คลังเก็บป้ายกำกับ: KRESEACH

ว่าด้วยเรื่องพลังงานไฟฟ้า ไทยเผชิญต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้น คาดปี 66 ปรับเพิ่มอีก 16% จากปัจจุบัน!

  • ไทยจะยังคงเผชิญแนวโน้มค่าไฟที่มีทิศทางขาขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการทยอยลดภาระอุดหนุนค่าไฟของภาครัฐ และเงินบาทที่ผันผวนในทางอ่อนค่า
  • ในระยะเฉพาะหน้า ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องรณรงค์ประหยัดไฟอย่างจริงจัง ขณะที่ในระยะกลาง ผู้ประกอบการที่มีความพร้อม อาจพิจารณาปรับใช้แหล่งพลังงานทางเลือกอื่นซึ่งมีต้นทุนค่าไฟที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งด้านต้นทุนค่าไฟและกระแสรักษ์โลก
  • ผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ได้ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานกระจายตัวไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงทั้งด้านอุปทานที่ขาดแคลนและราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลัก
ภาพจาก Shutterstock

ผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อได้ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานกระจายตัวไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงทั้งด้านอุปทานที่ขาดแคลนและราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลัก โดยล่าสุดสถานการณ์มีความน่ากังวลมากขึ้น หลังการรั่วไหลของท่อส่งก๊าซหลักที่ลำเลียงก๊าซจากรัสเซียไปยุโรป ขณะที่กำลังเข้าใกล้ฤดูหนาวของทางซีกโลกเหนือซึ่งจะมีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้น ทำให้ยุโรปน่าจะยิ่งได้รับแรงกดดันจากวิกฤตพลังงานมากขึ้นในระยะข้างหน้า

ภาพจาก Shutterstock

สำหรับประเทศไทย แม้จะมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 64 ของแหล่งเชื้อเพลิงทั้งหมด ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทว่าความเสี่ยงต่อการขาดแคลนไฟฟ้าในไทยน่าจะมีจำกัด เพราะได้มีการวางแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติในลักษณะสัญญาระยะยาวไว้ก่อนแล้ว รวมไปถึงอุปทานที่น่าจะทยอยเพิ่มขึ้นจากการเร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยหลังการเปลี่ยนผ่านสัมปทาน และการวางแผนใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซธรรมชาติในโรงผลิตไฟฟ้าที่เครื่องจักรรองรับได้ ทำให้หากไม่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เช่น ภัยธรรมชาติที่กระทบต่อการขนส่งก๊าซ เป็นต้น ความเสี่ยงต่อการขาดแคลนเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าน่าจะมีจำกัด

อย่างไรก็ดี ไทยก็น่าจะยังคงเผชิญแนวโน้มค่าไฟที่มีทิศทางขาขึ้น จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ราคาจะมีแนวโน้มย่อตัวลงบ้างในช่วงปีหน้า ประกอบกับการทยอยลดภาระอุดหนุนค่าไฟของภาครัฐ และเงินบาทที่ผันผวนในทางอ่อนค่า ทำให้ค่าไฟฟ้าในปีหน้าน่าจะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าไฟเฉลี่ยในปี 2566 น่าจะเพิ่มขึ้นแตะราว 4.85 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 16 จากค่าไฟเฉลี่ยทั้งปี 2565 ที่อยู่ราว 4.18 บาทต่อหน่วย

ค่าไฟฟ้าของไทยที่มีทิศทางขาขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่ยังสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทุก 1% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ต้นทุนธุรกิจเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.024% ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนส่วนเพิ่มเฉพาะที่เกิดจากค่าไฟราว 0.8% จากค่าไฟขาขึ้นในช่วงปี 2565-66

ภายใต้ทิศทางขาขึ้นของค่าไฟ แนวทางปรับตัวโดยการปรับขึ้นราคาสินค้าหรือบริการอาจกระทำได้จำกัดในช่วงที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้แนวทางปรับตัวอื่นประกอบเพื่อบริหารจัดการต้นทุนค่าไฟฟ้า

โดยแนวทางเฉพาะหน้า ผู้ประกอบการธุรกิจอาจจำเป็นต้องรณรงค์การประหยัดไฟอย่างจริงจัง ขณะที่ในระยะกลาง ผู้ประกอบการที่มีความพร้อม อาจพิจารณาปรับใช้แหล่งพลังงานทางเลือกอื่นซึ่งมีต้นทุนค่าไฟที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนผลิตไฟในระยะกลางถึงยาว ยังช่วยตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ สอดรับไปกับกติกาของนานาประเทศที่ต่างต้องการผลักดันให้กระบวนการผลิตสินค้าและบริการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และทางการไทยก็อยู่ระหว่างพิจารณาการวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในบางธุรกิจนำร่อง เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องคำนึงถึง carbon footprint ของการประกอบธุรกิจที่มาจากการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วก่อนจะตัดสินใจเลือกแนวทางการปรับตัว ผู้ประกอบการแต่ละรายยังคงต้องชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าในประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบ เพราะสถานการณ์แวดล้อมและแนวโน้มค่าไฟอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่ไปข้างหน้าอัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้นซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนของผู้ประกอบการเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ว่าด้วยเรื่องพลังงานไฟฟ้า ไทยเผชิญต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้น คาดปี 66 ปรับเพิ่มอีก 16% จากปัจจุบัน! first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/electricity-crisis-in-thailand-and-other/

Food Delivery ปี 64 นี้มูลค่ารวมสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวกว่า 24% YOY

โควิด-19 ระบาดยาวนาน ส่งผลให้การแข่งขันธุรกิจจัดส่งอาหาร (Food Delivery) รุนแรงมากขึ้น กอรปกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคของรัฐไปจนถึงการจำกัดการให้บริการของร้านอาหารเหลือเพียงการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันจัดส่งอาหาร ส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ที่คาดว่ามูลค่ารวมของรายได้ธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 2564 หายไปไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท ผลักดันให้ธุรกิจจัดส่งอาหารกลายเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร

Disclaimer: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือ LINE MAN Wongnai

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าทั้งปี 2564 ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านน่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้งหรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาดในปี 2562 ที่มีจำนวนราว 35-45 ล้านครั้ง วิถีการใช้ชีวิตท่ามกลางโรคระบาดส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปการเปลี่ยนแปลงเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภค ดังนี้

ระดับราคาเฉลี่ยต่อครั้งที่สั่งลดลง 20-25% จากปีก่อน จากปีก่อนจากปัจจัยด้านกำลังซื้อและการอัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ ผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารในระดับราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อ

ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) มีบทบาทมากขึ้นและคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่า 40% ของมูลค่ารวมของธุรกิจจัดส่งอาหารจากเดิมในปี 2563 อยู่ที่ 29% เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงประเภทอาหารของผู้บริโภคมายังเมนูอาหารที่มีราคาย่อมเยา

พื้นที่การส่งอาหารขยายสู่บริเวณกรุงเทพฯ รอบนอกและพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ – ปริมณฑลมากขึ้น ผลสำรวจของศูนย์วิจัยฯ พบว่า หลังการระบาดเดือนเมษายน 2564 พนักงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ทำงานทั้งสองรูปแบบคือ Work from home และ Hybrid working มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 83% โดยผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารบริเวณใกล้ที่พักมากขึ้น

ปัจจัยและสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ปี 2564 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 5.31-5.58 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวสูงถึง 18.4%-24.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถึงแม้รายได้จะเติบโตแต่การจะพลิกกลับมาสร้างผลประกอบการให้เป็นบวกสุทธิของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจ Food Delivery ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Food Delivery ปี 64 นี้มูลค่ารวมสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวกว่า 24% YOY first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/k-research-analysis-on-food-delivery-expand-in-2021/

น่าห่วง! ตลาดแรงงาน 64: ธุรกิจปิด ว่างงานเพิ่ม จบใหม่ไม่มีงาน รายได้ลด ขาดทักษะ

  • สถานการณ์ตลาดงานไทยยังไม่ดี ความเสี่ยงตกงานสูง ธุรกิจท่องเที่ยวหนักสุด อาจตกงาน 1.5-2 ล้านคน
  • แนวโน้มลดการจ้างงาน เลิกจ้างงาน ลดวัน-เวลาการทำงาน และไม่จ้างพนักงานใหม่ ยังเข้มข้น
  • เด็กจบใหม่ 5 แสนคน หางานยาก โอกาสว่างงานสูง ได้งานผลตอบแทนต่ำ ไม่ได้รับการสอนงานเท่าที่ควร
  • สุดท้ายความสามารถในการปรับตัว เปลี่ยนแปลง เพิ่มทักษะ พร้อมทำสิ่งใหม่ คือหนทางในการอยู่รอด

labour

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตลาดงานประเทศไทยเป็นที่รู้กันว่าขาดแคลนแรงงานระดับล่าง โดยข้อมูลเดือน ธ..2563 พึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 2.5 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในงานก่อสร้างและบริการ และอาจมีจำนวนมากถึง 3-4 ล้านคน ขณะที่แรงงานระดับบนก็ขาดแคลนเช่นกัน

ผลการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ พบว่าบริษัทที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยระบุว่ายังขาดแคลนวิศวกรถึง 26% อีกทั้งวิศวกรจบใหม่ที่ขึ้นทะเบียนวิชาชีพประมาณ 7,000 คนต่อปีจากผู้ที่สำเร็จศึกษาด้านวิศวกรรม 33,000 คน ส่วนหนึ่งเพราะคนนิยมศึกษาต่อสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ โดยลดลงจาก 39.8% ในปี 2550 มาอยู่ที่ 32.7% ในปี 2558

ขณะที่แนวโน้มของผู้ประกอบการยังขาดแคลนรายได้ ปิดกิจการ และอยู่อย่างยากลำบาก ต้องปรับลดคน ปรับลดการจ้าง หรือปรับลดชั่วโมงทำงาน ปี 63 พบว่า ก.ค. มีคนว่างงานสูงสุด 0.83 ล้านคน คิดเป็น 2.1% แต่เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลาย การว่างงานปรับมาอยู่ที่ 0.65 ล้านคนคิดเป็น 1.69% แต่สถานการณ์ยังเปราะบางมาก เมื่อดูจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของประกันสังคม ณ ปี 2563 ที่อยู่ที่ 4.0 แสนคน แม้จะดีขึ้นจากช่วง ก.ย.-ต.ค. แต่ยังถือว่าสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 9 ปีที่อยู่ระดับ 1.2 แสนคน

K Research
ที่มา: สำนักงานประกันสังคม

ธุรกิจท่องเที่ยว ยังเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แรงงานจำนวนมากที่อยู่ธุรกิจนี้จึงได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น นักบินที่มีแนวโน้มตกงาน 1,000 คนในปี 2563 (อ้างอิงจากสมาคมนักบินไทย) โดยสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคาดการณ์ว่าแรงงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวมีโอกาสตกงานประมาณ 1.5 – 2 ล้านคน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะรักษาธุรกิจและการจ้างงานได้ ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น พนักงานขับรถ พนักงานเสิร์ฟอาหารหรือพนักงานบริการทั่วไป

แรงงานจบใหม่แนวโน้มเตะฝุ่นเพียบ

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือแรงงานจบใหม่ในปีการศึกษา 2564 หรือที่เรียกว่า first jobber ในปี 2563 ที่มีจำนวนถึง 500,000 คน กำลังต้องเจอภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการหางานทำ

ผลสำรวจของ Job Thai ระบุว่าอัตราการเปิดรับสมัครงานลดลงจากในปีก่อน (ก่อนเกิดโควิด-19 ในช่วงม..2563 อัตราการเปิดรับอยู่ที่กว่า 1 แสนราย แต่ในเดือนมิ.. 2563 อยู่ที่ 9 หมื่นราย) ธุรกิจโรงแรมความต้องการแรงงานลดลงมากที่สุด ธุรกิจอื่นๆ แม้จะยังอยู่ได้ แต่ก็อยู่ในโหมดประคองตัว ลดรายจ่าย เพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน การรับสมัครงานจะมีไม่มาก ดังนั้นโอกาสสำหรับนักศึกษาจบใหม่ จึงมีไม่มากนัก

Labour
ภาพจาก Shutterstock

นอกจากการหางานที่ยากกว่าในช่วงปกติ รายได้ที่ได้รับก็มีแนวโน้มลดลง โดยผลการศึกษาของ The Institute for Fiscal Studies ระบุว่าเด็กที่จบใหม่ในช่วงวิกฤตการเงิน รายได้หรือเงินเดือนที่ได้รับจะต่ำกว่าในระดับปกติ 7% ขาดโอกาสที่จะได้รับการสอนงานจากหัวหน้างานโดยตรง เนื่องจากต้องทำงานที่บ้าน โอกาสและทักษะต่างๆ จะไม่สามารถถูกฝึกฝนได้เต็มที่ ไม่สามารถเรียนรู้วัฒนธรรมในองค์กรเพื่อที่จะไปปรับใช้กับสถานการณ์การทำงานในอนาคต

ปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ไม่ใช่ปัญหาระยะสั้น แต่ในอีก 2-3 ปี คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงขาดประสบการณ์​ ขาดทักษะ และรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาด หรืออาจทำให้ตลาดแรงงานขาดผู้มีความรู้ความสามารถไป เนื่องจากบางกลุ่มอาจหันไปทำธุรกิจของตัวเองหรือสนใจทำอาชีพใหม่ๆ เช่น Youtuber หรือขายของออนไลน์ ดังนั้นปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่จึงเป็นปัญหาในระยะยาวที่ต้องรีบแก้ไข

นอกจากนี้ ความต้องการแรงาน วิธีการและระบบการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น รูปแบบการทำงานที่มีการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) เพิ่มมากขึ้น การเข้าประชุมออนไลน์ การสอนออนไลน์ มีการสัมภาษณ์งานผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีการลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไปได้มากขึ้น บางตำแหน่งงานจึงถูดลดออกไป ดังนั้นคนที่ปรับตัวได้ดี มีความยืดหยุ่นสูงจึงยังมีโอกาส

food delivery
ภาพจาก Shutterstock

ในวิกฤตยังมีโอกาส กับตำแหน่งงานใหม่ๆ

อย่างไรก็ดี ในช่วงโควิด-19 เราได้เห็นอาชีพใหม่ๆ หรือตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น Food delivery โดยแรงงานบางส่วนที่ถูกลดชั่วโมงการทำงาน หรือกำลังว่างงาน เช่น นักบิน หรือ มัคคุเทศก์ เริ่มขายของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ผู้ที่สามารถปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้เร็วจะเป็นผู้ที่อยู่รอด

แม้ว่าในอนาคตสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติแต่ตำแหน่งงาน หรือ ความต้องการพนักงานของแต่ละองค์กรจะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการจะกลับเข้าไปในตลาดแรงงานหรือความสามารถอยู่รอดได้นั้นจะต้องมีการปรับตัวในหลากหลายด้าน ดังนี้ 

  1. ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี: ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียังสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด อีกทั้งการทำงานต่างๆ ยังต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีจึงเป็นทักษะที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในระยะข้างหน้า
  2. การนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้: Big data หรือ ข้อมูลจะมีความสำคัญต่อองค์กรมาก การเรียนรู้ที่ใช้ข้อมูลที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ความสามารถในการปรับตัว และความยืดหยุ่นในการทำงาน: ในสภาวะที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การเกิดขึ้นของโรคระบาดโควิด-19 แรงงานที่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วจะสามารถอยู่รอดได้

บทวิเคราะห์จาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post น่าห่วง! ตลาดแรงงาน 64: ธุรกิจปิด ว่างงานเพิ่ม จบใหม่ไม่มีงาน รายได้ลด ขาดทักษะ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/how-to-survive-in-covid-era/