คลังเก็บป้ายกำกับ: คำถาม_บทสนทนา

20 คำถามทบทวนตัวเอง สร้างพลังใจต้อนรับปีใหม่ 2021

ในปีที่ผ่านมาเราผ่านความเหนื่อยล้ากันมามากมาย Brand Inside จึงขอเติมพลังใจให้กับทุกท่านผ่านคำถาม 20 ข้อที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเองและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นต้อนรับปี 2021

20 คำถามทบทวนตัวเอง สร้างพลังใจต้อนรับปีใหม่ 2021
20 คำถามทบทวนตัวเอง สร้างพลังใจต้อนรับปีใหม่ 2021

ข้อควรรู้ก่อนเข้าสู่คำถาม

ขอให้เราปิดสิ่งรบกวนต่างๆ เช่น การแจ้งเตือนจากโซเชียลมีเดีย และหาเวลาเงียบๆ มาอยู่กับตัวเองคนเดียว เราไม่จำเป็นต้องไล่ทำไปทีละข้อ เพราะเราสามารถเริ่มทำได้จากข้อที่อ่านแล้วรู้สึกว่าอยากตอบมากที่สุด สิ่งสำคัญคือต้องซื่อสัตย์กับความคิดและความรู้สึกของตัวเอง อย่ากลัวที่จะได้เห็นตัวตนบางอย่างของตัวเองจากการตอบคำถามเหล่านี้

1. ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ช่วงเวลาไหนที่เรารู้สึกมีความสุขและอยากขอบคุณที่สุด ตอนนั้นบรรยากาศเป็นอย่างไร มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น และทำไมเราถึงจดจำเรื่องราวนั้นได้เป็นอย่างดี

สำหรับบางคนช่วงเวลาที่มีความสุขและอยากขอบคุณที่สุดในชีวิตอาจจะเป็นช่วงที่ได้ไปท่องเที่ยวกับครอบครัวครั้งสุดท้ายก่อนบินไปเรียนต่อต่างประเทศ ในวันนั้นเขากับครอบครัวอาจจะดีดกีตาร์ร้องเพลงและทานข้าวริมทะเลอย่างมีความสุข แล้วสำหรับเราช่วงเวลาแห่งความสุขและความขอบคุณนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่

2. สิ่งที่เรารู้สึกภูมิใจที่สุดในปีที่ผ่านมาคือเรื่องอะไร ลองเล่าให้ฟังละเอียดๆ ได้ไหม

ในแต่ละปีมักจะมีเรื่องที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จไม่มากก็น้อย ขอให้เราลองเขียนลิสต์สิ่งที่ตัวเองทำสำเร็จออกมา ลองนึกย้อนไปถึงเรื่องราวต่างๆ แล้วถามตัวเองว่าเรารู้สึกภูมิใจกับเรื่องไหนมากที่สุด จากนั้นก็ขอให้เราขอบคุณตัวเองที่พยายาม ทุ่มเท และตั้งใจมาตลอดทั้งปีที่ผ่านมา 

3. ในอีก 1 ปี 3 ปี 5 ปี และอีก 10 ปีข้างหน้า เราอยากทำอะไรให้สำเร็จ และเป้าหมายเหล่านี้สำคัญกับเราอย่างไร

เรามักจะ ตั้งเป้าหมาย กันในช่วงต้นปี แต่เราเคยถามตัวเองไหมว่า เราตั้งเป้าหมายเหล่านั้นไปเพื่ออะไร และเป้าหมายเหล่านั้นสำคัญกับเราอย่างไร เพราะถ้าเราตอบตัวเองไม่ได้ เราก็อาจจะล้มเลิกเป้าหมายนั้นไปกลางคันเมื่อรู้สึกท้อแท้ ที่สำคัญคือเมื่อตั้งเป้าหมายแล้วก็อย่าลืมเขียนระบุถึงวิธีการไปสู่เป้าหมายนั้น เพื่อทำให้เป้าหมายนั้นเกิดขึ้นจริง ไม่ได้เป็นเพียงความฝันที่ล่องลอย

4. ทุกวันนี้เราใช้เวลากับอะไรมากที่สุด สิ่งที่เราทุ่มเทเวลาให้จะสำคัญกับเราในอีก 1 ปี 3 ปี หรืออีก 5 ปีข้างหน้าไหม

การกระทำเล็กๆ ที่เราทำอย่างต่อเนื่องจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ยิ่งใหญ่กว่าที่เราคิด ดังนั้น การตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือเปล่านั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าคำตอบคือ “ไม่ใช่” เราก็ควรเริ่มเปลี่ยนสิ่งที่ทำในแต่ละวันแล้ว

5. ถ้าเราเหลือเวลาในชีวิตอยู่เพียง 1 เดือน 1 สัปดาห์ 1 วัน 1 ชั่วโมง หรือ 1 นาทีสุดท้าย เราจะรู้สึกเสียดายอะไรที่สุด และสิ่งสำคัญที่เราอยากทำมากที่สุดคือเรื่องอะไร

คนเรามักจะเผลอทุ่มเทเวลาให้กับสิ่งที่ไม่ได้สลักสำคัญกับชีวิตจริงๆ บางคนอาจจะทุ่มเทเวลาให้กับงานมากเสียจนหลงลืมคนในครอบครัว บางคนก็อาจจะติดเที่ยวเล่นจนเสียสุขภาพและไม่เหลือเงินเก็บ คำถามนี้จึงสำคัญ เพราะเมื่อวันเวลาเหล่านี้มาถึง เราจะได้ไม่รู้สึกเสียดายที่พลาดทำสิ่งสำคัญที่สุดไป

6. เรากำลังมองหาโอกาสอะไรอยู่ และเราสามารถทำอะไรเพื่อให้โอกาสนั้นเกิดขึ้นจริงด้วยตัวเองได้บ้าง

บางคนอาจจะกำลังอยากหางานใหม่ บางคนก็อาจจะอยากเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว แต่ที่น่าเสียดาย คือหลายๆ ครั้งเรามักจะรอคนอื่นหยิบยื่นโอกาสมาให้ ทั้งๆ ที่ถ้าเราหมั่นศึกษาสิ่งที่ต้องรู้ในเรื่องนั้นๆ และค่อยๆ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เรื่องที่เรารอคอยที่จะทำมาโดยตลอดก็จะสามารถเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้จริง

7. มีอะไรในชีวิตที่เหนี่ยวรั้งเราไว้อยู่ไหม ถึงเวลาที่เราควรปล่อยมันไปแล้วหรือยัง

มีเหตุการณ์เลวร้ายอะไรในอดีตที่ยังฝังใจและเรายังลืมไม่ได้หรือเปล่า ความทรงจำเหล่านั้นอาจจะคอยกัดกินหัวใจของเราอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น ตอนนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ย้อนกลับไปเรียนรู้จากเรื่องราวนั้น และเติบโตเป็นคนที่ดีขึ้น  

8. เรื่องอะไรที่เราอยากทำมาโดยตลอด แต่ไม่กล้าพอที่จะทำมัน และเราสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อก้าวข้ามความกลัวนี้

เราเคยรู้สึกไหมว่าอยากลองทำบางเรื่อง แต่ไม่กล้าพอสักทีที่จะลงมือทำมัน เคยถามตัวเองไหมว่าเพราะอะไร เรากลัวอะไรอยู่ ถ้าเราลองเปิดใจคุยกับตัวเองตรงๆ เราอาจจะพบว่า ความกลัวที่อยู่ในหัวเรานั้นล้วนเป็นภาพที่เราขยายให้ใหญ่กว่าความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ถ้าเรากลั้นใจลองทำในสิ่งที่กลัว แม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวก็จะมีบทเรียนให้เราได้เรียนรู้อย่างแน่นอน

9. เรารู้สึกกลัวอะไรมากที่สุดในชีวิต และมีสิ่งไหนที่เรากำลังวิ่งหนีอยู่หรือเปล่า

หลายๆ ครั้งสิ่งที่เรารู้สึกกลัวที่สุดกลับเป็นสิ่งที่เราควรเผชิญหน้าด้วยที่สุด เช่น บางคนอาจจะรู้สึกกลัว การพูดในที่สาธารณะ เป็นอย่างมาก เพราะมีประสบการณ์ฝังใจในอดีต ทำให้พยายามหลีกเลี่ยงการพูดต่อหน้าคนจำนวนมากมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ถ้ากล้าก้าวข้ามความกลัวนั้น เราอาจจะได้รับความก้าวหน้าทางด้านหน้าที่การงานมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือได้รับโอกาสต่างๆ มากขึ้น 

10. เราออกจากคอมฟอร์ทโซนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ และการออกจากคอมฟอร์ทโซนครั้งนั้นสอนให้เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

การกล้าพาตัวเองออกจากคอมฟอร์ทโซนเพื่อไปทำในเรื่องที่ยากและท้าทายจะช่วยให้เราได้พัฒนาตัวเองและเก่งขึ้น เมื่อเราทำสำเร็จเราจะรู้สึกภูมิใจและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และถึงแม้ว่าเราจะล้มเหลว อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เรียนรู้มากกว่าการอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เลย 

11. เรามักจะมีมุมมองแง่ลบอะไรเกี่ยวกับตัวเอง และเราสามารถเปลี่ยนมามองเรื่องเหล่านั้นในแง่บวกได้อย่างไรบ้าง

เรามักจะมีความคิดและความรู้สึกลบๆ เกี่ยวกับตัวเอง เช่น รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้หน้าตาดีในแบบพิมพ์นิยม รู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่พอหรือดีไม่พอ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบทำให้เราอยากเป็นคนที่ดีขึ้น เพียงแต่เราต้องคอยสังเกตตัวเองว่าเราใช้การเปรียบเทียบมาเป็น “แรงผลักดัน” หรือ “แรงกดดัน” ของชีวิตตัวเอง

12. เขียนลิสต์ 3 นิสัยของตัวเองที่อยากเปลี่ยนมากที่สุด นิสัยทั้ง 3 อย่างนี้มีข้อเสียอย่างไร และถ้าเราสามารถปรับนิสัยเหล่านี้ได้แล้วจะส่งผลดีกับเราอย่างไรบ้าง

เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะมีนิสัยของตัวเองที่อยากเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้จริงๆ สักที ปีใหม่นี้ขอให้ทุกคนตั้งใจแล้วลองมามุ่งมั่นกับเป้าหมายนี้อีกสักครั้ง โดยลองลิสต์ 3 นิสัยที่ถ้าเราเปลี่ยนแปลงแล้วจะส่งผลดีกับชีวิตมากที่สุดออกมา แล้วลองคิดวิธีสนุกๆ ที่ใช้เปลี่ยนแปลงนิสัยเหล่านั้นทีละเล็กทีละน้อย ถ้าทำได้สำเร็จในอีกหนึ่งปีข้างหน้าเราจะภูมิใจในตัวเองมากขึ้นอย่างแน่นอน

13. มีกี่คนในชีวิตที่เราสามารถไว้ใจได้จริงๆ เขาเหล่านั้นเป็นใคร และเราผ่านประสบการณ์อะไรร่วมกับพวกเขามาบ้าง

เคยมีคนกล่าวไว้ว่า เพื่อนสนิทมีจำนวนเท่าหยิบมือ ถ้าอยากรู้ว่าคำกล่าวนี้จริงหรือไม่ ก็ขอให้ลองนับนิ้วดูว่ามีใครบ้างที่เราสามารถเล่าความเจ็บปวดให้ฟังได้โดยเราจะไม่ถูกตัดสิน มีใครบ้างที่พร้อมโอบกอดทุกข้อเสียและอยู่เคียงข้างในวันที่เราโดดเดี่ยวที่สุด หลังจากลองนับจำนวนดูแล้วก็ขอให้เราลองนึกย้อนไปถึงช่วงเวลาต่างๆ ที่เคยใช้ร่วมกับคนเหล่านี้ อย่าลืมส่งข้อความหรือโทรไปหาพวกเขาเพื่อกล่าวคำว่าขอบคุณ และบอกความรู้สึกว่าเราดีใจแค่ไหนที่มีพวกเขาอยู่ในชีวิต

14. เราช่วยเหลือคนอื่นครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เราช่วยเขาในเรื่องอะไร และเรารู้สึกอย่างไรกับตัวเองบ้าง

หากเราลองหยุดสนใจเรื่องของตัวเองสักพัก แล้วหันออกไปมองโลกข้างนอก เราจะเห็นได้ชัดเลยว่ามีคนอีกมากที่ยังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเราจะช่วยเหลือใครได้มากหรือน้อยนั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ขอเพียงแค่ให้เรานึกถึงคนอื่นมากขึ้นก็พอ ซึ่งข้อดีคือเมื่อเราได้ช่วยเหลือผู้อื่น เราก็จะรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นเช่นเดียวกัน

15. เขียนลิสต์ของ 30 สิ่งที่ทำให้ตัวเองยิ้มหรือหัวเราะได้

เราอาจจะใช้ชีวิตในแต่ละวันไปเรื่อยๆ โดยไม่ทันสังเกตว่าอะไรทำให้เรามีความสุขหรือยิ้มได้ ถ้าเราลองเขียนลิสต์สิ่งที่ทำให้เรายิ้มหรือหัวเราะออกมา เราอาจจะพบว่าชีวิตเรารายล้อมไปด้วยสิ่งดีๆ มากมาย ทั้งผู้คนดีๆ อาหารดีๆ หนังสือดีๆ หรืออาจจะเป็นหนังดีๆ สักเรื่องหนึ่ง เป็นต้น

คำถามอีก 5 ข้อที่เราสามารถถามตัวเองได้เป็นประจำ
คำถาม 5 ข้อที่เราสามารถถามตัวเองได้เป็นประจำ

Brand Inside ขอฝาก คำถามอีก 5 ข้อที่เราสามารถถามตัวเองได้เป็นประจำ โดยไม่ต้องรอให้ถึงช่วงสิ้นปี เพราะยิ่งเราทบทวนตัวเองได้บ่อยเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งรู้จักตัวเอง และยิ่งได้บทเรียนจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตมากขึ้นเท่านั้น

1. เราใช้เวลาใน 1 วันได้อย่างชาญฉลาดหรือเปล่า

1 วันมี 24 ชั่วโมง ถ้าเราใช้เวลานอนไปแล้ว 8 ชั่วโมง เราจะใช้เวลาอีก 16 ชั่วโมงที่เหลืออย่างไรให้มีคุณภาพ ในแบบที่ได้ทั้งพัฒนาตัวเอง ได้ใช้เวลากับงานอดิเรก ได้ใช้เวลากับคนที่ตัวเองรัก ได้ออกกำลังกาย และได้ทำสิ่งต่างๆ อีกมากมายถ้าเราจัดสรรเวลาได้ดี

2. สิ่งสำคัญที่เราได้เรียนรู้ในวันนี้ สัปดาห์ที่แล้ว หรือเดือนที่ผ่านมาคือเรื่องอะไรบ้าง

คนส่วนใหญ่มักจะมาทบทวนตัวเองกันในช่วงสิ้นปีว่าในปีที่ผ่านมาตัวเองได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่าถ้าเรารอมาตกตะกอนชีวิตตัวเองในช่วงสิ้นปีเพียงอย่างเดียว เราอาจจะหลงลืมข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้มาในแต่ละวัน ดังนั้น การคอยถามตัวเองอย่างเป็นประจำและคอยจดบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้จะช่วยให้เราจดจำได้ดีกว่านั่นเอง

3. ช่วงนี้เราได้ดูแลตัวเองบ้างหรือเปล่า ทั้งทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ

หลายๆ ครั้งเรามักจะทุ่มเทเวลาให้กับการช่วยเหลือหรือดูแลคนอื่นจนหลงลืมที่จะหันมาใส่ใจตัวเอง ดังนั้น เราจึงควรถามคำถามนี้กับตัวเองบ่อยๆ เพราะเราต้องอยู่กับตัวเองทั้งชีวิต เราควรใส่ใจดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อที่จะได้มีกำลังกายและกำลังใจต่อสู้กับการใช้ชีวิตไปอีกนานๆ 

4. ช่วงนี้เรามีความคิดแง่ลบอะไรที่โผล่เข้ามาตอนก่อนเข้านอนและหลังตื่นนอนหรือเปล่า ความคิดเหล่านั้นคืออะไร เกิดจากสาเหตุอะไร และเราจะลดความคิดเหล่านี้ลงอย่างไรได้บ้าง

ในบางช่วงเวลาของชีวิตเราอาจจะต้องเจอเรื่องราวยากๆ ที่ทำให้รู้สึกเครียดและกังวลจนเก็บเอาไปคิดแม้กระทั่งในเวลาก่อนเข้านอนหรือหลังตื่นนอน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวก็ขอให้เรามีสติ และอย่าลืมปล่อยวางลงบ้าง เพื่อให้ทั้งกายและใจของเราได้พักผ่อนจริงๆ 

5. วันนี้เราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ใครบางคนยิ้มบ้างหรือยัง

ข้อนี้เป็นคำถามสั้นๆ ง่ายๆ แต่ถ้าเราได้ลองถามตัวเองบ่อยๆ เราอาจจะรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นที่ตัวเองเป็นเหตุผลให้ใครต่อใครหลายๆ คนยิ้มได้ และสิ่งที่เราควรถามตัวเองบ่อยกว่านั้นคือ “วันนี้เรายิ้มแล้วหรือยัง” 

คำถามสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ…

“เราจะลุกขึ้นมาทำอะไรที่ต่างจากเดิมบ้าง หลังจากอ่านบทความนี้จบ”

ที่มา : positivepsychology, personalexcellence, betterbelieveit, asimpleandcontentedlife

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post 20 คำถามทบทวนตัวเอง สร้างพลังใจต้อนรับปีใหม่ 2021 first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/20-questions-reflect-on-yourself/

ชวนคุยประโยคสั้นๆ แต่ได้ผลยิ่งใหญ่ เปิด 6 วิธี คุยงานอย่างไรได้งานได้ความสัมพันธ์ดีๆ

“ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง?” คือประโยคทักทายยอดนิยมของคนไทย รองลงมาจาก “ทำอะไรอยู่?” ซึ่งทั้งสองประโยคทักทายนี้ดูเหมือนว่าจะช่วยให้การพูดคุยเป็นไปอย่างลื่นไหล แต่ความจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ภาพจาก Unsplash โดย Brooke Cagle

เพราะความจริงแล้วการเริ่มต้นสนทนาด้วยประโยคแบบนี้ เป็นการชวนคุยแบบผิวเผิน คนชวนคุยไม่ได้อยากรู้จริงๆ และคนตอบก็ตอบแบบไม่ได้ใส่ใจมากนัก ทำให้การสนทนาครั้งนี้ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด

ที่ผ่านนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard เคยทำการศึกษาบทสนทนาบนโลกออนไลน์จำนวน 300 บทสนทนา พบว่า คู่สนทนามีแนวโน้มจะชอบบทสนทนาที่มีความลึกซึ้ง มากกว่าการถามว่า ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง และ ทำอะไรอยู่ เพราะบทสนทนาที่มีความลึกซึ้ง และลื่นไหล จะทำให้เกิดการตอบสนองระหว่างบุคคล รวมถึงเกิดการรับฟัง และทำความเข้าใจที่มากกว่าบทสนทนาที่มีความผิวเผิน

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หลายๆ คน อาจไม่รู้ว่าจะหาวิธีเริ่มต้นการพูดคุยอย่างไร ให้กลายเป็นการพูดคุยที่มีความลึกซึ้ง มีความลื่นไหล มากกว่าการถามคำตอบคำ ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างแท้จริง

ภาพจาก Unsplash โดย You X Ventures

6 เทคนิค ชวนคุยอย่างไรให้ลื่นไหล

เริ่มบทสนทนา ขั้นตอนแรก สำคัญที่สุด

การสร้างบทสนทนาที่ดี นำไปสู่การพูดคุยที่มีความลื่นไหล และลึกซึ้งมากกว่าการพูดคุยแบบผิวเผิน ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มบทสนทนา และการเปิดประเด็นการพูดคุย ซึ่งมีหลักการง่ายๆ 3 หลักการคือ

    • เป็นประโยคที่มีความแปลกใหม่ และน่าเชื่อถือในเวลาเดียวกัน
    • เป็นประโยคที่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับคู่สนทนาได้
    • เป็นประโยคที่บ่งบอกความเป็นตัวเอง ให้คู่สนทนาได้รับรู้

หลีกเลี่ยงเรื่องทั่วๆ ไป

หลายๆ คน ที่อยากเริ่มต้นการพูดคุยกับคนอื่นๆ แต่ไม่รู้ว่าจะคุยอะไร มักพูดคุยด้วยเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน เช่น สภาพการจราจร สภาพอากาศ หรือการแข่งขันกีฬาที่ตัวเองชอบดู แต่ความจริงแล้วการชวนคุยเรื่องทั่วๆ ไป อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก เพราะ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกความเป็นตัวตนของคุณเอง

แต่อย่างไรก็ตามการพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไป ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน ในกรณีที่คนที่คุณคุยด้วยมีความชอบ หรือหลงไหลในเรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องทีมกีฬา ก็สามารถคุยเรื่องกีฬาได้เช่นกัน

ใส่ใจกับเรื่องที่กำลังคุยอยู่

นอกจากการพูดคุยกับคนอื่นๆ จะต้องใช้ปาก ในการพูดออกไปแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ตา ที่ต้องให้ความสนใจมองสิ่งรอบๆ ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมในขณะที่กำลังพูดคุยกันอยู่ เช่น รูปที่ติดอยู่ที่ผนัง ของสะสม หรือของใช้ต่างๆ ซึ่งสิ่งรอบตัวเหล่านี้สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ และช่วยเสริมให้บทสนทนามีความลื่นไหลมากขึ้น โดยสามารถหยิบยกสิ่งของต่างๆ มาใช้เป็นประเด็นในการชวนคุยต่อก็ได้เช่นกัน

เล่าเรื่องของตัวเองบ้าง อย่าเป็นแค่ผู้ฟังอย่างเดียว

ตามธรรมชาติของคน ย่อมมีความอยากรู้อยากเห็น ต้องการฟังเรื่องราวต่างๆ ของคนอื่น นอกเหนือจากเรื่องในชีวิตของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่มีความใกล้ชิดกันในระดับหนึ่ง เช่น คนที่ทำงานในแผนก หรือบริษัทเดียวกัน

ซึ่งการเล่าเรื่องของตัวเอง สามารถนำไปใช้ได้ในขณะก่อนเริ่มการประชุม โดยให้ผู้เข้าร่วมประชุมแชร์เรื่องสั้นๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองไปเจอมา ก็จะช่วยสร้างความเป็นกันเอง และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อยู่ในห้องประชุมได้

เริ่มพูดก่อน สร้างความได้เปรียบ

หากอยู่ในวงสนทนาที่มีคนมากกว่า 2 คนขึ้นไป คุณควรเริ่มหาทางเปิดการสนทนาก่อนคนอื่นๆ เสมอ เพราะจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการพูดคุย มากกว่าจะรอเป็นผู้ตอบคำถามเพียงอย่างเดียว

การพูดคุย ไม่ใส่แค่เรื่องเสียง

อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณาของการสนทนา ไม่ใช่แค่การพูดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เรื่องอื่นๆ อย่าง น้ำเสียง สีหน้า และท่าทาง ย่อมแสดงออกถึงความเป็นตัวคุณให้กับคู่สนทนาได้รับรู้ ดังนั้นในขณะที่กำลังพูดอยู่ ควรส่งยิ้มให้กับคู่สนทนาอยู่เสมอๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีได้มากกว่าการพูดเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้แสดงออกทางสีหน้าเลย

ที่มา – cnbc

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/harvard-researcher-say-how-to-make-a-successful-conversation/