คลังเก็บป้ายกำกับ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปกับธุรกิจการบิน หลัง ICAO ปลดล็อกธงแดงประเทศไทย

สรุปสถานการณ์ธงแดง ล่าสุด ICAO ได้ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยบนเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ถูกติดธงแดงมาตั้งแต่ มิ.ย. 2558 ส่งผลให้ธุรกิจการบินของไทยมีอุปสรรคในการบินไปหลายประเทศเป้าหมาย และ FAA ปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศเป็นระดับต่ำกว่ามาตรฐาน (Category2)

ค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นกับธุรกิจสายการบินของไทย คิดเป็นมูลค่า 11,300 ล้านบาท ใน 2 ปี แต่จากการปลดธงแดง น่าจะทำให้ ญี่ปุ่น, เกาหลี และ FAA ยกเลิกการตั้งข้อจำกัดทางการบินต่อสายการบินของไทย เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับภาพรวมอุตสาหกรรมการบิน สายการบินสัญชาติไทยสามารถเปิดเส้นทางใหม่ เพิ่มความถี่เที่ยวบิน เปลี่ยนขนาดเครื่องบินและให้บริการแบบเช่าเหมาลำ (Chartered flight)

ปลดธงแดง สร้างเม็ดเงินเพิ่ม ดันอู่ตะเภาแจ้งเกิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์การบินของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 จะเติบโตอย่างคึกคักขึ้น จากเดิมที่ได้ทวีบทบาทอย่างน่าจับตามองในระยะที่ผ่านมา และผลดังกล่าวจะต่อเนื่องไปยังปี 2561 ให้ธุรกิจการบินของไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ

คาดว่า ธุรกิจสายการบินของไทยในปี 2560 จะมีรายได้ประมาณ 278,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 1,300 ล้านบาท และน่าจะแตะ 294,500 ล้านบาท ในปี 2561 เติบโตขึ้น 8,400 ล้านบาท

ไฮไลท์สำคัญคือ อู่ตะเภา Aerotropolis หรือ เมืองการบิน เป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลคาดหวังให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนา EEC โดยเป็นการใช้จุดเด่นจากการเชื่อมโยงของท่าอากาศยานอู่ตะเภาดึงดูดการลงทุน ที่จะก่อให้เกิดเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโดยมีท่าอากาศยานเป็นแกนหลักให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมในรัศมีโดยรอบ นำมาซึ่งจำนวนเที่ยวบิน นักท่องเที่ยว และสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ ที่นำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ ดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ

ระวังปัญหาขาดบุคลากร สนามบินหนาแน่น

EIC SCB มองว่า การปลดธงแดงจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะสวยหรู เพราะจากการแข่งขันระหว่างสายการบินที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการเปิดเส้นทางใหม่ และขาดแคลนบุคลากร ซึ่ง 3 เดือนที่ผ่านมา มีการเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางยอดนิยม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ทำให้เกิดการแย่งชิงบุคลากรการบิน เช่น นักบิน แอร์โฮสเตส วิศวกร และช่างเทคนิค

อีกทั้งยังมีปัญหาด้าน time slot และความจุของสนามบินทั้งในไทยและต่างประเทศ อาจทำให้การเพิ่มความถี่และเปิดเที่ยวบินใหม่ไม่ราบรื่นนัก ในปัจจุบัน สนามบินในไทยหลายแห่งเริ่มมี time slot ที่หนาแน่นแล้ว ประกอบกับจำนวนผู้โดยสารที่เกินขีดความสามารถในการรองรับ ในขณะเดียวกัน สนามบินในต่างประเทศ โดยเฉพาะสนามบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยม เช่น นาริตะของญี่ปุ่น และอินชอนของเกาหลีใต้ ก็ประสบกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ทำให้การเพิ่มความถี่และขยายเส้นทางอาจทำได้ไม่ง่ายนัก

ดังนั้น แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการปลดธงแดง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับโอกาสที่จะขยายตัวมากขึ้นด้วย

source: EIC SCB, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/icao-abort-red-flag-thailand/

ทางรอดค้าปลีกรายย่อย ท่ามกลางสมรภูมิตลาดออนไลน์

จุดเริ่มต้นของธุรกิจ ‘ออนไลน์ช็อปปิ้ง’ ในไทย ทุกคนมีความอิสระและเข้าสู่ตลาดออนไลน์ช็อปปิ้งได้ง่าย โดยเฉพาะผ่านรูปแบบ Social Commerce (การซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทาง Social Media ต่างๆ) ประกอบกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น คนไทยสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือได้ง่ายกว่าอดีต จึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการผลักดันกิจกรรมการตลาดและการจับจ่ายซื้อสินค้าออนไลน์ได้มากยิ่งขึ้น

ภาพจาก Pixabay.com

ออนไลน์ช้อปปิ้ง ง่ายสำหรับค้าปลีกรายย่อย?

ตัวเลขของตลาดออนไลน์ช็อปปิ้ง ในไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างโดดเด่น เฉลี่ย 15-20% ต่อปี หรือมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 214,000 ล้านบาท ในทางกลับกันรายได้ของธุรกิจค้าปลีกผ่านช่องทางเดิมอย่าง Offline มีการเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากการเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในบางกลุ่มสินค้าของออนไลน์ช็อปปิ้ง พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น

ทำให้ทั้งผู้ประกอบการในไทยและต่างประเทศ หรือแบรนด์สินค้า หันมารุกตลาดออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากต่างชาติ (เช่น จีน เกาหลีใต้) ที่มาพร้อมกับรูปแบบของ e-Market Place ซึ่งมีจุดแข็งในเรื่องของเงินทุน พันธมิตร ห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจร (ตั้งแต่รูปแบบของ Platform ระบบการชำระเงิน และการจัดส่งสินค้า)

รวมถึงผู้ประกอบการค้าปลีกรายเดิม (เช่น กลุ่มค้าปลีก Modern Trade) ซึ่งมีฐานลูกค้าจากช่องทาง Offline อยู่แล้ว ก็ได้มีการขยายช่องทาง Online เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของ Brand.com หรือ e-Market Place คาดว่า ภาพตลาดออนไลน์ช็อปปิ้งของไทยน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและแข่งขันกันรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้า

e-Market Place โอกาสทำตลาดและคู่แข่งในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2561 ตลาด B2C-Online-Shopping (เฉพาะสินค้า) จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 256,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 470,000 ล้านบาทในปี 2565 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 16% ต่อปี ทำให้ช่องทางออนไลน์ช็อปปิ้ง มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 2560 เป็น 8.2% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งทั้งระบบ โดยรูปแบบของ e-Market Place จะเป็น Online-Platform ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

โดยสุดท้ายแล้ว ผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าผ่าน Platform ไหน จะซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ หรือจะซื้อผ่านหน้าร้าน ขึ้นอยู่กับว่าช่องทางไหนที่สามารถอำนวยความสะดวก และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้มากที่สุด ณ ตอนนั้น

ความเคลื่อนไหวสำคัญ คือ ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยอาจจะต้องเผชิญการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่อยู่ใน e-Market Place จำนวนมาก และที่น่าสนใจคือ หากเจ้าของ e-Market Place กลายเป็นผู้นำสินค้าเข้ามาแข่งด้วยตนเอง โดยอาศัยการเข้าถึงฐานข้อมูลของลูกค้าที่เข้ามาใช้จ่ายผ่าน Platform ของตนเอง สามารถรับรู้พฤติกรรมเชิงลึกในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ของลูกค้า ว่าสินค้าอะไรขายดี ก็อาจจะกลายเป็นคู่แข่งที่นำสินค้าเข้ามาแข่งกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยได้ ทั้งนี้ แม้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะยังเห็นไม่ชัดในปัจจุบัน แต่คาดว่าในระยะข้างหน้า ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ หากผู้ให้บริการ e-Market Place เล็งเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ข้อได้เปรียบที่ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยเคยมี เช่น ราคา (ต้นทุนสินค้า) ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าที่อยู่หน้าร้าน ตลาดที่ยังไม่ขยายใหญ่มาก รวมถึงคู่แข่งที่ยังมีน้อยรายนั้น อาจจะไม่เพียงพอในการรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบันและอนาคต เพราะด้วยตลาดออนไลน์ช็อปปิ้ง ที่มีแนวโน้มขยายใหญ่ขึ้น คู่แข่งมีมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมไปจนถึงผู้ผลิตสินค้า หรือแม้แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความภักดีในแบรนด์หรือสินค้าน้อยลง กลายเป็นว่ารูปแบบการขายเดิมๆ อาจจะไม่สามารถดึงกลุ่มลูกค้าไว้ได้อีกต่อไป เพราะลูกค้ามีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

ภาพจาก Pixabay.com

สร้างความแตกต่างคือ ทางอยู่รอด

ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยที่อยู่รอด คือ “คนที่คิดต่าง ทำต่าง” โดยในอดีตมักจะเน้นที่ความแตกต่างด้านสินค้าและราคา เช่น ความแตกต่างทางด้านการใช้งาน บรรจุภัณฑ์ และเรื่องเล่าหรือที่มาในตัวสินค้า เป็นต้น แต่ปัจจุบันการสร้างความแตกต่างดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความแปลกใหม่ทางด้านประสบการณ์มากขึ้น เช่น ประสบการณ์ในการเป็นคนแรกที่ได้สัมผัสหรือเป็นเจ้าของสินค้า ประสบการณ์การรับรู้ทางด้านอารมณ์หรือความรู้สึกที่มีต่อสินค้า เป็นต้น

การใช้กลยุทธ์สร้างประสบการณ์ที่พึงพอใจและทำให้เกิดความประทับใจแก่ลูกค้าในแต่ละราย (Customized Experience) จนทำให้เกิดการจดจำแบรนด์ และอยากใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และอาจเกิดการบอกเล่าความประทับใจให้กับคนรอบข้าง หรือคนอื่นๆ ผ่านการแชร์ข้อมูลหรือประสบการณ์ที่ได้รับมาจากการซื้อสินค้าออนไลน์บน Social Media ต่างๆ

เช่น ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยในกลุ่มสินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า) โดยเฉพาะคนที่ซื้อมาขายไป อาจจะต้องปรับตัวไปเป็นผู้ออกแบบและจำหน่ายเอง โดยแนวคิดการออกแบบสินค้าอาจจะมาจากการสังเกตและศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าแต่ละราย และนำแนวคิดดังกล่าวมาออกแบบสินค้าที่สร้างประสบการณ์รับรู้ใหม่ให้กับลูกค้าเป็นรายบุคคล เช่น เสื้อผ้าที่ถูกดีไซน์ออกมาให้เข้ากับบุคลิกและรูปร่างของลูกค้าแต่ละราย รองเท้าที่ออกแบบมาให้เหมาะกับรูปร่างเท้าของลูกค้า หรือแม้แต่ตัวบรรจุภัณฑ์หรือแพคเกจจิ้งที่มาพร้อมกับสินค้า การ์ดหรือป้ายที่แสดงคำขอบคุณให้กับลูกค้าแต่ละราย โดยอาจจะระบุชื่อและใส่มาในกล่องสินค้า ก็สามารถสร้างความประทับใจทางด้านอารมณ์หรือความรู้สึกให้กับลูกค้ารายบุคคลได้เช่นกัน

ภาพจาก Pixabay.com

แต่อาจจะมีสินค้าบางกลุ่ม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทางด้านไอที ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เอง จะเป็นลักษณะของตัวแทนจำหน่ายหรือซื้อมาขายไปมากกว่า ดังนั้น เพื่อไม่ให้ราคาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจซื้อสินค้าของลูกค้าเพียงอย่างเดียว ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยสินค้ากลุ่มนี้ จะต้องสร้างการให้บริการเพิ่มขึ้น โดยเน้นไปที่ความจริงใจและการเอาใจใส่ต่อลูกค้า เช่น การดูแลลูกค้าทั้งก่อนและหลังการขาย การให้คำแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าที่ตรงวัตถุประสงค์การใช้งานกับลูกค้ามากที่สุดและจริงใจที่สุด คำแนะนำในการใช้งานและดูแลรักษาสินค้า รวมถึงการบริการจัดส่งฟรีทุกรายการ โดยไม่มียอดการสั่งซื้อขั้นต่ำ เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยสภาพตลาดออนไลน์ช็อปปิ้งที่แข่งขันกันรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การปรับตัวของผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยไม่ควรหยุดนิ่งเพียงเท่านี้ ผู้ประกอบการต้องพยายามปรับตัวให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละรายที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/retail-sme-in-online-war/

เทศกาลไห้วพระจันทร์ 4 ต.ค. นี้กับสถานการณ์ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ 900 ล้านบาท

ขนมไหว้พระจันทร์ มีมูลค่าตลาดประมาณ 900 ล้านบาท ทั้งที่มีช่วงเวลาในการขายประมาณ 1 เดือน กลายเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ

ภาพจาก Pixabay.com

ซื้อไปไหว้เท่าที่จำเป็น แต่ส่วนใหญ่ซื้อกิน-ซื้อฝาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กลุ่มที่ซื้อไปไหว้ซึ่งจะซื้อเท่าที่จำเป็น และกลุ่มที่ซื้อไปกินและเป็นของฝากซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาไส้ของขนมไว้พระจันทร์ มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงบางรายที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปีนี้คนไทยมีการใช้จ่ายที่ระมัดระวัง และราคาขนมไหว้พระจันทร์มีการปรับสูงขึ้น 5 – 10% ตามต้นทุน เช่น ราคาทุเรียน โดยกลุ่มที่เห็นว่าราคาขนมไหว้พระจันทร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากมีถึง 26% และเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้ซื้อบางส่วนปรับลดปริมาณการซื้อลง ยกเว้นภาคธุรกิจที่อาจมีคำสั่งซื้อขนมไหว้พระจันทร์ฝากลูกค้าองค์กร ซึ่งกลุ่มนี้มีปริมาณการซื้อ รวมทั้งราคาเฉลี่ยต่อหน่วยค่อนข้างสูง

ผู้ซื้ออีกกลุ่มที่มาช่วยเพิ่มยอดคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะเชื้อสายจีน (จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์) ที่ชอบขนมไหว้พระจันทร์ โดยเฉพาะไส้ทุเรียน ยิ่งปีนี้เทศกาลไหว้พระจันทร์อยู่ใกล้วันชาติจีน 1 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงหยุดยาวของจีน ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น คาดว่าไม่ต่ำกว่า 9 แสนคน ทำให้ตลาดคึกคักมากขึ้น

ภาพจาก Pixabay.com

สภาพตลาดขนมไหว้พระจันทร์ ซับซ้อนและหลากหลาย

ปริมาณและมูลค่าการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ในกลุ่มคนที่ซื้อไปไหว้ มีแนวโน้มปรับลดลงตามจำนวนคนรุ่นก่อน แต่กลุ่มนี้มีจุดเด่นคือ ปริมาณการซื้อจะคงที่ ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากได้มีการปรับปริมาณการซื้อไว้เท่าที่จำเป็น สำหรับอีกกลุ่มที่เติบโตค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมาคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Y ที่มีจำนวนรวมกันถึงกว่า 13 ล้านคน

กลุ่มนี้มีพฤติกรรมความต้องการความแปลกใหม่ของสินค้า และกลุ่มนี้พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายอื่น หากสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้มากกว่า แต่ก็พร้อมที่จะลดการซื้อสินค้าลงทันที หากกำลังซื้อไม่เอื้ออำนวย

ส่วนผู้ประกอบการ มีจำนวนมากขึ้น และระยะเวลาจำหน่ายประมาณ 1 เดือน กับมูลค่าตลาด 900 ล้านบาท มีทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้าจากต่างประเทศ จากการสำรวจพบว่าปัจจัยที่ผู้ซื้อจะตอบรับกับผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์รายใหม่ 3 อันดับแรกคือ 1.โปรโมชั่นที่ตรงใจ 2.ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของผู้ประกอบการที่ทำให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ 3.และบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงาม

ภาพจาก Pixabay.com

การปรับตัวและวางแผนสำหรับตลาดขนมไหว้พระจันทร์

จากการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาด รวมถึงจากผลการติดตามสำรวจพฤติกรรมผู้ซื้อในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์ทั้งรายดั้งเดิมและรายใหม่ที่เข้ามา จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

การมุ่งเน้นไปที่ตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ นอกเหนือจากตลาดคนรุ่นใหม่ ที่ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นแล้ว อีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะสามารถเติมเม็ดเงินให้กับตลาดขนมไหว้พระจันทร์ได้มากขึ้นเช่นกันคือ  ตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะที่มีเชื้อสายจีน โดยกลยุทธ์สำหรับจับตลาดกลุ่มนี้

  • เน้นบรรจุภัณฑ์ลวดลายสถานที่ท่องเที่ยว ศิลปะวัฒนธรรมไทยผสมผสานกับเทศกาล เพื่อให้เหมาะกับการเป็นของฝากกลับบ้านที่มีคุณค่า
  • ช่องทางการจำหน่าย นอกจากในโรงแรมที่พัก รวมทั้งแหล่งช็อปปิ้งต่างๆ แล้ว อาจจำเป็นต้องวางจำหน่ายผ่านร้านค้าหรือศูนย์โอท็อปที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงร้านค้าในสนามบินหรือดิวตี้ฟรีอื่นๆ

การปรับรูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ การปรับขนาดขนมไหว้พระจันทร์ให้เล็กลงเหมาะสำหรับการรับประทานพอดีคำโดยไม่ต้องหั่น อาจเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวก ซึ่งแม้ว่าราคาจำหน่ายต่อชิ้นอาจปรับลดลง แต่อาจชดเชยด้วยผลทางด้านปริมาณจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น

การควบคุมต้นทุนสินค้า การวางแผนสต็อกวัตถุดิบโดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งราคามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่ผลผลิตมีความไม่แน่นอนขึ้นกับสภาพอากาศ ขณะเดียวกันอาจจำเป็นต้องพัฒนาไส้อื่นๆ ให้ได้รับความนิยม เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านวัตถุดิบด้วย

การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย ผู้ประกอบการควรกระจายช่องทางการตลาดที่หลากหลาย (Omni Channel) เพื่ออำนวยความสะดวก รองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นช่องทางผ่านหน้าร้านของตนเอง ช่องทางร้านค้าปลีก รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่ต่อไปจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น

ภาพจาก Pixabay.com

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/moon-cake-market-2017/

ดูผลสำรวจ รถยนต์ Plug-In Hybrid มาแรง พร้อมข้อกังวลใจของผู้บริโภคที่อยากให้เร่งแก้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการซื้อรถยนต์และความสนใจของผู้บริโภคต่อรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อสะท้อนแนวโน้มความต้องการของตลาด ณ ปัจจุบัน ซึ่งได้ผลสำรวจที่น่าสนใจว่า

สำหรับตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) คาดว่าจะเป็นประเภทรถที่ผู้บริโภคอาจให้ความสนใจมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากราคาส่วนเพิ่มจากรถรุ่นใกล้เคียงไม่สูงเกินกว่า 200,000 บาท

Plug-In Hybrid ใช้พลังงาน 2 อย่าง ดูมั่นใจกว่า

ความสนใจต่อรถยนต์ Plug-In Hybrid เนื่องจากรถยนต์ดังกล่าวดูเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจในตลาด รวมถึงการที่สามารถเลือกเติมพลังงานในการขับเคลื่อนให้รถยนต์ได้ถึง 2 ประเภท ทำให้สะดวกต่อการใช้งานมากกว่าแบบที่ใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม หากมีการพัฒนารถยนต์ประเภทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นระบบโครงสร้างพื้นฐาน มุมมองของผู้บริโภคต่อประเภทรถที่สนใจอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

จากผลสำรวจพบกลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่ามีแผนจะซื้อรถยนต์ภายในปี 2560 คิดเป็น 29.3% และพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่คิดจะซื้อรถมีความสนใจนำเอารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาเป็นตัวเลือกหนึ่งหากมีการนำออกมาทำตลาด ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประมาณ 74% แสดงความสนใจในตัวรถยนต์ Plug-In Hybrid ตามด้วยรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฮบริดซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกันตามลำดับ

จ่ายเงินเพิ่มไม่เกิน 200,000 บาท ถือว่าโอเค

เงินส่วนเพิ่มที่ผู้ซื้อคิดว่าจะยอมจ่ายเพื่อซื้อรถในกลุ่มดังกล่าว พบว่า ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับระดับรายได้และประเภทรถที่คิดว่าจะซื้อ รวมถึงมุมมองของผู้บริโภคต่อประเด็นการลดภาษีสรรพสามิตของภาครัฐ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าราคาที่เพิ่มขึ้นไม่ควรสูงมากเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว

จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามถึงกว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มมีระดับรายได้สูง ก็ยังมองว่าราคาส่วนเพิ่มของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าไม่ควรเกินกว่า 200,000 บาท สอดคล้องกับผลสำรวจที่สะท้อนว่า ผู้ที่คิดจะซื้อรถยนต์ในปีนี้และรับพิจารณารถพลังงานไฟฟ้าเป็นตัวเลือกหนึ่งส่วนใหญ่กว่า 76% นั้นมองว่าระดับราคาที่จะเพิ่มขึ้นมาจากราคารถยนต์ปกติรุ่นใกล้เคียงกันไม่ควรเกิน 200,000 บาท

หากแยกรถพลังงานไฟฟ้าแต่ละประเภทออกจากกันเพื่อจะได้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้นถึงความยินดีที่จะจ่ายเงินส่วนเพิ่มของรถยนต์แต่ละประเภทพบว่า ยิ่งระดับเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้นระดับความยินดีที่จะจ่ายเงินส่วนเพิ่มก็มากขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากรถยนต์ไฮบริดผู้ซื้อส่วนใหญ่ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่พบว่า ผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็พร้อมที่จะจ่ายสูงถึง 1,000,000 บาทเลยทีเดียว โดยสังเกตว่ากลุ่มตัวอย่างที่ยินดีจะจ่ายเพิ่มสูงมักเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับรายได้ค่อนข้างสูงขึ้นไป

กลยุทธ์สร้างความต้องการให้ผู้บริโภค

การชี้ให้ผู้บริโภคเห็นถึงจุดเด่นด้านการประหยัดค่าพลังงาน โดยจะเห็นได้จากผลการสำรวจที่ผู้บริโภคถึง 77.4% มองว่าเป็นประเด็นที่จะทำให้ตัดสินใจเลือกซื้อรถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันรถพลังงานไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉลี่ยน้อยกว่ารถยนต์สันดาปภายในถึงมากกว่าครึ่ง ในการวิ่งระยะทางเท่ากัน

ระดับราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับรถในรุ่นใกล้เคียง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญรองลงมาที่สัดส่วน 67.5% ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าระดับราคาไม่ควรสูงเกินกว่า 200,000 บาทเทียบกับรถรุ่นใกล้เคียง

สมรรถนะในการขับขี่และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่มีการให้ความสำคัญในระดับพอกันที่ประมาณ 40%

การใช้งานฟังก์ชั่นที่มีเทคโนโลยีมากขึ้น และความดูดีทันสมัย ถูกให้ความสำคัญน้อยกว่า 4 ปัจจัยแรก โดยมีสัดส่วน 28.3% และ 17.8%

ข้อกังวลใจผู้บริโภคที่ รัฐ-เอกชน ต้องเร่งแก้

ความกังวลว่าสถานีบริการชาร์จไฟฟ้าอาจมีไม่ทั่วถึง 69.7% มองปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะสำหรับรถพลังงานไฟฟ้าที่พึ่งพาแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นรัฐบาลและผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนถึงความคืบหน้าในการวางโครงข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการเปิดตลาดรถพลังงานไฟฟ้า ในต่างประเทศมีการลงทุนสร้างสถานีชาร์จไฟกำลังสูงโดยเอกชน ทั้งแบบการลงทุนโดยค่ายรถที่อยู่ในธุรกิจรายเดียว หรือแบบลงทุนร่วมกันหลายราย ส่วนการเตรียมความพร้อมของภาครัฐไทยในเรื่องปริมาณพลังงานไฟฟ้ารองรับนั้น ปัจจุบันหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน จนถึงปี 2579 เพื่อรองรับการใช้รถพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 1.2 ล้านคัน ในอนาคต

ความกังวลเรื่องการซ่อมบำรุงและราคารถยนต์ที่ค่อนข้างสูง มีสัดส่วนอยู่ที่ 60.2% และ 58% ตามลำดับ และเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคแสดงออกถึงความกังวลต่อค่าใช้จ่ายในการถือครองรถพลังงานไฟฟ้า รวมถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการดูแลซ่อมบำรุงในระยะยาว

ความกังวลเรื่องระยะเวลาในการชาร์จไฟฟ้าต่อครั้ง และแบตเตอรี่มีราคาสูง ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามที่สัดส่วน 41.1% และ 33.4% ตามลำดับ โดยระยะเวลาในการชาร์จไฟที่นานอาจเป็นปัญหาหากต้องเดินทางไกลออกต่างจังหวัด หรือแบตเตอรี่หมดระหว่างวันขณะอยู่นอกที่พักอาศัย โดยเฉพาะรถพลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ดังนั้นการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบเร็วให้กระจายทั่วถึงในจุดสำคัญ และให้มีบริเวณที่สามารถพักผ่อนหรือมีกิจกรรมทำระหว่างรอชาร์จไฟ

สรุป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้บริโภคเริ่มมีการรับรู้ถึงตัวรถพลังงานไฟฟ้า และเริ่มมีความสนใจในการครอบครองรถยนต์ประเภทนี้ ส่วนทางด้านซัพพลายและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่จะช่วยตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะร่วมกันผลักดันให้ตลาดรถพลังงานไฟฟ้าเติบโตได้ดีในไทย

สำหรับ ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า จะเป็นธุรกิจหลักหนึ่ง เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหากต้องการให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นในวงกว้างต่อไปในอนาคต และยังรวมไปถึง อุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าแบบพกพา เพื่อความสะดวกหากเกิดเหตุพลังงานหมดในที่ๆ ไม่มีสถานีชาร์จไฟฟ้า นอกจากนี้ธุรกิจเพื่อการพักผ่อนหรือทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิงแบบใช้เวลาไม่นานที่อยู่ภายในสถานีชาร์จไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้รถสามารถมีกิจกรรมทำระหว่างช่วงเวลารอชาร์จไฟฟ้า ยังเป็นอีกประเภทธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ดี

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/research-car-plugin-hybrid-kbank/

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเกม Brexit กระทบภาคธุรกิจไทยอย่างไร

business

ก่อนหน้านี้ Brand Inside ได้นำเสนอบทวิเคราะห์เชิงลึกกรณี Brexit โดยคุณสุรศักดิ์ ธรรมโม นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผู้อ่านที่สนใจสามารถอ่านได้ที่นี่ [บทวิเคราะห์] ตลาดการเงินโลกจะเป็นอย่างไร หลังเหตุการณ์ Brexit ครั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เผยผลวิจัยแนวโน้มเศรษฐกิจและธุรกิจครึ่งปีหลัง ปี 2559 และผลกระทบจาก Brexit แม้ว่ากว่าที่อังกฤษจะออกจาก EU ได้ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปีจากนี้ แต่ผลกระทบได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว และต่อไปนี้คือ ผลกระทบที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นกับธุรกิจของไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า ผลกระทบต่อประเทศไทยจะเกิดขึ้นในวงจำกัด และการผันผวนของค่าเงินปอนด์ และค่าเงินยูโร โดยภาคธุรกิจที่น่าจะได้ผลกระทบได้แก่

kresearch1

ธุรกิจท่องเที่ยว – นักท่องเที่ยวจากอังกฤษสร้างรายได้เข้าประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 3 แม้กรณี Brexit จะไม่กระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมา เพราะคาดว่ามีการจองไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่จากแนวโน้มค่าเงินปอนด์และยูโรอ่อนค่า คาดว่านักท่องเที่ยวจะมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น แต่คาดว่ารายได้การท่องที่ยวจาก UK – EU จะยังเติบโตที่ 11.6-12.6%  ในทางตรงข้าม คนไทยอาจไปเที่ยว UK – EU มากขึ้น

kbank2

ธุรกิจส่งออกรถยนต์ – ตลาด UK-EU ไม่ใช่ตลาดส่งออกหลักของไทย แต่อำนาจซื้อที่ถดถอย น่าจะนำไปสู่มูลค่าการส่งออกรถยนต์ที่หดตัวอย่างต่อเนื่องไปถึงปีหน้า อย่างไรก็ตามเชื่อว่าตลอดทั้งปี ตลาดส่งออกรถยนต์น่าจะยังขยายตัวได้เล็กน้อย

kbank1

ธุรกิจสินค้าเกษตรส่งออก – ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีผลกดดันราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์ตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรหลักของไทย ไม่เติบโตขึ้นตามที่คาดไว้ โดย ข้าว, ยางพารา และมันสำปะหลัง ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อไป

ในภาพรวมศูนย์วิจัยกสิกร คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ประมาณ 3.0% และยังรอดูความชัดเจนของผลกระทบ Brexit และมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐ

from:https://brandinside.asia/kresearch-effect-brexit-thailand/