คลังเก็บป้ายกำกับ: ธุรกิจร้านอาหาร

Food Delivery ปี 64 นี้มูลค่ารวมสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวกว่า 24% YOY

โควิด-19 ระบาดยาวนาน ส่งผลให้การแข่งขันธุรกิจจัดส่งอาหาร (Food Delivery) รุนแรงมากขึ้น กอรปกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคของรัฐไปจนถึงการจำกัดการให้บริการของร้านอาหารเหลือเพียงการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันจัดส่งอาหาร ส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ที่คาดว่ามูลค่ารวมของรายได้ธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 2564 หายไปไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท ผลักดันให้ธุรกิจจัดส่งอาหารกลายเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร

Disclaimer: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือ LINE MAN Wongnai

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าทั้งปี 2564 ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านน่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้งหรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาดในปี 2562 ที่มีจำนวนราว 35-45 ล้านครั้ง วิถีการใช้ชีวิตท่ามกลางโรคระบาดส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปการเปลี่ยนแปลงเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภค ดังนี้

ระดับราคาเฉลี่ยต่อครั้งที่สั่งลดลง 20-25% จากปีก่อน จากปีก่อนจากปัจจัยด้านกำลังซื้อและการอัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ ผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารในระดับราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อ

ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) มีบทบาทมากขึ้นและคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่า 40% ของมูลค่ารวมของธุรกิจจัดส่งอาหารจากเดิมในปี 2563 อยู่ที่ 29% เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงประเภทอาหารของผู้บริโภคมายังเมนูอาหารที่มีราคาย่อมเยา

พื้นที่การส่งอาหารขยายสู่บริเวณกรุงเทพฯ รอบนอกและพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ – ปริมณฑลมากขึ้น ผลสำรวจของศูนย์วิจัยฯ พบว่า หลังการระบาดเดือนเมษายน 2564 พนักงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ทำงานทั้งสองรูปแบบคือ Work from home และ Hybrid working มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 83% โดยผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารบริเวณใกล้ที่พักมากขึ้น

ปัจจัยและสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ปี 2564 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 5.31-5.58 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวสูงถึง 18.4%-24.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถึงแม้รายได้จะเติบโตแต่การจะพลิกกลับมาสร้างผลประกอบการให้เป็นบวกสุทธิของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจ Food Delivery ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post Food Delivery ปี 64 นี้มูลค่ารวมสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวกว่า 24% YOY first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/k-research-analysis-on-food-delivery-expand-in-2021/

โควิด-19 ระบาดรอบนี้ ธุรกิจร้านอาหารวิกฤตหนัก มูลค่าความเสียหายสูงสุด 2.5 แสนล้านบาท

ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ประเมินสถานการณ์ธุรกิจร้านอาหาร ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ มูลค่าความเสียหายสูงสุด 2.59 แสนล้านบาท ร้านอาหารตกอยู่ในความเสี่ยงต้องปิดกิจการ หรือปิดกิจการไปแล้วนับแสนแห่งทั่วประเทศ

ร้านอาหาร หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนักหน่วงที่สุด นับตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนในปีนี้สถานการณ์ของร้านอาหารก็ยังคงตกอยู่ในความเสี่ยง จากมาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวด และอาจกินเวลายาวนานในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ย้อนกลับไปในปีที่แล้ว ร้านอาหาร คือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง ผลประกอบการของธุรกิจอาหารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัวลงถึง 49.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนในปีนี้คาดการณ์ว่าธุรกิจร้านอาหารอาจมีผลประกอบการที่แย่เช่นนี้อีกครั้งในไตรมาส 3 ปี 2564 หรือยาวไปจนถึงสิ้นปี 2564 หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

ธุรกิจร้านอาหารวิกฤตหนัก เสียหายนับแสนล้าน

ส่วนสถานการณ์ของธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ก็น่าห่วงไม่แพ้กัน ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ได้ประเมินผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลต่อธุรกิจร้านอาหารทั่วประเทศ โดยพบว่ามีความเสียหายรวมทั้งสิ้น 107,500-214,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ที่หายไป 22-44% ของรายได้ร้านอาหารรวมปี 2562 โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้

  • กรณีที่ 1 หากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม และควบคุม 29 จังหวัด จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 107,500 ล้านบาท จากร้านอาหารที่เตรียมปิดกิจการ 50,000 ราย
  • กรณีที่ 2 หากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน และควบคุม 29 จังหวัด จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 164,000 ล้านบาท จากร้านอาหารที่เตรียมปิดกิจการ 75,000 ราย
  • กรณีที่ 3 หากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน และขยายมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ไปจนถึง 31 ตุลาคม และครอบคลุมทั่วประเทศ จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 214,600 ล้านบาท จากร้านอาหารที่เตรียมปิดกิจการ 100,000 ราย

ในขณะที่หากธุรกิจร้านอาหารปรับตัวสู่การขายอาหารผ่านบริการ Food Delivery ก็เป็นเพียงทางรอดที่สร้างรายได้เพียงพยุงกิจการให้คงอยู่เท่านั้น เพราะ Food Delivery ไม่ได้เหมาะกับร้านอาหารทุกประเภท เช่น ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ และร้านอาหาร Fine Dining รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงจนผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารจากร้าน แล้วหันมาทำอาหารเองที่บ้านมากขึ้น

สำหรับสัดส่วนรายได้ของร้านอาหารพบว่า เป็นรายได้จากการขายอาหารผ่าน Food Delivery ราว 20% ในปี 2020 เพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2019 ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย

ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี กว่าธุรกิจร้านอาหารจะฟื้นตัว

อนาคตของธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส มองว่ากว่าธุรกิจร้านอาหารจะฟื้นตัวต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะบรรเทาลงแล้วก็ตาม โดยมีปัจจัยหลักๆ 3 ประการด้วยกัน คือ

  • การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับมาสู่ระดับเดียวกับปี 2019 ได้ในปี 2023 จากการประเมินของ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)
  • กำลังซื้อของคนไทยยังเปราะบาง และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีก 1-2 ปี จากผลกระทบของภาคธุรกิจโดยรวม แรงงานถูกเลิกจ้าง หรือได้รับค่าจ้างลดลง ทำให้กำลังซื้อของคนไทนฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
  • ภาวะหนี้สินของร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจร้านอาหารฟื้นตัวได้ช้า

สำหรับหนี้สินของธุรกิจร้านอาหาร ข้อมูล ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่าเพิ่มขึ้น 26% อยู่ที่ 34,698 ล้านบาท เทียบกับ 27,544 ล้านบาทในปี 2019

ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากร้านอาหารได้รับผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่

ไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านอาหารอย่างเดียวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากธุรกิจร้านอาหารก็ได้รับผลกระทบเหมือนเป็นลูกโซ่ด้วยเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส รายงานว่า ธุรกิจวัตถุดิบอาหาร มีสัดส่วนรายได้ราว 21% ของรายได้ร้านอาหารโดยรวม โดยประเมินว่า ธุรกิจวัตถุดิบอาหารจะสูญเสียรายได้ตามธุรกิจร้านอาหารไปด้วย 22,500-45,000 ล้านบาท ในช่วงครึ่งหลังปี 2564

ธุรกิจวัตถุดิบอาหารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มเนื้อสัตว์ ที่คิดเป็นสัดส่วน 50% ของต้นทุนวัตถุดิบทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าความเสียหายที่ประมาณ 11,300-22,500 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มผักและผลไม้ ซึ่งเก็บรักษาได้ยาก โดยคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายที่ราว 6,000-12,200 ล้านบาท และลำดับถัดมา คือกลุ่มข้าวและธัญพืช คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายที่ราว 2,300-4,500 ล้านบาท

หากรวมมูลค่าความเสียหายของทั้งธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจวัตถุดิบอาหาร คาดว่าจะมีความเสียหาย 130,000-259,600 ล้านบาท ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่

  • กรณีที่ 1 หากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม และมีพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัค 29 จะมีมูลค่าความเสียหาย 130,000 ล้านบาท
  • กรณีที่ 2 หากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน และมีพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด จะมีมูลค่าความเสียหาย 198,300 ล้านบาท
  • กรณีที่ 3 หากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน และขยายมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ไปจนถึง 31 ตุลาคม โดยบังคับใช้มาตรการทั่วประเทศ จะมีมูลค่าความเสียหาย 259,600 ล้านบาท

Cloud Kitchen คือทางออก แต่มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐก็สำคัญ

ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ชี้ว่า ธุรกิจร้านอาหารหลีกเลี่ยงผลกระทบในช่วงการล็อคดาวน์เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ทางออกของผู้ประกอบการคือ การปรับตัวสู่ Cloud Kitchen ซึ่งเป็นการทำธุรกิจร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน โดยใช้ครัวกลางให้ร้านอาหารหลายรายเข้ามาเช่าพื้นที่ เพื่อจำหน่ายอาหารแบบ Food Delivery และ Take Away เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเองสูง โดยเฉพาะในทำเลกลางเมือง มีทำเลที่สะดวกสำหรับการขนส่ง และธุรกิจร้านอาหารสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารกิจการได้ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น

อย่างไรก็ตามอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารควรให้ความสนใจคือ ทำเลที่ตั้งของ Cloud Kitchen มักอยู่ในเมือง ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคที่อยู่ในตัวเมืองได้ แต่อาจไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคที่อยู่ชานเมือง ดังนั้นการเลือกทำเล Cloud Kitchen จึงควรตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัยชานเมืองด้วย เพื่อรับกับการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home

นอกจากการปรับตัวเข้าสู่ Cloud Kitchen แล้ว ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ชี้ให้เห็นว่า การปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารเพียงฝ่ายเดียวอาจทำให้อยู่รอดได้ยาก สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือความช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐ

ทั้งในระยะเร่งด่วนในช่วงเวลาการล็อคดาวน์ ภาครัฐอาจมีโครงการสั่งซื้ออาหารจากร้านอาหาร หรือวัตถุดิบอาหารเพื่อป้อนให้แก่ครัวกลางสำหรับส่งต่อไปยังผู้ติดเชื้อไวรัสที่อาจรักษาตัวแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ

ส่วนมาตรการช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจวัตถุดิบอาหารต่างๆ จากภาครัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ให้ความเห็นว่า ไม่เพียงพอต่อการเยียวยาความเสียหาย เนื่องจากมูลค่าความเสียหายของทั้งสองธุรกิจดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 130,000-259,600 ล้านบาท ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ขณะที่ เงินช่วยเหลือทั้งหมดจากภาครัฐในปัจจุบันอยู่ที่ 162,800 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ใช้เยียวยาธุรกิจอื่นด้วย ภาครัฐจึงอาจจำเป็นต้องพิจารณามาตรการเยียวยาที่มากขึ้น เพื่อประคองธุรกิจทั้งสองไว้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post โควิด-19 ระบาดรอบนี้ ธุรกิจร้านอาหารวิกฤตหนัก มูลค่าความเสียหายสูงสุด 2.5 แสนล้านบาท first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/krungthai-compass-thai-restaurants/

โควิดหาย ยอดขายร้านอาหารในอเมริกากลับสู่ปกติ แต่ยังขาดแคลนพนักงานจำนวนมาก

Restaurant

แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในอเมริกาจะดีขึ้นแล้ว ร้านอาหารก็ได้กลับมาเปิดตามปกติ แต่การจ้างงานกลับลดลง สวนทางกับการใช้บริการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น

จากผลกระทบของโควิดทำให้ร้านอาหารในอเมริกาต้องปิดตัวลงกว่า 110,000 ร้าน และงานเกือบ 2.5 ล้านตำแหน่งถูกเลิกจ้างตามข้อมูลของสมาคมธุรกิจอาหาร ในขณะเดียวกันร้านอาหารก็ปรับตัวด้วยการขายออนไลน์ ซึ่งยิ่งทำให้การจ้างงานลดน้อยลงไปอีก

โควิดหาย แต่การจ้างงานยังไม่เพิ่มขึ้น

แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ผู้คนในอเมริกาเริ่มออกมาใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้งหลังมีประกาศคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ยอดขายในร้านอาหารและบาร์เมื่อเดือนพฤษภาคมกลับมาถึง 6.73 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงกว่ายอดเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

แม้ยอดขายจะกลับมาปกติแล้วแต่ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จากปัญหานี้ทำให้ร้านอาหารตั้งแต่ระดับเล็กๆ ไปจนถึงเจ้าใหญ่อย่าง McDonald’s ต้องเสนอเพิ่มค่าแรงและโบนัสเพื่อจูงใจให้คนกลับมาทำงาน

ไม่เพียงแค่ในอเมริกาเท่านั้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจากพิษโควิด แต่ในอังกฤษก็ขาดแคลนแรงงานหนัก สายร้านอาหาร-โรงแรม-ค้าปลีก ต้องการคนจำนวนมาก บางร้านถึงขั้นต้องเพิ่มวันหยุดร้านเพราะขาดพนักงานบริการลูกค้า

ที่มา: Quartz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post โควิดหาย ยอดขายร้านอาหารในอเมริกากลับสู่ปกติ แต่ยังขาดแคลนพนักงานจำนวนมาก first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/labor-shortage-even-us-restaurant-sales-back/

TMB: โควิดระบาดไตรมาสแรกปี 2021 รายได้ธุรกิจบริการและท่องเที่ยวทั่วไทยจะลดลงกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท

TMB Analytics หรือศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ประเมินโควิดระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ปี 2563 สะเทือนภาคธุรกิจที่เปราะบาง มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามระดับพื้นที่ควบคุมที่รัฐใช้เป็นทางออกช่วยลดผลกระทบไม่ให้เหมือนล็อคดาวน์ช่วงเดือนเมษายน แต่การใช้จ่ายและท่องเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบต่อ SMEs ในภาคการค้า บริการ ท่องเที่ยวกว่า 1.3 ล้านรายและกระทบการจ้างงานกว่า 6.1 ล้านคน

Thai COVID-19
BANGKOK, THAILAND – (Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

แม้ภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ “เราชนะ” และ “โครงการคนละครึ่ง” ซึ่งเป็นการช่วยเหลือ Micro SMEs ในส่วนที่เป็นร้านค้าย่อยและกลุ่มคนทำงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมกลุ่ม SMEs ที่เป็นนิติบุคคลและอยู่ในระบบภาษีที่มีอยู่ 1.1 แสนราย และจ้างงานกว่า 2.5 ล้านคน

ผลกระทบจากโควิดระบาดไตรมาสแรกปี 2021 จะทำให้รายได้ธุรกิจบริการและท่องเที่ยวทั่วไทยลดลงกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบถึง 1.3 ล้านรายกระทบการจ้างงานรวมกันอยู่ 6.1 ล้านคน

ถ้าแยกพิจารณาตามพื้นที่ควบคุมการระบาดพบว่า กลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดรายได้จะลดลงราว 2.20 หมื่นล้านบาท มี SMEs ได้รับผลกระทบราว 5.7 แสนราย มีการจ้างงานกว่า 3.4 ล้านคน ขณะที่กลุ่มพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังสูงจะลดลง 2.7 และ 2.2 พันล้านบาท มีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบกว่า 2 แสนราย และ 5.7 แสนรายตามลำดับ

ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ ร้านค้าปลีกเสื้อผ้ารายได้ลดลงกว่า 5 พันล้านบาท รองลงมาคือร้านค้าเบ็ดเตล็ดรายได้ลดลง 4.7 พันล้านบาท สาเหตุที่ได้รับผลกระทบอันดับต้นๆ เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากกระจายทั่วประเทศ ส่วนธุรกิจโรงแรมที่พักและร้านอาหาร รายได้ลดลง 3.8 พันล้านและ 2.7 พันล้านบาทตามลำดับ

TMB COVID 19 impact SMEs

SMEs ที่เป็นนิติบุคคล ร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไปมีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากที่สุด 4.6 หมื่นราย มีการจ้างงาน 3.3 แสนคน รองลงมาคือร้านขายปลีกเสื้อผ้ามีธุรกิจ 1.1 หมื่นรายจ้างงานอยู่ที่ 6.4 หมื่นคน ตามด้วยธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมที่พัก จำนวนธุรกิจ 1 หมื่นราย 7 พันรายตามลำดับ มีการจ้างงานรวมกันกว่า 2.9 แสนคน

SMEs ในจังหวัดชลบุรีได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากมีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมาก จะมีรายได้ลดลง 6.2 พันล้านบาท มีการจ้างงาน 2.46 แสนคน ผลกระทบมากเพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว มีสัดส่วนภาคการท่องเที่ยวอยู่ที่ 48% ของมูลค่าการค้าและท่องเที่ยวรวมกัน รองลงมาคือกรุงเทพฯ รายได้จะลดลง 5 พันล้านบาท ลำดับรองลงมาคือสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี ได้รับผลกระทบ 1.38 พันล้าน, 1.13 พันล้าน และ 1.08 พันล้านบาทตามลำดับ

TMB Analytics covid19 SMEs impact

มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่วนใหญ่ครอบคลุม SMEs รายย่อยเป้นหลัก ยังขาดมาตรการช่วยเหลือให้กับกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล รัฐต้องยื่นมือช่วยเหลือ SMEs กลุ่มนี้ให้มากขึ้น เช่น เพิ่มมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ช่วยจ่ายค่าแรงงานบางส่วนเพื่อลดต้นทุนให้ธุรกิจรักษาการจ้างงานไว้

ที่มา – TMB Analytics

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post TMB: โควิดระบาดไตรมาสแรกปี 2021 รายได้ธุรกิจบริการและท่องเที่ยวทั่วไทยจะลดลงกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/tmb-analytics-covid-19-impact-thailand-smes/

ธุรกิจร้านอาหาร 64 เสี่ยงสูง ต้องขนาดเล็ก เข้าถึงลูกค้า ยืดหยุ่นสูง เพื่อโอกาสอยู่รอด

ธุรกิจร้านอาหาร มีความเสี่ยงสูง จากเรื่องการระบาดโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ที่อาจนำมาสู่ความเสี่ยงของการใช้มาตรการเข้มข้น รวมถึงกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี และการแข่งขันที่ยังสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ในปี 2564 ธุรกิจร้านอาหารจะมีมูลค่ารวม 4.10-4.15 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 1.4-2.6% ซึ่งเป็นการขยายตัวบนความเปราะบาง 

ธุรกิจร้านอาหาร
แรงงานชาวไทย // ภาพจาก Shutterstock

ธุรกิจร้านอาหาร เล็ก คล่อง ยืดหยุ่น โอกาสสูงกว่า

ขณะเดียวกันความท้าทายทำให้ผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเทรนด์ที่เห็นชัด คือ รูปแบบของร้านอาหารขนาดเล็ก (Compact Size) ที่เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว (Mobility) รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ (Flexibility) มากกว่ารูปแบบเดิม อย่างไรก็ดี โอกาสในความสำเร็จยังขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของแต่ละร้านอาหาร ซึ่งรวมถึงมาตรฐานของการป้องกันโควิดในทุกๆ จุดของบริการ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุดิบ การปรุง การจัดส่ง เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคคงจะเลือกซื้อจากผู้ประกอบการที่ทำเรื่องดังกล่าวได้อย่างน่าเชื่อถือมากกว่า

นอกจากนี้ ในปี 2564 ถึงแม้คาดว่าธุรกิจร้านอาหารจะยังมีการเข้ามาลงทุนจากผู้ประกอบการรายเล็กใหญ่ แต่ในสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง และปัจจัยแวดล้อมที่ท้าทายสูง น่าจะส่งผลให้ผู้เล่นจำนวนไม่น้อยต้องออกจากการแข่งขัน แสดงให้เห็นถึงภาพการหมุนเวียนเข้าออกที่สูงของผู้เล่นในธุรกิจ

จากที่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอีกครั้ง ส่งผลทำให้ทางการในบางจังหวัดได้ยกระดับมาตรการการควบคุมและป้องกันการระบาดของโควิดไปจนถึงต้นปี 2464 ซึ่งคาดว่าจะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหาร เช่น สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ขณะที่หลายจังหวัดได้ขอความร่วมมืองดจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ธุรกิจร้านอาหารอย่าง Full Service ทยอยกลับมาดีขึ้น หรือกลุ่มร้านอาหารอย่าง Street Food ได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกันส่งผลให้ทั้งปี 2563 ธุรกิจร้านอาหารน่าจะหดตัวร้อยละ 6.0 หรือมีมูลค่าประมาณ 4.05 แสนล้านบาท

มูลค่าธุรกิจร้านอาหาร จาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ธุรกิจร้านอาหารปี 64 โควิดยังเป็นปัจจัยหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาพแวดล้อมของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เนื่องจาการระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ที่ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักกว่าที่จะสามารถทำการควบคุมได้ และถึงแม้ว่าจะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนแต่การนำมาใช้ในวงกว้างยังคงต้องใช้เวลา ส่งผลให้ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) อาทิ ร้านอาหาร Fine Dinning ร้านอาหาร Buffet รวมถึงร้านอาหารที่เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือชาวต่างชาติที่เดินมาทำงานในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากทั้งความกังวลของผู้บริโภคและกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทำให้คาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.7%

ภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจดังกล่าว ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ที่รวมถึงการประกาศล็อกดาวน์ในช่วงเดือนแรกของปีในบางพื้นที่ ธุรกิจร้านอาหารจะมีมูลค่ารวม 4.10-4.15 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 1.4-2.6% จากฐานที่หดตัว 6.0% ในปี 2563 ซึ่งเป็นผลจากการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาสสองปี 2563 โดยมูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562 

line man

2 องค์ประกอบของธุรกิจที่เป็นร้านอาหารขนาดเล็ก

 1. เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว (Mobility) การเข้าถึงฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญ พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิดที่เปลี่ยนไปโดยปรับมารับประทานอาหารในที่พักมากขึ้น ร้านอาหารขนาดเล็กจึงตอบโจทย์มากกว่า เช่น ร้านอาหารชั่วคราว Pop up restaurant ใช้เงินลงทุนล่วงหน้าและเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจที่น้อย ร้านอาหารประเภท ฟู้ดทรัค (Food Truck) รวมถึงการเลือกลงทุนใน ร้านอาหารประเภทครัวกลาง (Cloud Kitchen) ซึ่งรวมร้านอาหารหลายๆ ประเภทเข้าด้วยกัน และเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสั่งอาหารไปยังที่พักโดยใช้แพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร เช่น LINE MAN, Grab, Foodpanda, Gojek หรือ Robinhood

 2. ความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ (Flexibility) ที่รวมถึงความยืดหยุ่นในช่องทางการตลาด หรือความสามารถในการปรับเปลี่ยนขั้นตอนและรูปแบบต่างๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจ อาทิ การปรับลดเวลาเปิดปิด การจำกัดประเภทเมนูอาหาร การปรับหน้าที่ของพนักงานในร้าน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนในร้านได้ง่ายขึ้น โดยตัวอย่างรูปแบบของร้านอาหารที่มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ ได้แก่ ร้านอาหารขนาดเล็กที่มีพื้นที่จำกัด อาทิ Kiosk ซึ่งมีจุดเด่นที่การใช้เงินลงทุนล่วงหน้าและเงินทุนหมุนเวียนที่น้อยกว่าร้านอาหารขนาดกลางใหญ่ รวมถึงรองรับการจัดส่งอาหารไปยังที่พักได้เช่นเดิม

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ช่องทางการทำตลาดที่หลากหลาย การบริหารจัดการต้นทุนและวัตถุดิบของร้าน รวมถึงมาตรฐานของการป้องกันโควิดในทุกๆจุดของบริการ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุดิบ การปรุง การจัดส่ง เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคคงจะเลือกซื้อจากผู้ประกอบการที่ทำเรื่องดังกล่าวได้อย่างน่าเชื่อถือมากกว่า 

หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ขยายตัวรุนแรงจนทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์เป็นวงกว้างอีกครั้ง มูลค่าธุรกิจร้านอาหารจะกลับมาขยายตัวเล็กน้อยประมาณ 1.4-2.6% (YoY) โดยเป็นการขยายตัวบนความเปราะบาง ทำให้ผู้ประกอบการควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความสามารถในการแข่งขันของตนก่อนการลงทุนในสภาพแวดล้อมที่มีความท้าทายและความไม่แน่นอนสูง

ธุรกิจร้านอาหาร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ธุรกิจร้านอาหาร 64 เสี่ยงสูง ต้องขนาดเล็ก เข้าถึงลูกค้า ยืดหยุ่นสูง เพื่อโอกาสอยู่รอด first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/restaurant-business-2021/

กลยุทธ์การปรับตัวร้านอาหารของ ZEN Group: ปรับโครงสร้างองค์กร-ลดค่าใช้จ่าย-เพิ่มรายได้

เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เผยภาพรวมในการทำธุรกิจร้านอาหาร โดยสามารถทำกำไรสุทธิได้ 45.5 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผย 5 กลยุทธ์สำคัญที่ ZEN ใช้ในการบริหารธุรกิจร้านอาหารอีกด้วย

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN เล่าถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2563 ว่าปรับตัวดีขึ้น มีกำไรสุทธิ 45.5 ล้านบาท และได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

สำหรับสถิติการเข้ามาทานอาหารที่ร้านของ ZEN บุญยง เผยว่าลูกค้ากลับมานั่งทานอาหารที่ร้านแล้วประมาณ 80-85% แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในอนาคตช่วง 2-3 ปีข้างหน้า สัดส่วนคนทานอาหารที่หน้าร้านคงไม่เกิน 90% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเปลี่ยนพฤติกรรม และใช้เทคโนโลยีจนเคยชินไปแล้ว

สำหรับกลยุทธ์ที่ ZEN ใช้ในการบริหารธุรกิจร้านอาหาร จนมีผลกำไรที่มากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา บุญยง เล่าว่า มีกลยุทธ์สำคัญ ดังนี้

ปรับธุรกิจกระจายความเสี่ยง

ในช่วงแรกๆ ZEN มีการทำธุรกิจร้านอาหารที่ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ภายในห้างเป็นหลัก จนกระทั่งเข้าไปซื้อธุรกิจร้านอาหารตำมั่ว จึงเริ่มขยายธุรกิจแบบแฟรนไชส์ เพื่อลดความเสี่ยง และเงินลงทุนที่ต้องใช้

สำหรับในปัจจุบัน ร้านอาหารในเครือของ ZEN มีทั้งหมด 340 สาขา (นับจนถึงสิ้นปีนี้) ทั้งแบบที่ลงทุนเอง และรูปแบบแฟรนไชส์ ส่วนในปี 2564 คาดการณ์ว่าจะมีร้านอาหารในเครือเพิ่มขึ้นเป็น 400 สาขา โดยจะเน้นไปที่การขยายสาขาร้านอาหารที่มีศักยภาพ

นอกจากการขยายสาขาแบบแฟรนไชส์แล้ว สาขาใหม่ๆ ของร้านอาหารในเครือ ZEN จะอยู่ในพื้นที่นอกห้างสรรพสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะร้านเขียง ที่เปิดทั้งในพื้นที่นอกเมือง และในเมือง เน้นไปที่ย่านที่อยู่อาศัย และย่านทำงาน

คนเดินห้างน้อยลง ต้องเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้า

นอกจากการกระจายร้านอาหารในเครือออกจากห้างสรรพสินค้าแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงอื่นๆ นอกเหนือจากการนั่งทานที่ร้าน หรือที่เรียกว่า ไดน์อิน โดยเฉพาะบริการเดลิเวอรี ทั้งช่องทางของ ZEN เอง และบริการจากแอปพลิเคชันเดลิเวอรีต่างๆ รวมถึง Call Center 1367 ด้วย

สำหรับสัดส่วนของบริการเดลิเวอรีของ ZEN เพิ่มขึ้นจาก 1-3% กลายเป็น 10% ในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มช่องทาง Omni Channel เชื่อมต่อระหว่างช่องทางออฟไลน์กับออนไลน์เข้าด้วยกันด้วย โดยจะมีการจับมือกับ Shopee และ Lazada ในการออกบริการ e-Marketplace เพื่อรวบรวมข้อมูลของลูกค้า การสั่งอาหาร โปรโมชัน และราคา นำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้า โดยบุญยง ยกตัวอย่างด้วยว่าจะมีการจำหน่าย e-Coupon ราคาพิเศษ อีกด้วย

ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ คล่องตัวมากขึ้น

ก่อนหน้าวิกฤตโควิด-19 ZEN ใช้วิธีการบริหารแบบแยกแต่ละแบรนด์ แต่หลังจากเกิดการล็อคดาวน์ มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ควบรวม Back Office เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะฝ่ายการตลาดที่เป็นเหมือนกองกลาง ทำให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับการคาดการณ์รายได้ในช่วงปีหน้า คาดการณ์ว่าจะเติบโต 40% เนื่องจากในปีนี้สถานการณ์ไม่ปกติ แต่ในปีหน้า คาดว่ารายได้จะกลับสู่ระดับ 3,000 ล้านบาท โดยอัตรากำไรจะมีความแข็งแกร่งต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/zen-group-restaurant-strategy/

รู้จัก Wongnai Data Services เมื่อ “ข้อมูล” คือ กุญแจ สู่ความสำเร็จในการทำธุรกิจ

ในการทำธุรกิจมีคำกล่าวว่า ลูกค้าคือพระเจ้า เพราะเป็นคนที่เข้ามาซื้อมาใช้บริการ ทำให้ธุรกิจเกิดรายได้ โดยสิ่งที่นำลูกค้ามาหาเรา ในทฤษฎีทางการตลาด ประกอบด้วย 4P คือ Product, Price, Place และ Promotion แต่ในยุค 2020 สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน และยังสร้างความได้เปรียบได้ คือ ข้อมูล (Data) 

นั่นคือการมี สินค้าหรือบริการที่ดี ราคาสมเหตุสมผล อยู่ในจุดที่เข้าถึงง่าย และมีการทำตลาดที่ดี ไม่เพียงพออีกต่อไป ถ้าสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกจะทำธุรกิจได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

นี่เป็นที่มาของบริการของ Wongnai ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ นั่นคือ Wongnai Data ที่รวบรวมข้อมูลธุรกิจร้านอาหารในทุกมิติ ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ และคาดการณ์อนาคตได้ดียิ่งขึ้น

Disclaimer: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือของ Wongnai

Wongnai Data Services บริการข้อมูลธุรกิจร้านอาหาร

Wongnai เชื่อว่า โลกปัจจุบัน ข้อมูลจะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ จึงเกิด Wongnai Data Services โดยเป็นบริการที่รวบรวมข้อมูลร้านอาหารทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์ คาดการณ์ มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การวางแผนในเชิงธุรกิจ และสามารถปรับตัวได้อย่างถูกต้อง

ด้วยร้านอาหารในระบบของ Wongnai กว่า 320,000 ร้านค้าทั่วประเทศ (ข้อมูลปี 2019) และเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้มองเห็นเทรนด์ที่เกิดขึ้น ยิ่งในสถานการณ์ COVID-19 เวลานี้ ทำให้เห็นความสำคัญของข้อมูลมากขึ้นกว่าเดิม

บริการ Delivery กลายเป็นบริการหลักของร้านอาหาร โดยช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. พบว่า

  • จำนวนร้าน Delivery เติบโตขึ้นกว่า 400%
  • ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นสัดส่วน 44% อายุ 25-34 ปี
  • 90% จบการศึกษาระดับปริญญาตรี
  • 70% เป็นพนักงานบริษัทเอกชน
  • 50% มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อเดือน

โดยนี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ที่ Wongnai Data Services รวบรวมไว้ได้ในช่วงเวลานี้

ช่วงเวลาที่มีการใช้บริการ Delivery แม้ว่า Covid19 จะทำให้ยอดการสั่งอาหาร delivery เติบโตขึ้นหลายเท่า แต่คนไทยก็ยังมีพฤติกรรมการสั่ง delivery ในเวลาเดิม คือ 11.00-12.00 น. รองลองมาเป็นมื้อเย็นตอน 17.00-19.00 น.

ทั้งหมดไม่ใช่เพื่อรับมือกับ COVID-19 แต่เพื่อรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

นอกจากข้อมูลบริการ Delivery แล้ว ยังมีข้อมูลธุรกิจร้านอาหารที่น่าสนใจอีกมาก เช่น ในจำนวนร้านอาหารเปิดใหม่ มีร้านที่เป็นลักษณะ Ghost Kitchen ที่ไม่เน้นหน้าร้าน แต่เน้นบริการส่งถึงบ้าน เป็นต้น

หรือแม้แต่ข้อมูลเชิงปริมาณ ว่า มีร้านอาหารเปิดใหม่จำนวนเท่าใด แต่ละจังหวัดเป็นอย่างไร หลายคนอาจคาดเดาได้ว่า “ร้านชานมไข่มุก” เป็นประเภทร้านอาหารที่มีการเปิดใหม่มากที่สุด แต่รู้หรือไม่ว่า มีเปิดมากถึง 700%!! 

ขณะที่ร้านกาแฟ มีเพิ่มขึ้น 50% มีปิดกิจการไปก็ไม่น้อย แต่รู้หรือไม่ว่า ร้านกาแฟที่เปิดและอยู่รอด คือร้านที่เปิดในเชิงลึก เน้น คุณภาพเมล็ดกาแฟที่แตกต่าง หรือมีการขายควบคู่กับกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม โดยพื้นที่ใน กทม.​ ที่มีร้านกาแฟมากที่สุดตามลำดับ คือ จตุจักร, วัฒนา, ปทุมวัน, บางรัก และ บางกะปิ

ใครได้ประโยชน์จาก Wongnai Data Services

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ข้อมูล คือสิ่งที่ขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ สำหรับ Wongnai Data Services จึงเป็นประโยชน์กับบริษัทที่ต้องการข้อมูลของธุรกิจร้านอาหารมาประกอบการตัดสินใจ คาดการณ์และวางแผนธุรกิจได้อย่างถูกต้อง เช่น ธนาคาร สถาบันการเงิน, ผู้ให้บริการโทรคมนาคม, ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ที่ต้องการร่วมสร้างโปรโมชั่น ร่วมลงทุนหรือร่วมมือขยายบริการการจ่ายเงิน e-Payment

ยิ่งมีข้อมูลที่ถูกต้อง เชิงลึก และมากเพียงพอจะสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือ Wongnai มีทีมงาน Data Scientist คอยตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลอยู่ตลอด

ตัวอย่าง เช่น บริการ Delivery ที่ Wongnai ร่วมมือกับ LINE MAN ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น Wongnai Merchant App หรือ WMA มีการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบเปอร์เซ็น ของ Delivery เทียบกับการ Dine-in ซึ่งสามารถคาดการณ์ไปถึงอนาคตได้ว่า พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปในอนาคต

Disclaimer: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือของ Wongnai

สรุป: ผู้ชนะคือผู้ที่ปรับตัว

ในทางธุรกิจ คนที่สามารถปรับตัว อยู่รอด และเติบโตได้ คือผู้ชนะ แต่จะสามารถปรับตัวได้อย่างถูกต้อง ก็ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง มีการวิเคราะห์และคาดการณ์ที่แม่นยำ จริงอยู่ว่า การทำธุรกิจบางครั้งต้องลองผิดลองถูก เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่หนักแน่น มั่นคงและถูกต้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/wongnai-data-services-2/

วิกฤตไวรัสกับธุรกิจร้านอาหาร ต่อให้รอดก็ไม่กลับมาเหมือนเดิม

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากโรค COVID-19 ระบาดคือ อุตสาหกรรมร้านอาหาร โดยเฉพาะการนั่งกินในร้าน ที่ผู้บริโภคเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น ส่งผลให้เดินทางออกไปรับประทานอาหารในร้านน้อยลง และเริ่มหันมาสู่โมเดลเดลิเวอรีแทน

รัฐบาลในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เริ่มมีมาตรการให้ปิดร้านอาหาร ผับบาร์ต่างๆ เพื่อป้องกันการรวมตัวของฝูงชนจำนวนมากๆ ที่อาจเป็นจุดระบาดของไวรัส ผลกระทบที่ตามมาคือร้านอาหารเหล่านี้ต้องปิดร้านชั่วคราว และพนักงานจำนวนมากต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

สถานการณ์ในประเทศไทยเอง ล่าสุดหลังคณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 17 มีนาคม ให้ปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ โรงภาพยนตร์ สถานบริการที่เข้าข่าย เป็นเวลา 14 วัน ทำให้มีร้านอาหารแนวผับบาร์อาจต้องปิดตามคำสั่งไปจำนวนหนึ่ง แต่ร้านอาหารทั่วไปยังสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ

ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤต COVID-19 จะกินเวลายาวนานแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ ร้านอาหารที่ “ปิดชั่วคราว” ในตอนนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่อาจไม่ได้กลับมาเปิดอีกครั้ง

ภาพจากเว็บไซต์ McDonalds.com

ร้านอาหารเริ่มปิดตัว ปลดพนักงาน ปรับรูปแบบเป็นเดลิเวอรี

ตัวอย่างร้านอาหารดังในต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวแล้ว ได้แก่ McDonald’s ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง ที่ประกาศปิดพื้นที่นั่งกินในร้าน (เฉพาะในสหรัฐอเมริกา และเฉพาะร้านของบริษัทเอง ไม่รวมร้านแฟรนไชส์ที่ทำได้เพียง “แนะนำให้ปิด”) ลดเหลือแค่เพียงการเดลิเวอรี การซื้อกลับบ้าน หรือไดรฟ์ทรูเท่านั้น

Tom Douglas เชฟชื่อดังของสหรัฐ ประกาศปิดร้านชั่วคราว 12 สาขาจากร้านทั้งหมด 13 สาขา เป็นเวลา 8-12 เดือน และลูกจ้างทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเชฟหรือพนักงานเสิร์ฟจำนวน 800 คนต้องตกงานทันที ตัวของ Tom Douglas ยอมรับว่าเขาไม่สามารถจ่ายเงินชดเชย (severance) ให้พนักงานได้ด้วยซ้ำ แต่ก็สัญญาว่าจะจ้างพนักงานเหล่านี้กลับมาทำงานอีกครั้งหากกลับมาเปิดร้านใหม่

ส่วนร้านอาหารในประเทศไทยก็เริ่มทยอยปิดตัว ตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงตั้งแต่ต้นปี ตามด้วยปัญหา COVID-19 ในประเทศที่ทำให้คนเริ่มหยุดกินข้าวนอกบ้าน แม้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าร้านปิดตัวไปเท่าไรก็ตาม

การปรับตัวของร้านอาหารในไทยช่วงนี้ มีตั้งแต่มาตรการทำความสะอาด ฉีดพ่นแอลกอฮอลล์ฆ่าเชื้อ ปรับชุดแต่งกายของพนักงานเสิร์ฟให้รัดกุม เพื่อสร้างความมั่นใจกับลูกค้า และจัดโต๊ะใหม่เพื่อให้มีระยะห่างระหว่างโต๊ะมากขึ้น

กษมาช นีรปัทมะ หุ้นส่วนร้าน AINU ย่านทองหล่อ ระบุว่าร้านกินดื่มย่านทองหล่อ-เอกมัยทยอยปิดตัวไปหลายรายเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่เขายังยืนยันว่าจะเปิดร้านต่อไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าและพนักงาน โดยร้านปรับเวลามาเปิดเป็น 17.30-24.00 ตามประกาศของรัฐบาล

ภาพจาก Facebook ร้าน AINU

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดธุรกิจอาหารปี 63 ติดลบ 4-6%

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีบทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 (เป็นการประเมินก่อนสถานการณ์ COVID-19 เริ่มร้ายแรง ซึ่งตัวเลขอาจมีเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร) ประเมินว่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย ปี 2563 มีรายได้รวมลดลงเหลือ 4.02-4.12 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัวลง 4.3-6.6% เมื่อเทียบกับรายได้รวมของปี 2562 ที่ทำไว้ประมาณ 4.3 แสนล้านบาท (หายไปประมาณ 3 หมื่นล้านบาท)

ประเมินมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยปี 2563 (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แบ่งชนิดของร้านอาหารออกเป็น 3 กลุ่มกว้างๆ ที่ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป

  1. ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (full service) เน้นนั่งกินในร้าน เช่น ร้านบุฟเฟต์ สวนอาหาร ร้านในห้าง จะมีการหดตัวของยอดขายอย่างรุนแรง ลดลง 2.28 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับการประเมินรายได้ช่วงต้นปี 2563
  2. ร้านอาหารที่มีบริการจำกัด (limited service) และมีรายได้จากช่องทางเดลิเวอรีด้วย มีการหดตัวของยอดขายเช่นกัน แต่ดีกว่ากลุ่มแรกเพราะค่าใช้จ่ายไม่เยอะเท่า คาดว่ายอดขายลดลง 0.72 หมื่นล้านบาท
  3. ร้านอาหารที่มีสัดส่วนเดลิเวอรีสูง หรือร้านข้างทางที่ซื้อกลับบ้าน (take away) จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คาดการณ์ยอดขายลดลง 0.15 หมื่นล้านบาท
ประเภทของร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

เชฟดังเมืองไทย โพสต์สถานการณ์ไม่ปกติ ลูกค้าหายเกลี้ยง

ในช่วงสัปดาห์นี้ เชฟชื่อดังของประเทศไทยหลายราย ได้โพสต์ข้อความผ่านโซเชียล สะท้อนถึงปัญหาเรื่องยอดขายที่ตกฮวบเช่นกัน

เชฟต้น ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร เชฟชื่อดังเจ้าของร้านฤดู (Le Du) ย่านสีลม และกรรมการรายการ Top Chef Thailand โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ระบุว่าเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เปิดร้านมา โดยวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม ไม่มีลูกค้าจองเข้ามาเลยแม้แต่คนเดียว

เชฟชื่อดังอีกหลายราย แสดงความเห็นว่าทางรอดของร้านอาหารดังๆ ในตอนนี้คือต้องปรับตัวมาสู่เดลิเวอรี ตัวอย่างคือเชฟชาลี กาเดอร์ เจ้าของร้านพาย Holy Moly, ร้านเนื้อ 100 มหาเศรษฐ์ ก็โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า ร้านระดับมิชลินไกด์ในปี 2020 จะเป็นการแข่งขันกันว่าใครทำอาหารเดลิเวอรีได้ดีกว่ากัน

ร้านอาหารปิด ส่งผลกระทบหลายอุตสาหกรรม

หากร้านอาหารจำนวนมากต้องปิดตัวลงไปในช่วงการระบาดของ COVID-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแค่เจ้าของร้าน และลูกจ้างของร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น วัตถุดิบ ขนส่ง รวมถึงบริการสนับสนุนร้านอาหาร อย่างบริการทำความสะอาด ฉีดพ่นยา ซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ในร้านอาหารด้วย

ปัญหาหลักของธุรกิจร้านอาหารในตอนนี้คงไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นั่นคือ “ขาดแคลนเงินทุน” เพราะรายได้หดหาย แต่รายจ่ายไม่ได้หายตามไปด้วย ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ ค่าวัตถุดิบ ฯลฯ

ถึงแม้รัฐบาลออกมาตรการ “ซอฟต์โลน” หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 1.5 แสนล้านบาท (ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท, ดอกเบี้ย 2% เป็นเวลานาน 2 ปี) มาแล้ว ผ่านช่องทางธนาคารของรัฐอบ่าง SME Bank และธนาคารออมสิน แต่กว่าเงินกู้จะเริ่มไหลเข้ามาในระบบก็อาจไม่ทันการณ์ อีกทั้งยังเป็นการช่วยประคองตัวในระยะสั้น เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อปัญหาไวรัสโดยตรง

ภาพจาก pixabay.com

ปรับตัวเป็นเดลิเวอรี ก็ใช่ว่าจะรอด เพราะโดนหักส่วนแบ่ง GP

ทางออกที่ชัดเจนที่สุดของผู้ประกอบการร้านอาหารในตอนนี้ หนีไม่พ้นการปรับตัวเป็นเดลิเวอรี ส่งอาหารถึงบ้านที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง สะท้อนความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่อยากออกจากบ้าน อยากนั่งกินข้าวที่บ้านมากกว่า

แต่การปรับตัวเป็นโมเดลเดลิเวอรีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีปัจจัยให้ต้องคำนึงถึงมากมาย ตั้งแต่รูปแบบของอาหารที่อาจไม่เหมาะกับเดลิเวอรีมากนัก (เช่น หม้อไฟ หรือ อาหารแช่เย็นอย่างซูชิ) ตามด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าแพ็กเกจจิ้ง และโมเดลการคิดส่วนแบ่งรายได้ (หรือที่เรียกว่าการเก็บ GP) ของผู้ประกอบการขนส่งอาหารทุกรายในบ้านเรา ที่อยู่ราว 30-35% ของราคาอาหาร ทำให้สัดส่วนกำไรของร้านอาหารลดลงจากเดิมมาก

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องราคาที่ผู้บริโภคยอมจ่ายกับอาหารแบบเดลิเวอรี เพราะผู้บริโภคมีมุมมองที่แตกต่างไปเมื่อเทียบกับการกินในร้าน ทำให้ราคา ปริมาณ แม้กระทั่งเมนูของร้าน อาจต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าเดลิเวอรี

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ร้านอาหารชื่อดังทั่วโลก ที่มีลูกค้าจำนวนมากมารอกินอยู่แล้ว ปฏิเสธการเข้าร่วมโปรแกรม GP ของผู้ขนส่งอาหารมาโดยตลอด เพราะมองว่าโดนหักส่วนแบ่ง และทำลายคุณค่าของพนักงานหน้าร้านไป Dave Chang ผู้ก่อตั้งร้านอาหารแบรนด์ Momofuku ในนิวยอร์ก ถึงกับเคยประกาศว่ารายได้จากเดลิเวอรีนั้นเป็น “ทองปลอม” (fool golds) เลยทีเดียว

แต่เมื่อภัยคุกคามเฉพาะหน้าอย่าง COVID-19 รุนแรงมากกว่า ร้านอาหารทั่วโลกก็คงจำเป็นต้องหาช่องทางรายได้ใหม่ๆ เข้ามาเพื่อหมุนเงิน ให้ธุรกิจและลูกจ้างยังอยู่รอดได้ต่อไป

ภาพจาก Facebook ของ LINE MAN

ข้อมูลเปิดเผย: Wongnai บริษัทแม่ของ Brand Inside เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ LINE Man

วิกฤตคลี่คลาย ร้านอาหารจะไม่กลับมาเหมือนเดิม

ต่อให้วิกฤต COVID-19 คลี่คลายลงไป ภูมิทัศน์ของร้านอาหารก็คงไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองเนื่องจากผู้บริโภคไม่มีรายได้ ต้องประหยัดเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต ไปจนถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ที่ระมัดระวังเรื่องสุขภาพและการกินอาหารนอกบ้านมากขึ้น จนกลายเป็นนิสัยถาวรไปแล้ว

หากร้านอาหารล้มหายตายจากไป จำนวนร้านอาหารลดลงอย่างถาวร ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามมาคือบรรดา landlord เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ที่มีรายได้จากค่าเช่าของร้านอาหาร ก็อาจจำเป็นต้องปรับวิธีคิด ปรับสภาพพื้นที่และโมเดลของธุรกิจใหม่หมดเช่นกัน

ทิศทางหนึ่งที่เป็นไปได้ของร้านอาหารในอนาคตคือ Ghost Kitchen หรือการรักษา “ครัว” เอาไว้ แต่เน้นทำอาหารเพื่อส่งเดลิเวอรีเป็นหลักแทนการให้นั่งกินในร้าน ลูกค้าอาจยังอยากกินอาหารร้านชื่อดังอยู่เหมือนเดิม แต่ไม่อยากนั่งกินในร้านอีกแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องปรับคือเรื่องสภาพพื้นที่ของร้าน อาจต้องลดพื้นที่นั่งกินในร้านลง ขยายพื้นที่ครัว หรือเพิ่มจุดจอดรถสำหรับเดลิเวอรีด้วย

โมเดล Ghost Kitchen เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเดลิเวอรีพูดมาได้สักพักใหญ่ๆ แต่ยังไม่เกิดจริงจังนัก ซึ่งวิกฤต COVID-19 จะกลายเป็นตัวเร่งสำคัญให้ Ghost Kitchen เกิดขึ้นได้จริง

ครัว ร้านอาหาร kitchen
ภาพจาก GettyImages

ไม่มีคำตอบที่ตายตัว ผู้บริโภคต้องช่วยกันพยุงให้ร้านอาหารอยู่ต่อได้

ในช่วงที่วิกฤตยังดำเนินต่อไป คงไม่มีทางออกที่ชัดเจนว่าร้านอาหารจะอยู่ต่อไปกันได้อย่างไร ทางแก้ในระยะสั้นคงเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หลายอย่างที่ผู้บริโภคต้องช่วยกันเพื่อให้ร้านอาหารอยู่ต่อได้ เช่น อุดหนุนผ่านเดลิเวอรีแทน, เพิ่มมูลค่าการสั่งอาหารต่อครั้งให้สูงขึ้น, ทิปพนักงานเสิร์ฟให้เยอะกว่าเดิม, ไม่ยกเลิกการจองร้านอาหาร แต่ขอเลื่อนวันแทน ในกรณีของต่างประเทศหรือร้านอาหารในไทยบางร้าน อาจซื้อคูปองหรือ voucher ของร้านนั้นๆ เพื่อให้ร้านอาหารมีเงินสดไปหมุนเวียน

ข้อมูลบางส่วนจาก Eater

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/thailand-restaurant-industry-covid-19/

[วิเคราะห์] ไทยเบฟฯ VS บุญรอดฯ สร้างอาณาจักรธุรกิจอาหารบนทางเดินที่แตกต่างกัน

“อาหาร” คือ โอกาสทางธุรกิจ ที่ไม่ว่ายังไงคนก็ต้องกิน นั่นคือสิ่งที่ยักษ์ใหญ่ทั้งบุญรอดบริวเวอรี่ และไทยเบฟเวอเรจ มองโอกาสธุรกิจเหมือนกัน แต่วางเส้นทางเดินที่มีความแตกต่างกัน 

จุดเริ่มต้นของธุรกิจอาหารของ ไทยเบฟเวอเรจ เริ่มต้นจากการถือหุ้นโออิชิ กรุ๊ป เมื่อปี 2549 ทำให้พอร์ตโฟลิโอของไทยเบฟฯ มีธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิมีสาขาราว 80 แห่ง และชาเขียวโออิชิทันที

เส้นทางของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ มองย้อนเมื่อ 2553 ไล่ซื้อกิจการ อาทิ บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด และบริษัท เฮสโก ฟู้ด อินดัสทรี่ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซอสปรุงรสและอาหารแปรรูปต่างๆ เป็นต้น

จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ เมื่อมองวิเคราะห์ของยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของทั้งสองบริษัท มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
  • ไทยเบฟเวอเรจ การขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจอาหารจะมุ่งการเข้าซื้อกิจการหรือเชนร้านอาหารใหญ่ๆ เป็นหลัก

การซื้อกิจการ Mergers and acquisitions (M&A) เป็นหนึ่งยุทธศาสตร์เพิ่มความสามารถของธุรกิจได้เร็ว เพราะการสร้างแบรนด์ใหม่ต้องใช้ระยะเวลา นอกจากนี้การซื้อกิจการสามารถสร้างการเติบโตได้ดีกว่า 

  • บุญรอดบริวเวอรี่ การขยายพอร์ตโฟลิโออาหารค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจอาหารตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และเป็นลักษณะของการร่วมทุนและการซื้อกิจการ

การร่วมทุน (Joint Venture) เป็นการนำจุดแข็งของบริษัทมารวมกัน และสามารถเรียนรู้โนฮาวด์และร่วมต่อยอดธุรกิจได้ เป็นสไตล์การเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกันและเติบโตคู่กัน

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ผ่าเกมไทยเบฟฯ บุกธุรกิจอาหาร

ยุทธศาสตร์ของไทยเบฟเวอเรจในกลุ่มธุรกิจอาหาร ต้องการมีความหลากหลายของเซ็กเมนต์ร้านอาหาร จึงเดินหน้าขยายพอร์ตโฟลิโออาหารให้ครอบคลุม ทั้งร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารไทยและอาเซียน ธุรกิจบริการอาหารจานด่วน และเบเกอรี่ ปัจจุบันมีเชนร้านอาหาร 23 แบรนด์ สาขา 620 สาขา

“เป้าหมายของไทยเบฟฯ คือการขับเคลื่อนธุรกิจอาหารก้าวสู่เบอร์หนึ่งทั้งในไทย และต่างประเทศ ด้วยการเป็น Food of Asia”

พอร์ตโฟลิโอธุรกิจอาหารของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ

ขยายพอร์ตโฟลิโอสู่ Food of Asia

  • ร้านอาหารญี่ปุ่น มาจากการซื้อกิจการโออิชิกรุ๊ปและพัฒนาธุรกิจเองขึ้นมาใหม่ โดยมีด้วยกัน 9 แบรนด์ อาทิ โออิชิ แกรนด์,โออิชิ อีทเทอเรียม,โออิชิ บุฟเฟต์,ชาบูชิ ,โออิชิ ราเมน ,คาคาชิ ,นิกุยะและโฮว ยู มีสาขาทั้งสิ้น 266 สาขา
  • ร้านอาหารไทยและอาเซียน มาจากการซื้อกิจการบริษัท Spice of Asia โดยมีแบรนด์ 4 แบรนด์ ได้แก่ Cafe Chilli ,EatPot Chilli Thai Restaurant, และร้านอาหารเสือใต้ และแบรนด์ที่ 5  คือ So Asean มีสาขาให้บริการ 36 สาขา
  • ธุรกิจบริการอาหารจานด่วน (Quick Service Restaurant : QSR) มี 1 แบรนด์ โดยการซื้อร้านสาขาของเคเอฟซี จาก ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ปัจจุบันมี 305 สาขา
  • ธุรกิจร้านอาหารสไตล์ตะวันตก ภายใต้แบรนด์ “Hyde & Seek” ให้บริการอาหารสไตล์ตะวันตก เจาะกลุ่มบน มี2 สาขา
  • ธุรกิจร้านอาหารจีน  ร้านอาหาร Man Fu Yuan เปิดบริการ 1 สาขา
  • ธุรกิจเบเกอรี่  ร่วมกับเชนเบเกอรี่ชื่อดังจากฮ่องกง “mx cakes & bakery” มี 10 สาขา
  • ธุรกิจ Ready to Cook and Ready to Eat Group  หรือทั้งอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานภายใต้แบรนด์ Oishi eato ตอบโจทย์เทรนด์ด้านความสะดวกสบายของลูกค้า

กลยุทธ์การขับเคลื่อนให้ธุรกิจให้เติบโต

  1. การขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด
  2. การทำการตลาดและสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ที่สร้างความแปลกใหม่ตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค
  3. การให้ความคุ้มค่ากับผู้บริโภค โดยคำนึงถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการที่เรามอบให้ผู้บริโภคเป็นลำดับแรกๆ
  4. การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล พร้อมรองรับการขยายตัวของตลาดดีลิเวอรี่กลุ่มธุรกิจอาหารที่ตอบสนองความต้องการด้านความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคในยุคนี้
  5. การมุ่งเน้นพัฒนาด้านต่างๆ ภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของงานให้ดียิ่งขึ้น

สรุป

การวางจิ๊กซอว์ของไทยเบฟฯ ให้น้ำหนักไปที่การดำเนินธุรกิจในฝั่งของ กลุ่มร้านอาหาร (Food Retail) แต่ขณะเดียวกันการปลุกปั้น Oishi eato ก็จะท้อนว่าไทยเบฟฯ กำลังจะบุกผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานและพร้อมปรุง แม้ว่าตอนนี้ผลิตภัณฑ์ไม่มากนัก อาทิ เกี๊ยวซ่า แซนวิช แต่เชื่อว่าไทยเบฟฯ จะบุกธุรกิจอาหารในทุกช่องทางโดยเฉพาะอิ่มสะดวกก็ตอบโจทย์ในยุคนี้

ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด

เจาะยุทธศาสตร์ธุรกิจอาหารบุญรอดฯ

ธุรกิจอาหารของบุญรอดบริวเวอรี่ เริ่มมีนโยบายที่ชัดเจนว่า จากนี้การทำธุรกิจของบริษัทจะไม่ใช่เบียร์อีกต่อไป เมื่อปี 2558 หนึ่งในนั้นคือเสาหลักที่ 6 ของกลุ่มบุญรอดฯ นั่นก็คือ ธุรกิจอาหาร โดย “ปิติ ภิรมย์ภักดี” นั่งแท่นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด

“เป้าหมายของบุญรอดในการทำธุรกิจอาหาร คือการสร้างธุรกิจอาหารไทยสู่เวทีระดับโลก หรือครัวไทยสู่ครัวโลก”

ไล่ซื้อกิจการ-ร่วมทุนต้นน้ำถึงปลายน้ำ

  • บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด และบริษัท เฮสโก ฟู้ด อินดัสทรี่ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซอสปรุงรสและอาหารแปรรูปต่างๆ  ก้าวแรกของบุญรอดฯ มุ่งเป้าหมายที่การพัฒนาซอสปรุงรสต่างๆ เพราะเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญสำหรับการทำตลาด นอกจากนี้ตลาดซอสปรุงรสยังมีช่องว่างการตลาด โดยเฉพาะเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโปรดักส์ ซอสอเนกประสงค์ Made By Todd ซอสต็อด.
  • บริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด เป็นบริษัทดำเนินธุรกิจข้าวบรรจุถุงพันดี ในรูปแบบของการร่วมทุน โดยบุญรอดฯ มองถึงการเป็นฐานการผลิตข้าวเพื่อป้อนให้กับธุรกิจอาหาร เพราะข้าวถือว่าเป็นวัตถุดิบสำคัญการทำอาหารอยู่แล้ว และเป็น Commodity Product ที่คนไทยทุกคนต้องกิน
  • บริษัท วราฟู้ดแอนด์ดริ๊งค์ จำกัด โรงงานผลิตน้ำมะพร้าวและอาหารกระป๋องจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ
  • บริษัทบีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์บริหารจัดการและกระจายสินค้าในประเทศและภูมิภาค “BevChain Logistics” กลุ่มบุญรอด ร่วมทุนกับบริษัท ลินฟ้อกซ์
  • การซื้อกิจการ บริษัท เคที เรสทัวรองท์ (KT) โดยมีธุรกิจอาหารในพอร์ตโฟลิโอ คือ ร้านเสต๊กซานตา เฟ่ (Santa fe) และร้านต้มยำ ไก่ย่าง เหม็งนัวนัว 
การสร้างผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและอาหารพร้อมทาน

ฟู้ดแฟคเตอร์มุ่งเป้าหมายผลิตภัณฑ์อาหาร

โครงสร้างทางธุรกิจของฟู้ด แฟคเตอร์ แบ่งโครงสร้างการดำเนินธุรกิจออกเป็น  3 ส่วนหลัก ได้แก่

1.กลุ่มการผลิตและผลิตภัณฑ์ (Food Product & Production) กลยุทธ์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มุ่งนำผลิตซอสปรุงรส อาหารสำเร็จรูป เพื่อป้อนให้กับทั้งผู้บริโภคในครัวเรือนและการป้อนวัตถุดิบกลุ่มผู้ผลิตอาหาร ร้านอาหาร หรือ B2B 

2.กลุ่มเครือข่ายธุรกิจอาหาร (Food Network) การบุกธุรกิจอาหารไม่ได้แค่การทำตลาดภายในประเทศ แต่ต้องขยายตลาดต่างประเทศด้วย ดังนั้นเป้าหมาย การสร้างโปรดักส์แชมป์เปี้ยน ตอนนี้มีแค่ 2 แบรนด์ คือ ซอสอเนกประสงค์ Made By Todd ซอสต็อด และสาหร่ายมาชิตะ เป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าต้องมีโปรดักส์แชมป์เปี้ยน 25 รายการ

3.กลุ่มร้านอาหาร (Food Retail) โดย บริษัท เอสคอมพานี จำกัด ในพอร์ตโฟลิโอ มีร้านอาหาร 5 ร้าน ได้แก่ ร้านอาหารเอส 33 ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji ร้านฟาร์มดีไซน์ และล่าสุดเสต๊กซานโต เฟ่ เหม็ง นัวนัว และในอนาคตมองการขยายธุรกิจจะต้องมีแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ 2-3 แบรนด์

สรุป

การวางจิ๊กซอร์ของบุญรอดฯ มองว่าการมีกลุ่มธุรกิจอาหาร (Food Retail) อย่างการซื้อกิจการเสต๊กซานโต เฟ่ ซึ่งมีร่วม 117  สาขา เป็นเพียงห้องทดลองกลุ่มผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสต่างๆ หรืออาหารต่างๆ ที่จะออกมาให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลอง เป้าหมายของบุญรอดฯ คือ การพัฒนาโปรดักส์แชมป์เปี้ยน อีกไม่นานเกินรอ คงจะมีผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นจำนวนมาก 

ธุรกิจตลาดอาหารในประเทศไทยมูลค่า 4 แสนล้านบาท นับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ยังไม่รวมถึงธุรกิจอาหารพร้อมทานและอาหารพร้อมปรุง และกลุ่มผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสต่างๆ นานา ในอีก 5 ปีข้างหน้าวธุรกิจอาหารภายใต้การนำของบริษัทฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด วางเป้าหมายสร้างรายได้จากธุรกิจอาหาร 15,000 ล้านบาท สำหรับรายได้กลุ่มอาหารของไทยเบฟเวอเรจ รอบบัญชี ตุลาคม 2561 – มิถุนายน 2562 ปิดรายได้ราว 11,649 ล้านบาท ต้องดูกันต่อไปว่า ใครจะสามารถทำธุรกิจได้ตามเป้าหมายกับอาณาจักรอาหารที่สร้างรายได้มหาศาล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/thaibev-vs-singha/