คลังเก็บป้ายกำกับ: ร้านอาหาร

รสชาติแห่งประชาธิปไตย! ร้านลาบกรุงและร้านเนื้อแท้ เสนอโปรฯ ต้อนรับผู้นำคนใหม่ ผู้นำแห่งความหวัง

รสชาติแห่งประชาธิปไตย! ร้านลาบกรุงและร้านเนื้อแท้ เสนอโปรโมชั่นต้อนรับผู้นำคนใหม่ ผู้นำแห่งความหวัง

เริ่มที่ร้านลาบกรุง ที่มีศิลปินเป็นเจ้าของร้านคือแอมมี่ The Bottom Blues เจ้าของเพลงฮิตแห่งยุคสมัย One, Two, Three, Four, Five…

ร้านลาบกรุงนำเสนอเมนู “สูตรจับขั้วรัฐบาล” ฉบับลาบกรุง วังหิน ประกอบด้วย เพี้ยไทย (หรือเสือคั่ว), ก้อยไกล (เมนูก้อย), ไทยแซ่บไทย (ต้มแซ่บเนื้อ หรือกระดูกอ่อนหมู) และเสรีตำไทย (เมนูตำไทย/ ปู/ ปูปลาร้า) ลดราคาเหลือ 310 บาท โปรโมชั่นนี้พร้อมเสิร์ฟแล้วตั้งแต่วันนี้ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ พร้อมจัดให้ทั้งที่ร้านลาบกรุงและร้านลาบกรุงสโมสร

Democracy Taste

อีกร้านคือ ร้านเนื้อแท้ ที่มีศิลปินเป็นเจ้าของร้านเช่นกัน นี่คือร้านของพี่โต ซิลลี่ฟูลส์ ก็จัดเมนูเด็ดมาร่วมประชันด้วย

โปรโมชั่นนี้เริ่มตั้งแต่ศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม ถึง 27 กรกฎาคม 2566 หรือจนกว่าจะมีประชุมรัฐสภานัดแรก แบ่งเป็น 2 เมนูด้วยกัน ดังนี้

ชุดแรก “ส.ว. 250” ส.ว. สั่งอย่างไวในราคา 250 บาท

เริ่มด้วยลูกชิ้นปิ้ง ตามด้วยความอร่อยแบบดั้งเดิม กะเพราเนื้อบด+ไข่ดาว พร้อมด้วยน้ำรีฟิลที่เติมได้ตลอด ตบท้ายด้วยขนมถ้วย

ชุดที่สอง “ส.ส. 310” ส.ส. เสิร์ฟเสือ ราคา 310 บาท

อร่อยแบบไทยๆ ด้วยเนื้อออสเตรเลียเสือร้องไห้ย่างแจ่ว ทานพร้อมข้าวเหนียวร้อนๆ พร้อมน้ำสมุนไพรที่เลือกได้เอง

ที่มา – ลาบกรุง, เนื้อแท้ 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post รสชาติแห่งประชาธิปไตย! ร้านลาบกรุงและร้านเนื้อแท้ เสนอโปรฯ ต้อนรับผู้นำคนใหม่ ผู้นำแห่งความหวัง first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/democracy-meals-promotion-at-lapkrung-and-nuatair-restaurant/

ฟู้ดแพชชั่นลุยตลาดปิ้งย่าง: พร้อมให้บริการ Red Sun เรดซัน ปิ้งย่าง 15 สาขาทั่วกรุงเทพและโคราช

ตลาดปิ้งย่างเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ ปีที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 9,000 ล้านบาท ฟู้ดแพชชั่น พร้อมเดินหน้าให้บริการ “เรดซัน ปิ้งย่าง” 15 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และนครราชสีมา

Red Sun

บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด พร้อมเจาะกลุ่มลูกค้าปิ้งย่างหัวใจเกาหลี ตั้งเป้าเรดซันจะเป็นแบรนด์ร้านอาหารเกาหลียืนหนึ่งในใจ ให้บริการพร้อมกัน 15 สาขา ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เรดซัน ปิ้งย่างครั้งแรก พร้อมย่าง ทุกย่าน” จัดเต็มสายเกา มีให้เลือกกว่า 25 รายการตั้งแต่วันนี้-9 ตุลาคม 2565 ที่ร้านเรดซันทุกสาขา

รัฐ ตระกูลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด (CMO) ฟู้ดแพชชั่น ระบุว่า ปีที่ผ่านมา มีการสำรวจข้อมูลธุรกิจร้านอาหารทั้งจากกระทรวงพาณิชย์และโพลต่างๆ พบว่าตลาดปิ้งย่างมีมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท เรดซันมองเห็นโอกาสทางตลาด จึงขยายการบริการรูปแบบใหม่ “เรดซัน ปิ้งย่าง” โดยจัดมาให้เลือก 3 เซ็ต 3 สไตล์ ดังนี้ (สามารถทานได้ 2-3 คน)

Red Sun

เซตเรดซันปิ้งย่าง 699 บาท

เซตหมูสามชั้นหมักซอส หมูสันคอหมักซอส หมูนุ่มหมักซอส เสริฟพร้อมข้าวผัดเรดซัน 3 หน้า ซุปกิมจิหมูสามชั้น และเครื่องเคียงเกาหลีเติมไม่อั้น (สามารถเลือกซอสเรดซันโคชูจังหรือมิโซะเกาหลี)

Red Sun

เซตเรดซันปิ้งดอง 799 บาท
เซตหมูสามชั้นหมักซอส หมูสันคอหมักซอส หมูนุ่มหมักซอส เสริฟพร้อมแซลมอนและกุ้งดองเกาหลี สาหร่าย ข้าวญี่ปุ่น ซุปกิมจิหมูสามชั้นและเครื่องเคียงเกาหลีเติมไม่อั้น (สามารถเลือกซอสเรดซันโคชูจังหรือมิโซะเกาหลี)

Red Sun

เซตเรดซันปิ้งดองพรีเมี่ยม 999 บาท

เซตหมูสามชั้นหมักซอส หมูสันคอหมักซอส หมูนุ่มหมักวอสและเนื้อบริสเก็ตซอสปิ้งย่าง เสริฟพร้อมแซลมอนและกุ้งดองเกาหลี สาหร่าย ข้าวญี่ปุ่น ข้าวผัดเรดซัน 3 หน้าและเครื่องเคียงเกาหลีเติมไม่อั้น (สามารถเลือกซอสเรดซันโคชูจังหรือมิโซะเกาหลี)

ที่มา – RedSun Thailand Tokpokki

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ฟู้ดแพชชั่นลุยตลาดปิ้งย่าง: พร้อมให้บริการ Red Sun เรดซัน ปิ้งย่าง 15 สาขาทั่วกรุงเทพและโคราช first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/red-sun-grilled-food-ready-to-serve-in-bangkok-and-nakhon-ratchasima/

อีกมุมที่คนไม่รู้ ของกุ๊กขี้เมา: เปิดตัวตนด้านธุรกิจ นักบริหารหนุ่มสายอาหาร และยูทูปเบอร์สายฮา

รู้จัก “กุ๊กขี้เมา” ในอีกมุมหนึ่งที่หลายคนยังไม่รู้จัก กับผู้บริหารหนุ่มไฟแรง ผู้ผ่านมาแล้วกับธุรกิจอาหารหลากหลายรูปแบบ ที่พ่วงมาด้วยหมวกยูทูปเบอร์สายฮา

นาทีนี้ถ้าเป็นสายอาหาร (และน้ำเก๊กฮวย) คงไม่มีใครไม่รู้จัก คุณเป้ ธีรนัย จินดานุภาจิตต์ หรือ “กุ๊กขี้เมา” ยูทูปเบอร์สายอาหารอารมณ์ดี ผู้มี subscriber กว่า 270,000 คน กับสไตล์การทำคอนเทนต์สุดฮา พกพาความตลกมากระบุง พร้อมตบมุกที่ตากล้องส่งให้ทุกเมื่อ 

แต่วันนี้ Brand Inside จะพาไปรู้จักอีกมุมของคุณเป้ที่หลายคนยังไม่รู้จัก นั่นคือบทบาทผู้บริหารหนุ่มไฟแรง ผู้ผ่านมาแล้วทั้งธุรกิจร้านข้าวต้ม ร้านบุฟเฟต์ ร้านกึ่ง Cloud-Kitchen (เน้นเดลิเวอรี) ร้านอาหารครอบครัว และกำลังจะแตกไลน์ธุรกิจไปขายผลิตภัณฑ์สำเร็จอีกด้วย 

ลองมาดูกันคุณเป้ในหมวกนักธุรกิจเคยผ่านอะไรมาบ้างก่อนจะมาถึงวันนี้ พร้อมเรียนรู้ข้อคิดสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเข้าสู่ธุรกิจอาหารหรือวงการยูทูปครีเอเตอร์ในปี 2565

กว่าจะมาเป็นกุ๊กขี้เมา

จริงๆ แล้วผมทำร้านอาหารมาตลอด แล้วก็ทำมาหลายร้านเหมือนกัน เริ่มต้นเลยผมเรียนด้านการจัดการครัวมาจากดุสิตธานีและได้ฝึกงานในครัวโรงแรมมาก่อน 2 ที่ ก่อนที่จะเริ่มธุรกิจของตัวเอง คุณเป้เริ่มต้นบทสนทนาเกี่ยวกับจุดตั้งต้นในเส้นทางธุรกิจอาหาร

คุณเป้ ธีรนัย จินดานุภาจิตต์ เจ้าของร้านอาหารและแชแนล Youtube กุ๊กขี้เมา

ต่อมา เมื่อประมาณเมื่อ 7 ปีที่แล้ว คุณพ่ออยากได้ร้านข้าวต้ม ก็เลยมาเปิดร้านข้าวต้มเป็นร้านแรก ชื่อร้านข้าวต้มติดลม อยู่ที่พระราม 9 ซอย 6 เปิดมาได้สักครึ่งปีลูกค้าก็เต็มร้านเพราะได้ลูกค้า 2 ทางคือจากออฟฟิศและลูกค้ากลางคืน เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จพอสมควร 

เราก็ทำมาสัก 4 ปี โดยที่แตกไปทำธุรกิจอื่นด้วย ก็จะมี ติดลมหมูทอดปลาร้า ที่เน้นเดลิเวอรี่เป็นหลัก แล้วก็ร้านบุฟเฟต์ ติดลมโคขุน ที่เซ้งไปแล้วในปัจจุบัน โดยรวมแล้วช่วงแรกๆ ผมก็จะมีธุรกิจอยู่ 3 อย่าง คุณเป้สรุปภาพธุรกิจที่เคยทำมาให้ฟัง

บทเรียนธุรกิจ

คุณเป้แชร์เรื่องที่แย่ที่สุดของการทำธุรกิจให้ฟังว่า ช่วง 2 ปีแรกที่ทำร้านข้าวต้ม “ตอนนั้นผมอายุเพิ่งจะ 23 ปี ธุรกิจมันไปได้ดีจนรู้สึกว่าเงินมันได้มาง่าย กำไรในทางบัญชีมีเดือนละแสน แต่เอาจริงๆ มันหายหมดเพราะเที่ยวหนัก เงินมีเท่าไหร่ก็ใช้หมด”

สุดท้ายพ่อมาถามผมว่า ทำมา 2 ปี เห็นขายดีตอนนี้ได้เงินเท่าไหร่ กลายเป็นว่าจริงๆ มันไม่เหลือเลย พ่อก็เตือนว่าถ้าทำแล้วเป็นแบบนี้ไม่ต้องทำดีกว่าไหม หรือจะกลับไปทำในโรงแรมเหมือนเดิม สุดท้ายมันดึงสติเรา เลยหยุดเที่ยว หยุดเล่น ปรากฏว่าพอหยุดก็แตกไลน์ธุรกิจออกมาได้เลย เพราะแต่เดิมกำไรจากธุรกิจเราก็มีอยู่แล้ว

ธุรกิจอาหาร ในโลกเดลิเวอรีครองเมือง

ภาพจาก Facebook: ติดลม หมูทอดปลาร้า Delivery

คุณเป้เล่าถึงธุรกิจหมูทอดติดลมว่า “การมาทำร้านที่เน้นเดลิเวอรีเป็นหลักคือเราจับถูกทาง เราโชคดีมีเพื่อนดี มีเพื่อนทำงานด้านดาต้าอยู่ในเดลิเวอรีแพลตฟอร์มเจ้าต่างๆ พอเขาก็เห็นตัวเลขว่ามันเป็นไปได้ เราก็เลยลองทำสายนี้ดูด้วยโมเดลร้านที่มีที่นั่งแค่ 2-3 โต๊ะ แล้วเอางบไปอัดไปทางด้านราคาและแพคเกจจิ้ง”

ผลคือธุรกิจเติบโตอย่างง่ายดาย ถ้าถามว่าโตแค่ไหนก็คือเราไม่เคยทำธุรกิจไหนที่ว่าเปิดเดือนนึงแล้วมียอดขายต่อวัน 3 หมื่นบาทโดยไม่ต้องมีลูกค้าหน้าร้าน เราก็เลยประคับประคองธุรกิจนี้ต่อมาเรื่อยๆ จนเป็นหลายได้หลัก และตอนนี้ ด้วยเวลาของมันด้วย เราทำธุรกิจนี้มา 5 ปี ใช้เวลาเก็บเกี่ยวลูกค้ามานาน ลูกค้าก็เห็นเราจนติดตาเราก็อยู่ได้ในธุรกิจนี้

คุณเป้บอกว่า จริงๆ เรื่องผิดพลาดก็มี ก่อนหน้านี้เคยมีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์ เขาก็ตื๊อจนเราขาย แล้วตอนนั้นเราเด็กมากเราแค่รู้สึกว่าอยู่ๆ ก็มีคนเอาเงินมาให้ก็เลยขายไป ประเด็นคือเรื่องระบบเราไม่ได้ศึกษาให้ดี เพราะงั้นเรื่อง quality ก็เลยล่มสลาย สาขาที่เราปล่อยไปมีปัญหาเรื่องคุณภาพ มีคนคอมเพลนเข้ามามหาศาล

เราก็เลยตัดสินใจว่า โอเคงั้นหยุดขาย แล้วเราก็ไปจัดการสั่งปิดสาขาที่คุณภาพไปหลายสาขา ส่วนร้านที่อยู่ได้ก็ให้อยู่ได้ไปเราก็ส่งวัตถุดิบให้เขาอยู่ ตอนนี้ก็เลยเหลืออยู่ 5 สาขา และไม่เสี่ยงขายเพิ่มอีกเลย 

จากกุ๊กไฟแรง สู่นักบริหารมืออาชีพ

ถ้าพูดถึงวิธีการทำงานของผมก็ต้องเล่าย้อนไปว่า ก่อนหน้านี้ช่วงจบใหม่ๆ ไฟแรงๆ ผมคลุกอยู่ในครัวทั้งวันไม่ออกมาข้างนอกเลย เพราะตอนนั้นเรารู้สึกว่าคุณภาพอาหารสำคัญที่สุดในการทำร้านอาหาร เราก็อยู่แต่ในครัวไม่เห็นฟ้าเห็นดินเกือบปี 

สุดท้ายก็มาคิดว่าเราขาดส่วนที่เป็นเซอร์วิสไปรึเปล่า เราไม่รู้จักลูกค้าเลย ขายดีไม่ดีก็ไม่รู้ ลูกค้าคอมเพลนอะไรก็ไม่รู้ กินหมดไม่หมดก็ไม่รู้ ผมก็เลยต้องออกมาจากครัวมาทำงานบริการบ้าง แต่ปัญหาก็มีอีก เพราะจากที่ไม่สนบริการตอนหลังเรากลับมาเซอร์วิสลูกค้าหนัก นั่งดื่มกับลูกค้าจนลูกค้าติดเรา กลายเป็นว่าร้านเราเนี่ยลูกค้า เพื่อน อะไรก็ตาม จะเข้ามาก็โทรหาเราก่อนเลย ขอให้มีเป้นั่งด้วย 

เราก็เลยคิดว่า เห้ยแบบนี่ไม่ใช่ร้านอาหาร มันไม่ใช่ธุรกิจแล้ว ถ้าเราตายไปคนนึงธุรกิจคงเจ๋งไปเลยมั้งเนี่ย หลังๆ ผมเลยเฟดตัวเองขึ้นไปดู overview คือเราก็จะส่องๆ แต่จะไม่ไปลงลึกอีกแล้ว 

หน้าที่ของผมก็คือไปดูเรื่องของการตลาด ดูบัญชี เทรนพนักงานให้สามารถมอบประสบการณ์ให้ลูกค้าได้แบบเดียวกันไม่ว่าเราจะมาหรือไม่มา แล้วเราก็ดูว่าร้านเราอยู่ได้ไหม สรุปก็คือมันอยู่ได้ อาหารเราคุณภาพมันได้ มาตรฐานต่างๆ มันก็อยู่ตัว เรื่องของบริการที่ไม่มีเราอยู่ก็อยู่ตัว ลูกค้าประจำก็ยังคงกลับมา ถ้าเป็นอย่างนี้นี่คือธุรกิจอยู่ได้ มันไม่ได้อยู่ได้เพราะเรา มันอยู่ได้ด้วยระบบของมันเอง

ตอนนี้มันทำให้เราได้เข้าใจว่าเราไม่ควรเอาตัวไปเป็นฟันเฟืองของธุรกิจ แต่ควรเป็นภาพรวม ต้องทำให้แน่ใจว่าธุรกิจต้องไม่ขึ้นกับเราหรือต่อให้ฟันเฟืองตัวไหนหายไปก็ต้องไม่ล้ม ความเข้าใจตรงนี้มันทำให้ต่อมาเราเริ่มขยายธุรกิจได้ ซึ่งทักษะนี้มันก็มาจากการที่เราได้ลงไปคลุกในทุกฟันเฟือง

เคล็ดลับขายดี ของร้านอาหาร

คุณเป้อธิบายการทำร้านอาหารว่า รสชาติไม่ใช่ทุกอย่างของร้านอาหารแต่เป็นแค่หนึ่งในเรื่องพื้นฐานที่ต้องมีเท่านั้น เอาเข้าจริงเลยสูตรอาหารมันก็แค่สูตร ต่อให้ได้สูตรไปทั้งหมดก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำร้านอาหารได้ อย่างผมเองก็ทำ Youtube แจกสูตรอาหารแบบไม่หวงสูตรเลย เพราะองค์ประกอบที่ทำให้ร้านขายดีไม่ใช่สูตรอย่างเดียว ต่อให้ได้สูตรเชฟเอียนเลยก็ใช่ว่าจะขายดี (หัวเราะ) 

คือผมชอบถามตัวเองว่าทำไมเราถึงกลับไปกินร้านนี้บ่อย บางร้านเนี่ยอาหารอร่อยมากเลยแต่นานๆ ทีเราจะกลับไป ไม่มีที่จอดบ้าง บริการห่วยบ้าง หน้าตาอาหารไม่ดีบ้าง ส่วนร้านที่กลับไปบ่อยอาจจะไม่ได้อร่อยขนาดนั้น แต่ขับไปแล้วมีที่จอด บริการดี อาหารเร็ว ติดแอร์สบาย

ดังนั้นแล้ว ร้านจะขายดีมันมีองค์ประกอบหลายอย่าง อาหารอร่อยอาจจะเป็นพื้นฐานแรก แต่อย่างอื่นเนี่ยเอาง่ายๆ คือเราแค่คิดว่าเราเป็นลูกค้าแล้วเรามาถึงเราต้องการอะไรบ้าง

กุ๊ก นักธุรกิจ และ Youtuber

คุณเป้เล่าให้ฟังว่า จริงๆ Youtube คือสิ่งที่อยากทำมานานแล้ว ด้วยความที่เราก็เด็กรุ่นใหม่ และส่วนตัวผมจ่ายเงินเยอะมากเรื่องการตลาด เพราะเรารู้ว่าการตลาดมันช่วยเราเยอะมากให้เราได้ชื่อเสียงได้ awareness แล้วก็เงินที่กลับเข้ามา 

เอาง่ายๆ คือผมรู้จักทุกเพจอะ เพจดังเราจ่ายหมดอะ แล้วพอกลับมาดูบัญชีก็จ่ายเยอะเหมือนกันนะ คือมันก็เหลือแหละแต่งั้นก็เอามาเปย์ตัวเองดีกว่ามั้ง (หัวเราะ) แล้วถ้าเราทำได้เงินตรงนั้นมันก็เป็นของเราเลยนะ คือผมคิดง่ายๆ แค่นี้เลย

ตอนนั้นผมก็เลยหยิบกล้องตัวนึงมาทำ ช่วงครึ่งปีแรกก็ยังไม่ดี เราเห็นกล้องเราก็ยังเขินอยู่ เราพูดครับ ครับ ครับ ทั้งคลิปเลย แต่จุดเปลี่ยนคือมีช่วงนึงขายไม่ค่อยดี ลงทุนตอนโควิดที่นึงไปเป็นล้านแล้วก็เจ๊ง เราเครียดๆ ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ก็เลยปล่อยเซอร์ คือทำแบบเรียลๆ เมาจริง ลงไป 3 คลิปมั้ง ผลคือดีเลย (ฮา) แล้วก็ไม่มีคำว่าครับผมอีกต่อไปแล้ว 

เราก็เลยเข้าใจว่าคนชอบความเรียลมากกว่า คือไม่ได้ชอบความประดิษฐ์หรือรายการแพทเทิร์น เราก็เลยทำเหมือนไลฟ์เลย คนชอบ เราก็เลยได้ตรงนั้นมา

ความบันเทิง ที่สร้างงานสร้างอาชีพให้คนได้

ส่วนตัวผมบอกตรงๆ เลยว่าตอนเราคิดจะทำช่องคือเราทำเพื่อเรา เราทำเพื่อธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ล้วนๆ เราไม่เคยคิดว่าเราจะทำความดีอะไรขนาดนี้หรอก 

แต่สุดท้ายมันกลับกลายเป็นว่ามันมีคนเอาสูตรไปเปิดร้าน เติมเมนูในร้าน หรือทำซอสผมไปขายเลย คือโทรมาเลยบอกว่าผมขอเอาซอสไปขายได้ไหม ผมก็บอกว่าได้ แค่ห้ามใช้ชื่อผมก็พอ แล้วมันก็มีคนโทรมาขอบคุณเยอะมาก หรืออย่างน้อยที่สุดคือเขาใช้สูตรผมไปทำอาหารวงเหล้าได้อร่อยแล้ว 

คืออยู่ๆ ผมก็เป็นคนดีขึ้นมาเฉยทั้งๆ ที่ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดว่าจะสร้างอาชีพให้คนได้ขนาดนั้น  คลิปที่ภูมิใจมากๆ เลยก็คือสูตร ซอสผัด เพราะเป็นรากฐานของอาหารเลยเอาไปต่อยอดได้เยอะ สร้างอาชีพได้เยอะมาก ส่วนสูตรน้ำยำก็เข้าข่ายเดียวกัน

จากที่เมื่อก่อนตอนทำคลิปสอนก็ไม่ได้ชั่งตวงอะไร เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าพอคนดูเพื่อเอาไปต่อยอด เราก็รู้สึกว่าจะทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ก่อนที่จะถ่ายก็ต้องนั่ง R&D กับลูกน้องเลยว่าสูตรโอเคไหม ทำกัน 2 รอบก่อนแล้วค่อยถ่ายจริง ทุกสูตรที่แจกหลังจากนี้ก็คืออร่อยแน่ๆ (ในแบบที่ผมชอบ) อย่างน้อยที่สุดก็คือทำขายในร้านผมได้

คำแนะนำสำหรับคนอยากเปิดร้าน

คุณเป้ยอมรับว่า อยากให้คนที่จะเข้ามาใหม่ลืมภาพสวยๆ เช่นทำอาหารสนุกๆ ทำตามพาสชั่นไปก่อน แล้วให้เอาสายป่านเข้ามายาวๆ 6 เดือนคุณต้องกันเงินไว้ แล้วค่อยๆ ปรับค่อยๆ ดูกันไป

เอาจริงๆ เวลาเราเห็นร้านอาหารขายดีๆ ยอดขายเยอะ แต่เรื่อง net profit นี่ไม่ต้องมาคุยกัน คุณทำ net profit ได้เกิน 20% คือคุณเก่งแล้วนะ แต่ถ้ามันติดก็คือติดยาวอย่างกรณีสุดโต่งๆ ก็คือบางคนเปิดได้เป็น 70-80 ปีนะ

เท่าที่สังเกตเท่าที่สังเกตคือคนที่เข้ามาใหม่จะคิดว่า “ขายดี = ได้เงินเยอะ” เลยลงทุนตู้มเดียวจนไม่เหลือเงินสายป่านไว้ใช้ ก็เลยอยากฝากไว้ว่า ร้านอาหารเนี่ยก็เหมือนธุรกิจอื่นแหละ ต้องมีเรื่องเงินทุนสำรองใช้ในช่วงเวลาที่กว่ามันจะเติบโต เพราะส่วนใหญ่มักจะคิดว่าขายได้ก็รวยแล้ว บางคนขายดีแล้วเจ๊งเลยก็มี 

ภาพจาก Facebook: ติดลม หมูทอดปลาร้า Delivery

นอกจากนี้ คุณเป้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับธุรกิจอาหารที่เน้นเดลิเวอรีว่า จุดต่างระหว่างการทานร้านและเดลิเวอรีคือลูกค้าที่ร้านต้องการครบเลยเซอร์วิส รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพลง การบริการ ที่จอดรถ แต่เวลากทำเดลิเวอรีลูกค้าต้องการอย่างเดียวคืออาหารที่อยู่ตรงข้างหน้า แพคเกจจิ้ง คุณภาพ QC เขาสนใจว่าอาหารถึงเขาแล้วเป็นยังไง

พูดง่ายๆ คือเดลิเวอรีบริหารง่ายกว่า แต่ต้องใส่ใจเยอะกว่า คือจริงๆ สำหรับธุรกิจนี้เราทำ R&D ไม่นานก็จบแล้ว ง่ายๆ เลย ให้เพื่อนที่อยู่ห่าง 30 นาที หรือ 45 นาที สั่งอาหารเราดู แล้ว feedback กลับมา เราทำแค่นี้เราก็พอรู้แล้วว่าถึงมือลูกค้าแล้วอาหารเป็นยังไง แพคเกจจิ้งแตกไหม เรา R&&D ปีเดียวจบเลย แต่ถ้าทำหน้าร้านมันไม่มีวันจบเพราะมันเป็น full-service 

ส่วนการทำ Youtube ผมโชคดีมีเพื่อนทำด้าน Data Analysis เลย พอดีผมทำอยู่ครึ่งปีไม่ดังสักที ผมก็เลยขอคำปรึกษา เพื่อนผมบอกว่ามีข้อเดียวเลยสำหรับคนทำ Youtube คือต้องทำอย่างสม่ำเสมอเดี๋ยวดังแน่นอน เช่น ถ้าคุณลงคลิป 2 ตัวต่อสัปดาห์วัน คุณก็ต้องทำแบบนั้นไปตลอด นี่คือเทคนิคเดียวเลย

ปัจจุบัน และ อนาคต

คุณเป้บอกว่าล่าสุดเปิดร้าน “กุ๊กขี้เมา” อยู่ที่ซอยนวลจันทร์ 34 เป็นร้านอาหารแนวครอบครัว ราคาต่อหัวอยู่ที่ 300-400 บาท ซึ่งจริงๆ แอบบอกว่าทำเพื่อสนองนีดแฟนคลับเหมือนกัน ตอนนี้ก็ขยายร้านใหญ่ขึ้นเป็น 17 โต๊ะ ที่ทำใหญ่เพราะส่วนหนึ่งก็เพื่อรองรับลูกเพจด้วย

นอกจากนี้ ในอนาคตก็กำลังจะมีธุรกิจ product จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็ทำอยู่แบบโฮมเมด เช่น เนื้อแดดเดียว เนื้อเค็ม แจ่วปลาร้า หรือซอสต่างๆ ผมทำเรื่องนี้มาตลอดเพราะส่วนหนึ่งคือมีประสบการณ์จากการทำส่งให้แฟรนไชส์ 

แต่ว่าสุดท้ายเราเข้าใจแล้วว่า ทำโฮมเมดมันจะโตได้ถึงจุดหนึ่ง เพราะมันไม่มีเรื่อง standard ผมก็เลยจะเพิ่มเรื่องของการทำ OEM ตอนนี้ก็กำลังพัฒนา product อยู่ ก็อยู่ในช่วง R&D มาครึ่งปี มีแบ่งเป็น 2 ส่วนคือซอสที่เอาไปประกอบอาหารและน้ำจิ้ม 

ส่วนอาหารเช่นเนื้อต่างๆ ก็ยังทำขายแบบโฮมเมด ไม่ได้จริงจังขนาดนั้น แต่ก็ยังสั่งได้นะครับ คุณเป้ทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post อีกมุมที่คนไม่รู้ ของกุ๊กขี้เมา: เปิดตัวตนด้านธุรกิจ นักบริหารหนุ่มสายอาหาร และยูทูปเบอร์สายฮา first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/cookkimao-interview/

ไมเนอร์ เตรียมขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิ อัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรก 6.10% ต่อปี

ไมเนอร์ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ให้ประชาชนทั่วไปวันที่ 1-2 และ 5-6 กันยายนนี้ เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะไถ่ถอนก่อนกำหนด อัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรก 6.10% ต่อปี จองซื้อผ่าน 10 สถาบันการเงิน

Minor

อันดับความน่าเชื่อถือบริษัทอยู่ที่ระดับ A ปรับอันดับเครดิตเป็นแนวโน้ม Stable อันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ที่ระดับ BBB+ แนวโน้ม Stable จากทริสเรทติ้ง วางเป้าบริษัททำกำไรปีนี้ รับธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและไลฟ์สไตล์ฟื้นตัว

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ระบุ บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ครั้งที่ 1/2565 เพื่อทดแทนหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดเดิม (MINT18PA) มูลค่ารวม 1.5 หมื่นล้านบาทที่จะไถ่ถอนก่อนกำหนดวันที่ 31 สิงหาคมนี้ โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ กำหนดอัตราดอกเบี้ยช่วง 5 ปีแรกที่ 6.10% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือนและจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุก 5 ปี อ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี

คาดว่าจะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ แก่ผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบันนวันที่ 1-2 และ 5-6 กันยายนนี้ จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท ผ่านสถาบันการเงิน 10 แห่ง ดังนี้

  • ธนาคารกรุงเทพ
  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารกสิกรไทย
  • ธนาคารไทยพาณิชย์
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  • ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
  • บริษัหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร
  • บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์
  • บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส
  • บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต

นอกจากนี้จะมีการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ผ่านแอปพลิเคชั่น Bualuang mBanking ของธนาคารกรุงเทพด้วย ด้านประธานเจ้าหน้าาที่ฝ่ายการเงิน ไมเนอร์ กล่าว ภาพรวมการท่องเที่ยวทั่วโลกฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังทยอยเปิดประเทศและผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทาง ทำให้มีการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนมากขึ้น ส่งผลดีต่อบริษัททั้ง 3 ธุรกิจหลัก คือ โรงแรม ร้านอาหารและไลฟ์สไตล์

ปีนี้ ไมเนอร์ตั้งเป้าจะขยายการลงทุนเพิ่ม โดยปี 2565-2567 จะเปิดโรงแรมใหม่อีก 60 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นการรับจ้างบริหาร 49 แห่งและลงทุนเองและเช่าบริหารอีก 11 แห่ง

ที่มา – Minor

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ไมเนอร์ เตรียมขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิ อัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรก 6.10% ต่อปี first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/minor-debentures-2022/

ถอดความสำเร็จ เพจ “ป้าป้าจองโต๊ะ”: เมื่อความต้องการลงตัว การรอคอยก็ไม่ใช่ปัญหา

ธุรกิจรับจองโต๊ะที่เคยเป็นไวรัลมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนรับลูกค้าไม่หวาดไม่ไหว วันนี้เรามาถอดบทเรียนกัน ทำไมเพจป้าป้าฯ จึงถือกำเนิดขึ้น

ป้าป้าจองโต๊ะ Reseve-a-table

เฟรนด์ เจ้าของและแอดมินเพจ facebook ป้าป้าจองโต๊ะ Reserve a table 68 เล่าให้เราฟังว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วเคยมีกระแสไวรัลมาครั้งหนึ่งแล้ว ตอนนั้นถือว่าตั้งรับไม่ทันเลย ลูกค้าถาโถม คนอยากใช้บริการเรา เรามีลูกค้าเยอะอยู่ก่อนหน้าแล้ว พอเป็นไวรัลก็เพิ่มจำนวนแขกขึ้นไปอีก

สำหรับช่วงศุกร์-เสาร์ เรารับลูกค้าได้ 20 คน ทีมเราไม่ได้มีเยอะเหมือนแต่ก่อน ตอนนี้เหลือเหลือประมาณ 13 คนช่วยๆ กัน สลับกันทำงานอยู่ ถือว่ารับมือได้ระดับหนึ่ง แต่พอความต้องการเพิ่มขึ้น เราก็หาทีมเพิ่มขึ้นได้

จุดเริ่มต้นของ “ป้าป้าจองโต๊ะ”

เฟรนด์เล่าว่าเธอทำอาชีพค้าขายมาก่อน ขายอาหารแช่แข็ง ด้วยความที่เธอเคยไปเที่ยวเชียงใหม่มาก่อนกับเพื่อนในช่วงก่อนที่จะมีโควิดระบาดรอบแรก ก็พบว่าที่เชียงใหม่มีบริการแบบนี้ แต่จำกัดในวงแคบ รู้กันเฉพาะนักเที่ยวราตรี รู้เฉพาะกลุ่ม เราก็งงว่ามีแบบนี้ด้วย ใช้เงินแก้ปัญหาไม่ต้องรีบไปเพราะว่าร้านมันจองยาก ต่อมา ปรากฎว่าร้านที่เชียงใหม่มาเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ จึงเห็นโอกาสและนึกถึงช่วงที่เราเคยไปเที่ยวเมื่อ 4-5 เดือนก่อนหน้า

เฟรนด์ตัดสินใจทำเหมือนต้นแบบที่เชียงใหม่ เธอเล่าว่าบ้านเธออยู่แถวบางลำพู มีร้านผับ-บาร์อยู่แถวตรอกข้าวสาร เดินไปใกล้ๆ ก็ถึงแล้ว เธอจึงลองโพสต์เล่นๆ ก่อนในช่วงแรก ผลตอบรับก็คือมีแต่เพื่อนมาใช้บริการก่อน จากนั้นเพื่อนก็บอกต่อๆ กัน

ร้านที่เชียงใหม่มีคาแรคเตอร์แบบนี้อยู่แล้วคือจองยากและคนกรุงเทพฯ ไม่มีเวลาว่างมาก เพราะปัญหารถติด ธุรกิจนี้จึงช่วยตอบโจทย์เรื่องการเดินทาง เราจึงได้โอกาสจากตรงนี้ ก็เริ่มลองทำดู จากนั้นคนก็เริ่มใช้บริการเยอะขึ้น เพจป้าป้าจองโต๊ะถือเป็นเพจแรกๆ ที่เริ่มมาทำธุรกิจนี้ จากนั้นเราก็ตั้งใจสร้างทีม เริ่มจากให้เพื่อน ให้รุ่นน้องที่เรียนมหาวิทยาลัยและอยากหารายได้เสริมมาช่วยเสริม แต่นานวันเข้าทีมก็เริ่มไม่ว่างกัน ก็เลยหาทางแก้ปัญหาใหม่

ป้าป้าจองโต๊ะ Reseve a table 68

ใช้โอกาสจากช่องว่างที่มีอยู่แล้ว

หลังจากเพื่อนๆ และทีมเริ่มหาย เฟรนด์จึงกลับมาคิดว่าจริงๆ แล้วในชุมชนบ้านเกิดเรา เธอก็เห็นคุณป้าแถวบ้านมักจะรับจ้างไปต่อแถวแลกเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึก ต้องไปนอนต่อคิวเพื่อรับจองเหรียญที่ระลึกนี้อยู่ แต่จุดเปลี่ยนคือสิ่งที่เธอให้จองไม่ใช่เหรียญกษาปณ์อย่างที่เคย แต่เป็นผับ บาร์ที่ป้าๆ ไม่เคยคุ้นชินมาก่อน

ช่วงแรกพวกเขาก็กลัวรู้สึกกังวลกัน เนื่องจากสไตล์ของผับค่อนข้างแตกต่างกับคนสูงวัยอยู่แล้ว แต่เพราะป้าๆ ไม่มีทางเลือก จากที่เคยกลัวจึงตัดสินใจร่วมงาน หลังจากได้สัมผัสเนื้องานก็พบว่า เป็นงานที่ง่าย พวกเขาติดใจและอยู่ทำงานจองโต๊ะมาถึงทุกวันนี้ เป็นงานที่เริ่มทำปลายปี 2019 แต่ก็ได้รับผลกระทบจากโควิดจึงหยุดไปบ้างและเริ่มกลับมาทำงานใหม่นับตั้งแต่เปิดประเทศในช่วงเมษายนปีนี้

เราแค่มีแพลตฟอร์ม ใช้ facebook ในการสื่อสารและ Line หาลูกค้าโปรโมต ยอดลูกค้าก็มีขึ้นๆ ลงๆ บ้างเพราะสองปีที่ผ่านมา ผับบาร์โดนปิดเพราะโควิดระบาด เพิ่งจะเริ่มกลับดีขึ้นช่วงเดือนเมษายนนี้เอง

คนในทีมมีประมาณ 13 คน เฉลี่ยอายุ 60 กว่า เป็นคนสูงวัย เป้าหมายที่รับคนสูงวัยมาทำงานนั้น เพราะเราให้รับเป็นชิ้นงาน การรับคนคือผู้สูงอายุที่ว่างงานอยู่หรือคนที่ตกงานอยู่ รวมทั้งคนที่หารายได้เป็นอาชีพที่สองด้วย

ป้าป้าจองโต๊ะ Reseve a table 68

จากจองผับ จองบาร์ เริ่มขยายมาจองโต๊ะร้านอาหารแล้ว

ก่อนหน้านี้เราก็รับจองโต๊ะในผับ ในบาร์ ต่อมาก็ขยายเป็นร้านอาหารชื่อดัง ร้านมิชลิน เริ่มรับหิ้วของที่ใช้ walk in เท่านั้น รับงานจองยากๆ เช่น จองบัตรคอนเสิร์ตจัสตินก็ร่วมกดให้ลูกค้าด้วย ลูกค้าจ้างให้ต่อคิวให้ แต่เขาจะมากดบัตรเองก็มี ต้องนอนรอข้ามคืนบ้าง หรือแม้แต่งานที่ Swatch จับมือกับ Omega ก็มีการจองแบบนอนข้ามคืนเช่นกัน

สำหรับเรตราคาในการนอนจองข้ามคืน เราคิดราคาต่อชั่วโมง ชั่วโมงแรกเริ่มต้นที่ 250-300 บาท ชั่วโมงต่อไปคิดที่ 100 บาท บางคนจ้างชั่วโมงเดียวก็ไม่คุ้มค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ไป-กลับจึงต้องมีเรตเริ่มต้น สำหรับเรตการจองผับบาร์ ราคา walk in ก็คิดชั่วโมงแรกประมาณ 250-300 บาทเช่นกัน

ร้านยอดนิยม 3 อันดับที่ได้รับการจองมากที่สุด

หนึ่ง ร้านท่าช้างบางกอก ร้านยอดนิยมของนักเที่ยวราตรี ทั้งจอง และ walk in

สอง ร้านเจ๊ไฝ ต้องรอ 5-6 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

สาม ไห่ตี้เหลา ค่อนข้างจองยาก เพราะลูกค้ามักติดต่อระหว่างช่วงเย็นที่คนมาทานตอนเลิกงาน โดยเฉพาะศุกร์ เสาร์ นอกนั้นรองลงมาก็คือร้านเจ๊โอ

ป้าป้าจองโต๊ะ Reseve a table 68

ความท้าทายของธุรกิจ ป้าป้าจองโต๊ะ

ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ควบคุมยาก คือลูกค้าจะรู้อยู่แล้วว่าสามร้านนี้จองยาก ก็จะคาดหวังสูง เช่นต้องได้โต๊ะดีๆ แต่จริงๆ แล้ว เราก็ไปแข่งกับผู้อื่นเหมือนกัน เขาอาจจะเห็นโมเดลของเรา ก็ถือว่ามีคู่แข่งเยอะขึ้น งานบริการนี้ตอบแทนด้วยค่าแรงที่เราทำ เราใช้แรงในการให้บริการ ลูกค้าใช้เงินในการซื้อความสบาย มีคอมเพลนบ้างตามธรรมชาติของงานบริการ เช่น อยากได้ที่นั่งที่ดีที่สุดซึ่งก็ต้องแลกกับการแข่งกับเจ้าอื่นเช่นกัน

มีบ้างที่จองไม่ได้ แต่ก็คุย สื่อสารกับลูกค้าก่อนอยู่แล้ว เช่นลูกค้าจะทานตอนบ่ายโมง อาจมีปิดร้าน ต่อแถวไม่ทัน โดนปิดคิวไปก่อน แต่ลูกค้าส่วนมากก็เข้าใจว่าร้านที่ให้จองนั้นยากมาก แต่ป้าป้าก็ยังได้ค่าตอบแทนอยู่ ลูกค้าก็จะโอนเงินให้ก่อน ตามกติกาของแต่ละร้านไป

ผลตอบรับจากเหล่าป้าป้าที่มาให้บริการ

ฟีดแบคคนทำงาน เฟรนด์เล่าว่าป้าป้าฟีดแบคดีมาก ถามตลอดว่ามีงานไหม กลายเป็นว่าแอดมินต้องหางานให้ได้เยอะที่สุดเพื่อป้อนงานให้เขามีรายได้ จากที่เรามีแค่ตัวเรา มีแค่ผับ บาร์ ตอนนี้ก็ต้องเลี้ยงทีมให้มีงานทุกวัน พยายามให้มี อย่างน้อยมี 200-300 บาท ศุกร์เสาร์จะได้ค่าตอบแทนเยอะ ถ้าเจ๊ไฝได้คิวละ 400 บาทต่อคิว ถ้ามีสามคิวก็ได้เป็นพันละ

ฟีดแบคลูกค้า ลูกค้าชอบ เขาชอบบริการนี้อยู่แล้ว ใช้เงินแก้ปัญหา ยิ่งฝนตกรถติด เขาจะจองกับร้านเอง แต่เขาไปรับไม่ทัน ลูกค้ากลัวโต๊ะหลุดก็ให้ไปรับโต๊ะแทนให้หน่อย เขาก็มีเวลาแต่งตัวและวางแผนในการเดินทางเพิ่ม เราก็ช่วยแก้ปัญหาด้านการเดินทางและลดระยะเวลาในการรอคอยให้

ข้อคิดในการทำธุรกิจ

ถ้าเรามีโอกาสเราควรคว้าไว้ก่อน เพราะเราไม่รู้เลยว่าโอกาสจะมาถึงเราเมื่อไร จะได้โอกาสทำอีกรึเปล่า ถ้าลองทำแล้วไม่ชอบ ก็ไม่ต้องทำ อย่ารีบปฏิเสธไปก่อนเพราะเป็นการทิ้งโอกาส โอกาสสำคัญที่สุด ไม่ได้มีบ่อยๆ ลองทำดูก่อน บางคนกลัวงานเพราะกลัวเด็กเสิร์ฟ กลัวผู้จัดการร้าน กลัวเป็นเป้าสายตา จริงๆ แล้วไม่ได้น่ากลัวแบบนั้น คนจะจินตนาการเองไปก่อน หลายคนพอลองทำงานแล้วชอบ โทรไปถามว่าว่างไหม ก็ทำอีก บางคนก็มีบ้างที่ปฏิเสธไม่กล้า

สำหรับทีมที่ทำงานก็คือป้าแถวบ้าน มีทีมเน็ตเวิร์กหลายทีม หลายป้า มีทั้งทีมเจ๊ไฝ ทีมนี้รับงานเจ๊ไฝ รับงานท่าช้าง ก็ทำให้เริ่มสั่งงานง่ายขึ้น ก่อนหน้านี้เฟรนด์รับจองโต๊ะด้วย แต่ศุกร์ เสาร์งานเยอะมาก ต้องเป็นแอดมิน เป็นตัวกระจายงาน ส่วนวันจันทร์ถึงศุกร์ที่คิวไม่แน่นมากก็จะมารับจองโต๊ะเองด้วย

ป้าป้าจองโต๊ะ Reseve a table 68

ฝากถึงลูกค้า

ป้าป้าจองโต๊ะอยากขอบคุณมากที่เชื่อใจในบริการเพราะการโอนเงินมาจองต่างๆ ต้องเชื่อใจกัน เนื่องจากปัจจุบันมีมิจฉาชีพเยอะขึ้น อยากขอบคุณลูกค้าที่มาใช้บริการเราเรื่อยๆ ให้โอกาสป้า เราไม่ได้เอาป้ามาขายงาน แต่หาอาชีพให้ป้าทำ เราไม่ได้เอาป้ามาเป็นการตลาด แต่อยากหางานให้คนในชุมชนให้มีกินมีใช้ สามารถดูแลตัวเองได้เพราะเขาก็เคยรับงานแบบนี้อยู่ก่อนหน้าแล้ว เราเอาคนเก็บขวดมาทำงานด้วย บางคนห่อข้าวต้มเป็นพันชิ้นได้เงินกลับมา 60 บาท แต่นั่งจองโต๊ะที่ท่าช้าง ชั่วโมงหนึ่งได้ 100-120 บาท ซึ่งพวกเขาก็มีอาชีพประจำของเขา นี่คืออาชีพที่สองที่เป็นค่าข้าว ค่าเดินทาง

ฝากถึงอนาคตคนที่อยากมาเป็นป้า ป้า

เฟรนด์บอกว่าผู้สูงวัยเขายังมีแรงอยู่ เขายังทำงานได้ ถ้าสมมติว่าองค์กรหรือสังคมหรือบริษัทไหนเปิดโอกาสให้เขาได้ลองทำงานดูบ้างก็น่าจะเป็นผลดี เพราะยุคนี้ผู้สูงวัยเยอะ เขารับผิดชอบงานได้ มีความสามารถ ถ้าเราดึงศักยภาพเขาออกมาได้ ก็ต่อยอดธุรกิจให้พวกเขาได้มีอะไรทำบ้าง

เราไม่รู้ว่าธุรกิจไหนจะเหมาะสมกับเขาบ้าง แต่เขาตอบโจทย์ธุรกิจหนูเพราะว่าต้องมีเวลาช่วงว่างงานด้วยและสามารถรับงานเป็นจ้อบได้ เรียกใช้ 2-3 ชั่วโมง ต้องยอมรับว่าบางครั้งเด็กวัยรุ่นบางทีก็ไม่ตอบโจทย์ เขาติดเล่น ติดเที่ยว ติดเกม มาไม่ได้บ้าง แต่ถ้าผู้สูงวัยเขาอยู่บ้านเบื่อๆ ออกมาทำงานก็ได้เปิดหู เปิดตา เขามา เขาก็มีความสุขกัน บางเพจเขาก็ใช้คนสูงอายุเหมือนกัน เขาต้องการคนที่ว่างงาน เขาไม่ได้ต้องการคนที่มีงานประจำ บางครั้งลูกค้าอยากทานอาหารตอนเที่ยง คนทำงานประจำก็จะรับงานไม่ได้แล้ว ป้าๆ เขามาเจอกันก็มาคุยกันแม้อยู่คนละเพจ เขาก็มาแชร์ประสบการณ์กัน ก็ขอฝากเพจป้าป้าจองโต๊ะด้วย มาใช้บริการกันได้

ขอขอบคุณภาพประกอบและบทสัมภาษณ์จากคุณเฟรนด์เจ้าของและแอดมินเพจ ป้าป้าจองโต๊ะ Reserve a table 68

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ถอดความสำเร็จ เพจ “ป้าป้าจองโต๊ะ”: เมื่อความต้องการลงตัว การรอคอยก็ไม่ใช่ปัญหา first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/get-to-know-reserve-a-table-68/

พริกขาดแคลน ถึงคราวซอสพริกศรีราชาขาดตลาด ภัยแล้งกระทบหนัก ต้องหยุดขาย

หลังจากสภาพอากาศแย่หนักจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพของพริก ทำให้บริษัท Huy Fong Foods Inc. ผู้ผลิตซอสพริกศรีราชาต้องระงับการขายและผลิตจนกว่าจะถึงเดือนกันยายน

Sriracha-sauce

บริษัท Huy Fong Foods ส่ง email แจ้งกับลูกค้า ลงวันที่ไว้ในเมื่อ 19 เมษายน 2022 ระบุว่าบริษัทกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนพริกอย่างหนัก เทียบได้กับช่วงเดือนกรกฎาคม 2020 ที่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เหมือนกัน โดยทางบริษัทระบุว่าไม่ควรให้คำมั่นใดๆ กับบรรดาลูกค้าของพวกเขาจนกว่าจะได้มีสินค้าอยู่ในสต็อก

ด้วยสภาพอากาศปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของพริกส่งผลให้ขาดแคลนพริก เป็นเรื่องที่นอกเหนือความควบคุมและไม่มีส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสินค้า ซึ่งก็มีทั้ง Chili Garlic, Sambal Oelek และ Sriracha Hot Chili Sauce ทั้งหมดที่ว่ามาก็คือสินค้าหลักของ Huy Fong Foods

การสั่งซื้อสินค้าที่มีการออเดอร์มาช่วงหลัง 19 เมษายน 2022 จะได้รับสินค้าหลังวันแรงงานหรือหลังวันที่ 6 กันยายน 2022 ส่วนยอดการสั่งซื้อใดที่ยังไม่ได้รับการคอนเฟิร์มจะต้องรอต่อไปจนถึงช่วงกันยายน 2022 เช่นกัน ช่วงระหว่างนี้ทางบริษัทก็จะไม่รับออเดอร์ใดๆ ก่อนช่วงเดือนกันยายน

April 19 letter-Huy Fong Foods
Huy Fong Foods

แหล่งผลิตพริกของบริษัทคือประเทศเม็กซิโกที่กำลังประสบภาวะภัยแล้งรวมทั้งทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาด้วย สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบตอนนี้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ทั้งร้านอาหารในรัฐเคนตักกี้เช่นร้าน Brady’s Sushi and Hibachi ก็ประกาศผ่านทาง Facebook page แล้ว ว่าไม่สามารถจัดหาซอสพริกศรีราชาได้เนื่องจากขาดแคลน

ที่มา – Bloomberg, Yahoo News

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post พริกขาดแคลน ถึงคราวซอสพริกศรีราชาขาดตลาด ภัยแล้งกระทบหนัก ต้องหยุดขาย first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/sriracha-sauce-shortage/

อวสานซูชิ 100 เยน: เงินเฟ้อทุบญี่ปุ่นหนัก Sushiro แบกซูชิราคาเดิมต่อไปไม่ไหว

แบกไม่ไหว ก็ต้องขึ้นราคา!

Sushiro ร้านซูชิสายพานญี่ปุ่นประกาศจะขึ้นราคาซูชิ 1 ตุลาคม 2022 นี้ หลังจากที่อาหารหลากชนิดเริ่มทยอยขึ้นราคาตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา ร้านอาหารก็ค่อยๆ ขึ้นราคากัน

sushiro

นี่คือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงโดยแท้ เปลี่ยนแปลงจนผู้บริโภคทั้งหลายต้องตกใจ ยุคก่อนหน้า ลูกค้าอาจจะเคยชินกับสินค้าราคาถูก แต่สำหรับยุคนี้ไม่ใช่แล้ว ต้องคิดหน้าคิดหลังเวลาควักกระเป๋าจ่ายเงินให้ดี เมื่อถึงเวลาที่พ่อค้าแบกรับต้นทุนราคาสินค้าไม่ไหว ก็ถึงเวลาต้องขึ้นราคาแล้ว ล่าสุดลามมาซูชิสำหรับคออาหารญี่ปุ่นแล้ว

ล่าสุด Sushiro  ร้านซูชิสายพานที่โด่งดังก็ไม่ยอมตกขบวนดังกล่าว ประกาศขึ้นราคาทุกสาขาทั่วประเทศในวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม

ปัจจุบัน Sushiro ร้านซูชิสายพานก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1984 มีมากกว่า 600 แห่งทั่วญี่ปุ่น มีราคาซูชิเริ่มต้นที่จานละ 100 เยนก่อนบวกภาษีที่กลายเป็นราคามาตรฐานสำหรับร้านอาหารซูชิสายพานเหมือนกัน ก่อนหน้านี้ได้พยายามจะรักษาระดับราคาไว้คงเดิมแต่ก็ต้องทำให้คุณภาพอาหารเปลี่ยนไป จนในที่สุดร้านอาหารก็ไม่ต้องการให้รสชาติอาหารแย่ลงด้วย จึงตัดสินใจเลิกคงราคาซูชิไว้ที่จานละ 100 เยน

Sushiro

หลังจากต้นทุนที่แบกไว้เริ่มหนักหน่วง เนื่องจากจับปลาได้ยากขึ้น ส่วนประกอบอาหาร โลจิสติกส์ล้วนแพงขึ้นถ้วนหน้า แรงงานในอุตสาหกรรมประมงก็ขาดแคลน จากจำนวน 1.8 แสนคนในปี 2013 ก็ลดลงเหลือ 1.3 แสนคนในปี 2020

ทำให้ร้านซูชิต้องขึ้นราคาด้วยความจำเป็น ซึ่งการกขึ้นราคานี้ก็จะขึ้นตามทำเลร้านอาหารในแต่ละแห่งที่แจกต่างกันไปทั้งในระดับนอกเมือง ชานเมืองและในเมือง

ตัวอย่างการขึ้นราคาที่ขึ้นนั้นก็ไม่ได้แพงอย่างรุนแรงจนน่าตกใจ เช่น จานสีเหลือง ขึ้นจาก 110 เยนเป็น 120 เยน จานสีแดง ขึ้นจาก 165 เยนเป็น 180 เยนและจานสีดำจาก 330 เยนเป็น 360 เยน

Sushiro

ด้าน Koichi Mizutome ประธานของ Food & Life Cos. บริษัทแม่ของซูชิสายพาน Sushiro ระบุถึงสาเหตุหลักที่ต้องขึ้นราคา มาจากวัตถุดิบนำเข้า 70% และเงินเยนที่อ่อนค่า อีกทั้งการที่จับปลาได้น้อยลง ภาวะเงินเฟ้อและปัจจัยด้านโลจิสติกส์ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญทั้งสิ้น จากสถานการณ์ดังกล่าวก็ทำให้กำไรของบริษัทลดลงไป 34% ราว 8.4 พันล้านเยน การปรับราคาขึ้นของ Sushiro น่าจะส่งผลให้บริษัทคู่แข่งค่อยๆ ปรับราคาขึ้นตามเช่นกัน

ที่มา – TimeOut, Nikkei

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post อวสานซูชิ 100 เยน: เงินเฟ้อทุบญี่ปุ่นหนัก Sushiro แบกซูชิราคาเดิมต่อไปไม่ไหว first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/the-end-of-100-yen-sushi-plate/

ร้านอาหารปิดอีกแล้ว! Marugame Seimen ปิดทุกสาขา 31 มี.ค. 2565 นี้ สายอุด้งอย่าลืมไปใช้บริการ

เดือน มี.ค. 2565 เป็นเดือนที่ร้านอาหารประกาศปิดกิจการหลายราย ล่าสุด Marugame Seimen (มารุกาเมะ เซเมง) ร้านอุด้งอันดับ 1 จากญี่ปุ่น ประกาศยุติการให้บริการทุกสาขาภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565

Marugame Seimen

Marugame Seimen ยุติกิจารในไทย

รายงานข่าวแจ้งว่า Marugame Seimen (มารุกาเมะ เซเมง) มีความจำเป็นที่จะต้องยุติการให้บริการทุกสาขา
โดยจะเปิดให้บริการวันสุดท้ายตามรายละเอียด ดังนี้

  • สาขา เทอร์มินอล 21 พัทยา – 26 มี.ค. 2565
  • สาขา เดอะ พรอมานาด – 31 มี.ค. 2565
  • สาขา เกตเวย์ เอกมัย – 31 มี.ค. 2565

Marugame Seimen ในประเทศไทยดำเนินธุรกิจโดย บริษัท โนดุ ฟู้ดส์ จำกัด เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง กลุ่มบริษัทบูทิค ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ กับ บริษัท โทริดอลล์ จำกัด เจ้าของสิทธิ์ร้าน Marugame Seimen เปิดสาขาแรกในประเทศไทยปี 2555

ก่อนหน้านี้ Marugame Seimen เคยมีสาขาในประเทศไทยกว่า 20 แห่ง ทั้งรูปแบบหน้าร้านขนาดใหญ่ และสาขาขนาดเล็กที่เน้นขายแบบซื้อกลับบ้าน ส่วนในระดับโลก Marugame Seimen มีสาขามากกว่า 1,000 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น

สำหรับรายได้ของ บริษัท โนดุ ฟู้ดส์ จำกัด 3 ปีล่าสุดที่รายงานกับกระทรวงพาณิชย์มีข้อมูลดังนี้

  • 2563 รายได้รวม 52 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 24 ล้านบาท
  • 2562 รายได้รวม 142 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 15 ล้านบาท
  • 2561 รายได้รวม 174 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 42 ล้านบาท

ผู้เขียนมองว่า ปัญหาที่ทำให้ Marugame Seimen ต้องยุติกิจการในประเทศไทย เพราะแต่ละเมนูมีราคาค่อนข้างสูง กล่าวคือ เริ่มต้นที่ราว 80 บาท จะได้ชุดเส้นอุด้งที่มีแต่เส้น หากต้องการเพิ่มท็อปปิ้ง เช่น เนื้อสัตว์, ผัก หรือข้าวปั้น จะต้องจ่ายเพิ่มตั้งแต่ราคา 20 บาท ถึงมากกว่า 40 บาท ทำให้หนึ่งอิ่มต้องจ่ายมากกว่า 100 บาท

นอกจากนี้การเดลิเวอรีเมนูอุด้งของ Marugame Seimen อาจให้บรรยากาศไม่เหมือนรับประทานที่ร้าน เพราะตัวร้านมีจุดเด่นคือ ครัวเปิด, ลวกเส้นหลังเริ่มสั่งเมนู และเลือกท็อปปิ้งอย่างอิสระก่อนจ่ายเงิน จนสุดท้ายทางร้านต้องทยอยปิดสาขา และยุติกิจการในที่สุด

อ้างอิง // Marugame Seimen

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ร้านอาหารปิดอีกแล้ว! Marugame Seimen ปิดทุกสาขา 31 มี.ค. 2565 นี้ สายอุด้งอย่าลืมไปใช้บริการ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/marugame-seimen-end-in-thailand/

กลับเมกาอีกราย! Carl’s Jr. ยุติการดำเนินธุรกิจในไทยสิ้นเดือน มี.ค. 2565 เหตุแบกต้นทุนไม่ไหว

ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดต่างชาติยังวิกฤต ล่าสุด บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ถือสิทธิ์ร้าน Carl’s Jr. (คาร์ลซ จูเนียร์) ในประเทศไทย ประกาศปิดร้านทุกสาขาภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2565 เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว

carl's jr.
ภาพจาก Carl’s Jr. Thailand (Nana)

Carl’s Jr. เหลือแค่ 2 สาขา ก่อนปิดหมดสิ้นเดือน มี.ค.

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมร้านอาหาร เปิดเผยว่า บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ถือสิทธิ์ร้าน Carl’s Jr. (คาร์ลซ จูเนียร์) ในประเทศไทย จะปิดให้บริการทุกสาขาภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2565 ปัจจุบันเหลือสาขาเปิดให้บริการเพียง 2 แห่งคือ สาขาฮอลิเดย์อินน์ กรุงเทพฯ สุขุมวิท กับอีกหนึ่งแห่งที่เมืองพัทยา

“บริษัทพยายามประคองธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 แต่สุดท้ายร้าน Carl’s Jr. ไม่สามารถไปต่อได้ เนื่องจาก CKE Restaurants Holdings บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ Carl’s Jr. บังคับให้ใช้วัตถุดิบจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนไม่ได้” แหล่งข่าวเผย

ทั้งนี้ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ประเทศไทยค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา เพราะเวลานั้นโรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนักที่นั่น จนหลากหลายสินค้าติดอยู่ที่ระบบตรวจ หนึ่งในนั้นคือเนื้อวัวที่บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด จะนำเข้ามาใช้ดำเนินธุรกิจ Carl’s Jr.

10 ปีที่ทำตลาดในไทยก่อนลาจาก

Carl’s Jr. เปิดสาขาแรกในประเทศไทยเดือน มิ.ย. 2555 ที่ เซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยาบีช และเปิดสาขาในกรุงเทพเพิ่มเติมภายหลัง เช่น สาขาอโศก และนานา โดยช่วงต้นปี 2564 ทางร้านมี 6 สาขา และหลังจากปิดสาขาทั้งหมด จะมีการจ่ายค่าชดเชยพนักงาน และย้ายพนักงานบางส่วนไปทำงานในธุรกิจอื่น

6 สาขาข้างต้นประกอบด้วย

  • คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา นานาสแควร์ ชั้น G
  • คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา อาคารมิดทาวน์อโศก ชั้น G
  • คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา โรงแรมฮอลิเดย์ อินท์ ซอยสุขุมวิท 22 ชั้น G
  • คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา ซอยสุขุมวิท 11สาขาพัทยา ชลบุรี
  • คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา Terminal 21 ชั้น 3
  • คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา เซ็นทรัลพลาซ่าพัทยาบีช ชั้น 3

“จุดเริ่มต้นของการนำ Carl’s Jr. เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยคือ เจ้าของบริษัทเรียนที่สหรัฐอเมริกา และมีความชื่นชอบเบอร์เกอร์ของร้านนี้ จึงติดต่อนำเข้ามาเปิดในไทย ซึ่งช่วงแรกก็ไปได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อโรคโควิด-19 ระบาด ทุกคนต้องประหยัด และมีตัวแปรเรื่อง Work From Home เข้ามา ทำให้เราทำธุรกิจลำบาก”

สำหรับ บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด นอกจากทำธุรกิจร้าน Carl’s Jr. ยังซื้อแบรนด์ร้านอาหาร Koi Restaurant ร้านอาหารญี่ปุ่นแนวฟิวชั่นจากสหรัฐอเมริกา มีสาขาใน Trump Tower มาให้บริการในไทยช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด แต่สุดท้ายบริษัทตัดสินใจปิดร้านนี้ไปเช่นกัน

Carl’s Jr. ในไทยขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด มีผลประกอบการ 3 ปีล่าสุดที่ส่งงบให้กระทรวงพาณิชย์ดังนี้

  • ปี 2563 รายได้รวม 39 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 43 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้รวม 57 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 46 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้รวม 53 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 40 ล้านบาท

ปีแรกที่ทำธุรกิจ หรือปี 2555 ทางบริษัทเคยเปิดเผยว่าจะใช้งบประมาณการตลาดกว่า 80 ล้านบาท เพื่อสร้าง Carl’s Jr. ให้เป็นที่รู้จัก พร้อมวางแผนขยายสาขาถึง 9 แห่ง เน้นพื้นที่กรุงเทพ โดยนอกจากเบอร์เกอร์ ยังมีไก่ทอด และของทานเล่นเป็นอีกเมนูทางเลือก ส่วนราคาเบอร์เกอร์จะค่อนข้างพรีเมียม กล่าวคือราคา 100-250 บาท/ชิ้น

ขณะเดียวกันช่วงต้นปี 2564 Carl’s Jr. ในไทยมียอดขายเดลิเวอรีเติบโตขึ้นกว่า 19% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยเฉพาะ Carl’s Jr. สาขา อาคารมิดทาวน์อโศก ยอดดิลิเวอรี่ปรับขึ้นกว่า 90% แต่สุดท้ายยอดขายที่เพิ่มขึ้นกลับจุนเจือยอดขายหน้าร้านที่หายไปไม่ได้ และโซเชียลมีเดียของร้านไม่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2564

ในทางกลับกัน CKE Restaurants Holdings เจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารจากสหรัฐฮเมริกา Carl’s Jr. และ Hardee’s มีสาขาที่บริหารเอง และขายสิทธิ์แฟรนไชส์กว่า 3,800 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา และอีก 43 ประเทศทั่วโลก โดยในอาเซียน Carl’s Jr. ยังมีสาขาที่ประเทศสิงคโปร์อยู่

สรุป

เป็นที่น่าเสียดายว่าแบรนด์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดจากสหรัฐอเมริกาต้องจากประเทศไทยไปอีกราย แสดงให้เห็นถึงตลาดธุรกิจ QSR หรือ Quick Service Restaurant ในไทยไม่ง่าย และก็น่าลุ้นว่า จะมีร้านไหนต้องโบกมือลาตาม A&W และ Carl’s Jr. อีกหรือไม่

อ้างอิง // Thai PR 1, 2, Thairath

อ่านข่าวเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารเพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post กลับเมกาอีกราย! Carl’s Jr. ยุติการดำเนินธุรกิจในไทยสิ้นเดือน มี.ค. 2565 เหตุแบกต้นทุนไม่ไหว first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/carls-jr-end-thailand-operation/

ขึ้นทุกร้าน! ชาบูบุฟเฟ่ต์ร้านดังขึ้นราคากว่า 10% ต้นทุนเนื้อหมู-น้ำมันพุ่ง แถมต้องกัน COVID-19

คนกินชาบูบุเฟ่ต์ปวดขมับ เหตุร้านดังปรับราคา Mo Mo Paradise จาก 560 บาท เป็น 599 บาท สุกี้ตี๋น้อย จาก 199 บาท เป็น 219 บาท เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบแพง เช่น เนื้อหมูหน้าฟาร์มราคาขึ้นเกือบ 40 บาท/กก.

ชาบูบุฟเฟ่ต์ ขึ้นราคา

ชาบูบุฟเฟ่ต์ แห่ปรับราคาขึ้น 1 ม.ค.

รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงปลายปี 2564 ร้านชาบูบุฟเฟ่ต์ชั้นนำต่างประกาศขึ้นราคาผ่านหน้าเพจบนโซเชียลมีเดียของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Mo Mo Paradise ร้านชาบูบุฟเฟ่ต์ระดับพรีเมียม ที่ขอขึ้นราคาชุดผู้ใหญ่จาก 560 บาท/คน เป็น 599 บาท/คน และเด็ก 279 บาท/คน เป็น 299 บาท/คน โดยราคานี้ยังไม่รวมค่าบริการ 10%

ชาบูบุฟเฟ่ต์ ขึ้นราคา

เช่นเดียวกับ สุกี้ตี๋น้อย ร้านชาบูบุฟเฟ่ต์ระดับเริ่มต้น ที่ขอปรับราคาผู้ใหญ่จาก 199 บาท/คน เป็น 219 บาท/คน และเด็กจาก 99 บาท/คน เป็น 109 บาท/คน เช่นเดียวกับ สุกี้ดารา ห้วยขวาง ที่ปรับราคาผู้ใหญ่จาก 199 บาท/คน เป็น 219 บาท/คน

ทั้งหมดนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป และทุกร้านให้เหตุผลตรงกันว่า ราคาต้นทุนวัตถุดิบ และต้นทุนการบริการปรับตัวสูงขึ้น จนสุดท้ายต้องปรับราคาขึ้น นอกจากนี้ยังมี ร้านนารายณ์พิซเซอเรีย x ร้านข้าน้อยขอชาบู ที่ปรับราคาขึ้นจาก 199 บาท/คน เป็น 229 บาท/คน และ Masaru Shabu & Sushi Buffet ที่ปรับราคาด้วย

ชาบูบุฟเฟ่ต์ ขึ้นราคา

เนื้อหมู วัตถุดิบหลัก ราคาขึ้น

ราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น หากเจาะไปที่ เนื้อหมู ประเภท สุกรชำแหละ เนื้อแดง สะโพก (ไม่ได้ตัดแต่ง) ค้าปลีก อ้างอิง ศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า วันที่ 4 ม.ค. 2564 ราคาเฉลี่ยเนื้อหมูประเภทนี้อยู่ที่ 137.50 บาท/กก. แต่ในวันที่ 29 ธ.ค. 2564 ราคาอยู่ที่ 172.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 35 บาท

ราคาเนื้อหมู

เนื้อหมู ประเภท สุกรชำแหละ เนื้อแดง สะโพก (ไม่ได้ตัดแต่ง) ค้าปลีก เริ่มปรับราคาเฉลี่ยขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. 2564 ก่อนชะลอการขึ้นราคาเฉลี่ยในเดือน พ.ย. แต่เมื่อเข้าเดือน ธ.ค. 2564 ราคาเฉลี่ยกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 137.50 บาท/กก. เป็น 172.50 บาท/กก.

สุกรชำแหละ เนื้อสามชั้น ค้าปลีก หรือส่วนยอดนิยม วันที่ 4 ธ.ค. 2564 ราคาเฉลี่ยเนื้อหมูประเภทนี้อยู่ที่ 172.50 บาท/กก. แต่ในวันที่ 29 ธ.ค. 2564 ราคาเฉลี่ยเพิ่มเป็น 217.50 บาท/กก. หรือเพิ่มขึ้น 45 บาท แม้ราคาผักจะอยู่ในช่วงขาลง แต่ด้วยราคาหมูที่สูงขึ้นอย่างมาก จึงไม่สามารถชดเชยกันได้

ราคาผักกาดขาว

ค่าขนส่ง คืออีกปัจจัยในการขึ้นราคา

อีกปัจจัยที่ทำให้ร้านชาบูบุฟเฟ่ต์ต่าง ๆ ต้องปรับขึ้นราคาคือ ราคาน้ำมันในปี 2564 ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบภายในประเทศ หรือการสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทันที และเป็นปัจจัยที่ร้านต่าง ๆ ไม่สามารควบคุมได้เช่นเดียวกับราคาวัตถุดิบต่าง ๆ

อ้างอิงจาก บมจ.ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก หรือ PTTOR จะพบว่า ราคาน้ำมันดีเซล เกรดปกติ ราคาในวันที่ 6 ม.ค. 2564 อยู่ที่ 21.19 บาท/ลิตร แต่ในวันที่ 24 ธ.ค. 2564 ราคาปรับขึ้นเป็น 28.44 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 7.25 บาท

ร้านอาหาร

ขณะเดียวกันทุกร้านที่เปิดให้บริการยังมีต้นทุนเรื่องความสะอาดเพื่อป้องกันการระบาดของโรค COVID-19 เช่น เจลแอลกอฮอล์ หรือถุงมือ รวมถึงความสะอาดของพนักงาน อยู่ และยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องลงทุนเรื่องนี้ไปอีกเมื่อไร ทำให้เมื่อรวมปัจจัยลบทั้งหมดนี้ จึงไม่แปลกที่ร้านชาบูบุฟเฟ่ต์ดังกล่าวต้องปรับราคาขึ้น

สรุป

ปลายปี 2564 น่าจะมีผู้บริโภคหลายรายแห่ไปใช้บริการร้านชาบูบุฟเฟ่ต์เหล่านี้ก่อนปรับขึ้นราคา เพราะคราวนี้ไม่ใช่ร้านเดียวที่ขึ้น แต่กลายเป็นทุกร้านดัง ซึ่งราคาวัตถุดิบ และราคาน้ำมัน ผู้ที่ช่วยเหลือเรื่องนี้ได้น่าจะไม่พ้นรัฐบาล ยิ่งถ้าปล่อยให้ทั้งสองเรื่องนี้เกิดขึ้นอยู่ อาจไม่ใช่แค่ร้านอาหาร แต่อาจกระทบถึงภาพรวมการใช้ชีวิตคนไทยในอนาคต

อ้างอิง // PTTOR, กระทรวงพาณิชย์

อ่านข่าวเกี่ยวกับร้านอาหาร และเศรษฐกิจไทย ได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ขึ้นทุกร้าน! ชาบูบุฟเฟ่ต์ร้านดังขึ้นราคากว่า 10% ต้นทุนเนื้อหมู-น้ำมันพุ่ง แถมต้องกัน COVID-19 first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/buffet-price-rise/