คลังเก็บป้ายกำกับ: OMEN_ACCELERATOR

[Review] OMEN Accelerator by HP กล่องลูกเทพ เปลี่ยนโน้ตบุ๊คไม่มีการ์ดจอแยกให้เล่นเกมได้ ราคา 9,900 บาท

สำหรับเทคโนโลยี Thunderbolt 3 ที่เป็นมีฟอร์มเป็นแบบ USB Type-C ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันนี้ ทำให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ มากมาย เพราะด้วยแบนด์วิตของ Thunderbolt 3 ที่กว้างมากถึง 40 Gbps ทำให้รองรับการใช้งานของอุปกรณ์ได้หลากหลายมากขึ้นตั้งแต่ USB Hub ไปจนถึง Docking ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างการต่อการ์ดจอเสิรมภายนอกเพื่อประมวลผลสำหรับการใช้งานกราฟิกโดยเฉพาะ

หากใครภาพไม่ออกก็ลองนึกถึงเคสมินิพีซีที่มีการ์ดจอแยกแล้วต่อออกผ่านพอร์ต Thunderbolt 3 เข้ากับโน้ตบุ๊คเพื่อใช้เล่นเกมกราฟิกหนักๆ โดยที่โน้ตบุ๊คเราไม่จำเป็นต้องมีการ์ดจอแยกเลย

ซึ่งในช่วงเวลานี้เองทาง HP ที่เป็นผู้วางจำหน่ายโน้ตบุ๊ครายใหญ่ของโลก ได้ส่งกล่องสำหรับเชื่อมต่อการ์ดจอแยก (การ์ดจอเสริม eGPU) ของตัวค่ายตัวเองออกมาใช้ชื่อว่า OMEN Accelerator by HP ซึ่งสนนราคาจะอยู่ที่ 9,900 บาท โดยมีสเปคเป็นดังนี้คือ

สเปคเบื้องต้น

  • Storage Specifications : One internal graphics PCIe slot available 29 cm maximum graphics card length
  • Size : 40 x 20 x 20 cm
  • Weight:  5.5 kg
  • PSU : 500 W
  • Interface : 1 x USB 3.1 Type-C™ (Thunderbolt™ 3), 4 x USB 3.0, 1 x RJ-45
  • I/O Port location : Black
  • Internal drive bays : One 2.5″ available
  • Price : ราคา 9,900 บาท (เฉพาะกล่อง ไม่มีการ์ดจอและฮาร์ดดิส)

การดีไซน์

  

  

ลักษณะภายนอกของตัว OMEN Accelerator by HP วัสดุจะเป็นพลาสติกสีดำอย่างดี ผสมกับลายเคฟล่าดูล้ำทันสมัย ซึ่งขนาดของตัวเครื่องค่อนข้างใหญ่และหนักพอสมควร ด้านหน้าจะมีสัญลักษณะ OMEN สีเทา แต่ถ้าหากตัวเครื่องทำงานจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดง พร้อมช่องดูดอากาศเข้าไประบายความร้อนด้านใน ส่วนทางด้านหลังตัวเครื่องจะมีพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ พร้อมดูช่องระบายอากาศ

  

ทางด้านข้างซ้ายตัวเครื่องจะมีสกรีนคำว่า OMEN และมีสลักด้านล่างขวาสามารถดึกแกะออกได้เพื่อทำการใส่การ์ดจอและฮาร์ดดิส ส่วนทางด้านขวาจะเป็นฝาปิดธรรมดา มีกระจกไว้โชว์การ์ดจอที่ใส่อยู่และไว้ดูว่าตัวเครื่องทำงานอยู่รึเปล่า

  

  

ส่วนวัสดุและโครงสร้างภายในจะเป็นโลหะทั้งหมด อารมณ์คล้ายๆ กับเคสของ Desktop ซึ่งเราสามารถใช้การ์ดจอรุ่นใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็นของค่าย NVIDIA หรือ AMD โดยสามารถใส่ได้สูงสุดถึง GTX 1080 Ti พร้อมลงกับฮาร์ดดิสขนาด 2.5 อีกหนึ่งลูก(หรือใส่ SSD ได้)

การใช้งาน

OMEN Accelerator by HP ในกล่องจะมีตัวเครื่องกล่องมาพร้อมกับสายไฟ AC ,สาย Thunderbolt 3 และคู่มือการใช้งาน ซึ่งจะไม่มีการ์ดจอแยกหรือฮาร์ดดิสมาให้ โดยตัวที่ทีมงานได้ทำการทดสอบจะมีการ์ดจอ NVIDIA Geforce GTX 1070 8GB GDDR5 และฮาร์ดดิส 2.5 นิ้ว ขนาด 1 TB 5400 รอบติดตั้งมาให้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทีมงานได้ใช้ตัว OMEN Accelerator by HP ทดสอบกับ HP Spectre x360 อัลตร้าบุ๊คตัวท๊อปของค่าย

วิธีการใช้งานขั้นตอนแรก เริ่มจากเสียบสายปลั๊กไฟเข้ากับตัว OMEN Accelerator by HP แล้วเสียบสายพอร์ต Thunderbolt 3 เข้ากับตัวเครื่องต่อเข้าโน้ตบุ๊คปกติ ซึ่งตัวเครื่องกับโน้ตบุ๊คจะคุยทำความรู้จักกันก่อน พร้อมลงไดร์เวอร์ให้เสร็จสรรพอัติโนมัติ โดยเวลาอัพเดตสักพัก พออัพเดตเสร็จจะขึ้นสัญลักษณ์สายฟ้า Thunderbolt 3 ตรงไอคอนด้านล่างซ้ายจอตรงนาฬิกา

ต่อมาเมื่อทำการอัพเดตเรียบร้อยแล้ว คราวนี้จะสังเกตได้ว่ามีสัญลักษณ์ Thunderbolt 3 ขึ้นมาทันทีที่เมื่อเสียบสายเข้า ซึ่งจะเป็นการชาร์จไฟในตัวด้วย จากนั้นก็ดาวน์โหลดไดร์เวอร์การ์ดจอที่เราติดตั้ง โดยตัวที่ทีมงานใช้เป็นรุ่น GTX 1070 ก็สามารถดาวน์โหลดไดร์เวอร์โดยตรงจากเว็บของ NVIDIA แนะนำว่าต้องลงเป็นรุ่นล่าสุดเท่านั้น ถ้าลงพวกไดร์เวอร์รุ่นเก่าจะใช้ไม่ได้ เมื่อลงทุกอย่างเสร็จหมดแล้วให้ทำการรีสตาร์ทโน้ตบุ๊คหนึ่งครั้งเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

ผลจากการใช้งาน เมื่อเข้าเกมเรียบร้อยแล้วสังเกตได้เลยว่าเล่นได้ลื่นไหลทุกเกมที่ทำการทดสอบไม่ว่าจะเป็น DOTA2, Overwatch, BF1, ROTTR, GTA V หรือแม้กระทั่ง PUBG โดยทุกเกมปรับสุดทุกอย่างแบบ Best Setting สามารถทำเฟรมเรทเฉลี่ยได้เกิน 30 FPS ทุกเกม เรียกได้ว่า OMEN Accelerator by HP สามารถใช้งานได้จริง ใช้งานควบคู่กับการ์ดจอ Desktop อย่าง NVIDIA Geforce GTX 1070 8GB GDDR5 ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเปลี่ยนโน้ตบุ๊คสเปคธรรมดาให้สามารถเล่นเกมได้ลื่นๆ สบายๆ

แต่อาจจะมีปัญหานิดหนึ่งตรงที่จะทำให้อุณหภูมิของตัวโน้ตบุ๊คในส่วนของ CPU สูงพอสมควร เพราะ ใช้งานแบบเต็มสตรีมนั่นเองครับ สังเกตจากรูปด้านบนจะเห็นได้ว่า CPU i7-7500U อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดถึง 94 องศา เลยทีเดียว แนะนำว่าควรเล่นในห้องแอร์และควรมี Cooling รองโน้ตบุ๊คด้วยจะดีมาก หรือถ้าหากไม่อยากให้เครื่องทำงานหนักมากก็สามารถต่อจอมอนิเตอร์แยกออกจากช่องการ์ดจอก็ได้เช่นกันครับ

สรุป

OMEN Accelerator by HP หากถามว่ามันใช้งานได้จริงไหม ตอบเลยว่าสามารถใช้งานได้จริง เปลี่ยนโน้ตบุ๊คที่ไม่มีการ์ดจอแยกให้สามารถเล่นเกมหนักๆ ได้ แต่อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องของพอร์ตที่เป็น Thunderbolt 3 เท่านั้น จะไปใช้กับ USB 3.1 type C ไม่ได้ เพราะ ความเร็วและการจ่ายไฟยังไม่สูงพอ และหลายคนอาจจะสงสัยเรื่อง OMEN Accelerator ว่าได้ให้การ์ดจอแยกมาด้วยพร้อมตัวกล่องไหม ตอบเลยว่าไม่ได้ให้มาด้วยต้องซื้อมาใส่เอาเองครับ

อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของอัลตร้าบุ๊ค โดยปกติแล้วอัลตร้าบุ๊คไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้เล่นเกมหนักๆ ซึ่งหากเราใช้นำมาเล่นเกม อาจจะทำให้ตัวเครื่องร้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่แนะนำหากนำไม่ใช้งานในที่อากาศร้อน หรือไม่ได้เปิดแอร์ เพราะจะทำให้เครื่องโน้ตบุ๊คทำงานหนักสุดๆ CPU วิ่ง 100% แทบตลอดเวลาในการเล่นเกม และไม่เป็นผลดีกับตัวเครื่องอัลตร้าบุ๊คแน่นอนครับ

ส่วนคนที่สงสัยเรื่องอ้าวปกติเล่นเกมด้วยการ์ดจอระดับ GTX 1070 ปกติมีค่า FPS ประมาณ 100+ แล้วทำไมมาต่อกับอัลตร้าบุ๊คมีค่า FPS มันลดลง คำตอบคือที่ FPS ลดลงเพราะว่า CPU ของอัลตร้าบุ๊คที่มีพอร์ต Thunderbolt 3 ส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นประหยัดพลังงานรหัส U ไม่ใช่ HQ เช่น i7-7500U, i5-7200U เป็นต้น ทำให้การ์ดจอเกิดอาการคอขวด และการส่งสัญญาณผ่านสาย Thunderbolt 3 มีค่าความเร็วจำกัดสูงสุดอยู่ที่ 40 Gbps ทำให้สู้พวกเสียบผ่านสล็อต PCIE แบบปกติไม่ได้นั่นเองครับ ซึ่งแนะนำว่าหากจะซื้อมาใส่งานจริงๆ แนะนำใช้การ์ดจอแค่ระดับ GTX 1050-1060 ก็พอครับเพื่อให้ CPU ที่เป็นรหัส U ขับไหวไม่คอขวดครับ

ข้อดี

  • รองรับการ์ดจอทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ สามารถใส่ได้สูงสุดถึง GTX 1080 Ti
  • สามารถทำให้โน้ตบุ๊คที่มีพอร์ต Thunderbolt 3 เล่นเกมหนักๆ ได้จริง
  • สามารถใส่ฮาร์ดดิสหรือ SSD ขนาด 2.5 นิ้วได้อีกหนึ่งอัน
  • เป็น HUB ให้โน้ตบุ๊ค มีพอร์ต USB 3.0 เพิ่มได้อีก 4 ช่อง และ USB 3.1 type C อีกหนึ่งช่อง
  • สามารถชาร์จไฟให้โน้ตบุ๊คในขณะใช้งานไปพร้อมกันได้

ข้อสังเกต

  • ราคาค่อนข้างสูง และหาซื้อยาก
  • ข้อจำกัดเครื่องความเร็วของ Thunderbolt 3 ทำให้รีดประสิทธิภาพของการ์ดจอออกมาได้ไม่สูงสุด

from:https://notebookspec.com/review-omen-accelerator-by-hp/419401/

[Preview] แกะกล่อง OMEN Accelerator by HP กล่องการ์ดจอแยก เสริมความแรงกราฟิกโน้ตบุ๊ค เพื่อการเล่นเกม

ปัจจุบันนี้ด้วยการมาของ Thunderbolt 3 หากจะว่าไปแล้วกล่องสำหรับเชื่อมต่อกราฟิกการ์ดภายนอกรุ่นใหม่ๆ (External Graphic Card หรือ EGPU) เริ่มที่จะมาแรงและมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ใช้โน๊ตบุ๊คแบบ Ultrabook นั้นต้องการที่จะสัมผัสความแรงกันบ้าง

งานนี้ HP ที่เป็นผู้วางจำหน่ายโน้ตบุ๊กรายใหญ่ของโลก โดยหลากหลายรุ่นหลากหลายประเภทก็ได้ส่งกล่องสำหรับเชื่อมต่อกราฟิกการ์ดภายนอกของตัวเองออกมาด้วยในชื่อ OMEN Accelerator by HP ส่วนราคาจะอยู่ที่ 9,990 บาท (ได้แต่กล่อง OMEN Accelerator ไม่แถมการ์ดจอและฮาร์ดดิสก์) โดยขั้นแรกไปชมคลิปแกะกล่องสั้นๆ กันก่อนเลยดีกว่า

ตัวเครื่องรวมๆ ของ OMEN Accelerator by HP จะเป็นกล่องสีดำขนาดใหญ่สีดำวางแบบตั้งตะแคงซึ่งมีขาตั้งเสริมไว้ให้ดูลอยขึ้นจากพื้น โครงสร้างหลักๆ แล้วเป็นโลหะให้อารมณ์คล้ายกับเคสคอมปกติทั่วไป ส่วนชิ้นส่วนภายนอกจะเป็นพสาสติกเกรดสูงที่แข็งแรงทนทาน พร้อมลวดลายที่สวยงามแซทกับเคฟล่า ด้านหน้าเป็นโลโก้ OMEN มีไฟ LED สีแดง พร้อมมีพัดลมดูดลมเย็นซ่อนเอาไว้อยู่ การแกะนั้นก็ทำได้ไม่ยากเพียงดึงสลักก็สามารถดึงฝาครอบขึ้นมาได้อย่างง่ายดายแล้ว ส่วนตัวฝาก็จะมีกระจกใสทำให้มองผ่านเข้าไปยังการ์ดจอได้

  

OMEN Accelerator by HP นั้นมาพร้อมกับความสามารถที่มากกว่าคู่แข่ง คือนอกเหนือไปจากการเพิ่มกราฟิกการ์ดได้แล้วนั้น มันยังสามารถที่จะเพิ่มฮาร์ดดิสก์เพิ่ม 2 แบบ คือ ฮาร์ดดิสก์ปกติขนาด 2.5″  หรือ SSD 2.5″ มาตรฐาน SATA 3 ได้ด้วยอีกต่างหาก โดยบนตัว OMEN Accelerator by HP นั้นจะมาพร้อมกับพอร์ตเชื่อมต่อ  USB 3.0 Type-A จำนวน 4 พอร์ตและ USB 3.1 Type-C จำนวน 1 พอร์ต รวมถึงมีพอร์ต Lan RJ-45 สำหรับเชื่อมต่อระบบเครือข่ายอีกด้วย ตัวจ่ายพลังงานก็สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ที่กำลังไฟฟ้า 500 W ซึ่งทำให้มันรองรับกับราฟิกการ์ดที่มีอัตราการการใช้พลังงานที่ 300 W ได้เป็นอย่างดี

  

การเชื่อมต่อ OMEN Accelerator by HP เข้ากับตัวเครื่องที่จะใช้งานนั้นจะทำผ่านพอร์ต Thunderbolt 3 โดยทาง HP จะบันเดิลสาย Thunderbolt 3 มาให้อีกหนึ่งเส้น โดยผู้ใช้สามารถที่จะพบว่า OMEN Accelerator by HP นั้นสามารถที่จะชาร์จไฟเข้าไปที่ตัวเครื่องได้พร้อมๆ กันด้วย โดยกำลังไฟฟ้าที่สามารถส่งไปยังโน้ตบุ๊คเครื่องนั้นจะต้องไม่เกิน 60 Watt

สำหรับเจ้าตัว OMEN Accelerator เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้สำหรับเพิ่มการ์ดจอแยกกับโน้ตบุ๊คที่มีการ์ดจอไม่แรง หรือ Ultrabook เพื่อใช้สำหรับเล่นเกมโดยเฉพาะ เสมือนกับเล่นเกมบนพีซี โดยใช้วิธีการเชื่อมต่อผ่านพอร์ต Thunderbolt 3 ซึ่งเจ้าเครื่องนี้สามารถใช้ได้ทั้งการ์ดจอของค่าย NVIDIA หรือ AMD โดยใช้ได้ 1 ตัว ซึ่งสามารถใช้ได้สูงสุดถึงระดับ GTX 1080Ti เลยทีเดียว

  

ในส่วนของการใช้งานหลายคนอาจจะสงสัยว่าใช้งานยังไง อย่างที่บอกไปในตอนแรก คือเราต้องมีโน้ตบุ๊คที่มีพอร์ต Thunderbolt 3 เพื่อเชื่อมต่อกับเจ้า OMEN Accelerator by HP โดยเจ้าเครื่องนี้จำเป็นต้องใช้ไฟเลี้ยงเสียบปลั๊กแยกเสมือน PC หนึ่งเครื่อง แล้วต้องต่อจอแยกผ่านการ์ดจอที่อยู่ในตัว OMEN Accelerator by HP ซึ่งเราจะสามารถเล่นเกมผ่านโน้ตบุ๊คปกติแต่ใช้จอแยกที่ต่อกับ OMEN Accelerator แทนนั่นเอง

อาจจะดูยุ่งยากหน่อยสำหรับใครหลายๆ คน แต่ดูเหมือนจะเหมาะกับไลฟ์ไตล์วัยทำงานที่ต้องการโน้ตบุ๊คเบาๆ แล้วอยากเล่นเกมหนักๆ เวลากลับมาบ้านก็เอาโน้ตบุ๊คเสียบเจ้าเครื่องนี้เล่นเกมสบายๆ ได้นั่นเอง ส่วนจะต่อจอนอกหรือเล่นด้วยหน้าจอของโน้ตบุ๊คก็แล้วแต่สะดวก

  

สำหรับโน้ตบุ๊ค HP ที่รองรับกับ OMEN Accelerator by HP จะประกอบไปด้วย

  • Spectre 13
  • Spectre x360 13
  • Spectre x360 15
  • EliteBook x360 1030 G2
  • Envy 27 AIO 2017
  • Envy Curved AIO 2017

*โน้ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ แบรนด์อื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ขอเพียงมีพอร์ต Thunderbolt 3 รองรับ

** พอร์ต Thunderbolt 3 จะมีหน้าตาเหมือน USB Type-C ต้องดูที่พอร์ตหรือสเปกอีกครั้งว่าเป็น พอร์ต Thunderbolt 3 หรือไม่

ในส่วนของเครื่อง OMEN Accelerator by HP ที่ทางทีมงานได้รับมารีวิวนั้น จะมาพร้อมการ์ดจอ NVIDIA GeForce GTX 1070 และฮาร์ดดิสก์ 1TB ยังไงบทความรีวิวและวีดีโอรีวิวตัวเต็มจะมานำเสนอกันต่อไปครับ

from:https://notebookspec.com/preview-unbox-omen-accelerator-by-hp/418448/

ฝันที่เป็นจริงการ์ดจอแยกสำหรับโน้ตบุ๊คมาแล้ว ด้วย Thunderbolt 3

สำหรับผู้ที่ต้องใช้งานโน้ตบุ๊คเพื่อการพกพาเป็นหลักจึงต้องเน้นเรื่องของความบางเบาเพื่อการพกพาที่สะดวก ทำให้ไม่สามารถติดตั้งการ์ดจอแยกเข้าไปได้ ซึ่งถือเป็นส่วนใหญ่ของตลาดเลยก็ว่าได้ที่มีแค่การ์ดจอออนบอร์ด Intel เท่านั้น ตีดอทยังกระตุกเลย 555 หรือติดตั้งได้ก็เพียงแค่ชิปการ์ดจอรุ่นล่างๆ เต็มที่ก็แค่ 940M ซึ่งคงไม่เพียงพอสำหรับการเล่นเกมหนักๆเท่าไรนัก ถ้าจะเล่นเกมก็ต้องประกอบพีซีขึ้นมาหรือซื้อโน้ตบุ๊คแรงๆอีกสักตัว

แต่เมื่อการใช้งานพีซี 2 เครื่อง ก็จะมีปัญหาเรื่องของงบประมาณแทนที่จะซื้อเครื่องเดียวให้จบๆไปเลย ก็ต้องหาเงินมาซื้อเครื่องเล่นเกมอีกเครื่อง หรือซื้อโน้ตบุ๊คแพงๆเล่นเกมได้ ก็จะหนาและหนักมากๆ คนที่มีรถคงไม่เท่าไร แต่สำหรับผู้ที่ใช้บริการขนส่งมวลชนเห็นทีจะไม่ไหว หรือปัญหาด้านข้อมูลที่ต้องคอยโอนไฟล์ไปมา สลับเครื่อง แล้วถ้าเกิดทำงานไว้เครื่องที่บ้าน แล้วลืมเอาออกมาด้วยนี่จบเลยนะครับ ทำให้ผู้ใช้อัลตร้าบุ๊คหรือโน้ตบุ๊คบางๆเบาๆเรียกร้องหาคือการ์ดจอแยกที่สามารถเชื่อมต่อผ่านโน้ตบุ๊ตของเราได้ทันทีโดยที่สามารถเล่นเกมได้ไม่แพ้เครื่องพีซี

หากย้อนกลับไปช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลายแบรนด์ที่ได้นำเสนอเทคโนโลยีการ์ดจอแยกสำหรับโน้ตบุ๊คมาแล้ว หลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น Sony VAIO ,Gigabyte ที่มาในแนวคิดเหมือนกันคือโน้ตบุ๊คบางเบาที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณืเสริมที่เป็นการ์ดจอแยกได้ แต่จะต่างกันที่เทคโนโลยี ณ ยุคนั้นถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ แม้จะยังเป็นเทคโนโลยีที่ไม่สมบูรณ์มากนักใช้งานได้ก็จริง แต่ยังคงได้เพียงแค่ 60-80% ของประสิทธิภาพบนเครื่องพีซี

มาถึงยุคปัจจุบันที่มีการทำซล๊อต PCI-E สำหรับติดตั้ง SSD มาดัดแปลงเป็น EGPU โดยการเชื่อมต่อจากเมนบอร์ดออกมากับซล๊อต PCI-Express x16 แบบเดียวกับที่ใช้งานบนเมนบอร์ดเลย ข้อดีคือราคาไม่แพงประสิทธิภาพอยู่ในระดับที่สามารถใช้งานเล่นเกมสบายๆ แต่การติดตั้งยุ่งยากมากเพราะต้องเปิดฝาปิดใต้เครื่อง ต้องหาการ์ดจอมาต่อ และไม่สามารถถอดเข้าออกได้สะดวกในแบบที่คิดไว้

แต่เมื่อเทคโนโลยี Thunderbolt 3 มาถึง จากบทความก่อนที่เคยแนะนำถึงเทคโนโลยีนี้ไปแล้วด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงทำให้สามารถโอนถ่ายข้อมูลปริมาณมากๆไปพร้อมๆกันได้ รวมถึงการที่สามารถถ่ายโอนข้อมูลกราฟิกผ่านการ์ดจอแยกภายนอกก็ยังได้ ทำให้ฝันของผู้ใช้โน้ตบุ๊คเป็นจริงสักที เพราะเพียงแค่เราเชื่อมต่อ EGPU กับพอร์ต Thunderbolt 3 แค่นี้ก็พร้อมใช้งานได้ จะเล่นเกมด้วยการ์ดจอแยก หรือบนจอโน้ตบุ๊คก็ได้ เมื่อต้องการออกไปทำงานข้างนอกก็แค่ถอดสาย Thunderbolt 3 หรือ USB-C ก็สามารถไปได้ทันทีเหมือนถอดสาย adapter เลย

นอกจากทำหน้าทีประมวลผลกราฟิกด้วยการ์ดจอแยกแล้ว EGPU ยังทำงานได้อีกหลายอย่างในแบบ Docking เลยไม่ว่าจะเป็นการชาร์ตโน้ตบุ๊ค (สำหรับรุ่นที่ชาร์ตผ่านพอร์ต USB-C Thunderbolt 3) USB-Hub เพิิ่มพอร์ตได้ทั้ง USB ,VGA หรือแม้กระทั่ง Lan บางรุ่นสามารถติดตั้งฮาร์ดดิสค์เสริมได้ หรือแม้กระทั่งถอดเปลี่ยนการ์ดจอเป็นรุ่นอื่นได้ตามต้องการ เหมาะกับการตั้งไว้ที่บ้านเชื่อมต่อสายต่างๆเมาส์คีย์บอร์ดไว้เลย เมื่อกลับมาถึงบ้านก็แค่ต่อสาย Thunderbolt 3 ก็พร้อมใช้งานโดยไม่ต้องมาต่อสายที่โน้ตบุ๊คอีกให้วุ่นวาย

ตอนนี้มีหลายแบรนด์แล้วที่เตรียมพร้อมเปิดจำหน่าย EGPU หรือการ์ดจอแยก ถ้าเอาแบบที่โชว์ตัวเป็นๆก็จะมีของ Razer ที่ Razer Store @ CTW ถ้าใครเคยผ่านไปน่าจะได้เห็นกัน เสียแค่ในบ้านเราและอีกหลายประเทศยังไม่มีขายจริง ส่วนแบรนด์อื่นๆที่น่าสนใจที่เตรียมเข้ามาในบ้านเราก็มีทั้ง

AORUS GTX1070 Gaming Box

เปิดตัวครั้งแรกในงาน Computex 2017 ในช่วงกลางปี ด้วยจุดเด่นที่มาพร้อมการ์ดจอ GTX 1070 ที่สามารถถอดออกมาใช้งานบนเครื่องพีซีได้ด้วย ขนาดเล็กกะทัดรัดพกพาได้สะดวกเผื่อต้องนำไปใช้งานในที่ต่างๆ

  • ราคา : ประมาณ 16,xxx – 19,xxx บาท
  • กำหนดการวางจำหน่าย : ไตรมาสที่ 4/2017

Omen Accelerator

เปิดตัวอย่างเป็นทางการในบ้านเราเมื่อเดือนที่ผ่านมา ด้วยจุดเด่นคือกล่องขนาดใหญ่แม้จะไม่มีการ์ดจอให้มา แต่ก็ทำให้เราสามารถเลือกติดตั้งการ์ดจอรุ่นอะไรได้ตามต้องการ สูงสุดตามสเปคคือ GTX 1070 (แต่ส่วนตัวมองว่า GTX 1080 ก็น่าจะไหว) พร้อม Power Supply ในตัว และยังสามารถติดตั้งฮาร์ดดิสค์เข้าไปได้อีกด้วย พัดลมระบายความร้อน ถอดอัพเกรทได้ง่าย ติดแค่มีขนาดใหญ่ไปหน่อย

  • ราคา : 9,990 บาท (ไม่รวมการ์ดจอ)
  • กำหนดการวางจำหน่าย :  เดือนสิงหาคม 2017

ROG XG Station 2

อีกหนึ่งของโหดจากค่าย ASUS ด้วยการออกแบบที่นำสมัย ไฟ RGB พร้อม AURA และไฟ LED พิเศษด้านหน้า ยกให้เป็น EGPU ที่สวยงามด้วยไฟ LED มากที่สุดเลย สามารถเปิดออกเพื่อโชว์ได้ พร้อมระบบระบายความร้อนที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี ขนาดใหญ่สะใจจนสามารถใส่ GTX 1080 Ti ได้สบายๆ

  • ราคา : ประมาณ  15,xxx – 17,xxx บาท (ไม่รวมการ์ดจอ)
  • กำหนดการวางจำหน่าย :  ไตรมาสที่ 4/2017

Alienware Graphics Amplifier

สวยงามโดดเด่นสไตล์ Alienware เช่นเคยขนาดใหญ่กว่าตัว Omen อยู่เล็กน้อย ทำให้สามารถใช้งานได้ถึงระดับ GTX 1080 เลยแน่นอน (ส่วนตัว 1080Ti นั้นคงต้องรอลุ้นกัน) แต่ตามสเปคนั้นระบุว่าสามารถใช้งานได้กับแค่เครื่อง Alienware เท่านั้น ซึ่งต้องรอลุ้นกันอีกทีว่าจะสามารถปรับให้ใช้งานกับยี่ห้ออื่นได้ไหม

  • ราคา : คาดว่าน่าจะราวๆสองหมื่นบาท (ไม่รวมการ์ดจอ)
  • กำหนดการวางจำหน่าย :  ยังไม่มีกำหนดการวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ

นอกจากแบรนด์ที่เราคุ้นเคยนั้นยังมีอีกหลายๆยี่ห้อที่จะเข้ามาทำตลาดนี้ด้วยนะครับ โดยเฉพาะแบรนด์ที่ทำอุปกณณืเสิรมมา ซึ่งมองว่าจะเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจมากขึ้นทั้งผู้ผลิตตัวการ์ดจอเอง และตัวกล่อง EGPU ด้วย แต่อาจจะต้องรออีกสักพักถึงจะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น เพราะข้อจำกัดที่ตัวพอร์ต Thunderbolt 3 ที่จะมีในโน้ตบุ๊คราคาสูงๆหน่อย แม้จะมี USB-C เกือบทุกรุ่นแล้ว แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่ USB 3.1 เท่านั้น แต่ถ้าใครเครื่องพร้อมและอยากลองละก็ เก็บเงินรอได้เลย Aorus กับ Omen มาแน่นอน

from:https://notebookspec.com/external-gpu-for-notebook-by-thunderbolt-3/409898/