่าๆ ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์อยู่แล้ว

ไม่ใช่แค่แบรนด์ที่ทำอาหารกระป๋องโดยตรงเท่านั้น แต่แบรนด์ที่ทำเนื้อสัตว์จากพืชก็หันมาทำอาหารกระป๋องที่ไม่มีเนื้อสัตว์ด้วยตัวเองเช่นกัน อย่าง Upton’s Naturals แบรนด์เนื้อสัตว์จากพืชจากประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังจะทำอาหารกระป๋องที่ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม โดยพยายามทำให้อาหารกระป๋องที่ไม่มีเนื้อสัตว์มีความอร่อย ไม่ใช่แค่กินแล้วอิ่มท้องเพียงอย่างเดียว

ส่วน Campbell’s อาหารกระป๋องที่เราคุ้นเคยกันดี ก็มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ ไม่มีเนื้อสัตว์เช่นกัน เช่น ซุปแครอท ซุปขิง รวมถึงอาหารชนิดอื่นๆ ที่ทำจากถั่วดำ และผัก

ไม่ใช่แค่แบรนด์อาหารกระป๋องเท่านั้น แต่ Nissin แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็กำลังทำบะหมี่กระป๋องที่ไม่ส่วนผสมของเนื้อสัตว์เช่นกัน

การที่แบรนด์ทั้งผู้ผลิตอาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพร้อมทาน หันเข้าสู่เทรนด์เนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช หรือมังสวิรัติ ส่วนหนึ่งมีความต้องการของผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อน เพราะผู้บริโภคในยุคนี้ไม่ได้ต้องการแค่ความสะดวกรวดเร็ว จากอาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้น แต่ผู้บริโภคยังต้องการอาหารที่มีประโยชน์ ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติมากขึ้นด้วย

ที่มา – entrepreneur

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/can-soup-with-plant-based-meat/