คลังเก็บป้ายกำกับ: BAHT

แบงก์ชาติ ย้ำ “ไทยไม่ได้แทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า”

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาชี้แจงว่าไทยไม่ได้แทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าแต่อย่างใด และค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีทั้งแข็งค่าและอ่อนค่า ไม่ได้ไปทิศทางเดียวตลอดเวลา

Thai Baht US dollar เงินบาท ดอลลาร์สหรัฐ
ภาพจาก Shutterstock

จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวว่าไทยและไต้หวันอาจจะถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จับตาว่าเป็นประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ นั้นทาง ธปท. ได้หารือกับกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องสำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้หารือมาโดยตลอดได้แก่

  • ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงินโลก
  • พัฒนาการของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทย
  • ความจำเป็นของ ธปท. ที่ต้องดูแลรักษาเสถียรภาพค่าเงินในบางช่วงเวลาที่มีเงินทุนไหลเข้าอย่างเฉียบพลัน

ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ของ ธปท. ยังย้ำว่า “ธุรกรรมของ ธปท. ในตลาดเงินตราต่างประเทศ มิได้มุ่งหวังที่จะบิดเบือนค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้ากับคู่ค้าของไทย เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปได้ทั้ง 2 ทิศทาง ทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า ไม่ได้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง”

โดยเมื่อวานนี้บทวิเคราะห์ของ UBS ได้ชี้ว่า ไทยและไต้หวันอาจจะถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จับตาว่าเป็นประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน เนื่องจากหลายๆ เงื่อนไขตรงกับกระทรวงการคลังสหรัฐตั้งไว้ เช่น การเกินดุลการค้าเกิน 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐมา 4 ไตรมาสติดกัน ฯลฯ

นอกจากนี้ในบทวิเคราะห์จาก UBS และ Goldman Sachs คาดว่าจะไม่มีประเทศไหนที่โดนสหรัฐกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงินในรายงานที่จะออกมาในเร็วๆ นี้อีกด้วย

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/bot-declared-thai-not-fx-intervention-for-export-and-tell-us-treasury-dept-23-july-2020/

อ่อนค่าขึ้นเรื่อยๆ ค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 31.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กังวลไวรัส COVID-19

ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดอยู่ที่ 31.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุจากความกังวลจากผลกระทบของไวรัส COVID-19

Thai Baht Note ธนบัตร
ภาพจาก Shutterstock

ค่าเงินบาทซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ล่าสุดซื้อขายอยู่ที่ 31.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยทำสถิติอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 8 เดือน เพิ่มขึ้นจากราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ 31.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับมุมมองของธนาคารกสิกรไทยได้มีมุมมองในเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ว่าค่าเงินที่อ่อนค่าลงสอดคล้องกับเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางแรงกดดันจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งมีรายงานสะท้อนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในหลายๆ ประเทศ นอกเหนือจากประเทศจีน

นอกจากนี้เงินธนาคารกสิกรไทยยังมองว่า ความกังวลต่อสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย และสถานะขายสุทธิในหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ สวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุนในระหว่างสัปดาห์จากมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และค่าเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากแรงขายตามปัจจยัทางเทคนิค หลังจากที่อ่อนค่าทะลุ 31.50 บาทต่อดอลลาร์

สําหรับสัปดาห์นี้นั้น ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทท่ี 31.40-32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยสําคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออก รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนในเดือนม. มกราคมที่ผ่านมา รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ด้วย

ที่มา – บทวิเคราะห์จากธนาคารกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/thai-baht-currency-now-31-73-thb-per-us-dollar-its-all-about-concern-from-coronavirus-covid-19-effect-to-economy-24-feb-2020/

ค่าเงินบาทกลับมาอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์แล้ว นายกย้ำรัฐบาลและแบงก์ชาติตามติดเรื่องนี้

ค่าเงินบาทได้กลับมาซื้อขายในระดับ 30 บาทเป็นปกติแล้ว นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวว่ามีการจัดตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องค่าเงินบาทนี้ด้วย

Thai Baht เงินบาท
ภาพจาก Shutterstock

ค่าเงินบาทที่ซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศล่าสุดตอนนี้กลับมาแข็งค่าต้อนรับปีใหม่ โดยราคาล่าสุดนั้นซื้อขายอยู่ที่ 30.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเพิ่มขึ้นจาก 2 วันที่ผ่านมามากกว่า 2% หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้นมองสาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามาจากเรื่องหลักๆ คือเรื่องของสภาพคล่องในช่วงใกล้สิ้นปี  และเรื่องของกิจการในประเทศไทยเร่งนำรายได้จากต่างประเทศเข้ามาก่อนสิ้นปี

สำหรับมุมมองของ Mingze Wu ซึ่งเป็น Trader ค่าเงินจาก INTL FCStone ซึ่งประกอบธุรกิจ เช่น การป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินให้กับธุรกิจของลูกค้า ได้กล่าวกับ Bloomberg ว่า “ตัวเขาเองมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเหมือนว่าธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นน่าจะได้เข้ามาแทรกแซงค่าเงิน”

ในปี 2019 ที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยได้แข็งค่าเกือบ 9% เมื่อเทียบกับกับดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุสำคัญมาจากตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ใน Emerging Markets นอกจากนี้ไทยเองยังเป็น Safe Haven ของนักลงทุนต่างชาติที่มักจะพักเงินไว้ในสกุลบาท เนื่องจากปลอดภัยจากเรื่องของสงครามการค้าด้วย แม้ว่า ธปท. จะมีมาตรการออกมาแล้วก็ตาม

ขณะที่ วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวว่าในช่วงเช้าวันนี้ (2 ม.ค.2563) เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงจากที่ได้แข็งค่าเร็วในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี มาที่ระดับ 30.18 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าอัตราอ้างอิงเฉลี่ยของวันที่ 30 ธันวาคม 2562

ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงินของ ธปท. ยังได้กล่าวเสริมว่า สภาพคล่องในตลาดเริ่มกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนสูงในสภาวะที่ตลาดกำลังมีการปรับสมดุลระหว่างแรงซื้อและแรงขายดอลลาร์ ทั้งนี้ ธปท. จะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยผู้ร่วมตลาดอาจรอดูสถานการณ์การปรับตัวของตลาดสู่ภาวะปกติก่อนเร่งทำธุรกรรม

ล่าสุด เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ยังได้รายงานว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าว่า ตอนนี้ได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท. ในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีมาตรการออกไปแล้ว นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเสริมว่า “เรื่องนี้ได้หารือกับแบงก์ชาติมาตลอด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/thai-baht-depreciation-after-nye-appreciation-from-low-liquidity-pm-tells-about-this-situation-with-press/

สู้บาทแข็ง แบงก์ชาติปรับเกณฑ์ให้เงินทุนไหลออกได้ง่ายมากกว่าเดิม

​ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออกซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกและท่องเที่ยวในขณะนี้

Bank of Thailand ธปท.
ภาพจาก Shutterstock

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออกซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท โดยจะช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ประเด็นสำคัญๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายครั้งนี้ ประกอบไปด้วย

การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ

  1. อนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อใบขน สามารถฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลา ทั้งนี้ ในปี 2561 รายได้รวมจากการส่งออกที่ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อใบขน มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าของการส่งออกทั้งหมด
  2. ถ้าหากผู้ส่งออกมีรายได้สูงกว่าวงเงินข้างต้น ยังสามารถนำไปหักกลบกับรายจ่ายในต่างประเทศได้ ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงขึ้นทะเบียนกับ ธปท. และยื่นเอกสารหลักฐานกับธนาคารพาณิชย์
  3. ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศให้ง่ายขึ้น

การปรับปรุงกฎเกณฑ์ข้างต้นเพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ โดยพักเงินไว้ในต่างประเทศเพื่อรอชำระค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน และช่วยให้สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ธปท. จะหารือเบื้องต้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าจะขยายวงเงินรายได้จากการส่งออกไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อใบขน ภายในระยะ 3 เดือนข้างหน้า โดยการผ่อนคลายดังกล่าวจะครอบคลุมประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด

การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

  1. เปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี จากเดิมที่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศ หรือต้องมีสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด
  2. เพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้นักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น

การโอนเงินออกนอกประเทศ

  1. เปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นเพียงไม่กี่รายการ (Negative List)อาทิ การชำระธุรกรรมซื้อขายค่าเงินต่างประเทศเป็นเงินบาท กับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ยังต้องขออนุญาตจาก ธปท.
  2. อนุญาตให้สามารถโอนเงินให้ตนเองหรือญาติที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศได้เสรี และสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ สามารถโอนได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี โดยซื้อในชื่อของบุคคลในครอบครัวได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานและการส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศ
  3. ประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อครั้ง ไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมสะดวกขึ้น

การซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ

นอกจากนี้ ธปท. ยังอนุญาตให้ลูกค้าคนไทยที่มีการลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ชำระราคาในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ โดยลูกค้าสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนในครั้งต่อไป นอกจากนี้ ธปท. ยังพร้อมที่จะอนุญาตการซื้อขาย Gold Futures ในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะต่อไปด้วย

ล่าสุดค่าเงินบาทราคาซื้อขายในตลาดโลกอยู่ที่ 30.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นมา 0.21% โดยจุดสูงสุดของวันนี้อยู่ที่ 30.395 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงหลังการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมถึงมีการประกาศว่าจะมีมาตรการปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/bot-change-measure-for-fight-baht-appreciation-after-cut-rates-to-1-25-percent/

แข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี ค่าเงินบาทไทยยังทำสถิติต่อ ล่าสุด 30.33 บาทต่อดอลลาร์แล้ว

ค่าเงินบาทของไทยล่าสุดซื้อขายในตลาดโลกล่าสุดอยู่ที่ 30.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี

Thai Currency Exchange
ภาพจาก Shutterstock

ค่าเงินบาทไทยล่าสุดยังคงทำสถิติแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 30.330 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักข่าว Bloomberg ได้ออกบทความล่าสุดวันนี้ว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าที่สุดแล้วในรอบ 6 ปี ในปีนี้นั้นค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่นๆ ในทวีปเอเชียนั้น แข็งค่าไปแล้วเกือบๆ 7%

สำหรับมุมมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้นั้น ทางคณะกรรมการได้ประเมินว่าค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยมากขึ้น แม้ว่าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจะมีการอ่อนค่าตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่หลังจากนั้นค่าเงินบาทก็ได้แข็งค่าขึ้นตามค่าเงินเยนและราคาทองคำซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำ

นอกจากนี้ กนง. เริ่มเห็นสัญญาณผลกระทบต่อกำไรและสภาพคล่องของธุรกิจ ความสามารถในการชำระหนี้ การปรับลดอัตราจ้างงานล่วงเวลา และคณะกรรมการจึงเห็นควรให้ติดตามการปรับตัวดังกล่าวซึ่งหากเกิดขึ้นกระทบในวงกว้างอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของครัวเรือนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออกและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

ขณะที่มุมมองจากบทวิเคราะห์ธนาคารกสิกรไทย มีมุมมองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ โดยเสถียรภาพของไทยที่แข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นจะยังทำให้ค่าเงินบาท เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของเอเชียในช่วงที่เศรษฐกิจโลกผันผวน

บทวิเคราะห์ธนาคารกสิกรไทยยังมองเพิ่มว่า แนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ ธปท. ที่จะยังล่าช้าเนื่องจาก ช่องว่างของนโยบายการเงิน (Policy Space) ที่มีอย่างจำกัดจะสนับสนุนเงินทุนไหลเข้า ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ขณะที่สัญญาณความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาทของ ธปท. จะช่วยลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทลงได้บ้าง

ไม่เพียงแค่นั้นในวันนี้ค่าเงินบาทที่ซื้อขายในตลาดโลกยังได้แตะระดับต่ำสุดของวันอยู่ที่ 30.29 บาทต่อสหรัฐอีกด้วย โดยปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทยังเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องหามาตรการที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมา ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้แนะนำให้ผู้ประกอบการของไทยทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/thai-baht-now-appreciation-at-30-330-baht-per-usd-now-6-years-high/

ชาวต่างชาติที่อาศัยในไทยได้รับผลจากเงินบาทแข็งค่า เริ่มมองประเทศเพื่อนบ้านบ้างแล้ว

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ของไทยในขณะนี้ กลายเป็นว่าทำให้ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยแบบถูกกฎหมายต่างเริ่มได้รับความเป็นอยู่ที่ไม่สะดวกสบายเหมือนเดิม

Thai Currency Exchange
ภาพจาก Shutterstock

ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นมาในช่วงต้นปี และกลายเป็นค่าเงินที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ล่าสุดไม่ใช่ส่งผลกระทบแค่เพียงผู้ส่งออกของไทยเท่านั้น แต่ยังได้ส่งผลกระทบกับชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่มีวีซ่าเกษียณอายุแบบถูกกฎหมาย รวมไปถึงชาวต่างชาติที่ทำงานทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายด้วย

Bloomberg รายงานว่ากลุ่มชาวต่างประเทศที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยเริ่มกล่าวถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น ซึ่งบางรายที่มาเกษียณอายุที่ประเทศไทยเริ่มต้องประหยัดเพิ่มมากกว่าเดิม และยิ่งถ้าหากเป็นผู้เกษียณอายุที่มาจากสหราชอาณาจักรแล้ว ผลกระทบจาก Brexit รวมไปถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากกว่าชาวต่างชาติรายอื่นๆ

ในปีที่ผ่านมาไทยมีชาวต่างชาติที่ขอวีซ่าเกษียณอายุมากถึง 80,000 ราย มากกว่าในปี 2014 ประมาณ 30% โดยเงื่อนไขที่ชาวต่างชาติจะสามารถขอวีซ่านี้ได้ที่คือ ต้องมีเงินพักในบัญชีเงินฝากของธนาคารไทยอยู่อย่างน้อย 800,000 บาท หรือไม่ก็ต้องมีรายได้ต่อเดือน 65,000 บาทต่อเดือน โดยชาวอังกฤษมีสัดส่วนในการขอวีซ่าเกษียณอายุมากสุดคือ 16%

ชาวต่างประเทศที่อาศัยหรือแม้แต่กำลังที่จะตัดสินใจเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็เริ่มที่จะมองประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ แทนไทยแล้ว เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งชาวต่างชาติเหล่านี้ต่างเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดท่องเที่ยวดังๆ เช่น ภูเก็ต หรือแม้แต่พัทยา

ขณะที่เว็บไซต์ The Thaiger ซึ่งเป็นอีกเว็บไซต์ที่รวบรวมมุมมองของชาวต่างชาติ ก็มีการพูดถึงเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น รวมไปถึงเรื่องของความยุ่งยากของเอกสาร ตม.30 ยิ่งสร้างความลำบากให้กับชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีการแนะนำความรู้เกี่ยวกับประเทศเวียดนาม ถ้าหากชาวต่างชาติสนใจ

นอกจากนี้รายงานของ Expat Insider ยังได้ออกรายงานล่าสุดว่าประเทศไหนที่เหมาะกับ Expat มากที่สุด กลายเป็นว่าประเทศไทยได้ตกอันดับถึง 7 อันดับ โดยล่าสุดอยู่ที่อันดับที่ 25 จากอันดับทั้งหมด 64 ประเทศ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว เวียดนามนั้นอยู่อันดับที่ 2 ของผลสำรวจ ขณะที่ไทยนั้นอยู่อันดับที่ 15

ราคาตลาดปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ค่าดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบเป็นเงินบาทไทยอยู่ที่ 30.425 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินปอนด์อยู่ที่ 37.531 บาทต่อปอนด์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/thai-baht-appreciation-makes-effect-to-expat-in-thailand-too/

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี ที่ 30.425 บาทต่อดอลลาร์ คาดแบงก์ชาติอาจมีมาตรการออกมา

ค่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ 30.425 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีมาตรการออกมาในเรื่องนี้

Thailand Currency Exchange
ภาพจาก Shutterstock

ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 30.425 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วงการซื้อขายนั้นค่าเงินบาทของไทยได้แข็งค่าขึ้นไปถึง 30.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าสาเหตุหลักที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาจากการไหลเข้าของเม็ดเงินเพิ่มเติม หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรปได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อ้างอิงจากโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ มุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส ระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะทำให้กดดันการแข่งขันของผู้ส่งออก ถ้าหากค่าเงินบาทไทยหลุดกรอบในช่วง 30.5 บาท ก็มีโอกาสที่จะไปทดสอบที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องออกมาตรการแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่านี้

โดยที่ผ่านมามาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ออกมาได้แก่

  1. ปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ
  2. รายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้เอเชียพลัสยังมีมุมมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีกสอดคล้องกับ ING สถาบันการเงินจากเนเธอร์แลนด์ที่มองว่าอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีกในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 กันยายนที่จะถึงนี้

ค่าเงินที่แข็งค่ามากขึ้นทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างหนักเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีค่าเงินที่อ่อนค่ากว่าได้ เช่น ค่าเงินวอนเกาหลีใต้ ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย ฯลฯ ถ้าหากส่งออกในสินค้าประเภทเดียวกัน โดย อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะติดตามสถานการณ์นี้อยู่เช่นกัน

ที่มา – โพสต์ทูเดย์, บทวิเคราะห์จาก ING

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/thai-baht-6-years-strongest-market-forecasts-bot-having-some-policies-to-curb/

ทำไมค่าเงินบาทแข็ง Goldman Sachs มองสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “คนไทยซื้อขายทองคำ”

Goldman Sachs ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับสาเหตุที่ค่าเงินบาทไทยแข็งค่า ส่วนหนึ่งมาจากคนไทยซื้อขายทองคำ นอกจากนี้ยังมองถึง 4 แนวทางของธปท. ที่จะแก้ไขค่าเงินบาทแข็ง

Thailand People Buy Gold
ภาพจาก Shutterstock

Goldman Sachs สถาบันการเงินรายใหญ่ของโลก ได้จัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับค่าเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากอะไรบ้าง และพบว่าสาเหตุหนึ่งมาจากคนไทยซื้อขายทองคำ โดยค่าเงินบาทในขณะนี้แข็งค่าอันดับ 1 ของเอเชียนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา นอกจากนี้ Goldman Sachs มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีทางออก 4 ทางในการทำให้ค่าเงินบาทของไทยไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้

เราจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาคนไทยกับการซื้อขายทองคำเป็นสองสิ่งที่แทบคู่กัน โดย Goldman Sachs เผยว่าไทยนั้นเป็นแหล่งซื้อขายทองคำอันดับ 1 ในกลุ่ม Emerging Markets ในเอเชีย โดยในไตรมาส 3 ของปี 2018 มีปริมาณการซื้อขายทองคำคิดมากกว่า 0.6% ของ GDP ไทย ขณะที่ช่วงสูงสุดนั้นในอยู่ในช่วงไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมาซึ่งสูงเกิน 1% ของ GDP ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ราคาทองคำที่ขึ้นมาถึง 20% ทำให้ Goldman Sachs มองว่าเป็นสาเหตุทำให้บาทแข็งด้วยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยมองว่าราคาทองลงก็มักจะซื้อเก็บไว้ และขายทำกำไรเมื่อมีราคาดี

ข้อมูลจาก Goldman Sachs

นอกจากนี้ Goldman Sachs ยังมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีทางเลือก 4 ทางในการทำให้ค่าเงินบาทของไทยไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้ คือ

  • แทรกแซงค่าเงิน โดย Goldman Sachs มองว่ามีผลดีในระยะสั้นแต่ระยะยาวมีต้นทุนที่สูงมากๆ
  • ควบคุมเงินไหลเข้า เช่น เก็บภาษีกำไรจากพันธบัตร หรือ คุมระยะเวลาที่นำเงินเข้ามา อย่างไรก็ดี Goldman Sachs มองว่าวิธีนี้รัฐบาลจะไม่สามารถแยกแยะระหว่างเงินร้อนกับเงินลงทุนในประเทศไทยได้ และยังกีดกันนักลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย
  • ส่งเสริมให้เงินไหลออก เช่น ให้ต่างชาติสามารถออกพันธบัตรในสกุลเงินบาท หรือแม้แต่นโยบายปัจจุบันของธนาคารแห่งประเทศไทยคือผ่อนคลายให้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนต่างๆ โดย Goldman Sachs มองว่าวิธีนี้เป็นวิธีในระยะยาวที่ดีสุด เพราะจะลดส่วนเกินของดุลบัญชีเดินสะพัดได้
  • ใช้นโยบายทางการเงิน เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ฯลฯ โดย Goldman Sachs มองว่าการใช้นโยบายนี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในภาคการเงินมากขึ้นถ้าหาก กนง. ลดดอกเบี้ย และไม่คุ้มเสี่ยงกับภาคเศรษฐกิจทั้งหมด

ซึ่งใน 4 ข้อที่กล่าวมาทำให้ Goldman Sachs มุมมองว่า กนง. จะไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้

ที่มา – บทวิเคราะห์จาก Goldman Sachs

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/why-thai-baht-appreciation-goldman-sachs-analyze-the-truth-is-retail-buy-gold/

ทำไม Trade war ทำให้เงินบาทกลายเป็น Safe Haven เหมือนเงินเยน

Safe haven หรือทรัพย์สินปลอดภัย ความผันผวนต่ำ มีหลายอย่างตั้งแต่ ทองคำ ไปจนถึงสกุลเงิน เช่น ค่าเงินเยน แต่ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติมองว่าค่าเงินบาทเป็น Safe haven เพราะอะไร และจะเป็นอีกนานไหม?

ภาพจาก Shutterstock

Trade war กดดันค่าเงิน USD อ่อนค่าดึงเงินเยน-บาทแข็งค่าขึ้น

แม้ว่าประเทศไทยจะมีความเสี่ยงหลายอย่างทั้งการเมือง เศรษฐกิจที่อาจจะเติบโตชะลอตัวลง แต่เมื่อทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูงเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเดียวกัน และปัจจัยพื้นฐานของไทยยังเติบโตได้ในระยะยาว

ขณะเดียวกันข้อมูลจากธนาคารกรุงไทยบอกว่า ค่าเงินบาทยังขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยวันที่ 7 พ.ค. 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดระดับ 31.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากวันศุกร์ (3 พ.ค.) ที่ระดับ 32.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุเพราะคืนที่ผ่านมาตลาดเงินทั่วโลกอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) จากความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

หลังจากที่โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ระบุว่าจะมีการขึ้นภาษีกับจีนในวันที่ 10 พ.ค.นี้ส่งผลให้หุ้นสหรัฐปรับตัวลง ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงมาที่ระดับ 2.46% และนักลงทุนเลือกเยนญี่ปุ่นเป็นสกุลเงินปลอดภัย ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทยังแข็งค่าพร้อมๆ กับค่าเงินเยน แสดงว่านักลงทุนอาจเลือกใช้เงินบาทเพื่อหลบความเสี่ยงจากสงครามการค้า ในระยะสั้นจึงจะเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น (แต่มีความเสี่ยงค่าเงินบาทผันผวนเพราะหากสถานการณ์ต่างประเทศดีขึ้นนักลงทุนอาจเทขายทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วกระทบต่อส่วนอื่น)

ห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทยมองว่าค่าเงินบาทระหว่างวันจะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบค่าเงินบาทวันนี้ 31.87- 31.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวระหว่าง 31.80-32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ต้องจับตามองปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้แก่ 1. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธ (8 พ.ค.) เราคาดว่ากนง.จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.75% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มชะลอตัวลง และยังคงมีความเสี่ยงด้านการเมือง ขณะที่เศรษฐกิจต่างประเทศก็มีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า ปัจจัยทั้งหมดรวมถึงทิศทางนโยบายการเงิน ถือว่าไม่ได้ส่งผลบวกกับเงินบาทในระยะสั้น

2. การเจรจาการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ (จีน-สหรัฐฯ) อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสหรัฐและจีนจะหาข้อตกลงการค้ากันได้ในสัปดาห์นี้ แต่นักลงทุนในตลาดการเงินอาจไม่รีบกลับเข้าถือสินทรัพย์เสี่ยงเพราะยังเห็นความผันผวนยังเพิ่มขึ้นโดยรวมคาดว่านักลงทุนจะเลือกถือสินทรัพย์ปลอดภัย และพยายามหลีกเลี่ยงการลงทุนในสหรัฐหรือจีนในช่วงนี้

สรุป

ค่าเงินหลักของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อดอลลาร์สหรัฐอ่อน หรือแข็งค่าย่อมส่งผลกระทบต่อคู่ค้าของไทย และส่งผลกระทบทางอ้อมมาที่ประเทศไทยเสมอ แต่นักธุรกิจที่ต้องทำธุรกิจกับต่างชาติจึงควรทำประกันความเสี่ยง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและรักษาให้ธุรกิจมีกำไรและสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/tradewar-baht/

Apple ใช้สกุลเงินบาทบน App Store, iTunes Store และ Apple Music ในประเทศไทยแล้ว เริ่มต้น 9 บาท

Apple-Store-baht-thailand-flashfly

หลังจากที่ก่อนหน้า Apple ได้มีจดหมายถึงกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการ App Store, iTunes Store และ Apple Music ในประเทศไทยว่าเตรียมเปลี่ยนแปลงจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ($) เป็นสกุลเงินบาทไทย (฿) ในเร็วๆนี้

IMG_4302

IMG_4301

ล่าสุดวันนี้ก็ได้ทำการเปลี่ยนเรียยร้อยแล้วโดยสินค้าต่างๆจะมีราคาพิเศษถูกสุดเพียง 9 บาทเท่านั้น สำหรับแอพต่างๆที่จำหน่ายในราคา 0.99 USD ก็จะถูกเปลี่ยนเป็น 35 บาทถ้วน ไม่อิงตามค่าเงินจากบัตรเครดิทที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ช่วยลดปัญหาที่จะต้องมาคำนวนค่าเงินทึกครั้งที่ซื้อให้วุ่นวาย ซึ่งรวมถึงการซื้อเพลง หนัง และบริการ Apple Music ด้วย แม้แต่ การซื้อสินค้าภายในเกมหรือแอพต่างๆก็เปลี่ยนเป็นสกุลเงินบาทไทยเรียบร้อยเช่นเดียวกัน

IMG_4307

IMG_4303

สำหรับประวัติการซื้อจะแสดงสกุลเงินที่เคยใช้ซื้อสินค้า หากซื้อสินค้าจากร้านค้าในประเทศไทย ประวัติการซื้อจะแสดงสกุลเงินที่เคยใช้ซื้อสินค้า และการสมัครสมาชิกและการสั่งซื้อล่วงหน้าที่ใช้งานการต่ออายุโดยอัตโนมัติจะได้รับการต่ออายุที่ราคาเงินบาทไทยเมื่อสิ้นสุดรอบบิลปัจจุบัน สำหรับรายการสั่งซื้อล่วงหน้าทั้งหมดสำหรับสินค้าที่ยังไม่ได้ออกจำหน่ายจะเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินบาทไทยเมื่อถึงวันที่สินค้าวางจำหน่าย

IMG_4304

IMG_4305

IMG_4306

ที่มา – flashfly

from:http://www.flashfly.net/wp/?p=147506